Skip to content

297: การเติบโตของ SCG

ในบรรดาบริษัทขนาดใหญ่ในประเทศไทย SCG (ตัวย่อ SCC) ดูเหมือนจะเป็นหนึ่งในกลุ่มบริษัท ที่ใช้การขยายธุรกิจไปยังภูมิภาคอาเซียน ตามธีม AEC ในการสร้างการเติบโต แบบเอาจริงเอาจังมากที่สุดบริษัทหนึ่ง

ตรงนี้ ผมมองว่า มีเหตุผล อยู่เหมือนกัน เพราะ SCG เป็นบริษัทอยู่ในประเทศไทยมานับร้อยปีแล้ว การขยายธุรกิจในไทยให้ได้การเติบโตแบบเป็นกอบเป็นกำ ค่อนข้างยาก สายธุรกิจหลักของ SCG ได้แก่ ปิโตรเคมี ปูนซีเมนต์ กระดาษ และกระเบื้อง ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่คนไทยบริโภคมานานแล้ว ตลาดไทยจึงค่อนข้างอิ่มตัว

ครั้นจะ go Global ไปเลย ก็มีข้อกำจัด เพราะธุรกิจหลายอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปูนซีเมนต์ มีความเป็น Local สูงมาก การส่งออกปูนซีเมนต์ไปขายไกลๆ นั้นแข่งขันได้ยาก เพราะค่าขนส่งต่อมูลค่าสินค้าสูงมาก ปูนเป็นธุรกิจที่จริงๆ แล้วต้องไปเปิดโรงงานในทุกประเทศที่ต้องการเข้าไปขายด้วยซ้ำ ถ้าหากจะส่งออกก็ต้องส่งไปประเทศเพื่อนบ้านเป็นหลัก ด้วยเหตุผลเหล่านี้ การ go AEC จึงเป็นยุทธศาสตร์ที่เหมาะกับ SCG

จะว่าไปแล้ว การที่ SCG เริ่มชูจุดขายเรื่อง go AEC มากขึ้นเรื่อยๆ นั้น ยังดีกว่า เรื่อง Innovative เสียอีก เพราะสินค้าของ SCG ไม่ใช่สินค้าแนว Innovative เท่าไร และส่วนใหญ่ก็ต้องยอมรับว่าเราเป็นผู้ใช้เทคโนโลยี ไม่ใช่ผู้สร้างเทคโนโลยีในกลุ่มสินค้าเหล่านี้ ยุทธศาสตร์ Innovative อาจเป็นแค่แคมเปญที่ช่วยเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรที่ค่อนข้าง Bureaucratic ของ SCG ซึ่งก็เป็นสิ่งดี แต่ผลในทางปฏิบัติจริงๆ คงมองเห็นได้ยาก เป็นการตลาดซะเยอะ (คหสต)

ปัจจุบันนี้ SCG มีสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศ (ส่งออก + ธุรกิจของบริษัทลูกในต่างประเทศ) 30% ของรายได้รวมแล้ว แต่ในส่วนนี้เป็น ASEAN เกินครึ่งคือ 18% ของรายได้รวม ซึ่งที่จริงแล้ว การเติบโตหลักจะมาจาก ASEAN ในส่วนของบริษัทลูกใน ASEAN (ASEAN Operations) มากกว่าการส่งออกไป ASEAN ซึ่งตอนนี้ ASEAN Operations คิดเป็น 8% ของรายได้รวม แต่กำลังโตขึ้นด้วยอัตราเฉลี่ย +26% ต่อปี ในรอบหกปีที่ผ่านมา ถึงเป็นส่วนหลักที่ช่วยดึงการเติบโตรวมให้สูงขึ้นได้ เพราะลำพังการเติบโตของรายได้จากธุรกิจในประเทศไทยอย่างเดียว ต้องถือว่าช้าเกินไป (รายได้รวมของ SCG ในช่วงห้าปีที่ผ่านมาโตได้เพียง 8.6% ต่อปีเท่านั้น)

ดังนั้นสิ่งที่จะผลักดันการเติบโตของ SCG ต่อไปในอนาคตก็คือการขยายธุรกิจไปยัง ASEAN เป็นหลัก ซึ่งลำพังการส่งออกไปอาเซียนอย่างเดียวก็จะไม่พอด้วย เพราะสินค้ามีข้อจำกัดในการส่งออกค่อนข้างมาก SCG จะต้องเน้นการไปตั้งธุรกิจในประเทศเพื่อนบ้านเลย ซึ่งถ้าเป็นประเทศ CLMV นั้น การไปตั้งโรงงานใหม่ (Green Field Operation) เป็นกลยุทธ์ที่เหมาะ เพราะตลาดยังใหม่อยู่ แต่ถ้าหากเป็นประเทศที่เรามีศักยภาพใกล้เคียงกับเขา หรือตลาดในประเทศนั้นอิ่มตัวเหมือนๆ กับเรา กลยุทธ์การเข้าซื้อกิจการ (M&A) จะเป็นวิธีขยายตัวที่ดีกว่า เพราะไม่ก่อให้เกิดการแข่งขันแย่งลูกค้ากันมากเกินไป

ASEAN Operations และ M&A จึงเป็นหัวใจในการเติบโตของ SCG ในช่วงห้าปีข้างหน้า ซึ่งตอนนี้ ASEAN Operations ยังเล็กอยู่ ทำให้ยังสร้างการเติบโตให้รายได้รวมให้สูงกว่า 10% ต่อปีไม่ได้ แต่ถ้า ASEAN Operations ยังรักษาการเติบโตให้อยู่ในระดับสูงแบบนี้ต่อไปได้โดยต้องไม่สะดุดด้วย เมื่อขนาดเริ่มใหญ่ขึ้น ก็จะเริ่มส่งผลต่อรายได้รวมของ SCG ให้โตเกิน 10% ได้ในที่สุด

ปัจจุบันนี้ SCG มีการลงทุนในอินโดนีเซียมากที่สุดในกลุ่มอาเซียน ($980Mil) รองลงมาคือเวียดนาม ($420Mil) สองประเทศนี้รวมกันก็เกิน 75% ของการลงทุนในอาเซียนทั้งหมดแล้ว โดยเป็นทั้งปูนและปิโตรเคมี มีกระดาษบ้าง ซึ่งในเวลานี้ถือว่า SCG มีกำลังการผลิตปูนเป็นอันดับสองของอาเซียน และปิโตรเคมีในส่วนปลายน้ำเป็นอันดับหนึ่ง และแผนซื้อกิจการในอาเซียนก็ยังมีให้เห็นอีกอย่างต่อเนื่อง

การเติบโตของ SCG นั้นวิเคราะห์ได้แต่รายได้ เพราะกำไรนั้นจะผันผวนรุนแรงตามวัฏจักรปิโตรเคมี เช่น ปิโตรเคมีในเวลานี้มีสัดส่วนรายได้ถึง 50% ของรายได้รวมในเวลานี้ แต่ในช่วงวัฏจักรขาลง อาจแทบไม่มีกำไรเลย ทำให้มีสัดส่วนในกำไรรวมแค่ 1% เท่านั้น แต่ในปีที่ปิโตรเคมีดี อาจสร้างกำไรได้เกิน 50% ของกำไรรวมเลยทีเดียว ความผันผวนของวัฏจักรปิโตรเคมีจึงเป็นความเสี่ยงสำคัญที่สุดที่ผู้ถือหุ้น SCG จะต้องแบกรับ เพราะรายได้อาจโตได้ปีละ 10+% แต่กำไรก็อาจจะเหวี่ยงขึ้นเหวี่ยงลงโดยไม่เกี่ยวกับรายได้เลยก็ได้ แต่ถ้าหากไม่มีปิโตรเคมี SCG ก็คงโตไม่ได้ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา เพราะลำพังธุรกิจปูนซีเมนต์อย่างเดียว โตไม่ได้แน่นอน (เมกะโปรเจ็ค อาจทำให้ปูนโตหวือหวาได้ แต่ก็ไม่ใช่ปัจจัยการเติบโตที่ยั่งยืน) ยิ่งในส่วนของธุรกิจกระดาษนั้น โดยส่วนตัวผมเห็นว่ายิ่งโตให้น้อยจะยิ่งดี เพราะ counter-megatrend อยู่พอสมควร

SCG มองว่าปิโตรเคมีเป็นวัฏจักรรอบละ 7-8 ปี และ ณ เวลานี้เราน่าจะอยู่ประมาณปีที่ 3 ของขาขึ้น หมายความว่า น่าจะดีขึ้นอีกได้สัก 3-4 ปี

โดยสรุป ผมจึงให้อัตราการเติบโตของรายได้ SCG เฉลี่ยเพียงแค่ระดับ 10% ต่อปี ในช่วง 3 ปีข้างหน้าเท่านั้น เพราะ ASEAN operations ในสามปีข้างหน้ายังเล็กอยู่เมื่อเทียบกับรายได้รวม จึงยังช่วยสร้างการเติบโตรวมได้น้อย และตัวเลขนี้ค่อนข้างจากเป็น best case แล้วด้วย  (ASEAN Expansion จะต้องทำได้อย่างต่อเนื่อง และให้ผลลัพธ์ที่ดีตามคาด) การเติบโตของรายได้ระดับ 10% นั้น ถือว่ายังไม่น่าสนใจพอสำหรับ Growth Investing ในขณะที่ความเสี่ยงของวัฏจักรปิโตรเคมีก็มีสูง ดังนั้นหากใครสนใจลงทุน SCG จริงๆ ก็ควรซื้อที่ Valuation ต่ำๆ (เว้นแต่ SCG จะมีการทำ M&A ที่เป็นดีลที่ใหญ่มากๆ เท่านั้น ซึ่งนั่นคงเป็นได้แค่การ speculate เท่านั้น)

การบริโภคปูนในประเทศ (Domestic) โตช้ามาก ตอนนี้ยังต่ำกว่าปี 1997 เลย

การบริโภคปูนในประเทศ (Domestic) โตช้ามาก ตอนนี้ยังต่ำกว่าปี 1997 เลย

ถ้าเทียบเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาด้วยกัน ไทยถือว่าบริโภคปิโตรเคมีเยอะแล้ว ตลาดจึงค่อนข้างอิ่มตัวกว่าเพื่่อนบ้าน

ถ้าเทียบเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาด้วยกัน ไทยถือว่าบริโภคปิโตรเคมีเยอะแล้ว ตลาดจึงค่อนข้างอิ่มตัวกว่าเพื่่อนบ้าน

[คำเตือน: การเขียนถึงบริษัทใดๆ มิได้แปลว่า ผู้เขียนเห็นว่าบริษัทนั้นน่าลงทุนเสมอ ผู้เขียนต้องการนำเสนอทั้งด้านบวกและลบของแต่ละธุรกิจ ซึ่งบริษัทนั้นอาจจะน่าลงทุนหรือไม่ก็ได้ แล้วแต่มุมมองของแต่ละบุคคล]

Tags:

14 thoughts on “297: การเติบโตของ SCG”

  1. ขอบคุณครับ

    scc ไปสร้างโรงงานปูนในกัมพูชา พม่า สองประเทศเองมังครับ

    1. ควรสร้างรง.ปูนใหม่เฉพาะ CLMV ถ้าเป็นประเทศอื่นๆ การเข้าไปซื้อกิจการน่าจะดีกว่า เพราะกำลังการผลิตในตลาดมักจะล้นอยู่แล้ว

  2. พี่โจ๊กครับ การที่ scg เข้าไปถือหุ้นใน global จะทำให้ รายได้มีการเติบโต และมีเสถียรภาพ มากขึ้นไม๊ครับ พอจะมาชดเชยความผันผวนของราคาปิโตรเคมีได้มากน้อยแค่ไหนครับ แล้ว global ก็คงบุก CLMV เหมือนกัน

    1. ก็ช่วยได้ครับ แต่ก็ยังไม่มีนัยสำคัญอยูดี เพราะ SCC ถือ Global 30% ปีนึง Global กำไร 600 ล้าน ก็เท่ากับ SCC ได้แบ่งกำไร 200 ล้าน แต่ปีนึง SCC กำไร 23000 ล้าน ก็เท่ากับ มีส่วนช่วยเพิ่มกำไรแค่ 0.8% เท่านั้น

      ปัญหาของ SCC คือ ฐานมันใหญ่เกินไป ทำให้หาช่องทางขยายที่มีนัยสำคัญมากพอไม่ได้

  3. ขอนอกประเด็นสักนิดหน่อย ไม่ทราบว่า คุณสุมาอีได้ติดตามเรื่องราวของ ไทวัสดุบ้างมั้ยครับ
    เท่าที่ผมตามๆอยู่ บ. นี้ มีการเปิดสาขาไปได้หลายสิบสาขาแล้วครับ ( 30 ) ผมคิดว่าเป็นคู่แข่งทีน่ากลัวโดยตรงต่อโกลบอลเลยนะครับ

  4. ตรงนี้มองว่าขึ้นอยู่กับช่องว่างในตลาดว่ายังเหลืออยู่มากแค่ไหน เช่น ยังมีพื้นที่ที่ยังไม่มีร้านแบบนี้ในประเทศไทยแต่มีศักยภาพที่จะเปิดได้เหลือมากแค่ไหน อัตราการเติบโตของตลาดโดยรวมสูงหรือไม่

    ถ้าหากยังมีช่องว่างอยู่ ทั้ง Global, ไทวัสดุ และ Mega Home (by Homepro) ก็ยังสามารถโตไปด้วยกันได้ แต่ถ้าหากตลาดโตน้อยลง หรือ mature มากขึ้น ถึงจะเกิดปัญหาแย่งส่วนแบ่งตลาดกันครับ

    เชื่อว่าช่องว่างน่าจะยังมีอยู่ครับ แต่จะอีกกี่ปีอันนี้คงยังไม่มีใครบอกได้

  5. ทำไมพี่นรินทร์จึงมองว่า ธุรกิจกระดาษ เป็น counter megatrend ครับ และ scg ควรเลิกลงทุนด้านนี้หรือค่อยๆเลิกธุรกิจนี้ไปในอนาคตหรือไม่ครับ

  6. สหรัฐบริโภคกระดาษน้อยลงตั้งแต่ปี 2001 แล้ว คิดว่าในอนาคตทั่วโลกก็จะเป็นเทรนด์เดียวกันครับ

    อย่างไรก็ตาม สำหรับกระดาษที่ใช้ทำบรรจุภัณฑ์ก็น่าจะยังมีการใช้เพิ่มได้อยู่ ถ้าหาก SCC โฟกัสให้ถูกเซ็กเมนต์ ก็ทำต่อไปได้ครับ

    รู้สึกว่าล่าสุด SCC จะเพิ่งขายหุ้นส่วนหนึ่งของ SCG Paper ให้ญี่ปุ่น

    http://www.scg.co.th/th/08news_release/01_news/detail.php?ContentId=2692

  7. คิดอย่างไรกับปูนซีเมนต์นครหลวง (SCCC) ที่มีขนาดเล็กกว่าบ้างครับ ขอบคุณครับ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *