ในโลกคริปโต การ Stake เหรียญ คือการเอาเหรียญไปฝากไว้กับแฟลตฟอร์ม แล้วจะได้ผลตอบแทน คล้ายกับเวลาที่เราเอาเงินไปฝากธนาคารแล้วได้ดอกเบี้ย
การ stake ทำให้เหรียญดูมีพื้นฐาน เพราะมีผลตอบแทน แต่สิ่งที่ควรพิจารณาคือ ผลตอบแทนที่แฟลตฟอร์มเอามาแจกเรานั้น (ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในรูปเหรียญที่เรานำไป stake นั้นแหละ) แฟลตฟอร์มเอามาจากไหน? เพราะมันบ่งชี้ถึงปัจจัยพื้นฐานว่ามีจริงแค่ไหน
ในบล็อกเชนที่มี consensus เป็นแบบ Proof of Stake จะต้องมี Node ที่ทำหน้าที่ Validate ธุรกรรมที่เกิดขึ้นในบล็อกเชน การ Stake จะหมายถึงการที่ Validator เอาเหรียญไปวางเพื่อเป็นการประกันว่า Validator จะไม่ขี้โกง และจะดูแล uptime ให้ดี ถ้าทำไม่ดี ก็มีสิทธิ์จะโดนยึดเหรียญที่เอามา Stake ได้ ช่วยให้ระบบมีเสถียรภาพมากขึ้น เพราะการเป็น Validator ต้องมีต้นทุนจะทำเล่นๆ ไม่ได้ ในทางตรงกันข้าม เมื่อ Validator ทำตัวดี ก็จะได้รับผลตอบแทนในรูปของส่วนแบ่งค่าธรรมเนียมในระบบ มากน้อยตามจำนวนเหรียญที่เอามา Stake
การ stake เหรียญเหล่านี้อาจมองได้ว่ามีปัจจัยพื้นฐานรองรับ เพราะเหรียญที่เอามาแจกเกิดจากรายได้ค่าฟีของระบบ เหมือนเป็นผลตอบแทนของการทำธุรกิจอย่างหนึ่ง ตัวอย่างของเหรียญแบบนี้ก็เช่น DOT,MATIC, AVAX, FTM, LUNA เป็นต้น
สำหรับแฟลตฟอร์ม DeFi คำว่า stake จะมีความหมายอีกอย่างหนึ่ง
ต้องอธิบายก่อนว่า ในโลกของ DeFi เราสามารถเอาคู่เหรียญมาวางกับทาง DeFi platform เพื่อสร้าง liquidity ให้กับการเทรด และเราจะได้ส่วนแบ่งค่าธรรมเนียมการเทรดคู่เหรียญนั้น เป็นค่าตอบแทน โดยเวลาเอาคู่เหรียญมาวาง เราจะได้เหรียญ LP ออกไป เพื่อเป็นหลักฐานว่าเราเอาเหรียญมาวาง (เรียกการทำแบบนี้ว่า Liquidity Providing หรือ Farming) เหรียญ LP ที่เราถืออยู่จะมีค่ามากขึ้นเรื่อยๆ ตามค่าธรรมเนียมที่ได้แบ่งมา
แต่เพราะส่วนแบ่งค่าธรรมเนียมที่ว่านี้ค่อนข้างน้อยมาก เช่น 1-2% ต่อปีเท่านั้น ดังนั้นเพื่อจูงใจให้คนอยากเอาเหรียญมาวางมากขึ้น ทางแพลตฟอร์มก็เลยสร้างเหรียญของตัวเองขึ้นมาแจกเพิ่มเป็นโบนัสพิเศษ ซึ่งการจะได้โบนัสพิเศษนี้ไม่อัตโนมัติ แต่จะต้องเอา LP ถืออยู่มา stake เพื่อรับผลตอบแทน ซึ่งผลตอบแทนที่ได้จะอยู่ในรูปของเหรียญ DeFi ของแฟลตฟอร์มนั้นเอง ซึ่งเยอะมาก เป็น 20-50% เลยก็มี (ขั้นตอนนี้เรียกว่า Staking)
เมื่อก่อนตอนผมเพิ่งที่รู้จัก DeFi ใหม่ๆ ผมไม่รู้ว่า Liquidity Providing กับ Staking ต่างกันยังไง แถมยังสับสนเวลาเห็น APR เพราะไม่รู้ว่ามันคือผลตอบแทนของทั้งสองอย่างรวมกันหรือว่าแค่ Staking อย่างเดียว (แต่ตอนนี้รู้แล้วว่าโดยทั่วไปหมายถึงผลตอบแทนในส่วนของ Staking เท่านั้น)
ปัญหาของการจ่ายผลตอบแทนเป็นเหรียญ DeFi คือ มันเป็นเหรียญที่แฟลตฟอร์มเสกขึ้นมาจากอากาศ ส่วนใหญ่ไม่มี use case ใดๆ นอกจากทำให้มีสิทธิ์ในการออกเสียงในแฟลตฟอร์ม (ใครแคร์?) ดังนั้นคนที่รับแจกเหรียญมาก็มักจะขายทิ้งเอาทุนคืน ไม่มีเก็บยาว ทำให้เกิดข้อสงสัยในปัจจัยพื้นฐานของการ stake รูปแบบนี้
ตัวอย่างของเหรียญแบบนี้ก็เช่น Sushi และเหรียญ DeFi อื่นๆ อีกมากมาย
บ่อยครั้งแฟลตฟอร์มจะมีการสำรองเหรียญล่วงหน้าบางส่วนเพื่อเก็บไว้แจก stakers เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ทำบางสิ่งบางอย่าง เช่น ใครเอาเหรียญมา stake ในวันเปิดตัวของแฟลตฟอร์มก็จะได้รับแจกเหรียญนี้ ส่วนใหญ่แล้วเหรียญพวกนี้ก็คือการเสกขึ้นมาจากอากาศ เช่นเดียวกัน เพียงแต่มีการจำกัดจำนวนไว้ล่วงหน้า ทำให้เหรียญไม่ถูกด้อยค่าอย่างไม่มีที่สิ้นสุด แต่บางแฟลตฟอร์มก็ใช้วิธีเสกเหรียญใหม่ขึ้นมาทุกปี พูดง่ายๆ ก็คือ มี inflation นั้นเอง แล้วเอาเหรียญเกิดใหม่เหล่านั้นมาแจก staker กรณีแบบนี้ก็น่าสนใจเหมือนกันว่าพื้นฐานรองรับอยู่ตรงไหน เพราะในขณะที่ stake ได้รับแจกเหรียญเพิ่มขึ้น ทำให้รู้สึกว่าเหรียญมีผลตอบแทนสูง แต่ตัวเหรียญเองก็ด้อยค่าลงเพราะ inflation ก็สูงเช่นกัน สุดท้ายแล้วอาจจะไม่คุ้มกันเลยก็ได้ ตัวอย่างเช่น เหรียญ CAKE ที่เสกขึ้นมาใหม่ตลอดเวลา เพื่อเอามาแจกชาวนา สุดท้ายเหรียญก็ไม่สามารถรักษาค่าของมันไว้ได้ เพราะพิมพ์แบงก์ออกมามากเกินไป
กล่าวโดยสรุป เหรียญที่สามารถ stake เพื่อรับผลตอบแทนได้นั้น ช่วยให้เหรียญมี use case มีพื้นฐานรองรับ แต่สิ่งที่ควรตรวจสอบต่อไปก็คือ แฟลตฟอร์มเอาเหรียญจากไหนมาแจก ถ้าเก็บมาจากค่าธรรมเนียม ถือว่าดีที่สุด เพราะไม่ได้ทำให้ supply เพิ่มขึ้น ถ้าเอามาจากเหรียญที่สำรองไว้แจกล่วงหน้า ก็ถือว่ารองลงมา เพราะแม้ว่าจะเสกเหรียญขึ้นมาแจก แต่อย่างน้อยก็มี limit ชัดเจน (แต่ก็มีคำถามตามมาอีกด้วยว่า ถ้าแจกหมดแล้ว แรงจูงใจหายไป ความนิยมในแฟลตฟอร์มจะแย่ลงรึเปล่า) ที่แย่สุดก็น่าจะเป็นการเสกเหรียญขึ้นมาใหม่ทุกปี เช่นถ้าเสกขึ้นมีใหม่ปีละ 15% เอามาแจก stake ให้ได้ผลตอบแทนปีละ 15% สุดท้ายแล้วคือไม่ได้อะไรเลย เพื่อเหรียญที่ได้มา ก็แค่ชดเชยกับ inflation ได้พอดี