Skip to content

500: Olympus Dao จริงหรือหลอก?

หนึ่งในโปรเจ็ค DeFi 2.0 ที่เป็นที่ฮือฮา คือโปรเจ็คที่มีชื่อว่า Olympus Dao ซึ่งให้ผลตอบแทนแก่ผู้ที่นำเหรียญ Ohm มา stake ในระดับที่สูงมากๆ

APY 7340% นี่คือฝากเงินหนึ่งปี เงินโตขึ้น 70 เท่าเลยนะ บ้าป่าว มันจะเป็นไปได้ยังไง นี่มันแชร์ลูกโซ่หรือเปล่า?

อันที่จริง Farm ที่ให้ผลตอบแทนสูงๆ แบบนี้มีอยู่เยอะ เพียงแต่ว่ามันเป็นแค่ชั่วคราว คือสูงขนาดนั้นแค่เฉพาะช่วงแรกๆ ที่เหรียญของฟาร์มนั้นเพิ่งออกใหม่ ซัพพลายยังน้อยอยู่ แต่ดีมานด์สูงมาก สักพักหนึ่งพอคนรู้เยอะขึ้นก็แห่มาฟาร์มกัน ทำให้ผลตอบแทนลดลงอย่างรวดเร็ว ในเวลาแค่บางทีก็ไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้นเอง อันเป็นไปตามกฎการเงิน แต่ในกรณีของ Olympus Dao นั้น สามารถรักษา APY ที่สูงขนาดนั้นได้ นานหลายเดือนอย่างน่าประหลาดใจ มันเป็นไปได้อย่างไร?

ก่อนอื่นขออธิบายกลไกของเหรียญ Olympus Dao หรือเหรียญ Ohm ก่อน เหรียญ Ohm เป็นเหรียญที่ค่าของมันถูก backed ด้วยเหรียญ stablecoins ซึ่งส่วนใหญ่คือ DAI และตอนหลังๆ ก็มีเหรียญอื่นๆ รวมอยู่ด้วย เช่น ETH หรือ  LUSD มันถูกสร้างขึ้นเพื่อหนีออกจาก stablecoin แบบเก่า ซึ่งหนุนหลังด้วยเงิน Fiat เช่น US Dollar ซึ่งถูกมองว่ามีจุดอ่อน เพราะในเมื่อเราเข้าสู่โลกคริปโตเพื่อหนีออกจากเงินดอลล่าร์แล้ว ทำไมเรายังเอาเหรียญไปผูกกับเงินดอลล่าร์อยู่อีก ถ้าวันหนึ่งดอลล่าร์เน่า เหรียญก็จะเน่าตามไปด้วยอยู่ดี ทำไมเราไม่สร้างเหรียญอ้างอิงใหม่ในโลกของคริปโตขึ้นมาเลย โดยผูกกับตะกร้าของเหรียญคริปโตด้วยกันแทน

พูดอีกนัยหนึ่ง Ohm ก็คือเงินสกุลใหม่ ที่หนุนหลังด้วยทุนสำรองที่เป็นตะกร้าเงินคริปโตโดยมี Olympus DAO เป็นเหมือนธนาคารกลาง ที่เก็บรักษาทุนสำรองนี้ไว้ ดังนั้น Ohm จะไม่ลดลงต่ำกว่ามูลค่าของ Treasury ที่หนุนหลังมันอยู่

ทีนี้ทุกครั้งที่ Olympus จะ mint เหรียญ Ohm ใหม่ออกมาได้ก็จะต้องหา DAI มาเก็บไว้ใน Treasury ซึ่ง Olympus สามารถทำได้ด้วยการออกพันธบัตร (bond) ให้ใครก็ได้มาซื้อ โดยจ่ายเป็นเงิน DAI เพื่อแลกกับ Ohm ที่ Olympus สร้างขึ้นมา แต่อยู่ดีๆ ใครจะอยากเอาเหรียญดีๆ มาแลกกับเหรียญใหม่ Olympus ก็จึงต้องสร้างแรงจูงใจด้วยการให้ส่วนลด (ประมาณ 2-3% ถอนได้ภายใน 5 วัน) เพื่อให้มีคนยอมเอา DAI มาแลกกับ Ohm เพราะหวังจะได้ผลตอบแทนในส่วนนี้

อีกด้านหนึ่ง Olympus เปิดให้ใครก็ได้ที่มี Ohm ในมืออยู่แล้ว อยากจะเอามา stake เพื่อรับผลตอบแทนเป็น Ohm เหมือนกัน เพื่อช่วยลดซัพพลายของ Ohm ในตลาด โดยจะให้ผลตอบแทนในระดับที่สูงมาก (อย่างที่ฮือฮากัน) ขานี้ไม่ต้องกังวลเลยว่าจะไม่มีใครอยากมา stake เพราะว่าผลตอบแทนมันสูงมาก ซึ่ง Olympus เอาผลตอบแทนเยอะๆ ขนาดนี้จากไหนมาจ่าย คำตอบก็คือ ก็เอามาจาก Ohm ที่มีคนเอามา stake นั่นแหละ หมุนไปเรื่อยๆ  ตราบใดที่ยังมีคนอยากเอา Ohm มา stake อยู่ Olympus ก็ยังมี Ohm มากพอที่จะจ่ายผลตอบแทนได้ ตรงนี้แหละที่เริ่มฟังดูเหมือนแชร์ลูกโซ่ เพราะแชร์ลูกโซ่คือการเอาเงินคนใหม่มาจ่ายดอกเบี้ยคนเก่า หมุนไปเรื่อยๆ ตราบใดที่ยังมีคนใหม่ๆ เข้ามา ก็ยังอยู่ได้ แต่ถ้ามีใครถอนเงินออกไปเยอะๆ แชร์ก็จะล้มได้

ถ้าเรานิยามแชร์ลูกโซ่ว่าคือการเอาเงินของคนหนึ่งมาจ่ายอีกคนหนึ่งไปเรื่อยๆ Olympus ก็จัดว่าเป็นแชร์ลูกโซ่อย่างหนึ่ง แต่อย่าลืมว่า ถ้าเราจะใช้นิยามนี้ ธนาคารพาณิชย์ก็เป็นแชร์ลูกโซ่อย่างหนึ่งเช่นกัน เพราะธนาคารปล่อยกู้มากกว่าทุนเป็น 10 เท่า แต่ระบบยังอยู่ได้เพราะว่าไม่มีคนมาถอนเงินพร้อมๆ กันเท่านั้นเอง

แต่สิ่งที่ทำให้ Olympus ต่างจากแชร์ลูกโซ่ทั่วไปก็คือ กลไกที่ถูกออกแบบมาให้ไม่มีใครอยาก Exit (ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของ DeFi 1.0 ที่ทุกคนอยากเทเหรียญทิ้ง) กลไกที่ว่านี้อธิบายได้ด้วยตารางผลตอบแทนตามทฤษฎีเกมข้างต้น (ขออนุญาตไม่อธิบายตาราง เพราะจะยืดยาว ใครอยากเข้าใจมันจริงๆ สามารถไปซื้อหนังสือทฤษฎีเกมของผมมาอ่านได้ ใน ookbee app ครับ อิอิ)  ซึ่งกลยุทธ์เด่น (dominant strategy) ของผู้เล่นทุกคนในเกมนี้คือการ stake ต่อไป (3,3) หรือแม้ว่าบางคนจะไม่ใช้กลยุทธ์เด่นด้วยเหตุผลใดก็ตาม ก็ยังมีโอกาสเพียงแค่ 1 ใน 9 สถานการณ์เท่านั้น ที่จะภาวะเกิด lose-lose situation (-3,-3) ที่จะ ทำให้ระบบล้มได้ ตัวเลข (3,3)ในตารางนี้ยังกลายมาเป็น meme ยอดฮิตของ Olympus Dao อีกด้วย

พูดอีกแบบก็คือ Olympus เป็นแชร์ลูกโซ่ที่ล้มได้ยากกว่าแชร์ลูกโซ่ เนื่องจากไม่มีแรงจูงใจให้คนบางคนอยากถอนเงิน การฝากต่อไปเป็น win-win situation ของทุกคน เพราะไม่มีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ อย่างไรก็ตาม ผมก็เห็นว่า ทฤษฎีเกมจะใช้งานได้ก็ต่อเมื่อทุกคนเล่นอย่างมีเหตุผล แต่ในความเป็นจริง โดยเฉพาะในตลาดสินทรัพย์ ความไร้เหตุผลเกิดขึ้นได้เสมอทั้งในด้านบวกและลบ ฉะนั้นสุดท้ายแล้ว ถ้ารอไปเรื่อยๆ ก็จะต้องเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดของอย่างที่ทำให้ระบบนี้ล่มได้ในที่สุด เพียงแต่ช้าและยากขึ้นเท่านั้น

คุณอาจจะสงสัยว่า เราจะขาดทุนยังไง ในเมื่อค่าของ Ohm ถูกหนุนหลังด้วยคริปโตอื่นอยู่มิใช่เหรอ แต่ที่จริงแล้ว ราคาที่ซื้อขาย Ohm ในตลาดตอนนี้อยู่สูงกว่ามูลค่าคริปโตที่หนุนหลังมันอยู่ราวห้าเท่าตัว

ดังนั้นถ้าใครอยากลองเล่นดูก็แนะนำว่าให้ใช้เงินน้อยๆ เท่านั้น อย่า all-in เป็นอันขาด ตัวเลขหนึ่งที่น่าสนใจคือระบบจะมีการคำนวณค่า Runaway ให้ดู มีหน่วยเป็นวัน ซึ่งหมายถึง ระบบมีทุนสำรองที่จะสามารถจ่ายดอกเบี้ยได้แบบชิวๆ ติดต่อกันอีกอย่างน้อยกี่วันโดยไม่มีปัญหา ซึ่ง ณ ปัจจุบันอยู่ในระดับ 300 กว่าวัน หรือเกือบปีเลยทีเดียว ถือว่าดูดีทีเดียว เราอาจจะตั้งใจว่า จะลอง stake สัก 1/2 ปี แล้วเลิกก็ได้ ได้แค่ไหนก็เอาแค่นั้น ที่จริงถ้าครบ 300 วัน ค่า Runaway ก็จะยืดต่อไปอีก แต่ไม่แนะนำให้ stake ตลอดไป เพราะว่ายิ่งนาน โอกาสที่ระบบจะเกิดอุบัติเหตุขึ้นย่อมเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน เหมือนการเต้นรำหลบห่ากระสุน ต่อให้หลบเก่งยังไง แต่ถ้าเวลาผ่านไปนานพอ ก็ต้องมีวันโดนอยู่ดี

Olympus อยู่บนเครือข่าย Ethereum ดังนั้นค่าแก็สจะสูงมาก ถ้าจ่ายไม่ไหว แนะนำให้ไปลองโปรเจ็ค fork ที่อยู่ใน Avalanche แทน มีชื่อว่า Wonderland  ค่าแก็สถูกกว่ากันเยอะ หรือถ้าใครชอบ Fantom ก็มี Spartacus หรือถ้ารอหากได้ เข้าใจว่าใน Terra ก็กำลังจะมีโปรเจ็คแบบนี้ภายใต้ชื่อ WhiteWhale ด้วย

แนวคิดของ Olympus อาจจะฟังดูเสี่ยงๆ แต่รวมๆ แล้วผมก็ยังชอบโลกของคริปโต เพราะมันเต็มไปด้วยการทดลองไอเดียใหม่ๆ ซึ่งย่อมก็ต้องมีดีบ้าง ไม่ดีบ้าง สำเร็จบ้าง ล้มเหลวบ้าง เป็นธรรมดา มันคือวิถีที่ควรจะเป็นของระบบนิเวศน์ที่ส่งเสริมการสร้างสรรค์นวัตกรรมครับ

แนะนำให้อ่าน more on Olympus DAO เพิ่มเติมด้วยครับ

Not A Financial Advise

5 thoughts on “500: Olympus Dao จริงหรือหลอก?”

  1. หมีหัวโต

    น่าติดตามมากครับ protocol treasuries น่าจะเป็นแนวทางของ DEFI 2.0 แน่นอนละครับ เอาไปใช้กันแทบจะทุกเชน แก้ปัญหาทั้งด้านการที่จะต้องแบ่ง yield ส่วนนึงให้ LP staker และความไม่แน่นอนของ LP return + impermanet loss

  2. Pingback: WhiteWhale Protocol – Dekisugi.net

  3. Pingback: more on Olympus DAO – Dekisugi.net

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *