0008: วิธีป้องกันการเจ๊งหุ้น

อยากมีวิธี save ตัวเองจากการเจ๊งหุ้นมั้ยครับ ผมมีวิธีง่ายๆ ที่จะแนะนำ วิธีนี้มีกฏอยู่แค่ 2 ข้อ คือ
1. ห้ามซื้อหุ้นที่ราคาหุ้นเกินพื้นฐานระยะยาวอย่างเด็ดขาด
2. พยายามมีหุ้นให้เต็มพอร์ตตลอดเวลา โดยไม่ให้ขัดกับกฎข้อแรก

ตอนที่ NASDAQ วิ่งขึ้นติดต่อกันนาน 8 ปี ใครบ้างจะอดใจไหวที่จะไม่ซื้ออะไรเลย 8 ปี แรกๆ ก็จะบ่นว่าพีอี 50 เท่าแพง แต่พอสามสี่ปีต่อมาหุ้นก็ยังวิ่งขึ้นไปอีก คราวนี้ก็จะเริ่มบอกว่าพีอี 70 เท่าไม่แพง ในที่สุดเมื่อ market correction (ฟองสบู่แตก) คุณก็จะเจ๊งหุ้น เพราะคุณได้ซื้อหุ้นมาในต้นทุนที่สูงกว่าพื้นฐานระยะยาว

คุณอาจจะเถียงว่า “ไม่เป็นไร ราคาพื้นฐานไม่สำคัญ ผมอาศัยการเข้าเร็วออกเร็ว” แต่ในความเป็นจริง ถ้าคุณเข้าเร็วออกเร็ว คุณก็จะได้กำไรน้อยมาก สุดท้ายแล้วถ้าราคาหุ้นยังวิ่งต่อ คุณก็จะทนไม่ไหวกลับเข้าไปซื้อใหม่อีก 

การเทรดบ่อยๆ เป็นความเสี่ยงที่มองไม่เห็น เพราะหุ้นในพอร์ตของคนที่เทรดบ่อยๆ หุ้นจะมีต้นทุนที่ใกล้เคียงกับราคาตลาดอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นเมื่อเกิด market crash ขึ้น พอร์ตจะถูกกระทบอย่างเต็มที่ ในขณะที่คนที่ไม่ได้ซื้อบ่อยๆ จะมีเฉพาะหุ้นบางตัวที่เพิ่งซื้อมาใหม่ๆ เท่านั้นที่มีต้นทุนใกล้กับราคาตลาด พอร์ตจึงกระทบน้อยกว่า เพราะตัวทีซื้อมานานแล้วจะยังกำไรอยู่ 

แต่ช่วง 8 ปีที่ NASDAQ วิ่งนั้น นักลงทุนอย่าง วอเรนบัฟเฟต รอดตายเพราะแกไม่ได้ซื้ออะไรใหม่อย่างมีนัยสำคัญเลยตลอด 8 ปี ความยึดมั่นในกฎข้อที่ 1 ทำให้แกรอดตาย

แต่การทำอย่างนั้นก็คงทำให้เสียโอกาสใช่ไหมครับ เพราะถ้าตลาดเป็นฟองสบู่นาน 8 ปี การไม่ซื้ออะไรเลยเป็นเวลา 8 ปี พอร์ตจะมีผลตอบแทนเป็น 0

ด้วยเหตุนี้คุณจึงต้องทำกฏข้อที่ 2 ด้วย คือ มีหุ้นให้เต็มพอร์ตตลอดเวลา เพราะถ้าตลาดเป็นฟองสบู่ แล้วคุณไม่ซื้ออะไรเลย พอร์ตของคุณก็ยังสร้างผลงานให้คุณได้เพราะคุณมีหุ้นเต็มพอร์ตอยู่ พวกมันจะวิ่งขึ้นไปเรื่อยๆ ตามตลาดโดยที่คุณไม่ต้องทำอะไรเลย การขายออกแล้วซื้อตัวใหม่อันตรายกว่าเพราะทำให้คุณต้องรับต้นทุนใหม่ ส่วนการ take profit โดยไม่กลับเข้าไปซื้อใหม่ก็ไม่ดีเหมือนกันเพราะคุณต้องมาถือเงินสดเอาไว้แทนทำให้ได้ผลตอบแทนน้อย การถือหุ้นเต็มพอร์ตไว้เฉยๆ จึงดีที่สุด 

จำไว้ว่าในระยะยาวหุ้นจะขึ้นได้แค่เท่ากับอัตราการเติบโตของกำไรของมันเท่านั้น (โดยเฉลี่ย) ถ้าหุ้นขึ้นไปมากๆ ในระยะสั้นเพราะภาวะตลาด สุดท้ายแล้วพวกมันจะต้องกลับลงมาใหม่ เพื่อให้ในระยะยาวมันขึ้นได้เท่ากับอัตราการเติบโตของกำไรของมันเอง ดังนั้นการถือหุ้นตัวเดิมไว้นานๆ โดยไม่เปลี่ยนตัวไปมาไม่ได้ทำให้รวยช้าหรอกครับ   

16 Replies to “0008: วิธีป้องกันการเจ๊งหุ้น”

  1. หมากตานี้รวบง่ายแต่ได้ผล
    ผมพานสละพอร์ตทิ้งทั้งหมดคราว190949
    ถึงตอนนั้นคิดว่ายังไงเปลี่ยนน้ำต้องเปลี่ยนตัวยา
    ถึงตอนนี้ต้องสะกดจิตใจรอคอยอย่างเดียว
    ผมบังเกิดความสงสัยไหนเลยรีรอลังเล
    คำว่า "เต็มพอร์ต" ของท่านแม่ทัพ แยกแยะเช่นไร

  2. จะเอาจริงมั้ยครับ พี่โหน่ง แบบว่าเป็นนักลงทุนระยะยาวตัวจริงเสียงจริง :-

    1.ถ้าพบหุ้นดีราคาถูกก็ซื้อไว้ให้เต็มกำลังเงินที่มีสำหรับซื้อหุ้น

    2.ไม่มีการขายออกมาถือเงินสดไว้เพื่อเก็งว่ามันจะลงแล้วจะเข้าไปซื้อใหม่ให้ถูกกว่าเดิมเด็ดขาด

    3.จะขายก็ต่อเมื่อพบตัวใหม่ที่ดีกว่าและถูกกว่าตัวเดิมที่มีอยู่ ค่อยเลือกขายตัวเดิมที่ดูแพงที่สุด เพื่อเอาเงินมาซื้อตัวใหม่นั้นทันที

    สรุปก็คือ เต็มพอร์ต หมายถึง ห้ามขายออกมาถือเงินสดชั่วคราว แต่เปลี่ยนตัวถือได้ถ้าคิดว่าเจอตัวที่ดีกว่าถูกกว่าตัวเดิมจริงๆ

  3. ถ้าเราเป็นนักลงทุนระยะยาว ราคาที่เข้าซื้อสำคัญที่สุดครับ ต้องต่ำกว่ามูลค่าในระยะยาวของหุ้นนั้น ถ้าทำได้ แม้ราคามันจะตกลงไปสัก 70% ก็ไม่ต้องตกใจ เพราะสุดท้ายแล้วมันจะกลับมาที่เดิมได้ครับ แต่ถ้าซื้อตอนแพง พอมันตกลงไปแล้ว มันจะไม่กลับมาอีกเลย

  4. คุณสุมาอี้ต้องการ margin of safety กี่เปอร์เซนต์ในการซื้อหุ้นแต่ละตัวครับ เช่น1 สมมุติว่าเราคำนวณราคาต่อหุ้นในปีนี้ได้ 10 บาท เราควรซื้อที่ราคาเท่าไหร่
    2 หุ้นข้างต้น ถ้าคาดว่ามี growth ประมาณ 20 เปอร์เซนต์ในปีหน้า ราคาที่เข้าซื้อจะต่างจากกรณีแรกเท่าไหร่ครับ

  5. MoS มากน้อยขึ้นอยู่กับความมั่นใจในมูลค่า ถ้าเป็นพวกบลูชิพตีมูลค่าง่ายผมว่า 20% ก็ดีมากแล้วตลาดมักไม่ค่อยปล่อยให้ราคาต่ำกว่าความเป็นจริงไปมาก แต่ถ้าเป็นพวกหุ้นวัฏจักรหรือหุ้นที่กำไรผันผวนสูงก็ควรจะเกี่ยงราคาให้มากกว่านั้น MoS สัก 40-50%

    จะว่าไป ถ้าเราต้องการ MoS มากขนาดนี้ ช่วงเวลาที่ตลาดหุ้นบูม เราไม่ควรซื้ออะไรเลย เพราะ MoS ขนาดนี้คงหาได้ยาก ควรปล่อยให้พอร์ตที่มีหุ้นอยู่เต็มของเรา perform ไปเรื่อยๆ

  6. ถ้าอย่างนั้นเราควรซื้อหุ้นเต็มพอร์ทเมื่อตลาดตกต่ำ เมื่อตลาดบูมเราควรอยู่เฉย
    ในภาวะตลาดตกต่ำก็เก็บหุ้นบลูชิพที่ราคาตกมากๆและหุ้นขนาดเล็กที่มีโอกาสโตเร็วไว้ให้มากๆ
    เราต้องไม่ลดพอร์ทตัวเองเด็ดขาด ถ้าจะขายหุ้นต้องแปลว่าเห็นตัวใหม่ดีกว่าเก่า แต่ถ้าตัวเก่าเริ่มแพงโดยยังหาตัวใหม่ที่มั่นใจมากไม่ได้จะทำไงดีครับ

    ปล.ขอผมกำไรเฉลี่ย 12-15%ทบต้นติดกัน30ปีก็ดีใจมากแล้ว

  7. ก็ให้ถือต่อไปครับ เพราะถ้า short against port แล้วพลาด ราคาเกิดวิ่งต่อไปอีกไม่หยุด เราจะเสียหุ้นตัวนั้นไปเลย ถ้าเอาเงินไปซื้อตัวใหม่ที่ยังแพงอยู่โอกาสเจ็งหุ้นก็จะเกิดขึ้นทันที ส่วนถ้าถือเงินสดไว้เฉยๆ เกิดมีตลาดกระทิงติดต่อกันหลายปีก็จะเสียโอกาสสร้างผลตอบแทน

    อันที่จริงเวลาหุ้นของเราพุ่งขึ้นไปมากๆ ผมกลับชอบถือต่อเพราะต้นทุนเราต่ำกว่าคนอื่น เราจึงได้เปรียบคนอื่นถ้าจะลุ้นต่อไปว่าหุ้นจะขึ้นไปได้อีกหรือไม่เพราะต้นทุนเราปลอดภัยมากกว่าคนที่เพิ่งซื้อมากแล้ว

  8. ถ้าอย่างนั้นเงินลงทุนในหุ้นตัวใหม่ก็มาจากเงินที่เราทำงานได้หรือได้ปันผลมาเท่านั้นใช่ไหมครับ อืมมม
    แต่จริงๆวิธีของพี่ก็ดีนะครับ เพราะการย้ายไปสู่ตัวใหม่จะเป็นการสร้างนิสัยซื้อๆขายๆ อืมๆๆๆๆๆ
    ได้คิด แฮะ
    แบบนี้พอร์ทพี่สุมาอี้คงเขียวไม่มีแดงเลย

  9. เงินซื้อตัวใหม่จะมาจากการขายตัวเก่าก็ได้ครับ แต่ต้องเจอตัวใหม่ที่ทั้งดีกว่าและถูกกว่าตัวที่มีอยู่แล้ว จึงค่อยทำ ห้าม short ออกมารอจังหวะเด็ดขาด

    มีแดงอยู่ตัวหนึ่งครับ 🙁

  10. ตอนนี้ผมเขียวทุกตัวครับ เพราะขายตัวแดงไปหมดแล้ว ขายหมู tuf ไปหนึ่งตัว

    การเขียวหมดของพอร์ทผมเป็นสัญญาณอันตรายว่าตลาดกำลังจะตกเพราะธรรมชาติของพอร์ทผมจะเขียวไม่ได้นาน 555555 เศร้าจัง

  11. ผมไม่เข้าใจเรื่องหุ้นเลย เพราะเรียนมาคนละทาง
    ยังสงสัยอยู่ว่าเวลาเค้ารายงานข่าวว่า "ปริมาณการซื้อขายลดลง 4.5 จุด" ไอ้ค่าที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงเป็นจุดนี่มันสำคัญอย่างไรเหรอครับ แล้วตัวเลขที่ได้มาคิดยังไงถึงจะออกมาเป็นตัวนี้
    ผมไม่รู้เหมือนกันว่าตัวเลขนี้มันคืออะไร และสำคัญขนาดไหนถึงต้องรายงานข่าวให้ทราบทุกที

  12. เรียนคุณ enemy222

    เป็นเหมือนราคาเฉลี่ยของหุ้นทุกตัวในตลาดครับ ถ้าลดลงก็แสดงว่าวันนั้นราคาหุ้นในตลาดโดยเฉลี่ยลดลงเมื่อเทียบกับวันก่อน

    วันแรกที่เปิดตลาดตัวเลขตัวนี้มีค่าเท่ากับ 100.00 เมื่อ 30 ปีก่อนครับ แล้วราคาหุ้นมันขึ้นมาเรื่อยๆ จนเดียวนี้ 700 กว่า แล้ว ก็คือเพิ่มขึ้นมา 7 เท่าตัวเมื่อเทียบกับ 30 ปีก่อน

  13. คุณสุมาอี้ครับ

    ถ้าอย่างงั้น การที่เราซื้อหุ้นโดยใช้วิธี DCA ก็จะทำให้มีต้นทุนที่ใกล้เคียงกับราคาตลาดอยู่ตลอดเวลาใช้หรือเปล่าครับ???? แล้วจะทำให้เราเจ๊งหุ้นหรือเปล่าครับ แล้วมีคำแนะนำอย่างไรสำหรับมนุษย์เงินเดือนที่มีเงินลงทุนเป็นเดือนๆๆ บ้างครับ

  14. ห้ามซื้อหุ้นที่ราคาหุ้นเกินพื้นฐานระยะยาวอย่างเด็ดขาด <– อันนี้ดูได้ยังไงครับ ดูจากค่า P/E ที่พวกนักวิเคราะห์คิดให้ดูหรือเปล่าครับ?

  15. อ่านแล้วงงๆครับ…
    ในระยะยาวหุ้นจะขึ้นได้แค่เท่ากับอัตราการเติบโตของกำไรของมันเท่านั้น (โดยเฉลี่ย) ถ้าหุ้นขึ้นไปมากๆ ในระยะสั้นเพราะภาวะตลาด สุดท้ายแล้วพวกมันจะต้องกลับลงมาใหม่ เพื่อให้ในระยะยาวมันขึ้นได้เท่ากับอัตราการเติบโตของกำไรของมันเอง—– แล้วมันไม่เป็นการเสียเวลาหรือครับที่จะรอให้มันกลับขึ้นไปที่จุดสูงสุดเดิมอีกครั้ง—–ดังนั้นการถือหุ้นตัวเดิมไว้นานๆ โดยไม่เปลี่ยนตัวไปมาไม่ได้ทำให้รวยช้าหรอกครับ—–ถ้าเราขายในราคาที่มันขึ้นไปมากๆแล้วไปซี้อตัวอื่น พี่สุมาอี้คิดเห็นว่ายังไง
    ไม่ทราบว่าผมเข้าถูกหรือเปล่า ถ้าเข้าใจผิดยังไงพี่ช่วยแนะนำด้วย มือใหม่ครับ

  16. คนจำนวนมากมาลงทุนกับตลาดหุ้น เพราะเชื่อว่าจะรวยเร็วกว่าวิธีอื่น เริ่มแรกคงตั้งใจว่าจะรอคอยซื้อหุ้นพื้นฐานดีในราคาถูกในช่วงวิกฤต เพราะปลอดภัย ดูดี มีหลักการ แต่เมื่อเห็นฟองสบู่ ราคาหุ้นที่ขึ้นเอาๆ ในช่วงแรกก็ยังอดใจได้ เชื่อในการรอคอยแบบ VI แต่ราคาหุ้นก็ยังขึ้นไม่หยุด. สุดท้าย ความอยากรวยเร็วอันเป็นเจตนารมณ์ที่เข้ามาในตลาดหุ้น ประกอบกับ Limbic ครอบงำ(ขณะดูกราฟขาขึ้น) รู้ตัวอีกทีก็กลายเป็นซื้อแพง (เพื่อขายตอนแพงกว่า)ไปเรียบร้อยแล้ว
    การที่บัฟเฟต สามารถ รอคอย นานถึง 8 ปี ในช่วงที่ราคาหุ้นขึ้นเอาๆ เป็นสิ่งที่ยากมากจริงๆ

Comments are closed.