เคยเขียนเอาไว้ครั้งหนึ่งนานแล้วเกี่ยวกับการทำ port rebalancing ซึ่งมีวิธีทำได้หลากหลายวิธี แต่ละวิธีก็มีข้อจำกัดของมันอยู่
ตอนนั้นบอกว่าอยากนำเสนอวิธีหนึ่ง แต่สุดท้ายแล้วก็ได้ขอติดไว้ก่อน ตอนนี้เลย อยากจะเอาไอเดียนี้มาเสนอเป็นทางเลือกกันดูครับ
วิธีนี้เหมาะสำหรับคนที่ออมผ่านกองทุนรวม เพราะต้องการออมแบบ passive โดยที่ไม่ต้องรู้อะไรมาก คือ แทนที่จะซื้อตูมเดียวถือไว้เฉยๆ เลย อาจมีการทำ port rebalancing เป็นระยะๆ บ้าง เพื่อล็อกกำไรเก็บไว้บ้าง
วิธี rebalance ที่จะแนะนำคือ สมมติว่า เราซื้อกองทุนเก็บไว้ 1 ล้านบาท ก็ให้ถือไปเรื่อยๆ เมื่อไรก็ตามที่กลายเป็น 1.1 ล้านบาท หรือมีกำไร 10% ก็ให้ขายกำไรออกมาเก็บไว้เป็นเงินสด เหลือเป็นกองทุน 1 ล้านบาทตามเดิม
ถ้าหากหุ้นยังขึ้นต่อไป ก็ให้รอจนกว่าจะกลายเป็น 1.1 ล้านบาทใหม่ หรือกำไร 10% อีก ก็ให้ขายออกมาให้เหลือ 1 ล้านบาทตามเดิมอีก เรียกได้ว่า เป็นเหมือนไก่ที่ออกไข่ให้เราครั้งละ 1 แสนบาท โดยรักษาทุนเอาไว้ที่ 1 ล้านบาทเหมือนเดิมไปตลอด
ในทางตรงกันข้าม เมื่อไรก็ตามที่กองทุนลดต่ำลงเหลือ 9 แสนบาท ถ้าหากมีเงินที่เคยขายออกมาพักเป็นกำไรไว้ ก็ให้เติมเงินนั้นกลับลงไปให้กลายเป็น 1 ล้านบาท ถ้าซวยเติมแล้วหุ้นลงต่อไปอีก กลายเป็น 9 แสนบาทอีกครั้ง ถ้าหากยังมีเงินที่เคยขายออกมาพักไว้ ก็ให้เติมเข้ากลับลงไปให้กลายเป็น 1 ล้านบาท พูดง่ายๆ ก็คือ รักษาขนาดกองทุนไว้ที่ 1 ล้านบาทเหมือนเดิมเสมอ โดยมีจุด trigger ของการปรับพอร์ตที่ 9 แสนบาท กับ 1.1 ล้านบาท นั่นเอง
แน่นอนว่า วิธีนี้จะมีจุดที่ปรับพอร์ตไม่ได้ คือ เงินสดหมดแล้ว หุ้นก็ยังลงต่อไปอีก ในกรณีนี้ เราจะไม่ทำอะไรกับกองทุนของเราเลยจนกว่ามันจะปีนกลับขึ้นมาเป็น 1.1 ล้านบาทได้ ไม่ว่าจะต้องรอนานแค่ไหนก็ตาม ซึ่งอาจมองว่าอดซื้อของถูกเพราะเงินหมด แต่จริงๆ แล้ว มันเป็นการป้องกันตัวเองไม่ให้ซื้อหุ้นขาลงไปเรื่อยๆ แบบไม่จำกัด ซึงเป็นเรื่องดีเสียด้วยซ้ำ ในกรณีที่คุณซวยเจอภาวะแบบนั้นเมื่อไร คุณก็ต้องยอมรับความซวย แล้วรอคอยจนกว่าตลาดหุ้นจะกลับมา ไม่ว่าจะนานแค่ไหน ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันตัวเองไปด้วยมิให้ถมซื้อขาลงแบบไร้ขีดจำกัด
ผมว่าผมชอบวิธีการ rebalance แบบนี้มากกว่าวิธีที่แนะนำกันในหนังสือการลงทุนที่บอกให้ปรับพอร์ตปีละครั้ง โดยรักษาสัดส่วนไว้ที่ 80:20 (หรืออัตราส่วนอื่นก็แล้วแต่) เพราะวิธีนี้ดูเหมือนจะต้องพักเงินสดไว้จำนวนน้อยกว่า แต่เวลาได้ซื้อทีจะได้ซื้อเยอะกว่า
แถมยังให้ความรู้สึกเหมือนเรามีแม่ไก่ที่ออกไข่ให้เราได้ไม่จำกัด (แม้ว่าบางช่วงจะทิ้งช่วงนานไปบ้าง) โดยที่เราไม่ต้องให้อาหารมันตลอดเวลา (เหมือน money machine)
ถ้าใครจะ modify สูตรนี้อีกสักหน่อย โดยเริ่มต้นจากเงินลงทุน 9 แสนบาท พักเงินสดไว้ก่อนสัก 1 แสนบาท เอาไว้เป็น buffer สำหรับรอบแรกเผื่อซื้อแล้วตลาดลงพอดี จะได้มีเงินซื้อเพิ่มสักนิดหน่อยด้วยก็ได้ ไม่ผิดกติกาครับ
แนะนำไว้เป็นทางเลือกในการบริหารกองทุนดูครับ
แนวคิดนี้น่าสนใจครับ ถ้าในช่วงขาขึ้น ก็จะได้เก็บกินเป็นระยะ แต่ถ้าลงก็จำกัดไม่ถมเงินลงไป แล้วเงินที่ออกมาควรต้องกันไว้เติมกลับทั้งหมดเลยมั้ยครับ.
ขออนุญาต ออกความเห็นว่า ควร ครับ
ไม่งั้นกำไรคุณ จะไม่ได้รับการทบต้น ซึ่งในระยะยาว 10% แบบทบต้น กับไม่ทบต้น นั้นให้ผลลัพท์ต่างกันมากครับ
คือคิดว่ายังไงเราคงจะไม่ได้เอาเงินออมทั้งหมดมาซื้อกองทุนรวมอยู่แล้ว ถ้าเงินส่วนที่ขายออกมาจะเอาไปทำอย่างอื่น และมีหลายๆ อย่าง ถึงเวลาต้องเอากลับมาซื้อกองทุนรวมจริงๆ ก็น่าจะมีหนทางดึงมาจากที่ต่างๆ ได้ แต่ถ้าหากเราลงทุนกับกองทุนรวมแค่อย่างเดียวก็คงต้องกันไว้เป็นเงินสดเสมอ แต่ไม่น่าจะเป็นกรณีสำหรับคนทั่วไป ซึ่งน่าจะออมไว้ในสินทรัพย์อื่น หลายๆ รูปแบบ
ขอบคุณครับ
ถ้าจะใช้วิธีการทำ Port Rebalancing ด้วยวิธีนี้
สามารถนำมาใช้กับ พอร์ตหุ้น ได้มั๊ยครับ ?
หรือว่า เหมาะสำหรับ กองทุนรวม เท่านั้นครับ ?
ขอบคุณมากครับ
ถ้าเป็นพอร์ตหุ้นที่ลงทุนโดยไม่อาศัยการดู Valuation ก็นำมาประยุกต์ใช้กันได้ครับ
แต่ถ้าเป็นพอร์ตหุ้นที่อาศัย Valuation ในการตัดสินใจ Valuation กับ Port Balancing จะเป็นเป้าหมายที่ conflict กันครับ
น่าสนใจครับ อยากเสนอแลกเปลี่ยน
ถ้าเราซื้อหุ้นกับตราสารหนี้อย่างละเท่าๆกัน เช่นกองละห้าแสน
แล้วรีบาลานซ์เมื่อทั้งสองกองมีมูลค่าห่างกันแสนนึง
เช่น ถ้ากองตราสารหนี้เป็น 500500 กองหุ้นเป็น 600500 ก็ขายหุ้น 50000 มาเข้าตราสารหนี้
ถ้ากลับกันหุ้นลงเหลือ 400500 ก็ขายตราสารหนี้ 50000 มาซื้อหุ้น วิธีนี้พอจะเวิร์คมั้ยครับ
ก็ทำได้ครับ rebalance มีหลายสูตรจริงๆ ทดลองสูตรที่คิดว่าตรงกับความต้องการและสภาพคล่องของตัวเรามากที่สุดครับ
สอบถามเรื่อง rebalancing methods ครับ
ถ้าเงินทุน 1 ล้าน พอร์ตเรา เงินสด-หุ่น 50-50 และตั้งเป้าว่า 10%/ปี และสมมุติว่าทำได้จริง ก็จะเป็น 50-55 Rebalancing ใหม่เป็น 52.5-52.5 เท่ากับว่าพอร์ตเราเพิ่มแค่ 5% ทั้งที่เล่นได้10% ไหนจะเรื่องของ reinvest อีกที่ได้น้อยกว่าที่ควรเพราะขายหุ่นแทนที่จะลงทุนต่อ ผมเข้าใจถูกไหมครับ
ใช่ครับ
50:50 จะเหมาะกับคนที่อายุมากหน่อย เช่น 50 ปีขึ้นไป เพราะไม่ต้องการเสี่ยงมาก
มีสูตรหนึ่งเขาบอกว่า ให้ non-stock เท่ากับอายุของเรา เช่น ถ้าอายุ 40 ก็ควรมีหุ้น 60% หรือถ้าอายุ 30 ก็ควรมีหุ้น 70% เป็นต้น
การ rebalance แบบธรรมดา จะมีต้นทุนคือ เรามักต้องถือเงินสดไว้มากเกินไป rebalance วิธีพลิกแพลง ก็ออกแบบมาเพื่อแก้ปัญหานี้
ขอบคุณครับ