0313: Anchoring

  ในการทดลองหนึ่งที่ให้กลุ่มตัวอย่างแย่งกันประมูลไวน์ขวดหนึ่ง ในใบเขียนราคา ให้กลุ่มตัวอย่างเขียนเลขสองหลักสุดท้ายของหมายเลขบัตรประกันสังคมของตัวเองก่อน จากนั้นจึงค่อยกรอกราคาที่ต้องการซื้อไวน์ขวดนั้น ผลปรากฏว่า กลุ่มคนที่มีเลขสองหลักสุดท้ายอยู่ระหว่าง 50-99 จะเสนอราคาสูงกว่ากลุ่มคนที่มีเลขสองหลักสุดท้ายระหว่าง 00-49 อย่างน้อย 60% โดยเฉลี่ยซึ่งเป็นเรื่องที่ประหลาด เพราะเลขบัตรประกันสังคมไม่น่าจะเกี่ยวข้องอะไรเลยกับการตีราคาไวน์ของแต่ละคน

การทดลองนี้ชี้ให้เห็นข้อบกพร่องอย่างหนึ่งในการตัดสินใจของมนุษย์ที่เรียกว่า Anchoring เวลาที่เราต้องตัดสินใจอะไรอย่างหนึ่งที่เรามีความรู้ความเชี่ยวชาญน้อยมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตีมูลค่าสินทรัพย์ เช่น ไวน์ เป็นต้น สมองของเราจะพยายามหาอะไรสักอย่างหนึ่งเป็นจุดอ้างอิง (Anchor) เพื่อช่วยให้ตอบคำถามนั้นให้ได้ ทั้งที่สิ่งนั้นอาจเกี่ยวข้องอยู่บ้างหรือไม่เกี่ยวข้องเลยก็ได้  

พวกนายหน้าอสังหาริมทรัพย์รู้จักจุดบกพร่องนี้ดี เวลาพวกเขาต้องการจะขายบ้านหลังหนึ่งให้ได้ในราคาดี เทคนิคของพวกเขาคือจะพาลูกค้า(เหยื่อ)ไปดูบ้านหลังอื่นก่อนที่แย่กว่าแต่ตั้งราคาไว้แพงมากสักสองสามหลัง จากนั้นจึงค่อยพาลูกค้าไปดูบ้านหลังที่อยากขาย แล้วเสนอราคาขายที่สูง แต่เป็นราคาที่คุ้มกว่าราคาของบ้านหลังแรกๆ (Anchor) เป็นอย่างมาก วิธีนี้ช่วยจะทำให้ลูกค้ารู้สึกว่าราคานั้นเป็น Good Deal ได้มากกว่าการพาลูกค้าไปดูบ้านหลังนั้นแค่หลังเดียว แล้วเสนอราคาเดียวกันนั้นให้กับลูกค้า

เป็นเรื่องยากมากที่คนทั่วไปจะตีราคาบ้านหลังหนึ่งได้อย่างถูกต้อง คนทั่วไปจึงต้องหาอะไรสักอย่างเป็น Anchor การพาลูกค้าไปดูบ้านที่ทั้งห่วยและแพงกว่าก่อน เป็นการสร้าง Anchor ให้กับลูกค้า (ในทางที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ขาย)

ผมว่า Anchoring เป็นปรากฏการณ์ที่มีผลอย่างมากต่อความคิดของนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์เหมือนกัน อันที่จริง การตีมูลค่าที่เหมาะสมของสินทรัพย์อย่างธุรกิจหรือหุ้นนั้นยากยิ่งกว่าอสังหาริมทรัพย์เสียอีก นักลงทุนจึงยิ่งต้องหา Anchor ในการอ้างอิง และ ผมสังเกตว่า Anchor ส่วนใหญ่ของนักลงทุนก็คือ “ราคาหุ้นในช่วงล่าสุดที่ผ่านมา” นั่นเอง

หุ้นตัวหนึ่งที่ราคาแกว่งตัวอยู่ในช่วงที่แคบมาก เช่น 10.0-10.3 บาท มาเป็นเวลานานเช่นหกเดือน ถ้าวันหนึ่งมันมีราคากระชากขึ้นไป 11 บาททันทีในวันเดียว ปฏิกิริยาแรกของเราก็คือ เราจะไม่กล้าซื้อที่ราคา 11 บาท เพราะเราจะรู้สึกว่ามันแพง (เคยซื้อกันได้ที่ 10 บาท จะซื้อที่ 11 บาททำไมกัน) ความที่เราไม่มองไม่ออกว่ามูลค่าที่เหมาะสมของธุรกิจควรเป็นเท่าไร เราจึงใช้ราคาปัจจุบันเป็นจุดอ้างอิงโดยไม่รู้ตัว 

หลังจากวันนั้นถ้าราคายังไม่หยุดทะยานต่อ 12 13 14 15 16 อย่างรวดเร็วภายในเวลาแค่สองสัปดาห์ ตอนนี้ไม่เพียงแต่เราเองจะไม่กล้าซื้อแต่เราจะเริ่มรู้สึกโกรธตลาดหุ้นด้วย เราจะคิดในใจว่า ทำไมในตลาดหุ้นถึงได้มีแต่คนที่ชอบเก็งกำไรเต็มไปหมด ซื้อกันเข้าไปได้ยังไงที่ราคา 16 บาท ฟองสบู่แล้ว แล้วหลังจากนั้นหุ้นตัวนั้นก็ทะยานขึ้นต่อไปอีกเป็น 25 บาท (ซึ่งคุณก็ไม่ซื้ออยู่ดี)

แต่หลังจากนั้นสักพัก ถ้าหุ้นตัวนั้นสามารถยืนอยู่แถว 25 บาทได้ เช่น แกว่งอยู่ระหว่าง 24-26 บาทเป็นเวลานานมากเช่น 6 เดือน จนความฮือฮาเริ่มหายไปกลายเป็นความเคยชินเข้ามาแทนที่ ตอนนี้เราจะค่อยๆ ลืมความเห็นของตัวเองที่เคยคิดว่า หุ้นตัวนั้นแพงมากที่ราคา 11 บาท แต่อาจเปลี่ยนมาบอกตัวเองว่า แหม ถ้าหุ้นตัวนี้ลงมาเหลือสัก 20 หรือ 21 บาทได้ในเร็วๆ นี้ เราจะขอช้อนซื้อซะหน่อย นั่นก็เป็นเพราะว่า เมื่อเวลาผ่านไป ได้สักพักหนึ่ง คุณได้ปรับ Anchor ของคุณใหม่แล้ว จาก 11 บาท กลายเป็น 25 บาทนั่นเอง คุณจึงรู้สึกว่าราคาที่ 20 บาทเป็นราคาที่ไม่แพง

บ่อยครั้งเมื่อดัชนีตกแรงๆ ในวันเดียวเช่น 5% คนจำนวนมากจะเกิดความรู้สึกว่าหุ้นถูกมากเสมอ แม้ว่าดัชนีในตอนนั้นจะสูงมากแค่ไหนก็ตาม แม้แต่ 1700 จุด ถ้าตกวันเดียวเหลือแค่ 1600 จุด ความรู้สึกว่าหุ้นถูกมากจะเกิดขึ้นทันที ตามเว็บบอร์ดหุ้นต่างๆ จะมีคนออกมาโพสต์ว่าโอ้โหหุ้นถูกมากๆๆๆๆ แล้วกรูเข้าไปเก็บกันใหญ่ แต่ในความเป็นจริง เวลาที่ตลาดหุ้นจะตกลง 30% นั้น มันจะเริ่มต้นจากการตก 5% ก่อนเสมอ ถ้าเราชอบรู้สึกว่าหุ้นถูกทุกครั้งที่หุ้นตก 5% ในวันเดียว เราจะกลายเป็นคนหนึ่งในคนที่ขาดทุนหนักเสมอในการ Crash ทุกครั้ง ในทางตรงกันข้าม ถ้า SET อยู่ที่ 200 จุด แล้วกลายเป็น 250 จุดในเวลาแค่สองวัน ความรู้สึกว่าหุ้นแพงมากก็จะมาทันทีด้วย (อันนี้ไม่เกี่ยวกับว่า จริงๆ แล้ว SET ในเวลานั้นๆ ควรมีราคาเหมาะสมเป็นเท่าไร เพราะไม่ว่าจะเป็นเท่าไร ความรู้สึกนี้ก็จะเกิดขึ้นเสมอ) สมัยก่อนนี้ หุ้น ITV ซึ่งลงมาเรื่อยๆ จาก 30 บาทเหลือแค่ไม่กี่สตางค์นั้น ตลอดทางที่มันลงมา 30>25>16>10>6>2>0.5 จน worthless ในที่สุดนั้น วันที่มันตกแรงๆ มากเป็นพิเศษทุกวันจะมีคนออกมาพูดว่า มันถูกมากๆ ไม่ว่าวันนั้นจะอยู่ที่ราคาเท่าไรก็ตาม

คนที่เล่นหุ้นโดยวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานเพื่อหามูลค่าหุ้นที่เหมาะสมก็ไม่ได้แปลว่าจะรอดจากอิทธิพลของ Anchoring เสมอไป Anchoring คือสาเหตุสำคัญที่ทำให้เวลาเราวัดมูลค่าหุ้นเสร็จแล้ว หากพบว่าค่าที่ได้ต่างจากราคาหุ้นในปัจจุบันอย่างมากมาย เราจะเกิดความไม่แน่ใจ และกลับไปแก้ไขสมมติฐานต่างๆ ใหม่ เพราะเกิดความรู้สึกว่าเราคิดผิดรึเปล่า คนที่มีพฤติกรรมแบบนี้ ไม่ต้องวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานก็ได้ เพราะทำไปก็ไม่มีประโยชน์ เพราะเมื่อใดที่เขาเจอหุ้นที่วัดมูลค่าได้ต่ำกว่าราคาตลาดมากๆ เขาก็ไม่กล้าซื้ออยู่ดีเพราะไม่กล้าเชื่อการวิเคราะห์ของตัวเอง     

ในตลาดมีหุ้นจำนวนนับไม่ถ้วนที่ทุกวันนี้มันมีราคาสูงกว่าตอน IPO เมื่อหลายสิบปีก่อนหลายๆ เท่าตัว และไม่เคยลดลงไปเท่ากับ IPO เลย แม้ตลาดหุ้นจะตกแรงแค่ไหน นั่นแสดงว่า บริษัทที่มีธุรกิจที่ดีมีโอกาสเติบโตได้ต่อเนื่อง ในระยะยาวราคาหุ้นก็สามารถขยับขึ้นไปเรื่อยๆ ได้ ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร แล้วทำไมเราจึงคิดว่า หุ้นแพงเกินไปเสมอเมื่อหุ้นนั้นมีราคาต่างจากที่มันเคยเป็น ที่จริงแล้วราคาหุ้นมันก็เคลื่อนไหวไปข้างหน้าเรื่อยๆ ตามปัจจัยใหม่ๆ ที่เข้ามากระทบมัน มันไม่เคยสนใจหรือจำได้หรอกว่ามันเคยอยู่ที่ราคาเท่าไรมาก่อน เราเองต่างหากที่ไปคิดว่าราคาหุ้นที่มีเหตุผลจะต้องเป็นราคาที่ใกล้เคียงกับค่าเดิมเท่านั้น

คนที่ลงทุนด้วยวิธีปัจจัยพื้นฐานควรสังเกตตัวเองดูว่า เราติดกับ Anchoring อยู่รึเปล่า ราคาตลาดในปัจจุบันมีอิทธิพลต่อความคิดเกี่ยวกับมูลค่าหุ้นที่เหมาะสมของเราหรือไม่ บางคนมักรู้สึกอยู่ตลอดเวลาว่า ถ้าหุ้นแทบทุกตัวในตลาดตอนนี้ ถูกลงได้อีกสัก 10% จะน่าซื้อทั้งนั้น แล้วพอดัชนีขยับขึ้นไปอีก 10% ก็เปลี่ยนมารู้สึกว่า หุ้นทุกตัวแพงไป 10% อีก ถ้าตกลงมาอีก 10% ค่อยซื้อ แบบนี้ไปเรื่อยๆ เช่นนี้น่าสงสัยได้เลยว่า คุณกำลังตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของ Anchoring อยู่ 

คนที่เป็นอิสระจาก Anchoring ได้ ณ เวลาหนึ่งๆ ต้องมองเห็นหุ้นแต่ละตัวถูกหรือแพงไม่เหมือนกัน เช่น เขาอาจมองว่าหุ้น ABC ต่อให้ลงมาอีก 80% ก็ยังแพงอยู่ ส่วนหุ้น DEF ถ้าลงมาอีกแค่ 10% ก็ซื้อได้แล้ว ในขณะที่หุ้น GHI ต่อให้แพงกว่านี้อีก 30% ก็ยังซื้อได้ เป็นต้น เพราะนั่นแสดงว่า ความเห็นของเขาเกี่ยวกับมูลค่าที่แท้จริงของหุ้นแต่ละตัวไม่ได้ขึ้นอยู่กับราคาตลาดในปัจจุบันเลยแม้แต่น้อย

0312: Recency Bias

สมองของมนุษย์มีจุดอ่อนอยู่อย่างหนึ่ง (ที่จริง มีหลายอย่าง) คือ เรามีแนวโน้มจะให้น้ำหนักกับเรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้นหมาดๆ มากกว่าเรื่องอื่นๆ (Recency Bias)

ตัวอย่างเช่น สมมติว่าเพิ่งมีแผ่นดินไหวเกิดขึ้นใจกลางกรุงเทพฯ หมาดๆ มีตึกถล่ม มีคนเสียชีวิตมากมาย หลังจากนั้น ยอดผู้ซื้อประกันภัยอาคารจากแผ่นดินไหวมักจะสูงขึ้นอย่างมาก พอผ่านไปสัก 2 เดือนก็จะค่อยๆ ลดลงจนเท่ากับระดับปกติ ทั้งที่ Probability ที่จะเกิดแผ่นดินไหวของเมืองหนึ่งๆ มีค่าเท่าเดิมเสมอไม่ว่าจะเป็นช่วงหลังเกิดแ่ผ่นดินไหวใหม่ๆ หรือในช่วงเวลาปกติ (ไม่นับพวก Aftershock ซึ่งถือเป็นครั้งเดียวกัน) เรามักกลัวแผ่นดินไหวมากกว่าปกติในช่วงที่แผ่นดินไหวเพิ่งจะเกิดไปหมาดๆ

เวลามีข่าวเครื่องบินตกใหม่ๆ การเดินทางด้วยเครื่องบินมักจะลดลงอย่างมาก แต่หลังจากข่าวเริ่มเงียบหายไป ก็จะกลับไปเป็นเหมือนเดิม เวลามีข่าวผับไฟไหม้มีคนตายเพียบ คนเที่ยวผับก็จะน้อยลงไปสองอาทิตย์ จากนั้นก็กลับไปเหมือนเดิมอีก

พวกนักการเมืองรู้จัก Recency Bias เป็นอย่างดี เวลาใกล้จะเลือกตั้งใหม่ พวกเขาก็จะทำตัวขยันเป็นพิเศษ เพราะรู้ดีว่า ประชาชนจะจำแต่สิ่งที่พวกเขาทำในช่วงใกล้โค้งสุดท้ายมากที่สุด ถ้านักการเมืองคนไหนพลาดท่าเสียที มีข่าวฉาวเพียงหนเดียว ในช่วงใกล้เลือกตั้ง ความดีทั้งหมดที่มีมากกว่าที่เคยทำมาอดีตจะแทบไม่มีผลอะไรเลย เพราะโดนข่าวล่าสุด กลบผลของมันไปจนหมด

นักลงทุนในตลาดหุ้นก็มีลักษณะเช่นนี้ด้วยเหมือนกัน ในช่วงหลังจากเกิดวิกฤตตลาดหุ้นใหม่ๆ นักลงทุนมักจะกลัววิกฤตมากเป็นพิเศษ ตลาดหุ้นจะเป็นสิ่งที่น่ากลัวสำหรับพวกเขา ไม่ว่าหุ้นจะถูกแค่ไหนหรือเศรษฐกิจจะดีขึ้นอย่างไร นักลงทุนจะยังไม่กล้าซื้อหุ้นอยู่ดี ต่อเมื่อเวลาผ่านไปอีกนานๆ ความกลัวเหล่านั้นก็จะเริ่มจางหายไปเอง ทั้งที่จริงๆ แล้ว เราควรทำตรงข้าม กล่าวคือ หลังตลาดหุ้นเกิดวิกฤตใหม่ๆ เราไม่ควรจะกลัวที่จะซื้อหุ้นแต่เป็นเวลาที่เราควรจะกล้าซื้อหุ้นมากกว่า 

เวลาหุ้นพื้นฐานดีๆ บางตัวมีข่าวร้ายมากระทบ ความรู้สึกของเราเกี่ยวกับพื้นฐานโดยรวมของหุ้นตัวมักแย่ลงไปด้วย เราจะเริ่มไม่ค่อยแน่ใจกับปัจจัยพื้นฐานของหุ้นตัวนั้นที่เราเคยเชื่อว่าดีจนทำให้เราตัดสินใจลงทุน ทั้งที่เราก็รู้ดีว่าข่าวร้ายเหล่านั้นจะไม่ได้ติดตัวหุ้นนั้นไปแบบถาวร แต่เีราอดไม่ได้ที่จะให้น้ำหนักข่าวร้ายนั้น มากกว่าสิ่งดีๆ ทั้งหมดของหุ้นตัวนั้นที่เคยเป็นมาตลอดและยังไม่ได้เปลี่ยนไปเพราะข่าวร้ายนั้นเลยแม้แต่น้อย

ความยากของเรื่องนี้อยู่ตรงที่ เรามักไม่รู้ตัวว่าเรากำลังลำเอียงอยู่ เพราะเวลาที่เราลำเอียง เรามักใช้อารมณ์ของเราฟันธงไปก่อน แล้วสมองของเราจึงค่อยหาเหตุผลมาสนับสนุนการตัดสินใจของเรานั้น เราจึงมักรู้สึกว่าเรากำลังใช้เหตุผลอยู่ เวลาที่เราลำเอียง ที่จริงแล้ว เหตุผลเหล่านั้นล้วนแล้วแต่เป็นเหตุผลที่สมองของเราคัดเลือกมาเพื่อสนับสนุนอารมณ์ของเราเท่านั้นโดยคัดกรองเหตุผลอื่นๆ ที่ขัดแย้งออกไป เราจึงไม่รู้ตัวว่าเราลำเอียง ใครก็ตามที่มีสติรู้ทันจิตใจของตัวเองได้ดีกว่าคนอื่น คนนั้นจะสามารถเล่นหุ้นได้ดีกว่าคนอื่น ทั้งที่ไม่ได้มีความรู้อะไรมากมายเลย

Recency Bias เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้นักลงทุนมักขายหุ้นในเวลาที่ไม่ควรขายที่สุด และไม่ยอมซื้อหุ้นในเวลาที่ควรซื้อหุ้นมากที่สุดด้วย

0299: Mr.Soros and his Reflexivity

จอร์จ โซรอส มีแนวคิดว่าตลาดหุ้นทำงานอย่างไรที่ค่อนข้างแตกต่างจากคนอื่น เขาเรียกโมเดลของเขาว่า Reflexivity

โซรอสมองว่าในตลาดหุ้นจะมีความลำเอียงหลักของตลาดอยู่เสมอ นักลงทุนแต่ละคนต่างมีความลำเอียงเป็นของตัวเองซึ่งแรงซื้อแรงขายจะทำให้ความลำเอียงเหล่านั้นหักล้างกันไปส่วนหนึ่ง แต่ไม่ว่าจะหักล้างกันยังไงก็จะยังเหลือความลำเอียงส่วนหนึ่ง ที่หักล้างไม่หมดและกลายเป็นความลำเอียงหลักที่ครอบงำทั้งตลาดในขณะนั้นๆ อยู่ ความลำเอียงหลักทำให้ตลาดไม่เคยอยู่ที่จุดสมดุล มีแต่มากไปกับน้อยไป ราคาหุ้นจะเคลื่อนตัวไปตามแนวโน้มที่แท้จริงของมันซึ่งขึ้นอยู่กับปัจจัยพื้นฐานบวกด้วยความลำเอียงหลักที่ทำให้ราคาหุ้นขึ้นหรือลง มากหรือน้อยกว่าที่ควรจะเป็นตามปัจจัยพื้นฐาน

แต่แค่นั้นยังไม่พอ การเปลี่ยนแปลงของราคาหุ้นที่เกิดขึ้นจะย้อนกลับมามีอิทธิพลกับแนวโน้มที่แท้จริงและความลำเอียงหลักอีกที ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างแนวโน้มที่แท้จริงกับ ความลำเอียงหลักที่มีต่อราคาหุ้น ไม่ใช่ความสัมพันธ์แบบทางเดียว แต่เป็นความสัมพันธ์แบบสองทิศทาง พูดง่ายๆ ก็คือ ยิ่งราคาหุ้นขึ้น ความลำเอียงของตลาดว่าหุ้นขึ้นจะยิ่งมากขึ้น และทำให้ราคาหุ้นยิ่งขึ้นต่อไปอีก การที่มุมมองของนักลงทุนส่งผลต่อราคาหุ้นแล้วทำให้ราคาหุ้นกลับมาส่งผลต่อมุมมองของนักลงทุนอีกทีนี้เองที่โซรอสเรียกว่า Reflexivity ในตลาดหุ้น ปฏิสัมพันธ์แบบสองทางนี้ทำให้การทำนายราคาหุ้นเป็นเรื่องที่ทำได้ยากมาก

ถ้าเรามีสมมติฐานเกี่ยวกับกลไกในตลาดหุ้นว่าเป็นแบบนี้ เมื่อใดที่มุมมองของนักลงทุนกับการเปลี่ยนแปลงของราคาหุ้นมีลักษณะส่งเสริมกันเอง เมื่อนั้นราคาหุ้นจะวิ่งออกจากปัจจัยพื้นฐานออกไปเรื่อยๆ ทำให้เกิดฟองสบู่ และจะเป็นเช่นนั้นอยู่จนกว่าพวกมันจะขัดขากันเองซึ่งจะทำให้เกิด market correction ขึ้น ตลาดหุ้นจึงมีแนวโน้มที่จะมี boom และ burst อยู่ร่ำไป แทนที่จะพยายามวิ่งเข้าสู่จุดสมดุลเองตลอดเวลาเหมือนอย่างที่ทฤษฏีทางการเงินบอกไว้ และกลยุทธ์ของโซรอสก็คือการพยายามทำกำไรจาก boom และ burst เหล่านี้

โซรอสบอกว่าพวก neoclassical คิดถูกที่เชื่อว่าตลาดเสรีดีที่สุด แต่ผิดตรงที่เชื่อว่าตลาดเสรีมีเสถียรภาพ ส่วนพวก keynesians นั้นผิดตรงที่เชื่อว่า การแทรกแซงโดยรัฐฯ จะช่วยสร้างเสถียรภาพได้ โซรอสเชื่อว่านั่นจะยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง ตลาด unstable อยู่แล้วโดยธรรมชาติและไม่มีอะไรที่จะเปลี่ยนมันได้

แนวคิดที่สำคัญมากของ Reflexivity คือ  ราคาหุ้นส่งอิทธิพลต่อปัจจัยพื้นฐานได้ด้วย ไม่ใช่ปัจจัยพื้นฐานส่งผลต่อราคาหุ้นอย่างเดียว เช่น บริษัทที่ใช้ M&A เป็นกลยุทธ์ในการเติบโต ถ้าราคาหุ้นของบริษัทสูงลิ่ว บริษัทย่อมสามารถระดมทุนได้ในราคาต่ำ ทำให้มีเงินต้นทุนต่ำมาซื้อกิจการ ซึ่งจะยิ่งทำให้กำไรเติบโตได้ง่ายขึ้น หรือในช่วงเวลาที่ตลาดอสังหาตกต่ำ ถ้าอยู่ดีๆ ตลาดหุ้นขึ้นแรงเนื่องจากตลาดเก็งล่วงหน้าว่าอสังหากำลังจะฟื้นทั้งที่ยังไม่มีสัญญาณใดๆ เลยที่ทำให้เชื่อได้ว่าอสังหากำลังจะฟื้น แต่ถ้าตลาดหุ้นยังขึ้นต่อไปเรื่อยๆ  ความมั่งคั่งของคนในตลาดย่อมเพิ่มขึ้น ที่สุดแล้วก็จะทำให้มีคนมีสภาพคล่องมาช้อนซื้ออสังหาราคาถูก ทำให้ตลาดอสังหาฟื้นได้จริง เป็นต้น    

โซรอสเป็นนักเก็งกำไร ประเภท Global Macro เขาเชื่อว่า การเข้าใจปัจจัยพื้นฐานนั้นเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ แต่ว่ายังไม่เพียงพอ การมองตลาดแบบ Reflexivity คือสิ่งที่มาช่วยเติมเต็มการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานในส่วนที่ยังบกพร่องอยู่ เพราะนักลงทุนไม่มีวันเข้าใจปัจจัยพื้นฐานได้ครบถ้วน จึงจำเป็นต้องอาศัยการสังเกตจากตลาดในส่วนที่เรายังไม่รู้ด้วย แต่เดิมโซรอสอาศัยปัจจัยพื้นฐานและ Reflexivity ในการทำกำไรจากหุ้นเป็นรายตัว แต่ต่อมาเขาก็เริ่มหันมาหากำไรจากการมองทั้งตลาดแทน เพราะเขามองว่าตัวเขาเองมีความสามารถจำกัดในการทำความเข้าใจอุตสาหกรรมหลายอุตสาหกรรมให้ได้แบบลึกซึ้งอยู่ ในขณะที่เขาสามารถทำความเข้าใจกับระบบเศรษฐกิจและการเงินได้ดีมากกว่า และนั่นก็ได้ทำให้เขาค้นพบแนวทางที่เขามีพรสวรรค์อย่างยิ่งในที่สุด

0284: EMH

หนึ่งในเรื่องที่เถียงกันมากที่สุดตลาดกาลเกี่ยวกับตลาดหุ้นคือ สมมติฐานเรื่องตลาดมีประสิทธิภาพ (Efficient Market Hypothesis)

นักวิชาการมักสนับสนุน EMH เพราะเป็นแนวคิดที่เข้ากันได้ดีกับเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก ในขณะที่ คนในวอลล์สตรีทมักคัดค้าน EMH เพราะการยอมรับ EMH ก็เท่ากับว่ายอมรับว่าสิ่งที่พวกเขากำลังพยายามทำอยู่ทุกวันนั้น (พยายามชนะตลาด) เป็นเรื่องที่ไร้ประโยชน์

ปัญหาก็คือ เราไม่มีทางพิสูจน์ได้ว่าตลาดมีประสิทธิภาพจริงหรือไม่ เนื่องจากเราไม่สามารถแยก rational errors ออกจาก irrational errors ได้ อย่างในกรณีที่ตลาดแนสเด็กฟองสบู่แตกเมื่อปี 2001 จะฟันธงว่าตลาดไม่มีประสิทธิภาพก็ไม่ได้ เพราะอาจเป็น rational errors ก็ได้ คำว่า rational errors หมายความว่า ในการตัดสินใจภายใต้ความไม่แน่นอนนั้น บางครั้งการตัดสินใจอย่างมีเหตุผลก็อาจให้ผลลัพธ์ที่ผิดพลาดได้เหมือนกัน ตัวอย่างเช่น ถ้าเรารู้ว่าเหรียญอันหนึ่งโดนถ่วงให้ออกหัว 55% การตัดสินใจที่มีเหตุผลคือการทายว่าเหรียญนั้นจะออกหัวทุกครั้ง แต่ในการทอยเหรียญหนึ่งครั้ง เหรียญอาจจะออกก้อยก็ได้ แบบนี้เรียกว่าเป็น rational error (ความผิดพลาดอย่างมีเหตุผล)

ในเมื่อ EMH พิสูจน์ไม่ได้ สิ่งที่เราทำได้ก็คือแค่เชื่อไปทางใดทางหนึ่ง แต่วิธีที่ดีกว่าคือแทนที่เราจะเชื่อไปทางใดทางหนึ่งแบบหัวชนฝา เราน่าจะฟังหูไว้หูมากกว่า เพราะยังไงมันก็พิสูจน์ไม่ได้อยู่แล้ว ไม่ว่าเราจะเลือกข้างไหนก็เป็นได้แค่ความเชื่อเท่านั้น

อันที่จริง นักลงทุนที่พยายามเอาชนะตลาดด้วยการวิเคราะห์พื้นฐาน เพราะเชื่อแบบสุดโต่งว่าตลาดไม่มีประสิทธิภาพโดยสิ้นเชิงนั้นนับเป็นความเชื่อที่ไม่สมเหตุผล เพราะถ้าตลาดไม่มีประสิทธิภาพโดยสิ้นเชิง การพยายามวิเคราะห์พื้นฐานก็จะไร้ประโยชน์พอๆ กับการเชื่อว่าตลาดมีประสิทธิภาพโดยสมบูรณ์เช่นกัน  เพราะถ้าตลาดไม่มีประสิทธิภาพโดยสิ้นเชิง ราคาหุ้นย่อมวิ่งไปอย่างไรก็ได้ ไม่เกี่ยวกับพื้นฐานและไม่มีเหตุผลใดๆ ที่จะต้องกลับมาหาพื้นฐานสักวันหนึ่งเลยด้วย การวิเคราะห์พื้นฐานย่อมสูญเปล่าเช่นเดียวกัน

คำถามที่ตรงประเด็นมากกว่าจึงไม่ใช่คำถามที่ว่า ตลาดมีประสิทธิภาพหรือไม่? แต่คือคำถามว่า ตลาดมีประสิทธิภาพมากแค่ไหน? มากกว่า ตลาดควรจะมีประสิทธิภาพอยู่ในระดับหนึ่งมากกว่าที่จะมีประสิทธิภาพโดยสมบูรณ์หรือไม่มีประสิทธิภาพโดยสิ้นเชิง มิฉะนั้นแล้ว ความพยายามที่จะเอาชนะตลาดด้วยวิธีการใดๆ ย่อมไร้ผลอยู่ดี

ตลาดหุ้นจะมีประสิทธิภาพสูงได้ต้องอาศัย smart investors ซึ่งหมายถึง นักลงทุนที่ลงทุนโดยอาศัยข่าวเป็นหลัก แทนที่จะใช้ความรู้สึก ยิ่งในตลาดหุ้นมี smart investors มากเท่าไร ตลาดก็จะยิ่งซึมซับข่าวได้เร็วมากเท่านั้น ตลาดหุ้นที่ sophisicated มากๆ อย่างตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่หุ้นบูลชิพแต่ละตัวอาจมี analyst cover มากถึง 150 คน ราคาหุ้นจะ discount ข่าวอย่างรวดเร็วมากๆ ทำให้การซื้อหุ้นโดยอาศัยการอ่านพบข่าวดีเกี่ยวกับบริษัทในนสพ.จะไม่ได้ผล เพราะกว่าที่ข่าวนั้นจะมาอยู่บนหน้านสพ. ราคาหุ้นก็โดนคนอื่น discount ข่าวนั้นไปหมดแล้ว แต่ถ้าเป็นตลาดหุ้นที่ค่อนข้างด้อยพัฒนาหรืออยู่ในภาวะซบเซาอย่างรุนแรง การอ่านเจอข่าวดีในนสพ.แล้วรีบซื้อหุ้นก็อาจยังชนะตลาดได้ ในช่วงที่ตลาดซบเซาอย่างหนักเช่น ปี 2544-45 ช่วงนั้นนักลงทุนออกไปจากตลาดเป็นจำนวนมาก ช่วงนั้นตลาดน่าจะมีประสิทธิภาพต่ำกว่าช่วงปี 2547-48 ซึ่งมีนักลงทุน active อยู่เต็มตลาดไปหมด

อย่างไรก็ตาม ต่อให้ตลาดมี smart investors มากแค่ไหน ตลาดก็ทำได้เพียงมีประสิทธิภาพสูงในการซึมซับข้อมูล (informationally efficient) เท่านั้น นักลงทุนยังคงมีโอกาสชนะตลาดได้ด้วยการ “วิเคราะห์” ข้อมูลได้เก่งกว่าตลาด เช่น ตลาดแปลความว่าเป็นข่าวร้าย แต่เรามองว่าเป็นข่าวดี ถ้าเราคิดถูก เราก็มีโอกาสชนะตลาด นั่นคือ แม้ราคาหุ้นจะซับข่าวได้อย่างรวดเร็ว แต่ก็อาจเป็นการแปลความข่าวผิดก็ได้ ดังนั้น คนที่ “วิเคราะห์” เก่งกว่าคนทั่วไปในตลาด ก็มีโอกาสที่จะชนะตลาดได้ทั้งๆ ที่รู้ข่าวช้ากว่าคนอื่นเสมอ

แต่ทุกวันนี้ เหตุสำคัญที่สุดที่ยังคงทำให้ตลาดหุ้นเกิด booms และ bursts อยู่เสมอไม่ว่าตลาดจะซึมซับข้อมูลได้เร็วแค่ไหน คือ herd instincts ในตัวของนักลงทุน มนุษย์เราไม่ว่าจะเจริญขึ้นหรือฉลาดขึ้นแค่ไหน ก็ยังคงมีสัญชาตญาณของการแห่ตามกันอยู่เหมือนเช่นเดิม herd instincts เป็น abnormality ในตลาดที่ทนทานต่อการอาบริทาจ ฟองสบู่จะเกิดขึ้นเสมอเมื่อนักลงทุนส่วนใหญ่ในตลาด shutdown สมองของตัวเองแล้วหันมาพึ่งความเห็นคนอื่นในการตัดสินใจซื้อหุ้นแทน เรามักรู้สึกอุ่นใจเมื่อรู้ว่ามีคนอื่นที่ตัดสินใจแบบเดียวกับเราอยู่เยอะๆ และนั่นก็คือช่วงเวลาที่อันตรายมากที่สุดด้วย

ตลาดหุ้นจะรักษาเสถียรภาพไว้ได้ตราบใดที่นักลงทุนส่วนใหญ่ในตลาดยังมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันอยู่ เมื่อใดก็ตามที่นักลงทุนส่วนใหญ่คิดหรือเชื่อไปทางเดียวกันหมด เมื่อนั้นจะเกิดภาวะที่เรียกว่า diversity breakdown ซึ่งจะตามมาด้วย booms และ bursts ในตลาดหุ้นเสมอ หุ้นที่ไม่เหลือใครเลยในตลาดที่คิดต่างว่าไม่ดี ราคาหุ้นจะลอยระริ่ว ความเห็นที่แตกต่างกันในตลาดจะคอยช่วยดึงราคาหุ้นไว้ไม่ให้สุดโต่ง ถ้าอยากเอาชนะตลาด นอกจากการวิเคราะห์ที่เหนือกว่าแล้ว การมีจิตใจที่สามารถเอาชนะ herd instincts ในตัวเองได้ ถือได้ว่าเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ใช้ได้ผลดีเช่นกัน

เมื่อมองในแง่นี้ การรณรงค์ให้นักลงทุนหันมาลงทุนระยะยาวกันหมดถือว่าเป็นการทำลายตลาดหุ้นอย่างหนึ่งเหมือนกัน เพราะถ้าทุกคนเป็นนักลงทุนระยะยาวกันหมด หุ้นจะถูกในระยะสั้น และแพงในระยะยาว ตลาดหุ้นที่ดีจะต้องมีนักลงทุนที่มีแนวทางที่หลากหลายอยู่ ร่วมกัน กล่าวคือ ต้องมีทั้งนักเก็งกำไรและนักลงทุนอยู่ในตลาด ความคิดที่หลากหลายจะคอยป้องกันตลาดหุ้นไว้ไม่ให้เกิดสภาวะ diversity breakdown

0280: Stock Selection is not Everything

คุณว่าความสามารถในการเลือกหุ้นให้ถูกตัวมีความสำคัญมากแค่ไหนต่อผลงานการลงทุน?

หลายคนจะเชื่อว่าสำคัญที่สุดเลยทีเดียว เวลาที่เราคิดอย่างนี้ เราจะไม่กล้าเลือกหุ้นด้วยตัวเอง เพราะเรามีความรู้สึกว่าเราเลือกหุ้นไม่เก่ง ผิดบ่อย เราจะเริ่มหาที่พึ่งพิงภายนอก เราจะมองหาใครสักคนที่มีอะไรสักอย่างที่ทำให้เราเชื่อว่าคนๆ นี้น่าจะเป็นที่พึ่งของเราเรื่องการเลือกหุ้นได้ จากนั้นเราก็จะเริ่ม shutdown สมองของเราเอง แล้วหันไปซื้อตาม “กูรูหุ้น” แทน

เวลาคุณเล่นหมากรุกกับแชมป์โลก โอกาสที่คุณจะชนะแชมป์โลกนั้นแทบจะไม่มีเลย แต่สำหรับการลงทุนแล้ว ต่อให้คนที่เชี่ยวที่สุดก็ยังทำผลงานได้ไม่ดีนัก กูรูหุ้นระดับตำนานเลือกหุ้นถูกต้องได้เพียง 60-65% เท่านั้น เพราะการวิเคราะห์การลงทุนเป็นศาสตร์ที่มีความไม่แน่นอนมาเกี่ยวข้องสูงมาก  ในเวลาเดียวกัน คนธรรมดาทั่วไปจะเลือกหุ้นได้ถูกต้องในระดับ 45-55% (ถ้าต่ำกว่านี้จะถือว่าเก่งมาก เพราะแค่ทำตรงข้ามกับที่คิดก็จะรวยไม่รู้เรื่องได้) การเลือกหุ้นเป็นศาสตร์ที่คนเก่งที่สุดกับคนที่แย่ที่สุดไม่ได้ต่างกันอย่างชัดเจน

คนที่คิดว่า การเล่นหุ้นคือการซื้อหุ้นเด็ดทีละตัวด้วยเงินทั้งหมดที่มีอยู่ เมื่อหุ้นวิ่งก็ขายทำกำไรออกมาแล้วเอาเงินทั้งหมดไปซื้อหุ้นเด็ดตัวที่สองอีก ทำเช่นนี้ไปเรื่อยๆ ก็จะเป็นเศรษฐีได้อย่างรวดเร็ว มักจะรู้สึกว่าการเลือกหุ้นเป็นเรื่องสำคัญที่สุด เพราะการเล่นหุ้นอย่างนั้น ถ้าเลือกหุ้นผิดแค่หนเดียว ก็หมดตัวเลย แต่สำหรับคนที่ลงทุนแบบเป็นการลงทุนจริงๆ ไม่ใช่การวัดดวงเพื่อให้กลายเป็นเศรษฐีชั่วข้ามคืนนั้น มีอะไรที่สำคัญมากกว่าการเลือกหุ้นมาก เราจะต้องพยายามหลีกเลี่ยงการขาดทุนหนักๆ ในระยะยาวให้ได้

ตั้งแต่เกิดมาผมยังไม่เคยพบใครที่เลือกหุ้นได้ถูกต้องตลอดเวลาเลย (ยกเว้นคนที่ชอบคุยทีหลังว่าทายถูก) ต่อให้เรามองได้เก่งแค่ไหนก็มักจะมีอะไรที่ไม่คาดฝันเข้ามาอยู่เสมอ วอเรน บัฟเฟต เพิ่งจะพลาด เพราะประเมินวิกฤตสถาบันการเงินต่ำไป ช่วงแรกๆ เขาบอกว่า ตลาด”คิดไปเอง”ว่าสถาบันการเงินจะมีปัญหารุนแรง แต่ตอนนี้เขาก็ออกมายอมรับแล้วว่าวิกฤตครั้งนี้จะรุนแรงมาก จิม โรเจอร์ ก็พลาดหนักเพราะบอกว่าคอมโมดิตี้จะยังไปได้อีกสิบเท่า ส่วน จอร์จ โซรอส แม้ว่าจะทายถูกว่าปัญหาซับไพร์มทำจะทำให้เกิด Global Recession แต่เขาก็เพิ่งจะขาดทุนหนักจากการเข้าไปเก็งกว่าดอลล่าร์จะอ่อนลงเรื่อยๆ จะเห็นได้ว่าคนที่ประสบความสำเร็จในการลงทุนมากๆ ไม่ได้เป็นคนที่คิดถูกตลอดเวลา

ที่จริงแล้วมีอะไรบางอย่างที่มีผลต่อความสำเร็จมากกว่าการเลือกหุ้นมาก ตัวอย่างเช่น คนที่เลือกหุ้นถูกแค่ 4 ใน 10 ครั้งอาจจะได้ผลตอบแทนสูงกว่าคนที่เลือกหุ้นถูก 6 ใน 10 ครั้งก็ได้ เพราะถ้าคนที่เลือกหุ้นถูก 4 ใน 10 ครั้งเลือกจัดสรรเงินส่วนใหญ่ของเขาไว้ในตัวที่เขาเลือกได้ถูก เขาขาดทุนน้อยไปกับตัวที่เขาคิดผิด ในขณะที่ คนที่เลือกหุ้นถูก 6 ใน 10 ครั้งแต่มีนิสัยชอบซื้อเฉลี่ยขาลง เลยทำให้เงินส่วนใหญ่ของเขาจมอยู่ในหุ้น 4 ตัวที่เลือกผิดเพราะราคาหุ้นเหล่านั้นร่วงลงไปเรื่อยๆ เป็นต้น จะเห็นได้ว่า นิสัยในการลงทุนก็มีอิทธิพลต่อผลตอบแทนของเรามาก ที่สำคัญ “นิสัยการลงทุน” เป็นเรื่องที่ฝึกฝนได้และมีความแน่นอนมากกว่า คนที่มีนิสัยการลงทุนที่ดีจะเอาตัวรอดจากการขาดทุนใหญ่ๆ ได้ทุกครั้ง ต่างกับคนที่มีนิสัยการลงทุนที่ไม่ดี (ตัวอย่างนิสัยการลงทุนที่ไม่ดีก็เช่น chasing stock price, ชอบซื้อเฉลี่ยขาลง, ทุ่มสุดตัวกับหุ้นตัวเดียว,  ขายหมูเร็วบ่อยๆ  เป็นต้น) คนที่ประสบความสำเร็จในการลงทุนส่วนใหญ่มักเป็นคนที่มีนิสัยการลงทุนที่ดีมากกว่าที่จะเป็นคนเลือกหุ้นได้ถูกต้อง พวกเขาเหล่านี้ค่อยๆ บ่มเพาะนิสัยการลงทุนที่ดีของตัวเองขึ้นมาด้วยประสบการณ์และการนำข้อผิดพลาดในอดีตของตัวเองมาปรับปรุงนิสัยอยู่เสมอ

ถ้าเราเชื่อว่า Stock Selection is not Everything เราก็จะเลิกนิสัยวิ่งตามเซียนของเราเสียได้ ผมเคยเห็นคนมากมายที่อุทิศชีวิตให้กับการสืบว่าเซียนซื้อหุ้นอะไรอยู่ พวกเขาใช้ความพยายามสูงมาก แต่ผมก็ยังไม่เคยเห็นคนเหล่านั้นประสบความสำเร็จเลย พวกเขาอาจได้กำไรในบางครั้ง แต่รวมๆ แล้วมักไม่ประสบความสำเร็จทั้งที่เขาซื้อหุ้นตัวเดียวกันกับเซียนทุกตัว  ผมสังเกตว่าคนที่ประสบความสำเร็จในการลงทุนมีแนวคิดที่ต่างกันหลายแบบแต่ “ทุกคน” กลับมีลักษณะที่เหมือนกันอยู่อย่างหนึ่งคือ เป็นคนที่มีความคิดเป็นของตัวเอง พวกเขาชอบเลือกหุ้นด้วยตัวเองไม่ลอกเลียนแบบใครทั้งนั้น ส่วนใหญ่พวกเขาก็เลือกหุ้นผิดบ้างถูกบ้างเหมือนๆ กับเรานั่นแหละ แต่ “นิสัยการลงทุน” ของเขาต่างหากที่ดีกว่าเราพวกเขาจึงประสบความสำเร็จ ผมชอบคำพูดของ Ken Heebner ที่บอกว่า “ผมไม่ได้ประสบความสำเร็จเพราะคิดถูกบ่อยกว่าคนอื่น แต่จุดแข็งของผมอยู่ที่ ผมสามารถยอมรับความผิดพลาดของตัวเองได้อย่างรวดเร็ว และไม่เคยถล่ำลึกลงไปในความผิดนั้น” ไม่มีใครที่เลือกหุ้นได้ถูกตลอดเวลา เขาประสบความสำเร็จโดยอาศัยการมีนิสัยการลงทุนที่ดี

ถ้าคุณพยายามเลือกหุ้นเองให้ดีที่สุด และลงทุนในหุ้นหลายตัว ผมรับรองว่า ความไม่แน่นอนของหุ้นจะช่วยทำให้ผลงานการเลือกหุ้นของคุณไม่แตกต่างไปจากของกูรูหุ้นมากนักแน่นอนครับ เลือกหุ้นเองดีกว่าครับ สิ่งที่สำคัญมากกว่าการเลือกหุ้นคือ นิสัยการลงทุนของตัวคุณเอง

0275: Diversity Breakdown

 

 

Solomon Asch นักจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยเยล ทำการทดลองหนึ่งโดยแบ่งคนออกเป็นกลุ่ม กลุ่มละแปดคน (ในทุกกลุ่ม เจ็ดคนเป็น “หน้าม้า” มีแค่คนเดียวเท่านั้นที่เป็นอาสาสมัครตัวจริง) โดยให้ตอบคำถามที่ง่ายมากๆ เช่น ในภาพข้างต้น กราฟแท่งไหนยาวที่สุด? ในการตอบคำถามแต่ละครั้ง สมาชิกทุกคนในกลุ่มจะต้องขานคำตอบของตัวเองดังๆ ให้คนที่เหลือฟังด้วยเสมอ

ในคำถามแรกๆ หน้าม้าทุกคนเลือกคำตอบที่ถูกต้อง ผลปรากฏว่า อาสาสมัครก็เลือกคำตอบได้ถูกต้องด้วย แต่ในคำถามท้ายๆ หน้าม้าถูกนัดแนะให้พร้อมใจกันเลือกคำตอบที่ผิดเหมือนกันทุกคน ผลปรากฏว่า มีอาสาสมัครมากถึง 35% ที่เลือกคำตอบที่ผิดตามหน้าม้าไปด้วย การทดลองนี้พิสูจน์ว่า การตัดสินใจของเราจะได้รับอิทธิพลจากคนอื่นสูงมาก (แม้แต่ในเรื่องที่ง่ายมากๆ ก็ตาม) ยิ่งถ้าเป็นเรื่องที่ไม่ใช่แค่ขาวกับดำ คนอื่นจะยิ่งมีอิทธิพลต่อวิจารณญาณของเรามากเป็นพิเศษ และหนึ่งในนั้นก็คือเรื่องการลงทุนนั่นเอง

เรื่องนี้นับว่าเป็นจุดอ่อนการลงทุนที่กำจัดได้ยากมาก ผมเองเป็นคนที่มีบุคลิกที่ค่อนข้างจะเป็น contrarian อยู่แล้วยังรู้สึกว่ายากเลย เวลาที่ผมค้นพบหุ้นดีๆ สักตัวหนึ่ง แต่ถ้าคนรอบข้างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าไม่ดี ผมก็อดไม่ได้ที่จะรู้สึกหวั่นไหวไปด้วย และทำให้พลาดโอกาสที่จะทำกำไรได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยเมื่อสามารถมองหุ้นตัวนั้นได้อย่างถูกต้อง และการรับฟังความเห็นของผู้อื่น กับการเชื่อคนอื่นเพราะชอบทำอะไรตามๆ กันนั้น เป็นอะไรที่แตกต่างกันเพียงแค่เส้นบางๆ เท่านั้น  

ผมว่าเป็นเพราะนักลงทุนในตลาดมีแนวโน้มอยู่แล้วที่จะเชื่ออะไรตามๆ กันนี่แหละที่เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ตลาดหุ้นต้องมีฟองสบู่เกิดขึ้นอยู่เรื่อยๆ และจะไม่มีวันหมดไปตราบใดที่ตลาดหุ้นยังประกอบด้วยหน่วยเล็กๆ ที่เรียกว่าปุถุชนอยู่ บางทีก็เป็นฟองสบู่หุ้นรายตัว บางทีก็เป็นฟองสบู่ทั้งดัชนี ผมสังเกตว่า ณ เวลาหนึ่งๆ ในตลาดหุ้นมักมีหุ้นประมาณ 3-4 ตัวที่เป็น Talk of the Town คือไม่ว่าไปที่ไหนทุกคนก็จะเชียร์แต่หุ้น 3-4 ตัวนี้โดยให้เหตุผลที่ฟังดูเหมือนๆ กันมาก ไม่ค่อยมีความเห็นแตกต่าง และราคาของหุ้น 3-4 ตัวนี้ก็มักจะทะยานขึ้นมาได้อย่างน่าตกใจ และพอเวลาผ่านไป หุ้น Talk of the Town ก็มักจะเปลี่ยนหน้าไปเป็นหุ้นชุดใหม่ เป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ซึ่งหุ้น Talk of the Town แต่ละยุคก็มักจะมี Story ที่น่าสนใจในช่วงเหล่านั้นอยู่จริงๆ แต่พฤติกรรมเชื่ออะไรตามๆ กันได้ช่วยขยายผลให้ราคาหุ้นสามารถปรับตัวขึ้นไปได้มากกว่าเหตุผลที่แท้จริงของมันหลายเท่าตัว       

แนวความคิดที่แตกต่างหลากหลายเป็นกลไกตลาดอย่างหนึ่งที่ช่วยรักษาเสถียรภาพของตลาดไว้ได้โดยที่นักลงทุนทุกคนในตลาดไม่จำเป็นต้องมีเหตุผล เพราะความเห็นที่แตกต่างจะคอย offset กันเอง (บางคน bullish เกินไป บางคน bearish เกินไป การซื้อขายของคนสองกลุ่มนี้จะหักล้างกัน) แต่เมื่อไรก็ตามที่ความเห็นแตกต่างหายไปจากตลาดเพราะทุกคน shutdown สมองของตัวเองแล้วหันมาทำอะไรตามๆ กันไป (diversity breakdown) กลไกอันนี้จะไม่ทำงาน และ booms กับ bursts ก็จะเกิดขึ้น ดังนั้นที่จริงแล้ว การรณรงค์ให้นักลงทุนทุกคนในตลาดใช้หลักการลงทุนเดียวกันหมด (เช่น รณรงค์ให้นักลงทุนทุกคนหันมาลงทุนระยะยาว) ไม่ว่าหลักการลงทุนนั้นจะดีหรือไม่ กลับไม่ใช่เรื่องที่ดี เพราะเป็นการทำลายความเห็นต่าง ซึ่งเป็นกลไกที่สำคัญในการรักษาเสถียรภาพให้กับตลาด (ถ้านักลงทุนทุกคนมองยาวเหมือนกันหมด หุ้นจะแพงเกินไปในระยะยาว และถูกเกินไปในระยะสั้น) ตลาดที่ดีควรมีนักลงทุนหลายๆ ประเภทอยู่ด้วยกัน (Growth vs.Value, Short-term vs.Long-term, Momentum vs.Contrarian, Long vs.Short) เพื่อคอยถ่วงดุลกันไว้ ตลาดควรส่งเสริมนักลงทุนทุกแนวอย่างเท่าเทียมกัน(ยกเว้นแนวทางที่ผิดกฏหมาย) มากกว่าที่จะ prefer แนวทางใดแนวทางหนึ่งมากกว่าแนวทางอื่น แนวการลงทุนต้องเป็นไปแบบเสรี ใครคิดว่าวิธีไหนเด็ดสุดก็ขุดเอามาใช้ให้เต็มที่ ตลาดจะพลอยได้รับประโยชน์ทางอ้อมจากความพยายามแบบสุดๆ ในการสร้างผลตอบแทนของนักลงทุนแต่ละคนมากที่สุด

0001: เราควรวัดผลงานการลงทุนของเราอย่างไร

ปี 2546 เป็นปีทองของนักเล่นหุ้น เพราะดัชนี SET index วิ่งติดต่อกันนานถึง 11 เดือนโดยไม่พักเหนื่อยเลย บางท่านได้กำไรมากถึง 50% ภายในระยะเวลาไม่ถึงหนึ่งปี และเริ่มมีความคิดที่จะลาออกจากงานเพื่อมาเล่นหุ้นอย่างเดียว เพราะได้มากกว่าการทำงานกินเงินเดือนเป็นอย่างมาก

แต่เรื่องของเรื่องก็คือว่า ปี 2546 ดัชนี SET index ปรับตัวขึ้นไปมากถึง 100% ที่จริงแล้วการที่พอร์ตของคุณวิ่งแค่ 50% นั่นแสดงว่าคุณทำผลงานได้น้อยกว่าค่าเฉลี่ย

ประเด็นของเรื่องนี้อยู่ที่ว่าเราควรวัดผลงานการลงทุนของเราอย่างไร ควรวัดว่าเราได้กำไรกี่เปอร์เซนต์ (Absolute Return) หรือว่าเราชนะตลาดที่เปอร์เซนต์ (Relative Return)

ที่จริงแล้วเราควรวัดผลงานของเราจาก Relative Return มากกว่า เพราะถ้าเราทำผลงานเป็นบวกได้แต่ได้น้อยกว่าตลาด เราก็ไม่ควรเล่นหุ้นด้วยตัวเอง ควรหันไปซื้อ Index Fund ซึ่งเป็นกองทุนรวมที่ลงทุนเหมือนดัชนีแทนจะดีกว่า เพราะวิธีนี้ไม่ต้องใช้สมองเลยแต่ทำผลงานได้เท่าตลาดทุกปี

ดังนั้นคนที่เล่นหุ้นด้วยตัวเองทุกคนจึงควรวัดผลงานของพอร์ตโดยเทียบกับตลาด แม้ว่าจะหมายถึงการที่คุณต้องรู้สึกอะไรแบบผิดธรรมชาติไปบ้างตัวอย่างเช่น ในปีที่พอร์ตของคุณขาดทุน 20% แต่ ตลาดปรับตัวลง 40% เป็นปีที่คุณควรจะดีใจจนลิงโลด ในขณะที่ถ้าปีไหนพอร์ตของคุณได้กำไร 50% แต่ตลาดปรับตัวเพิ่มขึ้น 100% คุณก็ควรจะเสียใจ

นอกเหนือจากการวัดผลงานโดยเทียบกับตลาดแล้ว คุณควรตัดสินผลงานของคุณโดยเทียบกับตลาดในช่วงเวลาที่ค่อนข้างยาวอีกด้วย อย่างน้อยก็ควรจะไม่ต่ำกว่าหนึ่งปี อย่าพยายามเอาชนะตลาดให้ได้ทุกวัน ทุกสัปดาห์ ทุกเดือน หรือแม้แต่ทุกไตรมาส เพราะมันจะบีบบังคับให้คุณมองระยะสั้นมากเกินไป อันจะส่งผลเสียต่อผลงานของคุณในระยะยาวได้ จากการวิจัยพบว่า การเลือกซื้อกองทุนโดยดูจากผลงานเมื่อปีที่แล้ว จะไม่ทำให้นักลงทุนประสบความสำเร็จ เพราะกองทุนที่ทำผลงานได้ดีติดอันดับเมื่อปีที่แล้วจะมีชื่อปรากฏอยู่ในอันดับในปีต่อไปน้อยมาก จำไว้ว่าไม่มีหุ้นตัวใดในโลกที่บวกทุกวัน หุ้นที่วิ่งทุกตัวจะบวกบ้างลบบ้าง แต่รวมๆ กันแล้วในระยะยาวบวกมากกว่าลบ ก็เลยทำให้มีราคาสูงขึ้นได้ 

สำหรับผม ผมวัดผลงานของพอร์ตในช่วง 1, 3, 5 ปีที่ผ่านมา ถ้าผลงาน 1 ปี ไม่ดีผมจะเชื่อแค่ 50% ว่าผมไม่ได้เรื่อง ถ้าผลงาน 3 ปีของไม่ดี ผมจะเชื่อว่าผมลงทุนไม่ได้เรื่อง 70% แต่ ถ้าผลงาน 5 ปีของผมแพ้ตลาด ผมจะมั่นใจ 100% ว่าผมลงทุนไม่ได้เรื่อง ส่วนผลงานรายวัน รายเดือน และรายไตรมาส ผมไม่เคยใส่ใจเลยครับ