0349: Guru Watchdog (Result)

สืบเนื่องจาก 0252: Guru Watchdog

Jim Rogers (Source 1 2 3 )

– ช่วงนี้ผมสะสมดอลลาร์เพิ่มขึ้น เพราะเห็นว่าทุกคนมองดอลลาร์ร้ายกันหมด แต่ก็ยังเป็นจำนวนที่น้อยกว่าเงินสกุลอื่นๆ ที่ผมถืออยู่ เพราะยังไงๆ ดอลลาร์ก็จะแย่ลงเรื่อยๆ ในระยะยาว ผมแค่อยากจะลองทำกำไรระยะสั้นเท่านั้น แต่ผมไม่ใช่คนเล่นสั้นที่เก่งเลย

[อันนี้ถือว่าถูก เพราะ USD Index ต้นปี 78 ขึ้นไปสูงสุด 88 ตอนนี้ 80ได้กำไรน้อยมาก แต่ก็ยังถือว่าไม่ทำให้ขาดทุน]

– ตอนนี้ ผมยังไม่ซื้อทองคำเพิ่ม เพราะผมถือทองคำอยู่แล้ว แต่จะไม่ขายมันด้วย ถ้าหากทองคำลงไปแตะต่ำกว่าพันเหรียญ ผมก็จะซื้อเพิ่มอีก เพราะภายในปี 2019 ทองคำจะต้องยืนเหนือระดับ $2, 000 ได้อย่างแน่นอน และนั่นไม่ใช่สมมติฐานที่มากเกินไปเลย

[อันนี้ไม่รู้เพราะผ่านไปแค่ปีเดียว]

– ปีหน้าเราอาจจะเห็นรัฐบาลของบางประเทศประสบปัญหาทางการเงินเพิ่มอีก อาจจะเป็น อาร์เจนติน่า ยูเครน หรือแม้แต่ UK ก็เป็นไปได้ ในช่วงสองสามปีนี้จะต้องมีวิกฤตการเงินอีกอย่างแน่นอน นอกเหนือจากทองคำแล้ว silver และเงินสกุลเอเชียบางประเทศก็น่าสนใจด้วย

[เรื่องรัฐบาลมีปัญหาถือว่าถูก แต่ผิดประเทศ เชียร์ silver และเงินเอเชีย ถูกต้อง อันนี้ยอดเยี่ยม]

– สินค้าเกษตรน่าสนใจมาก เพราะว่าราคาของมันตกต่ำมาเป็นทศวรรษแล้ว ผมว่ามันเป็นสินทรัพย์ที่ราคาถูกที่สุดในตอนนี้ เรากำลังจะมีวิกฤตอาหาร ตอนนี้ข้าวสร้าง all time high ได้แล้ว แต่น้ำตาลยังห่าง all time high อยู่มาก

[อันนี้ไม่รู้ว่าจะถือว่าถูกหรือผิดดี เพราะน้ำตาลระหว่างวิ่งร่วงลงแบบดิ่งนรก แต่ปลายปีกลับขึ้นมาสูงกว่าต้นปีแต่น้อยมาก]

– ช่วงนี้เป็นช่วงที่แปลกมาก เพราะผมไม่ได้ short อะไรเลย ผมหาไม่เจอว่ามีอะไรที่ราคาแพงมากๆ แต่ถ้าจะให้ short ผมคงเลือก US Government Bond

[อันนี้ก็ไม่รู้ว่าจะถือว่าถูกหรือผิดดี เพราะระหว่างปีตลาดบอนด์วิ่งแรง แต่ปลายปีกลับมาอยู่เกือบเท่ากับตอนต้นปีดีขึ้นน้อยมาก น่าจะถือว่าผิดนะ]

Marc Faber (Source)

Overall, 2010 will not be one for the record books, as 2009 was. He’s looking at a more normal 5%-10% rate of return for global investors. [ถือว่าเกือบถูก MSCI World Index +3.6% ปีนี้้]

Here are Faber’s views on other markets and asset classes:

Asia: “Longer term we’ll have still favorable growth, ” he says. He thinks India and Japan both offer opportunities. In his eyes, this view gained even more credibility after they were not mentioned once during the Barron’s round-table discussion.

[อันนี้ยังตอบไม่ได้ เพราะระยะยาว]

Bonds: The bull market in Treasuries that lasted from 1980-2008 is a thing of the past. Near term: after a dismal 2009 the bond market could be in for a rebound. Longer term: look for exit opportunities in Treasuries.

[ไม่รู้ เพราะระยะยาว]

Gold: Still a long-term buy.

[คำแนะนำที่ดี]

Oil: Prices in the $80s make sense since the marginal cost to find a barrel is about $70. Longer term he expects prices to continue rising as demand increases from the developing world.

[คำแนะนำที่ดี]

Agricultural commodities: In the short term, Faber’s favorite commodity is wheat. He advises against buying the wheat ETFs because they’re relatively expensive. Instead, play it through farm land or potash companies, he says. [คำแนะนำนี้ไม่มีประโยชน์อะไร WEAT แทบไม่เปลี่ยนแปลงตลอดปี]

โทมัส ตัน (ที่มา)

1. ทองคำ จะแตะระดับ 1500 เหรียญต่อออนซ์ในปี 2010 [ผิด] หรือหมายถึงขึ้นไปอีก 50% จากระดับปัจจุบัน ส่วนโลหะเงินก็จะตามกันไป แตะระดับ 25 เหรียญต่อออนซ์ [ถูก ตอนนี้ 29 อันนี้เยี่ยม] ส่วนดัชนีหุ้นเหมืองทองคำ HUI จะขึ้นผ่าน 600 เหรียญ [ผิด ตอนนี้ 559] ด้วย

2. ดัชนี USD index จะเหลือ 60 จุด [ผิด ตอนนี้ 80 ไม่เคยลงไปถึง 60 เลยด้วย]

3. ตลาดหมีใน S&P ที่รีบาวน์อยู่ในตอนนี้ จะขึ้นต่อได้อีกราว 7 เดือน จากเดือนมกราคมถึงกรกฎาคม [ผิด 7 เดือนแรกลงมากกว่า] แล้วหลังจากนั้น ตลาดจะต้องเผชิญกับหน้าผาสูงชันที่จะมาเขย่าขวัญอีกเป็นครั้งที่ 2 ซึ่งจะเกิดขึ้นตั้งแต่เดือนสิงหาคมไปจนถึงสิ้นปี [ผิด ปลายปีเป็นขาขึ้นชัดเจน]

4. หุ้น Citigroup จะลดลงเหลือต่ำกว่า 2 เหรียญอีกครั้ง [ผิด ตอนนี้ 4.6] (ปัจจุบัน 3.30 อดีตก่อนเกิดวิกฤติอยู่ที่เกิน 50)

5. ผลตอบแทนพันธบัตร 10 ปีของสหรัฐ จะเพิ่มขึ้น 2 เท่าจาก 1.5% ในปัจจุบันเป็น 3% ซึ่งนี่จะเป็นสิ่งที่สร้างความประหลาดใจครั้งใหญ่ [ถูก ตอนนี้ 3 กว่า]

6. การรีบาวน์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันของดัชนี S&P/Case-Schiller จะเกิดแค่ช่วงสั้นๆ ดัชนี Schiller จะร่วงลงมากกว่า 15% ในปี 2010 ต่ำกว่า 120 [ผิด ตลอดปีไม่มีแตะ 120 เลย ห่างไกลมาก]

7. หลังจากซื้อเวลาได้อีกครึ่งปี หุ้นอุตสาหกรรมส่วนบุคคล (PE) จะเผชิญแรงกดดันในปี 2010 โดยเฉพาะในครึ่งปีหลัง

8. จีนจะยังคงอัตราการเติบโตราว 9% ในปี 2010 [ถือว่าถูก]

9. เงินเฟ้อจะแตะระดับ 10% วัดจากฐาน CPI [ผิด]

10. น้ำมันจะแตะระดับ 3 หลัก (100 เหรียญ) อีกครั้งในปี 2010 [ผิด] ราคาปัจจุบันราว 70 เหรียญ

หมอไพศาล

สำหรับภาวะเศรษฐกิจ การเมือง และตลาดหุ้นในปี 2553 หมอไพศาล พยากรณ์ให้ฟังว่า ในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2553 “ตลาดหุ้นจะไม่ดีอย่างแรง” โอกาสปรับตัวลงมาอยู่ระดับ 400 จุดอาจมีให้เห็นได้ [ผิด] ช่วงนี้เหมาะสมมากที่นักลงทุนจะหาจังหวะช้อนหุ้นที่ชื่นชอบเก็บเอาไว้โดย เฉพาะกลุ่มพลังงาน ถ่านหิน และวัสดุก่อสร้าง เป็นต้น เนื่องจากพระราหูย้ายเข้ามาอยู่ในราศีธนู ซึ่งบ่งบอกว่าธุรกิจประเภทดังกล่าวจะรุ่งเรืองมาก

หลังจากนั้นตั้งแต่ในเดือนมีนาคม-มิถุนายน 2553 ตลาดหุ้นจะมีอาการ “ทรงตัว” [ผิด เจอวิกฤตช่วงเมษา] ก่อนจะทะยานขึ้นไปสู่ “จุดสูงสุด” ในระหว่างเดือนกันยายน – ธันวาคม 2553 [ถูก] ซึ่งมีโอกาสจะทะลุ 700 จุดหรือ 800 จุดได้ ในแง่ของเศรษฐกิจในปี 2553 ก็จะดีขึ้นเรื่อยๆ ส่วนราคาทองคำมีโอกาสทะลุ 20, 000 บาท ใครมีเงินซื้อทองคำ (แท่ง) เก็บเอาไว้ได้กำไรแน่นอน [ถือว่าถูก]


0352: ลงทุนในตลาดฟองสบู่

เวลานี้ได้ยินคำถามบ่อยว่า ตลาดหุ้นฟองสบู่หรือยัง ควรขายทิ้งหรือไม่

เรื่องนี้ก็แล้วใครจะมอง แต่โดยส่วนตัว ผมมองว่าตลาดหุ้นตอนนี้มีโอกาสที่จะเป็นฟองสบู่แล้วสูงมาก

เพราะอัตราดอกเบี้ยถูกเซ็ตให้ต่ำผิดปกติมาเป็นเวลานานพอสมควรแล้ว ต่อให้เวลานี้ยังไม่ใช่ฟองสบู่ แต่ถ้าดอกเบี้ยยังเป็นแบบนี้ต่อไป ตลาดหุ้นก็จะเข้าสู่ภาวะฟองสบู่ในที่สุด เพราะต้นทุนของเงินถูกบิดเบือนให้ต่ำกว่าความเป็นจริงไปมาก

หุ้นสองตัวที่มีกระแสเงินสดที่คาดการณ์ในอนาคตเหมือนกันทุกประการ ถ้าดอกเบี้ยในตลาดต่ำกว่าครึ่งหนึ่ง มูลค่าที่เหมาะสมของมันจะเพิ่มขึ้นได้มากกว่าเท่าตัว ทั้งที่ตัวธุรกิจเหมือนเดิมทุกอย่าง พรีเมี่ยมที่เกิดขึ้นนี้มาจากการที่ต้นทุนเงินในตลาดต่ำลงอย่างเดียว ไม่เกีี่ยวอะไรกับบริษัทเลย

บอกคนบอกว่าถ้าตลาดหุ้นเป็นฟองสบู่แล้วก็ควรล้างพอร์ตทิ้งเลย แ ต่การที่ตลาดเป็นฟองสบู่นั้นก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะต้องแตกเสมอไป มันอาจแตกวันพรุ่งนี้เลย หรือมันอาจขึ้นไปอีกสามเท่าตัวแล้วค่อยแตกในอีกแปดปีต่อมาก็เป็นไปได้ ฟองสบู่ปี 40 หรือฟองสบู่แนสเด็กนั้นกว่าจะแตกก็ต้องใช้เวลา 6-7 ปี  นั่นคือความยากของการทำนายว่าเมื่อไรฟองสบู่จะแตก หรือใครจะรู้ว่าอัตราดอกเบี้ยที่เราว่าต่ำเกินไปนั้น อาจกำลังกลายมาเป็นระดับที่ปกติของโลกในยุคต่อไปก็ได้ ถ้าคิดว่าหุ้นแพงเมื่อไรก็ขายหุ้น แล้วหุ้นมันดันไม่ถูกลงอีกเลยนานนับสิบปี ทำให้เราเสียเวลาในการลงทุนไปเป็นสิบปี ก็ถือว่าเป็นความสูญเสียอีกรูปแบบหนึ่งเหมือนกัน

ในเมื่อเราไม่ได้เก่งขนาดที่จะทายได้ว่าฟองสบู่จะแตกเมื่อไร (ผมว่าเป็นเรื่องที่ทายได้ยากมาก) หรือรู้ล่วงหน้าว่าแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยในช่วงสิบปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ผมจึงไม่เห็นด้วยที่จะล้างพอร์ตในเวลานี้ต่อให้คิดว่าตลาดหุ้นเป็นฟองสบู่แล้วก็ตามครับ

มีคนอีกด้านหนึ่งเหมือนกันที่คิดไปถึงขนาดที่ว่าดอลล่าร์จะล่มสลาย แล้วทองคำ น้ำมัน รวมทั้งเงินเอเชียจะพุ่งทะยานยิ่งกว่านี้อีก และเอเชียจะก้าวขึ้นมายิ่งใหญ่ เพราะฉะนั้นต้องลงทุนให้เต็มอัตราศึก แต่ผมก็ไม่ได้มั่นใจถึงขนาดนั้นด้วยเช่นกัน ผมว่าปรากฏการณ์ความไม่สมดุลของโลกในเวลานี้เป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ตัวแปรที่เกี่ยวข้องก็เยอะมาก ไม่มีใครที่รู้จริงขนาดที่จะฟันธงได้ว่าจะต้องเกิดอย่างนั้นอย่างนี้ในที่สุด

ในภาวะแบบนี้ผมเลือกที่จะยังอยู่ในตลาดหุ้นต่อไป เพราะไม่อยากเสียโอกาสในการลงทุน แต่ในเวลาเดียวกันก็ตระหนักว่าหุ้นก็ไม่ได้ถูกแล้วและโอกาสที่ฟองสบู่จะแตกก็มีได้ด้วย จึงจำเป็นต้องมีวิธีคิดบางอย่างที่ช่วยป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายที่รุนแรงได้ด้วย

อย่างแรกก็คือ ผมมองว่าเงินของเราที่อยู่ในตลาดหุ้นอยู่แล้วเวลานี้ เรากำไรมาแล้วพอสมควร ตลาดหุ้นในช่วงสองปีที่ผ่านมาขึ้นมาไม่ใช่น่้อยๆ ดังนั้น ถ้าหากเงินจำนวนนี้จะอยู่ในตลาดต่อไป ไม่ว่าจะเป็นการถือตัวเดิม หรือเปลี่ยนตัวก็ตาม แล้วฟองสบู่แตกจริงๆ เราก็ไม่ได้เสียหายมากนัก เพราะเงินจำนวนนี้เป็นส่วนของกำไรอยู่ไม่ใช่น้อย แต่ถ้าหากเราขายหุ้นส่วนนี้ออกมาถือเป็นเงินสดแทน แล้วตลาดหุ้นเกิดทะยานต่ออย่างมากมายแบบที่มีบางคนเขาทายไว้อย่างนั้นได้จริง เราก็จะพลาดกำไรไปไม่น้อยเลย ฉะนั้นเงินส่วนนี้จึงมี upside สูง แต่ downside ต่ำ ถือเป็นโอกาสของเราที่จะ bet ต่อ จะถือตัวเดิมต่อ หรือมองหาตัวใหม่ก็ได้ไม่ต่างกัน หมุนไปหมุนมาอยู่ในหุ้นเหมือนเดิม

แต่ถ้าหากเป็นเงินก้อนใหม่ที่จะใส่เพิ่มเข้าไปอีกเพื่อเพิ่ม exposure ของเราในตลาดหุ้น อันนี้ผมจะคิดหนักหน่อย ถ้าไม่แน่ใจจริงๆ ว่าราคาที่เข้าซื้อไม่แพง ก็ถือว่าเสี่ยง คนที่เจ๊งในตลาดฟองสบู่ส่วนมากจะเจ๊งกันก็เพราะแบบนี้ เช่น ตอนแรกลงทุนไปแสนบาท ตลาดหุ้นพุ่งขึ้นไปเท่าตัวกลายเป็นสองแสนบาทดีใจใหญ่ คิดว่าตลาดหุ้นให้ผลตอบแทนที่ดีเหลือเกิน ก็เลยเอาเงินใส่เข้าไปเพิ่มอีก ห้าแสน กลายเป็นต้นทุนสี่แสน พอตลาดขึ้นต่ออีก 50% ดีใจใหญ่เลยหาเงินใหม่มาใส่เพิ่มอีกหนึ่งล้าน กลายเป็นว่ายิ่งต้นทุนสูงเรายิ่งมีน้ำหนักหุ้นมาก ซึ่งที่ถูกต้องควรจะเป็นตรงกันข้าม แบบนี้พอฟองสบู่แตกจะเสียหายหนักมาก แบบที่ร้ายที่สุดคือ ตอนฟองสบู่แตกแล้วคิดว่าหุ้นถูกลง (แต่ลืมไปว่าราคาเดิมคือราคาที่แพงมาก) ก็เลยทุ่มเงินใหม่ใส่เข้าไปอีกหลายเท่าตัว แทนที่จะเสียหายแค่นิดเดียวเลยกลายเป็นแทบหมดตัว เรื่องการคิดถึงน้ำหนักของแต่ละต้นทุนที่มีอยู่นี้เป็นสิ่งที่นักลงทุนหลายคนไม่เคยมองในมุมนี้มาก่อนเลย ทำให้พลาดเอาง่ายๆ ได้

อย่างไรก็ตาม บางคนอาจโชคไม่ดีตรงที่ตอนที่หุ้นถูกๆ ไม่ได้ถือหุ้นไว้มาก แบบนี้ก็อดใจได้ยากเหมือนกัน ที่จะไม่เพิ่มน้ำหนักหุ้นเข้าไปอีก ถ้าใครอยากเติมเงินเข้าไปในตลาดหุ้นอีก จริงๆ ก็ทำได้ครับ (ถ้าเป็นนักลงทุนที่เคร่งครัดจริงๆ คงไม่ทำเด็ดขาดถ้าเห็นว่าหุ้นแพงแล้ว แต่ผมว่า การอนุรักษ์นิยมมากเกินไปบางทีก็เป็นความเสี่ยงอย่างหนึ่งเหมือนกัน คือเราก็อาจเสียโอกาสที่จะให้เงินทำงานด้วย เอาเป็นว่า คำแนะนำของผมเป็นแบบที่อยู่ตรงกลางๆ ไม่ใช่นักลงทุนแบบเคร่งครัดสุดโต่งนะครับ) แต่จะต้องเอาเทคนิคในการลดความเสี่ยงของพวกเทรดเดอร์มาใช้ นั่นคือ เราอาจตั้งกฏเอาไว้ว่า เงินก้อนนี้หาลงไปแล้ว ตลาดหุ้น crash เราจะยอมขาดทุนแค่ไม่เกิน x% เกินเมื่อไรเราจะยอมขายขาดทุนเสมอ เพื่อลดความเสี่ยงที่จะขาดทุนมากๆ แบบนี้ถ้าตลาดหุ้นไปต่อเราก็ไม่เสียโอกาส แต่ถ้าฟองสบู่แตกเราก็ขาดทุนแค่ระดับหนึ่งเท่านั้น อย่างไรก็ตาม วิธีนี้ต้องอาศัยวินัยการลงทุนที่เคร่งครัดด้วยนะครับ เพราะถ้าถึงเวลาจริงๆ กลับไม่กล้าขายขาดทุนออกมาตามที่ได้ตั้งใจเอาไว้ เพราะทำใจไม่ได้ ก็ไม่มีประโยชน์ ลดความเสี่ยงไม่ได้เลย

เอาเป็นว่าทั้งหมดนี้เป็นเทคนิคเล็กๆ น้อยๆ ที่จะนำไปประยุกต์ใช้กันได้กับการลงทุนในตลาดหุ้นที่ช่วงเวลาที่เราคิดว่ามันอาจเป็นฟองสบู่

มีนักลงทุนบางท่านอยากให้ผมสรุปให้ฟังว่าเราจะสังเกตวิกฤตได้อย่างไรบ้าง จะได้คาดการณ์วิกฤตล่วงหน้าได้ทัน แต่ผมอยากบอกว่านั่นไม่ใช่วิธีลงทุนที่ดีนัก เพราะการทายว่าจะมีวิกฤตไม่ใช่เรื่องกล้วยๆ วิธีการที่น่าจะดีกว่าสำหรับนักลงทุนส่วนใหญ่คือการคิดว่า ถ้าออกหัวควรจะทำอย่างไร ถ้าออกกล้วยควรจะทำอย่างไร เรามีแผนการรับมือทุกสถานการณ์ไว้แล้วย่อมทำให้ตัวเองหลีกพ้นจากหายนะได้ ดีกว่าพยายามทายให้ได้ว่าจะอนาคตจะเป็นไง แล้วพอมันไม่ได้เป็นแบบนั้นปุ๊บก็ไปไม่ถูกเลย

0345: ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล

จุดอ่อนอย่างหนึ่งของตลาดหุ้นบ้านเราคือ บ้านเราไม่ใช่สังคมแบบทุนนิยม บริษัทจำนวนมากจึงไม่อยู่ในโหมดของการแสวงหาการเติบโตแบบต่อเนื่อง ทำให้หาหุ้นเติบโตที่จะลงทุนในระยะยาวได้ยาก พวกที่บอกว่าจะโตเยอะๆ ก็มักเป็นพวกหน้าใหม่ ต้นทุนทางสังคมต่ำ ลงทุนระยะยาวแล้วเสียวมาก เพราะที่ปรากฏว่าโตได้ปีเดียวแล้ว แต่หลังจากนั้นก็ขาดทุนหนักมีเยอะ พวกที่มีฐานธุรกิจที่มั่นคงแล้วก็มักไม่อยู่ในโหมดของการเติบโตแล้ว จะหาแบบที่พื้นฐานดีๆ และในเวลาเดียวกันก็โตไปเรื่อยๆ ด้วย (best of both worlds) ยาก ต้องเฟ้นกันหนัก

ผมว่านี่คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผมเริ่มสนใจบริษัทนี้ เพราะไมเนอร์เป็นหนึ่งในบริษัทที่มีฐานธุรกิจที่ค่อนข้างมั่นคงแล้ว แต่ก็ยังมี “สัญญาใจ” กับผู้ถือหุ้นที่จะเติบโตต่อไปเรื่อยๆ ให้ได้ปีละ 20% โดยไม่มีวันหยุด (ระบุไว้ในวิสัยทัศน์ของบริษัทด้วย) มันจึงเป็น candidate ของ 7LTG ที่น่าสนใจมาก การลงทุนในบริษัทที่ยังต้องพึ่งพาตลาดทุนในการขยายธุรกิจอยู่เสมอ ยังมีข้อดีอีกตรงที่บริษัทยังต้องแคร์ความรู้สึกของผู้ถือหุ้นอยู่ ถามอะไรก็รีบตอบ ตีหัวเข้าบ้านยังไม่ได้ ต่างกับบริษัทที่ธุรกิจอิ่มตัวแล้ว พึ่งตัวเองในเรื่องเงินทุนได้ อาจมองผู้ถือหุ้นเป็นแค่ยุงรำคาญที่รอแต่จะเอาเงินปันผลจากบริษัท

แต่ก็ไม่ได้แปลว่าแค่มีสัญญาใจว่าจะโตไปเรื่อยๆ แล้วจะทำให้ผมตัดสินใจลงทุนได้ บริษัทต้องมี Growth Strategy ที่มีความเป็นไปได้ด้วย นอกเหนือจากประวัติศาสตร์อันยาวนานของบริษัท

รายได้กว่าครึ่งของไมเนอร์นั้นมาจากการทำธุรกิจเชนร้านอาหารตามห้างฯ ตัวอย่างเช่น Burger King, DQ, Swensens, Sizzler, The Pizza Company เป็นต้น ธุรกิจแบบนี้โตไปเรื่อยๆ ได้ไม่ยาก เพราะมีการขยายสาขาเพิ่มขึ้นทุกปี ตามการขยายตัวของห้างฯ แรกๆ ก็ต้องลงทุนขยายสาขาเองก่อนซึ่งจะใช้เงินทุนมากหน่อย เมื่อแ่บรนด์ไหนติดตลาดแล้วก็จึงสามารถขาย Franchise เพื่อให้การขยายสาขาไม่ต้องใช้เงินลงทุนเยอะมากได้ นับเป็นการเอา intellectual property ที่สร้างมาในช่วงแรกมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในภายหลัง ทำเช่นนี้ไปเรื่อยๆ นอกจากนี้บริษัทยังมีการขยายสาขาไปต่างประเทศ โดยวิธีเข้าไปถือหุ้นแบรนด์ที่เห็นว่ามีศักยภาพ เช่น the Coffee Club (Australia), Thai Express (Singapore) แล้วเติบโตไปกับเขา เป็นต้น เหตุที่การขยายธุรกิจไปต่างประเทศควรใช้วิธีนี้เพราะในต่างประเทศแบรนด์สากลก็มักจะมีคนอื่นถือสิทธิ์อยู่แล้ว เลยต้องโตไปกับ local brand ของประเทศนั้นๆ ที่เห็นว่ามีศักยภาพแทน

ปัจจุบันบริษัทมีแล้ว 1133 ร้านสาขา (เป็น Franchise 39%) เทียบกับเมื่อ 8 ปีที่แล้วที่มีแค่ 354 สาขาและเป็นร้านของตัวเองเกือบทั้งหมด การที่สาขาเป็นแบบ Franchise มากขึ้นย่อมแสดงถึง intellectual property ที่เพิ่มขึ้นของบริษัท ภายในปี 2015 บริษัทจะมีให้ได้ 2174 สาขา และเป็น Franchise ให้ถึง 64% ให้ได้ ธุรกิจอาหารเป็นส่วนที่ผมชอบที่สุดของไมเนอร์ เพราะที่ผ่านมาสามารถสร้างการเติบโตได้อย่างสม่ำเสมอ และเราเห็นได้ชัดเจนว่าเขาทำตลาดได้เก่งกว่าคู่แข่งของเขาเป็นส่วนใหญ่ (Pizza Hut, Baskin Robbins, etc.) จะแย่หน่อยตรงที่ต่างประเทศเวลานี้ยังแย่อยู่ เช่น The Pizza Company ที่จีน ทุกวันนี้ยังขาดทุนอยู่, Thai Express ยังหดตัว เป็นต้น แต่ผมก็มองว่า ถ้าให้เวลาบริษัทแก้ปัญหาสักพักต้องดีขึ้น เหมือนอย่างสมัยก่อนตอนที่เขาเริ่มทำตลาด Pizza Hut ใหม่ๆ เขาต้องใช้เวลาอยู่นานหลายปีกว่าจะประสบความสำเร็จเหมือนอย่างเช่นทุกวันนี้ ส่วนการซื้อแบรนด์ต่างประเทศที่ผ่านมาแม้จะดูเหมือนเป็นแบรนด์ที่ยังไม่ค่อยเวิร์คเท่าไร แต่ผมก็มองว่านั่นคือกลยุทธ์ที่ถูกต้อง เพราะคุณควรซื้อแบรนด์ที่ยัง mismanaged อยู่แล้วเอา know-how ของคุณเข้าไปปรับปรุงเพื่อ unlock value ออกมา มากกว่าที่จะซื้อแบรนด์ที่สมบูรณ์แบบอยู่แล้วตั้งแต่แรกด้วยราคาแพงๆ

ธุรกิจอีกส่วนของไมเนอร์คือ ธุรกิจโรงแรม ซึ่งมีอยู่หลายแบรนด์เช่นกัน เช่น Anantara, Four Seasons, JW Marriott เป็นต้น โมเดลเติบโตก็เป็นแบบเดียวกันเปี๊ยบคือขยายสาขาไปเรื่อยๆ แต่ต่างกันตรงที่ ธุรกิจโรงแรมนั้นลงทุนเริ่มต้นสูงกว่ามาก แต่กลับคืนทุนได้ช้ากว่า สรุปก็คือ ห่วยกว่าธุรกิจอาหารนั่นเอง เพราะโรงแรมเป็นธุรกิจที่เข้ามาได้ง่ายมาก ลองนึกดูสิว่าแต่ละปีมีโรงแรมใหม่ๆ เกิดขึ้นมากขนาดไหน ฉะนั้นต่อให้เป็นโรงแรมหรูๆ ก็ยังคาดหวัง IRR ไ้ด้แค่ระดับสิบกว่าเปอร์เซนต์เท่านั้น อีกทั้งโรงแรมยังเป็นธุรกิจที่อ่อนไหวต่อ consumer sentiment อย่างมากอีกต่างหาก ช่วงสองปีที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากปัญหาการเมืองอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตามบริษัทก็พยายามใช้โมเดลรับจ้างบริหารแทนการลงทุนสร้างโรงแรมเอง เพื่อช่วยลดเงินลงทุน (asset-light strategy) และเพิ่ม ROI แต่วิธีนี้ก็มีจุดอ่อนตรงที่ตัวเลขรายได้ที่เข้ามาจะค่อนข้างเล็ก ทำให้สร้างการเติบโตแบบเป็นกอบเป็นกำตามเป้าไม่ได้ บริษัทจึงยังต้องเน้นการสร้างโรงแรมเองควบคู่ไปกับการรับจ้างบริหารต่อไป ธุรกิจโรงแรมของบริษัทเป็นส่วนที่ผมไม่ค่อยชอบเอาเสียเลย แม้ว่า EBITDA จะดูสูงกว่าอาหาร แต่ที่จริงแล้วก็เป็นเรื่องหลอกตา เพราะว่า CAPEX ของมันสูงมาก ผมว่าที่บริษัททำธุรกิจนี้ส่วนหนึ่งมาจาก passion ส่วนตัวของเจ้าของเองด้วยจึงเป็นเรื่องที่มีอารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้องมากกว่าแค่เหตุผลทางธุรกิจ

ช่วงหลังบริษัทพบว่าการทำ Residence แบบขายขาด จะให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าการทำเป็นโรงแรม (แม้ว่าจะเป็นรายได้ที่ขึ้นๆ ลงๆ) บริษัทจึงหันมาทำ Property เสริมด้วยอีกส่วนหนึ่งในนาม St.Regis ขายขาดยูนิตละ 70-200 ล้านบาท ก็เลยเพิ่มมาอีกสายธุรกิจหนึ่ง ในอนาคตบริษัทก็ยังคิดทำ Timeshare เพื่อช่วยดึง Occupancy Rate ให้ stable ขึ้น (at the expense of room rate) เรื่องการเติบโตด้วย room rate นั้นในกรุงเทพตอนนี้หวังยากเพราะ oversupply การแข่งขันรุนแรงราคามาก ที่หวังขึ้นได้บ้างก็คงเป็นส่วนของต่างจังหวัดและต่างประเทศมากกว่า เวลานี้บริษัทเริ่มมองลูกค้าจีน อินเดีย ตะวันออกกลาง ที่มีกำลังสูง เพื่อมาทดแทนลูกค้ายุโรปที่กำลังซื้อตกลงไปจากวิกฤต ในอนาคตบริษัทกำลังพิจารณาขายโรงแรมในพอร์ตบางส่วนที่เห็นว่ามี market value สูงกว่า book value มากๆ เพื่อเป็นการ unlock value ในส่วนที่ตลาดหุ้นไม่ได้ให้พรีเมี่ยมด้วย

จะเห็นว่าแม้ธุรกิจโรงแรมจะมีปัญหาต่อเนื่องแต่ บริษัทก็พยายามหาทางแก้ไขตลอด และ occupancy rate ของบริษัทนั้นสูงกว่าระดับเฉลี่ยของอุตสาหกรรมตลอด แสดงว่าพอร์ตของบริษัทค่อนข้างดีกว่าคู่แข่ง ทำให้บริษัทก็ยังคงมีกำไรได้แม้ในช่วงที่ยากลำบากที่สุด ซึ่งคู่แข่งล้วนติดตัวแดงกันไปหมดแล้ว เลยพอจะให้อภัยในส่วนนี้ได้

ปัจจุบันบริษัทมีห้องพักรวม 3655 ห้อง เป็นรับจ้างบริหาร 18% เทียบกับแปดปีก่อนที่ี 2055 ห้องลงทุนเองหมด ภายในปี 2015 บริษัทจะมีให้ได้ 5791 ห้อง และเป็นรับจ้างบริหารให้ได้ถึง 40% (ผมว่า aggressive ไปนิด)

ธุรกิจส่วนสุดท้ายคือร้านเสื้อผ้าแบรนด์เนม เช่น GAP, Esprit, Bossini เป็นต้น ธุรกิจส่วนนี้ยังขาดทุนอยู่ แต่เป็นสัดส่วนที่เล็กจึงไม่น่ากลัวเท่าไร และผมก็มองว่า ในอนาคตน่าจะดีขึ้น เพราะคนไทยน่าจะมีความเป็นอยู่สูงขึ้น ค่าเงินบาทก็แข็ง ธุรกิจแบบนี้จึงน่าจะได้ประโยชน์ในอนาคตอันใกล้นี้นะครับ

ช่วงสองปีที่ผ่านมา บริษัทโดนมรสุมอย่างหนักทั้งวิกฤตการเมืองและเศรษฐกิจ ซึ่งกระทบธุรกิจของบริษัทโดยตรงแทบทุกสายธุรกิจ จึงไม่สามารถเติบโต 20% ได้ตามสัญญา ต่างกับแต่ก่อนนี้ที่บริษัทเติบโตได้ 20% ทุกปี ติดต่อกัน 6-7 ปีเลยทีเดียว (ไม่รู้ทำไม พอเราเริ่มสนใจทีไร มันต้องเริ่มไ่ม่ดีพอดีทุกที) เท่าที่ทราบมา ไตรมาส 4/53 ที่จะถึงนี้ ก็จะยังไม่ดีขึ้น เพราะถ้าคำนวณจากยอดจองห้องพักที่เข้ามาตอนนี้แล้วเทียบกับปีก่อน บริษัทคาดว่า occupancy rate ปลายปีน่าจะแค่เท่าๆ กับปีที่แล้วเท่านั้น ถัดจากนี้ไป ผมก็ยังไม่คิดว่าปัญหาการเมืองบ้านเราจะจบ มันแค่หยุดไปพักหนึ่งเท่านั้น ดังนั้นการจะหวังว่าบริษัทจะดีขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้คงจะยังหวังมากไม่ได้ อีกสักพักก็คงกลับมาใหม่

แต่ผมยังไงผมก็ยังเชื่อว่า ที่สุดแล้ว บริษัทนี้จะสามารถบรรลุเป้าหมายในระยะยาวได้ (แต่คงเป็นแบบ bumpy ไปตลอดทาง) บริษัทตั้งเป้าจะมีรายได้จากต่างประเทศเพิ่มขึ้นให้ได้อย่างน้อยเป็น 40% ภายในปี 2015 นั่นจะช่วยให้ผลประกอบการของบริษัทไม่ต้องผูกอยู่กับประเทศไทยประเทศเดียวเหมือนอย่างเดิม ในระยะยาวกำไรน่าจะเสถียรขึ้นได้ และผมก็มองว่า ในอนาคต บริษัทไทยที่จะยิ่งใหญ่ต่อไปได้ จะต้องก้าวขึ้นมาเป็นผู้เล่นระดับภูมิภาคให้ได้ การที่บริษัทเริ่มไปต่างประเทศตั้งแต่วันนี้ น่าจะช่วยให้บริษัทเป็นหนึ่งในผู้ยิ่งใหญ่ในอนาคตต่อไปได้ด้วยครับ และการที่บริษัทยังคงมีการลงทุนอย่างต่อเนื่องยังทำให้เมื่อไรก็ตามที่การเมืองนิ่งๆ ได้สักพักใหญ่ๆ สิ่งที่บริษัทได้สร้างเอาไว้ตลอดสองปีก็จะมีโอกาสได้ฉายประกายออกมาด้วยครับ ที่จริงแล้วบริษัทเคยเจอมรสุมที่หนักกว่าสองปีนี้มากตอนที่ไม่ได้ต่อสัญญา Pizza Hut กับทาง Yum ตอนนั้นใครๆ ก็คิดว่าบริษัทนี้คงหมดทุกอย่างแล้ว แต่ปรากฏว่ากลับการเป็นแรงผลักดันให้บริษัทฮึดกลับขึ้นมาใหม่จนยิ่งใหญ่กว่าเดิมมาก สองปีนี้จึงถือว่าเด็กๆ ครับ บริษัทที่มีทัศนคติที่ดียังไงก็ต้องกลับมาดีได้ครับ

สรุปแล้ว แม้ว่าดูเหมือนจะยังไม่มีอะไรดีขึ้นเลยเร็วๆ นี้ แต่ยังมองว่าในระยะยาวบริษัทนี้ต้องยิ่งใหญ่กว่าในปัจจุบันอย่างมากแน่นอน เหมือนกับที่ทุกวันนี้บริษัทยิ่งใหญ่กว่าเมื่อแปดปีก่อนมาก เพราะเป็นบริษัทที่มีการแก้ปัญหาอยู่ตลอดเวลา ผมจึงยังมีความมั่นใจในอนาคตระยะยาวของบริษัทนี้อยู่ เลยตัดสินใจให้บริษัทนี้ยังได้ไปต่อใน 7LTG นะครับ แต่ถ้าจะให้เกรดคงให้แค่ B+

คำเตือน : บทวิจารณ์นี้เป็นแค่การมองภาพใหญ่ของบริษัทในระยะยาวเท่านั้น ไม่เกี่ยวข้องกับทิศทางของผลประกอบการระยะสั้นของบริษัทเลยแม้แต่น้อย ผู้อ่านจึงไม่อาจนำมาใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุนในระยะสั้นได้เลย (7LTG สนใจแต่ภาพใหญ่ในระยะยาวของบริษัทที่จะลงทุนเท่านั้น) อีกทั้งข้อมูลที่ใช้วิเคราะห์เป็นข้อมูลที่หาได้ในช่วงที่เขียนบทวิจารณ์เท่านั้น ในอนาคตปัจจัยต่างๆ อาจเปลี่ยนแปลงไปได้อีก จึงไม่อาตยึดถือได้ตลอดไป

0332: ที่มาของการเติบโต

ในการค้นหาหุ้นเติบโตนั้น สิ่งที่เราควรสนใจยิ่งกว่าระดับของการเติบโต คือ ” สาเหตุเบื้องหลัง” ที่ทำให้ธุรกิจนั้นเติบโตว่าคืออะไร การที่ธุรกิจเติบโตได้สูงมากในปีปัจจุบันนั้น ไม่อาจการันตีได้เลยว่า การเติบโตในช่วงถัดไปจะต้องเป็นไปในทำนองเดียวกันด้วย เพราะสาเหตุที่อยู่เบื้องหลังการเติบโตของแต่ละบริษัทนั้นเป็นไปได้ร้อยแปด บางอย่างดำรงอยู่ได้นาน แต่บางอย่างก็ฉาบฉวย บริษัทที่โตสูงมากปีเดียวแล้วปีถัดมากลายเป็นหนังคนละม้วนมีให้เห็นเป็นประจำในตลาดหุ้น การเข้าใจว่าบริษัทเติบโตเพราะอะไรจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมากกว่า เพราะมันคือสิ่งที่จะตอบคำถามเราทั้งหมดเกี่ยวกับการลงทุนในหุ้นเติบโต อันได้แก่ การเติบโตที่เกิดขึ้นจะเกิดขึ้นต่อไปได้หรือไม่? เมื่อลงทุนไปแล้วจะลงทุนต่อได้นานแค่ไหน? เมื่อไรควรจะหยุดลงทุนได้แล้ว เพราะสาเหตุที่ทำให้เติบโตนั้นได้หายไปแล้ว เป็นต้น Continue reading “0332: ที่มาของการเติบโต”

0329: หุ้นพื้นฐาน?

ที่จริงผมไม่ค่อยอยากแตะเรื่องนี้เท่าไร แต่ไม่ทราบว่าทำไมช่วงนี้ถึงได้มีนักลงทุนมาบ่นกับผมเรื่องขาดทุนหุ้นเป็นจำนวนมากจนผิดปกติ เลยอยากฝากมุมมองบางอย่างไว้ เผื่อว่าบางมุมอาจจะเป็นประโยชน์กับท่านนักลงทุนบ้างนะครับ

แต่ไหนแต่ไรมาเป็นที่รู้กันดีว่าตลาดหุ้นไทยมีขาใหญ่ที่เป็นขบวนการปั่นหุ้นสิงสถิตย์อยู่ คนกลุ่มนี้มีข้อได้เปรียบนักลงทุนทุกรูปแบบ ตั้งแต่สามารถบอกให้สื่อช่วยเขียนข่าวตามใจได้ มีช่องทางประจำสำหรับการปล่อยข่าวลือในห้องค้า และที่เด็ดสุดคือมีการจับมือกับผู้บริหารของหุ้นที่จะปั่นด้วย คือต่อให้เทรดหุ้นผิดพลาดเองก็ยังบอกให้บริษัทช่วยออกข่าว ออกวอแรนต์ เพิ่มทุน หรือตัดขาดทุนรายการพิเศษ เพื่อให้ตัวเองพลิกกลับมากำไรได้อีก นักลงทุนกลุ่มนี้จึงเล่มเกมที่ตัวเองมีข้อได้เปรียบนักลงทุนคนอื่นอย่างมากมาย 

แต่ที่จริงผมกลับไม่ค่อยเป็นห่วงเรื่องนี้เท่าไร เพราะสมัยนี้ หุ้นที่ขบวนการพวกนี้ปั่นอยู่มักเป็นที่รู้และพูดถึงกันทั่วไปในตลาดหุ้น ถ้านักลงทุนอยากรู้ว่ามีตัวไหนบ้างก็มักหาคำตอบได้โดยง่าย รายย่อยที่เกรงกลัวภัยพวกนี้มักจะไม่เข้าไปยุ่งกับหุ้นพวกนี้กันอยู่แล้ว ส่วนรายย่อยอีกจำพวกหนึ่ง ที่หากได้ยินว่าขาใหญ่จะปั่นตัวไหนก็จะรีบเข้าไปเล่นด้วยทันที (ยิ่งมีเจ้า ข้ายิ่งชอบ) กลุ่มนี้ผมก็ไม่ห่วงเช่นกัน เพราะพวกนี้มักจะเข้าไปโดยรู้อยู่แล้วว่ามีอันตราย จึงมีการระวังตัวแจ พวกนี้ถ้าเจ็บตัวมา ผมไม่ค่อยรู้สึกว่าน่าสงสารมากเท่าไร เหมือนเวลาดูมวย เราไม่ได้สงสารนักมวยบนเวทีเวลาที่เขาโดนต่อยเพราะเรารู้ว่าเขาเลือกอาชีพของเขาเองและเขารู้ดีก่อนเลือกว่าการเป็นนักมวยจะต้องเจ็บตัว

แต่ยุคหลังๆ นี้ คนที่ขาดทุนมากๆ กลับไม่ใช่แบบที่ว่ามา แต่กลับเป็นคนที่ขาดทุนจากหุ้นที่เขาซื้อเพราะคิดว่าเป็นหุ้นพื้นฐาน คนขาดทุนหุ้นในลักษณะนี้เริ่มมีมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเป็นแบบที่ผมรู้สึกสลดใจมากกว่าแบบดั่งเดิมมาก เพราะเป็นการขาดทุนที่มาจากความเข้าใจผิด ความหลงผิด หรือความไม่รู้ เป็นการขาดทุนที่มีต้นเหตุมาจากความศรัทธามากกว่าความโลภ คนที่มาปรับทุกข์กับผมคนหนึ่งบอกว่า เขาเพิ่งจะสิ้นเนื้อประดาตัวไปกับหุ้นตัวเดียวที่คิดว่าซื้อได้เต็มที่เพราะว่าเป็นหุ้นพื้นฐาน

ปกติแล้ว คนที่ซื้อหุ้นที่คิดว่าเป็นหุ้นปั่น มักจะซื้อแบบยั้งๆ เพราะตระหนักดีว่า มีอันตรายอะไรอยู่ แต่คนที่ซื้อหุ้นเพราะคิดว่าเป็นหุ้นพื้นฐานนั้น น่ากลัวกว่ามาก พวกเขาจะกล้าซื้อแบบทุ่มสุดตัว เพราะคิดว่ามีพื้นฐานรองรับอยู่ ถ้าซื้อแล้วลง ก็กล้าซื้อหนักขึ้นอีก เพราะเชื่อว่าหุ้นพื้นฐานดี ยิ่งตก ต้องยิ่งซื้อ ขนาดความเสียหายของคนที่ขาดทุนหุ้นพื้นฐานนั้นมักจะรุนแรงมากเป็นพิเศษ

อยากเตือนเพื่อนนักลงทุนทุกคนว่า ไม่มีหุ้นส่วนหนึ่งในตลาดหุ้นที่เรียกว่า “หุ้นพื้นฐาน” ซึ่งจะปลอดภัยจากภาวะฟองสบู่ หรือการสร้างราคาใดๆ หรอกครับ (จะมีก็แต่แนวการลงทุนแบบวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานเท่านั้น) หุ้นทุกตัวในตลาดสามารถกลายเป็น “หุ้นปั่น” หรือเกิดภาวะฟองสบู่ได้ทั้งสิ้นถ้าหากมีคนสนใจหุ้นตัวนั้นมากๆ

เวลาหุ้นที่ไม่ได้มี “ภาพลักษณ์” ว่าเป็นหุ้นพื้นฐานปรับตัวขึ้นอย่างรุนแรงในระยะเวลาอันสั้น เรามักอธิบายกันว่าเป็นเพราะมีคน “ปั่น” อยู่ แต่ถ้าหากเป็นหุ้นที่คนดังในเว็บหุ้นแนว “พื้นฐาน” เชียร์ ปรับตัวขึ้นแบบเดียวกันบ้าง เรามักอธิบายกันว่า เป็นการขึ้นเพราะ “พื้นฐาน” ที่ดี แต่ที่จริงแล้วผมอยากจะโต้แย้งว่าหุ้นที่ขึ้นได้มากๆ หลังจากที่มีการเชียร์กันตามเว็บหุ้นพื้นฐานนั้น ไม่ได้ขึ้นได้เพราะพื้นฐานแต่ขึ้นได้เพราะเกิดภาวะ “แห่ตามกัน” ของนักลงทุน แบบเดียวกับเวลาที่หุ้นเก็งกำไรปรับตัวขึ้นได้แรงเลยครับ   

เหตุผลหนึ่งที่ชอบอ้างกันก็คือว่าขึ้นได้เพราะเป็นหุ้นที่ยังมีพีอีเรโชที่ต่ำมาก แต่ผมอยากจะแย้งว่า หุ้นที่มีพีอีที่ต่ำมากนั้น มีอยู่อย่างดาษดื่นตลอดเวลาในตลาดหุ้นไทย และกี่ปีกี่ปี พวกมันก็ยังมีพีอีต่ำมากอยู่อย่างนั้น ไม่เห็นว่าจะขึ้น การที่หุ้นมีพีอีต่ำมากจึงไม่ใช่เหตุผลที่หุ้นจะต้องขึ้น บ่อยครั้งที่หุ้นบางตัวมีพีอีที่ต่ำมากเป็นเพราะพวกมันมีอะไรบางอย่างที่ไม่ดีอยู่ เช่น เป็นธุรกิจที่กำไรค่อนข้างเปราะบาง อุตสาหกรรมที่เป็นวัฏจักรผันผวนสูง หรืออาจเกิดจากสถานะทางการเงินที่อ่อนแอ ต่างหาก การที่พวกมันมีพีอีต่ำมาก จึงเป็นพีอีต่ำที่มีเหตุผลของมันอยู่ แต่การที่หุ้นพีอีต่ำมากขึ้นได้หลังจากที่เซียนเชียร์นั้นเป็นเพราะว่าเกิดภาวะที่นักลงทุนแห่ซื้อตามเซียนต่างหาก หุ้นพวกนี้พอมีข่าวร้ายเกิดขึ้นเมื่อไร บารมีของเซียนเอาไม่อยู่ พีอีก็จะตกกลับลงมาต่ำเหมือนเดิมใหม่ แต่ราคาหุ้นจะต่ำยิ่งกว่าเดิม เพราะว่าข่าวร้ายทำให้ E ลดลงด้วย นักลงทุนที่แห่ซื้อตามเซียนไป ก็มักจะขาดทุนเสียหายกันเป็นจำนวนมาก เพราะต้นทุนสูงกว่าเซียนมาก

ฟองสบู่ในหุ้นพื้นฐานบางทีก็ไม่ได้เกิดจากเหตุผลเรื่องพื้นฐานของหุ้นตัวนั้นเอง แต่เกิดจากการศรัทธาในตัวบุคคลของผู้ที่เชียร์หุ้นตัวนั้นมากกว่า ชื่อของเซียนบางคนเป็นแบรนด์ที่ทรงพลัง แค่ข่าวรั่วออกไปว่าเข้าไปถือหุ้นตัวไหน คนจำนวนมหาศาลก็พร้อมที่จะซื้อหุ้นตัวนั้นตามทันทีโดยไม่ต้องถามเหตุผล เพราะเลื่อมใสในเซียนผู้นั้นมาก แบบว่าถ้าเซียนคนนี้คิดว่าดี ยังไงก็ต้องดีแน่ๆ ไม่มีทางพลาด เก่งออกขนาดนั้น ชื่อนี้การันตี ตกลงว่าพื้นฐานดีจริงหรือเปล่ายังไม่มีใครรู้ แต่ที่แน่ๆ ราคาหุ้นพุ่งขึ้นไปก่อนแล้วแน่นอนเพราะเกิดจากแรงซื้อของสาวกนั่นแหละ

ถ้าใครชอบไปตามดูของเก่าจะพบว่า หุ้นหลายตัวที่ราคาเคยทะยานได้อย่างมากมายช่วงหนึ่งในอดีต เพราะมีเซียนคนนั้นคนนี้ออกมาบอกว่า จะได้โปรเจ็คใหญ่ ทำให้กำไรก้าวกระโดดเท่านั้นเท่านี้ แต่สุดท้ายแล้ว ผลประกอบการกลับไม่ได้เพิ่มขึ้นเลยนั้น มีอยู่เยอะมาก ที่กลับตาลปัตร กลายเป็นขาดทุนแถมยังเจอเพิ่มทุนอีกมหาศาลก็มีไม่ใช่น้อยๆ เลย ถ้าลองทำตัวเป็นนักสืบย้อนรอยตามไปเก็บผลงานเก่าๆ ดูจะตกกะใจว่า ที่จริงแล้ว ความถี่ที่เซียนคิดถูกนั้นน้อยพอๆ กับคนธรรมดาเลยทีเดียว แต่ก่อนที่ผลสอบจะออกมา ราคาหุ้นก็มักปรับตัวขึ้นไปได้อย่างมากมายแล้ว นั่นก็เพราะแรงศรัทธาในตัวเซียนล้วนๆ 

ผมไม่ได้เป็นห่วงทุกคนที่ซื้อหุ้นตามเซียนหุ้นพื้นฐานหรือหุ้นที่กำลังเชียร์ๆ กันในเว็บหุ้นพื้นฐานหรอกครับ ที่จริงแล้วมีนักเก็งกำไรจำนวนมากที่ได้กำไรไปอย่างมากมายจากการฉกฉวยโอกาสกับหุ้นเหล่านี้ เพราะคนที่เข้าใจว่า หุ้นพื้นฐานเหล่านี้ขึ้นมาแรงเพราะเกิดสภาวะแห่ตามกันเท่านั้นเอง ส่วนของจริงจะดีอย่างที่เชียร์กันหรือไม่ยังไม่มีใครรู้ ไม่น่าห่วงหรอกครับ หรือคนที่เห็นด้วยกับเหตุผลด้านพื้นฐาน แต่ก็เข้าใจด้วยว่า ราคาที่ปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็วนี้เกิดจากการแห่ตามกันของนักลงทุนไปก่อนเท่านั้น ก็ไม่น่าเป็นห่วงเช่นกัน แต่คนที่หลงผิดคิดว่าหุ้นปรับตัวขึ้นมาแรงได้เป็นเพราะว่าพื้นฐานมันดีจริงแล้วนั้น เป็นพวกที่ผมห่วงที่สุด เพราะผมพบว่า คนที่เจ็บตัวจากหุ้นพื้นฐานแล้วมาปรับทุกข์ให้ผมฟังนั้นล้วนเป็นคนที่คิดแบบนี้กันทั้งนั้น

0327: Growth Investing Defined

มีหลายท่านสังเกตออกว่า ผมมักเน้นลงทุนในหุ้นเติบโตเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งก็ค่อนข้างจะตรง ผมก็เลยอยากถือโอกาสคุยเรื่อง Growth Investing สักหน่อยนะครับ

ทุกวันนี้สไตล์การลงทุนหลายแนวถูกนำชื่อไปใช้อ้างชื่อกันมาก ทำให้ความหมายของมันค่อยๆ เปลี่ยนไปจนในที่สุดก็ไม่เหลือใครที่มีบารมีมากพอที่จะผูกขาดนิยามของแนวการลงทุนเหล่านั้นได้อีกต่อไป Growth Investing ก็เช่นกัน เวลาจะใช้คำนี้จึงต้องขยายความให้ชัดหน่อยว่าหมายถึงอย่างไรกันแน่ มิฉะนั้นจะเกิดการเข้าใจผิดกันได้ง่าย

นิยามของ Growth Investing ที่ผมไม่ชอบมากที่สุดตั้งแต่เคยได้ยินมาคือนิยามที่บอกว่า Growth Investing คือการลงทุนในหุ้นที่มีค่าพีอีเรโชสูง นิยามนี้แบ่งหุ้นออกเป็นสองจำพวกชัดเจนคือ Growth Stock vs. Value Stock โดยใช้ค่าพีอีเรโชเป็นตัวแบ่ง หุ้นเติบโตคือหุ้นที่มีพีอีสูง หุ้นคุณค่าคือหุ้นที่มีพีอีต่ำ  

นิยามนี้เป็นนิยามที่ทำให้ความหมายของคำว่าการลงทุนผิดเพี้ยน เพราะพีอีเป็นอัตราส่วนทางการเงินที่มีราคาตลาดของหุ้นมาเกี่ยวข้อง (P) แต่ราคาหุ้นนั้นเป็นเรื่องของตลาดหลักทรัพย์ ไม่เกี่ยวกับตัวกิจการเลย พีอีเรโชจึงไม่ได้บ่งบอกถึง “การเติบโต” (หรือแม้แต่คุณค่า) ของบริษัทเลยแม้แต่น้อย หุ้นตัวหนึ่งจะเป็นหุ้นเติบโตหรือไม่นั้นจะต้องดูจากตัวธุรกิจได้แก่การเติบโตของธุรกิจเป็นหลัก ไม่เกี่ยวกับค่าพีอี  หุ้นที่มีค่าพีอีเรโชต่ำๆ ก็เป็นหุ้นเติบโตได้หากกำไรของธุรกิจนั้นเติบโตสูง ผมเองเน้นลงทุนในหุ้นเติบโตเป็นหลัก แต่ผมไม่ได้ชอบหุ้นพีอีสูงแต่อย่างใด ถ้าหากกำไรเติบโตสูงแล้วพีอีต่ำด้วยก็ยิ่งดีใหญ่ (เพียงแต่โอกาสดีๆ ขนาดนั้น มักไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยนักสำหรับหุ้นเติบโต) 

ที่จริงแล้ว Growth กับ Value เป็นสิ่งที่ไม่สามารถแยกออกจากกันได้อย่างเด็ดขาด เพราะ แม้แต่ Growth Investor เอง ก็ยังต้องซื้อหุ้นให้ได้ในราคาที่ยังต่ำกว่า Growth Potential ของมันอยู่ดี (แบบเดียวกับ value investing) มิฉะนั้นซื้อไปแล้วก็จะไม่ได้อะไรจากการเติบโตอยู่ดี เพราะราคาหุ้นสะท้อนการเติบโตไปหมดแล้ว  

โดยรวมๆ Growth Investing หมายถึง การลงทุนที่ให้น้ำหนักกับ “โอกาสในการเติบโตของกิจการ”  ในการประเมินค่าหุ้นมากเป็นพิเศษ เท่านั้นเอง วิธีการลงทุนในหุ้นคุณค่าหรือหุ้นเติบโตนั้นจึงไม่ต่างกัน

แต่เหตุที่ผมสนใจหุ้นเติบโตมากกว่าหุ้นแบบอื่นมาจากเป้าหมาย, ความถนัด ตลอดจนความเชื่อส่วนตัวของผมเป็นสำคัญ โดยส่วนตัว ผมอยากซื้อหุ้นแล้วถือทิ้งไว้ในพอร์ตได้นานๆ โดยไม่ต้องคอยหาตัวใหม่อยู่เรื่อยๆ จะได้ไม่ต้องเหนื่อยกับการบริหารพอร์ตมากเกินไป ซึ่งผมคิดว่า หุ้นเติบโตตอบโจทย์ข้อนี้ได้ดีกว่าหุ้นแบบอื่น เพราะหุ้นเติบโตแม้เราถือทิ้งไว้เฉยๆ โดยไม่หาทางทำกำไรด้วยการซื้อๆ ขายๆ กินส่วนต่าง มูลค่าของหุ้นก็ยังสามารถเพิ่มขึ้นได้ในระยะยาว เพราะกิจการยังมีการลงทุนใหม่ๆ อยู่ ทำให้กำไรเพิ่มขึ้นได้อีก มูลค่ากิจการก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ได้ในระยะยาว แค่ถ้าเราซื้อหุ้นคุณค่าในราคาที่คิดว่าต่ำกว่ามูลค่าของกิจการแล้วถือไว้ สมมติว่าผ่านไปแค่สองเดือนราคาหุ้นเกิดปรับตัวขึ้นจนสะท้อนมูลค่าหมดแล้ว ก็ไม่รู้ว่าจะถือต่อไปอีกด้วยเหตุผลอะไร เพราะว่ากำไรของกิจการเท่าเดิม มูลค่าของกิจการก็เท่าเดิม ราคาหุ้นก็ต้องเท่าเดิม ถือทิ้งไว้ พอร์ตก็ไม่โตขึ้น เราจึงต้องขาย ออกมาแล้วหาตัวใหม่เข้าลงทุนแทนอยู่เรื่อยๆ เพื่อให้เงินของเรายังทำงานอยู่ตลอดเวลาได้ ผมมีความเชื่อว่า หุ้นคุณค่าเมื่อราคาสะท้อนแล้ว ควรขายออกไปได้เลย ไม่ควรถือต่อไปในระยะยาว หุ้นที่ควรถือในระยะยาวมีเพียงหุ้นเติบโตประเภทเดียวเท่านั้น (ความเชื่อส่วนบุคคล)

นี่เป็นเหตุผลเดียวกันด้วยที่ทำให้ผมไม่นิยมลงทุนในหุ้นกลับตัว (Turnaround) ด้วย เพราะแม้ว่าหุ้นกลับตัว (ถ้าเล่นเก่งๆ) มักให้ผลตอบแทนที่สูงมาก แต่ก็ต้องเหนื่อยหาตัวใหม่อยู่เรื่อยๆ เพราะเมื่อหุ้นกลับตัวได้แล้ว ก็มักไม่มีเหตุผลที่จะถือต่อไป (ส่วนใหญ๋แล้ว หุ้นกลับตัวมักเป็นกิจการที่อ่อนแอ มิฉะนั้นมักคงไม่แย่ให้เราซื้อตั้งแต่แรก)  

ภายใต้คำว่า Growth Investing ด้วยกันเองยังมีแนวทางแยกย่อยได้อีกหลายแนว แต่ละแนวก็มีวิธีที่ค่อนข้างต่างกันมาก ราวกับเป็นคนละแนวทางเลยทีเดียว  ระยะหวังผล ของนักลงทุนแต่ละคนคือสาเหตุสำคัญที่ทำให้ Growth Investing แต่ละแนวมีวิธีที่แตกต่างกันออกไป 

Growth Investing แบบที่แพร่หลายมากที่สุดคือ การเลือกหุ้นโดยดุจากแผนการเติบโตของบริษัทนั้นๆ เป็นหลัก วิธีนี้คือดูว่าบริษัทนั้นๆ มีแผนเติบโตธุรกิจอย่างไร เช่น โรงงานอาจมีแผนเพิ่มกำลังการผลิต ธุรกิจค้าปลีกอาจมีแผนขยายสาขา ผู้รับเหมาอาจมีโปรเจ็คใหม่ๆ ที่กำลังวิ่งอยู่ เป็นต้น จากนั้นก็คำนวณหากำไรที่เพิ่มขึ้นที่น่าจะเป็นไปได้ ลองดูว่าราคาหุ้นปัจจุบันคิดเป็น P/E กี่เท่าเมื่อเทียบกับกำไรที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต ถ้าค่าพีอีนี้ยังไม่สูงก็ลงทุนได้ ถ้าสูงจนสะท้อนการเติบโตไปหมดแล้ว ก็ไม่เอา วิธีนี้เหมาะกับนักลงทุนที่มีระยะหวังผล 1-3 ปี เพราะธุรกิจส่วนใหญ่มักวางแผนธุรกิจล่วงหน้าไว้ 1- 3 ปี ทำให้หาข้อมูลมาสนับสนุนการวิเคราะห์หุ้นได้ง่าย วิธีนี้ถือว่ามีเหตุมีผลมีที่มาที่ไปชัดเจน เพราะมีแผนธุรกิจของบริษัทรองรับการตัดสินใจลงทุน ทำให้เป็นที่นิยมของนักลงทุนสถาบัน เป็นการให้มูลค่าหุ้นไปตามการเติบโตเฉพาะที่มองเห็นได้เท่านั้น เรื่องที่ต้องระวังคือต้องคิดด้วยว่า แผนของผู้บริหารมีความเป็นไปได้แค่ไหน ไม่ใช่ผู้บริหารวาดฝันยังไงก็เชื่อตามทุกอย่าง หากดูแล้ว aggressive เกินไป ก็ต้องลดทอนความคาดหวังลงมาเองด้วย   

Growth Investing อีกแบบหนึ่งเป็นการมองหาแนวโน้มการเติบโตใหญ่ (Megatrends) ที่กินระยะเวลายาวนาน แล้วลงทุนไปกับบริษัทที่คิดว่าน่าจะได้รับประโยชน์จากแนวโน้มใหญ่นั้นแบบถือยาวไปเลย ตัวอย่างเช่น ถ้ามองว่า แนวโน้มใหญ่ของคนกรุงเทพคือการหันมาอยู่คอนโดมากขึ้น เพราะการเกิดขึ้นของโครงการรถไฟฟ้าต่างๆ เราก็ซื้อหุ้นคอนโดเก็บไว้ หรือถ้าเชื่อใน aging economy ก็ซื้อหุ้นโรงพยาบาลเก็บไว้ เป็นต้น วิธีนี้ดีตรงที่ไม่ต้องเหนื่อยทำการบ้านมาก เพราะไม่จำเป็นต้องคอยติดตามข่าวบริษัทอย่างใกล้ชิดทุกไตรมาส ใช้วิธีอดทนกับความผันผวนของราคาหุ้นระหว่างทางแทน ตราบใดที่ภาพใหญ่ยังไม่เสีย หุ้นจะขึ้นบ้างลงบ้างก็ช่างมัน เพราะยังไงเสียในระยะยาว แนวโน้มใหญ่ก็จะช่วยพาบริษัทให้เติบโตขึ้นได้อย่างมีนัยสำคัญอยู่แล้วจะไปวิตกกับความผันผวนระหว่างทางไปทำไม ระยะหลังนี้ ผมหันมาเน้นการลงทุนด้วยวิธีการนี้มากขึ้นเรื่อยๆ เพราะตรงกับเป้าหมายส่วนตัวของผมที่อยากเล่นหุ้นแบบไม่ต้องเหนื่อยมาก ถ้าเราสามารถหาแนวโน้มใหญ๋ให้ได้สัก 4-5 แนวแล้วกระจายการลงทุนออกไป เราก็สามารถลงทุนแบบใจสงบได้แล้ว ระยะหวังผลของหุ้นแต่ละตัวที่ซื้ออาจเป็น ได้ตั้งแต่ 3 ถึง 10 ปี แล้วแต่ความต่อเนื่องของแนวโน้มใหญ่

สุดท้ายคือ Growth Investing แนวบู๊ล้างผลาญ วิธีนี้มีระยะหวังผลไม่เกิน 3-6 เดือนต่อหุ้นแต่ละตัวที่ซื้อ เมื่อได้กำไร 20-100% แล้วก็หาตัวเล่นใหม่เปลี่ยนสร้างผลตอบแทนอย่างไม่หยุดนิ่ง คาดหวังผลตอบแทนต่อปีในระดับที่ค่อนข้างสูง

“ข้อมูลข่าวสาร” คืออาวุธที่สำคัญที่สุดของแนวบู๊ล้างผลาญ ข้อมูลที่ว่านี้ไม่ได้หมายถึง “ข้อมูลอินไซด์” เสมอไป แต่หมายถึง “ข่าวสาธารณะ” นั่นแหละครับ (ที่จริงแล้ว พวกข่าวอินไซด์กลับจะน่ากลัว เพราะเราอาจตกเป็นเหยื่อได้ด้วย) ยิ่งเราเข้าถึงข้อมูลได้มาก-ลึก-เร็วและแม่นยำกว่าคนอื่นเท่าไร เราก็จะยิ่งได้เปรียบในการลงทุนแบบนี้มากขึ้นเท่านั้น ที่จริงแล้ว วิธีนี้ไม่ต้องรู้เรื่องอะไรเลยเกี่ยวกับการวิเคราะห์ธุรกิจเลยก็ยังได้ เพราะในระยะแค่ 3-6 เดือน การเคลื่อนไหวของราคาหุ้นแทบไม่เกี่ยวกับอะไรกับปัจจัยพื้นฐานของธุรกิจ แต่เกี่ยวกับข่าวที่เข้ามากระทบหุ้นตัวนั้นๆ เป็นสำคัญ หุ้นที่พื้นฐานไม่ค่อยดีกลับน่าสนใจมากกว่าหุ้นพื้นฐานดีเสียด้วยซ้ำ เพราะหุ้นพวกนี้มักจะมีกำไรระยะสั้นที่ผันผวนสูงมากกว่า ทำให้เราสามารถทำกำไรระยะสั้นได้เยอะกว่า

ตามความเห็นของผม การลงทุนในวิธีนี้สามารถให้ผลตอบแทนสูงได้จริงสำหรับตลาดหุ้นไทย แต่จะต้องขยันทำการบ้านให้มาก ลงทุนตามข้อมูลเป็นหลัก ไม่ใช่ลงทุนตามความรู้สึก ผลตอบแทนที่ได้จะแปรผันตามไปข้อได้เปรียบเรื่องข้อมูลของเรา ยิ่งได้เปรียบเรื่องข้อมูลมากเท่าไร เราก็ยิ่งมีโอกาสประสบความสำเร็จมากเท่านั้น ไม่มีปฏิหารย์ครับ

คนที่ใช้วิธีนี้บางคนใช้วิธีมองหาหุ้นที่ EPS รายไตรมาสกำลังจะเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญมากๆ เช่น +100% yoy แล้วรีบเข้าไปถือก่อนคนอื่น รอให้ข่าวค่อยๆ กระจายออกสู่นักลงทุนในวงกว้างมากขึ้นจนราคาหุ้นปรับตัวขึ้นมามากๆ ในช่วงเวลาอันรวดเร็ว แล้วก็รีบขายทิ้งทำกำไรออกมาตั้งแต่ก่อนที่ข่าวที่ดีที่สุดจะออกมา ทำเช่นนี้ไปเรื่อยๆ ให้ได้หลายๆ รอบในหนึ่งปี คนที่ขยันหาข่าวจริงๆ จะทำผลตอบแทนได้สูงมากจากวิธีการลงทุนแบบนี้ 

อย่างไรก็ตาม ข้อเสียสำคัญของ Growth Investing แนวสุดท้ายนี้ก็คือ ในระยะสั้น ตลาดหุ้นคือ Money Game จึงหลีกเลี่ยงไม่เราจะต้องเข้าไปเล่นในเกมนี้ด้วย คนที่จะเล่นหุ้นด้วยวิธีนี้ได้จึงต้องมีภูมิต้านทานสูง รู้เท่าทันคนอื่นจึงจะเอาตัวรอดได้ 

โดยส่วนตัว ผมไม่ได้ลงทุนด้วยวิธีนี้เลย เพราะไม่ใช่ทางของผมครับ

0323: ผลตอบแทนที่คาดหวัง

การที่คุณตัดสินใจก้าวเข้ามาในตลาดทุน คุณหวังจะได้ผลตอบแทนเท่าไรต่อปี?

ถ้าหากคุณเพียงแค่อยากให้เงินออมของคุณ ได้ผลตอบแทนมากกว่าเงินฝากในยุคปัจจุบันที่แสนจะต่ำเตี้ยเท่านั้น ผลตอบแทนทื่คุณคาดหวังก็อาจอยู่ในระดับแค่ 5% ผลตอบแทนในระดับนี้ถ้าคุณถือหุ้นแช่ไว้รอรับเงินปันผลสัก 3% ต่อปี และหุ้นในพอร์ตของคุณก็มีกำไรเติบโตโดยเฉลี่ยพอๆ กับเงินเฟ้ออีก 2% ต่อปี (กิจการไม่จำเป็นต้องมีการเติบโตที่แท้จริงเลยก็ยังได้) คุณก็บรรลุเป้าหมายนี้ได้แล้ว (อย่างไรก็ตาม การเข้ามาในตลาดหุ้นแล้วหวังผลตอบแทนแค่ 5% ต่อปีนั้น ดูจะไม่คุ้มค่ากับความเสี่ยงของตลาดหุ้นเท่าไร การถือหุ้นแทนฝากเงินนั้นมีความเสี่ยงที่จะสูญเงินต้นเพิ่มขึ้นมาก ผลตอบแทนในระยะยาวของการถือหุ้นจึงควรได้ไม่ต่ำกว่า 10% ต่อปี)

ถ้าคุณเข้ามาเพื่อใช้ตลาดทุนเป็นเครื่องมือในการ ออมเงินไว้ใช้ในวัยเกษียณ ถ้าหากคุณสามารถทำผลตอบแทนในตลาดหุ้นให้ได้เฉลี่ยปีละ 10% คุณก็บรรลุเป้าหมายนี้ได้แล้ว เพราะสมมติว่าคุณออมเงินปีละ 100, 000 บาทตั้งแต่อายุ 25 ปีและวางแผนจะเกษียณเมื่ออายุครบ 60 ปี (มีเวลาสร้างผลตอบแทน 35 ปี) ถ้าคุณทำผลตอบแทนในตลาดหุ้นได้เฉลี่ย 10% ต่อปีจริงๆ เมื่อครบกำหนด คุณจะมีเงินมากถึงเกือบ 30 ล้านบาทซึ่งก็น่าจะเพียงพอสำหรับการเกษียณโดยมาตรฐานของคนส่วนใหญ่แล้ว การเลือกลงทุนในกองทุนรวมเช่น RMF LTF หรือลงทุนเองแบบค่อนข้าง passive สามารถทำให้บรรลุเป้าหมายแบบนี้ได้โดยไม่ต้องเกาะติดตลาดมากเกินไป

แต่ถ้าคุณเข้ามาในตลาดหุ้นเพื่อหวังจะประสบ “อิสรภาพทางการเงิน” (แนวคิดที่มีอิทธิพลมากในปัจจุบัน) คุณต้องฟิตมากหน่อย การได้ผลตอบแทนแค่ 10% ต่อปีอันเป็นผลตอบแทนระดับมาตรฐานของตลาดหุ้นในระยะยาวนั้น ไม่อาจทำให้บรรลุเป้าหมายนี้ได้ เพราะกว่าคุณจะ “รวย” ก็ต้องรอถึงอายุ 60 ปี ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้น ชีวิตของคุณก็ผ่านโอกาสที่จะทำอะไรต่อมิอะไรไปเยอะมากแล้ว ยากที่จะได้ทำอะไรที่ฝันอยากทำ เช่น การท่องเที่ยวรอบโลก การได้เลี้ยงลูกแบบใกล้ชิดในตอนที่ลูกยังเล็กๆ อยู่ การได้เปลี่ยนมาทำงานที่ชอบอย่างเดียวโดยไม่ต้องสนใจเรื่องเงินเดือนอีกต่อไป หรือการได้เปิดมูลนิธิ หรือแม้แต่การได้ขับรถสปอร์ตเปิดประทุนคันหรูๆ (ผมว่าขับตอนผมหมดหัวแล้ว มันไม่ค่อยเท่เท่ากับได้ขับตอนที่ยังหนุ่มๆ นะครับ) ฯลฯ ส่วนใหญ่แล้ว ถ้าจะเรียกว่าประสบอิสรภาพทางการเงินก็น่าจะต้องเกษียณได้ก่อนอายุ 40 ปี ซึ่งถ้าจะใช้มาตรวัดเดียวกันกับในกรณีที่ผ่านๆ มาลองคำนวณดูใหม่จะพบว่า คุณจะต้องหาผลตอบแทนในตลาดหุ้นให้ได้ในระดับ 35% ต่อปีเป็นอย่างน้อยจึงจะบรรลุเป้าหมายนี้ได้

ผลตอบแทนในระดับ 35% ต่อปีนั้นอาจจะฟังดูไม่เยอะ เพราะเรามักพบเห็นคนได้กำไรจากหุ้นปีเดียว 100-200% อยู่บ่อยๆ แต่ที่จริงแล้วในระยะยาวการได้ผลตอบแทนเฉลี่ยสูงๆ นั้นเป็นเรื่องที่ยากมาก คนที่ได้กำไรปีเดียว 100% ผลตอบแทนเฉลี่ยระยะยาวของเขาจะต่ำกว่านั้นเสมอ เพราะการอยู่ในตลาดหุ้นตลอดเวลาย่อมต้องมีปีที่ได้กำไรน้อยหรือขาดทุนด้วยเสมอ เมื่อถัวเฉลี่ยกันหลายๆ ปีแล้วผลตอบแทนย่อมต่ำลง อีกทั้งการที่เราได้กำไรจากหุ้นตัวใดตัวหนึ่งปีเดียว 100% ที่จริงแล้ว ผลตอบแทนของทั้งพอร์ตของเราจะน้อยกว่านั้นเสมอ เพราะส่วนใหญ่เราคงไม่กล้าซื้อหุ้นตัวเดียวทั้งพอร์ต เมื่อถัวกับหุ้นตัวอื่นที่ไม่ประสบความสำเร็จมากเท่าแล้ว ผลตอบแทนของทั้งพอร์ตย่อมลดลง ถ้าจะให้ได้ผลตอบแทนของพอร์ต 100% ก็ต้องมีหุ้นที่ได้ผลตอบแทน 200% หรือมากกว่า เพื่อเอาถัวกับตัวอื่นที่ไม่ perform การทำผลตอบแทนทั้งพอร์ตเป็นตัวเลขสูงๆ ทุกปีจึงไม่ได้ง่ายนัก

ถ้าเป็นแนวการลงทุนที่มีลักษณะค่อนข้าง passive นั้น แทบจะไม่มีทางเป็นไปได้เลยที่จะทำให้ผลตอบแทนระยะยาวได้สูงถึง 35% ต่อปี วอเรน บัฟเฟตซึ่งเป็นนักลงทุนที่รวยที่สุดในโลกนั้นสามารถทำผลตอบแทนในระยะยาวได้เพียงแค่ 21% ต่อปีเท่านั้น เพราะธุรกิจจริงๆ ซึ่งเป็นตัวสร้างผลตอบแทนที่แท้จริงของตลาดหุ้น ทำผลตอบแทนได้แค่ 10-15% ต่อปีเท่านั้น ถ้าจะทำผลตอบแทนจากหุ้นให้ได้มากกว่าธุรกิจจริงๆ ก็ต้องอาศัยการซื้อถูกขายแพงร่วมด้วย ซึ่งหมายความว่า คุณจะต้องลงทุน่ในแบบที่ active พอสมควร เช่น จอร์จ โซรอส ที่ทำผลตอบแทนเฉลี่ยตลอดชีพได้สูงถึง 29% เป็นต้น และก็ไม่ใช่ว่าคุณลงทุนแบบ active แล้วจะได้ผลตอบแทนมากขึ้นเสมอไป คุณอาจได้ผลตอบแทนน้อยลงด้วยก็ได้ การได้ผลตอบแทนมากขึ้นจึงต้องแลกมาด้วยความเสี่ยงที่มากขึ้นด้วย

ดังนั้นหากเป้าหมายการลงทุนของคุณคือการประสบอิสรภาพทางการเงิน ขอบอกว่านั่นไม่ใช่เป้าหมายที่ง่าย จะมีคนจำนวนไม่มากนักที่บรรลุเป้าหมายนี้ได้เหมือนๆ กับคนที่รวยด้วยอาชีพอย่างอื่น การที่ตลาดหุ้นเป็นเพียงแค่การสั่งซื้อและขายทำให้เรารู้สึกว่าตลาดหุ้นเป็นอาชีพที่ทำเงินได้ง่ายแต่อะไรที่ดูง่ายๆ นั้นแหละที่มักจะยากที่สุด กฏของธรรมชาติที่ว่าคนที่ประสบความสำเร็จจะมีจำนวนน้อยเสมอในทุกสายอาชีพเป็นกฏที่เป็นจริงสำหรับตลาดหุ้นด้วย ผมแนะนำว่า คนที่มีเป้าหมายระดับนี้ทุกคนควรถือว่าตลาดทุนเป็นเป้าหมายหลักของชีวิตเลยทีเดียว คนที่มุ่งมั่นและทุ่มเทให้กับการลงทุนอย่างแท้จริงเท่านั้นที่จะเป็นคนส่วนน้อยของตลาดที่มีโอกาสที่จะรวยด้วยหุ้นได้ ต้องขยัน และต้องให้เวลากับมันมากกว่านักลงทุนทั่วๆ ไป  Effort ที่ใส่เข้าไปจะต้องสอดคล้องกับระดับผลตอบแทนที่เราคาดหวังเสมอ ใครที่เข้ามาเพียงแค่หวังว่าลมๆ แล้งๆ ว่า เราจะรวยได้แบบฟลุ้คๆ โดยไม่ต้องลงทุนลงแรงนั้น ผมขอบอกว่า ไม่มีทางเป็นไปเลยครับ

0315: Notes on Valuation

  การที่คุณมีเกณฑ์ในการคัดหุ้นเหมือนอย่างเช่นในบทความที่แล้ว จะทำให้คุณมีรายชื่อหุ้นจำนวหนึ่งที่เหมาะแก่การลงทุนในระยะยาว งานต่อไปของนักลงทุนระยะยาวก็คือ แล้วเราควรจะซื้อหุ้นเหล่านั้นเมื่อไร?

บางคนบอกว่า สำหรับการลงทุนระยะยาวแล้ว จะซื้อเมื่อไรเลยก็ได้ แต่ในความคิดส่วนตัวของผม ผมยังมองว่าการซื้อหุ้นตูมเดียวด้วยเงินออมส่วนใหญ่ของเรา โดยไม่ต้องสนใจว่าราคาหุ้นในเวลาที่ซื้อนั้น เหมาะสมหรือไม่ ไม่ใช่แนวคิดที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับตลาดหุ้นสมัยนี้ที่นโยบายการเงินของธนาคารกลางเป็นแบบผ่อนคลายแทบตลอดเวลา ถ้าคุณบังเอิญเข้าซื้อหุ้นไทยตอน 1700+ จุด แล้วสามารถถือยาวมาได้ถึงเดียวนี้ สิบกว่าปี คุณก็ยังขาดทุนอยู่ดี ยังไงๆ ผมก็คิดว่า ราคาที่เข้าซื้อ ยังคงเป็นสิ่งสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นหุ้นดีแค่ไหน หรือถือยาวขนาดไหนก็ตาม 

แต่หากคุณขี้เกียจรอซื้อที่ราคาเหมาะสมจริงๆ หรือคิดว่าการหาราคาที่เหมาะสมเป็นเรื่องที่ยุ่งยากเกินไป ผมแนะนำให้คุณใช้วิธีทยอยซื้อทีละนิดไปเรื่อยๆ เป็นช่วงระยะเวลายาวๆ จะดีกว่าการเข้าซื้อทีเดียวด้วยเงินก้อนใหญ่ๆ เพราะการแบ่งช่วงเวลาที่ซื้อออกไปนานๆ จะช่วยให้คุณได้ต้นทุนเฉลี่ยที่ไม่แพงเกินไปโดยอัตโนมัติ น่าจะเป็นกลยุทธ์ที่ปลอดภัยกว่า (ถ้าสนใจวิธีนี้จริงๆ ลองดูตัวอย่างหนึ่งใน https://dekisugi.net/7thltg ก็ได้ครับ)

แต่ถ้าคุณสามารถลงทุนโดยมีการประเมินราคาที่เหมาะสมก่อนเข้าซื้อร่วมด้วยจะทำให้คุณมีโอกาสได้ผลตอบแทนที่สูงขึ้น การซื้อเฉลี่ยนั้นแม้จะปลอดภัยก็จริงแต่ต้นทุนเฉลี่ยที่ได้ก็มักจะไม่ถูกไม่แพง แต่เป็นกลางๆ ทำให้ผลตอบแทนอยู่ในระดับกลางๆ ไปด้วย ไม่ถึงขั้นดีมาก ต่างกับคนที่มีการระมัดระวังเรื่องต้นทุนที่เข้าซื้อลงทุนร่วมด้วย ถ้าเขาสามารถทำได้ดี จะช่วยเพิ่มผลตอบแทนได้อีกมาก

วิธีประเมินมูลค่าหุ้น ที่ง่ายที่สุดน่าจะเป็น P/E ซึ่งใช้ได้ดีเป็นพิเศษกับกิจการที่มีกำไรที่ค่อนข้างสม่ำเสมอ (easy to predict) ทุกปี อย่างไรก็ตาม ควรตรวจสอบด้วยว่า บริษัทมีกำไรพิเศษในปีนั้นทำให้ P/E ดูต่ำผิดปกติหรือไม่ เช่น มีการขายสินทรัพย์ครั้งใหญ่ในปีนั้นทำให้เกิดกำไรพิเศษ และการขายสินทรัพย์นั้น ไม่ได้เกิดขึ้นทุกปี อย่างนี้เราต้องตัดกำไรพิเศษเหล่านั้นออกไปก่อน เพื่อมิให้เกิดภาพที่บิดเบือนได้ เป็นต้น

หากเป็นหุ้นที่อยู่ในโผของเราอยู่แล้ว (พื้นฐานดีเหมาะกับการลงทุนระยะยาว) พีอีที่เหมาะสมจะขึ้นอยู่กับ อัตราการเติบโตในอนาคตที่เราเชื่อว่าเป็นไปได้เป็นสำคัญ เช่น ถ้าเราคิดว่า บริษัทนั้นน่าจะโตได้อย่างน้อยปีละเท่าๆ กับเงินเฟ้อ พีอีที่เหมาะสมก็น่าจะอยู่ที่ 10 เท่า (อันนี้เป็นมาตรฐานของผมเอง) แต่ถ้าบริษัทน่าจะเติบโตได้เกิน 10-15% ต่อปีอาจให้พีอีเหมาะสมมากขึ้น เช่น 12 เท่า ถ้าโตได้ถึง 20% ต่อปี ก็อาจให้พีอี 15-18 เท่าก็ได้ แต่ที่สำคัญ การเติบโตที่ว่านั้นต้องเป็นอัตราการเติบโตที่บริษัทน่าจะทำได้ต่อเนื่องกันหลายปี เช่น 3-5 ปีข้างหน้า ไม่ใช่เห็นว่าปีหน้าบริษัทมีโครงการใหญ่ทำให้กำไรก้าวกระโดด 50% ในปีเดียว ก็จะคิดว่าบริษัทนั้นโตได้ 50% ต่อเนื่องทุกปี ปกติแล้วการเติบโตในระดับ 10-20% ต่อปีนั้นอาจทำให้ต่อเนื่องในระยะยาวได้ไม่ยากนัก แต่ถ้า 50% ต่อปีนั้นมักเป็นไปได้ยากมากๆ ในกรณีเช่นนี้ เราต้องปรับความคาดหวังลงมาสักหน่อย เช่น อาจจะลดลงมาเหลือ 20% จะปลอดภัยกว่า (คิดว่าปีหน้า 50% หลังจากนั้น 10% ทำให้เฉลี่ยๆ แล้วเหลือ 20% ต่อปีในช่วง 3-5 ปีข้างหน้า) ส่วนถ้าเป็นหุ้นนอกโผ ผมคงไม่ลงทุนระยะยาวอยู่แล้ว แต่ถ้าจะให้พีอีที่เหมาะสม ผมก็คงให้แค่ 7 เท่าเสมอ ไม่ว่าจะโตได้มากแค่ไหน เพราะถือว่าพื้นฐานสอบไม่ผ่านที่จะลงทุนระยะยาวได้ ส่วนการให้พีอีหุ้นตัวทุกในโผเท่ากันหมดโดยไม่คำนึงถึง Growth Potential ที่แตกต่างกันเลยนั้น เป็นวิธีการที่ผมไม่ชอบ เพราะผมมองว่าเป็นการไม่ยุติธรรมกับธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตสูงกว่า

การใช้ P/E ในภาวะผิดปกติต้องระวัง เช่น ในช่วงเศรษฐกิจซบเซา หรือบริษัทกำลังเผชิญปัญหาใหญ่ เพราะพีอีมักให้ภาพที่บิดเบือน ตัวอย่างเช่น บริษัท ABC ในยามปกติมี Net Margin 3% พีอี 10 เท่า แต่เมื่อเกิดเศรษฐกิจซบเซาทำให้ Net Margin ลดลงชั่วคราวเหลือ 1% (แต่รายได้คงที่) สมมติว่าตลาดกดราคาหุ้นลง 30% พีอีใหม่จะกลายเป็น 21 เท่า ซึ่งทำให้เรารู้สึกว่าแพงอย่างมาก แต่ที่จริงแล้ว ส่วนลด 30% เป็นโอกาสทองของนักลงทุนระยะยาวที่จะซื้อ เพราะยอมทนรอหน่อย เมื่อทุกอย่างกลับมา มาร์จิ้นกลับมาที่ 3% ก็เท่ากับเราซื้อได้ที่พีอีแค่ 7 เท่าเท่านั้น ยิ่งถ้ารายได้กลับมาสูงกว่าเดิมด้วย (ซึ่งมักจะเป็นเช่นนั้น) ต้นทุนเราอาจเท่ากับพีอีแค่ 5-6 เท่าเท่านั้น แต่ถ้าเราคิดง่ายๆ แค่พีอี 21 เท่าแปลว่าแพงเสมอ ไม่รู้จักการพลิกแพลง เราก็พลาดโอกาสได้

P/E ไม่ใช่ตัวชี้วัดมูลค่าที่ดีสำหรับธุรกิจที่มีกำไรไม่แน่นอน เพราะถ้าปีนี้ P/E ต่ำ ไม่ได้แปลว่า ปีหน้า P/E จะต่ำ เพราะปีหน้ากำไรอาจร่วงลงอย่างแรงทำให้ P/E สูงขึ้นอย่างผิดหูผิดตาก็ได้ ถ้าผมจะตีมูลค่าหุ้นพวกนี้ ผมมักหาวิธีการอย่างอื่นแทน ตัวอย่างเช่น หุ้นโรงกลั่นในภาวะที่ค่าการกลั่นตกต่ำ บริษัทอาจขาดทุนทำให้พีอีติดลบ ผมจะหันไปใช้วิธีหาตัวเลขว่า ทุกวันนี้โรงกลั่นน้ำมันสร้างใหม่ต้องใช้เงินลงทุนเท่าไรต่อกำลังการผลิต 1 ล้านบาร์เรล แล้วตีราคาบริษัทตามกำลังการผลิต (Replacement Cost Method) แทน (อย่าลืมดูด้วยว่าโรงกลั่นของบริษัทมีสัดส่วน output ชนิดต่างๆ ใกล้เคียงกับ benchmark มากแค่ไหน) เช่นนี้เป็นต้น จะเห็นได้ว่า ที่จริงแล้ว การตีราคาหุ้นนั้นไม่มีสูตรสำเร็จ แต่ต้องเลือกเครื่องมือให้ได้เหมาะสมกับสถานการณ์มากกว่า เราต้องการอะไรสักอย่างที่ทำให้เรามั่นใจว่า ราคาเท่าไรถึงจะไม่แพง ถ้าเป็นธุรกิจที่มีความแน่นอนต่ำมาก หาวิธีที่ทำให้เรามั่นใจมูลค่าไม่ได้ อย่าลงทุนระยะยาวดีที่สุด ถ้าจะซื้อก็เล่นสั้น ๆก็พอ

สำหรับ P/B นั้น โดยส่วนตัว ผมแทบไม่ได้ใช้เลย ผมมองว่ามูลค่าทางบัญชีของสินทรัพย์ทุกวันนี้ สะท้อนมูลค่าของธุรกิจได้น้อยมากๆ

ส่วน P/S นั้น ใช้ประโยชน์ได้เหมือนกัน เพราะใช้แทน พีอี ในช่วงที่บริษัทขาดทุนได้ ผมมักจะดูว่า P/S ของบริษัทสูงหรือต่ำเมื่อเทียบกับ P/S ในอดีต ประกอบการตัดสินใจด้วย เป็นต้น

ส่วนการศึกษา DCF นั้นช่วยทำให้เราเข้าใจได้ลึกขึ้นว่า มูลค่าของธุรกิจขึ้นอยู่กับอะไรบ้าง (เช่น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับกำไรปีนี้หรือปีหน้าปีเดียว แต่ปีต่อๆ ไปอีก อีกทั้งยังขึ้นอยู่กับอัตราดอกเบี้ย อัตราการเติบโต และ investment ratio ของธุรกิจนั้นๆ อีกด้วย เป็นต้น) แต่ในสถานการณ์จริง โอกาสที่จะได้ใช้ DCF จะมีไม่มากนัก เพราะคุณต้องมีข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทนั้นๆ แบบค่อนข้างละเอียดและครบถ้วนมากทีเดียวจึงจะทำ DCF ได้ แต่ส่วนใหญ่แล้วเรามักไม่สามารถหาข้อมูลได้ครบถ้วนถึงขนาดนั้น

ธุรกิจกับความไม่แน่นอนเป็นของคู่กัน ดังนั้นหุ้นจึงเป็นหลักทรัพย์ที่หามูลค่าที่แน่นอนไม่ได้อยู่แล้วโดยธรรมชาติ มีแค่ “ช่วง” ที่เป็นไปได้หรือเหมาะสมเท่านั้น ฉะนั้น การวัดมูลค่าหุ้นจึงเป็นศิลปะมากกว่าวิทยาศาสตร์ ผมใช้หลักถ้าไม่แน่ใจก็ไม่เอาไว้ก่อน เช่น หุ้นตัวหนึ่งดีมาก เราเชื่อว่าโตได้ 50% ต่อปี แต่ถ้าราคาหุ้นแพงมากๆ แบบนี้เราก็อาจจะไม่เอาไว้ก่อน เพราะต้องเสี่ยงซื้อของแพง สู้เอาเงินไปซื้อหุ้นที่โตได้แค่ 10% ต่อปี แต่ราคาหุ้นต่ำมากจนดูเป็นการลงทุนที่ปลอดภัยน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า แบบนี้เป็นต้น ใช้การวัดมูลค่าเป็นสิ่งที่ช่วยเพิ่มความปลอดภัยในกับการลงทุนของเราก็พอ ไม่ใช่กฏเหล็กตายตัว (เพราะเราไม่ได้ซื้อหุ้นตัวเดียวด้วยเงินทั้งหมดอยู่แล้ว เรามีการกระจายความเสี่ยงช่วยด้วย)

สำหรับพอร์ตลงทุนระยะยาว ผมไม่คิดว่าจะต้องซื้อหุ้นให้ได้ถูกมากๆ เพราะเน้นหุ้นดีอยู่แล้ว ต่อราคามากๆ อาจไม่มีวันได้ซื้อ แต่ผมจะหลีกเลี่ยงการซื้อแพงๆ ถ้าหุ้นดีมากๆ แต่ต้องซื้อในราคาที่ไม่แน่ใจว่าแพงไปหรือไม่ ผมมักจะขอเลือกหุ้นที่ดีน้อยลงมาสักหน่อย แต่ซื้อได้ในราคาที่ทำให้เกิดความสบายใจได้เป็นหลักครับ

0314: Evaluating a Business

เวลาพูดว่า บริษัทหนึ่งมี “ปัจจัยพื้นฐาน” ดีหรือไม่ดีนั้น เราดูจากอะไร? 

ก่อนอื่นต้องขอเน้นว่า คนที่คิดจะลงทุนโดยวิธีดูปัจจัยพื้นฐานนั้น จะต้องเป็นคนที่มี ระยะหวังผลตอบแทนที่ยาวๆ (เป็นปีๆ) เท่านั้น เหตุเพราะ ปัจจัยพื้นฐานของบริษัทมักเป็นคุณสมบัติที่ติดตัวบริษัทอยู่เป็นเวลานาน ไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงง่าย ดังนั้น มันจึงแทบไม่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของราคาหุ้นในระยะสั้นเลย (หรือแม้แต่ผลกำไรในระยะสั้นก็ตาม) ถ้าเราวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานของหุ้นตัวหนึ่งว่าดีแล้วเข้าซื้อจากนั้นราคาหุ้นก็ปรับตัวขึ้นได้เลย ส่วนใหญ่แล้วมาจากความบังเอิญแท้ๆ เพราะปัจจัยพื้นฐานที่ดีมักเป็นเรื่องที่เป็นมาก่อนหน้าที่เราจะพิจารณาแล้ว บริษัทไม่รู้หรอกว่า เราเข้ามาซื้อตอนไหน มันจึงไม่จำเป็นต้องขึ้น หลังจากที่เราซื้อเลย

ถ้าใครมีระยะหวังผลสั้น (เช่น <1ปี) ควรใช้วิธีการอย่างอื่น เช่น การเก็งข่าวบริษัท หรือการวิเคราะห์ทางเทคนิค จะได้ผลมากกว่า

การลงทุนที่มีระยะหวังผลแบบยาวนั้น เราไม่ได้มองหาหุ้นที่ “ซื้อแล้วขึ้นเลย” แต่เรามองหาหุ้นที่ ถ้าสมมติว่า เราซื้อแล้ว”ซวย” มันดันเป็นขาลงพอดี  มันจะต้องที่มีโอกาสสูงที่ ถ้าหากเราถือต่อไปอีก มันจะกลับมาสูงกว่าเดิมได้อีก หุ้นลักษณะนี้ต่างหากที่น่าสนใจลงทุนในระยะยาว   

เมื่อคิดได้อย่างนี้แล้ว เราย่อมคิดได้โดยอัตโนมัติด้วยว่า หุ้นที่เหมาะกับการลงทุนระยะยาวต้องเป็นหุ้นของกิจการที่มี โอกาสเจ๊งต่ำๆ และในเวลาเดียวกัน ก็ต้องมีโอกาสที่ กิจการจะเติบโตใหญ่ไปเรื่อยๆ ในระยะยาวๆ ด้วย เพราะกิจการลักษณะนี้ย่อมกลับมาทำกำไรสูงสุดได้อยู่เรื่อยๆ ซึ่งเป็นการเพิ่มโอกาสที่ราคาหุ้นจะกลับมาสูงขึ้นอีกได้ใหม่อยู่เรื่อยๆ คุณสมบัติเช่นนี้ช่วยทำให้ผลตอบแทนของเราไม่จำเป็นต้องพึ่งพาภาวะตลาดในระยะสั้นพวกมันจึงเป็นหุ้นที่ทำให้เราตอบคำถามตัวเองได้ว่าทำไมเราจะต้องยอมถือพวกมันไว้นานๆ แทนที่จะเอาเม็ดเงินไปทำอย่างอื่นด้วย

และปัจจัยที่จะใช้บอกว่าหุ้นมีปัจจัยพื้นฐานดีหรือไม่ ก็ควรเป็นปัจจัยที่ช่วยบ่งชี้ถึงคุณสมบัติที่กล่าวมานี้นั่นเอง ผมลองนั่งนึกดูว่า ที่ผ่านมา เวลาผมตัดสินปัจจัยพื้นฐานของหุ้น ผมมักจะดูจาก 8 ประเด็นนี้เป็นปัจจัยหลัก

1.บริษัทขายสินค้าที่ต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงบ่อยหรือไม่?

แต่ละอุตสาหกรรมมีวงชีวิตของมันอยู่ อุตสาหกรรมเหล็กมีอายุนับหลายร้อยปี และนานครั้งกว่าที่จะมีความเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญเกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมนี้ เหล็กก็คือเหล็ก มนุษย์ชาติยังต้องบริโภคเหล็กหน้าตาแบบเดิมๆ ไปอีกนาน การเปลี่ยนแปลงมักเป็นแบบทีละนิดเล็ก บริษัทปรับตัวตามได้ง่าย ไม่ใช่แบบหน้ามือเป็นหลังมือ ล้างไพ่ใหม่หมด

ในขณะที่ ธุรกิจบันเทิงต้องเผชิญการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เพราะรสนิยมและสื่อสมัยนิยมเปลี่ยนไปตลอดเวลา ในแง่นี้ ธุรกิจเหล็กย่อมเหมาะกับการลงทุนระยะยาวมากกว่าธุรกิจบันเทิง เพราะธุรกิจของบริษัทมีโอกาสที่จะล้มหายตายจากไปได้ยากกว่า ส่วนธุรกิจบันเทิงนั้น ถ้าเราลงทุนในบริษัทที่เป็นเจ้าของรายการโทรทัศน์หรือเกมยอมฮิตในเวลานั้น ย่อมมีโอกาสน้อยที่บริษัทเดิมจะกลับมาประสบความสำเร็จซ้ำอีกครั้งกับรายการใหม่หรือเกมตัวใหม่ บริษัทที่ผลิตรายการฮิตซ้ำแล้วซ้ำอีกอย่างต่อเนื่องไม่ค่อยจะมี จึงมีเหตุผลน้อยที่เราจะถือมันไว้ในระยะยาวๆ เป็นต้น  

2.ลักษณะธุรกิจของบริษัทเป็นแบบ Project-based หรือไม่?

ธุรกิจ Project-based เช่น รับเหมาทำระบบ ประมูลงานเป็นจ๊อบๆ เป็นธุรกิจที่มีความแน่นอนของรายได้ค่อนข้างต่ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าโปรเจ็คมีอายุงานสั้น การได้โปรเจ็คในแต่ละปี ไม่ได้การันตีว่า ปีหน้าจะได้เหมือนเดิม จึงหวังได้น้อยถ้าหากจะถือไว้ในระยะยาวเพื่อให้รายได้เพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ ต่างกับธุรกิจแบบน้ำซึมบ่อทราย เช่น ขายยาสีฟัน เมื่อใดที่ลูกค้าชอบยี่ห้อของบริษัทแล้ว มีโอกาสสูงที่ลูกค้าจะกลับมาซื้ออีกเป็นประจำ ทำให้รายได้ของบริษัทมีความมั่นคง

อย่างไรก็ตาม ถ้าหากรายได้ของลูกค้าแต่ละรายคิดเป็นสัดส่วนน้อยมากเมื่อเทียบกับรายได้รวม ธุรกิจ Project-based ก็ไม่ถือว่าน่ากลัว เพราะกฏของความมากช่วยทำให้รายได้รวมของบริษัทมีความแน่นอนได้ ตัวอย่างเช่น ธุรกิจพัฒนาโครงการบ้าน แต่ละโครงการอาจมีลักษณะเป็น Project แต่ถ้าหากแต่ละปีบริษัททำ 40-50 โครงการทุกปี รายได้ของบริษัทก็มีความแน่นอนในระดับหนึ่ง พึ่งระวังพวกธุรกิจ OEM ที่มีรายได้จากลูกค้ารายใหญ่ที่สุด 10 อันดับแรกคิดเป็นสัดส่วนเกินร้อยละ 50 ของรายได้รวม

3. สินค้าของบริษัทน่าจะมีความต้องการของตลาดสูงขึ้นในอนาคตเร็วกว่าการเติบโตของเศรษฐกิจโดยรวมหรือไม่?

ประเด็นนี้มักพิจารณาได้จากเทรนด์หรือไลฟ์สไตล์ของสังคมที่เปลี่ยนไป อาหารแช่แข็งน่าจะเติบโตได้ดีถ้าสังคมมีลักษณะเป็นครอบครัวเดี่ยวและต้องใช้ชีวิตแบบเร่งรีบมากขึ้น ผู้คนในอนาคตน่าจะฟังวิทยุน้อยลง ในขณะที่ใช้อินเตอร์เน็ตและโทรศัพท์มือถือกันมากขึ้น ซื้อหนังสือพิมพ์เป็นเล่มๆ น้อยลง ซื้อรถยนต์คันเล็กลง ใช้ไฟฟ้าในสัดส่วนที่มากขึ้นเมื่อเทียบกับน้ำมัน ฯลฯ

4. บริษัทกำลังทำให้รายได้เติบโตได้ด้วยวิธีการใด และอะไรคือเพดานการเติบโตของบริษัท?

การเพิ่มรายได้นั้นมีหลายวิธี เช่น เพิ่มปริมาณการบริโภคของลูกค้าต่อราย เพิ่มจำนวนราย เพิ่มรายการสินค้า เพิ่มเขตการค้า เพิ่มสายธุรกิจ ซื้อกิจการ ฯลฯ วิธีแรกๆ นั้นจะมีความเสี่ยงต่ำแต่สร้างการเติบโตได้จำกัด ในขณะที่วิธีหลังๆ จะเติบโตได้เป็นกอบเป็นกำมากกว่า แต่ความเสี่ยงก็สูงกว่าด้วย ลองพิจารณาดูว่า บริษัทกำลังเติบโตด้วยวิธีใด และยังมีวิธีอื่นที่บริษัทยังไม่ได้เริ่มใช้หรือไม่ ถ้ายังมีอีกเยอะ บริษัทก็ยังมี Upside ทางธุรกิจอีกมาก เหมาะกับการลงทุนกับบริษัทในระยะยาว 

ทุกธุรกิจจะมีบางสิ่งบางอย่างทำให้เกิด “เพดาน” การเติบโตของรายได้เสมอ ทั้งในระยะสั้นและในระยะยาว การมองให้ออกว่าเพดานรายได้ของธุรกิจนั้นคืออะไรจะช่วยทำให้เราประเมินขนาดของ Upside ของธุรกิจนั้นได้ดีขึ้น

ตัวอย่างเช่น เพดานของธุรกิจโรงแรมในระยะสั้นคือจำนวนห้องพักทั้งหมด ธุรกิจโรงแรมไม่สามารถโตไปได้อีกเมื่อไรก็ตามที่ห้องพักเต็มแล้ว อย่างมากก็คือการขึ้นค่าห้องพักซึ่งทำได้ค่อนข้างจำกัด ธุรกิจโรงแรมจึงเป็นธุรกิจที่มีเพดานการเติบโตในระยะสั้นที่จำกัดมาก ในระยะยาว ถ้าทำเลของโรงแรมดีขึ้นมาก โรงแรมอาจก่อสร้างตึกเพิ่มเติม ทำให้โตต่อไปได้อีก แต่ก็จะไปติดเพดานที่จำนวนห้องอีกเหมือนเดิมอีก ที่ดินโรงแรมมักจำกัด ขยายได้แค่ระดับหนึ่งเท่านั้น ถ้าจะทำให้โรงแรมโตได้เรื่อยๆ ในระยะยาว บริษัทจะต้องมีนโยบายเปิดสาขาเท่านั้น Upside ของโรงแรมที่มีการเปิดสาขา กับไม่มี จึงไม่เท่ากัน

ธุรกิจการผลิตส่วนมากมี กำลังการผลิต เป็นเพดานรายได้ในระยะสั้น ถ้าเราลงทุนในบริษัทที่ใช้กำลังการผลิตเต็มอยู่ Upside ในระยะสั้นก็แทบจะไม่มีเหลือแล้ว การขยายกำลังการผลิตจะต้องลงทุนเพิ่ม ทำให้ต้องนำประเด็นเรื่องการเพิ่มทุนมาพิจารณาร่วมด้วยเสมอ

5.ธุรกิจของบริษัทมีอะไรบ้างที่แตกต่างและเป็นข้อได้เปรียบ?

การที่บริษัทจะได้กำไรมากกว่าคู่แข่งในอุตสาหกรรมเดียวกันนั้น บริษัทจะต้องเป็นเจ้าของบางสิ่งบางอย่างที่แตกต่างและสิ่งนั้นสามารถใช้เป็นข้อได้เปรียบในธุรกิจนั้นๆ ได้ด้วย ถ้าเรานึกไม่ออกเลย ก็เป็นลางบอกเหตุว่า บริษัทนั้นมีคุณค่าต่ำ ยังไม่ต้องเปิดงบการเงินดูเลยก็ได้ ของแตกต่างที่ว่านี้จะเป็นสินทรัพย์ที่มีตัวตนหรือไม่มีตัวตนก็ได้ ลองนึกออกมาให้หมด ยิ่งมีมากเท่าไรยิ่งเป็นสัญญาณดี 

ตัวอย่างเช่น บริษัทเป็นเจ้าของเทคโนโลยีหรือ know-how ที่คู่แข่งไม่มี บริษัทมีตราสินค้าที่เหนือกว่า บริษัทมีฐานลูกค้ามากกว่าอย่างมีนัยสำคัญทำให้มีข้อได้เปรียบเรื่อง Scale การผลิต สำหรับบ้านเรา การที่บริษัทมีเส้นสายหรือคอนเนกชั่นที่ดี ก็เป็นข้อแตกต่างที่สำคัญมากอย่างหนึ่งด้วย พึ่งระวังพวกธุรกิจที่มีแค่เครื่องจักรเอามาตั้งแล้วเดินเครื่องเฉยๆโดยที่เป็นเครื่องจักรที่ใครมีเงินก็ซื้อมาตั้งได้ทั้งนั้น ธุรกิจอย่างนี้ยากมากที่จะทำกำไรได้จริง

ลองเช็คดูข้อได้เปรียบแต่ละอย่างว่า ถ้าคู่แข่งจะเลียนแบบบ้าง มันจะยากแค่ไหน ถ้าทำได้ง่ายมาก แสดงว่าข้อได้เปรียบนั้นไม่ดีจริง แต่ถ้าต้องเข็นครกขึ้นภูเขา แสดงว่าข้อได้เปรียบนั้นแข็งแกร่ง ดูด้วยว่า Key Success Factor หรือ Key Value Driver ของธุรกิจนั้นคืออะไร แล้วข้อได้เปรียบที่บริษัทมีอยู่นั้นเกี่ยวข้องกับ Key เหล่านี้มากน้อยแค่ไหน

6.อุตสาหกรรมของบริษัทเป็นอุตสาหกรรมที่รายใหม่กระโดดเข้าไปได้ง่ายแค่ไหน

พูดง่ายๆ ก็คือ มี Barrier to Entry ขนาดไหน ธุรกิจควบคุม ธุรกิจสัมปทาน ที่ขอใบอนุญาตใหม่ได้ยาก ย่อมดีกว่าธุรกิจเสรีทั่วไป ลองดูจำนวนบริษัทที่อยู่ในตลาดปัจจุบันว่ามีมากน้อยแค่ไหน ถ้ามีมากเป็นกองทัพมดเลย ก็น่าเป็นห่วง ถ้ามีแค่ 2-3 เจ้า ทั้งปีทั้งชาติก็มีอยู่แค่นี้แสดงว่าต้องมีอะไรบางอย่างกันไม่ให้เจ้าใหม่เข้ามาได้ง่ายๆ แบบนี้ดี หรือลองสังเกตว่าคู่แข่งทุกรายกำไรหมด แสดงว่าอุตสาหกรรมนี้ดี เข้ามาได้ก็กำไรแล้ว แต่ถ้าบางรายกำไร บางรายขาดทุน แสดงว่าอุตสาหกรรมนี้ไม่ค่อยดี คนที่จะได้กำไรต้องมีข้อได้เปรียบคู่แข่งเท่านั้น ลองสังเกตด้วยว่า ลูกค้าของธุรกิจนั้นเป็นอย่างไร ถ้าลูกค้าเป็นรายเล็กๆ จำนวนมากๆ บริษัทย่อมมีอำนาจต่อรองกับลูกค้าสูง เป็นสัญญาณดีอีกเช่นกัน

7.ฐานะทางการเงินของบริษัทเป็นอย่างไร?

อันนี้พิจารณาได้จากงบดุลเป็นหลัก ดูว่า ROA เฉลี่ยในรอบหลายๆ ปีสูงหรือต่ำ สัดส่วนหนี้สินต่อทุนสูงหรือไม่เมื่อเทียบกับคู่แข่งที่ทำธุรกิจเดียวกัน การมีหนี้ไม่ใช่เรื่องเสียหาย เพราะช่วยประหยัดภาษีได้ ต้องมีหนี้มากผิดปกติเท่านั้นที่เป็นสัญญาณอันตราย ที่จริงแล้ว เราอยากลงทุนกับบริษัทที่โตพอสมควรโดยไม่ต้องอาศัยหนี้มากๆ เพราะจะเติบโตได้อย่างยั่งยืนมากกว่าพวกที่โตได้เยอะๆ ในระยะสั้น แต่แบกหนี้สูงไว้ตลอดเวลา พร้อมจะประสบปัญหาสภาพคล่องถ้าเศรษฐกิจสะดุด  

นักธุรกิจที่ทำธุรกิจแบบรอบคอบนั้นจะเหลือ Lending Capacity เอาไว้ส่วนหนึ่งเสมอ เพื่อเวลาโอกาสในการลงทุนใหม่มาถึง บริษัทจะสามารถขยับตัวขอกู้เงินมาลงทุนเพิ่มได้ทันที บริษัทที่ขอกู้จนสุดขีดตลอดเวลา บ่งบอกถึงอุปนิสัยของผู้บริหาร และมีความเสี่ยงสูงที่จะประกาศเพิ่มทุนในอนาคตอันใกล้

8.บุคลิกขององค์กรเป็นอย่างไร

ทุกองค์กรจะมีบุคลิกประจำตัว ถ้าหากเราสัมผัสกับองค์กรนานพอ เราจะรู้ ถ้าเป็นองค์กรเล็ก บุคลิกจะขึ้นอยู่กับผู้บริหารค่อนข้างมาก ส่วนถ้าเป็นองค์กรใหญ่ บุคลิกจะขึ้นอยู่กับ Corporate Culture

ลองพิจารณาดูว่าบริษัทมีบุคลิกแบบ entrepreneurial หรือ bureaucrat มากกว่ากัน บริษัทที่จะเติบโตได้ดีควรมีวัฒนธรรมเป็นแบบแรกมากกว่า บริษัทยังแสวงหาการเติบโตอยู่เรื่อยๆ หรือว่าอยู่ในโหมดประคองตัว จ่ายเงินเดือน จ่ายปันผล ไปเรื่อยๆ ก็พอ แต่ละปีบริษัทมีอะไรใหม่ออกมาให้เห็นบ้าง หรือว่าไม่มีเลย โปรเจ็คเพิ่มรายได้ของปีนี้คืออะไร บริษัทตั้งเป้าหมายไว้ว่าอะไร ที่สำคัญลอง track อดีตว่า บริษัทเคยตั้งเป้าหมายไว้แล้วสามารถทำได้ใกล้เคียงบ่อยแค่ไหน การตรวจสอบผลงานในอดีตเป็นวิธีที่ดีกว่าการใช้ความรู้สึกตัดสินผู้บริหาร หรือฟังข่าวลือต่างๆ ที่สำคัญ ขนาดของหุ้นไม่ได้บ่งบอกวัฒนธรรมหรือโอกาสในการเติบโต

8 ประเด็นนี้ แม้จะไม่ได้ลงลึกมากนัก ก็ถือว่าเพียงพอแล้ว สำหรับการลงทุนแบบที่มีการกระจายความเสี่ยงร่วมด้วย ไม่จำเป็นที่จะต้องหาหุ้นที่ได้ A+ ในประเด็นเหล่านี้ทุกประเด็น เพราะเป็นไปไม่ได้ ถ้าเราลงทุนในบริษัทที่ได้ B+ ในประเด็นเหล่านี้สัก 4-6 บริษัท กลับจะดีกว่า bet กับบริษัท A+ แค่เพียงแค่ 1-2 บริษัท เพราะยังไงเราก็ต้องเผื่อความผิดพลาดในการมองของตัวเราเองด้วยเสมอ จึงควรอาศัยภาพรวมของพอร์ตมากกว่าการพึ่งพาหุ้นเด็ดตัวใดตัวหนึ่งแค่ตัวเดียว 

ที่สำคัญ ไม่ใช่วิเคราะห์แล้วซื้อทันที แต่ควรคัดหุ้นที่เข้าตาเก็บไว้ใน Watch List ของเราไว้ แล้วรอซื้อเมื่อมันมีราคาที่ไม่แพงจนเกินไป ถ้าทำได้อย่างนี้ เราก็จะสามารถสร้างพอร์ตลงทุนระยะยาวที่มีคุณภาพให้กับตัวเองได้แล้วล่ะครับ