Investment Manifesto 2024

ช่วงนี้ความคิดในหัวสุกงอมอีกครั้ง เลยอยากเขียนสรุปวิธีการลงทุนปัจจุบันของตัวเองใหม่ การค้นหาวิธีการลงทุนเป็นเสมือนกระบวนการต่อเนื่องตลอดชีวิตของคนที่ยังเรียนรู้อยู่ไม่สิ้นสุด

ต้องบอกก่อนว่าเนื้อหาในบทความนี้ออกแบบมาสำหรับการลงทุนในหุ้นเทคโนโลยีเท่านั้น เพราะปัจจุบันนี้ผมสนใจลงทุนแต่หุ้นเทคโนโลยี (หรือที่จริงน่าจะใช้คำว่าหุ้นนวัตกรรมมากกว่า) ไม่เหมาะกับหุ้นโลกเก่า ซึ่งก็แน่นอนรวมถึงตลาดหุ้นไทยด้วย

และวิธีการลงทุนนี้ยืนอยู่บนหลักการและเหตุผลบางอย่าง ซึ่งถ้าไม่เชื่อในหลักการและเหตุผลเหล่านี้ วิธีการลงทุนนี้ก็จะฟังดูไม่ make sense เลย (ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดาเพราะในตลาดหุ้นเต็มไปด้วยความเชื่อและลัทธิมากมาย เถียงกันแบบไม่มีวันจบ) หลักการและเหตุผลที่ว่ามีดังต่อไปนี้

หลักการและเหตุผล

ผมเชื่อว่าทุกวันนี้การเอาชนะตลาดหุ้นอย่างต่อเนื่องเป็นเรื่องที่ยากมาก ดังนั้นการทำกำไรด้วยการเทรดหุ้นระยะสั้นจึงยากกว่าที่คนทั่วไปคิดมาก แต่ผมก็เชื่อว่าช่องว่างในการเอาชนะตลาดยังพอมีเหลืออยู่บ้างด้วยการเน้นการทำกำไรระยะยาว เพราะตลาดสมัยใหม่ยังมีจุดอ่อนอยู่ที่การโฟกัสที่ปัจจัยระยะสั้นมากเกินไป

สาเหตุที่ผมมีความเชื่อแบบนี้เป็นเพราะ มันเป็นข้อเท็จจริง มีงานวิจัยมากมายที่บอกว่าการเอาชนะดัชนีให้ได้อย่างต่อเนื่องในปัจจุบันเป็นเรื่องที่ยากมากๆ

และหุ้นที่ถือไว้นานๆ แล้วราคามีโอกาสเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญได้คือหุ้นเติบโตเท่านั้น เพราะกำไรที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อถือหุ้นไว้นานๆ ทำให้มูลค่าของหุ้นเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญได้ ซึ่งปัจจุบันนี้ผมมองว่าตลาดหุ้น NASDAQ แทบจะเป็นตลาดหุ้นหลักแห่งเดียวที่ในโลกที่ตอบโจทย์นี้ได้ดีที่สุด เพราะเต็มไปด้วยหุ้นเติบโต นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้ผมโฟกัสที่ตลาดนี้ อย่างน้อยก็ ณ เวลานี้

เลือกหุ้นเข้าพอร์ต

งานแรกของนักลงทุนก็คือการคัดเลือกหุ้นเข้าพอร์ต ซึ่งก็มีตำราเขียนไว้มากมายว่าต้องดูจากอะไรบ้าง แต่จากประสบการณ์ในช่วงหลังๆ ของผมที่คลุกคลีแต่กับหุ้นเติบโตมากขึ้น ผมพบว่าวิธีคิดแบบเดิมๆ มีหลายอย่างที่ไม่เหมาะ เช่น การดูจากอุตสาหกรรมที่บริษัทอยู่ว่าเป็นอุตสาหกรรมที่มีอนาคตเติบโตดีมั้ย แต่ในความเป็นจริงโลกทุกวันนี้หมุนเร็ว การจะโตให้ได้ต่อเนื่องบ่อยครั้งหมายรวมถึงการพร้อมที่จะกระโดดเข้าสู่อุตสาหกรรมใหม่ๆ ด้วย อุตสาหกรรมที่บริษัทอยู่จึงไม่ใช่เกณฑ์ที่ดีเท่าไรนัก หรือแม้แต่การวิเคราะห์งบการเงิน ซึ่งเป็นการมองไปข้างหลัง ก็มักไม่สามารถแบ่งแยกหุ้นเติบโตที่ดีออกจากหุ้นเติบโตที่เลวให้เราได้

นอกจากนี้ ผมยังให้ความสำคัญกับ Valuation น้อยลงในตลาดหุ้นสมัยใหม่ ผมพบว่าตลาดให้ราคาหุ้นส่วนใหญ่ค่อนข้างเหมาะสมในเชิงเปรียบเทียบ (relative valuation) อยู่แล้ว เพียงแต่บางครั้งเรายังไม่รู้อะไรที่ตลาดรู้มากกว่าทำให้เราคิดว่าราคามันผิด หุ้นหลักๆ ในปัจจุบันมีนักวิเคราะห์ติดตามข่าวเต็มเวลาเป็น 50-100 คน มันยากมากที่เราจะรู้ได้มากกว่าตลาด ผมจึงเลือกหุ้นจากคุณภาพของธุรกิจและโอกาสในการเติบโตระยะยาวเป็นหลัก การทำกำไรด้วยการซื้อหุ้น undervalued และขายหุ้น overvalued บ่อยครั้งมันเป็นวิธีทียืนอยู่บนสมมติฐานว่าตลาดหุ้นโง่กว่าเรา ซึ่งบ่อยครั้งมันไม่ใช่สมมติฐานที่ดีในโลกปัจจุบัน และที่สำคัญกว่านั้น มันทำให้เรากลายเป็นนักลงทุนระยะสั้น ถือหุ้นเติบโตได้ไม่นาน เพียงมโนไปว่าราคาของมัน overvalued อยู่เรื่อยๆ

สรุปแล้ว ผมคิดว่าเกณฑ์ที่สำคัญที่สุดในการเลือกหุ้นเติบโตคือ ความต่อเนื่องในการสร้างนวัตกรรมของบริษัท ธุรกิจที่ดีต้องทำอะไรใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ขยายตลาดใหม่ๆ ฯลฯ แค่ลองทบทวนดูว่าในช่วงหกเดือนที่ผ่านมา มีอะไรใหม่ๆ ออกมาจากบริษัทบ้าง ถ้า List ได้เต็มไปหมดคือสัญญาณที่ดี แต่ถ้าหาไม่ได้เลย นั่นคือน่ากลัว บริษัทที่ขายอย่างเดิมตลอด ไม่คิดทำอะไรใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา ไม่เหมาะที่จะแข่งขันในโลกยุคนี้แล้ว

นอกจากความถี่ในการทำอะไรใหม่ๆให้เห็นแล้ว การแก้ปัญหาก็เป็นตัวชี้วัดที่สำคัญ ทุกธุรกิจย่อมเจออุปสรรคอยู่เรื่อยๆ แต่ถ้าเจออุปสรรคแล้ว บริษัทมีการปรับตัวยังไง รวดเร็วแค่ไหน ถ้าไม่มีเลย หรือถ้าคิดนานมากๆ ก็น่าเป็นห่วง เพราะฉะนั้นเวลาบริษัทมีข่าวร้าย เป็นช่วงเวลาที่ดีมากที่เราจะทดสอบว่าบริษัทจะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นยังไง หรือว่าไม่ทำอะไรเลย โทษภาวะเศรษฐกิจ แบบนี้ก็ต้องระวัง ความเก่งของทีมผู้บริหารจึงเป็นเรื่องสำคัญมากของการประเมินธุรกิจ ผู้บริหารที่มี track record ที่ดีของการสร้างนวัตกรรมและแก้ปัญหาได้ทันท่วงทีจึงเป็นสินทรัพย์ที่มีค่ามากของบริษัท

แต่ผมก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับความมีวิสัยทัศน์ของผู้บริหารเท่าไรนัก โลกสมัยนี้หมุนเร็ว บางทีก็ยากที่ใครจะคิดถูกตลอดเวลาเหมือนกัน ผมชอบผู้บริหารที่กล้าลองผิดลองถูกเพื่อสร้างการเติบโตอยู่เสมอ และเป็นนักแก้ปัญหา มากกว่าผู้บริหารที่คิดถูกตลอดเวลา ซึ่งผมเชื่อว่าแบบหลังไม่มีอยู่จริง

บริษัทที่ให้ความสำคัญกับการสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่องด้วย ไม่ใช่แค่ทำอย่างเดิมไปเรื่อยๆ อย่างน้อยควรทำรายได้เติบโตได้ปีละ 15% อย่างต่อเนื่อง เวลาดูงบการเงินผมจะดูแค่ top line growth เป็นหลัก งบการเงินทุกวันนี้แทบจะไม่เหมาะกับการใช้วิเคราะห์การลงทุนเลย bottom line เป็นเรื่องที่เชื่อถืออะไรไม่ค่อยได้ และไม่สะท้อนคุณค่าของธุรกิจอย่างแท้จริง top line กลับเป็นสิ่งที่เชื่อถือได้มากกว่า ถูกปรุงแต่งได้น้อยที่สุด เพราะอยู่บรรทัดบนสุด อย่างไรก็ตาม ผมดู bottom line บ้างเหมือนกัน คือการขาดทุนควรจะสอดคล้องกับอัตราการเติบโตของรายได้ด้วย แต่การเติบโตของรายได้สำคัญที่สุด (ข้อเสียของเกณฑ์นี้คือใช้ดูบริษัทที่ยังไม่มีรายได้ไม่ได้)

บริหารพอร์ต

ผมให้ความสำคัญกับการกระจายความเสี่ยงค่อนข้างมาก เพราะหุ้นนวัตกรรมมีความเสี่ยงสูงกว่าหุ้นปกติ ในพอร์ตจึงไม่ควรมีหุ้นที่มีน้ำหนักเกิน 10% ของพอร์ตเลย หรือพูดอีกอย่างคือควรมีหุ้นไม่น้อยกว่า 10 ตัว (จริงๆ อาจมีหุ้นถึง 20 ตัวด้วยซ้ำ เพราะส่วนใหญ่ซื้อแค่ไม่เกิน 5% เพื่อต้องเผื่อว่าอาจต้องซื้อเพิ่มจนกลายเป็น 10% หรือบางตัวก็กล้าซื้อแค่ไม่เกิน 3% เท่านั้น เพราะเป็นธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูง)

สำหรับหุ้นนวัตกรรมผมไม่เชื่อเรื่องการตีแตก เพราะหุ้นพวกนี้ขึ้นอยู่กับอนาคตเป็นหลัก และไม่มีใครรู้อนาคตได้ขนาดนั้น ตลาดหุ้น Nasdaq เป็นตลาดที่มีหุ้นให้เลือกเยอะมาก จึงไม่ยากที่จะเลือกหุ้นเข้าพอร์ตเกิน 10 ตัว แล้วหุ้นทั้ง 10 ตัวนั้นล้วนเป็นหุ้นที่เข้าเกณฑ์การเลือกหุ้นหมดทุกตัว จึงใช้ความเยอะของหุ้นในตลาด Nasdaq ให้เป็นประโยชน์ จะไปโฟกัสให้เสี่ยงคิดผิดพลาดทำไม เราต้องเผื่อใจว่าหุ้นทุกตัวมีโอกาสเหลือ 0 ซึ่งถ้าเกิดขึ้น พอร์ตก็จะขาดทุนไปไม่เกิน 10% ซึ่งก็ถือว่าเป็นระดับที่ยังรับมือได้

อีกเหตุผลหนึ่งที่ต้องกระจายความเสี่ยงเยอะคือ หุ้นทุกตัวที่เราซื้อ เราจะพยายามไม่ขายหนีเป็นหลัก ดังนั้นเราจึงต้องการสร้างพอร์ตที่เราเชื่อว่าไม่มีวันพัง หุ้นบางตัวในพอร์ตอาจพังได้เสมอแต่พอร์ตโดยรวมต้องไม่พังและจะกลับมาได้เสมอ ซึ่งเป็นไปได้ยากกับพอร์ตที่โฟกัสกับหุ้นแค่ 1-3 ตัว

หุ้นทุกตัวที่ซื้อเข้าพอร์ตควรถือไว้ให้นานที่สุดตราบเท่าที่หุ้นเหล่านั้นยังเข้าเกณฑ์การเลือกหุ้นของเราอยู่ เหตุผลที่เราควรถือให้นานๆ เป็นเพราะว่า ถ้าหุ้นเหล่านั้นกลายเป็นหุ้นหลายเด้งจริงอย่างที่เราคิด เราจะได้รับประโยชน์ก็ต่อเมื่อเราไม่รีบขายหนีออกไปก่อนเท่านั้น ซึ่งวิธีคิดแบบนี้เหมาะกับการลงทุนในหุ้นนวัตกรรม เพราะเป็นหุ้นที่มีโอกาสเป็นหุ้นหลายเด้งได้ (ต่างจากหุ้น old economy ที่การขายทำกำไรบ่อยๆ จะเป็นกลยุทธ์ที่ดีกว่า เพราะโอกาสที่หุ้น old economy จะมีพื้นฐานที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เป็นไปได้น้อยกว่า)

การขายหุ้นทิ้งทำได้เมื่อเห็นว่านิสัยของหุ้นนั้นเปลี่ยนไปแล้ว ไม่เข้าเกณฑ์ของเราอีกต่อไป หรือเมื่อค้นพบว่าสิ่งที่เราเคยเชื่อเกี่ยวกับหุ้นนั้นผิด อย่าขายหุ้นเพียงเพราะผลประกอบการรายไตรมาสออกมาไม่ดี มันเป็นเรื่องปกติของธุรกิจที่กำไรต้องมีความผันผวน อย่ากระโดดหลบ เพราะมักจะผิดจังหวะเสมอ อดทนไปดีกว่า ตราบใดที่ยังเชื่อว่าเป็นบริษัทที่ดีอยู่

แม้ว่าตลาดหุ้นสมัยใหม่จะค่อนข้างฉลาดมากแล้ว แต่ตลาดหุ้นก็ยังไม่สามารถรู้อนาคตได้อยู่ดี ดังนั้นเมื่อเกิดข่าวร้ายที่ไม่คาดฝัน ก็สามารถเป็นโอกาสของคนที่ยังไม่มีหุ้นตัวนั้นได้เสมอ ดังนั้นถ้าหุ้นในพอร์ตเจอข่าวร้ายมากๆ จนราคาปรับตัวลงไปเยอะ การซื้อเพิ่มก็เป็นสิ่งที่มีเหตุผล แต่ควรทำให้น้อยที่สุด เช่น รอให้ราคาหุ้นปรับตัวลงเลิกลงต่อก่อนแล้วค่อยซื้อ หรือถ้าแค่ลงธรรมดาไม่ได้เยอะมาก ก็ใช้วิธีอดทนเอาดีกว่า การเพิ่มน้ำหนักหุ้นตัวใดตัวหนึ่งมากเกินไปเป็นอันตรายแบบหนึ่งที่ซ่อนอยู่ จึงควรทำอย่างจำกัด จงคิดไว้เสมอว่า ถ้าหุ้นดีจริงมันจะกลับมาสร้างจุดสูงสุดใหม่ได้เอง ไม่จำเป็นต้องถัวเฉลี่ยต้นทุนเลย

ถือหุ้น 100% ของพอร์ตตลอดเวลา แต่สามารถสลับตัวไปมาได้ ตามเกณฑ์ที่บอกไปข้างต้น ซึ่งการทำแบบนั้นย่อมมีช่วงเวลาที่พอร์ตลงแน่ๆ ให้ใช้วิธีอดทนเอา เพราะการขายหนีอยู่ตลอดเวลา สุดท้ายแล้วเราจะพลาดหุ้นเหล่านั้นไปในที่สุดในครั้งที่มันขึ้นจริงๆ และไม่ต้องกลัวว่าพอร์ตจะลงจงเหลือ 0 เพราะเราเลือกแต่ธุรกิจที่ดีเข้าพอร์ต และมีการกระจายหุ้นในระดับสูง ซึ่งแม้ว่าจะไม่ช่วยทำให้พอร์ตไม่ลง แต่ช่วยทำให้พอร์ตกลับมาได้เสมอ เมื่อเมฆฝนผ่านไปแล้ว เราต้องมีความเชื่อในหุ้นในพอร์ตของเรา ถ้าเราไม่เชื่อแบบนั้นก็ไม่ควรเอาหุ้นแบบนั้นเข้าพอร์ตตั้งแต่แรก ผมยอมรับว่าการถือหุ้น 100% ตลอดเวลา เป็นนโยบายที่ค่อนข้าง aggressive จึงไม่เหมาะกับคนที่ขวัญอ่อนเป็นอย่างยิ่ง และนั่นทำให้ผมคิดว่า สไตล์การลงทุนในปัจจุบันของผมค่อนข้างเฉพาะกลุ่ม ไม่ใช้วิธีที่เหมาะกับนักลงทุนทั่วไป

ถ้ากลัวว่าจะเกิดเหตุการณ์ใหญ่ๆ จริงๆ เช่น วิกฤตเศรษฐกิจ หรือ Deep recession หรือฟองสบู่หุ้นเทคแตก อาจลดพอร์ตลงให้ต่ำกว่า 100% ได้ แต่ขอให้ทำเมื่อคิดว่าจำเป็นจริงๆ เท่านั้น อย่าทำพรำ่เพรื่อ เพราะอย่าลืมว่า เราอาจคิดผิดได้เสมอ คนที่ขายทิ้งอยู่ตลอดเวลา สุดท้ายแล้ว ถ้าหุ้นตัวนั้นขึ้นหลายเด้งได้ เราก็จะไม่ได้อะไรเลย เพราะเราขายหนีไปแล้ว

สุดท้าย เรื่องที่ช่วยผมได้มาก คือ การพัฒนานิสัยให้เป็นคนที่ไม่ชอบซื้อหุ้นขาลง ซึ่งขัดกับสัญชาตญาณของเราอย่างมาก แต่นักลงทุนมักเสียหายหนักจากการซื้อเฉลี่ยขาลงนี่แหละ การไม่ซื้อเฉลี่ยขาลงจึงช่วยชีวิตผมได้หลายต่อหลายครั้ง จิตวิทยาเป็นเรื่องที่สำคัญมากในการลงทุน ต่อให้มีหลักการที่ดีแค่ไหน ถ้าควบคุมจิตใจของตัวเองไม่ได้ ก็ไม่มีประโยชน์อะไรเลย

 

มองโลกในแง่ร้ายคือหน้าที่ของนักลงทุนเอง

มนุษย์มีจุดอ่อนอยู่อย่างหนึ่งคือเราชอบฟังแต่อะไรที่รื่นหู ไม่ชอบฟังอะไรที่ระคายหู ในภาวะตลาดปกติ เราจึงได้ยินแต่ข่าวดีเกี่ยวกับบริษัทจดทะเบียน เพราะสื่อย่อมเสนอข่าวดีมากกว่าข่าวร้าย เนื่องจากคนดูชอบอ่านมากกว่า นักวิเคราะห์ก็เขียนข่าวดี ไม่ค่อยกล้าเขียนข่าวร้าย เพราะถ้าเขียนข่าวร้ายๆ บ่อยๆ ก็มักจะมีปัญหากับ IR ต่อไป IR ก็ไม่ค่อยอยากเชิญมาร่วมกิจกรรมเท่าไหร่ เขียนแต่ด้านดีไว้ก่อน ปลอดภัยกว่า เราจึงมีแนวโน้มจะเสพข่าวดีเกี่ยวกับหุ้นเยอะกว่าข่าวร้าย

บางคนก็อาจแย้งว่า คนเราน่าจะชอบข่าวร้ายมิใช่เหรอ ไม่งั้นทำไมหนังสือพิมพ์จึงมีแต่ข่าวฆ่ากันตาย แต่อย่าลืมว่านั่นคือข่าวร้ายของคนอื่น แต่สำหรับนักลงทุน เราถือหุ้นเหล่านั้นอยู่ด้วยเงินของเราเอง ถ้ามีใครเขียนข่าวร้าย เราก็จะไม่ชอบ เพราะทำให้เราไม่สบายใจ เพราะเงินของเราอยู่ในนั้น คนที่เขียนข่าวร้ายเกี่ยวกับหุ้นก็มีอยู่เหมือนกัน แต่ส่วนมากจะเป็นคนที่ยังไม่ดัง การเขียนข่าวร้ายเป็นวิธีเรียกแขกอย่างหนึ่ง ซึ่งถ้าบังเอิญเป็นจริง ก็จะได้เกิดใหม่ในวงการเลย ในฐานะเซียน แต่ถ้าเป็นสื่อใหญ่ หรือคนที่มีต้นทุนทางสังคมอยู่แล้ว ไม่รู้จะใช้วิธีแบบนั้นไปทำไม อาจโดนกล่าวหาว่าทุบหุ้นด้วย เสียมากกว่าได้

มีช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้นที่ปลอดภัยที่จะเขียนข่าวร้ายได้คือช่วงที่ตลาดหรือหุ้นตัวนั้นพังลงมาโดยสมบูรณ์แล้ว เพราะการเคลื่อนไหวของราคาหุ้นเป็นสิ่งที่เปลี่ยนความเชื่อของคนเกี่ยวกับพื้นฐานได้มากที่สุด ถ้าราคาหุ้นพังไปแล้ว ตอนนี้จะมาเขียนด่าหุ้นตัวนั้นก็ไม่มีใครว่าอะไร เพราะความเชื่อของคนได้เปลี่ยนไปก่อนแล้วตั้งแต่ตอนที่ราคาหุ้นพังลงมา ถ้าเขียนว่าหุ้นตัวนั้นไม่ดี ก็เป็นการตอบย้ำความเชื่อเดิมของคนที่เชื่ออยู่ก่อนแล้ว แบบนี้ไม่เป็นไร คนชอบ แต่ปัญหาก็คือว่า ถ้าข่าวร้ายสามารถพูดได้เฉพาะตอนที่ราคาหุ้นพังลงมาแล้ว จะมีประโยชน์อะไร นักลงทุนต้องรู้ข่าวร้ายก่อนราคาลง ถึงจะมีประโยชน์

เวลาเราซื้อของอะไรก็ตาม พนักงานขายไม่ได้โกหกเรา โกหกไม่ได้เพราะอาจจะผิดกฎหมายได้ เขาทำได้แค่เลือกบอกเราแต่ข้อดีอย่างเดียว เป็นเรื่องปกติธรรมดา นักลงทุนก็ควรระลึกเสมอว่า เวลาเราหาข้อมูลเกี่ยวกับหุ้นสักตัวหนึ่ง ข้อมูลที่หาได้จะมีข่าวดีมากกว่าข่าวร้ายเสมอ ข้อเสียจะไม่มีใครบอกเรา และเป็นหน้าที่ของเราเองที่จะต้องหาข้อเสียให้เจอ ต้องรู้จักสงสัย รู้จักตั้งคำถาม  ถ้าข่าวภายนอกก็มีแต่ข่าวดีอยู่แล้ว เราเองยังเป็นพวกโลกสวยอีก ก็จะยิ่งไปกันใหญ่ ต้องหัดมองโลกในแง่ร้ายให้เป็น เพื่อจะได้ถ่วงดุลกับข้อมูลภายนอกที่เราหามาได้นั่นเอง

หลักการที่ถูกต้องเสมอคือหลักการที่เราเชื่อ

ในตลาดหุ้นนั้นมีความเชื่ออยู่มากมาย ไม่ต่างจากอินเดียในสมัยพุทธกาลที่เต็มไปด้วยลัทธิต่างๆ ที่พยายามอธิบายธรรมชาติในแบบของตัวเอง

น่าแปลกที่หลายๆ ความเชื่อนั่นอธิบายขัดแย้งกัน แต่ต่างฝ่ายก็ต่างมีสาวกติดตามเป็นจำนวนมาก และสาวกของแต่ละลัทธิก็ดูเหมือนจะมั่นคงในลัทธิของตัวเองอย่างยิ่งยวดด้วย

ความเชื่อหรือหลักการที่ถูกต้องเสมอไม่หวั่นไหวต่อกาลเวลามักจะเป็นความเชื่อที่เราบังเอิญยึดถืออยู่ หรือก็คือศาสนาของเราเอง ทุกคนในสังคมก็มักรู้สึกแบบเดียวกัน แต่ว่าในความเป็นจริง มันจะเป็นเช่นนั้นได้อย่างไร ในเมื่อบ่อยครั้งหลักการของแต่ละความเชื่อนั่นข้ดแย้งหรือตรงกันข้ามกันเลยก็มี

นั่นก็เป็นเพราะ ไม่ว่าจะมีเหตุการณ์หรือข่าวอะไรเกิดขึ้น คนเรามักเลือกคำอธิบายที่สอดคล้องกับความเชื่อเดิมของตัวเองมาอธิบายเหตุการณ์นั่นเสมอ สมองของเราเลือกที่จะมองไม่เห็นคำอธิบายอื่นๆ ที่ไม่สอดคล้อง เมื่อเป็นเช่นนี้ เหตุการณ์เดียวกัน คนในแต่ละลัทธิก็จะอธิบายไม่เหมือนกัน ต่างฝ่ายก็ต่างเลือกอธิบายในแบบที่สอดคล้องกับความเชื่อหลักของลัทธิที่ตัวเองสังกัดอยู่ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเองโดยประสาทอัติโนมัติ โดยไม่รู้ตัว เราจึงมักรู้สึกว่าหลักการของลัทธิของเราจึงมักเป็นหลักการที่ถูกต้องอยู่เสมอ

ในตลาดหุ้นก็เป็นแบบนั้น หุ้นตัวหนึ่งมีพีอีที่สูงลิ่ว ถ้าวันดีคืนดี ราคาของมันร่วงลงมาอย่างรุนแรง คนที่อยู่ในลัทธิเชื่อในหุ้นพีอีต่ำก็จะอธิบายว่า เกิดภาวะฟองสบู่แตกเพราะพีอีที่สูงเกินไป แต่ถ้าหุ้นอีกตัวหนึ่งมีพีอีต่ำมาก แต่ราคาก็ยังร่วงลงต่อไปอีกอย่างรุนแรง พวกเขาก็จะอธิบายว่า เป็นเพราะอารมณ์ตลาด Mr.Market นั่นไร้เหตุผล ที่จริงแล้วหุ้นตัวนั้นราคาถูกมาก แต่ตลาดกำลังไม่มีเหตุผลอยู่ ยิ่งตกก็ยิ่งควรเก็บ เป็นต้น ดังน้้นไม่ว่าหุ้นตัวไหนจะมีราคาร่วงลง ลัทธิหุ้นพีอีต่ำก็ดูเหมือนจะถูกต้องทั้งหมด เพราะสามารถอธิบายได้หมดทุกกรณี

หรือถ้าหุ้นตัวหนึ่งที่กราฟบ่งบอกว่าราคากำลังจะวิ่งขึ้นไปอีก 1 เท่าตัวเป็นอย่างน้อย ถ้าหลังจากนั้นราคาหุ้นวิ่งขึ้นจริงๆ คนที่เชื่อในเรื่องกราฟก็จะบอกว่า เห็นมั้ยว่าทุกอย่างอยู่ในราคา (กราฟหุ้น) แต่ถ้าหุ้นตัวหนึ่งกลับปรับตัวลงอย่างแรง เขาก็จะบอกว่า ครั้งนี้เป็น false signal ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดได้บ่อยๆ ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เราต่างหากที่ต้องมีวินัยทำตามกฎไปเรื่อยๆ สุดท้ายแล้วเราจะได้เอง สรุปแล้ว กราฟในตลาดหุ้นเป็นเรื่องจริง ใช้อธิบายทุกอย่างได้หมด เช่นกัน

มนุษย์มักคิดว่าตัวเองมีเหตุผล ในความเป็นจริงกลไกในสมองของเราเริ่มต้นจากความชอบไม่ชอบก่อน ซึ่งในที่นี้ก็คือความเชื่อไม่เชื่อ หรือลัทธิที่เราสังกัดอยู่ จากนั้นจึงค่อยมองหาเหตุผลหรือคำอธิบายที่สอดคล้องกับความเชื่อนั่น และหลับตามองข้ามคำอธิบายอื่นที่ไม่สอดคล้อง เราไม่ได้ต้องการแสวงหาความจริง เราแค่ต้องการปกป้องความเชื่อของเรา เราทำแบบนี้โดยที่เราไม่รู้ตัว มันคือกลไกปกติของสมอง

 

ความเชื่อที่ว่า Mr.Market นั้นโง่

ผมเชื่อมาตั้งนานแล้วว่า ตลาดหุ้นสหรัฐฯ นั้นฉลาดมากๆ

จะไม่เชื่ออย่างนั้นได้อย่างไร ทุกวันนี้หุ้น S&P500 ทุกตัวมีนักวิเคราะห์ 50-100 คน คอยตามข่าวแบบเต็มเวลา ยากมากที่ใครจะมองเห็นช่องว่างในการทำกำไรจากข่าวที่ยังไม่มีใครมองเห็น แถมในตลาดเองก็ยังมี algo คอยเทรดเพื่อหาช่องทำกำไรอยู่มากกว่า 60% ของโวลุ่มทั้งตลาดไปแล้ว หุ่นยนต์พวกนี้คอยอุดช่องว่างเล็กๆ น้อยๆ ในการทำกำไรระยะสั้นในระดับเสี้ยววินาทีอยู่ตลอดเวลา

จะเห็นได้ว่าหลังปี 2000 เป็นต้นมา ไม่พบว่ามีกูรูหุ้นคนไหนที่สามารถเอาชนะตลาดติดต่อกันหลายๆ ปีจนสถาปนาตัวเองขึ้นมาเป็นสุดยอดนักลงทุนได้เลย แม้แต่วอเรนบัฟเฟตถ้านับผลงานเฉพาะในรอบ 15 ปีหลัง ก็แทบจะไม่ต่างจากคุณยายคนหนึ่งที่ซื้อ S&P500 ETF ทิ้งไว้เฉยๆ การที่บัฟเฟตยังได้รับการยกย่องอยู่เป็นเพราะผลตอบแทนในอดีตช่วงก่อนหน้าปี 2000 เท่านั้นที่ยังช่วยสร้างค่าเฉลี่ยของผลตอบแทนในระยะยาวๆ ให้ดูสูงกว่าตลาดได้อยู่

ทุกวันนี้ หุ้นตัวหนึ่งจะมีโอกาสทำกำไรให้กับคนที่ถือมันอยู่หรือไม่ ไม่ได้เกี่ยวกับว่าผลประกอบการของมันจะออกมาดีหรือร้าย แต่ขึ้นอยู่กับว่ามันจะออกมาดีหรือร้ายเทียบกับความคาดหวังของตลาด ผลประกอบการออกมาดีแต่หุ้นก็ลงได้ ถ้าความคาดหวังสูงกว่านั้น หรือผลประกอบการออกมาร้ายหุ้นก็ขึ้นได้ ถ้าความคาดหวังต่ำกว่า แต่ความคาดหวังของตลาดเป็นเรื่องที่ quantify ได้ยาก ดังน้้นการลงทุนโดยดูจากผลประกอบการก็แทบจะเหมือนการเดาสุ่มดีๆ นี่เอง

ในมุมของ Valuation ก็ไม่ต่างกัน ทุกวันนี้ผมเชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ ทำ Valuation หุ้นทุกตัวมาให้เราไว้ได้อย่างค่อนข้างจะเหมาะสมแล้ว หุ้นที่ P/E สูง ก็สูงอย่างมีเหตุผล หุ้นที่ P/E ต่ำก็ต่ำอย่างมีเหตุผล เราจึงชนะตลาดง่ายๆ ด้วยการซื้อหุ้น P/E ต่ำไม่ได้ แต่คุณได้กำไรเพราะว่าบังเอิญโชคดีนั้นยังมีได้อยู่เสมอ เพราะธุรกิจเป็นสิ่งที่มีแต่ความไม่แน่นอน ซึ่งลำพังข้อมูลสาธารณะ ยังไม่พอที่จะล่วงรู้ความไม่แน่นอนล่วงหน้าได้ทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ในหลายๆ กรณี Fair Value ในระยะสั้นกับ Fair Value ในระยะยาว ของหุ้นตัวเดียวกันอาจจะไม่เท่ากันก็ได้ และตลาดทุกวันนี้ก็เน้นทำกำไรระยะสั้นเป็นหลัก โอกาสจึงอาจจะหลงเหลืออยู่สำหรับการลงทุนระยะยาวได้ แต่นั้นก็ไม่ได้ง่ายนะ ประเด็นนี้เอาไว้วันหลังจะมาพูดถึงอีกที

ก่อนหน้านี้ผมยังไม่ได้ใช้วิธีคิดเหล่านี้กับหุ้นไทย เพราะมองว่าหุ้นไทยยังมีความล้าหลังอยู่ ช่องว่างในการทำกำไรจึงน่าจะยังมีเหลืออยู่มาก แต่เมื่อเร็วๆ นี้ ผมเริ่มคิดว่า แม้แต่ตลาดหุ้นไทยก็อาจอยู่ในสภาพแบบเดียวกันนี้แล้วก็ได้ ทุกวันนี้หุ้นไทยแทบทุกตัวก็มีคนหลักพันที่นั่งจ้องตารางหุ้นอยู่ทุกวัน เด็กนักลงทุนหนุ่มไฟแรงๆ บ้านเราก็มีอยู่เป็นจำนวนมาก หลายคนนั่งวิเคราะห์กราฟหุ้นวันละเป็นร้อยตัวทุกวันเพื่อหาช่องว่างในการทำกำไรที่อาจจะยังเหลือซ่อนอยู่ เซียนหุ้นหลายคนก็สนิทกับ IR ขนาดยกหูโทรศัพท์ถามส่วนตัวได้ตลอดเวลา แล้วคนที่นั่งมะโนอยู่กับบ้างทุกวันว่าหุ้นตัวนั้นดี หุ้นตัวนี้น่าซื้อ อย่างเราๆ ท่านๆ จะเอาอะไรไปสู้กับเขา นักลงทุนไทยทุกวันนี้ก็กำลังต่อสู้กับคู่แข่งอีกเป็นแสนคน ตอนเด็กๆ ห้องผมมีนักเรียนแค่ 50 คน ผมยังเป็นที่หนึ่งในห้องไม่ได้เลย มันตลกเหมือนกันที่จะคิดว่า เราน่าจะเป็น top 10% ในสนามที่มีคู่แข่งหลักหลายแสนคนแถมมีเงินล้านเป็นเดิมพันแบบตลาดหุ้นได้

ดูเหมือนตลาดหุ้นไทยจะรู้มานานเป็นปีแล้วว่าประเทศไทยจะเกิดวิกฤต เห็นได้จากราคาที่ไหลลงมาต่อเนื่อง 3-4 ปีแล้วท่ามกลางความงงของทุกคน แม้แต่เมื่อปีที่แล้วก็ยังไม่มีกูรูหุ้นคนไหนออกมาทายถูกเลยว่าปีนี้หุ้นไทยจะแย่มากขนาดนี้ ทุกอย่างเพิ่งจะมาชัดเจนต่อหน้าเราในปีนี้เองว่า ประเทศไทยเกิดวิกฤต เรียกได้ว่า ตลาดหุ้นไทยรู้อะไรก่อนข่าวและก่อนกูรูหุ้นนานมาก Mr.Market. จึงไม่ใช่คนโง่อย่างที่เคยเรารู้จัก

วิธีการลงทุนที่ยืนอยู่บนความเชื่อว่าตลาดหุ้นโง่กว่าเรา เราจึงทำกำไรจากตลาดได้ง่ายๆ ด้วยการเลือกซื้อของในตลาดที่ราคาถูกกว่าความเป็นจริง จึงเป็นวิธีที่ตั้งอยู่บนสมมติฐานที่ไม่ได้สอดคล้องกับสภาพตลาดในปัจจุบันแล้ว วิธีการลงทุนเหล่านั้นเกิดขึ้นมาเมื่อ 50 ปีที่ก่อน ซึ่งสมัยนั้น มันยังสมเหตุสมผลมากพอที่จะเชื่อว่าตลาดหุ้นนั้นโง่กว่าเรา เพราะสมัยนั้นข้อมูลหุ้นเข้าถึงได้ยากมาก แค่การจะรู้ว่าหุ้นแต่ละตัวมี P/E เท่าไรนั้น ยังไม่มีตารางหุ้นให้เปิดดูเลย ต้องไปของบการเงิน (เวอรชั่นกระดาษ) เอามานั่งคำนวนเอง ซึ่งแทบไม่มีใครทำ ต่างจากสมัยนี้ที่ทุกคนสามารถเข้าเว็บเปิดดูข้อมูลเหล่านี้ได้เลยภายใน 2 วินาที มีคนจัดเรียงข้อมูลเหล่านั้นไว้ให้ดูง่ายแค่ปลายนิ้วคลิก มันจึงเป็นความคิดที่ค่อนข้างแปลกที่ยังคิดว่า หุ้นตัวหนึ่งในตลาดจะมี P/E ต่ำได้ เพราะว่ายังไม่มีใครค้นพบว่าตัวนี้มี P/E ต่ำ สิ่งที่น่าจะเป็นไปได้มากกว่าคือ พีอีมันยังต่ำอยู่อย่างนั้นได้ทั้งๆ ที่มีคนเห็นเป็นหมื่นเป็นพันคนทุกวัน เป็นเพราะ มันต่ำด้วยเหตุผลอะไรบางอย่างที่ตลาดรู้ แต่คุณเองต่างหากยังไม่รู้ เช่น กำไรมันกำลังจะลดลง หรือบริษัทมีหนี้สูงน่าจะต้องเพิ่มทุนเร็วๆ นี้ เป็นต้น พูดอีกอย่างคือ It’s cheap for a reason

นักลงทุนที่ยังมีความเชื่อแบบเก่าอยู่ก็มักจะมีความน้อยอกน้อยใจว่า ทำไมเราที่เป็นนักลงทุนที่ดีมีเหตุมีผล ยึดมั่นในหลักการที่ดี ซื้อแต่ของถูก ไม่ไล่ราคา แต่ทำไมผลตอบแทนการลงทุนของเราถึงไม่ดี ถ้า Mr.Market โง่จริงๆ ป่านนี้เราต้องรวยล้นฟ้าไปแล้ว โลกนี้ช่างไม่ยุติธรรมเอาเสียเลย ทำความดีแล้วไม่ได้ดี ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดก็อาจเกิดจากการคิดเองเออเองของเรา แล้วก็มานั่งตัดพ้อเสียใจเอง

ผมไม่ได้บอกว่า ตลาดหุ้นถูกต้องร้อยเปอร์เซนต์ หรือโอกาสในการทำกำไรให้ชนะตลาดได้ไม่มีอยู่เลย เพียงแต่ว่ามันไม่ได้เกิดขึ้นได้บ่อยหรือเกิดขึ้นได้ง่ายมากอย่างที่เราเคยเชื่อกัน คนส่วนใหญ่ในตลาดประเมินว่าโอกาสที่ตัวเองจะชนะตลาดได้นั้นมีอยู่มากเกินความเป็นจริง เพราะทุกคนที่เข้ามาในตลาดหุ้นมีแนวโน้มที่จะเป็นคนที่ overconfidence อยู่แล้ว มิฉะนั้นแล้วพวกเขาก็คงไม่เลือกที่จะเดินเข้ามาในตลาดหุ้นมาตั้งแต่แรก

 

มองย้อนกลับไปในอดีต

กลับไปย้อนดูตัวเองเมื่อห้าปีก่อน ตอนที่ตัดสินใจยุติพอร์ตทดลอง 7thLTG ตอนนั้น มันทำใจยากมาก เพราะเป็นความตั้งใจแน่วแน่ที่เริ่มต้นไว้ตั้งแต่แรกว่า จะลงทุนต่อเนื่องให้ได้ติดต่อกันสิบห้าปี การยุติพอร์ตก่อนเวลาอันควรจึงเป็นเสมือนความล้มเหลวอย่างหนึ่ง

