เร็วๆ นี้ เฟด จะทยอยลดมาตรการ QE ซึ่งจะค่อยๆ ทำไปเรื่อยๆ จนถึงกลางปีหน้า
ส่วนการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายนั้น กว่าเฟดจะเริ่มทำจริงๆ ก็อาจเป็นอีก 1-2 ปีถัดจากนี้
แน่นอนว่ากระบวนเหล่านี้ ย่อมต้องส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นทั่วโลกบ้างไม่มากก็น้อย เพราะที่ผ่านมา ตลาดหุ้นทั่วโลกได้รับอานิสงส์จากมาตรการเหล่านี้ไปไม่น้อย
แล้วโลกหลัง QE ล่ะจะเป็นอย่างไร?
ในมุมมองของผมนั้น แม้เศรษฐกิจสหรัฐจะกลับมาฟื้นตัวได้แล้ว แต่อัตราการเติบโตที่ระดับสมดุลใหม่ก็คงจะไม่สูงมากนักเมื่อเทียบกับก่อนเกิดวิกฤตซับไพรม์ เพราะไม่มีฟองสบู่สินเชื่อบ้านมาคอยกระตุ้นกำลังซื้อเหมือนในอดีต และภาครัฐของสหรัฐฯ เองก็ยังต้องมีหนี้สูงมากต่อไปอีกนาน ดอกเบี้ยนโยบายในยุคต่อไปจึงอาจสูงกว่าในเวลานี้ได้บ้าง แต่สหรัฐก็คงยังต้องใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยที่ค่อนข้างต่ำต่อไป เพื่อช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายและช่วยลดภาระการจ่ายดอกเบี้ยหนี้ให้แก่ภาครัฐ
ประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ ก็คงมีสภาพที่ไม่ต่างกันมากนัก ทั้งสหภาพยุโรปที่คนแก่ตัวลง ทำให้รัฐจัดเก็บภาษีได้น้อยลง แต่กลับมีรายจ่ายสวัสดิการมากขึ้นไปเรื่อยๆ ก็ทำให้ รัฐจำเป็นต้องคงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับต่่ำ เพื่อพยุงฐานะการเงินของภาครัฐ และช่วยแก้ไขปัญหาสถาบันการเงินต่อไปด้วย ญี่ปุ่นก็เช่นกัน อันที่จริง ญี่ปุ่นอยู่ในสภาวะดอกเบี้ยต่ำถาวรมาตั้งนานแล้ว ก่อนจะเกิดวิกฤตซับไพรม์เสียด้วยซ้ำ และปัจจัยต่างๆ ยังไม่ได้เปลี่ยนไปจากเดิมเท่าไรนัก ทำให้ญี่ปุ่นยังต้องเป็นประเทศดอกเบี้ยต่ำเหมือนเดิม
ดังนั้น อัตราดอกเบี้ยโลกยุคหลัง QE อาจสูงขึ้นกว่าเวลานี้บ้าง แต่ก็ยังต้องอยู่ในระดับที่เรียกว่า “ต่ำ” ต่อไป เราอาจมองประเทศพัฒนาแล้วทั้งหมดเป็นคล้ายกับๆ ประเทศญี่ปุ่นในช่วงยี่สิบปีล่าสุดที่อัตราดอกเบี้ยต่าถาวร และเงินเฟ้อก็ต่ำมากหรืออาจถึงขั้นติดลบ การที่เศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้ไม่ได้เติบโตมากนัก ยิ่งทำให้ธนาคารกลางของประเทศเหล่านี้ ไม่มีแรงกดดันให้ต้องขึ้นดอกเบี้ย การใช้นโยบายดอกเบี้ยต่ำต่อไปเพื่อช่วยเศรษฐกิจของตัวเองและลดภาระดอกเบี้ยจึงไม่มีอุปสรรคมากนัก
ประเทศกำลังพัฒนาอาจได้รับผลกระทบจากการที่เศรษฐกิจของประเทศที่พัฒนาเหล่านี้เติบโตไม่ดีในยุคต่อไป แต่ยังไงเสีย ประเทศกำลังพัฒนาก็คงมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงกว่า โดยกำลังซื้อจากผู้บริโภคภายในประเทศจะเริ่มมีบทบาทมากขึ้นตามการขยับขึ้นของวิถีชีวิตของคนในประเทศเหล่านี้แทนที่การส่งออกอย่างสมัยก่อน และในเมื่อดอกเบี้ยของประเทศพัฒนาแล้วก็ต่ำจะทำให้กระแสทุนของโลกไหลเข้าสู่ประเทศกำลังพัฒนาอีกเช่นเดิม (Carry Trade)
ดูแล้วโลกยุคหลัง QE ตลาดหุ้นเกิดใหม่ก็ยังเป็นจุดที่น่าลงทุนมากที่สุดโดยเปรียบเทียบอยู่ดี แต่จะมีการบริโภคและการลงทุนในประเทศเป็นแรงผลักดันหลักร ย่ิงถ้าหากเป็นประเทศเกิดใหม่ที่ภาครัฐฯ มีฐานะทางการเงินที่ดีด้วย ยิ่งน่าสนใจ เพราะจะเป็นประเทศที่ยังมีเครื่องมือในการบริหารจัดการและกระตุ้นเศรษฐกิจได้อีกมาก ประเทศกำลังพัฒนาที่มีขนาดกลางๆ หลายประเทศดูน่าสนใจไม่แพ้ประเทศจีนและอินเดีย หรืออาจจะดูน่าสนใจมากกว่าด้วยซ้ำ ถ้าหากมีนโยบายที่เอื้อต่อการทำธุรกิจและการลงทุนที่ดี ซึ่งก็น่าจะรวมทั้งประเทศไทยด้วย
ถ้ามองดูตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ด้วย สินค้าโภคภัณฑ์ในยุคหลัง QE ไม่น่าจะบูมมากเท่ากับสมัยก่อน เพราะเศรษฐกิจโลกคงไม่ได้เติบโตร้อนแรงขนาดนั้น ทำให้ โอกาสที่จะเกิดภาวะตึงตัวของอุปทานแบบเดิมจึงมีน้อยกว่า เมื่ออุปทานกับอุปสงค์โตทันกัน ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ก็อาจแค่ไปได้เรื่อยๆ เท่านั้น ไม่หวือหวา การพิมพ์เงินก็คงไม่มีแล้วในระยะเวลาอันสั้น เพราะดูแล้วมีแต่ละลดลงมากกว่า ทั้งหมดนี้จึงยิ่งทำให้ตลาดทุนของประเทศเกิดใหม่ยิ่งดูน่าสนใจมากขึ้นอีก เพราะตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ซึ่งเป็นตัวเลือกอีกตัวหนึ่งไม่ได้ดูน่าสนใจมากนักโดยการเปรียบเทียบ
ผมจึงมีความเชื่อลึกๆ ว่า ตลาดหุ้นของประเทศกำลังพัฒนา (ซึ่งน่าจะรวมตลาดหุ้นไทยด้วย ถ้าเราไม่บังเอิญมีปัญหาอื่นที่เป็นเรื่องเฉพาะของตัวเอง) ยังมีอนาคตที่สดใสอยู่ในระยะยาว หรืออย่างน้อยที่สุดก็น่าจะเป็นทางเลือกของที่พักเงินที่ไม่แพ้ทางเลือกอื่นๆ ในช่วงต่อไป (คือถ้าสมมติว่า ซวยจริงๆ สินทรัพย์ทุกชนิดแย่กันหมด ตลาดหุ้นเอเชียก็น่าจะแย่น้อยกว่าเพื่อน) แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ความผันผวนระยะสั้นในระดับสูงก็ยังต้องมี เพราะเป็นธรรมชาติของตลาดหุ้นเกิดใหม่อยู่แล้ว
แต่ตอนนี้ มันต้องผ่านช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว และการลด QE ที่กำลังจะเกิดขึ้นไปให้ได้ก่อน
ขอบคุณครับ
ถ้าเราคิดที่จะไม่ออกไปจากตลาดหุ้นอย่างถาวรไปเลย ซึ่งลินซ์ก็ไม่แนะนำ
ควรใช้เทคนิคการทยอยรับซื้อ เมื่อราคาหุ้นที่เราสนใจย่อตัวลงมา พอจะได้มั้ยครับ
แต่ว่า เงินเราก็มีในจำนวนที่จำกัดด้วยนะซิครับ
ขอบคุณครับพี่ ชอบเนื้อหาครับ(ถูกหรือผิดนี่อีกเรื่องหนึ่ง) แต่ที่ชอบมากกว่าคือtimingของบทความนี้…สุดยอดครับพี่
ถ้าลงทุนในกองทุนพันธบัตรของประเทศกำลังพัฒนาไว้ ควรจะรอ หรือถึงจุดวิกฤติต้องรีบขายออกคะ มันลงไป 11 % เเล้ว (นับจากต้นทุน)
กองทุนพันธบัตรต่างประเทศระยะยาว ยังไงก็คงต้องขาดทุนถาวร ไปส่วนหนึ่ง เพราะดอกเบี้ยขาขึ้นทั่วโลก ราคาพันธบัตรต้องลดลง นี่แหละคือความเสี่ยงของตราสารหนี้ระยะยาว
แต่ส่วน -11% นี่ลงมาเยอะพอหรือยัง หรือว่ายังลงได้อีก อันนี้คำนวณยากมาก คือเราต้องคาดการณ์ได้ว่า ดอกเบี้ยพันธบัตรในอนาคตจะขึ้นไปได้มากแค่ไหน ราคาพันธบัตรในปัจจุบันจะต้องลดลงเพื่อให้ yield ของมันสูงขึ้นมาสมน้ำสมเนื้อกับอัตราดอกเบี้ยใหม่ ซึ่งผมไม่กล้าฟันธงให้จริงๆ
เงินทุนไหลออกจากอินเดีย จนทำให้เกิดปัญหาสภาพคล่องภายในประเทศตึงตัว รัฐบาลต้องออกมาตการจำกัดการนำเงินออกนอกประเทศ
http://www.economist.com/news/finance-and-economics/21584010-why-india-particularly-vulnerable-turbulence-rattling-emerging
ขอบคุณมากๆครับพี่โจ๊ก
ถ้ามองญี่ปุ่นเป็นโมเดลของประเทศที่พัฒนาแล้ว และแทบไม่เหลือช่องว่างให้เศรษฐกิจเติบโตอีก คงดอกเบี้ยต่ำมานานเป็นทศวรรษ ..ประเทศอย่าง อเมริกา หรือยุโรป ถึงเศรษฐกิจจะฟื้น ก็น่าจะฟื้นจากจุดต่ำสุด(ที่วิกฤติเศรษฐกิจ) มากกว่าใช่มั้ยครับพี่?… อย่างที่บอกกันว่าเงินไหลกลับไปอเมริกา ยุโรป จากที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้น ก็คงเป็นแค่ระยะเวลานึงเท่านั้น?
เพราะเมื่อเทียบกับประเทศกำลังพัฒนาแล้ว อย่างไทยเราเอง ที่มีโครงการ 2 ล้านๆ และความเจริญที่กำลังกระจายไปต่างจังหวัดอีกหลายจังหวัด หรืออย่างจีน ที่ยังมีช่องว่างให้พัฒนาเติบโตอีกมหาศาล เงิน Dollar ,Yen, Carry trade ระยะยาวจริงแล้วๆก็น่าจะไหลเข้า emerging market อยู่นะครับพี่ ^^
ควรจะเป็นแบบนั้นนะครับ แต่นั่นคือหลังจากที่ต่างชาติขนเงินที่หนี QE มากลับคืนสู่สหรัฐฯ หมดแล้วนะครับ แล้วค่อยมาตั้งต้นกันใหม่แบบนั้น
SET ที่ 1300 ต้นๆ ตอนนี้ ผม”เดา”ว่า เราลงมาเกินครึ่งทางแล้วครับ แต่เป็นครึ่งทางต้นๆ หรือปลายๆ นั้นไม่กล้าเดาจริงๆ
ถ้าใครมีหุ้นที่ยังไม่ได้ขาย แล้วเกิดจะมาอยากขายเอาหลังจากนี้ เพราะรู้สึกถอดใจ ผมมองว่า มันไม่ค่อยได้ประโยชน์แล้ว เพราะ downside มันอาจจะยังมีอยู่ แต่ว่ามันไม่เยอะแล้ว ถ้าเป็นหุ้นของบริษัทที่ดีๆ ทนถือไปจะดีกว่า
สิ่งที่สำคัญกว่าคือเราได้บทเรียนอะไรบ้างจากหนนี้ ตอนที่หุ้นขึ้นๆๆๆๆ อย่างเดียว เราได้เผลอใจซื้อหุ้นพื้นฐานเน่าๆ แต่เห็นว่าราคามันวิ่งดี ก็เลยอดใจไม่ไหวเข้าไปเล่น หรือว่าซื้อหุ้นดีๆ โดยไม่สนใจเลยว่าราคามันแพงเกินไปรึเปล่า เพราะเห็นว่าหุ้นแพงๆ วิ่งมากกว่าก็เลยซื้อๆ ไป พฤติกรรมแบบนี้มันจะมาทำให้เราบาดเจ็บเอาทีเดียวตอนตลาดหุ้นมัน crash ลงมา เพราะถ้าเราเผลอออกไม่ทัน สิ่งที่เราเหลืออยู่เต็มพอร์ตคือหุ้นเน่าๆ ที่ไม่ได้มีธุรกิจจริงๆ รองรับให้ทนถือต่อไปได้ หรือหุ้นที่ดีมากแต่ตลาดปรับ valuation ลงมาครั้งใหญ่ เพราะภาวะตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้เราต้องขาดทุนถาวรไปส่วนหนึ่ง
ถ้าหากรอบหน้าเราไม่ได้ติดกับดักเดิมๆ เหล่านี้อีก เพราะว่าเราได้เรียนรู้อะไรจากรอบนี้ นั่นแหละถึงจะเรียกว่า เราเก่งขึ้น ซึ่งผมมองว่ามันมีค่ามากยิ่งกว่าได้เงินเสียอีก แต่ถ้ารอบหน้าเราก็ติดกับดักแบบเดิมอีก เพราะไม่เรียนรู้อะไรเลย อย่างนั้นก็เป็นเรื่องน่าเศร้าที่สุดครับ
ชอบ Comment ด้านบนนี้ครับ เป็นกระจกส่องตัวผมได้ชัดเจนมาก เพราะตอนนี้ได้หุ้นที่ดีมากแต่ตลาดปรับลงมาครั้งใหญ่ ขาดทุนถาวรเลยครับ
หากรู้จักจังหวะมากกว่านี้ น่าจะมีกำไรอีกเท่าตัว
แต่สิ่งที่ได้ เห็นด้วยอย่างยิ่งครับ “ประสบการณ์” สำหรับมือใหม่หัดลงทุนอย่างผม
ขอบคุณพี่นรินทร์มากครับ
ชอบcommentข้างบนของคุณโจ๊กเหมือนกันครับ
วันนี้มีการอัพเดทรายชื่อผถห.ใหม่ของ CPALL
http://www.set.or.th/set/companyholder.do?symbol=CPALL&language=th&country=TH
ปรากฏว่า ณ วันที่ 23/8/56 ดร.นิเวศน์ไม่ได้ขายหุ้นออกไปเลย ตามที่บางคนเคยสงสัยกัน 0.5% ครบ (แต่หลังจาก 23 ผมไม่รู้นะ)
ที่เอามาให้ดูนี่ไม่ได้มาสร้างที่ยึดเหนี่ยวทางใจนะครับ แต่อยากชี้ประเด็นอะไรบางอย่างว่า ทำไม ดร.นิเวศน์ไม่เลือกที่จะขายหุ้นหนีทุกครั้งที่เกิดวิกฤต ขนาดหนนี้ CPALL ลดลงมากจาก 50 กว่าบาท และก็ไม่ใช่หนนี้เท่านั้น แต่ครั้งก่อนๆ ด้วย แต่ทำไม ดร.จึงไม่เคยเจ็ง แถมก็ยังรวยขึ้นเรื่อยๆ อีกต่างหาก
แต่มาลองดูหลายๆ คนที่มีความเชื่อว่า หุ้นไทยจะต้องขายหนีวิกฤตเท่านั้น ถึงจะรวย ทำไม ตอนนี้หลายคนก็ไม่เห็นว่าจะรวยได้จากรอบนี้ แต่กลับขาดทุนหนักๆ กัน
การลงทุนมันมีอะไรมากกว่าการเทรดหุ้นหรือเปล่า ฝากเป็นข้อคิดไว้ครับ
ขอบคุณสำหรับบทความดี ๆ ครับ
ดัชนีความเสี่ยงปัญหาสภาพคล่องของประเทศต่างๆ ในเวลานี้
http://www.economist.com/news/finance-and-economics/21584993-which-emerging-markets-are-most-vulnerable-freeze-capital-inflows-stop
ของไทยอยู่ในระดับกลางไปทางต่ำ