Skip to content

513: DOT and its tokenomics

ในบรรดา Blockchain ที่มาท้าทาย Ethereum นั้น Polkadot เป็นตัวหนึ่งที่ค่อนข้างจะคิดการใหญ่ และมีความแตกต่างจากตัวอื่นค่อนข้างมาก

จุดเด่นนอกเหนือจากการที่ผู้ก่อตั้งคือ Gavin Wood ซึ่งเป็นอดีต CTO ของ Ethereum เองแล้ว ตัวระบบเองยังค่อนข้างแตกต่าง ตั้งแต่การมี Kusama เป็น Playground สำหรับนักพัฒนาให้ทดลองก็ที่จะเข้าไปทำงานจริงบน Polkadot จะได้ไม่มีปัญหา (บ่งบอกถึงความเป็น Perfectionist ของ Gavin แล ะหมายถึงการพัฒนาที่ค่อนข้างช้าด้วย) ไปจนถึงการออกแบบโครงสร้างให้ประกอบด้วย Parachains ซึ่งมีทั้งส่วนที่เหมือนและแตกต่างกับ Shards ของ Ethereum แต่เป็นอภิมหาโปรเจ็คเหมือนกัน

อีกส่วนหนึ่งซึ่งโดยส่วนตัวผมมีความประทับใจมากเป็นพิเศษคือระบบ Parachain Auction (Crowdloans) ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงปลายปี 202- เป็นการออกแบบกติกาและกระบวนการประมูลที่เฉียบแหลม เพราะรู้จักสร้างแรงจูงใจ (ทางเศรษฐศาสตร์) เพื่อผลักดันให้โปรเจ็คที่มาอยู่บน Polkadot เป็นโปรเจ็คที่มีคุณภาพ (ตัดสินโดยแรงสนับสนุนของมหาชน) และผู้พัฒนาโปรเจ็คเหล่านั้นก็ต้องใช้ทรัพยากรระบบที่มีอยู่อย่างคุ้มค่าที่สุดด้วย (เพราะมีต้นทุนในการเข้ามา) รวมทั้งยังมีกลไกที่ป้องกันมิให้กลุ่มทุนใหญ่กว้านซื้อ Parachain ไปหมด ทั้งหมดนี้เป็นความแตกต่างที่ไม่พบในเชนอื่นๆ เลย

อย่างไรก็ตาม โปรเจ็คดีก็ไม่ได้แปลว่าเหรียญจะดีตามเสมอไป ยังขึ้นอยู่กับ Tokenomics ของเหรียญอีกว่าจะเชื่อมโยงกับความสำเร็จของโปรเจ็คมากน้อยแค่ไหน มาดู Tokenomics ของ DOT กันหน่อย

ปัจจุบัน DOT มีประมาณ 1 พันล้านเหรียญ ที่บอกว่าประมาณ เพราะว่า DOT เป็นเหรียญที่ไม่มี Capped ซึ่งดูจะเป็นจุดอ่อนที่สำคัญของเหรียญนี้ เพราะไม่ใช่แค่มีเหรียญออกใหม่ทุกปีเท่านั้น แต่ยังออกมาในปริมาณที่มากด้วย คือ 10% ต่อปีเลยทีเดียว ถือว่าสูงมากๆ เพราะโปรเจ็คจะต้องสร้างดีมานด์ใหม่ๆ ให้ได้อย่างน้อย 10% ทุกปี เพียงเพื่อที่จะมาชดเชยซัพพลายที่เพิ่มขึ้นอย่างเดียว และทุกวันนี้ คนที่ถือ DOT อยู่ ก็แทบจะหาที่ฟาร์มที่ให้ผลตอบแทนสูงๆ ไม่ได้เลย ไม่รู้จะเอาเหรียญไปทำอะไร ทำให้ยิ่งมีต้นทุนในการถือยาว มากขึ้นไปอีก

แต่วิธีการหลักที่จะดำรงมูลค่าของ DOT ไว้ให้ได้ก็คือ การ stake เหรียญ เพราะเหรียญที่เกิดใหม่ทุกปี จะเข้าไปอยู่ในมือของ Stakers เป็นส่วนใหญ่ ทำให้แม้ว่าเหรียญจะไม่มี capped แต่ถ้าเรา stake ไว้ตลอดเวลา เราก็จะไม่ถูก dilute ซึ่งก็นับว่าช่วยแก้ปัญหาตรงนี้ไปได้เยอะ สำหรับคนที่ตั้งใจจะถือเหรียญนี้ยาวๆ

กติกาในการแจกเหรียญใหม่ให้กับ staker ของ Polkadot ก็มีความแตกต่างด้วยเช่นกัน เพราะอาศัยทฤษฎีเกมในการจูงใจให้คน stake เหรียญไว้ในระดับที่ระบบมีความปลอดภัย โดย stakers จะได้ผลตอบแทนมากหรือน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับว่ามีคนมา stake กับระบบมากแค่ไหนในเวลานั้น

ถ้ามีเหรียญถูก stake อยู่ 50% ของทั้งหมด เหรียญใหม่ทั้ง 10% จะถูกแบ่งให้กับ staker ตามสัดส่วน แต่ถ้ามากหรือน้อยกว่า 50% นี้ emission ส่วนหนึ่งจะถูกจ่ายเข้ากองทุนพัฒนา Polkadot ซึ่งถือเป็นข้อดีอีกอย่างของระบบนี้ เพราะช่วยทำให้มีเงินทุนสำหรับพัฒนาระบบอีกทางหนึ่ง และส่วนที่เหลือจะแบ่งให้ staker

แต่สรุปแล้ว staker จะได้ apy เกิน 10% (สูงกว่า inflation) ก็ต่อเมื่อมีคนมา stake น้อยกว่าประมาณ 55% ของทั้งหมด ทำให้ staker ยังรักษามูลค่าของเหรียญที่ถือครองไว้ถ้า แต่ถ้ามีคนมา stake มากกว่านั้น ก็จะแพ้เงินเฟ้อ

DOT ยังถูกใช้ในการทำ Parachain Auctions ซึ่งเกิดขึ้นทุกๆ สองปี โดยเหรียญของผู้ชนะ จะต้องโดน locked ไว้ 2 ปี ทำให้ supply ของเหรียญหายไปอีก ดังนั้นยิ่ง parachain auction ได้รับความสนใจจากสังคมมากเท่าไร ก็ยิ่งดีต่อเหรียญ เพราะจะมีเหรียญถูก locked ไว้มากขึ้น เป็นการโยงความสำเร็จของโปรเจ็คกับมูลค่าของเหรียญในทางอ้อม และผู้ชนะเองก็ไม่ได้เสียเงิน เพียงแต่เสียโอกาสในการนำเหรียญไปหาผลตอบแทนในช่วงที่เหรียญโดน locked ไว้เท่านั้น (opportunity cost)

โครงสร้างของ Polkadot ประกอบด้วย Relay Chain เป็นเหมือนแกนหลักของระบบ ที่มี Parachain ไม่เกิน 200 วงมาต่อ โดย Relay Chain จะทำหน้าที่ด้านความปลอดภัยให้กับ Parachain เพื่อให้แต่ละ Parachain เอาเวลาไปโฟกัสเรื่องอื่นๆ แทน หรือเรียกเล่นๆว่า Relay Chain เป็น L0 ส่วน Parachain ทั้งหลายคือ L1 รวมทั้ง Relay Chain ยังทำหน้าที่เกี่ยวกับการสื่อสารข้าม Parachains ด้วย

มีข้อน่าสังเกตว่า (ถ้าผมเข้าใจถูกนะ) ในแต่ละ Parachain จะจัดการเรื่องค่าแก็สกันเอง ไม่ได้ใช้ DOT เป็นสื่อกลาง ซึ่งมีข้อดีก็คือ Dev มีแรงจูงใจมากกว่า เพราะสามารถสร้าง wealth ให้ตัวเองได้ด้วยการออกเหรียญของตัวเอง และผู้ใช้ก็สะดวกมากกว่า เพราะไม่ต้อง maintain เหรียญหลายเหรียญไว้จ่ายค่าแก็ส ส่วนเหรียญ DOT เองจะถูกใช้จ่ายในการทำธุรกรรมข้าม Parachain เท่านั้น แต่ข้อเสียก็คือ use case ของ DOT ย่อมน้อยลง และไม่ได้เชื่อมโยงกับความสำเร็จของ “แต่ละ” Parachain โดยตรง ซึ่งค่อนข้างจะต่างกับในกรณีของ Eth 2.0 ซึ่งเหรียญ Eth จะถูกใช้อย่างกว้างขวางในทุกๆ shards

ดูเหมือน DOT จะมีข้อเสียที่สำคัญมากคือเงินเฟ้อ 10% ทำให้มันน่าสนใจน้อย ในโลกที่ทุกคนแสวงหาเงินที่ไม่เฟ้อ อย่างไรก็ตามโอกาสที่เหรียญจะพุ่งได้ก็คือ ถ้าหาก parachain auction ประสบความสำเร็จมากๆ ทำให้มีเหรียญถูกล็อกไว้มากมาย จนเกิดภาวะขาดแคลนเหรียญในตลาดขึ้นมา แต่ถ้ามันไม่ได้ฮิตขนาดนั้น ก็คงเหนื่อย

เร็วๆ นี้มีโปรเจ็คที่ชนะการประมูล Parachain ไปแล้ว 6 ตัวแรก ซึ่งถือว่าค่อนข้างประสบความสำเร็จมาก ทำให้เริ่มมีเหรียญถูกล็อกไปแล้วกว่าร้อยล้านเหรียญ ต้องรอดูว่าการประมูลรอบต่อๆ ไปจะประสบความสำเร็จเหมือนรอบแรก และทำให้มีเหรียญถูกล็อกมากขึ้นเรื่อยๆ หรือไม่ หรือว่ากระแสแผ่วลงจนต้านทานเงินเฟ้อไม่ไหว

ไม่ใช่คำแนะนำในการลงทุน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *