0295: พันธบัตรสหรัฐฯ

วิกฤตซับไพร์มครั้งนี้ได้ทำให้ปี 2009 รัฐบาลสหรัฐฯ น่าจะขาดดุลงบประมาณสูงที่สุดตั้งแต่ก่อตั้งประเทศมา คือ มากถึง 13% ของจีดีพี ส่วนหนึ่งเกิดจากเศรษฐกิจที่ถดถอย และการขาดดุลที่เกิดขึ้นเป็นปกติอยู่แล้ว ประมาณ 3% ของจีดีพี บวกกับแพจเกจช่วยเหลือสถาบันการเงินด้วยการปล่อยกู้และเพิ่มทุนเจ็ดแสนล้านดอลล่าร์ และแพจเกจกระตุ้นเศรษฐกิจอีกเกือบแปดแสนล้านดอลล่าร์

หลายปีที่ผ่านมา ตลาดเคยวิตกกังวลเกี่ยวกับการขาดดุลการค้าแบบเรื้อรังของสหรัฐฯ ซึ่งทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนสูงถึง 7-8% ของจีดีพี อันเป็นระดับที่เชื่อกันว่าไม่สามารถดำรงอยู่ได้นาน ทำให้เกิดวิกฤตความเชื่อมั่นในค่าเงินดอลล่าร์ ต่อมาวิกฤตซับไพรม์ที่เกิดขึ้นได้ช่วยทำให้การขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ ลดลงไปเองเหลือเพียงแค่ 3% ของจีดีพีเท่านั้น เพราะกำลังซื้อของคนอเมริกันที่หายไปมาก อย่างไรก็ตาม แทนที่ความกังวลเกี่ยวกับเงินดอลล่าร์จะหายไป วิกฤตซับไพรม์เองกลับทำให้ สหรัฐฯ หันมาขาดดุลงบประมาณอย่างหนักแทนการขาดดุลการค้า ตลาดจึงยังต้องวิตกกังวลเกี่ยวกับค่าเงินดอลล่าร์ต่อไป เพราะเป็นห่วงความสามารถในการชำระหนี้ของพญานกอินทรี ดังจะเห็นได้จากการที่ช่วงนี้ตลาดหันมาจ้องมอง treasury bond yield แทนที่จะสนใจพวก spread หรือ ราคา CDS ของพวกเอกชนยักษ์ใหญ่ต่างๆ เหมือนเมื่อปีที่แล้ว ความน่ากลัวถูกย้ายจากฝั่งเอกชนไปที่รัฐบาลแทน

ถ้าหากพญาอินทรีคิดจะหักหลังเจ้าหนี้จริงๆ นั้นก็มีหนทางทำได้อยู่หลายทาง ทางแรกคือ การชักดาบโดยตรง (default) วิธีนี้เป็นที่เชื่อกันว่า จะไม่ได้เห็นอย่างแน่นอน ตลอดร้อยกว่าปีที่ผ่านมา พันธบัตรที่ออกโดยรัฐบาลกลางของสหรัฐฯ ยังไม่เคย default เลยแม้แต่งวดเดียว ทางที่สองซึ่งเป็นไปได้มากกว่าคือ รัฐบาลสหรัฐฯ จะยังคงชำระหนี้เต็มจำนวนต่อไปตามปกติ แต่จะ “ประดิษฐ์” ภาวะเงินเฟ้อขึ้นมา ภาวะเงินเฟ้อช่วยทำให้ purchasing power ของหนี้ค่อยๆ เสื่อมลงถอยไปเองในระยะยาว โดยที่ยอดหนี้ไม่ได้เปลี่ยนไป วิธีนี้ช่วยลดภาระของลูกหนี้ได้ทางอ้อม ว่ากันว่าในทางเทคนิค ขณะนี้ สหรัฐฯ ก็กำลังทำวิธีอยู่แล้ว เพราะการทำ Quantitative Easing ของเฟดเมื่อเร็วๆ นี้ก็มีค่าเท่ากับการพิมพ์แบงก์ขึ้นมาเฉยๆ ซึ่งเท่ากับเป็นการสร้างเงินเฟ้อขึ้นมานั่นเอง อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเวลานี้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังไม่ฟื้น ทำให้สหรัฐฯ ยังคงอยู่ในภาวะเงินฝืด เงินที่สร้างขึ้นมาจึงยังไม่มีผลอะไร งานนี้ก็ต้องวัดใจกันว่า ถ้าหากช่วงต่อจากนี้ไปเงินเฟ้อเกิดขยับขึ้นโดยที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังไม่ฟื้นตัว สหรัฐฯ จะเลือกทำอย่างไรระหว่างการขึ้นดอกเบี้ยเพื่อต้านเงินเฟ้อ หรือ ทิ้งเป้าหมายเรื่องการควบคุมเงินเฟ้อไปเลยโดยการไม่ขึ้นดอกเบี้ยเพื่อช่วยเหลือเศรษฐกิจก่อน ถ้าสหรัฐฯ เลือกอย่างหลัง เราอาจได้เห็นปรากฏการณ์ที่น่าตื่นตาตื่นใจเกิดขึ้นกับตลาดการเงินของโลกทีเดียว    

ถ้าหากสหรัฐฯ อยากให้ตลาดกลับมาเชื่อถือเงินดอลล่าร์อีกครั้ง รัฐบาลสหรัฐฯ จะต้องหาลดการขาดดุลงบประมาณลงให้ได้ ซึ่งก็มีหลายวิธี หนึ่งคือ การขึ้นอัตราภาษี แต่วิธีนี้คงทำได้ยากในทางการเมือง สองคือ รัฐฯ ต้องหันมาควบคุมการใช้จ่าย วิธีนี้ก็ทำได้จำกัดอีกเช่นกัน รัฐบาลโอบามาเพิ่งจะออกมาสัญญากับตลาดว่าจะพยายามลดการขาดดุลงบประมาณลงจนเหลือราว 3% ของจีดีพีภายในปี 2012 แต่ตลาดก็ยังงงๆ อยู่ว่าจะเป็นไปได้อย่างไร อย่าลืมว่า โอบามามีสัญญาประชาคมหลายอย่างที่ยังต้องทำให้เห็นอะไรเป็นรูปธรรมภายในสามสี่ปีนี้ ที่สำคัญที่สุดคือ นโยบายสุขภาพ ซึ่งโอบามามีนโยบายสร้างระบบใหม่ที่ครอบคลุมประชาชนทุกคน ซึ่งต้องใช้เงินของรัฐฯ อีกไม่น้อย เป็นต้น

ในความเป็นจริง ส่วนมากแล้วปัญหาการขาดดุลงบประมาณไม่ว่าประเทศไหนในอดีตมักไม่ได้หมดไปด้วยสองวิธีที่กล่าวมาข้างต้น แต่หมดไปได้ถ้าเศรษฐกิจดี เพราะเมื่อเศรษฐกิจดี คนมีรายได้มากขึ้น รัฐฯ ก็จะเก็บภาษีได้มากขึ้นโดยอัตโนมัติทั้งที่ยังเก็บที่อัตราเดิมอยู่ ดังนั้น ความสามารถในการแก้ไขปัญหาการขาดดุลงบประมาณของสหรัฐฯ ในช่วงสี่ปีข้างหน้าจะขึ้นอยู่กับว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ เป็นอย่างมากว่าจะฟื้นเร็วหรือช้า 

อันว่าที่จริงแล้ว หนี้สะสมของรัฐบาลสหรัฐฯ ณ เวลานี้ไม่ได้ถือว่าสูงมาก เพราะคิดเป็นเพียง % ของจีดีพีเท่านั้น (รัฐบาลญี่ปุ่นและอิตาลีมีหนี้เกิน 100% ของจีดีพีมานานแล้ว ก็ยังไม่เห็นว่าจะเจ๊ง) ดังนั้น ตลาดอาจกำลังวิตกกังวลมากเกินไปก็ได้ รัฐบาลสหรัฐฯ จึงยังสามารถก่อหนี้เพิ่มได้อีกมาก อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้ พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ต้องอาศัยนักลงทุนต่างประเทศเป็นผู้ซื้อถึง 1 ใน 3 ของทั้งหมด ซึ่งผู้ซื้อรายใหญ่คือ จีน ดังนั้น ท่าทีของจีนที่มีต่อวินัยทางการคลังของสหรัฐฯ จึงเป็นประเด็นสำคัญด้วย ถ้าอยู่ดีๆ จีนหยุดซื้อพันธบัตรของสหรัฐฯ ดอกเบี้ยระยะยาวสกุลดอลล่าร์จะพุ่งสูงขึ้นอย่างมากเพื่อสกัดเงินไหลออกจากสหรัฐฯ สภาพคล่องของโลกจะตึงตัวอีกครั้ง และย่อมส่งผลรุนแรงต่อตลาดสินทรัพย์ทุกชนิดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้ ทั้งจีนและสหรัฐฯ ต่างได้ประโยชน์จากการที่จีนช่วยซื้อพันธบัตรสหรัฐฯ เหตุการณ์นี้จึงไม่ใช่ว่าจะเกิดขึ้นได้ง่ายๆ ด้วยเหมือนกัน ก็ต้องหวังว่าจะไม่มีเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นก่อนที่รัฐบาลสหรัฐฯ จะลดการขาดดุลงบประมาณลงได้จนเป็นผลสำเร็จ

0294: จะมีวิกฤตซ้อนวิกฤตมั้ย?

เวลานี้ดูเหมือนว่า วิกฤตซับไพรม์ซึ่งได้พัฒนาจนกลายเป็นวิกฤตโลกเมื่อปีที่แล้วจะอยู่ในขั้นที่ควบคุมได้แล้ว เพราะถึงตอนนี้ไม่น่าจะมีสถาบันการเงินขนาดใหญ่แห่งไหนล้มเพิ่มเติมอีก ส่วนเศรษฐกิจโลกที่แม้ว่าจะยังไม่ฟื้นแต่ก็เริ่มหาที่ยืนได้ วิกฤตครั้งนี้ดูจะไม่ได้เลวร้ายขนาดที่กูรูหลายท่านคาดการณ์ไว้เมื่อปลายปีที่แล้ว

เมื่อมองย้อนกลับไปจะเห็นได้ว่า สหรัฐฯ แก้ปัญหาวิกฤตครั้งนี้ด้วยการให้ภาครัฐฯ เข้าไปแบกรับความเสียหายทั้งหมดของภาคเอกชนเอาไว้แทน ตลาดจึงไม่ต้องเข้าสู่ภาวะล่มสลาย นับเป็นการดับเครื่องชนของพญาอินทรี เพราะทั้งเฟดและกระทรวงการคลังของสหรัฐฯ ต่างแบกหนี้ไว้จนหลังแอ่น งานนี้เจ๊งเป็นเจ๊ง ถ้าทำไม่สำเร็จ ลุงแซมยอมตายไปเลย

แต่ก็ดูเหมือนเดิมพันครั้งนี้จะได้ผลเสียด้วย ทุกอย่างเดินไปได้ตามแผนที่ลุงแซมวางเอาไว้ แม้เครดิตของลุงแซมลดลงไปมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่ปรากฏว่าก็ยังมีเหลือพอที่จะก่อหนี้จำนวนมหาศาลเพื่อมาแก้ปัญหาในครั้งนี้อยู่

ดังนั้น ถ้าหากเวลานี้ใครยังกลัวว่าจะยังมีวิกฤตซ้อนวิกฤตหรือไม่ สิ่งที่ต้องควรจับตามองมากที่สุดน่าจะเป็น ภาครัฐฯ ของสหรัฐฯ แล้ว ซึ่งได้แก่ กระทรวงการคลังและเฟด ว่าจะสามารถประคองตัวเองต่อไปได้อย่างราบรื่นหรือไม่  

เมื่อปีที่แล้ว เฟดเปิดโอกาสให้สถาบันการเงินที่มีปัญหาสามารถกู้เงินจากเฟดได้โดยไม่จำกัด เฟดอุดหนุนเงินกู้เหล่านั้นการสร้าง Reserve ใหม่เข้าไปในระบบธนาคารพาณิชย์ จากเดิมที่เคยมีอยู่ในระบบประมาณ $11 billions กลายเป็น $900 billions ภายในเวลาอันสั้น!!!!! เทียบเท่ากับการพิมพ์เงินขึ้นมา Reserve ที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลให้ความสามารถในการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลตามไปด้วย เรื่องนี้จึงได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากว่า จะทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อขั้นรุนแรง เมื่อใดก็ตามที่เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวและทำให้ธนาคารพาณิชย์กลับมาปล่อยสินเชื่ออีกครั้ง

เกี่ยวกับเรื่องนี้ เฟดบอกว่าไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิดกัน เพราะเมื่อตลาดเงินเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ สถาบันการเงินที่กู้เงินด่วนไปก็จะพากันมาใช้คืนหนี้ทำให้ Reserve ลดลงไปเอง ก่อนที่เศรษฐกิจจะฟื้นตัว ซึ่งก็ดูเหมือนจะเป็นเช่นนั้นจริงๆ ตามที่เฟดพูด เพราะ ถึงเวลานี้ Reserve ที่เพิ่มขึ้นมา $900 billions ลดลงไปครึ่งหนึ่งแล้ว ภายในเวลาแค่ไม่ถึงครึ่งปี นอกจากนี้ ถ้าหาก Reserve เกิดไม่ลดลงต่อหลังจากนี้ เฟดก็ได้เตรียมรับมือไว้แล้ว ด้วยการขออนุมัติที่จะจ่ายดอกเบี้ยให้กับ Reserve ที่ขอกู้มา อัตราดอกเบี้ยที่เฟดกำหนดจะจ่ายให้จะเป็นตัวกำหนดเพดานขั้นต่ำของ fed fund rate ซึ่งจะทำให้เฟดสามารถควบคุมการปล่อยกู้ของธนาคารพาณิชย์จาก Reserve ส่วนเกินนี้ได้ จึงไม่ต้องเป็นห่วงว่า เฟดจะควบคุมการปล่อยสินเชื่อของธนาคารไม่ได้    

อย่างไรก็ตาม แม้ Reserve จะมีแนวโน้มลดลง แต่เมื่อต้นปี เฟดก็ได้สร้างความกังวลใหม่ให้กับตลาดอีก ด้วยการประกาศจะเข้าแทรกแซงตลาดเงินโดยตรง (Quantitative Easing) ซึ่งเทียบเท่ากับการพิมพ์เงิน โดยการซื้อพันธบัตร $300 billions เพื่ดกดดอกเบี้ยระยะยาวลง ซื้อบอนด์ของเฟดดี้และแฟนนี่ $200 billions และซื้อ MBS อีก $1.25 Trillions เพื่อพยุงตลาดอสังหาฯ ตลาดกังวลว่า เมื่อโปรแกรมนี้จบลงแล้ว เฟดจะขายตราสารเหล่านี้ออกมาอย่างไร

เกี่ยวกับเรื่องนี้ เฟดบอกว่าสำหรับพันธบัตรนั้นไม่น่าห่วงเพราะเป็นจำนวนที่น้อยเมื่อเทียบกับตลาดทั้งตลาด การขายออกมาคงไม่มีผลกระทบอะไร แต่สำหรับบอนด์หรือ MBS นั้น เกือบจะเรียกได้ว่าเฟดกลายเป็นตลาดไปแล้ว ถ้าหากขายออกมาทันทีจะเป็นปรากฏการณ์ที่ใหญ่มากแน่นอน ถ้าดูจากพฤติกรรมในอดีตของเฟด เชื่อว่า เฟดน่าจะถือตราสารเหล่านี้จนครบอายุแทน

เนื่องจากอายุเฉลี่ยของตราสารเหล่านี้เท่ากับ 5-10 ปี ดังนั้นเฟดจะต้องหาทางค่อยๆ ดูดซับสภาพคล่องส่วนเกินที่เกิดขึ้นมาก่อนระหว่างทาง ซึ่งเชื่อกันว่า เฟดจะใช้วิธีออกตั๋วเงินระยะสั้นๆ ของตัวเองหมุนไปเรื่อยๆ เพื่อมิให้กระทบตลาด ซึ่งเฟดก็ได้ขออนุมัติเตรียมเอาไว้แล้ว

สรุปแล้ว แม้ตัวเลขจะดูใหญ่ แต่ไม่น่าเป็นห่วงเท่าไรสำหรับเฟด เพราะเตรียมอาวุธไว้เยอะ ลุงเบนน่าจะเอาอยู่ ถ้าจะห่วง กระทรวงการคลังของสหรัฐฯ น่าจะมีอะไรให้ห่วงมากกว่าเฟด ไว้จะมาเล่าให้ฟังครับ

0292: Distressed Company (1)

บริษัทหนึ่งๆ จะขาดทุนหรือมีขาดทุนสะสมมากแค่ไหนก็ได้ต่อให้ขาดทุนจนส่วนทุนติดลบไปแล้วก็ยังไม่ถือว่า “เจ๊ง” ครับ

บริษัทหนึ่งๆ จะ “เจ๊ง” ก็ต่อเมื่อ “ขาดสภาพคล่อง” ต่างหากครับ การขาดสภาพคล่องจะทำให้บริษัทต้องผิดนัดชำระหนี้ ( Default ) ซึ่งนั่นแหละครับถึงที่จะเริ่มมีคนเดือดร้อน (เจ้าหนี้)

เมื่อบริษัทผิดนัดชำระหนี้ เจ้าหนี้ที่ไม่พอใจจะไปฟ้องศาลเพื่อให้ศาลสั่งให้เลิกบริษัทเพื่อนำสินทรัพย์ที่เหลืออยู่ไปขายทอดตลาดเพื่อนำเงินมาใช้คืนเจ้าหนี้ (เท่าที่จะใช้ได้) นั่นแหละครับ “เจ๊ง” แน่

แต่โดยมากแล้ว บริษัทมักรู้ตัวเองก่อนว่ากำลังจะผิดนัดชำระหนี้เร็วๆ นี้ เพราะเงินสดในลิ้นชักหมด ถ้าหากถึงตอนนี้ เจ้าของบริษัทยังไม่ยอมแพ้ เจ้าของอาจชิงไปขอศาลให้บริษัทเข้าสู่กระบวนการพิทักษ์ทรัพย์เพื่อให้เจ้าหนี้ไม่มีสิทธิ์ทวงหนี้ชั่วคราวก่อนถึงวันชำระหนี้ ถ้าแบบนี้ก็ถือว่าบริษัทล้มละลาย (bankrupt) โดยความสมัครใจ ถ้าศาลอนุญาต เจ้าหนี้ก็ทำอะไรบริษัทไม่ได้ [กระบวนการนี้ถูกเขียนไว้ในหมวดที่ 11 ของกฏหมายล้มละลายของสหรัฐฯ ดังนั้น สำนวนภาษาอังกฤษคำว่า Chapter 11 ก็เลย แปลว่า “ล้มละลาย” ได้ด้วย]  

สาเหตุที่ต้องมีทางเลือกอันนี้ไว้ให้บริษัทด้วยเป็นเพราะ ในบางกรณีนั้น ธุรกิจของบริษัทอาจจะยังมีศักยภาพอยู่ เพียงแต่บริษัทอาจประสบปัญหาสภาพคล่องชั่วคราว แต่เมื่อบรรดาเจ้าหนี้เริ่มได้กลิ่นไม่ดี โดยมากแล้ว บรรดาเจ้าหนี้จะรีบชิงทวงหนี้ก่อนเจ้าหนี้รายอื่น เพราะใครช้ามักจะอด แต่ถ้าเจ้าหนี้ทุกรายแห่มาทวงหนี้พร้อมกันหมด ต่อให้บริษัทจะยังมีศักยภาพแค่ไหนก็คงไม่รอด ด้วยเหตุนี้ กฏหมายจึงเปิดทางเลือกให้บริษัท”ขอเวลานอก”ได้ชั่วคราว ให้มีโอกาสได้ขายของสักพัก จนมีสภาพคล่องที่ดีขึ้น เมื่อบริษัทสามารถกลับมาแข็งแกร่งได้อีกครั้ง ย่อมดีกับทั้งเจ้าของบริษัทและเจ้าหนี้ด้วย แต่ถ้าหาก “ขอเวลานอก” แล้วไม่สำเร็จ ไปไม่รอดอยู่ดี ถึงเวลานั้นค่อยเลิกบริษัทก็ได้

