Skip to content

270: พลังงาน-ธนาคาร

ขอสแกนหุ้นทีละ sector เรียงไปตามขนาดของ sector ก็แล้วกัน

กลุ่มพลังงาน มีความน่าสนใจตรงที่ พลังงานเป็นอุตสาหกรรมที่ ต้องเติบโตทุกปีในแง่ของปริมาณการผลิต เพราะพลังงานเป็นปัจจัยสำคัญในการขับดันการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศเอเชียอย่างเช่น ไทย

แต่หุ้นพลังงาน ก็มีจุดอ่อนมากตรงที่ ความผันผวนของราคาผลิตภัณฑ์มีสูงมาก อาจกล่าวได้ว่า ปัจจัยพื้นฐานแทบจะขึ้นอยู่กับราคาผลิตภัณฑ์ในตลาดโลก ซึ่งเป็นเรื่องที่บริษัทคุมไม่ได้ด้วย อย่างหุ้นโรงกลั้นสมัยก่อนนั้น ค่าการกลั่นแย่อยู่นานหลายปีจนทำให้ต้องทนขาดทุนสะสมติดต่อกันหลายปีมากๆ ใครลงทุนหุ้นโรงกลั่นไว้สมัยนั้น น่าจะทรมานใจมากทีเดียว

ดังนั้นต่อให้ปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นทุกปี แต่ถ้าหากเจอภาวะที่ราคาผลิตภัณฑ์ตกต่ำขึ้นมา รายได้ก็อาจจะไม่โตเลย หรืออาจจะถึงขั้นหดตัวเลยก็ได้ หุ้นพลังงานจึงไม่เหมาะกับการลงทุนระยะยาวเท่าไรหากมองในจุดนี้

ในช่วง 3-5 ปีข้างหน้า ผมมีมุมมองราคาน้ำมันแบบ neutral คือ ไม่น่าจะดีได้เหมือน 3-5 ปีล่าสุด แต่ก็คงไม่ถึงกับตกต่ำลงไปมากๆ ที่ราคาน้ำมันเฉลี่ยแถวๆ $90 ผมมองว่าเป็นราคาที่ fair อยู่แล้ว

ด้วยเหตุนี้ ถ้าจะลงทุนในหุ้นพลังงานจริงๆ ก็ต้อง selective มากหน่อย ผมมองว่า หุ้นพลังงานที่อาจจะพอลงทุนได้นั้น น่าจะต้องมีการกระจายธุรกิจเยอะมากพอ เพื่อลดความผันผวนให้น้อยที่สุด

ผมคิดว่าจะเลือก PTT เข้ามาใน Watch List แค่ตัวเดียวเท่านั้น เพราะ PTT มีการกระจายธุรกิจที่เยอะ และยังมีธุรกิจหลักคือ โรงแยกก๊าซ และท่อส่งก๊าซ ซึ่งน่าจะช่วยทำให้ PTT มีกำไรสุทธิเป็นบวกได้ แม้แต่ในปีที่ราคาน้ำมันตกต่ำสุดๆ ในเวลาเดียวกันก็เป็นบริษัทที่มีการลงทุนเพิ่มอย่างต่อเนื่องด้วย จึงน่าจะมี output ที่เติบโตไปได้เรื่อยๆ เป็นเหตุผลในการเป็นหุ้นเติบโตได้

อย่างไรก็ตาม PTT ก็มีจุดตายเรื่องความเสี่ยงทางการเมือง แต่ผมก็มองว่า กรณีเลวร้ายสุดไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ง่ายๆ เพราะมันกระทบคนจำนวนมากจริงๆ หรือถ้าหากเกิดขึ้น การชดเชยความเสียหายให้นักลงทุนรายย่อยก็น่าจะมีในระดับหนึ่ง อาจต้องขาดทุนบ้าง แต่ไม่มาก ด้วยเหตุนี้เราอาจซื้อ PTT เพื่อลงทุนได้ แต่ไม่ควรซื้อที่ราคาปกติ แต่ต้องมีส่วนลดราคาบ้าง

พวกหุ้นโรงไฟฟ้าที่ดูเป็นธุรกิจที่ปลอดภัย เพราะมีสัญญาระยะยาวรองรับ แต่ในอีกมุมหนึ่งผมกลับมองว่า ธุรกิจนี้พื้นฐานไม่ดี เพราะไม่มีอำนาจต่อรอง ดูคล้ายธุรกิจรับจ้างผลิต เวลาสัญญาเก่าหมดแล้ว ก็ต้องเข้าร่วมประมูลสัญญาใหม่แข่งกับคู่แข่งจำนวนมาก และถ้าหากดีลใหม่มาชดเชยสัญญาเก่าๆ ที่หมดลงไม่ได้ จะเป็นช่วงสูญญากาศที่เสียวมาก เหมือนเป็นธุรกิจที่ต้องเริ่มต้นใหม่จาก 0 อยู่เรื่อยๆ ส่วนตัวจึงไม่มองว่าหุ้นกลุ่มนี้น่าลงทุนเลย

สำหรับ BANPU ต้องขอรอดูก่อนว่าบริษัทจะมีวิธีการแก้ไขปัญหาทั้งหมดในเวลานี้ที่ชัดเจนอย่างไร ทั้งเรื่องคดีความ และเรื่อง Shale Gas ถ้ามีทิศทางที่เป็นรูปธรรมเมื่อไรก็ค่อยมาดูกันอีกทีก็ได้ ส่วน PTTEP นั้น คิดว่าลงทุนใน PTT ไปแทนดีกว่า

หุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์นั้น ผมมองว่าธนาคารพาณิชย์ของไทยโดดเด่นกว่าในต่างประเทศมาก เพราะมีผู้เล่นน้อยราย เนื่องจากธนาคารแห่งประเทศไทยช่วยสกัดคู่แข่งให้ ทุกวันนี้ค่อนข้างชัดเจนว่า ธนาคารต่างประเทศนั้นเข้ามาแข่งไม่ได้เลย ถ้าจะเข้ามาก็ต้องมาถือหุ้นของธนาคารไทยที่มีอยู่แล้ว ซึ่งก็มีแต่ธนาคารเล็กๆ ที่แข็งขันไม่ได้เท่านั้นที่อยากขายหุ้นให้ แล้วที่ผ่านมาก็เห็นว่าต้องเจ็บตัวกลับออกไปเยอะ ผู้เล่นเดิมที่เป็นรายใหญ่จึงมีอำนาจผูกขาดค่อนข้างสูง เห็นได้จาก Profit Margin ที่สูงมากคือ ราว 25% ซึ่งสูงกว่าลูกค้าของธนาคารที่ยืมเงินไปทำธุรกิจ Real Sector เสียอีก (เมืองไทยปล่อยกู้ดีกว่าทำธุรกิจเอง) ทั้งยังมีสัดส่วนรายได้ค่าธรรมเนียมเทียบกับรายได้รวมสูงที่สุดในเอเชียแปซิฟิกด้วย ธนาคารไทยจึงมีกำไรดีจากการเก็บค่าต๋งต่างๆ เพราะเป็นธุรกิจควบคุมที่มีผู้เล่นน้อยราย และตราบใดที่ GDP ของไทยยังเติบโตดีอยู่นั้น ธนาคารไทยก็น่าขยายสินเชื่อให้เติบโตไปได้อย่างต่อเนื่อง

ธุรกิจธนาคารยิ่งขนาดใหญ่ยิ่งได้เปรียบ เพราะต้นทุนต่อหน่วยในการให้บริการทุกชนิด จะต่ำกว่าคู่แข่งมาก ดังนั้นถ้าจะลงทุนหุ้นกลุ่มนี้ก็ต้องเลือกแบงก์ใหญ่ (แต่ถ้าจะเก็งกำไรต้องเลือกแบงก์เล็ก เพราะมีโอกาสถูกควบรวม มีข่าวให้เล่นบ่อยๆ) ดังนั้น ผมขอเลือกแบงก์ใหญ่ทั้งสามแบงก์คือ SCB, KBANK, BBL เข้า Watch List ก็แล้วกัน

แม้ว่าทั้งสามแบงก์ใหญ่จะมีภาพลักษณ์ในสายตาของผู้ใช้บริการที่ต่างกันพอสมควร แต่ผมมองว่า พื้นฐานของทั้งสามแบงก์ไม่ได้ต่างกันมากนัก เพราะธุรกิจธนาคารกำไรจะขึ้นจะลงก็ขึ้นอยู่กับภาวะดอกเบี้ยในตลาดซึ่งก็เหมือนกัน จึงมอง 3 ตัวนี้ไม่ได้ห่างกันมากนัก ทั้งที่ประสิทธิภาพองค์กรอาจจะดูต่างกันเยอะ แต่ขนาดและสิ่งแวดล้อมภายนอกดูจะมีผลมากกว่า ที่จริงใน 3 ตัวนี้ ยิ่งตัวไหน Valuation ต่ำกว่าเพื่อนกลับจะยิ่งน่าสนใจกว่าด้วยซ้ำไป

จุดตายของธนาคารคือความเป็นสถาบันการเงิน โลกยุคนี้ผันผวนสูงมาก แล้วเวลาเกิด shock ทีไร พวกสถาบันการเงินมักจะโดนก่อนเพื่อน อย่างไรก็ตาม ผมก็มองว่า ธ.ไทยค่อนข้างมีวัฒนธรรมที่อนุรักษ์นิยมสูง foreign exposure ต่ำมาก และมีบาดแผลจากอดีตเยอะ จึงไม่ถือว่าน่ากลัวเท่าไรนักในจุดนี้

สรุป ขอเลือก SCB, KBANK, BBL เข้า Watch List

อันตราย : บทความนี้มองแต่พื้นฐาน แต่ไม่ได้มองราคาหุ้นที่เหมาะสมเลย ถ้ามองราคาหุ้นแล้วอาจไม่เป็นหุ้นที่น่าลงทุนเลยก็ได้ หุ้นพื้นฐานดีแต่ราคาแพงนั้นไม่ใช่การลงทุนที่ดี

ได้มาสี่ตัวแล้วนะครับ ไว้มาดู Sector อื่นต่อคราวหน้า

24 thoughts on “270: พลังงาน-ธนาคาร”

  1. ขอบคุณสำหรับการพิจารณาเชิงคุณภาพล้วนๆครับ ^ ^

  2. ผมสนใจ CKP ที่กำลังจะเข้าตลาดซึ่งเป็นหุ้นพลังงาน (แต่บริษัทเป็น Holding ที่ไปลงทุนที่พลังงาน)

  3. เห็นด้วยทั้งหมดครับ แต่พอพูดถึงแบงค์แล้วถึงแม้กรุงศรีจะมีขนาดกลางแต่ผมกลับมองว่ามีศักยภาพและความสามารถพอๆกับทั้ง3แบงค์ใหญ่ อาจมีบ้างเรื่องของขนาดที่ทำให้มีข้อเสียแปรียบบ้าง แต่ผมมองว่าระยะยาวแล้วสามารถโตขึ้นมาแข่งขันได้เป็น4จตุรแบงค์ไทย
    รบกวนแสดงความเห็นเพื่อเป็นประโยชน์ในการวิเคราะห์เชิงคุณภาพด้วยครับ หรือว่าเป็นได้แค่แนวเกร็งกำไรจากการเทคโอเวอร์

    ป.ล. ไม่ได้มีหุ้นหรืออย่างใดแค่ต้องการการวิเคราะห์ในเชิงคุณภาพครับ พอเขามาในการคัดหุ้นแล้วแสดงความคิดเห็นลำบากจริงๆครับ กลัวมาม่าจะขายดี^^

  4. ทำไมหุ้นกลุ่มธนาคาร ยิ่ง valuationต่ำ ยิ่งน่าสนใจเหรอครับ?

  5. กลุ่ม พลังงาน ไม่สน BAFS เหรอครับ บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ หรือว่ามันควรจะอยู่ในกลุ่มบริการ มากกว่า?

  6. BAFS ช่วงหลังๆ ผมไม่ได้ตามใกล้ชิด แต่ผมมองว่า ธุรกิจนี้จะขยายตัวยาก ต้องรอให้มีการเปิดสนามบินเฟสใหม่ ฯลฯ แล้วเคยได้ยินว่าหลังๆ กลายเป็น ปตท. ได้สัมปทานไปแทนก็มี (อันนี้ไม่แน่ใจนะ ผมอาจฟังมาผิดก็ได้) เลยไม่คิดว่า BAFS จะได้ผูกขาดเสมอไป เวลาที่มีสนามบินเฟสใหม่

  7. คิดว่า กรุงศรียังต้องผ่านการควบรวม หรือมีผู้ถือหุ้นใหญ่เพิ่มเติม อีกมากถึงจะสามารถมี asset size เทียบกับกับแบงก์ใหญ่ได้ครับ

  8. Economist เล่มล่าสุดรายงานว่า

    EIA สรุปปริมาณพลังงานสำรองแล้วพบว่า Shale gas ทำให้พลังงานสำรองของโลกเพิ่มเติมมากถึง 10% ของทั้งหมด เกินกว่าที่คาดการณ์กันไว้นะครับ

    นอกจากนี้ ยังวิเคราะห์ว่า เวลานี้ ซาอุมีกำลังผลิตสำรองเหลือเยอะมาก ทำให้โอกาสที่น้ำมันจะแพงไปกว่านี้ มีน้อย เพราะซาอุจะปล่อยกำลังผลิตสำรองออกมาทันที

    Upside ของน้ำมันในเวลานี้จึงต้องเกิดจากเหตุการณ์ไม่สงบ เช่น สงคราม การเมือง หรือ อุบัติเหตุ เท่านั้น

    http://www.economist.com/news/finance-and-economics/21579471-are-high-oil-prices-here-stay-triple-digit-barrel

  9. หลัง ๆ กลุ่มพลังงานหลายตัวเริ่มทำธุรกิจที่เพิ่มมูลค่าเพิ่ม ได้แก่ค่อยอดไปทำธุรกิจปิโตรเคมีด้วยครับ
    เหมือนคุณวิบูลย์จะเคยวิเคราะห์กลุ่มนี้ โดยให้จำแนกตาม supply chain ประกอบด้วย ได้แก่

    1. พวกผลิตและสำรวจ เช่น pttep บ้านปู
    2. พวกโรงกลั่น เช่น top esso บางจาก
    3. พวกจัดจำหน่าย เช่น ปตท. Susco earth ums
    4. กลุ่มปิโตรเคมี เช่น pttgc irpc scc เป็นต้น
    5. โรงไฟฟ้า เช่น ratch glow spcg demco solar

    แต่ละภาคธุรกิจในอุตสาหกรรม มีความแตกต่างกันพอควรครับ

    หลัง ๆ โรงกลั่นเริ่มขยับไปทำธุรกิจปิโตรเคมีมากขึ้น ไปหามูลค่าเพิ่ม downstream หรือ ปิโตรเคมีก็ไปทำธุรกิจโรงกลั่นเพื่อลดต้นทุนการผลิตลง ดังนั้น โรงกลั่นขนาดใหญ่ในปัจจุบันจึงมักทำธุรกิจปิโตรเคมีไปในตัวให้ครบวงจรครับ

    แต่ปิโตรเคมีบางรายก็ยังอยู่ในธุรกิจเขา เช่น wg color tpc เป็นต้น

    ขออนุญาตมา share ครับ

  10. ธนาคารข้อควรระวัง ต้องดูภาวะเศรษฐกิจ และnpl ประกอบ
    เงินทุนสำรองลองรับความเสียหายสูงหรือไม่ เพราะหนี้ดีวันนี้อาจเสียในอนาคต
    Bis หรือเงินกองทุนสำรองมีมากเกินขั้นต่ำหรือไม่ คือ 8.5 เท่า ถ้าใกล้มากระวังเรื่องการเพิ่มทุน
    Port concentration risk สูงหรือไม่ เช่น รายใหญ่ กับ รายย่อย เวลาเสียหายจะต่างกัน
    และโอกาสเกิด systematic risk เช่น subprime หนี้ยุโรป ต้มยำกุ้ง เป็นต้น

    คุณโกศล นักลงทุนผู้อาวุโสท่านเคยเตือนไว้ จึงถือยาวไม่ได้ครับ ต้องติดตามธุรกิจบ่อย ๆ ครับ

  11. พี่โจ๊ก ไม่ห่วงเรื่องเรื่องการตกแต่งงบของกลุ่มธนาคารในไทยหรือครับ เพราะงบการเงินของกลุ่มธนาคารมีลูกเล่นเยอะและการตั้งสำรองต่างๆก็อาศํยการประมาณการณ์ของผู้บริหารที่มี bias กับธนาคารตนเอง
    ในกลุ่ม ptt มีพวกปิโตรเคมีและโรงกลั่นซึ่งมีวัตถุดิบและสินค้าหลักเป็น commodity ราคาขึ้นตามตลาดโลก จะประมาณการให้รายได้โต 10% พอเป็นไปได้ แต่กำไรกลับไม่ได้ไปในทางเดียวกัน เพราะขึ้นกับ demand supply ในอนาคต
    หุ้นใน 2 sector มีสถาบัน นักวิเคราะห์ นักลงทุน ติดตามอยู่ตลอด และจำนวนมาก โอกาสที่จะ undervalue ค่อนข้างยาก

    ผมชื่นชอบแนวทางของปีเตอร์ ลินซ์ ที่ใช้ศิลป์ในการเลือกหุ้นเก่งมาก จากหนังสือบอกเกี่ยวกับแนวคิดเชิงคุณภาพในการเลือกหุ้นของลินซ์ว่า
    1. มันดูน่าเบื่อ หรือดียิ่งกว่านั้นอีก “น่าขัน”
    2.มันทำอะไรที่น่าเบื่อ
    3.มันทำบางสิ่งบางอย่างที่คนไม่เห็นด้วย
    4. มันเป็นหุ้นที่แตกออกมา
    5.สถาบันไม่ถือมันและนักวิเคราะห์ไม่ได้ติดตาม
    6.ข่าวลือว่า มันเกี่ยวข้องกับขยะพิษ และ/หรือ มาเฟีย
    7.มีอะไรโศรกเศร้าและหดหู่เกี่ยวกับมัน
    8.มันเป็นอุตสาหกรรมที่ไม่โต
    9.มันมีจุดเด่น
    10.คนต้องซื้อมันเรื่อยๆ
    11.มันเป็นผู้ใช้เทคโนโลยี
    12.บุคคลภายในบริษัทกำลังซื้อหุ้น
    13.บริษัทกำลังซื้อหุ้นคืน

  12. คิดว่า เรื่องการ manage งบการเงิน แทบทุกบริษัทในตลาดหุ้นน่าจะทำกันหมด มากหรือน้อย ผิดกฏหมายด้วยหรือแค่ผิดจรรยาบรรณ เท่านั้น

    ถ้าจะมองว่า ธนาคาร ถือเป็นกลุ่มที่ manage งบการเงินมากเกินกว่าจะลงทุนได้ ผมเกรงว่า หุ้นเกือบทุกกลุ่มในตลาดจะลงทุนไม่ได้ด้วย ถ้าเราใช้มาตรฐานสูงขนาดนั้นครับ

    โดยส่วนตัว กลุ่มที่ผมไม่ลงทุน เนื่องจากไม่มั่นใจเรื่องงบการเงิน คือ กลุ่มรับเหมาก่อสร้าง หรือธุรกิจที่รับโปรเจ็คราชการ เพราะถ้าต้องให้เงินใต้โต๊ะ มันลงบัญชีไม่ได้ แต่ถ้าไม่ให้เงินใต้โต๊ะ มันก็ทำธุรกิจได้ยาก และหุ้นตัวเล็กๆ บางตัวที่ยังไม่มีประวัติที่ยาวนานพอ แต่ถ้าเป็นกลุ่มอื่นๆ ผมพอรับได้ครับ (ยกเว้น กรณีเฉพาะรายบริษัทบางบริษัท)

    อันนี้แล้วแต่ไม้บรรทัดของแต่ละคนครับ บางคนเข้มมาก บางคนเข้มน้อย แต่ผมยืนยันว่า ทุกบริษัทล้วนมีการ manage งบการเงินในระดับหนึ่งครับ ขึ้นอยู่กับว่าจะอยู่ในระดับที่เรารับได้แค่ไหน

  13. จริงๆ PTT ก็ยังถือว่ากำไรผันผวนครับ แต่อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่าเราเข้มงวดแค่ไหน ไม่มีผิดไม่มีถูกครับ

    เรื่องหุ้นน่าเบื่อของปีเตอร์ ลินซ์ ก็เป็นคอนเซ็ปท์ที่นำมาใช้ได้ครับ แต่ผมไม่ค่อยได้เน้น เพราะคำว่า “น่าเบื่อ” นั่น บางทีต้องนิยามให้ดีๆ ด้วยว่าหมายความว่าอะไรกันแน่ เพราะถ้าเป็นบริษัทที่น่าเบื่อ เพราะบริหารแบบอนุรักษ์นิยม ไม่ทำอะไรใหม่ๆ บ้างเลย กินบุญเก่าไปวันๆ แบบนี้ หุ้นบ้านเรามีหลายตัว ลักษณะนี้ผมมองว่าเป็นความน่าเบื่อในแง่ลบ ผมจะไม่ลงทุนกับหุ้นน่าเบื่อในลักษณะนี้

    แต่ถ้าเป็นหุ้นที่น่าเบื่อเพราะว่า ราคามันไม่ไปไหนมานานมาก หรือว่าโวลุ่มมันน้อยมาก หรือว่าข่าวมันน้อยมาก เลยเป็นเหตุให้นักลงทุนทั่วไปไม่ลงทุน เพราะน่าเบื่อ ไม่สนุก แต่ผลประกอบการก็มีการเติบโตทุกปี แบบนี้ เป็นหุ้นน่าเบื่อที่ผมสนใจ และคิดว่าเป็นหุ้นที่น่าลงทุนมากๆ เลยทีเดียว มากกว่าพวก superstock เยอะเลย

  14. ขอบคุณครับ พี่โจ๊ก ส่วนตัวผมก็ชอบหาหุ้นน่าเบื่อที่ผลประกอบการโตทุกปี แล้วราคาไม่ไปไหน อีกทั้งโวลุ่มน้อยมาก อย่างเช่น
    บริษัท Alucon เป็นผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์อลูมิเนียมสำหรับสินค้า FMCV (เวชภัณฑ์,สเปรย์ดับกลิ่น,เครื่องสำอางค์) ตอนนี้เป็นอันดับ 1 ของ Asia
    Alucon มี aerosal mkt share ในไทย 85% (Almost Monoply) และระดับโลก 4% มีช่องว่างให้เติบโตอีก ซึ่งก็รายได้โตทุกปี
    บริษัทมีจุดเด่นในการผลิตสินค้าคุณภาพเทียบเท่าผู้ผลิตรายใหญ่ในอเมริกาและยุโรปอย่าง Ball และ Crown Holdings (ชื่อเดิม Crown Cork & Seal)แต่ขายได้ราคาถูกว่าเพราะมีต้นทุนที่ต่ำกว่า และลูกค้าส่วนใหญ่ของ Alucon ก็เป็นผู้ผลิตสินค้า FMCV ระดับโลก (Colgate palmolive, Unilever,Loreal ) ซึ่งเป็นสินค้าที่จำเป็นต้องซื้อซ้ำเรื่อยๆ

    ปกติอุตสาหกรรม manufacturer ในอเมริกาและยุโรปจะ outsource ไปจีน อินเดียและประเทศที่ค่าแรงต่ำ
    แต่ทั้งสองบริษัทก็ยังคงฐานการผลิตไว้ในอเมริกาและยุโรป แล้วขยายไปเอเชียที่มี Demand เพิ่มขึ้น
    ถ้าลองไปอ่านในหนังสือ beating street จะเจอรายชื่อหุ้นสิบเด้งมี ball และ Crown Cork & Seal
    ซึ่งปีเตอร์ ลินซ์ได้อธิบายเกี่ยวกับ Crown Cork & Seal ไว้ในทั้ง beating street และ once up on wall street

    ผมชอบดู Growth จาก Top line (รายได้) มากกว่า Bottom line (NPM) เพราะเป็นส่วนที่ตกแต่งได้ยากและสินค้าขายได้จากลูกค้าจริง ส่วน NPM สามารถตกแต่งได้ง่ายกว่า และขึ้นกับต้นทุนวัตถุดิบแต่ละปี
    http://financials.morningstar.com/ratios/r.html?t=ALUCON&region=THA&culture=en-us
    โดยบริษัทก็มีขยายกำลังผลิต ดูได้จากโครงการในอนาคต annual ปี 55

  15. ขอบคุณพี่โจ๊ก และสมาชิกทุกๆท่านด้วยครับ ที่นำความรู้ดีๆมาแบ่งปันครับ^_^

  16. พี่นรินทร์บอกว่าหุ้นโรงไฟฟ้าเป็นเหมือนหุ้นรับจ้างผลิตไม่น่าลงทุน…แล้วหุ้นผลิตน้ำประปานี่…พี่มองเหมือนกันหรือเปล่าครับ

    1. ก็คล้ายกันครับ แต่ประปาจะมีคู่แข่งขันประมูลน้อยรายกว่า และยังมีเรื่องของ geography มาเกี่ยวข้อง ทำให้ดูดีกว่าโรงไฟฟ้าบ้าง

  17. ถ้าสมมติฐานเรื่องราคาน้ำมันในตลาดโลกมีแนวโน้มที่ไม่เพิ่มขึ้น หรืออาจจะลดลง จะมีผลกับ PTT อย่างไร? และเพราะอะไร? ครับคุณโจ๊ก

    1. มีผลค่อนข้างมากครับ เพราะธุรกิจแบบนี้ขึ้นกับราคาผลิตภัณฑ์ค่อนข้างมาก บริษัทลูกอย่าง PTTEP ซึ่งคิดเป็นกำไรส่วนไม่น้อยของ PTT ขายก๊าซตามราคาที่อ้างอิงราคาน้ำมัน หรือถ้าน้ำมันถูกลง แปลว่าดีมานด์น้อย ค่าการกลั่นก็มักไม่ค่อยดี ก็ส่งผลต่อบรรดาบริษัทลูกของปตท.ที่เป็นโรงกลั่นด้วย

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *