0313: Anchoring

  ในการทดลองหนึ่งที่ให้กลุ่มตัวอย่างแย่งกันประมูลไวน์ขวดหนึ่ง ในใบเขียนราคา ให้กลุ่มตัวอย่างเขียนเลขสองหลักสุดท้ายของหมายเลขบัตรประกันสังคมของตัวเองก่อน จากนั้นจึงค่อยกรอกราคาที่ต้องการซื้อไวน์ขวดนั้น ผลปรากฏว่า กลุ่มคนที่มีเลขสองหลักสุดท้ายอยู่ระหว่าง 50-99 จะเสนอราคาสูงกว่ากลุ่มคนที่มีเลขสองหลักสุดท้ายระหว่าง 00-49 อย่างน้อย 60% โดยเฉลี่ยซึ่งเป็นเรื่องที่ประหลาด เพราะเลขบัตรประกันสังคมไม่น่าจะเกี่ยวข้องอะไรเลยกับการตีราคาไวน์ของแต่ละคน

การทดลองนี้ชี้ให้เห็นข้อบกพร่องอย่างหนึ่งในการตัดสินใจของมนุษย์ที่เรียกว่า Anchoring เวลาที่เราต้องตัดสินใจอะไรอย่างหนึ่งที่เรามีความรู้ความเชี่ยวชาญน้อยมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตีมูลค่าสินทรัพย์ เช่น ไวน์ เป็นต้น สมองของเราจะพยายามหาอะไรสักอย่างหนึ่งเป็นจุดอ้างอิง (Anchor) เพื่อช่วยให้ตอบคำถามนั้นให้ได้ ทั้งที่สิ่งนั้นอาจเกี่ยวข้องอยู่บ้างหรือไม่เกี่ยวข้องเลยก็ได้  

พวกนายหน้าอสังหาริมทรัพย์รู้จักจุดบกพร่องนี้ดี เวลาพวกเขาต้องการจะขายบ้านหลังหนึ่งให้ได้ในราคาดี เทคนิคของพวกเขาคือจะพาลูกค้า(เหยื่อ)ไปดูบ้านหลังอื่นก่อนที่แย่กว่าแต่ตั้งราคาไว้แพงมากสักสองสามหลัง จากนั้นจึงค่อยพาลูกค้าไปดูบ้านหลังที่อยากขาย แล้วเสนอราคาขายที่สูง แต่เป็นราคาที่คุ้มกว่าราคาของบ้านหลังแรกๆ (Anchor) เป็นอย่างมาก วิธีนี้ช่วยจะทำให้ลูกค้ารู้สึกว่าราคานั้นเป็น Good Deal ได้มากกว่าการพาลูกค้าไปดูบ้านหลังนั้นแค่หลังเดียว แล้วเสนอราคาเดียวกันนั้นให้กับลูกค้า

เป็นเรื่องยากมากที่คนทั่วไปจะตีราคาบ้านหลังหนึ่งได้อย่างถูกต้อง คนทั่วไปจึงต้องหาอะไรสักอย่างเป็น Anchor การพาลูกค้าไปดูบ้านที่ทั้งห่วยและแพงกว่าก่อน เป็นการสร้าง Anchor ให้กับลูกค้า (ในทางที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ขาย)

ผมว่า Anchoring เป็นปรากฏการณ์ที่มีผลอย่างมากต่อความคิดของนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์เหมือนกัน อันที่จริง การตีมูลค่าที่เหมาะสมของสินทรัพย์อย่างธุรกิจหรือหุ้นนั้นยากยิ่งกว่าอสังหาริมทรัพย์เสียอีก นักลงทุนจึงยิ่งต้องหา Anchor ในการอ้างอิง และ ผมสังเกตว่า Anchor ส่วนใหญ่ของนักลงทุนก็คือ “ราคาหุ้นในช่วงล่าสุดที่ผ่านมา” นั่นเอง

หุ้นตัวหนึ่งที่ราคาแกว่งตัวอยู่ในช่วงที่แคบมาก เช่น 10.0-10.3 บาท มาเป็นเวลานานเช่นหกเดือน ถ้าวันหนึ่งมันมีราคากระชากขึ้นไป 11 บาททันทีในวันเดียว ปฏิกิริยาแรกของเราก็คือ เราจะไม่กล้าซื้อที่ราคา 11 บาท เพราะเราจะรู้สึกว่ามันแพง (เคยซื้อกันได้ที่ 10 บาท จะซื้อที่ 11 บาททำไมกัน) ความที่เราไม่มองไม่ออกว่ามูลค่าที่เหมาะสมของธุรกิจควรเป็นเท่าไร เราจึงใช้ราคาปัจจุบันเป็นจุดอ้างอิงโดยไม่รู้ตัว 

หลังจากวันนั้นถ้าราคายังไม่หยุดทะยานต่อ 12 13 14 15 16 อย่างรวดเร็วภายในเวลาแค่สองสัปดาห์ ตอนนี้ไม่เพียงแต่เราเองจะไม่กล้าซื้อแต่เราจะเริ่มรู้สึกโกรธตลาดหุ้นด้วย เราจะคิดในใจว่า ทำไมในตลาดหุ้นถึงได้มีแต่คนที่ชอบเก็งกำไรเต็มไปหมด ซื้อกันเข้าไปได้ยังไงที่ราคา 16 บาท ฟองสบู่แล้ว แล้วหลังจากนั้นหุ้นตัวนั้นก็ทะยานขึ้นต่อไปอีกเป็น 25 บาท (ซึ่งคุณก็ไม่ซื้ออยู่ดี)

แต่หลังจากนั้นสักพัก ถ้าหุ้นตัวนั้นสามารถยืนอยู่แถว 25 บาทได้ เช่น แกว่งอยู่ระหว่าง 24-26 บาทเป็นเวลานานมากเช่น 6 เดือน จนความฮือฮาเริ่มหายไปกลายเป็นความเคยชินเข้ามาแทนที่ ตอนนี้เราจะค่อยๆ ลืมความเห็นของตัวเองที่เคยคิดว่า หุ้นตัวนั้นแพงมากที่ราคา 11 บาท แต่อาจเปลี่ยนมาบอกตัวเองว่า แหม ถ้าหุ้นตัวนี้ลงมาเหลือสัก 20 หรือ 21 บาทได้ในเร็วๆ นี้ เราจะขอช้อนซื้อซะหน่อย นั่นก็เป็นเพราะว่า เมื่อเวลาผ่านไป ได้สักพักหนึ่ง คุณได้ปรับ Anchor ของคุณใหม่แล้ว จาก 11 บาท กลายเป็น 25 บาทนั่นเอง คุณจึงรู้สึกว่าราคาที่ 20 บาทเป็นราคาที่ไม่แพง

บ่อยครั้งเมื่อดัชนีตกแรงๆ ในวันเดียวเช่น 5% คนจำนวนมากจะเกิดความรู้สึกว่าหุ้นถูกมากเสมอ แม้ว่าดัชนีในตอนนั้นจะสูงมากแค่ไหนก็ตาม แม้แต่ 1700 จุด ถ้าตกวันเดียวเหลือแค่ 1600 จุด ความรู้สึกว่าหุ้นถูกมากจะเกิดขึ้นทันที ตามเว็บบอร์ดหุ้นต่างๆ จะมีคนออกมาโพสต์ว่าโอ้โหหุ้นถูกมากๆๆๆๆ แล้วกรูเข้าไปเก็บกันใหญ่ แต่ในความเป็นจริง เวลาที่ตลาดหุ้นจะตกลง 30% นั้น มันจะเริ่มต้นจากการตก 5% ก่อนเสมอ ถ้าเราชอบรู้สึกว่าหุ้นถูกทุกครั้งที่หุ้นตก 5% ในวันเดียว เราจะกลายเป็นคนหนึ่งในคนที่ขาดทุนหนักเสมอในการ Crash ทุกครั้ง ในทางตรงกันข้าม ถ้า SET อยู่ที่ 200 จุด แล้วกลายเป็น 250 จุดในเวลาแค่สองวัน ความรู้สึกว่าหุ้นแพงมากก็จะมาทันทีด้วย (อันนี้ไม่เกี่ยวกับว่า จริงๆ แล้ว SET ในเวลานั้นๆ ควรมีราคาเหมาะสมเป็นเท่าไร เพราะไม่ว่าจะเป็นเท่าไร ความรู้สึกนี้ก็จะเกิดขึ้นเสมอ) สมัยก่อนนี้ หุ้น ITV ซึ่งลงมาเรื่อยๆ จาก 30 บาทเหลือแค่ไม่กี่สตางค์นั้น ตลอดทางที่มันลงมา 30>25>16>10>6>2>0.5 จน worthless ในที่สุดนั้น วันที่มันตกแรงๆ มากเป็นพิเศษทุกวันจะมีคนออกมาพูดว่า มันถูกมากๆ ไม่ว่าวันนั้นจะอยู่ที่ราคาเท่าไรก็ตาม

คนที่เล่นหุ้นโดยวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานเพื่อหามูลค่าหุ้นที่เหมาะสมก็ไม่ได้แปลว่าจะรอดจากอิทธิพลของ Anchoring เสมอไป Anchoring คือสาเหตุสำคัญที่ทำให้เวลาเราวัดมูลค่าหุ้นเสร็จแล้ว หากพบว่าค่าที่ได้ต่างจากราคาหุ้นในปัจจุบันอย่างมากมาย เราจะเกิดความไม่แน่ใจ และกลับไปแก้ไขสมมติฐานต่างๆ ใหม่ เพราะเกิดความรู้สึกว่าเราคิดผิดรึเปล่า คนที่มีพฤติกรรมแบบนี้ ไม่ต้องวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานก็ได้ เพราะทำไปก็ไม่มีประโยชน์ เพราะเมื่อใดที่เขาเจอหุ้นที่วัดมูลค่าได้ต่ำกว่าราคาตลาดมากๆ เขาก็ไม่กล้าซื้ออยู่ดีเพราะไม่กล้าเชื่อการวิเคราะห์ของตัวเอง     

ในตลาดมีหุ้นจำนวนนับไม่ถ้วนที่ทุกวันนี้มันมีราคาสูงกว่าตอน IPO เมื่อหลายสิบปีก่อนหลายๆ เท่าตัว และไม่เคยลดลงไปเท่ากับ IPO เลย แม้ตลาดหุ้นจะตกแรงแค่ไหน นั่นแสดงว่า บริษัทที่มีธุรกิจที่ดีมีโอกาสเติบโตได้ต่อเนื่อง ในระยะยาวราคาหุ้นก็สามารถขยับขึ้นไปเรื่อยๆ ได้ ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร แล้วทำไมเราจึงคิดว่า หุ้นแพงเกินไปเสมอเมื่อหุ้นนั้นมีราคาต่างจากที่มันเคยเป็น ที่จริงแล้วราคาหุ้นมันก็เคลื่อนไหวไปข้างหน้าเรื่อยๆ ตามปัจจัยใหม่ๆ ที่เข้ามากระทบมัน มันไม่เคยสนใจหรือจำได้หรอกว่ามันเคยอยู่ที่ราคาเท่าไรมาก่อน เราเองต่างหากที่ไปคิดว่าราคาหุ้นที่มีเหตุผลจะต้องเป็นราคาที่ใกล้เคียงกับค่าเดิมเท่านั้น

คนที่ลงทุนด้วยวิธีปัจจัยพื้นฐานควรสังเกตตัวเองดูว่า เราติดกับ Anchoring อยู่รึเปล่า ราคาตลาดในปัจจุบันมีอิทธิพลต่อความคิดเกี่ยวกับมูลค่าหุ้นที่เหมาะสมของเราหรือไม่ บางคนมักรู้สึกอยู่ตลอดเวลาว่า ถ้าหุ้นแทบทุกตัวในตลาดตอนนี้ ถูกลงได้อีกสัก 10% จะน่าซื้อทั้งนั้น แล้วพอดัชนีขยับขึ้นไปอีก 10% ก็เปลี่ยนมารู้สึกว่า หุ้นทุกตัวแพงไป 10% อีก ถ้าตกลงมาอีก 10% ค่อยซื้อ แบบนี้ไปเรื่อยๆ เช่นนี้น่าสงสัยได้เลยว่า คุณกำลังตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของ Anchoring อยู่ 

คนที่เป็นอิสระจาก Anchoring ได้ ณ เวลาหนึ่งๆ ต้องมองเห็นหุ้นแต่ละตัวถูกหรือแพงไม่เหมือนกัน เช่น เขาอาจมองว่าหุ้น ABC ต่อให้ลงมาอีก 80% ก็ยังแพงอยู่ ส่วนหุ้น DEF ถ้าลงมาอีกแค่ 10% ก็ซื้อได้แล้ว ในขณะที่หุ้น GHI ต่อให้แพงกว่านี้อีก 30% ก็ยังซื้อได้ เป็นต้น เพราะนั่นแสดงว่า ความเห็นของเขาเกี่ยวกับมูลค่าที่แท้จริงของหุ้นแต่ละตัวไม่ได้ขึ้นอยู่กับราคาตลาดในปัจจุบันเลยแม้แต่น้อย