ลองหยิบหนังสือการลงทุนแนวปัจจัยพื้นฐานหลายๆ เล่มมาดู ก็มานั่งคิดว่า สิ่งที่ผมแนะนำนั้นเหมือนหรือแตกต่างจากแนวอื่นๆ อย่างไรบ้าง เลยลองสรุปออกมาดูครับ
อันนี้ไม่ได้บอกว่าแนวทางของผมจะดีกว่าแนวทางอื่นๆ นะครับ เพียงแค่อยากจะชี้ข้อแตกต่างออกมาให้ชัดเจน จะได้เลือกกันได้ถูก ผมเชื่อว่าแนวทางที่ดีที่สุดสำหรับทุกคนนั้นไม่มีครับ เพราะแต่ละคนจะมีบุคลิก ความถนัด และจุดอ่อนที่ต่างกันด้วย แนวทางที่ดีที่สุดของแต่ละคนจึงไม่เหมือนกัน และทุกคนจะต้องค้นหาให้เจอเอง
ถ้าหากมองโดยภาพรวมแล้ว แนวการลงทุนของผมก็คือ แนวปัจจัยพื้นฐานอย่างหนึ่งนั่นแหละครับ เพราะเลือกหุ้นจากป้จจัยพื้นฐานทางธุรกิจเป็นหลัก และค่อนข้างจะออกไปทาง Growth Investing มากกว่า Value Investing เพราะผมเป็นคนที่มีความเชื่อส่วนตัวค่อนข้างจะมากว่า ธุรกิจที่ดีจะต้องเป็นธุรกิจที่อนาคตดีด้วย ไม่ใช่แค่อดีตหรือปัจจุบันดี ในขณะที่คนที่หนักไปทาง Value Investing จะให้ความสำคัญกับอดีตหรือปัจจุบันเยอะกว่า เพราะมองว่าอนาคตเป็นเรื่องที่คาดเดาไม่ได้
ลักษณะเฉพาะประการต่อมาของแนวทางของผมคือ ผมไม่สนับสนุนการเลือกหุ้นด้วยการดูอัตราส่วนทางการเงิน หรือใช้สูตรสำเร็จต่างๆ แต่ผมเน้นว่าการตัดสินว่าธุรกิจดีหรือไม่นั้น ต้องเป็นการมองจากด้านคุณภาพเป็นหลัก ผมมองว่าอัตราส่วนต่างๆ ล้วนเป็นสิ่งที่สะท้อนอดีตทั้งสิ้น มันอาจจะบอกอนาคตได้บ้าง แต่ไม่เพียงพอที่จะยึดถือเป็นสรณะได้ แต่การมองเชิงคุณภาพ เป็นการพุ่งประเด็นไปที่อนาคตของธุรกิจนั้นโดยตรง แม้ว่ามันจะมีข้อเสียคือ จับต้องยาก bias ง่าย แต่มันก็เป็นสิ่งที่จำเป็น
ลองคิดง่ายๆ ว่า ถ้าคุณจะเช่าแผงตลาดนัดสักแผงหนึ่ง มันคงเป็นเรื่องตลกมากๆ ที่คุณจะเอางบการเงินของเจ้าของแผงเดิมมานั่งดูว่าจะเช่าที่ PE เท่าไรดี แทนที่จะดูว่า แผงตั้งอยู่ตรงไหน ทางที่คนเดินเดินมาจากไหนไปไหน ข้างๆ เป็นร้านอะไรบ้าง ในอนาคตจะมีใครมาเวนคืนรึเปล่า ปัจจัยเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยที่สำคัญมากต่อการตัดสินใจ แต่เป็นปัจจัยเชิงคุณภาพที่ไม่มีวัน quantify ได้เลย ผมจึงมีความเห็นว่า การมองว่าธุรกิจไหนอนาคตจะดีหรือไม่นั้น เราไม่สามารถหาทางลัดด้วยการใช้สูตรหรืออัตราส่วนทางการเงินได้ เราต้องวิเคราะห์เชิงคุณภาพแล้วฟันธงออกมาเท่านั้น แน่นอนว่าคนที่ชอบอะไรที่ concrete สุดๆ อาจจะอึดอัดบ้าง แต่ในเวลาเดียวกัน การแก้ปัญหาด้วยการหันไปหาการวิเคราะห์อัตราส่วนทางการเงินอย่างเดียวไปเลย ก็เป็นการแก้ปัญหาที่ผิดจุด (คหสต)
และเนื่องจากผมเป็นแนว Qualitative ดังนั้น ผมจึงเน้นเรื่องการจัดการกับความผิดพลาดมาก เราต้องคิดเสมอว่า การมองธุรกิจนั้นไม่มีทางคิดถูก 100% และเราก็ไม่จำเป็นต้องคิดถูก 100% ถึงจะรวยเสมอไป แทนที่เราจะพยายามคิดให้ถูก 100% เราน่าจะคิดว่าทำอย่างไรให้เราเสียหายให้น้อยที่สุดเวลาที่เราคิดผิดต่างหาก ผมจึงเป็นแนวที่ให้ความสำคัญกับการกระจายความเสี่ยง และไม่เห็นด้วยการกับซื้อเฉลี่ยขาลง เพราะไม่เชื่อว่าเราจะคิดถูกตลอดเวลา ซึ่งจะต่างกับแนวปัจจัยพื้นฐานบางแนวที่เชื่อว่าถ้าเป็นหุ้นดี ยิ่งตกให้ยิ่งซื้อ โดยไม่จำกัด
อย่างไรก็ตาม การกระจายความเสี่ยงต้องอยู่ในระดับที่เหมาะสมด้วย การกระจายความเสี่ยงที่มากเกินไป จะกลายเป็นพอร์ตเบี้ยหัวแตก เวลาคิดถูกจะได้น้อยเพราะซื้อน้อยเกินไปด้วย แถมยังทำให้เราไม่รู้จริงกับหุ้นทุกตัวที่เราซื้อ เพราะมีหุ้นที่เราซื้อเยอะเกินไป หรือบางคนซื้อหุ้นหลายๆ ตัว เพียงเพราะว่าจะกระจายหุ้น แบบนี้ก็ผิดเหมือนกัน หุ้นที่ตัวที่เราซื้อ เราต้องเชื่อว่ามันดีในตัวของมันเองทุกตัวด้วย ไม่ใช่ว่าสักแต่ว่าซื้อหลายๆ ตัวเข้ามาในพอร์ตเพื่อให้กระจาย โดยที่เราอาจจะไม่เห็นรู้อะไรเกี่ยวกับหุ้นเหล่านั้นเลย แบบนี้ก็เป็นการกระจายหุ้นที่ผิดเหมือนกัน
ใครจะลงทุนแบบผม ต้องหัดเป็นคน “ไม่” perfectionist ให้ได้ ผมว่าพวกเราทุกคนล้วนถูกฝึกมาให้เป็นคนเป๊ะเว่อร์โดยเฉพาะเรื่องเงินๆ ทองๆ เวลาไปช้อปปิ้งก็ต้องทำบัญชีให้ลงตัวเป๊ะถึงเศษสตางค์ แต่ในการลงทุนทำธุรกิจนั้น เราคาดหวังอะไรที่ลงตัวขนาดนั้นไม่ได้ อย่างบริษัททำหนัง เขาไม่ได้คิดว่า หนังทุกเรื่องที่ทำจะต้องกำไรทุกเรื่อง เพราะว่าแบบนั้นคงไม่ได้ทำสักเรื่องแน่ๆ เพราะทุกเรื่องมีความเสี่ยงทั้งนั้น แต่เขาต้องใช้วิธีคิดว่า ปีหนึ่งทำเรื่องที่น่าสนใจสัก 10 เรื่อง อาจจะขาดทุนสัก 5 เรื่อง เท่าทุน 3 เรื่อง แต่อีก 2 เรื่องกำไรถล่มทลาย รวมแล้วทั้งปีก็ยังมีกำไรพอสมควร แบบนี้ก็ถือว่ายอดเยี่ยมแล้ว การลงทุนก็เหมือนกัน เราสามารถสนุกกับการเลือกหุ้นเชิงคุณภาพได้เลย เพราะอย่างไรเสีย เราจะไม่ถูกหรือผิดทั้งหมดอยู่แล้ว ขอแค่ถูกบ่อยกว่าผิด และเวลาผิดก็เจ็บตัวไม่มากเพราะไม่ได้ซื้อถัว แต่มนุษย์เงินเดือนทั่วๆไป จะไม่ถูกฝึกให้คิดแบบนั้น แต่มักจะเป็นพวกเสียน้อยเสียยากเสียมากเสียง่าย ซึ่งเป็นอุปสรรคที่สำคัญของการเป็นนักลงทุน เรา ต้องฝึกเปลี่ยนวิธีคิดด้วยถึงจะลงทุนได้ดีคับ
แนวคิดอีกอย่างหนึ่งที่ผมมองว่าเป็นลักษณะเฉพาะของปรัชญาการลงทุนของผมเลย และอยากเผยแพร่ให้นักลงทุนท่านอื่นได้มองเห็นด้วยก็คือ ในตลาดหุ้นนั้น วิธีอะไรก็ตามที่เราคิดว่าจะช่วยให้เรารวยเร็วขึ้น ที่จริงแล้วล้วนแต่เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เราขาดทุน หรือได้ผลตอบแทนต่ำลงทั้งสิ้น (คือมันจะให้ผลในทางตรงกันข้าม) เช่น การเล่นมาร์จิ้น การซื้อขายหุ้นถี่ๆ การเก็งแต่ข่าวระยะสั้นเพื่อทำรอบ การเล่นหุ้นกลับตัวเพื่อให้ได้กำไรเยอะๆ เร็วๆ หรือ การถือหุ้นตัวเดียวทั้งพอร์ต ฯลฯ แนวคิดนี้เป็นแนวคิดที่ทำความเข้าใจได้ไม่ยาก แต่ว่าทำใจเชื่อได้ยากมากๆ แต่ผมก็อยากท้าให้คุณลองสังเกตหรือทำการทดลองดูว่า มันเป็นจริงอย่างที่ผมบอกหรือไม่ ถ้าหากคุณค้นพบความลับข้อนี้ของตลาดหุ้น บอกได้เลยว่า คุณอาจจะไม่ใช่เซียนหุ้นที่เก่งที่สุดอันดับต้นๆ ของประเทศไทย แต่คุณจะเป็นคนที่ได้ผลตอบแทนจากหุ้นมากกว่าคนส่วนใหญ่ในประเทศนี้แน่นอนครับ
ผมเป็นแฟนพันธ์แท้พี่โจ๊กเลยครับ ติดตามพี่มาตลอด ^_^
ขอบคุณมากครับ ตรงใจมากเลย บทความนี้
แจ่มครับพี่ ผมชอบแนวคิดพี่ อ่านหนังสือพี่ และติดตามเพจต่างๆของพี่
ทั้งเรื่องการลงทุนและการใช้ชีวิต เอามาปรับใช้กับStyleชีวิตผม
ขอบคุณครับ
ขอบคุณครับ
แล้วถ้าเทียบกับ Peter Lynch มีจุดต่างบางอย่างสำหรับการลงทุนในตลาดหุ้นไทยมั้ยครับ
เรื่องจัดการกับความผิดพลาดอ่ะคับ อยากถามพี่โจ๊กว่า เมื่อพี่ลิมิตความเสียโดยการไม่ซื้อเฉลี่ยหุ้นตัวนั้นขาลงแล้ว ทำอย่างไรต่อไปคับ
– ปล่อยทิ้งไว้ไปเรื่อยๆ ? สนใจภาพรวมของพอร์ตมากกว่า?
– แต่ถ้าเปลี่ยนใจขายทิ้ง จะทำเมื่อไหร่? พี่ให้เวลากับหุ้นตัวนั้นพิสูจน์ตัวมันเองนานแค่ไหนคับ ?
– เท่าที่เคยติดตามพี่มานะคับ ไม่ค่อยเห็นพี่มีการตั้งลิมิต cut loss แต่ไม่จมเงินเพิ่มไปกับหุ้นตัวที่พลาด มีการบริหารแบบเปลี่ยนมาถือ cash สำหรับตัวที่พลาดไปแล้วมั้ยคับ
ส่วนตัวผมตั้งลิมิตไว้ว่าจะไม่ลงเงินไปกับหุ้นตัวใดตัวหนึ่งมากกว่า 30% ของพอร์ต ไม่ว่าจะมั่นใจมากขนาดไหนก็ตาม
แต่เวลาตัดสินใจซื้อหุ้นสักตัวอาจจะซื้อราว 15-20% ของพอร์ต ถ้าซื้อแล้วหุ้นลงหนักๆ ผมจะมีโควต้าให้ซื้อเฉลี่ยขาลงได้อีกแค่ 10-15% ( รวมทั้งหมดแล้ว จะต้องไม่เกิน 30%) ถ้าซื้อถึง 30% แล้วหุ้นยังลงต่อไปอีก ผมจะยอมรับความผิดพลาด ไม่ซื้อเพิ่มอีกโดยเด็ดขาด
แต่ที่ผ่านมาก็แทบไม่ได้ซื้อถัวเฉลี่ยเพิ่ม จะทำแค่บางกรณีที่แน่ใจจริงๆ เท่านั้น ยอมถือติดตัวแดงไว้เท่าเดิมดีกว่า ถ้าบริษัทนั้นดีจริง มันจะกลับมาได้เอง
ส่วนการคัดลอสของเก่าออกไปเลยนั้น ผมมักจะไม่ทำ เพราะส่วนใหญ่ผมซื้อแต่หุ้นเกรด B ขึ้นไปอยู่แล้ว ไม่ได้อันตรายขนาดต้อง คัดลอส การคัดลอสนั้นมีข้อเสียอยู่เหมือนกัน เพราะว่า เรามักจะอยากคัทเอาตอนที่หุ้นตัวนั้นใกล้จะกลับตัวได้พอดี
1. ขอถามหน่อยครับพี่ อะไรเป็นข้อสำคัญที่สุดในการมองอนาคตของบริษัทครับ รายไดของบริษัท ผู้บริหาร ตลาด หรืออะไรครับ
2. ต้องศึกษาอย่างไร พัฒนาตัวเองอย่างไร ให้มีมุมมอง เกี่ยวกับอนาคตบริษัทได้ดีมากขึ้นครับ
คำถามทั้งสองข้อ มีคำตอบอยู่ในหนังสือ “85 ไอเดีย” เล่มสีเขียว ของพี่โจ๊กแล้วครับ
สรุป เป็นสูตรอมตะได้ยากจริงๆ ครับ ต้องอ่านเยอะๆ ครับ ถ้าทำการบ้านมากพอ เราจะบอกได้เอง
การบริหารความเสี่ยงการลงทุน เป็นเช่นนี้เอง เห็นด้วยอย่างยิ่งค่ะกับบทความคุณนรินทร์ จากประสบการณ์ที่ลงทุนมาคือมันสามารถตอบข้อสงสัยของเราได้หลายๆครั้งน่ะคะ
ขอบคุณที่ให้ข้อคิด นำไปคิดต่อ หาคำตอบให้ตัวเองเสมอค่ะ
ข้อสุดท้ายนี่หมายถึงวิธีใดๆก็ตาม ที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายกับmass โดยเฉพาะใช่มั้ยคับ
ถ้าเราลงทุนแบบเดียวกับ mass เราย่อมได้ผลตอบแทนแบบเดียวกับ mass ด้วย
ขอบคุณมากครับ ผมชอบแนวทางของพี่เลยติดตามมาตลอด
อย่างที่พี่ว่า ธุรกิจที่รุ่งเรืองในอดีต อาจจะไม่รุ่งเรืองในอนาคตก็ได้ถ้าไม่รู้จักปรับตัว
ผมได้เรียนรู้อะไรหลายๆอย่างจากแนวทางคุณมากครับ
แล้วจึงนำมาปรับใช้กับแนวทางของตัวเอง
ผมอยากทราบว่า “การซื้อตอนราคาหุ้นลง” แต่เรายังเชื่อมั่นในธุรกิจ มีข้อเสียอย่างไรบ้างหรอครับ ?
(พอดีเห็นคุณโจ๊ะบอกว่า ไม่เห็นด้วยกับการซื้อเฉลี่ยขาลง ช่วยชี้แนะด้วยครับ ผมยังมือใหม่อยู่นะครับ)
🙂
ขอโทษนะครับ ตั้งคำถามเสร็จแล้ว เพิ่งเห็นมีคนถามคำถามที่คล้ายๆกัน อ่านคำตอบจากพี่โจ๊ะแล้วนะครับ
ขอบคุณมากครับ ผมชอบแนวนี้เหมือนกัน ปกติเวลาเลือกหุ้น ผมชอบที่มี growth เยอะ ยิ่งช่วง AEC ด้วย ถ้าเป็นธุรกิจที่กำลังขยายออกนอกประเทศ ผมยิ่งชอบเลย
เพราะคุณอาจจะคิดผิดก็ได้
ซื้อขาลง มันไม่รู้ bottom ไงคับ
ถ้า กราฟราคา เป็นตัว v ซื้อที่ขาซ้าย กับขาขวา ก็ราคาเท่าไหร่
แต่เสียสุขภาพจิตต่างกัน
ในเมื่อได้หุ้นที่ราคาเท่ากัน
การเก็บ float ไว้กับตัวเอง ก็น่าจะเป็นกลยุทธที่ยืดหยุ่นกว่า
แล้วอย่างแนวทาง “หุ้นห่านทองคำ” หรือ “หุ้นปันผล” ที่คุณเทพ รุ่งธนาภิรมย์ เค้าก็ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าถ้าลงทุน “ระยะยาว” เค้าก็สามารถมี “อิสรภาพทางการเงิน” ได้เหมือนกัน แล้วพอร์ตก็โตเหมือนกันด้วย (แต่ผมไม่รู้ว่า หลักร้อยล้าน หรือ พันล้าน)
แต่ดูเหมือนแนวทางคุณโจ๊กจะเป็นแนวทาง Growth Investing ซะมากกกว่า แล้วคุณโจ๊กก็ให้เหตุผลว่า หุ้นไทย ควรจะถือ “หุ้นเติบโต” เท่านั้น ไม่ใช่ “หุ้นปันผล” อย่างที่คนส่วนใหญ่ชอบ
หรือจริง ๆ แล้ว ไม่ใช่ว่าแนวทาง “หุ้นห่านทองคำ” หรือ “หุ้นคุณค่า” มันไม่ดี .. เพียงแต่มันอาจจะ “ไม่ถูกจริต” การลงทุนของคุณโจ๊ก ที่จะเน้นเป็น “หุ้นเติบโต” ซะมากกว่า .. (ผมเข้าใจถูกรึเปล่าเอ่ย)
แล้วคุณโจ๊ก มีความคิดเห็นแนวทาง “หุ้นคุณค่า” หรือ “หุ้นห่านทองคำ” หรือ “หุ้นปันผล” อย่างไรบ้างครับ ???
ขอบคุณ มาก ๆ ครับ
แนวหุ้นปันผลเป็นการใช้อัตราส่วนการเงินในการคัดเลือกหุ้นเป็นหลัก โดยไม่ได้เน้นมองธุรกิจ เพราะฉะนั้นเราอาจจะไปเจอหุ้นที่ปันผลสูง แต่ธุรกิจแย่ลงเรื่อยๆ ทำให้ปันผลในอนาคตลดลงก็ได้ ดังนั้น ถ้าหากจะลงทุนแนวนี้ ก็ควรซื้อทีละหลายๆ ตัว เพื่อป้องกันความเสี่ยงเยอะๆ
ถ้าเราเล่นหุ้นโดยหวังเงินปันผลเป็นหลัก เลือกหุ้นปันผลสูงๆ เช่น 5% ต่อปี เราอาจจะมองว่ามาก แต่ถ้าบริษัทปันผลเยอะๆ ก็หมายความว่า เงินที่กลับเข้าไปในบริษัทเพื่อขยายธุรกิจก็ค่อนข้างน้อยไปด้วย ถือไว้นานๆ ก็อาจจะคาดหวังกำไรเติบโตได้น้อย ลำพังเงินปันผลอย่างเดียวแค่ 5% นั่น เป็นผลตอบแทนที่ไม่คุ้มค่ากับความเสี่ยง เพราะซื้อหุ้นกู้ก็ได้ 5% เหมือนกัน แต่เงินต้นปลอดภัยกว่าเยอะ ผมจึงคิดว่า capital gain หรือ growth นั้นเป็นผลตอบแทนส่วนที่จำเป็นมากๆ สำหรับการลงทุนในหุ้น เพราะคุณต้องได้จากหุ้น 10% ขึ้นไป ถึงจะคุ้มค่ากับความเสี่ยง ซึ่งต้องอาศัย capital gain ด้วยแน่นอน
มีหุ้นปันผลอีกแนวหนึ่งคือแนว dividend growth หมายถึงคาดหวังผลตอบแทนจากเงินปันผลเหมือนกัน แต่เป็นเงินปันผลที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ด้วย ถ้าหากเป็นแนวนี้ก็ตอบโจทย์เรื่องผลตอบแทนที่คุ้มค่ากับความเสี่ยงได้ แต่เนื่องจากเป็น growth ของ dividend สรุปแล้ว มันก็คือ growth investing ที่ต้องมองที่ตัวธุรกิจและมองไปข้างหน้าอยู่ดี
ถ้าอ่านหนังสือ ฟิลลิป ฟิชเชอร์
อาจจะคิดอีกแบบอะคับ
growth คือการปกป้องการลดลงของเงินต้น
ในบ.ที่มีความแข็งแกร่ง
ลองอ่านมุมมองเกี่ยวกับปันผลของฟิชเชอ เป็นอีกมุมนึงอะคับ
สิ่งที่พี่โจ๊กเขียนมา
คล้ายกับสิ่งที่ฟิชเชอร์เขียนมาก
ในแง่ การมองศักยภาพในการเติบโต หรือแข่งขัน
มันเป็นสิ่งที่ เป็นนามธรรม
ในแง่ของคนชอบแนว พฐ
มันจับต้องไม่ได้ และไม่ตัวเลขเทียบวัดอ้างอิง
อาจจะไม่ถูกจริต
แต่ถ้าเน้นปันผล เราก็วัดgain จาก ส่วนต่างราคาก็น่าจะคาดหวังได้น้อยกว่า ด้วยป่าวคับ
ผมเชื่อว่า วิธีไหนก็ได้ ทำให้ถึง จุดหมายได้หมด
ถ้าเราหมั่นปรับปรุง ฝึกฝน ให้มันเฉียบคม ขึ้นเรื่อยๆ
เหมือน ป้าแอน ไชเบอร์ (ถ้าจำไม่ผิด)
เพียงแต่ อาจจะต้องมีกลยุทธที่เหมาะสมกับสิ่งที่เลือก
ปล ที่มั่วมาทั้งหมด ผมก็ทำไม่ได้คับ 555
ขอบคุณครับ
thank you brother
ผมชอบแนวทางการลงทุนแบบคุณนรินทร์ทั้งหมดที่เขียนมาเลยครับ ทำให้ผมเปลี่ยนวิธีคิด วิธีการลงทุนจากแบบเดิมๆที่ผมเคยชิน รู้สึกสนุกและมีความสุขกับการลงทุนในแบบคุณนรินทร์ครับ 🙂
>>เราน่าจะคิดว่าจะทำอย่างไรให้เราเสียหายน้อยที่สุดเวลาที่เราคิดผิดต่างหาก<<
พอจะยกตัวอย่างได้มั้ยครับพี่โจ๊ก หมายถึงว่าต้องมีmos ที่มากพอ หรือแบบดันโดหรือเปล่าครับ^^
ถ้าเป็นเทรดเดอร์ คงมีกฎคัทลอส ถ้าเป็นนักลงทุน ก็ต้องมีลิมิตของน้ำหนักพอร์ตสูงสุดที่เราจะซื้อหุ้นตัวนั้น เป็นต้น
ขอบคุณมากครับ ^ ^
แนวคิดที่พี่ต้องการจะแพร่นี้ได้ซึมเข้ามาในเซลล์สมองผมแล้วครับ ขอบพระคุณครับ