Skip to content

MC ทำธุรกิจหลัก คือ เป็นเจ้าของสินค้ายีนส์ยี่ห้อ Mc ซึ่งเป็นแบรนด์ไทยที่มีส่วนแบ่งตลาดอันดับหนึ่งในประเทศ (ส่วนยี่ห้อ Levis นั้นตามมาเป็นอันดับสอง)

ในมุมมองส่วนตัวของผมนั้น ผมคิดว่า ปัจจัยสำคัญที่สุด ที่ทำให้ยีนส์ไทยยี่ห้อนี้มีส่วนแบ่งตลาดสูงสุดในประเทศ เหนือยี่ห้อเทศอย่าง Levis ได้นั้น น่าจะเป็นเพราะ การเน้นการมีช่องทางจัดจำหน่ายที่ทั่วถึงมากที่สุด เป็นปัจจัยหลัก เพราะ Mc มี outlet ทั้งของตัวเอง และแบบที่วางอยู่ในแผนกเสื้อผ้าของห้างสรรพสินค้าต่างๆ มากถึง 547 โลเคชั่น ซึ่งทิ้งห่างอันดับสองคือ Lee ที่มีเพียง 160 จุดขายเท่านั้น เพราะลำพังการสร้างแบรนด์อย่างเดียว แบรนด์ไทยคงสู้แบรนด์ต่างประเทศอย่าง Levis ไม่ได้ (อันเป็นพฤติกรรมของผู้บริโภคคนไทย) ส่วนการทำราคาอย่างเดียวนั้น คงสร้างความแตกต่างระหว่างแบรนด์ไทยด้วยกันซึ่งมีหลายยี่ห้อให้ชัดเจนได้ยาก ช่องทางจัดจำหน่ายจึงเป็นกลยุทธ์สำคัญ

ผมมองว่า แบรนด์เสื้อผ้าไทยในเวลานั้นทั้งหมด มีภัยคุกคามที่สำคัญมากคือ เทรนด์การเกิดขึ้นของพวก Street brand ระดับโลก เช่น H&M Uniqlo Forever 21 เป็นต้น เพราะสินค้าพวกนี้มีข้อได้เปรียบตรงแบรนด์ที่เป็นสากล แต่ในเวลาเดียวกันก็ทำราคาให้ได้อยู่ระดับที่ mass มีกำลังซื้อได้ จึงกลายเป็นสินค้าทดแทนที่น่ากลัวมากของพวกแบรนด์ไทยต่างๆ ตรงจุดนี้ถือว่่า Mc มีความกระตือรือร้นที่จะปรับตัวเพื่อปกป้องความเสี่ยงตรงนี้หากดูจากช่วงสามปีที่ผ่านมาที่ลุกขึ้นมา active มากขึ้น และในทางตรงกันข้าม เราก็ยังไม่รู้ว่าภัยคุกคามนี้จะรุนแรงมากขึ้นแค่ไหนในอนาคตด้วย

จุดสังเกตอีกจุดหนึ่งที่น่าสนใจของ Mc คือ ในช่วงหลัง บริษัทนี้ค่อนข้างกล้าจ้างมืออาชีพมาบริหาร และมีความดิ้นรนที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ย่อมแสดงให้เห็นถึงทัศนคติของเจ้าของที่ค่อนข้างมีความคิดแบบมาตรฐานสากล ไม่ยึดติดกับความเป็นธุรกิจครอบครัว และมีความตั้งใจสูงจะทำให้บริษัทก้าวไปสู่อีกระดับหนึ่งเหมือนบริษัทชั้นนำที่มีการบริหารจัดการอย่างเป็นมืออาชีพให้ได้จริงๆ

ในช่วงสามปีที่ผ่านมา Mc เร่งขยายสาขาอย่างรวดเร็ว เพื่อเพิ่มส่วนแบ่งตลาดและสร้างความได้เปรียบในอนาคต ซึ่งก็พบว่า Mc ประสบความสำเร็จค่อนข้างสูงกับแผนการณ์นี้ เพราะสามารถสร้างการเติบโตของรายได้และกำไรในช่วงสามปีที่ผ่านมาได้ในระดับสูง โดยที่ Sales store Sales Growth ยังอยู่ในระดับที่ดีด้วย หมายความว่า ช่องว่างในการขยายตัวน่าจะยังเหลืออยู่ ดังนั้น ในปีต่อๆ ไป แม้ว่าการเติบโตอาจจะไม่สูงเท่าเดิม แต่ก็น่าจะยังมีอยู่แน่ๆ (เมื่อใดที่ sss เริ่มไม่เพิ่ม เราค่อยมากังวลว่า Mc จะโตต่อยังไง แต่ ณ ขณะนี้ การเติบโตของรายได้ในอีก 2-3 ปี คงยังไม่ใช่เรื่องที่ต้องกังวลมากนัก)

นอกจากการขยายสาขาที่ยังทำต่อเนื่อง Mc ยังเน้นการ outsource ให้มากขึ้น ซึ่งเป็นวิธีการปรับ business model เพื่อให้มาร์จิ้นสูงขึ้น (ผันตัวเองจากโรงงานผลิตสินค้ามาเป็นบริษัทการตลาดให้เยอะขึ้น กำไรจะมากขึ้น) โดย Mc ไม่มีแผนที่จะสร้างโรงงานเพิ่มกำลังการผลิตอีกต่อไป แต่จะเพิ่มกำลังผลิตผ่านการ outsource มากขึ้นแทน (ช่วยลด CAPEX ได้ด้วย) จึงน่าจะเป็นช่องทางที่มาร์จิ้นของบริษัทจะดีขึ้นได้อีกช่องทางหนึ่งในอนาคต อย่างไรก็ตาม ถ้าหากบริษัทจะหันมาเป็นบริษัทการตลาดที่เน้นการโฆษณาแบรนด์สินค้า ผมอาจจะไม่เห็นด้วยเท่าไร เพราะแบรนด์มีภาพลักษณ์เดิมอยู่ การเปลี่ยนไม่ใช่เรื่องง่าย อาจเป็นการใช้เงินที่ได้ผลที่ไม่คุ้มค่าเท่าไรนัก ซึ่งก็เป็นเรื่องดีที่ไม่เห็นบริษัทเน้นการโฆษณาเป็นอาวุธหลัก

อีกประเด็นหนึ่งที่ยังเป็นข้อกังขาสำหรับผมคือ การเป็นแบรนด์ที่เน้นสินค้ายีนส์เป็นหลัก การมีจุดขายเยอะๆ ไม่รู้ว่าจะสร้างยอดขายต่อพื้นที่ได้คุ้มค่าเท่ากับแบรนด์เสื้อผ้าที่มีสินค้าหลากหลายกว่าแค่ไหน ผมจึงมองว่า การเพิ่มไลน์สินค้าอย่างอื่นเข้าไปให้มากขึ้นอาจเป็นกลยุทธ์เติบโตที่ดีที่บริษัทน่าจะเน้นทำให้เยอะขึ้น เพราะยิ่งจุดขายเป็นข้อได้เปรียบหลักของบริษัท บริษัทก็ยิ่งควรจะทำให้ตัวเองมีข้อได้เปรียบเรื่องค่าโลเคชั่นให้ได้มากที่สุด บริษัทมีการออกสินค้าแบรนด์ใหม่ที่เพิ่มความหลากหลายเยอะขึ้นด้วย แต่ต้องรอดูต่อไปว่าจะทำได้ดีแค่ไหน (อย่างไรก็ตาม อันนี้เป็นแค่มุมมอง ผมอาจจะคิดผิดก็ได้)

ประเด็นอื่นๆ ที่อาจเป็นข้อกังวลก็คือ บริษัทมีนโยบายปันผลประมาณ 50% ของกำไรสุทธิ (ส่วนค่าเสื่อมค่อนข้างน้อย) และมีแผนใช้เงินในช่วงสองปีข้างหน้าอีกพอๆ กัน รวมๆ แล้วก็ ฟิตๆ กับ EBITDA ต่อปีของบริษัทอยู่พอสมควร อัตราส่วนหนี้ิสินต่อทุนก็อยู่ที่ 1:1 เท่าแล้ว แต่การเพิ่มยอดขายปีละ 15-20% ต่อปี น่าจะต้องใช้เงินทุนหมุนเวียนเพิ่มขึ้นอีก ดูแล้วเป็นแผนการเงินที่ฟิตพอสมควร ถ้ามีปัจจัยลบอะไรมาทำให้แผนการเงินกระทบ เช่น เศรษฐกิจชะลอตัวพอดี ก็อาจจะส่งผลกระทบที่รุนแรงได้

โดยสรุปแล้ว ในช่วง 2 ปีข้างหน้า การสร้างการเติบโตของยอดขายยังไม่น่าเป็นห่วง เพราะดูการขยายสาขาน่าจะทำให้เติบโตตามแผนได้ไม่ยาก เนื่องจากดูแล้ว growth ยังมีโมเมนตัมเหลืออยู่ แต่หลังจากนั้นเป็นต้นไปก็เป็นเรื่องที่ต้องกังวลในระยะยาวว่าบริษัทจะมีช่องหางให้เติบโตด้วยวิธีไหนต่อไป และการแข่งขันที่ของพวก street brand จะรุกเข้ามามากขึ้นหรือเปล่า

(คำเตือน : การที่ผู้เขียนเขียนถึงบริษัทใด มิได้หมายความว่า ผู้เขียนเห็นว่าบริษัทนั้นน่าลงทุน ผู้เขียนเพียงแค่ต้องการนำเสนอทั้งด้านบวกและลบของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งอาจเป็นบริษัทที่น่าลงทุนหรือไม่น่าลงทุนก็ได้)

19 thoughts on “299: MC”

  1. ขอบคุณค่ะ ชอบพี่สุมาอี้วิเคราะห์มากเลยค่ะ 🙂

    ถ้า MC มีจุดแข็งของสินค้าที่มากกว่านี้ น่าจะอุ่นใจเรื่อง organic growth ขึ้นนะคะ
    สินค้าของ MC ทดแทนได้ง่ายจังเลยค่ะ

    แต่ uniqlo ถึงแม้จะขาย basic wear แต่เค้ามีนวัตกรรมใส่ในเสื้อผ้าตลอด แล้วราคาไม่แพงถ้าเทียบคุณภาพหรือถ้าเทียบกับร้านเสื้อผ้าตามร้านทั่วไป
    ส่วน h&m forever21 ก้อแพงกว่าทั่วไปอยู่บ้าง แต่ก้อนำเทรนด์ถูกใจวัยรุ่นค่ะ อิอิ 🙂 ร้านทั่วไปชอบก้อปขาย

  2. ล็อกอินแล้วแต่อ่านไม่ได้ไม่รู้ว่าล็อกอินผมหมดอายุยังครับ

    1. อ่อเพิ่งเห็น หมดอายุแล้วจริงๆด้วย
      ตอนนี้ต่ออายุไปแล้วครับ รบกวนด้วยครับ

  3. พี่สุมาอี้มีความเห็นอย่างไรกับการที่ MC มีการแตกแบรนด์ออกหลายแบรนด์ เช่น blue brother , mc lady , mc pink , mc mini , mc mc , bison และบางแบรนด์เช่น mc mc , bison นั้นจะไม่ได้เน้นขายยีนส์ แต่จะเป็นแบบขายสินค้าทั่วไป(casual ไม่แน่ใจว่าตรงนี้จะทำมาแข่งกับ street brandรึเปล่า)
    อีกอย่างที่ได้ยินมาคือ Mc มีแผนที่จะทำ M&A ไม่แน่ใจว่าเป็นแบบไหนครับ
    ขอบคุณท่านแม่ทัพมากครับ ^^

  4. ตัวนี้จัดเป็นอุสาหกรรม sunset ไหมครับ

    มองดูตัวนี้มี moat ตรงไหนครับ ขอบคุณครับ

  5. ผมคิดว่าอุตสาหกรรมยีนส์ไม่น่าจะ sunset นะครับ เห็นใน opp day บอกว่าตลาดยีนส์โตปีละ 15%

  6. อุตสาหกรรมสิ่งทอ ถ้าหากเป็นการรับจ้างผลิตเสื้อผ้าราคาถูก ของบ้านเราจะเป็น sunset เพราะโดนย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่ค่าแรงถูกกว่าเช่น บังคลาเทศ หรือจีน เมื่อสิบกว่าปีก่อน

    แต่ถ้าเป็นธุรกิจขายปลีกเสื้อผ้า เสื้อผ้ามีแบบของตัวเอง มีแบรนด์ของตัวเอง อันนี้ไม่น่าจะเป็น sunset ครับ

    ส่วนการแตกแบรนด์ของ mc ผมมองว่าเป็นความพยายามที่จะเจาะ segment ใหม่ๆ มากขึ้น และช่วยเพิ่มสินค้าให้ร้าน ซึ่งก็น่าจะเป็นหนทางที่จะเพิ่มยอดขายได้ แต่ว่าผลสำเร็จก็คงจะอยู่ในวงจำกัด ไม่ได้หวือหวาอะไร

    1. ขอแชร์้ด้วยคน ไม่รู้จะเป็นประโยชน์รึป่าวนะคะ พอดีเคยทำการ์เม้นท์มานิดหน่อย 😀

      เห็นด้วยเรื่องการแตกแบรนด์ที่คงไม่หวือหวาอะไร นึกถึงตอนอยู่ธนูลักษณ์ guy laroche จริงๆมี guy de guy อีกแบรนด์ ยอดก็เพิ่มขึ้น แต่ลูกค้าซื้อก็เพราะนึกว่าเป็นguy laroche อยู่ดี แหะๆ

      ตอนนี้ H&M, uniqlo, foreverXXi ยังมีร้านค้า อยู่แค่ห้างใหญ่ เพื่อนที่อยู่H&M บอกว่าจะมีเปิดอีกคือเชียงใหม่กับภูเก็ต นอกนั้นยังค่ะ คู่แข่งแบรนด์ย่อยต่างๆของmcตอนนี้ น่าจะมี esp espada fox haas zein อะไรแนวนี้ด้วยค่ะหนูว่า เพราะถ้าขี้เกียจเข้าเมือง แบรนด์เหล่านี้ก็ยังเป็นตัวเลือกอยู่ ไม่ก็โรลแบคๆ ที่โลตัสไปเลย 555

  7. @Vilage ต่ออายุมาทางไหนครับ ถ้าเป็นบัดรเครดิตจะใช้งานต่อได้ทันที ถ้าเป็นการโอนเงินผ่านธ. รบกวนแจ้งธนาคารให้ผมด้วย

  8. โอ้ว ผมคงอยู่ในกลุ่มนักลงทุนส่วนน้อย ที่ไม่รู้ว่า Mc เข้าตลาดมาแล้ว รู้แค่ว่า มีผู้บริหารมืออาชีพคนไทยที่ย้ายมาจาก dtac มาบริหาร แต่ชื่อก็นึกไม่ออกอยู่ดี ขอบคุณสำหรับบทความคับ

    1. ผบห.คนนั้นเหมือนจะย้ายอีกแล้ว ตอนนี้ไปอยู่แกรมมี่ครับ

      ผบห.ปัจจุบันของ mc คือ คุณปรารถนา ที่เคยอยู่ mint นั่นเอง

  9. ดูแล้วคนชอบปันผลเก็บกันเยอะเลยครับเข้าตลาดมาแป้บปันมา 2 รอบแล้ว

  10. ลูกค้าของ Mc ส่วนใหญ่จะอยู่รอบนอกกทม. เพราะเคยถามตอนไป visit บริษัท ได้รับคำตอบว่าเจาะตลาดในเมืองยาก แต่ถึงกระนั้นก็ยังขึ้นเป็นเบอร์ 1 ได้ คงต้องติดตามว่าว่าเทรนด์ Street brand จะไปรอบนอกเมืองได้เร็วแค่ไหน และ คู่แข่งสามารถไปเปิดตลาดแข่งรอบนอกได้มากแค่ไหน เพราะหากไปได้เร็ว ทาง Mc อาจเสียตลาดหลักได้ กลยุทธ์ที่ทำตอนนี้คือ เพิ่มช่องทางขาย ทำให้ต้นทุนการผลิตลดลงจากปริมาณการผลิตที่มากขึ้นเพื่อป้อนสินค้าเข้า shop ถ้าทำตามแผนได้คงดี แต่หากผิดแผนที่ดังที่พี่สุมาอี้ตั้งข้อกังวลไว้ เช่น มีการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ของขายไม่ออกก็จะทำให้เกิดความเสียหายได้ สินค้าคงเหลือทางบริษัทจะนำไปเลหลังขายลดราคา และ ไปเทกระบะขาย (ยังได้กำไรอยู่) นอกจากนี้ยังมีการ train พนักงาน โดยการตั้งศูนย์อบรม “Mc Guru” เพื่อให้เข้าใจในผลิตภัณฑ์และแนะนำสินค้าให้กับลูกค้าได้อย่างถูกต้อง เช่น รูปร่างแบบนี้เหมาะกับ design แบบไหน วัด-ตัดขาอย่างไร โดยยี่ห้ออื่นยังไม่มีการ train เป็นเรื่องเป็นราวแบบนี้ คิดว่าน่าจะดีเพราะน่าจะทำให้ลูกค้าที่เข้ามาประทับใจ ต้องดูกันต่อไปว่าทำแล้วยอดขายเพิ่มแค่ไหน เริ่มมีการขยายตลาดไปที่ต่างประเทศ ได้แก่ พม่า ลาว มาเลเซีย และ อินโดนีเซีย

  11. พี่โจ๊กครับ สงสัยเรื่องเงินทุน
    บริษัทได้เงินมา 3 พันล้านจาก ipo
    แผนการลงทุนในอีก 4 ปี ใช้เงินประมาณ 1200ล้าน จาก (oppday)
    เอาไปคืนหนี้ 7xx ล้าน
    เหลืออีก 1 พันล้าน (เผื่อว่าจะมีการซื้อกิจการ)
    แล้วบริษัทยังมี ebitda อีกปีละประมาณ 800 ล้าน
    คือผมรู้สึกว่าเงินทุนของบริษัทเหลือเฟือเลยครับ อาจจะเหลือมากเกินไปด้วยซ้ำ
    ผมมองว่าบริษัทมีความสามารถปันผลได้ 100% ของกำไรเลยด้วยครับ
    ยังไม่รวมจากการเพิ่มสัดส่วนยอดขายที่มาจากร้านตัวเองจาก 30% เป็น 60%
    และคลังสินค้าใหม่ที่จะเสร็จในปีหน้าทำให้สินค้าคงคลังน่าจะอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าปัจจุบันได้ 2ปัจจัยนี้น่าจะทำให้บริษัทต้องการ working cap เพิ่มที่น้อยกว่าการโตของยอดขายได้อีกคับ

    1. อึมใช่แล้ว อันนี้มีคนแจ้งมาเหมือนกันว่า น่าจะเอาเงินสดคงเหลือในงบดุล มาคำนวณด้วย ซึ่งถ้าหากนำมาคำนวณด้วย บริษัทก็มี buffer เหลืออยู่พอสมควร

      ถูกต้องตามที่ท้วงติงมาครับ

  12. พี่ครับ พี่มองเรื่องhypermartไปทำยีนส์ขายเองว่าไงบ้างครับ ผมเห็นโลตัส บิ้กซี เริ่มมาทำเสื้อผ้าของตัวเองด้วย และmcก็ยังมียอดจากhypermartไม่น้อย

  13. อยากทราบความเห็นของท่านแม่ทัพที่ MC เพิ่งไปซื้อ timedeco มาอ่ะครับ

Leave a Reply to dentoak025 Cancel reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *