ถ้าสมมติว่าเรารู้ว่าเหรียญบาทเหรียญหนึ่งเป็นเหรียญที่ถ่วงไว้ไม่ให้สมดุล คือ โอกาสที่จะออกหัวคือ 55% และก้อยคือ 45%
พฤติกรรมที่มีเหตุผลที่สุดของเราก็คือ แทงแต่หัวทุกครั้ง และตลอดไป
แต่ถึงแม้ว่าการแทงหัวทุกครั้งจะเป็นกลยุทธ์ที่ถูกต้อง แต่ในการทอยเหรียญแต่ละครั้ง โอกาสที่เหรียญจะออกก้อยยังก็มีได้เสมอ และมีไม่น้อยเสียด้วย (45%)
เวลาที่เราเลือกแทงหัว เพราะเราคิดว่าเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดภายใต้ความไม่แน่นอนแล้ว แต่เหรียญดันออกก้อย เราอาจคิดไปว่า เราตัดสินใจผิดที่เลือกหัว ปรากฏการณ์ที่ทางเลือกที่ดีที่สุดเป็นทางหนึ่ง แต่ความซวยทำให้ผลลัพธ์ที่ออกมาเป็นอีกทางหนึ่ง มันทำให้เรา “พาล” ไปโทษการตัดสินใจที่มีเหตุผลของเราได้ นั่นก็เพราะว่าเราถูก “ความไม่แน่นอน” หลอก (Fooled by Randomness) เข้าแล้ว
ในชีวิตจริง Fooled by Randomness นั้นมีเยอะมาก อย่างเช่น การประเมินผลงานของ CEO โดยคณะกรรมการบริษัท CEO บางคนอาจจะเก่งจริง และเลือกกลยุทธ์ที่เหมาะสมกับสถานการณ์มากที่สุดแต่โชคไม่ดี ภาวะเศรษฐกิจย่ำแย่พอดี กำไรจึงออกมาต่ำ แต่ CEO อีกคน อาจเลือกทางที่แย่ให้กับบริษัท แต่บังเอิญโชคดีเข้ามาทำงานตอนเศรษฐกิจขาขึ้นพอดี เลยทำให้กำไรออกมาดีกว่า แต่ส่วนใหญ่แล้ว เราจะตัดสินคนจากผลลัพธ์มากกว่า CEO คนแรกจึงอาจจะโดนคณะกรรมการบริษัทไล่ออก ในขณะที่คนหลังจะได้โบนัสพิเศษจากคณะกรรมการบริษัทก็ได้ เป็นเรื่องปกติที่เราพบเห็นได้ทั่วไปในโลกของการทำงาน
ในตลาดหุ้นก็เช่นกัน นักลงทุนคนหนึ่งอาจเรียนรู้มาว่า การ cutloss เป็นวิธีป้องกันความเสี่ยงอย่างหนึ่งที่ดี พอเขาซื้อหุ้นตัวหนึ่งไปแล้วมันลงมา 10% เขาก็ cutloss ออกไปตามกฎ แต่บังเอิญว่าครั้งนั้น หุ้นเด้งกลับที่ 11% พอดี ก็จะสร้างความฝังใจให้กับนักลงทุนคนนั้นว่า cutloss เป็นวิธีที่แย่ แต่นักลงทุนอีกหนึ่งนำการ cutloss ไปใช้ในสถานการณ์แบบเดียวกันกับหุ้นตัวอื่น แล้วบังเอิญหุ้นลงต่อไปอีก 20% เขาก็จะมองว่า การ cutloss เป็นวิธีที่ดีแล้ว จะเห็นว่านักลงทุนสองคนอาจได้ข้อสรุปที่ตรงข้ามกันโดยสิ้นเชิง เพราะทุกคนตัดสินจากผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับตัวเอง โดยไม่ได้คิดว่า ผลลัพธ์นั้นได้รับอิทธิพลจากความไม่แน่นอนด้วย
คนที่ไม่ถูกความไม่แน่นอนหลอกนั้น ถ้าหากเขาตัดสินใจแล้วว่าจะเอาการ cutloss มาใช้ หาก cut แล้ว หุ้นเด้ง เขาก็จะไม่คิดว่า “รู้งี้” ไม่น่า cut เลย แต่จะเข้าใจว่า กลยุทธ์ใดๆ ล้วนมีความไม่แน่นอนมาเกี่ยวข้องด้วย ครั้งที่ “ซวย” ก็ต้องถือว่าเป็นต้นทุนของความไม่แน่นอน ขอให้ในระยะยาววิธีนี้ทำให้ถูกมากกว่าผิดก็ถือว่าเป็นวิธีที่ใช้ได้แล้ว
นี่เป็นหลักการของการเทรดเลยครับ Cut loss short, let profit run. โดยทั่วไปการเทรดตามแนวโน้มถูกแค่ประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นเอง
เขียนดีมากเลย ชอบๆ
Hedge fund manager พี่โจ๊กติดตามใครเป็นพิเศษมั่งรึเปล่าครับ นาซิม ทาเลบ , โซรอส , ray dalio ?
ไม่ค่อยคับ
คุณโจ๊ก อธิบายได้เห็นภาพ ^_^
ทั้งหมดเป็นเพราะว่าคนเราชอบประเมินทุกอย่างจาก “result” โดยมองข้าม “process”
อันนี้สำคัญมากเพราะถ้าเกิด process ผิด แต่”โชคดี” ทำให้ผลลัพธ์ดี เข้าเป้า ถ้าไม่เข้าใจตรงจุดนี้ก็จะทำให้ผลลัพธ์ที่ได้ไม่ยั่งยืนเพราะไม่มีใครที่จะโชคดีตลอดไป ณ ตรงนี้ถ้าเราไม่รู้ว่าเราโชคดีแต่คิดว่าเป็นฝีมือก็น่ากลัวเหลือเกินครับ
กลับกันถ้าเข้าใจ process ถึงแม้ผลจะไม่สำเร็จ แต่เราจะทราบว่าอะไรคือ “Gap” ที่ทำให้ไม่สำเร็จ
ในครั้งถัดๆไปก็เพียงหากลยุทธ์ที่ดีขึ้นเพื่อที่จะมาปิด Gap ก็ย่อมจะทำให้ผลลัพธ์ดีขึ้นด้วยเช่นกัน
การป้องกันถูก fooled by randomness แก้ได้ถ้าเราให้ความสำคัญกับกระบวนการก่อนผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นครับ
ขอบคุณครับ
ขอบคุณครับ
ตอนยกตัวอย่าง
ผมว่า มัน คุ้นแบบแปลกๆนะคับ 55
ceo >>พรรคการเมือง
ขำๆคับ
เห็นด้วยอย่างยิ่งครับ
บางครั้งเราซื้อได้ราคาถูกแต่เจอตลาดเล่นตลก ลดราคาลงทุกวันหรือลงมากกว่าที่เราซื้อ
ความเป็นไปได้คือ เราอาจจะคิดผิดหรือถูกในเวลาเดียวกัน
แต่การยึดถือว่าตลาดถูกต้องซะก็ไม่ใช่เลยทีเดียว