แต่เหตุผลที่ตัดสินใจกลืนน้ำลายตัวเองในเวลานั้นเป็นเพราะเราได้สูญเสียความเชื่อมั่นใน SET Index ไปจนหมดสิ้นแล้ว ไม่ใช่แค่ดัชนีเท่านั้น แต่คือหุ้นทุกตัวด้วย เรามองไม่เห็นหุ้นไทยที่มีคาแรคเตอร์ที่ชอบและอยากร่วมหัวจมท้ายกับมันเลยสักตัวเดียวมาตั้งแต่ก่อนหน้านั้นราว 3-4 ปี ในเมื่อไม่เหลือม้าที่ชอบแล้ว ก็ไม่รู้ว่าจะไปสนามม้าทำไม ไม่อยากลงทุนแบบซักกะตาย ไร้จิตวิญญาณ

อันที่จริง ผมควรจะยุติพอร์ตนั้นไปตั้งแต่ก่อนหน้านั้น 3-4 ปี คือตั้งแต่เราเริ่มไม่เหลือหุ้นไทยที่ชอบแล้วนั่นแหละ แต่เพราะว่าความยึดติด เราเติบโตมากับตลาดหุ้นแห่งนี้ เราจึงมี emotional attachment กับมัน มันเป็นเหมือนบ้าน เป็นเหมือนศาสนา การจะทำใจเลิกนับถือศาสนา ละทิ้งบ้านเกิด มันเป็นเรื่องที่ยากมากสำหรับปุถุชน  แต่สุดท้ายแล้ว มันก็จบลงด้วยการจากลาอยู่ดี ถ้ายังยื้อต่อไปคงเกิดภาวะหมดไฟ

บทเรียนอย่างหนึ่งที่ได้คือ เรื่องที่ยากที่สุดเกี่ยวกับการลงทุน ไม่ใช่การแสวงหาความรู้ แต่คือการสลัดความรู้เก่าออก เพราะความรู้เก่ามักมีความยึดติดพ่วงมาด้วยเสมอ การยึดมั่นในหลักการนั้นอาจไม่ใช่สิ่งที่ควรทำเสมอไป มีเส้นบางๆ ที่คั้นกลางระหว่างความยึดมั่นในหลักการกับการไม่ยอมรับความเปลี่ยนแปลง ซึ่งเลวร้ายพอๆ กัน เดี๋ยวนี้ผมเลิกใช้การลงทุนเป็นศาสนาแล้ว หลักการลงทุนสำหรับผมเป็นแค่เครื่องมือไม่ใช่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ถ้าเครื่องมือยังใช้ได้ดีอยู่ก็ใช้ไป แต่ถ้าวันหนึ่งมันใช้งานไม่ได้แล้ว ผมก็สลัดทิ้งได้ทันที ไม่ต้องมีเยื้อใย เพราะเป็นแค่เครื่องมือ ไม่ใช่ศาสนา

วันนี้มองกลับไป ไม่ได้รู้สึกแล้วว่าเป็นความล้มเหลวที่ยุติพอร์ต ตรงกันข้ามกลับรู้สึกว่าเป็นความผิดพลาดด้วยซ้ำที่ยุติมันช้าไปหลายปี จะพยายามไม่ผิดพลาดแบบนั้นอีกแล้ว

โลกยุคต่อไป

20 ปีที่ผ่านมาคือยุค Globalization ใครลงทุนกับธุรกิจที่หาประโยชน์จากการที่คนทั่วโลกเชื่อมถึงกันมากขึ้นก็จะรวยได้

20 ปีต่อจากนี้ไปจะเป็นยุค AI Digital Economy ธุรกิจจะแข่งกันด้วยข้อมูล ธุรกิจไหนหาข้อได้เปรียบจากการมีข้อมูลที่ดีกว่าคู่แข่งได้ก็จะฆ่าคู่แข่งตายหมด ธุรกิจที่ยังใช้ประสบการณ์หรือสัญชาตญาณของผู้บริหารจะไม่มีทางสู้คู่แข่งที่ใช้ข้อมูลได้เลย

ในระดับประเทศ ประเทศที่เป็นเจ้าของเทคโนโลยีจะได้เปรียบ สามารถใช้เทคโนโลยีล่าประเทศอื่นเป็นเมืองขึ้นทางเศรษฐกิจได้เลย โลกจะเปิดหากันน้อยลง ต้องพึ่งพาตัวเองมากขึ้น ซึ่งผมมองว่ามีแค่สองประเทศคือ สหรัฐฯ และจีน ที่มีเทคโนโลยีของตัวเองและเป็นประเทศที่ใหญ่พอที่จะพึ่งพาตัวเองได้ทั้งหมดด้วย ส่วนที่เหลือคือเสียเปรียบเพราะต้องพึ่งพาเทคโนโลยีจากประเทศมหาอำนาจ แต่ในเวลาเดียวกันประเทศมหาอำนาจไม่ต้องพึ่งหรือต้องการอะไรจากประเทศเหล่านี้เลย ธุรกิจแบบเก่าจะยังมีอยู่บนโลกแต่จะกลายเป็นธุรกิจที่เป็น Red Ocean ไม่เติบโต เป็น commodity ไม่น่าสนใจ

การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอยู่เสมอ

ทุกวันนี้โลกของเราเข้าสู่ยุค Digital Economy เต็มตัวแล้ว ไม่ใช่ที่เมืองไทย แต่คือที่เมืองไทยด้วย ลองสังเกตุดูจะเห็นว่า ทุกวันนี้เราทำทุกอย่างในชีวิตผ่านมือถือเกือบหมดแล้ว เหลือแค่วิ่งออกกำลังกายแค่นั้นที่ยังทำผ่านหน้าจอไม่ได้ (แต่ก็ยังมีพวกสมาร์ทวอชมาช่วยเก็บข้อมูลการเต้นของหัวใจอยู่ดี)

ปัญหาก็คือในด้านธุรกิจ ไทยเราไม่ได้เป็นเจ้าของธุรกิจดิจิตอลที่ให้บริการผู้บริโภคของเราเองเลย ไม่ว่าจะเป็นสื่อโซเซียล แฟลตฟอร์มขายสินค้า หรือบริการส่งอาหาร ที่คนไทยใช้ล้วนอยู่ในมือของต่างชาติทั้งหมด ซึ่งที่จริงก็อาจไม่ใช่แค่ประเทศไทยเท่านั้นที่เป็นแบบนี้ แต่คือแทบทุกประเทศที่ไม่ได้มีเทคโนโลยีด้านดิจิตอลเป็นของตัวเอง ในโลกยุคดิจิตอล ประเทศมหาอำนาจด้านเทคโนโลยีจะยึดอำนาจทุกอย่างไว้ในมือ ซึ่งหลักๆ ก็มีแค่สหรัฐฯ กับจีน ส่วนประเทศที่เหลือก็มีสภาพเป็นแค่เมืองขึ้นทางเศรษฐกิจ ที่คอยป้อนลูกค้าให้เขา โดยที่ประเทศมหาอำนาจเองไม่ได้ต้องการหรือพึ่งพาอะไรอย่างอื่นจากเราเลย

นั่นทำให้ที่่ผ่านมา ผมเลิกลงทุนในหุ้นไทย แล้วหันไปลงทุนหุ้นเทคในอเมริกาแทน ซึ่งก็ไม่ใช่เพราะว่าเป็นคนมีวิสัยทัศน์อะไรหรอก แต่หลายปีที่ผ่านมา ผมหาหุ้นไทยสไตล์ที่ชอบและอยากลงทุนได้น้อยลงเรื่อยๆ จนสุดท้ายก็เหลือหุ้นไทยที่ชอบเลย จนต้องปิดพอร์ตไปโดยปริยาย ยังไงผมก็ชอบลงทุนในธุรกิจที่ผมมองเห็นศักยภาพการเติบโตในอนาคต  ไม่ได้ชอบหุ้นปันผลงาม ธุรกิจมั่นคงหมดแล้วอะไรแบบนั้น (ซึ่งใครชอบแบบหลังก็ไม่ได้ผิด มันเป็นแค่ความถนัดของแต่ละบุคคลเท่านั้น)

แต่การข้ามโลกจากการลงทุนจากตลาดที่มีหุ้น old economy ไปสู่ new economy ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ความรู้ใหม่ๆ ยังเป็นเรื่องที่แสวงหากันได้ แต่ที่ยากกว่าก็คือการเปลี่ยนวิธีคิด เพราะเราอยู่กับโลกเก่ามานาน นานจนหลักการลงทุนได้หยั่งรากลึกในใจจนกลายเป็นเหมือนศาสนา พอต้องเปลี่ยนไปสู่สภาวะแบบใหม่ เจอธุรกิจอีกแบบหนึ่งที่ไม่มีอะไรเหมือนเดิมเลย การจะทำใจยอมรับว่าความเชื่อแบบเดิมไม่ได้เหมาะกับสภาวะแบบใหม่ มันเป็นสิ่งที่ทำได้ยากมาก เหมือนการละทิ้งศาสนายังไงอย่างงั้น

ความเป็นจริงก็คือว่า ธุรกิจในโลกใหม่นอกจากจะไม่เหมือนกับโลกเก่าแล้ว หลายๆ อย่างถึงขั้นตรงกันข้ามกันเลยด้วยซ้ำ หุ้นโรงงานเราอาจจะอยากได้หุ้นที่ P/BV ไม่ต่ำ เพราะอย่างน้อยถ้าธุรกิจไม่ดีขึ้นมา แต่เครื่องจักรของโรงงานก็ยังมีมูลค่าขายทอดตลอดต่ำกว่าราคาหุ้นที่เราซื้อมา แต่พอเป็นธุรกิจดิจิตอล อาคารสำนักงานในงบดุลเหล่านั้นแทบไม่มีค่าอะไรเลยถ้าบริษัทปิดตัว บางบริษัทเช่าออฟฟิศเอาด้วยซ้ำ หรือบางธุรกิจ P/BV สูงๆ ยิ่งสะท้อนว่าบริษัทสามารถสร้างสินทรัพย์ที่มองไม่เห็น (แบรนด์ สิทธิบัตร แฟลตฟอร์ม ฯลฯ) ได้มาก ถ้าเอาวิธีคิดแบบเดิมไปเลือกแต่หุ้นที่ P/BV ต่ำๆ ก็เหมือนบังคับให้ตัวเองซื้อแต่หุ้นโลกใหม่ที่คุณภาพต่ำๆ

