มองย้อนกลับไปในอดีต

กลับไปย้อนดูตัวเองเมื่อห้าปีก่อน ตอนที่ตัดสินใจยุติพอร์ตทดลอง 7thLTG ตอนนั้น มันทำใจยากมาก เพราะเป็นความตั้งใจแน่วแน่ที่เริ่มต้นไว้ตั้งแต่แรกว่า จะลงทุนต่อเนื่องให้ได้ติดต่อกันสิบห้าปี การยุติพอร์ตก่อนเวลาอันควรจึงเป็นเสมือนความล้มเหลวอย่างหนึ่ง

แต่เหตุผลที่ตัดสินใจกลืนน้ำลายตัวเองในเวลานั้นเป็นเพราะเราได้สูญเสียความเชื่อมั่นใน SET Index ไปจนหมดสิ้นแล้ว ไม่ใช่แค่ดัชนีเท่านั้น แต่คือหุ้นทุกตัวด้วย เรามองไม่เห็นหุ้นไทยที่มีคาแรคเตอร์ที่ชอบและอยากร่วมหัวจมท้ายกับมันเลยสักตัวเดียวมาตั้งแต่ก่อนหน้านั้นราว 3-4 ปี ในเมื่อไม่เหลือม้าที่ชอบแล้ว ก็ไม่รู้ว่าจะไปสนามม้าทำไม ไม่อยากลงทุนแบบซักกะตาย ไร้จิตวิญญาณ

อันที่จริง ผมควรจะยุติพอร์ตนั้นไปตั้งแต่ก่อนหน้านั้น 3-4 ปี คือตั้งแต่เราเริ่มไม่เหลือหุ้นไทยที่ชอบแล้วนั่นแหละ แต่เพราะว่าความยึดติด เราเติบโตมากับตลาดหุ้นแห่งนี้ เราจึงมี emotional attachment กับมัน มันเป็นเหมือนบ้าน เป็นเหมือนศาสนา การจะทำใจเลิกนับถือศาสนา ละทิ้งบ้านเกิด มันเป็นเรื่องที่ยากมากสำหรับปุถุชน  แต่สุดท้ายแล้ว มันก็จบลงด้วยการจากลาอยู่ดี ถ้ายังยื้อต่อไปคงเกิดภาวะหมดไฟ

บทเรียนอย่างหนึ่งที่ได้คือ เรื่องที่ยากที่สุดเกี่ยวกับการลงทุน ไม่ใช่การแสวงหาความรู้ แต่คือการสลัดความรู้เก่าออก เพราะความรู้เก่ามักมีความยึดติดพ่วงมาด้วยเสมอ การยึดมั่นในหลักการนั้นอาจไม่ใช่สิ่งที่ควรทำเสมอไป มีเส้นบางๆ ที่คั้นกลางระหว่างความยึดมั่นในหลักการกับการไม่ยอมรับความเปลี่ยนแปลง ซึ่งเลวร้ายพอๆ กัน เดี๋ยวนี้ผมเลิกใช้การลงทุนเป็นศาสนาแล้ว หลักการลงทุนสำหรับผมเป็นแค่เครื่องมือไม่ใช่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ถ้าเครื่องมือยังใช้ได้ดีอยู่ก็ใช้ไป แต่ถ้าวันหนึ่งมันใช้งานไม่ได้แล้ว ผมก็สลัดทิ้งได้ทันที ไม่ต้องมีเยื้อใย เพราะเป็นแค่เครื่องมือ ไม่ใช่ศาสนา

วันนี้มองกลับไป ไม่ได้รู้สึกแล้วว่าเป็นความล้มเหลวที่ยุติพอร์ต ตรงกันข้ามกลับรู้สึกว่าเป็นความผิดพลาดด้วยซ้ำที่ยุติมันช้าไปหลายปี จะพยายามไม่ผิดพลาดแบบนั้นอีกแล้ว

โลกยุคต่อไป

20 ปีที่ผ่านมาคือยุค Globalization ใครลงทุนกับธุรกิจที่หาประโยชน์จากการที่คนทั่วโลกเชื่อมถึงกันมากขึ้นก็จะรวยได้

20 ปีต่อจากนี้ไปจะเป็นยุค AI Digital Economy ธุรกิจจะแข่งกันด้วยข้อมูล ธุรกิจไหนหาข้อได้เปรียบจากการมีข้อมูลที่ดีกว่าคู่แข่งได้ก็จะฆ่าคู่แข่งตายหมด ธุรกิจที่ยังใช้ประสบการณ์หรือสัญชาตญาณของผู้บริหารจะไม่มีทางสู้คู่แข่งที่ใช้ข้อมูลได้เลย

ในระดับประเทศ ประเทศที่เป็นเจ้าของเทคโนโลยีจะได้เปรียบ สามารถใช้เทคโนโลยีล่าประเทศอื่นเป็นเมืองขึ้นทางเศรษฐกิจได้เลย โลกจะเปิดหากันน้อยลง ต้องพึ่งพาตัวเองมากขึ้น ซึ่งผมมองว่ามีแค่สองประเทศคือ สหรัฐฯ และจีน ที่มีเทคโนโลยีของตัวเองและเป็นประเทศที่ใหญ่พอที่จะพึ่งพาตัวเองได้ทั้งหมดด้วย ส่วนที่เหลือคือเสียเปรียบเพราะต้องพึ่งพาเทคโนโลยีจากประเทศมหาอำนาจ แต่ในเวลาเดียวกันประเทศมหาอำนาจไม่ต้องพึ่งหรือต้องการอะไรจากประเทศเหล่านี้เลย ธุรกิจแบบเก่าจะยังมีอยู่บนโลกแต่จะกลายเป็นธุรกิจที่เป็น Red Ocean ไม่เติบโต เป็น commodity ไม่น่าสนใจ

การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอยู่เสมอ

ทุกวันนี้โลกของเราเข้าสู่ยุค Digital Economy เต็มตัวแล้ว ไม่ใช่ที่เมืองไทย แต่คือที่เมืองไทยด้วย ลองสังเกตุดูจะเห็นว่า ทุกวันนี้เราทำทุกอย่างในชีวิตผ่านมือถือเกือบหมดแล้ว เหลือแค่วิ่งออกกำลังกายแค่นั้นที่ยังทำผ่านหน้าจอไม่ได้ (แต่ก็ยังมีพวกสมาร์ทวอชมาช่วยเก็บข้อมูลการเต้นของหัวใจอยู่ดี)

ปัญหาก็คือในด้านธุรกิจ ไทยเราไม่ได้เป็นเจ้าของธุรกิจดิจิตอลที่ให้บริการผู้บริโภคของเราเองเลย ไม่ว่าจะเป็นสื่อโซเซียล แฟลตฟอร์มขายสินค้า หรือบริการส่งอาหาร ที่คนไทยใช้ล้วนอยู่ในมือของต่างชาติทั้งหมด ซึ่งที่จริงก็อาจไม่ใช่แค่ประเทศไทยเท่านั้นที่เป็นแบบนี้ แต่คือแทบทุกประเทศที่ไม่ได้มีเทคโนโลยีด้านดิจิตอลเป็นของตัวเอง ในโลกยุคดิจิตอล ประเทศมหาอำนาจด้านเทคโนโลยีจะยึดอำนาจทุกอย่างไว้ในมือ ซึ่งหลักๆ ก็มีแค่สหรัฐฯ กับจีน ส่วนประเทศที่เหลือก็มีสภาพเป็นแค่เมืองขึ้นทางเศรษฐกิจ ที่คอยป้อนลูกค้าให้เขา โดยที่ประเทศมหาอำนาจเองไม่ได้ต้องการหรือพึ่งพาอะไรอย่างอื่นจากเราเลย

นั่นทำให้ที่่ผ่านมา ผมเลิกลงทุนในหุ้นไทย แล้วหันไปลงทุนหุ้นเทคในอเมริกาแทน ซึ่งก็ไม่ใช่เพราะว่าเป็นคนมีวิสัยทัศน์อะไรหรอก แต่หลายปีที่ผ่านมา ผมหาหุ้นไทยสไตล์ที่ชอบและอยากลงทุนได้น้อยลงเรื่อยๆ จนสุดท้ายก็เหลือหุ้นไทยที่ชอบเลย จนต้องปิดพอร์ตไปโดยปริยาย ยังไงผมก็ชอบลงทุนในธุรกิจที่ผมมองเห็นศักยภาพการเติบโตในอนาคต  ไม่ได้ชอบหุ้นปันผลงาม ธุรกิจมั่นคงหมดแล้วอะไรแบบนั้น (ซึ่งใครชอบแบบหลังก็ไม่ได้ผิด มันเป็นแค่ความถนัดของแต่ละบุคคลเท่านั้น)

แต่การข้ามโลกจากการลงทุนจากตลาดที่มีหุ้น old economy ไปสู่ new economy ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ความรู้ใหม่ๆ ยังเป็นเรื่องที่แสวงหากันได้ แต่ที่ยากกว่าก็คือการเปลี่ยนวิธีคิด เพราะเราอยู่กับโลกเก่ามานาน นานจนหลักการลงทุนได้หยั่งรากลึกในใจจนกลายเป็นเหมือนศาสนา พอต้องเปลี่ยนไปสู่สภาวะแบบใหม่ เจอธุรกิจอีกแบบหนึ่งที่ไม่มีอะไรเหมือนเดิมเลย การจะทำใจยอมรับว่าความเชื่อแบบเดิมไม่ได้เหมาะกับสภาวะแบบใหม่ มันเป็นสิ่งที่ทำได้ยากมาก เหมือนการละทิ้งศาสนายังไงอย่างงั้น

