Skip to content

298: EBITDA-CAPEX-DIV

เวลาบริษัทเปิดแผนเติบโต 3-5 ปี ว่าจะขยายกี่สาขา เพิ่มกำลังการผลิตเท่าไร รายได้จะโตเท่าไรต่อปี ก็อย่าเพิ่งดีใจ สิ่งที่เราควรทำเพิ่มเติมคือ ตรวจสอบความเป็นไปได้ของแผนนั้นให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

ประการแรก บริษัทต้องใช้ เงินลงทุนเพิ่มเท่าไร เพื่อให้แผนขยายธุรกิจนั้นเกิดขึ้นได้ ตรงนี้ เราต้องดูจากแผน Capital Expenditure หรือ CAPEX ซึ่งไม่มีในงบการเงิน เพราะเป็น forward-looking บริษัทที่องค์กรใหญ่หน่อย อาจทำไว้ให้ดูตามสไลด์รายงานผลประกอบการ หรือ Analyst Meeting ต่างๆ ซึ่งอาจหาดาวน์โหลดได้ในเว็บของบริษัท แต่ถ้าหากไม่มี บางทีเราก็จำเป็นต้องสอบถามไปยัง IR ของบริษัทด้วยตนเอง หรือถ้าบริษัทมางาน oppday ด้วยก็อาจจะฝากคำถามทางเน็ตไปให้ตอบก็ได้

เมื่อได้ตัวเลข CAPEX มาแล้ว เราควรเทียบกับกระแสเงินสดจากการดำเนินงานต่อปีของบริษัทก่อนว่าได้สัดส่วนกันหรือไม่ วิธีประเมินกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่ดีที่สุด ไม่ใช่ตัวเลข Cash flow from operating ในงบกระแสเงินสด เพราะนิยาม CFO ในทางบัญชีนั้นรวมรายการหลายอย่างที่ไม่ควรนับเป็นกระแสเงินสดจากการดำเนินงานในทางการเงิน ตัวเลขที่น่าจะประมาณได้ดีกว่าคือ EBITDA

วิธีหา EBITDA คือ ให้เอา กำไรจากการดำเนินงานก่อนภาษีและดอกเบี้ยจ่าย (EBIT) ที่อยู่ในงบกำไรขาดทุน มาบวกด้วย ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจ่าย ที่หาได้จากบรรทัดหนึ่งใน งบกระแสเงินสด เราอาจเรียก EBITDA ว่าเป็นกำไรที่เป็นเงินสดของธุรกิจก็ได้

จากนั้นให้ดูว่า แต่ละปี บริษัทจ่ายเงินปันผลปีละประมาณเท่าไร ให้นำมาลบออกจาก EBITDA ที่คำนวณได้ จะได้เป็นเงินสดส่วนที่บริษัทสามารถนำไปลงทุนได้ ถ้าหากตัวเลขนี้สูงกว่า CAPEX ที่บริษัทวางไว้ ก็แสดงว่า บริษัทสามารถขยายกิจการตามแผนธุรกิจได้โดยพึ่งพากำไรจากตัวธุรกิจเองล้วนๆ และไม่กระทบกระเทือนเงินปันผลด้วย (ยังจ่ายได้เหมือนเดิม ไม่ใช่อ้างว่าต้องลงทุนเพิ่มเลยขอลดเงินปันผลให้ช้ำใจ)

อย่างไรก็ตาม ถ้าดูแล้วเหมือนจะขาดไปเยอะ ก็อย่าเพิ่งโวยวายทันที ลองดูว่าขณะนี้บริษัทมี D/E ratio เท่าไร ถ้าหาก D/E ratio ยังต่ำกว่า 1 เท่า บริษัทก็ยังมีการขอสินเชื่อเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะหาเงินมาไฟแนนซ์ CAPEX ได้ ไม่จำเป็นต้องเพิ่มทุน (ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ถือหุ้นไม่ชอบที่สุด) ลองหาดูในหมายเหตุประกอบงบการเงินด้วยว่า บริษัทมีระบุไว้ให้ด้วยหรือไม่ว่า ยังมีวงเงินสินเชื่อเหลืออยู่กับธนาคารเท่าไร ถ้าหากตัวเลขตรงนี้สามารถนำมา match กับ CAPEX ที่ยังขาดอยู่ได้พอดี ก็ยังไม่น่าเป็นห่วงมากนัก อ้อ ลืมไป D ใน D/E ratio นั้น อาจไม่รวมเจ้าหนี้การค้าก็ได้ ถ้าหากเป็นบริษัทที่มี cash cycle ติดลบ เช่นพวกค้าปลีกที่ติดเงินซัพพลายเออร์นานๆ ได้ เพราะเจ้าหนี้การค้าเป็นแหล่งเงินกู้ที่ไม่มีภาระดอกเบี้ย

ถ้าหากดูหมดแล้ว ก็ยังเห็นว่า CAPEX สูงเกินไป ก็ต้องสงสัยไว้ก่อนว่า บริษัทอาจทำไม่ได้จริง แค่วางแผนธุรกิจเว่อๆ ไว้ขายผ้าเอาหน้ารอด หรือว่าจะทำจริงๆ แต่มีแผนจะเพิ่มทุนในอนาคต ซึ่งไม่ใช่เรื่องดีนัก หรือแม้แต่ถ้าบริษัทปฏิเสธว่าจะไม่เพิ่มทุนในระยะเวลาอันใกล้แน่ๆ แต่ดูตัวเลขแล้วไม่น่าจะเป็นไปได้ เราก็ต้องระมัดระวังไว้ก่อน เพราะสิ่งที่บริษัทพูดกับตัวเลขนั้นไม่สอดคล้องกันเลย

19 thoughts on “298: EBITDA-CAPEX-DIV”

  1. แล้วอย่างดีล cpall -makro พี่นรินทร์ มองว่ามีโอกาสต้องเพิ่มทุนในระยะต่อไปมากแค่ไหนครับ เพราะดอกเบี้ยมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้น ค่าเงินดอล์ก็มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น ทำให้ต้นทุนดอกเบี้ยจ่ายมากขึ้น อีกทั้งกำลังซื้อในประเทศช่วงนี้หดตัวลงด้วย

    1. สองตัวนี้เป็นธุรกิจเงินสด น่าจะใช้เงินสดที่ธุรกิจสร้างภายใน เอาไปทยอยใช้หนี้ได้

      อีกวิธีที่เสี่ยซีพีบอกคือจะออกกองทุนอสังหาแมคโคร

      เลยคิดว่าน่าจะไม่ต้องเพิ่มทุนครับ (เดา)

  2. สงสัยนิดนึงครับพี่นรินทร์ว่าทำไมเราใช้ CFO ไม่ได้อ่ะครับ เพราะ ถ้าอย่างพวกค้าปลีกที่ cash cycle ติดลบจะทำให้เรามี CFO ที่เพิ่มจาก working cap ขึ้น ก็น่าจะนำมาจ่ายให้ capex ได้ รบกวนพี่ช่วยขยายความเพิ่มให้หน่อยนะครับ
    ขอบพระคุณครับพี่ 🙂

  3. CFO ทางบัญชี นอกจากจะประกอบด้วย EBIT, Changes in Working Capital แล้ว ยังประกอบด้วย non-cash charges อื่นๆ อีก ซึ่งหลายๆ ตัว non-recuring ครับ การนำค่านี้มาใช้เลย จึงไม่เหมาะ เพราะจะทำให้เราตั้งสมมติฐานผลประกอบการในอนาคตผิดไปเยอะ

    เรื่อง Changes in Capital ของค้าปลีกก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ยิ่งต้องระวัง เพราะถ้าหากมันติดลบ แล้วเรานำค่านี้มาเป็นตัวตั้งเพื่อทำ projection ไปยังอนาคต ค่านี้จะติดลบมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะธุรกิจมีการเติบโต ถ้าหากตั้งสมมติฐานว่าธุรกิจเติบโตไปเรื่อยๆ โดยไม่สิ้นสุด แม้ว่าอัตราการเติบโตในปีหลังๆ จะเป็นเลขที่ต่ำมาก แต่ค่าที่ติดลบจะขยายขนาดนึ้นอย่างมาก ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง เพราะ cash cycle ไม่สามารถติดลบมากขึ้นเรื่อยๆ ได้จนไม่มีที่สิ้นสุด

    สมมติฐานที่ดีกว่าสำหรับค้าปลีกที่มี cash cycle ติดลบคือ ให้ changes in working capital เป็น 0

  4. ขอสอบถามเป็นความรู้เพิ่มนะครับว่า ภาษีเงินได้ที่บริษัทจ่ายในงบกำไรขาดทุนต่างอย่างไรจากภาษีจ่ายที่เป็นกระแสเงินสดออกจาก OCF แล้วเราควรยึดอันไหนมาคำนวณครับ ขอบพระคุณมากครับ

    1. ภาษีงบกระแสเงินสด เป็นเงินภาษีเงินสดที่จ่ายออกไปจริงๆ ในงวดนั้นๆ

      แต่ในงบกำไรขาดทุนมีการปรับรายการต่างๆ เยอะมาก เช่น ถ้าบ.เลือกตัดค่าเสื่อมในงบการเงินกับงบภาษีไม่เหมือนกัน หรือมีการเครดิตภาษีรูปแบบต่างๆ ก็จะถูกปรับในงบกำไรขาดทุน ครับ

      ถ้าจะเอาอัตราภาษีมาใช้เป็นสมมติฐานใน financial model ของเรา ผมมองว่าใช้ ค่าใช้จ่ายภาษีในงบกำไรขาดทุนหารด้วยรายได้ ออกมาเป็น effective tax rate แล้วใช้ค่านี้น่าจะเหมาะสมที่สุดครับ

  5. ขอความรู้พี่โจ๊กเพิ่มเติมอีกนิดนะครับ พอดีนั่งนึกถึง EV/EBITDA ก็เลยนึกถึงหัวข้อนี้ขึ้นมา คืออยากจะสอบถามพี่ว่าถ้าเราอยากรู้ว่าบริษัทสร้างเงินสดได้จริงๆปีล่ะเท่าไร เราไม่ต้องนำ EBITDA มาหัก ดอกเบี้ยกับภาษีเหรอครับเพราะยังไงถ้าบริษัทมีการกู้เงินก็ต้องจ่ายดอกเบี้ยและแน่นอนพอสิ้นปีทางบริษัทก็ต้องจ่ายภาษีออกไป

    ขอบพระคุณพี่มากครับ

    1. ส่วนใหญ่ EBITDA จะใช้ตรวจความสามารถในการจ่ายหนี้ หรือความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มทุน ดังนั้นจึงยังไม่ได้รวมดอกเบี้ย เพราะจะเอามาเทียบกับดอกเบี้ยที่จะต้องจ่ายอีกที

  6. ยังสงสัยอยู่นิดๆอะครับว่าทำไมเราถึงใช้ EBITDA เป็นตัววัดกระแสเงินสดจากการดำเนินงานมากกว่า CFO

    เพราะถึงเราจะบวก DA ที่เป็นค่าใช้จ่ายทางบัญชีเข้าไปใน EBIT แต่ตัว EBIT มันก็ไม่ใช่กำไรที่เป็นเงินสดอยู่ดีไม่ใช่เหรอครับ เพราะงั้นผมเลยเข้าใจว่า EBITDA ไม่น่าใช่ Cash แต่น่าจะเป็นตัววัดผลการดำเนินงานของกิจการโดยไม่พวกค่าเสื่อมมาแหกตาเฉยๆ

    ในขณะที่ถ้าเราใช้ CFO ซึ่งมีการคำนวณ CWC ร่วมด้วย ถึงจะมีบางรายการที่เป็น non-cash อยู่บ้างตามที่พี่โจ๊กบอก แต่ก็น่าจะสะท้อน Cash ได้ดีกว่า EBITDA ไม่ใช่เหรอครับ เพราะ EBITDA มันคือเอา EBIT + ค่าเสื่อม,ค่าตัด เฉยๆ

    ขอบคุณคร้าบ

    1. EBIT ไม่ใช่เงินสด เพราะว่าถูกหักค่าเสื่อมออกไป พอเราบวกกลับค่าเสื่อม สิ่งที่ได้ก็คือเงินสดครับ ดังนั้น EBITDA ก็เป็นเงินสด

      CWC เป็นเงินสดเหมือนกัน แต่เป็นเงินสดที่เกิดจากกิจกรรมการลงทุน ถ้าสิ่งที่เราอยากรู้คือ เงินสดที่เกิดจากกิจกรรมดำเนินงาน ก็ไม่น่าจะมี CWC มาเกี่ยวข้อง น่าจะเป็น EBITDA มากกว่า

  7. แต่ตัว EBIT มันก็คิดจากรายได้ที่มีทั้งขายสดและขายเครดิตไม่ใช่เหรอครับ ในเมื่อมันมีขายเครดิตอยู่ด้วย แล้วเราจะรู้ได้ยังไงว่ามันเป็นเงินสดเท่าไหร่ครับ

    ขอบคุณครับ

    1. อนุมานว่า เครดิตจะเปลี่ยนเป็นเงินสดในเวลาแค่ไม่เกิน 3 เดือนครับ

      ถ้าอยากใช้ CFO จริงๆ ก็ใช้ได้ครับ แต่บอกก่อนเลยว่า บริษัทจำนวนมาก CFO จากปีสู่ปี จะเหวี่ยงอย่างรุนแรงมาก จนเป็นตัวแทนพื้นฐานของบริษัทแทบไม่ได้เลย EBITDA คือตัวที่ smooth out มากกว่า

  8. จากนี้ไปก็พอมองเห็นภาพแล้วครับว่าเมื่อบริษัทประกาศแผนเติบโต เราในฐานะนักลงทุนมีงานอะไรให้ต้องทำบ้าง ขอบพระคุณมากครับ

Leave a Reply to OONGIS Cancel reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *