0345: ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล

จุดอ่อนอย่างหนึ่งของตลาดหุ้นบ้านเราคือ บ้านเราไม่ใช่สังคมแบบทุนนิยม บริษัทจำนวนมากจึงไม่อยู่ในโหมดของการแสวงหาการเติบโตแบบต่อเนื่อง ทำให้หาหุ้นเติบโตที่จะลงทุนในระยะยาวได้ยาก พวกที่บอกว่าจะโตเยอะๆ ก็มักเป็นพวกหน้าใหม่ ต้นทุนทางสังคมต่ำ ลงทุนระยะยาวแล้วเสียวมาก เพราะที่ปรากฏว่าโตได้ปีเดียวแล้ว แต่หลังจากนั้นก็ขาดทุนหนักมีเยอะ พวกที่มีฐานธุรกิจที่มั่นคงแล้วก็มักไม่อยู่ในโหมดของการเติบโตแล้ว จะหาแบบที่พื้นฐานดีๆ และในเวลาเดียวกันก็โตไปเรื่อยๆ ด้วย (best of both worlds) ยาก ต้องเฟ้นกันหนัก

ผมว่านี่คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผมเริ่มสนใจบริษัทนี้ เพราะไมเนอร์เป็นหนึ่งในบริษัทที่มีฐานธุรกิจที่ค่อนข้างมั่นคงแล้ว แต่ก็ยังมี “สัญญาใจ” กับผู้ถือหุ้นที่จะเติบโตต่อไปเรื่อยๆ ให้ได้ปีละ 20% โดยไม่มีวันหยุด (ระบุไว้ในวิสัยทัศน์ของบริษัทด้วย) มันจึงเป็น candidate ของ 7LTG ที่น่าสนใจมาก การลงทุนในบริษัทที่ยังต้องพึ่งพาตลาดทุนในการขยายธุรกิจอยู่เสมอ ยังมีข้อดีอีกตรงที่บริษัทยังต้องแคร์ความรู้สึกของผู้ถือหุ้นอยู่ ถามอะไรก็รีบตอบ ตีหัวเข้าบ้านยังไม่ได้ ต่างกับบริษัทที่ธุรกิจอิ่มตัวแล้ว พึ่งตัวเองในเรื่องเงินทุนได้ อาจมองผู้ถือหุ้นเป็นแค่ยุงรำคาญที่รอแต่จะเอาเงินปันผลจากบริษัท

แต่ก็ไม่ได้แปลว่าแค่มีสัญญาใจว่าจะโตไปเรื่อยๆ แล้วจะทำให้ผมตัดสินใจลงทุนได้ บริษัทต้องมี Growth Strategy ที่มีความเป็นไปได้ด้วย นอกเหนือจากประวัติศาสตร์อันยาวนานของบริษัท

รายได้กว่าครึ่งของไมเนอร์นั้นมาจากการทำธุรกิจเชนร้านอาหารตามห้างฯ ตัวอย่างเช่น Burger King, DQ, Swensens, Sizzler, The Pizza Company เป็นต้น ธุรกิจแบบนี้โตไปเรื่อยๆ ได้ไม่ยาก เพราะมีการขยายสาขาเพิ่มขึ้นทุกปี ตามการขยายตัวของห้างฯ แรกๆ ก็ต้องลงทุนขยายสาขาเองก่อนซึ่งจะใช้เงินทุนมากหน่อย เมื่อแ่บรนด์ไหนติดตลาดแล้วก็จึงสามารถขาย Franchise เพื่อให้การขยายสาขาไม่ต้องใช้เงินลงทุนเยอะมากได้ นับเป็นการเอา intellectual property ที่สร้างมาในช่วงแรกมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในภายหลัง ทำเช่นนี้ไปเรื่อยๆ นอกจากนี้บริษัทยังมีการขยายสาขาไปต่างประเทศ โดยวิธีเข้าไปถือหุ้นแบรนด์ที่เห็นว่ามีศักยภาพ เช่น the Coffee Club (Australia), Thai Express (Singapore) แล้วเติบโตไปกับเขา เป็นต้น เหตุที่การขยายธุรกิจไปต่างประเทศควรใช้วิธีนี้เพราะในต่างประเทศแบรนด์สากลก็มักจะมีคนอื่นถือสิทธิ์อยู่แล้ว เลยต้องโตไปกับ local brand ของประเทศนั้นๆ ที่เห็นว่ามีศักยภาพแทน

ปัจจุบันบริษัทมีแล้ว 1133 ร้านสาขา (เป็น Franchise 39%) เทียบกับเมื่อ 8 ปีที่แล้วที่มีแค่ 354 สาขาและเป็นร้านของตัวเองเกือบทั้งหมด การที่สาขาเป็นแบบ Franchise มากขึ้นย่อมแสดงถึง intellectual property ที่เพิ่มขึ้นของบริษัท ภายในปี 2015 บริษัทจะมีให้ได้ 2174 สาขา และเป็น Franchise ให้ถึง 64% ให้ได้ ธุรกิจอาหารเป็นส่วนที่ผมชอบที่สุดของไมเนอร์ เพราะที่ผ่านมาสามารถสร้างการเติบโตได้อย่างสม่ำเสมอ และเราเห็นได้ชัดเจนว่าเขาทำตลาดได้เก่งกว่าคู่แข่งของเขาเป็นส่วนใหญ่ (Pizza Hut, Baskin Robbins, etc.) จะแย่หน่อยตรงที่ต่างประเทศเวลานี้ยังแย่อยู่ เช่น The Pizza Company ที่จีน ทุกวันนี้ยังขาดทุนอยู่, Thai Express ยังหดตัว เป็นต้น แต่ผมก็มองว่า ถ้าให้เวลาบริษัทแก้ปัญหาสักพักต้องดีขึ้น เหมือนอย่างสมัยก่อนตอนที่เขาเริ่มทำตลาด Pizza Hut ใหม่ๆ เขาต้องใช้เวลาอยู่นานหลายปีกว่าจะประสบความสำเร็จเหมือนอย่างเช่นทุกวันนี้ ส่วนการซื้อแบรนด์ต่างประเทศที่ผ่านมาแม้จะดูเหมือนเป็นแบรนด์ที่ยังไม่ค่อยเวิร์คเท่าไร แต่ผมก็มองว่านั่นคือกลยุทธ์ที่ถูกต้อง เพราะคุณควรซื้อแบรนด์ที่ยัง mismanaged อยู่แล้วเอา know-how ของคุณเข้าไปปรับปรุงเพื่อ unlock value ออกมา มากกว่าที่จะซื้อแบรนด์ที่สมบูรณ์แบบอยู่แล้วตั้งแต่แรกด้วยราคาแพงๆ

ธุรกิจอีกส่วนของไมเนอร์คือ ธุรกิจโรงแรม ซึ่งมีอยู่หลายแบรนด์เช่นกัน เช่น Anantara, Four Seasons, JW Marriott เป็นต้น โมเดลเติบโตก็เป็นแบบเดียวกันเปี๊ยบคือขยายสาขาไปเรื่อยๆ แต่ต่างกันตรงที่ ธุรกิจโรงแรมนั้นลงทุนเริ่มต้นสูงกว่ามาก แต่กลับคืนทุนได้ช้ากว่า สรุปก็คือ ห่วยกว่าธุรกิจอาหารนั่นเอง เพราะโรงแรมเป็นธุรกิจที่เข้ามาได้ง่ายมาก ลองนึกดูสิว่าแต่ละปีมีโรงแรมใหม่ๆ เกิดขึ้นมากขนาดไหน ฉะนั้นต่อให้เป็นโรงแรมหรูๆ ก็ยังคาดหวัง IRR ไ้ด้แค่ระดับสิบกว่าเปอร์เซนต์เท่านั้น อีกทั้งโรงแรมยังเป็นธุรกิจที่อ่อนไหวต่อ consumer sentiment อย่างมากอีกต่างหาก ช่วงสองปีที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากปัญหาการเมืองอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตามบริษัทก็พยายามใช้โมเดลรับจ้างบริหารแทนการลงทุนสร้างโรงแรมเอง เพื่อช่วยลดเงินลงทุน (asset-light strategy) และเพิ่ม ROI แต่วิธีนี้ก็มีจุดอ่อนตรงที่ตัวเลขรายได้ที่เข้ามาจะค่อนข้างเล็ก ทำให้สร้างการเติบโตแบบเป็นกอบเป็นกำตามเป้าไม่ได้ บริษัทจึงยังต้องเน้นการสร้างโรงแรมเองควบคู่ไปกับการรับจ้างบริหารต่อไป ธุรกิจโรงแรมของบริษัทเป็นส่วนที่ผมไม่ค่อยชอบเอาเสียเลย แม้ว่า EBITDA จะดูสูงกว่าอาหาร แต่ที่จริงแล้วก็เป็นเรื่องหลอกตา เพราะว่า CAPEX ของมันสูงมาก ผมว่าที่บริษัททำธุรกิจนี้ส่วนหนึ่งมาจาก passion ส่วนตัวของเจ้าของเองด้วยจึงเป็นเรื่องที่มีอารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้องมากกว่าแค่เหตุผลทางธุรกิจ

ช่วงหลังบริษัทพบว่าการทำ Residence แบบขายขาด จะให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าการทำเป็นโรงแรม (แม้ว่าจะเป็นรายได้ที่ขึ้นๆ ลงๆ) บริษัทจึงหันมาทำ Property เสริมด้วยอีกส่วนหนึ่งในนาม St.Regis ขายขาดยูนิตละ 70-200 ล้านบาท ก็เลยเพิ่มมาอีกสายธุรกิจหนึ่ง ในอนาคตบริษัทก็ยังคิดทำ Timeshare เพื่อช่วยดึง Occupancy Rate ให้ stable ขึ้น (at the expense of room rate) เรื่องการเติบโตด้วย room rate นั้นในกรุงเทพตอนนี้หวังยากเพราะ oversupply การแข่งขันรุนแรงราคามาก ที่หวังขึ้นได้บ้างก็คงเป็นส่วนของต่างจังหวัดและต่างประเทศมากกว่า เวลานี้บริษัทเริ่มมองลูกค้าจีน อินเดีย ตะวันออกกลาง ที่มีกำลังสูง เพื่อมาทดแทนลูกค้ายุโรปที่กำลังซื้อตกลงไปจากวิกฤต ในอนาคตบริษัทกำลังพิจารณาขายโรงแรมในพอร์ตบางส่วนที่เห็นว่ามี market value สูงกว่า book value มากๆ เพื่อเป็นการ unlock value ในส่วนที่ตลาดหุ้นไม่ได้ให้พรีเมี่ยมด้วย

จะเห็นว่าแม้ธุรกิจโรงแรมจะมีปัญหาต่อเนื่องแต่ บริษัทก็พยายามหาทางแก้ไขตลอด และ occupancy rate ของบริษัทนั้นสูงกว่าระดับเฉลี่ยของอุตสาหกรรมตลอด แสดงว่าพอร์ตของบริษัทค่อนข้างดีกว่าคู่แข่ง ทำให้บริษัทก็ยังคงมีกำไรได้แม้ในช่วงที่ยากลำบากที่สุด ซึ่งคู่แข่งล้วนติดตัวแดงกันไปหมดแล้ว เลยพอจะให้อภัยในส่วนนี้ได้

ปัจจุบันบริษัทมีห้องพักรวม 3655 ห้อง เป็นรับจ้างบริหาร 18% เทียบกับแปดปีก่อนที่ี 2055 ห้องลงทุนเองหมด ภายในปี 2015 บริษัทจะมีให้ได้ 5791 ห้อง และเป็นรับจ้างบริหารให้ได้ถึง 40% (ผมว่า aggressive ไปนิด)

ธุรกิจส่วนสุดท้ายคือร้านเสื้อผ้าแบรนด์เนม เช่น GAP, Esprit, Bossini เป็นต้น ธุรกิจส่วนนี้ยังขาดทุนอยู่ แต่เป็นสัดส่วนที่เล็กจึงไม่น่ากลัวเท่าไร และผมก็มองว่า ในอนาคตน่าจะดีขึ้น เพราะคนไทยน่าจะมีความเป็นอยู่สูงขึ้น ค่าเงินบาทก็แข็ง ธุรกิจแบบนี้จึงน่าจะได้ประโยชน์ในอนาคตอันใกล้นี้นะครับ

ช่วงสองปีที่ผ่านมา บริษัทโดนมรสุมอย่างหนักทั้งวิกฤตการเมืองและเศรษฐกิจ ซึ่งกระทบธุรกิจของบริษัทโดยตรงแทบทุกสายธุรกิจ จึงไม่สามารถเติบโต 20% ได้ตามสัญญา ต่างกับแต่ก่อนนี้ที่บริษัทเติบโตได้ 20% ทุกปี ติดต่อกัน 6-7 ปีเลยทีเดียว (ไม่รู้ทำไม พอเราเริ่มสนใจทีไร มันต้องเริ่มไ่ม่ดีพอดีทุกที) เท่าที่ทราบมา ไตรมาส 4/53 ที่จะถึงนี้ ก็จะยังไม่ดีขึ้น เพราะถ้าคำนวณจากยอดจองห้องพักที่เข้ามาตอนนี้แล้วเทียบกับปีก่อน บริษัทคาดว่า occupancy rate ปลายปีน่าจะแค่เท่าๆ กับปีที่แล้วเท่านั้น ถัดจากนี้ไป ผมก็ยังไม่คิดว่าปัญหาการเมืองบ้านเราจะจบ มันแค่หยุดไปพักหนึ่งเท่านั้น ดังนั้นการจะหวังว่าบริษัทจะดีขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้คงจะยังหวังมากไม่ได้ อีกสักพักก็คงกลับมาใหม่

แต่ผมยังไงผมก็ยังเชื่อว่า ที่สุดแล้ว บริษัทนี้จะสามารถบรรลุเป้าหมายในระยะยาวได้ (แต่คงเป็นแบบ bumpy ไปตลอดทาง) บริษัทตั้งเป้าจะมีรายได้จากต่างประเทศเพิ่มขึ้นให้ได้อย่างน้อยเป็น 40% ภายในปี 2015 นั่นจะช่วยให้ผลประกอบการของบริษัทไม่ต้องผูกอยู่กับประเทศไทยประเทศเดียวเหมือนอย่างเดิม ในระยะยาวกำไรน่าจะเสถียรขึ้นได้ และผมก็มองว่า ในอนาคต บริษัทไทยที่จะยิ่งใหญ่ต่อไปได้ จะต้องก้าวขึ้นมาเป็นผู้เล่นระดับภูมิภาคให้ได้ การที่บริษัทเริ่มไปต่างประเทศตั้งแต่วันนี้ น่าจะช่วยให้บริษัทเป็นหนึ่งในผู้ยิ่งใหญ่ในอนาคตต่อไปได้ด้วยครับ และการที่บริษัทยังคงมีการลงทุนอย่างต่อเนื่องยังทำให้เมื่อไรก็ตามที่การเมืองนิ่งๆ ได้สักพักใหญ่ๆ สิ่งที่บริษัทได้สร้างเอาไว้ตลอดสองปีก็จะมีโอกาสได้ฉายประกายออกมาด้วยครับ ที่จริงแล้วบริษัทเคยเจอมรสุมที่หนักกว่าสองปีนี้มากตอนที่ไม่ได้ต่อสัญญา Pizza Hut กับทาง Yum ตอนนั้นใครๆ ก็คิดว่าบริษัทนี้คงหมดทุกอย่างแล้ว แต่ปรากฏว่ากลับการเป็นแรงผลักดันให้บริษัทฮึดกลับขึ้นมาใหม่จนยิ่งใหญ่กว่าเดิมมาก สองปีนี้จึงถือว่าเด็กๆ ครับ บริษัทที่มีทัศนคติที่ดียังไงก็ต้องกลับมาดีได้ครับ

สรุปแล้ว แม้ว่าดูเหมือนจะยังไม่มีอะไรดีขึ้นเลยเร็วๆ นี้ แต่ยังมองว่าในระยะยาวบริษัทนี้ต้องยิ่งใหญ่กว่าในปัจจุบันอย่างมากแน่นอน เหมือนกับที่ทุกวันนี้บริษัทยิ่งใหญ่กว่าเมื่อแปดปีก่อนมาก เพราะเป็นบริษัทที่มีการแก้ปัญหาอยู่ตลอดเวลา ผมจึงยังมีความมั่นใจในอนาคตระยะยาวของบริษัทนี้อยู่ เลยตัดสินใจให้บริษัทนี้ยังได้ไปต่อใน 7LTG นะครับ แต่ถ้าจะให้เกรดคงให้แค่ B+

คำเตือน : บทวิจารณ์นี้เป็นแค่การมองภาพใหญ่ของบริษัทในระยะยาวเท่านั้น ไม่เกี่ยวข้องกับทิศทางของผลประกอบการระยะสั้นของบริษัทเลยแม้แต่น้อย ผู้อ่านจึงไม่อาจนำมาใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุนในระยะสั้นได้เลย (7LTG สนใจแต่ภาพใหญ่ในระยะยาวของบริษัทที่จะลงทุนเท่านั้น) อีกทั้งข้อมูลที่ใช้วิเคราะห์เป็นข้อมูลที่หาได้ในช่วงที่เขียนบทวิจารณ์เท่านั้น ในอนาคตปัจจัยต่างๆ อาจเปลี่ยนแปลงไปได้อีก จึงไม่อาตยึดถือได้ตลอดไป

0327: Growth Investing Defined

มีหลายท่านสังเกตออกว่า ผมมักเน้นลงทุนในหุ้นเติบโตเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งก็ค่อนข้างจะตรง ผมก็เลยอยากถือโอกาสคุยเรื่อง Growth Investing สักหน่อยนะครับ

ทุกวันนี้สไตล์การลงทุนหลายแนวถูกนำชื่อไปใช้อ้างชื่อกันมาก ทำให้ความหมายของมันค่อยๆ เปลี่ยนไปจนในที่สุดก็ไม่เหลือใครที่มีบารมีมากพอที่จะผูกขาดนิยามของแนวการลงทุนเหล่านั้นได้อีกต่อไป Growth Investing ก็เช่นกัน เวลาจะใช้คำนี้จึงต้องขยายความให้ชัดหน่อยว่าหมายถึงอย่างไรกันแน่ มิฉะนั้นจะเกิดการเข้าใจผิดกันได้ง่าย

นิยามของ Growth Investing ที่ผมไม่ชอบมากที่สุดตั้งแต่เคยได้ยินมาคือนิยามที่บอกว่า Growth Investing คือการลงทุนในหุ้นที่มีค่าพีอีเรโชสูง นิยามนี้แบ่งหุ้นออกเป็นสองจำพวกชัดเจนคือ Growth Stock vs. Value Stock โดยใช้ค่าพีอีเรโชเป็นตัวแบ่ง หุ้นเติบโตคือหุ้นที่มีพีอีสูง หุ้นคุณค่าคือหุ้นที่มีพีอีต่ำ  

นิยามนี้เป็นนิยามที่ทำให้ความหมายของคำว่าการลงทุนผิดเพี้ยน เพราะพีอีเป็นอัตราส่วนทางการเงินที่มีราคาตลาดของหุ้นมาเกี่ยวข้อง (P) แต่ราคาหุ้นนั้นเป็นเรื่องของตลาดหลักทรัพย์ ไม่เกี่ยวกับตัวกิจการเลย พีอีเรโชจึงไม่ได้บ่งบอกถึง “การเติบโต” (หรือแม้แต่คุณค่า) ของบริษัทเลยแม้แต่น้อย หุ้นตัวหนึ่งจะเป็นหุ้นเติบโตหรือไม่นั้นจะต้องดูจากตัวธุรกิจได้แก่การเติบโตของธุรกิจเป็นหลัก ไม่เกี่ยวกับค่าพีอี  หุ้นที่มีค่าพีอีเรโชต่ำๆ ก็เป็นหุ้นเติบโตได้หากกำไรของธุรกิจนั้นเติบโตสูง ผมเองเน้นลงทุนในหุ้นเติบโตเป็นหลัก แต่ผมไม่ได้ชอบหุ้นพีอีสูงแต่อย่างใด ถ้าหากกำไรเติบโตสูงแล้วพีอีต่ำด้วยก็ยิ่งดีใหญ่ (เพียงแต่โอกาสดีๆ ขนาดนั้น มักไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยนักสำหรับหุ้นเติบโต) 

ที่จริงแล้ว Growth กับ Value เป็นสิ่งที่ไม่สามารถแยกออกจากกันได้อย่างเด็ดขาด เพราะ แม้แต่ Growth Investor เอง ก็ยังต้องซื้อหุ้นให้ได้ในราคาที่ยังต่ำกว่า Growth Potential ของมันอยู่ดี (แบบเดียวกับ value investing) มิฉะนั้นซื้อไปแล้วก็จะไม่ได้อะไรจากการเติบโตอยู่ดี เพราะราคาหุ้นสะท้อนการเติบโตไปหมดแล้ว  

โดยรวมๆ Growth Investing หมายถึง การลงทุนที่ให้น้ำหนักกับ “โอกาสในการเติบโตของกิจการ”  ในการประเมินค่าหุ้นมากเป็นพิเศษ เท่านั้นเอง วิธีการลงทุนในหุ้นคุณค่าหรือหุ้นเติบโตนั้นจึงไม่ต่างกัน

แต่เหตุที่ผมสนใจหุ้นเติบโตมากกว่าหุ้นแบบอื่นมาจากเป้าหมาย, ความถนัด ตลอดจนความเชื่อส่วนตัวของผมเป็นสำคัญ โดยส่วนตัว ผมอยากซื้อหุ้นแล้วถือทิ้งไว้ในพอร์ตได้นานๆ โดยไม่ต้องคอยหาตัวใหม่อยู่เรื่อยๆ จะได้ไม่ต้องเหนื่อยกับการบริหารพอร์ตมากเกินไป ซึ่งผมคิดว่า หุ้นเติบโตตอบโจทย์ข้อนี้ได้ดีกว่าหุ้นแบบอื่น เพราะหุ้นเติบโตแม้เราถือทิ้งไว้เฉยๆ โดยไม่หาทางทำกำไรด้วยการซื้อๆ ขายๆ กินส่วนต่าง มูลค่าของหุ้นก็ยังสามารถเพิ่มขึ้นได้ในระยะยาว เพราะกิจการยังมีการลงทุนใหม่ๆ อยู่ ทำให้กำไรเพิ่มขึ้นได้อีก มูลค่ากิจการก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ได้ในระยะยาว แค่ถ้าเราซื้อหุ้นคุณค่าในราคาที่คิดว่าต่ำกว่ามูลค่าของกิจการแล้วถือไว้ สมมติว่าผ่านไปแค่สองเดือนราคาหุ้นเกิดปรับตัวขึ้นจนสะท้อนมูลค่าหมดแล้ว ก็ไม่รู้ว่าจะถือต่อไปอีกด้วยเหตุผลอะไร เพราะว่ากำไรของกิจการเท่าเดิม มูลค่าของกิจการก็เท่าเดิม ราคาหุ้นก็ต้องเท่าเดิม ถือทิ้งไว้ พอร์ตก็ไม่โตขึ้น เราจึงต้องขาย ออกมาแล้วหาตัวใหม่เข้าลงทุนแทนอยู่เรื่อยๆ เพื่อให้เงินของเรายังทำงานอยู่ตลอดเวลาได้ ผมมีความเชื่อว่า หุ้นคุณค่าเมื่อราคาสะท้อนแล้ว ควรขายออกไปได้เลย ไม่ควรถือต่อไปในระยะยาว หุ้นที่ควรถือในระยะยาวมีเพียงหุ้นเติบโตประเภทเดียวเท่านั้น (ความเชื่อส่วนบุคคล)

นี่เป็นเหตุผลเดียวกันด้วยที่ทำให้ผมไม่นิยมลงทุนในหุ้นกลับตัว (Turnaround) ด้วย เพราะแม้ว่าหุ้นกลับตัว (ถ้าเล่นเก่งๆ) มักให้ผลตอบแทนที่สูงมาก แต่ก็ต้องเหนื่อยหาตัวใหม่อยู่เรื่อยๆ เพราะเมื่อหุ้นกลับตัวได้แล้ว ก็มักไม่มีเหตุผลที่จะถือต่อไป (ส่วนใหญ๋แล้ว หุ้นกลับตัวมักเป็นกิจการที่อ่อนแอ มิฉะนั้นมักคงไม่แย่ให้เราซื้อตั้งแต่แรก)  

ภายใต้คำว่า Growth Investing ด้วยกันเองยังมีแนวทางแยกย่อยได้อีกหลายแนว แต่ละแนวก็มีวิธีที่ค่อนข้างต่างกันมาก ราวกับเป็นคนละแนวทางเลยทีเดียว  ระยะหวังผล ของนักลงทุนแต่ละคนคือสาเหตุสำคัญที่ทำให้ Growth Investing แต่ละแนวมีวิธีที่แตกต่างกันออกไป 

Growth Investing แบบที่แพร่หลายมากที่สุดคือ การเลือกหุ้นโดยดุจากแผนการเติบโตของบริษัทนั้นๆ เป็นหลัก วิธีนี้คือดูว่าบริษัทนั้นๆ มีแผนเติบโตธุรกิจอย่างไร เช่น โรงงานอาจมีแผนเพิ่มกำลังการผลิต ธุรกิจค้าปลีกอาจมีแผนขยายสาขา ผู้รับเหมาอาจมีโปรเจ็คใหม่ๆ ที่กำลังวิ่งอยู่ เป็นต้น จากนั้นก็คำนวณหากำไรที่เพิ่มขึ้นที่น่าจะเป็นไปได้ ลองดูว่าราคาหุ้นปัจจุบันคิดเป็น P/E กี่เท่าเมื่อเทียบกับกำไรที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต ถ้าค่าพีอีนี้ยังไม่สูงก็ลงทุนได้ ถ้าสูงจนสะท้อนการเติบโตไปหมดแล้ว ก็ไม่เอา วิธีนี้เหมาะกับนักลงทุนที่มีระยะหวังผล 1-3 ปี เพราะธุรกิจส่วนใหญ่มักวางแผนธุรกิจล่วงหน้าไว้ 1- 3 ปี ทำให้หาข้อมูลมาสนับสนุนการวิเคราะห์หุ้นได้ง่าย วิธีนี้ถือว่ามีเหตุมีผลมีที่มาที่ไปชัดเจน เพราะมีแผนธุรกิจของบริษัทรองรับการตัดสินใจลงทุน ทำให้เป็นที่นิยมของนักลงทุนสถาบัน เป็นการให้มูลค่าหุ้นไปตามการเติบโตเฉพาะที่มองเห็นได้เท่านั้น เรื่องที่ต้องระวังคือต้องคิดด้วยว่า แผนของผู้บริหารมีความเป็นไปได้แค่ไหน ไม่ใช่ผู้บริหารวาดฝันยังไงก็เชื่อตามทุกอย่าง หากดูแล้ว aggressive เกินไป ก็ต้องลดทอนความคาดหวังลงมาเองด้วย   

Growth Investing อีกแบบหนึ่งเป็นการมองหาแนวโน้มการเติบโตใหญ่ (Megatrends) ที่กินระยะเวลายาวนาน แล้วลงทุนไปกับบริษัทที่คิดว่าน่าจะได้รับประโยชน์จากแนวโน้มใหญ่นั้นแบบถือยาวไปเลย ตัวอย่างเช่น ถ้ามองว่า แนวโน้มใหญ่ของคนกรุงเทพคือการหันมาอยู่คอนโดมากขึ้น เพราะการเกิดขึ้นของโครงการรถไฟฟ้าต่างๆ เราก็ซื้อหุ้นคอนโดเก็บไว้ หรือถ้าเชื่อใน aging economy ก็ซื้อหุ้นโรงพยาบาลเก็บไว้ เป็นต้น วิธีนี้ดีตรงที่ไม่ต้องเหนื่อยทำการบ้านมาก เพราะไม่จำเป็นต้องคอยติดตามข่าวบริษัทอย่างใกล้ชิดทุกไตรมาส ใช้วิธีอดทนกับความผันผวนของราคาหุ้นระหว่างทางแทน ตราบใดที่ภาพใหญ่ยังไม่เสีย หุ้นจะขึ้นบ้างลงบ้างก็ช่างมัน เพราะยังไงเสียในระยะยาว แนวโน้มใหญ่ก็จะช่วยพาบริษัทให้เติบโตขึ้นได้อย่างมีนัยสำคัญอยู่แล้วจะไปวิตกกับความผันผวนระหว่างทางไปทำไม ระยะหลังนี้ ผมหันมาเน้นการลงทุนด้วยวิธีการนี้มากขึ้นเรื่อยๆ เพราะตรงกับเป้าหมายส่วนตัวของผมที่อยากเล่นหุ้นแบบไม่ต้องเหนื่อยมาก ถ้าเราสามารถหาแนวโน้มใหญ๋ให้ได้สัก 4-5 แนวแล้วกระจายการลงทุนออกไป เราก็สามารถลงทุนแบบใจสงบได้แล้ว ระยะหวังผลของหุ้นแต่ละตัวที่ซื้ออาจเป็น ได้ตั้งแต่ 3 ถึง 10 ปี แล้วแต่ความต่อเนื่องของแนวโน้มใหญ่

สุดท้ายคือ Growth Investing แนวบู๊ล้างผลาญ วิธีนี้มีระยะหวังผลไม่เกิน 3-6 เดือนต่อหุ้นแต่ละตัวที่ซื้อ เมื่อได้กำไร 20-100% แล้วก็หาตัวเล่นใหม่เปลี่ยนสร้างผลตอบแทนอย่างไม่หยุดนิ่ง คาดหวังผลตอบแทนต่อปีในระดับที่ค่อนข้างสูง

“ข้อมูลข่าวสาร” คืออาวุธที่สำคัญที่สุดของแนวบู๊ล้างผลาญ ข้อมูลที่ว่านี้ไม่ได้หมายถึง “ข้อมูลอินไซด์” เสมอไป แต่หมายถึง “ข่าวสาธารณะ” นั่นแหละครับ (ที่จริงแล้ว พวกข่าวอินไซด์กลับจะน่ากลัว เพราะเราอาจตกเป็นเหยื่อได้ด้วย) ยิ่งเราเข้าถึงข้อมูลได้มาก-ลึก-เร็วและแม่นยำกว่าคนอื่นเท่าไร เราก็จะยิ่งได้เปรียบในการลงทุนแบบนี้มากขึ้นเท่านั้น ที่จริงแล้ว วิธีนี้ไม่ต้องรู้เรื่องอะไรเลยเกี่ยวกับการวิเคราะห์ธุรกิจเลยก็ยังได้ เพราะในระยะแค่ 3-6 เดือน การเคลื่อนไหวของราคาหุ้นแทบไม่เกี่ยวกับอะไรกับปัจจัยพื้นฐานของธุรกิจ แต่เกี่ยวกับข่าวที่เข้ามากระทบหุ้นตัวนั้นๆ เป็นสำคัญ หุ้นที่พื้นฐานไม่ค่อยดีกลับน่าสนใจมากกว่าหุ้นพื้นฐานดีเสียด้วยซ้ำ เพราะหุ้นพวกนี้มักจะมีกำไรระยะสั้นที่ผันผวนสูงมากกว่า ทำให้เราสามารถทำกำไรระยะสั้นได้เยอะกว่า

ตามความเห็นของผม การลงทุนในวิธีนี้สามารถให้ผลตอบแทนสูงได้จริงสำหรับตลาดหุ้นไทย แต่จะต้องขยันทำการบ้านให้มาก ลงทุนตามข้อมูลเป็นหลัก ไม่ใช่ลงทุนตามความรู้สึก ผลตอบแทนที่ได้จะแปรผันตามไปข้อได้เปรียบเรื่องข้อมูลของเรา ยิ่งได้เปรียบเรื่องข้อมูลมากเท่าไร เราก็ยิ่งมีโอกาสประสบความสำเร็จมากเท่านั้น ไม่มีปฏิหารย์ครับ

คนที่ใช้วิธีนี้บางคนใช้วิธีมองหาหุ้นที่ EPS รายไตรมาสกำลังจะเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญมากๆ เช่น +100% yoy แล้วรีบเข้าไปถือก่อนคนอื่น รอให้ข่าวค่อยๆ กระจายออกสู่นักลงทุนในวงกว้างมากขึ้นจนราคาหุ้นปรับตัวขึ้นมามากๆ ในช่วงเวลาอันรวดเร็ว แล้วก็รีบขายทิ้งทำกำไรออกมาตั้งแต่ก่อนที่ข่าวที่ดีที่สุดจะออกมา ทำเช่นนี้ไปเรื่อยๆ ให้ได้หลายๆ รอบในหนึ่งปี คนที่ขยันหาข่าวจริงๆ จะทำผลตอบแทนได้สูงมากจากวิธีการลงทุนแบบนี้ 

อย่างไรก็ตาม ข้อเสียสำคัญของ Growth Investing แนวสุดท้ายนี้ก็คือ ในระยะสั้น ตลาดหุ้นคือ Money Game จึงหลีกเลี่ยงไม่เราจะต้องเข้าไปเล่นในเกมนี้ด้วย คนที่จะเล่นหุ้นด้วยวิธีนี้ได้จึงต้องมีภูมิต้านทานสูง รู้เท่าทันคนอื่นจึงจะเอาตัวรอดได้ 

โดยส่วนตัว ผมไม่ได้ลงทุนด้วยวิธีนี้เลย เพราะไม่ใช่ทางของผมครับ

0312: Recency Bias

สมองของมนุษย์มีจุดอ่อนอยู่อย่างหนึ่ง (ที่จริง มีหลายอย่าง) คือ เรามีแนวโน้มจะให้น้ำหนักกับเรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้นหมาดๆ มากกว่าเรื่องอื่นๆ (Recency Bias)

ตัวอย่างเช่น สมมติว่าเพิ่งมีแผ่นดินไหวเกิดขึ้นใจกลางกรุงเทพฯ หมาดๆ มีตึกถล่ม มีคนเสียชีวิตมากมาย หลังจากนั้น ยอดผู้ซื้อประกันภัยอาคารจากแผ่นดินไหวมักจะสูงขึ้นอย่างมาก พอผ่านไปสัก 2 เดือนก็จะค่อยๆ ลดลงจนเท่ากับระดับปกติ ทั้งที่ Probability ที่จะเกิดแผ่นดินไหวของเมืองหนึ่งๆ มีค่าเท่าเดิมเสมอไม่ว่าจะเป็นช่วงหลังเกิดแ่ผ่นดินไหวใหม่ๆ หรือในช่วงเวลาปกติ (ไม่นับพวก Aftershock ซึ่งถือเป็นครั้งเดียวกัน) เรามักกลัวแผ่นดินไหวมากกว่าปกติในช่วงที่แผ่นดินไหวเพิ่งจะเกิดไปหมาดๆ

เวลามีข่าวเครื่องบินตกใหม่ๆ การเดินทางด้วยเครื่องบินมักจะลดลงอย่างมาก แต่หลังจากข่าวเริ่มเงียบหายไป ก็จะกลับไปเป็นเหมือนเดิม เวลามีข่าวผับไฟไหม้มีคนตายเพียบ คนเที่ยวผับก็จะน้อยลงไปสองอาทิตย์ จากนั้นก็กลับไปเหมือนเดิมอีก

พวกนักการเมืองรู้จัก Recency Bias เป็นอย่างดี เวลาใกล้จะเลือกตั้งใหม่ พวกเขาก็จะทำตัวขยันเป็นพิเศษ เพราะรู้ดีว่า ประชาชนจะจำแต่สิ่งที่พวกเขาทำในช่วงใกล้โค้งสุดท้ายมากที่สุด ถ้านักการเมืองคนไหนพลาดท่าเสียที มีข่าวฉาวเพียงหนเดียว ในช่วงใกล้เลือกตั้ง ความดีทั้งหมดที่มีมากกว่าที่เคยทำมาอดีตจะแทบไม่มีผลอะไรเลย เพราะโดนข่าวล่าสุด กลบผลของมันไปจนหมด

นักลงทุนในตลาดหุ้นก็มีลักษณะเช่นนี้ด้วยเหมือนกัน ในช่วงหลังจากเกิดวิกฤตตลาดหุ้นใหม่ๆ นักลงทุนมักจะกลัววิกฤตมากเป็นพิเศษ ตลาดหุ้นจะเป็นสิ่งที่น่ากลัวสำหรับพวกเขา ไม่ว่าหุ้นจะถูกแค่ไหนหรือเศรษฐกิจจะดีขึ้นอย่างไร นักลงทุนจะยังไม่กล้าซื้อหุ้นอยู่ดี ต่อเมื่อเวลาผ่านไปอีกนานๆ ความกลัวเหล่านั้นก็จะเริ่มจางหายไปเอง ทั้งที่จริงๆ แล้ว เราควรทำตรงข้าม กล่าวคือ หลังตลาดหุ้นเกิดวิกฤตใหม่ๆ เราไม่ควรจะกลัวที่จะซื้อหุ้นแต่เป็นเวลาที่เราควรจะกล้าซื้อหุ้นมากกว่า 

เวลาหุ้นพื้นฐานดีๆ บางตัวมีข่าวร้ายมากระทบ ความรู้สึกของเราเกี่ยวกับพื้นฐานโดยรวมของหุ้นตัวมักแย่ลงไปด้วย เราจะเริ่มไม่ค่อยแน่ใจกับปัจจัยพื้นฐานของหุ้นตัวนั้นที่เราเคยเชื่อว่าดีจนทำให้เราตัดสินใจลงทุน ทั้งที่เราก็รู้ดีว่าข่าวร้ายเหล่านั้นจะไม่ได้ติดตัวหุ้นนั้นไปแบบถาวร แต่เีราอดไม่ได้ที่จะให้น้ำหนักข่าวร้ายนั้น มากกว่าสิ่งดีๆ ทั้งหมดของหุ้นตัวนั้นที่เคยเป็นมาตลอดและยังไม่ได้เปลี่ยนไปเพราะข่าวร้ายนั้นเลยแม้แต่น้อย

ความยากของเรื่องนี้อยู่ตรงที่ เรามักไม่รู้ตัวว่าเรากำลังลำเอียงอยู่ เพราะเวลาที่เราลำเอียง เรามักใช้อารมณ์ของเราฟันธงไปก่อน แล้วสมองของเราจึงค่อยหาเหตุผลมาสนับสนุนการตัดสินใจของเรานั้น เราจึงมักรู้สึกว่าเรากำลังใช้เหตุผลอยู่ เวลาที่เราลำเอียง ที่จริงแล้ว เหตุผลเหล่านั้นล้วนแล้วแต่เป็นเหตุผลที่สมองของเราคัดเลือกมาเพื่อสนับสนุนอารมณ์ของเราเท่านั้นโดยคัดกรองเหตุผลอื่นๆ ที่ขัดแย้งออกไป เราจึงไม่รู้ตัวว่าเราลำเอียง ใครก็ตามที่มีสติรู้ทันจิตใจของตัวเองได้ดีกว่าคนอื่น คนนั้นจะสามารถเล่นหุ้นได้ดีกว่าคนอื่น ทั้งที่ไม่ได้มีความรู้อะไรมากมายเลย

Recency Bias เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้นักลงทุนมักขายหุ้นในเวลาที่ไม่ควรขายที่สุด และไม่ยอมซื้อหุ้นในเวลาที่ควรซื้อหุ้นมากที่สุดด้วย

0253: Management Watchdog

บังเอิญกรุงเทพธุรกิจ Bizweek หน้า 7 ของวันนี้ สรุปเป้ารายได้ปี 2553 ของบมจ.ต่างๆ เอาไว้ให้อ่านกันพอดี เลยต้องขอบันทึกไว้หน่อย

  เป้ารายได้ หมายเหตุ
CPF + 5-7% กำไรสุทธิเยอะกว่าปีก่อน เงินปันผล 1H สูงกว่าเดิม
CK +10% ไม่ขาดทุน
PS   พรีเซล 3 หมื่นล้าน
SPALI 1 หมื่นล้าน พรีเซล 1.4 หมื่นล้าน
CPN Double digit growth  
THAI + 20.7%  
SAT + 25% Gross 20-25%
JAS > 1 หมื่นล้าน  
PRIN   พรีเซล 5.5 พันล้าน
CMO + 20%  
MCOT + 5%  
NWR + 10%  
TNDT + 20%  
LANNA เท่าเดิม ขอรับรองว่าปี 54 ก้าวกระโดด
ETG +40% Net Margin 3-4%
LIVE 500 ล้าน  
ROBINS 3-4%  
PLE เท่าเดิม  
SNC 4800-5000 ล้าน  
AGE +20%  
DRT +10%  
MFEC +15-20%  
BAFS + 3% Net Margin 28%
UMS > 20% Gross 25-30%
AH เท่าปี 2551  

 

ไว้ปลายปีนี้ เรามาดูกันว่า ผู้บริหารคนไหน นิสัยเป็นยังไงกันบ้าง

เป้าอนาคตไม่จำเป็นต้องทำได้เสมอไปก็ได้ เพราะธุรกิจย่อมมีความไม่แน่นอนเป็นธรรมดา แต่ผู้บริหารบางคนที่สัญญาอะไรไว้ แล้วไม่เคยทำได้เลยสักปี พอปีหน้าก็เอาฝันใหม่มาขายให้นักลงทุนเคลิ้มอีก แบบนี้ใช้ไม่ได้ ฉะนั้นควรอัดเทปไว้ จะได้ระวังตัวได้ถูกคน