Sector Commentary: หุ้นโรงกลั่น

ปี 2014 คาดกันว่า อุปทานน้ำมันโลกอาจเพิ่มขึ้นในอัตราที่มากกว่าอุปสงค์อยู่เล็กน้อย ฉะนั้นถ้าไม่มีสงครามหรืออุบัติเหตุใหญ่มาช่วย ราคาน้ำมันดิบก็อาจจะทรงตัวถึงลดต่ำลงเล็กน้อย ทำให้ภาพของอุตสากรรมน้ำมันในช่วงหนึ่งปีข้างหน้านี้ไม่สดใสมากนัก เช่นเดียวกับค่าการกลั่น ก็มีแนวโน้มทรงตัวไม่หวือหวามากนัก ก็ยิ่งทำให้ปีนี้ไม่ใช่ปีที่หุ้นโรงกลั่นเป็นที่สนใจของตลาดสักเท่าไร (จะว่าไปแล้วก็รวมถึงหุ้นน้ำมันทั้งหมดด้วย)

หนทางที่หุ้นโรงกลั่นแต่ละตัวจะเรียกร้องความสนใจได้ ก็น่าจะเป็น Continue reading “Sector Commentary: หุ้นโรงกลั่น”

0022: Growth Potential

สิ่งที่คนที่เล่นหุ้นเติบโตอยากรู้มากที่สุดไม่ใช่กำไรของบริษัทในอีก 3-5 ปีข้างหน้า แต่เป็นคำถามที่ว่า เมื่อบริษัทขยายกิจการอย่างเต็มที่จนธุรกิจเข้าสู่จุดอิ่มตัวแล้ว บริษัทจะมีขนาดใหญ่แค่ไหน เพราะถ้าหากบริษัทยังอยู่ห่างไกลจากจุดอิ่มตัวเป็นอย่างมาก การซื้อหุ้นเติบโต ณ วันนี้ ที่พีอี 30 เท่าก็อาจจะยังถูกเกินไป

เมื่อครั้งที่ แม็คโคร เปิดสาขาแรกผมก็ไปเดินมาเหมือนกัน ความรู้สึกในตอนนั้นรู้สึกว่า ร้านนี้มันช่างใหญ่เกินตัวเสียจริงๆ คนเดินก็พอจะมีอยู่แต่ก็น้อยมากเมื่อเทียบกับขนาดของร้าน ตอนนั้นผมคิดว่ากำลังซื้อของคนในประเทศไทยคงรองรับร้านที่มีขนาดใหญ่เกินตัวแบบนี้ได้อีกอย่างมากก็ไม่เกิน 2-3 แห่ง…

ทุกวันนี้ แม็คโคร มีมากกว่า 29 สาขาทั่วประเทศ ยังไม่นับโลตัส คาร์ฟูร บิ๊กซี ซึ่งทุกรายมีสาขามากกว่าแม็คโครเสียอีก เห็นมั้ยครับว่า การประเมิน Growth Potential ของหุ้นเติบโตนั้นมันยากขนาดไหน เพราะเราไม่สามารถหลุดออกจากภาพที่เรามองเห็นแค่ในปัจจุบันได้

สิ่งหนึ่งที่เป็นตัวจำกัด Growth Potential ของธุรกิจก็คือ economics ของสินค้านั้นเอง เช่น ราคาต่อชิ้น ขนาด น้ำหนักต่อชิ้น ราคาต่อค่าขนส่ง ปริมาณการบริโภค การบ่อยในการบริโภค ฯลฯ ปัจจัยเหล่านี้ล้วนแล้วแต่มีผลต่อการเติบโตที่เป็นไปได้ของธุรกิจทั้งสิ้น ว่ากันว่าสาเหตุหนึ่งที่ Dell เติบโตจากการขายพีซีผ่านเน็ตได้มากกว่า Amazon มากเป็นเพราะพีซีมีค่าส่งคิดเป็นเปอร์เซนต์ต่อราคาของทั้งชิ้นต่ำกว่าหนังสือมาก การขายคอมพิวเตอร์ทางเน็ตจึงสิ่งที่มีเหตุผลมากกว่าหนังสือ

วิธีหนึ่งที่อาจช่วยให้เราประเมิน Growth Potential ได้ก็คือ การแอบไปดูธุรกิจเหล่านั้นที่เติบโตเต็มที่แล้วในประเทศที่มีธุรกิจเหล่านั้นมาก่อน ข้างล่างนี้คือมูลค่าตลาดในปัจจุบันของบริษัทที่ขายสินค้าบางประเภทในสหรัฐฯ

ชื่อบริษัท……….. ประเภทของสินค้า……………Mkt Cap.
Target…………โมเดิร์นเทรด…………………49 billions
Home Depot…..ของแต่งบ้าน…………………77 billions
Circuit City……. ไอที………………………. 4 billions
Barnes and Noble.. หนังสือ………………… 2.6 billions

บริษัทเหล่านี้มีอายุกว่า 20 ปีแล้วทั้งสิ้น พวกมันจึงได้ใช้เวลาไปมากแล้วพอสมควรในการ “เบ่ง” ตัวเองให้เติบโตอย่างเต็มที่ จะเห็นได้ว่าถ้าคุณอยู่ในธุรกิจหนังสือ ต่อให้คุณเก่งขนาดไหน คุณก็ไม่สามารถเบ่งตัวเองได้เท่ากับธุรกิจโชว์ห่วย เพราะเหตุผลทางเศรษฐศาสตร์ของสินค้าที่คุณเลือกทำเป็นสิ่งที่คอยจำกัดศักยภาพของการเติบโตเอาไว้

ทีนี้มาลองเปรียบเทียบกับของพี่ไทยกันดูบ้าง
ชื่อบริษัท…… ประเภทของสินค้า……….. Mkt Cap.
Big C………. โมเดิร์นเทรด…………. 37 พันล้าน
Homepro…… ของแต่งบ้าน………… 10 พันล้าน
IT………….. ไอที………………… 3 พันล้าน
SE-ED………. หนังสือ ……………..2.5 พันล้าน

ผมพบว่า relative size ของทั้งสองประเทศมีล้กษณะที่ล้อเลียนกันอย่างน่าประหลาด (ยกเว้นร้านขายของแต่งบ้านเท่านั้น) นี่อาจแสดงให้เห็นว่า ราคาในปัจจุบันของหุ้นเหล่านี้วิ่งไปรอที่มูลค่าของบริษัทเมื่อบริษัทเหล่านี้เติบโตเต็มที่แล้ว (ยกเว้นว่าทั้งยวงจะยังเติบโตขึ้นไปได้อีก) จะมีก็แต่ Homepro เท่านั้นที่ยังดูเล็กอยู่มากเมื่อเทียบกับ Home Depot นอกจากนี้ ยังดูเหมือนว่า BigC อาจจะยังโตได้อีกบ้าง แม้ว่าตอนนี้เราจะรู้สึกว่ามันน่าจะอิ่มตัวแล้วก็ตาม

ตราบใดที่สัดส่วนนี้ยังดูไล่เลี่ยกันอยู่ เราอาจรู้สึกอุ่นใจขึ้นบ้างว่าตลาดไม่ได้กำลัง overoptimistic กับหุ้นตัวใดตัวหนึ่งมากเกินไป แต่อย่างไรก็ตาม นี่เป็นเพียงแค่ Reality Check อย่างหนึ่งเท่านั้น ห้ามมิให้นำสัดส่วนนี้ไปเทียบบัญญัติไตรยางค์เพื่อหาว่าหุ้นตัวไหนยังถูกอยู่บ้างเมื่อเทียบกับจุดอิ่มตัวของมันโดยเด็ดขาด เพราะยังมีปัจจัยอื่นอีกหลายอย่างที่ทำให้สิ่งที่จะเกิดขึ้นในแต่ละประเทศมีความแตกต่างกันได้มาก ตัวอย่างเช่น คนอเมริกานั้นได้ชื่อว่ามี passion เรื่อง Home Improvement มากกว่าคนชาติอื่นๆ เป็นพิเศษ นี่อาจเป็นเหตุผลที่ทำให้ร้านขายของแต่งบ้านในอเมริกาโตได้มากกว่าปกติก็เป็นได้ (แต่ถึงกระนั้น คนที่ถือ Homepro อยู่ตอนนี้ก็คงรู้สึกใจชื้นเพราะสัดส่วนที่ยังห่างกันนั้นเป็นการห่างกันแบบหลายช่วงตัว)

หมายเหตุ : นี่ไม่ใช่การเชียร์ให้ซื้อโฮมโปร ใครแอบไปซื้อแล้วขาดทุนไม่ต้องมาบ่นกับผมเลยนะจะโดนตีซ้ำ ขอบอก