เราถูกอบรมมาให้ชอบหุ้น P/E ต่ำๆ ยิ่งต่ำยิ่งดี ซึ่งนั่นคือคำสอนที่ make sense สำหรับธุรกิจในโลกเก่าที่กำไรค่อนข้างจะแน่นอน คาดการณ์ได้ง่ายพอสมควร แต่ในโลกดิจิตอล ธุรกิจต้องเริ่มต้นด้วยการสร้างนวัตกรรมก่อน ซึ่งมีแต่ค่าใช้จ่าย รายได้แทบไม่มี ถ้าเป็นธุรกิจแฟลตฟอร์มก็ต้องสร้างฐานลูกค้าก่อน ทำให้บ่อยครั้งต้องยอมขาดทุน จนถึงวันหนึ่งที่ใหญ่จนคู่แข่งตามไม่ทันแล้ว ลูกค้าหนีไปไหนไม่ได้แล้ว เพราะ network effects บริษัทถึงค่อยเริ่มต้นเก็บเกี่ยวทำกำไร ถ้าเราเอาความคิดแบบเก่าไปจับว่าธุรกิจที่ดีต้องมีกำไร กระแสเงินสดต้องเป็นบวก เราก็จะพลาดหุ้นดีๆ เหล่านั้นในช่วงเริ่มต้นของธุรกิจไปทั้งหมด แล้วก็ไปซื้อเอาธุรกิจเหล่านั้นในวันที่พวกมันเติบโตเต็มที่แล้ว ซึ่งแพงกว่าช่วงแรกๆ เป็นร้อยเท่า และกลับเป็นช่วงที่อันตรายกว่าด้วยซ้ำ เพราะพวกมันก็พร้อมจะถูก disrupt โดยคลื่นลูกใหม่ได้เสมอ

ในช่วงที่หุ้นเทคโนโลยีกำลังเริ่มต้น (ช่วงต้นของ s-curve) P/E แทบไม่มีความหมายใดๆ เพราะกำไร (หรือที่จริงคือขาดทุน) เหล่านั้นเป็นแค่สิ่งที่ผู้บริหารของบริษัทเลือกเอง เป็นจุด optimal ระหว่างการสร้างเติบโตกับเงินทุนของบริษัท หลายๆ บริษัทสามารถทำกำไรได้เลยในจุดนี้ แต่เลือกที่จะยังไม่ทำ เพราะต้องการสร้าง user ให้เติบโตก่อน แต่เราไปสำคัญผิด คิดว่า P/E ต่ำ (หรือติดลบ) แสดงว่าเป็นธุรกิจที่ไม่มีศักยภาพ (ความคิดแบบเก่า) ทำให้พลาดโอกาสที่จะลงทุนกับบริษัทเหล่านั้นในช่วงแรกๆ ของ s-curve ไปอย่างน่าเสียดาย

การลงทุนในธุรกิจที่สร้างนวัตกรรม สิ่งที่สำคัญกว่าคือการวิเคราะห์ว่าบริษัทกำลังทำอะไรอยู่ นวัตกรรมหรือแฟลตฟอร์มที่บริษัทกำลังสร้างมีศักยภาพในการเติบโตในอนาคตมากแค่ไหน เป็น qualitative analysis แทบทั้งหมด งบการเงินแทบเชื่อถืออะไรไม่ได้ และไม่ได้บอกอะไรเกี่ยวกับคุณค่าในอนาคตของธุรกิจเลย แต่การที่เราอยู่กับโลกเก่ามาตลอดชีวิต การที่จะให้เลิกสนใจงบการเงินไปเลย (เกือบ) มันยากมากที่จะทำใจ เหมือนเรากำลังทำสิ่งที่ต้องห้ามบางอย่าง เหมือนทำบาปในศาสนาของเรา

ในโลกเก่า แนวคิดเรื่องการตีแตก เป็นหนึ่งในแนวคิดที่สำคัญมาก จงเข้าใจธุรกิจให้ได้อย่างถ่องแท้ ประเมินความเสี่ยงจนทะลุปรุโปร่ง และเมื่อเจอหุ้นแบบนั้นก็ให้ลงทุนให้หนัก ทำถูกสักครั้งก็จะเปลี่ยนชีวิตเราได้เลย แต่ในโลกใหม่ คุณค่าของหุ้นส่วนใหญ่อยู่ที่อนาคต ไม่มีใครรู้อนาคต การทำนายผลประกอบการในอนาคตเป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้ บางทีเจ้าของบริษัทเองยังไม่รู้เลย แนวคิดเรื่องการตีแตกหุ้นจึงไม่ใช่เครื่องมือที่เหมาะ โอกาสผิดพลาดมีสูงกว่าถูก และการที่ตลาดหุ้นเทคส่วนมากมีหุ้นให้เลือกเยอะกว่ามากๆ ความจำเป็นที่จะต้องตีหุ้นให้แตก เพื่อให้เวลาคิดถูกแล้วผลตอบแทนของพอร์ตรวมจะได้โตเต็มที่ ก็ไม่จำเป็นขนาดนั้น เราสามารถกระจายความเสี่ยงออกไป เลือกลงทุนในหุ้นหลายๆ ตัวแต่ดีมากทุกตัวย่อมปลอดภัยกว่า bet ทุกอย่างกับหุ้นตัวเดียว ไม่จำเป็นต้องตีแตกกับหุ้นตัวเดียวให้ได้แล้วมาเสี่ยงกับการที่ทั้งพอร์ตต้องมาขึ้นกับหุ้นแค่ไม่กี่ตัว

การที่พอร์ตของหุ้นโลกใหม่สามารถกระจายได้ ความจำเป็นที่จะต้องมานั่งอ่านงบการเงินโดยละเอียดทุกบรรทัดของหุ้นทุกตัวที่ลงทุนก็แทบไม่จำเป็น เพราะถ้าหุ้นบางตัวจะเสียหายหนักไปเพราะว่าผู้บริหารซุกอะไรไว้ มันก็ไม่ได้ทำให้พอร์ตเสียหายหนัก เพราะไม่มีหุ้นตัวไหนที่เราลงทุนในน้ำหนักที่สูงมากในพอร์ตเลย เราสามารถเอาเวลานั่งแกะงบการเงินทีละบรรทัดเหล่านั้นไปศึกษาเรื่องเทคโนโลยี เรื่องตลาด ฯลฯ แทนได้ แต่ก็อีกนั่นแหละ เพราะว่าเราถูกสอนมาตลอดชีวิตให้อ่านรายงานประจำปีอย่างละเอียด เราย่อมรู้สึกผิดไม่มากก็น้อยที่จะบริหารจัดการเวลาของเราให้เหมาะกับตลาดหุ้นยุคใหม่ กลายเป็นอุปสรรคที่เราไม่รู้ตัว

การลงทุนกับหุ้นนวัตกรรม เราสามารถคาดหวังกำไรจากหุ้นแต่ละตัวเป็นหลายเด้งได้ ดังนั้นกลยุทธ์การบริหารพอร์ตที่เหมาะสมคือการถือหุ้นยาวๆ และ ignore ความผันผวนของราคาหุ้นในระยะสั้น เพราะถ้าเราคิดแต่ว่ามีกำไรเมื่อไรจะรีบขาย หรือกลัวหุ้นเหวี่ยงลงตลอดเวลา สุดท้ายแล้วเราจะขายหุ้นพวกนั้นทิ้งหมด เพราะหุ้นนวัตกรรมมีราคาที่ผันผวนมากอยู่แล้วโดยธรรมชาติของมัน ถ้าเราเจอหุ้นที่อีกสิบปีจะโตขึ้นได้ 100 เท่า คนที่จะถือไปถึงวันนั้นได้ ต้องเป็นคนที่คิดว่ายังไงก็ไม่ขาย เพราะถ้าไม่คิดแบบนั้น ส่วนใหญ่แล้วจะขายตั้งแต่กำไร 1-2 เท่าไปหมดเกลี้ยงแล้ว แต่คนส่วนใหญ่จะไม่สามารถอยู่กับความคิดแบบยังไงก็ไม่ขายได้ เพราะว่าความผันผวนระหว่างทางมันรุนแรงมาก กำไรที่ขึ้นมาตั้งเยอะ ถ้ามันหายไปหมด เราก็จะโทษตัวเองว่าทำไมไม่ขาย ไม่สามารถทนอยู่อย่างนั้นต่อไปเรื่อยๆ ได้ นี่คือความยากที่แล้วจริงของหุ้นเทคโนโลยี

ซึ่งวิธีคิดแบบยังไงก็ไม่ขาย ไม่ค่อยเหมาะกับหุ้นโลกเก่า เพราะหุ้นโลกเก่าส่วนใหญ่แล้วยากมากที่พื้นฐานของบริษัทจะเปลี่ยนอย่างมีนัยสำคัญ การขึ้นๆ ลงๆ ของกำไรแบบธรรมดาเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้มากกว่า ถ้าใครถือแล้วไม่ขาย โอกาสที่หุ้นเหล่านั้นจะขึ้นไปได้เป็นสิบเป็นร้อยเท่ามีน้อยมากจริงๆ ส่วนใหญ่แล้วจะกลับมามาใหม่อย่างถาวรมากกว่า ดังนั้นมีกำไรก็ขายเลยเป็นวิธีคิดที่เหมาะกับโลกเก่ามากกว่า และการที่เราเห็นโลกเก่ามาตลอดชีวิต การที่เราจะเปลี่ยนความคิดเมื่อเปลี่ยนไปลงทุนในโลกใหม่จึงทำได้ยาก เพราะภาพเก่าๆ มันติดตาเราอยู่ กลายเป็นอุปสรรคในโลกใหม่อีกแล้ว

วิธีมองหุ้นในโลกใหม่จึงแตกต่างกับโลกเก่าเป็นอย่างมาก หลายอย่างคือตรงกันข้ามกันเลย การเปลี่ยนวิธีคิดคือเรื่องที่ยากที่สุดแล้วในโลกของการลงทุน ก่อนหน้านี้เคยคิดอยากเผยแพร่เรื่องพวกนี้ให้คนอื่นฟัง แต่ช่วงหลังๆ เริ่มไม่กล้า เพราะไม่รู้ว่าคนเราจะเปลี่ยนวิธีคิดได้จริงรึเปล่า เช่น ถ้าไปบอกคนอื่นว่า หุ้นเทคไม่ควรขายหนีขาลง เพราะนั่นคือต้นเหตุที่ทำให้เราพลาดครั้งที่พวกมันขึ้นอย่างถาวร แล้วถ้าคนอื่นไปทำตาม แล้วเวลาต้องทนกับขาลงจริงๆ พวกเขาจะรับได้มั้ย เวลาหุ้นในพอร์ตลงมันเจ็บปวดมากนะ เขาจะมาด่าเรารึเปล่า เราไม่มีทางรู้เลยว่าจิตใจของใครทนได้แค่ไหน หลังๆ ก็เลยเริ่มคิดว่าเรื่องวิธีลงทุนควรเก็บเอาไว้เป็นวิธีการส่วนตัวดีกว่า  ถ้าจะแชร์กับใครเรื่องหุ้นเทคฯ ก็แชร์เฉพาะข้อมูลหุ้นเฉยๆ ส่วนเขาจะเอาข้อมูลเหล่านั้นไปทำประโยชน์อะไร หรือจะมีวิธีบริหารพอร์ตของตัวเองยังไงก็แล้วแต่เขาเลย วิธีการบางอย่างอาจจะถูกต้องในหลักการ แต่เวลาปฏิบัติจริงๆ ถ้าจิตใจไม่เข้มแข็งพอ ทำไม่ได้ สูญเสียวินัยตลอด หลักการเหล่านั้นก็กลับกลายเป็นหลักการที่ผิดอยู่ดี ตอนหลังผมเชื่อว่า หลักการที่ถูกต้อง ต้องเป็นหลักการที่ปฏิบัติได้ ภายใต้สมมติฐานที่ว่าเราเป็นมนุษย์ปุถุชนที่มีความโลภความกลัวด้วย เพราะต่อให้ถูกต้องยังไง ถ้าทำตามไม่ได้จริงก็ไม่มีประโยชน์

Learn, Unlearn and Re-learn

 

เราก็แค่วนเวียนอยู่ในวงจรที่ไม่มีวันสิ้นสุด

ณ ตอนที่กำลังเขียนบทความนี้อยู่ โลกการลงทุนกำลังอยู่ในช่วงที่ทุกคนมองร้าย แทบไม่เหลือใครที่คิดว่าตลาดจะขึ้น ไปทางไหนก็มีแต่คนมองลง ใครที่คิดว่าตลาดจะขึ้น พูดอะไรจะไม่มีใครเชื่อถือ

มันเป็นสภาพที่ตรงกันข้ามกับเมื่อหนึ่งปีที่แล้วโดยสิ้นเชิง เวลานั้นทุกคนมองขึ้นกันหมด โลกของเรากำลังกลายเป็นดิจิตอล Clubhouse เต็มไปด้วยห้องที่พูดเรื่องหุ้น Tech นักลงทุนเข้าฟังกันแน่นขนัด ซึ่งถ้ามองย้อนกลับไป ตอนนั้นทุกคนกำลังมองผิด เพราะหลังจากนั้นตลาดไม่ได้ขึ้น แต่กลับลงอย่างแรง

อาจเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งของตลาดที่มันจะเหวี่ยงกลับไปกลับมาในแบบที่สุดโต่งมากเกินไปเสมอ และสิ่งที่ทำให้เป็นแบบนั้นก็คือ “ราคา” ราคาที่ส่งผลต่อความคิดของผู้คนเกี่ยวกับปัจจัยพื้นฐานมากที่สุด (แทนที่ความคิดของคนเกี่ยวกับปัจจัยพื้นฐานที่ควรจะส่งผลต่อราคา)

ก่อนหน้านี้ เฟดลดดอกเบี้ยเหลือ 0 แถมพิมพ์เงินแบบ unlimited เป็นการปั่นตลาดไปในทางขึ้น ยิ่งราคาขึ้นไปเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้คนยิ่งมั่นใจในปัจจัยพื้นฐานมากเท่านั้น (พื้นฐานคงจะดีจริงๆ ไม่งั้นราคาคงไม่ขึ้นไปขนาดนี้) ยิ่งคนมั่นใจก็ยิ่งเอาเงินซื้อ ราคาก็ยิ่งขึ้น ราคาที่ขึ้นก็ยิ่งทำให้คนมั่นใจมากขึ้นอีกไม่รู้จบ เป็นภาวะฟองสบู่ขาขึ้น

ตอนนี้เฟดก็กำลังทำสิ่งเดียวกัน แต่ในทิศทางที่ตรงกันข้าม ตอนที่เฟดเพิ่งพูดใหม่ๆ ว่าจะเริ่มขึ้นดอกเบี้ย ทุกคนก็คิดว่าคงลงไม่เท่าไหร่ พื้นฐานเศรษฐกิจยังดูแข็งแกร่ง พอเฟดขึ้นดอกเบี้ยไปเรื่อยๆ ไม่ยอมหยุด ราคาหุ้นที่ย่อลงมาครั้งแล้วครั้งเล่าก็ค่อยๆ เปลี่ยนความคิดของคน จากที่มองบวก ก็เริ่มมองเป็นกลางๆ และกลายเป็นมองลบในที่สุด ตอนนี้แทบไม่เหลือใครแล้วที่ยังมองบวกอยู่ ความคิดของคนกำลังเหวี่ยงไปอีกทางหนึ่ง ไม่รู้เหมือนกันว่า หนนี้จะยังไปต่ออีกนานขนาดไหน เพราะพฤติกรรมหมู่เป็นเรื่องยากที่จะทำนายได้ว่าจะจบลงเมื่อไหร่

การมองบวกหรือมองลบไม่ใช่ปัญหา ทุกคนสามารถมีมุมมองเกี่ยวกับตลาดได้ แต่ปัญหาจริงๆ มันอยู่ตรงที่ การมองบวกหรือมองลบของเราได้รับอิทธิพลจาก “ราคา” ซึ่งที่ถูกมันควรจะเป็นตรงกันข้าม มุมมองของเราเกี่ยวกับปัจจัยพื้นฐานต่างหากที่ควรจะส่งผลต่อราคา ไม่ใช่กลับกัน เวลาตลาดเขียวทุกวัน เราก็จะยิ่งมีมุมมองบวกต่อปัจจัยพื้นฐานมากขึ้นเรื่อยๆ สื่อก็จะนำเสนอแต่ข่าวดี เพราะข่าวที่สอดคล้องกับสิ่งที่นักลงทุนเชื่ออยู่ก่อนแล้วจะได้ยอดวิวที่ดีกว่า ข่าวดีที่เต็มตลาด (เพราะเลือกมองแต่ข้อดี) ก็ยิ่งทำให้คนยิ่งเชื่อมั่น

เวลานี้ข่าวร้ายเต็มตลาดไปหมด หรือข่าวดีก็ถูกตีความเป็นข่าวร้าย ช่วงเวลาแบบนี้จะมีพวก Doomsayer โผล่ออกมาเต็มไปหมด เพราะช่วงเวลาแบบนี้พูดแล้วมีคนเชื่อ ราคาที่ลงทุกวันทำให้คำทำนายร้ายๆ ต่างๆ ดูน่าเชื่อถือ ทุกอย่างจะต้องเลวร้ายลงกว่านี้อีก ช่วงนี้มีแต่ข่าวร้ายที่ได้ยอดวิว ใครยิ่งทายร้ายเท่าไหร่ก็จะยิ่งดูหล่อ เป็นกูรู เป็นศาสดาพยากรณ์  นักลงทุนกำลังผิดพลาดแบบเดิมกับเมื่อหนึ่งปีที่แล้ว แต่หนนี้ในทิศทางที่ตรงกันข้าม น่าสังเกตว่าเวลา Doomsayer ออกมาพูดว่า วิกฤตกำลังจะมา พวกเขาจะทำนายถูกเสมอ เพราะว่าไม่ได้บอกว่าเมื่อไหร่ การทายว่าวิกฤตจะเกิดขึ้นในที่สุด ยังไงก็จะถูก เพราะวิกฤตคือสิ่งที่อยู่คู่กับวัฏจักรเศรษฐกิจอยู่แล้ว ถ้ารอไปเรื่อยๆ สุดท้ายแล้วยังไงก็ต้องเกิดขึ้นสักปี

ผมยังจำตอนที่โควิดมาใหม่ๆ ได้ ตอนนั้นหุ้นไทยลงจาก 1,7xx จุด เหลือแค่ 9xx จุดในเวลาแค่ไม่ถึงสามเดือน ตอนนั้น Doomsayer ออกมาบอกว่า โควิดจะทำให้บริษัทต่างๆ พากันล้มละลายเป็นโดมิโน่ ระบบการเงินของโลกจะล่มสลาย ซึ่งฟังดูแล้วก็น่าเชื่อ เพราะเห็นราคาหุ้นลงทุกวันเหมือนทุกอย่างกำลังจะพังลงจริงๆ วันสุดท้ายที่หุ้นไทยลงแรงที่สุด เป็นวันที่มันลงแรงมากๆ จนทำให้ผมรู้สึกว่า โอกาสที่มันจะลงต่อไปอีกน่าจะเท่ากับ 100% แต่ก็น่าแปลกมากที่วันสุดท้ายที่หุ้นหลุด 1000 จุด กลับกลายเป็นวันที่หุ้นถูกที่สุด สุดท้ายแล้วระบบการเงินที่ล่มสลายก็ไม่ได้เกิดขึ้น มิหน่ำซ้ำเฟดยังออก unlimited QE ออกมา ทำให้ราคาหุ้นวิ่งกลับขึ้นไปอย่างแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ แปลกแต่จริงที่วันที่ตลาดดูน่ากลัวที่สุด มักจะเป็นวันที่หุ้นน่าซื้อมากที่สุดด้วย

น่าสนใจว่าตอนนี้ก็มีอะไรคล้ายๆ กัน มี Doomsayer เรียงหน้ากันออกมาบอกว่า ครั้งนี้จะไม่เหมือนทุกครั้ง Recession ครั้งนี้จะรุนแรงและยาวนานมากกว่าครั้งไหนๆในอดีต the winter is coming ตลาดยังลงไม่ถึงครึ่งเดียว ฯลฯ ทุกอย่างกำลังวนเวียนกลับมาที่เดิม เราเป็นแค่ตัวเลมมิ่ง ที่มีความจำระยะสั้น และไม่เคยได้รับบทเรียนจากความผิดพลาดในรอบก่อนๆ

7LTG end of Year 12 Commentary

สถานะพอร์ต 7LTG ณ จบปีที่ 12

  1. ก่อนขาย MINT, MINT-W8, MINT-W9, BTS-W3 (21/9/2021)

2. หลังขาย (22/9/2021)

3. เงินปันผลสะสมตั้งแต่เริ่มต้น

ปีนี้เป็นอีกปีหนึ่งที่เราสรุปพอร์ตตอนกำลังอยู่ท่ามกลางวิกฤตโควิด ดัชนีกลับมาได้บ้างแล้วแต่ก็ยังอยู่ที่ประมาณ 1600 จุด  ถือว่าค่อนข้างซวยที่มาเจอวิกฤตอีกครั้งในช่วงที่ใกล้จะครบ 15 ปี เหมือนต้องถอยกลับไปตั้งต้นใหม่ แต่เชื่อว่าหลังจากนี้ควรจะดีขึ้นเรื่อยๆ ก่อนจะครบปีที่ 15

เอาจริงๆ พอร์ตนี้ไม่ได้แย่หรอก ไม่ได้ขาดทุน แม้จะเจอวิกฤตมาหลายหน เงินปันผลสะสมที่ได้มาสูงกว่าที่คิดไว้มาก แต่ Capital Gain ถือว่าน้อยไปหน่อย ควรจะได้มากกว่านี้

ขอพูดถึงหุ้นตัวที่ยังเหลือในพอร์ตดีกว่า

ADVANC บอกตามตรง เป็นตัวที่อยากขาย เพราะมาคิดได้ทีหลังว่า จริงๆ แล้วเราเลือกหุ้นผิด ADVANC ดูเหมือนจะเป็นหุ้นเทคโนโลยี แต่ก็ไม่ได้แปลว่าจะไม่ถูกดิสรัป หุ้น Tech เองก็สามารถถูก Tech ใหม่ๆ มาดิสรัปได้ด้วยเช่นกัน ซึ่งก็คือกรณีของ ADVANC ที่รายได้ส่วน Voice โดน Data ดิสรัป ดังนั้นต่อให้ Data โตสูง ก็แค่ช่วย offset ส่วน Voice ที่หายไปได้เท่านั้น ได้แค่เสมอตัว ตอนแรกผมมองโลกในแง่ดีว่า AIS Fibre ยังโตได้อีกเยอะ น่าจะมาช่วยสร้างการเติบโตได้อีกแรง แต่เอาเข้าจริงๆ ตลาดนี้กำลังอยู่ในสงครามราคา บ้านผมเองเคยจ่ายเดือนละ 800 ตอนนี้จ่ายแค่เดือนละ 300 บาท คนที่มีกำลังจ่ายเน็ตแรงๆ มีอยู่จริง แต่ก็กระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพชั้นในเท่านั้น คนส่วนใหญ่ของประเทศไม่ได้มีกำลังซื้อสูงขนาดนั้น หรือไม่ก็ไม่ได้เห็นความจำเป็นที่ต้องมีเน็ตที่เร็วมากๆ ยิ่งมี 5G ยิ่งทำให้ต้องลงทุนเพิ่มขึ้น แต่รายได้กลับเพิ่มได้ยาก เพราะหลายปีที่ผ่านมาคนไทยไม่ได้มีกำลังซื้อสูงขึ้นตามเทคโนโลยี

BJC ตัวนี้เลือกเข้าพอร์ตมาเพราะมองว่าซุปเปอร์มาร์เก็ตไม่น่าจะโดนดิสรัป อย่างน้อยก็ในอนาคตอันใกล้ ซึ่งก็ยังเชื่อแบบนั้นอยู่ แต่ตัว BJC เอง ก็ยังไม่มีความกะตือรืนร้นที่จะปรับตัวมากพอ

BDMS ตัวนี้ยังชอบอยู่ ยังเป็นจุดแข็งไม่กี่อย่างของประเทศไทย แต่ก็คงจะหวังเติบโตสูงๆ ไม่ได้ เพราะตัวใหญ่มากแล้ว แต่สองปีที่ผ่านมาก็ถือว่าบอบช้ำจากโควิดพอสมควร เพราะคนไข้ต่างชาติหายเรียบ ทำได้ขนาดนี้ก็ถือว่าประคองตัวได้ดีแล้ว คิดว่าต่อจากนี้น่าจะดีขึ้นเรื่อยๆ เพราะเป็นช่วงฟื้นตัว

AOT ตัวนี้ก็เช่นกันครับ สตอรี่คล้ายๆ กับ  BDMS

CPN ตัวนี้เป็นห่วง เป็นธุรกิจที่เสี่ยงโดนดิสรัปมากๆ จากธุรกิจออนไลน์ แถมโควิดยังทำให้คนคุ้นเคยกับดิลิเวอรี่มากขึ้น ถือว่าโดนสองดอกเลย แม้ว่าตอนนี้ภาพยังไม่ได้ดูแย่ คนยังเชื่อมั่นในคำว่าเซ็นทรัล แต่ในอนาคตน่าเป็นห่วง เป็นอีกตัวที่อยากขาย

PSH ตัวนี้จมอยู่ในภาวะตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ oversupply แต่เรื้อรังที่ยาวนานมาก และก็คิดว่าน่าจะยังเป็นอย่างนั้นต่อไป ถือเป็นอีกตัวที่เลือกผิด เป็นตัวที่ขาดทุนด้วย แต่ไม่ได้ขาดทุนมากเท่ากันที่เห็นหรอก เพราะตัวนี้ถูกแลกหุ้นมาจาก PS  ซึ่งตอนนั้นมีกำไรอยู่เล็กน้อย จำไม่ผิดน่าจะประมาณ 15% พอกลายมาเป็น PSH ถูกล้างต้นทุนใหม่กลายเป็น 0% และตัวนี้เป็นตัวที่ได้ปันผลสูงมากมาตลอดราวๆ 7% ติดต่อกันหลายปี และเคยมีปันผลพิเศษครั้งใหญ่อีกด้วย จริงๆ แล้วถือว่าแค่เสมอตัว

BTS ช่วงที่ผ่านมาถือว่าโดนหนักมาก ทั้งโควิดที่ทำให้ผู้โดยสารหายไป และยังมีกรณี กทม.ไม่ยอมจ่ายหนี้อีกต่างหาก แต่หลังจากนี้ควรจะดีขึ้นแล้ว ไม่ได้เป็นห่วงอะไร

แผนการต่อจากนี้ยังคงเหมือนที่เคยบอกไว้คือจะทยอย Exit ออกไปปีละหนึ่งตัว แล้วแต่จังหวะว่าตัวไหนเหมาะสม หวังว่าสุดท้ายแล้วจะไม่มีตัวไหนขาดทุน

เสียดายเหมือนกันที่ไม่ได้ลงทุนจบครบ 15 ปีแล้วขายทีเดียวอย่างที่เคยตั้งใจไว้ตั้งแต่วันแรก ด้วยเหตุผลที่เคยเล่าไปแล้วว่า ทุกวันนี้ผมไม่ได้เชื่อมั่นใน SET Index เท่ากับเมื่อสิบปีที่แล้วอีกต่อไปแล้ว การลงทุนแบบ DCA ตลาดจะผันผวนขนาดไหนในระยะสั้นเราก็รับได้ แต่เราต้องเชื่อว่าในระยะยาว ตลาดที่ลงทุนนั้นจะยังกลับมาสร้างจุดสูงสุดใหม่ได้เสมอ ถ้าไม่มีความเชื่อนั้นอยู่แล้ว การลงทุนแบบ DCA ก็ดูขาดเหตุและผล

การปรับพอร์ต 7TLG ประจำปีที่ 12

ไปคิดมาแล้ว ตัดสินใจว่า จะเริ่มต้นทยอย exit ออกปีละหนึ่งตัว โดยเริ่มต้นจากตัวที่ไม่ได้อยู่ใน buy list ปัจจุบันแล้วก่อน พอถึงปีที่ 15 ก็น่าจะครบทุกตัวพอดี

ตัวแรกที่คิดว่าจะออกในปีนี้คือ MINT ครับ เหมือนบริษัทจะสร้างความมั่นใจให้นักลงทุนได้ค่อนข้างดี ทำให้ราคาหุ้นไม่ได้ต่ำมาก ทั้งที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างหนัก และถือว่าโชคดีด้วยที่ก่อนหน้านี้ได้ตัดสินใจเพิ่มทุนไปที่ราคา 17.5 บาท ทำให้ได้ต้นทุนที่ดีขึ้นอีก ก็เลยคิดว่าเป็นโอกาสที่ดีกว่าตัวอื่นที่จะ Exit ในเวลานี้

ดังนั้นหากราคาหุ้น MINT ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญก็จะขายออกไปในวันที่ 24 กันยายน ศกนี้ พร้อมกับ MINT-W ทั้งสองตัวด้วยเลย (เป็นธรรมเนียมปฏิบัติอยู่แล้วที่พอร์ตนี้จะขายวอแรนต์ที่ได้มาฟรีออกไปเสมอ เพื่อให้จัดการง่าย)

ส่วน buy list ในปีนี้จะไม่มีการเปลียนแปลงยังคงเป็น 5 ตัวเดิมคือ ADVANC, AOT, BDMS, BTS, BJC

เมื่อปรับพอร์ตเสร็จแล้วจะโพสต์หน้าจอสรุปให้อีกทีในวันที่ 27 กันยายนนะครับ ส่วนเงินปันผลที่ได้รับในปีที่12 ผมสรุปให้เรียบร้อยแล้วดังนี้

จึงเรียนมาเพื่อทราบ