Skip to content

283: Self-made Growth Stocks

หุ้นเติบโต คือ หุ้นของบริษัทที่ยังมีโอกาสในการขยายธุรกิจอยู่มาก กำไรเติบโตดี แต่มักจะต้องแลกด้วยการจ่ายเงินปันผลน้อย เพราะจำเป็นต้องเก็บเงินไว้ลงทุนเพิ่ม (เงินต่อเงิน) เพื่อให้มีกำไรและจ่ายเงินปันผลได้มากขึ้นอีกในอนาคต

ส่วนหุ้นปันผล คือ หุ้นของบริษัทที่ธุรกิจค่อนข้างมั่นคงแข็งแรงแล้ว และบริษัทก็ได้ใช้โอกาสในการขยายธุรกิจที่มองเห็นอยู่ไปแทบจะหมดแล้ว ทำให้มีความจำเป็นต้องเก็บเงินทุนไว้ในบริษัทเพื่อลงทุนขยายกิจการน้อย บริษัทจึงสามารถจ่ายปันผลให้ผู้ถือหุ้นได้มาก แต่ข้อเสียคือ กี่ปีกี่ปี กำไรก็ประมาณเดิมตลอด ไม่เพิ่มขึ้นเท่าไร แม้จะจ่ายปันผลงาม แต่ก็ปันผลเท่าเดิมทุกปี หรือไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก

หุ้นเติบโตอาจจะมีความเสี่ยงสูงเพราะมูลค่าหุ้นผูกไว้กับอนาคตค่อนข้างมาก ในขณะที่หุ้นปันผลอาจจะปลอดภัยกว่า แต่ปัญหาก็คือ ธุรกิจไม่ค่อยเติบโต แม้จะปันผลเยอะมาก แต่ถ้ากำไรไม่โตบ้างเลย บางทีก็ไม่คุ้ม เพราะผลตอบแทนของหุ้นควรจะได้ประมาณ 10% ถึงจะคุ้มค่าต่อความเสี่ยง ถ้าได้เงินปันผลอย่างเดียว ไม่ได้ capital gain เลย คงยากเหมือนกันที่จะได้ผลตอบแทนปีละ 10%

ผมมีไอเดียอยู่อย่างหนึ่งว่า เราอาจเอาหุ้นปันผลมาทำให้เป็นหุ้นเติบโตเองก็ได้ (self-made growth stocks) วิธีการก็คือ ถ้าหุ้นปันผลจ่ายปันผลดีมาก เช่น 70% ของกำไรสุทธิ เพราะแทบไม่มีการลงทุนเพิ่มในธุรกิจแล้ว ถ้าเราอยากทำให้เหมือนกับเราลงทุนในธุรกิจนี้ แต่มีการเติบโตด้วย เราก็น่าจะเอาเงินปันผลที่ได้รับทุกปี กลัีบเข้าไปซื้อหุ้นตัวเดิมเพิ่มอีก ทุกบาท ทุกสตางค์ เหมือนเอากำไรของบริษัทกลับไปลงทุนทั้ง 100% วิธีนี้ก็เหมือนกับบริษัทไม่ได้ลงทุนเพิ่มแต่เราเป็นผู้ลงทุนเพิ่มเองด้วยนำเงินไปซื้อกิจการแบบเดิมเพิ่มขึ้นทุกปี ตราบใดที่ราคาหุ้นของบริษัทไม่ได้แพงเกิน (ซึ่งก็น่าจะเป็นอย่างนั้น มิฉะนั้นคงไม่ใช่หุ้นปันผลสูง) และธุรกิจของบริษัทมี ROE เกิน 10% ก็เท่ากับว่า เราเป็นผู้ขยายกิจการเสียเอง

เท่ากับว่าเราจะได้ทั้งความมั่นคงปลอดภัยของหุ้นปันผล และในเวลาเดียวกันก็ได้การเติบโตของการลงทุนด้วยเงินที่เราซื้อกลับเข้าไปเอง คือได้จำนวนหุ้นมากขึ้น ปันผลในปีถัดไปก็มากขึ้นตาม

ถ้าคิดตามหลักการเงินแล้ว วิธีนี้น่าจะมีเหตุผลอยู่ ตราบใดที่ธุรกิจนั้นเป็นธุรกิจที่มี ROE สูงเกินความเสี่ยง (เช่น มากกว่า 1o%) และราคาหุ้นนั้นไม่ได้แพงอยู่ เพราะถ้าเราซื้อหุ้นเหล่านั้นเพิ่มด้วยเงินปันผลของบริษัทนั้นเอง ก็เท่ากับเงินจำนวนนี้ถูกนำไปลงทุนในธุรกิจที่ให้ผลตอบแทนเกิน 10% ซึ่งคุ้มกว่าการรับเงินปันผลนั้นมาแล้วฝากธนาคารไว้เฉยๆ

แต่ก็ไม่เคยได้ยินว่ามีตำราการเงินที่สอนให้ทำแบบนี้อย่างเป็นทางการ แต่เคยได้ยินการวิจัยว่าการลงทุนในหุ้นปันผลจะชนะตลาดในระยะยาวได้ถ้าหากมีการ reinvest เงินปันผลอยู่ตลอด ก็เป็นอะไรที่สอดคล้องกับแนวคิดนี้อยู่เหมือนกัน

เลยเป็นแค่ไอเดียแบบไม่เป็นทางการให้ฝากไปลองคิดกันดูครับ

21 thoughts on “283: Self-made Growth Stocks”

  1. คิดว่าปัจจัยที่ต้องคิดถึง เวลาจะ reinvest น่าจะเป็น dividend yield มากกว่าที่จะเป็น ROE ไหมครับ?
    เพราะเราไม่ได้เข้าลงทุนที่ P/BV = 1

  2. good point ครับ

    คิดว่า อาจจะต้องดูทั้งสองอย่างด้วย เพราะถ้า roe ต่ำเกินไป ก็เหมือนลงทุนเข้าไปในอะไรที่ยิ่งทำยิ่งเสีย ส่วน div yield ดูผลตอบแทนของตัวเราเอง หรืออาจจะใช้เป็น earning yield ก็ได้

  3. ถ้าหุ้นมีกำไรสม่ำเสมอ จ่ายปันผลได้มั่นคงไปอีกหลายๆปีก็โอเคครับ …กลัวแต่ว่า หุ้นปันผลส่วนมากที่กำไรอิ่มตัวจริงๆแล้ว จะมีแต่ คงที่ กับทรุดลงเรื่อยๆ สุดท้ายเรามีแต่หุ้นที่เพิ่มขึ้น แต่ปันผลจากกำไรที่ได้ลดลง อาจไม่คุ้มกับความเสี่ยงธุรกิจที่อนาคตก็ไม่รู้จะเจออะไรบ้าง ถึงแม้วันนี้มันจะมั่นคงมากก็ตามที ^^

  4. log in แล้ว แต่อ่านไม่ได้อ่ะครับ
    ต้องทำอย่างไรหรอครับ

  5. ผมทำแบบนี้กับ MODERN มาหลายปีแล้วครับ
    ธุรกิจโตแบบช้าๆ (แต่ก็โตนะ)
    ปันผลสูง แล้วก็ค่อยๆปันเพิ่มทุกปีด้วย
    เข้าซื้อหลังซับไพรม์ แล้วก็ทะยอยซื้อมาเรื่อยๆ
    ปันผลมาเท่าไหร่ เอาเข้าพอร์ต รอจังหวะซื้อหมด
    เน้นหลังจากมีข่าวร้ายแบบชั่วคราว กับหลัง XD

    ผ่านมาหลายปี ผลตอบแทนสูงมากอย่างไม่น่าเชื่อเลย
    แต่ตอนนี้ผมว่ามันแพงไปนิดๆนะ 🙂

  6. ขอบคุณครับ …

    ติดตามคุณนรินทร์ ได้ไอเดียใหม่ ๆ ตลอดเลยครับ …

  7. เป็นบทความชวนคิดที่ดีครับ ต้องขอบคุณด้วยครับท่านแม่ทัพ
    ความเห็นผมเพิ่มเติมในบทความนี้ครับ

    หุ้น growth ความเสี่ยงคือ ไม่ growth สูงตามที่คาดหวัง แถมหากไม่จ่ายปันผลด้วย ความผันผวนของราคาจะสูงมากกากเกิดวิกฤตการณ์บางช่วงเวลาระหว่างเดินทางซึ่งทุกหุ้นโดยเฉลี่ยต้องเจอบ้าง เช่น cpall hmpro cpn เป็นต้น

    หุ้น ปันผล ความเสี่ยงคือ โอกาสข้างหน้าจะจ่ายสม่ำเสมอหรือไม่ และหากจ่ายน้อยลง ก็อาจขาดทุน capital gain ได้ แถมยังมีความเสี่ยงเรื่อง market risk ที่ต้องเทียบเคียงกับ yield fixed incomeทางเลือกอื่น ความเสี่ยงก็คล้ายกับ fixed income อีกด้วย
    แต่ข้อดีคือ เมื่อมีความผันผวนราคาหุ้นในระยะสั้น อย่างน้อยการอดทนคอยในแต่ละปียังมีปันผลมาเชยชมบ้าง ได้ลดต้นทุนการถือครองหุ้นแต่ละปี

    ดังนั้น ผมคิดว่า หากเราเลือก growth stock ที่จ่ายปันผลเทียบเคียงกับค่าเสียโอกาสเช่นลงทุนพันธบัตรปัจจุบันสัก 5 ถึง 10 ปีในระยะที่เราคาดหวังการลงทุนไว้ หากหุ้นดังกล่าวมีผลตอบแทนที่ใกล้เคียงกัน ณ จุดเริ่มต้นลงทุน

    น่าจะเป็นทางเลือกที่ดี เพราะอย่างน้อยได้ปันผลเป็นค่าเสียโอกาส ได้ปันผลที่เติบโตขึ้นตามผลการดำเนินงานที่โตด้วย ส่วนราคาเป็นเรื่องนายตลาดจะตีมูลค่าที่เหมาะสมใกล้พื้นฐานเมื่อใด ก็เมื่อนั้น
    การลงทุนในลักษณะนี้ น่าจะรอคอยอย่างมีความหวัง มากกว่าจะฝันให้ราคาเป็นไปตามหวังได้ด้วยครับ

    ดังนั้นข้อสรุปคือ น่าจะเลือก growth stock ที่อยู่ในช่วงมีความสามารถจ่ายปันผลได้บ้าง แม้เติบโตจะไม่สูงมากเหมือนช่วงแรก แต่มีความปลอดภัย และ reinvestment ในแต่ละปีที่ยังสามารถคาดหวังกับปันผลที่สูงขึ้นจากเงินลงทุนเดิมและเงินลงทุนใหม่ได้ด้วยครับ เรียกว่าไม่เสียโอกาสลงทุนกับความเสี่ยงที่รอคอยมากนักครับ น่าจะปลอดภัยระดับหนึ่งครับ

    สุดท้ายครับ ถ้าไม่เป็นการรบกวนเกินไป จะขอความกรุณาจากท่านแม่ทัพ ช่วยวิเคราะห์ หุ้น mc เป็นกรณีศึกษาให้ด้วยนะครับ อยากเห็นมุมมองในธุรกิจนี้ครับ ขอบคุณอีกครั้งครับ

    1. mc ก็คงต้องถามคนชอบใส่กางเกงยีนส์นะครับ เพื่อที่จะได้เข้าใจว่า กลุ่มเป้าหมายของเขาคิดอย่างไร

      ที่จริงผมเองก็ชอบใส่กางเกงยีนส์ แต่ไม่ถึงกับเป็นคนชอบแต่งตัว เลยอาจจะเข้าใจไม่ลึก ลองถามใครก็ได้ที่รู้เรื่องพวกนี้ แต่อย่าไปถามคนที่ไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายของเขานะครับ เพราะความเห็นลักษณะนั้นไม่มีประโยชน์เลยเนื่องจาก คนเหล่านั้นไม่ได้ซื้อสินค้าของบริษัทอยู่ดี

      นอกจากนี้ก็ต้องศึกษาว่า บริษัทเอาเงินเพิ่มทุนไปทำอะไร เพราะนั่นคือวิธีการที่บริษัทจะทำให้กำไรเติบโตขึ้น ดูว่า มันเป็นกลยุทธ์ที่ดีแค่ไหน

  8. พอจะยกตัวอย่างหุ้นปันผลที่มีอยู่ในตลาดได้ไหมครับ

    คือเป็นหุ้นที่จ่ายปันผลเป็น % จากกำไรสูงๆเหรอครับ

    บางครั้งผมก็งงแยกไม่ค่อยออก

    1. หุ้นปันผลก็ควรจะมี div yield สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาด

      แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือ ต้องมีประวัติการจ่ายปันผลที่ต่อเนื่อง คือเท่าเดิมหรือเพิ่มขึ้นทุกปี โดยเฉพาะในปีที่ยากลำบากก็ไม่ลดเงินปันผล

  9. อย่างหุ้นในกลุ่ม SETHD นี้ก็น่าจะเป็นหุ้นปันผลที่ให้ div yield. สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาด และจ่ายปันผลต่อเนื่องสมำ่เสมอใช่ไหมครับ

  10. เกณฑ์คัดเลือกของ SETHD คือ มี div payout ratio สูงกว่า 85% ด้วย หมายถึง ต้องจ่ายปันผลไม่ต่ำกว่า 85% ของกำไร

    ส่วนประวัติจ่ายปันผลนั้น จะดู 3 ปีย้อนหลัง โดยส่วนตัวคิดว่ายังสั้นเกินไป และที่อยากดูคือปีในอดีตที่เศรษฐกิจไม่ค่อยดีด้วย ว่าบริษัทยังจ่ายปันผลในอัตราเดิมอยู่หรือเปล่า

    ลองดูรายละเอียดของเกณฑ์ได้ที่ http://www.set.or.th/th/products/index/files/2013-01-SETHD-IndexRule-TH.pdf

    นิยามอย่างเป็นทางการของหุ้นปันผลนั้นไม่มี ก็เลยต้องแล้วแต่ว่าใครจะใช้เกณฑ์อะไรดี ที่สำคัญคืออยากลืมดูความมั่นคงของกำไรด้วย ไม่ใช่ดูแค่จ่ายปันผลเยอะๆ อย่างเดียว เพราะถึงเวลาซื้อไปแล้ว ธุรกิจแย่ลง ลดปันผล กลายเป็นหุ้นปันผลน้อยเฉยเลยก็มี

  11. มีจุดสงสัยคือเรื่อง ROE ครับ
    สมมติ ROE 15% แปลว่า ถ้าเราลงทุนเท่ากับ E ของ บ. เราจะได้ ผลตอบแทน 10%
    แต่หาก เงินลงทุนเรา > E ของ บ. ผลตอบแทนที่เราได้จะลดลงตามสัดส่วนใช่ไหมครับ(เมื่อเทียบกับเงินลงทุนของเรา)

  12. แก้ครับ
    ถ้าเราลงทุนเท่ากับ E ของ บ.เราจะได้ผลตอบแทน 15%

  13. ใช่ครับ

    ถ้าธุรกิจของบริษัทสร้างผลตอบแทนได้ 15% แต่เราไม่ได้ซื้อที่ P/BV 1 เท่า แต่ซื้อที่ 2 เท่า (สมมติ) เงินลงทุนของเราเองจะเท่ากับได้ผลตอบแทนเหลือแค่ 7.5% เท่านั้น (สมมติว่าเราไม่เทรดหุ้น ถืออย่างเดียว)

  14. ช่วยเม้นตัว spi ได้ไหมครับ ตัวนี้ ทำไมตลาดไม่ให้ราคาครับ

Leave a Reply to noons Cancel reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *