Skip to content

519: WhiteWhale Protocol Part 2

อัพเดทจาก ตอนที่แล้ว

หลังจาก WhiteWhale Protocol ได้เปิดตัวไปด้วยการ IDO เหรียญ Whale Token ด้วยวิธีการที่ช่วยให้ตลาดค้นหาราคาที่เหมาะสม (ลดโอกาสขาดทุนให้คนที่จองเหรียญ) และได้เปิดตัวบริการแรกคือ UST Vault ซึ่งเป็นการรับฝาก UST เพื่อให้ WhiteWhale เอาไปฝากกับ Anchor ให้ได้ผลตอบแทน 20% ในแบบที่มีความปลอดภัยมากขึ้น ไปแล้วนั้น

ล่าสุด WhiteWhale มีแผนจะเปิดตัว LUNA Vault ซึ่งเป็นการรับฝาก LUNA เพื่อให้ WhiteWhale เอาไปหาผลตอบแทนในรูปแบบต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการ arbitrage อาทิเช่น คอยดูราคา LUNA เทียบกับ bLUNA ว่ามีส่วนต่างเกิดขึ้นหรือไม่ แล้วทำกำไรจากส่วนต่าง หรือแม้แต่ราคาของ LUNA เองเทียบหลายตลาด และรวมไปถึงการ arbitrage ราคาของ yLUNA, pLUNA, cLUNA ที่ Prism Protocol เป็นต้น

ส่วนต่างราคาพวกนี้แคบมากๆ แต่อย่าลืมว่า WhiteWhale เป็นกองทุน และเป็น bot จึงสามารถทำกำไรทีละมากๆ และทำได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งแต่เดิม นักลงทุนรายย่อยอย่างเราคงทำไม่ได้

อีกเรื่องหนึ่งที่อยากจะเล่าเกี่ยวกับโปรโตคอลนี้คือเหรียญ Whale เพราะมีนวัตกรรมที่น่าสนใจเช่นกัน

ปกติเวลาที่แพลตฟอร์มต้องการสร้างแรงจูงใจให้คนถือเหรียญ Token ของแพลตฟอร์ม มักใช้วิธีการให้มา stake เพื่อรับผลตอบแทน ที่อาจจะเป็นส่วนแบ่งค่าธรรมเนียมบ้าง หรืออาจเป็นเหรียญที่ทางแพลตฟอร์มสำรองล่วงหน้าไว้เพื่อแจกบ้าง ปัญหาของวิธีการนี้คือ พอคนได้ผลตอบแทนมาก็มักจะเททิ้ง ขายทำกำไรหมด ไม่มีความผูกผันกับแพลตฟอร์ม หรืออยากถือเหรียญเหล่านั้นไว้ในระยะยาว

WhiteWhale ใช้แนวคิดที่ต่างออกไป เวลามีรายได้จากค่าธรรมเนียมเกิดขึ้น แทนที่จะจ่ายออกไปให้กับ Whale Stakers เลย ทางแพลตฟอร์มจะเก็บไว้เป็นกองทุน (Treasury) ซึ่งกองทุนนี้จะถูกนำไปหาผลตอบแทน เพื่อให้มีมูลค่ามากขึ้นไปอีก โดยทุกครั้งที่คิดว่าจะเอาเงินไปทำอะไร ก็จะต้องผ่านการโหวตโดย Whale Stakers ก่อน แม้ว่าคนที่ถือเหรียญ Whale ไว้จะไม่ได้มีสิทธิเหนือ Treasury แต่เมื่อไรก็ตามที่ Market Cap ของ Whale ลดลงต่ำกว่ามูลค่าของ Treasury ผู้ถือเหรียญสามารถโหวตให้มีการเอาเงินกองทุนออกมาซื้อเหรียญคืนในตลาด เพื่อพยุงราคาเหรียญได้ กลไกนี้จะช่วยทำให้ทุกคนมั่นใจว่าเหรียญจะมีค่าไม่ต่ำกว่าค่าๆ หนึ่ง ทำให้เหรียญมีมูลค่าทางอ้อม และในเวลาเดียวกัน ก็จะจูงใจให้คนถือเหรียญระยะยาวมากกว่า เพราะหวังมูลค่าของ Treasury ที่จะเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ (แนวคิดนี้น่าจะยืมมาจาก Olympus DAO)

ณ ตอนที่เขียนบทความนี้ Market Cap ของ Whale อยู่ที่ $17M ในขณะที่ มูลค่าของ Treasury หักออกด้วยมูลค่าของ Whale ใน Treasury เอง (backing value) อยู่ที่ $16.2M หรือมีพรีเมี่ยมอยู่เล็กน้อย (แต่ถ้าคิด fully diluted market cap จะถือว่าแพง เพราะเพิ่งมีเหรียญปล่อยออกมาในระบบแค่ 7% เท่านั้น)

ผมชอบแนวคิดนี้มาก เพราะพยายามให้รางวัลคนที่อยากถือเหรียญไว้ยาวๆ อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่าผู้ถือเหรียญจะไม่มีความเสี่ยง เพราะการโหวตอาจจะไม่ผ่านเสมอไป หรือการเอา Treasury ไปลงทุน ก็อาจให้ผลขาดทุนกลับมาก็เป็นได้ รวมทั้งการที่ราคาตลาดของเหรียญอยู่สูงกว่ามูลค่าของ Treasury อยู่ตลอดเวลา สุดท้ายแล้ว เราก็ต้องซื้อแพงกว่ามูลค่าของ Treasury ทำให้มี capital ส่วนหนึ่งของเรา ที่ไม่ได้หนุนหลังด้วย Treasury จึงยังขาดทุนได้เสมอ (เช่น ในกรณีของ DeFi 2.0 ที่ราคาเหรียญวิ่งขึ้นไปเกิน Treasury หลายเท่า สุดท้ายแล้วก็เลยต้องขาดทุนหนักอยู่ดี)

แต่อย่างน้อยมันก็เป็นอีกกรณีศึกษาที่น่าสนใจ และก็ยังดีกว่าเหรียญ DeFi ทั่วๆ ไป ที่ไม่มีกลไกอะไรที่จะช่วยรักษามูลค่าเหรียญในระยะยาวเลย

ไม่ใช่คำแนะนำในการลงทุน

1 thought on “519: WhiteWhale Protocol Part 2”

  1. Pingback: Utility ของ $Whale, $Kuji, $Prism – Dekisugi.net

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *