เวลานี้ได้ยินคำถามบ่อยว่า ตลาดหุ้นฟองสบู่หรือยัง ควรขายทิ้งหรือไม่
เรื่องนี้ก็แล้วใครจะมอง แต่โดยส่วนตัว ผมมองว่าตลาดหุ้นตอนนี้มีโอกาสที่จะเป็นฟองสบู่แล้วสูงมาก
เพราะอัตราดอกเบี้ยถูกเซ็ตให้ต่ำผิดปกติมาเป็นเวลานานพอสมควรแล้ว ต่อให้เวลานี้ยังไม่ใช่ฟองสบู่ แต่ถ้าดอกเบี้ยยังเป็นแบบนี้ต่อไป ตลาดหุ้นก็จะเข้าสู่ภาวะฟองสบู่ในที่สุด เพราะต้นทุนของเงินถูกบิดเบือนให้ต่ำกว่าความเป็นจริงไปมาก
หุ้นสองตัวที่มีกระแสเงินสดที่คาดการณ์ในอนาคตเหมือนกันทุกประการ ถ้าดอกเบี้ยในตลาดต่ำกว่าครึ่งหนึ่ง มูลค่าที่เหมาะสมของมันจะเพิ่มขึ้นได้มากกว่าเท่าตัว ทั้งที่ตัวธุรกิจเหมือนเดิมทุกอย่าง พรีเมี่ยมที่เกิดขึ้นนี้มาจากการที่ต้นทุนเงินในตลาดต่ำลงอย่างเดียว ไม่เกีี่ยวอะไรกับบริษัทเลย
บอกคนบอกว่าถ้าตลาดหุ้นเป็นฟองสบู่แล้วก็ควรล้างพอร์ตทิ้งเลย แ ต่การที่ตลาดเป็นฟองสบู่นั้นก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะต้องแตกเสมอไป มันอาจแตกวันพรุ่งนี้เลย หรือมันอาจขึ้นไปอีกสามเท่าตัวแล้วค่อยแตกในอีกแปดปีต่อมาก็เป็นไปได้ ฟองสบู่ปี 40 หรือฟองสบู่แนสเด็กนั้นกว่าจะแตกก็ต้องใช้เวลา 6-7 ปี นั่นคือความยากของการทำนายว่าเมื่อไรฟองสบู่จะแตก หรือใครจะรู้ว่าอัตราดอกเบี้ยที่เราว่าต่ำเกินไปนั้น อาจกำลังกลายมาเป็นระดับที่ปกติของโลกในยุคต่อไปก็ได้ ถ้าคิดว่าหุ้นแพงเมื่อไรก็ขายหุ้น แล้วหุ้นมันดันไม่ถูกลงอีกเลยนานนับสิบปี ทำให้เราเสียเวลาในการลงทุนไปเป็นสิบปี ก็ถือว่าเป็นความสูญเสียอีกรูปแบบหนึ่งเหมือนกัน
ในเมื่อเราไม่ได้เก่งขนาดที่จะทายได้ว่าฟองสบู่จะแตกเมื่อไร (ผมว่าเป็นเรื่องที่ทายได้ยากมาก) หรือรู้ล่วงหน้าว่าแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยในช่วงสิบปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ผมจึงไม่เห็นด้วยที่จะล้างพอร์ตในเวลานี้ต่อให้คิดว่าตลาดหุ้นเป็นฟองสบู่แล้วก็ตามครับ
มีคนอีกด้านหนึ่งเหมือนกันที่คิดไปถึงขนาดที่ว่าดอลล่าร์จะล่มสลาย แล้วทองคำ น้ำมัน รวมทั้งเงินเอเชียจะพุ่งทะยานยิ่งกว่านี้อีก และเอเชียจะก้าวขึ้นมายิ่งใหญ่ เพราะฉะนั้นต้องลงทุนให้เต็มอัตราศึก แต่ผมก็ไม่ได้มั่นใจถึงขนาดนั้นด้วยเช่นกัน ผมว่าปรากฏการณ์ความไม่สมดุลของโลกในเวลานี้เป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ตัวแปรที่เกี่ยวข้องก็เยอะมาก ไม่มีใครที่รู้จริงขนาดที่จะฟันธงได้ว่าจะต้องเกิดอย่างนั้นอย่างนี้ในที่สุด
ในภาวะแบบนี้ผมเลือกที่จะยังอยู่ในตลาดหุ้นต่อไป เพราะไม่อยากเสียโอกาสในการลงทุน แต่ในเวลาเดียวกันก็ตระหนักว่าหุ้นก็ไม่ได้ถูกแล้วและโอกาสที่ฟองสบู่จะแตกก็มีได้ด้วย จึงจำเป็นต้องมีวิธีคิดบางอย่างที่ช่วยป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายที่รุนแรงได้ด้วย
อย่างแรกก็คือ ผมมองว่าเงินของเราที่อยู่ในตลาดหุ้นอยู่แล้วเวลานี้ เรากำไรมาแล้วพอสมควร ตลาดหุ้นในช่วงสองปีที่ผ่านมาขึ้นมาไม่ใช่น่้อยๆ ดังนั้น ถ้าหากเงินจำนวนนี้จะอยู่ในตลาดต่อไป ไม่ว่าจะเป็นการถือตัวเดิม หรือเปลี่ยนตัวก็ตาม แล้วฟองสบู่แตกจริงๆ เราก็ไม่ได้เสียหายมากนัก เพราะเงินจำนวนนี้เป็นส่วนของกำไรอยู่ไม่ใช่น้อย แต่ถ้าหากเราขายหุ้นส่วนนี้ออกมาถือเป็นเงินสดแทน แล้วตลาดหุ้นเกิดทะยานต่ออย่างมากมายแบบที่มีบางคนเขาทายไว้อย่างนั้นได้จริง เราก็จะพลาดกำไรไปไม่น้อยเลย ฉะนั้นเงินส่วนนี้จึงมี upside สูง แต่ downside ต่ำ ถือเป็นโอกาสของเราที่จะ bet ต่อ จะถือตัวเดิมต่อ หรือมองหาตัวใหม่ก็ได้ไม่ต่างกัน หมุนไปหมุนมาอยู่ในหุ้นเหมือนเดิม
แต่ถ้าหากเป็นเงินก้อนใหม่ที่จะใส่เพิ่มเข้าไปอีกเพื่อเพิ่ม exposure ของเราในตลาดหุ้น อันนี้ผมจะคิดหนักหน่อย ถ้าไม่แน่ใจจริงๆ ว่าราคาที่เข้าซื้อไม่แพง ก็ถือว่าเสี่ยง คนที่เจ๊งในตลาดฟองสบู่ส่วนมากจะเจ๊งกันก็เพราะแบบนี้ เช่น ตอนแรกลงทุนไปแสนบาท ตลาดหุ้นพุ่งขึ้นไปเท่าตัวกลายเป็นสองแสนบาทดีใจใหญ่ คิดว่าตลาดหุ้นให้ผลตอบแทนที่ดีเหลือเกิน ก็เลยเอาเงินใส่เข้าไปเพิ่มอีก ห้าแสน กลายเป็นต้นทุนสี่แสน พอตลาดขึ้นต่ออีก 50% ดีใจใหญ่เลยหาเงินใหม่มาใส่เพิ่มอีกหนึ่งล้าน กลายเป็นว่ายิ่งต้นทุนสูงเรายิ่งมีน้ำหนักหุ้นมาก ซึ่งที่ถูกต้องควรจะเป็นตรงกันข้าม แบบนี้พอฟองสบู่แตกจะเสียหายหนักมาก แบบที่ร้ายที่สุดคือ ตอนฟองสบู่แตกแล้วคิดว่าหุ้นถูกลง (แต่ลืมไปว่าราคาเดิมคือราคาที่แพงมาก) ก็เลยทุ่มเงินใหม่ใส่เข้าไปอีกหลายเท่าตัว แทนที่จะเสียหายแค่นิดเดียวเลยกลายเป็นแทบหมดตัว เรื่องการคิดถึงน้ำหนักของแต่ละต้นทุนที่มีอยู่นี้เป็นสิ่งที่นักลงทุนหลายคนไม่เคยมองในมุมนี้มาก่อนเลย ทำให้พลาดเอาง่ายๆ ได้
อย่างไรก็ตาม บางคนอาจโชคไม่ดีตรงที่ตอนที่หุ้นถูกๆ ไม่ได้ถือหุ้นไว้มาก แบบนี้ก็อดใจได้ยากเหมือนกัน ที่จะไม่เพิ่มน้ำหนักหุ้นเข้าไปอีก ถ้าใครอยากเติมเงินเข้าไปในตลาดหุ้นอีก จริงๆ ก็ทำได้ครับ (ถ้าเป็นนักลงทุนที่เคร่งครัดจริงๆ คงไม่ทำเด็ดขาดถ้าเห็นว่าหุ้นแพงแล้ว แต่ผมว่า การอนุรักษ์นิยมมากเกินไปบางทีก็เป็นความเสี่ยงอย่างหนึ่งเหมือนกัน คือเราก็อาจเสียโอกาสที่จะให้เงินทำงานด้วย เอาเป็นว่า คำแนะนำของผมเป็นแบบที่อยู่ตรงกลางๆ ไม่ใช่นักลงทุนแบบเคร่งครัดสุดโต่งนะครับ) แต่จะต้องเอาเทคนิคในการลดความเสี่ยงของพวกเทรดเดอร์มาใช้ นั่นคือ เราอาจตั้งกฏเอาไว้ว่า เงินก้อนนี้หาลงไปแล้ว ตลาดหุ้น crash เราจะยอมขาดทุนแค่ไม่เกิน x% เกินเมื่อไรเราจะยอมขายขาดทุนเสมอ เพื่อลดความเสี่ยงที่จะขาดทุนมากๆ แบบนี้ถ้าตลาดหุ้นไปต่อเราก็ไม่เสียโอกาส แต่ถ้าฟองสบู่แตกเราก็ขาดทุนแค่ระดับหนึ่งเท่านั้น อย่างไรก็ตาม วิธีนี้ต้องอาศัยวินัยการลงทุนที่เคร่งครัดด้วยนะครับ เพราะถ้าถึงเวลาจริงๆ กลับไม่กล้าขายขาดทุนออกมาตามที่ได้ตั้งใจเอาไว้ เพราะทำใจไม่ได้ ก็ไม่มีประโยชน์ ลดความเสี่ยงไม่ได้เลย
เอาเป็นว่าทั้งหมดนี้เป็นเทคนิคเล็กๆ น้อยๆ ที่จะนำไปประยุกต์ใช้กันได้กับการลงทุนในตลาดหุ้นที่ช่วงเวลาที่เราคิดว่ามันอาจเป็นฟองสบู่
มีนักลงทุนบางท่านอยากให้ผมสรุปให้ฟังว่าเราจะสังเกตวิกฤตได้อย่างไรบ้าง จะได้คาดการณ์วิกฤตล่วงหน้าได้ทัน แต่ผมอยากบอกว่านั่นไม่ใช่วิธีลงทุนที่ดีนัก เพราะการทายว่าจะมีวิกฤตไม่ใช่เรื่องกล้วยๆ วิธีการที่น่าจะดีกว่าสำหรับนักลงทุนส่วนใหญ่คือการคิดว่า ถ้าออกหัวควรจะทำอย่างไร ถ้าออกกล้วยควรจะทำอย่างไร เรามีแผนการรับมือทุกสถานการณ์ไว้แล้วย่อมทำให้ตัวเองหลีกพ้นจากหายนะได้ ดีกว่าพยายามทายให้ได้ว่าจะอนาคตจะเป็นไง แล้วพอมันไม่ได้เป็นแบบนั้นปุ๊บก็ไปไม่ถูกเลย
เยี่ยมครับ 🙂
การเริ่มต้น 7thLTG เป็นตัวเลือกที่ถือว่าดีไหมครับในภาวะตลาดแบบนี้
สุดยอดครับ
แต่ผมยังสงสัยที่บอกว่า เงินเราที่อยู่ในตลาดหุ้นแล้วกำไรมาพอสมควร ถ้าฟองสบู่แตกเราก็ไม่เจ็บตัวมาก พี่มองว่าถึงฟองสบู่แตกแต่เซ็ตก็คงไม่ลงไปแถวๆ สี่ห้าร้อยแล้วเหรอครับ
อีกอย่างแต่ละคนอาจจะเข้าลงทุนไม่พร้อมกัน อย่างคนที่เริ่มเข้าลงทุนแถว เจ็ดแปดร้อย อันนี้ผมว่าฟองสบู่แตกก็เสียวๆนะครับ
อ่านอีกรอบ พอจะเข้าใจแล้วว่า พี่มองเทียบ upside กับ downside ขอบคุณสำหรับบทความดีๆนะครับ
ขอนอกเรื่องหน่อยครับ จะเลือกอะไรระหว่าง ข้อ 1 หรือ 2 ดีครับ
1. ลงทุนในหุ้นต่อในปีหน้า
2. เอาเงินไปจ่าย ธกส ที่ดอกเบี้ย 4.75 % (หรือรวมๆ ปีล่ะ 11,000 บาท ต่อ ปี)
ภายใต้เงื้อนไข
– ผมเริ่งลงทุนในหุ้นมา 2 ปี (ยังงูๆ ปลาๆ อยู่ แต่จะศึกษาให้มากครับ)
– มีเวลาในการติดตาม วันละ 1 ชั่วโมง
– เงินยังเป็นเงินเย็น ไม่มีอะไรผูกมัด
– แต่ผมชอบที่จะลงทุนในหุ้น มากกว่า
:laugh:
ถ้าถามผม ผมก็ชอบให้ปลดหนี้ก่อนอยู่แล้วล่ะครับ
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับเป้าหมายของแต่ละคน ถ้าหากมีเป้าหมายเพิ่ม wealth อย่างมีนัยสำคัญ และคิดว่ามีเวลาให้กับมันได้จริงๆ การที่เราสามารถกู้ ธกส.ได้ ก็ถือว่าได้เปรียบคนที่ไม่มีหนี้ข้างนอกแต่กู้มาร์จิ้นเอา เพราะมาร์จิ้นมีระยะเวลาคืนหนี้ที่ไม่แน่ไม่นอน ถือเป็นความเสี่ยงอย่างยิ่งที่จะนำมาใช้เล่นหุ้น ต่างกับเงินกู้ธนาคาร
สรุปแล้วขึ้นอยู่กับ risk preference ของคุณ zolo เอง
เป็นข้อเสนอแนะที่ดีคะ 🙂
ขอบคุณครับ เป็น ธอส (ผ่อนคอนโด) ครับ ไม่ใช้ ธกส พิมพ์ผิดไป ส่วนความคาดหวังในตลาดหุ้น ผมมีเป้าหมายเพียงแค่ 10 – 15 % ก็พอใจแล้วล่ะครับ ตาม 7thltg ในแวปนี้เลย ผมคงแบ่งเอาไปปลดหนี้บางส่วนดีกว่าครับ win – win
จริง ๆ แล้วก็ขึ้นอยู่กับสภาพการรับความเสี่ยงได้ของแต่ละบุคคลแหละครับ บางคนอาจจะกำไรมามาก แต่พอขาดทุนกำไร ก็รู้สึกว่าไม่เป็นสุขอยู่ดี 😛
ขอให้ทุกคนมีความสุขในการลงทุนครับ
ชอบครับ ตอนนี้ยังคิดไม่ออกเหมือนกันว่าปีหน้าจะเอายังไงดี ทางเลือกการลงทุนอื่นก็มีไม่มาก กลายเป็นตัวเองเหมือนคนอื่นที่ถูกบังคับให้อยู่ในตลาดต่อไป
ขอเสนอ idea นิดนึงครับ
จริง ๆ แล้ว ถ้าต้นทุนที่แท้จริงคือค่าเสียโอกาสแล้ว ต้นทุนของหุ้นควรจะเป็น ราคาหุ้น(ที่เราสามารถขายได้ตอนนี้)มากกว่าราคาหุ้นที่เราซื้อมานะครับ
ราคาหุ้นที่เราซื้อมาหรือเงินต้นที่เราลงทุนไปน่าจะจัดเป็น sunk-cost ไปแล้วอ่ะครับ
ดังนั้นผมคิดว่า เราควรจะมองว่า มูลค่าทั้งหมดของพอร์ตที่ราคาตลาดตอนนี้ คือต้นทุนของเราทั้งหมดครับ ถ้าเรามองว่ามีเงินส่วนนึงเป็นทุน(ต้องรักษาไว้) อีกส่วนเป็นกำไร(เสียหายไป ก็ไม่เป็นไร) อาจจะทำให้เราจัดส่วนที่มองว่าเป็นกำไรไปเสี่ยงกว่าปกติโดยไม่คุ้มครับ (bias แบบ house-money effect)
เนื่องจาก ต้นทุนที่แท้จริงคือค่าเสียโอกาส ซึ่งคือราคาหุ้นที่เราสามารถขายได้ในตอนนี้ ตรงนี้ผมเห็นว่า เราจะเสียหาย(ขาดทุน) สูงมากนะครับ