หลายปีที่ผ่านมา SF อาจจะไม่ใช่หุ้นที่ตลาดหุ้นปลื้มเท่าไรนัก ด้วยเหตุผลสำคัญคือเรื่องของ
วิธีการบันทึกรายได้ในงบการเงิน ซึ่งเป็นวิธีที่ทำให้ รายได้ของ SF จากไตรมาสหนึ่งสู่ไตรมาสถัดไป เหวี่ยงรุนแรงมาก ดูเป็นบริษัทที่มีผลประกอบการที่ผันผวนสูง มีช่วงที่รายได้ตกท้องช้าง วูบไปทั้งไตรมาสให้คนที่ถืออยู่ต้องเสียว เพราะจะโดนคนอื่นเข้ามาช้อนซื้อได้ง่ายๆ ในราคาที่ถูกกว่าอยู่บ่อยๆ ถือแล้วน่าปวดใจทีเดียว
สาเหตุที่เป็นแบบนั้นเป็นเพราะ แต่ก่อนนี้ เวลา SF สร้าง Mall ใหม่ จะก็ได้ค่าเซ้งจากผู้เช่า ก้อนใหญ่มาหนึ่งก้อนตอนแรกเข้าเลย ซึ่งก็จะบันทึกลงรายได้ในไตรมาสนั้นๆ จนรายได้ปูดขึ้นมา หนึ่งไตรมาส หลังจากนั้น จะค่อยๆ ได้ค่าเช่ารายได้ ซึ่งเป็นเงินที่น้อยแล้ว เพราะว่าจ่ายค่่าเซ้งไปแล้ว ทำให้ตัวที่เป็นรายได้แบบ steady-income จะเป็นก้อนเล็กมาก
ฉะนั้นไตรมาสไหนที่ SF เว้นวางจากการเปิด Mall แห่งใหม่ ไตรมาสนั้น รายได้ก็จะวูบไปเลย เพราะไม่มีรายได้ค่าเซ้งเข้ามา ในขณะที่ค่าเช่าประจำเป็นตัวเลขที่เล็ก จึงทำให้ผลประกอบการของ SF ขึ้นๆ ลงๆ แรงๆ
พอมาตอนหลังที่มาทำห้างเมกาบางนา SF ไม่ได้ใช้ระบบเซ้งแล้ว แต่ก็ยังไม่วายบันทึกรายได้ให้ผันผวนได้อีก เพราะห้างเมกาบางนานั้น ไม่ใช่ของ SF คนเดียว แต่เป็น Joint-Venture ที่ SF ถือหุ้นแค่ 49% ทำให้ไม่ได้มีการ consolidate รายได้ทั้งหมดของเมกะบางนาเข้ามา แต่จะใช้วิธีบันทึกกำไรส่วนได้ส่วนเสียแทน (Take Equity Method) หมายความว่า ห้างเมกาบางนามีรายได้เท่าไรไม่สนใจ สุดท้ายแล้ว กำไรสุทธิเท่าไร ก็จะนำ 49% ของกำไรสุทธิ มาบันทึกเป็นรายได้ของ SF เลย โดยไม่ต้องบันทึกค่าใช้จ่ายใดๆ อีก
ผลก็คือ รายได้ของ SF จะผันผวนมากขึ้น เพราะกำไรเป็นตัวเลขที่ผันผวนมากกว่ารายได้ เมื่อนำกำไรมาบันทึกเป็นรายได้โดยตรง ก็ทำให้รายได้รวมผันผวนมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงแรกที่เปิดห้างนั้น จะมีพวกค่าใช้จ่ายครั้งเดียวเยอะ ได้แก่ พวกงบการตลาด ยิ่งทำให้กำไรของเมกาบางนาผันผวนเป็นพิเศษ กว่าจะ stable มากขึ้น ก็ต้องรอให้ห้างอยู่ตัวกว่านี้ ซึ่งก็อาจต้องเป็นปีที่ 2-3 ขึ้นไป
ต่างจากหุ้นห้างตัวอื่นๆ อย่างเช่น CPN ซึ่งเป็นการ consolidate งบการเงินทั้งหมด และรายได้ส่วนใหญ่เป็นรายได้ค่าเช่า ทำให้รายได้และกำไรจากไตรมาสสู่ไตรมาสของ CPN มีความสม่ำเสมอ ตลาดกล้าให้พรีเมี่ยมได้มากกว่า
ในทางการเงิน การลงทุนใดๆ จะดีหรือไม่นั้นต้องตัดสินที่ Cash Flow และ IRR แต่ในความเป็นจริง วิธีลงบัญชีในงบการเงิน ก็เป็นสิ่งที่มีผลต่อมูลค่าบริษัทในตลาดหุ้นได้ไม่น้อยเหมือนกัน
ท่านแม่ทัพคิดว่าการตีมูลค่ายุติธรรม ตามมาตรฐานบัญชีที่ SF เลือกใช้ (แต่ CPN ไม่ใช้) จะมีส่วนไหม มากน้อยอย่างไรครับ
sf ไม่แคร์รายย่อย lolzzzz
นอกจากวิธี Take equity method แล้ว กรณีบริษัทร่วม ถือหุ้นน้อยกว่า 50% ยังสามารถ บันทึกแบบไหนได้อีกไหมครับ ?
ลองตอบนะครับ
ในเรื่องเกี่ยวกับเงินลงทุนสามารถมองเป็นภาพกว้างๆได้ดังนี้
1.ถือหุ้นน้อยกว่า 20% เป็นเงินลงทุน
2.ถือหุ้น 20-50% จะถือว่าเป็นบริษัทร่วมเนื่องจากกิจการมีอิทธิพลอย่างมีสาระสำคัญในบริษัทร่วมนั้น ใช้การบันทึกแบบ equity method คือรับรู้ตามสัดส่วนกำไรที่เกิดขึ้นเข้ามาเป็นส่วนแบ่งกำไร
3.ถือหุ้นมากกว่า50% จะถือว่าเป็นบริษัทย่อยเนื่องจากกิจการมีอำนาจควบคุมในบริษัทนั้น ใช้การบันทึกแบบรวมงบการเงินเข้าด้วยกันหรือconsolidate คือรวมรายได้ รายจ่ายเข้าด้วยกันเลย จะต่างกับ equity methodที่รวมเฉพาะส่วนแบ่งกำไรตามสัดส่วน
ทั้งนี้การตัดสินว่ากิจการนั้นเป็นแค่เงินลงทุน บ.ร่วม หรือบ.ย่อยนั้นให้ดูที่เนื้อหาเป็นสำคัญมากกว่า%การถือหุ้น คือดูว่ามีอิทธิพลอย่างมีสาระสำคัญหรือมีอำนาจควบคุม
ตามนั้นครับ
ถ้าเทียบ sf กับ cpn ช่วงแรก เหมือนกันไม๊ครับ พอดีไม่ได้ศึกษา cpn ตั้งแต่แรกๆ ครับ
จริงๆ CPN ก็มีเซ้งบ้างเหมือนกัน เช่น เซ็นทรัลปิ่นเกล้า นี่พื้นที่เซ้งระยะยาวเยอะมาก แต่ช่วงหลังๆ อำนาจต่อรองเพิ่มขึ้นมาก เลยไม่ค่อยให้เซ้งแล้ว
นอกจากเรื่องงบแล้ว น่าจะเป็นความสามารถในการแข่งขันด้วยนะครับ CPN เป็นผู้นำอย่างชัดเจนในตลาดนี้ ส่วน SF ผมว่าบางห้างไม่ค่อยประสบความสำเร็จนะครับ บางที่ไปแทบจะเป็นเมืองร้างเลย
ขอบพระคุณครับ