ค่า g หรืออัตราการเติบโตเป็นสมมติฐานที่สำคัญในการวัดมูลค่าหุ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งหุ้นเติบโต ค่า g ที่แตกต่างกันเพียงนิดเดียวอาจส่งผลต่อมูลค่าของหุ้นเติบโตที่วัดได้เป็นอย่างมาก ดังนั้นนักลงทุนควรใช้ความพยายามในการประมาณค่า g มากเป็นพิเศษเพื่อให้ได้ค่าที่มีความสมเหตุสมผลมากที่สุด
ค่า g ในช่วงปีแรกๆ ที่บริษัทยังมีการเติบโตสูงๆ อยู่ ต้องประมาณจากแผนการลงทุนของบริษัทเป็นสำคัญซึ่งแต่ละบริษัทย่อมแตกต่างกันไป เราควรพยายามหาข้อมูลเกี่ยวกับแผนการลงทุนของบริษัทให้ได้มากที่สุดเพื่อที่จะสามารถประเมินค่า g ในช่วงนี้ให้ได้ใกล้เคียงกับความเป็นจริงที่จะเกิดขึ้นมากที่สุด อย่างไรก็ตาม บ่อยครั้งเรามักต้องใส่การประเมินจากความเห็นส่วนตัวลงไปด้วย (as known as “นั่งเทียน”) เนื่องจากข้อมูลเหล่านี้ของบริษัทมักไม่ละเอียดพอ เช่น บางครั้งบริษัทอาจมีแผนงานที่ชัดเจนแค่ 3 ปีข้างหน้าเท่านั้น แต่เราทราบมาแล้วว่าธุรกิจอย่างเดียวกันกับของบริษัทในประเทศอื่นยังเติบโตในอัตราสูงได้อีกอย่างน้อย 10 ปี เช่นนี้เราก็จำเป็นต้องประมาณค่า g ในปีที่ 4-10 เอาเอง เพื่อให้ท่านนักลงทุนพอมีไอเดียว่าธุรกิจส่วนใหญ่มีความสามารถในการเติบโตในระดับใด ผมขอนำเสนอ EPS growth ต่อปี เฉลี่ย 10 ปี ของ Large Cap Stocks ในสหรัฐฯ จำนวนหนึ่งในยุคทศวรรษที่ 90 มาให้ดูพอเป็นไอเดีย
AT&T -5.77%
Amoco 9.92%
Atlantic Richfield 5.71%
BellSouth 10.29%
Bristol-Myers Squibb 9.58%
Chevron 10.10%
Coca-cola 5.61%
duPont 2.66%
GTE 8.16%
GE 12.31%
GM 0.72%
IBM 5.72%
Johnson&Johnson 14.93%
Eli&Lily 11.21%
Merck 14.56%
Mobil 5.44%
Pepsi 8.23%
Philip Morris 11.43%
P&G 8.26%
Walmart 17.76%
ผมเห็นบางท่านตั้งสมมติฐานว่าบางบริษัทจะเติบโตได้ 20% ต่อปีในช่วง 10 ปีข้างหน้า ผมอยากจะบอกว่านั่นเป็นสมมติฐานที่ทะเยอทะยานมากทีเดียว ถ้าจะให้บริษัทเติบโต 20% ต่อปีติดต่อกันสัก 2-3 ปีนั้นถือว่าไม่ผิดปกติ แต่ถ้าจะให้บริษัทเติบโตเฉลี่ย 20% ต่อปีติดต่อกัน 10 ปีนั้น ถือว่ามีโอกาสน้อยมากที่จะเป็นไปได้ จากตัวอย่างที่นำมาแสดงให้ดูมีแต่บริษัทยาและโมเดิรน์เทรดเท่านั้นที่โตเฉลี่ยเกิน 10% ได้ในช่วงเวลาสิบปี เพราะในช่วงยุคที่ 90 เป็นยุคที่นวัตกรรมด้าน biotech และโมเดิร์นเทรดกำลังมีการเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดด บริษัทเหล่านี้จึงสามารถ enjoy การเติบโตที่สูงกว่า 10% ติดต่อกันนานๆ ได้ มิฉะนั้นแล้ว ธุรกิจทั่วไปที่จะเติบโตได้เกิน 10% ติดต่อกันนานเป็นสิบปีนั้นนับว่าค่อนข้างยากทีเดียวครับ
ส่วนค่า g ในช่วงปีหลังๆ ที่บริษัทเข้าสู่จุดอิ่มตัวแล้วนั้นควรจะต่ำกว่าอัตราการเติบโตของ GDP ของเศรษฐกิจในระยะยาว (2.5-3.5%) เพราะค่า g นี้จะเป็นค่า g เฉลี่ยตลอดกาลจนสิ้นอายุขัยของบริษัท ดังนั้นถ้าค่านี้สูงกว่าอัตราการเติบโตของ GDP ในระยะยาว บริษัทจะโตจนกลืนโลกทั้งใบได้ในที่สุด ส่วนใหญ่แล้วเรานิยมให้ g ในช่วงนี้มีค่าเพียงเท่ากับอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยในระยะยาวเท่านั้น (2-2.5%)
ข้อคิดอีกอย่างหนึ่งที่อยากจะฝากเอาไว้ก็คือ ถ้าคุณเป็นนักลงทุนระยะยาวตัวจริง คุณควรใส่ใจกับการมองแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ของโลกมากกว่าที่จะสนใจแค่ EPS ในอีก 12 เดือนข้างหน้า ตัวอย่างเช่น ในทศวรรษที่ผ่านมาโมเดิร์นเทรดเป็นนวัตกรรมที่เปลี่ยนแปลงชีวิตความเป็นอยู่ของคนมากที่สุด หรือในยุคต่อไปกระแสโลกาภิวัฒน์จะส่งผลดีต่อหุ้นอะไรบ้าง เป็นต้น หุ้นของบริษัทที่จะได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่เหล่านี้มักจะเป็นหุ้นที่เหมาะสมที่สุดที่จะถือไว้เฉยๆ ได้ในระยะยาว อย่าพยายามมองหาหุ้นที่มีความมั่นคงสูงๆ เพื่อที่จะถือไว้ในระยะยาว เพราะที่จริงความผันผวนระหว่างทางกลับไม่ใช่ความเสี่ยงที่สำคัญเลยสำหรับการลงทุนระยะยาว หุ้นที่กำไรจะเติบโตได้ไกลที่สุดในระยะยาวต่างหากที่จะเหมาะกับการ buy-and-hold ในระยะยาว ส่วนใหญ่แล้วราคาของหุ้นเหล่านี้ก็มักผันผวนเสียด้วย
พี่สุมาอี้ครับ ค่า g นี้คือ eps เฉลี่ยในช่วงที่เราค้นหาได้ปะครับ
ในหนังสือ ศาสตร์แห่งบัฟเฟตต์ เขียนวิธีนี้นะครับ
แล้วที่หนังสือ วัดมูลค่าหุ้นด้วยต้นเองของพี่ที่วัดมูลค่าหุ้น mint ที่บอกว่า g เท่ากับ 20%
อันนี้นี้ใช้ไหมครับ หรือว่าค่า g คือเป้าหมายที่บริษัทตั้งเป้าหมายเอาไว้แบบที่เขียนในหนังสือครับ