0094: ชายผู้มีอาชีพลึกลับ (ต่อ)

 

ชายลึกลับมีอาชีพขาย “สิทธิที่จะซื้อหุ้นที่ราคาที่กำหนดไว้แล้วล่วงหน้าภายในระยะเวลาที่กำหนด” ให้กับนักลงทุน” หรือที่เรียกว่าอาชีพ “Short Call Options” นั่นเอง มันเป็นอาชีพที่มีลักษณะคล้ายกับการขายประกันรูปแบบหนึ่ง

นักลงทุนที่สนใจจะซื้อสิทธิที่ว่านี้จะจ่ายเงินก้อนหนึ่งให้เขา ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นค่าเบี้ย หลังจากนั้นภายในระยะเวลาที่กำหนด ถ้าหุ้นตัวนั้นไม่เคยมีราคาสูงกว่าราคาที่กำหนด ลูกค้าจะไม่ใช้สิทธิ ซึ่งเท่ากับว่า ชายลึกลับจะได้เงินค่าเบี้ยนั้นไปฟรีๆ แต่ถ้าในระหว่างนั้นหุ้นเกิดมีราคาสูงกว่าราคาที่กำหนด ลูกค้าก็จะขอใช้สิทธิเพื่อซื้อหุ้นนั้นจากชายลึกลับในราคาที่กำหนด แล้วนำหุ้นไปขายในตลาดเอากำไร ซึ่งก็เหมือนกับการที่ลูกค้ามาเคลมประกันนั่นเอง ชายลึกลับจะต้องเสียประโยชน์เนื่องจากจะต้องขายหุ้นนั้นให้กับลูกค้าในราคาที่กำหนดซึ่งต่ำกว่าราคาตลาด

ก่อนหน้านี้ชายลึกลับเคยเป็นนักลงทุนในตลาดหุ้นมาก่อนแต่แล้ววันหนึ่งเขาก็ร่ำรวยมหาศาลจากตลาดหุ้นจนทำให้เขามีเงินมากพอที่จะอยู่ได้ตลอดชีวิตโดยไม่ต้องทำงาน เขาจึงบอกกับตัวเองว่า “ผมพอแล้ว” เขานำเงินทั้งหมดที่ได้ไปลงทุนในกองทุนรวมหุ้นดัชนีเพื่อรอกินเงินปันผลอย่างเดียว ซึ่งเงินปันผลที่เขาได้รับในแต่ละปีสูงกว่าค่าใช้จ่ายของเขา แถมยังเหลือเงินไปเที่ยวรอบโลกได้อีกด้วย เขาจึงอยู่เฉยๆ ได้โดยไม่ต้องทำงานอีกต่อไปและยังไม่ต้องเฝ้าตลาดหุ้นอีกด้วย

ด้วยความที่ชายลึกลับถือกองทุนหุ้นจำนวนมากเอาไว้เฉยๆ เพื่อการลงทุน ทำให้ชายลึกลับอยู่ในสถานะที่สามารถยึดอาชีพ Short Call Options ได้โดยที่ไม่ต้องรับความเสี่ยง เพราะเมื่อใดก็ตามที่หุ้นของลูกค้ามีราคาปรับตัวขึ้นไปมากกว่าราคาที่กำหนด หุ้นในกองทุนของเขาก็จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเท่ากันด้วยเสมอ เขาจึงสามารถขายหุ้นในกองทุนที่ราคาตลาด (ได้กำไรส่วนหนึ่ง) แล้วส่งมอบหุ้นนั้นให้กับลูกค้า เขาจึงเพียงแต่สูญเสียโอกาสที่จะได้กำไรมากๆ หากหุ้นมีราคาปรับตัวพุ่งขึ้นแรงๆ เท่านั้น แต่ไม่ต้องขาดทุน ในทางตรงกันข้าม ในยามปกติ เขาจะได้เงินเบี้ยประกันจากลูกค้ามาฟรีๆ

แม้จะขายประกันอยู่ในตลาดอนุพันธ์แต่ชายลึกลับก็ไม่เคยคิดซื้อขายตราสารอนุพันธ์อย่างอื่นๆ เลยไม่ว่าสถานการณ์จะยั่วยวนสักแค่ไหน เขาบอกตัวเองอยู่เสมอว่าเขาเข้ามาในตลาดอนุพันธ์เพื่อมาประกอบอาชีพขายประกันเท่านั้น  ไม่เคยคิดอย่างอื่น ความที่เราเข้ามาเพื่อประกอบอาชีพแบกรับความเสี่ยงให้กับนักลงทุน เราย่อมได้รับผลตอบแทนที่คุ้มค่ากับความเสี่ยงในระยะยาว (มิฉะนั้นบริษัทประกันภัยคงเจ๊งหมดแล้ว) ต่างกับการเข้ามาเก็งกำไรฟิวเจอร์ซึ่งเป็น zero-sum game หรือการ long options ซึ่งเป็นการซื้อประกัน ในระยะยาวแล้วย่อมไม่ให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่ากับความเสี่ยง 

0063: กฎทองของ Tao Zhu Gong

ขออนุญาตเอาข้อความที่ผมเคยโพสต์ไว้ในเวบ TVI เรื่องกฎทองของ Tao Zhu Gong มา archive ไว้ในนี้นะครับ
==========================================

พอดีเพิ่งได้อ่านหนังสือการ์ตูนจีนเรื่อง กฏทองของ Tao Zhugong คิดว่าน่าจะเอามาใช้กับหุ้นได้เลยเอามาฝาก

Tao Zhugong นี่เป็นข้าราชการของแคว้น Yue ซึ่งเป็นเมืองขึ้นของแคว้น Wu สมัยยุคก่อนจิ๋นซี Tao Zhu gong ช่วยเจ้าแคว้น Yue วางแผนจนได้เอกราชคืนจาก Wu แถมยังไปตี Wu จนได้ชัยชนะอีกด้วย

แต่พอ Yue เป็นเอกราชแล้ว TaoZhugong ก็รีบหนีออกจากราชสำนัก เพราะรู้ตัวว่าหมดประโยชน์แล้ว “เสร็จนา ฆ่าโคทึก” บรรดาเพื่อนข้าราชการของ TaoZhugong ที่ยังอยู่ต่อเพราะหวังจะได้บูนบำเน็ญ ก็ถูกเจ้าแคว้น Yue ผู้มีใจคับแคบประหารในเวลาต่อมา

TaoZhugong หนีไปอยู่แคว้น Qi เปลี่ยนชื่อแซ่เสียใหม่แล้วเริ่มยึดอาชีพเป็นพ่อค้า ความที่เป็นคนมีปัญญาทำให้ร่ำรวยอย่างรวดเร็ว เจ้าแคว้น Qi ได้ยินเกียรติศัพท์ เลยมาเชิญไปเป็นกุนซือ TaoZhugong ก็เลยหนีไปอยู่เมือง Dingtao เริ่มต้นชีวิตใหม่ ภายในเวลาไม่นาน TaoZhugong ก็กลายเป็นเศรษฐี (อีกแล้ว)

กฏข้อนึ่งบอกว่า don’t work against business cycle เวลาสินค้าตัวไหนถึงจุดสูงสุดของวัฏจักรแล้วกำลังจะเริ่มลง เขาบอกว่าให้รีบขายทิ้งออกไปให้เร็วที่สุดโดยไม่ต้องสนใจว่ากำไรหรือขาดทุนเท่าไร อย่าเสียดาย ผมว่าเป็นข้อดีที่เอามาใช้กับการเล่นหุ้นวัฏจักรได้

กฏอีกข้อนึ่งบอกว่า don’t give in to herd instinct คือให้ห้ามใจตัวเองไม่ให้กระโดดเข้าไปในธุรกิจที่ทุกคนกำลังแห่กันเข้าไปทำ (กฏข้อนี้ไม่ได้แย้งกับข้อข้างบนนะ ข้อข้างบนบอกว่าอย่าฝืน consumer demand แต่ข้อนี้บอกว่า อย่าแห่ตาม supply)

กฏอีกข้อบอกว่า don’t overbuy on credit เพราะฐานะการเงินที่ไม่แข็งแกร่งเป็นความเสี่ยงอย่างหนึ่งที่เรามองไม่เห็น

อีกข้อบอกว่า don’t under save อีกนี้บอกว่าควรมีเงินสดส่วนหนึ่งไว้เสมอ เพราะเมื่อใดที่โอกาสมาถึง เราจะได้สามารถคว้าโอกาสนั้นได้

ไม่เลวครับ

0051: Money management for stock investing

การบริหารพอร์ตตามทฤษฏีการเงินมีจุดมุ่งหมายเพื่อการกระจายความเสี่ยง (diversification) แต่มันไม่เคยใช้ได้ผล เพราะเราไม่มีทางทราบ forward-looking betas ของหุ้นได้ มาลองดูวิธีการบริหารพอร์ตอีกแบบหนึ่งที่เลียนแบบวิธีที่เซียนพนันใช้ในการบริหารเงินหน้าตักของพวกเขากันดีกว่า วิธีนี้ไม่ได้มีจุดหมายเพื่อกระจายความเสี่ยงแต่มีจุดหมายเพื่อการใช้เม็ดเงินที่เรามีอยู่อย่างจำกัดให้เราได้รับโอกาสสูงสุดที่จะ “รวย” มากที่สุด

ที่จริงวิธีนี้ก็เป็นหลักสามัญสำนึกธรรมดาๆ สมมติว่าผมทอดลูกเต๋า 1 ครั้ง แล้วให้คุณทายว่าจะออกอะไร ถ้าคุณทายถูกคุณจะได้เงินรางวัล 2 เท่าของเงินเดิมพัน คุณมีชิพอยู่ 6 เม็ด ลองคิดดูว่าคุณจะเดิมพันยังไงถึงจะใช้ประโยชน์จากชิพทั้งหมดที่มีอยู่ได้อย่างคุ้มค่ามากที่สุด ก็ต้องอย่างนี้ใช่มั้ย

เนื่องจากทุกเลขมีทั้งโอกาสและขนาดของเงินรางวัลเท่ากัน ไม่มีวิธีใดจะดีไปกว่าแทง “กั๊ก” ให้หมดคือแทงทุกหมายเลขอย่างละเท่าๆ กัน

 

 

เอาใหม่ สมมติว่าคราวนี้เลข 1, 2, 3, 4, 6 จ่าย 2 เท่า แต่เลข 5 จ่าย 100 เท่า อย่างนี้คุณก็อยากจะเจียดเงินส่วนใหญ่ของคุณแทงเลข 5 ให้มากเป็นพิเศษเพราะแม้ว่าโอกาสที่ลูกเต๋าจะออก 5 นั้นเท่ากับเลขตัวอื่นแต่ถ้าลูกเต๋าเกิดออกเลข 5 ขึ้นมาจริงๆ คุณจะรวยไม่รู้เรื่อง การบริหารเม็ดเงินจึงเป็นการพยายามให้เงินของเราอยู่ในตำแหน่งที่มี โอกาส และ/หรือ ขนาดของเงินรางวัล มากๆ (ในตัวอย่าง เลข 5 มีขนาดเงินรางวัลมาก แต่มีโอกาสถูกรางวัลเท่ากัน ถ้ามีเลขตัวใดมีขนาดเงินรางวัลเท่ากันแต่มีโอกาสถูกรางวัลสูงกว่าเลขตัวอื่น ก็ควรวางเงินส่วนใหญ่ไว้ที่เลขนั้นเช่นกัน)

ว่ากันว่าคนที่ประสบความสำเร็จในการเล่นหุ้นส่วนใหญ่ไม่ใช่คนที่เลือกหุ้นได้ถูกต้องทุกครั้ง แต่เป็นคนที่ใช้เงินส่วนใหญ่ของพอร์ตไปกับหุ้นตัวที่มั่นใจมากๆ ทำให้พอร์ตโดยรวมได้ผลตอบแทนดีแม้ว่าจะไม่ได้เลือกหุ้นถูกทุกตัว จงใช้หลักเดียวกันนี้ในการบริหารพอร์ตหุ้นของคุณเพื่อ maximize โอกาสที่จะ “รวย” เริ่มต้นจากการมีเงินสดอยู่ 100% จงถามตัวเองดูว่าในบรรดาหุ้นทุกตัวที่คุณติดตามอยู่ตอนนี้มีหุ้นตัวไหนบ้างที่มี “upside” สมมติว่าคุณเจอหุ้นสามตัวคือ A, B, C ที่มี upside เท่ากันคือ 50% ทั้งสามตัว แบบนี้คุณก็ควรซื้อ A, B และ C ด้วยเม็ดเงินจำนวนเท่ากันหุ้นละ 33% ของพอร์ตเพื่อกระจายความเสี่ยง แต่ถ้าคุณเจอว่าหุ้น A, B มี upside 10% แต่หุ้น C มี upside 200% แบบนี้คุณก็อยากจะซื้อ C ตัวเดียว 100% มากกว่าที่จะซื้อทั้งสามตัวเท่ากันเพราะการกระจายความเสี่ยงในกรณีนี้ไม่ค่อยคุ้มกับโอกาสที่จะใช้เม็ดเงินส่วนใหญ่ไปกับการแทง C พูดง่ายๆ ก็คือจงพยายาม allocate เงินไปตาม upside ของหุ้นแต่ละตัว (ควรพิจารณาความเป็นไปได้ของ upside แต่ละตัวประกอบด้วย) เพื่อให้พอร์ตทั้งพอร์ตมีโอกาสที่จะวิ่งได้ไกลที่สุด การซื้อหุ้นทุกตัวในสัดส่วนที่เท่ากันเสมออย่างที่นิยมทำกันโดยไม่สนใจว่าขนาดของ upside ของหุ้นแต่ละตัวว่าต่างกันแค่ไหนยังเป็นการใช้เม็ดเงินในพอร์ตที่ไม่คุ้มค่าอยู่

วิธีบริหารพอร์ตแบบนี้อุปมาเหมือนมีรถไฟหลายๆ ขบวนจอดอยู่ที่ชานชลา เราไม่รู้ว่ารถไฟขบวนไหนจะวิ่งได้บ้าง แต่เรารู้ว่ามีบางคันที่มีโอกาสวิ่งมากกว่าบางคัน จงใช้เงินส่วนใหญ่ในกระเป๋าซื้อตั๋วรถไฟคันที่มีโอกาสวิ่งมากๆ และใช้เงินส่วนน้อยซื้อตั๋วรถไฟคันที่มีโอกาสวิ่งน้อยไว้บ้าง แทนที่จะใช้เงินซื้อตั๋วรถไฟทุกคันเท่ากันหมด คิดเสียว่าเม็ดเงินในพอร์ตของคุณมีไว้ตีตั๋วรถไฟ การซื้อหุ้นที่มี upside สูงๆ ทิ้งไว้เฉยๆ ในพอร์ตแต่มันไม่วิ่งสักที ไม่ได้หมายความว่าคุณกำลังไม่ได้อะไรเลยตอบแทนจากเงินที่คุณลงทุนไป สิ่งที่คุณได้รับอยู่ตลอดเวลาที่คุณถือมันอยู่ก็คือ “โอกาส” ที่มันจะวิ่งเข้าสักวันหนึ่ง

หลังจากที่คุณลงทุนไปได้พักหนึ่งแล้ว หุ้นที่ถืออยู่แต่ละตัวจะเริ่มมีราคาเปลี่ยนไปทำให้ upside ของมันเปลี่ยนไปด้วย ในขณะเดียวกัน คุณก็อาจพบหุ้นตัวใหม่ที่คุณไม่เคยถือมาก่อนที่มี upside ที่น่าสนใจเหมือนกัน ตามหลักแล้วคุณควรเปลี่ยนน้ำหนักหุ้นในพอร์ตของคุณตลอดเวลาเพื่อ maximize upside แต่ในความเป็นจริงการทำอย่างนั้นจะทำให้คุณตายเพราะค่าคอมมิชชั้น การปรับพอร์ตจึงควรทำให้น้อยที่สุดเพื่อ minimize ค่าคอมมิชชั่น อย่างน้อยควรรอให้ได้กำไรจากหุ้นแต่ละตัวในระดับที่มากกว่าค่าคอมมิชชั่นที่เสียไปก่อนที่จะเปลี่ยนตัว แต่ทางที่ดีถ้าหุ้นยังเหลือ upside อยู่ก็ไม่ต้องไปทำอะไรกับมันดีกว่า เอาไว้ให้เจอหุ้นตัวใหม่ที่มี upside สูงมากกว่าเดิมมากๆ จริงๆ คงพิจารณาเปลี่ยนตัว จงถือคติว่าถ้าไม่เจอทีเด็ดจริงๆ การอยู่เฉยๆ ไว้ก่อนเป็นการตัดสินใจที่ไม่เสียหายเสมอ

(ปล.: สัดส่วนที่เหมาะสมของหุ้นแต่ละตัวในพอร์ตเป็นไปตามสูตรของเคลลี่ (รายละเอียดอยู่ในหนังสือ “หลักการพนัน”) คือ กำไรคาดหวัง/อัตราต่อรอง ดังนั้นถ้าเอาแบบถูกต้องจริงๆ คุณต้องคำนึงถึงทั้งขนาดของ upside/downside ตลอดจนความเป็นไปได้ของ upside/downside ไม่ใช่คำนึงแค่ขนาดของ upside อย่างเดียว ที่อธิบายไปข้างต้นเป็นการ oversimplified นิดหน่อย )

0033 : ความเสี่ยงของหุ้นแบบต่างๆ

หุ้นแต่ละตัวในตลาดหุ้นนั้นล้วนมี story ที่แตกต่างกันไป การประเมินความน่าสนใจลงทุนจาก story ของหุ้นแต่ละตัวนั้นเป็นเรื่องเชิงคุณภาพล้วนๆ อย่างไรก็ตาม ผมมีเทคนิคอย่างหนึ่งที่ช่วยทำให้การมองโอกาสและความเสี่ยงของหุ้นจาก story ของคุณนั้นมีประสิทธิภาพมากขึ้น

หลังจากที่เราได้ศึกษา story ของหุ้นนั้นอย่างละเอียดแล้ว เราควรถามตัวเองว่า story นั้นมีทั้ง “ขนาด” และ “ความน่าจะเป็น” ที่ story นั้นจะเกิดขึ้น “ใหญ่” หรือ “น้อย” ? ตัวอย่างเช่น บริษัทรับเหมาขนาดเล็กที่กำลังรอผลการประมูลโครงการขนาดใหญ่จากทางการน่าจะเป็น โอกาสที่มีขนาด “ใหญ่” แต่มีความน่าจะเป็น “น้อย” เป็นต้น

หุ้นชนิดหนึ่งที่ผมอยากแนะนำให้ท่านนักลงทุนหลีกเลี่ยง คือ หุ้นที่มี low probability of big loss เช่น หุ้นที่กำลังอยู่ในระหว่างการถูกฟ้องร้องดำเนินคดีมีโทษถึงขั้นล้มละลาย หุ้นพวกนี้มักล่อตาล่อใจแมงเม่าเป็นอย่างยิ่งเพราะราคาหุ้นจะดูต่ำถ้าเทียบกับหุ้นต้วอื่นในตลาด แต่ที่จริงแล้ว ราคาที่ดูต่ำนั้นจะต่ำจริงๆ ก็ต่อเมื่อ สุดท้ายแล้ว เหตุการณ์ที่เลวร้ายที่สุดนั้นไม่เกิดขึ้น แต่ถ้าหากมันเกิดขึ้น ก็ยังนับว่าราคาหุ้นนั้นแพงอยู่มาก ขนาดของความสูญเสียที่รุนแรงมากนี้ถ่วงให้กำไรคาดหวังของการซื้อหุ้นชนิดนี้มีค่าติดลบแม้ว่าความน่าจะเป็นที่จะเกิดความสูญเสียรุนแรงนั้นจะไม่ได้สูงก็ตาม หุ้นพวกนี้เป็นหุ้นที่เล่นแล้ว “ได้ไม่คุ้มเสีย” ครับ ท่านนักลงทุนคงได้เห็นตัวอย่างของหุ้นแบบนี้แล้วจากกรณีของหุ้นสื่อตัวหนึ่งในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมา

มีหุ้นอีกประเภทหนึ่งที่ดูไม่น่าสนใจแต่ที่จริงแล้วเป็นหุ้นที่น่าสนใจก็คือหุ้นที่มี low probability of high gain เช่น พวกบริษัทวิจัยยา (biotech firms) บริษัทพวกนี้ถ้าสามารถเข็นยาตัวสำคัญให้ผ่านการรับรองได้ก็จะมีกำไรเพิ่มขึ้นอย่างมากมายมหาศาล แต่โดยปกติแล้ว โอกาสที่ยาตัวหนึ่งจะสามารถผ่านด่านอรหันต์ของ FDA ได้นั้นมีน้อยมาก หุ้นพวกนี้บ่อยครั้งเป็นหุ้นที่มีกำไรคาดหวังเป็นบวกเพราะนักลงทุนในตลาดไม่สนใจเพราะรู้สึกว่าเสี่ยง ที่จริงแล้วเราสามารถลงทุนในหุ้นแบบนี้ได้เพียงแต่ต้องใช้วิธีซื้อไว้หลายๆ ตัวและซื้อตัวละไม่มากเมื่อเทียบกับขนาดของพอร์ตโดยรวม การทำเช่นนี้ช่วยทำให้ผลตอบแทนโดยรวมลู่เข้าหากำไรคาดหวังได้ หุ้นพวกนี้ถ้าซื้อตัวเดียวจะมีโอกาสขาดทุนสูงมาก แต่พอร์ตที่เต็มไปด้วยหุ้นเหล่านี้กลับให้ผลตอบแทนที่ดีทีเดียว

หุ้นประเภทสุดท้ายที่อยากกล่าวถึงก็คือหุ้นที่มี high probability of small loss and low probability of big gain แต่มีกำไรคาดหวังของหุ้นนั้นเป็นบวก นักจิตวิทยาการลงทุนบอกว่าหุ้นลักษณะนี้มักจะ undervalued อยู่เสมอ เพราะธรรมชาติของนักลงทุนมักเกลียดการขาดทุน โอกาสที่จะขาดทุนน้อยๆ แต่เกือบจะแน่นอนเป็นเรื่องที่ไม่น่าดึงดูด นักลงทุนในตลาดส่วนใหญ่จึงมองข้ามหุ้นลักษณะนี้ไป ตัวอย่างของหุ้นแบบนี้ก็เช่น หุ้นที่กำไรกำลังลดลงเพราะมีปัจจัยมหภาคระยะสั้นบางอย่างเข้ามากระทบทำให้ตลาดเททิ้งหุ้นเหล่านี้ไปก่อนทั้งที่ภาพการเติบโตของกำไรในระยะยาวยังเหมือนเดิม ที่จริงแล้วหุ้นพวกนี้เป็นหุ้นที่น่าลงทุนครับ

0029: ค่า g ที่เหมาะสม

ค่า g หรืออัตราการเติบโตเป็นสมมติฐานที่สำคัญในการวัดมูลค่าหุ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งหุ้นเติบโต ค่า g ที่แตกต่างกันเพียงนิดเดียวอาจส่งผลต่อมูลค่าของหุ้นเติบโตที่วัดได้เป็นอย่างมาก ดังนั้นนักลงทุนควรใช้ความพยายามในการประมาณค่า g มากเป็นพิเศษเพื่อให้ได้ค่าที่มีความสมเหตุสมผลมากที่สุด

ค่า g ในช่วงปีแรกๆ ที่บริษัทยังมีการเติบโตสูงๆ อยู่ ต้องประมาณจากแผนการลงทุนของบริษัทเป็นสำคัญซึ่งแต่ละบริษัทย่อมแตกต่างกันไป เราควรพยายามหาข้อมูลเกี่ยวกับแผนการลงทุนของบริษัทให้ได้มากที่สุดเพื่อที่จะสามารถประเมินค่า g ในช่วงนี้ให้ได้ใกล้เคียงกับความเป็นจริงที่จะเกิดขึ้นมากที่สุด อย่างไรก็ตาม บ่อยครั้งเรามักต้องใส่การประเมินจากความเห็นส่วนตัวลงไปด้วย (as known as “นั่งเทียน”) เนื่องจากข้อมูลเหล่านี้ของบริษัทมักไม่ละเอียดพอ เช่น บางครั้งบริษัทอาจมีแผนงานที่ชัดเจนแค่ 3 ปีข้างหน้าเท่านั้น แต่เราทราบมาแล้วว่าธุรกิจอย่างเดียวกันกับของบริษัทในประเทศอื่นยังเติบโตในอัตราสูงได้อีกอย่างน้อย 10 ปี เช่นนี้เราก็จำเป็นต้องประมาณค่า g ในปีที่ 4-10 เอาเอง เพื่อให้ท่านนักลงทุนพอมีไอเดียว่าธุรกิจส่วนใหญ่มีความสามารถในการเติบโตในระดับใด ผมขอนำเสนอ EPS growth ต่อปี เฉลี่ย 10 ปี ของ Large Cap Stocks ในสหรัฐฯ จำนวนหนึ่งในยุคทศวรรษที่ 90 มาให้ดูพอเป็นไอเดีย

AT&T -5.77%
Amoco 9.92%
Atlantic Richfield 5.71%
BellSouth 10.29%
Bristol-Myers Squibb 9.58%
Chevron 10.10%
Coca-cola 5.61%
duPont 2.66%
GTE 8.16%
GE 12.31%
GM 0.72%
IBM 5.72%
Johnson&Johnson 14.93%
Eli&Lily 11.21%
Merck 14.56%
Mobil 5.44%
Pepsi 8.23%
Philip Morris 11.43%
P&G 8.26%
Walmart 17.76%

ผมเห็นบางท่านตั้งสมมติฐานว่าบางบริษัทจะเติบโตได้ 20% ต่อปีในช่วง 10 ปีข้างหน้า ผมอยากจะบอกว่านั่นเป็นสมมติฐานที่ทะเยอทะยานมากทีเดียว ถ้าจะให้บริษัทเติบโต 20% ต่อปีติดต่อกันสัก 2-3 ปีนั้นถือว่าไม่ผิดปกติ แต่ถ้าจะให้บริษัทเติบโตเฉลี่ย 20% ต่อปีติดต่อกัน 10 ปีนั้น ถือว่ามีโอกาสน้อยมากที่จะเป็นไปได้ จากตัวอย่างที่นำมาแสดงให้ดูมีแต่บริษัทยาและโมเดิรน์เทรดเท่านั้นที่โตเฉลี่ยเกิน 10% ได้ในช่วงเวลาสิบปี เพราะในช่วงยุคที่ 90 เป็นยุคที่นวัตกรรมด้าน biotech และโมเดิร์นเทรดกำลังมีการเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดด บริษัทเหล่านี้จึงสามารถ enjoy การเติบโตที่สูงกว่า 10% ติดต่อกันนานๆ ได้ มิฉะนั้นแล้ว ธุรกิจทั่วไปที่จะเติบโตได้เกิน 10% ติดต่อกันนานเป็นสิบปีนั้นนับว่าค่อนข้างยากทีเดียวครับ

ส่วนค่า g ในช่วงปีหลังๆ ที่บริษัทเข้าสู่จุดอิ่มตัวแล้วนั้นควรจะต่ำกว่าอัตราการเติบโตของ GDP ของเศรษฐกิจในระยะยาว (2.5-3.5%) เพราะค่า g นี้จะเป็นค่า g เฉลี่ยตลอดกาลจนสิ้นอายุขัยของบริษัท ดังนั้นถ้าค่านี้สูงกว่าอัตราการเติบโตของ GDP ในระยะยาว บริษัทจะโตจนกลืนโลกทั้งใบได้ในที่สุด ส่วนใหญ่แล้วเรานิยมให้ g ในช่วงนี้มีค่าเพียงเท่ากับอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยในระยะยาวเท่านั้น (2-2.5%)

ข้อคิดอีกอย่างหนึ่งที่อยากจะฝากเอาไว้ก็คือ ถ้าคุณเป็นนักลงทุนระยะยาวตัวจริง คุณควรใส่ใจกับการมองแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ของโลกมากกว่าที่จะสนใจแค่ EPS ในอีก 12 เดือนข้างหน้า ตัวอย่างเช่น ในทศวรรษที่ผ่านมาโมเดิร์นเทรดเป็นนวัตกรรมที่เปลี่ยนแปลงชีวิตความเป็นอยู่ของคนมากที่สุด หรือในยุคต่อไปกระแสโลกาภิวัฒน์จะส่งผลดีต่อหุ้นอะไรบ้าง เป็นต้น หุ้นของบริษัทที่จะได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่เหล่านี้มักจะเป็นหุ้นที่เหมาะสมที่สุดที่จะถือไว้เฉยๆ ได้ในระยะยาว อย่าพยายามมองหาหุ้นที่มีความมั่นคงสูงๆ เพื่อที่จะถือไว้ในระยะยาว เพราะที่จริงความผันผวนระหว่างทางกลับไม่ใช่ความเสี่ยงที่สำคัญเลยสำหรับการลงทุนระยะยาว หุ้นที่กำไรจะเติบโตได้ไกลที่สุดในระยะยาวต่างหากที่จะเหมาะกับการ buy-and-hold ในระยะยาว ส่วนใหญ่แล้วราคาของหุ้นเหล่านี้ก็มักผันผวนเสียด้วย

0021: โอกาสทางธุรกิจที่ดีเป็นอย่างไร?

Tao Zhugong เป็นกุนซือในยุคราชวงศ์โจวตะวันออกที่ผันตัวเองมาเป็นพ่อค้า เขาได้นำประสบการณ์ในการวางแผนเชิงกลยุทธ์มาใช้ในธุรกิจของเขาจนประสบความสำเร็จและได้กลายเป็นแบบอย่างของหลักการทำธุรกิจของชาวจีน

ครั้งหนึ่งได้เกิดกบฎน้อยใหญ่ทางตอนเหนือของแคว้นลู เจ้าแคว้นลูจึงได้ออกคำสั่งให้พวกเจ้าศักดินาทั้งหลายออกปราบกบฏ เจ้าศักดินาเหล่านั้นจึงต้องการเงินจำนวนมากเพื่อเตรียมทรัพยากรสำหรับออกรบ พวกเขาจึงเอ่ยปากขอยืมเงินจากบรรดาพ่อค้าคหบดีทั้งหลายรวมทั้ง Tao Zhugong ด้วย

พ่อค้าทั้งหลายรู้สึกวิตกกังวลมากเพราะเกรงว่าหากให้ยืมเงินแล้วเจ้าศักดินาเหล่านั้นแพ้สงครามหนี้ก็จะสูญ พ่อค้าเหล่านั้นถาม Tao Zhugong ว่าคิดเห็นอย่างไร Tao Zhugong บอกว่าถึงแม้การให้ยืมเงินลักษณะนี้จะมีความเสี่ยงสูงมาก แต่ธุรกิจทุกอย่างก็ต้องมีความเสี่ยง เขายินดีให้เจ้าศักดินาเหล่านั้นยืมเงิน แต่ต้องใช้คืนด้วยเงิน 10 เท่า เขาบอกว่า โอกาสชนะหรือแพ้สงครามเท่ากับ 50:50 แต่ถ้าเขาให้เจ้าศักดินายืมเงินสัก 10 ราย ด้วยผลตอบแทนที่สูงถึง 10 เท่า ขอเพียงแค่มีหนึ่งคนเท่านั้นที่ชนะสงคราม เงินต้นของเขาก็จะไม่สูญ เจ้าศักดินาเหล่านี้มีความสามารถในการใช้คืนหนี้สูงเพราะถ้าชนะสงครามพวกเขาจะได้ครอบครองที่ดินจำนวนมากซึ่งสามารถเก็บค่าเช่านำเงินมาชำระหนี้ได้ เขามองว่านี่เป็นโอกาส

พ่อค้าเหล่านั้นเห็นว่า Tao Zhugong จะคิดดอกเบี้ย 10 เท่า จึงเดาว่า Tao Zhugong คงรู้สึกไม่มั่นใจว่าจะได้เงินคืนถึงได้คิดดอกเบี้ยสูงขนาดนั้น พ่อค้าเหล่านั้นจึงปฏิเสธเจ้าศักดินาที่เดินทางมาขอยืมเงินและบอกให้ไปหา Tao Zhugong ทำให้เจ้าศักดินาทุกคนเดินทางมาขอยืมเงินกับ Tao Zhugong แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยจะสูงมากแต่เจ้าศักดินาเหล่านั้นก็ยินดียืมทุกคนเพราะพวกเขากำลังต้องการเงินอย่างมากและไม่มีพ่อค้าคนใดกล้าให้พวกเขายืม

เมื่อสงครามสงบมีเจ้าศักดินาชนะสงครามจำนวนมากกว่าที่ Tao Zhugong ประเมินไว้มาก Tao Zhugong จึงได้รับผลตอบแทนมหาศาลจากการให้ยืมเงินในครั้งนั้น

เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า โอกาสทางธุรกิจทุกชนิดมีความเสี่ยงทั้งนั้นไม่มากก็น้อย โอกาสทางธุรกิจที่ดีไม่ใช่โอกาสที่มีความเสี่ยงน้อยแต่เป็นโอกาสที่มีผลตอบแทนคาดหวังที่คุ้มค่าเกินความเสี่ยงที่ได้ประเมินไว้อย่างดีแล้ว…

0017: Asset Play

มีวิธีการลงทุนแบบหนึ่ง เรียกว่า Asset Play วิธีนี้คือการหาว่าบริษัทเป็นเจ้าของสินทรัพย์อะไรที่มีมูลค่าซ้อนเร้นอยู่หรือไม่ ถ้าราคาหุ้นในกระดานของบริษัทยังไม่ได้สะท้อนค่าของสินทรัพย์นั้น การเข้าไปซื้อหุ้นนั้นไว้ก็ถือว่าเป็นการซื้อของลดราคา

ตัวอย่างยอดนิยมของสินทรัพย์ที่มีมูลค่าแฝงก็คือ ที่ดิน เพราะที่ดินจะถูกลงบัญชีที่ราคาต้นทุนที่ซื้อมา และจะคงที่อยู่อย่างนั้นตลอดไปไม่ว่าจะอีกสักกี่สิบปี ถ้าคุณออกแรงสักนิดด้วยการตรวจดูที่ดินของบริษัทต่างๆ ในตลาดว่ามีอยู่กี่ไร่ นำมาคูณด้วยราคาประเมินของกรมที่ดินในปัจจุบัน คุณอาจพบที่ดินของบางบริษัทที่มีราคาประเมินสูงกว่ามูลค่าตลาดของทั้งบริษัทหักด้วยหนี้สิน หุ้นนั้นเสียอีก หุ้นเหล่านี้คือ Asset Play

ปัญหาสำคัญของการเล่นหุ้นด้วยวิธีนี้ก็คือ เราไม่รู้ว่าเมื่อไรราคาหุ้นในกระดานจะสะท้อนมูลค่าแฝงของสินทรัพย์นั้นเสียที ในบางกรณีผู้บริหารของบริษัทยังดำเนินงานแบบธุรกิจครอบครัวอยู่จึงไม่นำพาต่อหน้าที่ที่สำคัญที่สุดของการเป็นผู้บริหารของบริษัทมหาชน ได้แก่ การ maximize shareholder’s value แม้พวกเขาจะรู้ดีว่าการขายที่ดินนั้นเสียแล้วย้ายโรงงานไปอยู่ในที่ที่ที่ดินราคาต่ำลงเป็นทางเลือกที่ดีกว่าของบริษัท แต่ก็ไม่ทำเพราะเป็นความรู้สึกผูกพันกับสมบัติประจำตระกูล อย่างนี้แล้วนักลงทุนรายย่อยที่ไปเข้าไปซื้อหุ้นเอาไว้ก็บอกได้คำเดียวต้องรอจนเหงื่อแห้งครับ

การลงทุนในตลาดหุ้นมีต้นทุนของเงินทุนอยู่ราวปีละ 10% เสมอ ถ้าคุณถือหุ้น Asset Play ไว้เฉยๆ หนึ่งปีแล้วราคาไม่ไปไหน ก็ต้องถือว่าขาดทุนไปแล้ว 10% ไม่ใช่เสมอตัว ยิ่งถ้าต้องรออีก 10 ปี ผู้บริหารคนเก่าจึงจะแก่ตาย ผู้บริหารคนใหม่จึงจะสั่งขายที่ดิน ก็ต้องถือว่า คุณขาดทุนหุ้นตัวนั้นหมดทั้ง 100% แล้ว ดังนั้นถ้าดูแล้วไม่มีความชัดเจนว่าเมื่อไรราคาหุ้นในกระดานจะมีโอกาสสะท้อนมูลค่าที่แฝงอยู่ได้ การเล่นหุ้นด้วยวิธีนี้ก็นับว่าค่อนข้าง “ลมๆ แล้งๆ” ครับ

Asset Play จะได้ผลเฉพาะกับนักลงทุนรายใหญ่ที่สามารถซื้อหุ้นของบริษัทได้ในสัดส่วนที่มากพอที่จะเข้ามาควบคุมบริษัทได้เท่านั้น ถ้าคุณซื้อหุ้นจนเกิน 51% ไล่กรรมการชุดเก่าออกให้หมด ขายที่ดิน นำเงินสดที่ได้ไปใช้หนี้บริษัท เลิกบริษัท แล้วนำเงินที่เหลือเก็บเข้ากระเป๋า แบบนี้คุ้มค่าแน่นอนครับ

คุณอาจเคยได้ยินคำกล่าวที่สวยหรูว่า “ผู้ถือหุ้น คุณคือเจ้าของ” แต่ในความเป็นจริง ถ้าคุณและพวกอีกอย่างน้อย 24 คนมีปัญญาซื้อหุ้นรวมกันได้แค่ไม่เกิน 10% ก็ต้องขอบอกว่า คุณและพวกปราศจากอำนาจในการควบคุมบริษัทมหาชนโดยสิ้นเชิง แค่ขอเรียกประชุมผู้ถือหุ้นยังไม่ได้เลย ดังนั้น การเล่นหุ้นแบบ Asset Play ให้ประสบความสำเร็จดูจะมีข้อจำกัดมากสำหรับคนที่เป็นนักลงทุนรายย่อย ความเห็นส่วนตัวของผมคือ เวลาที่คุณซื้อหุ้น คุณควรซื้อความสามารถในการทำกำไรมากกว่าที่จะซื้อเพราะสินทรัพย์ (ถ้าคุณอยากได้โต๊ะและเก้าอี้สำนักงานเหล่านั้น ไปซื้อที่ชั้น 5 มาบุญครองก็ได้ครับ ไม่ต้องไปซื้อหุ้นหรอก)  เพราะสิทธิในการได้รับส่วนแบ่งกำไรตามสัดส่วนที่หุ้นที่ตนเองถืออยู่เป็นสิทธิที่ผู้ถือหุ้นรายย่อยมีเท่ากับผู้ถือหุ้นรายใหญ่อย่างแน่นอนโดยเสมอภาคกัน

0008: วิธีป้องกันการเจ๊งหุ้น

อยากมีวิธี save ตัวเองจากการเจ๊งหุ้นมั้ยครับ ผมมีวิธีง่ายๆ ที่จะแนะนำ วิธีนี้มีกฏอยู่แค่ 2 ข้อ คือ
1. ห้ามซื้อหุ้นที่ราคาหุ้นเกินพื้นฐานระยะยาวอย่างเด็ดขาด
2. พยายามมีหุ้นให้เต็มพอร์ตตลอดเวลา โดยไม่ให้ขัดกับกฎข้อแรก

ตอนที่ NASDAQ วิ่งขึ้นติดต่อกันนาน 8 ปี ใครบ้างจะอดใจไหวที่จะไม่ซื้ออะไรเลย 8 ปี แรกๆ ก็จะบ่นว่าพีอี 50 เท่าแพง แต่พอสามสี่ปีต่อมาหุ้นก็ยังวิ่งขึ้นไปอีก คราวนี้ก็จะเริ่มบอกว่าพีอี 70 เท่าไม่แพง ในที่สุดเมื่อ market correction (ฟองสบู่แตก) คุณก็จะเจ๊งหุ้น เพราะคุณได้ซื้อหุ้นมาในต้นทุนที่สูงกว่าพื้นฐานระยะยาว

คุณอาจจะเถียงว่า “ไม่เป็นไร ราคาพื้นฐานไม่สำคัญ ผมอาศัยการเข้าเร็วออกเร็ว” แต่ในความเป็นจริง ถ้าคุณเข้าเร็วออกเร็ว คุณก็จะได้กำไรน้อยมาก สุดท้ายแล้วถ้าราคาหุ้นยังวิ่งต่อ คุณก็จะทนไม่ไหวกลับเข้าไปซื้อใหม่อีก 

การเทรดบ่อยๆ เป็นความเสี่ยงที่มองไม่เห็น เพราะหุ้นในพอร์ตของคนที่เทรดบ่อยๆ หุ้นจะมีต้นทุนที่ใกล้เคียงกับราคาตลาดอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นเมื่อเกิด market crash ขึ้น พอร์ตจะถูกกระทบอย่างเต็มที่ ในขณะที่คนที่ไม่ได้ซื้อบ่อยๆ จะมีเฉพาะหุ้นบางตัวที่เพิ่งซื้อมาใหม่ๆ เท่านั้นที่มีต้นทุนใกล้กับราคาตลาด พอร์ตจึงกระทบน้อยกว่า เพราะตัวทีซื้อมานานแล้วจะยังกำไรอยู่ 

แต่ช่วง 8 ปีที่ NASDAQ วิ่งนั้น นักลงทุนอย่าง วอเรนบัฟเฟต รอดตายเพราะแกไม่ได้ซื้ออะไรใหม่อย่างมีนัยสำคัญเลยตลอด 8 ปี ความยึดมั่นในกฎข้อที่ 1 ทำให้แกรอดตาย

แต่การทำอย่างนั้นก็คงทำให้เสียโอกาสใช่ไหมครับ เพราะถ้าตลาดเป็นฟองสบู่นาน 8 ปี การไม่ซื้ออะไรเลยเป็นเวลา 8 ปี พอร์ตจะมีผลตอบแทนเป็น 0

ด้วยเหตุนี้คุณจึงต้องทำกฏข้อที่ 2 ด้วย คือ มีหุ้นให้เต็มพอร์ตตลอดเวลา เพราะถ้าตลาดเป็นฟองสบู่ แล้วคุณไม่ซื้ออะไรเลย พอร์ตของคุณก็ยังสร้างผลงานให้คุณได้เพราะคุณมีหุ้นเต็มพอร์ตอยู่ พวกมันจะวิ่งขึ้นไปเรื่อยๆ ตามตลาดโดยที่คุณไม่ต้องทำอะไรเลย การขายออกแล้วซื้อตัวใหม่อันตรายกว่าเพราะทำให้คุณต้องรับต้นทุนใหม่ ส่วนการ take profit โดยไม่กลับเข้าไปซื้อใหม่ก็ไม่ดีเหมือนกันเพราะคุณต้องมาถือเงินสดเอาไว้แทนทำให้ได้ผลตอบแทนน้อย การถือหุ้นเต็มพอร์ตไว้เฉยๆ จึงดีที่สุด 

จำไว้ว่าในระยะยาวหุ้นจะขึ้นได้แค่เท่ากับอัตราการเติบโตของกำไรของมันเท่านั้น (โดยเฉลี่ย) ถ้าหุ้นขึ้นไปมากๆ ในระยะสั้นเพราะภาวะตลาด สุดท้ายแล้วพวกมันจะต้องกลับลงมาใหม่ เพื่อให้ในระยะยาวมันขึ้นได้เท่ากับอัตราการเติบโตของกำไรของมันเอง ดังนั้นการถือหุ้นตัวเดิมไว้นานๆ โดยไม่เปลี่ยนตัวไปมาไม่ได้ทำให้รวยช้าหรอกครับ   

0007: Dollar Cost Averaging

Dollar Cost Averaging หมายถึงการทยอยซื้อหุ้นครั้งละเท่าๆ กันเมื่อคิดเป็นจำนวนเงิน เช่น ถ้าตั้งใจจะซื้อหุ้นสัก 12000 บาท แทนที่จะซื้อครั้งเดียว 12000 บาทเลย ก็อาจจะแบ่งซื้อ 1000 บาทต่อเดือนเป็นเวลาหนึ่งปี เนื่องจากเราซื้อด้วยจำนวนเงินเท่าเดิม ถ้าในระยะเวลาหนึ่งปีนั้นหุ้นตัวนั้นเป็นขาลง เราก็จะได้จำนวนหุ้นมากขึ้นเรื่อยๆ สรุปแล้วเราก็จะได้จำนวนหุ้นมากกว่าการซื้อครั้งเดียว ผู้เชี่ยวชาญมักแนะนำให้มือใหม่ลงทุนด้วยวิธีนี้เพื่อลดโอกาสที่จะขาดทุนครั้งละมากๆ หากหุ้นที่ซื้อมีราคาปรับตัวลงอย่างรุนแรง

อย่างไรก็ตาม โลกนี้ไม่มีอะไรฟรี อย่าลืมว่าเมื่อหุ้นเป็นขาลงหนึ่งปีได้ หุ้นก็มีสิทธิ์เป็นขาขึ้นหนึ่งปีได้ด้วยเช่นกัน ดังนั้นวิธีนี้แม้จะทำให้โอกาสในการขาดทุนหนักๆ น้อยลง แต่ก็ทำให้โอกาสที่จะกำไรมากๆ ลดลงด้วย เพราะถ้าเราซื้อครั้งเดียวด้วยเงินทั้งหมด แล้วหุ้นเป็นขาขึ้น เราจะได้กำไรมากกว่าการทยอยซื้อ ด้วยเหตุนี้เมื่อพิจารณาทั้งโอกาสและความเสี่ยงแล้ว วิธี Dollar Cost Averaging จึงไม่ได้ให้ risk-adjusted return ที่แตกต่างไปจากการซื้อทั้งหมดในครั้งเดียว (investors are not better off)

ยิ่งในกรณีที่คุณเชื่อว่าหุ้นที่คุณจะซื้อมีโอกาสขึ้นมากกว่าลง เช่น (ขึ้น 70 ลง 30) คุณยิ่งไม่ควรใช้ Dollar Cost Averaging เข้าไปใหญ่เพราะกรณีเช่นนี้กลับทำให้ risk-adjusted return ต่ำลง (ยกเว้นคุณคิดว่าหุ้นที่จะซื้อมีโอกาสลงมากกว่าขึ้นอย่างนี้ DCA จะช่วยได้ แต่ผมว่าถ้าเราคิดว่ามันจะลง เราน่าจะอยู่เฉยๆ มากกว่านะครับ จะเสี่ยงซื้อไปทำไม)

สรุปก็คือ สำหรับนักลงทุนที่ไม่ค่อยมีความรู้เรื่องการลงทุน วิธี Dollar Cost Averaging จะไม่แตกต่างจากวิธีปกติ ส่วนนักลงทุนที่มีความรู้และพยายามเลือกซื้อหุ้นที่ตนเองคิดว่ามีโอกาสขึ้นมากกว่าลงเท่านั้น ไม่ควรใช้วิธีนี้เลยเพราะจะได้ risk-adjusted return ที่ต่ำกว่าเดิม

0006: กระจายความเสี่ยงให้เป็น

โบราณว่า “อย่าใส่ไข่ทั้งหมดไว้ในตะกร้าใบเดียว” คตินี้ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในแวดวงการลงทุน หมายความว่า เราไม่ควรลงเงินทั้งหมดไปกับหุ้นตัวใดตัวหนึ่งเพียงตัวเดียว

ประมาณยุคปี 70 ได้มีผู้ใช้คณิตศาสตร์พิสูจน์ว่าการซื้อหุ้นหลายๆ ตัวสามารถลดความเสี่ยงได้โดยไม่ทำให้ผลตอบแทนที่คาดหวังลดลงในสัดส่วนที่มากเท่า นายคนนี้มีชื่อว่า Harry Markovitz วิทยานิพนธ์ของนายคนนี้มีความยาวแค่ 16 หน้าเท่านั้น แต่ปฏิวัติวงการการเงินโดยสิ้นเชิง

อย่างไรก็ตาม มีนักลงทุนอาชีพจำนวนมากต่อต้านแนวคิดนี้และบอกว่าที่จริงแล้วเราอาจ ใส่ไข่ทั้งหมดลงในตะกร้าใบเดียวก็ได้ ถ้าเราพยายามถือตะกร้าใบนั้นไว้ให้ดีที่สุด หมายความว่า จะลงทุนอะไรนั้น สำคัญที่สุดก็คือเรารู้จริงในสิ่งที่เราลงทุนขนาดไหน ถ้าเรารู้จริง การกระจายความเสี่ยงแทบจะไม่มีความจำเป็นเลย

ผมจะไม่ขอถือหางข้างใดข้างหนึ่ง ทุกวันนี้ผมเชื่อว่าแนวการลงทุนทุกแนวล้วนแล้วแต่มีส่วนถูกทั้งนั้น ไม่มีวิธีไหนที่ถูกหมดหรือผิดหมด ของส่วนใหญ่ในโลกนี้มักเป็นสีเทามากกว่าที่จะเป็นสีขาวหรือสีดำไปเลย ดังนั้นในที่นี้ผมจึงไม่ขอแสดงความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้แต่ขอตั้งข้อสังเกตบางอย่างเกี่ยวกับการกระจายความเสี่ยงแทน ดังนี้

ผมเคยฟังรายการ Talk show เรื่องการลงทุนรายการหนึ่งในโทรทัศน์ พิธีกรถามผู้เชี่ยวชาญว่า ถ้าปีหน้าอัตราดอกเบี้ยจะมีความผันผวนมาก นักลงทุนควรรับมืออย่างไร ผู้เชี่ยวชาญตอบว่า นักลงทุนควรลงทุนแบบกระจายความเสี่ยง

คำตอบนี้เป็นคำตอบที่ฟังแล้วขัดหูผมยิ่งนัก เพราะเป็นคำตอบที่ผิด ที่ผมบอกว่าผิดไม่ใช่เพราะผมไม่เชื่อ Markovitz แต่ที่ผิดเพราะแม้แต่ Markovitz เองได้ฟังดังนี้ก็จะบอกว่าผิดด้วย อย่าลืมว่าอัตราดอกเบี้ยเป็น systematic risk คือเป็นความเสี่ยงของทั้งตลาด ความเสี่ยงของทั้งตลาดนั้นไม่สามารถถูกทำให้ลดลงได้ด้วยการกระจายความเสี่ยง การกระจายความเสี่ยงจะช่วยลดได้เฉพาะ unsystematic risk เท่านั้น ซึ่งหมายถึงความเสี่ยงเฉพาะของหุ้นแต่ละตัว เช่น สุขภาพของผู้บริหาร การที่โรงงานอยู่ใกล้โรงเก็บระเบิด โอกาสในการถูกผู้บริโภคฟ้องร้อง ฯลฯ

โดยส่วนตัวแล้ว ผมว่าการกระจายความเสี่ยงมีประโยชน์อยู่บ้างไม่มากก็น้อย แต่การลงทุนให้ประสบความสำเร็จนั้นไม่สามารถพึ่งการกระจายความเสี่ยงแต่เพียงอย่างเดียวได้ หุ้นทุกตัวที่เราซื้อจะต้องเป็นโอกาสในการลงทุนที่ดีในตัวของมันเองทุกตัวด้วยไม่ใช่สักแต่ว่าซื้อหุ้นบางตัวเพื่อต้องการให้พอร์ตของเรามีการกระจายความเสี่ยงเท่านั้น ผมถือคติว่า ถ้าคุณพบโอกาสที่ดีมากกว่าหนึ่งในตลาดหุ้น การมีหุ้นหลายตัวย่อมดีกว่าการมีหุ้นตัวเดียว แต่ถ้าคุณหาโอกาสที่ดีได้แค่โอกาสเดียว ผมขอแนะนำให้คุณถือหุ้นแค่ตัวเดียวนั่นแหละ พูดง่ายๆ ก็คือ คุณภาพของโอกาสต้องมาก่อน ส่วนการกระจายความเสี่ยงนั้นถ้าทำได้ก็ดี ทำไม่ได้ก็ไม่ต้องดันทุรัง จำไว้ว่าส้มเน่าลูกใหญ่หนึ่งลูก กับส้มเน่าลูกเล็ก 5 ลูก ไม่แตกต่างกันมากหรอกครับ