0313: Anchoring

  ในการทดลองหนึ่งที่ให้กลุ่มตัวอย่างแย่งกันประมูลไวน์ขวดหนึ่ง ในใบเขียนราคา ให้กลุ่มตัวอย่างเขียนเลขสองหลักสุดท้ายของหมายเลขบัตรประกันสังคมของตัวเองก่อน จากนั้นจึงค่อยกรอกราคาที่ต้องการซื้อไวน์ขวดนั้น ผลปรากฏว่า กลุ่มคนที่มีเลขสองหลักสุดท้ายอยู่ระหว่าง 50-99 จะเสนอราคาสูงกว่ากลุ่มคนที่มีเลขสองหลักสุดท้ายระหว่าง 00-49 อย่างน้อย 60% โดยเฉลี่ยซึ่งเป็นเรื่องที่ประหลาด เพราะเลขบัตรประกันสังคมไม่น่าจะเกี่ยวข้องอะไรเลยกับการตีราคาไวน์ของแต่ละคน

การทดลองนี้ชี้ให้เห็นข้อบกพร่องอย่างหนึ่งในการตัดสินใจของมนุษย์ที่เรียกว่า Anchoring เวลาที่เราต้องตัดสินใจอะไรอย่างหนึ่งที่เรามีความรู้ความเชี่ยวชาญน้อยมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตีมูลค่าสินทรัพย์ เช่น ไวน์ เป็นต้น สมองของเราจะพยายามหาอะไรสักอย่างหนึ่งเป็นจุดอ้างอิง (Anchor) เพื่อช่วยให้ตอบคำถามนั้นให้ได้ ทั้งที่สิ่งนั้นอาจเกี่ยวข้องอยู่บ้างหรือไม่เกี่ยวข้องเลยก็ได้  

พวกนายหน้าอสังหาริมทรัพย์รู้จักจุดบกพร่องนี้ดี เวลาพวกเขาต้องการจะขายบ้านหลังหนึ่งให้ได้ในราคาดี เทคนิคของพวกเขาคือจะพาลูกค้า(เหยื่อ)ไปดูบ้านหลังอื่นก่อนที่แย่กว่าแต่ตั้งราคาไว้แพงมากสักสองสามหลัง จากนั้นจึงค่อยพาลูกค้าไปดูบ้านหลังที่อยากขาย แล้วเสนอราคาขายที่สูง แต่เป็นราคาที่คุ้มกว่าราคาของบ้านหลังแรกๆ (Anchor) เป็นอย่างมาก วิธีนี้ช่วยจะทำให้ลูกค้ารู้สึกว่าราคานั้นเป็น Good Deal ได้มากกว่าการพาลูกค้าไปดูบ้านหลังนั้นแค่หลังเดียว แล้วเสนอราคาเดียวกันนั้นให้กับลูกค้า

เป็นเรื่องยากมากที่คนทั่วไปจะตีราคาบ้านหลังหนึ่งได้อย่างถูกต้อง คนทั่วไปจึงต้องหาอะไรสักอย่างเป็น Anchor การพาลูกค้าไปดูบ้านที่ทั้งห่วยและแพงกว่าก่อน เป็นการสร้าง Anchor ให้กับลูกค้า (ในทางที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ขาย)

ผมว่า Anchoring เป็นปรากฏการณ์ที่มีผลอย่างมากต่อความคิดของนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์เหมือนกัน อันที่จริง การตีมูลค่าที่เหมาะสมของสินทรัพย์อย่างธุรกิจหรือหุ้นนั้นยากยิ่งกว่าอสังหาริมทรัพย์เสียอีก นักลงทุนจึงยิ่งต้องหา Anchor ในการอ้างอิง และ ผมสังเกตว่า Anchor ส่วนใหญ่ของนักลงทุนก็คือ “ราคาหุ้นในช่วงล่าสุดที่ผ่านมา” นั่นเอง

หุ้นตัวหนึ่งที่ราคาแกว่งตัวอยู่ในช่วงที่แคบมาก เช่น 10.0-10.3 บาท มาเป็นเวลานานเช่นหกเดือน ถ้าวันหนึ่งมันมีราคากระชากขึ้นไป 11 บาททันทีในวันเดียว ปฏิกิริยาแรกของเราก็คือ เราจะไม่กล้าซื้อที่ราคา 11 บาท เพราะเราจะรู้สึกว่ามันแพง (เคยซื้อกันได้ที่ 10 บาท จะซื้อที่ 11 บาททำไมกัน) ความที่เราไม่มองไม่ออกว่ามูลค่าที่เหมาะสมของธุรกิจควรเป็นเท่าไร เราจึงใช้ราคาปัจจุบันเป็นจุดอ้างอิงโดยไม่รู้ตัว 

หลังจากวันนั้นถ้าราคายังไม่หยุดทะยานต่อ 12 13 14 15 16 อย่างรวดเร็วภายในเวลาแค่สองสัปดาห์ ตอนนี้ไม่เพียงแต่เราเองจะไม่กล้าซื้อแต่เราจะเริ่มรู้สึกโกรธตลาดหุ้นด้วย เราจะคิดในใจว่า ทำไมในตลาดหุ้นถึงได้มีแต่คนที่ชอบเก็งกำไรเต็มไปหมด ซื้อกันเข้าไปได้ยังไงที่ราคา 16 บาท ฟองสบู่แล้ว แล้วหลังจากนั้นหุ้นตัวนั้นก็ทะยานขึ้นต่อไปอีกเป็น 25 บาท (ซึ่งคุณก็ไม่ซื้ออยู่ดี)

แต่หลังจากนั้นสักพัก ถ้าหุ้นตัวนั้นสามารถยืนอยู่แถว 25 บาทได้ เช่น แกว่งอยู่ระหว่าง 24-26 บาทเป็นเวลานานมากเช่น 6 เดือน จนความฮือฮาเริ่มหายไปกลายเป็นความเคยชินเข้ามาแทนที่ ตอนนี้เราจะค่อยๆ ลืมความเห็นของตัวเองที่เคยคิดว่า หุ้นตัวนั้นแพงมากที่ราคา 11 บาท แต่อาจเปลี่ยนมาบอกตัวเองว่า แหม ถ้าหุ้นตัวนี้ลงมาเหลือสัก 20 หรือ 21 บาทได้ในเร็วๆ นี้ เราจะขอช้อนซื้อซะหน่อย นั่นก็เป็นเพราะว่า เมื่อเวลาผ่านไป ได้สักพักหนึ่ง คุณได้ปรับ Anchor ของคุณใหม่แล้ว จาก 11 บาท กลายเป็น 25 บาทนั่นเอง คุณจึงรู้สึกว่าราคาที่ 20 บาทเป็นราคาที่ไม่แพง

บ่อยครั้งเมื่อดัชนีตกแรงๆ ในวันเดียวเช่น 5% คนจำนวนมากจะเกิดความรู้สึกว่าหุ้นถูกมากเสมอ แม้ว่าดัชนีในตอนนั้นจะสูงมากแค่ไหนก็ตาม แม้แต่ 1700 จุด ถ้าตกวันเดียวเหลือแค่ 1600 จุด ความรู้สึกว่าหุ้นถูกมากจะเกิดขึ้นทันที ตามเว็บบอร์ดหุ้นต่างๆ จะมีคนออกมาโพสต์ว่าโอ้โหหุ้นถูกมากๆๆๆๆ แล้วกรูเข้าไปเก็บกันใหญ่ แต่ในความเป็นจริง เวลาที่ตลาดหุ้นจะตกลง 30% นั้น มันจะเริ่มต้นจากการตก 5% ก่อนเสมอ ถ้าเราชอบรู้สึกว่าหุ้นถูกทุกครั้งที่หุ้นตก 5% ในวันเดียว เราจะกลายเป็นคนหนึ่งในคนที่ขาดทุนหนักเสมอในการ Crash ทุกครั้ง ในทางตรงกันข้าม ถ้า SET อยู่ที่ 200 จุด แล้วกลายเป็น 250 จุดในเวลาแค่สองวัน ความรู้สึกว่าหุ้นแพงมากก็จะมาทันทีด้วย (อันนี้ไม่เกี่ยวกับว่า จริงๆ แล้ว SET ในเวลานั้นๆ ควรมีราคาเหมาะสมเป็นเท่าไร เพราะไม่ว่าจะเป็นเท่าไร ความรู้สึกนี้ก็จะเกิดขึ้นเสมอ) สมัยก่อนนี้ หุ้น ITV ซึ่งลงมาเรื่อยๆ จาก 30 บาทเหลือแค่ไม่กี่สตางค์นั้น ตลอดทางที่มันลงมา 30>25>16>10>6>2>0.5 จน worthless ในที่สุดนั้น วันที่มันตกแรงๆ มากเป็นพิเศษทุกวันจะมีคนออกมาพูดว่า มันถูกมากๆ ไม่ว่าวันนั้นจะอยู่ที่ราคาเท่าไรก็ตาม

คนที่เล่นหุ้นโดยวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานเพื่อหามูลค่าหุ้นที่เหมาะสมก็ไม่ได้แปลว่าจะรอดจากอิทธิพลของ Anchoring เสมอไป Anchoring คือสาเหตุสำคัญที่ทำให้เวลาเราวัดมูลค่าหุ้นเสร็จแล้ว หากพบว่าค่าที่ได้ต่างจากราคาหุ้นในปัจจุบันอย่างมากมาย เราจะเกิดความไม่แน่ใจ และกลับไปแก้ไขสมมติฐานต่างๆ ใหม่ เพราะเกิดความรู้สึกว่าเราคิดผิดรึเปล่า คนที่มีพฤติกรรมแบบนี้ ไม่ต้องวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานก็ได้ เพราะทำไปก็ไม่มีประโยชน์ เพราะเมื่อใดที่เขาเจอหุ้นที่วัดมูลค่าได้ต่ำกว่าราคาตลาดมากๆ เขาก็ไม่กล้าซื้ออยู่ดีเพราะไม่กล้าเชื่อการวิเคราะห์ของตัวเอง     

ในตลาดมีหุ้นจำนวนนับไม่ถ้วนที่ทุกวันนี้มันมีราคาสูงกว่าตอน IPO เมื่อหลายสิบปีก่อนหลายๆ เท่าตัว และไม่เคยลดลงไปเท่ากับ IPO เลย แม้ตลาดหุ้นจะตกแรงแค่ไหน นั่นแสดงว่า บริษัทที่มีธุรกิจที่ดีมีโอกาสเติบโตได้ต่อเนื่อง ในระยะยาวราคาหุ้นก็สามารถขยับขึ้นไปเรื่อยๆ ได้ ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร แล้วทำไมเราจึงคิดว่า หุ้นแพงเกินไปเสมอเมื่อหุ้นนั้นมีราคาต่างจากที่มันเคยเป็น ที่จริงแล้วราคาหุ้นมันก็เคลื่อนไหวไปข้างหน้าเรื่อยๆ ตามปัจจัยใหม่ๆ ที่เข้ามากระทบมัน มันไม่เคยสนใจหรือจำได้หรอกว่ามันเคยอยู่ที่ราคาเท่าไรมาก่อน เราเองต่างหากที่ไปคิดว่าราคาหุ้นที่มีเหตุผลจะต้องเป็นราคาที่ใกล้เคียงกับค่าเดิมเท่านั้น

คนที่ลงทุนด้วยวิธีปัจจัยพื้นฐานควรสังเกตตัวเองดูว่า เราติดกับ Anchoring อยู่รึเปล่า ราคาตลาดในปัจจุบันมีอิทธิพลต่อความคิดเกี่ยวกับมูลค่าหุ้นที่เหมาะสมของเราหรือไม่ บางคนมักรู้สึกอยู่ตลอดเวลาว่า ถ้าหุ้นแทบทุกตัวในตลาดตอนนี้ ถูกลงได้อีกสัก 10% จะน่าซื้อทั้งนั้น แล้วพอดัชนีขยับขึ้นไปอีก 10% ก็เปลี่ยนมารู้สึกว่า หุ้นทุกตัวแพงไป 10% อีก ถ้าตกลงมาอีก 10% ค่อยซื้อ แบบนี้ไปเรื่อยๆ เช่นนี้น่าสงสัยได้เลยว่า คุณกำลังตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของ Anchoring อยู่ 

คนที่เป็นอิสระจาก Anchoring ได้ ณ เวลาหนึ่งๆ ต้องมองเห็นหุ้นแต่ละตัวถูกหรือแพงไม่เหมือนกัน เช่น เขาอาจมองว่าหุ้น ABC ต่อให้ลงมาอีก 80% ก็ยังแพงอยู่ ส่วนหุ้น DEF ถ้าลงมาอีกแค่ 10% ก็ซื้อได้แล้ว ในขณะที่หุ้น GHI ต่อให้แพงกว่านี้อีก 30% ก็ยังซื้อได้ เป็นต้น เพราะนั่นแสดงว่า ความเห็นของเขาเกี่ยวกับมูลค่าที่แท้จริงของหุ้นแต่ละตัวไม่ได้ขึ้นอยู่กับราคาตลาดในปัจจุบันเลยแม้แต่น้อย

0310: กลยุทธ์ของเฮดจ์ฟันด์

ทุกวันนี้ถ้าไม่นับ กองทุนบริหารความมั่งคั่งแห่งรัฐฯ และกองทุนบำเหน็จบำนาญต่างๆ แล้ว “ขาใหญ่” ของตลาดทุนโลกอันดับถัดมาคงหนีไม่พ้น พวกเฮดจ์ฟันด์ ต่างๆ

เฮดจ์ฟันด์ ตามความหมายดั่งเดิม คือ กองทุนที่ลงทุนด้วยการเสาะหาช่องว่างในการทำกำไรที่ปราศจากความเสี่ยง (Riskless) ถ้าจะยกตัวอย่างง่ายๆ ก็คงหนีไม่พ้น วิธีของกองทุน Long-term Capital Managment ที่อื้อฉาวในอดีต

ในทางทฤษฏี พันธบัตรรัฐบาลสองตัวที่มีอายุเท่ากันจ่ายดอกเบี้ยเท่ากันจะต้องมีราคาเท่ากันด้วย แต่ในความเป็นจริงอาจมีราคาต่างกันเพราะสภาพคล่องของตลาดในช่วงสั้นที่ไม่สมบูรณ์แบบ LTCM ใช้วิธียืมพันธบัตรรัฐบาลจากกองทุนอื่นที่มีราคาตลาดสูงกว่ามาขาย แล้วเอาเงินที่ได้มาซื้อพันธบัตรตัวที่ถูกกว่ามาถือไว้แทน การถือไว้ทั้ง short และ long position ในราคาที่ต่างกันเล็กน้อยเช่นนี้ จะทำให้เกิดกำไรเป็นจำนวนเท่ากับส่วนต่างของราคา เมื่อใดก็ตามที่ส่วนต่างของราคาในตลาดบีบเข้าหากัน ก็จะเกิด net gain ขนาดเล็กๆ ขึ้น เป็นโอกาสให้ LTCM ล้างสถานะทั้งหมดเพื่อทำกำไรได้

การลงทุนด้วยวิธีนี้มีความเสี่ยงต่ำมาก เนื่องจากโอกาสที่ราคาพันธบัตรทั้งสองจะหนีออกจากกันมากๆ (เกิด net loss) มีน้อยมาก ต่อให้เกิดขึ้นจริง ก็ไม่น่ากลัว เพราะสามารถถือต่อไปแล้วรอให้พันธบัตรทั้งสองตัวหมดอายุก็ได้ ราคาจะกลับมาเท่ากันเอง และพันธบัตรก็เป็นสินทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูงยิ่ง การลงทุนด้วยวิธีนี้จึงมีลักษณะคล้ายกับ “โอกาสที่ไม่มีความเสี่ยง” 

แม้ว่า net gain ที่มีโอกาสเกิดขึ้นจะมีขนาดเล็กมากๆ เพราะผลต่างของราคาพันธบัตรสองตัวที่เหมือนกันคงต่างกันไม่ได้มากนัก แต่ LTCM ก็ทำกำไรด้วยวิธีการนี้ได้อย่างมหาศาล เพราะไม่ได้ใช้เงินของตัวเอง LTCM เพียงแต่ขอยืมพันธบัตรของคนอื่นมาขาย แล้วเอาเงินก้อนนั้นแหละมาซื้อพันธบัตรอีกตัวหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริง LTCM จะต้องถือเงินส่วนตัวไว้จำนวนหนึ่งด้วย เพื่อให้เจ้าของพันธบัตรเชื่อเครดิต เงินจำนวนนี้จึงเป็นส่วนทุนที่แท้จริงของ LTCM ซึ่งก็น้อยมากเมื่อเทียบกับขนาดพันธบัตรที่ยืมมาหลายสิบเท่าตัว ฉะนั้น แม้ net gain จะแคบมาก แต่ LTCM ก็ได้กำไรหลายสิบเท่าตัวเมื่อเทียบกับทุนที่ใช้ ตลาดพันธบัตรเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่มหึมาและมีสภาพคล่องสูง LTCM จึงสามารถเพิ่ม position ได้โดยไม่จำกัด

แต่สุดท้ายแล้ว LTCM ก็ยังเจ๊งได้ยังไงนั้น ทุกท่านสามารถหาหนังสืออ่านได้ทั่วไป แต่ประเด็นที่ผมอยากจะเขียนถึงในบทความนี้คือ กลยุทธ์ในการลดความเสี่ยงของพวกเฮดจ์ฟันด์ต่างๆ ซึ่งเป็นวิธีการที่น่าเรียนรู้

กลยุทธ์ลดความเสี่ยงอีกอย่างหนึ่งของพวกเฮดจ์ฟันด์ ที่จะขอยกมาเขียนถึงเป็นตัวอย่างเรียกว่า market neutral strategy กลยุทธ์นี้มีแนวคิดว่า บ่อยครั้งที่เราค้นพบหุ้นตัวหนึ่ง ที่มีสตอรี่ที่ดีมาก ทำให้ราคาหุ้นมีโอกาสที่จะขยับขึ้นได้ในอนาคต แต่พอเราลงทุนไป ปรากฏว่า ภาวะตลาดเกิดเลวร้ายลง ทำให้แม้หุ้นที่เราลงทุนจะมีสตอรี่ที่ดี แต่ก็ฝืนภาวะตลาดไม่ไหว ทำให้ต้องขาดทุนอยู่ดี ภาวะตลาดจึงเป็นความเสี่ยงที่ควบคุมไม่ได้ที่สำคัญสำหรับการลงทุนแบบ bottom up

เพื่อลดความเสี่ยงของภาวะตลาด (Market Risk) ลง แทนที่จะซื้อหุ้นตัวนั้นเฉยๆ ก็ให้ short index ไปพร้อมกันด้วย ถ้าหากเกิดโชคร้ายตลาดลงแรง แต่ถ้าเราคิดได้ถูกต้องเกี่ยวกับสตอรี่ของหุ้นตัวนั้น แม้หุ้นจะลงด้วยตามภาวะตลาด แต่เนื่องจากมันลงน้อยกว่าตลาด เพราะมีสตอรี่ที่ดีของตัวเองช่วยเอาไว้ เมื่อ net กับ short index position แล้ว เราจึงยังคงได้กำไรอยู่ แม้ตลาดจะลง วิธีจึงช่วยให้เราลงทุนแบบ bottom up ได้โดยไม่ว่าภาวะตลาดจะเป็นอย่างไร เพราะตราบได้ที่หุ้นของเรา outperform ตลาด เราจะยังได้กำไรเสมอ

อย่างไรก็ตาม market neutral strategy ไม่ถือว่าเป็น riskless opportunity อย่างแท้จริง เพราะหลักทรัพย์ที่ long กับที่ short นั้นไม่ได้เหมือนกันทุกประการเหมือนอย่างในกรณีของ LTCM วิธีนี้จึงช่วยลดความเสี่ยงลงได้ส่วนหนึ่ง แต่ไม่ใช่ทั้งหมด บางกองทุนจึงเพียงแต่ short index ไว้แค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น เช่น เท่ากับ 30% ของหุ้นที่ซื้อ แทนที่จะ short เต็มทั้งจำนวน เพราะการลดความเสี่ยงของตลาดลงส่วนหนึ่ง แต่ไม่ถึงกับเต็มอัตรา

อีกกลยุทธ์หนึ่งที่น่าสนใจของพวกเฮดจ์ฟันด์มีชื่อว่า 130/30 กลยุทธ์นี้มาจากแนวคิดที่ว่า บางครั้งตลาดอยู่ในภาวะฟองสบู่ หุ้นส่วนใหญ๋ในตลาดแพงหมด ถ้าเรามีนโยบายลงทุน 100% ของพอร์ตตลอดเวลา ก็เท่ากับเป็นการบังคับให้เราต้องถือหุ้นบางตัว ทั้งที่เราคิดว่ามันแพงมากแล้ว ดังนั้น แทนที่เราจะซื้อหุ้นอย่างเดียว 100% ของพอร์ต เราเปลี่ยนมาเป็นการซื้อหุ้นในตลาดที่เราคิดว่าถูก 130% ของพอร์ต (ยืมมาร์จิ้นมา) และ short หุ้นในตลาดที่เราคิดว่าแพงอีก 30% แบบนี้ net position ของเราก็ยังคงเท่ากับ 100% อยู่ เช่นเดิม แต่แทนที่เราจะต้องฝืนใจถือหุ้นแพงเข้าพอร์ตทั้งหมด เราหาผลตอบแทนด้วยการ short หุ้นที่แพงไปได้ด้วยอีกส่วนหนึ่ง ในระยะยาวน่าจะทำผลตอบแทนได้สูงกว่า การซื้ออย่างเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่ตลาดหุ้นแพงเรื้อรัง

ที่ยกตัวอย่างมาเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ของพวกเฮดจ์ฟันด์ที่มีอยู่อย่างมากมายในปัจจุบัน แต่ละกลยุทธ์ก็แสนพิสดารสุดที่จะคิดกันขึ้นมาได้ สมัยนี้เฮดจ์ฟันด์หลายกองก็ไม่ได้มีกลยุทธ์มุ่งลดความเสี่ยงตามนิยามที่ดั่งเดิมอีกต่อไปแล้วด้วย (วิธีอะไรก็ได้ที่คิดว่าจะดึงดูดเม็ดเงินของนักลงทุนได้เป็นใช้ได้)

การเรียนรู้วิธีการใหม่ๆ ของพวกเฮดจ์ฟันด์นั้น ช่วยทำให้เห็นว่าโลกนี้ยังมีวิธีการลงทุนแบบอื่นๆ อยู่อีกมากมาย อย่างไรก็ตาม ผมคงไม่แนะนำให้นักลงทุนหน้าใหม่เลียนแบบวิธีการของเฮดจ์ฟันด์ แม้ว่าบางหลายวิธีจะดูมีเหตุผลดีทีเดียว แต่การทำธุรกรรม short นั้นต้องการวินัยอย่างสูง บางครั้งวิธีการดี แต่จิตใจยังไม่หนักแน่นพอ ก็พลาดได้ง่ายๆ  

ผมเชื่อว่า ทุกวันนี้การที่ตลาดทุนโลกเต็มไปด้วยเฮดจ์ฟันด์ ทำให้ราคาหุ้นขึ้นอยู่กับนโยบายการเงินของรัฐฯ มากกว่าปัจจัยพื้นฐานของตัวหุ้นเข้าไปทุกที เพราะกลยุทธ์ส่วนใหญ่ของเฮดจ์ฟันทำกำไรจาก noise จึงสามารถทำกำไรได้เสมอโดยไม่ต้องสนใจว่าหุ้นที่ซื้อจะแพงหรือไม่เมื่อเทียบกับปัจจัยพื้นฐาน ดังนั้นเวลาที่เฟดใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย เฮดจ์ฟันด์ก็จะหาทุนได้มากขึ้น ก็จะนำมาสร้าง position ในตลาดหุ้นมากขึ้นทันที โดยไม่เกี่ยวกับ outlook ของหุ้น และเมื่อเฟดใช้นโยบายการเงินตึงตัวก็จะให้ผลตรงกันข้าม เงินที่ไหลเข้าออกจากตลาดหุ้นจึงเป็นไปตามภาวะตลาดเงินมากกว่าจะเป็นไปตามตามความคิดของนักลงทุนเกี่ยวกับปัจจัยพื้นฐานของตัวหุ้นในขณะนั้น

0308: Dickson G.Watts

ผมได้อ่านหนังสือโบราณเล่มหนึ่ง ซึ่งเขียนโดย Dickson G.Watts นักเก็งกำไรในตลาด New York Cotton Exchange เมื่อ 85 ปีที่แล้ว ท่านผู้นี้ร่ำรวยขึ้นมาจากมือเปล่าด้วยการเป็นนักเก็งกำไรราคาฝ้าย และในวัยสูงอายุได้ดำรงตำแหน่งเป็นประธานของ NYCE ในระหว่างปี 1878 – 1880 อีกด้วย

หนังสือเล่มนี้หายสาบสูญไปนาน แต่มันกลับมาได้รับความสนใจอีกครั้งเมื่อ Edwin Lefevre ผู้เขียนหนังสือชื่อ Reminiscences of a Stock Operator ซึ่งเป็นชีวประวัติของ Jesse Livermore นักเก็งกำไรผู้โด่งดังในช่วงปี 1900-1930 กล่าวถึงกฏของ Watts ไว้ในหนังสือ

หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่มีขนาดเล็กมาก มันมีกฏทองของการเก็งกำไรเพียงไม่กี่ข้อ ซึ่งเป็นการสรุปจากประสบการณ์การเก็งกำไรทั้งชีวิตของผู้เขียน ผมเห็นว่ามันมีประสบการณ์ที่ทรงคุณค่า ซึ่งจะช่วยให้ประหยัดเวลาในการเรียนรู้เกี่ยวกับตลาดหุ้นของเราได้ โดยที่ไม่ต้องจ่ายค่าเทอมเองด้วย อย่างไรก็ตาม มันเป็นหลักสำหรับการเก็งกำไรเป็นหลัก ต้องระวังเวลานำไปใช้กับการลงทุน เพราะแม้ว่าจะใช้ได้บ้างในบางส่วน แต่ไม่ว่าทั้งหมด

กฏของ Watts มีทั้งหมด 10 ข้อ 4 ข้อแรก เป็นกฏที่เป็นจริงเสมอ (Laws Absolute)
อีก 6 ข้อหลังเป็นกฏที่โดยปกติให้ยึดถือเอาไว้ แต่ในบางสถานการณ์ก็สามารถยืดหยุ่นได้ (Rules Conditional) ผมขออนุญาตเริ่มจาก Rule Conditional ทั้ง 6 ข้อก่อน

Rule Conditional #1 : การซื้อเฉลี่ย “ขาขึ้น” ดีกว่าการซื้อเฉลี่ย “ขาลง”

ธรรมเนียมทั่วไปนิยมเชื่อว่าการเฉลี่ยขาลงดีกว่าเพราะทำให้ต้นทุนเฉลี่ยลดลงเรื่อยๆ แม้ว่าสี่ในห้าครั้งที่เฉลี่ยขาลง ราคาหุ้นจะพลิกกลับขึ้นมา ทำให้มีกำไรได้ แต่จะมีอีกหนึ่งในห้าครั้งที่ ราคาหุ้นลงแบบถาวรไม่กลับขึ้นมาอีกเลยตลอดไป ซึ่งจะนำไปสู่การขาดทุนมหาศาลได้

Rule Conditional #2 ตลาดโวลุ่มหาย แนวต้านไม่แข็งแรง คือตลาดที่ควรจะขาย
เพราะตลาดเช่นนี้มักจะพัฒนาไปสู่ตลาดขาลง แต่เมื่อไรก็ตามที่ตลาดเช่นนี้ได้ผ่านไปสู่ภาวะที่มีโวลุ่มหนาแน่นและเป็นขาลงแล้วต่อด้วยแรงขายแบบตื่นตระหนกเรียบร้อยแล้วก็ถึงเวลาที่ควรจะซื้อมากๆ

ในทางตรงกันข้ามตลาดที่โวลุ่มหายแต่แนวต้านมั่นคงมักจะพัฒนาไปสู่ตลาดที่มีโวลุ่มหนาแน่นและมีฐานที่แข็งแรง หลังจากนั้นถ้าตลาดกลายเป็นตลาดที่เต็มไปด้วยอารมณ์ตื่นเต้น ก็ควรจะขายออกมาอย่างมั่นใจ

 
Rule Conditional #3
ในการสร้างมุมมองเกี่ยวกับตลาด ปัจจัยด้านความน่าจะเป็นจะละเลยไม่ได้ จงคิดถึงความน่าจะเป็นเสมอ นโปเลียนวางแผนการรบจะเผื่อกรณีสุดวิสัยเอาไว้เสมอ อุบัติเหตุอาจเกิดขึ้นมาทำลายหรือหักล้างการคิดคำนวณที่ดีที่สุดได้ การคิดคำนวณจึงต้องรวมสิ่งที่คาดไม่ได้เอาไว้เสมอ คนที่คิดคำนวณความน่าจะเป็นไว้ด้วยคือยอดคน

จงสร้างมุมมองจากข้อมูลต่างๆ เช่น สภาวะของประเทศ ผลผลิตทางการเกษตร ตัวเลขการผลิต ฯลฯ สถิติเก่าๆ นั้นเป็นสิ่งที่มีค่า แต่จะต้องไม่มีอิทธิพลเหนือข้อมูลในการสร้างมุมมองเกี่ยวกับสถานการณ์ข้างหน้า คนที่ยึดติดกับสถิติเก่าๆ มากเกินไปจะหลงทาง เคนนิ่งกล่าวว่า “there is nothing so fallacious as facts, except figures.”

ดังนั้น จึงควรเริ่มซื้อแต่น้อย เมื่อราคาหุ้นไต่ระดับขึ้นก็ค่อยๆ ซื้อเพิ่มอย่างเฝ้าระวัง เมื่อไรที่ราคาหุ้นปรับฐานลงจนชนต้นทุนเฉลี่ยเมื่อไรก็ควรขายหนีทันที เพื่อหลีกเลี่ยงการขาดทุน ถ้าทำเช่นนี้ตลอด จะมีบางครั้งที่ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นไปอย่างมากทำให้ได้กำไรมหาศาลในครั้งนั้น กลยุทธ์นี้มีความเสี่ยงต่ำ และเมื่อใดก็ตามที่สำเร็จจะได้กำไรสูง ควรใช้กลยุทธ์ซื้อเฉลี่ยขาขึ้นเมื่อคาดว่าตลาดกำลังมีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญและในจังหวะที่คุณมีเงินทุนพอเพียงที่จะทำเช่นนั้น

Rule Conditional #4
ในสถานการณ์ทั่วไป คำแนะนำของเราคือการซื้อในครั้งเดียวให้ได้จำนวนที่เหมาะสมกับทุนที่มีอยู่ไปเลย การ Cut loss หรือการ Take Profit ก็ให้ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณ หลักก็คือ Stop lossess and let profits run. ถ้าหากกำไรขนาดเล็กเรา Take ได้ ขาดทุนขนาดเล็ก เราก็ต้องกล้า Take ด้วย การขาดความกล้าที่จะขาดทุนขนาดเล็กและการรีบร้อนเกินไปที่จะ Take Profit คือหายนะ มันทำให้เสียงานมามากแล้ว
Rule Conditional #5
การซื้อขาลงต้องอาศัยกระเป๋าเงินที่ลึกและจิตใจที่มั่นคง บ่อยครั้งที่ความหายนะมาเยือนผู้ที่มีทั้งสองสิ่ง ยิ่งจิตใจมั่นคง โอกาสที่จะถือหุ้นไว้นานเกินไปยิ่งมาก อย่างไรก็ดี มีคนจำพวกหนึ่ง ที่ประสบความสำเร็จในการซื้อขาลงแล้วถือไว้เฉยๆ พวกนี้ซื้อทีละน้อย เข้าอย่างรอบคอบ และถือเอาไว้นานๆ พวกเขาเป็นคนที่ไม่รู้สึกถูกรบกวนใจเพราะความผันผวนของราคา พวกเขาเป็นนักตัดสินใจซึ่งซื้อในยามที่ตลาดแย่มากๆ แล้วถือไว้จนธุรกิจพลิกฟื้นตัวได้ แบบนี้เป็นการลงทุนไม่ใช่การเก็งกำไร

Rule Conditional #6
ความเห็นของตลาดนั้นจะละเลยไปเลยไม่ได้ เมื่อเกิดกระแสการเก็งกำไร เราควรเฝ้าดูอย่างใกล้ชิด หลักก็คือ ตัดสินใจอย่างรอบคอบตลาดกระแสตลาด ถ้าจะสวนตลาดก็ให้ทำอย่างกล้าหาญ การแห่ตามตลาดแม้ว่าทุกอย่างจะดูดีนั้นเป็นเรื่องที่อันตราย เมื่อทิศทางพลิกกลับเราจะลำบาก นักเก็งกำไรตระหนักดีถึงอันตรายของ “การมีเพื่อนมากเกินไป” ในขณะเดียวกันก็ต้องรอบคอบอย่างยิ่งในการสวนตลาด ตลาดมีชีพจรที่นักเก็งกำไรควรวางมือของตนไว้บนข้อมือของตลาดแบบเดียวกับแพทย์ ชีพจรนี้คือสิ่งที่จะบ่งบอกเราว่าควรทำเช่นไรและเมื่อใด

คราวนี้ ขอกล่าวถึง Law Absolute ที่เหลืออีก 4 ข้อ ของ Dicksons G.Watts บ้าง

Law Absolute 1: Never Overtrade
การเปิดสถานะโดยมิประเมินทุนที่มีอยู่นำมาซึ่งหายนะ ความผันผวนที่รุนแรงจะปั่นหัวของนักลงทุนทำให้การตัดสินใจผิดพลาดไปหมด

 
Law Absolute #2 : Never “Double Up”
ห้ามกลับสถานะทีเดียวทั้งหมดในทันที ตัวอย่างเช่น กำลัง long อยู่ ห้ามขายทิ้งหมดแล้วเปลี่ยนมา short ทันทีในปริมาณที่เท่ากัน ในบางครั้งการทำเช่นนี้อาจประสบความสำเร็จแต่นับว่าอันตราย หากตลาดพลิกกลับมาขึ้นต่อ ใจกลับไปเก็งทิศทางเดิม นักเก็งกำไรจะทิ้ง short แล้วหันมา long ใหม่อีกครั้ง ถ้าหากว่าหนนี้ผิดพลาด ความปั่นป่วนในใจจะเกิดขึ้น

ดังนั้นเมื่อต้องการกลับทิศทางควรทำทีละน้อยอย่างระมัดระวัง ทั้งหมดก็เพื่อรักษาความสามารถในการตัดสินใจของเราให้ปลอดโปร่งอยู่เสมอ สร้างสมดุลของจิตใจ

Law Absolute #3 : Run Quickly or Not at All
ลงมือจัดการทันทีที่เห็นอันตรายเริ่มเคลือบคลานเข้ามาเป็นครั้งแรก แต่หากพลาดที่จะลงมือแต่เนิ่นๆ จนกระทั้งคนอื่นในตลาดเห็นอันตรายนั้นกันหมดแล้วก็จงอยู่เฉยๆ เหมือนเดิม หรือมิฉะนั้นก็ปิดสถานะเพียงแค่บางส่วน

Law Absolute #4: เมื่อลังเล ลดสถานะ
หากรู้สึกใจคอไม่ดีกับสถานะที่เปิดอยู่ หรือสถานะใหญ่เกินกว่าที่จะรู้สึกปลอดภัย ชายคนหนึ่งบอกชายอีกคนหนึ่งว่าเขานอนไม่หลับเลยเพราะสถานะของเขา ชายอีกคนตอบง่ายๆ ว่า “Sell down to a sleeping point.”
ผมเห็นว่า กฏของ Watts นั้นมีอะไรที่ลึกซึ้งซ่อนอยู่ระหว่างบรรทัดเยอะ หลายอย่างเกิดจากประสบการณ์ที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมามาก ทำให้มือใหม่อาจยังเข้าใจไม่ได้ในทันที ลองค่อยๆ อ่านทำความเข้าใจไปเรื่อยๆ จะได้หลักการอะไรดีๆ หลายอย่างมาปรับใช้ให้เราอยู่ในตลาดได้อย่างคนฉลาดมากขึ้นครับ

 

0303: John Neff

John Neff เป็นนักลงทุนแนวเน้นคุณค่าที่มีชื่อเสียงอีกคนหนึ่ง กลยุทธ์การลงทุนของเขาคือ “ซื้อหุ้นที่ไม่อยู่ในความสนใจของตลาดแต่มีโอกาสเติบโตในอนาคตที่น่าสนใจ และขายเมื่อตลาดกลับมาเห็นด้วยกับคุณอย่างสมบูรณ์แล้ว” นับเป็นกลยุทธ์ที่ผมได้ยินแล้วรู้สึกชอบมากๆ เป็นการส่วนตัว Neff เกลียดการซื้อหุ้นที่กำลังเป็นที่สนใจของตลาดมาก  

จุดเด่นอย่างหนึ่งของ Neff คือ เขามีหลักการซื้อขายหุ้นที่ทำตามได้ไม่ยากและเป็นรูปธรรม เขากล่าวว่า ความน่าสนใจของหุ้นตัวหนึ่งจะถูกวัดจาก อัตราการเติบโตที่คาดบวกด้วยอัตราเงินปันผล หารด้วย พีอี ของมัน เขาเรียกมันว่า PYG ยิ่งมีค่ามากเท่าไร ยิ่งน่าสนใจ

เวลาคิดจะซื้อหุ้นสักตัวหนึ่งให้เปรียบเทียบ PYG ของมัน กับ PYG ของพอร์ตเดิมที่มีอยู่ ถ้าหาก PYG ของหุ้นตัวนั้นมีค่าสูงกว่า PYG ของพอร์ตปัจจุบัน การซื้อหุ้นนั้นเข้าพอร์ตจะเป็นการเพิ่มคุณค่าให้กับพอร์ต นักลงทุนควรหาโอกาสเพิ่มค่า PYG ของพอร์ตให้สูงขึ้นเรื่อยๆ ด้วยการเติมหุ้นที่มี PYG สูงกว่าพอร์ตเข้าไปในพอร์ต ไม่ต้องไปสนใจ PYG ของตลาดมากนัก ยกเว้นในยามที่ PYG ของตลาดสูงมากจริงๆ อาจเปลี่ยนมาเงินสดไว้สัก 20% ก็ได้

นักลงทุนระดับตำนานมักร่ำรวยมาจากการซื้อหุ้นเพียงไม่กี่ครั้งในชีวิตที่เขามั่นใจมากๆ และทุ่มซื้อด้วยเงินที่เป็นสัดส่วนที่สูงมากของทุนทั้งหมดที่เขามีอยู่ Neff ซื้อ Ford ที่พีอีแค่ 2.5 เท่าที่ราคาเฉลี่ย $14 ในช่วงที่ทุกคนกังวลว่าบริษัทกำลังจะล้มละลาย เขาถือมันไว้ 3 ปี ราคากลับขึ้นไป $50 ทำให้เขาได้กำไรมากถึง 500 ล้านเหรียญจากหุ้นตัวเดียว  

ผลงานตลอดชีวิตของ Neff เป็นตัวเลขที่ไม่ได้สูงมาก เฉลี่ยเพียง 13.7% ต่อปีเท่านั้น แต่เป็นระยะเวลาลงทุนที่ยาวนานถึง 32 ปี มันจึงเป็นผลตอบแทนที่มหาศาล นี่แสดงให้เห็นว่าการจะเป็นนักลงทุนระดับตำนานนั้นไม่จำเป็นต้องได้ผลตอบแทนต่อปีสูงๆ ขอให้เป็นการลงทุนที่มีความมั่นคงพอสมควรเพื่อให้พอร์ตสามารถดำรงอยู่ได้เป็นระยะเวลานานโดยไม่ blow ไปเสียก่อน คุณก็สามารถสร้างตำนานได้แล้วครับ  

    

0300: the crash of 1907

 

วิกฤตปี 1907 จุดชนวนขึ้นเมื่อพี่น้องตระกูล Heinze ผู้ถือหุ้นใหญ่ของ United Copper พยายามที่จะกว้านซื้อหุ้นของบริษัทตัวเองที่เหลืออยู่ในตลาดทั้งหมด โดยนำเงินจำนวนมากที่กู้มาจาก Knickerbocker Trust มาซื้อ แต่พวกเขาประสบความล้มเหลว…

อันที่จริงตระกูล Heinze ไม่ได้ต้องการจะครอบงำกิจการแต่อย่างใด แต่พวกเขารู้ว่า ตระกูลของเขาถือหุ้นส่วนใหญ่เอาไว้ ในขณะที่หุ้นส่วนที่เหลือที่เทรดอยู่ในตลาดได้ถูกนักลงทุนกลุ่มหนึ่งยืมไปขายช็อตเป็นจำนวนมากเพื่อหวังจะทุบราคาหุ้นแล้วทำกำไรส่วนต่าง ตระกูล Heinze คิดว่า ถ้าหากพวกเขาเข้าไปเก็บหุ้นที่เหลืออยู่ในตลาดทั้งหมด หุ้นส่วนใหญ่ก็จะตกอยู่ในมือพวกเขา พวก Short Sellers ก็จะไม่สามารถหาซื้อหุ้นจากที่ไหนมาคืนได้นอกจากต้องซื้อจากพวกเขาเท่านั้น และจะทำให้พวกเขาได้กำไรมหาศาลเพราะจะสามารถเรียกราคาเท่าไรก็ได้จากพวก Short Sellers

ตระกูล Heinze เคยได้กำไรจากวิธีการแบบนี้มาแล้วหลายครั้งในการกว้านซื้อหุ้นสถาบันการเงินขนาดเล็กหลายแห่ง และทำให้เขามีสายสัมพันธ์ที่ดีกับเจ้าของ Kickerbocker Trust ซึ่งมักแอบใช้เงินของทรัสต์เพื่อปล่อยกู้ให้พวกเขาทำธุรกรรมเช่นนี้อยู่บ่อยครั้งแล้วแบ่งกำไรกัน แต่สำหรับครั้งนี้ มันเป็นธุรกรรมที่ใหญ่มาก แม้เจ้าของ Kickerbock Trust จะเตือนตระกูล Heinze ว่า เงินจำนวนที่สามารถปล่อยกู้ให้ได้ ไม่น่าจะเพียงพอที่จะกว้านซื้อหุ้น United Copper ได้ทั้งหมด แต่ตระกูล Heinze ก็ต้องการที่จะเสี่ยง เพราะที่ผ่านมาพวกเขาเคยได้กำไรจากธุรกรรมแบบนี้สำเร็จมาทุกครั้ง ตระกูลของพวกเขาร่ำรวยมีหน้ามีตาขึ้นมาได้ก็เพราะวิธีการอันนี้

วันที่ 14 ตุลาคม 1907 Heinze ไล่เก็บหุ้น United Copper ทุกราคา ทำให้ราคาหุ้นเพิ่มขึ้นจาก $39 เป็น $52 ในวันเดียว พอวันรุ่งขึ้น พวกเขาก็สั่งโบรกเกอร์ขอเรียกหุ้นคืนจาก Short Sellers ทันที แต่ Heinze คาดการณ์ผิด พวก Short Sellers สามารถหาหุ้นจากผู้ถือหุ้นคนอื่นมาคืนได้เป็นผลสำเร็จ ที่จริงแล้วยังมีหุ้น United Copper จำนวนมากหลงเหลืออยู่ในมือของผู้ถือหุ้นอื่น มีมหกรรมประกาศขอซื้อหุ้นจำนวนมากบนทางเท้านอกอาคารตลาดนิวยอร์คฯ ในช่วงบ่ายของวันนั้น ดังนั้นราคาหุ้น United Copper จึงร่วงเหลือแค่ $30 เมื่อตลาดปิด

ในวันถัดมา เมื่อข่าวสะพัดออกไปว่า การกว้านซื้อหุ้นของ “ขาใหญ่” อย่างตระกูล Heinze ล้มเหลว พวกรายย่อยที่ได้เข้าไปเก็งกำไรในหุ้นตัวนี้ในช่วงที่ผ่านมาเพราะรู้ว่า Heinze กำลังกว้านซื้อก็ต่างพากันเทขายออกมาพร้อมๆ กันทำให้ราคาหุ้น United Copper ร่วงลงอีกอย่างรุนแรงเหลือเพียงแค่ $10 เท่านั้น ตระกูล Heinze ขาดทุนมหาศาล และทำให้ไม่มีเงินไปคืน Kickerbrock Trust

วันที่ 22 ตุลาคม 1907 ผู้ฝากเงินของ Kickerbrock Trust จำนวนมากตื่นตระหนกกับข่าวที่เกิดขึ้นจึงพากันไปแห่ถอนเงินออกจาก Kickerbrock พร้อมกัน และทำให้ต้องปิดทำการชั่วคราวในบ่ายวันนั้น นอกจากนี้ยังมีข่าวว่า มีสถาบันการเงินหลายแห่งที่รับหุ้น United Copper จำนวนมากไว้เป็นหลักประกัน ก่อให้เกิดความตื่นตระหนกว่า สถาบันการเงินเหล่านี้จะล้มตามไปด้วย ทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่ผู้ฝากเงินแห่ไปถอนเงินที่ธนาคารลุกลามไปทั่วประเทศ ในเวลานั้น สหรัฐฯ ยังไม่มี Federal Reserve ทำให้ไม่มีหน่วยงานที่จะช่วยอัดฉีดสภาพคล่องให้กับธนาคารที่มีผู้ฝากเงินแห่มาถอนเงินในภาวะตื่นตระหนกได้

ความตื่นตระหนกกับข่าวที่เกิดขึ้นยังทำให้สถาบันการเงินจำนวนมากไม่กล้าปล่อยสินเชื่อให้กับบรรดาโบรกเกอร์ด้วย ดอกเบี้ยมาร์จิ้นโลนพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว เมื่อโบรกเกอร์ขาดสภาพคล่องจึงมีการเรียกเงินคืนจากนักลงทุนทั่วตลาด ตลาดหุ้นนิวยอร์คจึงทรุดตัวลงอย่างรุนแรงถึง 50% จากจุดสูงสุดเดิม

ในช่วงสัปดาห์นั้น J P Morgan นักการธนาคารผู้มั่งคั่งที่สุดในนิวยอร์คไม่ได้อยู่ในนิวยอร์ค แต่เขากำลังร่วมกิจกรรมของโบสถ์ในเวอร์จิเนีย ทันทีที่เขารู้ข่าว เขาก็รีบเดินทางกลับนิวยอร์คทันที J P Morgan มองว่าสถานการณ์เช่นนี้ปล่อยไว้ไม่ได้ เพราะระบบการเงินจะล่มสลายในที่สุด ในคืนแรกที่กลับมาถึงนิวยอร์ค J P Morgan นั่งวิเคราะห์งบการเงินที่อ่อนแอของ Kinckerbocker ภายในห้องสมุดส่วนตัวของเขา แล้วตัดสินใจไม่เข้าไปยุ่งทรัสต์แห่งนี้ เพราะสายเกินไปแล้วที่จะช่วย แต่เขาเห็นว่าทรัสต์หลายแห่งที่มีผู้ไปแห่ถอนเงินเป็นทรัสต์ที่ยังมีสถานะทางการเงินที่ดีอยู่ เขาจึงเรียกประชุมด่วน นายธนาคาร มหาเศรษฐี และรมต.คลัง แล้วเจรจาให้พวกเขาเหล่านั้นยอมพร้อมใจกันลงขันพร้อมกับเขา เพื่อตั้งเป็นกองทุนเพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับทรัสต์ที่กำลังขาดสภาพคล่อง และประกาศออกไปเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับสาธารณชน 

พันธบัตรรัฐฯ นิวยอร์คที่ออกมาเพื่อช่วยแก้ปัญหาในเวลานั้นขายไม่หมด J P Morgan ต้องแนะให้รัฐฯ ปรับเพิ่ม yield และเขาต้องยอมเข้าทำสัญญาว่าจะซื้อพันธบัตรใหม่นั้นเป็นเงินอย่างน้อย $30 ล้านเหรียญเพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นในพันธบัตรอีกด้วย 

สุดท้าย วิกฤตการเงินปี 1907 ก็สามารถยุติลงได้ เหตุการณ์ในครั้งนี้ได้นำไปสู่การจัดตั้ง Federal Reserve ขึ้น เพื่อทำหน้าที่อัดฉีดสภาพคล่องให้กับระบบธนาคารในเวลาที่เกิดวิกฤต

J P Morgan เองต้องขาดทุนจากการกู้วิกฤตครั้งนี้มากถึง $21 ล้านเหรียญ แต่ก็ทำให้เขาได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่มีภาวะผู้นำที่เข้ามากอบกู้สถานการณ์ให้กับประเทศ อย่างไรก็ตาม มีผู้วิจารณ์ว่า เขาอาศัยวิกฤตครั้งนี้ในการทำให้บรรดาทรัสต์ซึ่งเป็นคู่แข่งของธนาคารที่เขาเป็นเจ้าของอ่อนแอลง และยังเป็นโอกาสที่ทำให้เขาได้เข้าซื้อบริษัท TC&I ในราคาถูกแสนถูกอีกด้วย หลังวิกฤตเขาถูกสอบสวนอีกหลายครั้งโดยคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นมาสอบสวนความโปร่งใสของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับวิกฤตที่เกิดขึ้น จนถึงปีที่เขาป่วยหนักและเสียชีวิต    

0294: จะมีวิกฤตซ้อนวิกฤตมั้ย?

เวลานี้ดูเหมือนว่า วิกฤตซับไพรม์ซึ่งได้พัฒนาจนกลายเป็นวิกฤตโลกเมื่อปีที่แล้วจะอยู่ในขั้นที่ควบคุมได้แล้ว เพราะถึงตอนนี้ไม่น่าจะมีสถาบันการเงินขนาดใหญ่แห่งไหนล้มเพิ่มเติมอีก ส่วนเศรษฐกิจโลกที่แม้ว่าจะยังไม่ฟื้นแต่ก็เริ่มหาที่ยืนได้ วิกฤตครั้งนี้ดูจะไม่ได้เลวร้ายขนาดที่กูรูหลายท่านคาดการณ์ไว้เมื่อปลายปีที่แล้ว

เมื่อมองย้อนกลับไปจะเห็นได้ว่า สหรัฐฯ แก้ปัญหาวิกฤตครั้งนี้ด้วยการให้ภาครัฐฯ เข้าไปแบกรับความเสียหายทั้งหมดของภาคเอกชนเอาไว้แทน ตลาดจึงไม่ต้องเข้าสู่ภาวะล่มสลาย นับเป็นการดับเครื่องชนของพญาอินทรี เพราะทั้งเฟดและกระทรวงการคลังของสหรัฐฯ ต่างแบกหนี้ไว้จนหลังแอ่น งานนี้เจ๊งเป็นเจ๊ง ถ้าทำไม่สำเร็จ ลุงแซมยอมตายไปเลย

แต่ก็ดูเหมือนเดิมพันครั้งนี้จะได้ผลเสียด้วย ทุกอย่างเดินไปได้ตามแผนที่ลุงแซมวางเอาไว้ แม้เครดิตของลุงแซมลดลงไปมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่ปรากฏว่าก็ยังมีเหลือพอที่จะก่อหนี้จำนวนมหาศาลเพื่อมาแก้ปัญหาในครั้งนี้อยู่

ดังนั้น ถ้าหากเวลานี้ใครยังกลัวว่าจะยังมีวิกฤตซ้อนวิกฤตหรือไม่ สิ่งที่ต้องควรจับตามองมากที่สุดน่าจะเป็น ภาครัฐฯ ของสหรัฐฯ แล้ว ซึ่งได้แก่ กระทรวงการคลังและเฟด ว่าจะสามารถประคองตัวเองต่อไปได้อย่างราบรื่นหรือไม่  

เมื่อปีที่แล้ว เฟดเปิดโอกาสให้สถาบันการเงินที่มีปัญหาสามารถกู้เงินจากเฟดได้โดยไม่จำกัด เฟดอุดหนุนเงินกู้เหล่านั้นการสร้าง Reserve ใหม่เข้าไปในระบบธนาคารพาณิชย์ จากเดิมที่เคยมีอยู่ในระบบประมาณ $11 billions กลายเป็น $900 billions ภายในเวลาอันสั้น!!!!! เทียบเท่ากับการพิมพ์เงินขึ้นมา Reserve ที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลให้ความสามารถในการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลตามไปด้วย เรื่องนี้จึงได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากว่า จะทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อขั้นรุนแรง เมื่อใดก็ตามที่เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวและทำให้ธนาคารพาณิชย์กลับมาปล่อยสินเชื่ออีกครั้ง

เกี่ยวกับเรื่องนี้ เฟดบอกว่าไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิดกัน เพราะเมื่อตลาดเงินเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ สถาบันการเงินที่กู้เงินด่วนไปก็จะพากันมาใช้คืนหนี้ทำให้ Reserve ลดลงไปเอง ก่อนที่เศรษฐกิจจะฟื้นตัว ซึ่งก็ดูเหมือนจะเป็นเช่นนั้นจริงๆ ตามที่เฟดพูด เพราะ ถึงเวลานี้ Reserve ที่เพิ่มขึ้นมา $900 billions ลดลงไปครึ่งหนึ่งแล้ว ภายในเวลาแค่ไม่ถึงครึ่งปี นอกจากนี้ ถ้าหาก Reserve เกิดไม่ลดลงต่อหลังจากนี้ เฟดก็ได้เตรียมรับมือไว้แล้ว ด้วยการขออนุมัติที่จะจ่ายดอกเบี้ยให้กับ Reserve ที่ขอกู้มา อัตราดอกเบี้ยที่เฟดกำหนดจะจ่ายให้จะเป็นตัวกำหนดเพดานขั้นต่ำของ fed fund rate ซึ่งจะทำให้เฟดสามารถควบคุมการปล่อยกู้ของธนาคารพาณิชย์จาก Reserve ส่วนเกินนี้ได้ จึงไม่ต้องเป็นห่วงว่า เฟดจะควบคุมการปล่อยสินเชื่อของธนาคารไม่ได้    

อย่างไรก็ตาม แม้ Reserve จะมีแนวโน้มลดลง แต่เมื่อต้นปี เฟดก็ได้สร้างความกังวลใหม่ให้กับตลาดอีก ด้วยการประกาศจะเข้าแทรกแซงตลาดเงินโดยตรง (Quantitative Easing) ซึ่งเทียบเท่ากับการพิมพ์เงิน โดยการซื้อพันธบัตร $300 billions เพื่ดกดดอกเบี้ยระยะยาวลง ซื้อบอนด์ของเฟดดี้และแฟนนี่ $200 billions และซื้อ MBS อีก $1.25 Trillions เพื่อพยุงตลาดอสังหาฯ ตลาดกังวลว่า เมื่อโปรแกรมนี้จบลงแล้ว เฟดจะขายตราสารเหล่านี้ออกมาอย่างไร

เกี่ยวกับเรื่องนี้ เฟดบอกว่าสำหรับพันธบัตรนั้นไม่น่าห่วงเพราะเป็นจำนวนที่น้อยเมื่อเทียบกับตลาดทั้งตลาด การขายออกมาคงไม่มีผลกระทบอะไร แต่สำหรับบอนด์หรือ MBS นั้น เกือบจะเรียกได้ว่าเฟดกลายเป็นตลาดไปแล้ว ถ้าหากขายออกมาทันทีจะเป็นปรากฏการณ์ที่ใหญ่มากแน่นอน ถ้าดูจากพฤติกรรมในอดีตของเฟด เชื่อว่า เฟดน่าจะถือตราสารเหล่านี้จนครบอายุแทน

เนื่องจากอายุเฉลี่ยของตราสารเหล่านี้เท่ากับ 5-10 ปี ดังนั้นเฟดจะต้องหาทางค่อยๆ ดูดซับสภาพคล่องส่วนเกินที่เกิดขึ้นมาก่อนระหว่างทาง ซึ่งเชื่อกันว่า เฟดจะใช้วิธีออกตั๋วเงินระยะสั้นๆ ของตัวเองหมุนไปเรื่อยๆ เพื่อมิให้กระทบตลาด ซึ่งเฟดก็ได้ขออนุมัติเตรียมเอาไว้แล้ว

สรุปแล้ว แม้ตัวเลขจะดูใหญ่ แต่ไม่น่าเป็นห่วงเท่าไรสำหรับเฟด เพราะเตรียมอาวุธไว้เยอะ ลุงเบนน่าจะเอาอยู่ ถ้าจะห่วง กระทรวงการคลังของสหรัฐฯ น่าจะมีอะไรให้ห่วงมากกว่าเฟด ไว้จะมาเล่าให้ฟังครับ

0293: Distressed Company (2)

ในภาวะปกติ  ผู้ถือหุ้น ต่างกับ เจ้าหนี้ ตรงที่ข้อตกลงเรื่องการจ่ายผลตอบแทน บริษัทมีข้อผูกมัดที่กำหนดไว้แล้วล่วงหน้าว่าจะต้องจ่ายผลตอบแทนให้เจ้าหนี้เมื่อใดเป็นจำนวนเท่าใด แต่บริษัทไม่มีข้อผูกมัดใดๆ กับผู้ถือหุ้นเลยในเรื่องการจ่ายผลตอบแทน การจ่ายเงินปันผลไม่มี commitment ใดๆ ทั้งสิ้น (นักลงทุนที่คิดว่าเงินปันผลเป็นสิ่งที่ยั่งยืนของการลงทุนในหุ้นจึงเป็นความเชื่อที่ผิด) แต่ก็เพราะผลตอบแทนของผู้ถือหุ้นมีความแน่นอนน้อยกว่าของเจ้าหนี้นี่แหละที่ทำให้ผลตอบแทนที่คาดหวัง (Expected Return) ได้ของการลงทุนในหุ้นจึงสูงกว่าตราสารหนี้เพื่อชดเชยความเสี่ยงที่มากกว่านั่นเอง 

แต่เมื่อใดที่สภาพคล่องของบริษัทเริ่มมีปัญหา ผลตอบแทนของผู้ถือหุ้นและเจ้าหนี้ล้วนแต่ไม่แน่นอนทั้งคู่ แต่เจ้าหนี้ก็ยังต่างกับที่ผู้ถือหุ้นอยู่ตรงที่เจ้าหนี้จะมีสิทธิ์ได้รับส่วนแบ่งก่อนถ้าหากมีการเลิกบริษัทและชำระบัญชี หมายความว่า ถ้านำสินทรัพย์ที่เหลือของบริษัทออกขายทอดตลาดแล้วนำเงินที่ได้มาใช้หนี้ให้กับเจ้าหนี้ทุกรายจนหมด ถ้าหากยังเหลือเงินอยู่อีกเท่านั้น ผู้ถือหุ้นจึงจะมีสิทธิ์ได้ในเงินส่วนนั้นไป มิฉะนั้นแล้ว ผู้ถือหุ้นก็ไม่มีสิทธิ์ได้รับอะไรเลยจากการชำระบัญชี

ที่จริงแล้ว ในบรรดาเจ้าหนี้ด้วยกันเองก็ยังมีสิทธิในส่วนนี้ไม่เท่ากัน เจ้าหนี้ที่มีสิทธิ์สูงสุดคือเจ้าหนี้ที่มีประกัน (secured debt) เพราะจะมีสิทธิ์ในสินทรัพย์ที่บริษัทใช้วางเป็นหลักประกันนั้นแต่ผู้เดียวโดยที่เจ้าหนี้คนอื่นไม่มีสิทธิ์ได้แบ่ง เจ้าหนี้ที่มีหลักประกันปลอดภัยขนาดที่ว่าต่อให้บริษัทดิ้นเข้าแผนฟื้นฟูได้แล้ว เจ้าหนี้ที่มีประกันก็ยังสามารถยึดหลักประกันได้เหมือนเดิม ส่วนใหญ่แล้วเจ้าหนี้ที่มีประกันก็มักจะได้แก่ ธนาคาร

เมื่อเจ้าหนี้ที่มีประกันรอดตัวไปแล้ว เจ้าหนี้ที่เหลือก็ต้องมานั่งมองหน้ากันเอง เพราะต่างฝ่ายก็ต่างไม่มีหลักประกัน ตัวอย่างของเจ้าหนี้กลุ่มนี้ได้แก่ หุ้นกู้แบบไม่มีประกัน ซึ่งในบางกรณียังแบ่งออกเป็นแบบไม่ด้อยสิทธิ (Senior Debt) และแบบด้อยสิทธิ (Subordinated debt) หุ้นกู้แบบด้อยสิทธิจะมีศักดิ์ต่ำกว่าแบบไม่ด้อยสิทธิ ส่วนมากแล้ว บริษัทมักจะออกหุ้นกู้แบบด้อยสิทธิในกรณีที่บริษัทเคยออกหุ้นกู้ไปแล้ว แล้วเจ้าหนี้หุ้นกู้เดิมกลัวว่าในอนาคตบริษัทจะออกหุ้นกู้เพิ่มอีกทำให้โอกาสในการได้รับชำระหนี้ในกรณีชำระบัญชีของตัวเองลดลง เจ้าหนี้หุ้นกู้เดิมจึงบังคับไว้ให้หุ้นกู้ที่บริษัทจะออกอีกในอนาคตต้องเป็นหุ้นกู้ด้อยสิทธิเท่านั้น อย่างไรก็ตาม หุ้นกู้แบบด้อยสิทธิก็ยังมีศักดิ์เหนือกว่าผู้ถือหุ้นนะครับ

นอกจากนี้เจ้าหนี้ที่ไม่มีประกันยังรวมถึง บรรดาเจ้าหนี้การค้าทั้งหลาย พนักงานของบริษัทที่ไม่ได้รับเงินเดือนบางเดือน หรือค่าชดเชยในกรณีให้ออกจากงาน กรมสรรพากรที่มีภาษีค้างจ่าย ตลอดจนกองทุนประกันสังคม อีกด้วย โดยมากแล้ว เมื่อบริษัทเริ่มมีปัญหาสภาพคล่อง บริษัทมักเริ่มค้างจ่ายค่าใช้จ่ายเหล่านี้ จะเห็นได้ว่า ผู้ถือหุ้นอยู่ท้ายสุดของคิวจริงๆ

เวลาซื้อหุ้นบางคนชอบดูที่ Book Value โดยให้เหตุผลว่า เวลาบริษัทเจ๊ง ยิ่งบริษัทมีสินทรัพย์อยู่มากเท่าไร ผู้ถือหุ้นก็มีโอกาสที่จะได้แบ่งมากเท่านั้น แต่ในความเป็นจริง ผมกลับพบว่า บริษัทส่วนใหญ่ที่มาถึงขั้นตอนของการชำระบัญชีมักดิ้นรนมาแล้วทุกวิถีทาง ทำให้มักขอยื่นล้มละลายเมื่ออยู่ในสภาพที่มีหนี้สินล้นพ้นตัวไปแล้ว โอกาสราคาขายทอดตลอดของสินทรัพย์ที่เหลืออยู่จะสูงกว่ามูลหนี้ทั้งหมดที่บริษัทมีอยู่นั่น มักจะมีน้อยมากๆ พูดง่ายๆ ก็คือ เวลาบริษัทเจ๊ง อย่าไปหวังเลยว่าผู้ถือหุ้นจะได้อะไร ฉะนั้น การตีค่าของหุ้นจาก Book Value จึงอาจไม่ใช่วิธีที่ดีนัก ในทัศนะของผม  

ในกรณีที่บริษัทเข้าแผนฟื้นฟู กระบวนการเจรจาหนี้ก็จะเกิดขึ้น ดอกเบี้ยค้างจ่ายของพวกเจ้าหนี้ไม่มีประกันมักจะโดน hair cut ในขณะที่ เงินต้นจะถูกเจรจาให้เปลี่ยนเป็นหุ้นแทน (ถ้าตัดไปเลยจะดูไม่จริงใจ เพราะเหมือนกับว่าเจ้าหนี้โดนมากกว่าผู้ถือหุ้นเดิม) ทำให้ความเป็นเจ้าของของผู้ถือหุ้นเดิมจะต้องถูก dilute ลงไปอย่างมาก นอกจากนี้ แผนฟื้นฟูส่วนใหญ่ยังจะต้องให้มีการเพิ่มทุนใหม่เข้าไปอีก เพื่อเติมสภาพคล่องให้กับบริษัท มิฉะนั้น ธุรกิจก็ไม่สามารถเดินต่อไปได้ การเพิ่มทุนก็มักจะต้องมีการลดทุนผู้ถือหุ้นเดิมให้เกือบหมดก่อน เพื่อให้ผู้ถือหุ้นรายใหม่ได้สัดส่วนสูงพอที่จะทำให้ผู้ถือหุ้นรายใหม่กล้าเพิ่มทุน ซึ่งจะยิ่งทำให้ผู้ถือหุ้นเดิมโดน dilute หนักเข้าไปอีก ในกรณีเช่นนี้ ถึงแม้ว่าบริษัทจะผ่านแผนฟื้นฟูจนกลับมาดำเนินธุรกิจต่อไปได้สำเร็จ หุ้นของผู้ถือหุ้นเก่าก็แทบไม่มีค่าเหลือแล้ว เนื่องจากต้องโดน dilute อย่างมหาศาลระหว่างที่เข้าแผนฟื้นฟู การเข้าไปช้อนซื้อหุ้นก่อนจะเข้าแผนฟื้นฟูจึงมักไม่สามารถทำให้นักลงทุนกลายเป็นเศรษฐีได้อย่างที่เข้าใจกัน เพราะเมื่อบริษัทกลับมาได้ในอีกหลายปีต่อมา หุ้นของผู้ถือหุ้นเดิมมักไม่ได้กลับมาด้วย

จะเห็นได้ว่า  dilution เป็นเรื่องที่สำคัญมาก เมื่อบริษัทหนึ่งเริ่มมีปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน ราคาในกระดานมักจะถอยลงอย่างมาก ตลาดลดราคาหุ้นลงไปก่อนเลย in anticipation of การเพิ่มทุนเอาไว้ล่วงหน้า ตัวอย่างเช่น บริษัทเคยมีพีอี 9 เท่า แต่พอมีปัญหาสภาพคล่อง หนี้เยอะ D/E สูงมาก ตลาดจะคำนวณไว้ล่วงหน้าเลยว่า บริษัทจะต้องเพิ่มทุนอย่างน้อยเท่าไรจึงจะทำให้ D/E กลับมาอยู่ในระดับปกติ เช่น อาจจะต้องออกหุ้นใหม่อย่างน้อย 1 หุ้นเดิมต่อ 2 หุ้นใหม่ ดังนั้นถ้าสมมติฐานเกี่ยวกับกำไรสุทธิในอนาคตของบริษัทยังเหมือนเดิมทุกประการ แต่จำนวนหุ้นจะเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่า (ขนมพายเท่าเดิม แต่ตัวหารเพิ่มขึ้น) ราคาในกระดานอาจจะหล่นลงไปเหลือพีอี แค่ 3 เท่า เป็นต้น เมื่อบริษัทประกาศเพิ่มทุนใกล้เคียงกับที่ตลาดคิดไว้จริงๆ ราคาหุ้นอาจจะไม่ต้องเปลี่ยนแปลงอีกแล้ว เพราะเมื่อถึงวันที่ลูกหุ้นใหม่เข้าเทรด ราคาหุ้นยังเท่าเดิม แต่พีอีจะเปลี่ยนจาก 3 เท่า กลับมาเป็น 9 เท่าเอง เช่นนี้เป็นต้น  กรณีเพิ่มทุนแค่ 3 เท่านี้ ยังถือว่าฐานกรุณา ถ้าเจอต้องเพิ่มทุน 1 ต่อ 10 อันนี้ หุ้นเก่าแทบไม่มีค่าอะไรเลย บางทีราคาหุ้นร่วงไปเหลือแค่เศษสตางค์ก็ยังนับว่าแพง เพราะพีอี 2 เท่า ที่จริงแล้วคือ 20 เท่า หลังเพิ่มทุน

นักลงทุนที่ชอบซื้อหุ้นโดยวิธีหาหุ้นที่มีพีอีต่ำๆ แล้วเข้าไปซื้อ แบบไม่สนใจรายละเอียดว่าธุรกิจของบริษัทเป็นอย่างไร มักติดกับดัก เพราะมักจะได้เจอหุ้นที่สภาพคล่องทางการเงินไม่ค่อยดีเหล่านี้ และคิดไปว่า ตนเองค้นพบหุ้นราคาถูกแล้ว จึงเข้าไปซื้อ หารู้ไม่ว่า ที่ตลาดเทรดหุ้นเหล่านี้ที่ราคาต่ำมาก ไม่ใช่เพราะไม่มีใครในตลาดรู้จักหุ้นตัวนี้ แต่เป็นเพราะ ตลาดคาดการณ์การเพิ่มทุนเอาไว้เลยล่วงหน้า แต่ที่พีอียังต่ำอยู่อย่างนั้นเดือนแล้วเดือนเล่า เป็นเพราะบริษัทยังหาคนที่จะมาซื้อหุ้นเพิ่มทุนไม่ได้ เพราะไม่มีสถาบันไหนอยากซื้อ เมื่อนักลงทุนซื้อไปแล้วก็ต้องประหลาดใจที่พบว่า ภายหลังเมื่อบริษัทหาหนทางเพิ่มทุนได้สำเร็จ พีอีกลับไปแพงกว่าเดิม โดยที่ราคาหุ้นเท่าเดิม หรือน้อยลงกว่าเดิมด้วยซ้ำ ดังนั้นอย่าลืมเช็ค Balance Sheet ของบริษัทด้วยว่ากำลังอ่อนแออยู่หรือไม่ หุ้นที่จะต้องเพิ่มทุนในอนาคต กับหุ้นที่ไม่จำเป็นต้องเพิ่มทุนนั้น มูลค่าจะแตกต่างกันอย่างมากมาย จะคิดเหมือนกันไม่ได้ หุ้น turnaround ที่สามารถกลับมาได้ ถ้าหากต้องเพิ่มทุนอย่างมากมายระหว่างทาง ผู้ถือหุ้นเดิมก็จะไม่ได้อะไรอยู่ดีครับ ไม่เหมือนกับหุ้นที่กลับตัวได้โดยไม่ต้องเพิ่มทุนเลย

0292: Distressed Company (1)

บริษัทหนึ่งๆ จะขาดทุนหรือมีขาดทุนสะสมมากแค่ไหนก็ได้ต่อให้ขาดทุนจนส่วนทุนติดลบไปแล้วก็ยังไม่ถือว่า “เจ๊ง” ครับ

บริษัทหนึ่งๆ จะ “เจ๊ง” ก็ต่อเมื่อ “ขาดสภาพคล่อง” ต่างหากครับ การขาดสภาพคล่องจะทำให้บริษัทต้องผิดนัดชำระหนี้ ( Default ) ซึ่งนั่นแหละครับถึงที่จะเริ่มมีคนเดือดร้อน (เจ้าหนี้)

เมื่อบริษัทผิดนัดชำระหนี้ เจ้าหนี้ที่ไม่พอใจจะไปฟ้องศาลเพื่อให้ศาลสั่งให้เลิกบริษัทเพื่อนำสินทรัพย์ที่เหลืออยู่ไปขายทอดตลาดเพื่อนำเงินมาใช้คืนเจ้าหนี้ (เท่าที่จะใช้ได้) นั่นแหละครับ “เจ๊ง” แน่

แต่โดยมากแล้ว บริษัทมักรู้ตัวเองก่อนว่ากำลังจะผิดนัดชำระหนี้เร็วๆ นี้ เพราะเงินสดในลิ้นชักหมด ถ้าหากถึงตอนนี้ เจ้าของบริษัทยังไม่ยอมแพ้ เจ้าของอาจชิงไปขอศาลให้บริษัทเข้าสู่กระบวนการพิทักษ์ทรัพย์เพื่อให้เจ้าหนี้ไม่มีสิทธิ์ทวงหนี้ชั่วคราวก่อนถึงวันชำระหนี้ ถ้าแบบนี้ก็ถือว่าบริษัทล้มละลาย (bankrupt) โดยความสมัครใจ ถ้าศาลอนุญาต เจ้าหนี้ก็ทำอะไรบริษัทไม่ได้ [กระบวนการนี้ถูกเขียนไว้ในหมวดที่ 11 ของกฏหมายล้มละลายของสหรัฐฯ ดังนั้น สำนวนภาษาอังกฤษคำว่า Chapter 11 ก็เลย แปลว่า “ล้มละลาย” ได้ด้วย]  

สาเหตุที่ต้องมีทางเลือกอันนี้ไว้ให้บริษัทด้วยเป็นเพราะ ในบางกรณีนั้น ธุรกิจของบริษัทอาจจะยังมีศักยภาพอยู่ เพียงแต่บริษัทอาจประสบปัญหาสภาพคล่องชั่วคราว แต่เมื่อบรรดาเจ้าหนี้เริ่มได้กลิ่นไม่ดี โดยมากแล้ว บรรดาเจ้าหนี้จะรีบชิงทวงหนี้ก่อนเจ้าหนี้รายอื่น เพราะใครช้ามักจะอด แต่ถ้าเจ้าหนี้ทุกรายแห่มาทวงหนี้พร้อมกันหมด ต่อให้บริษัทจะยังมีศักยภาพแค่ไหนก็คงไม่รอด ด้วยเหตุนี้ กฏหมายจึงเปิดทางเลือกให้บริษัท”ขอเวลานอก”ได้ชั่วคราว ให้มีโอกาสได้ขายของสักพัก จนมีสภาพคล่องที่ดีขึ้น เมื่อบริษัทสามารถกลับมาแข็งแกร่งได้อีกครั้ง ย่อมดีกับทั้งเจ้าของบริษัทและเจ้าหนี้ด้วย แต่ถ้าหาก “ขอเวลานอก” แล้วไม่สำเร็จ ไปไม่รอดอยู่ดี ถึงเวลานั้นค่อยเลิกบริษัทก็ได้

เมื่อบริษัทเข้าสู่กระบวนการพิทักษ์ทรัพย์ จะต้องมีการทำแผนฟื้นฟูกิจการมาเสนอต่อศาล โดยมากแล้วผู้บริหารแผนฟื้นฟูก็มักจะได้แก่เจ้าของบริษัทเองนั้นแหละ เพราะไม่มีใครจะรู้สถานการณ์ของบริษัทดีไปกว่าเจ้าของบริษัทเอง (แต่เจ้าของอาจจ้างมืออาชีพมาช่วยเขียนแผนให้อีกที) แผนฟื้นฟูต้องได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมเจ้าหนี้ด้วย เมื่อศาลอนุมัติแผนฟื้นฟู บริษัทก็จะเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการอาจจะ 3 ปี หรือ 5 ปี หรือกี่ปีก็แล้วแต่ ในช่วงนี้ เจ้าหนี้ห้ามมารบกวนบริษัท และโดยมากแล้ว ส่วนหนึ่งของแผนฟื้นฟูมักจะหนีไม่พ้นการปรับโครงสร้างหนี้ด้วย ซึ่งก็คือการเจรจาของลดหนี้จากเจ้าหนี้ (เรียกกันเล่นๆ ว่า haircut) เพื่อช่วยลดภาระของบริษัท โอกาสที่แผนฟื้นฟูจะประสบความสำเร็จจะได้มีมากขึ้น พูดง่ายๆ ก็คือ งานนี้ เจ้าหนี้น่าสงสารที่สุดครับ

เมื่อครบกำหนดแผนฟื้นฟูแล้ว ศาลจะพิจารณาอีกครั้งว่า ฐานะการเงินของบริษัทเป็นเช่นไร ถ้าหากแข็งแกร่ง บริษัทก็จะออกจากแผนฟื้นฟูกลายเป็นบริษัทปกติอีกครั้ง (ซึ่งต้องเริ่มกลับมาชำระหนี้ด้วย) แต่ถ้าหากดูแล้วยังแย่อยู่แต่ยังพอมีหวังอยู่ ศาลอาจจะพิจารณาให้ต่อแผนฟื้นฟูออกไปอีก ถ้าดูแล้ว ยังไงก็ไม่รอด ศาลก็จะสั่งให้เลิกบริษัท นำสินทรัพย์ขายทอดตลาดเอาเงินมาคืนเจ้าหนี้ (ซึ่งส่วนใหญ่แล้วมักจะมีอะไรเหลือให้ขายน้อยยิ่งกว่าตอนแรกเสียอีก T_T )    

กระบวนการล้มละลายก็มีอยู่ประมาณนี้ เอาไว้ค่อยมาดูต่อในมุมมองของผู้ถือหุ้นรายย่อยกันบ้าง

0291: Making sense of an IPO (2)

เมื่อบริษัทจ้างที่ปรึกษาทางการเงินให้ช่วย แต่งตัวให้จนสามารถผ่าน ไฟล์ลิ่งได้แล้ว ก่อนจะเสนอขายหุ้นจองได้  บริษัทยังต้องจ้าง Underwriter อีก เพื่อให้ช่วยกระจายหุ้นให้

Underwriter มีหน้าที่พาบริษัทไปออก โรดโชว์เพื่อจูงใจให้นักลงทุนรายใหญ่จองหุ้นซึ่งขึ้นอยู่กับเครือข่ายนักลงทุนที่ตัวเองมีอยู่ว่ากว้างขวางมากแค่ไหน อีกทั้งต้องพยายามช่วยบริษัทคิดสตอรี่เจ๋งๆ เพื่อยั่วกิเลสนักลงทุนให้สนใจจองหุ้นกันมากๆ

หลังจากโรดโชว์เสร็จแล้ว Underwriter ก็จะช่วยบริษัทกำหนดราคาหุ้นจองที่เหมาะสมให้โดยประเมินจากระดับความสนใจของบรรดานักลงทุนรายใหญ่ที่ไปโรดโชว์มา

ความเชี่ยวชาญของ Underwriter ในการกำหนดราคาจองมีผลต่อความสำเร็จของหุ้นจองเป็นอย่างมาก เพราะถ้ากำหนดราคาหุ้นจองต่ำเกินไป แม้หุ้นจะขายดีก็จริง แต่ก็เท่ากับว่า บริษัทเสียโอกาสที่จะขายหุ้นจองได้ในราคาที่ดีไปด้วย (หรือที่เรียกว่า leave too much money on the table) แต่ถ้ากำหนดราคาหุ้นจองสูงเกินไป หุ้นจองก็ขายไม่หมด (undersubscribed) เวลาที่นำหุ้นเข้าไปเทรดในตลาดฯ ราคาปิดวันแรกมีโอกาสที่จะร่วงลงอย่างรุนแรง เนื่องจากความต้องการซื้อหุ้น ณ ราคาจองมีน้อยมาก ผู้ที่ได้ตัดสินใจจองหุ้นไปก็จะเจ็บตัวไปตามๆ กัน Underwriter ที่เก่งจะสามารถกำหนดราคาหุ้นจองได้พอดีๆ ทำให้เมื่อนำหุ้นเข้าไปเทรดในตลาดฯ วันแรก ราคาหุ้นสามารถปิดเหนือจองได้

เกี่ยวกับเรื่องนี้ เวลาที่หุ้นจองบางตัวคุยว่ายอดจองล้นหลายเท่า แต่เวลาเข้าเทรดจริงๆ ราคาปิดวันแรกกลับต่ำจองอย่างมากมาย ก็น่าตั้งคำถามอย่างยิ่งว่า ที่คุยว่ายอดจองล้นหลายเท่านั้น เป็นของจริงหรือเปล่า เพราะถ้ายอดจองล้นหลายเท่าก็แสดงว่า ยังมีนักลงทุนอีกมากที่ต้องการหุ้นแต่จองไม่ได้ แล้วทำไม ราคาหุ้นจึงต่ำจองอย่างมากมาย นักลงทุนที่ยังต้องการหุ้นเหล่านั้นหายไปไหนกันหมด ทำไมไม่มาซื้อในตลาดฯ ในวันที่หุ้นเปิดเทรด คล้ายกับว่า ข้ออ้างว่ายอดจองล้นนั้นเป็นเพียงคำพูดที่จูงใจให้นักลงทุนจองหุ้นเท่านั้น 

รายได้ส่วนหนึ่งของ Underwriter จะคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ของมูลค่าหุ้นที่ขายได้ เพื่อให้แน่ใจว่า Underwriter จะไม่กำหนดราคาจองสูงๆ เพื่อหวังค่าธรรมเนียมมากๆ อย่างเดียว Underwriter จึงต้องรับประกันด้วยว่า ในกรณีที่หุ้นจองขายไม่หมด Underwriter จะต้องรับซื้อหุ้นจองที่เหลือนั้นไว้เอง ข้อตกลงนี้ยังช่วยทำให้แผนการลงทุนของบริษัทไม่ได้ผลกระทบหากหุ้นขายไม่หมดอีกด้วย โครงสร้างรายได้เช่นนี้ช่วยทำให้ Underwriter มีแรงจูงใจที่จะกำหนดราคาหุ้นจองให้เหมาะสมที่สุด ไม่ให้สูงหรือต่ำเกินไปเพราะจะส่งผลเสียต่อ Underwriter เองทั้งสองด้าน 

โดยสถิติแล้ว หุ้นจองจะยืนเหนือจองได้หรือไม่ ภาวะตลาดในขณะนั้นมีผลอย่างมาก ในช่วงตลาดกระทิงจำนวนหุ้นที่ยืนเหนือจองได้จะมีสูงมาก ทั้งหุ้นดีหุ้นไม่ดี แต่ในยามตลาดย่ำแย่ แม้แต่หุ้นดีๆ ก็ยังเหนือจองกันไม่ได้ ดังนั้นจริงๆ แล้ว หุ้นจองเป็นเรื่องของ Sentiment เยอะมาก

บางบริษัทที่ต้องการสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนว่า เมื่อจองหุ้นไปแล้ว โอกาสยืนเหนือจองในวันแรกที่เปิดเทรดจะมีสูง บริษัทอาจงัดกลไกเพิ่มเติมอีกชนิดหนึ่งขึ้นมาใช้ด้วย เรียกว่า Greenshoe Option ซึ่งเป็นการตกลงกันระหว่างบริษัทกับ Underwriter ว่า ในกรณีที่หุ้นจองล้น Underwriter มีสิทธิ์ขายหุ้นจองเพิ่มขึ้นได้อีกไม่เกิน 15% เป็นต้น โดยเป็นการยืมหุ้นมาจากผู้ถือหุ้นใหญ่ชั่วคราว เมื่อหุ้นเข้าตลาดแล้ว Underwriter จึงค่อยเข้าไปซื้อหุ้นในตลาดกลับมาคืนผู้ถือหุ้นใหญ่ ข้อตกลงแบบนี้ช่วยทำให้หุ้นมีโอกาสยืนเหนือจองได้มากขึ้น เนื่องจากเมื่อใดที่หุ้นเทรดต่ำกว่าจอง Underwriter ย่อมเข้าไปช้อนซื้อ เนื่องจากจะทำให้ได้กำไรทันที เนื่องจากยืมหุ้นมาขายในราคาจอง แต่ซื้อกลับได้ในราคาที่ต่ำกว่า แรงช้อนซื้อของ Underwriter จึงช่วยพยุงราคาหุ้นในตลาดเอาไว้ได้ ทำให้หุ้นมีโอกาสยืนเหนือจอง 

อย่างไรก็ตาม ถ้าใครเห็นบริษัทงัด Greenshoe option ออกมาล่อใจแล้วก็อย่าตายใจคิดว่าจองไปแล้วต้องยืนเหนือจองได้แน่ๆ เพราะ Greenshoe ไม่ได้ป้องกันในกรณีที่ทั้งบริษัทและ Underwriter รวมหัวกันคิดไม่ซื่อกับนักลงทุน กรณีนั้นอะไรก็สามารถเกิดขึ้นได้ ถึงมี Greenshoe แล้ว แต่หุ้นก็ยังต่ำจองมากมายซะงั้น พอนักข่าวไปถาม underwriter ก็บอกว่างงเหมือนกันที่หุ้นต่ำจองเพราะซื้อคืนไปหมดแล้ว แต่ไม่รู้ทำไมยังมีแรงขายอยู่อีก ไปถามเจ้าของก็ปฏิเสธว่าไม่ได้ขายเลยสักหุ้น เลยไม่รู้ว่าผีที่ไหนเทหุ้นออกมา จับมือใครดมไม่ได้ สรุปแล้ว รายย่อยโดนหลอกในจองหุ้นแพงอีกแล้ว ตามเคย

0290: Making sense of an IPO (1)

บริษัทมหาชนจำกัด (บมจ.) แตกต่างจากบริษัทจำกัด (บจก.) ทั่วไปตรงที่สามารถระดมทุนจากสาธารณชนได้ กฎหมายระบุไว้มิให้บริษัทจำกัดทั่วไปเชิญชวนให้ชาวบ้านเอาเงินมาลงทุนเป็นการสาธารณะ เพราะสุ่มเสี่ยงต่อการหลอกลวงเป็นอย่างมากแบบเดียวกับแชร์ลูกโซ่ทั้งหลายที่เป็นข่าวอยู่บ่อยๆ  

บมจ.ต้องอยู่ภายใต้ พรบ.มหาชน ซึ่งมีกติกาในการประกอบกิจการที่ยุ่งยากกว่าบริษัทจำกัด กติกาเหล่านี้ออกแบบมาเพื่อเพิ่มความยากลำบากให้กับผู้ถือหุ้นใหญ่ที่มีเจตนาจะเอารัดเอาเปรียบผู้ถือหุ้นรายย่อย การระดมทุนต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรกของบมจ. จะเรียกว่า Initial Public Offering หรือ IPO และหุ้นที่นำมาขายก็จะเรียกว่า หุ้น IPO หรือว่า หุ้นจอง ที่เราคุ้นเคยกันนั่นเอง

อันที่จริง เมื่อบมจ.ขายหุ้นจองได้แล้ว บมจ.ไม่จำเป็นต้องนำหุ้นเข้าไปจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ก็ได้ กฎหมายไม่ได้บังคับไว้ ดังนั้นการเสนอขายหุ้นจองกับการนำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดฯ จึงเป็นคนละเรื่องกัน  แต่ในทางปฏิบัติ ถ้าหาก บมจ.ไม่นำหุ้นเข้าไปจดทะเบียนในตลาดฯ ด้วย นักลงทุนส่วนใหญ่จะไม่จองซื้อหุ้นของบริษัท เพราะซื้อแล้วขายต่อเพื่อทำกำไรได้ยาก เพราะไม่ได้มีตลาดรองรับ ทำให้ไม่น่าซื้อ ฉะนั้น ส่วนใหญ่แล้ว บมจ. ที่ขายหุ้นจองจึงมักต้องนำหุ้นเข้าไปจดทะเบียนในตลาดฯ ด้วยเสมอ เพื่อช่วยให้หุ้นจองขายออก การเสนอขายหุ้นจองจึงมักตามมาด้วยการนำหุ้นเข้าไปจดทะเบียนในตลาดฯ เสมอจนคนทั่วไปนึกว่า เป็นเรื่องเดียวกันไปเสียแล้ว

นักลงทุนที่กล้าซื้อหุ้นจองตั้งแต่ก่อนที่บริษัทจะได้รับอนุญาตจาก กลต.ให้เข้าจดทะเบียนในตลาดฯ ได้หรือที่เรียกว่าผ่านไฟลิ่ง ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นพวกนักลงทุนสถาบัน หรือพวก private equity ซึ่งมีศักยภาพมากพอที่จะเข้าไปตรวจสอบบริษัทเองได้เท่านั้น นักลงทุนเหล่านี้จะมักได้ซื้อหุ้นของบริษัทในราคาที่ต่ำกว่าที่คาดว่าจะเป็นราคาจองมาก ทำให้มีโอกาสได้กำไรสูงเมื่อหุ้นเข้าตลาดฯ ได้สำเร็จ แต่นักลงทุนเหล่านี้ก็ต้องเสี่ยงกับการที่บริษัทอาจเข้าตลาดได้ช้ากว่ากำหนด หรือถ้าแย่กว่าอาจเข้าตลาดไม่สำเร็จในที่สุด ซึ่งเป็นเรื่องที่เสี่ยงมากสำหรับนักลงทุนที่ไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบบริษัทได้ด้วยตนเอง

ปกติแล้วการจะผ่านไฟล์ลิ่งของกลต.ได้นั้น มีขั้นตอนที่ยุ่งยากมากพอสมควร ข้อกำหนดที่เข้มงวดเหล่านี้ช่วยทำให้เกิดความเชื่อมั่นมากขึ้นในระดับหนึ่งว่า กิจการของบริษัทมีความน่าเชื่อถือมากพอ (ไม่ใช่บริษัทไก่กา) ที่จะปล่อยให้นักลงทุนรายย่อย ซึ่งโดยพฤติกรรมแล้ว มีการศึกษาก่อนที่จะลงทุนน้อยมาก ซื้อหุ้นเหล่านั้นในตลาดฯ ได้ โดยมากแล้ว บมจ.ทุกแห่งจำเป็นต้องจ้างที่ปรึกษาทางการเงินที่เป็นบริษัทมืออาชีพทางด้านนี้โดยเฉพาะมาช่วยเตรียมตัว (แต่งตัว) เพื่อขอไฟล์ลิ่ง ซึ่งใช้เวลาเป็นปีและมีค่าใช้จ่ายที่สูงมากด้วย ส่วนใหญ่แล้ว ภาระของที่ปรึกษาทางการเงินมักไม่แตกต่างกันมากนักไม่ว่าบริษัทจะมีขนาดเล็กหรือใหญ่ ดังนั้น บริษัทขนาดเล็กที่คิดจะเข้าตลาดฯ จะเสียค่าใช้จ่ายในการเข้าตลาดฯ ในสัดส่วนที่สูงกว่ามากเมื่อเทียบกับขนาดของธุรกิจ ยังไม่นับเรื่องการที่ต้องเปลี่ยนผู้สอบบัญชีใหม่ให้เป็นผู้สอบบัญชีที่รับอนุญาต ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงเช่นกัน แถมยังต่อเนื่องอีกต่างหาก อย่างไรก็ตาม บริษัทก็เอาเงินชาวบ้านที่จะได้จากการขายหุ้นจองนั้นแหละมาหักเป็นค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ ดังนั้นในแง่กลยุทธ์ เอาเข้าจริงๆ การกำหนดให้การเข้าตลาดต้องมีค่าใช้จ่ายสูงไม่ได้ช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้กับหุ้นได้มากขึ้นเท่าไรนัก เพราะเจ้าของเดิมไม่ได้มีต้นทุนอะไร

ปกติแล้ว เวลาบริษัทเสนอขายหุ้นจอง หุ้นจองนั้นอาจเป็นหุ้นใหม่ (หุ้นเพิ่มทุน) ทั้งหมด หรืออาจเป็นหุ้นเพิ่มทุนส่วนหนึ่งบวกกับหุ้นเก่าของผู้ถือหุ้นเดิมส่วนหนึ่งก็ได้ เท่าที่ยังอยู่ในสัดส่วนที่ข้อบังคับของ ตลท.อนุญาต ในกรณีที่ บริษัทเอาหุ้นเก่าของผู้ถือหุ้นเดิมมาให้จองมากๆ นักลงทุนควรตั้งคำถามให้มากๆ ก่อนที่จะตัดสินใจจอง เงินที่ได้จากการขายหุ้นเก่าจะไม่เข้าบริษัท แต่จะเข้ากระเป๋าผู้ถือหุ้นเดิมแทน ถ้าหากบริษัทยังมีอนาคตที่ดีอยู่ แล้วเจ้าของเดิมเอาหุ้นของตัวเองจำนวนมากออกมา cash out ทำไม? ส่วนใหญ่แล้ว เจ้าของเดิมชอบอ้างว่า บริษัทมีฐานะการเงินที่ดีอยู่แล้ว ไม่ได้ต้องการเงินสดมาก แต่เข้าตลาดเพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์เท่านั้น แต่นักลงทุนก็ควรคิดเอาเองว่าควรจะเชื่อคำพูดของเจ้าของเดิมหรือไม่

นอกจากนี้ นักลงทุนทุกรายที่จองหุ้นควรได้ซื้อหุ้นจองในราคาเดียวกันทั้งหมด แต่ในบางกรณี บริษัทอาจให้สิทธิพนักงานและ “ผู้มีอุปการะคุณ” จองหุ้นในราคาที่ต่ำกว่านักลงทุนทั่วไปได้ ในกรณีของพนักงานบริษัทนั้นอาจพอเข้าใจได้ว่าเป็นเรื่องของขวัญกำลังใจและสวัสดิการพนักงาน แต่ในกรณีของ “ผู้มีอุปการะคุณ” นั้น ถ้าหากได้รับการจัดสรรหุ้นไม่เยอะมากก็ยังพอเข้าใจได้ เพราะกว่าบริษัทจะโตมาถึงขนาดที่เข้าตลาดได้ คงต้องพึ่งพาใครต่อใครมากมาย เมื่อบริษัทยังเล็กอยู่ ทุนไม่หนา การตอบแทนผู้มีอุปการคุณเป็นเงินโดยตรงอาจทำได้ไม่เต็มที่ ทำให้ต้องใช้โอกาสนี้ในการตอบแทนผู้มีอุปการคุณในรูปแบบของสิทธิ์ในการจองหุ้นในราคาต่ำแทน แต่ถ้าผู้มีอุปการคุณได้รับจัดสรรหุ้นเป็นจำนวนมาก ก็สมควรต้องตั้งคำถามอย่างแรงถึงความโปร่งใสเหมือนกัน เพราะเท่ากับเป็นการอาศัยกำลังทรัพย์ของผู้ถือหุ้นรายย่อยให้ช่วยตอบแทนผู้มีอุปการคุณให้ทางอ้อมอย่างหนึ่ง ถือเป็นการเอาเปรียบผู้ถือหุ้นรายย่อย เพราะผู้ถือหุ้นใหญ่ไม่ต้องมีส่วนในการตอบแทนด้วย

ที่สำคัญ เวลาจะจองหุ้น อย่ามัวแต่ดูราคาว่าถูกหรือไม่เมื่อเทียบกับพีอีปัจจุบัน สิ่งที่สำคัญกว่าคือ บริษัทจะเอาเงินเพิ่มทุนที่ได้ไปทำอะไร เพราะจะส่งผลอย่างยิ่งต่อกำไรในอนาคตของบริษัทหลังจากที่ได้จองซื้อหุ้นไปแล้วครับ  

ในเชิงกลยุทธ์แล้ว หุ้นจองเป็นหุ้นที่ไม่น่าจองเสมอ เพราะถ้าราคาจองเป็นราคาที่ถูกเกินจริงจะไม่เหลือตกมาถึงเรา ดังนั้นถ้าจองแล้วเหลือมาถึงเราได้ แสดงว่า ขายไม่ค่อยออก วันเข้าตลาดจึงมีโอกาสสูงที่จะต่ำจอง สรุปแล้ว มีแต่ทางขาดทุนมากกว่าทางได้ ถ้าหากสนใจหุ้นตัวนั้นจริงๆ เพราะชอบกิจการ การไปรอวัดดวงซื้อเอาในวันที่เข้าตลาดแล้วจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า หุ้นที่เทรดในตลาดแล้ว ราคาที่เห็นเป็นราคาที่ยืนได้ด้วยแรงซื้อแรงขายที่เป็นของจริง ไม่เหมือนกับราคาจองที่เป็นราคาที่ตั้งขึ้นมาลอยๆ ไม่รู้จะยืนได้หรือเปล่า อย่างไรก็ตาม ถ้าหากเป็นหุ้นจองรัฐวิสาหกิจที่กระจายหุ้นด้วยวิธีจับสลาก อันนี้ค่อยน่าซื้อตอนจองหน่อย เพราะถ้าหากเราได้รับการจัดสรร ไม่ใช่เป็นเพราะ หุ้นขายไม่ออก แต่เป็นเพราะเราบังเอิญโชคดี แบบนี้โอกาสได้กำไรในวันเปิดเทรดมีสูงครับ