Skip to content

ICT – อสังหา

หุ้นในกลุ่ม ICT นั้นทำธุรกิจที่แตกต่างกันมาก พวกที่ใหญ่ที่สุดน่าจะเป็นผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือ ธุรกิจนี้น่า

สนใจมากในเวลานี้ เพราะ Mobile Devices กำลังอยู่ในช่วงที่เปลี่ยนวิถีชีวิตคน และเทรนด์อันนี้น่าจะยังอยู่อีกหลายปี และในบรรดาทุกภาคส่วนที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับแนวโน้มนี้ ผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือดูจะเป็นภาคส่วนที่ได้ประโยชน์จากตรงนี้ค่อนข้างเยอะ เนื่องจากเป็นธุรกิจที่ต้องลงทุนสูงมาก ทำให้มีผู้เล่นไม่มากราย มีโอกาสกึ่งผูกขาดได้ แถมเมื่อมีฐานลูกค้าอยู่ในมือเยอะ ก็สามารถเอาอำนานตรงนี้มาคอยกินหัวคิวคนอื่นได้อีก

ในเวลาเดียวกัน ท่าทีของ Regulator ก็ดูจะผ่อนปรนกับผู้ให้บริการมากกว่าเดิมตั้งแต่มีการประมูล 3G เกิดขึ้นจริง และเอาเข้าจริงๆ ผู้เล่นรายที่มีลูกค้าในมือเยอะๆ ก็คงต้องได้สัมปทานใหม่ๆ ไปตลอด เพราะว่า Regulator เองก็ไม่ปล่อยให้เกิดการลอยแพลูกค้าจำนวนมากๆ แน่ๆ  เพราะตัวเองก็คงจะโดนด่าอย่างหนักด้วย

ดูแล้วผู้ให้บริการมือถือในช่วงนี้จึงน่าจะเป็นธุรกิจที่กำไรดี ขอเลือก ADVANC เข้า Watch List ไว้หนึ่งตัว ในฐานะของผู้เล่นที่มีจำนวนลูกค้ามากที่สุดในตลาด จะลงทุนอะไรเพิ่ม ก็คืนทุนได้เร็วกว่าคู่แข่ง

INTUCH ตัวแม่ของ ADVANC นั้น ขอยังไม่เอาเข้ามาในตอนนี้ เพราะยังไม่ชัดเจนว่า ธุรกิจหลักของ INTUCH เอง สุดท้ายแล้วจะออกมาดีหรือไม่ เหมือนอินทัชกำลังอยู่ในช่วงจับธุรกิจใหม่ให้อยู่มือ เช่น ดิจิตอลทีวี หรือธุรกิจ VC เอาไว้ให้ทุกอย่างเริ่มชัดกว่านี้ก่อนค่อยว่ากันครับ

กลุ่มถัดมาคือ พวก Distri ของสินค้า ICT เช่น SYNEX, SIS ยอมรับว่าแต่ก่อนคิดว่าพวกนี้ก็อาจจะดี เพราะเติบโตไปตามตลาด ICT ที่โตมากทุกปี และมีการรุกเข้าสู่ธุรกิจมือถือเป็นช่องว่างในการขยายธุรกิจที่ใหญ่ แต่เอาเข้าจริงๆ ตอนนี้ผมมองว่า พวกนี้ไม่น่าจะดีมากเท่าที่คิด เพราะผู้ผลิตมือถือรายใหญ่ๆ เองก็มีแนวโน้มที่จะเปิดร้านของตัวเองมากกว่า สุดท้ายแล้ว Distri อาจมีประโยชน์แค่สินค้าแบรนด์เล็กๆ ที่ไม่มีกำลังทุนมากพอที่จะมีร้านของตัวเองได้ ในขณะที่ก็ต้องรับมือกับสินค้าคอมพิวเตอร์ที่ทำอยู่เดิมที่มีแนวโน้มหดตัวลงด้วย ดูแล้วยังไม่น่าสนใจมากพอ ยังไม่นับธรรมชาติของธุรกิจนี้ที่ต้องใช้เงินทุนหมุนเวียนสูง ยิ่งโตยิ่งต้องเพิ่มทุนอีก

พวก ICT ตัวเล็กๆ ตัวอื่น หลายตัวเป็นพวกขายโปรเจ็คนะครับ ธุรกิจแบบนี้เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย เหมาะจะเล่นข่าว หรือเล่นแนวกลับตัว ไม่เหมาะกับการลงทุนครับ

JMART นี่มองว่าช่วงนี้ส่วนที่มาแรงคือธุรกิจเก็บหนี้นะครับ ส่วนที่เป็นร้านมือถือจริงๆ ผมก็ยังมองว่าในระยะยาวอาจจะไม่ดีจริง (อาจจะผิดก็ได้ ถ้ามองผิดก็ขอโทษด้วย) ตัวธุรกิจเก็บหนี้นั้นเกินความสามารถที่ผมจะมองอนาคตออกว่าจะที่ดีตอนนี้จะดีอีกต่อเนื่องหรือไม่ จึงขอผ่านนะครับ

JAS ก็เช่นกัน มองว่าอนาคตมีความไม่แน่นอนสูง มองยากนะครับว่าเทคโนโลยีบรอดแบรนด์ในอนาคตจะเปลี่ยนไปทางไหน ตอนนี้อาจจะดี แต่เวลาเทคโนโลยีเปลี่ยนต้องปรับตัวเยอะมาก ถือยาวคงไม่ใช่กลยุทธ์ที่เหมาะเท่าไร ส่วน SYMC คิดว่าน่าจะดีนะครับ แต่เป็นธุรกิจที่ยากเกินไปที่จะทำความเข้าใจสำหรับผมครับ ขอผ่านเช่นกัน

THCOM น่าจะดี เพราะยิ่งธุรกิจสื่อคึกคักเท่าไร คนขาย infrastructure ก็น่าจะได้ประโยชน์ไม่ว่าใครจะเป็นผู้ชนะ ยิ่งดาวเทียมเป็นเรื่องที่ต้องมีโควต้าด้วย ทำให้มีโอกาสผูกขาดได้ครับ ขอลองเอามาไว้เป็นตัว “เผื่อ” เลือกใน Watch List สักตัว

สรุปว่า ณ ขณะนี้ขอเลือกเฉพาะ ADVANC และ THCOM เป็นตัวแทนของกลุ่ม ICT เข้า Watch List เท่านัั้น

กลุ่มอสังหาเป็นกลุ่มที่ผมชอบอนาคตของมันมากนะครับ คือ โอกาสในการลงทุนของคนมีน้อยลง โดยเฉพาะโอกาสในการทำธุรกิจ ดังนั้น อสังหาจึงเป็นทางเลือกในการเก็บสะสม Wealth ที่สำคัญของคนยุคดอกเบี้ยต่ำ บวกกับการสร้างรถไฟฟ้า โครงการสองล้านล้าน และวิถีชีวิตทันสมัย ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้อสังหาริมทรัพย์เป็นธุรกิจที่น่าสนใจ

แต่ข้อเสียอย่างแรกของอสังหาคือ ผันผวนสูงมาก เหตุเพราะเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการปล่อยสินเชื่อค่อนข้างมาก ลูกค้าส่วนใหญ่กู้เงินแบงก์ ในขณะที่ผู้ทำโครงการเองก็กู้ project finance ของแบงก์อีกเช่นกัน ความที่มันเป็นธุรกิจที่ leverage สูงมากทั้งฝั่งอุปสงค์และอุปทานทำให้วงจรธุรกิจของมันผันผวนมากทีเดียว หุ้นกลุ่มนี้ต้องต่อราคาเยอะหน่อยถึงจะกล้าซื้อ เวลาแย่ๆ หลายตัวอาจะมี BV แค่ 0.7-1 เท่า เท่านั้น แต่พอช่วงที่บูม BV อาจไปถึง 2-3 เท่า เหวี่ยงแรงขนาดนี้ ถ้าซื้อแพงแล้วถือยาว โอกาสจะต้องกอดไว้แบบช้ำใจมีสูงครับ

พวก Developer โครงการที่อยู่อาศัย ผมสนใจรายที่เจาะตลาดกลางและล่างมากกว่าระดับบน ใครจะมองอย่างไร แต่ผมมองว่าตลาดบนนั้นไม่มี barrier to entry เพราะทุกคนสามารถขายฝันจากเศษกระดาษได้ คือ ทำการตลาดดีๆ โฆษณาจูงใจ ออกแบบให้เว่อๆ แล้วแต่ใครจะฝันเก่งกว่ากัน เอามาร์จิ้นสูงหน่อย แล้วก็จ้างใครมาก่อสร้างตามแบบก็ได้ ในขณะที่ตลาดล่างนั้น คนที่จะเหนือคู่แข่งได้จะต้องมีความสามารถในการบริหารต้นทุนการก่อสร้างจริงๆ เพราะราคาเป็นเรื่องสำคัญมากในตลาดนี้ และต้นทุนการก่อสร้างก็ไม่ใช่จะชนะคนอื่นได้ง่าย เพราะทุกคนต้องเจอราคาวัสดุก่อสร้างราคาเดียวกัน ค่าแรงอัตราเดียวกันหมด คนที่จะเด่นในตลาดนี้จึงต้องมีข้อได้เปรียบบางอย่างที่ไม่ธรรมดา

นอกจากนี้ ตลาดล่างยังมี asset turnover สูงกว่า ต้องทำเร็วขายเร็วปิดโครงการเร็วๆ ไม่สะสม land bank ให้เงินทุนจม ในขณะที่ margin กลับไม่ต่างจากผู้ประกอบการระดับไฮเอ็นท์ ทำให้ผมมองว่า ตลาดกลางล่างกลับเป็นตลาดที่มีผลตอบแทนที่เหนือกว่าตลาดไฮเอนท์ด้วยซ้ำ ผู้นำตลาดกลางล่างในเวลานี้ก็น่าจะได้แก่ LPN, PS และก็อาจจะมี SPALI หลุดเข้ามาได้ด้วย

LPN ถือว่าทำคอนโดได้เก่งที่สุดแล้ว และคอนโดก็เป็นเซ็กเมนต์ที่มีโอกาสเติบโตสูงสุดในประเภทที่อยู่อาศัยพอดี แต่ก็เป็นจุดอ่อนในแง่หนึ่งเหมือนกัน เพราะ LPN เน้นทำคอนโดอย่างเดียวเพื่อให้ทำได้ดีที่สุด แต่ถ้าเซ็กเมนต์นี้มีปัญหาก็จะกระทบบริษัทค่อนข้างมาก

PS ถือเป็นเจ้าตลาดทาวน์เฮ้าส์ ซึ่งแนวราบเป็นธุรกิจที่กำไรดีกว่าคอนโดเพราะระยะเวลาก่อสร้างสั้นกว่า มาร์จิ้นก็สูงกว่า ข้อดีอีกอย่างของ PS คือ มีการกระจายธุรกิจออกไปในทุกเซ็กเมนต์แล้ว ไม่ขึ้นอยู่กับทาวน์เฮ้าส์อย่างเดียว

ทั้งสองตัวนี้ถือว่ามีความน่าสนใจมากพอที่จะเข้าพอร์ตลงทุนได้ ส่วนตัวอื่นๆ นั้น ยังไม่ค่อยน่าสนใจนักเมื่อเทียบกับความผันผวนของหุ้นอสังหาที่เราต้องแบกรับ อย่างไรก็ตาม ถึงเวลาดูมูลค่าหุ้นแล้วทั้งสองตัวก็อาจจะแพงไปก็ได้ เพราะช่วงนี้กลุ่มนี้ถือว่าแพงอยู่เหมือนกัน

อสังหาอีกพวกหนึ่งคือ นิคมอุตสาหกรรม ซึ่งผมมีมุมมองแบบ neutral คือ ต่อไปประเทศไทยก็น่าจะยังเป็นฐานการผลิตได้อยู่ แต่ก็คงไม่โดดเด่นเหมือนสมัยก่อน เพราะมีประเทศเพื้อนบ้านที่เป็นตัวเลือกเพิ่มขึ้นมาเยอะ แต่ยังไงๆ นิคมของเราก็คงยังพอไปได้ เพราะลูกค้าเก่าอยู่มานานจนเป็นคลัสเตอร์จะให้ออกไปเลยก็คงยาก แต่สรุปแล้วก็ยังไม่มีตัวไหนที่ผมสนใจมากพอ

ห้างสรรพสินค้าก็เป็นอสังหาอีกแบบหนึ่งที่มีอนาคตครับ วิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่ต้องการห้างให้เดินอีกเยอะมาก CPN, MBK, SF น่าสนใจหมดเลย พวกนี้ยังมีข้อดีตรงที่ออกกองทุนได้อีกต่างหาก

สรุปว่ากลุ่มอสังหา ผมเลือก LPN, PS, CPN, MBK, SF เข้าพอร์ต

อันตราย : บทความนี้มองแต่พื้นฐาน แต่ไม่ได้มองราคาหุ้นที่เหมาะสมเลย ถ้ามองราคาหุ้นแล้วอาจไม่เป็นหุ้นที่น่าลงทุนเลยก็ได้ หุ้นพื้นฐานดีแต่ราคาแพงนั้นไม่ใช่การลงทุนที่ดีอันตราย : บทความนี้มองแต่พื้นฐาน แต่ไม่ได้มองราคาหุ้นที่เหมาะสมเลย ถ้ามองราคาหุ้นแล้วอาจไม่เป็นหุ้นที่น่าลงทุนเลยก็ได้ หุ้นพื้นฐานดีแต่ราคาแพงนั้นไม่ใช่การลงทุนที่ดี

Tags:

25 thoughts on “ICT – อสังหา”

  1. ขอบคุณครับ สำหรับตัวอย่างไม่เข้าใจไม่ลงทุน^^เห็นภาพชัดเจนเลยครับ ที่คิดว่าดีแต่ไม่เข้าใจก็ไม่ลงทุน ทั้งสองส่วนอ่านแล้วให้แง่คิดในการเลือกหุ้นมากๆครับ

  2. ยอดเยี่ยนมเลยครับ ท่านแม่ทัพ เห็นด้วยเกือบทั้งหมด (มีกังขานิดหน่อยบางตัว)

    ขออนุญาตเสริมข้อมูล SYMC ครับ … เป็นธุรกิจที่ทำระบบสื่อสัญญาณ (Transmission Network) เพื่อรับส่งข้อมูล ลูกค้ารายหลักๆมีทั้ง Private Network ของคอปอเรทใหญ่ๆ, Internet Service Provider, Mobile Operators, และ Broadcasting Channel โดยเฉพาะพวกช่องทีวีน่าจะมีการเติบโตที่สูงขึ้นในระยะยาว

    ข้อเสียคือ เป็นธุรกิจที่ Capital Intensive ต้องลงทุนหนักๆ ในช่วงแรกเริ่ม และเก็บกินยาวๆได้ การขึ้น Link ใหม่จึงต้องใช้เวลาในการหาลูกค้า(รายได้ค่าเช่า) มาเติมความคุ้มค่าในเส้นทางนั้นๆ บริษัทฯยังอยู่ในโหมดการขยายโครงข่ายอยู่ ผลประกอบการระดับก้าวกระโดดจึงอาจจะไม่เห็นในระยะสั้นๆ

    ข้อดีคือ ลูกค้า Corporate มีความภักดีค่อนข้างสูง มีต้นทุนการ switchover และมีเรื่องของความมั่นใจในคุณภาพบริการ ดังนั้น หากยังรักษาสถานะผู้นำ ขายราคา Premium ได้เรื่อยๆ ก็อาจจะเป็นหุ้นเติบโตได้

  3. เพื่อนที่ทำงานอยู่ในแบงก์เล่าให้ฟังว่าเดี๋ยวจะมีมาตรการจาก ธปท. เพื่อป้องกันฟองสบู่อสังหา โดยจะให้ธนาคารปล่อยกู้ได้แค่ 70% ครับ น่าจะส่งผลต่อวงการอสังหาพอสมควร

  4. ผมมองว่า JMART ตัวธุรกิจขายมือถือ ในระยะยาวมากๆๆๆ อาจจะไม่ดี หรือทรงๆ เพราะคู่แข่งน่าจะเยอะขึ้นเรื่อยๆ แต่ถ้ามองระยะยาวน้อยหน่อย พี่โจ๊กมีความเห็นว่าไงบ้างครับ แล้วก็การที่จะไปเปิดตลาดในพม่าด้วยครับ

    1. ถ้ายอดขายมือถือยังเพิ่มในอัตราสูงมากทุกปีอยู่ ก็อาจจะยังมองไม่เห็นปัญหาอะไรเท่าไรครับ

  5. ขออนุญาตสอบถามท่านแม่ทัพว่า
    1. ตลาดคอนโดแนวรถไฟฟ้านั้นมีโอกาสที่จะอิ่มตัวหรือยัง
    2. Key ความสำเร็จของอสังหาริมทรัพย์เท่าที่ติดตามมา เช่น
    Ps เจาะตลาดล่าง และทำต้นทุนต่ำด้วยเทตโนโลยี precast ทำให้เสร็จเร็ว ต้นทุนเปลี่ยนแปลงน้อยเทียบกับคู่แข่งขัน
    Lpn เจาะตลาดตอนโดระดับกลางล่าง เพื่อทดแทนกลุ่มลูกค้าที่เช่า apartment เดิม และมีนิติบุคคลดูแลหลังการขายที่ดี
    Lh มีการกระจายความเสี่ยงของที่มารายได้ค่อนข้างดีแบบสมดุลย์ และทำธุรกิจเกือบครบวงจรไปถึงทำธนาคาร lhbank ซึ่งเป็นจุดตายในภาวะที่ตลาดสินเชื่อตึงตัวในอนาคต
    ไม่ทราบว่ากลยุทธ์ความสำเร็จที่เป็น key หลัก ๆ ต่อไปจะอยู่ตรงไหน
    ความเสี่ยงที่สำคัญที่ต้องเฝ้าติดตามคือ้รื่องอะไร
    ภูมิต้านทานความเสี่ยงหลัก ๆ ของบริษัทที่จะประสบความสำเร็จในอนาคตต้องพัฒนาในเรื่ิองอะไรเพิ่มเติมหรือไม่ครับ
    เช่นภาวะสินเชื่อที่อยู่อาศัย และภาวะอุตสาหกรรมที่อยู่อาศัย พื้นที่ทำเลที่เป็นที่ต้องการ backlog ที่พร้อมโอน แผนการเติบโตในอนาคต presale การบริหารต้นทุนด้วยเทคโนโลยีเพื่อให้ต้นทุนต่ำ margin เทียบกับอุตสาหกรรม บริการหลังการขายที่ดี บริการช่วยขายบ้านมือ2 เหมือนตลาดรถยนต์ อัตราดอกเบี้ยกู้ยืมํนาคารที่เป็นพันธมิตร เป็นต้น ผมรวบรวม kpi ที่ไว้ติดตามประมาณนี้ครับ ไม่รู้ยังขาดอะไรหรือไม่

    ขอบคุณสำหรับบทความดี ๆ ครับ

  6. โครงการรถไฟฟ้ายังคงขยายอยู่ต่อเนื่องและการจราจรในกทม.ก็ยังติดมากขึ้นอยู่แบบนี้ ผมมองว่าคอนโดน่าจะยังไปได้อยู่ครับ

    ปัจจัยความสำเร็จของผู้พัฒนาโครงการก็คือ การออกสินค้าได้ตรงใจคนซื้อ ในระดับราคาที่กลุ่มเป้าหมายนั้นๆ สามารถซื้อได้ ควบคุมต้นทุนได้ดีกว่าคู่แข่งในระดับเดียวกัน

  7. ขอบคุณครับ

    แล้ว ดีแทค ไม่น่าสนใจบ้างหรือครับ

    1. ดีแทคก็พอได้ครับ จำนวนผู้ใช้ไม่ได้ถึงกับทิ้งห่างมากๆ น่าจะไปกันได้

  8. คุณสุมาอี้ครับ ถ้าเราอนุมานเอาแบบว่า เราเน้นแค่เบอร์ 1 และ 2 ในอุตสาหกรรมที่เราสนใจในราคาที่ไม่แพง พอจะรอดหรือพอไปได้มั้ยครับ หรือว่า ควรเลือกไปเลยว่า จะเน้นที่ผู้นำอย่างเดียวครับ

  9. ขึ้นกับธุรกิจครับ บางธุรกิจเป็นปลาเล็กกินปลาใหญ่ เลยต้องเลือกที่หนึ่งไว้ก่อน แต่ก็มีหลายธุรกิจที่คู่แข่งแต่ละเจ้าก็ต่างเติบโตอยู่ร่วมกันได้อย่างดี แบบนั้นก็ไม่จำเป็นต้องเลือกที่หนึ่งก็ได้ครับ

    1. ช่วยยกตัวอย่างหน่อยได้ไหมครับว่าอุตสาหกรรมไหนบ้างครับที่ต้องเลือกที่ 1 เเล้วอุตสาหกรรมไหนบ้างที่ไม่จำเป็นครับ

    2. ผู้ให้บริการมือถือ ฐานลูกค้าใหญ่กว่าย่อมได้เปรียบ เพราะลงทุนเท่ากัน คืนทุนเร็วกว่า แบบนี้เบอร์หนึ่งสำคัญ

      แต่ถ้าเป็นช่องทีวี มันอยู่ที่ไอเดีย การมองผู้บริโภคให้ขาด แบบนี้ที่หนึ่งก็อาจไม่ได้เปรียบคนอื่นเท่าไร

  10. ปลาเล็กกินปลาใหญ่แสดงว่าเราต้องเลือกบริษัทที่เป็นอับดับรองๆลงไปซิครับ ไม่ใช่เลือกบริษัทอันดับ1. ^_^

  11. เรียนสอบถาม คุณนรินทร์ ครับ

    คุณนรินทร์ มีมุมมองต่อ หุ้นพัฒนาอสังหา อย่าง แลนด์ แอนด์ เฮาส์ อย่างไรบ้างครับ เขาจับกลุ่มกลางถึงบน และมีแบรนด์ที่แข็งมาก มาตราฐาน คุณภาพก่อสร้างที่แทบจะเรียกว่าดีที่สุด มีธนาคาร และบริษัทค้าวัสดุก่อสร้าง เป็นของตนเอง และกำลังจะจัดตั้งกองทุนเพื่อนำสินทรัพย์ขายเข้าไปอีก

    ขอบคุณครับ

    ปล.ในหนังสือ 20 บริษัทก็เห็นมี PS ตัวเดียว 🙂
    เลยอยากทราบมุมมองในบริษัทนี้ครับ

  12. LH ผมมองว่า เขาไปถึงจุดสูงสุดของการทำธุรกิจของเขาแล้ว และเชื่อว่าอยู่ในโหมดทรงตัว คือเป็นบริษัทที่ดีมาก แต่ว่าอยู่เฉยๆ

    ตัวเจ้าของเองก็ดูจะให้ความสนใจกับธุรกิจอื่นในกลุ่มมากกว่า เช่น HMPRO หรือ LHBANK คล้ายๆ กับว่า หันมาปั้นธุรกิจรายล้อม LH ให้สร้างการเติบโต ส่วน LH นั่นแค่รักษาระดับเดิมไว้ ให้คนมาบริหารไปเรื่อยๆ

    อันนี้เป็นมุมมองส่วนต้วนะครับ

    LH เหมือน รถเบนซ์ คนรุ่นพ่อจะชอบทุกคน ถือเป็นบ้านในฝัน แต่ถ้าถามคนรุ่นใหม่ จะชอบ SIRI มากกว่า เหมือนรถบีเอ็มดับบลิว ที่เป็นรถในฝันของคนรุ่นใหม่มากกว่าเบนซ์ ถ้าเป็นเช่นนี้ไปเรื่อยๆ LH ก็เหมือนอยู่กับที่นะครับ

    1. เห็นพ้องครับ หลังๆ แลนด์ จะคล้ายๆ holding company มากขึ้น ความมั่งคั่งของแลนด์คงเป็น การเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของโฮมโปร

      หากอนาคต มีการทยอยขายหุ้นโฮมโปร เชื่อว่าจะเป็นรายได้ที่มากอยู่สำหรับแลนด์เลยครับ แต่กว่าจะถึงวันนั้น ผมไม่ทราบว่าจะอีกนานแค่ไหน แต่ลึกๆเชื่อว่า คนเราหากหว่านพืช ต้องหวังผลเป็นธรรมดาครับ 🙂

      ขอบคุณที่ช่วยให้ข้อมูลดีดีครับ วัยอย่างผม หากจะซื้อบ้าน คงเลือกแลนด์ แต่ลูกผม คงเลือก แสน เป็นแน่แท้ 🙂 ตรงประเด็น

  13. คุณนรินทร์ มองว่า จากนโยบายรถคันแรกปีที่แล้ว จะส่งผลต่อลูกค้าอสัง กลุ่มกลางลงมาบ้างไหมครับ

    ส่วนตัวผม สัมผัสเลยว่า กำลังซื้อปีนี้ น้อยลงไปกว่าปีที่แล้วค่อนข้างมาก

    1. ลูกค้ารถคันแรกน่าจะอายุ 20-30 ส่วนลูกค้าบ้านหลังแรกน่าจะอายุ 30-40

      คงมีทับกันบ้าง แต่ว่าไม่ใช่ส่วนใหญ่ครับ

  14. มีมุมมองความสามารถในการแข่งขันของ SPALI บ้างไหมครบ

  15. SPALI แข่งขันได้ครับ ไปได้เรื่อยๆ เน้นทำเลที่เดินทางไปรถไฟฟ้าด้วยรถได้แต่ว่าเดินไปไม่ได้ ทำเลจึงอาจไม่โดดเด่นนัก แต่ทำราคาให้แข่งขันได้ ด้านอื่นๆ แม้จะไม่มีอะไรที่เป็นผู้นำแต่ก็เหมือนจะได้ B+ หมด

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *