0329: หุ้นพื้นฐาน?

ที่จริงผมไม่ค่อยอยากแตะเรื่องนี้เท่าไร แต่ไม่ทราบว่าทำไมช่วงนี้ถึงได้มีนักลงทุนมาบ่นกับผมเรื่องขาดทุนหุ้นเป็นจำนวนมากจนผิดปกติ เลยอยากฝากมุมมองบางอย่างไว้ เผื่อว่าบางมุมอาจจะเป็นประโยชน์กับท่านนักลงทุนบ้างนะครับ

แต่ไหนแต่ไรมาเป็นที่รู้กันดีว่าตลาดหุ้นไทยมีขาใหญ่ที่เป็นขบวนการปั่นหุ้นสิงสถิตย์อยู่ คนกลุ่มนี้มีข้อได้เปรียบนักลงทุนทุกรูปแบบ ตั้งแต่สามารถบอกให้สื่อช่วยเขียนข่าวตามใจได้ มีช่องทางประจำสำหรับการปล่อยข่าวลือในห้องค้า และที่เด็ดสุดคือมีการจับมือกับผู้บริหารของหุ้นที่จะปั่นด้วย คือต่อให้เทรดหุ้นผิดพลาดเองก็ยังบอกให้บริษัทช่วยออกข่าว ออกวอแรนต์ เพิ่มทุน หรือตัดขาดทุนรายการพิเศษ เพื่อให้ตัวเองพลิกกลับมากำไรได้อีก นักลงทุนกลุ่มนี้จึงเล่มเกมที่ตัวเองมีข้อได้เปรียบนักลงทุนคนอื่นอย่างมากมาย 

แต่ที่จริงผมกลับไม่ค่อยเป็นห่วงเรื่องนี้เท่าไร เพราะสมัยนี้ หุ้นที่ขบวนการพวกนี้ปั่นอยู่มักเป็นที่รู้และพูดถึงกันทั่วไปในตลาดหุ้น ถ้านักลงทุนอยากรู้ว่ามีตัวไหนบ้างก็มักหาคำตอบได้โดยง่าย รายย่อยที่เกรงกลัวภัยพวกนี้มักจะไม่เข้าไปยุ่งกับหุ้นพวกนี้กันอยู่แล้ว ส่วนรายย่อยอีกจำพวกหนึ่ง ที่หากได้ยินว่าขาใหญ่จะปั่นตัวไหนก็จะรีบเข้าไปเล่นด้วยทันที (ยิ่งมีเจ้า ข้ายิ่งชอบ) กลุ่มนี้ผมก็ไม่ห่วงเช่นกัน เพราะพวกนี้มักจะเข้าไปโดยรู้อยู่แล้วว่ามีอันตราย จึงมีการระวังตัวแจ พวกนี้ถ้าเจ็บตัวมา ผมไม่ค่อยรู้สึกว่าน่าสงสารมากเท่าไร เหมือนเวลาดูมวย เราไม่ได้สงสารนักมวยบนเวทีเวลาที่เขาโดนต่อยเพราะเรารู้ว่าเขาเลือกอาชีพของเขาเองและเขารู้ดีก่อนเลือกว่าการเป็นนักมวยจะต้องเจ็บตัว

แต่ยุคหลังๆ นี้ คนที่ขาดทุนมากๆ กลับไม่ใช่แบบที่ว่ามา แต่กลับเป็นคนที่ขาดทุนจากหุ้นที่เขาซื้อเพราะคิดว่าเป็นหุ้นพื้นฐาน คนขาดทุนหุ้นในลักษณะนี้เริ่มมีมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเป็นแบบที่ผมรู้สึกสลดใจมากกว่าแบบดั่งเดิมมาก เพราะเป็นการขาดทุนที่มาจากความเข้าใจผิด ความหลงผิด หรือความไม่รู้ เป็นการขาดทุนที่มีต้นเหตุมาจากความศรัทธามากกว่าความโลภ คนที่มาปรับทุกข์กับผมคนหนึ่งบอกว่า เขาเพิ่งจะสิ้นเนื้อประดาตัวไปกับหุ้นตัวเดียวที่คิดว่าซื้อได้เต็มที่เพราะว่าเป็นหุ้นพื้นฐาน

ปกติแล้ว คนที่ซื้อหุ้นที่คิดว่าเป็นหุ้นปั่น มักจะซื้อแบบยั้งๆ เพราะตระหนักดีว่า มีอันตรายอะไรอยู่ แต่คนที่ซื้อหุ้นเพราะคิดว่าเป็นหุ้นพื้นฐานนั้น น่ากลัวกว่ามาก พวกเขาจะกล้าซื้อแบบทุ่มสุดตัว เพราะคิดว่ามีพื้นฐานรองรับอยู่ ถ้าซื้อแล้วลง ก็กล้าซื้อหนักขึ้นอีก เพราะเชื่อว่าหุ้นพื้นฐานดี ยิ่งตก ต้องยิ่งซื้อ ขนาดความเสียหายของคนที่ขาดทุนหุ้นพื้นฐานนั้นมักจะรุนแรงมากเป็นพิเศษ

อยากเตือนเพื่อนนักลงทุนทุกคนว่า ไม่มีหุ้นส่วนหนึ่งในตลาดหุ้นที่เรียกว่า “หุ้นพื้นฐาน” ซึ่งจะปลอดภัยจากภาวะฟองสบู่ หรือการสร้างราคาใดๆ หรอกครับ (จะมีก็แต่แนวการลงทุนแบบวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานเท่านั้น) หุ้นทุกตัวในตลาดสามารถกลายเป็น “หุ้นปั่น” หรือเกิดภาวะฟองสบู่ได้ทั้งสิ้นถ้าหากมีคนสนใจหุ้นตัวนั้นมากๆ

เวลาหุ้นที่ไม่ได้มี “ภาพลักษณ์” ว่าเป็นหุ้นพื้นฐานปรับตัวขึ้นอย่างรุนแรงในระยะเวลาอันสั้น เรามักอธิบายกันว่าเป็นเพราะมีคน “ปั่น” อยู่ แต่ถ้าหากเป็นหุ้นที่คนดังในเว็บหุ้นแนว “พื้นฐาน” เชียร์ ปรับตัวขึ้นแบบเดียวกันบ้าง เรามักอธิบายกันว่า เป็นการขึ้นเพราะ “พื้นฐาน” ที่ดี แต่ที่จริงแล้วผมอยากจะโต้แย้งว่าหุ้นที่ขึ้นได้มากๆ หลังจากที่มีการเชียร์กันตามเว็บหุ้นพื้นฐานนั้น ไม่ได้ขึ้นได้เพราะพื้นฐานแต่ขึ้นได้เพราะเกิดภาวะ “แห่ตามกัน” ของนักลงทุน แบบเดียวกับเวลาที่หุ้นเก็งกำไรปรับตัวขึ้นได้แรงเลยครับ   

เหตุผลหนึ่งที่ชอบอ้างกันก็คือว่าขึ้นได้เพราะเป็นหุ้นที่ยังมีพีอีเรโชที่ต่ำมาก แต่ผมอยากจะแย้งว่า หุ้นที่มีพีอีที่ต่ำมากนั้น มีอยู่อย่างดาษดื่นตลอดเวลาในตลาดหุ้นไทย และกี่ปีกี่ปี พวกมันก็ยังมีพีอีต่ำมากอยู่อย่างนั้น ไม่เห็นว่าจะขึ้น การที่หุ้นมีพีอีต่ำมากจึงไม่ใช่เหตุผลที่หุ้นจะต้องขึ้น บ่อยครั้งที่หุ้นบางตัวมีพีอีที่ต่ำมากเป็นเพราะพวกมันมีอะไรบางอย่างที่ไม่ดีอยู่ เช่น เป็นธุรกิจที่กำไรค่อนข้างเปราะบาง อุตสาหกรรมที่เป็นวัฏจักรผันผวนสูง หรืออาจเกิดจากสถานะทางการเงินที่อ่อนแอ ต่างหาก การที่พวกมันมีพีอีต่ำมาก จึงเป็นพีอีต่ำที่มีเหตุผลของมันอยู่ แต่การที่หุ้นพีอีต่ำมากขึ้นได้หลังจากที่เซียนเชียร์นั้นเป็นเพราะว่าเกิดภาวะที่นักลงทุนแห่ซื้อตามเซียนต่างหาก หุ้นพวกนี้พอมีข่าวร้ายเกิดขึ้นเมื่อไร บารมีของเซียนเอาไม่อยู่ พีอีก็จะตกกลับลงมาต่ำเหมือนเดิมใหม่ แต่ราคาหุ้นจะต่ำยิ่งกว่าเดิม เพราะว่าข่าวร้ายทำให้ E ลดลงด้วย นักลงทุนที่แห่ซื้อตามเซียนไป ก็มักจะขาดทุนเสียหายกันเป็นจำนวนมาก เพราะต้นทุนสูงกว่าเซียนมาก

ฟองสบู่ในหุ้นพื้นฐานบางทีก็ไม่ได้เกิดจากเหตุผลเรื่องพื้นฐานของหุ้นตัวนั้นเอง แต่เกิดจากการศรัทธาในตัวบุคคลของผู้ที่เชียร์หุ้นตัวนั้นมากกว่า ชื่อของเซียนบางคนเป็นแบรนด์ที่ทรงพลัง แค่ข่าวรั่วออกไปว่าเข้าไปถือหุ้นตัวไหน คนจำนวนมหาศาลก็พร้อมที่จะซื้อหุ้นตัวนั้นตามทันทีโดยไม่ต้องถามเหตุผล เพราะเลื่อมใสในเซียนผู้นั้นมาก แบบว่าถ้าเซียนคนนี้คิดว่าดี ยังไงก็ต้องดีแน่ๆ ไม่มีทางพลาด เก่งออกขนาดนั้น ชื่อนี้การันตี ตกลงว่าพื้นฐานดีจริงหรือเปล่ายังไม่มีใครรู้ แต่ที่แน่ๆ ราคาหุ้นพุ่งขึ้นไปก่อนแล้วแน่นอนเพราะเกิดจากแรงซื้อของสาวกนั่นแหละ

ถ้าใครชอบไปตามดูของเก่าจะพบว่า หุ้นหลายตัวที่ราคาเคยทะยานได้อย่างมากมายช่วงหนึ่งในอดีต เพราะมีเซียนคนนั้นคนนี้ออกมาบอกว่า จะได้โปรเจ็คใหญ่ ทำให้กำไรก้าวกระโดดเท่านั้นเท่านี้ แต่สุดท้ายแล้ว ผลประกอบการกลับไม่ได้เพิ่มขึ้นเลยนั้น มีอยู่เยอะมาก ที่กลับตาลปัตร กลายเป็นขาดทุนแถมยังเจอเพิ่มทุนอีกมหาศาลก็มีไม่ใช่น้อยๆ เลย ถ้าลองทำตัวเป็นนักสืบย้อนรอยตามไปเก็บผลงานเก่าๆ ดูจะตกกะใจว่า ที่จริงแล้ว ความถี่ที่เซียนคิดถูกนั้นน้อยพอๆ กับคนธรรมดาเลยทีเดียว แต่ก่อนที่ผลสอบจะออกมา ราคาหุ้นก็มักปรับตัวขึ้นไปได้อย่างมากมายแล้ว นั่นก็เพราะแรงศรัทธาในตัวเซียนล้วนๆ 

ผมไม่ได้เป็นห่วงทุกคนที่ซื้อหุ้นตามเซียนหุ้นพื้นฐานหรือหุ้นที่กำลังเชียร์ๆ กันในเว็บหุ้นพื้นฐานหรอกครับ ที่จริงแล้วมีนักเก็งกำไรจำนวนมากที่ได้กำไรไปอย่างมากมายจากการฉกฉวยโอกาสกับหุ้นเหล่านี้ เพราะคนที่เข้าใจว่า หุ้นพื้นฐานเหล่านี้ขึ้นมาแรงเพราะเกิดสภาวะแห่ตามกันเท่านั้นเอง ส่วนของจริงจะดีอย่างที่เชียร์กันหรือไม่ยังไม่มีใครรู้ ไม่น่าห่วงหรอกครับ หรือคนที่เห็นด้วยกับเหตุผลด้านพื้นฐาน แต่ก็เข้าใจด้วยว่า ราคาที่ปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็วนี้เกิดจากการแห่ตามกันของนักลงทุนไปก่อนเท่านั้น ก็ไม่น่าเป็นห่วงเช่นกัน แต่คนที่หลงผิดคิดว่าหุ้นปรับตัวขึ้นมาแรงได้เป็นเพราะว่าพื้นฐานมันดีจริงแล้วนั้น เป็นพวกที่ผมห่วงที่สุด เพราะผมพบว่า คนที่เจ็บตัวจากหุ้นพื้นฐานแล้วมาปรับทุกข์ให้ผมฟังนั้นล้วนเป็นคนที่คิดแบบนี้กันทั้งนั้น

0327: Growth Investing Defined

มีหลายท่านสังเกตออกว่า ผมมักเน้นลงทุนในหุ้นเติบโตเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งก็ค่อนข้างจะตรง ผมก็เลยอยากถือโอกาสคุยเรื่อง Growth Investing สักหน่อยนะครับ

ทุกวันนี้สไตล์การลงทุนหลายแนวถูกนำชื่อไปใช้อ้างชื่อกันมาก ทำให้ความหมายของมันค่อยๆ เปลี่ยนไปจนในที่สุดก็ไม่เหลือใครที่มีบารมีมากพอที่จะผูกขาดนิยามของแนวการลงทุนเหล่านั้นได้อีกต่อไป Growth Investing ก็เช่นกัน เวลาจะใช้คำนี้จึงต้องขยายความให้ชัดหน่อยว่าหมายถึงอย่างไรกันแน่ มิฉะนั้นจะเกิดการเข้าใจผิดกันได้ง่าย

นิยามของ Growth Investing ที่ผมไม่ชอบมากที่สุดตั้งแต่เคยได้ยินมาคือนิยามที่บอกว่า Growth Investing คือการลงทุนในหุ้นที่มีค่าพีอีเรโชสูง นิยามนี้แบ่งหุ้นออกเป็นสองจำพวกชัดเจนคือ Growth Stock vs. Value Stock โดยใช้ค่าพีอีเรโชเป็นตัวแบ่ง หุ้นเติบโตคือหุ้นที่มีพีอีสูง หุ้นคุณค่าคือหุ้นที่มีพีอีต่ำ  

นิยามนี้เป็นนิยามที่ทำให้ความหมายของคำว่าการลงทุนผิดเพี้ยน เพราะพีอีเป็นอัตราส่วนทางการเงินที่มีราคาตลาดของหุ้นมาเกี่ยวข้อง (P) แต่ราคาหุ้นนั้นเป็นเรื่องของตลาดหลักทรัพย์ ไม่เกี่ยวกับตัวกิจการเลย พีอีเรโชจึงไม่ได้บ่งบอกถึง “การเติบโต” (หรือแม้แต่คุณค่า) ของบริษัทเลยแม้แต่น้อย หุ้นตัวหนึ่งจะเป็นหุ้นเติบโตหรือไม่นั้นจะต้องดูจากตัวธุรกิจได้แก่การเติบโตของธุรกิจเป็นหลัก ไม่เกี่ยวกับค่าพีอี  หุ้นที่มีค่าพีอีเรโชต่ำๆ ก็เป็นหุ้นเติบโตได้หากกำไรของธุรกิจนั้นเติบโตสูง ผมเองเน้นลงทุนในหุ้นเติบโตเป็นหลัก แต่ผมไม่ได้ชอบหุ้นพีอีสูงแต่อย่างใด ถ้าหากกำไรเติบโตสูงแล้วพีอีต่ำด้วยก็ยิ่งดีใหญ่ (เพียงแต่โอกาสดีๆ ขนาดนั้น มักไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยนักสำหรับหุ้นเติบโต) 

ที่จริงแล้ว Growth กับ Value เป็นสิ่งที่ไม่สามารถแยกออกจากกันได้อย่างเด็ดขาด เพราะ แม้แต่ Growth Investor เอง ก็ยังต้องซื้อหุ้นให้ได้ในราคาที่ยังต่ำกว่า Growth Potential ของมันอยู่ดี (แบบเดียวกับ value investing) มิฉะนั้นซื้อไปแล้วก็จะไม่ได้อะไรจากการเติบโตอยู่ดี เพราะราคาหุ้นสะท้อนการเติบโตไปหมดแล้ว  

โดยรวมๆ Growth Investing หมายถึง การลงทุนที่ให้น้ำหนักกับ “โอกาสในการเติบโตของกิจการ”  ในการประเมินค่าหุ้นมากเป็นพิเศษ เท่านั้นเอง วิธีการลงทุนในหุ้นคุณค่าหรือหุ้นเติบโตนั้นจึงไม่ต่างกัน

แต่เหตุที่ผมสนใจหุ้นเติบโตมากกว่าหุ้นแบบอื่นมาจากเป้าหมาย, ความถนัด ตลอดจนความเชื่อส่วนตัวของผมเป็นสำคัญ โดยส่วนตัว ผมอยากซื้อหุ้นแล้วถือทิ้งไว้ในพอร์ตได้นานๆ โดยไม่ต้องคอยหาตัวใหม่อยู่เรื่อยๆ จะได้ไม่ต้องเหนื่อยกับการบริหารพอร์ตมากเกินไป ซึ่งผมคิดว่า หุ้นเติบโตตอบโจทย์ข้อนี้ได้ดีกว่าหุ้นแบบอื่น เพราะหุ้นเติบโตแม้เราถือทิ้งไว้เฉยๆ โดยไม่หาทางทำกำไรด้วยการซื้อๆ ขายๆ กินส่วนต่าง มูลค่าของหุ้นก็ยังสามารถเพิ่มขึ้นได้ในระยะยาว เพราะกิจการยังมีการลงทุนใหม่ๆ อยู่ ทำให้กำไรเพิ่มขึ้นได้อีก มูลค่ากิจการก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ได้ในระยะยาว แค่ถ้าเราซื้อหุ้นคุณค่าในราคาที่คิดว่าต่ำกว่ามูลค่าของกิจการแล้วถือไว้ สมมติว่าผ่านไปแค่สองเดือนราคาหุ้นเกิดปรับตัวขึ้นจนสะท้อนมูลค่าหมดแล้ว ก็ไม่รู้ว่าจะถือต่อไปอีกด้วยเหตุผลอะไร เพราะว่ากำไรของกิจการเท่าเดิม มูลค่าของกิจการก็เท่าเดิม ราคาหุ้นก็ต้องเท่าเดิม ถือทิ้งไว้ พอร์ตก็ไม่โตขึ้น เราจึงต้องขาย ออกมาแล้วหาตัวใหม่เข้าลงทุนแทนอยู่เรื่อยๆ เพื่อให้เงินของเรายังทำงานอยู่ตลอดเวลาได้ ผมมีความเชื่อว่า หุ้นคุณค่าเมื่อราคาสะท้อนแล้ว ควรขายออกไปได้เลย ไม่ควรถือต่อไปในระยะยาว หุ้นที่ควรถือในระยะยาวมีเพียงหุ้นเติบโตประเภทเดียวเท่านั้น (ความเชื่อส่วนบุคคล)

นี่เป็นเหตุผลเดียวกันด้วยที่ทำให้ผมไม่นิยมลงทุนในหุ้นกลับตัว (Turnaround) ด้วย เพราะแม้ว่าหุ้นกลับตัว (ถ้าเล่นเก่งๆ) มักให้ผลตอบแทนที่สูงมาก แต่ก็ต้องเหนื่อยหาตัวใหม่อยู่เรื่อยๆ เพราะเมื่อหุ้นกลับตัวได้แล้ว ก็มักไม่มีเหตุผลที่จะถือต่อไป (ส่วนใหญ๋แล้ว หุ้นกลับตัวมักเป็นกิจการที่อ่อนแอ มิฉะนั้นมักคงไม่แย่ให้เราซื้อตั้งแต่แรก)  

ภายใต้คำว่า Growth Investing ด้วยกันเองยังมีแนวทางแยกย่อยได้อีกหลายแนว แต่ละแนวก็มีวิธีที่ค่อนข้างต่างกันมาก ราวกับเป็นคนละแนวทางเลยทีเดียว  ระยะหวังผล ของนักลงทุนแต่ละคนคือสาเหตุสำคัญที่ทำให้ Growth Investing แต่ละแนวมีวิธีที่แตกต่างกันออกไป 

Growth Investing แบบที่แพร่หลายมากที่สุดคือ การเลือกหุ้นโดยดุจากแผนการเติบโตของบริษัทนั้นๆ เป็นหลัก วิธีนี้คือดูว่าบริษัทนั้นๆ มีแผนเติบโตธุรกิจอย่างไร เช่น โรงงานอาจมีแผนเพิ่มกำลังการผลิต ธุรกิจค้าปลีกอาจมีแผนขยายสาขา ผู้รับเหมาอาจมีโปรเจ็คใหม่ๆ ที่กำลังวิ่งอยู่ เป็นต้น จากนั้นก็คำนวณหากำไรที่เพิ่มขึ้นที่น่าจะเป็นไปได้ ลองดูว่าราคาหุ้นปัจจุบันคิดเป็น P/E กี่เท่าเมื่อเทียบกับกำไรที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต ถ้าค่าพีอีนี้ยังไม่สูงก็ลงทุนได้ ถ้าสูงจนสะท้อนการเติบโตไปหมดแล้ว ก็ไม่เอา วิธีนี้เหมาะกับนักลงทุนที่มีระยะหวังผล 1-3 ปี เพราะธุรกิจส่วนใหญ่มักวางแผนธุรกิจล่วงหน้าไว้ 1- 3 ปี ทำให้หาข้อมูลมาสนับสนุนการวิเคราะห์หุ้นได้ง่าย วิธีนี้ถือว่ามีเหตุมีผลมีที่มาที่ไปชัดเจน เพราะมีแผนธุรกิจของบริษัทรองรับการตัดสินใจลงทุน ทำให้เป็นที่นิยมของนักลงทุนสถาบัน เป็นการให้มูลค่าหุ้นไปตามการเติบโตเฉพาะที่มองเห็นได้เท่านั้น เรื่องที่ต้องระวังคือต้องคิดด้วยว่า แผนของผู้บริหารมีความเป็นไปได้แค่ไหน ไม่ใช่ผู้บริหารวาดฝันยังไงก็เชื่อตามทุกอย่าง หากดูแล้ว aggressive เกินไป ก็ต้องลดทอนความคาดหวังลงมาเองด้วย   

Growth Investing อีกแบบหนึ่งเป็นการมองหาแนวโน้มการเติบโตใหญ่ (Megatrends) ที่กินระยะเวลายาวนาน แล้วลงทุนไปกับบริษัทที่คิดว่าน่าจะได้รับประโยชน์จากแนวโน้มใหญ่นั้นแบบถือยาวไปเลย ตัวอย่างเช่น ถ้ามองว่า แนวโน้มใหญ่ของคนกรุงเทพคือการหันมาอยู่คอนโดมากขึ้น เพราะการเกิดขึ้นของโครงการรถไฟฟ้าต่างๆ เราก็ซื้อหุ้นคอนโดเก็บไว้ หรือถ้าเชื่อใน aging economy ก็ซื้อหุ้นโรงพยาบาลเก็บไว้ เป็นต้น วิธีนี้ดีตรงที่ไม่ต้องเหนื่อยทำการบ้านมาก เพราะไม่จำเป็นต้องคอยติดตามข่าวบริษัทอย่างใกล้ชิดทุกไตรมาส ใช้วิธีอดทนกับความผันผวนของราคาหุ้นระหว่างทางแทน ตราบใดที่ภาพใหญ่ยังไม่เสีย หุ้นจะขึ้นบ้างลงบ้างก็ช่างมัน เพราะยังไงเสียในระยะยาว แนวโน้มใหญ่ก็จะช่วยพาบริษัทให้เติบโตขึ้นได้อย่างมีนัยสำคัญอยู่แล้วจะไปวิตกกับความผันผวนระหว่างทางไปทำไม ระยะหลังนี้ ผมหันมาเน้นการลงทุนด้วยวิธีการนี้มากขึ้นเรื่อยๆ เพราะตรงกับเป้าหมายส่วนตัวของผมที่อยากเล่นหุ้นแบบไม่ต้องเหนื่อยมาก ถ้าเราสามารถหาแนวโน้มใหญ๋ให้ได้สัก 4-5 แนวแล้วกระจายการลงทุนออกไป เราก็สามารถลงทุนแบบใจสงบได้แล้ว ระยะหวังผลของหุ้นแต่ละตัวที่ซื้ออาจเป็น ได้ตั้งแต่ 3 ถึง 10 ปี แล้วแต่ความต่อเนื่องของแนวโน้มใหญ่

สุดท้ายคือ Growth Investing แนวบู๊ล้างผลาญ วิธีนี้มีระยะหวังผลไม่เกิน 3-6 เดือนต่อหุ้นแต่ละตัวที่ซื้อ เมื่อได้กำไร 20-100% แล้วก็หาตัวเล่นใหม่เปลี่ยนสร้างผลตอบแทนอย่างไม่หยุดนิ่ง คาดหวังผลตอบแทนต่อปีในระดับที่ค่อนข้างสูง

“ข้อมูลข่าวสาร” คืออาวุธที่สำคัญที่สุดของแนวบู๊ล้างผลาญ ข้อมูลที่ว่านี้ไม่ได้หมายถึง “ข้อมูลอินไซด์” เสมอไป แต่หมายถึง “ข่าวสาธารณะ” นั่นแหละครับ (ที่จริงแล้ว พวกข่าวอินไซด์กลับจะน่ากลัว เพราะเราอาจตกเป็นเหยื่อได้ด้วย) ยิ่งเราเข้าถึงข้อมูลได้มาก-ลึก-เร็วและแม่นยำกว่าคนอื่นเท่าไร เราก็จะยิ่งได้เปรียบในการลงทุนแบบนี้มากขึ้นเท่านั้น ที่จริงแล้ว วิธีนี้ไม่ต้องรู้เรื่องอะไรเลยเกี่ยวกับการวิเคราะห์ธุรกิจเลยก็ยังได้ เพราะในระยะแค่ 3-6 เดือน การเคลื่อนไหวของราคาหุ้นแทบไม่เกี่ยวกับอะไรกับปัจจัยพื้นฐานของธุรกิจ แต่เกี่ยวกับข่าวที่เข้ามากระทบหุ้นตัวนั้นๆ เป็นสำคัญ หุ้นที่พื้นฐานไม่ค่อยดีกลับน่าสนใจมากกว่าหุ้นพื้นฐานดีเสียด้วยซ้ำ เพราะหุ้นพวกนี้มักจะมีกำไรระยะสั้นที่ผันผวนสูงมากกว่า ทำให้เราสามารถทำกำไรระยะสั้นได้เยอะกว่า

ตามความเห็นของผม การลงทุนในวิธีนี้สามารถให้ผลตอบแทนสูงได้จริงสำหรับตลาดหุ้นไทย แต่จะต้องขยันทำการบ้านให้มาก ลงทุนตามข้อมูลเป็นหลัก ไม่ใช่ลงทุนตามความรู้สึก ผลตอบแทนที่ได้จะแปรผันตามไปข้อได้เปรียบเรื่องข้อมูลของเรา ยิ่งได้เปรียบเรื่องข้อมูลมากเท่าไร เราก็ยิ่งมีโอกาสประสบความสำเร็จมากเท่านั้น ไม่มีปฏิหารย์ครับ

คนที่ใช้วิธีนี้บางคนใช้วิธีมองหาหุ้นที่ EPS รายไตรมาสกำลังจะเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญมากๆ เช่น +100% yoy แล้วรีบเข้าไปถือก่อนคนอื่น รอให้ข่าวค่อยๆ กระจายออกสู่นักลงทุนในวงกว้างมากขึ้นจนราคาหุ้นปรับตัวขึ้นมามากๆ ในช่วงเวลาอันรวดเร็ว แล้วก็รีบขายทิ้งทำกำไรออกมาตั้งแต่ก่อนที่ข่าวที่ดีที่สุดจะออกมา ทำเช่นนี้ไปเรื่อยๆ ให้ได้หลายๆ รอบในหนึ่งปี คนที่ขยันหาข่าวจริงๆ จะทำผลตอบแทนได้สูงมากจากวิธีการลงทุนแบบนี้ 

อย่างไรก็ตาม ข้อเสียสำคัญของ Growth Investing แนวสุดท้ายนี้ก็คือ ในระยะสั้น ตลาดหุ้นคือ Money Game จึงหลีกเลี่ยงไม่เราจะต้องเข้าไปเล่นในเกมนี้ด้วย คนที่จะเล่นหุ้นด้วยวิธีนี้ได้จึงต้องมีภูมิต้านทานสูง รู้เท่าทันคนอื่นจึงจะเอาตัวรอดได้ 

โดยส่วนตัว ผมไม่ได้ลงทุนด้วยวิธีนี้เลย เพราะไม่ใช่ทางของผมครับ

0314: Evaluating a Business

เวลาพูดว่า บริษัทหนึ่งมี “ปัจจัยพื้นฐาน” ดีหรือไม่ดีนั้น เราดูจากอะไร? 

ก่อนอื่นต้องขอเน้นว่า คนที่คิดจะลงทุนโดยวิธีดูปัจจัยพื้นฐานนั้น จะต้องเป็นคนที่มี ระยะหวังผลตอบแทนที่ยาวๆ (เป็นปีๆ) เท่านั้น เหตุเพราะ ปัจจัยพื้นฐานของบริษัทมักเป็นคุณสมบัติที่ติดตัวบริษัทอยู่เป็นเวลานาน ไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงง่าย ดังนั้น มันจึงแทบไม่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของราคาหุ้นในระยะสั้นเลย (หรือแม้แต่ผลกำไรในระยะสั้นก็ตาม) ถ้าเราวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานของหุ้นตัวหนึ่งว่าดีแล้วเข้าซื้อจากนั้นราคาหุ้นก็ปรับตัวขึ้นได้เลย ส่วนใหญ่แล้วมาจากความบังเอิญแท้ๆ เพราะปัจจัยพื้นฐานที่ดีมักเป็นเรื่องที่เป็นมาก่อนหน้าที่เราจะพิจารณาแล้ว บริษัทไม่รู้หรอกว่า เราเข้ามาซื้อตอนไหน มันจึงไม่จำเป็นต้องขึ้น หลังจากที่เราซื้อเลย

ถ้าใครมีระยะหวังผลสั้น (เช่น <1ปี) ควรใช้วิธีการอย่างอื่น เช่น การเก็งข่าวบริษัท หรือการวิเคราะห์ทางเทคนิค จะได้ผลมากกว่า

การลงทุนที่มีระยะหวังผลแบบยาวนั้น เราไม่ได้มองหาหุ้นที่ “ซื้อแล้วขึ้นเลย” แต่เรามองหาหุ้นที่ ถ้าสมมติว่า เราซื้อแล้ว”ซวย” มันดันเป็นขาลงพอดี  มันจะต้องที่มีโอกาสสูงที่ ถ้าหากเราถือต่อไปอีก มันจะกลับมาสูงกว่าเดิมได้อีก หุ้นลักษณะนี้ต่างหากที่น่าสนใจลงทุนในระยะยาว   

เมื่อคิดได้อย่างนี้แล้ว เราย่อมคิดได้โดยอัตโนมัติด้วยว่า หุ้นที่เหมาะกับการลงทุนระยะยาวต้องเป็นหุ้นของกิจการที่มี โอกาสเจ๊งต่ำๆ และในเวลาเดียวกัน ก็ต้องมีโอกาสที่ กิจการจะเติบโตใหญ่ไปเรื่อยๆ ในระยะยาวๆ ด้วย เพราะกิจการลักษณะนี้ย่อมกลับมาทำกำไรสูงสุดได้อยู่เรื่อยๆ ซึ่งเป็นการเพิ่มโอกาสที่ราคาหุ้นจะกลับมาสูงขึ้นอีกได้ใหม่อยู่เรื่อยๆ คุณสมบัติเช่นนี้ช่วยทำให้ผลตอบแทนของเราไม่จำเป็นต้องพึ่งพาภาวะตลาดในระยะสั้นพวกมันจึงเป็นหุ้นที่ทำให้เราตอบคำถามตัวเองได้ว่าทำไมเราจะต้องยอมถือพวกมันไว้นานๆ แทนที่จะเอาเม็ดเงินไปทำอย่างอื่นด้วย

และปัจจัยที่จะใช้บอกว่าหุ้นมีปัจจัยพื้นฐานดีหรือไม่ ก็ควรเป็นปัจจัยที่ช่วยบ่งชี้ถึงคุณสมบัติที่กล่าวมานี้นั่นเอง ผมลองนั่งนึกดูว่า ที่ผ่านมา เวลาผมตัดสินปัจจัยพื้นฐานของหุ้น ผมมักจะดูจาก 8 ประเด็นนี้เป็นปัจจัยหลัก

1.บริษัทขายสินค้าที่ต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงบ่อยหรือไม่?

แต่ละอุตสาหกรรมมีวงชีวิตของมันอยู่ อุตสาหกรรมเหล็กมีอายุนับหลายร้อยปี และนานครั้งกว่าที่จะมีความเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญเกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมนี้ เหล็กก็คือเหล็ก มนุษย์ชาติยังต้องบริโภคเหล็กหน้าตาแบบเดิมๆ ไปอีกนาน การเปลี่ยนแปลงมักเป็นแบบทีละนิดเล็ก บริษัทปรับตัวตามได้ง่าย ไม่ใช่แบบหน้ามือเป็นหลังมือ ล้างไพ่ใหม่หมด

ในขณะที่ ธุรกิจบันเทิงต้องเผชิญการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เพราะรสนิยมและสื่อสมัยนิยมเปลี่ยนไปตลอดเวลา ในแง่นี้ ธุรกิจเหล็กย่อมเหมาะกับการลงทุนระยะยาวมากกว่าธุรกิจบันเทิง เพราะธุรกิจของบริษัทมีโอกาสที่จะล้มหายตายจากไปได้ยากกว่า ส่วนธุรกิจบันเทิงนั้น ถ้าเราลงทุนในบริษัทที่เป็นเจ้าของรายการโทรทัศน์หรือเกมยอมฮิตในเวลานั้น ย่อมมีโอกาสน้อยที่บริษัทเดิมจะกลับมาประสบความสำเร็จซ้ำอีกครั้งกับรายการใหม่หรือเกมตัวใหม่ บริษัทที่ผลิตรายการฮิตซ้ำแล้วซ้ำอีกอย่างต่อเนื่องไม่ค่อยจะมี จึงมีเหตุผลน้อยที่เราจะถือมันไว้ในระยะยาวๆ เป็นต้น  

2.ลักษณะธุรกิจของบริษัทเป็นแบบ Project-based หรือไม่?

ธุรกิจ Project-based เช่น รับเหมาทำระบบ ประมูลงานเป็นจ๊อบๆ เป็นธุรกิจที่มีความแน่นอนของรายได้ค่อนข้างต่ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าโปรเจ็คมีอายุงานสั้น การได้โปรเจ็คในแต่ละปี ไม่ได้การันตีว่า ปีหน้าจะได้เหมือนเดิม จึงหวังได้น้อยถ้าหากจะถือไว้ในระยะยาวเพื่อให้รายได้เพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ ต่างกับธุรกิจแบบน้ำซึมบ่อทราย เช่น ขายยาสีฟัน เมื่อใดที่ลูกค้าชอบยี่ห้อของบริษัทแล้ว มีโอกาสสูงที่ลูกค้าจะกลับมาซื้ออีกเป็นประจำ ทำให้รายได้ของบริษัทมีความมั่นคง

อย่างไรก็ตาม ถ้าหากรายได้ของลูกค้าแต่ละรายคิดเป็นสัดส่วนน้อยมากเมื่อเทียบกับรายได้รวม ธุรกิจ Project-based ก็ไม่ถือว่าน่ากลัว เพราะกฏของความมากช่วยทำให้รายได้รวมของบริษัทมีความแน่นอนได้ ตัวอย่างเช่น ธุรกิจพัฒนาโครงการบ้าน แต่ละโครงการอาจมีลักษณะเป็น Project แต่ถ้าหากแต่ละปีบริษัททำ 40-50 โครงการทุกปี รายได้ของบริษัทก็มีความแน่นอนในระดับหนึ่ง พึ่งระวังพวกธุรกิจ OEM ที่มีรายได้จากลูกค้ารายใหญ่ที่สุด 10 อันดับแรกคิดเป็นสัดส่วนเกินร้อยละ 50 ของรายได้รวม

3. สินค้าของบริษัทน่าจะมีความต้องการของตลาดสูงขึ้นในอนาคตเร็วกว่าการเติบโตของเศรษฐกิจโดยรวมหรือไม่?

ประเด็นนี้มักพิจารณาได้จากเทรนด์หรือไลฟ์สไตล์ของสังคมที่เปลี่ยนไป อาหารแช่แข็งน่าจะเติบโตได้ดีถ้าสังคมมีลักษณะเป็นครอบครัวเดี่ยวและต้องใช้ชีวิตแบบเร่งรีบมากขึ้น ผู้คนในอนาคตน่าจะฟังวิทยุน้อยลง ในขณะที่ใช้อินเตอร์เน็ตและโทรศัพท์มือถือกันมากขึ้น ซื้อหนังสือพิมพ์เป็นเล่มๆ น้อยลง ซื้อรถยนต์คันเล็กลง ใช้ไฟฟ้าในสัดส่วนที่มากขึ้นเมื่อเทียบกับน้ำมัน ฯลฯ

4. บริษัทกำลังทำให้รายได้เติบโตได้ด้วยวิธีการใด และอะไรคือเพดานการเติบโตของบริษัท?

การเพิ่มรายได้นั้นมีหลายวิธี เช่น เพิ่มปริมาณการบริโภคของลูกค้าต่อราย เพิ่มจำนวนราย เพิ่มรายการสินค้า เพิ่มเขตการค้า เพิ่มสายธุรกิจ ซื้อกิจการ ฯลฯ วิธีแรกๆ นั้นจะมีความเสี่ยงต่ำแต่สร้างการเติบโตได้จำกัด ในขณะที่วิธีหลังๆ จะเติบโตได้เป็นกอบเป็นกำมากกว่า แต่ความเสี่ยงก็สูงกว่าด้วย ลองพิจารณาดูว่า บริษัทกำลังเติบโตด้วยวิธีใด และยังมีวิธีอื่นที่บริษัทยังไม่ได้เริ่มใช้หรือไม่ ถ้ายังมีอีกเยอะ บริษัทก็ยังมี Upside ทางธุรกิจอีกมาก เหมาะกับการลงทุนกับบริษัทในระยะยาว 

ทุกธุรกิจจะมีบางสิ่งบางอย่างทำให้เกิด “เพดาน” การเติบโตของรายได้เสมอ ทั้งในระยะสั้นและในระยะยาว การมองให้ออกว่าเพดานรายได้ของธุรกิจนั้นคืออะไรจะช่วยทำให้เราประเมินขนาดของ Upside ของธุรกิจนั้นได้ดีขึ้น

ตัวอย่างเช่น เพดานของธุรกิจโรงแรมในระยะสั้นคือจำนวนห้องพักทั้งหมด ธุรกิจโรงแรมไม่สามารถโตไปได้อีกเมื่อไรก็ตามที่ห้องพักเต็มแล้ว อย่างมากก็คือการขึ้นค่าห้องพักซึ่งทำได้ค่อนข้างจำกัด ธุรกิจโรงแรมจึงเป็นธุรกิจที่มีเพดานการเติบโตในระยะสั้นที่จำกัดมาก ในระยะยาว ถ้าทำเลของโรงแรมดีขึ้นมาก โรงแรมอาจก่อสร้างตึกเพิ่มเติม ทำให้โตต่อไปได้อีก แต่ก็จะไปติดเพดานที่จำนวนห้องอีกเหมือนเดิมอีก ที่ดินโรงแรมมักจำกัด ขยายได้แค่ระดับหนึ่งเท่านั้น ถ้าจะทำให้โรงแรมโตได้เรื่อยๆ ในระยะยาว บริษัทจะต้องมีนโยบายเปิดสาขาเท่านั้น Upside ของโรงแรมที่มีการเปิดสาขา กับไม่มี จึงไม่เท่ากัน

ธุรกิจการผลิตส่วนมากมี กำลังการผลิต เป็นเพดานรายได้ในระยะสั้น ถ้าเราลงทุนในบริษัทที่ใช้กำลังการผลิตเต็มอยู่ Upside ในระยะสั้นก็แทบจะไม่มีเหลือแล้ว การขยายกำลังการผลิตจะต้องลงทุนเพิ่ม ทำให้ต้องนำประเด็นเรื่องการเพิ่มทุนมาพิจารณาร่วมด้วยเสมอ

5.ธุรกิจของบริษัทมีอะไรบ้างที่แตกต่างและเป็นข้อได้เปรียบ?

การที่บริษัทจะได้กำไรมากกว่าคู่แข่งในอุตสาหกรรมเดียวกันนั้น บริษัทจะต้องเป็นเจ้าของบางสิ่งบางอย่างที่แตกต่างและสิ่งนั้นสามารถใช้เป็นข้อได้เปรียบในธุรกิจนั้นๆ ได้ด้วย ถ้าเรานึกไม่ออกเลย ก็เป็นลางบอกเหตุว่า บริษัทนั้นมีคุณค่าต่ำ ยังไม่ต้องเปิดงบการเงินดูเลยก็ได้ ของแตกต่างที่ว่านี้จะเป็นสินทรัพย์ที่มีตัวตนหรือไม่มีตัวตนก็ได้ ลองนึกออกมาให้หมด ยิ่งมีมากเท่าไรยิ่งเป็นสัญญาณดี 

ตัวอย่างเช่น บริษัทเป็นเจ้าของเทคโนโลยีหรือ know-how ที่คู่แข่งไม่มี บริษัทมีตราสินค้าที่เหนือกว่า บริษัทมีฐานลูกค้ามากกว่าอย่างมีนัยสำคัญทำให้มีข้อได้เปรียบเรื่อง Scale การผลิต สำหรับบ้านเรา การที่บริษัทมีเส้นสายหรือคอนเนกชั่นที่ดี ก็เป็นข้อแตกต่างที่สำคัญมากอย่างหนึ่งด้วย พึ่งระวังพวกธุรกิจที่มีแค่เครื่องจักรเอามาตั้งแล้วเดินเครื่องเฉยๆโดยที่เป็นเครื่องจักรที่ใครมีเงินก็ซื้อมาตั้งได้ทั้งนั้น ธุรกิจอย่างนี้ยากมากที่จะทำกำไรได้จริง

ลองเช็คดูข้อได้เปรียบแต่ละอย่างว่า ถ้าคู่แข่งจะเลียนแบบบ้าง มันจะยากแค่ไหน ถ้าทำได้ง่ายมาก แสดงว่าข้อได้เปรียบนั้นไม่ดีจริง แต่ถ้าต้องเข็นครกขึ้นภูเขา แสดงว่าข้อได้เปรียบนั้นแข็งแกร่ง ดูด้วยว่า Key Success Factor หรือ Key Value Driver ของธุรกิจนั้นคืออะไร แล้วข้อได้เปรียบที่บริษัทมีอยู่นั้นเกี่ยวข้องกับ Key เหล่านี้มากน้อยแค่ไหน

6.อุตสาหกรรมของบริษัทเป็นอุตสาหกรรมที่รายใหม่กระโดดเข้าไปได้ง่ายแค่ไหน

พูดง่ายๆ ก็คือ มี Barrier to Entry ขนาดไหน ธุรกิจควบคุม ธุรกิจสัมปทาน ที่ขอใบอนุญาตใหม่ได้ยาก ย่อมดีกว่าธุรกิจเสรีทั่วไป ลองดูจำนวนบริษัทที่อยู่ในตลาดปัจจุบันว่ามีมากน้อยแค่ไหน ถ้ามีมากเป็นกองทัพมดเลย ก็น่าเป็นห่วง ถ้ามีแค่ 2-3 เจ้า ทั้งปีทั้งชาติก็มีอยู่แค่นี้แสดงว่าต้องมีอะไรบางอย่างกันไม่ให้เจ้าใหม่เข้ามาได้ง่ายๆ แบบนี้ดี หรือลองสังเกตว่าคู่แข่งทุกรายกำไรหมด แสดงว่าอุตสาหกรรมนี้ดี เข้ามาได้ก็กำไรแล้ว แต่ถ้าบางรายกำไร บางรายขาดทุน แสดงว่าอุตสาหกรรมนี้ไม่ค่อยดี คนที่จะได้กำไรต้องมีข้อได้เปรียบคู่แข่งเท่านั้น ลองสังเกตด้วยว่า ลูกค้าของธุรกิจนั้นเป็นอย่างไร ถ้าลูกค้าเป็นรายเล็กๆ จำนวนมากๆ บริษัทย่อมมีอำนาจต่อรองกับลูกค้าสูง เป็นสัญญาณดีอีกเช่นกัน

7.ฐานะทางการเงินของบริษัทเป็นอย่างไร?

อันนี้พิจารณาได้จากงบดุลเป็นหลัก ดูว่า ROA เฉลี่ยในรอบหลายๆ ปีสูงหรือต่ำ สัดส่วนหนี้สินต่อทุนสูงหรือไม่เมื่อเทียบกับคู่แข่งที่ทำธุรกิจเดียวกัน การมีหนี้ไม่ใช่เรื่องเสียหาย เพราะช่วยประหยัดภาษีได้ ต้องมีหนี้มากผิดปกติเท่านั้นที่เป็นสัญญาณอันตราย ที่จริงแล้ว เราอยากลงทุนกับบริษัทที่โตพอสมควรโดยไม่ต้องอาศัยหนี้มากๆ เพราะจะเติบโตได้อย่างยั่งยืนมากกว่าพวกที่โตได้เยอะๆ ในระยะสั้น แต่แบกหนี้สูงไว้ตลอดเวลา พร้อมจะประสบปัญหาสภาพคล่องถ้าเศรษฐกิจสะดุด  

นักธุรกิจที่ทำธุรกิจแบบรอบคอบนั้นจะเหลือ Lending Capacity เอาไว้ส่วนหนึ่งเสมอ เพื่อเวลาโอกาสในการลงทุนใหม่มาถึง บริษัทจะสามารถขยับตัวขอกู้เงินมาลงทุนเพิ่มได้ทันที บริษัทที่ขอกู้จนสุดขีดตลอดเวลา บ่งบอกถึงอุปนิสัยของผู้บริหาร และมีความเสี่ยงสูงที่จะประกาศเพิ่มทุนในอนาคตอันใกล้

8.บุคลิกขององค์กรเป็นอย่างไร

ทุกองค์กรจะมีบุคลิกประจำตัว ถ้าหากเราสัมผัสกับองค์กรนานพอ เราจะรู้ ถ้าเป็นองค์กรเล็ก บุคลิกจะขึ้นอยู่กับผู้บริหารค่อนข้างมาก ส่วนถ้าเป็นองค์กรใหญ่ บุคลิกจะขึ้นอยู่กับ Corporate Culture

ลองพิจารณาดูว่าบริษัทมีบุคลิกแบบ entrepreneurial หรือ bureaucrat มากกว่ากัน บริษัทที่จะเติบโตได้ดีควรมีวัฒนธรรมเป็นแบบแรกมากกว่า บริษัทยังแสวงหาการเติบโตอยู่เรื่อยๆ หรือว่าอยู่ในโหมดประคองตัว จ่ายเงินเดือน จ่ายปันผล ไปเรื่อยๆ ก็พอ แต่ละปีบริษัทมีอะไรใหม่ออกมาให้เห็นบ้าง หรือว่าไม่มีเลย โปรเจ็คเพิ่มรายได้ของปีนี้คืออะไร บริษัทตั้งเป้าหมายไว้ว่าอะไร ที่สำคัญลอง track อดีตว่า บริษัทเคยตั้งเป้าหมายไว้แล้วสามารถทำได้ใกล้เคียงบ่อยแค่ไหน การตรวจสอบผลงานในอดีตเป็นวิธีที่ดีกว่าการใช้ความรู้สึกตัดสินผู้บริหาร หรือฟังข่าวลือต่างๆ ที่สำคัญ ขนาดของหุ้นไม่ได้บ่งบอกวัฒนธรรมหรือโอกาสในการเติบโต

8 ประเด็นนี้ แม้จะไม่ได้ลงลึกมากนัก ก็ถือว่าเพียงพอแล้ว สำหรับการลงทุนแบบที่มีการกระจายความเสี่ยงร่วมด้วย ไม่จำเป็นที่จะต้องหาหุ้นที่ได้ A+ ในประเด็นเหล่านี้ทุกประเด็น เพราะเป็นไปไม่ได้ ถ้าเราลงทุนในบริษัทที่ได้ B+ ในประเด็นเหล่านี้สัก 4-6 บริษัท กลับจะดีกว่า bet กับบริษัท A+ แค่เพียงแค่ 1-2 บริษัท เพราะยังไงเราก็ต้องเผื่อความผิดพลาดในการมองของตัวเราเองด้วยเสมอ จึงควรอาศัยภาพรวมของพอร์ตมากกว่าการพึ่งพาหุ้นเด็ดตัวใดตัวหนึ่งแค่ตัวเดียว 

ที่สำคัญ ไม่ใช่วิเคราะห์แล้วซื้อทันที แต่ควรคัดหุ้นที่เข้าตาเก็บไว้ใน Watch List ของเราไว้ แล้วรอซื้อเมื่อมันมีราคาที่ไม่แพงจนเกินไป ถ้าทำได้อย่างนี้ เราก็จะสามารถสร้างพอร์ตลงทุนระยะยาวที่มีคุณภาพให้กับตัวเองได้แล้วล่ะครับ

0296: เงินล้นโลก

เมื่อคืนนี้ ลุงเบนบอกว่า ดูท่าทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะยังต้องการเวลาอีกนานกว่าจะฟื้นตัวได้ เพราะฉะนั้นเฟดจะขอใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายอย่างนี้ต่อไปอีกสักพักใหญ่

คำพูดของลุงเบนที่ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังไม่ฟื้นนี้ไม่ได้ทำให้นักลงทุนกังวลแต่อย่างใด ตรงกันข้าม กลับ ทำให้นักลงทุนโล่งใจกันมากกว่า เพราะที่ผ่านมาเฟดได้ใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายอย่างมากเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ตลาดมองเกมออกว่า ถ้าหากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นได้เมื่อไร เฟดจะต้องรีบขึ้นดอกเบี้ยทันที เพื่อสกัดภาวะเงินเฟ้อที่อาจเกิดจากนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากเกินไป การขึ้นดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วของเฟดจะทำให้สภาพคล่องที่เอ่อล้นอยู่ในเวลานี้ จะเกิดการตึงตัวขึ้น และจะทำให้ตลาดสินทรัพย์ทั่วโลกร่วงแรงได้ แต่พอลุงเบนออกมาส่งสัญญาณว่า จะยังไม่ขึ้นดอกเบี้ยอีกสักพักใหญ่ ตลาดก็โล่งใจ เพราะเจ้ามือเลื่อนเวลาเก็บโต๊ะออกไปอีก

หลังจากตลาดการเงินของสหรัฐฯ ที่ปั่นป่วนเมื่อปีที่แล้วได้กลับเข้าสู่ภาวะปกติเมื่อต้นปี สภาพคล่องที่เอ่อล้นอันเนื่องมาจากนโยบายของเฟดได้ถูกนักลงทุนนำมาลงทุนในตลาดสินทรัพย์ต่างๆ ทั่วโลกที่ไม่ใช่สกุลดอลล่าร์เพื่อเฮดจ์เงินเฟ้อที่อาจจะเกิดขึ้นได้อนาคต ด้วยเหตุนี้ ทั้งทองคำ น้ำมัน สินค้าโภคภัณฑ์ และตลาดหุ้นเกิดใหม่ทั่วโลก ในเวลานี้ ต่างมีราคาปรับตัวพุ่งขึ้นแรงโดยทั่วหน้า ทั้งๆ ที่เศรษฐกิจโลกยังไม่มีสัญญาณฟื้นตัวที่ชัดเจนแต่อย่างใด ราคาที่เพิ่มขึ้นนี้เป็นผลมาจาก “ภาวะเงินล้นโลก” มากกว่าที่จะเป็นเรื่องของภาวะเศรษฐกิจ

สภาวะที่มีเงินอยู่ในระบบมากเกินไป ตลาดหุ้นมักจะมีความผันผวนมากกว่าธรรมดา เพราะนักลงทุนจะพร้อมใจกันถือหุ้นเอาไว้ทั้งๆ ที่รู้อยู่แก่ใจว่าหุ้นแพง เนื่องจากไม่รู้ว่าจะเอาเงินไปไว้ที่ไหนดี ดังนั้นเมื่อใดที่มีข่าวร้ายเข้ามากระทบตลาด นักลงทุนก็จะรีบแข่งกันเทขายหุ้นออกมา แล้วรีบกลับมาถือเงินสดก่อนคนอื่น เพราะกลัวความสูง ตลาดหุ้นจึงมีความผันผวนสูงเพราะอ่อนไหวกับข่าวมากเป็นพิเศษ อย่างไรก็ตาม ตราบใดที่ผู้คุมนโยบายการเงินโลก (คือ เฟด) ยังคงยินดีที่จะใช้นโยบายแบบผ่อนคลายต่อไป ไม่ช้าไม่นานหุ้นที่ร่วงลงอย่างรุนแรงเพราะข่าวร้ายก็จะกลับมาใหม่ได้อีก เพราะยังไงเสียเงินก็ยังล้นโลกอยู่เหมือนเดิม ขายออกมาแล้วจะเอาเงินไปไว้ที่ไหน  ในทางตรงกันข้าม ถ้าหากวันใดเฟดมีการกลับนโยบายการเงิน ย่อมมีผลกระทบกับตลาดหุ้นในลักษณะที่เป็นการถาวรได้ 

เช่นนี้แล้ว การลงทุนในเวลานี้ต้องคอยจับตาท่าทีของลุงเบนเอาไว้ทุกฝีก้าวเชียวครับ ลุงเบนแค่กระเอมนิดเดียว จิ๊กโก๋สะดุ้งกันทั้งซอย สิ่งนั้นมาจากทางไหน สักวันหนึ่งมันก็ต้องกลับไปทางนั้นครับ

0289: เจ็ดแนวโน้มใหญ่ในปัจจุบัน

การมอง Demand Trends ถือเป็นวิธีหนึ่งที่สำคัญในการพิจารณาเลือกลงทุน วิธีมอง Demand Trends ที่ดีอย่างหนึ่งก็คือ การมองแนวโน้มใหญ่ (MegaTrend) 

แนวโน้มใหญ่คือ ความเปลี่ยนแปลงสำคัญที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมซึ่งส่งผลต่อความต้องการสินค้าและบริการในภาคธุรกิจ แนวโน้มใหญ่มักเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นติดต่อกันนานหลายปี ไม่ใช่แค่ชั่วคราวแล้วหายไป (อย่างนั้นจะเรียกว่าเป็น Fads หรือ Fashions) ดังนั้นการวิเคราะห์แนวโน้มใหญ่เป็นวิธีที่เหมาะกับการลงทุนระยะยาว แนวโน้มใหญ่ที่ผมพอจะมองเห็นในปัจจุบันมีดังนี้ (หลายอย่างเกิดขึ้นมาตั้งนานมากแล้ว แต่ทุกวันนี้ก็ยังดำเนินอยู่)  

1. Aging Society ปรากฏการณ์ที่คนแก่กำลังมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเมื่อคิดเป็นร้อยละของประชากรทั่วโลก ทำให้สินค้าที่เน้นขายคนแก่ย่อมมี Demand ที่เติบโตได้ดีอย่างต่อเนื่องในอนาคต อาทิเช่น ธุรกิจโรงพยาบาล เป็นต้น  

2. Free Trade ข้อตกลงเขตการค้าเสรีที่กำลังมีผลบังคับใช้มากขึ้นเรื่อยๆ จะช่วยทำให้การค้าการลงทุนข้ามชาติมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเพราะต้นทุนที่ต่ำลง ส่งผลดีต่อ ธุรกิจนำเข้า ส่งออก รวมทั้งธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งทั้งหลาย  

3. CyberWorld ผู้คนใช้เวลากับอินเตอร์เน็ตและมือถือแต่ละสัปดาห์มากขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลดีต่อธุรกิจให้บริการเน็ต เครือข่ายมือถือ ผู้นำเข้าอุปกรณ์มือถือ สินค้าไอที ธุรกิจเกมออนไลน์ ฯลฯ ในขณะที่ ธุรกิจเพลง โทรทัศน์ และธุรกิจหนังสือพิมพ์ ล้วนได้รับผลกระทบจากแนวโน้มอันนี้

4. Global Warming ภาวะโลกร้อนได้กระตุ้นให้เกิดการตื่นตัวเรื่องสิ่งแวดล้อมไปทั่วโลก ส่งผลดีต่อธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับพลังงานทางเลือก การกำจัดขยะ และการจัดการสิ่งแวดล้อม 

5. Energy Constraints การที่คนยากจนในจีนและอินเดียหลายร้อยล้านคนกำลังมีฐานะที่ดีขึ้นอย่างรวดเร็วได้ทำให้โลกมีการใช้ทรัพยากรเพิ่มขึ้นอย่างมาก ส่งผลดีต่อธุรกิจที่เกี่ยวกับทรัพยากรทั้งหลาย เช่น สำรวจน้ำมัน เหมืองแร่ ฯลฯ

6. Food Constraints ภาวะอากาศแปรปรวน ผู้คนมีฐานะดีขึ้น พื้นที่การเกษตรที่จำกัด และการเอาพืชไปใช้เป็นพลังงานทางเลือก ได้ทำให้เกิดภาวะอาหารขาดแคลน ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเกษตรพลอยได้รับประโยชน์จากแนวโน้มนี้

7. Modern Trade แนวโน้มที่ผู้คนนิยมซื้อสินค้าในห้างมากขึ้นเรื่อยๆ ซื้อของในตลาดสดน้อยลง เพราะชีวิตที่เร่งรีบ ต้องการความสะอาด เสพติดโปรโมชั่น ช่วยทำให้ธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่และห้างสรรพสินค้ามีการเติบโตได้ต่อเนื่อง

ข้อดีของการลงทุนตามแนวโน้มใหญ่คือเมื่อเศรษฐกิจโดยรวมมีปัญหาสินค้าเหล่านี้อาจได้รับผลกระทบไม่ต่างกับธุรกิจอย่างอื่น แต่เวลาทุกอย่างกลับมา พวกมันมีโอกาสมากกว่าอย่างอื่นที่จะกลับมาได้ เพราะมันมีแนวโน้มเป็นพื้นฐานที่คอยรองรับอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม การเลือกลงทุนจะดู Demand Trends อย่างเดียวไม่ได้ ต้องดู Competitive Advantage ด้วย อย่างเช่น ในกรณีของโรงงานผลิตแก๊สโซฮอล แม้พลังงานทางเลือกจะเป็นแนวโน้มใหญ่ แต่เนื่องจากนโยบายของรัฐที่ขาดความชัดเจน และ Barrier to Entry ที่ต่ำ กลับทำให้ธุรกิจนี้ไม่ได้ดีอย่างที่คิดครับ เลือกหุ้นต้องพิจารณาทั้ง DT และ CA จะขาดอย่างใดอย่างหนึ่งเสียไม่ได้  

0013: ความน่าเชื่อถือของบจ.

ก่อนที่จะไปดูว่าเราจะตัดสินความน่าเชื่อถือของผู้บริหารอย่างไร มาคุยกันก่อนว่าทำไมความน่าเชื่อถือของผู้บริหารจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ การลงทุนในบริษัทเป็นเกมแบบมีลำดับที่มีต้นไม้แห่งการตัดสินใจเป็นดังนี้

invtree.gif

เมื่อนักลงทุนให้เงินแก่บริษัทไปแล้ว ผู้บริหารซึ่งรู้ความเป็นไปเกี่ยวกับบริษัทมากกว่านักลงทุน (เป็น insider) มีทางเลือกสองทางคือ บอกนักลงทุนว่าลงทุนไปแล้วมี”กำไร”หรือ”ขาดทุน” ซึ่งถ้ามีกำไรก็ต้องจ่ายเงินปันผล ถ้าขาดทุนก็ไม่ต้องจ่าย หลักของทฤษฏีเกมบอกว่าคนเราย่อมเลือกทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับตัวเอง ถ้าคุณเป็นผู้บริหารคุณจะเลือกอะไร ก็ต้องเลือกบอกนักลงทุนว่าขาดทุนอย่างเดียว อิอิ

แต่ถ้าโลกของความเป็นจริงเป็นอย่างที่ต้นไม้นี้บอกเรา เราก็จะไม่เห็นการลงทุนเกิดขึ้นเลย เพราะเมื่อนักลงทุนรู้ว่าผู้บริหารย่อมเลือกที่จะบอกว่าขาดทุนไว้ก่อน นักลงทุนย่อมเลือกที่จะไม่ลงทุนเสียแต่แรก ดังนั้นเราต้องหาคำอธิบายให้ได้ว่า แล้วทำไมการลงทุนจึงเกิดขึ้นทั่วไปในโลกของความเป็นจริง

การลงทุนในบริษัทนั้นทำได้สองรูปแบบ แบบแรกคือ การให้บริษัทยืมเงิน (debt) แบบที่สองคือการลงทุนในหุ้นของบริษัท(equity)

การให้ยืมเงิน มีการกำหนดผลตอบแทน(ดอกเบี้ย)ที่แน่นอนไว้ล่วงหน้าและลูกหนี้จะภาระที่จะต้องคืนเงินต้นเสมอไม่ว่าสุดท้ายแล้วธุรกิจจะกำไรหรือขาดทุน สาเหตุหลักที่เจ้าหนี้กล้าให้บริษัทยืมเงินเป็นเพราะเจ้าหนี้มีหลักทรัพย์ค้ำประกันเป็นตัวประกัน ถ้าผู้บริหาร “งี่เง่า” เจ้าหนี้ก็ยึดหลักทรัพย์ค้ำประกันได้ ผู้บริหารกลัวโดนยึดหลักทรัพย์ค้ำประกันก็เลยไม่กล้างี่เง่า นี่เองที่ทำให้การให้บริษัทยืมเงินเกิดขึ้นได้ในโลกของความเป็นจริง

แต่การลงทุนในหุ้นนี่สิลำบาก เพราะหุ้นไม่ต้องมีการการันตีผลตอบแทน ไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน อย่างนี้อะไรล่ะที่จะทำให้นักลงทุนยอมใส่เงินเข้ามาในบริษัท?

ความน่าเชื่อถือของตัวผู้บริหารเองคือสิ่งเดียวเท่านั้นที่ทำให้ยังคงมีการลงทุนในหุ้นเกิดขึ้นในโลกนี้ได้ ความน่าเชื่อถือเป็นตัวประกันเพียงอย่างเดียวของการลงทุนในหุ้น เมื่อรู้อย่างนี้แล้วไม่ว่าธุรกิจจะดูเลิศหรูขนาดใหญ่ ถ้าผู้บริหารไม่มีความน่าเชื่อถือมากพอ คุณก็ไม่ควรลงทุนในหุ้นของธุรกิจนั้นอย่างเด็ดขาด เพราะแม้ธุรกิจจะดีจริงตามที่หวังไว้แต่ผู้บริหารก็อาจจะไม่พูดความจริงเสียดื้อๆ เพื่อที่จะได้ไม่ต้องแบ่งกำไรให้กับผู้ถือหุ้น หรือไม่ก็ไซ่ฟ่อนกำไรออกทางอื่นให้หมด ความน่าเชื่อถือจึงเป็นตระแกรงร่อนใบสำคัญที่ควรจะมาก่อนตระแกรงร่อนใบที่คุณใช้ร่อนศักยภาพเชิงพาณิชย์ของบริษัทเสียอีก

แล้วอะไรล่ะที่จะทำให้นักลงทุนเชื่อถือบริษัทได้ ตามหลักของทฤษฏีเกม สิ่งที่ทำให้นักลงทุนเชื่อถือบริษัทได้ต้องเป็น hard evidence เท่านั้น กล่าวคือ ต้องเป็นสิ่งที่ทำให้เชื่อได้ว่าผู้บริหารมีแรงจูงใจที่จะพูดความจริงกับนักลงทุน กล่าวคือ การพูดความจริงจะให้ประโยชน์กับผู้บริหารมากกว่าการพูดโกหก

คราวหน้ามาลองดูกันว่ามีปัจจัยอะไรบ้างที่พอจะเป็น hard evidence ในกรณีนี้ได้

0050: เกม Tender Offer

ผมขออนุญาตนำเกมเก่าที่เคยโพสต์เอาไว้ในเวบ TVI มา archive ไว้ในนี้หน่อยนะครับเป็นเกมเกี่ยวกับตลาดทุน

ปริศนา Tender Offer

บริษัท A ยื่นคำเสนอรับซื้อหุ้นทั้งหมดของบริษัท B ต่อตลาดหลักทรัพย์ ซื้อมีราคาตลาดปัจจุบันเทรดกันอยู่ที่หุ้น 100 บาท แต่เงื่อนไขในการรับซื้อหุ้นของบริษัท A นี้พิสดารมาก ดังนี้

1) ราคารับซื้อหุ้นละ 105 บาทสำหรับหุ้น 50% แรกของหุ้นทั้งหมดของบริษัท B ที่มีผู้มาตอบรับคำเสนอซื้อ

2) ราคารับซื้อหุ้นละ 90 บาทสำหรับหุ้น 50% หลังของหุ้นทั้งหมดของบริษัท B ที่มีผู้มาตอบรับคำเสนอซื้อ

โดยที่ราคาที่ให้ข้างต้นไม่ได้เป็นแบบ first come first serve แต่จะตั้งโต๊ะรับใบตอบรับจนหมดเขตก่อน แล้วจึง prorata ให้กับผู้ถือหุ้นทั้งหมดตามสัดส่วน เช่น ถ้ามีคนตอบรับ 40% ของหุ้นทั้งหมด ทุกคนได้ราคา 105 บาท ถ้ามีคนตอบรับ 60% ของหุ้นทั้งหมด ทุกคนไม่ว่ามาก่อนมาหลังจะได้ราคาเท่ากันที่ราคาเฉลี่ย (105×50+90×10)/60 = 102.50 บาท เป็นต้น หรือ ทุกคนย่อมได้ราคาเท่ากันหมดเสมอตามสูตรต่อไปนี้

105 * 50/K + 90 * (K-50)/K

เมื่อ K คือ เปอร์เซนต์ของหุ้นทั้งหมดที่มาตอบรับ

ส่วนใครที่ไม่มาตอบรับ บริษัท A จะรับซื้อให้ที่ 90 บาทหลังจากนั้น (ถ้าเกิดอยากขาย)

และคำเสนอซื้อนี้เป็นคำเสนอซื้อโดยไม่มีเงื่อนไข กล่าวคือไม่ว่าบริษัท A จะได้หุ้นไปทั้งหมดหรือไม่ก็จะรับซื้อตามสูตรนี้

สังเกตว่าถ้าทุกคนตอบรับราคารับซื้อจะเหลือแค่ 97.50 (ตามสูตร) ซึ่งต่ำกว่าราคาตลาดในปัจจุบัน และต่ำกว่าราคาตลาดที่จะกลับไปที่ 100 บาทอีกครั้งถ้า deal ล้มด้วย ดังนั้นถ้าคุณเป็นผู้ถือหุ้นในตลาดคุณย่อมภาวนาให้ดีลนี้ล้ม หรือไม่ก็ให้มีคนมาตอบรับไม่ถึง 50% หรือไม่ก็จะยิ่งดีถ้ามี บริษัท C โดดเข้ามา bid แข่ง…

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงในสหรัฐฯ และปรากฏว่าก็มีบริษัท C โดดเข้ามาจริง บริษัท C เสนอซื้อหุ้นทั้งหมดที่ 102 บาทต่อหุ้น โดยมีเงื่อนไขว่าต้องมีผู้ตอบรับเกิน 50%

คำถามก็คือว่า ถ้าคุณมีหุ้น B อยู่ คุณจะทำอย่างไร?

ก. ตอบรับคำเสนอซื้อของบริษัท A
ข. ตอบรับคำเสนอซื้อของบริษัท B
ค. ไม่ตอบรับคำเสนอซื้อใดๆ

ลองคิดกันดูนะครับ แล้วผมจะมาเฉลย สักวันหนึ่งคุณอาจจะต้องมานั่งคิดแบบนี้ก็หุ้นที่คุณถืออยู่ในพอร์ตของคุณก็ได้

เฉลย
เกมนี้ผู้ถือหุ้นรายย่อยมีกลยุทธ์เด่น (Dominant Strategy) อยู่นะครับ ซึ่งกลยุทธ์นั้นได้แก่การตอบรับคำเสนอซื้อของบริษัท A หรือข้อ ก. นั่นเอง

เหตุผลก็คือว่ามี scenario ที่เป็นไปได้ 2 กรณีคือ

1. มีคนตอบรับ A น้อยกว่า 50% ในกรณีนี้ T/O ของบริษัท A จะล้มเหลว ทำให้ราคาตลาดกลับไป 100 หรือไม่ก็อาจทำให้ T/O ของบริษัท C สำเร็จแทนคือ 102 แต่เนื่องจากว่าคุณตอบรับบริษัท A ไป คุณจึงได้ขายที่ 105 ซึ่งสูงกว่าทั้งสองกรณี

2. มีคนตอบรับ A มากกว่า 50% กรณีนี้คุณตอบรับ A ไป ราคาเลวร้ายสุดที่คุณจะได้ก็คือ 97.50 ในขณะที่ถ้าคุณไม่ตอบรับคุณจะต้องขายที่ 90 ดังนั้นการตอบรับ A จึงเป็นทางเลือกที่ดีกว่าอยู่ดี

จะเห็นได้ว่าไม่ว่ากรณีไหนจะเกิดขึ้น การตอบรับ A ก็ยังให้ผลตอบแทนแก่คุณมากที่สุดเสมอ ดังนั้น การตอบรับ A จึงเป็นกลยุทธ์เด่นของคุณ

ในเกมที่มี DS จงคาดหวังว่าผู้เล่นที่มี DS จะเลือก DS ดังนั้นเมื่อรายย่อยทุกคนเลือก DS ผลก็คือ บริษัท A จะซื้อหุ้นของ B ได้ทั้งหมดในราคาเพียง 97.50 ซึ่งต่ำที่สุดและต่ำกว่าราคาตลาดเสียด้วย วิธีนี้ทำให้บริษัท A สามารถซื้อ B ได้ในราคาต่ำๆ ต้องปรบมือให้กับ IB ของ A เสียจริงๆ ที่คิดวิธีนี้ออก ถ้ามีสัก 1000 ล้านหุ้น ประหยัดไปหุ้นละ 2.5 ดอล ก็เท่ากับประหยัดไปถึง 2500ล้านดอล ต่อให้ค่าจ้าง IB สัก 500 ล้านดอลก็ยังคุ้มเลย นับว่า IB รายนี้ทำงานคุ้มเงินจริงๆ ครับ

ตรงกันข้าม น่าตำหนิ IB ของ C เพราะจัด Deal ผิดพลาดมาก ในสถานการณ์แบบนี้ C ไม่ควร T/O แบบมีเงื่อนไข (เงื่อนไขคือถ้าไม่ได้ 100% จะไม่รับซื้อ) เพราะถ้าเป็นการรับซื้อแบบไม่มีเงื่อนไขจะทำให้จุด ก เสียดุลยภาพของแนชทันที เพราะถ้าทุกคนอ่านออกว่าข้อ ก. จะต้องเกิดขึ้น ทุกคนย่อมรู้ว่าตัวเองจะขายได้แค่ 97.50 เท่านั้น แต่ทางเลือกที่ดีกว่ายังมีอยู่คือตอบรับ C เพราะได้ 102 เนื่องจาก C รับซื้ออย่างไม่มีเงื่อนไข ดังนั้นข้อ ก. จะไม่กลายเป็น Nash Equilibrium อีกต่อไปเพราะ Nash Equilibrium ต้องเป็นจุดที่ผู้เล่นไม่มีทางเลือกที่ดีกว่าเหลืออยู่เลย ดังนั้น IB ของ C เลี้ยงเสียข้าวสุกจริงๆ ครับ

ในสถานการณ์จริงนั้น แม้ว่าคนส่วนใหญ่จะคิดไม่ออกว่า ข้อ ก. เป็น DS แต่ถ้ามีคนจำนวนหนึ่งคิดออก จุดสมดุลก็จะเกิดขึ้นได้ เพราะก็จะมีการบอกต่อๆ กันไป ดังนั้นจึงเป็นข้อคิดอย่างหนึ่งว่าบางครั้งแม้คนส่วนใหญ่ในตลาดจะไม่ rational แต่ market ก็อาจ efficient ได้ ขอให้มีคนที่ rational อยู่ในตลาดแค่ไม่กี่คนก็พอ

เรื่องจริงก็คือ บริษัท A ซื้อ B ไปได้เป็นผลสำเร็จจริงๆ แต่หลังจากนั้นไม่กี่ปี A ก็ประสบปัญหาหนี้สิน ทำให้ B ต้องเข้าสู่กระบวนการล้มละลายในที่สุด เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า คนที่ชนะในสงคราม T/O bid ก็อาจพ่ายแพ้ในสงครามธุรกิจได้นะครับ

(บริษัท A ที่จริงแล้วเป็นบุคคลธรรมดาชื่อ Robert Campeau ส่วนบริษัท B คือ ห้าง Federated Store และ บริษัท C ก็คือ ห้าง Macy’s ในอเมริกานั่นเองครับ)