ธุรกิจหลัก และเป็นธุรกิจดั่งเดิม ของ TKS ด้วย คือ ธุรกิจรับงานพิมพ์ ซึ่ง TKS มีลักษณะที่แตกต่างจากโรงพิมพ์โดยทั่วไป เพราะ TKS จะเน้นตลาดงานพิมพ์ที่ต้องอาศัยเทคโนโลยีมากกว่าปกติ เช่น
ต้องมีเทคโนโลยีในการป้องกันการปลอมแปลงด้วย เช่น เช็ค คูปองบางอย่าง หรือแม้แต่บัตรเลือกตั้ง ซึ่งทำให้ TKS มีจำนวนคู่แข่งในตลาดน้อยลง ส่งผลให้มีมาร์จ้ินที่ดีกว่าโรงพิมพ์แบบธรรมดาทั่วไป อย่างไรก็ตาม TKS ก็มีธุรกิจที่รับงานพิมพ์แบบธรรมดาด้วย ซึ่ง TKS ก็จะสร้างความแตกต่างด้วยการให้บริการจัดเก็บให้ลูกค้าด้วย เพื่อช่วยสร้างมูลค่าเพิ่ม เพื่อให้ได้มาร์จิ้นที่สูงกว่า
แน่นอนว่า การทำธุรกิจงานพิมพ์ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ย่อมทำให้ลูกค้าของ TKS หลายราย เป็นลูกค้ารายใหญ่ เช่น ภาครัฐ หรือธนาคาร เป็นต้น ช่องทางจัดจำหน่ายในตลาดลักษณะนี้จึงต้องเป็นการ “วิ่ง” โปรเจ็ค หรือเข้าประมูล ทำให้รายได้ของ TKS แต่ละปีจะดีหรือไม่ ก็ต้องขึ้นอยู่กับว่าจะชนะกี่โปรเจ็คในปีนั้นๆ จึงมีความไม่แน่นอนของเป้ารายได้ในแต่ละปีค่อนข้างสูงอยู่ ยิ่งลูกค้าที่เป็นภาครัฐนั้น ความไม่แน่นอนยิ่งสูงมาก เพราะโปรเจ็คอาจจะเลื่อนแล้วเลื่อนอีก หรือล้มไปเลยก็เป็นไปได้บ่อย อีกทั้งยังต้องขึ้นอยู่กับงบประมาณแผ่นดินในแต่ละปีด้วยว่าจะมีการใช้จ่ายมากน้อยแค่ไหน อย่างไรก็ตาม หลายปีที่ผ่านมาก็ต้องถือว่า TKS สามารถสร้างรายได้รวมให้เติบโตขึ้นไปเรื่อยๆ ทุกปีได้
ในส่วนของมาร์จิ้นนั้นคือความไม่แน่นอนตัวจริง เพราะถ้าหากปีไหนได้งานประมูลใหญ่ โวลุ่มที่เกิดขึ้นย่อมช่วยเฉลี่ยต้นทุนคงที่ไปได้มาก ทำให้มาร์จิ้นออกมาดี แต่เมื่อไรก็ตามที่พลาดโปรเจ็คไปเยอะ งานน้อย เครื่องว่าง ค่าโสหุ้ยบางส่วนสูญเปล่า มาร์จ้ินก็จะวูบลง ทั้งที่รายได้เพิ่มขึ้นทุกปีก็ตาม แต่ก็ต้องถือว่ามาร์จ้ินของ TKS นั้นสูงกว่าธุรกิจงานพิมพ์ทั่วไป (เกิน 10% ทุกปี ซึ่งถือว่าสูงมากสำหรับโรงพิมพ์) สามารถรับแรงกระแทกเมื่อโปรเจ็คไม่เป็นไปตามคาดหมายได้ดีกว่าปกติ
นอกเหนือจากธุรกิจรับงานพิมพ์ที่เป็นธุรกิจหลักแล้ว TKS ยังถือหุ้น SYNEX ในสัดส่วน 39% ด้วย แต่เดิม SYNEX ก็เป็นบริษัทลูกของ TKS นั่นแหละ เนื่องจากในยุคหนึ่ง TKS เห็นโอกาสของการทำธุรกิจตัวแทนจำหน่ายสินค้าไอที ก็เลยเข้าสู่ธุรกิจนี้ และถึงจุดหนึ่งก็ได้มีบริษัท SYNEX ในไต้หวันที่ทำธุรกิจไอทีเป็นหลักเข้ามาร่วมทุนด้วย ซึ่งก็ต้องถือว่า TKS กระโดดเข้าสู่ธุรกิจนี้แล้วสามารถทำได้ค่อนข้างดี เพราะถือได้ว่าเป็นดิสทริบิวเตอร์ชั้นนำในวงการไอทีไทยเลยทีเดียว
ในช่วงปี 2009 TKS ได้มีการปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ โดยแยกธุรกิจไอทีออกจากธุรกิจการพิมพ์ให้ชัดเจน แล้ว spin-off SYNEX ออกไป โดยเข้าไปจดทะเบียนเป็นบริษัทในตลาดหุ้น โดยที่ TKS ยังคงถือหุ้นส่วนหนึ่งคือ 39% ซึ่งผลดังกล่าวทำให้ไม่มีการรวมงบธุรกิจไอทีเข้ามาในงบของ TKS อีกต่อไป แต่ใช้วิธี take equity แทน ส่งผลให้งบของ TKS มีรายได้หายไปมาก แต่มาร์จ้ินสูงขึ้นแบบชัดเจน เพราะธุรกิจค้าส่งไอทีเป็นธุรกิจที่มีมาร์จิ้นต่ำมากๆ เมื่อเทียบกับธุรกิจรับงานพิมพ์ของ TKS เอง ซึ่งถ้ามองย้อนกลับไป การแยก SYNEX ออกจากงบของ TKS เป็นเรื่องที่ดี เพราะทำให้งบของ TKS วิเคราะห์ง่ายขึ้น และช่วงหลังๆ ธุรกิจผู้ค้าส่งไอที ก็ไม่ถือว่าเป็นธุรกิจที่ดีนัก เพราะแม้ว่าสินค้าไอทีจะโตสูง แต่วิธีการทำธุรกิจของผู้ผลิตก็เปลี่ยนไปมาก เพราะหันมาเปิดร้านขายตรงถึงผู้บริโภคกันก็เยอะ ก็แยกงบออกมาก็ช่วยให้ตลาด Value ธุรกิจรับงานพิมพ์ของ TKS ได้มากขึ้น
โดยสรุป TKS เป็นบริษัทที่น่าสนใจในแง่ที่เป็นบริษัทมีกลยุทธ์การทำธุรกิจเสมอ เช่น พยายามเลือกตลาดที่มีคู่แข่งทำได้น้อย หรือถ้าเป็นตลาดแมสก็พยายามหาบริการเสริมมาเพิ่มมูลค่าให้ตัวเอง เวลาเข้าสู่ธุรกิจใหม่ก็มีประวัติการประสบความสำเร็จ ถือได้ว่าเป็นบริษัทที่เก่งบริษัทหนึ่ง อย่างไรก็ตาม จุดด้อยของ TKS คงจะเป็นการอยู่ในธุรกิจที่มีความไม่แน่นอนสูง รายได้เป็น project-based
(Disclaimer: การที่ผู้เขียนเขียนถึงหุ้นตัวใดตัวหนึ่ง มิได้หมายความว่า ผู้เขียนเห็นว่าหุ้นตัวนั้นน่าลงทุน ผู้เขียนต้องการนำเสนอทุกแง่มุมของหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งหุ้นนั้นอาจจะน่าลงทุนหรือไม่น่าลงทุนเลยก็ได้)
เป็นบริษัทเล็กๆที่มีทรัพย์สินแฝงมากเหมือนกันนะครับ
SYNEX 269.715 m หุ้น
TBSP 2.1879 m หุ้น
SVOA 9 m หุ้น
พี่โจ๊กเจอบริษัทนี้ได้ยังไงครับ?
แล้วอะไรเป็นจุดแรกที่ทำให้พี่สนใจบริษัทนี้หรอครับ?
เรียนตามตรงว่าไม่สนใจตัวนี้ เพราะยังดูคาดการณ์ยากเกินไปครับ
แต่อยากวิเคราะห์หุ้นเป็นตัวอย่าง และเห็นว่าเป็นตัวที่ไม่เข้าพวก เลยเหมาะจะมานำเสนอเป็นรายตัว ครับ
อย่างงี้นี่เอง ขอบคุณครับ 🙂
ขอบคุณสำหรับบทความดี ๆ ครับ