0017: Asset Play

มีวิธีการลงทุนแบบหนึ่ง เรียกว่า Asset Play วิธีนี้คือการหาว่าบริษัทเป็นเจ้าของสินทรัพย์อะไรที่มีมูลค่าซ้อนเร้นอยู่หรือไม่ ถ้าราคาหุ้นในกระดานของบริษัทยังไม่ได้สะท้อนค่าของสินทรัพย์นั้น การเข้าไปซื้อหุ้นนั้นไว้ก็ถือว่าเป็นการซื้อของลดราคา

ตัวอย่างยอดนิยมของสินทรัพย์ที่มีมูลค่าแฝงก็คือ ที่ดิน เพราะที่ดินจะถูกลงบัญชีที่ราคาต้นทุนที่ซื้อมา และจะคงที่อยู่อย่างนั้นตลอดไปไม่ว่าจะอีกสักกี่สิบปี ถ้าคุณออกแรงสักนิดด้วยการตรวจดูที่ดินของบริษัทต่างๆ ในตลาดว่ามีอยู่กี่ไร่ นำมาคูณด้วยราคาประเมินของกรมที่ดินในปัจจุบัน คุณอาจพบที่ดินของบางบริษัทที่มีราคาประเมินสูงกว่ามูลค่าตลาดของทั้งบริษัทหักด้วยหนี้สิน หุ้นนั้นเสียอีก หุ้นเหล่านี้คือ Asset Play

ปัญหาสำคัญของการเล่นหุ้นด้วยวิธีนี้ก็คือ เราไม่รู้ว่าเมื่อไรราคาหุ้นในกระดานจะสะท้อนมูลค่าแฝงของสินทรัพย์นั้นเสียที ในบางกรณีผู้บริหารของบริษัทยังดำเนินงานแบบธุรกิจครอบครัวอยู่จึงไม่นำพาต่อหน้าที่ที่สำคัญที่สุดของการเป็นผู้บริหารของบริษัทมหาชน ได้แก่ การ maximize shareholder’s value แม้พวกเขาจะรู้ดีว่าการขายที่ดินนั้นเสียแล้วย้ายโรงงานไปอยู่ในที่ที่ที่ดินราคาต่ำลงเป็นทางเลือกที่ดีกว่าของบริษัท แต่ก็ไม่ทำเพราะเป็นความรู้สึกผูกพันกับสมบัติประจำตระกูล อย่างนี้แล้วนักลงทุนรายย่อยที่ไปเข้าไปซื้อหุ้นเอาไว้ก็บอกได้คำเดียวต้องรอจนเหงื่อแห้งครับ

การลงทุนในตลาดหุ้นมีต้นทุนของเงินทุนอยู่ราวปีละ 10% เสมอ ถ้าคุณถือหุ้น Asset Play ไว้เฉยๆ หนึ่งปีแล้วราคาไม่ไปไหน ก็ต้องถือว่าขาดทุนไปแล้ว 10% ไม่ใช่เสมอตัว ยิ่งถ้าต้องรออีก 10 ปี ผู้บริหารคนเก่าจึงจะแก่ตาย ผู้บริหารคนใหม่จึงจะสั่งขายที่ดิน ก็ต้องถือว่า คุณขาดทุนหุ้นตัวนั้นหมดทั้ง 100% แล้ว ดังนั้นถ้าดูแล้วไม่มีความชัดเจนว่าเมื่อไรราคาหุ้นในกระดานจะมีโอกาสสะท้อนมูลค่าที่แฝงอยู่ได้ การเล่นหุ้นด้วยวิธีนี้ก็นับว่าค่อนข้าง “ลมๆ แล้งๆ” ครับ

Asset Play จะได้ผลเฉพาะกับนักลงทุนรายใหญ่ที่สามารถซื้อหุ้นของบริษัทได้ในสัดส่วนที่มากพอที่จะเข้ามาควบคุมบริษัทได้เท่านั้น ถ้าคุณซื้อหุ้นจนเกิน 51% ไล่กรรมการชุดเก่าออกให้หมด ขายที่ดิน นำเงินสดที่ได้ไปใช้หนี้บริษัท เลิกบริษัท แล้วนำเงินที่เหลือเก็บเข้ากระเป๋า แบบนี้คุ้มค่าแน่นอนครับ

คุณอาจเคยได้ยินคำกล่าวที่สวยหรูว่า “ผู้ถือหุ้น คุณคือเจ้าของ” แต่ในความเป็นจริง ถ้าคุณและพวกอีกอย่างน้อย 24 คนมีปัญญาซื้อหุ้นรวมกันได้แค่ไม่เกิน 10% ก็ต้องขอบอกว่า คุณและพวกปราศจากอำนาจในการควบคุมบริษัทมหาชนโดยสิ้นเชิง แค่ขอเรียกประชุมผู้ถือหุ้นยังไม่ได้เลย ดังนั้น การเล่นหุ้นแบบ Asset Play ให้ประสบความสำเร็จดูจะมีข้อจำกัดมากสำหรับคนที่เป็นนักลงทุนรายย่อย ความเห็นส่วนตัวของผมคือ เวลาที่คุณซื้อหุ้น คุณควรซื้อความสามารถในการทำกำไรมากกว่าที่จะซื้อเพราะสินทรัพย์ (ถ้าคุณอยากได้โต๊ะและเก้าอี้สำนักงานเหล่านั้น ไปซื้อที่ชั้น 5 มาบุญครองก็ได้ครับ ไม่ต้องไปซื้อหุ้นหรอก)  เพราะสิทธิในการได้รับส่วนแบ่งกำไรตามสัดส่วนที่หุ้นที่ตนเองถืออยู่เป็นสิทธิที่ผู้ถือหุ้นรายย่อยมีเท่ากับผู้ถือหุ้นรายใหญ่อย่างแน่นอนโดยเสมอภาคกัน

2 Replies to “0017: Asset Play”

Comments are closed.