ความเป็นจริงก็คือว่า ธุรกิจในโลกใหม่นอกจากจะไม่เหมือนกับโลกเก่าแล้ว หลายๆ อย่างถึงขั้นตรงกันข้ามกันเลยด้วยซ้ำ หุ้นโรงงานเราอาจจะอยากได้หุ้นที่ P/BV ไม่ต่ำ เพราะอย่างน้อยถ้าธุรกิจไม่ดีขึ้นมา แต่เครื่องจักรของโรงงานก็ยังมีมูลค่าขายทอดตลอดต่ำกว่าราคาหุ้นที่เราซื้อมา แต่พอเป็นธุรกิจดิจิตอล อาคารสำนักงานในงบดุลเหล่านั้นแทบไม่มีค่าอะไรเลยถ้าบริษัทปิดตัว บางบริษัทเช่าออฟฟิศเอาด้วยซ้ำ หรือบางธุรกิจ P/BV สูงๆ ยิ่งสะท้อนว่าบริษัทสามารถสร้างสินทรัพย์ที่มองไม่เห็น (แบรนด์ สิทธิบัตร แฟลตฟอร์ม ฯลฯ) ได้มาก ถ้าเอาวิธีคิดแบบเดิมไปเลือกแต่หุ้นที่ P/BV ต่ำๆ ก็เหมือนบังคับให้ตัวเองซื้อแต่หุ้นโลกใหม่ที่คุณภาพต่ำๆ

เราถูกอบรมมาให้ชอบหุ้น P/E ต่ำๆ ยิ่งต่ำยิ่งดี ซึ่งนั่นคือคำสอนที่ make sense สำหรับธุรกิจในโลกเก่าที่กำไรค่อนข้างจะแน่นอน คาดการณ์ได้ง่ายพอสมควร แต่ในโลกดิจิตอล ธุรกิจต้องเริ่มต้นด้วยการสร้างนวัตกรรมก่อน ซึ่งมีแต่ค่าใช้จ่าย รายได้แทบไม่มี ถ้าเป็นธุรกิจแฟลตฟอร์มก็ต้องสร้างฐานลูกค้าก่อน ทำให้บ่อยครั้งต้องยอมขาดทุน จนถึงวันหนึ่งที่ใหญ่จนคู่แข่งตามไม่ทันแล้ว ลูกค้าหนีไปไหนไม่ได้แล้ว เพราะ network effects บริษัทถึงค่อยเริ่มต้นเก็บเกี่ยวทำกำไร ถ้าเราเอาความคิดแบบเก่าไปจับว่าธุรกิจที่ดีต้องมีกำไร กระแสเงินสดต้องเป็นบวก เราก็จะพลาดหุ้นดีๆ เหล่านั้นในช่วงเริ่มต้นของธุรกิจไปทั้งหมด แล้วก็ไปซื้อเอาธุรกิจเหล่านั้นในวันที่พวกมันเติบโตเต็มที่แล้ว ซึ่งแพงกว่าช่วงแรกๆ เป็นร้อยเท่า และกลับเป็นช่วงที่อันตรายกว่าด้วยซ้ำ เพราะพวกมันก็พร้อมจะถูก disrupt โดยคลื่นลูกใหม่ได้เสมอ

ในช่วงที่หุ้นเทคโนโลยีกำลังเริ่มต้น (ช่วงต้นของ s-curve) P/E แทบไม่มีความหมายใดๆ เพราะกำไร (หรือที่จริงคือขาดทุน) เหล่านั้นเป็นแค่สิ่งที่ผู้บริหารของบริษัทเลือกเอง เป็นจุด optimal ระหว่างการสร้างเติบโตกับเงินทุนของบริษัท หลายๆ บริษัทสามารถทำกำไรได้เลยในจุดนี้ แต่เลือกที่จะยังไม่ทำ เพราะต้องการสร้าง user ให้เติบโตก่อน แต่เราไปสำคัญผิด คิดว่า P/E ต่ำ (หรือติดลบ) แสดงว่าเป็นธุรกิจที่ไม่มีศักยภาพ (ความคิดแบบเก่า) ทำให้พลาดโอกาสที่จะลงทุนกับบริษัทเหล่านั้นในช่วงแรกๆ ของ s-curve ไปอย่างน่าเสียดาย

การลงทุนในธุรกิจที่สร้างนวัตกรรม สิ่งที่สำคัญกว่าคือการวิเคราะห์ว่าบริษัทกำลังทำอะไรอยู่ นวัตกรรมหรือแฟลตฟอร์มที่บริษัทกำลังสร้างมีศักยภาพในการเติบโตในอนาคตมากแค่ไหน เป็น qualitative analysis แทบทั้งหมด งบการเงินแทบเชื่อถืออะไรไม่ได้ และไม่ได้บอกอะไรเกี่ยวกับคุณค่าในอนาคตของธุรกิจเลย แต่การที่เราอยู่กับโลกเก่ามาตลอดชีวิต การที่จะให้เลิกสนใจงบการเงินไปเลย (เกือบ) มันยากมากที่จะทำใจ เหมือนเรากำลังทำสิ่งที่ต้องห้ามบางอย่าง เหมือนทำบาปในศาสนาของเรา

ในโลกเก่า แนวคิดเรื่องการตีแตก เป็นหนึ่งในแนวคิดที่สำคัญมาก จงเข้าใจธุรกิจให้ได้อย่างถ่องแท้ ประเมินความเสี่ยงจนทะลุปรุโปร่ง และเมื่อเจอหุ้นแบบนั้นก็ให้ลงทุนให้หนัก ทำถูกสักครั้งก็จะเปลี่ยนชีวิตเราได้เลย แต่ในโลกใหม่ คุณค่าของหุ้นส่วนใหญ่อยู่ที่อนาคต ไม่มีใครรู้อนาคต การทำนายผลประกอบการในอนาคตเป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้ บางทีเจ้าของบริษัทเองยังไม่รู้เลย แนวคิดเรื่องการตีแตกหุ้นจึงไม่ใช่เครื่องมือที่เหมาะ โอกาสผิดพลาดมีสูงกว่าถูก และการที่ตลาดหุ้นเทคส่วนมากมีหุ้นให้เลือกเยอะกว่ามากๆ ความจำเป็นที่จะต้องตีหุ้นให้แตก เพื่อให้เวลาคิดถูกแล้วผลตอบแทนของพอร์ตรวมจะได้โตเต็มที่ ก็ไม่จำเป็นขนาดนั้น เราสามารถกระจายความเสี่ยงออกไป เลือกลงทุนในหุ้นหลายๆ ตัวแต่ดีมากทุกตัวย่อมปลอดภัยกว่า bet ทุกอย่างกับหุ้นตัวเดียว ไม่จำเป็นต้องตีแตกกับหุ้นตัวเดียวให้ได้แล้วมาเสี่ยงกับการที่ทั้งพอร์ตต้องมาขึ้นกับหุ้นแค่ไม่กี่ตัว

การที่พอร์ตของหุ้นโลกใหม่สามารถกระจายได้ ความจำเป็นที่จะต้องมานั่งอ่านงบการเงินโดยละเอียดทุกบรรทัดของหุ้นทุกตัวที่ลงทุนก็แทบไม่จำเป็น เพราะถ้าหุ้นบางตัวจะเสียหายหนักไปเพราะว่าผู้บริหารซุกอะไรไว้ มันก็ไม่ได้ทำให้พอร์ตเสียหายหนัก เพราะไม่มีหุ้นตัวไหนที่เราลงทุนในน้ำหนักที่สูงมากในพอร์ตเลย เราสามารถเอาเวลานั่งแกะงบการเงินทีละบรรทัดเหล่านั้นไปศึกษาเรื่องเทคโนโลยี เรื่องตลาด ฯลฯ แทนได้ แต่ก็อีกนั่นแหละ เพราะว่าเราถูกสอนมาตลอดชีวิตให้อ่านรายงานประจำปีอย่างละเอียด เราย่อมรู้สึกผิดไม่มากก็น้อยที่จะบริหารจัดการเวลาของเราให้เหมาะกับตลาดหุ้นยุคใหม่ กลายเป็นอุปสรรคที่เราไม่รู้ตัว

การลงทุนกับหุ้นนวัตกรรม เราสามารถคาดหวังกำไรจากหุ้นแต่ละตัวเป็นหลายเด้งได้ ดังนั้นกลยุทธ์การบริหารพอร์ตที่เหมาะสมคือการถือหุ้นยาวๆ และ ignore ความผันผวนของราคาหุ้นในระยะสั้น เพราะถ้าเราคิดแต่ว่ามีกำไรเมื่อไรจะรีบขาย หรือกลัวหุ้นเหวี่ยงลงตลอดเวลา สุดท้ายแล้วเราจะขายหุ้นพวกนั้นทิ้งหมด เพราะหุ้นนวัตกรรมมีราคาที่ผันผวนมากอยู่แล้วโดยธรรมชาติของมัน ถ้าเราเจอหุ้นที่อีกสิบปีจะโตขึ้นได้ 100 เท่า คนที่จะถือไปถึงวันนั้นได้ ต้องเป็นคนที่คิดว่ายังไงก็ไม่ขาย เพราะถ้าไม่คิดแบบนั้น ส่วนใหญ่แล้วจะขายตั้งแต่กำไร 1-2 เท่าไปหมดเกลี้ยงแล้ว แต่คนส่วนใหญ่จะไม่สามารถอยู่กับความคิดแบบยังไงก็ไม่ขายได้ เพราะว่าความผันผวนระหว่างทางมันรุนแรงมาก กำไรที่ขึ้นมาตั้งเยอะ ถ้ามันหายไปหมด เราก็จะโทษตัวเองว่าทำไมไม่ขาย ไม่สามารถทนอยู่อย่างนั้นต่อไปเรื่อยๆ ได้ นี่คือความยากที่แล้วจริงของหุ้นเทคโนโลยี

ซึ่งวิธีคิดแบบยังไงก็ไม่ขาย ไม่ค่อยเหมาะกับหุ้นโลกเก่า เพราะหุ้นโลกเก่าส่วนใหญ่แล้วยากมากที่พื้นฐานของบริษัทจะเปลี่ยนอย่างมีนัยสำคัญ การขึ้นๆ ลงๆ ของกำไรแบบธรรมดาเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้มากกว่า ถ้าใครถือแล้วไม่ขาย โอกาสที่หุ้นเหล่านั้นจะขึ้นไปได้เป็นสิบเป็นร้อยเท่ามีน้อยมากจริงๆ ส่วนใหญ่แล้วจะกลับมามาใหม่อย่างถาวรมากกว่า ดังนั้นมีกำไรก็ขายเลยเป็นวิธีคิดที่เหมาะกับโลกเก่ามากกว่า และการที่เราเห็นโลกเก่ามาตลอดชีวิต การที่เราจะเปลี่ยนความคิดเมื่อเปลี่ยนไปลงทุนในโลกใหม่จึงทำได้ยาก เพราะภาพเก่าๆ มันติดตาเราอยู่ กลายเป็นอุปสรรคในโลกใหม่อีกแล้ว

วิธีมองหุ้นในโลกใหม่จึงแตกต่างกับโลกเก่าเป็นอย่างมาก หลายอย่างคือตรงกันข้ามกันเลย การเปลี่ยนวิธีคิดคือเรื่องที่ยากที่สุดแล้วในโลกของการลงทุน ก่อนหน้านี้เคยคิดอยากเผยแพร่เรื่องพวกนี้ให้คนอื่นฟัง แต่ช่วงหลังๆ เริ่มไม่กล้า เพราะไม่รู้ว่าคนเราจะเปลี่ยนวิธีคิดได้จริงรึเปล่า เช่น ถ้าไปบอกคนอื่นว่า หุ้นเทคไม่ควรขายหนีขาลง เพราะนั่นคือต้นเหตุที่ทำให้เราพลาดครั้งที่พวกมันขึ้นอย่างถาวร แล้วถ้าคนอื่นไปทำตาม แล้วเวลาต้องทนกับขาลงจริงๆ พวกเขาจะรับได้มั้ย เวลาหุ้นในพอร์ตลงมันเจ็บปวดมากนะ เขาจะมาด่าเรารึเปล่า เราไม่มีทางรู้เลยว่าจิตใจของใครทนได้แค่ไหน หลังๆ ก็เลยเริ่มคิดว่าเรื่องวิธีลงทุนควรเก็บเอาไว้เป็นวิธีการส่วนตัวดีกว่า  ถ้าจะแชร์กับใครเรื่องหุ้นเทคฯ ก็แชร์เฉพาะข้อมูลหุ้นเฉยๆ ส่วนเขาจะเอาข้อมูลเหล่านั้นไปทำประโยชน์อะไร หรือจะมีวิธีบริหารพอร์ตของตัวเองยังไงก็แล้วแต่เขาเลย วิธีการบางอย่างอาจจะถูกต้องในหลักการ แต่เวลาปฏิบัติจริงๆ ถ้าจิตใจไม่เข้มแข็งพอ ทำไม่ได้ สูญเสียวินัยตลอด หลักการเหล่านั้นก็กลับกลายเป็นหลักการที่ผิดอยู่ดี ตอนหลังผมเชื่อว่า หลักการที่ถูกต้อง ต้องเป็นหลักการที่ปฏิบัติได้ ภายใต้สมมติฐานที่ว่าเราเป็นมนุษย์ปุถุชนที่มีความโลภความกลัวด้วย เพราะต่อให้ถูกต้องยังไง ถ้าทำตามไม่ได้จริงก็ไม่มีประโยชน์

Learn, Unlearn and Re-learn

 

เราก็แค่วนเวียนอยู่ในวงจรที่ไม่มีวันสิ้นสุด

ณ ตอนที่กำลังเขียนบทความนี้อยู่ โลกการลงทุนกำลังอยู่ในช่วงที่ทุกคนมองร้าย แทบไม่เหลือใครที่คิดว่าตลาดจะขึ้น ไปทางไหนก็มีแต่คนมองลง ใครที่คิดว่าตลาดจะขึ้น พูดอะไรจะไม่มีใครเชื่อถือ

มันเป็นสภาพที่ตรงกันข้ามกับเมื่อหนึ่งปีที่แล้วโดยสิ้นเชิง เวลานั้นทุกคนมองขึ้นกันหมด โลกของเรากำลังกลายเป็นดิจิตอล Clubhouse เต็มไปด้วยห้องที่พูดเรื่องหุ้น Tech นักลงทุนเข้าฟังกันแน่นขนัด ซึ่งถ้ามองย้อนกลับไป ตอนนั้นทุกคนกำลังมองผิด เพราะหลังจากนั้นตลาดไม่ได้ขึ้น แต่กลับลงอย่างแรง

อาจเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งของตลาดที่มันจะเหวี่ยงกลับไปกลับมาในแบบที่สุดโต่งมากเกินไปเสมอ และสิ่งที่ทำให้เป็นแบบนั้นก็คือ “ราคา” ราคาที่ส่งผลต่อความคิดของผู้คนเกี่ยวกับปัจจัยพื้นฐานมากที่สุด (แทนที่ความคิดของคนเกี่ยวกับปัจจัยพื้นฐานที่ควรจะส่งผลต่อราคา)

ก่อนหน้านี้ เฟดลดดอกเบี้ยเหลือ 0 แถมพิมพ์เงินแบบ unlimited เป็นการปั่นตลาดไปในทางขึ้น ยิ่งราคาขึ้นไปเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้คนยิ่งมั่นใจในปัจจัยพื้นฐานมากเท่านั้น (พื้นฐานคงจะดีจริงๆ ไม่งั้นราคาคงไม่ขึ้นไปขนาดนี้) ยิ่งคนมั่นใจก็ยิ่งเอาเงินซื้อ ราคาก็ยิ่งขึ้น ราคาที่ขึ้นก็ยิ่งทำให้คนมั่นใจมากขึ้นอีกไม่รู้จบ เป็นภาวะฟองสบู่ขาขึ้น

ตอนนี้เฟดก็กำลังทำสิ่งเดียวกัน แต่ในทิศทางที่ตรงกันข้าม ตอนที่เฟดเพิ่งพูดใหม่ๆ ว่าจะเริ่มขึ้นดอกเบี้ย ทุกคนก็คิดว่าคงลงไม่เท่าไหร่ พื้นฐานเศรษฐกิจยังดูแข็งแกร่ง พอเฟดขึ้นดอกเบี้ยไปเรื่อยๆ ไม่ยอมหยุด ราคาหุ้นที่ย่อลงมาครั้งแล้วครั้งเล่าก็ค่อยๆ เปลี่ยนความคิดของคน จากที่มองบวก ก็เริ่มมองเป็นกลางๆ และกลายเป็นมองลบในที่สุด ตอนนี้แทบไม่เหลือใครแล้วที่ยังมองบวกอยู่ ความคิดของคนกำลังเหวี่ยงไปอีกทางหนึ่ง ไม่รู้เหมือนกันว่า หนนี้จะยังไปต่ออีกนานขนาดไหน เพราะพฤติกรรมหมู่เป็นเรื่องยากที่จะทำนายได้ว่าจะจบลงเมื่อไหร่

การมองบวกหรือมองลบไม่ใช่ปัญหา ทุกคนสามารถมีมุมมองเกี่ยวกับตลาดได้ แต่ปัญหาจริงๆ มันอยู่ตรงที่ การมองบวกหรือมองลบของเราได้รับอิทธิพลจาก “ราคา” ซึ่งที่ถูกมันควรจะเป็นตรงกันข้าม มุมมองของเราเกี่ยวกับปัจจัยพื้นฐานต่างหากที่ควรจะส่งผลต่อราคา ไม่ใช่กลับกัน เวลาตลาดเขียวทุกวัน เราก็จะยิ่งมีมุมมองบวกต่อปัจจัยพื้นฐานมากขึ้นเรื่อยๆ สื่อก็จะนำเสนอแต่ข่าวดี เพราะข่าวที่สอดคล้องกับสิ่งที่นักลงทุนเชื่ออยู่ก่อนแล้วจะได้ยอดวิวที่ดีกว่า ข่าวดีที่เต็มตลาด (เพราะเลือกมองแต่ข้อดี) ก็ยิ่งทำให้คนยิ่งเชื่อมั่น

เวลานี้ข่าวร้ายเต็มตลาดไปหมด หรือข่าวดีก็ถูกตีความเป็นข่าวร้าย ช่วงเวลาแบบนี้จะมีพวก Doomsayer โผล่ออกมาเต็มไปหมด เพราะช่วงเวลาแบบนี้พูดแล้วมีคนเชื่อ ราคาที่ลงทุกวันทำให้คำทำนายร้ายๆ ต่างๆ ดูน่าเชื่อถือ ทุกอย่างจะต้องเลวร้ายลงกว่านี้อีก ช่วงนี้มีแต่ข่าวร้ายที่ได้ยอดวิว ใครยิ่งทายร้ายเท่าไหร่ก็จะยิ่งดูหล่อ เป็นกูรู เป็นศาสดาพยากรณ์  นักลงทุนกำลังผิดพลาดแบบเดิมกับเมื่อหนึ่งปีที่แล้ว แต่หนนี้ในทิศทางที่ตรงกันข้าม น่าสังเกตว่าเวลา Doomsayer ออกมาพูดว่า วิกฤตกำลังจะมา พวกเขาจะทำนายถูกเสมอ เพราะว่าไม่ได้บอกว่าเมื่อไหร่ การทายว่าวิกฤตจะเกิดขึ้นในที่สุด ยังไงก็จะถูก เพราะวิกฤตคือสิ่งที่อยู่คู่กับวัฏจักรเศรษฐกิจอยู่แล้ว ถ้ารอไปเรื่อยๆ สุดท้ายแล้วยังไงก็ต้องเกิดขึ้นสักปี

ผมยังจำตอนที่โควิดมาใหม่ๆ ได้ ตอนนั้นหุ้นไทยลงจาก 1,7xx จุด เหลือแค่ 9xx จุดในเวลาแค่ไม่ถึงสามเดือน ตอนนั้น Doomsayer ออกมาบอกว่า โควิดจะทำให้บริษัทต่างๆ พากันล้มละลายเป็นโดมิโน่ ระบบการเงินของโลกจะล่มสลาย ซึ่งฟังดูแล้วก็น่าเชื่อ เพราะเห็นราคาหุ้นลงทุกวันเหมือนทุกอย่างกำลังจะพังลงจริงๆ วันสุดท้ายที่หุ้นไทยลงแรงที่สุด เป็นวันที่มันลงแรงมากๆ จนทำให้ผมรู้สึกว่า โอกาสที่มันจะลงต่อไปอีกน่าจะเท่ากับ 100% แต่ก็น่าแปลกมากที่วันสุดท้ายที่หุ้นหลุด 1000 จุด กลับกลายเป็นวันที่หุ้นถูกที่สุด สุดท้ายแล้วระบบการเงินที่ล่มสลายก็ไม่ได้เกิดขึ้น มิหน่ำซ้ำเฟดยังออก unlimited QE ออกมา ทำให้ราคาหุ้นวิ่งกลับขึ้นไปอย่างแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ แปลกแต่จริงที่วันที่ตลาดดูน่ากลัวที่สุด มักจะเป็นวันที่หุ้นน่าซื้อมากที่สุดด้วย

น่าสนใจว่าตอนนี้ก็มีอะไรคล้ายๆ กัน มี Doomsayer เรียงหน้ากันออกมาบอกว่า ครั้งนี้จะไม่เหมือนทุกครั้ง Recession ครั้งนี้จะรุนแรงและยาวนานมากกว่าครั้งไหนๆในอดีต the winter is coming ตลาดยังลงไม่ถึงครึ่งเดียว ฯลฯ ทุกอย่างกำลังวนเวียนกลับมาที่เดิม เราเป็นแค่ตัวเลมมิ่ง ที่มีความจำระยะสั้น และไม่เคยได้รับบทเรียนจากความผิดพลาดในรอบก่อนๆ

7LTG end of Year 12 Commentary

สถานะพอร์ต 7LTG ณ จบปีที่ 12

  1. ก่อนขาย MINT, MINT-W8, MINT-W9, BTS-W3 (21/9/2021)

2. หลังขาย (22/9/2021)

3. เงินปันผลสะสมตั้งแต่เริ่มต้น

ปีนี้เป็นอีกปีหนึ่งที่เราสรุปพอร์ตตอนกำลังอยู่ท่ามกลางวิกฤตโควิด ดัชนีกลับมาได้บ้างแล้วแต่ก็ยังอยู่ที่ประมาณ 1600 จุด  ถือว่าค่อนข้างซวยที่มาเจอวิกฤตอีกครั้งในช่วงที่ใกล้จะครบ 15 ปี เหมือนต้องถอยกลับไปตั้งต้นใหม่ แต่เชื่อว่าหลังจากนี้ควรจะดีขึ้นเรื่อยๆ ก่อนจะครบปีที่ 15

เอาจริงๆ พอร์ตนี้ไม่ได้แย่หรอก ไม่ได้ขาดทุน แม้จะเจอวิกฤตมาหลายหน เงินปันผลสะสมที่ได้มาสูงกว่าที่คิดไว้มาก แต่ Capital Gain ถือว่าน้อยไปหน่อย ควรจะได้มากกว่านี้

ขอพูดถึงหุ้นตัวที่ยังเหลือในพอร์ตดีกว่า

ADVANC บอกตามตรง เป็นตัวที่อยากขาย เพราะมาคิดได้ทีหลังว่า จริงๆ แล้วเราเลือกหุ้นผิด ADVANC ดูเหมือนจะเป็นหุ้นเทคโนโลยี แต่ก็ไม่ได้แปลว่าจะไม่ถูกดิสรัป หุ้น Tech เองก็สามารถถูก Tech ใหม่ๆ มาดิสรัปได้ด้วยเช่นกัน ซึ่งก็คือกรณีของ ADVANC ที่รายได้ส่วน Voice โดน Data ดิสรัป ดังนั้นต่อให้ Data โตสูง ก็แค่ช่วย offset ส่วน Voice ที่หายไปได้เท่านั้น ได้แค่เสมอตัว ตอนแรกผมมองโลกในแง่ดีว่า AIS Fibre ยังโตได้อีกเยอะ น่าจะมาช่วยสร้างการเติบโตได้อีกแรง แต่เอาเข้าจริงๆ ตลาดนี้กำลังอยู่ในสงครามราคา บ้านผมเองเคยจ่ายเดือนละ 800 ตอนนี้จ่ายแค่เดือนละ 300 บาท คนที่มีกำลังจ่ายเน็ตแรงๆ มีอยู่จริง แต่ก็กระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพชั้นในเท่านั้น คนส่วนใหญ่ของประเทศไม่ได้มีกำลังซื้อสูงขนาดนั้น หรือไม่ก็ไม่ได้เห็นความจำเป็นที่ต้องมีเน็ตที่เร็วมากๆ ยิ่งมี 5G ยิ่งทำให้ต้องลงทุนเพิ่มขึ้น แต่รายได้กลับเพิ่มได้ยาก เพราะหลายปีที่ผ่านมาคนไทยไม่ได้มีกำลังซื้อสูงขึ้นตามเทคโนโลยี

BJC ตัวนี้เลือกเข้าพอร์ตมาเพราะมองว่าซุปเปอร์มาร์เก็ตไม่น่าจะโดนดิสรัป อย่างน้อยก็ในอนาคตอันใกล้ ซึ่งก็ยังเชื่อแบบนั้นอยู่ แต่ตัว BJC เอง ก็ยังไม่มีความกะตือรืนร้นที่จะปรับตัวมากพอ

BDMS ตัวนี้ยังชอบอยู่ ยังเป็นจุดแข็งไม่กี่อย่างของประเทศไทย แต่ก็คงจะหวังเติบโตสูงๆ ไม่ได้ เพราะตัวใหญ่มากแล้ว แต่สองปีที่ผ่านมาก็ถือว่าบอบช้ำจากโควิดพอสมควร เพราะคนไข้ต่างชาติหายเรียบ ทำได้ขนาดนี้ก็ถือว่าประคองตัวได้ดีแล้ว คิดว่าต่อจากนี้น่าจะดีขึ้นเรื่อยๆ เพราะเป็นช่วงฟื้นตัว

AOT ตัวนี้ก็เช่นกันครับ สตอรี่คล้ายๆ กับ  BDMS

CPN ตัวนี้เป็นห่วง เป็นธุรกิจที่เสี่ยงโดนดิสรัปมากๆ จากธุรกิจออนไลน์ แถมโควิดยังทำให้คนคุ้นเคยกับดิลิเวอรี่มากขึ้น ถือว่าโดนสองดอกเลย แม้ว่าตอนนี้ภาพยังไม่ได้ดูแย่ คนยังเชื่อมั่นในคำว่าเซ็นทรัล แต่ในอนาคตน่าเป็นห่วง เป็นอีกตัวที่อยากขาย

PSH ตัวนี้จมอยู่ในภาวะตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ oversupply แต่เรื้อรังที่ยาวนานมาก และก็คิดว่าน่าจะยังเป็นอย่างนั้นต่อไป ถือเป็นอีกตัวที่เลือกผิด เป็นตัวที่ขาดทุนด้วย แต่ไม่ได้ขาดทุนมากเท่ากันที่เห็นหรอก เพราะตัวนี้ถูกแลกหุ้นมาจาก PS  ซึ่งตอนนั้นมีกำไรอยู่เล็กน้อย จำไม่ผิดน่าจะประมาณ 15% พอกลายมาเป็น PSH ถูกล้างต้นทุนใหม่กลายเป็น 0% และตัวนี้เป็นตัวที่ได้ปันผลสูงมากมาตลอดราวๆ 7% ติดต่อกันหลายปี และเคยมีปันผลพิเศษครั้งใหญ่อีกด้วย จริงๆ แล้วถือว่าแค่เสมอตัว

BTS ช่วงที่ผ่านมาถือว่าโดนหนักมาก ทั้งโควิดที่ทำให้ผู้โดยสารหายไป และยังมีกรณี กทม.ไม่ยอมจ่ายหนี้อีกต่างหาก แต่หลังจากนี้ควรจะดีขึ้นแล้ว ไม่ได้เป็นห่วงอะไร

แผนการต่อจากนี้ยังคงเหมือนที่เคยบอกไว้คือจะทยอย Exit ออกไปปีละหนึ่งตัว แล้วแต่จังหวะว่าตัวไหนเหมาะสม หวังว่าสุดท้ายแล้วจะไม่มีตัวไหนขาดทุน

เสียดายเหมือนกันที่ไม่ได้ลงทุนจบครบ 15 ปีแล้วขายทีเดียวอย่างที่เคยตั้งใจไว้ตั้งแต่วันแรก ด้วยเหตุผลที่เคยเล่าไปแล้วว่า ทุกวันนี้ผมไม่ได้เชื่อมั่นใน SET Index เท่ากับเมื่อสิบปีที่แล้วอีกต่อไปแล้ว การลงทุนแบบ DCA ตลาดจะผันผวนขนาดไหนในระยะสั้นเราก็รับได้ แต่เราต้องเชื่อว่าในระยะยาว ตลาดที่ลงทุนนั้นจะยังกลับมาสร้างจุดสูงสุดใหม่ได้เสมอ ถ้าไม่มีความเชื่อนั้นอยู่แล้ว การลงทุนแบบ DCA ก็ดูขาดเหตุและผล

การปรับพอร์ต 7TLG ประจำปีที่ 12

ไปคิดมาแล้ว ตัดสินใจว่า จะเริ่มต้นทยอย exit ออกปีละหนึ่งตัว โดยเริ่มต้นจากตัวที่ไม่ได้อยู่ใน buy list ปัจจุบันแล้วก่อน พอถึงปีที่ 15 ก็น่าจะครบทุกตัวพอดี

ตัวแรกที่คิดว่าจะออกในปีนี้คือ MINT ครับ เหมือนบริษัทจะสร้างความมั่นใจให้นักลงทุนได้ค่อนข้างดี ทำให้ราคาหุ้นไม่ได้ต่ำมาก ทั้งที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างหนัก และถือว่าโชคดีด้วยที่ก่อนหน้านี้ได้ตัดสินใจเพิ่มทุนไปที่ราคา 17.5 บาท ทำให้ได้ต้นทุนที่ดีขึ้นอีก ก็เลยคิดว่าเป็นโอกาสที่ดีกว่าตัวอื่นที่จะ Exit ในเวลานี้

ดังนั้นหากราคาหุ้น MINT ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญก็จะขายออกไปในวันที่ 24 กันยายน ศกนี้ พร้อมกับ MINT-W ทั้งสองตัวด้วยเลย (เป็นธรรมเนียมปฏิบัติอยู่แล้วที่พอร์ตนี้จะขายวอแรนต์ที่ได้มาฟรีออกไปเสมอ เพื่อให้จัดการง่าย)

ส่วน buy list ในปีนี้จะไม่มีการเปลียนแปลงยังคงเป็น 5 ตัวเดิมคือ ADVANC, AOT, BDMS, BTS, BJC

เมื่อปรับพอร์ตเสร็จแล้วจะโพสต์หน้าจอสรุปให้อีกทีในวันที่ 27 กันยายนนะครับ ส่วนเงินปันผลที่ได้รับในปีที่12 ผมสรุปให้เรียบร้อยแล้วดังนี้

จึงเรียนมาเพื่อทราบ

 

 

 

รับมือกับ Rare event ก็แค่อยู่เฉยๆ

ว่างเว้นจากการเขียนบล็อกที่นี่ไปนาน เนื่องจากปัญหาสายตา ทำให้นั่ง edit อะไรยาวๆ หน้าจอคอมพิวเตอร์นานๆ ไม่ได้ พักหลังเหมือนอาการจะดีขึ้นบ้าง หลังจากที่ลดการใช้สายตาไปนาน คิดว่าต่อไปนี้จะพยายามกลับมาเขียนบล็อกที่นี่เกี่ยวกับมุมมองของพอร์ตทดลอง 7LTG บ้างแบบนานๆ ทีก็แล้วกันนะครับ  The show must go on.

จำได้ว่าช่วงก่อนหน้าที่จะเกิดโควิด ความหมกมุ่นของผมวนเวียนอยู่กับเรื่อง digital transformation เรียกว่ามันได้กลายมาเป็นธีมใหญ่ในการลงทุนของผม ตั้งใจว่าต่อไปนี้เราจะหลีกเลี่ยงหุ้นที่มองว่ามีความเสี่ยงที่จะโดนดิสรัปแรงๆ ได้ในอนาคต ซึ่งพอรีวิวดูก็พบว่า หุ้นไทยจำนวนมากเข้าข่ายนี้ และความคิดอีกอย่างก็คือ ผมไม่ค่อยมีความเชื่อมั่นในธุรกิจการผลิตเท่าไหร่ คิดว่าธุรกิจกลุ่มนี้น่าจะยังมีอยู่ในอนาคต แต่ว่าการแข่งขันสูง ล้นตลาดเรื้อรัง กำไรน้อย หันมาเน้นพวกธุรกิจบริการหรือธุรกิจที่ใช้พวก human capital เป็นหลักน่าจะดูมีอนาคตมากกว่า

นั่นก็เป็นเหตุผลที่ทำให้เกิดการปรับพอร์ต 7LTG ในช่วงที่ผ่านมา กลุ่มพลังงาน ธนาคาร และค้าปลีก กลายเป็นกลุ่มที่ถูกลดน้ำหนักลง เพราะมองว่ามีความเสี่ยงที่จะถูกดิสรัปในอนาคตได้ และคิดว่าอนาคตของประเทศไทยน่าจะพึ่งพากลุ่มท่องเที่ยวและการแพทย์ต่อไป ส่วน ธีม EEC นั่นไม่ได้สนใจเลย เพราะไม่ชอบธุรกิจอุตสาหกรรมการผลิตอย่างที่บอกไป

ปรากฎว่าเหตุการณ์ที่ใหญ่มากของปี 2020 กลายเป็นโรคระบาดระดับโลก ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นแค่ 1 ครั้งในรอบ 100 ปี เป็นเหตุการณ์ที่มีผลกระทบรุนแรงมาก ธีมระยะยาวที่วางเอาไว้แทบจะไม่ได้ช่วยอะไรในเหตุการณ์นี้เลย ในบางแง่มุมมันกลายเป็นผลลบต่อพอร์ตด้วยซ้ำ การท่องเที่ยวคือกลุ่มอุตสาหกรรมที่กระทบแบบเต็มๆ ในขณะที่การผลิตอาจจะดีกว่ากลุ่มอื่นด้วยซ้ำ เพราะล็อกดาวน์นอกบ้าน แต่โรงงานก็ยังผลิตได้ การปรับพอร์ตเพื่อป้องกันการโดนดิสรัปก็ไม่ได้ช่วยอะไรเลย เพราะไม่เกี่ยวอะไรกับการรับมือกับโรคระบาด คนติดโควิดเยอะขึ้น ไม่ได้ทำให้คนมาโรงพยาบาลเพิ่มขึ้น ตรงกันข้ามยิ่งน้อยลง เพราะคนไข้ต่างชาติมาไม่ได้ คนในประเทศที่เข้าโรงพยาบาลเพราะโรคทั่วไปก็หลีกเลี่ยงการไปโรงพยาบาลในช่วงที่ผ่านมาเพราะกลัวจะติดโควิด หุ้นรถไฟฟ้าไม่โดนดิสรัปแต่กลับโรคระบาดก็คือโดนเต็มๆ อีกเช่นกัน เพราะคนออกจากบ้านน้อยลงมาก โรงแรมนี่ไม่ต้องพูดถึงเพราะกระทบแบบเต็มๆ อุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่มองว่ามีอนาคตที่สุดของไทยคืออุตสาหกรรมที่กระทบมากที่สุดในเหตุการณ์นี้ไปเลย เรียกว่าพอร์ต 7LTG ได้รับผลกระทบจากโควิดแบบเต็มๆ น่าจะรุนแรงกว่าปกติเลยด้วยซ้ำ

มาตั้งสติใหม่ ก็คิดว่า การลงทุนระยะยาวก็เป็นแบบนี้แหละ ยังไงเราก็ต้องมีไอเดียอะไรบางอย่างเกี่ยวกับอนาคต แล้วเลือกที่จะสร้างพอร์ตการลงทุนของเราเพื่อสะท้อนมุมมองนั้น ไอ้แบบที่จะกระจายหุ้นแบบเหวี่ยงแหไปหมด ไม่ bet กับอะไรเลยนั้น ก็ไม่รู้จะลงทุนเองไปทำไม ไปซื้อ index fund ที่กระจายทั้งตลาดเอาก็ได้ การลงทุนมันต้องมีการ bet กับอะไรบ้างอย่าง ถ้าไม่ยอม bet กับอะไรเลย ก็จะไม่ได้อะไรเลยเช่นกัน ส่วนจะ bet แบบเต็มตัว หรือว่า bet บ้าง กระจายบ้าง ขึ้นอยู่กับ risk tolerance ของแต่ละบุคคล

ในระหว่างทางที่เราลงทุนระยะยาว เราก็จะเจอกับความผันผวน ซึ่งเกิดจากความไม่แน่นอนของธุรกิจ ในระยะสั้น ความผันผวนบางอย่างอาจสอดคล้องหรือขัดแย้งกับแผนระยะยาวของเราก็ได้ อย่างโรคระบาดระดับโลกนี่ ขัดแย้งกับแผนระยะยาวของเราแบบเต็มๆ ถ้าเรา bet แบบเต็มตัว ในพอร์ตมีแต่หุ้นท่องเที่ยวอย่างเดียวเลย พอร์ตก็อาจจะระเบิดไปเลย ดีหน่อยที่เราไม่ได้ bet เต็มตัวขนาดนั้น แค่ overweight แต่ก็ต้องรับแรงกระแทกไปในระดับหนึ่งเลยเหมือนกัน

ถามว่ายังเชื่อในธีมระยะยาวอยู่มั้ย ก็ยังเชื่ออยู่ ปี 2020 ที่ผ่านมาคือปีของ rare event ซึ่งเราไม่เอา rare event มาเป็นสิ่งที่ตัดสินแผนการลงทุนระยะยาวของเรา สิ่งที่ควรทำในสถานการณ์แบบนี้คือการอยู่เฉยๆ และลงทุนแบบเดิมต่อไป เรายังเชื่อว่าในที่สุดพอร์ตนี้จะกลับมาได้เหมือนไม่เคยมีเหตุการณ์นี้เกิดขึ้น ยังมีเวลาอีก 3-4 ปีก่อนที่พอร์ตนี้จะมีอายุครบ 15 ปีตามที่ได้ตั้งใจไว้ เชื่อว่ามันเป็นเวลานานพอที่ทุกอย่างจะกลับมาได้ทันในเวลานั้น อันที่จริงเหตุการณ์นี้จะเป็นสิ่งที่ช่วยทดสอบด้วยซ้ำว่าพอร์ตทดลองของเราแม้เจอเหตุการณ์ที่หนักขนาด 100 ปีมีครั้งเดียว มันจะยังกลับมาได้มั้ย ถ้าตลอด 15 ปีไม่มีเหตุการณ์อะไรแบบนี้เลย ก็เหมือนกับพอร์ตยังไม่ได้ถูกทดสอบอย่างแท้จริง คิดซะว่า ช่วงเวลาแบบนี้คือช่วงเวลาที่พอร์ตจะได้หุ้นในต้นทุนถูกเพิ่มขึ้นด้วย ดีกว่าพอร์ตที่ขึ้นทางเดียวตลอด 15 ปี ไม่มีช่วงเวลาที่ได้เก็บต้นทุนต่ำเลย อยู่เฉยๆ ให้ได้ก็พอ

Stay invest, stay foolish

แล้วมันก็จะผ่านไป ยังเป็นมนตราที่ใช้การได้อยู่

 ช่วงโควิดที่ผ่านมายอมรับว่ามีความหวั่นไหวกับพอร์ต 7LTG อยู่เหมือนกัน

คือก่อนหน้านี้เราก็ไม่ได้หวังอะไรมากกับพอร์ตนี้อยู่แล้ว เพราะช่วงหลังภาพของประเทศไทยมันดูแย่ลงมากเทียบกับวันที่เริ่มสร้างพอร์ตนี้ขึ้นมา แต่เราก็ยังคิดว่ามันน่าจะยังให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าการฝากเงินได้อยู่

แต่พอช่วงโควิด อาการสาละวันเตี้ยลงทุกวันของ SET Index มันยิ่งส่งผลต่อความมั่นใจมากขึ้นไปอีก ยอมรับว่า มีบางโมเมนต์ที่ความคิดทำนองว่า หรือจะล้างพอร์ตนี้ทิ้งไปเลยดีมั้ย เคยผุดขึ้นมาด้วย แต่สุดท้ายแล้วเราก็ไม่ได้ทำ (อาจจะเพราะช่วงนั้นขี้เกียจรึเปล่าก็ไม่รู้)

แต่ในที่สุด อยู่ดีๆ ในเวลาแค่สองเดือนที่ผ่านมาอยู่ๆ ข่าวดีก็แห่เข้ามา วัคซีนมา ทรัมป์ไป หุ้นขึ้นพรวดๆๆๆ เผลอแปล็บเดียว กลับมาสูงเกือบก่อนโควิดได้เลย (SET ลงไปเหลือแค่ 9XX จุด เมื่อต้นปี ตอนนี้กลับมา 1,482 แล้ว)

บทเรียนเล็กๆ น้อยๆ ที่ได้จากเหตุการณ์นี้ ประการแรกคือ ราคาหุ้นขึ้นและลง มันส่งผลต่อความคิดของเราเกี่ยวกับปัจจัยพื้นฐานได้มากจริงๆ ซึ่งมันเป็นสิ่งที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น เพราะความคิดของเราเกี่ยวกับพื้นฐานหุ้นควรจะมาจากสตอรี่ของธุรกิจ งบการเงิน ฯลฯ ไม่ใช่มาจากการขึ้นลงของราคาหุ้น จริงๆ เรื่องนี้เราก็รู้อยู่แล้ว (จอร์จ โซรอส เรียกว่า Reflexivity Theory) แต่เวลาเจอของจริง ความเป็นปุถุชน ก็ยังทำให้ยากที่เราจะไม่หวั่นไหวกับความลำเอียงนี้อยู่ดี

ประการที่สอง ตอนออกแบบพอร์ต เราตั้งใจสร้างให้มันเป็นพอร์ตที่ทนวิกฤตได้อยู่แล้ว โดยการเลือกแต่หุ้นพื้นฐานดีเข้าพอร์ตเท่านั้น และมีการกระจายความเสี่ยงที่มากพอ ช่วงโควิดก็เป็นเหมือนช่วงเวลาที่พอร์ตนี้ได้มีโอกาสพิสูจน์ตัวเอง สุดท้ายแล้วมันก็เป็นพอร์ตที่ผ่านวิกฤตได้จริงๆ ดังนั้น สิ่งที่ควรทำมากที่สุดคือไม่ต้องทำอะไรเลย เคยลงทุนยังไงก็ลงทุนแบบเดิมต่อไป ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ถ้าไปเชื่อว่าตัวเองฉลาด รู้ดีว่าหุ้นจะลงต่อ แล้วขายหนีไป ก็คงกลายเป็นความผิดพลาดที่ใหญ่หลวง

มนตราที่ว่า แล้วมันก็จะผ่านไป ยังคงใช้การได้อยู่เหมือนเดิม

(ปล.ใช้การได้กับพอร์ตที่ลงทุนแต่หุ้นพื้นฐานดี และมีการกระจายที่มากพอเท่านั้นนะ ไม่ได้ใช้การได้กับทุกสไตล์การลงทุน)

ปรับพอร์ต 7LTG ณ สิ้นปีที่ 11

อย่างที่บอกไปว่า Digital Disruption จะเป็นธีมหลักของการปรับพอร์ตรอบนี้ อยากให้พอร์ตใหม่พร้อมรับมือ Digital Disruption ไปตลอดช่วงเวลาลงทุนที่ยังเหลืออยู่เลย

หุ้นเดิมในพอร์ตที่ผมไม่ชอบที่สุด ถ้ามองจากธีมนี้คือ CPN จากเดิมที่เคยเป็นหุ้นในพอร์ตที่ชอบเป็นอันดับต้นๆ ผมว่าอุตสาหกรรมนี้เป็นอุตสาหกรรมที่มองเห็นการเปลี่ยนแปลงได้ชัดเจนที่สุดเรื่องออนไลน์ในช่วงที่ผ่านมาเลย ถึงแม้ว่าผมจะมองว่า CPN เป็นบริษัทที่ปรับตัวเก่ง แต่ต่อให้ปรับตัวเก่ง อย่างดีก็แค่เสมอตัว ไม่น่าจะ prosper เหมือนเดิมได้

หุ้นอีกตัวที่จะปรับออกคือ MINT เหตุผลหนึ่งก็คือ MINT เพิ่งเพิ่มทุนไป และผมก็เพิ่มตามไปด้วย คิดเป็นจำนวนเงินก็เท่ากับได้ลงทุน MINT ล่วงหน้าไปแล้วเกือบสองปี จึงน่าจะชะลอการซื้อไปก่อน กอปรกับธุรกิจโรงแรมก็มีความเสี่ยงที่จะโดน Disrupt ในอนาคตได้เช่นกัน ถ้าคนนิยม Airbnb มากขึ้น (แต่เทรนด์นี้ก็ยังไม่ได้ชัดเจนมากในเวลานี้)​ ด้านร้านอาหาร MINT ก็โดน Delivery เล่นงานอยู่ แม้ว่า MINT จะเก่งในแง่รีบเข้าไปโผล่อยู่ใน GrabFood ได้เร็ว แต่การขายผ่าน Grab โดยที่ต้องซื้อพื้นที่ใน App ที่โดดเด่นจะน่าจะต้องแบ่งกำไรให้ Grab ไปไม่น้อยเลย (ก่อนหน้านี้ที่ผมเป็นห่วงอีกอย่างเกี่ยวกับ MINT คือ MINT ค่อนข้างกระโดดเข้าสู่กระแสนิยมอาหารเอเชียช้า แต่ก็โล่งใจขึ้นมาบ้างเมื่อเห็น MINT ซื้อ บอนชอน อย่างน้อยเขาก็พยายามอยู่)

PSH ตัวนี้อาการหนัก วงการนี้ล้นตลาดอย่างต่อเนื่องและดูเหมือนจะยังเป็นอีกนาน คนจีนที่หายไปจากตลาดคอนโด แบงก์ที่งบอ่อนแอทำให้ระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ และวงการก่อสร้างเองที่ซัพพลายล้นง่าย น่าจะเหนื่อยอีกนาน แต่เวลานี้ก็ไม่ใช่จังหวะที่ดีเช่นกันที่จะขายออกมา เลยขอเก็บไว้ก่อน แค่หยุดซื้อเพิ่มเฉยๆ ในแง่ Disruption ก็ไม่ได้โดนตรงๆ ถือต่อไปก็คงไม่เป็นไร

นอกนั้นหุ้นอื่นๆ ในพอร์ตคิดว่าน่าจะรับมือกับ Disruption ได้อยู่

  • BDMS แม้ว่าจะมีเสน่ห์ลดลง เพราะสมัยนี้คนไข้ตะวันออกกลางมาน้อยลง ต้องหันไปหาลูกค้า CLMV แต่ผมก็ยังมองหุ้นตัวนี้เป็นเชิงบวกอยู่
  • ADVANC แม้ว่าจะไม่ใช่ Tech Stock แท้จริงโดยนิยาม แต่ก็น่าจะเป็นหลุมหลบภัยที่ดีพอสมควร การเติบโตไม่โดดเด่น แต่ธุรกิจไม่ได้ฝืนโลกดิจิตอลแน่ๆ
  • BTS คิดว่าตัวนี้ปลอดภัยจาก Disruption แน่นอน เป็นตัวที่อุ่นใจที่สุด ถ้าไม่ตัวนี้ ก็ BEM แต่คิดว่ามี BTS อยู่แล้ว ก็ไปกับตัวนี้ต่อเลยดีกว่า ไม่อยากปรับพอร์ตให้ซับซ้อนเกินไป
  • BJC ทุกวันนี้กำไร 70%  ของบริษัทมาจาก BigC ซึ่งผมมองว่าค้าปลีกที่โดน Disruption น้อย น่าจะเป็นซุปเปอร์มาร์เก็ตนี่แหละ ดังนั้นจึงคิดว่าตัวนี้น่าจะอยู่ในพอร์ตต่อไปได้

ส่วนหุ้นที่เพิ่มเข้ามาใหม่ได้แก่ AOT ซึ่งก็แน่นอนเป็นธุรกิจที่ผูกขาด และเป็นธีมการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นธีมที่ผมสนใจมาตลอดสำหรับประเทศไทย และถ้าหากพอร์ตของเราจะ overweight การท่องเที่ยว (ซึ่งกลายเป็นทุกข์ลาภในช่วงที่ผ่านมาเพราะเจอ Covid) ผมว่าน่าจะซื้อหุ้นสนามบินมากกว่าโรงแรม เพราะทั้งผูกขาดและไม่โดน Disrupt ราคาหุ้นก็ลงมาพอดี ซึ่งก็อาจจะพักฐานอีกนาน แต่นั่นก็ยิ่งเป็นข้อดี เพราะเราซื้อสะสมช้าๆ แบบ DCA ยิ่งมีเวลาให้สะสมนานๆ ยิ่งดี ซื้อแล้วเด้งเร็วกลับเป็นเรื่องไม่ดี

นอกเหนือจาก AOT แล้ว มีหุ้นอีกหลายตัวก่อนหน้านี้ที่ผมคิดว่าจะเอาเข้ามาในพอร์ตดีมั้ยแต่สุดท้ายแล้วก็ตัดสินใจว่ายังก่อนดีกว่า อาทิเช่น

  • หุ้นโรงไฟฟ้า เพราะเป็นอีกอุตสาหกรรมหนึ่งที่ผมมองว่าเป็นเทรนด์อนาคต แต่พอมาดูลึกๆ อีกทีก็ไม่ค่อยแน่ใจ หลายบริษัทขายไฟฟ้าให้เอกชน รายได้ไม่ได้ชัวร์ขนาดนั้น และต้องพึ่งพาความสำเร็จของ EEC ด้วย ซึ่งโดยส่วนตัวผมไม่ค่อยมั่นใจเท่าไร และบางทีถ้าราคาน้ำมันตกต่ำ ก็ใช่ว่าโรงไฟฟ้าจะดีเสมอไป สูตรขายไฟฟ้ามัน link กับราคาน้ำมันด้วยส่วนหนึ่งรึเปล่า โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่หลายตัวที่ขายไฟฟ้าให้รัฐก็มีโรงไฟฟ้าถ่านหินในพอร์ตเยอะ ไปๆ มาๆ เลยไม่มีตัวไหนที่เข้าตาเลยสักตัว ทำให้ต้องล้มเลิกความคิดนี้ไป
  • ETF ต่างประเทศ น่าจะเป็นการ Diversify ที่ดีถ้าจะมีไว้ในพอร์ต จะได้ไม่กระจุกอยู่ที่ประเทศไทยอย่างเดียว แต่ปัญหาใหญ่ของกองทุนรวมต่างประเทศบ้านเราคือ เป็น Feeder fund ที่มีค่าบริหารจัดการรวมหมดแล้ว แพงมากๆ ทำให้ยังคงไม่น่าลงทุนอยู่เช่นเดิม
  • หุ้นคอมโมฯ เป็นการ Diversify ที่น่าสนใจ เพราะขึ้นกับราคาตลาดโลก ไม่เกี่ยวกับเศรษฐกิจไทย แต่หลายตัวก็อิงกับน้ำมัน ซึ่งระยะยาวไม่น่าสนใจ และบทเรียนหนึ่งของพอร์ตนี้ที่ได้รับในอดีตคือ หุ้นวัฎจักรไม่เหมาะกับการลงทุนแบบ DCA เพราะเวลาที่ตกหนักๆ เราแทบไม่ได้อะไรเลย เพราะมันจะตกไม่นานพอที่เราจะเก็บสะสมได้เยอะ หุ้นที่เหมาะกับ DCA ควรเป็นธุรกิจน้ำซึมบ่อทราย ค่อยๆ โตวันละน้อย แต่กำไรไม่เหวี่ยงแรงๆ ก็เลยเลิกความคิดนี้ไปเช่นกัน

สรุปในวันที่ 25 กันยายน 2563 จะมีการปรับรายชื่อหุ้นที่จะซื้อใหม่ให้เหลือแค่ 5 ตัว คือ BJC, BDMS, BTS, AOT และ ADVANC และเพื่อให้จำนวนเงินลงทุนรวมเท่าเดิม จะมีการเกลี่ยเม็ดเงินตามตารางข้างล่างนี้

โดยที่จะปรับเฉพาะรายชื่อหุ้นที่จะซื้อใหม่ต่อไปนี้เท่านั้น ส่วนหุ้นตัวเก่าที่โดนปรับออกจะไม่ขายขายเก่าออกแต่เก็บไว้ก่อน เพื่อลดความซับซ้อนในการบริหารพอร์ต และคิดว่าหุ้นเหล่านั้นไม่ได้เลวร้ายมากขนาดนี้ต้องรีบขายทิ้งด่วน

ไว้วันที่ 25 กันยายน จะมาสรุปสถานะพอร์ตปัจจุบันให้อีกทีครับ

 

 

การลงทุนภายใต้ภาวะแวดล้อมที่ไม่เอื้อ

ย้อนอดีตที่ผ่านมา ได้ข้อคิดอะไรหลายอย่าง

ตลาดหุ้นไทยนี่กับระเบิดเยอะจริงๆ ขนาดพอร์ตนี้เลือกที่จะไม่ลงทุนในหุ้นตัวใหญ่มากๆ อย่างหุ้นพลังงาน หรือหุ้นธนาคารเลย ซึ่งก็ช่วยทำให้พอร์ตนี้สามารถหลบราคาน้ำมันตกต่ำ และปัญหาหนี้เสียในภาคธนาคารไปได้ แต่ก็ไม่ได้แปลว่าจะรอด สุดท้ายการท่องเที่ยวก็มาโดนโควิดอยู่ดี คือเรียกว่าไม่รู้ว่าจะหลบไปไหนแล้ว กับระเบิดมันเยอะจริงๆ

เมื่อห้าปีที่แล้ว ผมมองว่า หุ้นไทยไม่น่าจะให้ผลตอบแทนที่ดีเท่ากับห้าปีแรกสุดของการลงทุน  เพราะห้าปีแรก ตลาดหุ้นไทยสร้างผลตอบแทนสูงกว่าค่าเฉลี่ยในระยะยาวของการลงทุนในหุ้นไปมาก ซึ่งมันก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ แนวคิดเรื่อง Regress to the means เป็นแนวคิดที่ใช้ได้

ถ้าให้มองต่อไปอีกห้าปี ซึ่งก็คือโค้งสุดท้ายของพอร์ตนี้ ผมก็มองว่าหุ้นไทยไม่น่าจะดีอีกเช่นเดียวกัน คิดว่าน่าจะแย่พอๆ กับห้าปีที่ผ่านมา หรืออาจจะแย่กว่านิดหน่อย ผมมองว่า ประเทศไทยขาดเสน่ห์ในความน่าลงทุนในโลกยุคปัจจุบัน บริษัทในตลาดเต็มไปด้วยบริษัทที่แก่ตัว แบบรอว่าจะโดน disrupt เมื่อไหร่ มากกว่าที่จะมีโอกาสได้ไป disrupt คนอื่น ลองสมมติว่าตัวเองเป็นคนต่างชาติแล้วมองหุ้นทั้งโลก ผมคิดว่าผมน่าจะไม่ได้เลือกลงทุนที่ไทยเลย เพราะไทยดูเป็นประเทศ middle income trap ไม่น่าลงทุน

ปัญหาอีกอย่างของไทยคือ โลกดิจิตอลมันเข้าทางบริษัทด้านเทคโนโลยีขนาดใหญ่ ซึ่งมันเป็นบริษัทระดับโลก ทำให้เศรษฐกิจของเรามีแนวโน้มจะโดนยึดครองโดยบริษัทต่างชาติ ซึ่งก็พบว่าหลายอุตสาหกรรมตอนนี้ โดนบริษัทต่างชาติยึดไปหมดแล้ว ทั้งเฟซบุ้ก กูเกิล เน็ตฟลิตซ์ ลาซาด้า และ GRAB ไม่มีบริษัทไหนเป็นของไทยเลย ที่น่าหงุดหงิดยิ่งกว่าคือ เราเหมือนจะยังไม่รู้ตัวว่าโดนยึดครอง หรือว่ารู้ตัวแต่ปราศจากแรงจูงใจทางการเมืองที่จะทำอะไร แถมยังไปเชิญเขามาอีก แถมเงิน (tax incentive) ให้อีกต่างหาก อย่างในกรณีที่เราไปเชิญอาลีบาบามาถล่ม SME บ้านเรา ภูมิใจกันใหญ่ที่เขาซื้อทุเรียนเราไป 80 ล้านบาท (แต่มาตั้ง logistic warehouse เอาสินค้าจีนมาถล่มเรามูลค่านับหมื่นล้าน) เพราะว่าเรามี mindset แบบเดิมว่า ถ้าต่างชาติมาลงทุนซื้อที่ดินในนิคมอุตสาหกรรม ต้องเป็นเรื่องดี ในขณะที่โลกทุกวันนี้มันเปลี่ยนเกมไปเป็นดิจิตอลหมดแล้ว

อีกอย่างที่น่าห่วงมากคือ ปัญหาหนี้ครัวเรือนในประเทศ ซึ่งเยอะและไม่ลดลงเสียที ปัญหานี้ทำให้กำลังซื้อในประเทศมีปัญหา คนที่มีหนี้ล้นอยู่จะไม่ใช้จ่าย ฉุดเศรษฐกิจ ทำให้ธุรกิจที่ไม่ได้มีปัญหากลายเป็นมีปัญหาตามไปด้วย คนเป็น NPL ก็จะเพิ่มขึ้นอีก แบงก์ก็จะยิ่งไม่กล้าปล่อยสินเชื่อ ทำให้เศรษฐกิจยิ่งแย่ลงไปอีก วนไปเรื่อยๆ เป็นงูกินหาง ซึ่งผมมองว่า ที่ผ่านมา เรา passive กับปัญหานี้มากเกินไป ถ้าห้าปีก่อน รัฐหาวิธีเข้าไปจัดการแก้หนี้เสียในระบบอย่างจริงๆ จังๆ ทุกอย่างน่าจะดีกว่านี้ แต่รัฐก็ไม่ได้ทำ ปล่อยไปตามยัติถากรรม ถ้าจะกลับมาแก้ไขตอนนี้ก็ไม่รู้จะทันมั้ย เพราะธนาคารเองช่วงนี้ก็แบกหนี้เสียจากโควิดอีก ทำให้อาการหนักกว่าเดิม ตราบใดที่ไม่มีการแก้ปัญหานี้อย่างจริงๆ จังๆ เศรษฐกิจจะไม่มีทางโงหัวขึ้น เพราะเหมือนคนไข้ที่มีเนื้อร้าย (NPL) อยู่ในระบบ แต่ไม่ยอมผ่าตัด จะให้กินอาหารดียังไง (แจกเงิน) ก็ไม่หาย

นอกจากเศรษฐกิจที่ไม่สดใสแล้ว ประเทศไทยยังมีความเปราะบางด้านสังคมและการเมืองสูงมาก ปัญหาเศรษฐกิจที่ยิ่งเร่งให้เกิดความวุ่นวายทางสังคมและการเมืองมากขึ้นอีก นับเป็นปัญหาอีกอย่างหนึ่งของประเทศไทยในเวลานี้ ยังไม่นับปัญหา aging society เรียกว่ามองไปข้างหน้า ปัญหารุมเร้าเยอะมากจริงๆ ยังหาไม่เจอปัจจัยที่ดีเลย

ผมยอมรับว่าผมมองประเทศไทยค่อนข้างแย่ แต่ก็ไม่ต้องตกใจครับ ถ้าใครยังเชื่อมั่นใน EEC อยู่ว่าจะกลับมาพลิกฟื้นประเทศไทย ก็ไม่จำเป็นต้องมองร้ายเหมือนผม จะว่าไป EEC อาจเป็นความหวังเดียวที่ยังเหลืออยู่ของประเทศไทย แต่โดยส่วนตัว ผมไม่เชื่อว่า EEC จะพลิกเกมได้ เพราะสิ่งที่ EEC ทำเป็นสิ่งที่โลกเคยต้องการเมื่อ 30 ปีที่แล้ว แต่ไม่ได้ตอบโจทย์โลกสมัยนี้แล้ว (ความเห็นส่วนตัว อย่าเชื่อมากครับ)

ผมอาจมองเศรษฐกิจไทยค่อนข้างแย่ แต่ตลาดหุ้นไทยผมคิดว่าอาจจะไม่ได้แย่มากเท่า เพราะผมมองว่าปัญหาเงินล้นแบงก์น่าจะยิ่งหนักกว่าเดิม เพราะโอกาสในการลงทุนของคนรวยมีน้อยลง ดอกเบี้ยที่ต่ำอยู่แล้วดูแล้วก็น่าจะต่ำลงไปอีก อาจเห็นดอกเบี้ย 0 หรือ QE ของประเทศไทยในอนาคตก็ได้ ดังนั้นความต้องการของคนไทยที่จะขนเงินมาลงตลาดหุ้นยังมีอีกเยอะมาก ซึ่งจะช่วยหักล้างกับเงินทุนต่างชาติที่หายไปเรื่อยๆ ได้พอสมควร อาจเป็นเหตุผลเดียวด้วยซ้ำที่ผมยังลงทุนในหุ้นไทยอยู่

ปกติแล้ว ตราบใดที่เรายังมองตลาดหุ้นในแง่ดี หมายถึงตลาดที่ต่อให้ผันผวนในระยะสั้นขนาดไหน ก็ยังจะกลับมาสร้างจุดสูงสุดใหม่ได้อีกในอนาคต การลงทุนแบบ DCA จะยังเป็นทางเลือกที่ดีอยู่เสมอ แต่พอเราไม่ได้มองอนาคตดี อันนี้การลงทุนแบบ DCA ก็อาจไม่ตอบโจทย์เท่าไหร่ ทางเลือกอื่นในสถานการณ์แบบนี้คือการเปลี่ยนไปลงทุนต่างประเทศแทน หรือไม่ก็ต้องลงทุนแบบ bottom up เป็นหลัก มองหุ้นเป็นตัวๆ ขุดข้อมูลรายตัวหุ้นให้ลึกๆ  หาเพชรในกองขี้ให้เจอ ซึ่งก็อาจจะเป็นเจอหุ้นซิ๊ง หุ้นปั่น หุ้น fraud แต่ก็เป็นความเสี่ยงที่จะต้องแบกรับเพิ่มเพื่อแลกกับผลตอบแทนคาดหวังในระดับสูงเป็นธรรมดา

แต่เอาเถอะ พอร์ตนี้ผมตั้งใจไว้แล้วว่าจะลงทุนให้ครบ 15 ปี the show must go on. ก็ถือว่าเป็นความท้าทายแบบใหม่ก็แล้วกันว่า ถ้าหากเรามองสถานการณ์ไม่ดี แล้วจะเราจัดพอร์ตแบบไหน เพื่อให้พอร์ตออกมาดีที่สุดเท่าที่จะดีได้ ภายใต้สถานการณ์ที่ไม่เอื้ออำนวยนี้

ทั้งหมดคือมุมมองภาพรวมตลาดที่ผมมองอยู่ในช่วงที่ผ่านมา ทีนี้ก็เหลือแค่ว่าจะเลือกหุ้นเข้าพอร์ตยังไงดี ตอนนี้ผมได้รายชื่อหุ้นใหม่ในพอร์ตเรียบร้อยแล้ว เอาไว้โพสต์น่าเรามาคุยกันต่อว่าแต่ละตัวมาด้วยเหตุผลยังไง