Skip to content

274: บริษัทมหาชน

ช่วงนี้นักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ข้อมูลจากเว็บไซต์ของตลาดหลักทรัพย์ระบุว่า ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา มีจำนวนบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ในประเทศ ที่มีการเคลื่อนไหวเกือบสามแสนบัญชี ในขณะที่ถ้าเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว เป็นการเพิ่มขึ้นมากถึง 58% ภายในระยะเวลาแค่หนึ่งปี

แต่ถ้าเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้วหลายประเทศ จำนวนนักลงทุนต่อจำนวนประชากรทั้งหมดของบ้านเรายังถือว่าต่ำ จึงอาจยังเหลือช่องว่างให้เพิ่มขึ้นได้อีกอย่างมีนัยสำคัญในอนาคต

แต่เดี๋่ยวนี้ก็เริ่มสัมผัสได้แล้วว่า คนเล่นหุ้นเยอะจริงๆ ไปไหนก็เจอ คนรอบข้างที่เราไม่เคยคิดว่าเขาจะสนใจเรื่องหุ้น เดี๋ยวนี้ก็หันมาเป็นนักลงทุนกันหมด เรื่องหุ้นกลายเป็นบทสนทนาที่เริ่มจะ mass ได้ ตามร้านกาแฟสาธารณะก็มีคนเปิดหน้าจอเทรดหุ้นอยู่เต็มไปหมด จะเป็นรองก็แค่คนเล่นเฟสบุ้คเท่านั้นเอง

ในสถานการณ์แบบนี้มักได้ยินคำถามว่า “ถ้าทุกคนเอาแต่เล่นหุ้นกันหมด แล้วต่อไปใครจะทำงาน?” หรือมิฉะนั้นก็ได้ยินคำปรารภว่า ทุกวันนี้ทุกอย่างเป็นทุนนิยมไปหมดแล้ว คนทั่วไปก็เอาแต่เล่นหุ้น

แต่ถ้าเรามองอีกแง่มุมหนึ่ง เราอาจเห็นข้อดีหลายอย่างของปรากฎการณ์นี้

แต่ไหนแต่ไรมา คนที่จะเป็นเจ้าของธุรกิจได้มักจะต้องมีทุนมากในระดับหนึ่ง อาจมีคนที่ก่อร่างสร้างตัวจากศูนย์จนกลายเป็นเศรษฐีได้บ้าง แต่ก็เป็นคนจำนวนน้อยมากๆ ปัจจัยการผลิตส่วนใหญ่ของประเทศอยู่ในมือของคนรวยเป็นส่วนใหญซึ่งมีแค่กระจุกเดียว คนธรรมดาทั่วไปมักเข้าไม่ถึงปัจจัยการผลิตเหล่านี้ และต้องก้มหน้าก้มตาใช้แรงงานแลกเงินเป็นหลัก

การเกิดขึ้นของตลาดหุ้นนั้นคือการลดช่องว่างนี้ลง ที่เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมมากที่สุด เพราะตลาดหุ้นเปิดโอกาสให้ใครก็ได้เป็นเจ้าของทุน ที่แต่เดิมต้องเป็นคนที่มีเงินมากๆ เท่านั้นถึงจะถือหุ้นของบริษัทเหล่านี้ได้ เพราะการซื้อขายหุ้นกิจการนอกตลาดหลักทรัพย์จะต้องว่ากันเป็นหลักร้อยล้านพันล้าน จะมาขอร่วมหุ้นกับเขาแค่หลักหมื่น คงไม่มีบริษัทไหนยินดีขายให้แน่ๆ แต่พอมีตลาดหุ้น ใครมีเงินเก็บแค่หลักหมื่นก็สามารถถือหุ้นธุรกิจยักษ์ใหญ่ของประเทศอย่างเช่น ปตท.หรือธนาคารใหญ่ๆ หรือผู้ให้บริการมือถือรายใหญ่ๆ ของประเทศนี้ ฯลฯ ได้เลย และจะได้รับส่วนแบ่งกำไรในรูปของเงินปันผลเหมือนกับผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทเหล่านี้ด้วยทุกประการ

มันไม่ดีตรงไหน

ทุกวันนี้ตลาดหุ้นยังอยู่ในช่วงของการพัฒนาอยู่ จำนวนเงินขั้นต่ำที่ใช้เปิดบัญชีซื้อขายหุ้นนั้นได้ลดลงมาเรื่อยๆ จากสมัยก่อนที่ต้องเปิดบัญชีขั้นต่ำด้วยเงินอย่างน้อย 10 ล้าน แต่เพราะเทคโนโลยีที่ดีขึ้น ทำให้ทุกวันนี้เหลือแค่เพียงหลักหมื่นบาทเท่านั้น หรือแม้แต่คนที่มีเงินน้อยกว่านั้นอีก เช่น หลักพัน ก็ยังสามารถลงทุนผ่านกองทุนรวมได้ด้วย ในเวลาเดียวกัน ตลาดหุ้นก็ต้องค่อยๆ พัฒนากฎเกณฑ์การกำกับดูแลและมาตรการคุ้มครองผู้ถือหุ้นรายย่อยให้ดีขึ้นไปเรื่อยๆ สิ่งเหล่านี้สร้างไม่ได้ในวันเดียว วันนี้ก็ยังอาจไม่สมบูรณ์แบบร้อยเปอร์เซนต์ แต่มันก็พัฒนาไปเยอะมากเมื่อเทียบกับสมัยก่อน

ในอนาคตอีก 50-100 ปีข้างหน้านั้น ผมมองเห็นตลาดหุ้นที่พัฒนาไปถึงระดับที่ แทบทุกบริษัทที่เรารู้จักในประเทศไทยเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์กันหมด (ในสหรัฐฯ เวลานี้ก็เป็นเช่นนั้น) และสัดส่วนของผู้ถือหุ้นรายย่อยก็เพิ่มจำนวนขึ้นมาก จนทำให้บริษัทมหาชนในอนาคต กลายเป็นบริษัทมหาชนอย่างแท้จริง เพราะไม่มีผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในบริษัทเลย เจ้าของบริษัทตัวจริงประกอบด้วยนักลงทุนรายย่อยทั้งสิ้น จึงไม่มีใครที่สามารถผูกขาดอำนาจบริหารได้ นอกจากเสียงโหวตของมหาชน หรือเสียงส่วนใหญ่ของนักลงทุนรายย่อยนั่นเอง

บริษัทมหาชนในอนาคตคือแนวคิดประชาธิปไตยในด้านเศรษฐกิจด้วย กล่าวคือ บริษัทจะไม่สามารถทำอะไรตามใจตัวเองหรือเพื่อผลประโยชน์ของนายทุนคนใดคนหนึ่งโดยไม่ฟังเสียงของผู้บริโภคได้อีกต่อไป เพราะผู้บริโภคเองนั่นแหละที่เป็นเจ้าของบริษัท มันคือการแก้ปัญหาทุนนิยมผูกขาดด้วยการทำให้ผู้บริโภคทุกคนกลายมาเป็นนายทุนของบริษัทที่ผลิตสินค้าที่ตัวเองซื้อมาบริโภค และยังได้รับส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทเหล่านั้นด้วยอีกต่างหาก

ส่วนประเด็นที่ว่า ถ้าทุกคนเล่นหุ้นกันหมดต่อไปจะไม่มีใครทำงานนั้น ผมมองกลับกันว่า การที่พนักงานบริษัทมีโอกาสทำรายได้อย่างอื่นนอกเหนือจากการเป็นลูกจ้างอย่างเดียวนั้น จะส่งผลให้ค่าเสียโอกาสของพนักงานสูงขึ้น และทำให้บริษัทต้องจ้างด้วยค่าจ้างที่สูงขึ้นไปด้วย เพราะคนจำนวนหนึ่งที่จะลงทุนเก่งจะหายออกไปจากตลาดแรงงาน ทำให้อำนาจต่อรองของคนที่เหลืออยู่สูงขึ้นโดยอัตโนมัติ บริษัทต้องจ่ายค่าจ้างในอัตราที่แข่งขันได้กับโอกาสในการหารายได้ที่มากขึ้นของผู้ใช้แรงงาน

โอเคว่า แรงงานอาจจะหายากขึ้นจริงๆ ครับ แต่ในเวลาเดียวกัน คนที่ยังทำงานอยู่ก็จะมีรายได้สูงขึ้นด้วย สุดท้ายสิ่งที่ประเทศต้่องการคือทุกคนกินดีอยู่ดีเพราะมีรายได้สูงขึ้นมิใช่หรือ วิธีขึ้นค่าแรงแบบนี้ตรงจุดยิ่งกว่าการออกกฎหมายบังคับให้บริษัทต้องขึ้นค่าแรงเสียอีกครับ

10 thoughts on “274: บริษัทมหาชน”

  1. เห็นด้วยอย่างยิ่ง เป๋นการยกระดับรายได้ของคนในประเทศไปในตัว

  2. คล้าย ๆ กับยังกล่าวไม่ครบเลยนี่ครับ ทำนองเดียวกับให้ชาวนา 15000 บาท/ตัน คนมีรายรับเพิ่มขึ้น แต่อย่าลืมว่าเงินในระบบมันต้องหมุนวนไป ลูกจ้างก็ต้องซื้อข้าวกินซื้อสบู่ยาสีฟัน ฯลฯ ซึ่งผู้ผลิตและผู้ขายของเหล่านี้ก็ต้องมีลูกจ้างของตัวเองเช่นกัน ดังนั้นถ้าต้องขึ้นค่าแรง เขาก็ต้องผลักภาระมายังผู้ที่ซื้อสินค้าต่อไปอยู่แล้ว ถ้าไม่สามารถผลักภาระมาได้บริษัทก็อาจจะไม่รอด ดังนั้นค่าครองชีพก็จะสูงขึ้น ทำให้มาตรฐานการดำเนินชีวิตยังเหมือนเดิม ถ้าเกิดอะไรขึ้นที่ทำให้ระบบสะดุด เช่น การเลย์ออฟหรือลดค่าจ้างแบบประเทศทางยุโรป (ไม่อยากยกตัวอย่าง 12000 บาท/ตัน แต่ก็อดไม่ได้จริง ๆ เพราะมันกรณีเดียวกัน) จะทำอย่างไรกับต้นทุนค่าครองชีพที่สูงขึ้นมาแล้วล่ะครับ จริงอยู่ว่ามันจะเข้าสู่ภาวะเงินฝืดและค่าครองชีพก็จะลดลงมาเองได้ แต่ก็คงต้องแลกมาด้วยการจลาจลระดับหนึ่งแน่นอน

  3. ชอบบทความนี้มากๆครับ ตลาดหุ้นทำให้คนที่มีภาระมากจนไม่กล้าเสี่ยงที่จะลาออกจากงานประจำมาทำธุรกิจ เพราะถ้าพลาดแล้วจะทำให้คนที่จำเป็นต้องพึ่งพาเราลำบากไปด้วย มีโอกาสสร้างรายได้ โดยใช้เงินออมมาลงทุนในตลาดหุ้น ซึ่งเมื่อมีเงินออมบวกผลตอบแทนทบต้นไปเรื่อยๆ จน ณ วันหนึ่งรายได้ก้อนนี้อาจจะพอๆกับ หรือมากกว่า รายได้ประจำ, ตรงนี้มีข้อดีกวา การทำโอทีหรือรับงานนอกมากทำมาก เพราะว่าการทำโอทีหรือรับงานนอกมาทำ นั้นเป็นการใช้แรงงานตัวเองเพิ่มขึ้น ซึ่งผิดกับการใช้เงินออมมาเป็นเงินทุน ทำให้เราไม่ต้องเหนื่อยมาก โดยเฉพาะคนที่มีอายุมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่สามารถอดหลับอดนอนใช้แรงงานได้เหมือนวัยรุ่นที่อายุยังน้อย

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *