Skip to content

291: Stock Strategies ของ Gurufocus

http://divineeconomy.wordpress.com/2011/01/04/your-average-broker-couldnt-be-a-trader-in-a-million-years-michael-marcus-market-wizard/

พอดีไปเห็นบริการหนึ่งของ Gurufocus.com มีอะไรที่น่าคิดดีเลยอยากนำมาแชร์กันครับ

เว็บนี้เขามีบริการ

เลือกหุ้นเข้าพอร์ตโดยอาศัยกลยุทธ์ยอดนิยมต่างๆ โดยที่นักลงทุนที่ต้องการใช้กลยุทธ์เหล่านั้นไม่ต้องไปนั่งขุดตัวเลขเอง แต่เขาจะทำ model แทนให้ แล้วบอกมาเลยว่า ต้องซื้อตัวไหนบ้าง ถ้าต้องการลงทุนตามกลยุทธ์ที่ชอบ

กลยุทธ์ที่มีให้เลือกมีเกือบ 20 กลยุทธ์ ตัวอย่างเช่น ถ้า CEO ซื้อ ให้ซื้อตาม (อันนี้บ้านเราทำกันเยอะ), ซื้อหุ้นที่ Analyst Consensus ปรับคำแนะนำเป็น “ซื้อ”, ซื้อหุ้น P/E ต่ำ, ซื้อหุ้น P/S ต่ำ หรือซื้อตามแนวทางของ Buffett, Graham, Greenbalt Magic Formular หรือโมเดลที่ Gurufocus คิดเอง ก็มี

ผลปรากฏว่า กลยุทธ์ซื้อตาม CEO ซึ่งเราว่าเด็ดๆ กันนั้น ในระยะยาวกลับแพ้ดัชนี S&P500 หลุดลุ่ย สงสัยว่าการ outsmart พวก CEO คงไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด แต่ก็น่าสนใจว่า การปรับกลยุทธ์นี้นิดหน่อย โดยซื้อตามผู้บริหารที่ซื้อพร้อมๆ กันหลายคน จะให้ผลตอบแทนที่ดีขึ้น และอาจชนะ S&P500 ได้ในบางช่วงเวลา แต่ก็ไม่ได้ชนะอย่างมีนัยสำคัญอะไรนัก

โมเดลสุดฮิตอย่างการซื้อหุ้น P/E ต่ำนั้น ยังชนะ S&P500 ได้จริง แต่ว่าส่วนต่างนั้นน้อยมากๆ (9% ต่อสามปีกว่า) แทบจะไม่มีความหมายอะไร แสดงให้เห็นว่า ตลาดหุ้นไม่ได้โง่ที่ปล่อยให้หุ้นบางตัวมีพีอีต่ำ แต่มันคงพยายามสะท้อนความไม่ดีบางอย่างของหุ้นเหล่านั้นไว้ในระดับหนึ่ง ทำให้เราไม่สามารถชนะตลาดได้ง่ายๆ แค่การดูว่าตัวไหนพีอีต่ำก็ซื้อ ในขณะที่ กลยุทธ์ซื้อหุ้น P/S ต่ำนั้น ทำผลงานได้ดีกว่าเกือบ 2 เท่า (15% ต่อสามปีกว่า) ตรงตามที่เคยมีการวิจัยออกมาว่า P/S เป็นเรโชที่ใช้เลือกหุ้นได้ดีกว่า P/E แต่ก็ไม่ได้มีนัยสำคัญมากนักอยู่ดี

กลยุทธ์ที่ทำผลงานได้ดีที่สุดในบรรดากลยุทธ์ที่ Gurufocus ให้บริการอยู่ มีชื่อว่า Buffett-Munger ซึ่งที่จริงแล้ว ก็ไม่ใช่การซื้อตามกูรูหุ้นทั้งสองคน แต่เป็นวิธีการคัดกรองหุ้นโดยใช้ PEG ratio อาจกล่าวได้ว่า การเลือกหุ้นโดยดู earning growth ประกอบด้วย ไม่ใช่ดูแค่ถูกหรืแพงอย่างเดียว น่าจะสะท้อนมูลค่าหุ้นได้ดีกว่าจริงๆ อีกโมเดลหนึ่งที่ได้ผลตอบแทนดีรองลงมาคือ โมเดลที่คิดโดย Gurufocus เอง ซึ่งเน้นหุ้นที่มีผลประกอบการที่แน่นอนเป็นหลัก แล้วใช้ DCF เป็นตัวหา undervalued stock ในกลุ่มนี้ อีกที

พอดีว่าผมไม่ได้เป็นสมาชิก เลยมองไม่เห็นผลตอบแทนครบทุกกลยุทธ์ แต่ Gurufocus โฆษณาว่า มีอยู่ 4 กลยุทธ์จากทั้งหมดที่มี track record ให้ชนะตลาด ผมจึงอนุมานเอาเองว่า กลยุทธ์อื่นที่เลือกหุ้นตามแนวทางของ Ben Grahams หรือ John Greenbalt คงไม่สามารถเอาชนะตลาดหุ้นได้

เห็นว่าเป็น real-world evidence ที่น่าสนใจดีเลยนำมาฝากกันครับ

13 thoughts on “291: Stock Strategies ของ Gurufocus”

  1. จะเกิดอะไรขึ้นถ้าคนส่วนใหญ่เลือกใช้กลยุทธ์ที่ให้ผลตอบแทนที่ดีที่สุด(อันดับ 1,2,3)

    ผมคิดว่าผลงานที่จะได้คงไม่เด่นเท่าไรเพราะมันเฟ้อ(คนใช้เยอะ) สุดท้ายทุกอย่างก็ต้องเข้าสมดุลของมันเอง

    พี่โจ๊กคิดว่ายังไงบ้างครับ?

  2. แน่นอนครับ ไม่ว่า strategy อะไร ถ้าหากมันถูกนำมาเผยแพร่จนเป็นที่รู้จักกันทั่วไป มันก็จะได้ผลน้อยลงเรื่อยๆ

    เพราะตลาดหุ้นคือคนจำนวนมากที่พยายามหาช่องว่างใดๆ ที่มีคนพบว่ายังทำกำไรได้อยู่

  3. I realized that successful investing is about knowledge, and about hard work. It is a life-long learning process. There is no other secret to successful investing.

    Charlie Tian, Ph.D.
    Founder, GuruFocus.com

  4. ผมว่า กลยุทธ์ในเวปพี่โจ้กนี่แหละเวริ์คสุดครับ ผมเคยเล่นแนวเทคนิคมาได้ปี สองปี พบว่าหลัง ๆ มีคนมาใช้ตามที่ผมเคยเรียนมากขึ้นเรื่อย ๆ แล้วพอถึงจุดที่จะซื้อ จะขายก็ดันทำพร้อม ๆ กัน .. สุดท้ายก็เลยกำไรกันนิดนึง (เพราะเห็นตรงกันเยอะ)

    ยังงี้เราควรภาวนาไม่ให้คนรู้กลยุทธ์พี่โจ้กเยอะ ๆ หรือเปล่านี่ 555

  5. ผมคิดว่ากลยุทธ์ของพี่โจ้กคนจะทำตามได้น้อยมากครับ ยิ่งgen-yใจร้อนด้วย คงไม่มีใครทำตามมากนักหรอกครับ…เพราะฉะนั้นเสร็จผม!!!

  6. พี่โจ๊กคับ การดู P/S นี่เราต้องมองภายในอุตสาหกรรมเดียวกันรึเปล่าคับ คือบางธุรกิจ เน้นvolumeการขายมากแต่marginบาง ซึ่งทำให้salesออกมาเยอะ P/S ก็อาจจะต่ำ เมื่อไปเทียบกับธุรกิจบางอย่างที่marginมาก Sales ไม่เยอะ ก็จะกลายเป็น P/S แพงกว่าธุรกิจแบบแรกไปมาก

    1. ควรดูครับ เพราะ stable margin ของธุรกิจที่เอามาเทียบต้องเท่าๆ กันถึงจะเทียบกันได้

  7. เมืองนอกเข้มงวดเรื่อง insider trading ครับ อาจทำให้ซื้อตามผู้บริหารไม่ค่อยช่วย

  8. อย่างนึงที่ผมกลัวเกี่ยวกับการใช้ P/S คือ ในช่วงฟองสบู่ดอทคอม มีการใช้อัตราส่วนนี้ในการบอกว่าหุ้นดอทคอมหลายๆตัวไม่แพง ทั้งๆที่หุ้นเหล่านี้ยังไม่ได้สร้างกำไรเลยด้วยซ้ำ (ไม่สามารถหาค่า P/E ได้) ผมจึงคิดว่า อัตราส่วนหลายๆตัวต้องดูประกอบกัน หรืออาจจะเป็นอย่างที่พี่โจ๊กบอกก็คือ เราควรจะดูที่คุณภาพธุรกิจเป็นหลักก่อนครับ

    1. บางครั้งหุ้นบางตัวไม่ได้สร้างกำไรในปัจจุบัน แต่รายได้เติบโตสูง เพื่อสร้างความได้เปรียบในตลาดก่อน เมื่อวันที่อุตสาหกรรมเข้าที่แล้ว บริษัทจะใหญ่กว่าเดิมมาก ตอนนี้เวลากลับมาเน้นทำกำไรก็จะได้มากกว่า การมอง P/S เหตุผลหนึ่งก็เพื่อใช้กับหุ้นจำพวกนี้แหละครับ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *