0349: Guru Watchdog (Result)

สืบเนื่องจาก 0252: Guru Watchdog

Jim Rogers (Source 1 2 3 )

– ช่วงนี้ผมสะสมดอลลาร์เพิ่มขึ้น เพราะเห็นว่าทุกคนมองดอลลาร์ร้ายกันหมด แต่ก็ยังเป็นจำนวนที่น้อยกว่าเงินสกุลอื่นๆ ที่ผมถืออยู่ เพราะยังไงๆ ดอลลาร์ก็จะแย่ลงเรื่อยๆ ในระยะยาว ผมแค่อยากจะลองทำกำไรระยะสั้นเท่านั้น แต่ผมไม่ใช่คนเล่นสั้นที่เก่งเลย

[อันนี้ถือว่าถูก เพราะ USD Index ต้นปี 78 ขึ้นไปสูงสุด 88 ตอนนี้ 80ได้กำไรน้อยมาก แต่ก็ยังถือว่าไม่ทำให้ขาดทุน]

– ตอนนี้ ผมยังไม่ซื้อทองคำเพิ่ม เพราะผมถือทองคำอยู่แล้ว แต่จะไม่ขายมันด้วย ถ้าหากทองคำลงไปแตะต่ำกว่าพันเหรียญ ผมก็จะซื้อเพิ่มอีก เพราะภายในปี 2019 ทองคำจะต้องยืนเหนือระดับ $2, 000 ได้อย่างแน่นอน และนั่นไม่ใช่สมมติฐานที่มากเกินไปเลย

[อันนี้ไม่รู้เพราะผ่านไปแค่ปีเดียว]

– ปีหน้าเราอาจจะเห็นรัฐบาลของบางประเทศประสบปัญหาทางการเงินเพิ่มอีก อาจจะเป็น อาร์เจนติน่า ยูเครน หรือแม้แต่ UK ก็เป็นไปได้ ในช่วงสองสามปีนี้จะต้องมีวิกฤตการเงินอีกอย่างแน่นอน นอกเหนือจากทองคำแล้ว silver และเงินสกุลเอเชียบางประเทศก็น่าสนใจด้วย

[เรื่องรัฐบาลมีปัญหาถือว่าถูก แต่ผิดประเทศ เชียร์ silver และเงินเอเชีย ถูกต้อง อันนี้ยอดเยี่ยม]

– สินค้าเกษตรน่าสนใจมาก เพราะว่าราคาของมันตกต่ำมาเป็นทศวรรษแล้ว ผมว่ามันเป็นสินทรัพย์ที่ราคาถูกที่สุดในตอนนี้ เรากำลังจะมีวิกฤตอาหาร ตอนนี้ข้าวสร้าง all time high ได้แล้ว แต่น้ำตาลยังห่าง all time high อยู่มาก

[อันนี้ไม่รู้ว่าจะถือว่าถูกหรือผิดดี เพราะน้ำตาลระหว่างวิ่งร่วงลงแบบดิ่งนรก แต่ปลายปีกลับขึ้นมาสูงกว่าต้นปีแต่น้อยมาก]

– ช่วงนี้เป็นช่วงที่แปลกมาก เพราะผมไม่ได้ short อะไรเลย ผมหาไม่เจอว่ามีอะไรที่ราคาแพงมากๆ แต่ถ้าจะให้ short ผมคงเลือก US Government Bond

[อันนี้ก็ไม่รู้ว่าจะถือว่าถูกหรือผิดดี เพราะระหว่างปีตลาดบอนด์วิ่งแรง แต่ปลายปีกลับมาอยู่เกือบเท่ากับตอนต้นปีดีขึ้นน้อยมาก น่าจะถือว่าผิดนะ]

Marc Faber (Source)

Overall, 2010 will not be one for the record books, as 2009 was. He’s looking at a more normal 5%-10% rate of return for global investors. [ถือว่าเกือบถูก MSCI World Index +3.6% ปีนี้้]

Here are Faber’s views on other markets and asset classes:

Asia: “Longer term we’ll have still favorable growth, ” he says. He thinks India and Japan both offer opportunities. In his eyes, this view gained even more credibility after they were not mentioned once during the Barron’s round-table discussion.

[อันนี้ยังตอบไม่ได้ เพราะระยะยาว]

Bonds: The bull market in Treasuries that lasted from 1980-2008 is a thing of the past. Near term: after a dismal 2009 the bond market could be in for a rebound. Longer term: look for exit opportunities in Treasuries.

[ไม่รู้ เพราะระยะยาว]

Gold: Still a long-term buy.

[คำแนะนำที่ดี]

Oil: Prices in the $80s make sense since the marginal cost to find a barrel is about $70. Longer term he expects prices to continue rising as demand increases from the developing world.

[คำแนะนำที่ดี]

Agricultural commodities: In the short term, Faber’s favorite commodity is wheat. He advises against buying the wheat ETFs because they’re relatively expensive. Instead, play it through farm land or potash companies, he says. [คำแนะนำนี้ไม่มีประโยชน์อะไร WEAT แทบไม่เปลี่ยนแปลงตลอดปี]

โทมัส ตัน (ที่มา)

1. ทองคำ จะแตะระดับ 1500 เหรียญต่อออนซ์ในปี 2010 [ผิด] หรือหมายถึงขึ้นไปอีก 50% จากระดับปัจจุบัน ส่วนโลหะเงินก็จะตามกันไป แตะระดับ 25 เหรียญต่อออนซ์ [ถูก ตอนนี้ 29 อันนี้เยี่ยม] ส่วนดัชนีหุ้นเหมืองทองคำ HUI จะขึ้นผ่าน 600 เหรียญ [ผิด ตอนนี้ 559] ด้วย

2. ดัชนี USD index จะเหลือ 60 จุด [ผิด ตอนนี้ 80 ไม่เคยลงไปถึง 60 เลยด้วย]

3. ตลาดหมีใน S&P ที่รีบาวน์อยู่ในตอนนี้ จะขึ้นต่อได้อีกราว 7 เดือน จากเดือนมกราคมถึงกรกฎาคม [ผิด 7 เดือนแรกลงมากกว่า] แล้วหลังจากนั้น ตลาดจะต้องเผชิญกับหน้าผาสูงชันที่จะมาเขย่าขวัญอีกเป็นครั้งที่ 2 ซึ่งจะเกิดขึ้นตั้งแต่เดือนสิงหาคมไปจนถึงสิ้นปี [ผิด ปลายปีเป็นขาขึ้นชัดเจน]

4. หุ้น Citigroup จะลดลงเหลือต่ำกว่า 2 เหรียญอีกครั้ง [ผิด ตอนนี้ 4.6] (ปัจจุบัน 3.30 อดีตก่อนเกิดวิกฤติอยู่ที่เกิน 50)

5. ผลตอบแทนพันธบัตร 10 ปีของสหรัฐ จะเพิ่มขึ้น 2 เท่าจาก 1.5% ในปัจจุบันเป็น 3% ซึ่งนี่จะเป็นสิ่งที่สร้างความประหลาดใจครั้งใหญ่ [ถูก ตอนนี้ 3 กว่า]

6. การรีบาวน์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันของดัชนี S&P/Case-Schiller จะเกิดแค่ช่วงสั้นๆ ดัชนี Schiller จะร่วงลงมากกว่า 15% ในปี 2010 ต่ำกว่า 120 [ผิด ตลอดปีไม่มีแตะ 120 เลย ห่างไกลมาก]

7. หลังจากซื้อเวลาได้อีกครึ่งปี หุ้นอุตสาหกรรมส่วนบุคคล (PE) จะเผชิญแรงกดดันในปี 2010 โดยเฉพาะในครึ่งปีหลัง

8. จีนจะยังคงอัตราการเติบโตราว 9% ในปี 2010 [ถือว่าถูก]

9. เงินเฟ้อจะแตะระดับ 10% วัดจากฐาน CPI [ผิด]

10. น้ำมันจะแตะระดับ 3 หลัก (100 เหรียญ) อีกครั้งในปี 2010 [ผิด] ราคาปัจจุบันราว 70 เหรียญ

หมอไพศาล

สำหรับภาวะเศรษฐกิจ การเมือง และตลาดหุ้นในปี 2553 หมอไพศาล พยากรณ์ให้ฟังว่า ในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2553 “ตลาดหุ้นจะไม่ดีอย่างแรง” โอกาสปรับตัวลงมาอยู่ระดับ 400 จุดอาจมีให้เห็นได้ [ผิด] ช่วงนี้เหมาะสมมากที่นักลงทุนจะหาจังหวะช้อนหุ้นที่ชื่นชอบเก็บเอาไว้โดย เฉพาะกลุ่มพลังงาน ถ่านหิน และวัสดุก่อสร้าง เป็นต้น เนื่องจากพระราหูย้ายเข้ามาอยู่ในราศีธนู ซึ่งบ่งบอกว่าธุรกิจประเภทดังกล่าวจะรุ่งเรืองมาก

หลังจากนั้นตั้งแต่ในเดือนมีนาคม-มิถุนายน 2553 ตลาดหุ้นจะมีอาการ “ทรงตัว” [ผิด เจอวิกฤตช่วงเมษา] ก่อนจะทะยานขึ้นไปสู่ “จุดสูงสุด” ในระหว่างเดือนกันยายน – ธันวาคม 2553 [ถูก] ซึ่งมีโอกาสจะทะลุ 700 จุดหรือ 800 จุดได้ ในแง่ของเศรษฐกิจในปี 2553 ก็จะดีขึ้นเรื่อยๆ ส่วนราคาทองคำมีโอกาสทะลุ 20, 000 บาท ใครมีเงินซื้อทองคำ (แท่ง) เก็บเอาไว้ได้กำไรแน่นอน [ถือว่าถูก]


0352: ลงทุนในตลาดฟองสบู่

เวลานี้ได้ยินคำถามบ่อยว่า ตลาดหุ้นฟองสบู่หรือยัง ควรขายทิ้งหรือไม่

เรื่องนี้ก็แล้วใครจะมอง แต่โดยส่วนตัว ผมมองว่าตลาดหุ้นตอนนี้มีโอกาสที่จะเป็นฟองสบู่แล้วสูงมาก

เพราะอัตราดอกเบี้ยถูกเซ็ตให้ต่ำผิดปกติมาเป็นเวลานานพอสมควรแล้ว ต่อให้เวลานี้ยังไม่ใช่ฟองสบู่ แต่ถ้าดอกเบี้ยยังเป็นแบบนี้ต่อไป ตลาดหุ้นก็จะเข้าสู่ภาวะฟองสบู่ในที่สุด เพราะต้นทุนของเงินถูกบิดเบือนให้ต่ำกว่าความเป็นจริงไปมาก

หุ้นสองตัวที่มีกระแสเงินสดที่คาดการณ์ในอนาคตเหมือนกันทุกประการ ถ้าดอกเบี้ยในตลาดต่ำกว่าครึ่งหนึ่ง มูลค่าที่เหมาะสมของมันจะเพิ่มขึ้นได้มากกว่าเท่าตัว ทั้งที่ตัวธุรกิจเหมือนเดิมทุกอย่าง พรีเมี่ยมที่เกิดขึ้นนี้มาจากการที่ต้นทุนเงินในตลาดต่ำลงอย่างเดียว ไม่เกีี่ยวอะไรกับบริษัทเลย

บอกคนบอกว่าถ้าตลาดหุ้นเป็นฟองสบู่แล้วก็ควรล้างพอร์ตทิ้งเลย แ ต่การที่ตลาดเป็นฟองสบู่นั้นก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะต้องแตกเสมอไป มันอาจแตกวันพรุ่งนี้เลย หรือมันอาจขึ้นไปอีกสามเท่าตัวแล้วค่อยแตกในอีกแปดปีต่อมาก็เป็นไปได้ ฟองสบู่ปี 40 หรือฟองสบู่แนสเด็กนั้นกว่าจะแตกก็ต้องใช้เวลา 6-7 ปี  นั่นคือความยากของการทำนายว่าเมื่อไรฟองสบู่จะแตก หรือใครจะรู้ว่าอัตราดอกเบี้ยที่เราว่าต่ำเกินไปนั้น อาจกำลังกลายมาเป็นระดับที่ปกติของโลกในยุคต่อไปก็ได้ ถ้าคิดว่าหุ้นแพงเมื่อไรก็ขายหุ้น แล้วหุ้นมันดันไม่ถูกลงอีกเลยนานนับสิบปี ทำให้เราเสียเวลาในการลงทุนไปเป็นสิบปี ก็ถือว่าเป็นความสูญเสียอีกรูปแบบหนึ่งเหมือนกัน

ในเมื่อเราไม่ได้เก่งขนาดที่จะทายได้ว่าฟองสบู่จะแตกเมื่อไร (ผมว่าเป็นเรื่องที่ทายได้ยากมาก) หรือรู้ล่วงหน้าว่าแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยในช่วงสิบปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ผมจึงไม่เห็นด้วยที่จะล้างพอร์ตในเวลานี้ต่อให้คิดว่าตลาดหุ้นเป็นฟองสบู่แล้วก็ตามครับ

มีคนอีกด้านหนึ่งเหมือนกันที่คิดไปถึงขนาดที่ว่าดอลล่าร์จะล่มสลาย แล้วทองคำ น้ำมัน รวมทั้งเงินเอเชียจะพุ่งทะยานยิ่งกว่านี้อีก และเอเชียจะก้าวขึ้นมายิ่งใหญ่ เพราะฉะนั้นต้องลงทุนให้เต็มอัตราศึก แต่ผมก็ไม่ได้มั่นใจถึงขนาดนั้นด้วยเช่นกัน ผมว่าปรากฏการณ์ความไม่สมดุลของโลกในเวลานี้เป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ตัวแปรที่เกี่ยวข้องก็เยอะมาก ไม่มีใครที่รู้จริงขนาดที่จะฟันธงได้ว่าจะต้องเกิดอย่างนั้นอย่างนี้ในที่สุด

ในภาวะแบบนี้ผมเลือกที่จะยังอยู่ในตลาดหุ้นต่อไป เพราะไม่อยากเสียโอกาสในการลงทุน แต่ในเวลาเดียวกันก็ตระหนักว่าหุ้นก็ไม่ได้ถูกแล้วและโอกาสที่ฟองสบู่จะแตกก็มีได้ด้วย จึงจำเป็นต้องมีวิธีคิดบางอย่างที่ช่วยป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายที่รุนแรงได้ด้วย

อย่างแรกก็คือ ผมมองว่าเงินของเราที่อยู่ในตลาดหุ้นอยู่แล้วเวลานี้ เรากำไรมาแล้วพอสมควร ตลาดหุ้นในช่วงสองปีที่ผ่านมาขึ้นมาไม่ใช่น่้อยๆ ดังนั้น ถ้าหากเงินจำนวนนี้จะอยู่ในตลาดต่อไป ไม่ว่าจะเป็นการถือตัวเดิม หรือเปลี่ยนตัวก็ตาม แล้วฟองสบู่แตกจริงๆ เราก็ไม่ได้เสียหายมากนัก เพราะเงินจำนวนนี้เป็นส่วนของกำไรอยู่ไม่ใช่น้อย แต่ถ้าหากเราขายหุ้นส่วนนี้ออกมาถือเป็นเงินสดแทน แล้วตลาดหุ้นเกิดทะยานต่ออย่างมากมายแบบที่มีบางคนเขาทายไว้อย่างนั้นได้จริง เราก็จะพลาดกำไรไปไม่น้อยเลย ฉะนั้นเงินส่วนนี้จึงมี upside สูง แต่ downside ต่ำ ถือเป็นโอกาสของเราที่จะ bet ต่อ จะถือตัวเดิมต่อ หรือมองหาตัวใหม่ก็ได้ไม่ต่างกัน หมุนไปหมุนมาอยู่ในหุ้นเหมือนเดิม

แต่ถ้าหากเป็นเงินก้อนใหม่ที่จะใส่เพิ่มเข้าไปอีกเพื่อเพิ่ม exposure ของเราในตลาดหุ้น อันนี้ผมจะคิดหนักหน่อย ถ้าไม่แน่ใจจริงๆ ว่าราคาที่เข้าซื้อไม่แพง ก็ถือว่าเสี่ยง คนที่เจ๊งในตลาดฟองสบู่ส่วนมากจะเจ๊งกันก็เพราะแบบนี้ เช่น ตอนแรกลงทุนไปแสนบาท ตลาดหุ้นพุ่งขึ้นไปเท่าตัวกลายเป็นสองแสนบาทดีใจใหญ่ คิดว่าตลาดหุ้นให้ผลตอบแทนที่ดีเหลือเกิน ก็เลยเอาเงินใส่เข้าไปเพิ่มอีก ห้าแสน กลายเป็นต้นทุนสี่แสน พอตลาดขึ้นต่ออีก 50% ดีใจใหญ่เลยหาเงินใหม่มาใส่เพิ่มอีกหนึ่งล้าน กลายเป็นว่ายิ่งต้นทุนสูงเรายิ่งมีน้ำหนักหุ้นมาก ซึ่งที่ถูกต้องควรจะเป็นตรงกันข้าม แบบนี้พอฟองสบู่แตกจะเสียหายหนักมาก แบบที่ร้ายที่สุดคือ ตอนฟองสบู่แตกแล้วคิดว่าหุ้นถูกลง (แต่ลืมไปว่าราคาเดิมคือราคาที่แพงมาก) ก็เลยทุ่มเงินใหม่ใส่เข้าไปอีกหลายเท่าตัว แทนที่จะเสียหายแค่นิดเดียวเลยกลายเป็นแทบหมดตัว เรื่องการคิดถึงน้ำหนักของแต่ละต้นทุนที่มีอยู่นี้เป็นสิ่งที่นักลงทุนหลายคนไม่เคยมองในมุมนี้มาก่อนเลย ทำให้พลาดเอาง่ายๆ ได้

อย่างไรก็ตาม บางคนอาจโชคไม่ดีตรงที่ตอนที่หุ้นถูกๆ ไม่ได้ถือหุ้นไว้มาก แบบนี้ก็อดใจได้ยากเหมือนกัน ที่จะไม่เพิ่มน้ำหนักหุ้นเข้าไปอีก ถ้าใครอยากเติมเงินเข้าไปในตลาดหุ้นอีก จริงๆ ก็ทำได้ครับ (ถ้าเป็นนักลงทุนที่เคร่งครัดจริงๆ คงไม่ทำเด็ดขาดถ้าเห็นว่าหุ้นแพงแล้ว แต่ผมว่า การอนุรักษ์นิยมมากเกินไปบางทีก็เป็นความเสี่ยงอย่างหนึ่งเหมือนกัน คือเราก็อาจเสียโอกาสที่จะให้เงินทำงานด้วย เอาเป็นว่า คำแนะนำของผมเป็นแบบที่อยู่ตรงกลางๆ ไม่ใช่นักลงทุนแบบเคร่งครัดสุดโต่งนะครับ) แต่จะต้องเอาเทคนิคในการลดความเสี่ยงของพวกเทรดเดอร์มาใช้ นั่นคือ เราอาจตั้งกฏเอาไว้ว่า เงินก้อนนี้หาลงไปแล้ว ตลาดหุ้น crash เราจะยอมขาดทุนแค่ไม่เกิน x% เกินเมื่อไรเราจะยอมขายขาดทุนเสมอ เพื่อลดความเสี่ยงที่จะขาดทุนมากๆ แบบนี้ถ้าตลาดหุ้นไปต่อเราก็ไม่เสียโอกาส แต่ถ้าฟองสบู่แตกเราก็ขาดทุนแค่ระดับหนึ่งเท่านั้น อย่างไรก็ตาม วิธีนี้ต้องอาศัยวินัยการลงทุนที่เคร่งครัดด้วยนะครับ เพราะถ้าถึงเวลาจริงๆ กลับไม่กล้าขายขาดทุนออกมาตามที่ได้ตั้งใจเอาไว้ เพราะทำใจไม่ได้ ก็ไม่มีประโยชน์ ลดความเสี่ยงไม่ได้เลย

เอาเป็นว่าทั้งหมดนี้เป็นเทคนิคเล็กๆ น้อยๆ ที่จะนำไปประยุกต์ใช้กันได้กับการลงทุนในตลาดหุ้นที่ช่วงเวลาที่เราคิดว่ามันอาจเป็นฟองสบู่

มีนักลงทุนบางท่านอยากให้ผมสรุปให้ฟังว่าเราจะสังเกตวิกฤตได้อย่างไรบ้าง จะได้คาดการณ์วิกฤตล่วงหน้าได้ทัน แต่ผมอยากบอกว่านั่นไม่ใช่วิธีลงทุนที่ดีนัก เพราะการทายว่าจะมีวิกฤตไม่ใช่เรื่องกล้วยๆ วิธีการที่น่าจะดีกว่าสำหรับนักลงทุนส่วนใหญ่คือการคิดว่า ถ้าออกหัวควรจะทำอย่างไร ถ้าออกกล้วยควรจะทำอย่างไร เรามีแผนการรับมือทุกสถานการณ์ไว้แล้วย่อมทำให้ตัวเองหลีกพ้นจากหายนะได้ ดีกว่าพยายามทายให้ได้ว่าจะอนาคตจะเป็นไง แล้วพอมันไม่ได้เป็นแบบนั้นปุ๊บก็ไปไม่ถูกเลย

0345: ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล

จุดอ่อนอย่างหนึ่งของตลาดหุ้นบ้านเราคือ บ้านเราไม่ใช่สังคมแบบทุนนิยม บริษัทจำนวนมากจึงไม่อยู่ในโหมดของการแสวงหาการเติบโตแบบต่อเนื่อง ทำให้หาหุ้นเติบโตที่จะลงทุนในระยะยาวได้ยาก พวกที่บอกว่าจะโตเยอะๆ ก็มักเป็นพวกหน้าใหม่ ต้นทุนทางสังคมต่ำ ลงทุนระยะยาวแล้วเสียวมาก เพราะที่ปรากฏว่าโตได้ปีเดียวแล้ว แต่หลังจากนั้นก็ขาดทุนหนักมีเยอะ พวกที่มีฐานธุรกิจที่มั่นคงแล้วก็มักไม่อยู่ในโหมดของการเติบโตแล้ว จะหาแบบที่พื้นฐานดีๆ และในเวลาเดียวกันก็โตไปเรื่อยๆ ด้วย (best of both worlds) ยาก ต้องเฟ้นกันหนัก

ผมว่านี่คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผมเริ่มสนใจบริษัทนี้ เพราะไมเนอร์เป็นหนึ่งในบริษัทที่มีฐานธุรกิจที่ค่อนข้างมั่นคงแล้ว แต่ก็ยังมี “สัญญาใจ” กับผู้ถือหุ้นที่จะเติบโตต่อไปเรื่อยๆ ให้ได้ปีละ 20% โดยไม่มีวันหยุด (ระบุไว้ในวิสัยทัศน์ของบริษัทด้วย) มันจึงเป็น candidate ของ 7LTG ที่น่าสนใจมาก การลงทุนในบริษัทที่ยังต้องพึ่งพาตลาดทุนในการขยายธุรกิจอยู่เสมอ ยังมีข้อดีอีกตรงที่บริษัทยังต้องแคร์ความรู้สึกของผู้ถือหุ้นอยู่ ถามอะไรก็รีบตอบ ตีหัวเข้าบ้านยังไม่ได้ ต่างกับบริษัทที่ธุรกิจอิ่มตัวแล้ว พึ่งตัวเองในเรื่องเงินทุนได้ อาจมองผู้ถือหุ้นเป็นแค่ยุงรำคาญที่รอแต่จะเอาเงินปันผลจากบริษัท

แต่ก็ไม่ได้แปลว่าแค่มีสัญญาใจว่าจะโตไปเรื่อยๆ แล้วจะทำให้ผมตัดสินใจลงทุนได้ บริษัทต้องมี Growth Strategy ที่มีความเป็นไปได้ด้วย นอกเหนือจากประวัติศาสตร์อันยาวนานของบริษัท

รายได้กว่าครึ่งของไมเนอร์นั้นมาจากการทำธุรกิจเชนร้านอาหารตามห้างฯ ตัวอย่างเช่น Burger King, DQ, Swensens, Sizzler, The Pizza Company เป็นต้น ธุรกิจแบบนี้โตไปเรื่อยๆ ได้ไม่ยาก เพราะมีการขยายสาขาเพิ่มขึ้นทุกปี ตามการขยายตัวของห้างฯ แรกๆ ก็ต้องลงทุนขยายสาขาเองก่อนซึ่งจะใช้เงินทุนมากหน่อย เมื่อแ่บรนด์ไหนติดตลาดแล้วก็จึงสามารถขาย Franchise เพื่อให้การขยายสาขาไม่ต้องใช้เงินลงทุนเยอะมากได้ นับเป็นการเอา intellectual property ที่สร้างมาในช่วงแรกมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในภายหลัง ทำเช่นนี้ไปเรื่อยๆ นอกจากนี้บริษัทยังมีการขยายสาขาไปต่างประเทศ โดยวิธีเข้าไปถือหุ้นแบรนด์ที่เห็นว่ามีศักยภาพ เช่น the Coffee Club (Australia), Thai Express (Singapore) แล้วเติบโตไปกับเขา เป็นต้น เหตุที่การขยายธุรกิจไปต่างประเทศควรใช้วิธีนี้เพราะในต่างประเทศแบรนด์สากลก็มักจะมีคนอื่นถือสิทธิ์อยู่แล้ว เลยต้องโตไปกับ local brand ของประเทศนั้นๆ ที่เห็นว่ามีศักยภาพแทน

ปัจจุบันบริษัทมีแล้ว 1133 ร้านสาขา (เป็น Franchise 39%) เทียบกับเมื่อ 8 ปีที่แล้วที่มีแค่ 354 สาขาและเป็นร้านของตัวเองเกือบทั้งหมด การที่สาขาเป็นแบบ Franchise มากขึ้นย่อมแสดงถึง intellectual property ที่เพิ่มขึ้นของบริษัท ภายในปี 2015 บริษัทจะมีให้ได้ 2174 สาขา และเป็น Franchise ให้ถึง 64% ให้ได้ ธุรกิจอาหารเป็นส่วนที่ผมชอบที่สุดของไมเนอร์ เพราะที่ผ่านมาสามารถสร้างการเติบโตได้อย่างสม่ำเสมอ และเราเห็นได้ชัดเจนว่าเขาทำตลาดได้เก่งกว่าคู่แข่งของเขาเป็นส่วนใหญ่ (Pizza Hut, Baskin Robbins, etc.) จะแย่หน่อยตรงที่ต่างประเทศเวลานี้ยังแย่อยู่ เช่น The Pizza Company ที่จีน ทุกวันนี้ยังขาดทุนอยู่, Thai Express ยังหดตัว เป็นต้น แต่ผมก็มองว่า ถ้าให้เวลาบริษัทแก้ปัญหาสักพักต้องดีขึ้น เหมือนอย่างสมัยก่อนตอนที่เขาเริ่มทำตลาด Pizza Hut ใหม่ๆ เขาต้องใช้เวลาอยู่นานหลายปีกว่าจะประสบความสำเร็จเหมือนอย่างเช่นทุกวันนี้ ส่วนการซื้อแบรนด์ต่างประเทศที่ผ่านมาแม้จะดูเหมือนเป็นแบรนด์ที่ยังไม่ค่อยเวิร์คเท่าไร แต่ผมก็มองว่านั่นคือกลยุทธ์ที่ถูกต้อง เพราะคุณควรซื้อแบรนด์ที่ยัง mismanaged อยู่แล้วเอา know-how ของคุณเข้าไปปรับปรุงเพื่อ unlock value ออกมา มากกว่าที่จะซื้อแบรนด์ที่สมบูรณ์แบบอยู่แล้วตั้งแต่แรกด้วยราคาแพงๆ

ธุรกิจอีกส่วนของไมเนอร์คือ ธุรกิจโรงแรม ซึ่งมีอยู่หลายแบรนด์เช่นกัน เช่น Anantara, Four Seasons, JW Marriott เป็นต้น โมเดลเติบโตก็เป็นแบบเดียวกันเปี๊ยบคือขยายสาขาไปเรื่อยๆ แต่ต่างกันตรงที่ ธุรกิจโรงแรมนั้นลงทุนเริ่มต้นสูงกว่ามาก แต่กลับคืนทุนได้ช้ากว่า สรุปก็คือ ห่วยกว่าธุรกิจอาหารนั่นเอง เพราะโรงแรมเป็นธุรกิจที่เข้ามาได้ง่ายมาก ลองนึกดูสิว่าแต่ละปีมีโรงแรมใหม่ๆ เกิดขึ้นมากขนาดไหน ฉะนั้นต่อให้เป็นโรงแรมหรูๆ ก็ยังคาดหวัง IRR ไ้ด้แค่ระดับสิบกว่าเปอร์เซนต์เท่านั้น อีกทั้งโรงแรมยังเป็นธุรกิจที่อ่อนไหวต่อ consumer sentiment อย่างมากอีกต่างหาก ช่วงสองปีที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากปัญหาการเมืองอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตามบริษัทก็พยายามใช้โมเดลรับจ้างบริหารแทนการลงทุนสร้างโรงแรมเอง เพื่อช่วยลดเงินลงทุน (asset-light strategy) และเพิ่ม ROI แต่วิธีนี้ก็มีจุดอ่อนตรงที่ตัวเลขรายได้ที่เข้ามาจะค่อนข้างเล็ก ทำให้สร้างการเติบโตแบบเป็นกอบเป็นกำตามเป้าไม่ได้ บริษัทจึงยังต้องเน้นการสร้างโรงแรมเองควบคู่ไปกับการรับจ้างบริหารต่อไป ธุรกิจโรงแรมของบริษัทเป็นส่วนที่ผมไม่ค่อยชอบเอาเสียเลย แม้ว่า EBITDA จะดูสูงกว่าอาหาร แต่ที่จริงแล้วก็เป็นเรื่องหลอกตา เพราะว่า CAPEX ของมันสูงมาก ผมว่าที่บริษัททำธุรกิจนี้ส่วนหนึ่งมาจาก passion ส่วนตัวของเจ้าของเองด้วยจึงเป็นเรื่องที่มีอารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้องมากกว่าแค่เหตุผลทางธุรกิจ

ช่วงหลังบริษัทพบว่าการทำ Residence แบบขายขาด จะให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าการทำเป็นโรงแรม (แม้ว่าจะเป็นรายได้ที่ขึ้นๆ ลงๆ) บริษัทจึงหันมาทำ Property เสริมด้วยอีกส่วนหนึ่งในนาม St.Regis ขายขาดยูนิตละ 70-200 ล้านบาท ก็เลยเพิ่มมาอีกสายธุรกิจหนึ่ง ในอนาคตบริษัทก็ยังคิดทำ Timeshare เพื่อช่วยดึง Occupancy Rate ให้ stable ขึ้น (at the expense of room rate) เรื่องการเติบโตด้วย room rate นั้นในกรุงเทพตอนนี้หวังยากเพราะ oversupply การแข่งขันรุนแรงราคามาก ที่หวังขึ้นได้บ้างก็คงเป็นส่วนของต่างจังหวัดและต่างประเทศมากกว่า เวลานี้บริษัทเริ่มมองลูกค้าจีน อินเดีย ตะวันออกกลาง ที่มีกำลังสูง เพื่อมาทดแทนลูกค้ายุโรปที่กำลังซื้อตกลงไปจากวิกฤต ในอนาคตบริษัทกำลังพิจารณาขายโรงแรมในพอร์ตบางส่วนที่เห็นว่ามี market value สูงกว่า book value มากๆ เพื่อเป็นการ unlock value ในส่วนที่ตลาดหุ้นไม่ได้ให้พรีเมี่ยมด้วย

จะเห็นว่าแม้ธุรกิจโรงแรมจะมีปัญหาต่อเนื่องแต่ บริษัทก็พยายามหาทางแก้ไขตลอด และ occupancy rate ของบริษัทนั้นสูงกว่าระดับเฉลี่ยของอุตสาหกรรมตลอด แสดงว่าพอร์ตของบริษัทค่อนข้างดีกว่าคู่แข่ง ทำให้บริษัทก็ยังคงมีกำไรได้แม้ในช่วงที่ยากลำบากที่สุด ซึ่งคู่แข่งล้วนติดตัวแดงกันไปหมดแล้ว เลยพอจะให้อภัยในส่วนนี้ได้

ปัจจุบันบริษัทมีห้องพักรวม 3655 ห้อง เป็นรับจ้างบริหาร 18% เทียบกับแปดปีก่อนที่ี 2055 ห้องลงทุนเองหมด ภายในปี 2015 บริษัทจะมีให้ได้ 5791 ห้อง และเป็นรับจ้างบริหารให้ได้ถึง 40% (ผมว่า aggressive ไปนิด)

ธุรกิจส่วนสุดท้ายคือร้านเสื้อผ้าแบรนด์เนม เช่น GAP, Esprit, Bossini เป็นต้น ธุรกิจส่วนนี้ยังขาดทุนอยู่ แต่เป็นสัดส่วนที่เล็กจึงไม่น่ากลัวเท่าไร และผมก็มองว่า ในอนาคตน่าจะดีขึ้น เพราะคนไทยน่าจะมีความเป็นอยู่สูงขึ้น ค่าเงินบาทก็แข็ง ธุรกิจแบบนี้จึงน่าจะได้ประโยชน์ในอนาคตอันใกล้นี้นะครับ

ช่วงสองปีที่ผ่านมา บริษัทโดนมรสุมอย่างหนักทั้งวิกฤตการเมืองและเศรษฐกิจ ซึ่งกระทบธุรกิจของบริษัทโดยตรงแทบทุกสายธุรกิจ จึงไม่สามารถเติบโต 20% ได้ตามสัญญา ต่างกับแต่ก่อนนี้ที่บริษัทเติบโตได้ 20% ทุกปี ติดต่อกัน 6-7 ปีเลยทีเดียว (ไม่รู้ทำไม พอเราเริ่มสนใจทีไร มันต้องเริ่มไ่ม่ดีพอดีทุกที) เท่าที่ทราบมา ไตรมาส 4/53 ที่จะถึงนี้ ก็จะยังไม่ดีขึ้น เพราะถ้าคำนวณจากยอดจองห้องพักที่เข้ามาตอนนี้แล้วเทียบกับปีก่อน บริษัทคาดว่า occupancy rate ปลายปีน่าจะแค่เท่าๆ กับปีที่แล้วเท่านั้น ถัดจากนี้ไป ผมก็ยังไม่คิดว่าปัญหาการเมืองบ้านเราจะจบ มันแค่หยุดไปพักหนึ่งเท่านั้น ดังนั้นการจะหวังว่าบริษัทจะดีขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้คงจะยังหวังมากไม่ได้ อีกสักพักก็คงกลับมาใหม่

แต่ผมยังไงผมก็ยังเชื่อว่า ที่สุดแล้ว บริษัทนี้จะสามารถบรรลุเป้าหมายในระยะยาวได้ (แต่คงเป็นแบบ bumpy ไปตลอดทาง) บริษัทตั้งเป้าจะมีรายได้จากต่างประเทศเพิ่มขึ้นให้ได้อย่างน้อยเป็น 40% ภายในปี 2015 นั่นจะช่วยให้ผลประกอบการของบริษัทไม่ต้องผูกอยู่กับประเทศไทยประเทศเดียวเหมือนอย่างเดิม ในระยะยาวกำไรน่าจะเสถียรขึ้นได้ และผมก็มองว่า ในอนาคต บริษัทไทยที่จะยิ่งใหญ่ต่อไปได้ จะต้องก้าวขึ้นมาเป็นผู้เล่นระดับภูมิภาคให้ได้ การที่บริษัทเริ่มไปต่างประเทศตั้งแต่วันนี้ น่าจะช่วยให้บริษัทเป็นหนึ่งในผู้ยิ่งใหญ่ในอนาคตต่อไปได้ด้วยครับ และการที่บริษัทยังคงมีการลงทุนอย่างต่อเนื่องยังทำให้เมื่อไรก็ตามที่การเมืองนิ่งๆ ได้สักพักใหญ่ๆ สิ่งที่บริษัทได้สร้างเอาไว้ตลอดสองปีก็จะมีโอกาสได้ฉายประกายออกมาด้วยครับ ที่จริงแล้วบริษัทเคยเจอมรสุมที่หนักกว่าสองปีนี้มากตอนที่ไม่ได้ต่อสัญญา Pizza Hut กับทาง Yum ตอนนั้นใครๆ ก็คิดว่าบริษัทนี้คงหมดทุกอย่างแล้ว แต่ปรากฏว่ากลับการเป็นแรงผลักดันให้บริษัทฮึดกลับขึ้นมาใหม่จนยิ่งใหญ่กว่าเดิมมาก สองปีนี้จึงถือว่าเด็กๆ ครับ บริษัทที่มีทัศนคติที่ดียังไงก็ต้องกลับมาดีได้ครับ

สรุปแล้ว แม้ว่าดูเหมือนจะยังไม่มีอะไรดีขึ้นเลยเร็วๆ นี้ แต่ยังมองว่าในระยะยาวบริษัทนี้ต้องยิ่งใหญ่กว่าในปัจจุบันอย่างมากแน่นอน เหมือนกับที่ทุกวันนี้บริษัทยิ่งใหญ่กว่าเมื่อแปดปีก่อนมาก เพราะเป็นบริษัทที่มีการแก้ปัญหาอยู่ตลอดเวลา ผมจึงยังมีความมั่นใจในอนาคตระยะยาวของบริษัทนี้อยู่ เลยตัดสินใจให้บริษัทนี้ยังได้ไปต่อใน 7LTG นะครับ แต่ถ้าจะให้เกรดคงให้แค่ B+

คำเตือน : บทวิจารณ์นี้เป็นแค่การมองภาพใหญ่ของบริษัทในระยะยาวเท่านั้น ไม่เกี่ยวข้องกับทิศทางของผลประกอบการระยะสั้นของบริษัทเลยแม้แต่น้อย ผู้อ่านจึงไม่อาจนำมาใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุนในระยะสั้นได้เลย (7LTG สนใจแต่ภาพใหญ่ในระยะยาวของบริษัทที่จะลงทุนเท่านั้น) อีกทั้งข้อมูลที่ใช้วิเคราะห์เป็นข้อมูลที่หาได้ในช่วงที่เขียนบทวิจารณ์เท่านั้น ในอนาคตปัจจัยต่างๆ อาจเปลี่ยนแปลงไปได้อีก จึงไม่อาตยึดถือได้ตลอดไป

0306: บิล มิลเลอร์

บิล มิลเลอร์ ผู้จัดการกองทุน Value Trust แห่ง Legg Mason Capital Management ถือเป็นผู้จัดการกองทุนคนเดียวที่สามารถเอาชนะดัชนี S&P500 ได้ติดต่อกันยาวนานที่สุดคือ 15 ปี (เขาเพิ่งจะเสียสถิติไปเมื่อปี 2006) แม้ว่าเขาจะได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนน้อยลงมากหลังจากที่เขาเสียสถิติไปแล้วและผลงานของเขาหลังจากนั้นก็ยังคงดูไม่ค่อยดีนัก แต่วิธีคิดของผู้จัดการกองทุนคนเดียวที่เคยชนะตลาดติดต่อกัน 15 ปีได้ นับว่าเป็นเรื่องที่น่าศึกษาเป็นอย่างยิ่ง (เนื้อหาต่อจากนี้ไปมีบางส่วนเป็นความเห็นต่าง ซึ่งอาจก่อให้เกิดความขัดแย้งกับความเชื่อที่มีอยู่เดิมของผู้อ่านได้ หากไม่ต้องการอ่านต่อ กรุณาคลิก ที่นี่ )  

บิล มีประวัติที่แปลกกว่าผู้จัดการกองทุนทั่วไป เขาไม่ได้เรียนมาทางการเงินเลย แต่เขาจบปริญญาเอกทางด้านปรัชญา ซึ่งเขาบอกว่า วิธีคิดแบบปรัชญามีอิทธิพลต่อวิธีการมองตลาดทุนของเขาอย่างมาก

เดิมที บิลไม่ได้ทำงานด้านการเงิน แต่เขาต้องไปรับส่งภรรยาของเขา ซึ่งทำงานอยู่ที่ Legg Mason ทุกวัน เขาจึงชอบไปนั่งอ่านหนังสือในห้องสมุดของบริษัท เมื่อประธานบริษัทเห็นเขาเป็นประจำก็เกิดความสนใจว่าทำไมคนนี้จึงชอบใช้ห้องสมุดทางการเงินที่เขาอุตส่าห์สร้างขึ้นมาเพื่อหวังให้พนักงานบริษัทอ่านหนังสือมากๆ เพื่อเพิ่มพูนความรู้ แต่กลับไม่ค่อยมีพนักงานของบริษัทมานั่งอ่าน เมื่อได้คุยกัน ก็ถูกใจในความคิดความอ่านจึงได้ชวนบิลมาทำงาน แล้วชีวิตของบิลก็เดินเข้าสู่วงการการเงินนับแต่นั้น จนกลายมาเป็นผู้จัดการกองทุน ที่มีชือเสียงระดับตำนานในเวลาต่อมา

บิล บริหารกองทุน Value Trust ซึ่งเขาบอกว่าเป็นกองทุนที่ยึดหลัก Value Investment แต่เขามักถูกวิพากษ์วิจารณ์อยู่เสมอว่าไม่ได้ใช้หลักการดังกล่าวจริงๆ เนื่องจากหุ้นส่วนใหญ่ในพอร์ตเป็นหุ้นที่ตลาดมองว่าเป็น Growth Stocks เป็นส่วนใหญ่ (Amazon, Google, EBay, etc) 

บิลแย้งว่า สำหรับเขา Value Investment คือการซื้อหุ้นที่เทรดต่ำกว่าคุณค่าของมันมากๆ ไม่ว่าหุ้นเหล่านั้นจะเป็นหุ้นอะไร ที่พอร์ตของเราถือหุ้นเทคโนโลยีไว้มาก เป็นเพราะเรามองว่า หุ้นเทคโนโลยีในปัจจุบันจำนวนมากเป็นหุ้นที่ยังเทรดต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริงของมันมาก พีอีไม่ใช่สิ่งที่เขาใช้มองหาคุณค่า เขามองว่าพีอีใช้บอกคุณค่าได้แค่เพียงบางด้านเท่านั้น เมื่อตอนที่เขาลงทุนใน Dell เทรดที่พีอี 35 เท่า ในขณะที่ Gateway เทรดที่ 12 เท่า แต่บิลเลือก Dell เพราะในเวลานั้นธุรกิจของ Dell สร้างผลตอบแทนได้ 200% ของเงินลงทุนทุกปี (Return on investment) ในขณะที่ Gateway ทำได้แค่ 40% การที่ Dell เทรดสูงกว่า Gateway แค่ 3 เท่าทั้งที่สามารถสร้างผลตอบแทนของเงินลงทุนได้สูงกว่าถึง 5 เท่า จึงแสดงว่า Dell เป็นหุ้นที่ undervalued มากกว่าเมื่อเทียบกับ Gateway

ในการหา intrinsic value บิลจะใช้หลายโมเดลเสมอเพื่อพิจารณาประกอบกันเสมอ แทนที่จะใช้ตัวชี้วัดตัวใดตัวหนึ่งเพียงแค่ตัวเดียว 

นอกจาก การเลือกลงทุนแต่หุ้นที่ประเมินว่ายังเทรดต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริงมากๆ แล้วเท่านั้น บิลยังอาศัยการมองธุรกิจโดยเน้นที่ภาพระยะยาวมากเป็นหลัก บิลอธิบายว่า หุ้นที่มีรายได้เติบโตสูงในระยะยาว ราคาหุ้นมักผันผวนมากในระยะสั้น เพราะคุณค่าของมันขึ้นอยู่กับการเติบโตในอนาคต ราคาจึงอ่อนไหวกับความคาดหวังของตลาดมาก นักลงทุนจึงมักรู้สึกว่าเป็นหุ้นที่เสี่ยง แต่ที่จริงแล้ว หุ้นที่สามารถสร้างรายได้ให้เติบโตสูงในระยะยาวได้เท่านั้นที่จะทำให้ราคาหุ้นวิ่งไปได้ไกลที่สุดในระยะยาว มันจึงเป็นหุ้นที่น่าถือไว้ในระยะยาวมากที่สุด การลงทุนที่มองภาพในระยะยาวมากเป็นหลักทำให้ Va lue Trust เป็นกองทุนที่มีอัตราการเทรดที่ต่ำมาก คือประมาณ 20% ของทั้งพอร์ตต่อปีเท่านั้น (เทียบกับค่าเฉลี่ยของทั้งอุตสาหกรรมกองทุนรวมในสหรัฐฯ ซึ่งเกิน 100% ต่อปี) บิลต้องการให้พอร์ตโตไปด้วยกันกับกิจการที่เขาลงทุน

ในการลงทุน บิลไม่ให้ความสำคัญกับข้อมูล forecast เพราะ บิลเชื่อว่า forecast ที่อยู่ในหนังสือพิมพ์ทั้งหมด ถูก discount ไปในราคาหุ้นหมดแล้ว (if it’s in the newspaper, it’s in the price) ข้อมูลเกี่ยวกับ forecast จึงเป็นข้อมูลที่ไม่สามารถช่วยให้ชนะตลาดได้ บิลมองว่ากำไรในอีก 12 เดือนข้างหน้ามักไม่ค่อยมีผลต่อราคาหุ้นในวันนี้ เพราะตลาดมัก forecast ไปล่วงหน้า 12 เดือน กำไรในช่วง 12 เดือนข้างหน้าจะมีผลต่อราคาหุ้นก็ต่อเมื่อกำไรที่ออกมาผิดจาก forecast ไปมากๆ เท่านั้น เขายกตัวอย่างว่า สมมติว่า IBM ถูกคาดหมายว่าจะกำไร $5 ในอนาคตอันใกล้ แต่พอถึงเวลานั้นจริงๆ หาก IBM กลับทำกำไรได้แค่ $3 บางคนอาจคิดว่าราคาหุ้น IBM คงจะลง แต่ปรากฏว่าราคาหุ้น IBM อาจปรับเพิ่มขึ้นถึง 50% เลยก็ได้ถ้าหากตลาดคิดต่อไปแล้วว่าในช่วงเวลาถัดจากอีก 12 เดือนออกไป IBM จะกลับมามีกำไร $7 ปรากฏการณ์ในลักษณะเช่นนี้มีให้เห็นได้บ่อยๆ ในตลาดหุ้น

บิลเชื่อว่า ตลาดหุ้นไม่ได้มีประสิทธิภาพในแง่ที่ว่าราคาหุ้นสะท้อนมูลค่าที่แท้จริงของกิจการตลอดเวลา แต่ตลาดหุ้นก็มีประสิทธิภาพสูงมากในแง่ของการซึมซับข่าวอย่างรวดเร็ว (informationally efficient) หมายความว่า คุณไม่มีทางเอาชนะตลาดได้โดยการรู้ข่าวก่อนคนอื่น ผลกำไรส่วนเกินในตลาดหุ้นต้องมาจากการ exploit ความลำเอียงของตลาดซึ่งเป็นผลมาจาก Psychological Bias อันเป็นข้อบกพร่องของมนุษย์ ซึ่งกลไกตลาดไม่สามารถขจัดออกไปได้ (เพราะตลาดประกอบด้วยมนุษย์) เขาจึงให้ความสำคัญกับการศึกษาเรื่อง Bias ของมนุษย์มาก เพราะมองว่าคือหนทางสำคัญที่จะทำให้ชนะตลาดได้ เขายังเป็นประธาน SantaFe Institute ซึ่งวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้อีกด้วย 

บิลกล่าวว่า วิธีเอาชนะตลาดนั้นมีอยู่หลายวิธี แต่วิธีที่ไม่ใช่แน่นอนคือวิธีการลงทุนที่เหมือนกับคนส่วนใหญ่ในตลาด     

0305: วอเรน บัฟเฟต

วอเรน บัฟเฟต จัดว่าเป็นนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในโลก 

วอเรน ซื้อหุ้นครั้งแรกเมื่ออายุได้เก้าขวบ ราคาหุ้นที่ร่วงลง ทำให้เขาวิตกกังวลมาก เมื่อราคาหุ้นเด้งกลับมาจนมีกำไร เขาก็ขายหุ้นนั้นด้วยความโล่งอก แต่หลังจากนั้น หุ้นดังกล่าวก็ทะยานขึ้นอย่างมากมาย ประสบการณ์ครั้งนั้นทำให้วอเรนเห็นข้อเสียของการขายหุ้น

ในวัยหนุ่ม วอเรน เริ่มมีแนวการลงทุนที่ชัดเจนเป็นครั้งแรก เมื่อได้ศึกษาแนวทางของ เบนจามิน แกรม ที่เรียกว่า Value Investment ซึ่งสอนให้มองการซื้อหุ้นให้เหมือนการซื้อธุรกิจจริงๆ มากกว่าการซื้อเศษกระดาษ วอเรนกล่าวว่า แนวคิดนี้ช่วยทำให้เขาตาสว่าง

ในช่วงแรก วอเรนยึดมั่นในวิธีของเบน แกรมอย่างเหนียวแน่น เขาเลือกลงทุนในหุ้นก้นบุหรี่ ซึ่งหมายถึง หุ้นที่มีราคาต่ำกว่าสินทรัพย์ของบริษัทอย่างมากเสียจน ซื้อแล้วแทบไม่มีอะไรจะเสียได้อีกแล้ว

แต่ต่อมา เขาก็ค้นพบว่า ที่จริงแล้ว ธุรกิจจะมีบางสิ่งที่จับต้องไม่ได้ แต่มีค่ามากมายกว่าสินทรัพย์ในงบดุล เป็นอย่างมาก เขาเรียกมันว่า Franchise Value หลังจากนั้น วอเรน ก็เริ่มลงทุนด้วยการค้นหาบริษัทที่มี Franchise Value เป็นหลัก นี่เองที่เป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ผลตอบแทนของวอเรนในช่วงหลัง แซงหน้าเบนจามิน แกรม อย่างมีนัยสำคัญ

ในช่วงนี้ เขายังได้ศึกษาแนวการลงทุนของ Philip Fisher อีกด้วย ซึ่งเน้นให้ลงทุนในธุรกิจที่มีอนาคตที่ยาวไกล และให้ความสำคัญกับการประเมินคุณภาพของผู้บริหารเป็นอย่างยิ่ง ทำให้วอเรน เริ่มมีแนวการลงทุนเป็นของตนเอง ซึ่งเขาบอกว่า เป็นการผสมแนวของแกรมและฟิชเชอร์ในสัดส่วน 70:30

การลงทุนครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดของเขาคือการใช้เงินจำนวนมากเข้าซื้อหุ้นโคล่าโคล่า ซึ่งวอเรนมองว่าเป็นกิจการที่มี Franchise Value คือ ตราสินค้าที่ไม่มีใครเทียบเคียงได้ เขาซื้อมันที่พีอีเรโชประมาณ 16 เท่า ซึ่งสูงกว่าพีอีตลาดในขณะนั้นถึงเกือบสองเท่าตัว แต่หลังจากนั้น บริษัทโคล่าโคล่าก็มีอัตราการเติบโตของกำไรที่อย่างต่อเนื่องยาวนานหลายปี ขยายกิจการไปทั่วโลก ทำให้มันมีมูลค่าเพิ่มขึ้นอย่างมากมาย

หุ้นโคล่าเคยมีราคาสูงสุดในช่วงปี 2000 ที่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ บูมสุดขีด ซึ่งทำให้หุ้นของวอเรนมีมูลค่าตลาดสูงกว่าต้นทุนที่ซื้อมามากถึง 16 เท่าตัว ก่อนที่จะถอยกลับลงมาเหลือประมาณ 9 เท่าตัวในปัจจุบัน แม้จะตกลงมามาก แต่เพราะกำไรที่เพิ่มขึ้นได้อย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลาติดต่อกันที่ยาวนานมากในช่วงระยะเวลาหนึ่งหลังจากบัฟเฟตเข้าลงทุน ทุกวันนี้แม้ว่าโค้กจะไม่เติบโตมากเท่ากับสมัยก่อน แต่หุ้นโค้กก็ยังให้เงินปันผลแก่เขา ปีละประมาณถึง 1/3 ของต้นทุนที่เขาได้ลงทุนไปทุกๆ ปี

0304: Sir John Templeton

Sir John Templeton เป็นนักลงทุนระดับตำนานที่ก่อตั้งกองทุน Templeton ซึ่งมี มาร์ค โมเบียส เป็นหนึ่งในผู้จัดการกองทุน

JT เกิดในครอบครัวเกษตรกรที่ยากจน ในวัยเด็กเขาได้เห็นปู่ของเขาซึ่งชอบการเก็งกำไรตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแบบแมงเม่า และหมดตัว ทำให้เขามีทัศนคติว่า อนุพันธ์คือสิ่งที่ทำให้คุณเป็นเศรษฐีได้ในไม่เวลาไม่กี่วัน และวันต่อมาคุณก็หมดตัว เขาสนใจการลงทุนในหุ้นสามัญมากกว่า

JT เริ่มต้นตำนานการลงทุนของเขาในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งในเวลานั้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ อยู่ในภาวะที่ซบเซาอย่างเรื้อรัง อันเป็นผลพวงที่ต่อเนื่องมาจากวิกฤตเศรษฐกิจปี 1929 เมื่อสหรัฐฯ ตัดสินใจเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่สอง นักลงทุนพากันทิ้งหุ้นเพื่อหนีภาวะสงคราม แต่ JT กลับมองว่า การเข้าร่วมสงครามของสหรัฐฯ จะทำให้กำลังการผลิตส่วนเกินในระบบเศรษฐกิจถูกนำออกมาใช้ และจะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ หลุดออกจากภาวะซบเซาได้ เมื่อคิดได้ดังนั้น แต่ตัวเองไม่มีเงินเลย เขาจึงขอยืมเงินจากเจ้านายของเขา มาจำนวนหนึ่ง แล้วนำเงินนั้นทั้งหมดมาซื้อหุ้นของบริษัทที่อยู่ในภาวะย่ำแย่กว่า 100 บริษัทสวนทางกับคนอื่นในตลาดในราคาที่ถูกแสนถูก

หลังจากนั้นปรากฏว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ ก็ฟื้นตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่งจริงๆ อย่างที่ JT คิดไว้ เขาถือหุ้นเหล่านั้นไว้อีก 4 ปีก่อนที่จะขายพวกมันออกมาทั้งหมด ซึ่งทำให้เขาได้กำไรอย่างมากมายมหาศาล เขาคืนเงินต้นให้กับเจ้านาย แล้วเก็บกำไรทั้งหมดเอาไว้กับตัวเอง และเขาก็เปลี่ยนเป็นบุคคลที่ร่ำรวยนับแต่นั้นมา

JT เป็นนักลงทุนสไตล์คอนทราเรียนตัวยง เขาบอกว่า เวลาที่การมองโลกในแง่ร้ายของผู้คนถึงขีดสุด คือเวลาที่ควรเข้าซื้อหุ้นให้เต็มที่

JTเป็นเจ้าของวลีดังที่ว่า “ตลาดกระทิงเกิดขึ้นท่ามกลางการมองโลกในแง่ร้าย เติบโตภายใต้ความระแวงสงสัย บรรลุวุฒิภาวะด้วยการมองโลกในแง่ดี และล่มสลายด้วยความมั่นใจที่สุดขีด”

JT ยังเป็นเจ้าของอีกวลีหนึ่งที่ว่า “บางครั้งราคาหุ้นเพิ่มขึ้น เพียงเพราะราคาเพิ่มขึ้น” หมายความว่า หุ้นที่ราคาขึ้นจะทำให้คนรู้สึกอยากซื้อ ราคาหุ้นจึงขึ้นไปอีก ทั้งที่ไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับตัวกิจการทั้งสิ้น   

JT มีความชำนาญในการมองภาวะตลาดหุ้นโดยรวม เขาไม่ซื้อหุ้นบ่อยนัก แต่เมื่อถึงเวลาซื้อ จะซื้อครั้งละมากๆ แล้วขายทั้งหมดออกไปในอีกสามถึงสี่ปีต่อมา เพราะเขามองว่า แนวโน้มมหภาคมักจะกินเวลานานเป็นสิบปี แต่เมื่อถึงเวลากลับตัว จะรวดเร็วและเหนือความคาดหวังของนักลงทุนในตลาดเสมอ

กองทุนของเขามีความชำนาญในการลงทุนในต่างประเทศเป็นอย่างมาก เขาได้กำไรครั้งใหญ่หลายครั้งจากการมองออกว่า ประเทศใดกำลังจะเข้าสู่ยุคทองแล้วเข้าไปลงทุนก่อนคนอื่น ในการเลือกประเทศที่จะลงทุน เขาชอบประเทศที่เริ่มเข้าสู่ช่วงที่มีนโยบายเป็นเสรีมากขึ้นเรื่อยๆ มากที่สุด  

0301: Boy Plunger

“Boy Plunger” เป็นฉายาของ Jesse Livermore เซียนหุ้นที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคนหนึ่งในช่วงต้นศตวรรรษที่ 1900 ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ในยุคนั้นยังมีสภาพไม่ต่างจากบ่อนการพนันเท่าไรนัก Livermore มีความสามารถในการช็อตหุ้นเพื่อทำกำไรหลายครั้งทำให้เขามักถูกเอ่ยถึงในห้องค้าในนาม Boy Plunger

Livermore เกิดในครอบครัวที่ยากจน เขาหนีออกจากบ้านตั้งแต่อายุ 15 ปี เขาเริ่มอาชีพด้วยการเป็นเด็กเขียนกระดานหุ้นในโบรกเกอร์แห่งหนึ่ง 

Livermore ร่ำรวยขึ้นเรื่อยๆ จากการเป็นนักเทรดหุ้น เขาไม่เชื่อในการถือหุ้นระยะยาว และในเวลาเดียวกัน เขาก็ไม่เชื่อเรื่องเทคนิคัลซึ่งเขามองว่าเป็นสัญญาณที่สับสน วิธีการของเขาคือการมองมหภาคบวกกับการจดบันทึกการเคลื่อนไหวของหุ้นที่เขาสนใจติดต่อกันเป็นระยะเวลานานๆ เพื่อทำความเข้าใจถึงพฤติกรรมของรายใหญ่ที่เล่นหุ้นตัวนั้นอยู่ (รวมทั้งพฤติกรรมของตัวเขาเองด้วย) Livermore สามารถจดจำราคาหุ้นที่เขาซื้อในอดีตได้อย่างแม่นยำมาก นอกจากนี้ Livermore เชื่อว่าไม่ว่าบริษัทจะดีเพียงใด เวลาที่ตลาดพัง หุ้นทุกตัวก็จะไป ดังนั้นภาวะตลาดจึงมึความสำคัญเหนือตัวหุ้น

เขาเป็น millionaire ได้ตั้งแต่ก่อนอายุครบ 30 ปี และเริ่มมีชื่อเสียงมากจากการ short หุ้นช่วงตลาดหุ้น crash ปี 1907 ซึ่งเขาทำได้กำไรได้มากถึง 3 ล้านเหรียญในวันเดียว (เทียบเท่ากับเงิน $60 ล้านในปัจจุบัน) ในเวลานั้น JP Morgan ต้องติดต่อไปยังเขาเพื่อขอร้องให้เขาหยุด short หุ้น เพื่อสกัดวิกฤตการเงินมิให้ลุกลาม ในปี 1929 เขาก็ short หุ้นครั้งใหญ่อีกครั้งทำให้เขาได้กำไรมากกว่า $100 ล้าน 

คฤหาสถ์ Evermore ของเขา ชั้นล่างมีร้านตัดผมส่วนตัวที่มีช่างอยู่ประจำ มีโต๊ะอาหารยาวสำหรับแขก 46 คน และสวนหลังบ้านยาวกว่า 300 ฟุต

Livermore เป็นบุคคลที่เคยเป็นเศรษฐีมากกว่าหนึ่งครั้งในชีวิต เพราะเขาเคยหมดตัวหลายครั้งและสามารถกลับมาเป็นเศรษฐีได้ใหม่ เขากล่าวว่า เขามักจะหมดตัว เพราะไม่สามารถอดใจที่จะไม่ฝ่าฝืนกฏเหล็กในการเทรดหุ้นของตัวเองได้

ชีวิตส่วนตัวของ Livermore เป็นคนเจ้าชู้ เขามีภรรยาหลายคน ภรรยาคนแรกของเขาเป็นคนสุรุ่ยสุร่ายมาก ลูกของเขาถึงสามคนจบชีวิตด้วยการฆ่าตัวตาย ครอบครัว Livermore มีปัญหามาอย่างต่อเนื่องจนทำให้เขาเริ่มมีอาการซึมเศร้าเมื่อเข้าสู่บั้นปลายชีวิตและฆ่าตัวตายเมื่ออายุได้ 63 ปี ในช่วงนั้นเขาเพิ่งจะสูญเงินจำนวนมากในตลาดหุ้นและยังไม่สามารถทำกำไรกลับคืนมาได้ อย่างไรก็ตาม หลังการเสียชีวิตของเขาพบว่า เขามีทรัพย์สินเหลืออยู่ประมาณ $5 ล้าน  

แนวของ Livermore อาจจะไม่ใช่แนวทางที่ผมสนใจ เพราะชีวิตของการเป็นนักเก็งกำไรนั้นตื่นเต้นเกินไปสำหรับผม แต่ก็มีแนวคิดหลายอย่างของ Livermore ที่ผมเห็นว่ามีประโยชน์กับทุกคนในตลาดหุ้น และผมก็พยายามจดจำไว้เสมอ

Livermore เคยเขียนไว้ในบันทึกของเขาว่า การจะรวยด้วยตลาดหุ้นอย่างที่เขาทำได้นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่คนทั่วไปคิด เขาบอกว่าตลาดหุ้นคือที่ที่อันตรายมากสำหรับ คนที่ไม่ชอบทำการบ้าน คนโง่ คนชอบรวยทางลัด และคนที่อารมณ์ไม่มั่นคง เขากล่าวว่า คนที่คิดว่าจะรวยทางลัดด้วยตลาดหุ้นเปรียบเสมือนคนที่หวังจะรวยเร็วๆ ด้วยการยึดอาชีพเป็นหมอหรือทนายความ เพราะจริงๆ แล้ว นักลงทุนในตลาดหุ้นก็เป็นเหมือนอาชีพอย่างหนึ่ง ถ้าจะรวยได้จะต้องทุ่มเทอย่างหนักหน่วงเท่านั้น 

เขาเล่าว่าทุกครั้งที่เขาไปร่วมงานเลี้ยง ผู้คนมักจะวิ่งเข้ามาถามเขาเสมอว่าจะรวยเร็วๆ ด้วยตลาดหุ้นได้อย่างไร ในช่วงแรกๆ เขาพยายามอธิบายให้คนเหล่านั้นฟังว่ามันไม่ได้ง่ายขนาดนั้น แต่หลังๆ เขาเพียงแต่บอกคนเหล่านั้นว่า เขาไม่รู้ เขารู้สึกเบื่อหน่ายความคิดของคนทั่วไปที่คิดว่าการร่ำรวยด้วยตลาดหุ้นเป็นเรื่องที่ทำได้ง่ายๆ

Livermore เขียนวิธีการสำหรับคนที่มุ่งมั้นจะเป็นยึดการลงทุนเป็นอาชีพจริงๆ แบบเดียวกับเขาไว้ในหนังสือชื่อ How to Trade in Stocks

เขากลับมามีชื่อเสียงอีกครั้งในช่วงไม่กี่ปีมานี้เนื่องจากหนังสือชื่อ Reminescence of a stock operator ซึ่งเป็นหนังสือที่นักหนังสือพิมพ์คนหนึ่งเขียนเล่าประสบการณ์การเทรดหุ้นในชีวิตของ Livermore จากการสัมภาษณ์เขาอย่างลับๆ โดยปกปิดชื่อจริงของเขาไว้ ได้ถูกนำมาตีพิมพ์อีกครั้ง ทำให้ตำนานของเขากลับมาเป็นที่สนใจของนักลงทุนรุ่นใหม่ในอีก 80 ปีต่อมา 

0300: the crash of 1907

 

วิกฤตปี 1907 จุดชนวนขึ้นเมื่อพี่น้องตระกูล Heinze ผู้ถือหุ้นใหญ่ของ United Copper พยายามที่จะกว้านซื้อหุ้นของบริษัทตัวเองที่เหลืออยู่ในตลาดทั้งหมด โดยนำเงินจำนวนมากที่กู้มาจาก Knickerbocker Trust มาซื้อ แต่พวกเขาประสบความล้มเหลว…

อันที่จริงตระกูล Heinze ไม่ได้ต้องการจะครอบงำกิจการแต่อย่างใด แต่พวกเขารู้ว่า ตระกูลของเขาถือหุ้นส่วนใหญ่เอาไว้ ในขณะที่หุ้นส่วนที่เหลือที่เทรดอยู่ในตลาดได้ถูกนักลงทุนกลุ่มหนึ่งยืมไปขายช็อตเป็นจำนวนมากเพื่อหวังจะทุบราคาหุ้นแล้วทำกำไรส่วนต่าง ตระกูล Heinze คิดว่า ถ้าหากพวกเขาเข้าไปเก็บหุ้นที่เหลืออยู่ในตลาดทั้งหมด หุ้นส่วนใหญ่ก็จะตกอยู่ในมือพวกเขา พวก Short Sellers ก็จะไม่สามารถหาซื้อหุ้นจากที่ไหนมาคืนได้นอกจากต้องซื้อจากพวกเขาเท่านั้น และจะทำให้พวกเขาได้กำไรมหาศาลเพราะจะสามารถเรียกราคาเท่าไรก็ได้จากพวก Short Sellers

ตระกูล Heinze เคยได้กำไรจากวิธีการแบบนี้มาแล้วหลายครั้งในการกว้านซื้อหุ้นสถาบันการเงินขนาดเล็กหลายแห่ง และทำให้เขามีสายสัมพันธ์ที่ดีกับเจ้าของ Kickerbocker Trust ซึ่งมักแอบใช้เงินของทรัสต์เพื่อปล่อยกู้ให้พวกเขาทำธุรกรรมเช่นนี้อยู่บ่อยครั้งแล้วแบ่งกำไรกัน แต่สำหรับครั้งนี้ มันเป็นธุรกรรมที่ใหญ่มาก แม้เจ้าของ Kickerbock Trust จะเตือนตระกูล Heinze ว่า เงินจำนวนที่สามารถปล่อยกู้ให้ได้ ไม่น่าจะเพียงพอที่จะกว้านซื้อหุ้น United Copper ได้ทั้งหมด แต่ตระกูล Heinze ก็ต้องการที่จะเสี่ยง เพราะที่ผ่านมาพวกเขาเคยได้กำไรจากธุรกรรมแบบนี้สำเร็จมาทุกครั้ง ตระกูลของพวกเขาร่ำรวยมีหน้ามีตาขึ้นมาได้ก็เพราะวิธีการอันนี้

วันที่ 14 ตุลาคม 1907 Heinze ไล่เก็บหุ้น United Copper ทุกราคา ทำให้ราคาหุ้นเพิ่มขึ้นจาก $39 เป็น $52 ในวันเดียว พอวันรุ่งขึ้น พวกเขาก็สั่งโบรกเกอร์ขอเรียกหุ้นคืนจาก Short Sellers ทันที แต่ Heinze คาดการณ์ผิด พวก Short Sellers สามารถหาหุ้นจากผู้ถือหุ้นคนอื่นมาคืนได้เป็นผลสำเร็จ ที่จริงแล้วยังมีหุ้น United Copper จำนวนมากหลงเหลืออยู่ในมือของผู้ถือหุ้นอื่น มีมหกรรมประกาศขอซื้อหุ้นจำนวนมากบนทางเท้านอกอาคารตลาดนิวยอร์คฯ ในช่วงบ่ายของวันนั้น ดังนั้นราคาหุ้น United Copper จึงร่วงเหลือแค่ $30 เมื่อตลาดปิด

ในวันถัดมา เมื่อข่าวสะพัดออกไปว่า การกว้านซื้อหุ้นของ “ขาใหญ่” อย่างตระกูล Heinze ล้มเหลว พวกรายย่อยที่ได้เข้าไปเก็งกำไรในหุ้นตัวนี้ในช่วงที่ผ่านมาเพราะรู้ว่า Heinze กำลังกว้านซื้อก็ต่างพากันเทขายออกมาพร้อมๆ กันทำให้ราคาหุ้น United Copper ร่วงลงอีกอย่างรุนแรงเหลือเพียงแค่ $10 เท่านั้น ตระกูล Heinze ขาดทุนมหาศาล และทำให้ไม่มีเงินไปคืน Kickerbrock Trust

วันที่ 22 ตุลาคม 1907 ผู้ฝากเงินของ Kickerbrock Trust จำนวนมากตื่นตระหนกกับข่าวที่เกิดขึ้นจึงพากันไปแห่ถอนเงินออกจาก Kickerbrock พร้อมกัน และทำให้ต้องปิดทำการชั่วคราวในบ่ายวันนั้น นอกจากนี้ยังมีข่าวว่า มีสถาบันการเงินหลายแห่งที่รับหุ้น United Copper จำนวนมากไว้เป็นหลักประกัน ก่อให้เกิดความตื่นตระหนกว่า สถาบันการเงินเหล่านี้จะล้มตามไปด้วย ทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่ผู้ฝากเงินแห่ไปถอนเงินที่ธนาคารลุกลามไปทั่วประเทศ ในเวลานั้น สหรัฐฯ ยังไม่มี Federal Reserve ทำให้ไม่มีหน่วยงานที่จะช่วยอัดฉีดสภาพคล่องให้กับธนาคารที่มีผู้ฝากเงินแห่มาถอนเงินในภาวะตื่นตระหนกได้

ความตื่นตระหนกกับข่าวที่เกิดขึ้นยังทำให้สถาบันการเงินจำนวนมากไม่กล้าปล่อยสินเชื่อให้กับบรรดาโบรกเกอร์ด้วย ดอกเบี้ยมาร์จิ้นโลนพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว เมื่อโบรกเกอร์ขาดสภาพคล่องจึงมีการเรียกเงินคืนจากนักลงทุนทั่วตลาด ตลาดหุ้นนิวยอร์คจึงทรุดตัวลงอย่างรุนแรงถึง 50% จากจุดสูงสุดเดิม

ในช่วงสัปดาห์นั้น J P Morgan นักการธนาคารผู้มั่งคั่งที่สุดในนิวยอร์คไม่ได้อยู่ในนิวยอร์ค แต่เขากำลังร่วมกิจกรรมของโบสถ์ในเวอร์จิเนีย ทันทีที่เขารู้ข่าว เขาก็รีบเดินทางกลับนิวยอร์คทันที J P Morgan มองว่าสถานการณ์เช่นนี้ปล่อยไว้ไม่ได้ เพราะระบบการเงินจะล่มสลายในที่สุด ในคืนแรกที่กลับมาถึงนิวยอร์ค J P Morgan นั่งวิเคราะห์งบการเงินที่อ่อนแอของ Kinckerbocker ภายในห้องสมุดส่วนตัวของเขา แล้วตัดสินใจไม่เข้าไปยุ่งทรัสต์แห่งนี้ เพราะสายเกินไปแล้วที่จะช่วย แต่เขาเห็นว่าทรัสต์หลายแห่งที่มีผู้ไปแห่ถอนเงินเป็นทรัสต์ที่ยังมีสถานะทางการเงินที่ดีอยู่ เขาจึงเรียกประชุมด่วน นายธนาคาร มหาเศรษฐี และรมต.คลัง แล้วเจรจาให้พวกเขาเหล่านั้นยอมพร้อมใจกันลงขันพร้อมกับเขา เพื่อตั้งเป็นกองทุนเพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับทรัสต์ที่กำลังขาดสภาพคล่อง และประกาศออกไปเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับสาธารณชน 

พันธบัตรรัฐฯ นิวยอร์คที่ออกมาเพื่อช่วยแก้ปัญหาในเวลานั้นขายไม่หมด J P Morgan ต้องแนะให้รัฐฯ ปรับเพิ่ม yield และเขาต้องยอมเข้าทำสัญญาว่าจะซื้อพันธบัตรใหม่นั้นเป็นเงินอย่างน้อย $30 ล้านเหรียญเพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นในพันธบัตรอีกด้วย 

สุดท้าย วิกฤตการเงินปี 1907 ก็สามารถยุติลงได้ เหตุการณ์ในครั้งนี้ได้นำไปสู่การจัดตั้ง Federal Reserve ขึ้น เพื่อทำหน้าที่อัดฉีดสภาพคล่องให้กับระบบธนาคารในเวลาที่เกิดวิกฤต

J P Morgan เองต้องขาดทุนจากการกู้วิกฤตครั้งนี้มากถึง $21 ล้านเหรียญ แต่ก็ทำให้เขาได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่มีภาวะผู้นำที่เข้ามากอบกู้สถานการณ์ให้กับประเทศ อย่างไรก็ตาม มีผู้วิจารณ์ว่า เขาอาศัยวิกฤตครั้งนี้ในการทำให้บรรดาทรัสต์ซึ่งเป็นคู่แข่งของธนาคารที่เขาเป็นเจ้าของอ่อนแอลง และยังเป็นโอกาสที่ทำให้เขาได้เข้าซื้อบริษัท TC&I ในราคาถูกแสนถูกอีกด้วย หลังวิกฤตเขาถูกสอบสวนอีกหลายครั้งโดยคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นมาสอบสวนความโปร่งใสของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับวิกฤตที่เกิดขึ้น จนถึงปีที่เขาป่วยหนักและเสียชีวิต    

0298: the never-ending era of asset bubbles

  หลังจากความปั่นป่วนของภาคการเงินโลกสงบลงไปเมื่อต้นปี เวลานี้ก็ดูเหมือนว่าเศรษฐกิจโลกจะทรงตัวได้แล้วด้วย มิหน่ำซ้ำยังมีลุ้นที่มันอาจจะฟื้นตัวได้ในไม่ช้าอีก ต้องถือว่า การทุ่มสุดตัวครั้งนี้ของธนาคารกลางเพื่อหยุดวิกฤตการณ์ได้ผลลัพธ์ที่ดีทีเดียว

ถ้าหากเศรษฐกิจฟื้นตัวได้เร็วๆ นี้จริงๆ เราจะกล่าวได้หรือไม่ว่า เมฆฝนทั้งหลายได้ผ่านพ้นไปแล้ว? ก็คงต้องขอตอบว่า “ไม่” เพราะจริงๆ แล้วต้นตอของปัญหาทั้งหมดยังอยู่ …

ต้นตอของปัญหาที่แท้จริงคือระบบการเงินของโลกที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้มีข้อบกพร่อง…

ข้อบกพร่องที่ว่านี้ก็คือ เงินดอลล่าร์ถูกใช้เป็นตัวกลางในการติดต่อค้าขายทั่วโลกรวมทั้งใช้เป็นทุนสำรองของประเทศต่างๆ แต่เงินดอลล่าร์เป็นแค่เงินกระดาษ สหรัฐฯ จึงสามารถพิมพ์เงินกระดาษออกมาใช้หนี้ได้โดยไม่จำกัด ทำให้เป็นประเทศเดียวที่ไม่ต้องมีวินัยทางการเงินก็ได้

กรีนสแปนชอบใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเกินไปนิดๆ เพื่อให้เศรษฐกิจดีอยู่ตลอดเวลา เขาเคยถึงกับพูดว่า ต้นทุนของเศรษฐกิจซบเซานั้นมีมากกว่าความเสี่ยงที่จะเกิดเงินเฟ้อมาก การปล่อยให้อัตราดอกเบี้ยต่ำเกินกว่าที่ควรจะเป็น คือการไม่รักษา Value ของเงินเพื่อแลกกับเศรษฐกิจที่ดีอยู่ตลอดเวลา

ทุกวันนี้ต้นทุนของการกดดอกเบี้ยให้ต่ำตลอดเวลาอาจไม่ใช่ภาวะเงินเฟ้อเหมือนอย่างในอดีตเพราะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในยุคใหม่ไม่ได้พึ่งพาน้ำมันมากนัก แต่ต้นทุนอย่างใหม่ของการกดดอกเบี้ยให้ต่ำไว้ตลอดเวลาคือ ความเสี่ยงที่จะเกิดฟองสบู่ขึ้นในตลาดสินทรัพย์ (Asset Bubbles) ต่างๆ เนื่องจากการด้อยค่าของเงิน ทำให้นักลงทุนต้องเข้าไปซื้อสินทรัพย์ต่างๆ เพื่อเป็นการรักษาความมั่งคั่งของตนเองเอาไว้ ในยุคของกรีนสแปนเต็มไปด้วยจุดเริ่มต้นของ Asset Bubbles ตั้งแต่ Tech Stock Bubble, Real Estate Bubble ไปจนถึง Oil Bubble

วิกฤตการเงินที่เกิดขึ้นเป็นแค่สิ่งที่เกิดตามมา เมื่อมี Real Estate Bubble แต่เมื่อวิกฤตเกิดขึ้นแล้ว แทนที่จะทำให้สหรัฐฯ หันกลับมารักษาวินัยทางการเงิน สหรัฐฯ อยู่ในฐานะที่มีทางเลือกมากกว่าประเทศทั่วไปเพราะเงินดอลล่าร์เป็นเสมือนเงินของโลก สหรัฐฯ จึงสามารถแก้ปัญหาหนี้ได้ด้วยการสร้างหนี้ใหม่ขึ้นมาอีกเพื่ออุดหนี้เก่าด้วยการพิมพ์เงินออกมา นอกจากนี้สหรัฐฯ ยังไม่ต้องขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินไหลอออกเหมือนอย่างประเทศอื่นๆ ที่เคยเกิดวิกฤต สหรัฐฯ สามารถกดดอกเบี้ยให้ต่ำลงไปอีก เพื่อประคองเศรษฐกิจเอาไว้ ถึงแม้วิธีการเหล่านี้จะช่วยให้สามารถหยุดวิกฤตการเงิน และหลีกเลี่ยงภาวะเศรษฐกิจถดถอยรุนแรงได้สำเร็จ แต่วิธีการเช่นนี้ก็ยิ่งทำให้วินัยทางการเงินของสหรัฐฯ แย่ลงไปอีก ณ เวลานี้แล้ว สหรัฐฯ ก็ยังปราศจากแรงจูงใจทางการเมืองใดๆ ที่จะหันมารักษาวินัยทางการเงิน  แน่นอนความเสี่ยงที่โลกจะเผชิญ Asset Bubbles ใหม่ๆ จึงยังจะต้องมีอีก ตลาดหุ้น คอมโมดิตี้ อนุพันธ์ อสังหาฯ ทองคำ สินเชื่อ ฯลฯ จะยังคงเต็มไปด้วยความเสี่ยงที่จะเกิด Boom and Burst ได้มากเหมือนเช่นเดิม ในช่วงเวลาต่อจากนี้ไป ถ้าจะมีฟองสบู่เกิดขึ้นใหม่ในตลาดสินทรัพย์ใดตลาดหนึ่งอีก แล้วฟองสบู่แตกอีก ก็ไมใช่เรื่องที่น่าประหลาดใจเลย เพราะในเมื่อเหตุปัจจัยของสรรพสิ่งใดๆ ยังคงอยู่ สรรพสิ่งจะดับไปได้อย่างไร 

จนกว่าโลกของเราจะมีระบบการเงินใหม่ที่บังคับให้สหรัฐฯ ต้องรักษาวินัยทางการเงินเหมือนกับนานาประเทศ

0296: เงินล้นโลก

เมื่อคืนนี้ ลุงเบนบอกว่า ดูท่าทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะยังต้องการเวลาอีกนานกว่าจะฟื้นตัวได้ เพราะฉะนั้นเฟดจะขอใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายอย่างนี้ต่อไปอีกสักพักใหญ่

คำพูดของลุงเบนที่ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังไม่ฟื้นนี้ไม่ได้ทำให้นักลงทุนกังวลแต่อย่างใด ตรงกันข้าม กลับ ทำให้นักลงทุนโล่งใจกันมากกว่า เพราะที่ผ่านมาเฟดได้ใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายอย่างมากเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ตลาดมองเกมออกว่า ถ้าหากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นได้เมื่อไร เฟดจะต้องรีบขึ้นดอกเบี้ยทันที เพื่อสกัดภาวะเงินเฟ้อที่อาจเกิดจากนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากเกินไป การขึ้นดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วของเฟดจะทำให้สภาพคล่องที่เอ่อล้นอยู่ในเวลานี้ จะเกิดการตึงตัวขึ้น และจะทำให้ตลาดสินทรัพย์ทั่วโลกร่วงแรงได้ แต่พอลุงเบนออกมาส่งสัญญาณว่า จะยังไม่ขึ้นดอกเบี้ยอีกสักพักใหญ่ ตลาดก็โล่งใจ เพราะเจ้ามือเลื่อนเวลาเก็บโต๊ะออกไปอีก

หลังจากตลาดการเงินของสหรัฐฯ ที่ปั่นป่วนเมื่อปีที่แล้วได้กลับเข้าสู่ภาวะปกติเมื่อต้นปี สภาพคล่องที่เอ่อล้นอันเนื่องมาจากนโยบายของเฟดได้ถูกนักลงทุนนำมาลงทุนในตลาดสินทรัพย์ต่างๆ ทั่วโลกที่ไม่ใช่สกุลดอลล่าร์เพื่อเฮดจ์เงินเฟ้อที่อาจจะเกิดขึ้นได้อนาคต ด้วยเหตุนี้ ทั้งทองคำ น้ำมัน สินค้าโภคภัณฑ์ และตลาดหุ้นเกิดใหม่ทั่วโลก ในเวลานี้ ต่างมีราคาปรับตัวพุ่งขึ้นแรงโดยทั่วหน้า ทั้งๆ ที่เศรษฐกิจโลกยังไม่มีสัญญาณฟื้นตัวที่ชัดเจนแต่อย่างใด ราคาที่เพิ่มขึ้นนี้เป็นผลมาจาก “ภาวะเงินล้นโลก” มากกว่าที่จะเป็นเรื่องของภาวะเศรษฐกิจ

สภาวะที่มีเงินอยู่ในระบบมากเกินไป ตลาดหุ้นมักจะมีความผันผวนมากกว่าธรรมดา เพราะนักลงทุนจะพร้อมใจกันถือหุ้นเอาไว้ทั้งๆ ที่รู้อยู่แก่ใจว่าหุ้นแพง เนื่องจากไม่รู้ว่าจะเอาเงินไปไว้ที่ไหนดี ดังนั้นเมื่อใดที่มีข่าวร้ายเข้ามากระทบตลาด นักลงทุนก็จะรีบแข่งกันเทขายหุ้นออกมา แล้วรีบกลับมาถือเงินสดก่อนคนอื่น เพราะกลัวความสูง ตลาดหุ้นจึงมีความผันผวนสูงเพราะอ่อนไหวกับข่าวมากเป็นพิเศษ อย่างไรก็ตาม ตราบใดที่ผู้คุมนโยบายการเงินโลก (คือ เฟด) ยังคงยินดีที่จะใช้นโยบายแบบผ่อนคลายต่อไป ไม่ช้าไม่นานหุ้นที่ร่วงลงอย่างรุนแรงเพราะข่าวร้ายก็จะกลับมาใหม่ได้อีก เพราะยังไงเสียเงินก็ยังล้นโลกอยู่เหมือนเดิม ขายออกมาแล้วจะเอาเงินไปไว้ที่ไหน  ในทางตรงกันข้าม ถ้าหากวันใดเฟดมีการกลับนโยบายการเงิน ย่อมมีผลกระทบกับตลาดหุ้นในลักษณะที่เป็นการถาวรได้ 

เช่นนี้แล้ว การลงทุนในเวลานี้ต้องคอยจับตาท่าทีของลุงเบนเอาไว้ทุกฝีก้าวเชียวครับ ลุงเบนแค่กระเอมนิดเดียว จิ๊กโก๋สะดุ้งกันทั้งซอย สิ่งนั้นมาจากทางไหน สักวันหนึ่งมันก็ต้องกลับไปทางนั้นครับ