0289: เจ็ดแนวโน้มใหญ่ในปัจจุบัน

การมอง Demand Trends ถือเป็นวิธีหนึ่งที่สำคัญในการพิจารณาเลือกลงทุน วิธีมอง Demand Trends ที่ดีอย่างหนึ่งก็คือ การมองแนวโน้มใหญ่ (MegaTrend) 

แนวโน้มใหญ่คือ ความเปลี่ยนแปลงสำคัญที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมซึ่งส่งผลต่อความต้องการสินค้าและบริการในภาคธุรกิจ แนวโน้มใหญ่มักเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นติดต่อกันนานหลายปี ไม่ใช่แค่ชั่วคราวแล้วหายไป (อย่างนั้นจะเรียกว่าเป็น Fads หรือ Fashions) ดังนั้นการวิเคราะห์แนวโน้มใหญ่เป็นวิธีที่เหมาะกับการลงทุนระยะยาว แนวโน้มใหญ่ที่ผมพอจะมองเห็นในปัจจุบันมีดังนี้ (หลายอย่างเกิดขึ้นมาตั้งนานมากแล้ว แต่ทุกวันนี้ก็ยังดำเนินอยู่)  

1. Aging Society ปรากฏการณ์ที่คนแก่กำลังมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเมื่อคิดเป็นร้อยละของประชากรทั่วโลก ทำให้สินค้าที่เน้นขายคนแก่ย่อมมี Demand ที่เติบโตได้ดีอย่างต่อเนื่องในอนาคต อาทิเช่น ธุรกิจโรงพยาบาล เป็นต้น  

2. Free Trade ข้อตกลงเขตการค้าเสรีที่กำลังมีผลบังคับใช้มากขึ้นเรื่อยๆ จะช่วยทำให้การค้าการลงทุนข้ามชาติมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเพราะต้นทุนที่ต่ำลง ส่งผลดีต่อ ธุรกิจนำเข้า ส่งออก รวมทั้งธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งทั้งหลาย  

3. CyberWorld ผู้คนใช้เวลากับอินเตอร์เน็ตและมือถือแต่ละสัปดาห์มากขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลดีต่อธุรกิจให้บริการเน็ต เครือข่ายมือถือ ผู้นำเข้าอุปกรณ์มือถือ สินค้าไอที ธุรกิจเกมออนไลน์ ฯลฯ ในขณะที่ ธุรกิจเพลง โทรทัศน์ และธุรกิจหนังสือพิมพ์ ล้วนได้รับผลกระทบจากแนวโน้มอันนี้

4. Global Warming ภาวะโลกร้อนได้กระตุ้นให้เกิดการตื่นตัวเรื่องสิ่งแวดล้อมไปทั่วโลก ส่งผลดีต่อธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับพลังงานทางเลือก การกำจัดขยะ และการจัดการสิ่งแวดล้อม 

5. Energy Constraints การที่คนยากจนในจีนและอินเดียหลายร้อยล้านคนกำลังมีฐานะที่ดีขึ้นอย่างรวดเร็วได้ทำให้โลกมีการใช้ทรัพยากรเพิ่มขึ้นอย่างมาก ส่งผลดีต่อธุรกิจที่เกี่ยวกับทรัพยากรทั้งหลาย เช่น สำรวจน้ำมัน เหมืองแร่ ฯลฯ

6. Food Constraints ภาวะอากาศแปรปรวน ผู้คนมีฐานะดีขึ้น พื้นที่การเกษตรที่จำกัด และการเอาพืชไปใช้เป็นพลังงานทางเลือก ได้ทำให้เกิดภาวะอาหารขาดแคลน ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเกษตรพลอยได้รับประโยชน์จากแนวโน้มนี้

7. Modern Trade แนวโน้มที่ผู้คนนิยมซื้อสินค้าในห้างมากขึ้นเรื่อยๆ ซื้อของในตลาดสดน้อยลง เพราะชีวิตที่เร่งรีบ ต้องการความสะอาด เสพติดโปรโมชั่น ช่วยทำให้ธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่และห้างสรรพสินค้ามีการเติบโตได้ต่อเนื่อง

ข้อดีของการลงทุนตามแนวโน้มใหญ่คือเมื่อเศรษฐกิจโดยรวมมีปัญหาสินค้าเหล่านี้อาจได้รับผลกระทบไม่ต่างกับธุรกิจอย่างอื่น แต่เวลาทุกอย่างกลับมา พวกมันมีโอกาสมากกว่าอย่างอื่นที่จะกลับมาได้ เพราะมันมีแนวโน้มเป็นพื้นฐานที่คอยรองรับอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม การเลือกลงทุนจะดู Demand Trends อย่างเดียวไม่ได้ ต้องดู Competitive Advantage ด้วย อย่างเช่น ในกรณีของโรงงานผลิตแก๊สโซฮอล แม้พลังงานทางเลือกจะเป็นแนวโน้มใหญ่ แต่เนื่องจากนโยบายของรัฐที่ขาดความชัดเจน และ Barrier to Entry ที่ต่ำ กลับทำให้ธุรกิจนี้ไม่ได้ดีอย่างที่คิดครับ เลือกหุ้นต้องพิจารณาทั้ง DT และ CA จะขาดอย่างใดอย่างหนึ่งเสียไม่ได้  

0288: the Consumer Syndrome

เราทุกคนเป็นผู้บริโภคกันอยู่แล้วตั้งแต่เกิด เวลาที่เราเปลี่ยนมาสวมหมวกนักลงทุนเพิ่มอีกใบ เราก็เลยพลอยติดนิสัยผู้บริโภคมาด้วย นิสัยของผู้บริโภคบางอย่างถือได้ว่าเป็นอุปสรรคต่อการลงทุน

ทุกวันนี้คนเราแทบไม่ได้ซื้อสินค้าเพราะ functional ของสินค้ามากเท่ากับที่เราซื้อสินค้าเพราะสินค้านั้นตอบสนอง emotional needs ของเราได้ มนุษย์สมัยนี้หันมาอาศัยแบรนด์สินค้าที่เราใช้เป็นเครื่องมือในการบอกความเป็นตัวตนของเราให้คนรอบข้างได้รับรู้ทางอ้อม คนที่ใช้รถเบนซ์กำลังบอกคนรอบข้างว่า I am wealthy  คนที่ใช้คอมพิวเตอร์ตราผลไม้กำลังบอกคนรอบข้างว่า I am artistic เป็นต้น ถ้าให้ คนที่ใช้คอมพิวเตอร์ตราผลไม้เดินถือคอมพิวเตอร์ตราหน้าต่างไปมาตามท้องถนน พวกเขาจะรู้สึกกล้ำกลืนอย่างมาก เพราะเท่ากับเป็นการฉายภาพลักษณ์ที่ไม่ตรงกับตัวเองให้คนรอบข้าง

พฤติกรรมอันนี้จะติดมาด้วยเวลาที่เรามาเป็นนักลงทุน เราจะเผลอเลือกหุ้นโดยดูว่าเมื่อถือหุ้นนั้นแล้วจะช่วยให้เราบอกความเป็นตัวตนของเราได้หรือไม่ เราจะรู้สึกไม่อยากจะถือหุ้นนั้น แม้ว่าจะมีโอกาสทำกำไรก็ตาม เพราะเราไม่อยากให้คนที่ถามเราว่าเราถือหุ้นอะไรอยู่บ้างเกิดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับตัวตนของเราโดยเชื่อมโยงสินค้าของหุ้นที่เราถือเข้ากับความเป็นตัวเรา เรื่องนี้นับว่าอันตราย เพราะจะทำให้เรามองข้ามประเด็นเรื่องการทำกำไรขาดทุนของบริษัทไป คนที่อยากเป็นเจ้าของสายการบินแห่งชาติซึ่งติดอันดับสายการบินดีเด่นบ่อยๆ คงรู้แล้วว่าภาพลักษณ์ของผลิตภัณฑ์กับความสามารถในการทำกำไรของธุรกิจนั้นเป็นคนละเรื่อง  

ถ้าเปรียบเทียบกันแล้ว รถยนต์ยี่ห้อโตโยต้าไม่มีทางสู้รถเบนซ์ได้ เพราะรถคันละล้านต่อให้ดีแค่ไหนก็คงสู้รถคันละสิบล้านไม่ได้อยู่แล้ว แต่หุ้นโตโยต้ากลับเป็นหุ้นที่สร้างผลตอบแทนให้กับผู้ถือหุ้นอย่างงดงามในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา (แม้ว่าปีนี้จะเริ่มแย่ก็ตาม) ในขณะที่หุ้นเดมเลอร์กลับเป็นหุ้นที่สร้างความผิดหวังให้กับผู้ถือหุ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลาเดียวกัน การตัดสินใจเลือกหุ้นโดยเปรียบเทียบตัวผลิตภัณฑ์นับว่าเป็นวิธีการที่ผิด แม้รถโตโยต้าจะสู้รถเบนซ์ไม่ได้ แต่โตโยต้าก็เป็นรถที่ตอบสนองความต้องการของชนชั้นกลางที่เป็นกลุ่มเป้าหมายได้ดีที่สุดเมื่อเทียบกับรถยี่ห้ออื่นที่เจาะกลุ่มเป้าหมายกลุ่มเดียวกัน โรงงานของโตโยต้าได้ชื่อว่าเป็นโรงงานผลิตรถยนต์ที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในโลกถึงขนาดตะวันตกยังต้องเอาวิธีการของโตโยต้าไปเขียนตำรา คุณค่าของบริษัทโตโยต้าไม่ได้อยู่ที่ตัวผลิตภัณฑ์แต่อยู่ที่การเป็นเจ้าของนวัตกรรมในกระบวนการผลิต การคัดเลือกหุ้นโดยตัดสินจากตัวผลิตภัณฑ์จึงนับว่าหลงประเด็น การที่เราคิดว่าสินค้าของบริษัทไม่ดี ไม่ได้หมายความว่าสินค้าจะขายไม่ได้ เพราะเราอาจไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายของบริษัท จึงไม่ควรใช้ตัวเราเองเป็นมาตรวัด 

การเลือกหุ้นไม่เหมือนกับการเลือกสินค้า การซื้อหุ้นคือการซื้อตัวธุรกิจของบริษัท ไม่ใช่การซื้อสินค้าของบริษัทนั้นๆ ดังนั้นการที่คุณไม่ชอบสินค้าของบริษัทไม่ได้หมายความว่าคุณจะต้องไม่ชอบธุรกิจของบริษัทด้วย มันเป็นคนละเรื่องกัน

เวลาซื้อหุ้นต้องคิดแบบพ่อค้า อย่าคิดแบบผู้บริโภค พ่อค้ายังอาจได้หรือเสียเงิน แต่ผู้บริโภคเสียเงินเสมอ ถ้าอยากบอกความเป็นตัวตนของเราให้คนรอบข้างได้รับรู้ ควรทำผ่านการใช้สินค้าแบรนด์เนมต่างๆ เท่านั้นจะดีกว่า เพราะการบริโภคเป็นเรื่องของการหาความสุขใส่ตัว แต่การลงทุนเป็นเรื่องของการสร้างผลตอบแทนทางการเงิน ตลาดหุ้นเป็นสถานที่ที่ competitive ไม่เหมาะกับการใช้ความรู้สึกตัดสินครับ

0286: beware of the lemmings inside us

สมัยผมเริ่มต้นลงทุนใหม่ๆ มีเพื่อนนักลงทุนคนหนึ่ง เจอหน้ากันทีไรต้องถามผมทุกทีว่าผมถือตัวไหนอยู่ ผมสังเกตว่า เขาไม่ได้ถามผมคนเดียว แต่เขาถามทุกคนที่เขารู้ว่าเล่นหุ้นอยู่ 

ผมมารู้ทีหลังว่า เขาจะไม่กล้าซื้อหุ้นที่ไม่มีคนรอบข้างคนไหนถืออยู่ด้วยเป็นอันขาด ในทางตรงกันข้ามถ้าเขาพบว่า หุ้น XYZ เป็นหุ้นที่มีคนรอบข้างหลายคนกำลังถืออยู่ เขาจะรีบเข้าไปถือ XYZ ทันที

จากนั้นทุกคนที่ถือ XYZ จะโดนเพื่อนของผมโทรเช็คบ่อยๆ ทุกครั้งที่ตลาดปรับตัวลงแรงๆ เขาจะรีบโทรมาทันทีเพื่อถามว่ายังถือ XYZ อยู่หรือไม่ จนตอนหลังเวลาตลาดลงแรงทีไร ผมลองเดาเล่นๆ ว่าประเดี๋ยวคงกรี๊งกร๊างมาแน่ๆ ก็ปรากฏว่าเป็นจริงทุกที แต่ไม่ว่าผมจะอธิบายเหตุผลที่ยาวเป็นหางว่าวแค่ไหนว่า ทำไมผมจึงยังถืออยู่ หรือทำไมผมจึงขายไปแล้ว คำอธิบายเหล่านั้นก็ไม่มีผลอะไรทั้งสิ้น เพราะสุดท้ายแล้ว ถ้าผมบอกว่าผมขายไปแล้ว เขาก็จะขายด้วย แต่ผมยังถืออยู่ เขาก็จะถือต่อ (แต่ก็ไม่แน่เสมอไป เพราะถ้าเขาโทรถามคนอื่นแล้วคนอื่นขายเป็นส่วนใหญ่ เขาก็จะขายอยู่ดี) 

ผมว่าลึกๆ แล้วทุกคนมีอะไรบางอย่างคล้ายๆ กับเพื่อนของผมคนนี้แหละครับ แต่อาจจะไม่มากขนาดนี้  ในเวลาที่คนเราต้องเผชิญความไม่แน่นอน เรามักรู้สึกอุ่นใจมากกว่า ถ้าได้รู้ว่า ยังมีคนอีกหลายคนที่ลงเรือลำเดียวกับเรา เราเกลียดที่สุดหากต้องจมน้ำโดยที่พบว่า มีเรือของเราเพียงลำเดียวเท่านั้นที่จม ส่วนเรือลำอื่นๆ ยังลอยอยู่ครบ “ทุกลำ” เราเกลียดสายตาของทุกคนที่จับจ้องมองเราจมน้ำไปอย่างช้าๆ ด้วยความเห็นใจแต่ไม่รู้จะช่วยยังไง เราเกลียดตัวเองที่ตกข่าว และเมื่อเราจมน้ำเสร็จแล้ว พวกเขาก็พา”กัน”แล่นเรือของพวกเขามุ่งหน้าต่อไป ทิ้งให้ร่างไร้วิญญาณของเราจมสู่ก้นมหาสมุทร

การที่มีคนจำนวนมากถือหุ้นตัวนั้นไม่ได้ช่วยทำให้หุ้นตัวนั้นปลอดภัยขึ้น มันเป็นเพียงแค่”ความรู้สึก”ว่าปลอดภัยเท่านั้น  ในความเป็นจริง คนส่วนใหญ่ในตลาดหุ้นจะขาดทุน ดังนั้นการเลือกถือแต่หุ้นที่คนมีคนถือมากๆ กลับทำให้มีโอกาสขาดทุนมากกว่า ฟองสบู่ในตลาดหุ้นก็เกิดจากการที่มนุษย์เราชอบทำอะไรตามคนส่วนใหญ่นี่แหละ 

ถ้าเราติดนิสัยชอบหา “ความอุ่นใจ” จนปล่อยให้ความต้องการนี้ครอบงำพฤติกรรมการลงทุนทุกอย่างของเรา ในแต่ละวัน เราจะมัวแต่เสียเวลาไปกับการแสวงหาความอุ่นใจให้มากขึ้น เวลาโทรไปถามนักวิเคราะห์ตามรายการวิทยุว่า “ติด XYZ อยู่ ควรถือต่อหรือขายดี?” แทนที่เราจะอยากได้คำแนะนำที่ตรงไปตรงมา เรากลับต้องการเพียงแค่ให้มีคนสักคนบอกเราว่า “ไม่ต้องเป็นห่วงนะ Everything will be alright หุ้นของคุณป้าพื้นฐานดีอยู่” นักวิเคราะห์คนไหนปลอบนักลงทุนเก่ง เราก็จะตามไปฟังเขาบ่อยๆ แต่ถ้านักวิเคราะห์พูดตรงไปตรงมา ทำให้เราใจเสีย เราก็จะพยายามหลีกเลี่ยงนักวิเคราะห์คนนั้น สุดท้ายแล้ว การแสวงหาแต่ความอุ่นใจจะทำให้เรากลายเป็นนักลงทุนที่ปฏิเสธการเผชิญหน้ากับความเป็นจริงทุกรูปแบบ  

ถ้าเราสามารถลดความต้องการทางใจที่ไม่จำเป็นเหล่านี้ออกไปเสียบ้าง เราจะเป็นคนที่สามารถใช้เหตุผลได้มากขึ้น เมื่อที่ต้องตัดสินใจอย่างเด็ดเดี่ยว เราก็จะปรับตัวได้ดี เพราะเรากล้าที่จะเผชิญหน้ากับความเป็นจริง ไม่ว่าความเป็นจริงนั้นจะทำให้เรารู้สึกเจ็บปวดก็ตาม    

It’s time to face the music!

0284: EMH

หนึ่งในเรื่องที่เถียงกันมากที่สุดตลาดกาลเกี่ยวกับตลาดหุ้นคือ สมมติฐานเรื่องตลาดมีประสิทธิภาพ (Efficient Market Hypothesis)

นักวิชาการมักสนับสนุน EMH เพราะเป็นแนวคิดที่เข้ากันได้ดีกับเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก ในขณะที่ คนในวอลล์สตรีทมักคัดค้าน EMH เพราะการยอมรับ EMH ก็เท่ากับว่ายอมรับว่าสิ่งที่พวกเขากำลังพยายามทำอยู่ทุกวันนั้น (พยายามชนะตลาด) เป็นเรื่องที่ไร้ประโยชน์

ปัญหาก็คือ เราไม่มีทางพิสูจน์ได้ว่าตลาดมีประสิทธิภาพจริงหรือไม่ เนื่องจากเราไม่สามารถแยก rational errors ออกจาก irrational errors ได้ อย่างในกรณีที่ตลาดแนสเด็กฟองสบู่แตกเมื่อปี 2001 จะฟันธงว่าตลาดไม่มีประสิทธิภาพก็ไม่ได้ เพราะอาจเป็น rational errors ก็ได้ คำว่า rational errors หมายความว่า ในการตัดสินใจภายใต้ความไม่แน่นอนนั้น บางครั้งการตัดสินใจอย่างมีเหตุผลก็อาจให้ผลลัพธ์ที่ผิดพลาดได้เหมือนกัน ตัวอย่างเช่น ถ้าเรารู้ว่าเหรียญอันหนึ่งโดนถ่วงให้ออกหัว 55% การตัดสินใจที่มีเหตุผลคือการทายว่าเหรียญนั้นจะออกหัวทุกครั้ง แต่ในการทอยเหรียญหนึ่งครั้ง เหรียญอาจจะออกก้อยก็ได้ แบบนี้เรียกว่าเป็น rational error (ความผิดพลาดอย่างมีเหตุผล)

ในเมื่อ EMH พิสูจน์ไม่ได้ สิ่งที่เราทำได้ก็คือแค่เชื่อไปทางใดทางหนึ่ง แต่วิธีที่ดีกว่าคือแทนที่เราจะเชื่อไปทางใดทางหนึ่งแบบหัวชนฝา เราน่าจะฟังหูไว้หูมากกว่า เพราะยังไงมันก็พิสูจน์ไม่ได้อยู่แล้ว ไม่ว่าเราจะเลือกข้างไหนก็เป็นได้แค่ความเชื่อเท่านั้น

อันที่จริง นักลงทุนที่พยายามเอาชนะตลาดด้วยการวิเคราะห์พื้นฐาน เพราะเชื่อแบบสุดโต่งว่าตลาดไม่มีประสิทธิภาพโดยสิ้นเชิงนั้นนับเป็นความเชื่อที่ไม่สมเหตุผล เพราะถ้าตลาดไม่มีประสิทธิภาพโดยสิ้นเชิง การพยายามวิเคราะห์พื้นฐานก็จะไร้ประโยชน์พอๆ กับการเชื่อว่าตลาดมีประสิทธิภาพโดยสมบูรณ์เช่นกัน  เพราะถ้าตลาดไม่มีประสิทธิภาพโดยสิ้นเชิง ราคาหุ้นย่อมวิ่งไปอย่างไรก็ได้ ไม่เกี่ยวกับพื้นฐานและไม่มีเหตุผลใดๆ ที่จะต้องกลับมาหาพื้นฐานสักวันหนึ่งเลยด้วย การวิเคราะห์พื้นฐานย่อมสูญเปล่าเช่นเดียวกัน

คำถามที่ตรงประเด็นมากกว่าจึงไม่ใช่คำถามที่ว่า ตลาดมีประสิทธิภาพหรือไม่? แต่คือคำถามว่า ตลาดมีประสิทธิภาพมากแค่ไหน? มากกว่า ตลาดควรจะมีประสิทธิภาพอยู่ในระดับหนึ่งมากกว่าที่จะมีประสิทธิภาพโดยสมบูรณ์หรือไม่มีประสิทธิภาพโดยสิ้นเชิง มิฉะนั้นแล้ว ความพยายามที่จะเอาชนะตลาดด้วยวิธีการใดๆ ย่อมไร้ผลอยู่ดี

ตลาดหุ้นจะมีประสิทธิภาพสูงได้ต้องอาศัย smart investors ซึ่งหมายถึง นักลงทุนที่ลงทุนโดยอาศัยข่าวเป็นหลัก แทนที่จะใช้ความรู้สึก ยิ่งในตลาดหุ้นมี smart investors มากเท่าไร ตลาดก็จะยิ่งซึมซับข่าวได้เร็วมากเท่านั้น ตลาดหุ้นที่ sophisicated มากๆ อย่างตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่หุ้นบูลชิพแต่ละตัวอาจมี analyst cover มากถึง 150 คน ราคาหุ้นจะ discount ข่าวอย่างรวดเร็วมากๆ ทำให้การซื้อหุ้นโดยอาศัยการอ่านพบข่าวดีเกี่ยวกับบริษัทในนสพ.จะไม่ได้ผล เพราะกว่าที่ข่าวนั้นจะมาอยู่บนหน้านสพ. ราคาหุ้นก็โดนคนอื่น discount ข่าวนั้นไปหมดแล้ว แต่ถ้าเป็นตลาดหุ้นที่ค่อนข้างด้อยพัฒนาหรืออยู่ในภาวะซบเซาอย่างรุนแรง การอ่านเจอข่าวดีในนสพ.แล้วรีบซื้อหุ้นก็อาจยังชนะตลาดได้ ในช่วงที่ตลาดซบเซาอย่างหนักเช่น ปี 2544-45 ช่วงนั้นนักลงทุนออกไปจากตลาดเป็นจำนวนมาก ช่วงนั้นตลาดน่าจะมีประสิทธิภาพต่ำกว่าช่วงปี 2547-48 ซึ่งมีนักลงทุน active อยู่เต็มตลาดไปหมด

อย่างไรก็ตาม ต่อให้ตลาดมี smart investors มากแค่ไหน ตลาดก็ทำได้เพียงมีประสิทธิภาพสูงในการซึมซับข้อมูล (informationally efficient) เท่านั้น นักลงทุนยังคงมีโอกาสชนะตลาดได้ด้วยการ “วิเคราะห์” ข้อมูลได้เก่งกว่าตลาด เช่น ตลาดแปลความว่าเป็นข่าวร้าย แต่เรามองว่าเป็นข่าวดี ถ้าเราคิดถูก เราก็มีโอกาสชนะตลาด นั่นคือ แม้ราคาหุ้นจะซับข่าวได้อย่างรวดเร็ว แต่ก็อาจเป็นการแปลความข่าวผิดก็ได้ ดังนั้น คนที่ “วิเคราะห์” เก่งกว่าคนทั่วไปในตลาด ก็มีโอกาสที่จะชนะตลาดได้ทั้งๆ ที่รู้ข่าวช้ากว่าคนอื่นเสมอ

แต่ทุกวันนี้ เหตุสำคัญที่สุดที่ยังคงทำให้ตลาดหุ้นเกิด booms และ bursts อยู่เสมอไม่ว่าตลาดจะซึมซับข้อมูลได้เร็วแค่ไหน คือ herd instincts ในตัวของนักลงทุน มนุษย์เราไม่ว่าจะเจริญขึ้นหรือฉลาดขึ้นแค่ไหน ก็ยังคงมีสัญชาตญาณของการแห่ตามกันอยู่เหมือนเช่นเดิม herd instincts เป็น abnormality ในตลาดที่ทนทานต่อการอาบริทาจ ฟองสบู่จะเกิดขึ้นเสมอเมื่อนักลงทุนส่วนใหญ่ในตลาด shutdown สมองของตัวเองแล้วหันมาพึ่งความเห็นคนอื่นในการตัดสินใจซื้อหุ้นแทน เรามักรู้สึกอุ่นใจเมื่อรู้ว่ามีคนอื่นที่ตัดสินใจแบบเดียวกับเราอยู่เยอะๆ และนั่นก็คือช่วงเวลาที่อันตรายมากที่สุดด้วย

ตลาดหุ้นจะรักษาเสถียรภาพไว้ได้ตราบใดที่นักลงทุนส่วนใหญ่ในตลาดยังมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันอยู่ เมื่อใดก็ตามที่นักลงทุนส่วนใหญ่คิดหรือเชื่อไปทางเดียวกันหมด เมื่อนั้นจะเกิดภาวะที่เรียกว่า diversity breakdown ซึ่งจะตามมาด้วย booms และ bursts ในตลาดหุ้นเสมอ หุ้นที่ไม่เหลือใครเลยในตลาดที่คิดต่างว่าไม่ดี ราคาหุ้นจะลอยระริ่ว ความเห็นที่แตกต่างกันในตลาดจะคอยช่วยดึงราคาหุ้นไว้ไม่ให้สุดโต่ง ถ้าอยากเอาชนะตลาด นอกจากการวิเคราะห์ที่เหนือกว่าแล้ว การมีจิตใจที่สามารถเอาชนะ herd instincts ในตัวเองได้ ถือได้ว่าเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ใช้ได้ผลดีเช่นกัน

เมื่อมองในแง่นี้ การรณรงค์ให้นักลงทุนหันมาลงทุนระยะยาวกันหมดถือว่าเป็นการทำลายตลาดหุ้นอย่างหนึ่งเหมือนกัน เพราะถ้าทุกคนเป็นนักลงทุนระยะยาวกันหมด หุ้นจะถูกในระยะสั้น และแพงในระยะยาว ตลาดหุ้นที่ดีจะต้องมีนักลงทุนที่มีแนวทางที่หลากหลายอยู่ ร่วมกัน กล่าวคือ ต้องมีทั้งนักเก็งกำไรและนักลงทุนอยู่ในตลาด ความคิดที่หลากหลายจะคอยป้องกันตลาดหุ้นไว้ไม่ให้เกิดสภาวะ diversity breakdown

0281: ซื้อเฉลี่ยขาลง

เป็นธรรมชาติอยู่แล้วที่นักลงทุนจะชอบซื้อเฉลี่ยขาลง…

ถ้าซื้อหุ้น A ที่ราคา 10 บาท แล้ววันต่อมาหุ้นตกทันทีเหลือแค่ 9 บาท เราจะอยากซื้อเฉลี่ยขาลง เพราะเหมือนได้ซื้อของถูกกว่าเดิม ที่สำคัญ ต้นทุนเฉลี่ยของเราจะลดลงด้วยทำให้เราขาดทุนลดลงจาก 10% เหลือแค่ 5% แบบนี้ใครจะไม่อยากทำ 

แต่เดี๋ยวก่อน โลกนี้ไม่มีอะไรฟรี จริงอยู่ที่การ ซื้อเฉลี่ยขาลงทำให้เราขาดทุนน้อยลงเมื่อคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ของต้นทุน แต่สิ่งที่เราต้องนำไปแลกคือ Risk Exposure ที่เพิ่มขึ้น พอร์ตของเรามี Exposure ผูกกับหุ้นตัวนั้นเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าตัว

ถ้าความซวยยังไม่หยุด หุ้น A ดันหล่นลงต่อไปเหลือแค่ 8 บาท คราวนี้เราจะมองเห็นได้ว่าเงินก้อนที่สองที่ใส่ลงไปไม่ได้ช่วยทำให้เงินก้อนแรกขาดทุนน้อยลงจริงอย่างที่เราคิด ตอนนี้กลายเป็นว่าเราขาดทุนทั้งเงินก้อนแรกและเงินก้อนที่สองด้วย แทนที่จะขาดทุนแค่ 2 บาทจากเงินก้อนแรกก้อนเดียวถ้าตัดใจไม่ซื้อเฉลี่ย ตอนนี้เรากลับต้องมาขาดทุนรวมทั้งหมดมากถึง 3 บาทแทน

เพราะฉะนั้น “การซื้อเฉลี่ยขาลงจึงเป็นการทำให้การขาดทุนเมื่อคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ลดลงแต่เมื่อคิดเป็นจำนวนเงินแล้วจะสูงขึ้น”

คนที่ชอบการซื้อเฉลี่ยขาลงมักจะแย้งว่า หุ้นดียิ่งตกเราต้องยิ่งซื้อ แต่พวกเขาลืมไปว่าตรรกนั้นจะเป็นจริงก็ต่อเมื่อ เราสามารถเลือกหุ้นได้ถูกต้องทุกครั้ง แต่อย่างที่บอกไปแล้วเมื่อครั้งก่อนว่าแม้แต่คนที่เก่งที่สุดยังเลือกหุ้นถูกแค่ 65% เท่านั้น การลงทุนและธุรกิจเป็นเรื่องที่มีความไม่แน่นอนสูงมาก การเลือกหุ้นทุกครั้งจึงต้องเผื่อใจเสมอว่า ตลาดอาจเป็นฝ่ายคิดถูกในขณะที่เราคิดผิดเองก็ได้ ฉะนั้นเราต้องเผื่อกรณีที่เราอาจจะวิเคราะห์ผิดพลาดเอาไว้ด้วย มีโอกาสเสมอที่หุ้นที่เราซื้อจะมีพื้นฐานที่แย่ลงเรื่อยๆ อย่าง”ถาวร” ไม่เป็นการบังควรที่จะ เดิมพันกับหุ้นตัวที่ซื้อด้วยการซื้อเฉลี่ยขาลงอย่างไร้ขีดจำกัด

ถ้าคุณซื้อหุ้นแล้วหุ้นลง ที่จริงแล้ว ถ้าคุณมั่นใจว่า ราคาหุ้นที่ซื้อเป็นราคาที่ undervalued แน่ๆ สิ่งที่คุณควรทำมากกว่าคือ การอยู่เฉยๆ เพราะถ้าหุ้นนั้น undervalued จริงๆ สุดท้ายแล้วมันจะต้องกลับขึ้นมาใหม่ได้ การซื้อเฉลี่ยขาลงเป็นการเพิ่มความเสี่ยงที่คุณจะเสียหายหนักถ้าหากหุ้นตัวนั้นได้ undervalued จริง บ่อยครั้งที่เราอยากซื้อเฉลี่ยขาลง เพราะเราไม่ชอบที่คนอื่นสามารถซื้อหุ้นตัวนั้นได้ต่ำกว่าเรา (ก็เราเจอหุ้นเด็ดตัวนี้ก่อนพวกเขานี่หน่า)  แต่อย่าลืมว่าผลงานของคุณจะเป็นอย่างไรนั้นมันไม่ได้เกี่ยวกับว่ามีคนอื่นซื้อได้ถูกกว่าคุณหรือไม่เลยสักนิด

ผมไม่ได้ถึงกลับบอกว่าห้ามซื้อเฉลี่ยขาลงเด็ดขาด แต่อยากให้เข้าใจว่าการซื้อเฉลี่ยขาลงไม่สามารถช่วยแก้ปัญหาหุ้นตกได้อย่างที่คิด แต่เพิ่มโอกาสที่เราจะหมดตัวมากกว่า คุณอาจซื้อเฉลี่ยขาลงบ้างก็ได้ แต่ขอให้ set ลิมิตเอาไว้ทุกครั้งว่าเราสามารถขาดทุนกับหุ้นตัวเดียวได้มากที่สุดแค่ไหน ถ้าซื้อเกินลิมิตนี้แล้วหุ้นยังลงต่อไปอีก ต้องลดความต้องการที่จะเอาชนะลง ยอมรับความผิดพลาดครั้งนั้นเสีย และไม่ซื้อเฉลี่ยเพิ่มอีก คนที่ชอบซื้อเฉลี่ยขาลงส่วนหนึ่งมีความเชื่อว่าหุ้นที่ลงมากๆ แล้วสุดท้ายก็ต้องขึ้น แต่ในความเป็นจริง ไม่ได้มีกฏอย่างนั้นอยู่ในตลาดหุ้น 

Don’t buy into destitution!!

Charles G.Watts สอนก็นักลงทุนว่า อย่าซื้อเฉลี่ยขาลง เพราะแม้ว่า 4 ใน 5 ครั้งหุ้นมักจะกลับมาได้ก็จริง แต่ถ้าเราถือคติยิ่งตกยิ่งซื้อ กำไรทั้งหมดที่ได้มาในสี่ครั้งแรกรวมทั้งทุนของเราจะหายไปกับครั้งที่ 5 แค่เพียงครั้งเดียว คนที่ไม่เคยซื้อเฉลี่ยขาลงจะไม่มีวันหมดตัว  

0280: Stock Selection is not Everything

คุณว่าความสามารถในการเลือกหุ้นให้ถูกตัวมีความสำคัญมากแค่ไหนต่อผลงานการลงทุน?

หลายคนจะเชื่อว่าสำคัญที่สุดเลยทีเดียว เวลาที่เราคิดอย่างนี้ เราจะไม่กล้าเลือกหุ้นด้วยตัวเอง เพราะเรามีความรู้สึกว่าเราเลือกหุ้นไม่เก่ง ผิดบ่อย เราจะเริ่มหาที่พึ่งพิงภายนอก เราจะมองหาใครสักคนที่มีอะไรสักอย่างที่ทำให้เราเชื่อว่าคนๆ นี้น่าจะเป็นที่พึ่งของเราเรื่องการเลือกหุ้นได้ จากนั้นเราก็จะเริ่ม shutdown สมองของเราเอง แล้วหันไปซื้อตาม “กูรูหุ้น” แทน

เวลาคุณเล่นหมากรุกกับแชมป์โลก โอกาสที่คุณจะชนะแชมป์โลกนั้นแทบจะไม่มีเลย แต่สำหรับการลงทุนแล้ว ต่อให้คนที่เชี่ยวที่สุดก็ยังทำผลงานได้ไม่ดีนัก กูรูหุ้นระดับตำนานเลือกหุ้นถูกต้องได้เพียง 60-65% เท่านั้น เพราะการวิเคราะห์การลงทุนเป็นศาสตร์ที่มีความไม่แน่นอนมาเกี่ยวข้องสูงมาก  ในเวลาเดียวกัน คนธรรมดาทั่วไปจะเลือกหุ้นได้ถูกต้องในระดับ 45-55% (ถ้าต่ำกว่านี้จะถือว่าเก่งมาก เพราะแค่ทำตรงข้ามกับที่คิดก็จะรวยไม่รู้เรื่องได้) การเลือกหุ้นเป็นศาสตร์ที่คนเก่งที่สุดกับคนที่แย่ที่สุดไม่ได้ต่างกันอย่างชัดเจน

คนที่คิดว่า การเล่นหุ้นคือการซื้อหุ้นเด็ดทีละตัวด้วยเงินทั้งหมดที่มีอยู่ เมื่อหุ้นวิ่งก็ขายทำกำไรออกมาแล้วเอาเงินทั้งหมดไปซื้อหุ้นเด็ดตัวที่สองอีก ทำเช่นนี้ไปเรื่อยๆ ก็จะเป็นเศรษฐีได้อย่างรวดเร็ว มักจะรู้สึกว่าการเลือกหุ้นเป็นเรื่องสำคัญที่สุด เพราะการเล่นหุ้นอย่างนั้น ถ้าเลือกหุ้นผิดแค่หนเดียว ก็หมดตัวเลย แต่สำหรับคนที่ลงทุนแบบเป็นการลงทุนจริงๆ ไม่ใช่การวัดดวงเพื่อให้กลายเป็นเศรษฐีชั่วข้ามคืนนั้น มีอะไรที่สำคัญมากกว่าการเลือกหุ้นมาก เราจะต้องพยายามหลีกเลี่ยงการขาดทุนหนักๆ ในระยะยาวให้ได้

ตั้งแต่เกิดมาผมยังไม่เคยพบใครที่เลือกหุ้นได้ถูกต้องตลอดเวลาเลย (ยกเว้นคนที่ชอบคุยทีหลังว่าทายถูก) ต่อให้เรามองได้เก่งแค่ไหนก็มักจะมีอะไรที่ไม่คาดฝันเข้ามาอยู่เสมอ วอเรน บัฟเฟต เพิ่งจะพลาด เพราะประเมินวิกฤตสถาบันการเงินต่ำไป ช่วงแรกๆ เขาบอกว่า ตลาด”คิดไปเอง”ว่าสถาบันการเงินจะมีปัญหารุนแรง แต่ตอนนี้เขาก็ออกมายอมรับแล้วว่าวิกฤตครั้งนี้จะรุนแรงมาก จิม โรเจอร์ ก็พลาดหนักเพราะบอกว่าคอมโมดิตี้จะยังไปได้อีกสิบเท่า ส่วน จอร์จ โซรอส แม้ว่าจะทายถูกว่าปัญหาซับไพร์มทำจะทำให้เกิด Global Recession แต่เขาก็เพิ่งจะขาดทุนหนักจากการเข้าไปเก็งกว่าดอลล่าร์จะอ่อนลงเรื่อยๆ จะเห็นได้ว่าคนที่ประสบความสำเร็จในการลงทุนมากๆ ไม่ได้เป็นคนที่คิดถูกตลอดเวลา

ที่จริงแล้วมีอะไรบางอย่างที่มีผลต่อความสำเร็จมากกว่าการเลือกหุ้นมาก ตัวอย่างเช่น คนที่เลือกหุ้นถูกแค่ 4 ใน 10 ครั้งอาจจะได้ผลตอบแทนสูงกว่าคนที่เลือกหุ้นถูก 6 ใน 10 ครั้งก็ได้ เพราะถ้าคนที่เลือกหุ้นถูก 4 ใน 10 ครั้งเลือกจัดสรรเงินส่วนใหญ่ของเขาไว้ในตัวที่เขาเลือกได้ถูก เขาขาดทุนน้อยไปกับตัวที่เขาคิดผิด ในขณะที่ คนที่เลือกหุ้นถูก 6 ใน 10 ครั้งแต่มีนิสัยชอบซื้อเฉลี่ยขาลง เลยทำให้เงินส่วนใหญ่ของเขาจมอยู่ในหุ้น 4 ตัวที่เลือกผิดเพราะราคาหุ้นเหล่านั้นร่วงลงไปเรื่อยๆ เป็นต้น จะเห็นได้ว่า นิสัยในการลงทุนก็มีอิทธิพลต่อผลตอบแทนของเรามาก ที่สำคัญ “นิสัยการลงทุน” เป็นเรื่องที่ฝึกฝนได้และมีความแน่นอนมากกว่า คนที่มีนิสัยการลงทุนที่ดีจะเอาตัวรอดจากการขาดทุนใหญ่ๆ ได้ทุกครั้ง ต่างกับคนที่มีนิสัยการลงทุนที่ไม่ดี (ตัวอย่างนิสัยการลงทุนที่ไม่ดีก็เช่น chasing stock price, ชอบซื้อเฉลี่ยขาลง, ทุ่มสุดตัวกับหุ้นตัวเดียว,  ขายหมูเร็วบ่อยๆ  เป็นต้น) คนที่ประสบความสำเร็จในการลงทุนส่วนใหญ่มักเป็นคนที่มีนิสัยการลงทุนที่ดีมากกว่าที่จะเป็นคนเลือกหุ้นได้ถูกต้อง พวกเขาเหล่านี้ค่อยๆ บ่มเพาะนิสัยการลงทุนที่ดีของตัวเองขึ้นมาด้วยประสบการณ์และการนำข้อผิดพลาดในอดีตของตัวเองมาปรับปรุงนิสัยอยู่เสมอ

ถ้าเราเชื่อว่า Stock Selection is not Everything เราก็จะเลิกนิสัยวิ่งตามเซียนของเราเสียได้ ผมเคยเห็นคนมากมายที่อุทิศชีวิตให้กับการสืบว่าเซียนซื้อหุ้นอะไรอยู่ พวกเขาใช้ความพยายามสูงมาก แต่ผมก็ยังไม่เคยเห็นคนเหล่านั้นประสบความสำเร็จเลย พวกเขาอาจได้กำไรในบางครั้ง แต่รวมๆ แล้วมักไม่ประสบความสำเร็จทั้งที่เขาซื้อหุ้นตัวเดียวกันกับเซียนทุกตัว  ผมสังเกตว่าคนที่ประสบความสำเร็จในการลงทุนมีแนวคิดที่ต่างกันหลายแบบแต่ “ทุกคน” กลับมีลักษณะที่เหมือนกันอยู่อย่างหนึ่งคือ เป็นคนที่มีความคิดเป็นของตัวเอง พวกเขาชอบเลือกหุ้นด้วยตัวเองไม่ลอกเลียนแบบใครทั้งนั้น ส่วนใหญ่พวกเขาก็เลือกหุ้นผิดบ้างถูกบ้างเหมือนๆ กับเรานั่นแหละ แต่ “นิสัยการลงทุน” ของเขาต่างหากที่ดีกว่าเราพวกเขาจึงประสบความสำเร็จ ผมชอบคำพูดของ Ken Heebner ที่บอกว่า “ผมไม่ได้ประสบความสำเร็จเพราะคิดถูกบ่อยกว่าคนอื่น แต่จุดแข็งของผมอยู่ที่ ผมสามารถยอมรับความผิดพลาดของตัวเองได้อย่างรวดเร็ว และไม่เคยถล่ำลึกลงไปในความผิดนั้น” ไม่มีใครที่เลือกหุ้นได้ถูกตลอดเวลา เขาประสบความสำเร็จโดยอาศัยการมีนิสัยการลงทุนที่ดี

ถ้าคุณพยายามเลือกหุ้นเองให้ดีที่สุด และลงทุนในหุ้นหลายตัว ผมรับรองว่า ความไม่แน่นอนของหุ้นจะช่วยทำให้ผลงานการเลือกหุ้นของคุณไม่แตกต่างไปจากของกูรูหุ้นมากนักแน่นอนครับ เลือกหุ้นเองดีกว่าครับ สิ่งที่สำคัญมากกว่าการเลือกหุ้นคือ นิสัยการลงทุนของตัวคุณเอง

0275: Diversity Breakdown

 

 

Solomon Asch นักจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยเยล ทำการทดลองหนึ่งโดยแบ่งคนออกเป็นกลุ่ม กลุ่มละแปดคน (ในทุกกลุ่ม เจ็ดคนเป็น “หน้าม้า” มีแค่คนเดียวเท่านั้นที่เป็นอาสาสมัครตัวจริง) โดยให้ตอบคำถามที่ง่ายมากๆ เช่น ในภาพข้างต้น กราฟแท่งไหนยาวที่สุด? ในการตอบคำถามแต่ละครั้ง สมาชิกทุกคนในกลุ่มจะต้องขานคำตอบของตัวเองดังๆ ให้คนที่เหลือฟังด้วยเสมอ

ในคำถามแรกๆ หน้าม้าทุกคนเลือกคำตอบที่ถูกต้อง ผลปรากฏว่า อาสาสมัครก็เลือกคำตอบได้ถูกต้องด้วย แต่ในคำถามท้ายๆ หน้าม้าถูกนัดแนะให้พร้อมใจกันเลือกคำตอบที่ผิดเหมือนกันทุกคน ผลปรากฏว่า มีอาสาสมัครมากถึง 35% ที่เลือกคำตอบที่ผิดตามหน้าม้าไปด้วย การทดลองนี้พิสูจน์ว่า การตัดสินใจของเราจะได้รับอิทธิพลจากคนอื่นสูงมาก (แม้แต่ในเรื่องที่ง่ายมากๆ ก็ตาม) ยิ่งถ้าเป็นเรื่องที่ไม่ใช่แค่ขาวกับดำ คนอื่นจะยิ่งมีอิทธิพลต่อวิจารณญาณของเรามากเป็นพิเศษ และหนึ่งในนั้นก็คือเรื่องการลงทุนนั่นเอง

เรื่องนี้นับว่าเป็นจุดอ่อนการลงทุนที่กำจัดได้ยากมาก ผมเองเป็นคนที่มีบุคลิกที่ค่อนข้างจะเป็น contrarian อยู่แล้วยังรู้สึกว่ายากเลย เวลาที่ผมค้นพบหุ้นดีๆ สักตัวหนึ่ง แต่ถ้าคนรอบข้างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าไม่ดี ผมก็อดไม่ได้ที่จะรู้สึกหวั่นไหวไปด้วย และทำให้พลาดโอกาสที่จะทำกำไรได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยเมื่อสามารถมองหุ้นตัวนั้นได้อย่างถูกต้อง และการรับฟังความเห็นของผู้อื่น กับการเชื่อคนอื่นเพราะชอบทำอะไรตามๆ กันนั้น เป็นอะไรที่แตกต่างกันเพียงแค่เส้นบางๆ เท่านั้น  

ผมว่าเป็นเพราะนักลงทุนในตลาดมีแนวโน้มอยู่แล้วที่จะเชื่ออะไรตามๆ กันนี่แหละที่เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ตลาดหุ้นต้องมีฟองสบู่เกิดขึ้นอยู่เรื่อยๆ และจะไม่มีวันหมดไปตราบใดที่ตลาดหุ้นยังประกอบด้วยหน่วยเล็กๆ ที่เรียกว่าปุถุชนอยู่ บางทีก็เป็นฟองสบู่หุ้นรายตัว บางทีก็เป็นฟองสบู่ทั้งดัชนี ผมสังเกตว่า ณ เวลาหนึ่งๆ ในตลาดหุ้นมักมีหุ้นประมาณ 3-4 ตัวที่เป็น Talk of the Town คือไม่ว่าไปที่ไหนทุกคนก็จะเชียร์แต่หุ้น 3-4 ตัวนี้โดยให้เหตุผลที่ฟังดูเหมือนๆ กันมาก ไม่ค่อยมีความเห็นแตกต่าง และราคาของหุ้น 3-4 ตัวนี้ก็มักจะทะยานขึ้นมาได้อย่างน่าตกใจ และพอเวลาผ่านไป หุ้น Talk of the Town ก็มักจะเปลี่ยนหน้าไปเป็นหุ้นชุดใหม่ เป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ซึ่งหุ้น Talk of the Town แต่ละยุคก็มักจะมี Story ที่น่าสนใจในช่วงเหล่านั้นอยู่จริงๆ แต่พฤติกรรมเชื่ออะไรตามๆ กันได้ช่วยขยายผลให้ราคาหุ้นสามารถปรับตัวขึ้นไปได้มากกว่าเหตุผลที่แท้จริงของมันหลายเท่าตัว       

แนวความคิดที่แตกต่างหลากหลายเป็นกลไกตลาดอย่างหนึ่งที่ช่วยรักษาเสถียรภาพของตลาดไว้ได้โดยที่นักลงทุนทุกคนในตลาดไม่จำเป็นต้องมีเหตุผล เพราะความเห็นที่แตกต่างจะคอย offset กันเอง (บางคน bullish เกินไป บางคน bearish เกินไป การซื้อขายของคนสองกลุ่มนี้จะหักล้างกัน) แต่เมื่อไรก็ตามที่ความเห็นแตกต่างหายไปจากตลาดเพราะทุกคน shutdown สมองของตัวเองแล้วหันมาทำอะไรตามๆ กันไป (diversity breakdown) กลไกอันนี้จะไม่ทำงาน และ booms กับ bursts ก็จะเกิดขึ้น ดังนั้นที่จริงแล้ว การรณรงค์ให้นักลงทุนทุกคนในตลาดใช้หลักการลงทุนเดียวกันหมด (เช่น รณรงค์ให้นักลงทุนทุกคนหันมาลงทุนระยะยาว) ไม่ว่าหลักการลงทุนนั้นจะดีหรือไม่ กลับไม่ใช่เรื่องที่ดี เพราะเป็นการทำลายความเห็นต่าง ซึ่งเป็นกลไกที่สำคัญในการรักษาเสถียรภาพให้กับตลาด (ถ้านักลงทุนทุกคนมองยาวเหมือนกันหมด หุ้นจะแพงเกินไปในระยะยาว และถูกเกินไปในระยะสั้น) ตลาดที่ดีควรมีนักลงทุนหลายๆ ประเภทอยู่ด้วยกัน (Growth vs.Value, Short-term vs.Long-term, Momentum vs.Contrarian, Long vs.Short) เพื่อคอยถ่วงดุลกันไว้ ตลาดควรส่งเสริมนักลงทุนทุกแนวอย่างเท่าเทียมกัน(ยกเว้นแนวทางที่ผิดกฏหมาย) มากกว่าที่จะ prefer แนวทางใดแนวทางหนึ่งมากกว่าแนวทางอื่น แนวการลงทุนต้องเป็นไปแบบเสรี ใครคิดว่าวิธีไหนเด็ดสุดก็ขุดเอามาใช้ให้เต็มที่ ตลาดจะพลอยได้รับประโยชน์ทางอ้อมจากความพยายามแบบสุดๆ ในการสร้างผลตอบแทนของนักลงทุนแต่ละคนมากที่สุด

0252: Guru Watchdog

Jim Rogers (Source 1 2 3 )

– ช่วงนี้ผมสะสมดอลลาร์เพิ่มขึ้น เพราะเห็นว่าทุกคนมองดอลลาร์ร้ายกันหมด แต่ก็ยังเป็นจำนวนที่น้อยกว่าเงินสกุลอื่นๆ ที่ผมถืออยู่ เพราะยังไงๆ ดอลลาร์ก็จะแย่ลงเรื่อยๆ ในระยะยาว ผมแค่อยากจะลองทำกำไรระยะสั้นเท่านั้น แต่ผมไม่ใช่คนเล่นสั้นที่เก่งเลย

– ตอนนี้ ผมยังไม่ซื้อทองคำเพิ่ม เพราะผมถือทองคำอยู่แล้ว แต่จะไม่ขายมันด้วย ถ้าหากทองคำลงไปแตะต่ำกว่าพันเหรียญ ผมก็จะซื้อเพิ่มอีก เพราะภายในปี 2019 ทองคำจะต้องยืนเหนือระดับ $2, 000 ได้อย่างแน่นอน และนั่นไม่ใช่สมมติฐานที่มากเกินไปเลย

– ปีหน้าเราอาจจะเห็นรัฐบาลของบางประเทศประสบปัญหาทางการเงินเพิ่มอีก อาจจะเป็น อาร์เจนติน่า ยูเครน หรือแม้แต่ UK ก็เป็นไปได้ ในช่วงสองสามปีนี้จะต้องมีวิกฤตการเงินอีกอย่างแน่นอน นอกเหนือจากทองคำแล้ว silver และเงินสกุลเอเชียบางประเทศก็น่าสนใจด้วย

– สินค้าเกษตรน่าสนใจมาก เพราะว่าราคาของมันตกต่ำมาเป็นทศวรรษแล้ว ผมว่ามันเป็นสินทรัพย์ที่ราคาถูกที่สุดในตอนนี้ เรากำลังจะมีวิกฤตอาหาร ตอนนี้ข้าวสร้าง all time high ได้แล้ว แต่น้ำตาลยังห่าง all time high อยู่มาก

– ช่วงนี้เป็นช่วงที่แปลกมาก เพราะผมไม่ได้ short อะไรเลย ผมหาไม่เจอว่ามีอะไรที่ราคาแพงมากๆ แต่ถ้าจะให้ short ผมคงเลือก US Government Bond

Marc Faber (Source)

-A stronger dollar will be positive for equities based on historical market data.
-The U.S. market will outperform emerging markets for the first half of 2010.
-Stocks and associated indices may have 10-20% correction, followed by another rally.
-The worst thing you can do for a long-term buy is purchase Treasuries.
-The private sector is de-leveraging while the government levers up. This process is expected to continue

Overall, 2010 will not be one for the record books, as 2009 was. He’s looking at a more normal 5%-10% rate of return for global investors.

Here are Faber’s views on other markets and asset classes:

Asia: “Longer term we’ll have still favorable growth, ” he says. He thinks India and Japan both offer opportunities. In his eyes, this view gained even more credibility after they were not mentioned once during the Barron’s round-table discussion.

Bonds: The bull market in Treasuries that lasted from 1980-2008 is a thing of the past. Near term: after a dismal 2009 the bond market could be in for a rebound. Longer term: look for exit opportunities in Treasuries.

Gold: Still a long-term buy.

Oil: Prices in the $80s make sense since the marginal cost to find a barrel is about $70. Longer term he expects prices to continue rising as demand increases from the developing world.

Agricultural commodities: In the short term, Faber’s favorite commodity is wheat. He advises against buying the wheat ETFs because they’re relatively expensive. Instead, play it through farm land or potash companies, he says.

โทมัส ตัน (ที่มา)

ผู้มีประสบการณ์ในตลาดโภคภัณฑ์ ด้วยเทคนิคและปัจจัยพื้นฐานมากว่า 15 ปี ได้เขียนคำทำนายเศรษฐกิจทุกปี ตั้งแต่ปี 2008 ซึ่งคราวนั้นทำนายว่า ทองคำจะแตะระดับ 1000 เหรียญได้เป็นครั้งแรก ปีนี้มีคำทำนาย น่าสนใจอีกจนอดไม่ได้ที่จะแปลมาให้อ่านกัน

ผมได้เขียน 10 คำทำนายมา 2 ปีติดต่อกันแล้ว นับตั้งแต่ปี 2008 เดิมทีได้ไอเดียจากคุณ Byron Wien ซึ่งได้เผยแพร่คำทำนายออกมาทุกปีนับตั้งแต่ปี 1980 ขณะที่เขาอยู่ที่ Morgan Stanley แล้วก็ไปอยู่กับ Pequot Capital ตามด้วยปัจจุบัน อยู่ที่ Blackstone.

คำทำนายในปี 2008 ของผมค่อนข้างตรงและได้ทำนายทิศทางหลักๆเกือบทั้งหมด เนื้อหาดีกว่าของคุณ Byron บางอย่าง ผมเรียกว่า เป็นความโชคดีของมือใหม่อย่างผม แต่ในปี 2009 Byron ก็สามารถเอาคืนได้ ด้วยคำทำนายที่ถูกต้องมากกว่า การอ่านลูกแก้วแบบนี้ ไม่มีใครชนะได้ตลอด แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ผมว่ามันเป็นเรื่องน่าสนุกที่จะทำ โดยเฉพาะเมื่อมันถูกต้องขึ้นมา ผมตั้งใจจะทำมันทุกๆปี ไม่ว่าปีก่อนผลจะผิดหรือถูกมากกว่า และโดยไม่รอช้า คำ 10 ทำนายของผม มีดังนี้

1. ทองคำ จะแตะระดับ 1500 เหรียญต่อออนซ์ในปี 2010 หรือหมายถึงขึ้นไปอีก 50% จากระดับปัจจุบัน ส่วนโลหะเงินก็จะตามกันไป แตะระดับ 25 เหรียญต่อออนซ์ ส่วนดัชนีหุ้นเหมืองทองคำ HUI จะขึ้นผ่าน 600 เหรียญด้วยเหมืองทองคำ/เงิน ขนาดเล็กๆหลายแห่ง จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้น 2 – 3 เท่า ทองคำจะถูกจัดเป็นสินทรัพย์เพียงอย่างเดียวที่วางใจได้ ทั้งจากประชาชนทั่วไปและจากธนาคารกลางต่างๆ จากการเสื่อมค่าลงของเงินกระดาษ (fiat money)

2. ดัชนี USD index จะเหลือ 60 จุด การรีบาวน์ของ US ดอลล่าร์ขณะนี้จะอยู่ได้เพียงแค่ช่วงสั้นๆ หลังจากแตะระดับ 80 จุดได้ไม่นาน เพื่อจะบีบและเขย่าขวัญขา Short US ดอลล่าร์จะกลับสู่ trend ขาลงซึ่งจะเป็น trend หลักที่จะเกิดขึ้นในปี 2010 จนกว่าจะถึงระดับ 60 จุด ธนาคารกลางส่วนใหญ่ จะไม่ต้องการถือ US ดอลล่าร์อีกต่อไป แต่พวกเขาก็จะประสบกับความยากลำบากในการที่จะออกจากสถานการณ์เช่นนี้โดยที่ตัวเองจะไม่ได้รับกระทบ หนทางที่ดีที่สุดสำหรับทั้งสองฝ่าย (ธนาคารกลางอื่น กับ เฟด) คือการที่จะต้องประคองให้มีการลดค่าลงอย่างค่อยเป็นค่อยไปราว 20% ต่อปี

3. ตลาดหมีใน S&P ที่รีบาวน์อยู่ในตอนนี้ จะขึ้นต่อได้อีกราว 7 เดือน จากเดือนมกราคมถึงกรกฎาคม แล้วหลังจากนั้น ตลาดจะต้องเผชิญกับหน้าผาสูงชันที่จะมาเขย่าขวัญอีกเป็นครั้งที่ 2 ซึ่งจะเกิดขึ้นตั้งแต่เดือนสิงหาคมไปจนถึงสิ้นปี ซึ่งจะไม่เหมือนกับรูปแบบปกติที่เกิดขึ้นในปีที่มีการเลือกตั้งกลางเทอม ที่ปกติ จะแย่ในช่วงครึ่งแรกของปี และดีขึ้นในช่วงครึ่งหลัง แต่จะกลับไปสอดคล้องกับความคิดและพฤติกรรมที่เกิดขึ้นในวอลล์สตรีท ที่จะสูบ รีดเอาน้ำผลไม้ และโบนัสสำหรับตนเองให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ก่อนที่ภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจระลอก 2 จะเกิดขึ้น

4. หุ้น Citigroup จะลดลงเหลือต่ำกว่า 2 เหรียญอีกครั้ง (ปัจจุบัน 3.30 อดีตก่อนเกิดวิกฤติอยู่ที่เกิน 50) ความยากลำบากในการหาทุนเพิ่มที่เห็นกันอยู่ในตอนนี้ บอกเรามากเกินพอสำหรับสถานการณ์ภัยพิบัติของสถาบันแห่งนี้ นี่เป็นหายนะที่น่าสยดสยองสำหรับ Citi และการตัดสินใจที่แย่ๆ ที่ทำโดยคณะผู้บริหาร จนเดี๋ยวนี้ ใครๆในโลกก็รู้ว่า จุดประสงค์เดียวที่จ่ายเงินคืนแก่ TARP เพราะต้องการจ่ายโบนัสก้อนโตให้แก่แมวอ้วนคณะผู้บริหาร Citi พอร์ทของ Citi ในจำนวนหลายล้านๆ ยังคงเสื่อมค่าลงทั้งส่วนของที่อยู่อาศัยและตลาดอสังหาฯเชิงพาณิชย์ แค่ความเป็นไปได้ที่จะเกิดการล่มสลายในหนี้จำนองและอนุพันธ์ในพอร์ทของมัน ก็สามารถกวาดล้างผู้ถือหุ้นรายย่อยออกไปได้อย่างเร็ว และเมื่อถึงเวลานั้น พวกเขาอาจจะขอความช่วยเหลือจาก TARP อีกครั้ง (TARP เป็นหน่วยงานของสหรัฐ ที่เข้าอุ้มสถาบันการเงินสหรัฐจำนวนมากอยู่เวลานี้)

5. ผลตอบแทนพันธบัตร 10 ปีของสหรัฐ จะเพิ่มขึ้น 2 เท่าจาก 1.5% ในปัจจุบันเป็น 3% ซึ่งนี่จะเป็นสิ่งที่สร้างความประหลาดใจครั้งใหญ่ ของทั้งเฟดและนักลงทุน เฟดทำได้แค่ควบคุมอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น ตลาดหนี้เริ่มได้กลิ่นและเริ่มรู้สึกว่าอะไรบางอย่างกำลังเกิดขึ้นอย่างผิดปกติมากๆในค่าเงิน และหนี้ของสหรัฐ – กระบวนการเทของจะเกิดขึ้นอย่างเร็ว ความกังวลเรื่องเงินฝืดจะกลับกลายเป็นความกังวลเงินเฟ้อแทน และไม่ใช่เงินเฟ้อธรรมดา แต่เป็นภาวะเงินเฟ้ออย่างมาก ( hyperinflation ) ได้เกิดขึ้นแล้ว การร่วงลงอย่างต่อเนื่องของค่าเงิน US ดอลล่าร์, ซัพพลายเงินที่คุมไม่อยู่ และการขาดสภาพคล่องของรัฐบาลที่ไร้ขอบเขต จะทำให้นักลงทุน ไม่สามารถมองเห็นแสงที่ปลายอุโมงค์ได้ (มองไม่เห็นทางออก) ซึ่งจะแย่กว่าสมัยทศวรรษก่อนของญี่ปุ่น นับจากที่ความยุติธรรมของระบบของเราถูกตั้งข้อสงสัยโดยการออมเพียงน้อยนิดแต่รายจ่ายมหาศาล

6. การรีบาวน์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันของดัชนี S&P/Case-Schiller จะเกิดแค่ช่วงสั้นๆ ดัชนี Schiller จะร่วงลงมากกว่า 15% ในปี 2010 ต่ำกว่า 120 ตลาดอสังหาฯส่วนที่อยู่อาศัยจะเผชิญกับแรงกดดันที่น่ากลัวเพราะการเพิ่มขึ้นของดอกเบี้ยที่ลูกหนี้ต้องจ่ายเพราะถึงกำหนดการปรับดอกเบี้ยที่ต้องลอยตัวแล้ว โดยหนี้ที่ต้องมีการปรับอัตราดอกเบี้ย (ARM reset)จะทะยอยปรับในช่วงปี 2010-2012 ความล้มเหลวที่เกิดขึ้นจะลามไปตลาดอสังหาฯเชิงพาณิชย์ โครงการขนาดใหญ่ๆจะล้มเหลวในปีต่อไป เหมือนพลุบนท้องฟ้า ข่าวร้ายที่เกิดขึ้นใน 2 ตลาดนี้ อาจต้องใช้เวลาน้อยๆก็ 1 – 2 ทศวรรษในการฟื้นฟู ต้องขอบคุณวิศวกรรมการเงินของวอลล์สตรีท

7. หลังจากซื้อเวลาได้อีกครึ่งปี หุ้นอุตสาหกรรมส่วนบุคคล (PE) จะเผชิญแรงกดดันในปี 2010 โดยเฉพาะในครึ่งปีหลัง นักลงทุนส่วนบุคคลจะเรียกร้องความโปร่งใสในการแสดงมูลค่าที่แท้จริงของสิ่งที่พวกเขาลงทุนไป แล้วพวกเขาจะเริ่มค้นพบว่า ระบบ leverage หรือการลงทุนที่ใช้อัตราทดมันไม่ work เฮดฟันด์จะทะยอยปิดตัวเพิ่มขึ้นในปี 2010 หลังเศรษฐกิจฟุบรอบ 2

8. จีนจะยังคงอัตราการเติบโตราว 9% ในปี 2010 หลังจากทำได้ 9% ในปี2009 ความพยายามของจีนในการที่จะชวนให้ผู้บริโภคใช้จ่ายมากขึ้น ออมน้อยลง จะยังคงดำเนินต่อไป รัฐบาลกลางจะเริ่มโปรแกรมความปลอดภัยทางสังคม ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมอย่าง Health care ซึ่งจะตามมาหลังการเติบโตต่อเนื่องของเศรษฐกิจ ปัญหาปวดหัวของจีน คงจะเป็นการหาทางรับมือกับทุนสำรอง 80% ที่มีมูลค่าในเทอมดอลล่าร์และกำลังเผชิญกับการเสื่อมค่าลงทุกวัน

9. เงินเฟ้อจะแตะระดับ 10% วัดจากฐาน CPI ก่อนยุคคลินตัน ใช้เกณฑ์จาก www.shadowstats.com ในการเปรียบเทียบแอปเปิ้ลกับแอปเปิ้ลในปี 1970 มันเป็นการควร ที่น่าจะใช้สูตรคำนวณ CPI เดียวกันคือยุคก่อนสมัยคลินตัน เมื่อเงินเฟ้อหลุดออกจากกรง (การควบคุม) แล้ว อย่างที่ผมเชื่อว่ามันจะเกิดในปี 2010 มันเป็นไปไม่ได้ที่จะไปควบคุมมัน โดยไม่ทำอย่าง Paul Volcker อดีตประธานเฟด (ที่ขึ้นดอกเบี้ยอย่างแรง )ในปี 1980

10. น้ำมันจะแตะระดับ 3 หลัก (100 เหรียญ) อีกครั้งในปี 2010 ราคาปัจจุบันราว 70 เหรียญ กับซัพพลายที่จำกัด ผู้ผลิตน้ำมันจาก ทราย tar ยังไม่คุ้มที่จะผลิต พลังงานนิวเคลียร์จะได้รับความสนใจ เมื่อซัพพลายยูเรเนียมจากอดีตสหภาพโซเวียตใกล้หมด เทคโนโลยีสีเขียวจะมีการโอ้อวดเกินจริงและมีแผนการณ์อื่นมากกว่าจะเป็นเรื่องจริง ภัยคุกคามจากโลกร้อนจะถูกขยายจนเกินจริงจากนักการเมืองและสื่อ ประชาชนยังคงจำได้ว่าในปี 1970 ทุกคนได้รับฟังจากนักการเมืองและสื่อว่า อุณหภูมิของโลกกำลังลดลงและเราจะกลับสู่ยุคน้ำแข็ง เพียงแค่ 3 ทศวรรษต่อมา เราถูกบอกในทางตรงกันข้าม เรื่องจริงคือมนุษย์ไม่สามารถควบคุมอะไรเกี่ยวกับอุณหภูมิโลกได้ ไม่ว่าจะร้อนหรือเย็น มันแค่ตัวอย่างที่นักการเมืองตบตา และทำให้เสียงบประมาณมหาศาลไปตลอดทาง

หมอไพศาล

สำหรับภาวะเศรษฐกิจ การเมือง และตลาดหุ้นในปี 2553 หมอไพศาล พยากรณ์ให้ฟังว่า ในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2553 “ตลาดหุ้นจะไม่ดีอย่างแรง” โอกาสปรับตัวลงมาอยู่ระดับ 400 จุดอาจมีให้เห็นได้ ช่วงนี้เหมาะสมมากที่นักลงทุนจะหาจังหวะช้อนหุ้นที่ชื่นชอบเก็บเอาไว้โดยเฉพาะกลุ่มพลังงาน ถ่านหิน และวัสดุก่อสร้าง เป็นต้น เนื่องจากพระราหูย้ายเข้ามาอยู่ในราศีธนู ซึ่งบ่งบอกว่าธุรกิจประเภทดังกล่าวจะรุ่งเรืองมาก

หลังจากนั้นตั้งแต่ในเดือนมีนาคม-มิถุนายน 2553 ตลาดหุ้นจะมีอาการ “ทรงตัว” ก่อนจะทะยานขึ้นไปสู่ “จุดสูงสุด” ในระหว่างเดือนกันยายน – ธันวาคม 2553 ซึ่งมีโอกาสจะทะลุ 700 จุดหรือ 800 จุดได้ ในแง่ของเศรษฐกิจในปี 2553 ก็จะดีขึ้นเรื่อยๆ ส่วนราคาทองคำมีโอกาสทะลุ 20, 000 บาท ใครมีเงินซื้อทองคำ (แท่ง) เก็บเอาไว้ได้กำไรแน่นอน

=========================================

ไว้จบปี 2010 เรามาดูกันนะครับ

ผลลัพธ์

0243: Growth vs. Value (Results)

สามปีผ่านไปไวเหมือนโกหก…

ในที่สุดก็ครบกำหนดของการทดลอง Growth vs. Value ที่ได้ริเริ่มเอาไว้เมื่อสามปีก่อน (บล็อกนี้อยู่มานานแล้วเหมือนกันนะเนี่ย) 

  ต้นทุน ปันผล ราคาปัจจุบัน คิดเป็นผลตอบแทน
TF 444 54.66 660 61%
WG 46 10.14 48.75 28%
RATCH 42.25 6.5 37 3%
MINT 11 0.656 10.6 2.3%
BGH 30 1.6 24.6 -13%
ERAWAN 4.38 0.12 2.46 -41%

หมายเหตุ

  1. ผลตอบแทนของหุ้นแต่ละตัวคิดจากสูตร (ราคาปัจจุบัน+ เงินปันผล)/ต้นทุน แล้วทำให้เป็นร้อยละ 
  2. MINT มีปันผลเป็นหุ้นด้วยหนึ่งครั้ง ในอัตรา 10ต่อ1 ดังนั้นเงินปันผลหลังจากนั้นจึงได้นำไปคูณ 1.1

ผลตอบแทนเฉลี่ยของพอร์ต Value Stocks =30.7% คิดเป็น IRR 9.3% ต่อปี 

ผลตอบแทนเฉลี่ยของพอร์ต Growth Stocks =-17.2% คิดเป็น IRR -6.1% ต่อปี 

สรุปว่า จากที่ Growth เคยนำอยู่เมื่อผ่านไปหนึ่งปี เมื่อครบสามปี ปรากฏว่า Value พลิกเอาชนะไปนะครับ คงเดาได้ไม่ยากว่าเพราะอะไร เมื่อปีที่แล้วเราเจอวิกฤตที่แรงที่สุดในรอบสิบปีพอดี หุ้นพีอีสูงซึ่งมูลค่ามักจะขึ้นอยู่กับความคาดหวังในอนาคตเป็นหลัก ย่อมได้รับผลกระทบรุนแรงเมื่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนลดลง

อนึ่ง ขอย้ำแนวคิดของผมที่เคยเขียนไว้เมื่อสามปีก่อนอีกครั้งว่า ผมเห็นว่าทั้งสองวิธีเป็นวิธีที่การลงทุนที่ไม่ถูกต้อง พอร์ต Value มองแต่ราคา (พีอี) โดยไม่สนใจ Value ส่วนพอร์ต Growth มองแต่สตอรี่ (คุณค่า) โดยไม่เกี่ยงราคา

ที่จริงแล้ว นักลงทุนต้องสนใจทั้งคุณค่าและราคาประกอบกัน ไม่มีสิ่งที่เรียกว่า Value Stocks หรือ Growth Stock อยู่ในโลกนี้ (มีแต่หลักการลงทุนที่เรียกว่า Value Investment เท่านั้น) นักลงทุนต้องตีคุณค่าหุ้นตามโอกาสเติบโตและคุณภาพของกำไรของหุ้นแต่ละตัวซึ่งไม่มีทางเท่ากัน และซื้อลงทุนที่ราคาต่ำกว่าคุณค่าที่เหมาะสมนั้นเสมอ (ไม่ว่านักลงทุนจะกำลังซื้อหุ้นเติบโตหรือหุ้นปันผลก็ตาม)

0032: ดราก้อนบอล

นับถึงวันนี้ผมตามหาดราก้อนบอลมาได้ครบ 4 ปีพอดี…

ดราก้อนบอลลูกแรกที่ผมเจอย้อนกลับไปเมื่อสี่ปีที่แล้ว ผมว่ามันเป็นสมบัติที่ล้ำค่าที่สุดในสยามประเทศ ผมจึงลงทุนขุดมันขึ้นมาจากถังขยะที่ไม่มีใครสนใจ ทุกวันนี้ตลาดกลับใจเอามันมาเชิดชู ผมถือมันไว้เป็นเวลาสามปีก่อนที่จะตัดสินใจปล่อยมันไปชั่วคราวเพื่อแลกกับดราก้อนบอลอีกลูกหนึ่ง (เดี๋ยวจะกล่าวถึง) ยังไงก็ตาม ผมยังคิดว่า ยังมีโอกาสที่จะ cover short ลูกนี้กลับมาได้ในอนาคตอันใกล้ ผมยังรอคอยวันที่จะได้ครอบครองมันอีกครั้ง

   

ลูกที่สองที่ผมค้นพบเมื่อสามปีที่แล้ว มันถูกจัดว่าเป็นหนึ่งในหุ้นเบญจภาคีของสยามประเทศเลยทีเดียว แต่ตลอดระยะเวลาที่ผมถือมันไว้ มรสุมช่างเยอะเหลือเกิน มีหลายช่วงที่มันดูหมองหม่นไป แต่บัดนี้มันกลับมากลับมาเจิดจรัสอีกครั้ง และผมก็สัญญาว่าจะเก็บมันไว้ให้ดีที่สุดให้สมกับที่อุตส่าห์อดทนถือมันไว้เกือบสามปี

ลูกนี้คือลูกที่ผมต้องเอาลูกแรกไปแลกมันมา เพราะความที่เรามีทุนน้อยมาก เช่นเดียวกับลูกแรกมันเป็นสมบัติล้ำค่าที่ตลาดละเลย ตอนที่ผมเก็บมันมา ผมก็คิดว่ามันถูกแล้ว แต่ไม่นาน ตลาดก็ทิ้งมันต่อไปอีกอย่างไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นไปได้ ไม่มีอะไรแน่นอนในตลาด ผมต้องตัดใจเอาลูกแรกไปจำนำเพื่อนำเงินมาซื้อเฉลี่ยลูกนี้ แม้กระทั้งทุกวันนี้ตลาดก็ยังคงเมินเฉยลูกนี้อยู่ มันยืนอยู่ได้ด้วยทุนต่างประเทศล้วนๆ

ลูกนี้เคยเป็นดาวเด่นในตลาดอยู่พักหนึ่ง แต่บัดนี้มันถูกทิ้งขว้างมาเกือบปีแล้วเพราะความกังวลของตลาดเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม บริษัทมีเป้าหมายอันยิ่งใหญ่ที่จะต้องเป็นที่หนึ่งในอุตสาหกรรมแบบไม่มีที่สองทำให้ต้องระดมสรรพกำลังเป็นอันมากในช่วงนี้จนดูอ่อนล้าไป ยังไงเสียผมก็ยังไม่เปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับตัวนี้ไปเลยแม้แต่น้อย ผมว่าวันนี้มันเจิดจรัสกว่าเมื่อปีที่แล้วเสียอีก ช่วงนี้ก็เลยทยอยเก็บอย่างต่อเนื่อง

ส่วนที่เหลืออีก 3 ลูก ผมตามหามากว่าสี่ปีแล้วแต่ก็ยังไม่รู้ว่าเป็นลูกไหนในบรรดาลูกแก้วเกือบ 500 ลูกทั่วหล้า ใครรู้ช่วยบอกผมหน่อยสิครับ สรุปแล้วผ่านไปได้สี่ปี ผมมีดราก้อนบอลไว้ครอบครองแล้ว 3 ลูก ปล่อยไป 1 ลูก ยังหาไม่เจออีก 3 ลูก ผมยังเฝ้ารอวันที่ผมจะมีดราก้อนบอลครบทั้ง 7 ลูกอย่างอดทน เมื่อวันนั้นมาถึง ผมจะขอพรวิเศษจากท่านเทพมังกรครับ