0349: Guru Watchdog (Result)

สืบเนื่องจาก 0252: Guru Watchdog

Jim Rogers (Source 1 2 3 )

– ช่วงนี้ผมสะสมดอลลาร์เพิ่มขึ้น เพราะเห็นว่าทุกคนมองดอลลาร์ร้ายกันหมด แต่ก็ยังเป็นจำนวนที่น้อยกว่าเงินสกุลอื่นๆ ที่ผมถืออยู่ เพราะยังไงๆ ดอลลาร์ก็จะแย่ลงเรื่อยๆ ในระยะยาว ผมแค่อยากจะลองทำกำไรระยะสั้นเท่านั้น แต่ผมไม่ใช่คนเล่นสั้นที่เก่งเลย

[อันนี้ถือว่าถูก เพราะ USD Index ต้นปี 78 ขึ้นไปสูงสุด 88 ตอนนี้ 80ได้กำไรน้อยมาก แต่ก็ยังถือว่าไม่ทำให้ขาดทุน]

– ตอนนี้ ผมยังไม่ซื้อทองคำเพิ่ม เพราะผมถือทองคำอยู่แล้ว แต่จะไม่ขายมันด้วย ถ้าหากทองคำลงไปแตะต่ำกว่าพันเหรียญ ผมก็จะซื้อเพิ่มอีก เพราะภายในปี 2019 ทองคำจะต้องยืนเหนือระดับ $2, 000 ได้อย่างแน่นอน และนั่นไม่ใช่สมมติฐานที่มากเกินไปเลย

[อันนี้ไม่รู้เพราะผ่านไปแค่ปีเดียว]

– ปีหน้าเราอาจจะเห็นรัฐบาลของบางประเทศประสบปัญหาทางการเงินเพิ่มอีก อาจจะเป็น อาร์เจนติน่า ยูเครน หรือแม้แต่ UK ก็เป็นไปได้ ในช่วงสองสามปีนี้จะต้องมีวิกฤตการเงินอีกอย่างแน่นอน นอกเหนือจากทองคำแล้ว silver และเงินสกุลเอเชียบางประเทศก็น่าสนใจด้วย

[เรื่องรัฐบาลมีปัญหาถือว่าถูก แต่ผิดประเทศ เชียร์ silver และเงินเอเชีย ถูกต้อง อันนี้ยอดเยี่ยม]

– สินค้าเกษตรน่าสนใจมาก เพราะว่าราคาของมันตกต่ำมาเป็นทศวรรษแล้ว ผมว่ามันเป็นสินทรัพย์ที่ราคาถูกที่สุดในตอนนี้ เรากำลังจะมีวิกฤตอาหาร ตอนนี้ข้าวสร้าง all time high ได้แล้ว แต่น้ำตาลยังห่าง all time high อยู่มาก

[อันนี้ไม่รู้ว่าจะถือว่าถูกหรือผิดดี เพราะน้ำตาลระหว่างวิ่งร่วงลงแบบดิ่งนรก แต่ปลายปีกลับขึ้นมาสูงกว่าต้นปีแต่น้อยมาก]

– ช่วงนี้เป็นช่วงที่แปลกมาก เพราะผมไม่ได้ short อะไรเลย ผมหาไม่เจอว่ามีอะไรที่ราคาแพงมากๆ แต่ถ้าจะให้ short ผมคงเลือก US Government Bond

[อันนี้ก็ไม่รู้ว่าจะถือว่าถูกหรือผิดดี เพราะระหว่างปีตลาดบอนด์วิ่งแรง แต่ปลายปีกลับมาอยู่เกือบเท่ากับตอนต้นปีดีขึ้นน้อยมาก น่าจะถือว่าผิดนะ]

Marc Faber (Source)

Overall, 2010 will not be one for the record books, as 2009 was. He’s looking at a more normal 5%-10% rate of return for global investors. [ถือว่าเกือบถูก MSCI World Index +3.6% ปีนี้้]

Here are Faber’s views on other markets and asset classes:

Asia: “Longer term we’ll have still favorable growth, ” he says. He thinks India and Japan both offer opportunities. In his eyes, this view gained even more credibility after they were not mentioned once during the Barron’s round-table discussion.

[อันนี้ยังตอบไม่ได้ เพราะระยะยาว]

Bonds: The bull market in Treasuries that lasted from 1980-2008 is a thing of the past. Near term: after a dismal 2009 the bond market could be in for a rebound. Longer term: look for exit opportunities in Treasuries.

[ไม่รู้ เพราะระยะยาว]

Gold: Still a long-term buy.

[คำแนะนำที่ดี]

Oil: Prices in the $80s make sense since the marginal cost to find a barrel is about $70. Longer term he expects prices to continue rising as demand increases from the developing world.

[คำแนะนำที่ดี]

Agricultural commodities: In the short term, Faber’s favorite commodity is wheat. He advises against buying the wheat ETFs because they’re relatively expensive. Instead, play it through farm land or potash companies, he says. [คำแนะนำนี้ไม่มีประโยชน์อะไร WEAT แทบไม่เปลี่ยนแปลงตลอดปี]

โทมัส ตัน (ที่มา)

1. ทองคำ จะแตะระดับ 1500 เหรียญต่อออนซ์ในปี 2010 [ผิด] หรือหมายถึงขึ้นไปอีก 50% จากระดับปัจจุบัน ส่วนโลหะเงินก็จะตามกันไป แตะระดับ 25 เหรียญต่อออนซ์ [ถูก ตอนนี้ 29 อันนี้เยี่ยม] ส่วนดัชนีหุ้นเหมืองทองคำ HUI จะขึ้นผ่าน 600 เหรียญ [ผิด ตอนนี้ 559] ด้วย

2. ดัชนี USD index จะเหลือ 60 จุด [ผิด ตอนนี้ 80 ไม่เคยลงไปถึง 60 เลยด้วย]

3. ตลาดหมีใน S&P ที่รีบาวน์อยู่ในตอนนี้ จะขึ้นต่อได้อีกราว 7 เดือน จากเดือนมกราคมถึงกรกฎาคม [ผิด 7 เดือนแรกลงมากกว่า] แล้วหลังจากนั้น ตลาดจะต้องเผชิญกับหน้าผาสูงชันที่จะมาเขย่าขวัญอีกเป็นครั้งที่ 2 ซึ่งจะเกิดขึ้นตั้งแต่เดือนสิงหาคมไปจนถึงสิ้นปี [ผิด ปลายปีเป็นขาขึ้นชัดเจน]

4. หุ้น Citigroup จะลดลงเหลือต่ำกว่า 2 เหรียญอีกครั้ง [ผิด ตอนนี้ 4.6] (ปัจจุบัน 3.30 อดีตก่อนเกิดวิกฤติอยู่ที่เกิน 50)

5. ผลตอบแทนพันธบัตร 10 ปีของสหรัฐ จะเพิ่มขึ้น 2 เท่าจาก 1.5% ในปัจจุบันเป็น 3% ซึ่งนี่จะเป็นสิ่งที่สร้างความประหลาดใจครั้งใหญ่ [ถูก ตอนนี้ 3 กว่า]

6. การรีบาวน์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันของดัชนี S&P/Case-Schiller จะเกิดแค่ช่วงสั้นๆ ดัชนี Schiller จะร่วงลงมากกว่า 15% ในปี 2010 ต่ำกว่า 120 [ผิด ตลอดปีไม่มีแตะ 120 เลย ห่างไกลมาก]

7. หลังจากซื้อเวลาได้อีกครึ่งปี หุ้นอุตสาหกรรมส่วนบุคคล (PE) จะเผชิญแรงกดดันในปี 2010 โดยเฉพาะในครึ่งปีหลัง

8. จีนจะยังคงอัตราการเติบโตราว 9% ในปี 2010 [ถือว่าถูก]

9. เงินเฟ้อจะแตะระดับ 10% วัดจากฐาน CPI [ผิด]

10. น้ำมันจะแตะระดับ 3 หลัก (100 เหรียญ) อีกครั้งในปี 2010 [ผิด] ราคาปัจจุบันราว 70 เหรียญ

หมอไพศาล

สำหรับภาวะเศรษฐกิจ การเมือง และตลาดหุ้นในปี 2553 หมอไพศาล พยากรณ์ให้ฟังว่า ในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2553 “ตลาดหุ้นจะไม่ดีอย่างแรง” โอกาสปรับตัวลงมาอยู่ระดับ 400 จุดอาจมีให้เห็นได้ [ผิด] ช่วงนี้เหมาะสมมากที่นักลงทุนจะหาจังหวะช้อนหุ้นที่ชื่นชอบเก็บเอาไว้โดย เฉพาะกลุ่มพลังงาน ถ่านหิน และวัสดุก่อสร้าง เป็นต้น เนื่องจากพระราหูย้ายเข้ามาอยู่ในราศีธนู ซึ่งบ่งบอกว่าธุรกิจประเภทดังกล่าวจะรุ่งเรืองมาก

หลังจากนั้นตั้งแต่ในเดือนมีนาคม-มิถุนายน 2553 ตลาดหุ้นจะมีอาการ “ทรงตัว” [ผิด เจอวิกฤตช่วงเมษา] ก่อนจะทะยานขึ้นไปสู่ “จุดสูงสุด” ในระหว่างเดือนกันยายน – ธันวาคม 2553 [ถูก] ซึ่งมีโอกาสจะทะลุ 700 จุดหรือ 800 จุดได้ ในแง่ของเศรษฐกิจในปี 2553 ก็จะดีขึ้นเรื่อยๆ ส่วนราคาทองคำมีโอกาสทะลุ 20, 000 บาท ใครมีเงินซื้อทองคำ (แท่ง) เก็บเอาไว้ได้กำไรแน่นอน [ถือว่าถูก]


0352: ลงทุนในตลาดฟองสบู่

เวลานี้ได้ยินคำถามบ่อยว่า ตลาดหุ้นฟองสบู่หรือยัง ควรขายทิ้งหรือไม่

เรื่องนี้ก็แล้วใครจะมอง แต่โดยส่วนตัว ผมมองว่าตลาดหุ้นตอนนี้มีโอกาสที่จะเป็นฟองสบู่แล้วสูงมาก

เพราะอัตราดอกเบี้ยถูกเซ็ตให้ต่ำผิดปกติมาเป็นเวลานานพอสมควรแล้ว ต่อให้เวลานี้ยังไม่ใช่ฟองสบู่ แต่ถ้าดอกเบี้ยยังเป็นแบบนี้ต่อไป ตลาดหุ้นก็จะเข้าสู่ภาวะฟองสบู่ในที่สุด เพราะต้นทุนของเงินถูกบิดเบือนให้ต่ำกว่าความเป็นจริงไปมาก

หุ้นสองตัวที่มีกระแสเงินสดที่คาดการณ์ในอนาคตเหมือนกันทุกประการ ถ้าดอกเบี้ยในตลาดต่ำกว่าครึ่งหนึ่ง มูลค่าที่เหมาะสมของมันจะเพิ่มขึ้นได้มากกว่าเท่าตัว ทั้งที่ตัวธุรกิจเหมือนเดิมทุกอย่าง พรีเมี่ยมที่เกิดขึ้นนี้มาจากการที่ต้นทุนเงินในตลาดต่ำลงอย่างเดียว ไม่เกีี่ยวอะไรกับบริษัทเลย

บอกคนบอกว่าถ้าตลาดหุ้นเป็นฟองสบู่แล้วก็ควรล้างพอร์ตทิ้งเลย แ ต่การที่ตลาดเป็นฟองสบู่นั้นก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะต้องแตกเสมอไป มันอาจแตกวันพรุ่งนี้เลย หรือมันอาจขึ้นไปอีกสามเท่าตัวแล้วค่อยแตกในอีกแปดปีต่อมาก็เป็นไปได้ ฟองสบู่ปี 40 หรือฟองสบู่แนสเด็กนั้นกว่าจะแตกก็ต้องใช้เวลา 6-7 ปี  นั่นคือความยากของการทำนายว่าเมื่อไรฟองสบู่จะแตก หรือใครจะรู้ว่าอัตราดอกเบี้ยที่เราว่าต่ำเกินไปนั้น อาจกำลังกลายมาเป็นระดับที่ปกติของโลกในยุคต่อไปก็ได้ ถ้าคิดว่าหุ้นแพงเมื่อไรก็ขายหุ้น แล้วหุ้นมันดันไม่ถูกลงอีกเลยนานนับสิบปี ทำให้เราเสียเวลาในการลงทุนไปเป็นสิบปี ก็ถือว่าเป็นความสูญเสียอีกรูปแบบหนึ่งเหมือนกัน

ในเมื่อเราไม่ได้เก่งขนาดที่จะทายได้ว่าฟองสบู่จะแตกเมื่อไร (ผมว่าเป็นเรื่องที่ทายได้ยากมาก) หรือรู้ล่วงหน้าว่าแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยในช่วงสิบปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ผมจึงไม่เห็นด้วยที่จะล้างพอร์ตในเวลานี้ต่อให้คิดว่าตลาดหุ้นเป็นฟองสบู่แล้วก็ตามครับ

มีคนอีกด้านหนึ่งเหมือนกันที่คิดไปถึงขนาดที่ว่าดอลล่าร์จะล่มสลาย แล้วทองคำ น้ำมัน รวมทั้งเงินเอเชียจะพุ่งทะยานยิ่งกว่านี้อีก และเอเชียจะก้าวขึ้นมายิ่งใหญ่ เพราะฉะนั้นต้องลงทุนให้เต็มอัตราศึก แต่ผมก็ไม่ได้มั่นใจถึงขนาดนั้นด้วยเช่นกัน ผมว่าปรากฏการณ์ความไม่สมดุลของโลกในเวลานี้เป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ตัวแปรที่เกี่ยวข้องก็เยอะมาก ไม่มีใครที่รู้จริงขนาดที่จะฟันธงได้ว่าจะต้องเกิดอย่างนั้นอย่างนี้ในที่สุด

ในภาวะแบบนี้ผมเลือกที่จะยังอยู่ในตลาดหุ้นต่อไป เพราะไม่อยากเสียโอกาสในการลงทุน แต่ในเวลาเดียวกันก็ตระหนักว่าหุ้นก็ไม่ได้ถูกแล้วและโอกาสที่ฟองสบู่จะแตกก็มีได้ด้วย จึงจำเป็นต้องมีวิธีคิดบางอย่างที่ช่วยป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายที่รุนแรงได้ด้วย

อย่างแรกก็คือ ผมมองว่าเงินของเราที่อยู่ในตลาดหุ้นอยู่แล้วเวลานี้ เรากำไรมาแล้วพอสมควร ตลาดหุ้นในช่วงสองปีที่ผ่านมาขึ้นมาไม่ใช่น่้อยๆ ดังนั้น ถ้าหากเงินจำนวนนี้จะอยู่ในตลาดต่อไป ไม่ว่าจะเป็นการถือตัวเดิม หรือเปลี่ยนตัวก็ตาม แล้วฟองสบู่แตกจริงๆ เราก็ไม่ได้เสียหายมากนัก เพราะเงินจำนวนนี้เป็นส่วนของกำไรอยู่ไม่ใช่น้อย แต่ถ้าหากเราขายหุ้นส่วนนี้ออกมาถือเป็นเงินสดแทน แล้วตลาดหุ้นเกิดทะยานต่ออย่างมากมายแบบที่มีบางคนเขาทายไว้อย่างนั้นได้จริง เราก็จะพลาดกำไรไปไม่น้อยเลย ฉะนั้นเงินส่วนนี้จึงมี upside สูง แต่ downside ต่ำ ถือเป็นโอกาสของเราที่จะ bet ต่อ จะถือตัวเดิมต่อ หรือมองหาตัวใหม่ก็ได้ไม่ต่างกัน หมุนไปหมุนมาอยู่ในหุ้นเหมือนเดิม

แต่ถ้าหากเป็นเงินก้อนใหม่ที่จะใส่เพิ่มเข้าไปอีกเพื่อเพิ่ม exposure ของเราในตลาดหุ้น อันนี้ผมจะคิดหนักหน่อย ถ้าไม่แน่ใจจริงๆ ว่าราคาที่เข้าซื้อไม่แพง ก็ถือว่าเสี่ยง คนที่เจ๊งในตลาดฟองสบู่ส่วนมากจะเจ๊งกันก็เพราะแบบนี้ เช่น ตอนแรกลงทุนไปแสนบาท ตลาดหุ้นพุ่งขึ้นไปเท่าตัวกลายเป็นสองแสนบาทดีใจใหญ่ คิดว่าตลาดหุ้นให้ผลตอบแทนที่ดีเหลือเกิน ก็เลยเอาเงินใส่เข้าไปเพิ่มอีก ห้าแสน กลายเป็นต้นทุนสี่แสน พอตลาดขึ้นต่ออีก 50% ดีใจใหญ่เลยหาเงินใหม่มาใส่เพิ่มอีกหนึ่งล้าน กลายเป็นว่ายิ่งต้นทุนสูงเรายิ่งมีน้ำหนักหุ้นมาก ซึ่งที่ถูกต้องควรจะเป็นตรงกันข้าม แบบนี้พอฟองสบู่แตกจะเสียหายหนักมาก แบบที่ร้ายที่สุดคือ ตอนฟองสบู่แตกแล้วคิดว่าหุ้นถูกลง (แต่ลืมไปว่าราคาเดิมคือราคาที่แพงมาก) ก็เลยทุ่มเงินใหม่ใส่เข้าไปอีกหลายเท่าตัว แทนที่จะเสียหายแค่นิดเดียวเลยกลายเป็นแทบหมดตัว เรื่องการคิดถึงน้ำหนักของแต่ละต้นทุนที่มีอยู่นี้เป็นสิ่งที่นักลงทุนหลายคนไม่เคยมองในมุมนี้มาก่อนเลย ทำให้พลาดเอาง่ายๆ ได้

อย่างไรก็ตาม บางคนอาจโชคไม่ดีตรงที่ตอนที่หุ้นถูกๆ ไม่ได้ถือหุ้นไว้มาก แบบนี้ก็อดใจได้ยากเหมือนกัน ที่จะไม่เพิ่มน้ำหนักหุ้นเข้าไปอีก ถ้าใครอยากเติมเงินเข้าไปในตลาดหุ้นอีก จริงๆ ก็ทำได้ครับ (ถ้าเป็นนักลงทุนที่เคร่งครัดจริงๆ คงไม่ทำเด็ดขาดถ้าเห็นว่าหุ้นแพงแล้ว แต่ผมว่า การอนุรักษ์นิยมมากเกินไปบางทีก็เป็นความเสี่ยงอย่างหนึ่งเหมือนกัน คือเราก็อาจเสียโอกาสที่จะให้เงินทำงานด้วย เอาเป็นว่า คำแนะนำของผมเป็นแบบที่อยู่ตรงกลางๆ ไม่ใช่นักลงทุนแบบเคร่งครัดสุดโต่งนะครับ) แต่จะต้องเอาเทคนิคในการลดความเสี่ยงของพวกเทรดเดอร์มาใช้ นั่นคือ เราอาจตั้งกฏเอาไว้ว่า เงินก้อนนี้หาลงไปแล้ว ตลาดหุ้น crash เราจะยอมขาดทุนแค่ไม่เกิน x% เกินเมื่อไรเราจะยอมขายขาดทุนเสมอ เพื่อลดความเสี่ยงที่จะขาดทุนมากๆ แบบนี้ถ้าตลาดหุ้นไปต่อเราก็ไม่เสียโอกาส แต่ถ้าฟองสบู่แตกเราก็ขาดทุนแค่ระดับหนึ่งเท่านั้น อย่างไรก็ตาม วิธีนี้ต้องอาศัยวินัยการลงทุนที่เคร่งครัดด้วยนะครับ เพราะถ้าถึงเวลาจริงๆ กลับไม่กล้าขายขาดทุนออกมาตามที่ได้ตั้งใจเอาไว้ เพราะทำใจไม่ได้ ก็ไม่มีประโยชน์ ลดความเสี่ยงไม่ได้เลย

เอาเป็นว่าทั้งหมดนี้เป็นเทคนิคเล็กๆ น้อยๆ ที่จะนำไปประยุกต์ใช้กันได้กับการลงทุนในตลาดหุ้นที่ช่วงเวลาที่เราคิดว่ามันอาจเป็นฟองสบู่

มีนักลงทุนบางท่านอยากให้ผมสรุปให้ฟังว่าเราจะสังเกตวิกฤตได้อย่างไรบ้าง จะได้คาดการณ์วิกฤตล่วงหน้าได้ทัน แต่ผมอยากบอกว่านั่นไม่ใช่วิธีลงทุนที่ดีนัก เพราะการทายว่าจะมีวิกฤตไม่ใช่เรื่องกล้วยๆ วิธีการที่น่าจะดีกว่าสำหรับนักลงทุนส่วนใหญ่คือการคิดว่า ถ้าออกหัวควรจะทำอย่างไร ถ้าออกกล้วยควรจะทำอย่างไร เรามีแผนการรับมือทุกสถานการณ์ไว้แล้วย่อมทำให้ตัวเองหลีกพ้นจากหายนะได้ ดีกว่าพยายามทายให้ได้ว่าจะอนาคตจะเป็นไง แล้วพอมันไม่ได้เป็นแบบนั้นปุ๊บก็ไปไม่ถูกเลย

0315: Notes on Valuation

  การที่คุณมีเกณฑ์ในการคัดหุ้นเหมือนอย่างเช่นในบทความที่แล้ว จะทำให้คุณมีรายชื่อหุ้นจำนวหนึ่งที่เหมาะแก่การลงทุนในระยะยาว งานต่อไปของนักลงทุนระยะยาวก็คือ แล้วเราควรจะซื้อหุ้นเหล่านั้นเมื่อไร?

บางคนบอกว่า สำหรับการลงทุนระยะยาวแล้ว จะซื้อเมื่อไรเลยก็ได้ แต่ในความคิดส่วนตัวของผม ผมยังมองว่าการซื้อหุ้นตูมเดียวด้วยเงินออมส่วนใหญ่ของเรา โดยไม่ต้องสนใจว่าราคาหุ้นในเวลาที่ซื้อนั้น เหมาะสมหรือไม่ ไม่ใช่แนวคิดที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับตลาดหุ้นสมัยนี้ที่นโยบายการเงินของธนาคารกลางเป็นแบบผ่อนคลายแทบตลอดเวลา ถ้าคุณบังเอิญเข้าซื้อหุ้นไทยตอน 1700+ จุด แล้วสามารถถือยาวมาได้ถึงเดียวนี้ สิบกว่าปี คุณก็ยังขาดทุนอยู่ดี ยังไงๆ ผมก็คิดว่า ราคาที่เข้าซื้อ ยังคงเป็นสิ่งสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นหุ้นดีแค่ไหน หรือถือยาวขนาดไหนก็ตาม 

แต่หากคุณขี้เกียจรอซื้อที่ราคาเหมาะสมจริงๆ หรือคิดว่าการหาราคาที่เหมาะสมเป็นเรื่องที่ยุ่งยากเกินไป ผมแนะนำให้คุณใช้วิธีทยอยซื้อทีละนิดไปเรื่อยๆ เป็นช่วงระยะเวลายาวๆ จะดีกว่าการเข้าซื้อทีเดียวด้วยเงินก้อนใหญ่ๆ เพราะการแบ่งช่วงเวลาที่ซื้อออกไปนานๆ จะช่วยให้คุณได้ต้นทุนเฉลี่ยที่ไม่แพงเกินไปโดยอัตโนมัติ น่าจะเป็นกลยุทธ์ที่ปลอดภัยกว่า (ถ้าสนใจวิธีนี้จริงๆ ลองดูตัวอย่างหนึ่งใน https://dekisugi.net/7thltg ก็ได้ครับ)

แต่ถ้าคุณสามารถลงทุนโดยมีการประเมินราคาที่เหมาะสมก่อนเข้าซื้อร่วมด้วยจะทำให้คุณมีโอกาสได้ผลตอบแทนที่สูงขึ้น การซื้อเฉลี่ยนั้นแม้จะปลอดภัยก็จริงแต่ต้นทุนเฉลี่ยที่ได้ก็มักจะไม่ถูกไม่แพง แต่เป็นกลางๆ ทำให้ผลตอบแทนอยู่ในระดับกลางๆ ไปด้วย ไม่ถึงขั้นดีมาก ต่างกับคนที่มีการระมัดระวังเรื่องต้นทุนที่เข้าซื้อลงทุนร่วมด้วย ถ้าเขาสามารถทำได้ดี จะช่วยเพิ่มผลตอบแทนได้อีกมาก

วิธีประเมินมูลค่าหุ้น ที่ง่ายที่สุดน่าจะเป็น P/E ซึ่งใช้ได้ดีเป็นพิเศษกับกิจการที่มีกำไรที่ค่อนข้างสม่ำเสมอ (easy to predict) ทุกปี อย่างไรก็ตาม ควรตรวจสอบด้วยว่า บริษัทมีกำไรพิเศษในปีนั้นทำให้ P/E ดูต่ำผิดปกติหรือไม่ เช่น มีการขายสินทรัพย์ครั้งใหญ่ในปีนั้นทำให้เกิดกำไรพิเศษ และการขายสินทรัพย์นั้น ไม่ได้เกิดขึ้นทุกปี อย่างนี้เราต้องตัดกำไรพิเศษเหล่านั้นออกไปก่อน เพื่อมิให้เกิดภาพที่บิดเบือนได้ เป็นต้น

หากเป็นหุ้นที่อยู่ในโผของเราอยู่แล้ว (พื้นฐานดีเหมาะกับการลงทุนระยะยาว) พีอีที่เหมาะสมจะขึ้นอยู่กับ อัตราการเติบโตในอนาคตที่เราเชื่อว่าเป็นไปได้เป็นสำคัญ เช่น ถ้าเราคิดว่า บริษัทนั้นน่าจะโตได้อย่างน้อยปีละเท่าๆ กับเงินเฟ้อ พีอีที่เหมาะสมก็น่าจะอยู่ที่ 10 เท่า (อันนี้เป็นมาตรฐานของผมเอง) แต่ถ้าบริษัทน่าจะเติบโตได้เกิน 10-15% ต่อปีอาจให้พีอีเหมาะสมมากขึ้น เช่น 12 เท่า ถ้าโตได้ถึง 20% ต่อปี ก็อาจให้พีอี 15-18 เท่าก็ได้ แต่ที่สำคัญ การเติบโตที่ว่านั้นต้องเป็นอัตราการเติบโตที่บริษัทน่าจะทำได้ต่อเนื่องกันหลายปี เช่น 3-5 ปีข้างหน้า ไม่ใช่เห็นว่าปีหน้าบริษัทมีโครงการใหญ่ทำให้กำไรก้าวกระโดด 50% ในปีเดียว ก็จะคิดว่าบริษัทนั้นโตได้ 50% ต่อเนื่องทุกปี ปกติแล้วการเติบโตในระดับ 10-20% ต่อปีนั้นอาจทำให้ต่อเนื่องในระยะยาวได้ไม่ยากนัก แต่ถ้า 50% ต่อปีนั้นมักเป็นไปได้ยากมากๆ ในกรณีเช่นนี้ เราต้องปรับความคาดหวังลงมาสักหน่อย เช่น อาจจะลดลงมาเหลือ 20% จะปลอดภัยกว่า (คิดว่าปีหน้า 50% หลังจากนั้น 10% ทำให้เฉลี่ยๆ แล้วเหลือ 20% ต่อปีในช่วง 3-5 ปีข้างหน้า) ส่วนถ้าเป็นหุ้นนอกโผ ผมคงไม่ลงทุนระยะยาวอยู่แล้ว แต่ถ้าจะให้พีอีที่เหมาะสม ผมก็คงให้แค่ 7 เท่าเสมอ ไม่ว่าจะโตได้มากแค่ไหน เพราะถือว่าพื้นฐานสอบไม่ผ่านที่จะลงทุนระยะยาวได้ ส่วนการให้พีอีหุ้นตัวทุกในโผเท่ากันหมดโดยไม่คำนึงถึง Growth Potential ที่แตกต่างกันเลยนั้น เป็นวิธีการที่ผมไม่ชอบ เพราะผมมองว่าเป็นการไม่ยุติธรรมกับธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตสูงกว่า

การใช้ P/E ในภาวะผิดปกติต้องระวัง เช่น ในช่วงเศรษฐกิจซบเซา หรือบริษัทกำลังเผชิญปัญหาใหญ่ เพราะพีอีมักให้ภาพที่บิดเบือน ตัวอย่างเช่น บริษัท ABC ในยามปกติมี Net Margin 3% พีอี 10 เท่า แต่เมื่อเกิดเศรษฐกิจซบเซาทำให้ Net Margin ลดลงชั่วคราวเหลือ 1% (แต่รายได้คงที่) สมมติว่าตลาดกดราคาหุ้นลง 30% พีอีใหม่จะกลายเป็น 21 เท่า ซึ่งทำให้เรารู้สึกว่าแพงอย่างมาก แต่ที่จริงแล้ว ส่วนลด 30% เป็นโอกาสทองของนักลงทุนระยะยาวที่จะซื้อ เพราะยอมทนรอหน่อย เมื่อทุกอย่างกลับมา มาร์จิ้นกลับมาที่ 3% ก็เท่ากับเราซื้อได้ที่พีอีแค่ 7 เท่าเท่านั้น ยิ่งถ้ารายได้กลับมาสูงกว่าเดิมด้วย (ซึ่งมักจะเป็นเช่นนั้น) ต้นทุนเราอาจเท่ากับพีอีแค่ 5-6 เท่าเท่านั้น แต่ถ้าเราคิดง่ายๆ แค่พีอี 21 เท่าแปลว่าแพงเสมอ ไม่รู้จักการพลิกแพลง เราก็พลาดโอกาสได้

P/E ไม่ใช่ตัวชี้วัดมูลค่าที่ดีสำหรับธุรกิจที่มีกำไรไม่แน่นอน เพราะถ้าปีนี้ P/E ต่ำ ไม่ได้แปลว่า ปีหน้า P/E จะต่ำ เพราะปีหน้ากำไรอาจร่วงลงอย่างแรงทำให้ P/E สูงขึ้นอย่างผิดหูผิดตาก็ได้ ถ้าผมจะตีมูลค่าหุ้นพวกนี้ ผมมักหาวิธีการอย่างอื่นแทน ตัวอย่างเช่น หุ้นโรงกลั่นในภาวะที่ค่าการกลั่นตกต่ำ บริษัทอาจขาดทุนทำให้พีอีติดลบ ผมจะหันไปใช้วิธีหาตัวเลขว่า ทุกวันนี้โรงกลั่นน้ำมันสร้างใหม่ต้องใช้เงินลงทุนเท่าไรต่อกำลังการผลิต 1 ล้านบาร์เรล แล้วตีราคาบริษัทตามกำลังการผลิต (Replacement Cost Method) แทน (อย่าลืมดูด้วยว่าโรงกลั่นของบริษัทมีสัดส่วน output ชนิดต่างๆ ใกล้เคียงกับ benchmark มากแค่ไหน) เช่นนี้เป็นต้น จะเห็นได้ว่า ที่จริงแล้ว การตีราคาหุ้นนั้นไม่มีสูตรสำเร็จ แต่ต้องเลือกเครื่องมือให้ได้เหมาะสมกับสถานการณ์มากกว่า เราต้องการอะไรสักอย่างที่ทำให้เรามั่นใจว่า ราคาเท่าไรถึงจะไม่แพง ถ้าเป็นธุรกิจที่มีความแน่นอนต่ำมาก หาวิธีที่ทำให้เรามั่นใจมูลค่าไม่ได้ อย่าลงทุนระยะยาวดีที่สุด ถ้าจะซื้อก็เล่นสั้น ๆก็พอ

สำหรับ P/B นั้น โดยส่วนตัว ผมแทบไม่ได้ใช้เลย ผมมองว่ามูลค่าทางบัญชีของสินทรัพย์ทุกวันนี้ สะท้อนมูลค่าของธุรกิจได้น้อยมากๆ

ส่วน P/S นั้น ใช้ประโยชน์ได้เหมือนกัน เพราะใช้แทน พีอี ในช่วงที่บริษัทขาดทุนได้ ผมมักจะดูว่า P/S ของบริษัทสูงหรือต่ำเมื่อเทียบกับ P/S ในอดีต ประกอบการตัดสินใจด้วย เป็นต้น

ส่วนการศึกษา DCF นั้นช่วยทำให้เราเข้าใจได้ลึกขึ้นว่า มูลค่าของธุรกิจขึ้นอยู่กับอะไรบ้าง (เช่น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับกำไรปีนี้หรือปีหน้าปีเดียว แต่ปีต่อๆ ไปอีก อีกทั้งยังขึ้นอยู่กับอัตราดอกเบี้ย อัตราการเติบโต และ investment ratio ของธุรกิจนั้นๆ อีกด้วย เป็นต้น) แต่ในสถานการณ์จริง โอกาสที่จะได้ใช้ DCF จะมีไม่มากนัก เพราะคุณต้องมีข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทนั้นๆ แบบค่อนข้างละเอียดและครบถ้วนมากทีเดียวจึงจะทำ DCF ได้ แต่ส่วนใหญ่แล้วเรามักไม่สามารถหาข้อมูลได้ครบถ้วนถึงขนาดนั้น

ธุรกิจกับความไม่แน่นอนเป็นของคู่กัน ดังนั้นหุ้นจึงเป็นหลักทรัพย์ที่หามูลค่าที่แน่นอนไม่ได้อยู่แล้วโดยธรรมชาติ มีแค่ “ช่วง” ที่เป็นไปได้หรือเหมาะสมเท่านั้น ฉะนั้น การวัดมูลค่าหุ้นจึงเป็นศิลปะมากกว่าวิทยาศาสตร์ ผมใช้หลักถ้าไม่แน่ใจก็ไม่เอาไว้ก่อน เช่น หุ้นตัวหนึ่งดีมาก เราเชื่อว่าโตได้ 50% ต่อปี แต่ถ้าราคาหุ้นแพงมากๆ แบบนี้เราก็อาจจะไม่เอาไว้ก่อน เพราะต้องเสี่ยงซื้อของแพง สู้เอาเงินไปซื้อหุ้นที่โตได้แค่ 10% ต่อปี แต่ราคาหุ้นต่ำมากจนดูเป็นการลงทุนที่ปลอดภัยน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า แบบนี้เป็นต้น ใช้การวัดมูลค่าเป็นสิ่งที่ช่วยเพิ่มความปลอดภัยในกับการลงทุนของเราก็พอ ไม่ใช่กฏเหล็กตายตัว (เพราะเราไม่ได้ซื้อหุ้นตัวเดียวด้วยเงินทั้งหมดอยู่แล้ว เรามีการกระจายความเสี่ยงช่วยด้วย)

สำหรับพอร์ตลงทุนระยะยาว ผมไม่คิดว่าจะต้องซื้อหุ้นให้ได้ถูกมากๆ เพราะเน้นหุ้นดีอยู่แล้ว ต่อราคามากๆ อาจไม่มีวันได้ซื้อ แต่ผมจะหลีกเลี่ยงการซื้อแพงๆ ถ้าหุ้นดีมากๆ แต่ต้องซื้อในราคาที่ไม่แน่ใจว่าแพงไปหรือไม่ ผมมักจะขอเลือกหุ้นที่ดีน้อยลงมาสักหน่อย แต่ซื้อได้ในราคาที่ทำให้เกิดความสบายใจได้เป็นหลักครับ

0314: Evaluating a Business

เวลาพูดว่า บริษัทหนึ่งมี “ปัจจัยพื้นฐาน” ดีหรือไม่ดีนั้น เราดูจากอะไร? 

ก่อนอื่นต้องขอเน้นว่า คนที่คิดจะลงทุนโดยวิธีดูปัจจัยพื้นฐานนั้น จะต้องเป็นคนที่มี ระยะหวังผลตอบแทนที่ยาวๆ (เป็นปีๆ) เท่านั้น เหตุเพราะ ปัจจัยพื้นฐานของบริษัทมักเป็นคุณสมบัติที่ติดตัวบริษัทอยู่เป็นเวลานาน ไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงง่าย ดังนั้น มันจึงแทบไม่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของราคาหุ้นในระยะสั้นเลย (หรือแม้แต่ผลกำไรในระยะสั้นก็ตาม) ถ้าเราวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานของหุ้นตัวหนึ่งว่าดีแล้วเข้าซื้อจากนั้นราคาหุ้นก็ปรับตัวขึ้นได้เลย ส่วนใหญ่แล้วมาจากความบังเอิญแท้ๆ เพราะปัจจัยพื้นฐานที่ดีมักเป็นเรื่องที่เป็นมาก่อนหน้าที่เราจะพิจารณาแล้ว บริษัทไม่รู้หรอกว่า เราเข้ามาซื้อตอนไหน มันจึงไม่จำเป็นต้องขึ้น หลังจากที่เราซื้อเลย

ถ้าใครมีระยะหวังผลสั้น (เช่น <1ปี) ควรใช้วิธีการอย่างอื่น เช่น การเก็งข่าวบริษัท หรือการวิเคราะห์ทางเทคนิค จะได้ผลมากกว่า

การลงทุนที่มีระยะหวังผลแบบยาวนั้น เราไม่ได้มองหาหุ้นที่ “ซื้อแล้วขึ้นเลย” แต่เรามองหาหุ้นที่ ถ้าสมมติว่า เราซื้อแล้ว”ซวย” มันดันเป็นขาลงพอดี  มันจะต้องที่มีโอกาสสูงที่ ถ้าหากเราถือต่อไปอีก มันจะกลับมาสูงกว่าเดิมได้อีก หุ้นลักษณะนี้ต่างหากที่น่าสนใจลงทุนในระยะยาว   

เมื่อคิดได้อย่างนี้แล้ว เราย่อมคิดได้โดยอัตโนมัติด้วยว่า หุ้นที่เหมาะกับการลงทุนระยะยาวต้องเป็นหุ้นของกิจการที่มี โอกาสเจ๊งต่ำๆ และในเวลาเดียวกัน ก็ต้องมีโอกาสที่ กิจการจะเติบโตใหญ่ไปเรื่อยๆ ในระยะยาวๆ ด้วย เพราะกิจการลักษณะนี้ย่อมกลับมาทำกำไรสูงสุดได้อยู่เรื่อยๆ ซึ่งเป็นการเพิ่มโอกาสที่ราคาหุ้นจะกลับมาสูงขึ้นอีกได้ใหม่อยู่เรื่อยๆ คุณสมบัติเช่นนี้ช่วยทำให้ผลตอบแทนของเราไม่จำเป็นต้องพึ่งพาภาวะตลาดในระยะสั้นพวกมันจึงเป็นหุ้นที่ทำให้เราตอบคำถามตัวเองได้ว่าทำไมเราจะต้องยอมถือพวกมันไว้นานๆ แทนที่จะเอาเม็ดเงินไปทำอย่างอื่นด้วย

และปัจจัยที่จะใช้บอกว่าหุ้นมีปัจจัยพื้นฐานดีหรือไม่ ก็ควรเป็นปัจจัยที่ช่วยบ่งชี้ถึงคุณสมบัติที่กล่าวมานี้นั่นเอง ผมลองนั่งนึกดูว่า ที่ผ่านมา เวลาผมตัดสินปัจจัยพื้นฐานของหุ้น ผมมักจะดูจาก 8 ประเด็นนี้เป็นปัจจัยหลัก

1.บริษัทขายสินค้าที่ต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงบ่อยหรือไม่?

แต่ละอุตสาหกรรมมีวงชีวิตของมันอยู่ อุตสาหกรรมเหล็กมีอายุนับหลายร้อยปี และนานครั้งกว่าที่จะมีความเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญเกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมนี้ เหล็กก็คือเหล็ก มนุษย์ชาติยังต้องบริโภคเหล็กหน้าตาแบบเดิมๆ ไปอีกนาน การเปลี่ยนแปลงมักเป็นแบบทีละนิดเล็ก บริษัทปรับตัวตามได้ง่าย ไม่ใช่แบบหน้ามือเป็นหลังมือ ล้างไพ่ใหม่หมด

ในขณะที่ ธุรกิจบันเทิงต้องเผชิญการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เพราะรสนิยมและสื่อสมัยนิยมเปลี่ยนไปตลอดเวลา ในแง่นี้ ธุรกิจเหล็กย่อมเหมาะกับการลงทุนระยะยาวมากกว่าธุรกิจบันเทิง เพราะธุรกิจของบริษัทมีโอกาสที่จะล้มหายตายจากไปได้ยากกว่า ส่วนธุรกิจบันเทิงนั้น ถ้าเราลงทุนในบริษัทที่เป็นเจ้าของรายการโทรทัศน์หรือเกมยอมฮิตในเวลานั้น ย่อมมีโอกาสน้อยที่บริษัทเดิมจะกลับมาประสบความสำเร็จซ้ำอีกครั้งกับรายการใหม่หรือเกมตัวใหม่ บริษัทที่ผลิตรายการฮิตซ้ำแล้วซ้ำอีกอย่างต่อเนื่องไม่ค่อยจะมี จึงมีเหตุผลน้อยที่เราจะถือมันไว้ในระยะยาวๆ เป็นต้น  

2.ลักษณะธุรกิจของบริษัทเป็นแบบ Project-based หรือไม่?

ธุรกิจ Project-based เช่น รับเหมาทำระบบ ประมูลงานเป็นจ๊อบๆ เป็นธุรกิจที่มีความแน่นอนของรายได้ค่อนข้างต่ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าโปรเจ็คมีอายุงานสั้น การได้โปรเจ็คในแต่ละปี ไม่ได้การันตีว่า ปีหน้าจะได้เหมือนเดิม จึงหวังได้น้อยถ้าหากจะถือไว้ในระยะยาวเพื่อให้รายได้เพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ ต่างกับธุรกิจแบบน้ำซึมบ่อทราย เช่น ขายยาสีฟัน เมื่อใดที่ลูกค้าชอบยี่ห้อของบริษัทแล้ว มีโอกาสสูงที่ลูกค้าจะกลับมาซื้ออีกเป็นประจำ ทำให้รายได้ของบริษัทมีความมั่นคง

อย่างไรก็ตาม ถ้าหากรายได้ของลูกค้าแต่ละรายคิดเป็นสัดส่วนน้อยมากเมื่อเทียบกับรายได้รวม ธุรกิจ Project-based ก็ไม่ถือว่าน่ากลัว เพราะกฏของความมากช่วยทำให้รายได้รวมของบริษัทมีความแน่นอนได้ ตัวอย่างเช่น ธุรกิจพัฒนาโครงการบ้าน แต่ละโครงการอาจมีลักษณะเป็น Project แต่ถ้าหากแต่ละปีบริษัททำ 40-50 โครงการทุกปี รายได้ของบริษัทก็มีความแน่นอนในระดับหนึ่ง พึ่งระวังพวกธุรกิจ OEM ที่มีรายได้จากลูกค้ารายใหญ่ที่สุด 10 อันดับแรกคิดเป็นสัดส่วนเกินร้อยละ 50 ของรายได้รวม

3. สินค้าของบริษัทน่าจะมีความต้องการของตลาดสูงขึ้นในอนาคตเร็วกว่าการเติบโตของเศรษฐกิจโดยรวมหรือไม่?

ประเด็นนี้มักพิจารณาได้จากเทรนด์หรือไลฟ์สไตล์ของสังคมที่เปลี่ยนไป อาหารแช่แข็งน่าจะเติบโตได้ดีถ้าสังคมมีลักษณะเป็นครอบครัวเดี่ยวและต้องใช้ชีวิตแบบเร่งรีบมากขึ้น ผู้คนในอนาคตน่าจะฟังวิทยุน้อยลง ในขณะที่ใช้อินเตอร์เน็ตและโทรศัพท์มือถือกันมากขึ้น ซื้อหนังสือพิมพ์เป็นเล่มๆ น้อยลง ซื้อรถยนต์คันเล็กลง ใช้ไฟฟ้าในสัดส่วนที่มากขึ้นเมื่อเทียบกับน้ำมัน ฯลฯ

4. บริษัทกำลังทำให้รายได้เติบโตได้ด้วยวิธีการใด และอะไรคือเพดานการเติบโตของบริษัท?

การเพิ่มรายได้นั้นมีหลายวิธี เช่น เพิ่มปริมาณการบริโภคของลูกค้าต่อราย เพิ่มจำนวนราย เพิ่มรายการสินค้า เพิ่มเขตการค้า เพิ่มสายธุรกิจ ซื้อกิจการ ฯลฯ วิธีแรกๆ นั้นจะมีความเสี่ยงต่ำแต่สร้างการเติบโตได้จำกัด ในขณะที่วิธีหลังๆ จะเติบโตได้เป็นกอบเป็นกำมากกว่า แต่ความเสี่ยงก็สูงกว่าด้วย ลองพิจารณาดูว่า บริษัทกำลังเติบโตด้วยวิธีใด และยังมีวิธีอื่นที่บริษัทยังไม่ได้เริ่มใช้หรือไม่ ถ้ายังมีอีกเยอะ บริษัทก็ยังมี Upside ทางธุรกิจอีกมาก เหมาะกับการลงทุนกับบริษัทในระยะยาว 

ทุกธุรกิจจะมีบางสิ่งบางอย่างทำให้เกิด “เพดาน” การเติบโตของรายได้เสมอ ทั้งในระยะสั้นและในระยะยาว การมองให้ออกว่าเพดานรายได้ของธุรกิจนั้นคืออะไรจะช่วยทำให้เราประเมินขนาดของ Upside ของธุรกิจนั้นได้ดีขึ้น

ตัวอย่างเช่น เพดานของธุรกิจโรงแรมในระยะสั้นคือจำนวนห้องพักทั้งหมด ธุรกิจโรงแรมไม่สามารถโตไปได้อีกเมื่อไรก็ตามที่ห้องพักเต็มแล้ว อย่างมากก็คือการขึ้นค่าห้องพักซึ่งทำได้ค่อนข้างจำกัด ธุรกิจโรงแรมจึงเป็นธุรกิจที่มีเพดานการเติบโตในระยะสั้นที่จำกัดมาก ในระยะยาว ถ้าทำเลของโรงแรมดีขึ้นมาก โรงแรมอาจก่อสร้างตึกเพิ่มเติม ทำให้โตต่อไปได้อีก แต่ก็จะไปติดเพดานที่จำนวนห้องอีกเหมือนเดิมอีก ที่ดินโรงแรมมักจำกัด ขยายได้แค่ระดับหนึ่งเท่านั้น ถ้าจะทำให้โรงแรมโตได้เรื่อยๆ ในระยะยาว บริษัทจะต้องมีนโยบายเปิดสาขาเท่านั้น Upside ของโรงแรมที่มีการเปิดสาขา กับไม่มี จึงไม่เท่ากัน

ธุรกิจการผลิตส่วนมากมี กำลังการผลิต เป็นเพดานรายได้ในระยะสั้น ถ้าเราลงทุนในบริษัทที่ใช้กำลังการผลิตเต็มอยู่ Upside ในระยะสั้นก็แทบจะไม่มีเหลือแล้ว การขยายกำลังการผลิตจะต้องลงทุนเพิ่ม ทำให้ต้องนำประเด็นเรื่องการเพิ่มทุนมาพิจารณาร่วมด้วยเสมอ

5.ธุรกิจของบริษัทมีอะไรบ้างที่แตกต่างและเป็นข้อได้เปรียบ?

การที่บริษัทจะได้กำไรมากกว่าคู่แข่งในอุตสาหกรรมเดียวกันนั้น บริษัทจะต้องเป็นเจ้าของบางสิ่งบางอย่างที่แตกต่างและสิ่งนั้นสามารถใช้เป็นข้อได้เปรียบในธุรกิจนั้นๆ ได้ด้วย ถ้าเรานึกไม่ออกเลย ก็เป็นลางบอกเหตุว่า บริษัทนั้นมีคุณค่าต่ำ ยังไม่ต้องเปิดงบการเงินดูเลยก็ได้ ของแตกต่างที่ว่านี้จะเป็นสินทรัพย์ที่มีตัวตนหรือไม่มีตัวตนก็ได้ ลองนึกออกมาให้หมด ยิ่งมีมากเท่าไรยิ่งเป็นสัญญาณดี 

ตัวอย่างเช่น บริษัทเป็นเจ้าของเทคโนโลยีหรือ know-how ที่คู่แข่งไม่มี บริษัทมีตราสินค้าที่เหนือกว่า บริษัทมีฐานลูกค้ามากกว่าอย่างมีนัยสำคัญทำให้มีข้อได้เปรียบเรื่อง Scale การผลิต สำหรับบ้านเรา การที่บริษัทมีเส้นสายหรือคอนเนกชั่นที่ดี ก็เป็นข้อแตกต่างที่สำคัญมากอย่างหนึ่งด้วย พึ่งระวังพวกธุรกิจที่มีแค่เครื่องจักรเอามาตั้งแล้วเดินเครื่องเฉยๆโดยที่เป็นเครื่องจักรที่ใครมีเงินก็ซื้อมาตั้งได้ทั้งนั้น ธุรกิจอย่างนี้ยากมากที่จะทำกำไรได้จริง

ลองเช็คดูข้อได้เปรียบแต่ละอย่างว่า ถ้าคู่แข่งจะเลียนแบบบ้าง มันจะยากแค่ไหน ถ้าทำได้ง่ายมาก แสดงว่าข้อได้เปรียบนั้นไม่ดีจริง แต่ถ้าต้องเข็นครกขึ้นภูเขา แสดงว่าข้อได้เปรียบนั้นแข็งแกร่ง ดูด้วยว่า Key Success Factor หรือ Key Value Driver ของธุรกิจนั้นคืออะไร แล้วข้อได้เปรียบที่บริษัทมีอยู่นั้นเกี่ยวข้องกับ Key เหล่านี้มากน้อยแค่ไหน

6.อุตสาหกรรมของบริษัทเป็นอุตสาหกรรมที่รายใหม่กระโดดเข้าไปได้ง่ายแค่ไหน

พูดง่ายๆ ก็คือ มี Barrier to Entry ขนาดไหน ธุรกิจควบคุม ธุรกิจสัมปทาน ที่ขอใบอนุญาตใหม่ได้ยาก ย่อมดีกว่าธุรกิจเสรีทั่วไป ลองดูจำนวนบริษัทที่อยู่ในตลาดปัจจุบันว่ามีมากน้อยแค่ไหน ถ้ามีมากเป็นกองทัพมดเลย ก็น่าเป็นห่วง ถ้ามีแค่ 2-3 เจ้า ทั้งปีทั้งชาติก็มีอยู่แค่นี้แสดงว่าต้องมีอะไรบางอย่างกันไม่ให้เจ้าใหม่เข้ามาได้ง่ายๆ แบบนี้ดี หรือลองสังเกตว่าคู่แข่งทุกรายกำไรหมด แสดงว่าอุตสาหกรรมนี้ดี เข้ามาได้ก็กำไรแล้ว แต่ถ้าบางรายกำไร บางรายขาดทุน แสดงว่าอุตสาหกรรมนี้ไม่ค่อยดี คนที่จะได้กำไรต้องมีข้อได้เปรียบคู่แข่งเท่านั้น ลองสังเกตด้วยว่า ลูกค้าของธุรกิจนั้นเป็นอย่างไร ถ้าลูกค้าเป็นรายเล็กๆ จำนวนมากๆ บริษัทย่อมมีอำนาจต่อรองกับลูกค้าสูง เป็นสัญญาณดีอีกเช่นกัน

7.ฐานะทางการเงินของบริษัทเป็นอย่างไร?

อันนี้พิจารณาได้จากงบดุลเป็นหลัก ดูว่า ROA เฉลี่ยในรอบหลายๆ ปีสูงหรือต่ำ สัดส่วนหนี้สินต่อทุนสูงหรือไม่เมื่อเทียบกับคู่แข่งที่ทำธุรกิจเดียวกัน การมีหนี้ไม่ใช่เรื่องเสียหาย เพราะช่วยประหยัดภาษีได้ ต้องมีหนี้มากผิดปกติเท่านั้นที่เป็นสัญญาณอันตราย ที่จริงแล้ว เราอยากลงทุนกับบริษัทที่โตพอสมควรโดยไม่ต้องอาศัยหนี้มากๆ เพราะจะเติบโตได้อย่างยั่งยืนมากกว่าพวกที่โตได้เยอะๆ ในระยะสั้น แต่แบกหนี้สูงไว้ตลอดเวลา พร้อมจะประสบปัญหาสภาพคล่องถ้าเศรษฐกิจสะดุด  

นักธุรกิจที่ทำธุรกิจแบบรอบคอบนั้นจะเหลือ Lending Capacity เอาไว้ส่วนหนึ่งเสมอ เพื่อเวลาโอกาสในการลงทุนใหม่มาถึง บริษัทจะสามารถขยับตัวขอกู้เงินมาลงทุนเพิ่มได้ทันที บริษัทที่ขอกู้จนสุดขีดตลอดเวลา บ่งบอกถึงอุปนิสัยของผู้บริหาร และมีความเสี่ยงสูงที่จะประกาศเพิ่มทุนในอนาคตอันใกล้

8.บุคลิกขององค์กรเป็นอย่างไร

ทุกองค์กรจะมีบุคลิกประจำตัว ถ้าหากเราสัมผัสกับองค์กรนานพอ เราจะรู้ ถ้าเป็นองค์กรเล็ก บุคลิกจะขึ้นอยู่กับผู้บริหารค่อนข้างมาก ส่วนถ้าเป็นองค์กรใหญ่ บุคลิกจะขึ้นอยู่กับ Corporate Culture

ลองพิจารณาดูว่าบริษัทมีบุคลิกแบบ entrepreneurial หรือ bureaucrat มากกว่ากัน บริษัทที่จะเติบโตได้ดีควรมีวัฒนธรรมเป็นแบบแรกมากกว่า บริษัทยังแสวงหาการเติบโตอยู่เรื่อยๆ หรือว่าอยู่ในโหมดประคองตัว จ่ายเงินเดือน จ่ายปันผล ไปเรื่อยๆ ก็พอ แต่ละปีบริษัทมีอะไรใหม่ออกมาให้เห็นบ้าง หรือว่าไม่มีเลย โปรเจ็คเพิ่มรายได้ของปีนี้คืออะไร บริษัทตั้งเป้าหมายไว้ว่าอะไร ที่สำคัญลอง track อดีตว่า บริษัทเคยตั้งเป้าหมายไว้แล้วสามารถทำได้ใกล้เคียงบ่อยแค่ไหน การตรวจสอบผลงานในอดีตเป็นวิธีที่ดีกว่าการใช้ความรู้สึกตัดสินผู้บริหาร หรือฟังข่าวลือต่างๆ ที่สำคัญ ขนาดของหุ้นไม่ได้บ่งบอกวัฒนธรรมหรือโอกาสในการเติบโต

8 ประเด็นนี้ แม้จะไม่ได้ลงลึกมากนัก ก็ถือว่าเพียงพอแล้ว สำหรับการลงทุนแบบที่มีการกระจายความเสี่ยงร่วมด้วย ไม่จำเป็นที่จะต้องหาหุ้นที่ได้ A+ ในประเด็นเหล่านี้ทุกประเด็น เพราะเป็นไปไม่ได้ ถ้าเราลงทุนในบริษัทที่ได้ B+ ในประเด็นเหล่านี้สัก 4-6 บริษัท กลับจะดีกว่า bet กับบริษัท A+ แค่เพียงแค่ 1-2 บริษัท เพราะยังไงเราก็ต้องเผื่อความผิดพลาดในการมองของตัวเราเองด้วยเสมอ จึงควรอาศัยภาพรวมของพอร์ตมากกว่าการพึ่งพาหุ้นเด็ดตัวใดตัวหนึ่งแค่ตัวเดียว 

ที่สำคัญ ไม่ใช่วิเคราะห์แล้วซื้อทันที แต่ควรคัดหุ้นที่เข้าตาเก็บไว้ใน Watch List ของเราไว้ แล้วรอซื้อเมื่อมันมีราคาที่ไม่แพงจนเกินไป ถ้าทำได้อย่างนี้ เราก็จะสามารถสร้างพอร์ตลงทุนระยะยาวที่มีคุณภาพให้กับตัวเองได้แล้วล่ะครับ

0302: Ken Heebner

Ken Heebner เป็นผู้จัดการกองทุน Capital Growth แม้ว่าเขาจะไม่ใช่เจ้าของสถิติผู้จัดการกองทุนที่ทำผลงานได้เป็นอันดับหนึ่งตลอดกาล by absolute return (i.e. ปีเตอร์ ลินซ์) แต่ผลตอบแทนของเขาหักด้วยผลตอบแทนตลาดตลอดระยะเวลาที่ลงทุน (excess return) ทำได้ดีกว่าในกรณีของปีเตอร์ ลินซ์

Heebner ได้ชื่อว่าเป็นคนที่เห็นอะไรได้เร็วกว่าตลาดหลายก้าว เวลาเมฆฝนใหญ่ในตลาดหุ้นกำลังจะมา เขามักสามารถคาดการณ์ได้เร็วกว่าคนทั่วไปและขายออกไปก่อนตั้งแต่ทุกคนยังเห็นว่าทุกอย่างยังดูดีอยู่ 

เขาอุทิศตัวให้กับการหาข้อมูลอย่างยิ่งยวด ในช่วงที่น้ำมันเริ่มตึงตัวเมื่อหลายปีที่แล้ว เขาลงทุนเดินทางไปดูบ่อน้ำมันในซาอุด้วยตาตนเอง เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง และนั่นก็เกิดขึ้นก่อนที่ราคาน้ำมันจะเริ่มทะยานขึ้นเสียอีก คติประจำใจของเขาคือ เขาต้องการแต่ข้อมูล ไม่ใช่ความคิดเห็น เขาจะตัดสินใจซื้อขายหุ้นจากข้อมูลเท่านั้น ไม่ใช้ความคิดเห็นส่วนตัว เขามีทีมงานเล็กๆ ที่ประกอบด้วยเพื่อนร่วมงานที่รู้ใจกันมานานกว่ายี่สิบปี ช่วยกันหาข้อมูลอย่างเข้าขา เขาอุทิศชีวิตให้กับการหาข่าว และแทบไม่มีเวลาให้กับเรื่องส่วนตัว เขาทำงานอยู่ที่ออฟฟิศเสมอแม้แต่ในช่วงวันหยุดเทศกาล เขามีความสุขที่ได้ทำอย่างนั้นและทำแบบนั้นมาตลอดช่วงชีวิตของเขา

ผู้คนมักเข้าใจว่า Heebner มีผลตอบแทนที่ดี เพราะเขาตัดสินใจได้ถูกต้องเสมอ แต่เขาเชื่อว่า ที่จริงแล้ว จุดแข็งของเขาเองอยู่ที่ความสามารถในการยอมรับความผิดพลาดของตัวเองได้อย่างรวดเร็ว ทันที่ที่เขารู้ตัวว่าคิดผิด เขาจะขายหุ้นนั้นทั้งหมดทันที โดยไม่สนใจว่าจะต้องขาดทุนเท่าไร เขาไม่เคยมี ego ที่จะถือหุ้นเหล่านั้นต่อไป เพื่อการรักษาหน้าของตัวเอง หรือหวังลมๆ แล้งๆ ว่า ผิดจะกลายเป็นถูกขึ้นมา เพราะเขามองว่า เป็นไปไม่ได้ที่คนเราจะคิดถูกได้ตลอดเวลาในตลาดหุ้น ดังนั้นการจะได้ผลตอบแทนที่ดี จะต้องอาศัยการขาดทุนให้น้อยที่สุดในครั้งที่เราคิดผิด

ข้อคิดสำคัญที่ผมได้จาก Heebner คือ ผมสังเกตว่า นักลงทุนระดับตำนานจริงๆ มักไม่เชื่อว่าตัวเอง “มีองค์” คือรู้ว่าหุ้นอะไรเด็ดได้โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยการทำการบ้าน หรือดูอย่าง Bill Miller ซึ่งเป็นผู้จัดการกองทุนที่เอาชนะตลาดได้ 16 ปีติดต่อกันคนเดียวในโลก แต่กลับเชื่อว่า ตลาดหุ้น very very efficient แล้วคนธรรมดาอย่างเราๆ ท่านๆ ทำไมกลับดูถูกตลาดหุ้น คิดว่าความสำเร็จในตลาดหุ้นเป็นเรื่องที่ได้มาง่ายๆ   

0298: the never-ending era of asset bubbles

  หลังจากความปั่นป่วนของภาคการเงินโลกสงบลงไปเมื่อต้นปี เวลานี้ก็ดูเหมือนว่าเศรษฐกิจโลกจะทรงตัวได้แล้วด้วย มิหน่ำซ้ำยังมีลุ้นที่มันอาจจะฟื้นตัวได้ในไม่ช้าอีก ต้องถือว่า การทุ่มสุดตัวครั้งนี้ของธนาคารกลางเพื่อหยุดวิกฤตการณ์ได้ผลลัพธ์ที่ดีทีเดียว

ถ้าหากเศรษฐกิจฟื้นตัวได้เร็วๆ นี้จริงๆ เราจะกล่าวได้หรือไม่ว่า เมฆฝนทั้งหลายได้ผ่านพ้นไปแล้ว? ก็คงต้องขอตอบว่า “ไม่” เพราะจริงๆ แล้วต้นตอของปัญหาทั้งหมดยังอยู่ …

ต้นตอของปัญหาที่แท้จริงคือระบบการเงินของโลกที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้มีข้อบกพร่อง…

ข้อบกพร่องที่ว่านี้ก็คือ เงินดอลล่าร์ถูกใช้เป็นตัวกลางในการติดต่อค้าขายทั่วโลกรวมทั้งใช้เป็นทุนสำรองของประเทศต่างๆ แต่เงินดอลล่าร์เป็นแค่เงินกระดาษ สหรัฐฯ จึงสามารถพิมพ์เงินกระดาษออกมาใช้หนี้ได้โดยไม่จำกัด ทำให้เป็นประเทศเดียวที่ไม่ต้องมีวินัยทางการเงินก็ได้

กรีนสแปนชอบใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเกินไปนิดๆ เพื่อให้เศรษฐกิจดีอยู่ตลอดเวลา เขาเคยถึงกับพูดว่า ต้นทุนของเศรษฐกิจซบเซานั้นมีมากกว่าความเสี่ยงที่จะเกิดเงินเฟ้อมาก การปล่อยให้อัตราดอกเบี้ยต่ำเกินกว่าที่ควรจะเป็น คือการไม่รักษา Value ของเงินเพื่อแลกกับเศรษฐกิจที่ดีอยู่ตลอดเวลา

ทุกวันนี้ต้นทุนของการกดดอกเบี้ยให้ต่ำตลอดเวลาอาจไม่ใช่ภาวะเงินเฟ้อเหมือนอย่างในอดีตเพราะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในยุคใหม่ไม่ได้พึ่งพาน้ำมันมากนัก แต่ต้นทุนอย่างใหม่ของการกดดอกเบี้ยให้ต่ำไว้ตลอดเวลาคือ ความเสี่ยงที่จะเกิดฟองสบู่ขึ้นในตลาดสินทรัพย์ (Asset Bubbles) ต่างๆ เนื่องจากการด้อยค่าของเงิน ทำให้นักลงทุนต้องเข้าไปซื้อสินทรัพย์ต่างๆ เพื่อเป็นการรักษาความมั่งคั่งของตนเองเอาไว้ ในยุคของกรีนสแปนเต็มไปด้วยจุดเริ่มต้นของ Asset Bubbles ตั้งแต่ Tech Stock Bubble, Real Estate Bubble ไปจนถึง Oil Bubble

วิกฤตการเงินที่เกิดขึ้นเป็นแค่สิ่งที่เกิดตามมา เมื่อมี Real Estate Bubble แต่เมื่อวิกฤตเกิดขึ้นแล้ว แทนที่จะทำให้สหรัฐฯ หันกลับมารักษาวินัยทางการเงิน สหรัฐฯ อยู่ในฐานะที่มีทางเลือกมากกว่าประเทศทั่วไปเพราะเงินดอลล่าร์เป็นเสมือนเงินของโลก สหรัฐฯ จึงสามารถแก้ปัญหาหนี้ได้ด้วยการสร้างหนี้ใหม่ขึ้นมาอีกเพื่ออุดหนี้เก่าด้วยการพิมพ์เงินออกมา นอกจากนี้สหรัฐฯ ยังไม่ต้องขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินไหลอออกเหมือนอย่างประเทศอื่นๆ ที่เคยเกิดวิกฤต สหรัฐฯ สามารถกดดอกเบี้ยให้ต่ำลงไปอีก เพื่อประคองเศรษฐกิจเอาไว้ ถึงแม้วิธีการเหล่านี้จะช่วยให้สามารถหยุดวิกฤตการเงิน และหลีกเลี่ยงภาวะเศรษฐกิจถดถอยรุนแรงได้สำเร็จ แต่วิธีการเช่นนี้ก็ยิ่งทำให้วินัยทางการเงินของสหรัฐฯ แย่ลงไปอีก ณ เวลานี้แล้ว สหรัฐฯ ก็ยังปราศจากแรงจูงใจทางการเมืองใดๆ ที่จะหันมารักษาวินัยทางการเงิน  แน่นอนความเสี่ยงที่โลกจะเผชิญ Asset Bubbles ใหม่ๆ จึงยังจะต้องมีอีก ตลาดหุ้น คอมโมดิตี้ อนุพันธ์ อสังหาฯ ทองคำ สินเชื่อ ฯลฯ จะยังคงเต็มไปด้วยความเสี่ยงที่จะเกิด Boom and Burst ได้มากเหมือนเช่นเดิม ในช่วงเวลาต่อจากนี้ไป ถ้าจะมีฟองสบู่เกิดขึ้นใหม่ในตลาดสินทรัพย์ใดตลาดหนึ่งอีก แล้วฟองสบู่แตกอีก ก็ไมใช่เรื่องที่น่าประหลาดใจเลย เพราะในเมื่อเหตุปัจจัยของสรรพสิ่งใดๆ ยังคงอยู่ สรรพสิ่งจะดับไปได้อย่างไร 

จนกว่าโลกของเราจะมีระบบการเงินใหม่ที่บังคับให้สหรัฐฯ ต้องรักษาวินัยทางการเงินเหมือนกับนานาประเทศ

0297: SET กับเศรษฐกิจไทย

ลักษณะจำเพาะอย่างหนึ่งของตลาดหุ้นไทยคือ มีหุ้นพลังงานเป็นองค์ประกอบที่ใหญ่มาก ยิ่งถ้านับรวมพวกหุ้นปิโตรเคมีซึ่งมีน้ำมันเป็นวัตถุดิบเข้าไปอีก ก็อาจจะมากถึง 1 ใน 3 ดังนั้นเวลาที่ราคาน้ำมันผันผวน ราคาน้ำมันก็สามารถลาก SET ให้วิ่งไปในทิศทางเดียวกันได้ไม่ยาก

บังเอิญว่าราคาน้ำมันทุกวันนี้ก็ผันผวนมากเสียด้วย มันเคยวิ่งจาก 140 ลงมาเหลือแค่ 30 กว่าแล้วกลับขึ้นไปใหม่ที่ 70 เหรียญ ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นภายในเวลาแค่ปีเดียว เมื่อราคาน้ำมันผันผวนขนาดนี้ หุ้นพลังงานก็ยิ่งมีอิทธิพลต่อทิศทางของ SET มากเข้าไปใหญ่ 

เวลาหุ้นพลังงานขึ้นแรงจนทำให้ SET ปรับตัวขึ้นไปมากๆ หุ้นบิ๊กแคปในกลุ่มอื่นๆ จะ lag SET มากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้พวก Trader รีบเข้าไปซื้อเก็บ เพื่อปิด gap ระยะสั้น ทั้งที่หุ้นบิ๊กแคปเหล่านั้นไม่ใช่หุ้นที่เกี่ยวข้องอะไรกับน้ำมัน ทำให้ SET ยิ่งวิ่งขึ้นไปอีก สุดท้ายแล้ว SET ทั้งตัวก็เลยเคลื่อนไหวไปตามราคาน้ำมันซะงั้น เรื่องนี้ทำให้เราต้องนั่งงงกันอยู่บ่อยๆ ว่าทำไมเวลาน้ำมันแพงเอาๆ หุ้นธนาคารกลับยิ่งขึ้นเอาๆ ไม่รู้ว่าน้ำมันแพงมันไปช่วยให้ธนาคารดีขึ้นได้อย่างไร 

หันมามองเศรษฐกิจของประเทศไทย ลักษณะจำเพาะของเศรษฐกิจบ้านเราก็คือเป็นเศรษฐกิจที่พึ่งพาการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมค่อนข้างมาก แต่หากไปพิจารณาที่ SET แล้วกลับเห็นว่า หุ้นส่งออก ได้แก่ กลุ่มยานยนต์และกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งสองกลุ่มรวมกันกลับมีน้ำหนักน้อยมากใน SET (ไม่ถึง 10%) ในขณะที่ เมื่อน้ำมันแพงขึ้น การนำเข้าน้ำมันเมื่อคิดเป็นมูลค่าจะสูงขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีกับหุ้นน้ำมันและดีกับ SET แต่การนำเข้าเป็นสิ่งที่หักออกจากจีดีพี ดังนั้นยิ่งน้ำมันแพงมากเท่าไร กลับทำให้จีดีพีของประเทศยิ่งดูไม่ดีมากเท่านั้น

สรุปแล้ว ทุกวันนี้ SET จึงสะท้อนภาพรวมของเศรษฐกิจไทยน้อยมาก บางคนเห็นธุรกิจรอบๆ ตัวซบเซา คนเดินห้างน้อยลง แล้วจะเอามาใช้เป็นเหตุผลในการมองว่า SET จะเป็นยังไงต่อไปนั้น ก็ต้องบอกว่า เป็นวิธีที่ใช้ไม่ได้ผล เพราะตลาดหุ้นไทยมีหุ้นที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคภายในประเทศน้อยมากๆ บ้านเรายังไปไม่ถึงจุดที่การเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เป็น norms ของบริษัททั่วไป เหมือนอย่างในประเทศที่พัฒนาแล้ว หุ้นอุปโภคบริโภคที่เป็นที่นิยมจำนวนมากของบ้านเรายังคงเลือกที่จะอยู่นอกตลาดหุ้นอยู่ เมื่อปีที่แล้ว เราก็ได้เห็นกันแล้วว่า ราคาน้ำมันที่ 140 เหรียญทำเอาเศรษฐกิจในประเทศซบเซาหนัก เงินเฟ้อพุ่งไม่หยุด แต่แทนที่จะทำให้ SET แย่ SET กลับวิ่งไปสร้างสถิติสูงสุดใหม่ที่ 925 จุด เพราะราคาน้ำมันตัวเดียว นี่ย่อมพิสูจน์ให้เห็นว่า แม้น้ำมันจะทำให้เศรษฐกิจโดยรวมแย่ลง แต่เมื่อ net กันแล้ว น้ำมันแพงกลับเป็นผลบวกกับ SET มากกว่า   

ไปๆ มาๆ การใช้ปัจจัยพื้นฐานวิเคราะห์ SET ทั้งตัว เช่น ถ้าจีดีพีไม่ดีแล้ว SET จะต้องไม่ดีตามนั้น เป็นอะไรที่ไม่น่าจะเวิร์ค ปัจจัยพื้นฐานควรเอาไว้ใช้วิเคราะห์หุ้นเป็นรายตัวหรืออย่างน้อยก็เป็นรายกลุ่มเท่านั้น บอกอะไรเกี่ยวกับ SET ไม่ได้ครับ     

    

0296: เงินล้นโลก

เมื่อคืนนี้ ลุงเบนบอกว่า ดูท่าทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะยังต้องการเวลาอีกนานกว่าจะฟื้นตัวได้ เพราะฉะนั้นเฟดจะขอใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายอย่างนี้ต่อไปอีกสักพักใหญ่

คำพูดของลุงเบนที่ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังไม่ฟื้นนี้ไม่ได้ทำให้นักลงทุนกังวลแต่อย่างใด ตรงกันข้าม กลับ ทำให้นักลงทุนโล่งใจกันมากกว่า เพราะที่ผ่านมาเฟดได้ใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายอย่างมากเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ตลาดมองเกมออกว่า ถ้าหากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นได้เมื่อไร เฟดจะต้องรีบขึ้นดอกเบี้ยทันที เพื่อสกัดภาวะเงินเฟ้อที่อาจเกิดจากนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากเกินไป การขึ้นดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วของเฟดจะทำให้สภาพคล่องที่เอ่อล้นอยู่ในเวลานี้ จะเกิดการตึงตัวขึ้น และจะทำให้ตลาดสินทรัพย์ทั่วโลกร่วงแรงได้ แต่พอลุงเบนออกมาส่งสัญญาณว่า จะยังไม่ขึ้นดอกเบี้ยอีกสักพักใหญ่ ตลาดก็โล่งใจ เพราะเจ้ามือเลื่อนเวลาเก็บโต๊ะออกไปอีก

หลังจากตลาดการเงินของสหรัฐฯ ที่ปั่นป่วนเมื่อปีที่แล้วได้กลับเข้าสู่ภาวะปกติเมื่อต้นปี สภาพคล่องที่เอ่อล้นอันเนื่องมาจากนโยบายของเฟดได้ถูกนักลงทุนนำมาลงทุนในตลาดสินทรัพย์ต่างๆ ทั่วโลกที่ไม่ใช่สกุลดอลล่าร์เพื่อเฮดจ์เงินเฟ้อที่อาจจะเกิดขึ้นได้อนาคต ด้วยเหตุนี้ ทั้งทองคำ น้ำมัน สินค้าโภคภัณฑ์ และตลาดหุ้นเกิดใหม่ทั่วโลก ในเวลานี้ ต่างมีราคาปรับตัวพุ่งขึ้นแรงโดยทั่วหน้า ทั้งๆ ที่เศรษฐกิจโลกยังไม่มีสัญญาณฟื้นตัวที่ชัดเจนแต่อย่างใด ราคาที่เพิ่มขึ้นนี้เป็นผลมาจาก “ภาวะเงินล้นโลก” มากกว่าที่จะเป็นเรื่องของภาวะเศรษฐกิจ

สภาวะที่มีเงินอยู่ในระบบมากเกินไป ตลาดหุ้นมักจะมีความผันผวนมากกว่าธรรมดา เพราะนักลงทุนจะพร้อมใจกันถือหุ้นเอาไว้ทั้งๆ ที่รู้อยู่แก่ใจว่าหุ้นแพง เนื่องจากไม่รู้ว่าจะเอาเงินไปไว้ที่ไหนดี ดังนั้นเมื่อใดที่มีข่าวร้ายเข้ามากระทบตลาด นักลงทุนก็จะรีบแข่งกันเทขายหุ้นออกมา แล้วรีบกลับมาถือเงินสดก่อนคนอื่น เพราะกลัวความสูง ตลาดหุ้นจึงมีความผันผวนสูงเพราะอ่อนไหวกับข่าวมากเป็นพิเศษ อย่างไรก็ตาม ตราบใดที่ผู้คุมนโยบายการเงินโลก (คือ เฟด) ยังคงยินดีที่จะใช้นโยบายแบบผ่อนคลายต่อไป ไม่ช้าไม่นานหุ้นที่ร่วงลงอย่างรุนแรงเพราะข่าวร้ายก็จะกลับมาใหม่ได้อีก เพราะยังไงเสียเงินก็ยังล้นโลกอยู่เหมือนเดิม ขายออกมาแล้วจะเอาเงินไปไว้ที่ไหน  ในทางตรงกันข้าม ถ้าหากวันใดเฟดมีการกลับนโยบายการเงิน ย่อมมีผลกระทบกับตลาดหุ้นในลักษณะที่เป็นการถาวรได้ 

เช่นนี้แล้ว การลงทุนในเวลานี้ต้องคอยจับตาท่าทีของลุงเบนเอาไว้ทุกฝีก้าวเชียวครับ ลุงเบนแค่กระเอมนิดเดียว จิ๊กโก๋สะดุ้งกันทั้งซอย สิ่งนั้นมาจากทางไหน สักวันหนึ่งมันก็ต้องกลับไปทางนั้นครับ

0289: เจ็ดแนวโน้มใหญ่ในปัจจุบัน

การมอง Demand Trends ถือเป็นวิธีหนึ่งที่สำคัญในการพิจารณาเลือกลงทุน วิธีมอง Demand Trends ที่ดีอย่างหนึ่งก็คือ การมองแนวโน้มใหญ่ (MegaTrend) 

แนวโน้มใหญ่คือ ความเปลี่ยนแปลงสำคัญที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมซึ่งส่งผลต่อความต้องการสินค้าและบริการในภาคธุรกิจ แนวโน้มใหญ่มักเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นติดต่อกันนานหลายปี ไม่ใช่แค่ชั่วคราวแล้วหายไป (อย่างนั้นจะเรียกว่าเป็น Fads หรือ Fashions) ดังนั้นการวิเคราะห์แนวโน้มใหญ่เป็นวิธีที่เหมาะกับการลงทุนระยะยาว แนวโน้มใหญ่ที่ผมพอจะมองเห็นในปัจจุบันมีดังนี้ (หลายอย่างเกิดขึ้นมาตั้งนานมากแล้ว แต่ทุกวันนี้ก็ยังดำเนินอยู่)  

1. Aging Society ปรากฏการณ์ที่คนแก่กำลังมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเมื่อคิดเป็นร้อยละของประชากรทั่วโลก ทำให้สินค้าที่เน้นขายคนแก่ย่อมมี Demand ที่เติบโตได้ดีอย่างต่อเนื่องในอนาคต อาทิเช่น ธุรกิจโรงพยาบาล เป็นต้น  

2. Free Trade ข้อตกลงเขตการค้าเสรีที่กำลังมีผลบังคับใช้มากขึ้นเรื่อยๆ จะช่วยทำให้การค้าการลงทุนข้ามชาติมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเพราะต้นทุนที่ต่ำลง ส่งผลดีต่อ ธุรกิจนำเข้า ส่งออก รวมทั้งธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งทั้งหลาย  

3. CyberWorld ผู้คนใช้เวลากับอินเตอร์เน็ตและมือถือแต่ละสัปดาห์มากขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลดีต่อธุรกิจให้บริการเน็ต เครือข่ายมือถือ ผู้นำเข้าอุปกรณ์มือถือ สินค้าไอที ธุรกิจเกมออนไลน์ ฯลฯ ในขณะที่ ธุรกิจเพลง โทรทัศน์ และธุรกิจหนังสือพิมพ์ ล้วนได้รับผลกระทบจากแนวโน้มอันนี้

4. Global Warming ภาวะโลกร้อนได้กระตุ้นให้เกิดการตื่นตัวเรื่องสิ่งแวดล้อมไปทั่วโลก ส่งผลดีต่อธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับพลังงานทางเลือก การกำจัดขยะ และการจัดการสิ่งแวดล้อม 

5. Energy Constraints การที่คนยากจนในจีนและอินเดียหลายร้อยล้านคนกำลังมีฐานะที่ดีขึ้นอย่างรวดเร็วได้ทำให้โลกมีการใช้ทรัพยากรเพิ่มขึ้นอย่างมาก ส่งผลดีต่อธุรกิจที่เกี่ยวกับทรัพยากรทั้งหลาย เช่น สำรวจน้ำมัน เหมืองแร่ ฯลฯ

6. Food Constraints ภาวะอากาศแปรปรวน ผู้คนมีฐานะดีขึ้น พื้นที่การเกษตรที่จำกัด และการเอาพืชไปใช้เป็นพลังงานทางเลือก ได้ทำให้เกิดภาวะอาหารขาดแคลน ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเกษตรพลอยได้รับประโยชน์จากแนวโน้มนี้

7. Modern Trade แนวโน้มที่ผู้คนนิยมซื้อสินค้าในห้างมากขึ้นเรื่อยๆ ซื้อของในตลาดสดน้อยลง เพราะชีวิตที่เร่งรีบ ต้องการความสะอาด เสพติดโปรโมชั่น ช่วยทำให้ธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่และห้างสรรพสินค้ามีการเติบโตได้ต่อเนื่อง

ข้อดีของการลงทุนตามแนวโน้มใหญ่คือเมื่อเศรษฐกิจโดยรวมมีปัญหาสินค้าเหล่านี้อาจได้รับผลกระทบไม่ต่างกับธุรกิจอย่างอื่น แต่เวลาทุกอย่างกลับมา พวกมันมีโอกาสมากกว่าอย่างอื่นที่จะกลับมาได้ เพราะมันมีแนวโน้มเป็นพื้นฐานที่คอยรองรับอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม การเลือกลงทุนจะดู Demand Trends อย่างเดียวไม่ได้ ต้องดู Competitive Advantage ด้วย อย่างเช่น ในกรณีของโรงงานผลิตแก๊สโซฮอล แม้พลังงานทางเลือกจะเป็นแนวโน้มใหญ่ แต่เนื่องจากนโยบายของรัฐที่ขาดความชัดเจน และ Barrier to Entry ที่ต่ำ กลับทำให้ธุรกิจนี้ไม่ได้ดีอย่างที่คิดครับ เลือกหุ้นต้องพิจารณาทั้ง DT และ CA จะขาดอย่างใดอย่างหนึ่งเสียไม่ได้  

0252: Guru Watchdog

Jim Rogers (Source 1 2 3 )

– ช่วงนี้ผมสะสมดอลลาร์เพิ่มขึ้น เพราะเห็นว่าทุกคนมองดอลลาร์ร้ายกันหมด แต่ก็ยังเป็นจำนวนที่น้อยกว่าเงินสกุลอื่นๆ ที่ผมถืออยู่ เพราะยังไงๆ ดอลลาร์ก็จะแย่ลงเรื่อยๆ ในระยะยาว ผมแค่อยากจะลองทำกำไรระยะสั้นเท่านั้น แต่ผมไม่ใช่คนเล่นสั้นที่เก่งเลย

– ตอนนี้ ผมยังไม่ซื้อทองคำเพิ่ม เพราะผมถือทองคำอยู่แล้ว แต่จะไม่ขายมันด้วย ถ้าหากทองคำลงไปแตะต่ำกว่าพันเหรียญ ผมก็จะซื้อเพิ่มอีก เพราะภายในปี 2019 ทองคำจะต้องยืนเหนือระดับ $2, 000 ได้อย่างแน่นอน และนั่นไม่ใช่สมมติฐานที่มากเกินไปเลย

– ปีหน้าเราอาจจะเห็นรัฐบาลของบางประเทศประสบปัญหาทางการเงินเพิ่มอีก อาจจะเป็น อาร์เจนติน่า ยูเครน หรือแม้แต่ UK ก็เป็นไปได้ ในช่วงสองสามปีนี้จะต้องมีวิกฤตการเงินอีกอย่างแน่นอน นอกเหนือจากทองคำแล้ว silver และเงินสกุลเอเชียบางประเทศก็น่าสนใจด้วย

– สินค้าเกษตรน่าสนใจมาก เพราะว่าราคาของมันตกต่ำมาเป็นทศวรรษแล้ว ผมว่ามันเป็นสินทรัพย์ที่ราคาถูกที่สุดในตอนนี้ เรากำลังจะมีวิกฤตอาหาร ตอนนี้ข้าวสร้าง all time high ได้แล้ว แต่น้ำตาลยังห่าง all time high อยู่มาก

– ช่วงนี้เป็นช่วงที่แปลกมาก เพราะผมไม่ได้ short อะไรเลย ผมหาไม่เจอว่ามีอะไรที่ราคาแพงมากๆ แต่ถ้าจะให้ short ผมคงเลือก US Government Bond

Marc Faber (Source)

-A stronger dollar will be positive for equities based on historical market data.
-The U.S. market will outperform emerging markets for the first half of 2010.
-Stocks and associated indices may have 10-20% correction, followed by another rally.
-The worst thing you can do for a long-term buy is purchase Treasuries.
-The private sector is de-leveraging while the government levers up. This process is expected to continue

Overall, 2010 will not be one for the record books, as 2009 was. He’s looking at a more normal 5%-10% rate of return for global investors.

Here are Faber’s views on other markets and asset classes:

Asia: “Longer term we’ll have still favorable growth, ” he says. He thinks India and Japan both offer opportunities. In his eyes, this view gained even more credibility after they were not mentioned once during the Barron’s round-table discussion.

Bonds: The bull market in Treasuries that lasted from 1980-2008 is a thing of the past. Near term: after a dismal 2009 the bond market could be in for a rebound. Longer term: look for exit opportunities in Treasuries.

Gold: Still a long-term buy.

Oil: Prices in the $80s make sense since the marginal cost to find a barrel is about $70. Longer term he expects prices to continue rising as demand increases from the developing world.

Agricultural commodities: In the short term, Faber’s favorite commodity is wheat. He advises against buying the wheat ETFs because they’re relatively expensive. Instead, play it through farm land or potash companies, he says.

โทมัส ตัน (ที่มา)

ผู้มีประสบการณ์ในตลาดโภคภัณฑ์ ด้วยเทคนิคและปัจจัยพื้นฐานมากว่า 15 ปี ได้เขียนคำทำนายเศรษฐกิจทุกปี ตั้งแต่ปี 2008 ซึ่งคราวนั้นทำนายว่า ทองคำจะแตะระดับ 1000 เหรียญได้เป็นครั้งแรก ปีนี้มีคำทำนาย น่าสนใจอีกจนอดไม่ได้ที่จะแปลมาให้อ่านกัน

ผมได้เขียน 10 คำทำนายมา 2 ปีติดต่อกันแล้ว นับตั้งแต่ปี 2008 เดิมทีได้ไอเดียจากคุณ Byron Wien ซึ่งได้เผยแพร่คำทำนายออกมาทุกปีนับตั้งแต่ปี 1980 ขณะที่เขาอยู่ที่ Morgan Stanley แล้วก็ไปอยู่กับ Pequot Capital ตามด้วยปัจจุบัน อยู่ที่ Blackstone.

คำทำนายในปี 2008 ของผมค่อนข้างตรงและได้ทำนายทิศทางหลักๆเกือบทั้งหมด เนื้อหาดีกว่าของคุณ Byron บางอย่าง ผมเรียกว่า เป็นความโชคดีของมือใหม่อย่างผม แต่ในปี 2009 Byron ก็สามารถเอาคืนได้ ด้วยคำทำนายที่ถูกต้องมากกว่า การอ่านลูกแก้วแบบนี้ ไม่มีใครชนะได้ตลอด แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ผมว่ามันเป็นเรื่องน่าสนุกที่จะทำ โดยเฉพาะเมื่อมันถูกต้องขึ้นมา ผมตั้งใจจะทำมันทุกๆปี ไม่ว่าปีก่อนผลจะผิดหรือถูกมากกว่า และโดยไม่รอช้า คำ 10 ทำนายของผม มีดังนี้

1. ทองคำ จะแตะระดับ 1500 เหรียญต่อออนซ์ในปี 2010 หรือหมายถึงขึ้นไปอีก 50% จากระดับปัจจุบัน ส่วนโลหะเงินก็จะตามกันไป แตะระดับ 25 เหรียญต่อออนซ์ ส่วนดัชนีหุ้นเหมืองทองคำ HUI จะขึ้นผ่าน 600 เหรียญด้วยเหมืองทองคำ/เงิน ขนาดเล็กๆหลายแห่ง จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้น 2 – 3 เท่า ทองคำจะถูกจัดเป็นสินทรัพย์เพียงอย่างเดียวที่วางใจได้ ทั้งจากประชาชนทั่วไปและจากธนาคารกลางต่างๆ จากการเสื่อมค่าลงของเงินกระดาษ (fiat money)

2. ดัชนี USD index จะเหลือ 60 จุด การรีบาวน์ของ US ดอลล่าร์ขณะนี้จะอยู่ได้เพียงแค่ช่วงสั้นๆ หลังจากแตะระดับ 80 จุดได้ไม่นาน เพื่อจะบีบและเขย่าขวัญขา Short US ดอลล่าร์จะกลับสู่ trend ขาลงซึ่งจะเป็น trend หลักที่จะเกิดขึ้นในปี 2010 จนกว่าจะถึงระดับ 60 จุด ธนาคารกลางส่วนใหญ่ จะไม่ต้องการถือ US ดอลล่าร์อีกต่อไป แต่พวกเขาก็จะประสบกับความยากลำบากในการที่จะออกจากสถานการณ์เช่นนี้โดยที่ตัวเองจะไม่ได้รับกระทบ หนทางที่ดีที่สุดสำหรับทั้งสองฝ่าย (ธนาคารกลางอื่น กับ เฟด) คือการที่จะต้องประคองให้มีการลดค่าลงอย่างค่อยเป็นค่อยไปราว 20% ต่อปี

3. ตลาดหมีใน S&P ที่รีบาวน์อยู่ในตอนนี้ จะขึ้นต่อได้อีกราว 7 เดือน จากเดือนมกราคมถึงกรกฎาคม แล้วหลังจากนั้น ตลาดจะต้องเผชิญกับหน้าผาสูงชันที่จะมาเขย่าขวัญอีกเป็นครั้งที่ 2 ซึ่งจะเกิดขึ้นตั้งแต่เดือนสิงหาคมไปจนถึงสิ้นปี ซึ่งจะไม่เหมือนกับรูปแบบปกติที่เกิดขึ้นในปีที่มีการเลือกตั้งกลางเทอม ที่ปกติ จะแย่ในช่วงครึ่งแรกของปี และดีขึ้นในช่วงครึ่งหลัง แต่จะกลับไปสอดคล้องกับความคิดและพฤติกรรมที่เกิดขึ้นในวอลล์สตรีท ที่จะสูบ รีดเอาน้ำผลไม้ และโบนัสสำหรับตนเองให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ก่อนที่ภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจระลอก 2 จะเกิดขึ้น

4. หุ้น Citigroup จะลดลงเหลือต่ำกว่า 2 เหรียญอีกครั้ง (ปัจจุบัน 3.30 อดีตก่อนเกิดวิกฤติอยู่ที่เกิน 50) ความยากลำบากในการหาทุนเพิ่มที่เห็นกันอยู่ในตอนนี้ บอกเรามากเกินพอสำหรับสถานการณ์ภัยพิบัติของสถาบันแห่งนี้ นี่เป็นหายนะที่น่าสยดสยองสำหรับ Citi และการตัดสินใจที่แย่ๆ ที่ทำโดยคณะผู้บริหาร จนเดี๋ยวนี้ ใครๆในโลกก็รู้ว่า จุดประสงค์เดียวที่จ่ายเงินคืนแก่ TARP เพราะต้องการจ่ายโบนัสก้อนโตให้แก่แมวอ้วนคณะผู้บริหาร Citi พอร์ทของ Citi ในจำนวนหลายล้านๆ ยังคงเสื่อมค่าลงทั้งส่วนของที่อยู่อาศัยและตลาดอสังหาฯเชิงพาณิชย์ แค่ความเป็นไปได้ที่จะเกิดการล่มสลายในหนี้จำนองและอนุพันธ์ในพอร์ทของมัน ก็สามารถกวาดล้างผู้ถือหุ้นรายย่อยออกไปได้อย่างเร็ว และเมื่อถึงเวลานั้น พวกเขาอาจจะขอความช่วยเหลือจาก TARP อีกครั้ง (TARP เป็นหน่วยงานของสหรัฐ ที่เข้าอุ้มสถาบันการเงินสหรัฐจำนวนมากอยู่เวลานี้)

5. ผลตอบแทนพันธบัตร 10 ปีของสหรัฐ จะเพิ่มขึ้น 2 เท่าจาก 1.5% ในปัจจุบันเป็น 3% ซึ่งนี่จะเป็นสิ่งที่สร้างความประหลาดใจครั้งใหญ่ ของทั้งเฟดและนักลงทุน เฟดทำได้แค่ควบคุมอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น ตลาดหนี้เริ่มได้กลิ่นและเริ่มรู้สึกว่าอะไรบางอย่างกำลังเกิดขึ้นอย่างผิดปกติมากๆในค่าเงิน และหนี้ของสหรัฐ – กระบวนการเทของจะเกิดขึ้นอย่างเร็ว ความกังวลเรื่องเงินฝืดจะกลับกลายเป็นความกังวลเงินเฟ้อแทน และไม่ใช่เงินเฟ้อธรรมดา แต่เป็นภาวะเงินเฟ้ออย่างมาก ( hyperinflation ) ได้เกิดขึ้นแล้ว การร่วงลงอย่างต่อเนื่องของค่าเงิน US ดอลล่าร์, ซัพพลายเงินที่คุมไม่อยู่ และการขาดสภาพคล่องของรัฐบาลที่ไร้ขอบเขต จะทำให้นักลงทุน ไม่สามารถมองเห็นแสงที่ปลายอุโมงค์ได้ (มองไม่เห็นทางออก) ซึ่งจะแย่กว่าสมัยทศวรรษก่อนของญี่ปุ่น นับจากที่ความยุติธรรมของระบบของเราถูกตั้งข้อสงสัยโดยการออมเพียงน้อยนิดแต่รายจ่ายมหาศาล

6. การรีบาวน์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันของดัชนี S&P/Case-Schiller จะเกิดแค่ช่วงสั้นๆ ดัชนี Schiller จะร่วงลงมากกว่า 15% ในปี 2010 ต่ำกว่า 120 ตลาดอสังหาฯส่วนที่อยู่อาศัยจะเผชิญกับแรงกดดันที่น่ากลัวเพราะการเพิ่มขึ้นของดอกเบี้ยที่ลูกหนี้ต้องจ่ายเพราะถึงกำหนดการปรับดอกเบี้ยที่ต้องลอยตัวแล้ว โดยหนี้ที่ต้องมีการปรับอัตราดอกเบี้ย (ARM reset)จะทะยอยปรับในช่วงปี 2010-2012 ความล้มเหลวที่เกิดขึ้นจะลามไปตลาดอสังหาฯเชิงพาณิชย์ โครงการขนาดใหญ่ๆจะล้มเหลวในปีต่อไป เหมือนพลุบนท้องฟ้า ข่าวร้ายที่เกิดขึ้นใน 2 ตลาดนี้ อาจต้องใช้เวลาน้อยๆก็ 1 – 2 ทศวรรษในการฟื้นฟู ต้องขอบคุณวิศวกรรมการเงินของวอลล์สตรีท

7. หลังจากซื้อเวลาได้อีกครึ่งปี หุ้นอุตสาหกรรมส่วนบุคคล (PE) จะเผชิญแรงกดดันในปี 2010 โดยเฉพาะในครึ่งปีหลัง นักลงทุนส่วนบุคคลจะเรียกร้องความโปร่งใสในการแสดงมูลค่าที่แท้จริงของสิ่งที่พวกเขาลงทุนไป แล้วพวกเขาจะเริ่มค้นพบว่า ระบบ leverage หรือการลงทุนที่ใช้อัตราทดมันไม่ work เฮดฟันด์จะทะยอยปิดตัวเพิ่มขึ้นในปี 2010 หลังเศรษฐกิจฟุบรอบ 2

8. จีนจะยังคงอัตราการเติบโตราว 9% ในปี 2010 หลังจากทำได้ 9% ในปี2009 ความพยายามของจีนในการที่จะชวนให้ผู้บริโภคใช้จ่ายมากขึ้น ออมน้อยลง จะยังคงดำเนินต่อไป รัฐบาลกลางจะเริ่มโปรแกรมความปลอดภัยทางสังคม ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมอย่าง Health care ซึ่งจะตามมาหลังการเติบโตต่อเนื่องของเศรษฐกิจ ปัญหาปวดหัวของจีน คงจะเป็นการหาทางรับมือกับทุนสำรอง 80% ที่มีมูลค่าในเทอมดอลล่าร์และกำลังเผชิญกับการเสื่อมค่าลงทุกวัน

9. เงินเฟ้อจะแตะระดับ 10% วัดจากฐาน CPI ก่อนยุคคลินตัน ใช้เกณฑ์จาก www.shadowstats.com ในการเปรียบเทียบแอปเปิ้ลกับแอปเปิ้ลในปี 1970 มันเป็นการควร ที่น่าจะใช้สูตรคำนวณ CPI เดียวกันคือยุคก่อนสมัยคลินตัน เมื่อเงินเฟ้อหลุดออกจากกรง (การควบคุม) แล้ว อย่างที่ผมเชื่อว่ามันจะเกิดในปี 2010 มันเป็นไปไม่ได้ที่จะไปควบคุมมัน โดยไม่ทำอย่าง Paul Volcker อดีตประธานเฟด (ที่ขึ้นดอกเบี้ยอย่างแรง )ในปี 1980

10. น้ำมันจะแตะระดับ 3 หลัก (100 เหรียญ) อีกครั้งในปี 2010 ราคาปัจจุบันราว 70 เหรียญ กับซัพพลายที่จำกัด ผู้ผลิตน้ำมันจาก ทราย tar ยังไม่คุ้มที่จะผลิต พลังงานนิวเคลียร์จะได้รับความสนใจ เมื่อซัพพลายยูเรเนียมจากอดีตสหภาพโซเวียตใกล้หมด เทคโนโลยีสีเขียวจะมีการโอ้อวดเกินจริงและมีแผนการณ์อื่นมากกว่าจะเป็นเรื่องจริง ภัยคุกคามจากโลกร้อนจะถูกขยายจนเกินจริงจากนักการเมืองและสื่อ ประชาชนยังคงจำได้ว่าในปี 1970 ทุกคนได้รับฟังจากนักการเมืองและสื่อว่า อุณหภูมิของโลกกำลังลดลงและเราจะกลับสู่ยุคน้ำแข็ง เพียงแค่ 3 ทศวรรษต่อมา เราถูกบอกในทางตรงกันข้าม เรื่องจริงคือมนุษย์ไม่สามารถควบคุมอะไรเกี่ยวกับอุณหภูมิโลกได้ ไม่ว่าจะร้อนหรือเย็น มันแค่ตัวอย่างที่นักการเมืองตบตา และทำให้เสียงบประมาณมหาศาลไปตลอดทาง

หมอไพศาล

สำหรับภาวะเศรษฐกิจ การเมือง และตลาดหุ้นในปี 2553 หมอไพศาล พยากรณ์ให้ฟังว่า ในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2553 “ตลาดหุ้นจะไม่ดีอย่างแรง” โอกาสปรับตัวลงมาอยู่ระดับ 400 จุดอาจมีให้เห็นได้ ช่วงนี้เหมาะสมมากที่นักลงทุนจะหาจังหวะช้อนหุ้นที่ชื่นชอบเก็บเอาไว้โดยเฉพาะกลุ่มพลังงาน ถ่านหิน และวัสดุก่อสร้าง เป็นต้น เนื่องจากพระราหูย้ายเข้ามาอยู่ในราศีธนู ซึ่งบ่งบอกว่าธุรกิจประเภทดังกล่าวจะรุ่งเรืองมาก

หลังจากนั้นตั้งแต่ในเดือนมีนาคม-มิถุนายน 2553 ตลาดหุ้นจะมีอาการ “ทรงตัว” ก่อนจะทะยานขึ้นไปสู่ “จุดสูงสุด” ในระหว่างเดือนกันยายน – ธันวาคม 2553 ซึ่งมีโอกาสจะทะลุ 700 จุดหรือ 800 จุดได้ ในแง่ของเศรษฐกิจในปี 2553 ก็จะดีขึ้นเรื่อยๆ ส่วนราคาทองคำมีโอกาสทะลุ 20, 000 บาท ใครมีเงินซื้อทองคำ (แท่ง) เก็บเอาไว้ได้กำไรแน่นอน

=========================================

ไว้จบปี 2010 เรามาดูกันนะครับ

ผลลัพธ์