เมื่อบริษัทเข้าสู่กระบวนการพิทักษ์ทรัพย์ จะต้องมีการทำแผนฟื้นฟูกิจการมาเสนอต่อศาล โดยมากแล้วผู้บริหารแผนฟื้นฟูก็มักจะได้แก่เจ้าของบริษัทเองนั้นแหละ เพราะไม่มีใครจะรู้สถานการณ์ของบริษัทดีไปกว่าเจ้าของบริษัทเอง (แต่เจ้าของอาจจ้างมืออาชีพมาช่วยเขียนแผนให้อีกที) แผนฟื้นฟูต้องได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมเจ้าหนี้ด้วย เมื่อศาลอนุมัติแผนฟื้นฟู บริษัทก็จะเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการอาจจะ 3 ปี หรือ 5 ปี หรือกี่ปีก็แล้วแต่ ในช่วงนี้ เจ้าหนี้ห้ามมารบกวนบริษัท และโดยมากแล้ว ส่วนหนึ่งของแผนฟื้นฟูมักจะหนีไม่พ้นการปรับโครงสร้างหนี้ด้วย ซึ่งก็คือการเจรจาของลดหนี้จากเจ้าหนี้ (เรียกกันเล่นๆ ว่า haircut) เพื่อช่วยลดภาระของบริษัท โอกาสที่แผนฟื้นฟูจะประสบความสำเร็จจะได้มีมากขึ้น พูดง่ายๆ ก็คือ งานนี้ เจ้าหนี้น่าสงสารที่สุดครับ

เมื่อครบกำหนดแผนฟื้นฟูแล้ว ศาลจะพิจารณาอีกครั้งว่า ฐานะการเงินของบริษัทเป็นเช่นไร ถ้าหากแข็งแกร่ง บริษัทก็จะออกจากแผนฟื้นฟูกลายเป็นบริษัทปกติอีกครั้ง (ซึ่งต้องเริ่มกลับมาชำระหนี้ด้วย) แต่ถ้าหากดูแล้วยังแย่อยู่แต่ยังพอมีหวังอยู่ ศาลอาจจะพิจารณาให้ต่อแผนฟื้นฟูออกไปอีก ถ้าดูแล้ว ยังไงก็ไม่รอด ศาลก็จะสั่งให้เลิกบริษัท นำสินทรัพย์ขายทอดตลาดเอาเงินมาคืนเจ้าหนี้ (ซึ่งส่วนใหญ่แล้วมักจะมีอะไรเหลือให้ขายน้อยยิ่งกว่าตอนแรกเสียอีก T_T )    

กระบวนการล้มละลายก็มีอยู่ประมาณนี้ เอาไว้ค่อยมาดูต่อในมุมมองของผู้ถือหุ้นรายย่อยกันบ้าง

0285: adaptive vs. rational

สมมติฐานเกี่ยวกับการตัดสินใจภายใต้ความไม่แน่นอนของมนุษย์มี 2 แบบด้วยกัน แบบแรกเชื่อว่ามนุษย์ตัดสินใจแบบ Adaptive แบบที่สองเชื่อว่ามนุษย์ตัดสินใจแบบ Rational

Adaptive คือ เมื่อได้รับข้อมูลใหม่ ถ้าข้อมูลใหม่เปลี่ยนแปลงไปทางไหน ก็ค่อยปรับลดประมาณการไปทางนั้นลงทีละนิด เช่น GDP ปีล่าสุดอยู่ที่ 3% ก็ประมาณว่า GDP ปีหน้าจะอยู่ที่ 2.5-3.5% ด้วย ถ้า GDP ไตรมาสล่าสุดออกมาลดลง ก็ปรับประมาณการ GDP ปีหน้าใหม่ให้ลดลงตาม เช่น 2.3-3.3% เป็นต้น พูดอีกอย่างก็คือ ประมาณการจะค่อยๆ เรื่อยไปตามตัวเลขใหม่ที่ออกมาทีละนิด

Rational คือ เมื่อได้รับข้อมูลใหม่ก็นำข้อมูลทั้งหมดมาประมวลแล้วตั้งสมมติฐานเกี่ยวกับอนาคตขึ้นมาจากข้อมูลเหล่านั้น เช่น แม้ GDP ปีล่าสุดจะอยู่ที่ 3% แต่ถ้ามีข่าวว่าสหรัฐฯ มีวิกฤตซับไพร์ม ทำให้เชื่อว่ากำลังซื้อจากต่างประเทศน่าจะกำลังหายไปเร็วๆ นี้ ประเทศไทยพึ่งการส่งออกถึง 70% เพราะฉะนั้น ปีหน้าคงกระทบหนัก แบบนี้ไม่ต้องรอให้ GDP รายไตรมาสออกมาแล้วค่อยๆ ปรับประมาณการลงตาม แต่มองข้ามช็อตไปได้เลยว่า GDP ปีหน้าน่าจะติดลบมากแน่นอนเช่น -4% แบบนี้เป็นต้น

ทุกวันนี้ดูเหมือนหน่วยงานของรัฐฯ จะตั้งประมาณการแบบ Adaptive เพราะตอนที่เกิดซับไพรม์ใหม่ๆ ก็บอกว่า จีดีพีปีหน้าน่าจะลดลง แต่คงเป็นบวก เช่น 3% แต่พอถึงไตรมาสสี่ออกมาติดลบเยอะมากก็ปรับประมาณการปีหน้าใหม่เป็น 0-2% ต่อมาเมื่อเร็วๆ นี้ พอเริ่มเห็นตัวเลขไตรมาสหนึ่งว่าจะแย่กว่าไตรมาสสี่ก็บอกว่าจะพิจารณาปรับประมาณการปีหน้าใหม่ให้อยู่ในแดนลบ การค่อยๆ ปรับประมาณการลงทีละนิดแบบนี้อาจมีข้อดีตรงที่ไม่ทำให้คนตกใจมากเกินไป

แต่ดูเหมือนว่าตลาดทุนจะตัดสินใจแบบ Rational เพราะตลาดปรับตัวลงมารวดเดียวอย่างหนักตั้งแต่ตอนครึ่งหลังของปีที่แล้วไปแล้ว ตลาดไม่รอให้ตัวเลขจริงออกมาแย่ลง ก่อนแล้วค่อยปรับตัวลงตาม

ถ้านักลงทุนตัดสินใจแบบ Adaptive ตอนที่ตลาดหุ้นดิ่งอย่างหนักเมื่อปีที่แล้ว แต่งบไตรมาส 4 ออกมายังดีอยู่ นักลงทุนก็อาจจะคิดไปว่า เป็นเรื่องของอารมณ์ตลาด พื้นฐานไม่เห็นเปลี่ยนมากขนาดนั้น ทำให้นักลงทุนเข้าไปช้อนซื้อ แต่เมื่อถึงเวลานี้ เราก็ตระหนักได้แล้วว่า ตลาดคิดแบบ Rational สถานการณ์ของโลกไม่ได้เลวร้ายน้อยไปกว่าราคาหุ้นเลย และดูเหมือนจะเลวร้ายลงได้อีกมาก ในตลาดหุ้น ผลประกอบการมักปรับตัวตามหลังราคาหุ้นเสมอ ถ้าใครจะต้องรอให้งบการเงินแสดงว่ากำไรลดลงก่อน แล้วจึงค่อยตัดสินใจ กว่าถั่วจะสุกงาก็ไหม้หมดแล้ว

งบการเงินมีไว้เพื่อตรวจสอบความผิดปกติในบริษัทมากกว่าที่จะใช้เพื่อตัดสินใจลงทุนหรือวัดมูลค่าหุ้น สิ่งที่ตลาดสนใจคือผลประกอบการจะวิ่งไปทางไหนในอนาคต ไม่ใช่ผลประกอบการเป็นอย่างไรในปัจจุบัน 

  

0284: EMH

หนึ่งในเรื่องที่เถียงกันมากที่สุดตลาดกาลเกี่ยวกับตลาดหุ้นคือ สมมติฐานเรื่องตลาดมีประสิทธิภาพ (Efficient Market Hypothesis)

นักวิชาการมักสนับสนุน EMH เพราะเป็นแนวคิดที่เข้ากันได้ดีกับเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก ในขณะที่ คนในวอลล์สตรีทมักคัดค้าน EMH เพราะการยอมรับ EMH ก็เท่ากับว่ายอมรับว่าสิ่งที่พวกเขากำลังพยายามทำอยู่ทุกวันนั้น (พยายามชนะตลาด) เป็นเรื่องที่ไร้ประโยชน์

ปัญหาก็คือ เราไม่มีทางพิสูจน์ได้ว่าตลาดมีประสิทธิภาพจริงหรือไม่ เนื่องจากเราไม่สามารถแยก rational errors ออกจาก irrational errors ได้ อย่างในกรณีที่ตลาดแนสเด็กฟองสบู่แตกเมื่อปี 2001 จะฟันธงว่าตลาดไม่มีประสิทธิภาพก็ไม่ได้ เพราะอาจเป็น rational errors ก็ได้ คำว่า rational errors หมายความว่า ในการตัดสินใจภายใต้ความไม่แน่นอนนั้น บางครั้งการตัดสินใจอย่างมีเหตุผลก็อาจให้ผลลัพธ์ที่ผิดพลาดได้เหมือนกัน ตัวอย่างเช่น ถ้าเรารู้ว่าเหรียญอันหนึ่งโดนถ่วงให้ออกหัว 55% การตัดสินใจที่มีเหตุผลคือการทายว่าเหรียญนั้นจะออกหัวทุกครั้ง แต่ในการทอยเหรียญหนึ่งครั้ง เหรียญอาจจะออกก้อยก็ได้ แบบนี้เรียกว่าเป็น rational error (ความผิดพลาดอย่างมีเหตุผล)

ในเมื่อ EMH พิสูจน์ไม่ได้ สิ่งที่เราทำได้ก็คือแค่เชื่อไปทางใดทางหนึ่ง แต่วิธีที่ดีกว่าคือแทนที่เราจะเชื่อไปทางใดทางหนึ่งแบบหัวชนฝา เราน่าจะฟังหูไว้หูมากกว่า เพราะยังไงมันก็พิสูจน์ไม่ได้อยู่แล้ว ไม่ว่าเราจะเลือกข้างไหนก็เป็นได้แค่ความเชื่อเท่านั้น

อันที่จริง นักลงทุนที่พยายามเอาชนะตลาดด้วยการวิเคราะห์พื้นฐาน เพราะเชื่อแบบสุดโต่งว่าตลาดไม่มีประสิทธิภาพโดยสิ้นเชิงนั้นนับเป็นความเชื่อที่ไม่สมเหตุผล เพราะถ้าตลาดไม่มีประสิทธิภาพโดยสิ้นเชิง การพยายามวิเคราะห์พื้นฐานก็จะไร้ประโยชน์พอๆ กับการเชื่อว่าตลาดมีประสิทธิภาพโดยสมบูรณ์เช่นกัน  เพราะถ้าตลาดไม่มีประสิทธิภาพโดยสิ้นเชิง ราคาหุ้นย่อมวิ่งไปอย่างไรก็ได้ ไม่เกี่ยวกับพื้นฐานและไม่มีเหตุผลใดๆ ที่จะต้องกลับมาหาพื้นฐานสักวันหนึ่งเลยด้วย การวิเคราะห์พื้นฐานย่อมสูญเปล่าเช่นเดียวกัน

คำถามที่ตรงประเด็นมากกว่าจึงไม่ใช่คำถามที่ว่า ตลาดมีประสิทธิภาพหรือไม่? แต่คือคำถามว่า ตลาดมีประสิทธิภาพมากแค่ไหน? มากกว่า ตลาดควรจะมีประสิทธิภาพอยู่ในระดับหนึ่งมากกว่าที่จะมีประสิทธิภาพโดยสมบูรณ์หรือไม่มีประสิทธิภาพโดยสิ้นเชิง มิฉะนั้นแล้ว ความพยายามที่จะเอาชนะตลาดด้วยวิธีการใดๆ ย่อมไร้ผลอยู่ดี

ตลาดหุ้นจะมีประสิทธิภาพสูงได้ต้องอาศัย smart investors ซึ่งหมายถึง นักลงทุนที่ลงทุนโดยอาศัยข่าวเป็นหลัก แทนที่จะใช้ความรู้สึก ยิ่งในตลาดหุ้นมี smart investors มากเท่าไร ตลาดก็จะยิ่งซึมซับข่าวได้เร็วมากเท่านั้น ตลาดหุ้นที่ sophisicated มากๆ อย่างตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่หุ้นบูลชิพแต่ละตัวอาจมี analyst cover มากถึง 150 คน ราคาหุ้นจะ discount ข่าวอย่างรวดเร็วมากๆ ทำให้การซื้อหุ้นโดยอาศัยการอ่านพบข่าวดีเกี่ยวกับบริษัทในนสพ.จะไม่ได้ผล เพราะกว่าที่ข่าวนั้นจะมาอยู่บนหน้านสพ. ราคาหุ้นก็โดนคนอื่น discount ข่าวนั้นไปหมดแล้ว แต่ถ้าเป็นตลาดหุ้นที่ค่อนข้างด้อยพัฒนาหรืออยู่ในภาวะซบเซาอย่างรุนแรง การอ่านเจอข่าวดีในนสพ.แล้วรีบซื้อหุ้นก็อาจยังชนะตลาดได้ ในช่วงที่ตลาดซบเซาอย่างหนักเช่น ปี 2544-45 ช่วงนั้นนักลงทุนออกไปจากตลาดเป็นจำนวนมาก ช่วงนั้นตลาดน่าจะมีประสิทธิภาพต่ำกว่าช่วงปี 2547-48 ซึ่งมีนักลงทุน active อยู่เต็มตลาดไปหมด

อย่างไรก็ตาม ต่อให้ตลาดมี smart investors มากแค่ไหน ตลาดก็ทำได้เพียงมีประสิทธิภาพสูงในการซึมซับข้อมูล (informationally efficient) เท่านั้น นักลงทุนยังคงมีโอกาสชนะตลาดได้ด้วยการ “วิเคราะห์” ข้อมูลได้เก่งกว่าตลาด เช่น ตลาดแปลความว่าเป็นข่าวร้าย แต่เรามองว่าเป็นข่าวดี ถ้าเราคิดถูก เราก็มีโอกาสชนะตลาด นั่นคือ แม้ราคาหุ้นจะซับข่าวได้อย่างรวดเร็ว แต่ก็อาจเป็นการแปลความข่าวผิดก็ได้ ดังนั้น คนที่ “วิเคราะห์” เก่งกว่าคนทั่วไปในตลาด ก็มีโอกาสที่จะชนะตลาดได้ทั้งๆ ที่รู้ข่าวช้ากว่าคนอื่นเสมอ

แต่ทุกวันนี้ เหตุสำคัญที่สุดที่ยังคงทำให้ตลาดหุ้นเกิด booms และ bursts อยู่เสมอไม่ว่าตลาดจะซึมซับข้อมูลได้เร็วแค่ไหน คือ herd instincts ในตัวของนักลงทุน มนุษย์เราไม่ว่าจะเจริญขึ้นหรือฉลาดขึ้นแค่ไหน ก็ยังคงมีสัญชาตญาณของการแห่ตามกันอยู่เหมือนเช่นเดิม herd instincts เป็น abnormality ในตลาดที่ทนทานต่อการอาบริทาจ ฟองสบู่จะเกิดขึ้นเสมอเมื่อนักลงทุนส่วนใหญ่ในตลาด shutdown สมองของตัวเองแล้วหันมาพึ่งความเห็นคนอื่นในการตัดสินใจซื้อหุ้นแทน เรามักรู้สึกอุ่นใจเมื่อรู้ว่ามีคนอื่นที่ตัดสินใจแบบเดียวกับเราอยู่เยอะๆ และนั่นก็คือช่วงเวลาที่อันตรายมากที่สุดด้วย

ตลาดหุ้นจะรักษาเสถียรภาพไว้ได้ตราบใดที่นักลงทุนส่วนใหญ่ในตลาดยังมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันอยู่ เมื่อใดก็ตามที่นักลงทุนส่วนใหญ่คิดหรือเชื่อไปทางเดียวกันหมด เมื่อนั้นจะเกิดภาวะที่เรียกว่า diversity breakdown ซึ่งจะตามมาด้วย booms และ bursts ในตลาดหุ้นเสมอ หุ้นที่ไม่เหลือใครเลยในตลาดที่คิดต่างว่าไม่ดี ราคาหุ้นจะลอยระริ่ว ความเห็นที่แตกต่างกันในตลาดจะคอยช่วยดึงราคาหุ้นไว้ไม่ให้สุดโต่ง ถ้าอยากเอาชนะตลาด นอกจากการวิเคราะห์ที่เหนือกว่าแล้ว การมีจิตใจที่สามารถเอาชนะ herd instincts ในตัวเองได้ ถือได้ว่าเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ใช้ได้ผลดีเช่นกัน

เมื่อมองในแง่นี้ การรณรงค์ให้นักลงทุนหันมาลงทุนระยะยาวกันหมดถือว่าเป็นการทำลายตลาดหุ้นอย่างหนึ่งเหมือนกัน เพราะถ้าทุกคนเป็นนักลงทุนระยะยาวกันหมด หุ้นจะถูกในระยะสั้น และแพงในระยะยาว ตลาดหุ้นที่ดีจะต้องมีนักลงทุนที่มีแนวทางที่หลากหลายอยู่ ร่วมกัน กล่าวคือ ต้องมีทั้งนักเก็งกำไรและนักลงทุนอยู่ในตลาด ความคิดที่หลากหลายจะคอยป้องกันตลาดหุ้นไว้ไม่ให้เกิดสภาวะ diversity breakdown

0252: Guru Watchdog

Jim Rogers (Source 1 2 3 )

– ช่วงนี้ผมสะสมดอลลาร์เพิ่มขึ้น เพราะเห็นว่าทุกคนมองดอลลาร์ร้ายกันหมด แต่ก็ยังเป็นจำนวนที่น้อยกว่าเงินสกุลอื่นๆ ที่ผมถืออยู่ เพราะยังไงๆ ดอลลาร์ก็จะแย่ลงเรื่อยๆ ในระยะยาว ผมแค่อยากจะลองทำกำไรระยะสั้นเท่านั้น แต่ผมไม่ใช่คนเล่นสั้นที่เก่งเลย

– ตอนนี้ ผมยังไม่ซื้อทองคำเพิ่ม เพราะผมถือทองคำอยู่แล้ว แต่จะไม่ขายมันด้วย ถ้าหากทองคำลงไปแตะต่ำกว่าพันเหรียญ ผมก็จะซื้อเพิ่มอีก เพราะภายในปี 2019 ทองคำจะต้องยืนเหนือระดับ $2, 000 ได้อย่างแน่นอน และนั่นไม่ใช่สมมติฐานที่มากเกินไปเลย

– ปีหน้าเราอาจจะเห็นรัฐบาลของบางประเทศประสบปัญหาทางการเงินเพิ่มอีก อาจจะเป็น อาร์เจนติน่า ยูเครน หรือแม้แต่ UK ก็เป็นไปได้ ในช่วงสองสามปีนี้จะต้องมีวิกฤตการเงินอีกอย่างแน่นอน นอกเหนือจากทองคำแล้ว silver และเงินสกุลเอเชียบางประเทศก็น่าสนใจด้วย

– สินค้าเกษตรน่าสนใจมาก เพราะว่าราคาของมันตกต่ำมาเป็นทศวรรษแล้ว ผมว่ามันเป็นสินทรัพย์ที่ราคาถูกที่สุดในตอนนี้ เรากำลังจะมีวิกฤตอาหาร ตอนนี้ข้าวสร้าง all time high ได้แล้ว แต่น้ำตาลยังห่าง all time high อยู่มาก

– ช่วงนี้เป็นช่วงที่แปลกมาก เพราะผมไม่ได้ short อะไรเลย ผมหาไม่เจอว่ามีอะไรที่ราคาแพงมากๆ แต่ถ้าจะให้ short ผมคงเลือก US Government Bond

Marc Faber (Source)

-A stronger dollar will be positive for equities based on historical market data.
-The U.S. market will outperform emerging markets for the first half of 2010.
-Stocks and associated indices may have 10-20% correction, followed by another rally.
-The worst thing you can do for a long-term buy is purchase Treasuries.
-The private sector is de-leveraging while the government levers up. This process is expected to continue

Overall, 2010 will not be one for the record books, as 2009 was. He’s looking at a more normal 5%-10% rate of return for global investors.

Here are Faber’s views on other markets and asset classes:

Asia: “Longer term we’ll have still favorable growth, ” he says. He thinks India and Japan both offer opportunities. In his eyes, this view gained even more credibility after they were not mentioned once during the Barron’s round-table discussion.

Bonds: The bull market in Treasuries that lasted from 1980-2008 is a thing of the past. Near term: after a dismal 2009 the bond market could be in for a rebound. Longer term: look for exit opportunities in Treasuries.

Gold: Still a long-term buy.

Oil: Prices in the $80s make sense since the marginal cost to find a barrel is about $70. Longer term he expects prices to continue rising as demand increases from the developing world.

Agricultural commodities: In the short term, Faber’s favorite commodity is wheat. He advises against buying the wheat ETFs because they’re relatively expensive. Instead, play it through farm land or potash companies, he says.

โทมัส ตัน (ที่มา)

ผู้มีประสบการณ์ในตลาดโภคภัณฑ์ ด้วยเทคนิคและปัจจัยพื้นฐานมากว่า 15 ปี ได้เขียนคำทำนายเศรษฐกิจทุกปี ตั้งแต่ปี 2008 ซึ่งคราวนั้นทำนายว่า ทองคำจะแตะระดับ 1000 เหรียญได้เป็นครั้งแรก ปีนี้มีคำทำนาย น่าสนใจอีกจนอดไม่ได้ที่จะแปลมาให้อ่านกัน

ผมได้เขียน 10 คำทำนายมา 2 ปีติดต่อกันแล้ว นับตั้งแต่ปี 2008 เดิมทีได้ไอเดียจากคุณ Byron Wien ซึ่งได้เผยแพร่คำทำนายออกมาทุกปีนับตั้งแต่ปี 1980 ขณะที่เขาอยู่ที่ Morgan Stanley แล้วก็ไปอยู่กับ Pequot Capital ตามด้วยปัจจุบัน อยู่ที่ Blackstone.

คำทำนายในปี 2008 ของผมค่อนข้างตรงและได้ทำนายทิศทางหลักๆเกือบทั้งหมด เนื้อหาดีกว่าของคุณ Byron บางอย่าง ผมเรียกว่า เป็นความโชคดีของมือใหม่อย่างผม แต่ในปี 2009 Byron ก็สามารถเอาคืนได้ ด้วยคำทำนายที่ถูกต้องมากกว่า การอ่านลูกแก้วแบบนี้ ไม่มีใครชนะได้ตลอด แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ผมว่ามันเป็นเรื่องน่าสนุกที่จะทำ โดยเฉพาะเมื่อมันถูกต้องขึ้นมา ผมตั้งใจจะทำมันทุกๆปี ไม่ว่าปีก่อนผลจะผิดหรือถูกมากกว่า และโดยไม่รอช้า คำ 10 ทำนายของผม มีดังนี้

1. ทองคำ จะแตะระดับ 1500 เหรียญต่อออนซ์ในปี 2010 หรือหมายถึงขึ้นไปอีก 50% จากระดับปัจจุบัน ส่วนโลหะเงินก็จะตามกันไป แตะระดับ 25 เหรียญต่อออนซ์ ส่วนดัชนีหุ้นเหมืองทองคำ HUI จะขึ้นผ่าน 600 เหรียญด้วยเหมืองทองคำ/เงิน ขนาดเล็กๆหลายแห่ง จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้น 2 – 3 เท่า ทองคำจะถูกจัดเป็นสินทรัพย์เพียงอย่างเดียวที่วางใจได้ ทั้งจากประชาชนทั่วไปและจากธนาคารกลางต่างๆ จากการเสื่อมค่าลงของเงินกระดาษ (fiat money)

2. ดัชนี USD index จะเหลือ 60 จุด การรีบาวน์ของ US ดอลล่าร์ขณะนี้จะอยู่ได้เพียงแค่ช่วงสั้นๆ หลังจากแตะระดับ 80 จุดได้ไม่นาน เพื่อจะบีบและเขย่าขวัญขา Short US ดอลล่าร์จะกลับสู่ trend ขาลงซึ่งจะเป็น trend หลักที่จะเกิดขึ้นในปี 2010 จนกว่าจะถึงระดับ 60 จุด ธนาคารกลางส่วนใหญ่ จะไม่ต้องการถือ US ดอลล่าร์อีกต่อไป แต่พวกเขาก็จะประสบกับความยากลำบากในการที่จะออกจากสถานการณ์เช่นนี้โดยที่ตัวเองจะไม่ได้รับกระทบ หนทางที่ดีที่สุดสำหรับทั้งสองฝ่าย (ธนาคารกลางอื่น กับ เฟด) คือการที่จะต้องประคองให้มีการลดค่าลงอย่างค่อยเป็นค่อยไปราว 20% ต่อปี

3. ตลาดหมีใน S&P ที่รีบาวน์อยู่ในตอนนี้ จะขึ้นต่อได้อีกราว 7 เดือน จากเดือนมกราคมถึงกรกฎาคม แล้วหลังจากนั้น ตลาดจะต้องเผชิญกับหน้าผาสูงชันที่จะมาเขย่าขวัญอีกเป็นครั้งที่ 2 ซึ่งจะเกิดขึ้นตั้งแต่เดือนสิงหาคมไปจนถึงสิ้นปี ซึ่งจะไม่เหมือนกับรูปแบบปกติที่เกิดขึ้นในปีที่มีการเลือกตั้งกลางเทอม ที่ปกติ จะแย่ในช่วงครึ่งแรกของปี และดีขึ้นในช่วงครึ่งหลัง แต่จะกลับไปสอดคล้องกับความคิดและพฤติกรรมที่เกิดขึ้นในวอลล์สตรีท ที่จะสูบ รีดเอาน้ำผลไม้ และโบนัสสำหรับตนเองให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ก่อนที่ภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจระลอก 2 จะเกิดขึ้น

4. หุ้น Citigroup จะลดลงเหลือต่ำกว่า 2 เหรียญอีกครั้ง (ปัจจุบัน 3.30 อดีตก่อนเกิดวิกฤติอยู่ที่เกิน 50) ความยากลำบากในการหาทุนเพิ่มที่เห็นกันอยู่ในตอนนี้ บอกเรามากเกินพอสำหรับสถานการณ์ภัยพิบัติของสถาบันแห่งนี้ นี่เป็นหายนะที่น่าสยดสยองสำหรับ Citi และการตัดสินใจที่แย่ๆ ที่ทำโดยคณะผู้บริหาร จนเดี๋ยวนี้ ใครๆในโลกก็รู้ว่า จุดประสงค์เดียวที่จ่ายเงินคืนแก่ TARP เพราะต้องการจ่ายโบนัสก้อนโตให้แก่แมวอ้วนคณะผู้บริหาร Citi พอร์ทของ Citi ในจำนวนหลายล้านๆ ยังคงเสื่อมค่าลงทั้งส่วนของที่อยู่อาศัยและตลาดอสังหาฯเชิงพาณิชย์ แค่ความเป็นไปได้ที่จะเกิดการล่มสลายในหนี้จำนองและอนุพันธ์ในพอร์ทของมัน ก็สามารถกวาดล้างผู้ถือหุ้นรายย่อยออกไปได้อย่างเร็ว และเมื่อถึงเวลานั้น พวกเขาอาจจะขอความช่วยเหลือจาก TARP อีกครั้ง (TARP เป็นหน่วยงานของสหรัฐ ที่เข้าอุ้มสถาบันการเงินสหรัฐจำนวนมากอยู่เวลานี้)

5. ผลตอบแทนพันธบัตร 10 ปีของสหรัฐ จะเพิ่มขึ้น 2 เท่าจาก 1.5% ในปัจจุบันเป็น 3% ซึ่งนี่จะเป็นสิ่งที่สร้างความประหลาดใจครั้งใหญ่ ของทั้งเฟดและนักลงทุน เฟดทำได้แค่ควบคุมอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น ตลาดหนี้เริ่มได้กลิ่นและเริ่มรู้สึกว่าอะไรบางอย่างกำลังเกิดขึ้นอย่างผิดปกติมากๆในค่าเงิน และหนี้ของสหรัฐ – กระบวนการเทของจะเกิดขึ้นอย่างเร็ว ความกังวลเรื่องเงินฝืดจะกลับกลายเป็นความกังวลเงินเฟ้อแทน และไม่ใช่เงินเฟ้อธรรมดา แต่เป็นภาวะเงินเฟ้ออย่างมาก ( hyperinflation ) ได้เกิดขึ้นแล้ว การร่วงลงอย่างต่อเนื่องของค่าเงิน US ดอลล่าร์, ซัพพลายเงินที่คุมไม่อยู่ และการขาดสภาพคล่องของรัฐบาลที่ไร้ขอบเขต จะทำให้นักลงทุน ไม่สามารถมองเห็นแสงที่ปลายอุโมงค์ได้ (มองไม่เห็นทางออก) ซึ่งจะแย่กว่าสมัยทศวรรษก่อนของญี่ปุ่น นับจากที่ความยุติธรรมของระบบของเราถูกตั้งข้อสงสัยโดยการออมเพียงน้อยนิดแต่รายจ่ายมหาศาล

6. การรีบาวน์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันของดัชนี S&P/Case-Schiller จะเกิดแค่ช่วงสั้นๆ ดัชนี Schiller จะร่วงลงมากกว่า 15% ในปี 2010 ต่ำกว่า 120 ตลาดอสังหาฯส่วนที่อยู่อาศัยจะเผชิญกับแรงกดดันที่น่ากลัวเพราะการเพิ่มขึ้นของดอกเบี้ยที่ลูกหนี้ต้องจ่ายเพราะถึงกำหนดการปรับดอกเบี้ยที่ต้องลอยตัวแล้ว โดยหนี้ที่ต้องมีการปรับอัตราดอกเบี้ย (ARM reset)จะทะยอยปรับในช่วงปี 2010-2012 ความล้มเหลวที่เกิดขึ้นจะลามไปตลาดอสังหาฯเชิงพาณิชย์ โครงการขนาดใหญ่ๆจะล้มเหลวในปีต่อไป เหมือนพลุบนท้องฟ้า ข่าวร้ายที่เกิดขึ้นใน 2 ตลาดนี้ อาจต้องใช้เวลาน้อยๆก็ 1 – 2 ทศวรรษในการฟื้นฟู ต้องขอบคุณวิศวกรรมการเงินของวอลล์สตรีท

7. หลังจากซื้อเวลาได้อีกครึ่งปี หุ้นอุตสาหกรรมส่วนบุคคล (PE) จะเผชิญแรงกดดันในปี 2010 โดยเฉพาะในครึ่งปีหลัง นักลงทุนส่วนบุคคลจะเรียกร้องความโปร่งใสในการแสดงมูลค่าที่แท้จริงของสิ่งที่พวกเขาลงทุนไป แล้วพวกเขาจะเริ่มค้นพบว่า ระบบ leverage หรือการลงทุนที่ใช้อัตราทดมันไม่ work เฮดฟันด์จะทะยอยปิดตัวเพิ่มขึ้นในปี 2010 หลังเศรษฐกิจฟุบรอบ 2

8. จีนจะยังคงอัตราการเติบโตราว 9% ในปี 2010 หลังจากทำได้ 9% ในปี2009 ความพยายามของจีนในการที่จะชวนให้ผู้บริโภคใช้จ่ายมากขึ้น ออมน้อยลง จะยังคงดำเนินต่อไป รัฐบาลกลางจะเริ่มโปรแกรมความปลอดภัยทางสังคม ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมอย่าง Health care ซึ่งจะตามมาหลังการเติบโตต่อเนื่องของเศรษฐกิจ ปัญหาปวดหัวของจีน คงจะเป็นการหาทางรับมือกับทุนสำรอง 80% ที่มีมูลค่าในเทอมดอลล่าร์และกำลังเผชิญกับการเสื่อมค่าลงทุกวัน

9. เงินเฟ้อจะแตะระดับ 10% วัดจากฐาน CPI ก่อนยุคคลินตัน ใช้เกณฑ์จาก www.shadowstats.com ในการเปรียบเทียบแอปเปิ้ลกับแอปเปิ้ลในปี 1970 มันเป็นการควร ที่น่าจะใช้สูตรคำนวณ CPI เดียวกันคือยุคก่อนสมัยคลินตัน เมื่อเงินเฟ้อหลุดออกจากกรง (การควบคุม) แล้ว อย่างที่ผมเชื่อว่ามันจะเกิดในปี 2010 มันเป็นไปไม่ได้ที่จะไปควบคุมมัน โดยไม่ทำอย่าง Paul Volcker อดีตประธานเฟด (ที่ขึ้นดอกเบี้ยอย่างแรง )ในปี 1980

10. น้ำมันจะแตะระดับ 3 หลัก (100 เหรียญ) อีกครั้งในปี 2010 ราคาปัจจุบันราว 70 เหรียญ กับซัพพลายที่จำกัด ผู้ผลิตน้ำมันจาก ทราย tar ยังไม่คุ้มที่จะผลิต พลังงานนิวเคลียร์จะได้รับความสนใจ เมื่อซัพพลายยูเรเนียมจากอดีตสหภาพโซเวียตใกล้หมด เทคโนโลยีสีเขียวจะมีการโอ้อวดเกินจริงและมีแผนการณ์อื่นมากกว่าจะเป็นเรื่องจริง ภัยคุกคามจากโลกร้อนจะถูกขยายจนเกินจริงจากนักการเมืองและสื่อ ประชาชนยังคงจำได้ว่าในปี 1970 ทุกคนได้รับฟังจากนักการเมืองและสื่อว่า อุณหภูมิของโลกกำลังลดลงและเราจะกลับสู่ยุคน้ำแข็ง เพียงแค่ 3 ทศวรรษต่อมา เราถูกบอกในทางตรงกันข้าม เรื่องจริงคือมนุษย์ไม่สามารถควบคุมอะไรเกี่ยวกับอุณหภูมิโลกได้ ไม่ว่าจะร้อนหรือเย็น มันแค่ตัวอย่างที่นักการเมืองตบตา และทำให้เสียงบประมาณมหาศาลไปตลอดทาง

หมอไพศาล

สำหรับภาวะเศรษฐกิจ การเมือง และตลาดหุ้นในปี 2553 หมอไพศาล พยากรณ์ให้ฟังว่า ในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2553 “ตลาดหุ้นจะไม่ดีอย่างแรง” โอกาสปรับตัวลงมาอยู่ระดับ 400 จุดอาจมีให้เห็นได้ ช่วงนี้เหมาะสมมากที่นักลงทุนจะหาจังหวะช้อนหุ้นที่ชื่นชอบเก็บเอาไว้โดยเฉพาะกลุ่มพลังงาน ถ่านหิน และวัสดุก่อสร้าง เป็นต้น เนื่องจากพระราหูย้ายเข้ามาอยู่ในราศีธนู ซึ่งบ่งบอกว่าธุรกิจประเภทดังกล่าวจะรุ่งเรืองมาก

หลังจากนั้นตั้งแต่ในเดือนมีนาคม-มิถุนายน 2553 ตลาดหุ้นจะมีอาการ “ทรงตัว” ก่อนจะทะยานขึ้นไปสู่ “จุดสูงสุด” ในระหว่างเดือนกันยายน – ธันวาคม 2553 ซึ่งมีโอกาสจะทะลุ 700 จุดหรือ 800 จุดได้ ในแง่ของเศรษฐกิจในปี 2553 ก็จะดีขึ้นเรื่อยๆ ส่วนราคาทองคำมีโอกาสทะลุ 20, 000 บาท ใครมีเงินซื้อทองคำ (แท่ง) เก็บเอาไว้ได้กำไรแน่นอน

=========================================

ไว้จบปี 2010 เรามาดูกันนะครับ

ผลลัพธ์

0043: My U.S. Portfolio

เอามาให้ดูกันเล่นๆ ครับ สำหรับพอร์ตในอเมริกาของผม มันไม่มีการซื้อการขายใดๆ เลยมาได้เกือบครึ่งปีแล้วหลังจากที่ผมค่อยๆ ปรับพอร์ตอยู่นานถึงสามปีเพื่อให้ได้พอร์ตที่เหมาะสมสำหรับการลงทุนระยะยาว และตอนนี้ผมก็ได้พอร์ตที่ผมค่อนข้างพอใจกับมันแล้ว คงไม่ไปทำอะไรกับมันอีกนานแสนนานเพราะเราอยู่ห่างไกลจากตลาดมานานแล้ว

ธีมที่ผมใช้ในการออกแบบพอร์ตก็คือ ผมนั่งนึกดูว่าสหรัฐอเมริกามีความสามารถในการแข่งขันในอุตสาหกรรมใดบ้างในเวทีโลก โลกในยุคต่อไปคือโลกแห่งการค้าเสรี คนที่เก่งที่สุดในธุรกิจนั้นๆ เท่านั้นจึงจะอยู่รอดได้ครับ

Adobe System (ADBE) คือ นับวันบริษัทนี้จะกลายเป็นไมโครซอฟท์แห่งโลกการพิมพ์และ web graphics เข้าไปทุกที คนในวงการทุกคนพยายามสร้างแวลูให้กับตัวเองด้วยการฝึกฝนทักษะในการใช้ผลิตภัณฑ์ของ Adobe อย่างเข้มข้นมานานนับสิบปี ยากที่ทูลจากบริษัทซอฟต์แวร์อื่นๆ จะเข้ามาตีตลาดได้

Harley Davidson (HOG) คือ โรงงานผลิตมอเตอร์ไซต์แห่งเดียวที่ยังอยู่ในสหรัฐฯ มันทนค่าแรงที่แพงขนาดนั้นได้เพราะมันคือมันไม่ใช่พาหนะเพื่อการโดยสารแต่มันคือมอเตอร์ไซต์เพื่อการสันทนาการ หนึ่งในตราสินค้าของสหรัฐฯ ที่ผู้ใช้มีความจงรักภักดีมากที่สุดจนถึงปัจจุบันและไม่มีทีท่าว่าจะลดลง ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของชาวเอเชียในยุคที่จะถึงนี้จะทำให้เกิดเศรษฐีเอเชียจำนวนมากที่ต้องการเป็นเจ้าของมอเตอร์ไซต์ยี่ห้อนี้ พวกเขาใช้มันเพื่อบ่งบอกถึงสถานะทางสังคมและความเป็นตัวตน ต่อให้มียี่ห้ออื่นทำให้เหมือนขนาดไหนก็ไม่มีทางทดแทนความรู้สึกของบรรดา HOGs (Harley’s owner group) ทั้งหลายได้

Genentech (DNA) สหรัฐฯ อเมริกาเป็นผู้นำด้านไบโอเทค เพราะเป็นประเทศที่มี Venture Capital ที่เจริญที่สุด จึงเหมาะกับธุรกิจที่ต้องการทุนที่มีความเสี่ยงสูงอย่างการวิจัยยา และ Genentech ก็เป็นบริษัทที่มีพอร์ตของยาที่กระจายที่สุดและมียาที่รอการรับรองอยู่ใน pipeline ที่เพียบที่สุดบริษัทหนึ่งเลยทีเดียว

United Parcel Services (UPS) บริษัทขนส่งที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ แม้ธุรกิจนี้จะมีการแข่งขันสูง แต่บริษัทนี้ก็คงได้รับประโยชน์จากการเติบโตของการค้าระหว่างประเทศในยุคต่อไปไม่มากก็น้อย

EBAY Inc. (EBAY) เวบไซต์ประมูลออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีคนนับล้านที่ทำมาหากินด้วยการอาศัยอยู่บนอีเบย์ ซึ่งนับเป็นสัญลักษณ์ของวิถีชีวิตออนไลน์อย่างหนึ่งที่เป็นแนวโน้มที่สำคัญของโลก จำนวนผู้ใช้ที่ใหญ่มากจนทิ้งคู่แข่งไปไกลแล้วย่อมทำให้ยากที่ใครจะล้มอีเบย์ได้

Apple Inc. (AAPL) บริษัทที่มีสาวกอยู่มากที่สุดบริษัทหนึ่ง ผลิตภัณฑ์ของบริษัทนี้คือสิ่งที่คนทั่วโลกใช้เป็นเครื่องแสดงถึงความมีรสนิยมของตัวเอง การกระโดดเข้ามาเล่นในตลาดโทรศัพท์มือถือเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นสำหรับบริษัทนี้ครับ

เหลือบไปดูพีอีของหุ้นเหล่านี้แล้วก็ตกใจ (ADBE 47, HOG 16, DNA 35, UPS 19, EBAY 38, AAPL 34) ไม่รู้ว่าถือไปเรื่อยๆ โดยไม่มีการซื้อๆ ขายๆ จะถึงขั้นเจ๊งได้เลยหรือเปล่า แต่ถ้าบางตัวจะเจ๊งไปบ้างก็ไม่เป็นไร วัดผลงานรวมของทั้งพอร์ตก็ละกัน อย่างไรเสียความผันผวนไม่ใช่ความเสี่ยงของนักลงทุนระยะยาว แต่ผมตั้งใจจะไม่ทำอะไรกับมันแล้วอย่างน้อยก็อีกสักสามปี เวลาเท่านั้นที่เป็นเครื่องพิสูจน์

0050: เกม Tender Offer

ผมขออนุญาตนำเกมเก่าที่เคยโพสต์เอาไว้ในเวบ TVI มา archive ไว้ในนี้หน่อยนะครับเป็นเกมเกี่ยวกับตลาดทุน

ปริศนา Tender Offer

บริษัท A ยื่นคำเสนอรับซื้อหุ้นทั้งหมดของบริษัท B ต่อตลาดหลักทรัพย์ ซื้อมีราคาตลาดปัจจุบันเทรดกันอยู่ที่หุ้น 100 บาท แต่เงื่อนไขในการรับซื้อหุ้นของบริษัท A นี้พิสดารมาก ดังนี้

1) ราคารับซื้อหุ้นละ 105 บาทสำหรับหุ้น 50% แรกของหุ้นทั้งหมดของบริษัท B ที่มีผู้มาตอบรับคำเสนอซื้อ

2) ราคารับซื้อหุ้นละ 90 บาทสำหรับหุ้น 50% หลังของหุ้นทั้งหมดของบริษัท B ที่มีผู้มาตอบรับคำเสนอซื้อ

โดยที่ราคาที่ให้ข้างต้นไม่ได้เป็นแบบ first come first serve แต่จะตั้งโต๊ะรับใบตอบรับจนหมดเขตก่อน แล้วจึง prorata ให้กับผู้ถือหุ้นทั้งหมดตามสัดส่วน เช่น ถ้ามีคนตอบรับ 40% ของหุ้นทั้งหมด ทุกคนได้ราคา 105 บาท ถ้ามีคนตอบรับ 60% ของหุ้นทั้งหมด ทุกคนไม่ว่ามาก่อนมาหลังจะได้ราคาเท่ากันที่ราคาเฉลี่ย (105×50+90×10)/60 = 102.50 บาท เป็นต้น หรือ ทุกคนย่อมได้ราคาเท่ากันหมดเสมอตามสูตรต่อไปนี้

105 * 50/K + 90 * (K-50)/K

เมื่อ K คือ เปอร์เซนต์ของหุ้นทั้งหมดที่มาตอบรับ

ส่วนใครที่ไม่มาตอบรับ บริษัท A จะรับซื้อให้ที่ 90 บาทหลังจากนั้น (ถ้าเกิดอยากขาย)

และคำเสนอซื้อนี้เป็นคำเสนอซื้อโดยไม่มีเงื่อนไข กล่าวคือไม่ว่าบริษัท A จะได้หุ้นไปทั้งหมดหรือไม่ก็จะรับซื้อตามสูตรนี้

สังเกตว่าถ้าทุกคนตอบรับราคารับซื้อจะเหลือแค่ 97.50 (ตามสูตร) ซึ่งต่ำกว่าราคาตลาดในปัจจุบัน และต่ำกว่าราคาตลาดที่จะกลับไปที่ 100 บาทอีกครั้งถ้า deal ล้มด้วย ดังนั้นถ้าคุณเป็นผู้ถือหุ้นในตลาดคุณย่อมภาวนาให้ดีลนี้ล้ม หรือไม่ก็ให้มีคนมาตอบรับไม่ถึง 50% หรือไม่ก็จะยิ่งดีถ้ามี บริษัท C โดดเข้ามา bid แข่ง…

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงในสหรัฐฯ และปรากฏว่าก็มีบริษัท C โดดเข้ามาจริง บริษัท C เสนอซื้อหุ้นทั้งหมดที่ 102 บาทต่อหุ้น โดยมีเงื่อนไขว่าต้องมีผู้ตอบรับเกิน 50%

คำถามก็คือว่า ถ้าคุณมีหุ้น B อยู่ คุณจะทำอย่างไร?

ก. ตอบรับคำเสนอซื้อของบริษัท A
ข. ตอบรับคำเสนอซื้อของบริษัท B
ค. ไม่ตอบรับคำเสนอซื้อใดๆ

ลองคิดกันดูนะครับ แล้วผมจะมาเฉลย สักวันหนึ่งคุณอาจจะต้องมานั่งคิดแบบนี้ก็หุ้นที่คุณถืออยู่ในพอร์ตของคุณก็ได้

เฉลย
เกมนี้ผู้ถือหุ้นรายย่อยมีกลยุทธ์เด่น (Dominant Strategy) อยู่นะครับ ซึ่งกลยุทธ์นั้นได้แก่การตอบรับคำเสนอซื้อของบริษัท A หรือข้อ ก. นั่นเอง

เหตุผลก็คือว่ามี scenario ที่เป็นไปได้ 2 กรณีคือ

1. มีคนตอบรับ A น้อยกว่า 50% ในกรณีนี้ T/O ของบริษัท A จะล้มเหลว ทำให้ราคาตลาดกลับไป 100 หรือไม่ก็อาจทำให้ T/O ของบริษัท C สำเร็จแทนคือ 102 แต่เนื่องจากว่าคุณตอบรับบริษัท A ไป คุณจึงได้ขายที่ 105 ซึ่งสูงกว่าทั้งสองกรณี

2. มีคนตอบรับ A มากกว่า 50% กรณีนี้คุณตอบรับ A ไป ราคาเลวร้ายสุดที่คุณจะได้ก็คือ 97.50 ในขณะที่ถ้าคุณไม่ตอบรับคุณจะต้องขายที่ 90 ดังนั้นการตอบรับ A จึงเป็นทางเลือกที่ดีกว่าอยู่ดี

จะเห็นได้ว่าไม่ว่ากรณีไหนจะเกิดขึ้น การตอบรับ A ก็ยังให้ผลตอบแทนแก่คุณมากที่สุดเสมอ ดังนั้น การตอบรับ A จึงเป็นกลยุทธ์เด่นของคุณ

ในเกมที่มี DS จงคาดหวังว่าผู้เล่นที่มี DS จะเลือก DS ดังนั้นเมื่อรายย่อยทุกคนเลือก DS ผลก็คือ บริษัท A จะซื้อหุ้นของ B ได้ทั้งหมดในราคาเพียง 97.50 ซึ่งต่ำที่สุดและต่ำกว่าราคาตลาดเสียด้วย วิธีนี้ทำให้บริษัท A สามารถซื้อ B ได้ในราคาต่ำๆ ต้องปรบมือให้กับ IB ของ A เสียจริงๆ ที่คิดวิธีนี้ออก ถ้ามีสัก 1000 ล้านหุ้น ประหยัดไปหุ้นละ 2.5 ดอล ก็เท่ากับประหยัดไปถึง 2500ล้านดอล ต่อให้ค่าจ้าง IB สัก 500 ล้านดอลก็ยังคุ้มเลย นับว่า IB รายนี้ทำงานคุ้มเงินจริงๆ ครับ

ตรงกันข้าม น่าตำหนิ IB ของ C เพราะจัด Deal ผิดพลาดมาก ในสถานการณ์แบบนี้ C ไม่ควร T/O แบบมีเงื่อนไข (เงื่อนไขคือถ้าไม่ได้ 100% จะไม่รับซื้อ) เพราะถ้าเป็นการรับซื้อแบบไม่มีเงื่อนไขจะทำให้จุด ก เสียดุลยภาพของแนชทันที เพราะถ้าทุกคนอ่านออกว่าข้อ ก. จะต้องเกิดขึ้น ทุกคนย่อมรู้ว่าตัวเองจะขายได้แค่ 97.50 เท่านั้น แต่ทางเลือกที่ดีกว่ายังมีอยู่คือตอบรับ C เพราะได้ 102 เนื่องจาก C รับซื้ออย่างไม่มีเงื่อนไข ดังนั้นข้อ ก. จะไม่กลายเป็น Nash Equilibrium อีกต่อไปเพราะ Nash Equilibrium ต้องเป็นจุดที่ผู้เล่นไม่มีทางเลือกที่ดีกว่าเหลืออยู่เลย ดังนั้น IB ของ C เลี้ยงเสียข้าวสุกจริงๆ ครับ

ในสถานการณ์จริงนั้น แม้ว่าคนส่วนใหญ่จะคิดไม่ออกว่า ข้อ ก. เป็น DS แต่ถ้ามีคนจำนวนหนึ่งคิดออก จุดสมดุลก็จะเกิดขึ้นได้ เพราะก็จะมีการบอกต่อๆ กันไป ดังนั้นจึงเป็นข้อคิดอย่างหนึ่งว่าบางครั้งแม้คนส่วนใหญ่ในตลาดจะไม่ rational แต่ market ก็อาจ efficient ได้ ขอให้มีคนที่ rational อยู่ในตลาดแค่ไม่กี่คนก็พอ

เรื่องจริงก็คือ บริษัท A ซื้อ B ไปได้เป็นผลสำเร็จจริงๆ แต่หลังจากนั้นไม่กี่ปี A ก็ประสบปัญหาหนี้สิน ทำให้ B ต้องเข้าสู่กระบวนการล้มละลายในที่สุด เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า คนที่ชนะในสงคราม T/O bid ก็อาจพ่ายแพ้ในสงครามธุรกิจได้นะครับ

(บริษัท A ที่จริงแล้วเป็นบุคคลธรรมดาชื่อ Robert Campeau ส่วนบริษัท B คือ ห้าง Federated Store และ บริษัท C ก็คือ ห้าง Macy’s ในอเมริกานั่นเองครับ)

0030: โชว์ห่วย ตอนที่ 1

หุ้นตัวแรกในชีวิตที่ผมซื้อคือหุ้นแมคโดนัลด์ครับ (MCD) ทำไมผมถึงซื้อเหรอครับ อารมณ์เดียวกับคุณวิชาครับ อยากเป็นเจ้าของแมคโดนัลด์

โชคเข้าข้างผมครับ ซื้อไปได้แค่สองสามวันราคาพุ่งขึ้นไปประมาณ 5% กว่า กำไรประมาณ 300 กว่าเหรียญครับ เป็นไงรู้มั้ยครับ เรียนหนังสือไม่รู้เรื่องเลยครับ กลัวว่าตอนนั่งเรียนอยู่ราคามันจะลงแล้วกำไร 300 กว่าเหรียญนั้นมันจะหายไปหมด แล้วเป็นไงต่อรู้มั้ยครับ มันหายจริงๆ ครับ กลับมาที่พัก ราคามันร่วงครับ จากกำไรกลายเป็นขาดทุนประมาณ 100 กว่าเหรียญ หน้าซีดเลยครับ เป็นการขาดทุนหุ้นครั้งแรกในชีวิตครับ พอวันต่อมาราคามันขึ้นไปใหม่ พอเท่าทุนก็เลยรีบขายทิ้งทันทีเลยครับ

ล่าสุดกลับไปดูราคาหุ้นแมคโดนัลด์ใหม่ ราคา ณ วันนี้สูงจากตอนที่ซื้อประมาณ 2 เท่ากว่าๆ ครับ ผมโง่มั้ยครับที่ขายทิ้ง เหอๆ แต่ก็ยังดีนะครับที่การซื้อหุ้นครั้งแรกในชีวิตไม่ได้ขาดทุน (แต่ก็ไม่ได้กำไร)

ผมว่ายิ่งเล่นหุ้นนานขึ้น ภาวะทนต่อการขาดทุนของนักลงทุนจะค่อยๆ สูงขึ้นได้เองนะครับ เดี๋ยวนี้ถ้าผมติดตัวแดงเป็นร้อยเหรียญจะรู้สึกเฉยมากครับ ชาชินไปแล้ว นี่คือการวกเข้าเรื่องโชว์ห่วยหุ้นตัวที่สองคือ หุ้นปาล์ม (PALM) ที่ทำ handheld computer ไงครับ

ทำไมถึงซื้อเหรอครับ ก็เห็นตอน high สุดเมื่อหลายปีก่อนตอนแนสแดกบูมมันราคาร้อยกว่าเหรียญ แต่ตอนที่ซื้อมันเหลือแค่สองเหรียญ ก็เลยคิดว่ามันน่าจะ bottom แล้วก็เลยซื้อครับ คิดได้แค่นี้จริงๆ ครับ ตอนนั้น

ปรากฏว่ามันไหลลงต่ออย่างเดียวเลยครับ สุดท้ายผมต้องตัดใจขายออกไปที่ 80 เซนต์ครับ ขาดทุนเป็นพันเหรียญเลยครับ แต่ตอนนั้นทนขาดทุนได้มากขึ้นกว่าตอนแรกๆ มากแล้วครับเลยไม่ถึงกับตายครับ อีกอย่าง มันค่อยๆ ไหลลงทุกวัน ไม่ได้ไหลลงพรวดเดียว ก็เลยมีเวลาทำใจนานครับ ไม่ค่อยรู้สึกอะไรแล้วตอนที่ขายออกไปครับ

ในช่วงที่ผ่านมา PALM รวมกิจการกับ Handspring และ Palmsource ครับ เปลี่ยนไปเยอะเลยครับ เห็นราคาตอนนี้ 14 เหรียญกว่าครับ โง่มั้ยครับผม (ที่จริงระหว่างทางมีการสวอปหุ้นด้วยผมเลยไม่แน่ใจว่าจริงๆ หุ้นมันขึ้นมากี่เหรียญกันแน่ แต่ไม่ใช่ก็ใกล้เคียงน่ะครับ ตอนนั้นผมอยู่ก้นเหวของตลาดหุ้นสหรัฐฯ จริงๆ แต่ดันโง่ไม่รู้ตัว)

เรื่องโง่ๆ ของผมยังมีอีกเยอะครับ เล่าไม่หมดครับ เอาไว้วันหลังจะมาเล่าต่อ

0029: ค่า g ที่เหมาะสม

ค่า g หรืออัตราการเติบโตเป็นสมมติฐานที่สำคัญในการวัดมูลค่าหุ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งหุ้นเติบโต ค่า g ที่แตกต่างกันเพียงนิดเดียวอาจส่งผลต่อมูลค่าของหุ้นเติบโตที่วัดได้เป็นอย่างมาก ดังนั้นนักลงทุนควรใช้ความพยายามในการประมาณค่า g มากเป็นพิเศษเพื่อให้ได้ค่าที่มีความสมเหตุสมผลมากที่สุด

ค่า g ในช่วงปีแรกๆ ที่บริษัทยังมีการเติบโตสูงๆ อยู่ ต้องประมาณจากแผนการลงทุนของบริษัทเป็นสำคัญซึ่งแต่ละบริษัทย่อมแตกต่างกันไป เราควรพยายามหาข้อมูลเกี่ยวกับแผนการลงทุนของบริษัทให้ได้มากที่สุดเพื่อที่จะสามารถประเมินค่า g ในช่วงนี้ให้ได้ใกล้เคียงกับความเป็นจริงที่จะเกิดขึ้นมากที่สุด อย่างไรก็ตาม บ่อยครั้งเรามักต้องใส่การประเมินจากความเห็นส่วนตัวลงไปด้วย (as known as “นั่งเทียน”) เนื่องจากข้อมูลเหล่านี้ของบริษัทมักไม่ละเอียดพอ เช่น บางครั้งบริษัทอาจมีแผนงานที่ชัดเจนแค่ 3 ปีข้างหน้าเท่านั้น แต่เราทราบมาแล้วว่าธุรกิจอย่างเดียวกันกับของบริษัทในประเทศอื่นยังเติบโตในอัตราสูงได้อีกอย่างน้อย 10 ปี เช่นนี้เราก็จำเป็นต้องประมาณค่า g ในปีที่ 4-10 เอาเอง เพื่อให้ท่านนักลงทุนพอมีไอเดียว่าธุรกิจส่วนใหญ่มีความสามารถในการเติบโตในระดับใด ผมขอนำเสนอ EPS growth ต่อปี เฉลี่ย 10 ปี ของ Large Cap Stocks ในสหรัฐฯ จำนวนหนึ่งในยุคทศวรรษที่ 90 มาให้ดูพอเป็นไอเดีย

AT&T -5.77%
Amoco 9.92%
Atlantic Richfield 5.71%
BellSouth 10.29%
Bristol-Myers Squibb 9.58%
Chevron 10.10%
Coca-cola 5.61%
duPont 2.66%
GTE 8.16%
GE 12.31%
GM 0.72%
IBM 5.72%
Johnson&Johnson 14.93%
Eli&Lily 11.21%
Merck 14.56%
Mobil 5.44%
Pepsi 8.23%
Philip Morris 11.43%
P&G 8.26%
Walmart 17.76%

ผมเห็นบางท่านตั้งสมมติฐานว่าบางบริษัทจะเติบโตได้ 20% ต่อปีในช่วง 10 ปีข้างหน้า ผมอยากจะบอกว่านั่นเป็นสมมติฐานที่ทะเยอทะยานมากทีเดียว ถ้าจะให้บริษัทเติบโต 20% ต่อปีติดต่อกันสัก 2-3 ปีนั้นถือว่าไม่ผิดปกติ แต่ถ้าจะให้บริษัทเติบโตเฉลี่ย 20% ต่อปีติดต่อกัน 10 ปีนั้น ถือว่ามีโอกาสน้อยมากที่จะเป็นไปได้ จากตัวอย่างที่นำมาแสดงให้ดูมีแต่บริษัทยาและโมเดิรน์เทรดเท่านั้นที่โตเฉลี่ยเกิน 10% ได้ในช่วงเวลาสิบปี เพราะในช่วงยุคที่ 90 เป็นยุคที่นวัตกรรมด้าน biotech และโมเดิร์นเทรดกำลังมีการเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดด บริษัทเหล่านี้จึงสามารถ enjoy การเติบโตที่สูงกว่า 10% ติดต่อกันนานๆ ได้ มิฉะนั้นแล้ว ธุรกิจทั่วไปที่จะเติบโตได้เกิน 10% ติดต่อกันนานเป็นสิบปีนั้นนับว่าค่อนข้างยากทีเดียวครับ

ส่วนค่า g ในช่วงปีหลังๆ ที่บริษัทเข้าสู่จุดอิ่มตัวแล้วนั้นควรจะต่ำกว่าอัตราการเติบโตของ GDP ของเศรษฐกิจในระยะยาว (2.5-3.5%) เพราะค่า g นี้จะเป็นค่า g เฉลี่ยตลอดกาลจนสิ้นอายุขัยของบริษัท ดังนั้นถ้าค่านี้สูงกว่าอัตราการเติบโตของ GDP ในระยะยาว บริษัทจะโตจนกลืนโลกทั้งใบได้ในที่สุด ส่วนใหญ่แล้วเรานิยมให้ g ในช่วงนี้มีค่าเพียงเท่ากับอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยในระยะยาวเท่านั้น (2-2.5%)

ข้อคิดอีกอย่างหนึ่งที่อยากจะฝากเอาไว้ก็คือ ถ้าคุณเป็นนักลงทุนระยะยาวตัวจริง คุณควรใส่ใจกับการมองแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ของโลกมากกว่าที่จะสนใจแค่ EPS ในอีก 12 เดือนข้างหน้า ตัวอย่างเช่น ในทศวรรษที่ผ่านมาโมเดิร์นเทรดเป็นนวัตกรรมที่เปลี่ยนแปลงชีวิตความเป็นอยู่ของคนมากที่สุด หรือในยุคต่อไปกระแสโลกาภิวัฒน์จะส่งผลดีต่อหุ้นอะไรบ้าง เป็นต้น หุ้นของบริษัทที่จะได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่เหล่านี้มักจะเป็นหุ้นที่เหมาะสมที่สุดที่จะถือไว้เฉยๆ ได้ในระยะยาว อย่าพยายามมองหาหุ้นที่มีความมั่นคงสูงๆ เพื่อที่จะถือไว้ในระยะยาว เพราะที่จริงความผันผวนระหว่างทางกลับไม่ใช่ความเสี่ยงที่สำคัญเลยสำหรับการลงทุนระยะยาว หุ้นที่กำไรจะเติบโตได้ไกลที่สุดในระยะยาวต่างหากที่จะเหมาะกับการ buy-and-hold ในระยะยาว ส่วนใหญ่แล้วราคาของหุ้นเหล่านี้ก็มักผันผวนเสียด้วย