Skip to content

517: User Adoption is key.

ช่วงที่ผ่านมาพอดีได้มีโอกาสถอยออกจากตลาดคริปโตชั่วคราว เพื่อหันกลับมามองในมุมมองแบบคนนอกมองเข้ามาดูบ้าง จะได้ไม่กาวจนเกินไป ก็ทำให้มีโอกาสได้หันกลับมาถามคำถามสำคัญกับตัวเองคือ มูลค่าของเหรียญคริปโตพวกนี้มาจากไหนกันแน่

แน่นอนว่าคริปโตไม่มีเงินปันผล ดังนั้นจึงไม่สามารถวัดมูลค่าจาก Cash Flow ได้ ราคาของเหรียญขึ้นอยู่กับ Demand Supply ในช่วงเวลานั้นๆ เป็นหลัก แบบเดียวกับทองคำซึ่งไม่มีเงินปันผลหรือดอกเบี้ย แต่ก็มีค่าของมันอยู่ซึ่งกำหนดโดยตลาด

ในแง่ของ Supply นั้น ขึ้นอยู่กับสเปคของแต่ละเหรียญว่ากำหนดไว้ยังไง เช่น มีทั้งหมดกี่เหรียญ ใครเป็นคนได้รับแจกเหรียญเหล่านั้นเป็นครั้งแรกบ้าง มี vesting period หรือไม่ เหรียญมี inflation หรือป่าว ฯลฯ สิ่งเหล่านี้มีผลต่อ Supply ในตลาด เช่น ช่วงที่เหรียญของ Dev หรือนักลงทุนกลุ่มใหญ่หลุด vesting period ก็อาจมีแรงขายทำกำไรออกมา ทำให้ราคาร่วงลงแรง หรือการที่เหรียญมี inflation ก็ทำให้มีเหรียญเกิดใหม่อยู่ตลอดเวลา เป็นการด้อยค่าเหรียญที่มีอยู่แล้วในระบบ เป็นต้น

ในแง่ของ Demand ก็ขึ้นอยู่กับว่ามีคนซื้อเหรียญเหล่านั้นไปด้วยเหตุผลอะไรได้บ้าง ถ้าซื้อเหรียญมาเก็บไว้เพื่อหวังว่ามันจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นในอนาคต แบบนี้ก็เป็น Demand แบบหนึ่ง แต่เป็น demand ที่มาจากการเก็งกำไร (ซึ่งอาจจะไม่ยั่งยืน) หรือถ้าเป็นพวกเหรียญ smart contracts คนจำนวนหนึ่งก็อาจจะต้องซื้อเหรียญมาเก็บสำรองไว้เพื่อใช้จ่ายค่าแก็ส เป็นต้น พูดอีกนัยหนึ่งก็คือยิ่งเหรียญมี use case มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีเหตุผลให้คนซื้อเหรียญไปเก็บมากขึ้น ช่วยดันราคาเหรียญในตลาดให้สูงขึ้นได้

มุมมองของผมก็คือว่า บางครั้งดูเหมือนเราจะให้ค่าเหตุผลด้าน Supply มากเกินไป สิ่งที่ส่งผลกับราคาเหรียญได้อย่างมีนัยสำคัญมากกว่าจริงๆ แล้วคือ Demand

ตัวอย่างเช่น บ่อยครั้งผมมักได้ยินเหตุผลในตลาดว่า เหรียญนั้นเหรียญนี้จะขึ้นไปได้ 10x ในอนาคต ด้วยเหตุผลที่ว่ามันเป็นเหรียญที่ deflationary หรือเงินเฟ้อติดลบ แต่พอมานั่งคิดดูดีๆ แล้ว เหรียญที่ deflationary ก็มักจะอยู่ในอัตราปีละ 1-2% เท่านั้น ช่วงให้มีเหรียญในระบบลดลงแค่ปีละ 1-2% แต่ในโลกคริปโต นักลงทุนคาดหวังกำไรจากมูลค่าเหรียญที่เพิ่มขึ้นกันปีละ 50-100% หรือมากกว่านั้นอีก (to the moon) ดังนั้นการที่เหรียญหดตัวแค่ปีละ 1-2% จึงไม่น่าเป็นเหตุผลที่เพียงพอที่ช่วยดันราคาเหรียญให้ขึ้นกันได้มากขนาดนั้น หลายๆ เหรียญมีราคาพุ่งขึ้นมาแล้ว 1000x หรือ 10000x ในอดีต

หรือแม้แต่พวกกลไกการ burn เหรียญต่างๆ ก็เช่นเดียวกัน ปริมาณเหรียญที่โดนเผากันแต่ละครั้ง มันเป็นแค่เศษเสี้ยวของจำนวนเหรียญทั้งหมด แน่นอนมันอาจมีผลบ้างในระยะสั้น แต่ในระยะยาว การที่เหรียญหนึ่งจะไปดวงจันทร์ได้ การ burn แทบไม่ใช่เหตุผลเลย

บางคนบอกว่าเหรียญนั้นเหรียญนี้มีค่ามาก เพราะว่าถ้านำไป stake แล้วจะได้ผลตอบแทน 10% ต่อปี เปรียบเสมือนได้เงินปันผล 10% ต่อปี ถ้าคิดเป็น P/E ก็จะหามูลค่าของเหรียญได้ อะไรทำนองนี้ แต่จริงๆ แล้วการ stake แล้วได้เหรียญเพิ่ม ไม่อาจทำให้เหรียญนั้นๆ มีมูลค่ามากขึ้นได้ ไม่ว่าจะได้มากแค่ไหน เพราะการ stake ก็เป็นเพียงแค่วิธีที่กำหนดว่าเหรียญใหม่ที่เกิดขึ้นในแต่ละปีจะเป็นของใคร ถ้าเหรียญนั้นมี inflation ปีละ 10% ทุกคนที่ stake ก็จะได้รับแจกเหรียญรวมกัน 10% ด้วย ซึ่งก็เท่ากับว่ากลุ่มคนที่ stake คือคนที่ได้เหรียญเพิ่มมาเท่ากับ inflation พอดี หรือเพียงแค่สามารถรักษามูลค่าความเป็นเจ้าของของตัวเองเอาไว้ให้เท่าเดิมเท่านั้น ไม่ได้รวยขึ้น การที่เหรียญนั้นๆ stake ได้ผลตอบแทนสูงๆ จึงไม่ได้ทำให้เหรียญนั้นมีค่ามากขึ้นเลย

ผมมองว่า เหตุผลด้าน Demand เป็นเหตุผลที่มีนัยสำคัญมากกว่า Supply หลายเท่าตัว ซึ่ง Demand เกิดขึ้นได้จาก user adoption กล่าวคือ ยิ่งมีคนซื้อเหรียญเหล่านั้นไปเก็บหรือใช้งาน ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดๆ ก็ตาม ก็ยิ่งทำให้เหรียญนั้นมีค่ามากขึ้น ลองคิดถึงเหรียญที่มี user adoption แค่ 1000 คน เทียบกับเหรียญที่มี user adoption 1,000,000 ล้านคน demand ย่อมต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ และมากพอที่จะพาเหรียญไปดวงจันทร์ได้

เวลาคิดถึง demand เรามักจะคิดถึง use case เช่น เหรียญใช้ซื้อของได้ ใช้จ่ายค่าแก็สได้ ใช้ซื้อ NFT เป็นต้น นั่นก็ถูกต้อง แต่จริงๆ แล้ว ยังมี demand อีกรูปแบบหนึ่ง ที่อาจจะมีผลมากเสียยิ่งกว่า ได้แก่ เหตุผลเชิง emotion เช่น เรื่องของความเชื่อ แรงศรัทธา ฯลฯ บางทีเพียงแค่การถูกทำให้เชื่อว่าเหรียญนั้นจะมีอนาคต ก็ทำให้เหรียญนั้นมีราคาพุ่งขึ้นได้มากกว่าการที่เหรียญนั้นๆ มี use case เยอะๆ เสียอีก หลักฐานที่เห็นได้ชัดก็คือ Bitcoin เองทำอะไรไม่ได้เลยนอกจากเป็น store of value แต่กลับมีมูลค่ามากกว่า Ethereum ซึ่งทำ smart contract ได้ และมี use case มากกว่าอย่างมากมาย เป็น 10 เท่า เพราะว่า Bitcoin มีสถานะของเหรียญแรกของโลก เป็นชื่อที่ฝังอยู่ในหัวคนมากกว่า เป็นที่รู้จักของคนนอกโลกคริปโตมากกว่า Mindshare จึงสร้างผลกระทบต่อราคาได้มากกว่าเทคโนโลยีเสียอีก หรืออย่างที่เราเห็นๆ กันอยู่ว่า เหรียญ meme หลายตัว ซึ่งไม่ได้มี technology หรือ use case อะไรเลย แต่ก็มีมูลค่าได้มากกว่าเหรียญของ blockchain ที่มีเทคโนโลยีเจ๋งๆ หลายๆ ตัวได้ ก็เพราะว่ามันเข้าไปอยู่ในหัวของคนจำนวนมากกว่าได้ (แต่จะยั่งยืนรึเปล่า อีกเรื่องหนึ่ง)

Mindshare ทำให้เกิด User Adoption และเหตุผลที่ทำให้เกิด mindshare นั้นมีได้หลายอย่าง ตั้งแต่การเป็นเหรียญแรก (First Mover Advantage) การมี community ที่แข็งแรง (ดมกาวกันเยอะ) การมีเจ้าลัทธิที่น่าเลื่อมใส รวมถึงการมีทุนอัดฉีดเยอะๆ ทำให้ developer อยากเข้ามา การที่เจ้าของเหรียญหา partner เก่งทำให้โครงการดูน่าเชื่อถือ หรือแม้แต่การมีเงินหนักๆ มาโฆษณาให้คนรู้จักเพิ่มขึ้น

กล่าวโดยสรุป ถ้าจะคิดว่าจะซื้อเหรียญอะไรเก็บไว้ดี เพื่อหวังว่ามันจะมีราคาเพิ่มขึ้นได้มากที่สุดในอนาคต อย่ามัวแต่ สนใจเหตุผลด้าน Supply แต่ให้สนใจที่เหตุผลด้าน Demand เป็นหลัก ลองคิดดูว่าเหรียญไหนจะมี user adoption ที่สูงขึ้นได้อีกเยอะๆ ในอนาคต (ไม่ใช่เยอะอยู่แล้ว แต่ต้องเยอะขึ้นได้อีกอย่างมีนัยสำคัญ) และ user adoption เหล่านั้นจะมาจากเหตุผลอะไร ซึ่งไม่จำกัดอยู่เพียงแค่ use case เท่านั้น แต่เหตุผลในเชิงอารมณ์ก็สำคัญ และอาจจะสำคัญมากกว่า

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *