Skip to content

263: หาหุ้นแบบ DG

ปีเตอร์ ลินซ์ สอนว่า คนธรรมดาควรเลือกหุ้นเองทุกคน เพราะแม้แต่เด็กๆ ที่โรงเรียนประถม St.Agnes ก็ยังพิสูจน์มาแล้วว่า เลือกหุ้นชนะตลาดได้ แต่ถ้าเป็นคนที่ไม่มีเวลาเลยก็ให้ซื้อกองทุนรวมแล้วถือแบบ passive ไปแทน ส่วนการคอยซื้อหุ้นตามผู้เชี่ยวชาญนั้น ปีเตอร์ ลินซ์ ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง

ทั้งนี้ปีเตอร์ลินซ์ไม่ได้หมายความว่า ใครเลือกหุ้นอะไรก็ประสบความสำเร็จได้ทั้งนั้น แต่เหตุสำคัญที่คนธรรมดาจะเลือกหุ้นชนะตลาดได้ คือ คนธรรมดาคนนั้นต้องเป็นคนที่สามารถคิดให้เป็นอิสระจากตลาดหุ้นได้ด้วย นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้ เด็กประถมมีข้อได้เปรียบ เพราะพวกเขาไม่ได้รับข่าวสารใดๆ เกี่ยวกับตลาดหุ้น พวกเขาจึงสามารถคิดได้เองว่า ธุรกิจอะไรบ้างที่เป็นธุรกิจที่ดี โดยดูจากชีวิตประจำวันของพวกเขาเองจริงๆ ไม่ถูกชักนำโดยราคาของหุ้นตัวนั้นในตลาด หรือข่าวในตลาด หรือคำพูดของคนอื่นๆ

ดังนั้นถ้าคุณจะเป็นคนธรรมดาที่ประสบความสำเร็จจากวิธีของลินซ์ได้ด้วย คุณก็ต้องเป็นคนที่คิดโดยเป็นอิสระจากตลาดหุ้นให้ได้ด้วยเช่นกัน มันเป็นสิ่งที่คุณสามารถฝึกได้ทุกคน

ใจจริงนั้นผมอยากให้ขั้นตอนของการคัดหุ้นแบบ DG มีสูตรสำเร็จอะไรสักอย่าง เป็นต้นว่า เอา P/E มาบวก ROE มาคูณตัวเลขอะไรสักตัวหนึ่ง บวก Dividend Yield แล้วเอามาวัดกับค่าๆ หนึ่ง เป็นต้น เพราะนั่นจะทำให้วิธีการลงทุนของเรามีความชัดเจนมาก ปฏิบัติได้ง่ายทันที แต่ก็ต้องขอบอกว่า สำหรับขั้นตอนการเลือกหุ้นเข้า Watch List นั้น ห้ามใช้สูตรสำเร็จเป็นอันขาด มันคือสิ่งที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง (เอาไว้ตอนพูดถึงส่วนของการวัดราคาหุ้น ผมจะมีสูตรที่ชัดเจนให้ แต่สำหรับเรื่องการคัดธุรกิจนี้ ผมไม่สนับสนุนให้ใครใช้สูตรสำเร็จเลยจริงๆ)

การคัดธุรกิจเข้า Watch List ต้องเป็นการวิเคราะห์เชิงคุณภาพ นี่คือปรัชญาของผม และของลินซ์ด้วย ลินซ์ไม่เคยให้สูตรใดๆ ในการเลือกหุ้นในหนังสือของเขา มี่แต่สูตรเรื่องการดูราคา

การคัดหุ้นตามแบบ DG นั้น อย่าทำให้มันซับซ้อน ที่จริงแล้ว ธุรกิจที่ดีนั้น คุณต้องสามารถอธิบายเป็นประโยคง่ายๆ แต่ชัดเจน ความยาวไม่เกินสองนาที ได้ ว่ามันเป็นธุรกิจที่ดีเพราะว่าอะไร หรือที่ปีเตอร์ ลินซ์ เรียกว่า Two-minute Drill ถ้าทำไม่ได้ แสดงว่า ธุรกิจนั้นไม่มีจุดเด่นที่ชัดเจนมากพอ และเท่ากับไม่น่าลงทุนนั่นเอง  Keep it simple แต่ตรงประเด็นก็ใช้ได้แล้ว

ผมขอยกตัวอย่างเพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้นนะครับ ตัวอย่างเช่น ถ้าผมจะบอกว่า PTT เป็นกิจการที่น่าลงทุน ผมอาจจะบอกว่า

 PTT เป็นบริษัทที่มีการลงทุนอย่างต่อเนื่องทำให้มีโอกาสเติบโตสูง ในเวลาเดียวกัน แม้จะอยู่ในธุรกิจที่มีความเป็นวัฏจักร แต่ PTT ก็เป็นกลุ่มบริษัทที่มีการกระจายความเสี่ยงไปยังหลายๆ ธุรกิจ โดยที่มีธุรกิจหลักคือโรงแยกก๊าซซึ่งเป็นตัวที่สามารถทำกำไรได้อย่างแน่นอน ดังนั้นไม่ว่าธุรกิจส่วนอื่นจะขึ้นๆ ลงๆ แต่ผลประกอบการโดยรวมก็จะไม่แย่มาก ดังนั้น PTT จึงเป็นธุรกิจที่น่าลงทุน เพราะตอบโจทย์ได้ทั้งการเติบโต และแข็งแกร่ง

บริษัทอะไรที่คุณสามารถเขียนเหตุผลในการลงทุนที่ง่ายๆ และชัดเจน อ่านแล้วมีเหตุมีผลก็คือใช้ได้แล้วครับ  แค่นี้ PTT ก็สามารถเข้ามาอยู่ใน Watch List ของผมได้แล้ว (แต่ยังซื้อลงทุนไม่ได้นะครับ เพราะเรายังไม่ได้ดูเรื่องราคาหุ้นเลย ราคาปัจจุบันอาจจะแพงไปก็ได้)

อันนี้ไม่ได้หมายความว่า อยู่ดีๆ คุณจะนั่งเขียนเกี่ยวกับหุ้น XYZ ให้ได้หนึ่งย่อหน้าแบบนี้ แล้วหุ้น XYZ ก็กลายเป็นหุ้นที่น่าลงทุนนะครับ ก่อนที่คุณจะเขียนหนึ่งย่อหน้าแบบนี้ได้ คุณต้องหาข้อมูลเกี่ยวกับหุ้น XYZ ให้มากที่สุดก่อน ถ้าหาเยอะพอแล้ว แต่ยังเขียนสรุปไม่ได้ หรือเขียนได้แต่ก็ยังรู้สึกว่า ไม่เห็นจะน่าลงทุน ก็แปลว่า ยังไม่ผ่าน พูดง่ายๆ คือ หุ้นที่น่าลงทุนจะต้องทั้งดี และทั้งเข้าใจได้ง่ายสำหรับเราด้วย

แน่นอนครับ บางคนสรุปแล้วก็จะถูก แต่บางคนอาจจะสรุปแล้วผิดพลาด เพราะมองผิดประเด็นไปเลย การมองธุรกิจต้องอาศัยการสั่งสมประสบการณ์ เพื่อให้มีทักษะในการจับประเด็นของธุรกิจนั้นได้ดีขึ้นเรื่อยๆ คนที่เก่งจะจับประเด็นหลักของความสำเร็จทางธุรกิจของธุรกิจนั้นได้ดีกว่าคนอื่น และทำให้เขาไม่จำเป็นต้องดูอะไรที่ลึกหรือละเอียดที่ยิบด้วย คนที่ยังไม่เก่งอาจต้องเริ่มต้นจากการหลงทางไปบ้างอะไรบ้าง คืออาจไปมองในจุดที่ไม่มีผลต่อผลประกอบการสุดท้ายของธุรกิจนั้นทำให้มองพลาด แต่เรื่องนี้ทุกคนก็ต้องฝึกฝนกันทั้งนั้นนะครับ คนเก่งก็เริ่มจากไม่รู้อะไรมาก่อน คนที่มองเก่งก็เริ่มต้นมาจากไม่เก่งมาก่อน คุณก็ต้องทำแบบเขาเหมือนกัน อย่ามัวแต่หวังรวยทางลัด

แต่ต่อให้ตอนนี้คุณยังไม่เก่ง ก็ไม่ต้องกลัวว่าจะลงทุนผิดพลาดขาดทุนย่อยยับนะครับ ลินซ์บอกว่า ถ้าคุณเลือกหุ้นที่ลงทุนเอง 5 ตัว คุณจะพบว่า สุดท้ายแล้ว ตัวที่คุณมั่นใจที่สุดในห้าตัว อาจจะไม่ดีอย่างที่คิด แต่ตัวอื่นที่คุณเชื่อมั่นน้อยกว่า กลับดีมากจนสร้างความประหลาดใจให้คุณ เพราะธุรกิจไม่มีอะไรที่แน่นอน ต่อให้เราเลือกหุ้นให้ดีที่สุด แต่สุดท้ายแล้วจะมีโชคมาเกี่ยวข้องด้วย คนที่เลือกหุ้นเก่งที่สุดอาจจะขาดทุนหนักกับหุ้นบางตัวเพราะว่า บังเอิญซวยสุดๆ ส่วนคนที่เลือกหุ้นไม่เก่ง อาจได้ผลตอนแทนที่ดีมากจากหุ้นบางตัว เพราะมีโชคมาช่วยพอดี ยังไงถ้าเราก็ลงทุนในหุ้นหลายตัว โชคมันจะทำให้ผลตอบแทนรวมของทุกคนไม่ต่างกันมากจนเกินไปนัก จึงไม่มีความจำเป็นจะต้อง “เป๊ะ”

ฉะนั้น ในขั้นตอนของการคัดธุรกิจที่ดีนั้น ผมอยากให้นักลงทุนทุกคนหันมามีทัศนคติแบบสบายๆ คืออย่าเป็น Perfectionist อย่าไปคิดว่าเราจะต้องเลือกหุ้นให้ถูกทุกตัว วิธีลงทุนแบบลินซ์นั้น ไม่ได้พึ่งพาการเลือกหุ้นให้ถูกต้องทุกตัว คือคุณจะเลือกหุ้นถูกบ้าง ผิดบ้างก็ได้ แต่อาศัยการสร้างผลตอบแทนจากการควบคุมจิตใจมากกว่า คือคุณต้องพยายามอยู่กับตัวที่เลือกถูกให้ได้นานๆ (จนกำไรหลายเด้ง) และอย่าถมเงินลงไปกับตัวที่เลือกผิด (Water the Weeds) ถ้าคุณฝึกจิตให้ทำแบบนี้ได้ คุณไม่จำเป็นต้องเลือกหุ้นถูกทุกตัวเลย

ลินซ์กล่าวว่า ถ้าหากคุณเลือกหุ้นถูก 6 ตัวใน 10 ตัว ก็เพียงพอที่จะประสบความสำเร็จได้แล้ว ที่เหลือคือการบริหารพอร์ตให้ได้กำไรจากตัวที่คิดถูกให้เยอะที่สุด และขาดทุนจากตัวที่คิดผิดให้น้อย ดังนั้นถ้าพอร์ต DG ของคุณมี 7 ตัว ถ้าคุณเลือกให้ถูกตั้งแต่ 4 ตัวขึ้นไป ก็ถือว่าใช้ได้แล้วครับ ไม่ใช่อะไรที่ยากสำหรับคนทั่วไปเลย

อย่างไรก็ตาม สุดท้ายนี้ผมมีข้อสังเกตบางอย่างที่ผมเห็นว่าเป็นจุดอ่อนที่คนหัดเลือกหุ้นในบ้านเรามักจะเป็นกันเยอะ เลยอยากนำมาเตือนกัน ดังนี้ครับ

นักลงทุนบางคนยังติดกับการประเมินการเติบโตในอนาคตจากตัวเลขในงบการเงิน เช่น เอาการเติบโตของรายได้เฉลี่ย 3 ปี สุดท้ายมาเป็นสมมติฐานว่า อีก 3 ปีข้างหน้า รายได้บริษัทจะเติบโตเท่าไร นั่นคือการขับรถโดยมองกระจกหลัง แทนที่เราจะดูจากตัวเลขในอดีต เราควรจะดูว่าบริษัทจะขยายธุรกิจได้ด้วยเหตุผลอะไรบ้างเป็นข้อๆ มากกว่า เช่น โดยการขยายสาขา โดยการออกผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ โดยขึ้นราคา สินค้าของบริษัทเป็นเมกกะเทรนด์ เป็นต้น ยิ่งมีเหตุให้ธุรกิจขยายตัวได้มาก ก็ยิ่งประเมินการเติบโตได้มาก ถ้าหากไม่มีเลย ก็น่าจะโตน้อย ต่อให้ 3 ปีที่ผ่านมาบริษัทโตเยอะก็ตาม

นักลงทุนบางคนยึดติดกับอดีตของบริษัท  ตัวอย่างเช่น โคคา-โคล่า เป็นบริษัทที่แข็งแกร่งก็จริง เพราะเป็นยี่ห้อสามารถประจำบ้านที่คนทั่วโลกรู้จัก แต่ถ้าถามว่าอนาคตของโคคา โคล่า ต่อจากนี้ไปจะดีหรือไม่ ที่จริงแล้ว มันอาจจะแย่ลงก็ได้ เพราะเทรนด์ของผู้บริโภคสมัยใหม่ที่ไม่ชอบเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล เครื่องดื่มแนวที่อิงกระแสสุขภาพน่าจะไปได้ดีกว่า และอาจมาแย่งส่วนแบ่งตลาดจากน้ำอัดลมเสียด้วยซ้ำ เช่นนี้ โคคา-โคล่า ก็อาจไม่ใช่ธุรกิจที่น่าลงทุนในช่วงต่อไปก็ได้ ทั้งที่มันเคยประสบความสำเร็จอย่างสูงในอดีต พยายามอย่ามองแต่ภาพในปัจจุบันหรืออดีตอย่างเดียว แต่ต้องพยายามมองด้วยว่า แล้วในอนาคตมันจะยังดีขึ้นอีกด้วยหรือไม่ เพราะการลงทุนเป็นเรื่องของการมองไปข้างหน้า

นักลงทุนบางคนมองระยะสั้นเกินไป ทุกธุรกิจไม่ว่าดีหรือเลวก็จะมีช่วงเวลาที่ดีและแย่ได้เสมอ ต่อให้เป็นธุรกิจที่แย่มาก มันก็ไม่ได้เป็นขาลงตลอดทาง ในบางปีมันอาจจะดีขึ้นชั่วคราวก่อนที่จะกลับไปแย่เหมือนเดิม ดังนั้นถ้านักลงทุนมองสั้นเกินไป ก็อาจสำคัญผิดว่า บางบริษัทดี เพราะในช่วงนั้นเผอิญเป็นช่วงที่มันฟื้นอยู่พอดี แต่จริงๆ แล้วพื้นฐานหลักๆ ของมันก็ยังแย่อยู่เหมือนเดิมก็ได้ พอลงทุนไปแล้วก็ค่อยมาพบว่าบริษัทดีแค่ปีเดียว แล้วหลังจากนั้นก็มีแต่แย่ลงทุกปี สาเหตุที่ทำให้เรามองสั้น คือ การมองจาก “ข่าว” เช่น ปีนี้บริษัทได้โปรเจ็คใหม่ ปีนี้บริษัทลดหนี้ได้สำเร็จ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้จริงๆ แล้วเป็นแค่เพียงเหตุการณ์ ซึ่งทุกบริษัทก็สามารถมีเหตุการณ์ทำนองเกิดขึ้นได้ทั้งนั้น การมองธุรกิจที่ดีกว่าคือ มองว่าบริษัททำสินค้าอะไร สินค้ามีคุณภาพหรือไม่ บริการดีหรือไม่ ธุรกิจนี้มีตัวช่วยอะไร สินค้าของบริษัทเข้ากันได้กับแนวโน้มของโลกหรือไม่ เหล่านี้ต่างหากที่ควรเป็นประเด็นที่ใช้ตัดสินคุณภาพของธุรกิจ

นักลงทุนบางคนเป็น Perfectionist บางคนไม่กล้าเลือกหุ้นเองเพราะกลัวผิด ที่จริงแล้วไม่ต้องกลัวเลย เพราะต่อให้เก่งแค่ไหน ก็จะมีบางตัวที่เลือกผิดเสมอ เพราะความสำเร็จของธุรกิจไม่ได้ขึ้นอยู่กับพื้นฐานอย่างเดียว แต่อีกส่วนหนึ่งเกิดจากปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ด้วย (เช่น เกิดวิกฤตพอดี ฯลฯ) ดังนั้นต่อให้คนที่เลือกหุ้นเก่งที่สุด ก็จะมีหุ้นส่วนหนึงที่ผิดไปจากที่คาดมาก วิธีการลงทุนของลินซ์นั้น ต้องการเลือกหุ้นให้ถูกตัวแค่ 6 ใน 10 ครั้งเท่านั้น ซึ่งเป็นระดับที่ไม่เกินความสามารถของคนธรรมดา แต่การได้ผลตอบแทนที่ดีนั้นเกิดมาจาก การควบคุมจิตใจให้อยู่กับหุ้นตัวที่เราเลือกถูกให้ได้นานที่สุด (เพื่อให้กลายเป็นหุ้นหลายเด้ง) และไม่ถมเงินลงไปอีกกับตัวที่เราเลือกผิด หรือ Don’t Sell the Flower, Water the Weeds นั่นเอง

สุดท้ายแล้ว บริษัทที่ผ่านเข้ามาใน Watch List ของเรานั้น อย่างน้อยควรเป็นธุรกิจที่เราเชื่อว่า น่าจะทำรายได้ให้เพิ่มขึ้นได้ไม่ต่ำกว่า 10% เกือบทุกปี หรือเราเชื่อว่าภายในห้าปี บริษัทจะมีรายได้เพิ่มขึ้่นเป็นสองเท่าได้โดยที่ไม่ยากเกินไปนัก ซึ่งจริงๆ แล้ว ตัวเลข 10% ต่อปี เป็นตัวเลขที่ไม่ได้สูงเลย สิ่งที่เราอยากได้มากกว่าคือความสม่ำเสมอมากกว่า คือโตไม่เยอะแต่ทำได้ทกุปี ที่จริงแล้ว หุ้นที่โตแต่ไม่สูงกลับน่าสนใจมากกว่าหุ้นที่โตรุนแรง เพราะว่ามักไม่ใช่หุ้นร้อน ราคาหุ้นจึงมักไม่แพงจนเกินไป ถ้าจะลงทุนเพื่อหวังการเติบโตระยะยาวมักจะดีกว่าหุ้นที่โตเยอะๆ แต่ไม่สม่ำเสมอ

พื้นฐานดี+มีอนาคต ขอให้สนุกกับการคัดหุ้นครับ

22 thoughts on “263: หาหุ้นแบบ DG”

  1. จะเริ่มใส่หุ้นในwatch list แล้วหรือครับ คุณนรินทร์ เร็วกว่าที่คิดไว้เยอะเลยครับ นึกว่าจะเริ่มปลายปีเสียอีก อันนี้จะให้ช่วยกันพิจารณาหรือป่าวครับ โดยการกำหนด 2 minute drill ด้วยหรือป่าวครับในการช่วยกันพิจารณาเอาเข้า watch list จริง ๆ อยากให้คุณนรินทร์ขยายความการจัดหมวดหมู่ หุ้นทั้ง 6 ประเภทตามที่ลินซ์บอกเสียก่อน เพื่อจะได้เพิ่มความเข้าใจ
    แล้วก็อยากให้ตุณนรินทร์แนะนำเรื่อง key driver ของหลาย ๆ กลุ่มธุรกิจ เช่น ธุรกิจ ธนาคาร สิ่งพิมพ์ เทคโนโลยี ยาง เหล็ก พลาสติก อะไรประเภทนี้ด้วยครับ และความเสี่ยงหลักในแต่และประเภทธุรกิจ เพราะผมมองว่ามันมีความสำคัญในการวิเคราะห์เชิงคุณภาพมากทีเดียว
    ไม่ทราบรบกวนเยอะไปไหมครับ ผมกำลังทำความเข้าใจในหลาย ๆ กลุ่มธุรกิจอยู่แต่ความรู้ทั้งทางเศรษฐศาสตร์และการบริหารธุรกิจน้อยนิดเหลือเกินครับ
    ขอบคุณมาก ๆ ครับ

  2. เมื่อถึงตอนทำ Watch List คิดว่าคงเลือกหุ้นเข้า Watch List โดยเขียน 2-minute drill ของแต่ละตัวไว้ให้อ่านกันครับ

    ขอฉีดวัคซีนกันไว้ก่อนว่า ตั้งใจว่าจะเลือกประมาณ 20 ตัว ซึ่งคงไม่ได้เป็นหุ้นเด็ดๆ ที่ขุดมาจากไหน แต่เป็นหุ้นธรรมดาสามัญประจำบ้านที่ใครๆ ก็รู้นั่นแหละ เพียงแต่ว่า selective หน่อยเท่านั้น เพราะดูแล้วคิดว่า หุ้นเหล่านี้ก็สามารถ เข้าเกณฑ์ของ DG ได้สบาย ไม่มีความจำเป็นต้องขุดอะไรที่พิสดาร

  3. ยอดเยี่ยม ชอบจริงๆ

    โดยเฉพาะเรื่องยึดติดอดีต 3 ปี …ผมเองเคยเจอนลท.ที่ชอบการมองย้อนหลัง 5 ปี ลงข้อมูลใน excel ลากไปข้างหน้า แล้วมั่นใจมากเกินไป จนมองการประมาณการเติบโตวิธีอื่นเป็นเรื่องมั่วเสียหมด ที่จริงแล้วมันเปนเรื่องศิลป์มากกว่าศาสตร์นะครับ

    ที่ท่านแม่ทัพสรุปในย่อหน้าแรกๆว่า วิธีการเลือกหุ้น …ไม่มีสูตรตายตัว…อย่าทำให้มันซับซ้อน…และ เราต้องเข้าใจจนอธิบายมันออกมาง่ายๆได้ นั่นคือแก่นจริงๆเป็นประโยชน์อย่างยิ่งครับ

  4. ประมาณนั้นเลยครับคุณ atip

    DG จะทดสอบแนวคิดของปีเตอร์ ลินซ์ ที่ว่า ขอให้เราเลือกของดีๆ ในราคาที่ยังไม่แพงเกินไป โดยที่ไม่ต้องสนใจภาวะตลาด หรือเก็งว่าหุ้นตัวนั้นจะขึ้นหรือไม่ สุดท้ายแล้ว มันจะให้ผลตอบแทนที่ดีได้หรือไม่

  5. ผมสงสัยมานานแล้วครับว่าเด็กในโรงเรียนประถมนั้นที่เขาเลือกหุ้นนั้นเขาได้คึดถึงเรื่องราคาหรือเปล่า

    เรื่องรู้จักหุ้นตัวที่ซื้อนั้นก็แบบพีนรินท์ยกตัวอย่างptt ไป เด็กๆก็คงจะบอกได้ แต่เรื่องราคานั้นในบทที่พูดถึงเด็กๆนั้น

    เขาไม่ได้พูดถึงเลยว่าว่าที่เด็กซื้อนั้น หุ้นมีราคาถูกแล้ว พูดถึงแต่เด็กเขาเข้าใจในบริษัทนั้นพอสมควร

  6. ผมทดลองทำ port จำลองมาได้สักระยะหนึ่งแล้ว
    โดยใช้แนวคิดของ Lynch เป็นหลักเช่นกัน
    แต่แตกต่างจากของคุณนรินทร์ในรายละเอียดปลีกย่อยในบ้างข้อ
    คือ ถ้าโตจริงๆ และยังโตได้อีก (มากๆ และค่อนข้างแน่นอน) แพงหน่อยผมก็ซื้อ
    แต่จะไปใช้การกระจายหุ้นหลายๆตัวมากกว่าแทน
    และไม่ให้ตัวไหนมีขนาดใหญ่เกิน 10% ของ port ณ ตอนที่ซื้อ
    แต่ถ้าซื้อไปแล้ววิ่งไปหลายๆเด้งจนเกิน 10% ของพอร์ตไปมากๆก็ไม่ขาย
    จะขายเมื่อมันจะไม่โตอย่างต่อเนื่องแบบที่คิดไว้ทีแรกเท่านั้น

    ผ่านมา 2 ปีแล้ว ผมตอบแทนไม่เลวเลยทีเดียว ชนะตลาดได้ทั้ง 2 ปี
    แต่อยากทดลองให้นานกว่านี้อีกซักหน่อย ก่อนจะเอาเงินจริงๆไปลง
    และก็อยากให้ผ่านช่วงตลาดหมีแบบยาวนานซักรอบสองรอบด้วย เพื่อเป็นการ prove อีกทางหนึ่ง

    ที่ทำแบบนี้เพราะ port หลักของผมมีหุ้นแค่ 2-4 ตัวเท่านั้น
    แต่หุ้นที่ศึกษามาหลายๆตัว น่าสนใจ อยากซื้อเก็บไว้บ้าง แต่ยังไม่ใช่ตัวแรกๆที่มั่นใจที่สุดแล้วเท่านั้น
    เลยคิดจะแบ่งเงินออกมาส่วนนึงเพื่อลงทุนใน port ที่สอง
    เพื่อจะได้ติดตามแบบใกล้ชิด (เพราะใส่เงินจริงๆลงไปบ้างแล้ว)
    และที่ไม่รวม port เลย เพราะอยากทำการทดสอบวิธีการลงทุนอีกแบบด้วยไปในตัว

    สำหรับผมแล้ว port หลักไม่เกิน 5 ตัว
    port รอง ไม่เกิน 15 ตัว
    Watch list มีได้ไม่อั้น

    รออ่านตอนต่อไปอยู่นะครับ ติดตามมานานแล้ว แต่แทบไม่เคย post เลย 🙂

  7. ขอบคุณครับ ยอดเยี่ยมมาก 2 minutes สำหรับการมองว่าหุ้นตัวไหนน่าซื้อเป็นการทดสอบความเข้าใจของเรากับหุ้นตัวนั้นไปในตัว รออ่าน valuation และดูหุ้นใน watch list ต่อครับ

  8. พี่โจ๊กครับ ผมสงสัยอย่างหุ้นธนาคาร มันค่อนข้างชัวร์ว่าโตไปเรื่อยๆ (ถ้าไม่มี bubble burst) ตอนนี้ p/e ก็ 10-12 เท่า มันเกิดอะไรขึ้นครับ ทำไมเป็นกลุ่มที่ตลาดไม่ให้ value ทั้งที่ growth แน่นอน มี story ที่ support growth ในหลายปีข้างหน้า เช่น อุตสาหกรรมโต ลงทุนภาครัฐโต เป็นต้น มีทำ 2-minutes drill แล้วนึกไม่ออกว่า อะไรทำให้ตลาดให้ value กลุ่มนี้ค่อนข้างต่ำ รบกวนพี่โจ๊กหน่อยครับว่ามุมมองต่อ bank ใหญ่ๆเป็นอย่างไรครับ

  9. คงมาจากการที่คนติดภาพว่า หุ้นตัวใหญ่ต้องโตช้า เลยให้ พีอี แค่เท่ากับธนาคารอื่นๆ ทั่วโลก

    แต่ ธ.ไทยไม่เหมือนที่อื่น profit margin 25% แถมสัดส่วนค่าธรรมเนียมต่อรายได้รวมก็สูงที่สุดใน Asia Pacifiic ด้วย การเติบโตก็ต่อเนื่องทุกปี ติดต่อกันเป็น 10 ปี หุ้นตัวเล็กอายไปเลย

    ผมเองก็พลาดกลุ่มนี้ไปเต็มๆ

  10. ถ้าเราลงทุนแบบ DG เราไม่สามารถเติมเงินลงไปในพอร์ตได้เลยเหรอค่ะ ถ้าเราเกิดมีเงินไม่พอในการลงทุนครั้งแรก แต่เราค่อนข้างมั่นใจว่าหุ้นตัวนี้ เป็นหุ้นเติบโต เราจะทำยังไงค่ะ

  11. jubile “ขายเพชร เปิดตู้เพชรตามห้าง โตจากการขยายสาขาไปเรื่อยๆ และรายได้สาขาเดิมที่ขายได้มากขึ้น มีกลุ่มลูกค้าที่ชัดเจน โดยเน้นกลุ่มลูกค้าระดับกลางขึ้นไป มีการทำการตลาดและแบรนด์อย่างต่อเนื่อง”

    สรุปสั้นๆ เข้าใจง่ายชัดเจน แบบนี้พอได้มั้ยครับพี่โจ๊ก? / ขอบคุณครับ ^^

  12. ถ้าตอนเจอมีเงินน้อยเลยซื้อไปแค่ 10% ของพอร์ต แบบนี้ถ้าวันหลังมีเงิน แล้วราคายังไม่แพงก็ซื้อเยอะได้ สุดท้ายแล้ว ก็อย่าให้เกิน 30% ของพอร์ต ก็แล้วกัน

  13. ขอลองบ้างนะครับ
    HEMRAJ “ผู้นำในอุตสาหกรรมนิคมฯ แม้รายได้จากการขายที่ดินจะมีความไม่แน่นอนสูงแต่ในระยะ3ปีจากนี้ไปยังอยู่ในช่วงขาขึ้น โดยมีแรงผลักดันจากการเกิดขึ้นของ AEC และการขยายการลงทุนของต่างชาติโดยเฉพาะการขยายตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ เป็นผู้ได้ประโยชน์โดยอ้อมจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐที่กำลังจะเกิดขึ้นในระยะต่อไป นอกจากนี้ยังพยายามเพิ่มสัดส่วนของ recurring income ให้มากขึ้น เช่น รายได้จากการขายน้ำให้โรงงานในนิคมฯ warehouseและlogistic park สำหรับเช่า และร่วมลงทุนในโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก”
    ไม่รู้ว่าพอใช้ได้หรือเปล่า รบกวนพี่โจ้กด้วยครับ

  14. ลอง JMT นะครับ
    ของjmt ตะก่อนรายได้หลักมาจากรับจ้างทวงหนี้…แต่ตอนนี้ซื้อหนี้เน่าถูกๆมาทวงเองไม่ต้องรับจ้าง..ทำให้โตกว่าเก่าเยอะ..ส่วนให้เงินยืมซื้อรถยังไม่น่ามีนัยยะอะไร.ที่สำคัญคือ ไม่มีคู่แข่ง มีแต่คู่ค้า เพราะบ.ทวงหนี้อื่นๆ ขนาดเล็กกว่า และส่วนใหญ่จะรับงานจาก jmt อีกที ตัวที่จะเป็นตัวเร่งคือ กำลังยื่นไลเซนท์เปิดบริษัทซื้อหนี้ที่คดีถึงที่สุดแล้ว ซึ่งยังไม่มีใครทำธุรกิจนี้ ก็ไม่มีคู่แข่งเหมือนกันและในอนาคตก็จะเปิดบริษัทซื้อหนี้พวกอสังหาฯ อาจจะอีกสักสองสามปี จบครับ พอจะเห็นภาพกันไหมครับ

  15. ไม่รู้เด็กประถมพวกนั้นใช่หลาย Warren Buffet หรือเปล่า 555 แซวเล่นนะคะ

  16. พี่โจ๊กครับ หุ้นอย่าง MC ซึ่งอยู่ใน sunset business อย่างสิ่งทอ แต่มีแผนที่จะโตโดยการเปิดร้านไปเรื่อยๆ โตตาม modern trade, ห้างสรรพสินค้า + สร้างแบรนด์อย่างต่อเนื่อง อย่างนี้พอจะอยู่ใน watch list ของ DG หรือ 7thLTG ได้ไหมครับ

    1. คือถ้าจะเปิดร้านสาขา อาจมองว่าเป็น สิ่งทอกึ่งค้าปลีก มีแบรนด์ของตัวเอง ไม่เป็น sunset ก็ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากไม่ได้ผลิตเอง

      ถ้าหากเป็นอย่างนั้นและมีกลยุทธ์ทางธุรกิจที่ดีด้วย ก็สามารถเป็นได้ครับ

  17. ทำไมถึงใช้รายได้ในการวัดอ่ะครับ ทำไมเราถึงไม่ใช้ กำไร เพราะบางทีบริษัทรายได้เพิ่มแต่กำไรกลับลดลง

    ขอบคุณากครับ

    1. กำไรเป็นสิ่งสุดท้าย แต่การมองแต่กำไร จะทำให้เรามองระยะสั้น เนื่องจาก ธุรกิจกำไรย่อมผันผวนเป็นเรื่องธรรมดา

      ถ้ากำไรลดลงแค่ไตรมาสเดียว เราตัดสินว่า ธุรกิจแย่ลงแล้วเพราะกำไรลดลง สุดท้ายแล้ว เราจะถือหุ้นอะไรไม่ได้นาน เพราะทุกบริษัทกำไรล้วนผันผวนทั้งสิ้น

      ตรงกันข้าม ถ้าเรามองรายได้แทน บางครั้งบริษัทเจออุปสรรคระยะสั้น กำไรลดลง แต่รายได้ยังเพิ่มขึ้นอยู่ พอปัจจัยระยะสั้นหายไป มาร์จิ้นกลับมาเป็นปกติ กำไรก็เพิ่มขึ้นได้ เพราะรายได้มากกว่าเดิม ทำให้เรามองธุรกิจในระยะยาวมากกว่า

      บริษัทที่รายได้เพิ่มแต่กำไรลดลงนั้นไม่น่ากลัวเลยครับ ปกติเวลาเศรษฐกิจแย่ลง ธุรกิจมักจะเลือกรักษารายได้ไว้ก่อน ยอมลดกำไร เพื่อรักษาโวลุ่มขาย เพราะธุรกิจมี fixed cost แต่บริษัทที่รายได้ลดลงจะน่ากลัวมากกว่า เพราะแสดงว่าเวลาเศรษฐกิจแย่ลงแม้แต่การดึงให้คนยังซื้อของไม่น้อยกว่าเดิม ยังทำไม่ได้เลย อาจเป็นธุรกิจขาลงถาวรก็ได้

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *