Skip to content

308: จิตใจแบบนักลงทุน

หลักการและเหตุผลอย่างหนึ่งของ Value Investing คือ แนวคิดว่า ราคาหุ้นในกระดานคาดการณ์ได้ยาก เราจึงควรตัดสินใจซื้อขายหุ้นจากการมองที่ตัวกิจการแทน ถ้าเราสามารถซื้อหุ้นในกระดานได้ที่ราคาต่ำกว่ามูลค่าที่เหมาะสมของหุ้นตัวนั้นโดยพิจารณาจากตัวกิจการ (ผลประกอบการ ฯลฯ) เราก็ซื้อหุ้นตัวนั้นแล้ว ถือมันไว้โดยไม่ต้องสนใจเลยว่าตลาดจะเห็นด้วยกับเราหรือไม่ ถ้าทำได้แบบนี้ ในระยะยาวผลตอบแทนของเราก็จะดีเอง เพราะเพชรก็คือเพชร สักวันหนึ่งเพชรก็ต้องแสดงคุณค่าที่แท้จริงของมันออกมาได้ในระยะยาว

คนที่จะเป็น Value Investing ที่แท้จริงได้นั้นต้องมีจิตใจที่เข้มแข็งมากทีเดียว เพราะคำว่าในระยะยาวของตลาดหุ้นนั้น บ่อยครั้งมันไม่ใช่แค่ 3 เดือน หรือ 1 ปี แต่กะเกณฑ์ระยะเวลาที่แน่นอนใดๆ ไม่ได้ มันอาจยาวนานได้ถึง 3-4 ปี หรือบางกรณีก็ยาวกว่านั้นอีก ซึ่งอาจยาวเกินกว่าความคาดหวังของนักลงทุนโดยทั่วไป ผมว่าถ้าซื้อหุ้นอะไรไปแล้ว หนึ่งปีต่อมาก็ยังขาดทุนอยู่ ก็มักจะสิ้นหวังกับหุ้นตัวนั้นไปก่อนแล้ว และมองว่าล้มเหลว ด้วยเหตุนี้ Value Investing แบบจริงๆ จึงต้องการความมั่นใจทางจิตใจสูงมาก และไม่ตรงกับจริตของคนทั่วไปที่มีระยะคาดหวังที่ค่อนข้างสั้นมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนยุคโซเซียลเน็ตเวิร์ก

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ผมมีเรื่องที่อยากเล่าให้ฟังเรื่องหนึ่ง ผมได้ยินมาจากเพื่อนนักลงทุนคนหนึ่งนานมาแล้ว เขาเล่าว่า ในช่วงหลังฟองสบู่ปี 40 แตกนั้น หุ้นไทยหล่นจาก 1700 จุดมาเหลือแค่ 250 จุด อาจารย์ MBA คนหนึ่งของเขาก็พูดในห้องเรียนว่า ให้ทุกคนขายบ้านมาซื้อหุ้นเลย เพราะหุ้นถูกขนาดนี้ยังไงก็ซื้อได้แน่นอน

ผลปรากฎว่า หนึ่งปีถัดมา หุ้นไทยหล่นจาก 250 ลงมาเหลือแค่ 200 จุด ซึ่งสำหรับระยะเวลาหนึ่งปีนั้น มันเป็นการตกที่แรงมาก แรงพอๆ กับปี 2556 นี้เลย อาจารย์พานักเรียนไปติดดอยกันเป็นแถวๆ ถึงตรงนี้เป็นใครก็คง judge ไปแล้วล่ะว่าแนะนำผิด อาจารย์ก็เสียเครดิตกันไป

แต่ถ้าใครซื้อตามแล้วไม่สนใจว่าราคาตลาดจะวิ่งไปทางไหน แต่ถือต่อมาเรื่อยๆ เพราะมองว่ายังไงราคานี้ก็ถูกมากจริงๆ จนถึงตอนนี้ ก็คงกำไรหลายๆ เด้งเป็นเลย เพราะตอนนี้หุ้นไทยอยู่ตั้ง 1400 จุด แม้ว่าจะขาดทุนไปถึง 20% ตั้งแต่ปีแรกก็ตาม

เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า คำว่าราคาตลาดหุ้นคาดเดาไม่ได้นั้น มันคือคาดเดาอะไรไม่ได้เลยจริงๆ ไม่ใช่ว่าเราซื้อหุ้นตอนที่หุ้นถูกแล้ว มันจะต้องกำไรให้เราเห็นภายใน 3 เดือน 6 เดือน แต่ราคาหุ้นอาจวิ่งไปอีกทางหนึ่งหลังจากนั้นอีกหลายปี ก่อนที่จะกลับมาขึ้นให้เรากำไรหลายๆ เด้งก็ยังเป็นไปได้ Value Investing ขนานแท้ต้องการความมั่นคงทางจิตใจที่สูงมาก

อย่างไรก็แล้วแต่ ผมไม่ได้หมายความว่า ถ้าใครกัดฟันถือหุ้นแบบไม่ขาดไม่ขาดทุนแล้วจะประสบความสำเร็จหรือว่าเป็น Value Investor เสมอไป คนที่ซื้อหุ้นแล้วไม่ยอมขายตอน 250 จุด กับตอน 1700 จุดนั้นเป็นคนคนละแบบกัน แม้ว่าทั้งสองจะดูเหมือนคนหัวดื้อไม่ยอมคัดลอสหรือยอมรับความผิดพลาดเหมือนๆ กัน แต่ผลตอบแทนของคนแรกกับคนที่สองนั้นจะแตกต่างกันโดยสิ้นเชิงครับ

 

9 thoughts on “308: จิตใจแบบนักลงทุน”

  1. ชอบมากๆโดยเฉพาะ paragraph สุดท้ายครับ
    ขอบคุงครับพี่คร้าบบบ ^^

  2. คงอย่างที่เขาว่ากันว่า คุณค่า เป็นสิ่งที่คนที่มองหามันเท่านั้นถึงจะมองเห็น ถ้าสิ่งที่เรามองเห็นเป็น คุณค่า ไม่ใช่ ราคา เราน่าจะสบายใจ ไม่หวั่นไหวไปกับราคาที่ขึ้นลง เพราะมูลค่า มันเปลี่ยนช้ากว่าราคาเยอะ แต่ก็อย่างที่เขาว่าอีกเหมือนกัน ในตลาดทุกคนรู้แต่ราคาไม่มีใครรู้มูลค่า โอ้ มันช่างยากจริงนะครับพี่ 🙂

  3. ขอบคุณครับ

    คนที่ซื้อที่ดัชนี 1700 ก็คงหวังว่า มันจะไป 2000 ++ มังครับ 🙂

    และก็มูลค่าของนักลงทุนของแต่ละคน ที่มีต่อกิจการเดียวกันก็ยังได้ค่าออกมาไม่เท่ากันเลย

    เขาถึงว่า การจะได้กำไรจากตลาดในระยะยาวไม่ใช่เรื่องง่ายๆเลยครับ

  4. ส่วนมากแล้วนักลงทุนจะคิดว่าตัวเองเป็น VI ตอนติดดอย เลยต้องถือยาวๆไป โดยปริยาย ทั้งๆที่ตอนซื้ออาจตั้งใจเก็งกำไร ^^

  5. ขอบคุณพี่มากครับที่แบ่งปัน บทความดีๆ อย่างนี้ จากประสบการณ์การลงทุนที่ผ่านมา มันยากมากครับที่จะหาใครที่มีจิตใจแบบนักลงทุนจริงๆ เพราะมันขัดกับความคิดความเชื่อ ที่อยากรวยเร็วๆ โดยออกแรงน้อยที่สุด หรือไม่ออกแรงเลยยิ่งดี สำหรับผมเวลาจะมองหุ้น ผมจะมองเป็นกราฟสองอัน ซ้อนกันอยู่ คือ กราฟราคา กับกราฟผลประกอบการ เวลาเราใช้เงินซื้อหุ้น เราซื้อที่กราฟ ราคา แต่สิ่งที่เราได้จริงๆ คือกราฟผลประกอบการ ผมใช้วิธีฝึกจินตนาการเอามากกว่า ทำให้สามารถถือหุ้นได้นานๆ

    1. กราฟแบบในหนังสือ ลินช์ ใช่ไหมคับ
      ไม่ทราบว่าดูได้ที่ไหนบ้างคับ
      ผมล่ะงง ว่าทำไมไม่มี โบรค ไหน ทำมาให้ดูบ้าง
      เอาแบบ หลายๆปีติด

      ถ้ามีให้ดูได้ที่ไหนบ้าง รบกวนด้วยนะคับ
      ขอบคุณคับ

  6. เป็นไปได้ไหมครับ?ว่าหุ้นที่เราลงทุนราคาไม่ลดลงในขฌะที่setลดลง.

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *