Skip to content

286: เลือกหุ้นชุดแรกเข้าพอร์ต DG

มาลองเช็คราคาหุ้นใน WatchList เวลานี้กัน โดยใช้สูตรวัดมูลค่าหุ้นเบื้องต้นของเราก่อน

วิธีนี้คือ เอา Market Cap ปัจจุบัน มาลองถอดกลับให้เป็น market-implied growth ดู เพื่ออ่านว่า ตลาดหุ้นคาดหวังการเติบโตอนาคตของหุ้นแต่ละตัวไว้อย่างไร ตัวเลขที่ได้คืออัตราการเติบโตของรายได้/กำไรเฉลี่ยต่อปี ในอีก 3-5 ปี ข้างหน้า โดยประมาณ ถ้าหากตัวเลขนี้ไม่สูงเกินระดับที่ตัวเราเองเชื่อว่า บริษัทน่าจะทำได้ ก็ถือว่าหุ้นตัวนั้นมีระดับราคาที่พอจะลงทุนได้

implied growth ที่เหมาะสมของหุ้นแต่ละตัวขึ้นอยู่กับสตอรี่ของมันเองด้วย จึงแตกต่างกันไปในแต่ละตัว แต่โดยทั่วไปแล้ว ผมให้ guideline ว่า ระดับ 10-20% เป็นระดับที่เหมาะสม เพราะเป็นการเติบโตในระดับที่ธุรกิจทั่วไปที่มีพื้นฐานดีสามารถทำได้

ถ้าหากอยู่ที่ 10% ต้นๆ นั้นถือว่าน่าสนใจมากสำหรับหุ้นเติบโต แต่ถ้าเป็น 10% ปลายๆ เกือบ 20 ต้องเป็นหุ้นที่เรามั่นใจมากๆ ว่า มันเติบโตได้สูงจริง ถึงจะน่าลงทุน

ส่วนถ้าเกิน 20% ขึ้นไป ถือว่าค่อนข้างเสี่ยง เพราะต่อให้บริษัทมีศักยภาพจริงๆ แต่มันก็ไม่คุ้มเพราะในกรณีที่บริษัททำไม่ได้ตามเป้า เพราะเราจะขาดทุนได้เยอะมาก ฉะนั้น โดยทั่วไป ผมแนะนำว่า ควรหลีกเลี่ยงไว้ก่อนดีกว่า

อย่างไรก็ตาม สูตรคำนวณที่ผมแนะนำมีข้อจำกัดบางอย่างที่เราจะต้องมานั่งตรวจสอบดูอีกทีด้วย ประการแรก เราใช้ net profit margin เฉลี่ย 4 ปี ล่าสุด เป็นตัวแทนของ stable net profit margin ของบริษัท ซึ่งในบางกรณีอาจจะไม่เหมาะสมก็ได้ เช่น บริษัทกำลังเปลี่ยนสายธุรกิจครั้งใหญ่พอดี มาร์จิ้นในอนาคตน่าจะแตกต่างจากสี่ปีล่าสุดพอสมควร แบบนี้ตัวเลขนี้อาจเชื่อไม่ได้ เป็นต้น

roundone

ถ้าหากตัดหุ้นที่มี implied growth เกิน 20% ทิ้งไป เราจะเหลือหุ้นที่ผ่านเข้ามาแค่ PTT, BBL, SCB, KBANK, TUF, LPN, PS, MBK, SST เท่านั้น

อันดับแรก การที่มีหุ้นใน Watch List ผ่านเรื่อง valuation น้อยมาก อาจเป็นสัญญาณอย่างหนึ่งด้วยว่า แม้ว่าตลาดหุ้นไทยจะปรับตัวลงมาพอสมควรแล้วในช่วงที่ผ่านมา แต่ก็ยังถือว่าแพงมากอยู่ สำหรับพอร์ต “ลงทุน” ดังนั้น ที่จริงแล้ว ช่วงเวลานี้อาจจะไม่ใช่ timing ที่ดีมากนัก สำหรับการซื้อเพื่อถือลงทุนระยะยาว

เวลาเจอหุ้นใน WatchList ที่ถูกมาก เช่น ต่ำกว่า 10% ก็อย่าเพิ่งดีใจ คิดว่าเป็น bargain เสมอไป ตลาดหุ้นทุกวันนี้ไม่ได้โง่ขนาดนั้น ส่วนใหญ่แล้วหุ้นพวกนี้มักจะมีข่าวร้ายอะไรบางอย่างอยู่ ให้เราตรวจสอบให้แน่ใจว่าข่าวร้ายนั้นเป็นแค่ระยะสั้นหรือยาว ถ้าหากเป็นระยะยาวหรือถาวรก็ควรหลีกเลี่ยง ตัวอย่างเช่น TUF อาจจะมี Valuation ต่ำในเวลานี้ เป็นเพราะมีข่าวเรื่องโรคกุ้งตายด่วย ซึ่งผบห.ก็ออกมาให้สัมภาษณ์ว่ารายได้กุ้งตั้งแต่ต้นปีหายไปกว่า 30% และครึ่งปีหลังก็น่าจะยังแย่อยู่ ถือว่าวิกฤตพอสมควร แต่โรคระบาดก็คงไม่ได้เกิดขึ้นตลอดไป ทนๆ ถือไปหน่อย ในระยะยาวก็น่าจะกลับมาโอเคได้ เช่นนี้เป็นต้น

ในกรณี SST ผมขอตัดออกไปก่อน เพราะบริษัทเพิ่งมีการเปลี่ยนธุรกิจอย่างชัดเจน margin เฉลี่ยอาจจะยังเชื่อถืออะไรไม่ได้ ไม่ควรใช้วิธีนี้ในการกรองหุ้น

อีกประเด็นที่ควรคิดถึงคือ สูตรหามูลค่าหุ้นนี้ ยังไม่ได้คิดถึงคุณภาพของกำไรที่แตกต่างกันของหุ้นแต่ละตัวด้วย คือถือว่า หุ้นทุกตัวที่ผ่านเข้า Watch List มาได้ มีคุณภาพของกำไรดีเท่ากันหมด แต่ในความจริงอาจจะไม่ใช่อย่างนั้น ฉะนั้น สิ่งที่เราอาจต้องพิจารณาเพิ่มเติมด้วยคือ เกรดของหุ้นในแง่พื้นฐาน คือถ้าเป็นหุ้นเกรด A เราอาจจะไม่ต้องต่อราคาเลย ถ้าตัวเลขออกมาไม่เกิน 20% ก็เอาเลย แต่ถ้าหุ้นเกรด C เราอาจจะต้องต่อราคามากหน่อย เช่น ไม่ควรเกิน 15% เป็นต้น

ช่วงนี้ตลาดหุ้นถือว่าแพงพอสมควร ดังนั้น หุ้นชุดแรกของเรา อาจจะต้องเน้นหุ้นเกรด B, C ไปก่อน โอกาสจึงยังไม่ใช่ของเรา รอให้มีโอกาสที่ดีๆ กว่านี้เราค่อยขยับเปลี่ยนตัวเอาหุ้นเกรด A มาเข้าพอร์ตให้เยอะขึ้น ไม่ต้องรีบครับ

ในกรณีที่มีหุ้นผ่านตะแกรงวัดมูลค่าหุ้นเข้ามาได้มากกว่า 5-7 ตัว เราจะมีอิสระในการเลือกชุดของหุ้นที่จะลงทุนได้มากขึ้น ในขั้นตอนนี้ เราควรหันมามองเรื่องการกระจายความเสี่ยงเป็นหลัก คือเลือกหุ้นที่อยู่ใน sector ที่ต่างๆ กันด้วย ก็จะช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับพอร์ตมากขึ้นอีก

เราสามารถเลือกหุ้นได้หลาย combination ทีเดียว ในหนแรกสุดนี้ผมจึงขอเลือก PTT, BBL, TUF, PS, MBK อย่างละ 15% ของพอร์ต (แต่ปัดขึ้นเพื่อให้ซื้อได้เต็มหลักร้อยหุ้น) แล้วเหลือเงินสดไว้อีกสัก 25% เอาไว้เป็น flexibility หากมีโอกาสที่ดีกว่านี้ จริงๆ แล้ว อาจเลือกได้หลายรูปแบบกว่านี้ ขอให้ซื้อประมาณตัวละ 15% และถ้าคิดว่าตลาดหุ้นยังแพงอยู่ก็อาจเหลือเงินสดไว้เยอะหน่อย ซึ่งสามารถออกแบบได้หลาย combination ไม่จำเป็นต้องออกมาแบบนี้เสมอไปนะครับ (อย่าซีเรียสกับตัวหุ้นที่ผมเลือกนะครับ ผมเลือกแบบคละๆ กันไป เพราะพวกมันถูกกรองมาแล้วชั้นหนึ่ง ไม่อยากทำสงครามรักหุ้นนะครับ)

คงพอได้ไอเดียในการจัดพอร์ตลงทุนแล้วนะครับ และผมก็ได้ทดลองซื้อตามไปเมื่อวันศุกร์ไว้เป็น record ด้วย
dg1
(Cash Remaining : 227, 417.72 Baht)

(ก่อนจบ ขอ revised กฏของ DG นิดหน่อย จากเดิมที่กำหนดว่า ถ้าหุ้นที่ซื้อไปหล่นลงมายังไม่ถึง 25% จะยังไม่มีการพิจารณาว่าจะซื้อเพิ่มหรือไม่ ขอเปลี่ยนจุดตัดสินใหม่เป็น 20% นะครับ คิดว่าเป็นระดับที่เหมาะสมกว่า)

Tags:

128 thoughts on “286: เลือกหุ้นชุดแรกเข้าพอร์ต DG”

  1. ขอบคุณครับ คุณโจ๊ก แล้ว SF นี่ตกจาก list ป่าวครับ จริงๆไม่เคยศึกษาเลย SF

    1. รูปประกอบนี้ก็เหมือนกับการคัดสรรสิ่งที่แข็งแรงที่สุด(port เป็นไข่, หุ้น เป็นsperm)

      คิดได้ไง 🙂

  2. SF ก็น่าสนใจอยู่ แต่เลือก MBK ไปแล้ว เลยไม่อยากซ้ำธุรกิจจนเกินไป

    สามารถจัดเป็นหลายแบบได้ครับ เช่น PTT,BBL,PS,TUF,SF หรือ PTT,BBL,PS,TUF,MBK ผมถือว่าแทบไม่แตกต่างกัน ไม่มี preference ครับ

  3. พี่โจ๊กครับ ขอความรู้นิดนึงอ่ะครับ ทำไมกลุ่มแบงค์พี่ถึงเลือก BBL อ่าครับผม

    1. เพราะจากที่ผ่านมา การเติบโตของสินเชื่อ SCB ดีสุด, ส่วน KBANK ก็เป็นแบงค์ที่มีรายได้จากค่าธรรมเนียมเยอะที่สุด
      BBL เทียบกะคู่แข่งแล้วดูจาเนิบๆ เชื่องช้า ไม่ค่อยโตอ่าครับ

    2. อย่างที่เคยอธิบายแนวคิดไว้ตอนพูดถึงกลุ่มธนาคารว่า กลุ่มนี้ผมให้ความสำคัญกับ size มากที่สุด เพราะเป็นข้อได้เปรียบที่มีผลมากที่สุด

      ส่วนประสิทธิภาพขององค์กรนั้น มีผลเหมือนกัน แต่ว่าเป็นเรื่องรองลงไป

      ถ้า implied growth เท่ากันทั้งสามตัว ผมเลือก SCB อยู่แล้วครับ แต่เนื่องจาก implied growth ของสามตัวใหญ่ต่างกันค่อนข้างมาก ผมจึงเลือก BBL แทน เพราะยังไงเสีย size ก็เป็นเรื่องสำคัญที่สุด แม้ประสิทธิภาพขององค์กรจะด้อยกว่า แต่ราคาหุ้นมันต่างกันเยอะมาก

  4. ของcpallตอนนี้ ต้องรวมแม็คโคร+ดอกเบี้ยถึงจะvaluationได้ ใช่ไหมครับ?และ ส่วนของ stable margin ผมจะกะยังไงดีครับ?

    1. กรณีของ CPALL อาจจะใช้สเปรดชีสไม่เหมาะ เพราะเราก็รู้อยู่แล้วว่ามีการรวมกิจการเกิดขึ้น งบรวมย่อมแตกต่างจากอดีตมากพอสมควร ที่จริงแล้วเราคงต้องมองหน้าตาของงบรวมให้ออกก่อนแล้วค่อยใช้สเปรดชีสอีกที

      เชื่อว่า ถ้าทำแบบนั้น implied growth น่าจะต่ำลงครับ

  5. PTT นี่ valuation ถือว่าถูกเหรอครับ เห็นพี่บอกว่าถ้าจะเลือก PTT ต้องขอราคาส่วนลดซักหน่อย…น่ะครับ

    1. implied growth ของ PTT ตอนนี้ตำกว่า 10% ก็คือว่าค่อนข้างต่ำแล้ว เพราะปกติมองกันไว้ที่ 10-20%

      แน่นอนว่า PTT ก็มีความเสี่ยง เช่น ความเสี่ยงทางการเมือง หรือความเสี่ยงเรื่องราคาน้ำมันถดถอย แต่ implied growth 8% ก็ถือว่าได้ลดราคาไว้พอสมควรแล้ว

  6. ขอบคุณมากๆครับ รู้สึกโชคดีที่ได้มีโอกาสได้เข้ามาร่วมศึกษา ขอบคุณ คุณ นรินทร์ ที่ช่วยอุทิศเวลาและกำลัง เพื่อให้ทุกคนได้รับความรู้และแนวทางการลงทุนที่ดีครับ

  7. ขอบคุณสำหรับแนวทางการทำ valuation และจัดพอร์ตลงทุนครับ มีประโยชน์มากครับ

    ขอสอบถามเพิ่มเติมครับ เงื่อนไขการปรับพอร์ตรอบต่อไปยังไงนะครับ อย่างแรกคือถือตัวเดิมก่อนถ้าราคาลงมา 20% อาจพิจารณาเข้าซื้อเพิ่ม แล้วการคัดหุ้นชุดใหม่เข้าพอร์ตทำยังไงครับ ที่ผมเข้าใจคือประมาณว่าถ้ามีตัวอื่นที่ผ่านเกณฑ์ valuation แล้วถูกกว่ามากๆ ก็จะเปลี่ยนตัวไปถือที่มี upside มากกว่าแบบนี้หรือเปล่าครับ และกำหนดระยะเวลาสรุปผลตอบแทนไว้หรือเปล่าครับ เช่น 1 ปีมาวัดผลแล้วปรับพอร์ต สองคือจะมีการเติมเงินใหม่ๆเข้ามาในพอร์ตอีกหรือเปล่าครับ ขอบคุณมากครับ

    1. การดูแลพอร์ต DG มีหลักดังนี้ครับ

      1.ในภาวะปกติ ไม่ต้องทำอะไรเลยดีที่สุด เพราะกรณีเลวร้ายสุด พอร์ตก็คง พอไปได้ เพราะ เราได้ออกแบบทุกอย่างมาอย่างดีแล้ว
      2.เวลา SET crash ที เช่น -10% เราก็ค่อยเอา WatchList มาดูราคาหุ้นว่ามีตัวไหนที่ “ดีกว่า” และ “ถูกกว่า” ตัวที่อยู่ในพอร์ต ถ้าเจอจริงๆ ก็อาจจะสลับเอาตัวที่ดีกว่าเข้ามา แต่ถ้าไม่พบก็อยู่เฉยๆ เหมือนเดิม
      3.ตัวไหนไหนพอร์ตขาดทุนเกิน 20% ถ้าอยากซื้อเพิ่มจริงๆ ให้ซื้อเพิ่มได้ไม่เกินไม้แรก หมดแล้วหมดเลย ห้ามซื้อมากไปกว่านั้นอีก รักษาสัดส่วนหุ้นในพอร์ตไม่ให้ถ่วงเกินไป

      แค่นี้เอง

  8. จริงแล้วๆการทนถือหุ้นที่ได้กำไรหลายเด้งๆโดยไม่ขายหมูไปก่อน ยากกว่าการเลือกหุ้นถูกตัวอีกใช่มั้ยครับพี่?^^…จึงไม่จำเป็นต้องเลือกให้ถูกทุกตัว?

  9. ขอบคุณมากครับคุณโจ๊ก เข้าใจแจ่มแจ้งเลย แล้วถ้ามีคนอยากลงทุนมากกว่า 1 ล้านล่ะครับ ถามไว้เผื่อครับ เช่น ซัก 5 ล้าน เขาก็ใช้หลักการนี้เหมือนกันใช่มั๊ยครับ โดยไม่ต้องรอซื้อตอนตก 20%

  10. เงินเท่าไรก็เหมือนกันครับ

    ที่จะแตกต่างจากจากพอร์ตสาธิตคงมีเรื่องเดียวคือ ในอนาคต บางคนอาจมีเงินก้อนใหม่ๆ มาเติมในพอร์ตได้ เช่น ได้โบนัส หรือได้เงินเก็บเพิ่ม ก็สามารถมาลงเพิ่ม เพื่อออมไว้ในพอร์ตให้ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ได้ แต่สำหรับพอร์ตสาธิตจะไม่ทำให้ดู เพราะว่าไม่รู้ว่าจะกำหนดจำนวนเงินที่มาเพิ่มยังไงดี เพราะแต่ละคนย่อมมีเงินมาเพิ่มไม่เหมือนกัน พอร์ตสาธิตจึงทำไว้เป็น worst case กรณีที่ไม่มีเงินมาเพิ่มเลย มีเงินตั้งต้นแค่ไหนก็มีอยู่แคนั้นแล้วเราจะเลี้ยงเงินหนึ่งล้านนั้นให้โตขึ้นเรื่อยๆ ได้อย่างไร

  11. ขอถามนิดนึงได้ไหมคับ พอดีย้อนกลับไปอ่านone upควบคู่ไปพร้อมๆกับDG ซึ่งผมเข้าใจว่าการเลิกหุ้นเข้ามา5ตัวนั้น ลินช์บอกว่าอาจจะมี1ตัวในพอร์ตที่เราไม่คาดคิด โตได้มากๆ อีก3ตัวธรรมดา 1ตัวขาดทุน

    สงสัยตรงที่หุ้นที่เลือกเข้ามาอยู่ในDGชุดแรกนั้น. เห็นว่ามีเป็นบริษัทขนาดใหญ่มาก คือ Market capt ใหญ่อันดับต้นๆในประเทศ มันดูไม่ค่อยเข้าทางรึเปล่าคับ เพราะหุ้นทุกตัวน่าจะต้องมีความเป็นไปได้ที่จะมีรายได้โตมากๆอยู่ในตัว คือยังมีเพดานการเติบโตอยู่อีกมาก

    ลินช์เองแนะนำให้นลท.มองหาหุ้นรอบๆตัว ในชีวิตประจำวัน หรือเกี่ยวกับตัวเรามากที่สุด ซึ่งอาจจะเป็นหุ้นที่wall streetพูดถึงกันน้อยมาก ซึ่งผมคิดว่านลท.อาจจะเน้นมากไปที่กิจการขนาดเล็กๆที่ยังมีขนาดรายได้ไม่มาก

    ส่วนหุ้นแข็งแกร่ง stewart (ซึงผมคิดว่าบางตัวในDGชุดแรก อยู่ในกลุ่มนี้มากกว่า) เหมือนถือเพื่อใช้ในการเล่นรอบ และขายเมื่อvaluationมันไม่ถูกแล้ว แต่ไม่ได้เลือกเพื่อนำมาเป็นหุ้นเติบโตระยะยาว

    รบกวนท่านแม่ทัพช่วยชี้แนะด้วย

    (ปล. รึว่าท่านแม่ทัพกังวลว่า หากเลือกหุ้นสภาพคล่องต่ำแล้วมีการประกาศออกไป จะส่งผลต่อนลท.ในตลาดจริงเพราะจะเหมือนเป็นการปั่นหุ้นโดยไม่เจตนา ใช่หรือไม่ครับ)

    1. เรื่องไม่อยากให้มีปัญหาเรื่องการปั่นหุ้นนี่เป็นเหตุผลหนึ่งเลยครับ

      แต่ในแง่ของการลงทุนจริงๆ ก็เป็นเหตุผลด้วย ผมพยายามหาหุ้นตัวเล็กๆ ของไทย ที่เติบโตแบบต่อเนื่องในระยะยาว แต่ก็พบว่ามีอยู่น้อยไม่คุ้มค่ากับความเสี่ยงที่ต้องแบกรับเพิ่มขึ้น หุ้นเล็กๆ บ้านเรามีกำไรโตแบบปีต่อปีสูงมาก แต่ว่าผ่านไปสองปีทิ้งดิ่งกลับลงมาใหม่ ทำให้ปีต่อๆ ไปมีโอกาสโตใหม่อีก แต่ในระยะยาวแล้วกลับพบว่าไม่ได้โตขึ้นเลย

      หุ้นที่โตได้ต่อเนื่องกลับเป็นหุ้นขนาดกลางและใหญ่ จะว่าไปหุ้นสิบเด้งของบ้านเราเป็นหุ้นกลางใหญ่เยอะมากๆ รวมทั้ง ปตท. เองก็มาจาก 35 บาท ถึงตอนนี้มันจะลงมาเยอะ แต่มันก็ยังเป็นหุ้น 10 เด้งอยู่ ทั้งที่เป็นหุ้นที่ใหญ่ที่สุดในตลาดหุ้นไทย หรืออย่างที่บอกกันว่าหุ้นใหญ่โตไม่ได้ แต่ SCB ก็มีกำไรโตเฉลี่ย 20% ต่อปี มาห้าปีแล้ว ง่ายๆ เลย ไม่ต้องไปเสี่ยงกลับความไม่มั่นคงของธุรกิจอะไรเลย

      ผมยังมองว่าโดยภาพรวมแล้ว หุ้นตัวเล็กบ้านเราเหมาะจะเล่นแบบปีต่อปีแล้วเผ่นมากกว่าจะที่จะถือลงทุนในระยะยาวครับ

  12. ไม่เห็น CPN อยู่ใน Watch List ไม่แน่ใจ ว่าตกหล่นไปหรือปล่าวครับ

    1. เป็นเพราะตอนนี้ราคาแพงไป ไม่ผ่าน valuation ครับ

  13. ลองทำ Reality Check โดยการหาค่าเฉลี่ยอัตราส่วนต่างๆ ของพอร์ตดู

    พีอี 12 เท่า ปันผล(รวมเงินสดเหลือที่ไม่ได้เงินปันผลด้วย) 2.5% และ implied growth เฉลี่ยของพอร์ต 9.6% ตัวเลขแบบนี้ก็ถือได้ว่า พอร์ตเรามีความ conservative พอสมควร (conservative growth)

    ที่จริงต้องประมาณ expected growth ในใจเราของหุ้นแต่ละตัวแล้วหาค่าเฉลี่ยด้วย เพื่อจะได้รู้ว่า สูงกว่า implied growth ของพอร์ตสักแค่ไหน แต่คิดว่าคงเป็นตัวเลขที่ subjective พอดู เลยไม่ได้ทำ

    ใครจะลองทำดูกับพอร์ตของตัวเองก็ได้ครับ เป็นการทำ reality check อย่างหนึ่ง

  14. PE จาก Reality check นี้ ควรคิดจาก Cost หรือ Market Price ครับ เพราะถ้านานๆไป PE ทั้งสองน่าจะห่างกันไปเรื่อยๆ ถ้าไม่มีการซื้อเพิ่ม เช่น PE Market Price เป็น 20 แต่ถ้า Cost แค่ 10 เท่า

  15. น่าจะเป็น at cost ครับ เพราะเป็นความปลอดภัยของเรา ส่วน at market คือ ความปลอดภัยของคนอื่นที่ซื้อในวันนั้นๆ

  16. implied growth ของพอรต์ ที่ตลาดให้โดยเฉลี่ย = 9% ถือว่า conservative เพราะไม่ได้ถือว่าเป็นตัวเลขเติบโตที่เยอาะมากอะไร พอรต์ที่เราถือโดยรวมมีโอกาสจะทำได้ตามนั้นได้ไม่ยาก หรือโตมากกว่าที่ตลาดคาด … ทำนองนี้รึป่าวครับ?

    – ชอบคุณมากครับพี่ ^^

  17. ผมเข้าใจว่า Implied Growth ก็ควรคิด at Cost เหมือนกันใช่มั้ยครับ (สำหรับ Port ที่ถือมานานแล้ว) หรือควรดูที่ at Market

  18. ท่านแม่ทัพลืมหุ้นกลุ่มประกันไปหรือเปล่าครับ

  19. กลุ่มประกัน ถ้าเป็นประกันชีวิตคิดว่าลงทุนระยะยาวได้ เพราะสร้างฐานลูกค้าได้

  20. โปรแกรมนี้ลงทุนทีเดียวไม่ต้องซื้อทุกเดือนใช่มั้ยครับ

    1. ใช่ครับ สำหรับคนที่มีเงินก้อนจะออมตั้งแต่แรกเลย แล้วบริหารไปเรื่อยๆ

  21. โดยปรกติตลาดจะมีช่วงเวลาลงหนักๆประมานสองครั้งต่อปี รอตอนนี้แล้วเข้าที่เดียวเลยน่าจะดีกว่ามั้ยครับ

    1. ตลาดหุ้นไทยตกแรงปีละ 2-3 ครั้งทุกปีจริงๆ ครับ คือ ถ้าจะรอให้ตก แล้วค่อยเข้ามาเลือกหุ้นก็ได้ เพราะตรงกับวิธีที่ปีเตอร์ ลินซ์แนะนำเลย ถ้าเป็นหุ้นสหรัฐคือ ดัชนีตก 10% แต่ถ้าเป็นหุ้นไทย ผมว่าจะตกประมาณ 15%

      อย่างไรก็ตาม ตกแรง 2-3 ปีที่ว่านี้ คือ การตกแบบธรรมดา แต่นานๆ กว่านั้น ก็จะมีตกแบบรุนแรงอีก ซึ่งถ้าเจอตกแบบรุนแรง การช้อนซื้อตอนที่ตกแบบธรรมดา ก็ยังเอาไม่อยู่เหมือนกัน สรุปว่าเป็นโอกาส แต่ไม่ใช่ว่าจะปลอดภัยสุดๆ

  22. the Economist รายงานว่า ต่อไปนี้น้ำมันจะไม่ใช่ของขาดแคลนอีกต่อไป เพราะทั้งซัพพลายที่หาง่ายขึ้น และดีมานด์ที่น้อยกว่าที่คิดไว้ด้วย ราคาน้ำมันในเวลานี้อาจเป็น peak แล้ว และบริษัทน้ำมันที่มีต้นทุนสูงๆ อาจจะเผชิญกับความยากลำบากในอนาคตด้วย

    http://www.economist.com/news/briefing/21582522-day-huge-integrated-international-oil-company-drawing

    ไม่รู้ว่าเลือก ปตท.เข้า dg ไปตอนนี้เพราะมองว่าไม่แพง อาจกลายเป็นถูกแล้วยังมีถูกอีกรึเปล่านะครับ ;p

  23. sstนี่ถือว่าเป็นม้านอกสายตามั๊ยครับ ถ้าจะเทียบธุรกิจที่มีBizmodelคล้ายๆกันในตลาดหลักทรัพย์ในไทยมีมั๊ยครับ

    1. sst น่าสนใจในลักษณะธุรกิจที่หันมาทำ แต่ในแง่ผู้ถือหุ้นใหญ่ก็ยังเป็นข้อกังขาอยู่เหมือนกัน

  24. เอาข่าวเก่าของ SST มาให้อ่านกันครับ http://bit.ly/sLZnMP
    ถ้าตามรอยเบิร์กไชร์ เพื่อเป็น holding company จริง ก็คงจะเป็นอะไรที่น่าติดตามครับ

  25. อย่าไปให้ราคากับคำๆ นี้มากเลยครับ มีหลายบริษัทที่ชอบอ้างว่าจะเป็น berkshire แต่แล้วเน่าสุดๆ มาแล้วเยอะมาก มันแค่เป็นคำเรียกแขกครับ

  26. หุ้นในกลุ่มของ ฉาย บุนนาค ก็เคยประกาศครับ

    และ กก.คนหนึ่งของ PRIN ก็เคยบอกผมว่า บ.เค้าเป็นเหมือน บ.เฟอร์นิเจอร์ในกลุ่มของเบิร์กไชส์

  27. คิดว่าอยากเอากระสุนที่เหลือมาใช้ให้เต็มพอร์ตไปเลย เมื่อกี้เลยตัดสินใจซื้อเพิ่มเข้า DG ไปแล้ว

    ดูหุ้นใน Watch List แล้วก็ยังไม่มีตัวไหนถูกใจเรื่องราคามากพอ เลยข้ามไปดู Waiting List แทน เลยตัดสินใจซื้อ SAT ไปอีกหนึ่งตัวประมาณ 15% ของพอร์ตเหมือนกัน แล้วเงินที่ยังเหลืออยู่อีกก็เลยแบ่งซื้อ PS กับ PTT ไป เพราะทั้งสองตัวเป็นตัวที่ซื้อไปน้อยที่สุดเมื่อครั้งแรก

  28. พอร์ต DG ปัจจุบันจึงกลายเป็นเช่นนี้นะครับ

    และมีเงินสดเหลือแค่ 1246.36 บาทเท่านั้น

    พอร์ตเริ่มต้นของเราอาจจะยังไม่ใช่พอร์ตของหุ้นเกรดดีมากนัก แต่คิดว่าจะทดลองใช้ strategy นี้ดู (พื้นฐานปานกลาง แต่ราคาไม่แพงจนเกินไป) ว่าผลลัพธ์ที่ได้จะเป็นอย่างไรในเวลาต่อมา

    หลังจากนี้ ถ้าตลาด crash ก็ค่อยมาดูกันอีกที

    ขอบันทีก SET วันนี้ไว้ด้วยว่าอยู่แถว 1430 จุด (จุดตรวจดูพอร์ตหนต่อไปคือ 1,287)

    1. แบบนี้ถ้าตลาด crash แล้วเราจะยอมขายขาดทุนเพื่อมาซื้อหุ้นเกรด A ใช่ไหมครับ เพราะเงินสดในมือไม่มีแล้ว

    2. @neti123

      เป็นคำถามที่ดีครับ

      ที่บอกว่าตลาด crash ค่อยมาดูกันทีนั้น ที่จริงก็เป็นแค่การมารีวิวว่ามีโอกาสในตลาดที่ดีกว่าหุ้นที่อยู่ในพอร์ตหรือเปล่า แต่รีวิวแล้วก็อาจจะไม่มีก็ได้ สรุปแล้ว พอร์ตของเราก็คงไม่ได้เปลี่ยนตัวหุ้นอะไรกันบ่อยนัก ดังนั้น หุ้นที่อยู่ในพอร์ตมาระยะหนึ่ง ก็น่าจะมีกำไรในระดับหนึ่ง จากผลประกอบการที่โตขึ้นบ้าง ถ้าจะ switch ออกไปซื้อตัวอื่น ก็ควรจะเป็นการ take profit มากกว่า

      ถ้าเราออกแบบพอร์ตของเรามาได้ดีแล้ว ให้พยายามคิดไว้เสมอว่า ไม่ต้องทำอะไรเลยก็ไม่ได้เดือดร้อน เพราะฉะนั้น โอกาสใหม่ที่มองเห็นควรจะเป็นโอกาสที่ดีกว่าหุ้นที่มีอยู่เดิมจริงๆ เราถึงจะปรับพอร์ต ถ้าไม่อยากนั้น default policy คือ อยู่เฉยๆ ไว้ก่อน เพราะอยู่เฉยๆ ก็ไม่ได้เดือดร้อนอะไร

  29. ขอเสนอความเห็นครับพี่ อยากให้มีการตั้งเป็นกฎครับ เพื่อความชัดเจนโดยทั่วๆไปของพอรต์ DG ในเรื่องของเกรดหุ้น กับ % Market implied growth

    เช่น เกรด A % Growth ที่จะซื้อ คือ 15 -20%
    เกรด B % Growth ที่จะซื้อ คือ 10 -14.9%
    เกรด C % Growth ที่จะซื้อ คือ น้อยกว่า 10%

    – ขอบคุณครับ ^^

  30. ประมาณนั้นก็ได้ครับ

    แต่อย่างไรก็ตาม ห้ามยึด spreadsheet ตายตัวนะครับ

    ตัวอย่างเช่น เมื่อกี้ผมมานั่งดู SST เห็นว่าไตรมาสล่าสุด ธุรกิจอาหารก็มีกำไรแม้ว่ามาร์จ้ินจะน้อยมากๆ ส่วนคลังสินค้าก็กำไรอยู่แล้ว ขาดทุนเหลือแค่ธุรกิจน้ำมันพืช ดังนั้น ที่ยังเห็นงบขาดทุนอยู่ตอนนี้น่าจะเป็นอดีตไปแล้ว อนาคตน่าจะเป็นบวกได้ไม่ยากแล้ว

    เลยคิดว่า น่าจะถือว่าธุรกิจพื้นแล้วล่ะ ไปดู สเปรดชีส ก็ถูกดี implied growth ต่ำมาก แค่ 7% มานึกขึ้นได้ SST กลับเปลี่ยนธุรกิจแบบหน้ามือเป็นหลังมือ มาร์จ้ิ้นในอดีตบอกอะไรเกี่ยวกับ stable margin ในอนาคตไม่ได้เลย

    คิดว่าถ้าเปลี่ยนมาเน้นร้านอาหาร stable margin น่าจะได้ที่ 5% (reasonable) เลยลองคิดค่านี้ดู ก็จะพบว่า implied growth ในเวลานี้ยังสูงมากถึงราว 30% เลยทีเดียว ทำให้ความน่าสนใจน้อยลงทันที ก็เลยไม่ได้เลือก SST ในที่สุด

    สรุปก็คือ implied growth ต้องไม่ยึดตามสเปรดชีสตายตัวนะครับ แค่ยึดตามที่ประเมินเอง

    หรืออีกวิธีหนึ่งดูง่ายๆ ตอนนี้ P/S คือ 1.5 เท่า ถ้า stable margin ได้สัก 5% ก็ต้องแสดงว่า stable P/E คือ 30 ซึ่งดูแล้วไม่มีส่วนลดเลย SST เกรดไม่ดีขนาดที่เราจะต้องซื้อเต็มมูลค่าขนาดนั้น

  31. สำหรับหน้าตาพอร์ตเริ่มต้นอันนี้ ถ้าหากถามว่าซื้อแพงมั้ย ก็คิดว่าซื้อแพงไปหน่อย (มองในแง่ Valuation ของตลาดโดยรวมในตอนที่ซื้อ) แต่ก็ไม่ได้คิดว่าจะแพงเกินไปมาก จนน่าซีเรียส เป็นการแพงไปที่พอรับได้ เช่น อาจจะแพงไปสัก 10-15% เท่านั้น

    หลังจากนี้ไปก็ปรับพอร์ตก็คงมีเป้าหมายที่จะ switch ไปสู่หุ้นที่มีคุณภาพธุรกิจสูงขึ้น เมื่อหุ้นเหล่านั้นมีราคาหล่นลงมาในระดับที่พอถือลงทุนได้ เพื่อให้พอร์ตของเราค่อยๆ มีพื้นฐานของพอร์ตโดยรวมที่แข็งแกร่งขึ้นทีละนิด แล้วแต่โอกาสจะเข้ามานะครับ

    ถ้าในกรณีเลวร้ายสุด ก็กินปันผลไปพลางๆ เพราะ Yield ของพอร์ตตอนนี้ก็ืเกือบ 3% ก็ถือว่าสูงทีเดียว

    ทั้งแง่ downside และ upside ก็ดูโอเคแล้วล่ะครับ

  32. ผมเห็นพี่โจ้กทำพอร์ตDGแล้วเพิ่งเห็นเป็นรูปธรรมว่า “การลงทุน” จริงๆเค้าต้องคิดกันยังไง ต้องหาหุ้น เลือกหุ้นกันยังไง ที่สำคัญกว่านั้นคือจังหวะในการซื้อหุ้น บอกตรงๆว่าตอนแรกไม่คิดว่าวิธีการมันจะเรียบง่ายขนาดนี้…ไม่ว่าพอร์ตนี้ผลลัพธ์จะเป็นอย่างไรก็ตาม ขอบคุณพี่โจ้กมากครับสำหรับแนวคิดและตัวอย่างดีๆ 🙂

  33. พี่โจ้กครับผมขอถามถึง TUF นิดนึง…จำได้ว่าตัวนี้พี่เคยบอกว่าโตปีละ10-12% g=12%จึงเป็นขอบบนของการเติบโตที่เราหวัง…แต่ราคาที่ซื้อในพอร์ตDG implied growthมันเกินกว่านั้น อย่างนี้คือพี่มองว่ามาร์จิ้นจะสูงกว่าที่ใช้ในตารางคำนวณใช่ไหมครับ หรือว่าเราควรจะอย่าซีเรียสมากไปกับตัวเลขครับ (ผมละเอียดเกินไปรึป่าว)

  34. TUF ซื้อแพงไปหน่อยครับ ถ้าเป็น organic growth อย่างเดียวก็ถือว่า full valued หรือ overvalued ไปหน่อย

    1. ขอบคุณพี่โจ้กมากครับ ผมเริ่มได้ไอเดียแระว่าควรจะคิดยังไง จะลองเอาไปประยุกต์ดูครับ

  35. สำหรับ DG ถือว่าเริ่มต้นในจังหวะเวลาที่ไม่ดีเท่าไร

    แม้ว่าจะรอด 1640 ไปได้ แต่ก็มาติดอยู่แถวๆ 14xx :p

    อย่างไรก็ คิดว่าไม่ถึงกับวิกฤตอะไร หุ้นในพอร์ตของ DG พื้นฐานค่อนข้างมั่นคง และอาจจะซื้อแพงไปหน่อย แต่ไม่ใช่แพงมาก

    DG ก็อาจได้ผลตอบแทนช้าหน่อย เพราะเริ่มต้นในช่วงที่ไม่สวยนัก แต่คิดว่าไปแก้เกมเอาข้างหน้าน่าจะทำได้อยู่ครับ

  36. พี่โจ้กขอเป็นกำลังใจให้ครับ

    หลังจากผมลองลงทุนมาสักระยะ แล้วอ่านเวปพี่จนเกือบหมด ผมขอแชร์แนวทางผมลงทุนดังนี้ครับ

    เงิน 60% ลงทุนแบบ 7th : BANPU , BTS , CPALL , CPN , CENTEL , HMPRO , MINT ต้นทุนประมาณ 14xx ครับ มีซื้อถัวตอนลงมา 13xx บ้าง

    เงิน 40% ซื้อ LTF เพราะว่า อยากบังคับตัวเองอย่างน้อย 5 ปี เพื่อให้ได้ประหยัดภาษี 15% (เหมือนพี่โจ้กเคยบอกว่า เหมือนได้ discount 15% เลย) อันนี้ซื้อของ SCBLTT ครับ ซื้อเมื่อวาน และวันนี้ซื้อเพิ่มอีก ส่วนตัวคิดว่าคล้าย DG ตรงที่หุ้นที่เค้าถือก็มีพวก PTT , Advanc , SCC , AOT , BGH อะไรพวกนี้

    ทั้งสองแบบ พยายามจะทยอย ๆ ซื้อทุก ๆ เดือนครับ ทยอย ๆ สะสม (แต่เดือนนี้กะเดือนหน้าอาจซื้อมากหน่อย เพราะเห็น SET ลงมาเยอะมาก)

  37. ดีแล้วครับ แบ่งเงินและทยอยซื้อไปทีละนิดให้ติดต่อกันเป็นช่วงเวลาที่นานๆ ให้ได้ครับ

    1. รบกวนถามคุณนริทร์นะคะ ถ้าเราต้องการซื้อ LTF เราจะต้องเปิดบัญชืหลักทรัพย์ของกองทุนนั้นๆหรือเปล่าคะ เปิดของกสิกรอยู่คะแต่ LTF ของเขาจะไม่เด่นเท่าไหร่ ตัวอย่างถ้าเราต้องการซื้อ SCBLTTต้องมีขั้นตอนอย่างไรคะ ยุงยากมัยถ้าเราอยู่ต่างประเทศด้วยคะ ขอบคุณคะ

      1. ต้องซื้อกับ บลจ.นั้นๆ ครับ เช่น กองทุน LTF ของกสิกร ต้องซื้อกับ บลจ.กสิกร มิใช่ บล.กสิกร

        ซื้อครั้งแรกคงต้องติดต่อหน้าเคาร์เตอร์ แต่หลังจากนั้นน่าจะซื้อผ่านเว็บได้ ถ้าอยู่ต่างประเทศก็ไม่มีปัญหา แค่ลิงค์เข้ากับบัญชีออมทรัพย์ไว้ให้เขาตัดเงินซื้อหรือโอนเงินที่ขายเข้า แต่อยู่ต่างประเทศต้องมีรายได้ในไทยที่จะต้องเสียภาษีด้วยนะครับถึงจะซื้อ LTF แล้ว หักภาษีได้ ไม่งั้นก็เป็นแค่กองทุนหุ้นธรรมดา

  38. พี่นรินทร์ครับ Market Implied Growth เนี่ย ผมสามารถใช้กำไรที่ผมคาดการณ์แทนค่าเฉลี่ยของพี่ได้ไหมครับ

    เพราะผมคิดว่าจะใช้ค่าเฉลี่ยจะดูไม่เหมาะสมสำหรับ ADVANC ผมคิดว่า ณ ตอนนี้และในอนาคต Profit margin มันจะแตกต่างกันครับ

    รบกวนพี่นรินทร์ช่วยชี้แนะผมด้วยนะครับ ขอบคุณครับ

  39. กรณี ADVANC มาร์จิ้นสี่ปีก่อนหน้าอาจจะไม่ใช่ตัวแทนที่ดีของมาร์จิ้นในอนาคต เชื่อกันว่า อนาคตมาร์จิ้นน่าจะสูงขึ้น เพราะว่า ค่าส่วนแบ่งสัมปทานคลื่นใหม่ต่ำลงมาก และการประหยัดต่อขนาดของบริการส่วน DATA ครับ

    อย่างไรก็ตาม ผมว่ามาร์จิ้นปัจจุบันมันสูงมากอยู่แล้วนะ ถ้าจะสูงกว่านี้อีก ไม่รู้ว่าจะมีอุบัติเหตุหรือเปล่า (เช่น มี NGO มาฟ้องร้อง ประท้วง ฯลฯ หาว่าได้กำไรมากเกินไป ฮั้วกันรึเปล่า ฯลฯ หรือไม่ กสทช.ก็มากดราคาเอง เอาหน้า เป็นต้น)

    ถ้าจะเปลี่ยนสมมติฐานเรื่อง margin ก็ลองประเมินความเสี่ยงกันดูครับ

    1. implied growth คือ ตลาดหุ้นคิดว่าบ.นี้จะโตได้ปีละกี่ % ในอีก 3-5 ปีข้างหน้า (ตลาดคิดนะ ไม่ใช่เราคิด)

      stable margin คือ มาร์จิ้นที่บ.นี้น่าจะทำได้ ในภาวะปกติ

  40. ภายในเวลาแค่เดือนเดียวหลังจากเริ่มลงทุนไป SET ปรับตัวลงมารุนแรงมาก จาก 14xx เหลือแค่ 12xx (เริ่มต้นแบบซวยเว่อร์) น่าจะถึงเวลาอันสมควรที่จะมาดูกันสักครั้งว่าจะซ่อมพอร์ตกันยังไงดี

    สถานะล่าสุด ถึงเมื่อเย็นนี้ครับ

    เด๋วมาต่อครับ

  41. (ต่อ)
    ดูเหมือน superstock ในช่วงที่ผ่านมาจะลงมาแรงมากเป็นพิเศษด้วย (ก็เป็นโชคอย่างหนึ่ง ที่ DG เลือกที่จะไม่ซื้อหุ้นดีราคาแพง)

    แต่ถึงกระนั้น โดยรวมก็ยังมี implied growth ที่ยังแพงกว่ากฎของ DG อย่างมาก (DG หลีกเลี่ยงหุ้น implied growth เกิน 20%)

    แต่ถ้าไปตรวจละเอียดจริงๆ ส่วนตัวผมมองว่า CPALL ไม่ได้แพงขนาดนั้น เพราะถ้าเอารายได้ CPALL + MAKRO ก็ได้ 3 แสนล้าน แต่มาร์เก็ตแคปก็ 3 แสนล้าน ถ้าหาก Stable Margin 5% ก็เท่ากับ PE 20 หรือ implied growth ประมาณ 20% เท่านั้น มิใช่ 30%

    แต่ที่ตลาดทิ้ง CPALL ลงมามากขนาดนี้เป็นเพราะ เศรษฐกิจก็ชะลอตัว ดอกเบี้ยเงินกู้ที่เอาไปซื้อแมคโครก็สูงมาก จนทำให้ CPALL ต้องกำไรวูบไปอีกพักใหญ่ๆ เลยโดนทิ้งลงมาก่อน แต่ถ้าใครทนได้ ราคานี้ถือว่า implied growth แค่ 20% เท่านั้น ไม่ใช่ 30% (คหสต)

  42. กลับมามองในพอร์ตของเราเอง

    ดูเหมือนเป็นโชคดีที่เลือก PTT ไปแล้ว ราคาน้ำมันแพงขึ้นพอดี เลยพยุงไว้ให้ลงน้อยกว่าตลาด แต่ถ้าหากถามว่า PTT เป็นหุ้นที่เราอยากได้มากสักแค่ไหน ก็คงตอบว่า เฉยๆ ดังนั้น วิธีหนึ่งที่อาจจะใช้ปรับพอร์ตได้ก็คือ ขาย PTT ออกมา แล้วไปเก็บ CPALL ซึ่งมีเกรดสูงกว่าแทน

    อีกตัวหนึ่งคือ PS ที่ผมมองว่า ราคาที่หล่นลงมามากถึงขนาดนี้ (15 บาท) น่าจะเก็บได้ (implied growth 8% ไม่ได้ aggressive) แถมผมยังมองอนาคตของธุรกิจอสังหาในบ้านเราว่าเป็นกลุ่มที่มียังมีอนาคตที่ดีอยู่ด้วย ดังนั้น ถ้าหากยอมขายตัวอื่นไปส่วนหนึ่งเพื่อซื้อ PS เพิ่มขึ้น น่าจะโอเค เป็นราคาที่น่าจะซื้อได้แล้ว

    BBL ในพอร์ตของเรานั้นไม่ได้แพงมากนัก แต่เป็นห่วง outlook อยู่เหมือนกัน เพราะดูเหมือนหลายปีที่ผ่านมาธนาคารจะ top form อย่างต่อเนื่อง แต่ตอนนี้สินเชื่อเริ่มอิ่มตัวพอดี ไม่รู้จะเกิดอะไรขึ้นกับธนาคารบ้าง และถามว่า หุ้นธนาคาร อยากได้แค่ไหน ก็ต้องถือว่า ธรรมดาเหมือนกัน (บลูชิพทั่วไป แบบ PTT) ดังนั้น อีกทางหนึ่งก็คืออาจจะขาย BBL ออกเอาเงินไปซื้อตัวอื่นแทน

    MBK คิดว่าโอเคอยู่แล้ว ลงมาน้อย ซื้อมาก็ไม่ได้แพง

    ส่วน SAT, TUF ไม่ได้ชอบเท่าไร แต่คิดว่ายังไม่มีจังหวะให้ปรับครับ

    ก็เคยคิดว่าจะทำการปรับพอร์ตโดยการขาย PTT กับ BBL ออกมา แล้วนำเงินที่ได้มาแบ่งซื้อ CPALL และซื้อ PS เพิ่มบางส่วนก่อนสำหรับหนนี้

      1. ที่ขายไปขาดทุนครับ แต่เอาเงินไปซื้อตัวอื่นมาแทน ทำให้ตอนที่ตลาดเด้ง มันก็เด้งกลับมาได้บ้าง

  43. อย่างนี้คือจุดซ่อมพอร์ตครั้งต่อไป (ถ้ามีทางเลือกที่ดีกว่า) คือแถว SETที่ 1150, 1000, 900 ใช่ไหมครับพี่

    1. ถ้าดูแล้วไม่น่าจะต้องซ่อมอะไร ก็คงไม่ซ่อมครับ เช่น พอร์ตมีหุ้นที่มีคุณภาพที่ดีแล้ว ก็คงไม่ต้องทำอะไรก็ได้

  44. ถามพี่โจ๊กครับ

    ในสูตรนี้ Revenue จะใช้ตัวเลขทั้งปีจากปีที่ผ่านมา (2555) ใช่มั้ยครับ
    ผมเลยอยากถามว่า ถ้าใช้ตัวเลขของปีนี้ แต่ปรับเป็นเต็มปีแทน
    เช่น ตอนนี้งบ Q2 ออกแล้ว ก็เอา Revenue ของ 2Q ที่ผ่านมา มาคูณ 2 เพื่อให้เป็นประมาณการณ์ของปีนี้เลย จะใช้ได้มั้ยครับ
    เพราะผมคิดว่า ถึงแม้จะบอกว่าเลขประมาณการณ์ของปีนี้แบบที่ผมคิด เป็นเลขที่ไม่มีความแน่นอน แต่มันก็อาจชี้ให้เห็นถึงผลประกอบการในปัจจุบันได้มากกว่ารึเปล่าครับ

    รบกวนพี่โจ๊กช่วยเสนอแนะด้วยนะครับ
    ขอบคุณมากครับ

  45. ถ้าปรับเป็นรายได้ของสี่ไตรมาสล่าสุดด้วยก็ยิ่งดีครับ เพราะบางบริษัทก็มีรายได้ในปีปัจจุบันเติบโตจากปีที่แล้วเยอะ

  46. รบกวนสอบถามพี่โจ๊กครับ DG นี้มีเรื่องการจำกัด นน.ของ หุ้นแต่ละตัวในพอรต์รึป่าวครับ ? …พอดีเห็น PS = 25% ของพอรต์ , Cpall = 20% ของพอรต์ (จากเงินต้นทุนที่ลงทุนไป) สองตัวรวมกันเกือบครึ่งนึงของพอร์ตแล้ว

    ขอบคุณมากครับพี่ ^^

    1. ลิมิตที่กำหนดไว้น่าจะเป็น 30% ต่อตัว ทั้งสองตัวเลยยังไม่เกินลิมิต

      แต่คิดว่าสำหรับ PS ที่ 25% ถ้ามันดันลงไปอีก ก็คงไม่ซื้อเพิ่มแล้ว คง limit exposure ไว้แค่นี้พอ (CPALL ด้วย)

  47. รายได้ที่นำมาคิดนี่เราใช้ยอดขายสุทธิ อย่างเดียว หรือว่าใช้รายได้ทั้งหมดที่รวมรายได้อื่นๆอ่ะครับ เพราะ ถ้าบางปีที่เราคิด บริษัทนั้นมีรายได้อื่นๆเยอะมากๆมันทำให้ implied growth ต่ำ แบบนี้มันจะหลอกเราได้มั้ยครับ
    ขอความคิดเห็นด้วยครับ ท่านแม่ทัพ ^^

    1. ต้องดูว่ารายได้อื่นๆ เหล่านั้น เกิดขึ้นทุกปีรึเปล่า (recuring) ถ้าเป็นรายได้อื่นๆ ก็จริง แต่มาทุกปี สม่ำเสมอ ก็อาจต้องนำรวมด้วย

  48. พี่โจ้กครับ ผมอยากถามพี่เกี่ยวกับเรื่องหลักtimingที่ใช้ในการซื้อของพอร์ตนี้หน่อยครับ

    ตอนเริ่มต้นที่แถว1400กว่าตอนนั้นก็มีข่าวที่รับรู้กันโดยทั่วไปว่าภาพmacroไม่ค่อยดีsetมีโอกาสปรับตัวลงอีก แต่เราก็เริ่มซื้อกันเลย พอมาปรับพอร์ตอีกรอบก็เป็นช่วงเวลาที่อีกไม่นานจะมีการลดQE และเซตก็อาจจะลงได้เพิ่มซึ่งก็เป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปอีกเหมือนกัน แต่เราก็ไม่รอจังหวะนั้น ปรับพอร์ตก่อนเลย

    อยากถามพี่ว่า ที่เราซื้ออย่างนี้เป็นเพราะพอร์ตนี้เราจะไม่สนใจเรื่องภาพmacroเลย ซื้อเมื่อimplied growthโอเคทันที หรือเป็นเพราะว่าพี่มองว่าภาพmacroจะไม่ได้รุณแรง เริ่มลุยเลยดีกว่า

  49. ปรับในประเด็นไหนครับพี่ ผมกำลังคิดว่าอยากจะลงทุน
    ในลักษณะนี้ เพราะศึกษามาหลายแนว ผมเห็นด้วยว่าน่าจะต้องเน้น
    ลงทุนหุ้นเติบโต แต่จะให้ตลาดหุ้นร่วงหนักค่อยลงทุน ไม่น่าจะเป็น
    ทางเลือกที่ดีนัก สำหรับการลงทุนในเวลาทั่วไป และการคาดการณ์
    ราคาหุ้นด้วยวิธี DCF เป็นเรื่องที่ยุ่งยาก และต้องใช้สมมติฐานมากไป
    ซึ่งก็ยังเป็นการคาดการณ์อนาคตที่ยังไม่เกิดอยู่ดี
    แต่เรื่องนึงที่อาจจะคิดต่างจากพี่อีกเรื่อง คือ เรื่องการปรับ port ครั้งล่าสุด
    ผมคิดว่าไม่น่าปรับเอากลุ่ม bank ออก คือผมมองว่า bank ในประเทศไทย
    โดยเฉพาะ 3 bank นั้น น่าจะไร้คู่แข่งในประเทศไปอีกหลายปี และยังโตได้
    ไม่แน่ใจพี่คิดยังไงครับ

    1. มาย้อนคิดดูก็เห็นว่าการขาย BBL ของผมออกไปเป็นการตัดสินใจที่ไม่ถูกต้องจริงๆ ด้วยแหละ เพราะเหตุผลในการขายมันเป็นเหตุผลระยะสั้น ที่บอกว่าสินเชื่อน่าจะกำลังอึดหรือหดตัว เพราะหนี้พุ่ง ซึ่งสินเชื่อคงไม่ได้หดตัวตลอดไปในระยะยาวแน่ๆ จึงไม่สมควรเป็นเหตุผลที่ขายหุ้น

      สงสัยตอนนั้นจะ panic sell 555

  50. เมื่อสปดาห์ที่ผ่านมา ผมเพิ่งซื้อ TK เพิ่มเข้ามา จากที่มี PS CPALL HMPRO อย่างไรรบกวนขอ ทราบมุมมองของคุณ นรินทร์ ต่อ TK ทีครับ

    ส่วนตัว TK เป็นหุ้นที่เติบโตจากการขยายสาขาใหม่ๆ นโยบายจะเน้นที่ ตจว มากขึ้น และเนื่องด้วย อัตราการมีรถจัรยานยนต์ต่อ จน ประชากร ของไทย ค่อยข้างเกือบจุดอิ่มตัวแล้ว ที่ ตัวเลขประมาณ 4 คัน ต่อคน เทียบเท่าเวียดนาม ทางบริษัทจึงเริ่มมองหาตลาดใหม่ในแถบอาเซียน อย่าง อินโด

    ปล.ได้เริ่มสนใจหุ้นตัวนี้หลังจากอ่าน 20 บ.ของคุณนรินทร์ แต่เพิ่งได้ซื้อตอนมันย่อลงมามากๆ คิดว่าได้ % ปันผลที่น่าพอใจมาก และคาดหวังการเติบโตในอนาคต 🙂

    ขอบคุณครับ

  51. TK ก็น่าจะยังเติบโตได้ครับ แต่บริษัทนี้แต่ไหนแต่ไรมาค่อยๆ เติบโตทีละนิดไม่หวือหวา และทุกๆ 4 ปี มักจะถดถอยสักหนึ่งปี เนื่องจากวัฏจักรของการบริโภครถจยย. แต่ก็จะกลับมาโตต่อได้

    ตลาดจยย.อิ่มตัวแล้ว แต่ช่องทางเติบโตสำหรับ TK ก็ยังมี เช่น การเจาะเข้าไปในพื้นที่ใหม่ๆ หรือเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่เดิมแต่ยังไม่เคยเป็นลูกค้าให้ได้มากขึ้น

  52. เรื่องการปรับแนวคิดของ DG นั้น ผมนึกไปถึงเรื่องความถี่ในการเข้าซื้อหุ้นของการลงทุนสไตล์ต่างๆ

    อย่างการใช้ DCA นั้น เป็นการซื้อหุ้นเป็นประจำทุกเดือน เราจึงซื้อทีละน้อยๆ แต่ถ้าเป็นสุดโต่งอีกทางหนึ่ง อย่างเช่น แนวคิดของคุณวิกรม เกษมวุฒินั้น เขาบอกว่า ปกติแล้ว เราไม่ต้องทำอะไรเลย รอให้ปีที่ตลาดหุ้นตก 40% ค่อยซื้อด้วยเงินทั้งหมด แล้วไม่ต้องทำอะไรอีกเลย รอให้ถึงปีที่ตลาดให้กำไร 100% ในปีเดียว ก็ให้ขายทิ้งให้หมด แล้วรอใหม่ ทำแบบนี้ทุกๆ 6-7 ปี จะซื้อหรือขายหุ้นสักครั้งเดียว แต่ผลตอบแทนจะดีมาก และปลอดภัยมากกว่าคนที่พยายามซื้อๆ ขายๆ หุ้นตลอดเวลาเยอะโดยที่สบายกว่ามากๆ ด้วย

    แต่ DG นั้น ดูเหมือนจะอยู่ตรงกลางๆ เพราะเป็นการลงหุ้นทีละเป็นก้อนๆ เช่น 20% ต่อตัว ดังนั้น ความถี่ในการลงทุนของ DG นั้น น่าจะอยู่ตรงกลางระหว่าง 7thLTG กับ วิธีแบบคุณวิกรม

    แต่จากกฎเกณฑ์ของ DG ที่ได้บัญญัติขึ้น ผมมองว่า ยังทำให้โอกาสที่เราจะเทรดหุ้นนั้นยังถี่เกินไป ผมว่า DG ไม่ควรจะปรับพอร์ตหุ้นทุกรอบ เหมือนกับพอร์ตของคนธรรมดาทั่วไป แต่ DG น่าจะเป็นพอร์ตของนักลงทุนที่มีความอดทนรอคอยได้สูงกว่าคนทั่วไปที่ลงเป็นก้อนๆ แบบเดียวกัน เราต้องอดทนได้มากกว่าถึงจะสร้างผลตอบแทนที่แตกต่างได้

    เบื้องต้นคิดอยู่ประมาณนี้ แต่ยังไม่ได้คิดว่าจะต้องปรับอย่างไรถึงจะบรรลุเป้าหมายอันนี้ได้

    อีกเรื่องหนึ่งคือ Watch List ชุดแรกของเรา ยังดูผ่อนปรนเกินไปหน่อย คิดว่าอยากโฟกัสให้มากขึ้น (ลดจำนวนตัวหุ้นที่สอบผ่านลง) ตรงนี้คิดว่าช่วงนี้กำลังไล่เขียนบทความริวิวหุ้นรายตัวจำนวนหนึ่งอยู่พอดี ก็จะมองๆ หุ้นไปด้วย ไว้รีวิวครบแล้วจะมีการปรับ Watch List ชุดใหม่อีกครั้ง

    1. ขอบคุณครับพี่โจ้ก จะพยายามเรียนรู้ไปเรื่อยๆกับพอร์ตนี้ครับ

  53. ขอบคุณมากครับคุณโจ๊ก รอติดตามการรีวิวหุ้นรายตัวและ watch list ชุดใหม่นะครับ เติบโตไปด้วยกันครับ

  54. ได้ไอเดียมาตอนวิ่งจ๊อกกิ้งนะครับ

    คือว่าผมว่า พอร์ต Growth นั้น บริษัทส่วนใหญ่ยังมีการเติบโตอยู่ ฉะนั้น เราจึงไม่มีความจำเป็นที่เราจะต้องคอยปรับพอร์ตอยู่เรื่อยๆ แต่ตรงกันข้ามเราควรจะถือหุ้นแต่ละตัวให้นานที่สุด เพื่อให้เวลาบริษัทเหล่านั้นได้สร้างผลกำไรให้เติบโตให้กับเรา อันนี้ควรเป็นกลยุทธ์สำคัญของพอร์ตประเภทหุ้น Growth ซึ่งจะต่างกับพอร์ตหุ้นบลูชิพ หรือหุ้นกลับตัว เพราะหุ้นเหล่านั้นไม่ค่อยโตแล้ว หรือเมื่อกลับตัวได้แล้วก็จะหมดเหตุผลที่ทำให้เราซื้อแล้ว เราจึงต้องคอยปรับเปลี่ยนตัวหุ้นเหล่านั้นบ่อยๆ กลยุทธ์ที่เหมาะสมจึงต้องไม่เหมือนกับพอร์ต Growth

    ฉะนั้นเวลาที่ DG จะลุกขึ้นมาปรับพอร์ตสักครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการเข้าซื้อ หรือว่าเปลี่ยนตัวหุ้นก็ตาม มันน่าจะเป็นเหตุการณ์ที่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยๆ แบบว่า เป็นเหตุการณ์ที่ 7thLTG ยังต้องอิจฉา อย่างแค่การที่ SET ปรับตัวลง 10-15% นั้น ถึอว่าเป็นความผันผวนแบบธรรมดาของ SET ซึ่งปีหนึ่งก็มักจะมีให้เห็นบ่อยถึง 3-4 ครั้ง ไม่ควรเป็นโอกาสที่ DG จะสนใจ แต่ DG ควรปล่อยให้พอร์ตขึ้นๆ ลงๆ ไปตามตลาดโดยไม่ต้องทำอะไรเลยในสถานการณ์แบบนั้นมากกว่า หรือถ้าเป็นเหตุการณ์ที่เกี่ยวกับตัวหุ้นตัวใดตัวหนึ่งโดยเฉพาะ ก็ควรเป็นเหตุการณ์ที่ค่อนข้างมีความสำคัญต่อบริษัทนั้นๆ ในระดับที่เปลี่ยนแปลงพื้นฐานของบริษัทได้เลย ถึงจะทำให้ DG สนใจ

    คิดว่าจุดบกพร่องที่ผ่านมาของ DG คือ พอเริ่มต้นลงทุนก็พยายามหาหุ้นให้ครบ 5-6 ตัวเพื่อมาใส่ๆ ให้เต็มพอร์ตโดยที่ไม่ใช่คัดสรรหรือรอให้เป็นโอกาสที่น่าสนใจมากพอ เหมือนแค่ซื้อๆ ไปให้เงินหมดเท่านั้น ซึ่งที่จริง DG ควรมีความอดทนที่จะรอคอยโอกาสดีๆ ให้มากกว่านั้น ไม่ใช่แค่ซื้อๆ ไปในช่วงเวลาที่พอร์ตอย่าง 7thLTG ยังรู้สึกว่าเป็นโอกาสที่ธรรมดาๆ

    อย่างไรก็ตาม ในเมื่อได้ซื้อไปแล้ว และหุ้นที่เราเน้นก็เป็นหุ้นเติบโต การจะไปปรับพอร์ตอะไรอีกกลับไม่ได้ช่วยอะไร (ถ้าผิดตอนซื้อ มักแก้ไขไม่ได้) ทางที่ดีกว่าคือน่าจะถือต่อไป รอให้การเติบโตของกำไรของบริษัทเหล่านั้น ช่วยให้พอร์ตกลับมาเอง เพราะนั่นคือข้อดีของพอร์ต Growth ที่เราสามารถพึ่งพาการเติบโตทางธุรกิจของตัวหุ้นให้ทำงานแทนเราได้

    จากจุดนี้ไป DG ก็คงถือตามเดิมไปเรื่อยๆ ก่อน ส่วนที่ผิดพลาดไปก็ช่างมัน ให้ธุรกิจของหุ้นได้เติบโตเพื่อช่วยให้พอร์ตกลับมาเอง การปรับพอร์ตในครั้งต่อไปจะต้องเป็นโอกาสที่มีความเป็น rare opportunity มากกว่าที่ผ่านมา ถึงจะปรับครับ

    แต่ส่วนของ WatchList นั้น จะยังมีการสังคายนาอย่างต่อเนื่อง โดยผมจะอาศัยการเขียนบทความรีวิวหุ้นในตลาดเป็นการช่วยหาหุ้นไปด้วยในตัว เป้าหมายคือ เดี๋ยวจะมีการสังคายนา Watch List กันใหม่ โดยมีการคัดสรรที่เข้มมากกว่าเดิม

    1. สุดยอดมาก k.โจ๊ก ความคิดตกผลึกตอนวิ่งนี่เอง เห็นด้วยว่าพอร์ตนี้รีบซื้อไปหน่อย เหมือนตอนแรกจะดีไซน์ให้ไดนามิค กว่านี้หรือเปล่าแบบเปลี่ยนตัวง่ายๆ ส่วนผมเพิ่งมาเริ่มวิ่ง วีคละ 3-4 ครั้งแต่ไม่เคยคิดถึงเรื่องการลงทุนเลยแม้แต่น้อย (ฮ่า)

  55. โดยส่วนตัวผมคิดว่า พอร์ตหุ้น DG นั้นน่าจะเหมือนกับพอรต์หุ้นเติบโตที่พี่โจ๊กเคยทำพอรต์ทดลอง (ไม่ได้ใส่เงินจริงๆ) ถือจนครบ 3 ปี แล้วมาดูผล ปรากฎว่่าชนะตลาดถล่มทลาย ^^ (ในบทความเก่าๆน่ะครับ ผมจำได้)

  56. ไอเดียเขียนบทความส่วนใหญ่ก็ได้มาจากตอนวิ่งนี่แหละครับ มันเป็นสภาวะที่ทำให้จัดระเบียบความคิดได้ง่ายขึ้น ^^

  57. ถ้างั้นเราขายหุ้นไปก่อน ถือเงินสดรอ rare opportunity จะดีกว่ามั้ยครับ
    สมมติ rare opportunity ครั้งต่อไปมาถึง เช่น ตลาดตกไป 40% แล้วค่อยปรับพอร์ต เปลี่ยนตัวหุ้น มูลค่าพอร์ตตอนนั้นก็คงลดไปเยอะอยู่

    การถือหุ้นไว้ มีข้อดีกว่าอย่างไรบ้างครับ

    1. ปัญหาของการรอ คือ บางทีรอแล้วหุ้นไม่ลงมาถึงที่เราต้องการ แต่กลับยืนเหนืออยู่หลายปี ทำให้เสียเวลาลงทุนไป (ถือเงินสดก็มีต้นทุนด้วยเหมือนกัน)

      ดังนั้น ถ้าเราจะรอ เราก็ต้องเป็นสุดยอดนักรอแบบคุณวิกรม เกษมวุฒิให้ได้คือ รอ 7 ปีไม่ลงทุน ก็รอได้

      แต่ถ้าเรารอไม่ได้มากขนาดนั้น การหาวิธีวัดมูลค่าหุ้นที่สมเหตุสมผล แล้วลงทุนไปตามเกณฑ์นั้นๆ น่าจะดีกว่า

  58. ขอถามความเห็นคุณโจ๊ก เกี่ยวกับการไม่ลด QE ในรอบนี้ จะมีผลกับเศรษฐกิจโลก และ ตลาดหุ้น ทั้งระยะสั้น และระยะยาวอย่างไรบ้างครับ

    1. ถ้า QE ลดช้าลง เงินก็คงไหลกลับมายังสินทรัพย์เสี่ยง เช่น หุ้นเอเชีย ทำให้หุ้นกลับมาดีได้

      แต่ต่อจากนี้ไป QE จะกลับมาไปหดเร็วขึ้น หรือว่าหดช้าลงอีกนั้น ไม่มีใครตอบได้ เพราะแม้แต่ Fed เองก็ยังประเมินผิดเลย เพราะคิดว่าเศรษฐกิจสหรัฐน่าจะกลับมาเร็ว แต่ปรากฎว่ายังไม่เร็วอย่างที่คิดเลยปรับแผนกันใหม่ ฉะนั้นต่อไปก็คงขึ้นกับการกลับมาของเศรษฐกิจสหรัฐว่าจะเร็วแค่ไหน ซึ่ง Fed เองก็ยังไม่รู้ต้องคอยดูเป็นระยะๆ

  59. ตอนนี้เห็นว่าตลาดหุ้นรีบาวด์ขึ้นมา SAT กลับมามีกำไร ก็เลยขออนุญาตขายออกมาก่อนนะครับ

    ช่วงนี้ถ้ามีกำไรจะขอขาย DG ทิ้งออกมาเรื่อยๆ ก่อน เรียกว่า ขอเริ่มต้นกันใหม่ก็ละกัน

    ส่วนแนวใหม่จะปรับปรุงวิธีการอย่างไรบ้างนั้น ขอเวลาพัฒนาอีกนิดครับ

  60. หุ้นบวกเงินสดของพอร์ตเวลานี้กลายเป็น 1,031,541 บาท กลับมามีกำไรอยู่นิดหน่อย เดี๋ยวปรับนโยบายเสร็จแค่ไว้มาเริ่มต้นกันใหม่ ^^

  61. อยากให้การปรับเกณฑ์ใหม่พอรต์ DG ออกเร็วๆครับ …เผื่อตลาด Crash จะได้ไม่พลาดโอกาส ^^

    1. ภายในสัปดาห์หน้าน่าจะออกครับ

      แต่ช่วงนี้ ถ้ามีกำไรก็คงค่อยๆ ขายออกมา โดยอยากกำจัด TUF เพิ่มอีกตัว ส่วน MBK กับ CPALL อาจจะคงไว้ก่อน เพราะคิดว่าทั้งคุณภาพของกิจการและราคาทุนถือได้ว่าพอใช้ได้แล้ว

  62. ท่านแม่ทัพคับ กรณีที่ผมบริหารพอร์ตคล้ายๆกับ DG กล่าวคือ ยามตลาดหุ้นแพงเราซื้อหุ้นเกรดBเอา ได้แต่มองหุ้นเกรดAอยู่ห่างๆ พอเวลาตลาดcorrection จนหุ้นเกรด A ร่วงลงมาหนักๆ จนมีราคาไม่แพงเกินไปนัก ผมก็switch จากหุ้นเกรด B มาถือเกรด A

    พอหน้าตาพอร์ตเราประกอบไปด้วยหุ้นเกรดA เราควรจะพวกมันต่อไปเรื่อยๆตราจจนราคามันคิด implied growth ออกมาแล้วสูงเกินกว่าแผนการเติบโตที่บ.จะทำได้ เราก็จะเปลี่ยนกลับมาถือหุ้นเกรด B เช่นนี้ คิดว่าเหมาะสมหรือเปล่าคับ

    ปล.
    ที่จริงแล้วตอนหลังจากตลาดcorrection หุ้นเกรดAจะreboundไวมาก จนไม่นานก็กลับมายืนที่ราคาแพงดังเดิม ผมมักจะขายจังหวะนั้นเพราะกลับไปถือหุ้นเกรด B เช่นเดิม ทำให้ระยะยาวผมไม่มีหุ้นเกรด A ติดอยู่ในพอร์ตเลยคับ

    1. วฺิธีนี้ก็เป็นกลยุทธ์หนึ่งที่น่าจะใช้ได้เหมือนกัน

      แต่แน่นอน ถ้าช่วงที่กลับมาถือ B แต่ B ไม่แช็งแกร่งพอ หล่นแรงหลังจากที่เราซื้อไป และราคาไม่กลับมาให้เราขายได้ง่ายๆ ก็ทำเอาเซ็งได้เหมือนกัน

      ใน DG ฉบับปรับปรุงใหม่ ผมยังคิดว่าจะกลับไปเน้นลงทุนกับหุ้นเกรดดีๆ มากขึ้น ผมว่าข้อดีของมันคือ ถ้าคิดผิด การรอให้มันกลับมาได้ใหม่ มีโอกาสสำเร็จค่อนข้างเยอะ เป็นความปลอดภัยอย่างหนึ่ง

  63. พี่โจ้กตั้งใจว่าจะขายให้หมดทุกตัวเลยป่าวครับ จริงๆผมเห็นว่าcpallเป็นหุ้นเกรดเอ แล้วเราก็ซื้อได้ที่ราคาไม่แพงมากนัก จะขายไปมันออกจะน่าเสียดายอยู่ ไม่ทราบว่าพี่เห็นว่ายังไงครับ

  64. เฝ้ารอกลยุทธใหม่ที่พี่นรินทร์จะ renew อย่างใจจดใจจ่อครับ *0*

  65. ขอบคุณมากคุณนรินทร์ เข้าแจ๋มแจ้งคะ ดิฉันหมดสิทธ์ซื้อคะเพราะไม่มีรายได้ในเมืองไทย :C แหม่กะว่าจะขอส่วนลด15% ซะหน่อย…เอางัยดีคะ..ขอไปอ่านกองทุนรวมอีก 2, 3 รอบ เพื่อจะได้เข้าแจ้งขึ้น…อยากลงทุนกองทุนรวมเพื่อลดความเลี่ยงนะคะ…ขอบคุณคะคุณนรินทร์มิตรแท้เพื่อนนักลงทุน 🙂 x

  66. ขอบคุณคะตามนั้ันคะ Revemped DG เหมาะกับตัวเองมากเพราะอดทนคอยได้เป็นเลิศ ตอนนี้สะสมเบียงและปฎิบัติธรรมฝึกจิต…รอคอย 🙂 x

  67. อยากให้ reseach BCH ด้วยเหมือนกันครับ ว่าหลังเปิด World Medical Center แล้วจะพอสู้ Global อย่าง BGH, BH ไหวไหมครับ

  68. เราควรนำmarket implied growth ที่ได้มาเช็คกับ M.cap ที่ได้จากสูตรDG ด้วยมั้ยคับ
    เช่น สมมุติ CPALL ได้ implied growth 20%
    แต่ M.cap เหมาะสมจากสูตรDGคือ 200000m โดยให้g=15%
    M.capตลาดคือ300000ล้าน ดูเหมือนว่าM.capตลาด แพงไปอยู่100000m (ต่างกัน33% ) อย่างนี้แม้ว่าImplied growth อยู่ในเกณฑ์ แต่จริงๆก็ยังถือว่าแพงอยู่มั้ยคับ
    ปล.implied growthอยู่ในเกณฑ์แต่ถ้าM.Capตลาด สูงกว่า M.capเหมาะสม จะถือว่ายังแพงไปมั้ยคับ

  69. implied growth ก็ต้องปรับเองด้วย เพราะว่า รายได้ในสูตรเป็นรายได้เมื่อหนึ่งปีที่แล้ว และ stable margin เป็นค่าเฉลี่ยอดีต ถ้าหากเห็นว่าอนาคต stable margin ไม่เหมือนเดิม เพราะมีการเปลี่ยนธุรกิจไปด้วย ก็ต้องปรับใหม่ให้เหมาะสม

    ก็ดูประกอบกันทั้ง implied growth และ DG ครับ ถ้าสอดคล้องกัน ก็สบายใจ แต่ถ้ามีตัวหนึ่งแพง ตัวหนึ่งบอกว่าถูก แต่ไม่ได้มีความแตกต่างที่มีนัยสำคัญมากๆ ก็คงไม่เป็นไร แต่ถ้าห่างกันมากๆ ก็คงต้องหาสาเหตุ แล้วดูว่า เราจะเชื่ออันไหนได้มากกว่ากัน

    ทุกอันล้วนเป็นแนวทางเท่านั้น ไม่ต้องเป๊ะมาก

  70. สำหรับพอร์ตสาธิต DG ผมมีแผนจะเลิกสาธิตในอนาคตนะครับ เนื่องจากเห็นว่า DG เป็นแนวการลงทุนที่ค่อนข้างเป็นเรื่องของการเฉพาะเจาะจงหุ้นที่จะลงทุนเป็นรายตัว และยังมีเรื่องของช่วงเวลามาเกี่ยวข้องอีก ไม่อยากให้กลายเป็นการชี้นำหุ้นรายตัว (ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม)

    อยากแค่นำเสนอแนวคิดเฉยๆ ถ้าสนใจก็นำไปปฏิบัติกันเองได้

    ส่วนพอร์ตที่จะสาธิตให้ดูได้ จะเป็นพอร์ตที่ลงทุนในแนวที่ค่อนข้าง passive (อย่างเช่น 7thLTG) คิดว่าเหมาะสมกว่า

  71. พอรต์สาธิต DG หลังจากผ่านไปนานหลายปี ผลงานเปนไงมั่งครับพี่ ^^

    1. พอร์ตนี้ได้ประกาศเลิกไปนานแล้ว https://www.dekisugi.net/archives/28891/comment-page-9#comment-8965

      เพราะลักษณะของการลงทุนมันจะมีความคล้ายกับการเชียร์หุ้นมากเกินไป ไม่อยากให้มีปัญหาในอนาคต ท่านไหนอยากลองก็สามารถลองทำเองได้

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *