สินค้าของ AMARIN ที่คนทั่วไปรู้จักมากที่สุดน่าจะได้แก่ นิตยสารบ้านและสวน นิตยสารแพรว และร้านหนังสือนายอินทร์ นะครับ
บริษัทนี้เริ่มต้นจากการทำแม็กกาซีนก่อน แล้วก็ค่อยๆ vertical integrate วงการสิ่งพิมพ์ไปเรื่อยๆ คือ ทำหนังสือพ็อกเก็ตบุ้ค ทำโรงพิมพ์ (รับจ้างพิมพ์งานของคนทั่วไป) รับเป็นผู้จัดจำหน่ายหนังสือ และในที่สุดก็ขยายไปทำเชนร้านหนังสือด้วย เรียกว่าครบวงจรของอุตสาหกรรรมหนังสือในที่สุด
นอกจากจะ vertical integrate แล้ว บริษัทนี้ก็ยังขยายออกด้านข้างด้วยการทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาของนิตยสารที่ทำอยู่ เช่น ทำทัวร์ ทำคอร์สสอนทำอาหาร จัดงานอีเว้นท์สินค้าแต่งบ้าน หลักๆ เลยก็คือ งานบ้านและสวนแฟร์ และตอนนี้ธุรกิจที่กำลังพยายามขยายอย่างจริงๆ จังๆ คือ ช่องทีวี โดยบริษัทได้เข้าร่วมการทดสอบระบบประมูลทีวีดิจิตอลกับกสทช.เมื่อเร็วๆ นี้
อาจถือได้ว่า AMARIN กับ SE-ED เลือก priority ในการเติบโตต่างกัน คือ SE-ED เน้น vertical integration ขยายไปสู่ร้านหนังสือ และโตด้วยการขยายสาขาเป็นหลัก แต่ AMARIN เน้นขยายออกด้านข้าง คือ เน้นธุรกิจ content และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องก่อน จากนั้นจึงค่อยหันมาเปิดสาขาร้านหนังสือ ซึ่งถือว่า SE-ED เลือกได้ถูกต้องกว่า เพราะการขยายสาขาเพิ่มกำไรได้เร็วกว่า และตอนนั้นร้านหนังสือยังมีน้อยอยู่ ตอนนี้ AMARIN จะมาขยายร้านหนังสือก็ทำได้ไม่มากแล้ว ทำให้เสียโอกาสในการขยายสาขาไปพอสมควร เพราะเลือก priority ผิด (ความเห็นส่วนตัว) แต่อันนี้ก็เป็นเรื่องในอดีตนะครับ ผ่านไปแล้ว
ในแง่กลยุทธ์ AMARIN จะเน้น content ที่เกี่ยวกับ Lifestyle มากเป็นพิเศษ เรียกว่าเป็นเอกลักษณ์ของบริษัทเลยก็ได้ ตรงนี้ก่อให้เกิดความชัดเจนในแบรนด์ แต่ในเวลาเดียวกัน ตลาด Lifestyle ไม่ใช่ตลาดที่หวือหวา หรือสร้างกระแสได้ (แบบนั้นต้องเรื่องดารา เรื่องโป๊เปลือย เรื่องตลกโปกฮา ฯลฯ) จึงโตได้ แต่โตแบบทีละนิด แต่ฐานแน่นดี
แม๊กกาซีนเป็นตลาดปราบเซียน เพราะนิตยสารหัวใหม่ต้องยอมขาดทุนอย่างเดียวอย่างน้อยสามปี เนื่องจากในช่วงที่สร้าง circulation ใหม่ๆ รายได้มักไม่คุ้มทุน เมื่อพ้นสามปีไปแล้วถึงจะรู้ว่าจะรอดหรือไม่ ถ้าไม่รอดก็ต้องเลิก แต่โชคดีที่ AMARIN มีนิตยสารที่ติดตลาดแล้วอย่าง บ้านและสวน (ซึ่งโฆษณาเยอะมากจนน่ารำคาญ) หรือแพรว นิตยสารพวกนี้ช่วยสร้างกระแสเงินสดให้ AMARIN นำไปใช้ทดลองสร้างนิตยสารหัวใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นตามเทรนด์ใหม่ๆของสังคม เช่น Real-Parenting, Secret เป็นต้น ซึ่งต้องใช้เงินทุนในการลองผิดลองถูก ซึ่งถ้าติดตลาดก็จะสร้างกระแสเงินสดให้ในระยะยาวแบบบ้านและสวน คือถ้าไม่ลองทำหัวใหม่เลย กำไรรวมอาจจะดูดี แต่อนาคตจะไม่โต เพราะว่าไม่ได้สร้างนิตยสารหัวใหม่ขึ้นมาเพิ่ม ถือได้ว่า บ้านและสวน คือ cash-cow ที่ช่วยให้มีเงินมาปั้นนิตยสารตัวใหม่ๆ ตามกลยุทธ์แบบ BCG ซึ่งก็เป็นโมเดลที่ถูกต้องแล้วของการทำแมกกาซีน
นอกจากนี้ การออกหัวใหม่ๆ ออกมา ถึงจะไม่ได้ตังค์ แต่ก็ช่วยยึดพื้นที่ในแผงหนังสือไว้เพื่อกันไม่ให้คู่แข่งเจาะเข้ามาได้ด้วย
ในแง่ของธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เช่น โรงเรียนสอนทำอาหาร ทำทัวร์ AMARIN ยังค่อนข้างขาดการโฟกัส ทำให้ทำได้ไม่ค่อยดีเท่าไร (ทั้งที่ทำมานานแล้ว) เช่น ทัวร์ของอมรินทร์จะขายแพงๆ ไปเลย เพราะถ้าทำราคาถูกจะไม่มีทางสู้บริษัททัวร์ล้วนๆ ได้เลย แต่ความพิเศษในความแพงนั้น กลับยังไม่ค่อยชัดเจนเท่าไร หรือคอรส์สอนต่างๆ ก็เช่นกัน ที่จริงแล้ว เราอาจจะตัดธุรกิจส่วนนี้ออกไปจากการวิเคราะห์ได้เลย เพราะมีสัดส่วนรายได้แค่ 4% ของรายได้รวมเท่านั้น ส่วนกำไรนั้นแทบจะไม่มีเลย ถือว่าเป็นการต่อยอดที่ยังไม่เวิร์ก
ธุรกิจนอกธุรกิจหนังสือที่ดูมีอนาคตน่าจะเป็นส่วนของอีเว้นท์กับทีวี โดยทำรายได้รวมกันได้ 10% ของรายได้รวม แต่มีมาร์จิ้นที่สูงกว่าธุรกิจหนังสือมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลานี้ ที่เป็นโอกาสของ AMARIN ที่จะทำทีวีให้มากขึ้น เพราะมีช่องทีวีเกิดขึ้นมากมาย อย่างไรก็ตาม ผมมองว่ารายการทีวีของ AMARIN คงจะประสบความสำเร็จได้แค่ระดับหนึ่ง แต่คงสร้างกระแสไม่ได้ เพราะแนว Life Style ไม่ใช่แนว mass อยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ถ้า AMARIN ไม่โหมลงทุนมากจนเกินไป ธุรกิจทีวีก็สร้างมาร์จิ้นได้มากกว่าธุรกิจหนังสือมาก โดยที่ไม่จำเป็นต้องประสบความสำเร็จมากนักก็ได้ ทีวีจึงเป็นความหวังใหม่ในการสร้างการเติบโตให้ AMARIN ที่สำคัญที่สุดในเวลานี้
ส่วนเชนร้านหนังสือนายอินทร์ ถือว่าเริ่มต้นช้าไปหน่อย จำนวนสาขาไม่เยอะพอ ในขณะที่การแข่งขันในเวลานี้ถือว่ารุนแรง
โดยสรุปแล้ว AMARIN เป็นบริษัทที่โตไปเรื่อยๆ แต่ว่าช้าหน่อย มี niche ของตัวเองทำให้เกิดความได้เปรียบ แต่ไม่ใช่ niche ที่ช่วยให้โตแบบชั่วข้ามคืนได้
ในแง่ดิจิตอล ถือว่าบริษัทมีการปรับตัวอยู่พอสมควร แต่ก็ไม่ถึงกับเก่ง แค่พอเอาตัวรอดเกาะกระแสป้องกันความเสี่ยงไปได้ ซึ่งก็ยังดีกว่าปฏิเสธเทคโนโลยีไปเลย
[คำเตือน: การเขียนถึงบริษัทใดๆ มิได้แปลว่า ผู้เขียนเห็นว่าบริษัทนั้นน่าลงทุน ผู้เขียนต้องการนำเสนอทั้งด้านบวกและลบของแต่ละธุรกิจ ซึ่งมีทั้งบริษัทที่น่าลงทุน และไม่น่าลงทุนด้วย]
ชอบคำเตือนครับพี่โจ๊ก 😀
ขอบคุงค้าบบบ
ขอบคุณมากครับ
ผมมองต่างนิดหน่อย คือ การที่โตช้าไม่ได้ถูกจำกัดเนื่องจากเป็นตลาด lifestyle แต่ติดที่การสร้างหัวเล่มสัก1ปก ทีมงานเป็นปัจจัยหลัก ไม่สามารถสร้างได้โดยง่าย ขอบคุณมากครับ
ใครอยากเข้าใจธุรกิจแมกกาซีนให้ลึกยิ่งขึ้นลองดูสารคดีครับ
http://shows.voicetv.co.th/voice-of-the-day/76193.html
รบกวนถามคุณนรินทร์ค่ะ ว่าดูจากราคาในตลาด AMARIN วิ่งขึ้น แต่ SE-ED ตอนนี้วิ่งลงมามากเลย
อยากถามความเห็นว่า ที่ SE-ED ตกลงมาเป็นเพราะพื้นฐานเปลี่ยนรึเปล่าคะ แล้วจะกลับมาได้มั๊ย หรือว่าตลาดหนังสือมันจะค่อยๆหายไปแล้ว ขอบคุณค่ะ
ขออนุญาติแสดงความคิดเห็นระหว่างรอคุณนรินทร์มาตอบนะครับ 🙂
ผมว่า SE-ED พื้นฐานไม่ได้เปลี่ยนอะไรมากมายเลย
แต่พฤติกรรมผู้บริโภคต่างหากที่เปลี่ยนไป
ทำให้ความสามารถในการดำเนินธุรกิจร้านหนังสือค่อยๆถอยลงไปเรื่อยๆ
ในอนาคตธุรกิจร้านหนังสือก็คงเหมือนกับประเทศพัฒนาแล้ว เช่น อเมริกา
ซึ่งผมว่าทั้ง SE-ED และ AMARIN ก็ตระหนักถึงตรงนี้
และกำลังขยายไปทำธุรกิจอื่นๆ เพื่อให้บริษัทอยู่รอดในระยะยาว
ส่วนจะสำเร็จหรือไม่ ต้องคอยดูกัน
ความเห็นผม ผมมองว่าตอนนี้ SE-ED กระทบมากที่สุด ยังไม่ใช่เพราะเทคโนโลยี เนื่องจากตอนนี้ ebook ในไทยมี ส่วนแบ่งตลาดหนังสือรวมไม่ถึง 0.1% เท่านั้น มันเป็นภัยคุกคามในอนาคตแต่ยังไม่ใช่ในปัจจุบันนี้
แต่สิ่งที่ทำให้ SE-Ed กำลังลำบากคือ ผู้เล่นในตลาดร้านหนังสือเวลานี้มีมากเกินไป ทั้งซีเอ็ด บีทูเอส นายอินทร์ หรือแม้แต่แมงป่อง แถมยังโดนเจาะยางด้วย งานสัปดาห์หนังสือ ซึ่งเปลี่ยนพฤติกรรมการซื้อหนังสือของคนไทยไปเยอะมากๆ (รอไปซื้อลดราคาเยอะๆ ในงานดีกว่า)
SE-ED ต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองอะไรบางอย่างแบบมีนัยสำคัญถึงจะกู้สถานการณ์นี้ได้ครับ ถ้าไม่มี radical change ผมว่ายากครับ
เคยจะลงเรียนคอร์สของอมรินทร์ทีนึง แต่สอนไกลเหลือเกิน ถึงขึ้นหลงทางกันเลยทีเดียว –*
ทำเลของ amarin training ทำให้ คนทำงานไปเรียนตอนเย็นไม่สะดวกมากๆ ต่อให้ไปวันเสาร์อาทิตย์ก็ยังไกลเลย (แต่ใกล้บ้านผม) ผมเคยลงเรียนอยู่หลายคอร์สเหมือนกัน รู้สึกว่า เนื้อหายังไม่ดีพอครับ คิดว่าเป็นส่วนธุรกิจที่ amarin ต้องปรับปรุงอีกเยอะเลย แข่งขันยากครับ
ความคิดเห็นส่วนตัวผมโดยตัวธุระกิจของ se-ed เองก็ยังไม่ได้ถึงขั้นวิกฤตที่ทำให้ราคาต้องตกลงมาขนาดนี้
แต่สิ่งที่ทำให้ราคาตกเยอะเพราะเรื่องปันผล คนถือ se-ed เดิมส่วนหนึ่งผมคิดว่าได้ป้นผลแน่ๆ ในระดับโอเคทุกปี
แต่พอไม่ได้ปุ๊บเริ่มไม่มั่นใจ ราคาเลยลงไปเยอะ
(ไม่ได้เกี่ยวกับ amarin เลย comment นี้)
มันมองได้สองแง่นะครับ อีกแง่คือ พื้นฐาน SE_ED มันแย่ลงมานานแล้ว แต่ราคายังไม่ลงเพราะเงินปันผลช่วยไว้ พอลงเงินปันผล เขื่อนเลยแตก
ถ้าดูผลประกอบการจะเห็นว่า SE-ED กำไรลดลงอย่างต่อเนื่องมา 4 ปี แล้ว
http://www.settrade.com/C04_03_stock_companyhighlight_p1.jsp?txtSymbol=SE-ED&selectPage=3
ผมมีความเห็นว่า ที่ se-ed กำลังเผชิญปัญหาอยู่ตอนนี้ ไม่น่าจะเกี่ยวกับเรื่อง e-book เท่าไหร่ แต่เกี่ยวกับพฤติกรรมคนไทย ที่เจียดเวลาส่วนใหญ่ของแต่ละวัน ไปกับ internet ที่เข้าถึงได้ง่ายผ่าน mobile และ social network เวลาจะมาอ่านหนังสือเป็นเล่มน้อยลงเยอะ ตัวผมเองยังยอมรับว่า อ่านหนังสือได้น้อยลง เพราะต้องมาเสียเวลาบริโภคข่าวสารมากมาย และ social network ทั้ง facebook line เป็นต้น และที่เคยสอบถาม ir มา เห็นจะเป็นเพราะ ช่วงที่ผ่านมา ยังไม่มีหนังสือใหม่ ๆ ที่เปิดตัวแรง ๆ เป็นกระแสได้เท่าที่ควรเลยครับ แต่ทาง se-ed ก็รับรู้ปัญหา และพยายามแก้ไขอยู่ครับ
คงต้องลุ้นธุรกิจใหม่อย่าง se-ed learning center ที่เริ่มเปิดตัวแล้วด้วยครับ ว่าจะ success ได้มากน้อยแค่ไหน
ร้านนายอินทร์ก็คงประสบปัญหาเหมือนๆกันครับ
ผมก็บอกแบบนั้นมิใช่หรือ หรือว่าผมเขียนไม่เคลียร์
เยี่ยมครับ ..อยากให้พี่โจ๊ก เจาะลึกหุ้นแบบนี้ไปเรื่อยๆ ครับ เพื่อเป็นตัวอย่างและแนวทาง…หนึ่งในปัญหาหลักของนักลงทุนแนวพื้นฐาน ก็คือ ถึงแม้จะรู้หลักการลงทุนแล้ว แต่ยังไม่สามารถวิเคราะห์หุ้นเชิงคุณภาพรายตัว หรือมองจุดสำคัญๆที่เป็นตัวแปรสำคัญของธุรกิจได้
– พี่โจ๊กจะทยอยเขียนถึงบริษัทอื่นๆ ด้วยใช่มั้ยครับพี่? ^^
/ ขอบคุณมากครับ
กะว่าช่วงนี้จะเขียนเดือนละสองตัวโดยประมาณครับ
แต่ถ้าหากเกิดผลกระทบต่อราคาหุ้นก็อาจจะเลิก
ชอบมาก
จริง ๆ ชอบตลาดทีวีที่แม้เป็น niche แต่ก็ทำกำไรงามได้เหมือนกันนะครับถ้ามี fan base หนาแน่น อย่าง food network ในอเมริกานี่น่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีมาก
ขอบคุณสำหรับบทความดี ๆ ครับ