Skip to content

268: จิตใจของนักลงทุนแบบ DG

นอกจากการคัดหุ้น และการดูราคาหุ้นแล้ว หน้าที่ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของการเป็นนักลงทุนคือ การอยู่กับพอร์ตที่มีหุ้นลงทุนอยู่ในพอร์ตแล้วให้เป็น

การปรับพอร์ตนั้นง่าย เพราะมันถูกจริตของเราอยู่แล้ว แต่การอยู่เฉยๆ กับพอร์ตในภาวะที่ตลาดหุ้นขึ้นๆ ลงๆ ทุกวันนี่สิ เป็นเรื่องที่ยาก และนักลงทุนก็มักจะชนะแพ้กันตรงจุดนี้เสียด้วย

หลักการและเหตุผลของวิธีลงทุนแบบ DG เน้นไปที่หุ้นเติบโต หมายความว่า เราจะได้ผลตอบแทนส่วนหนึ่ง และเป็นส่วนที่สำคัญมากด้วยจากการที่ธุรกิจที่เราลงทุนไปนั้นมีขนาดของกิจการที่ใหญ่ขึ้นในระยะยาว การที่ธุรกิจจะเติบโตขึ้นนั้นทำไม่ได้ภายในเวลาแค่เดือนสองเดือน วิธีการลงทุนแบบนี้จึงควรเป็นการลงทุนที่มีระยะหวังผลที่ยาวโดยปริยาย เพื่อให้การเติบโตทางธุรกิจได้มีโอกาสแสดงผลลัพธ์ออกมาจริงๆ ไม่ใช่เป็นแค่การผันผวนของราคาหุ้นธรรมดา

ที่จริงแล้ว การเติบโตของธุรกิจไม่ต้องสูงมาก เช่น รายได้เพิ่มปีละ 10-15% ต่อปีก็พอ แต่ที่สำคัญกว่าคือความต่อเนื่องข้ามปี เพราะนักลงทุนแนวเติบโตมักได้กำไรจากอีกส่วนคือ การที่ตลาดปรับ Valuation ของหุ้นตัวนั้นให้ใหม่ เช่น ตอนที่เราลงทุน หุ้นตัวนี้อาจจะได้ PE แค่ 10 เท่า แต่หลังจากที่หุ้นตัวนี้มีรายได้เติบโต 15% ติดต่อกันหลายปี ตลาดก็มักจะ upgrade มูลค่าหุ้นใหม่ โดยอาจจะให้ PE ที่เหมาะสมกลายเป็น 20 เท่าแบบนี้เป็นต้น เราจึงได้กำไรจากทั้งรายได้ของธุรกิจที่เพิ่มขึ้น ทวีคูณด้วย Valuation ที่ตลาดปรับให้สูงขึ้นอีกด้วย (ตลาดเพิ่มพีอีที่เหมาะสมให้) ส่วนหลังนั้นอาจจะเยอะกว่าส่วนหน้าเสียด้วยซ้ำ

จะเห็นได้ว่า เราไม่ควรเลือกหุ้นเติบโตที่มี Valuation สูงมากอยู่แล้ว เพราะว่าเราจะไม่ได้กำไรจากส่วนหลังมากนัก หุ้นเหล่านั้นเป็นหุ้นของธุรกิจที่ดีจริง แต่เป็นม้าที่วิ่งเข้าเส้นช้ยไปแล้ว แทงไปก็ไม่ได้อะไร ที่จริงหุ้นที่เหมาะกับ DG ที่สุดน่าจะเป็นหุ้นเติบโตที่มี Valuation ในระดับปานกลาง เพราะสตอรี่ของมันไม่ได้หรูมากนัก แต่มันก็เติบโตไปได้ทุกปี

โดยมากแล้ว ถ้าสังเกตให้ดี หุ้นเติบโตในตลาดหุ้นบ้านเราจะในแต่ละปีจะมีอยู่กลุ่มหนึ่งที่เป็นที่ชื่่นชอบของนักลงทุนทั่วทั้งตลาด เรียกว่า Hot stocks แห่งปี ส่วนใหญ่แล้ว ราคาหุ้นพวกนี้จะแพงไปแล้ว เนื่องจากมันกำลังถูกเชียร์มากเกินไป แม้ว่าข้อดีของการซื้อหุ้นพวกนี้คือ ซื้อแล้วก็มักจะขึ้นต่อทันที เพราะว่ามีการเชียร์ออกสื่ออยู่ทุกวัน ทำให้มีคนเอาเงินมาลงมากขึ้นเรื่อยๆ เหมือนสินค้าที่มีการโปรโมตตลอดเวลา แต่เนื่องจากราคาที่แพงไปแล้ว ถือยาวกลับดูอันตราย ปีเตอร์ ลินซ์จะไม่ชอบ hot stocks เลย แม้ว่าเขาจะชอบหุ้นเติบโตก็ตาม หุ้นแบบนั้นเหมาะกับการเล่นแบบโมเมนต้มและ cut loss มากกว่า

แต่ถ้าเราสังเกตตลาดหุ้นในระยะที่ยาวขึ้น เช่น 3-5 ปี เราจะเห็นว่า หุ้นเติบโตในบ้านเราซึ่งมีอยู่จำนวนหนึ่งนั้น พวกมันไม่ได้เป็น hot stocks ทุกตัวในทุกๆ ปี พวกมันอาจมีปีที่ hot อยู่ปีหนึ่งบ หลังจากนั้นอาจจะเงียบไปบ้าง ราคานิ่งๆ ไม่ไปไหน เพราะบางช่วงอาจจะไม่มีความเปลี่ยนแปลงสำคัญในตัวธุรกิจ ทำให้ตลาดเลิกสนใจไปก่อน แต่ก็ยังโตอยู่ เพียงแต่เป็นการโตไปตามปกติ (organic) ไม่มีข่าว หรือไม่ใช่ปีที่ขยายตัวอย่างหนัก หรือเป็นจังหวะชีวิตหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญของธุรกิจ ช่วงเวลาแบบนี้ ซื้อแล้วก็ไม่ค่อยขึ้น เพราะไม่ค่อยเป็นข่าว ทำให้ไม่มีการดึงดูดเม็ดเงินใหม่ๆ  แต่หุ้นพวกนี้ก็สามารถกลับมากลายเป็นฮิตได้อีกเรื่อยๆ เมื่อถึงปีที่บริษัทมีจังหวะในการขยายตัวที่มีนัยสำคัญ ตราบใดที่มันยังเป็นหุ้นเติบโตอยู่ หุ้นเหล่านี้จะกลับมามีปีทองได้อีก

ดังนั้น หุ้นที่เหมาะกับ DG จริงๆ น่าจะเป็นหุ้นเติบโตในปีที่ไม่ใช่ปีทองของมัน เพราะมันเป็นธุรกิจที่ยังมีอนาคตอยู่ แต่อยู่ในช่วงที่ตลาดไม่ได้สนใจมักมากนัก ราคาขึ้นน่าลงทุนมากกว่าหุ้นเติบโตที่กำลังอยู่ในปีที่ร้อนแรงของมันอยู่

จำได้ว่าเคยอ่าน Beat the Streets ของปีเตอร์ ลินซ์ ตอนหนึ่ง ที่เขาเลือกหุ้นที่ไม่มีใครในตลาดแนะนำเลยเข้าพอร์ต แล้วเจ้านายก็ถามเขาว่า เลือกหุ้นแบบนี้แล้วผลตอบแทนมันจะดีได้เหรอ ซื้อไปก็ไม่ขึ้นหรอก เขาตอบว่า เขาไม่ได้เลือกหุ้นจะขึ้นปีนี้เลย แต่เขาเลือกหุ้นที่จะขึ้นในอีกสามสี่ปีข้างหน้า และหุ้นในพอร์ตที่ขึ้นปีนี้ก็เป็นหุ้นที่ซื้อไว้ตั้งแต่สามสี่ปีที่แล้ว แบบไม่ต้องแย่งกันซื้อพร้อมๆ กับใคร เจ้านายบอกว่า เขาเป็นคนที่ฉลาดมาก

หุ้นเติบโตที่ราคาไม่แพงนั้น อาจจะเป็นหุ้นเติบโตที่กำลังมีข่าวร้ายระยะสั้นก็ได้ แต่จริงๆ แล้วหุ้นเติบโตแบบที่น่าสนใจมากกว่านั้นคือ หุ้นที่ราคานิ่งๆ ไม่ไปไหนมานานหลายปี หุ้นพวกนี้มักจะถูก ไม่ใช่เพราะว่ามันมีข่าวร้ายอะไร แต่ถูกเพราะว่ามันไม่มีข่าวอะไรเลยมานานมากจนทำให้นักลงทุนที่ลงทุนในหุ้นตัวนี้จะรู้สึกเบื่ออย่างรุนแรง พวกมันจึงไม่มีใครมาแย่งกันซื้อ ต่างกับหุ้นที่กำลังร่วงหนัก ซึ่งกลับจะมีคนแย่งกันซื้อเพราะอยากเป็น contrarian มากกว่า หุ้นพวกนี้จริงๆ แล้วอาจจะไม่ถูกเลยก็ได้ ผมว่าความไม่มีข่าวอะไรเลยนั้น กลับทำให้นักลงทุนขยาดมากกว่าการที่มันมีข่าวร้ายมากๆ ดังนั้น หุ้นเติบโตที่ราคานิ่งสนิทเพราะไม่มีสนใจนั้นมักน่าสนใจมากกว่าหุ้นเติบโตที่กำลังร่วงลงแรงๆ เพราะกำลังมีข่าวร้ายเสียอีก

และในเมื่อหุ้นเติบโตในปีที่น่าเบื่อมักจะเป็นเป้าหมายของ DG สิ่งที่นักลงทุนจะต้องทำใจเอาไว้เลยก็คือ วิธีลงทุนแบบนี้ ซึ่งแล้วมักจะไม่วิ่งทันที โอกาสที่ซื้อแล้วลงหรือขึ้นน่าจะไม่ต่างอะไรกับการทอยเหรียญบาท ฉะนั้น จงอย่าคาดหวังว่าซื้อแล้วจะขึ้นทันที ให้เวลากับหุ้นทุกตัวที่ซื้ออย่างน้อยก็น่าจะหนึ่งปีขึ้นไป

ในช่วง 1-2 ปีแรกของการเริ่มต้นลงทุนแบบ DG มีโอกาสเป็นไปได้สูงที่พอร์ตจะทำผลงานได้ไม่ดีนัก เพราะเราเลือกแต่หุ้นที่ตลาดไม่สนใจ ไม่มีเม็ดเงินเข้ามา ราคาหุ้นมักไม่ขึ้น เราต้องให้เวลากับหุ้นทุกตัวในพอร์ตอย่างน้อยก็หนึ่งปี อย่างไรก็ตาม ถ้าพอร์ตของคุณมีหุ้น 5-7 ตัว ในปีที่ 3 เป็นต้นไป ก็ควรจะมีหุ้นสักหนึ่งตัวในพอร์ตที่เป็นปีทองของมันและทำให้เราได้ชื่นใจ สลับกันไปทุกๆปี นั่นคือสิ่งที่เราน่าจะคาดหวังได้จากการลงทุนแบบนี้ครับ

ดังนั้นใน 1-2 ปีแรกที่เริ่มสร้างพอร์ต อย่าคาดหวังกับมันมากนัก ปีเตอร์ ลินซ์ บอกว่า ราคาหุ้นในระยะสั้นไม่จำเป็นต้องเป็นไปตามพื้นฐาน หรือแม้แต่ 1-3 ปีก็ตามก็ไม่จำเป็นด้วย ต้องนานกว่านั้นขึ้นไปครับ

ฉะนั้น ในปีที่ 3 ของการลงทุนแบบ DG เป็นต้นไป เราก็ควรจะคาดหวังได้แล้วว่า มันจะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าตลาดได้ต่อเนื่อง ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ผมถือว่า ประสบความสำเร็จ ซึ่งผลสำเร็จนั่นน่าจะเกิดจากการที่เราเลือกหุ้นได้ถูกต้องเกิน 6 ใน 10 ครั้ง และทุกตัวที่เราเลือกถูก เราอดทนที่จะอยู่กับมันได้นานพอ และไม่ได้ซื้อถมไปกับตัวที่เลือกผิด ถ้าทำได้ประมาณนี้ เชื่อว่าผลตอบแทนน่าจะออกมาดีครับ (ดีกว่าตลาด)

แนวคิดแบบ DG อีกอย่างคือ เราไม่ใช้การคัดลอส หรือการล้างพอร์ตเพื่อหนีวิกฤตที่เราคาดว่ากำลังจะมา เป้าหมายของเราคือการได้กำไรจากหุ้นที่เราลงทุนแต่ละตัวเป็นเด้ง ถ้าหากเหตุผลในการขายของเราง่ายเกินไป ที่สุดแล้วเราจะอยู่กับหุ้นตัวใดตัวหนึ่งได้ไม่นาน และจะไม่เคยได้กำไรเป็นเด้งๆ จากหุ้นตัวไหนเลย การคิดว่าซื้อไปแล้ว ไม่ตัดคัดลอสเลย กลับเป็นวิธีที่ดีกว่า ถ้าหุ้นบางตัวจะเน่าคาพอร์ตไปบ้างก็ช่างมัน ดูผลงานรวมของพอร์ตเป็นสำคัญดีกว่า

ส่วนการซื้อเฉลี่ยนั้น เชื่อว่าด้วยระดับความผันผวนของตลาดทุกวันนี้ เดาว่าอาจมีโอกาสที่ต้องนำมาใช้ค่อนข้างบ่อยอยู่เหมือนกัน แต่ยังไงๆ เราก็ลิมิตจำนวนเงินที่ซื้อเฉลี่ยเอาไว้แล้ว ช่วยให้เราใช้กระสุนที่มีอยู่อย่างมีค่าที่สุด และทำให้เราพลาดเพราะรีบซื้อเฉลี่ยเร็วเกินไป

การล้างพอร์ตนั้น ยอมให้ทำเฉพาะกรณี extreme เท่านั้น  คือนำมาใช้ให้น้อยที่สุด ได้แก่ ใน กรณีที่ตลาดหุ้นแพงอย่างสุดขีด ซึ่งผมมองว่าในห้าปี ไม่ควรจะมีโอกาสที่ต้องทำแบบนั้นเกิน 1 หน (ideally = 0 ครั้ง) ถ้าหากมากไปกว่านี้แสดงว่า คุณล้างพอร์ตง่ายเกินไป

ถ้าหากมีวิกฤติเกิดขึ้นนั้น อย่าคาดหวังว่า พอร์ตของเราจะไม่ลง หรือพอร์ตของเราจะแข็งกว่าคนอื่น อย่าคิดว่า การที่เราเลือกแต่ธุรกิจ B ขึ้นไปเข้าพอร์ตนั้น จะทำให้พอร์ตของเราแข็งกว่าคนอื่นเวลาเกิดวิกฤต เพราะที่จริงแล้ว ถ้าหากตลาดตกรุนแรงมากขนาดที่เรียกว่าวิกฤตได้นั้น ส่วนใหญ่แล้ว มักเกี่ยวข้องกับปัญหาสภาพคล่องด้วย และถ้าเป็นปัญหาสภาพคล่องนั้น ไม่ว่าหุ้นพื้นฐานดีหรือไม่ก็ไม่รอดครับ มันสามารถลงได้อย่างเหลือเชื่อไม่ต่างกัน แต่ข้อดีของการเลือกหุ้นพื้นฐาน B ขึ้นไปเข้าพอร์ตไว้เสมอนั้นมันจะอยู่ตรงที่ เมื่อเวลาที่วิกฤตผ่านไปแล้ว และสภาพเศรษฐกิจกลับมาสู่ภาวะปกติ พอร์ตมักจะกลับมาได้หมด ในขณะที่พอร์ตของหุ้นแย่ๆ นั้น ลงแล้วลงเลย

ดังนั้น ถ้าเกิดวิกฤตจริงๆ ก็ไม่ต้องขายครับ แต่ก็อย่าคิดว่ามันจะไม่ลงแรงในช่วงวิกฤตนะครับ ให้หวังว่า เราไม่ขายเพราะเรารู้ว่า ในเมื่อธุรกิจเหล่านั้นยังอยู่กับมนุษย์ต่อไป ที่สุดแล้วพวกมันจะกลับมาได้ในที่สุดเมื่อเมฆฝนผ่านไปแล้วเท่านั้น

ถ้าหากฉีดวัคซีนให้ตัวเองได้ตามนี้ ก็พร้อมที่จะลงมือเพื่อเป็นนักลงทุนแบบ DG ได้แล้ว สัปดาห์หน้ามาเริ่มต้นสแกนหุ้นในตลาดเพื่อเอาเข้า Watch List กันดูครับ

20 thoughts on “268: จิตใจของนักลงทุนแบบ DG”

  1. ออกกฏเรื่อง น้ำหนักพอร์ต10-15% เรื่อง-25%ถึงซื้อเพิ่มได้ไม่เกินจำนวนเดิมแล้ว
    น่าจะออกกฎเพิ่มสำหรับกรณีหุ้นตกหนักแต่ยังไม่นิ่งไว้เลยไหมครับ ว่ายังไงถึงจะซื้อได้
    หรือหุ้นที่นิ่งๆ นี่หมายถึงนิ่งนานแค่ไหน เพราะส่วนตัวบางทีก็ยังรีบซื้อเกินไป ถูกแล้วยังมีถูกอีก

  2. คิดว่า กฎห้ามซื้อเพิ่มก่อนลงมาเกิน 25% น่าจะช่วยได้ส่วนหนึ่งแล้ว เพราะผมสังเกตว่า เรามักจะ bullish อยากเป็น contrarian ตอนที่หุ้นยังลงไม่มาก แต่พอหุ้นลงไปมากๆ แล้ว คนที่เคยอยากเป็น contrarian จะเริ่มกลัวแทน ดังนั้น ถ้าห้ามซื้อตอนที่หุ้นลงไปยังไม่ถึง 25% ก็จะช่วยบังคับไม่ให้เราซื้อเร็วเกินไป และถ้าหุ้นลงไปมากขนาดนั้น ส่วนใหญ่เราจะเริ่มตาสว่างพอดี ถึงตอนนั้นถ้าหากเรายังกล้าซื้ออยู่ก็แสดงว่า หุ้นมันน่าจะยังดีอยู่จริงๆ

    1. แล้วถ้าเป็นกรณีหุ้นที่เรายังไม่มีในพอร์ต เพราะราคายังแพงไป แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ไม่เกี่ยวกับพื้นฐานกิจการทำให้ราคาตกลงมาอย่างหนักและต่อเนื่อง ในกรณีนี้ น่าจะมีกฏไว้ด้วยหรือเปล่าครับว่าให้ทำอย่างไร เช่น จะซื้อได้เลยถ้าราคาถูกพอ หรือจะให้รอให้ราคานิ่งๆก่อนรอให้ปริมาณการซื้อขายลดลง หรือจะแบ่งซื้อเป็นไม้ๆ

  3. ถ้าตาม DG ก็ เมื่อมีเงินก้อนใหญ่ที่อยากออมเข้ามาที ก็เอาหุ้นใน Watch List มาดูที ซึ่งถ้าหากยังไม่มีตัวไหนซื้อได้ ก็ให้เก็บเงินไว้ก่อน หลังจากนั้น เมื่อไรที่ตลาด crash 10% ก็เอามาดูที

  4. แหะ แหะ กลัวว่าพอหาหุ้นนิ่งๆได้ ประกาศปุ๊บมันจะไม่นิ่งอีกต่อไปสิ คนในนี้แย่งกันถือตรึม 555

  5. เรียนคุณคุณสุมาอี้ว่า ถ้ามีเงินก้อนใหญ่ และยังมีเงืนเป็นรายเดือน สามารถลงทุนโดยใช้กลยุทธ์แบบนี้ได้หรือไม่ คือลงก้อนใหญ่ และซื้อเฉลี่ยเพิ่มทุกเดือนเหมือนกลยุทธ์ 7thltg ครับ ถ้าทำแบบนี้มีข้อดีข้อเสียอย่างไรครับ
    ขอบคุณครับ

    มีคำถามอยู่ในบทความสัปดาห์ที่แล้วครับ เริื่อง growth investing กับการเปลี่ยนม้า ยังไม่ได้รับคำตอบครับ

    ขอบคุณอีกครั้งครับ

    ชอบแนวคิดคุณสุมาอี้มากๆ ครับ อ่านหนังสือที่แต่งโดยคุณสุมาอี้เกือบทุกเล่มมาหลายปี ตอนลงทุนใหม่ ๆ ยังไม่ค่อยเข้าใจดี แต่พอผ่านมาสักระยะ เริ่มเข้าใจมากขึ้น และกำลังปรับพฤติกรรมการลงทุนให้เป็นแนวทางที่ถูกต้อง ดูราคาให้น้อยลง ศึกษาให้มากขึ้นครับ
    จึงต้องเรียนสอบถามบ่อยหน่อยครับ เพราะอยากได้ความรู้ที่เป็นหลักปฏิบัติไม่ใช่ทฤษฎีครับ

  6. 7thLTG เหมาะกับ คนที่ยังไม่มีเงินก้อน แต่มีเงินเดือนเข้ามาทุกเดือน จึงค่อยๆ ออมไปทีละนิด และเหมาะกับคนที่ต้องการลงทุนแบบค่อนข้าง passive มากๆ คือ แทบไม่มีเวลาศึกษาข้อมูล และต้องการลงทุนโดยไม่ต้องพะวงเรื่องมูลค่าหุ้นที่เหมาะสม

    DG เหมาะกับคนที่มีเงินก้อนใหญ่ตั้งแต่เริ่ม ชอบศึกษาบริษัทเป็นงานอดิเรก และต้องคิดเรื่องราคาหุ้นที่เหมาะสมด้วย

    1. ขอบคุณ คุณสุมาอี้มาก ๆ ครับ สำหรับคำตอบที่สั้นและกะชับมาก ๆ

      ที่ผมเรียนถามไป เพราะตนเองมีเงินก้อนที่สะสมมานานหลายปีก้อนหนึ่ง
      และขณะนี้ก็ยังทำงานมีเงินเดือนอยู่ด้วย

      ผมเลยคิดว่า หากเราศึกษาหุ้นเป็นอย่างดีแล้ว ก็เลือกลงทุนก้อนใหญ่นั้นไปก่อนก้อนแรก และทะยอยลงทุนทุกเดือนเฉลี่ยหุ้นใน port ไปเรื่อย ๆ อีกด้วย เพราะหากหุ้นที่่เราคัดเลือก มันต่ำกว่า มูลค่าที่แท้จริงในระยะยาวมาก ๆ การลงทุนในก้อนหลัง ๆ เทียบกับก้อนแรกที่ลง ก็ยังเป็นส่วนเฉลี่ยต้นทุนไม่มาก แต่เราจะสามารถสะสมปริมาณหุ้นในอนาคตหลายปี เพื่อตีแตกในระยะยาวได้เมื่อหุ้นนั้นแสดงศักยภาพระยะยาว ไม่งั้นก็ต้องมาแบ่ง port ลงทุนเป็น 2 port อีก ทำให้ดูแลลำบากครับ เพราะเงินก้อนใหญ่อีกก้อนส่วนหนึ่งก็ลงทุนใน rmf และ ltf ที่เป็นหุ้น ตราสารหนี้ และตราสารการเงินไว้ระดับหนึ่งเพื่อประโยชน์ทางภาษีหลายกองทุนแล้วเช่นกันครับ

      ขอบคุณสำหรับความเห็นที่เป็นประโยชน์มาก ๆ ครับ

  7. ถ้าเรามองว่าตลาดหุ้นเวลานี้แพง ยังไม่ใช่โอกาสของการลงทุน การใช้วิธีทยอยซื้อทีละน้อยไปเรื่อยๆ ก่อน ก็เป็นกลยุทธ์ที่ดีครับ

    รอให้ตลาดปรับฐานใหญ่ แล้วค่อยนำเงินก้อนเข้ามาลงทุน จะเป็นวิธีที่ปลอดภัย

  8. คือ ผมอยากถามว่าถ้า ผมมีเงินเก็บเพิ่มทุกเดือน แต่หุ้นใน watch list แพงทุกตัว เราควรเก็บเงินสดไว้ แล้วรอให้ราคาเหมาะสมก่อนแล้วค่อยซื้อใช่มั้ยครับ คือไม่ต้องซื้อถัวเฉลี่ย แบบนี้ผมคิดถูกมั้ยครับ

    1. มีสองทางเลือกครับ

      ทางเลือกแรกคือรออย่างที่ว่ามา

      หรือสองก็คือหันไปลงทุนแบบ 7thLTG แทน รอให้ DG ลงทุนได้เมื่อไร ค่อยเอาเงินส่วนที่ยังไม่ได้ลง มาลง DG

Leave a Reply to pituckj Cancel reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *