0349: Guru Watchdog (Result)

สืบเนื่องจาก 0252: Guru Watchdog

Jim Rogers (Source 1 2 3 )

– ช่วงนี้ผมสะสมดอลลาร์เพิ่มขึ้น เพราะเห็นว่าทุกคนมองดอลลาร์ร้ายกันหมด แต่ก็ยังเป็นจำนวนที่น้อยกว่าเงินสกุลอื่นๆ ที่ผมถืออยู่ เพราะยังไงๆ ดอลลาร์ก็จะแย่ลงเรื่อยๆ ในระยะยาว ผมแค่อยากจะลองทำกำไรระยะสั้นเท่านั้น แต่ผมไม่ใช่คนเล่นสั้นที่เก่งเลย

[อันนี้ถือว่าถูก เพราะ USD Index ต้นปี 78 ขึ้นไปสูงสุด 88 ตอนนี้ 80ได้กำไรน้อยมาก แต่ก็ยังถือว่าไม่ทำให้ขาดทุน]

– ตอนนี้ ผมยังไม่ซื้อทองคำเพิ่ม เพราะผมถือทองคำอยู่แล้ว แต่จะไม่ขายมันด้วย ถ้าหากทองคำลงไปแตะต่ำกว่าพันเหรียญ ผมก็จะซื้อเพิ่มอีก เพราะภายในปี 2019 ทองคำจะต้องยืนเหนือระดับ $2, 000 ได้อย่างแน่นอน และนั่นไม่ใช่สมมติฐานที่มากเกินไปเลย

[อันนี้ไม่รู้เพราะผ่านไปแค่ปีเดียว]

– ปีหน้าเราอาจจะเห็นรัฐบาลของบางประเทศประสบปัญหาทางการเงินเพิ่มอีก อาจจะเป็น อาร์เจนติน่า ยูเครน หรือแม้แต่ UK ก็เป็นไปได้ ในช่วงสองสามปีนี้จะต้องมีวิกฤตการเงินอีกอย่างแน่นอน นอกเหนือจากทองคำแล้ว silver และเงินสกุลเอเชียบางประเทศก็น่าสนใจด้วย

[เรื่องรัฐบาลมีปัญหาถือว่าถูก แต่ผิดประเทศ เชียร์ silver และเงินเอเชีย ถูกต้อง อันนี้ยอดเยี่ยม]

– สินค้าเกษตรน่าสนใจมาก เพราะว่าราคาของมันตกต่ำมาเป็นทศวรรษแล้ว ผมว่ามันเป็นสินทรัพย์ที่ราคาถูกที่สุดในตอนนี้ เรากำลังจะมีวิกฤตอาหาร ตอนนี้ข้าวสร้าง all time high ได้แล้ว แต่น้ำตาลยังห่าง all time high อยู่มาก

[อันนี้ไม่รู้ว่าจะถือว่าถูกหรือผิดดี เพราะน้ำตาลระหว่างวิ่งร่วงลงแบบดิ่งนรก แต่ปลายปีกลับขึ้นมาสูงกว่าต้นปีแต่น้อยมาก]

– ช่วงนี้เป็นช่วงที่แปลกมาก เพราะผมไม่ได้ short อะไรเลย ผมหาไม่เจอว่ามีอะไรที่ราคาแพงมากๆ แต่ถ้าจะให้ short ผมคงเลือก US Government Bond

[อันนี้ก็ไม่รู้ว่าจะถือว่าถูกหรือผิดดี เพราะระหว่างปีตลาดบอนด์วิ่งแรง แต่ปลายปีกลับมาอยู่เกือบเท่ากับตอนต้นปีดีขึ้นน้อยมาก น่าจะถือว่าผิดนะ]

Marc Faber (Source)

Overall, 2010 will not be one for the record books, as 2009 was. He’s looking at a more normal 5%-10% rate of return for global investors. [ถือว่าเกือบถูก MSCI World Index +3.6% ปีนี้้]

Here are Faber’s views on other markets and asset classes:

Asia: “Longer term we’ll have still favorable growth, ” he says. He thinks India and Japan both offer opportunities. In his eyes, this view gained even more credibility after they were not mentioned once during the Barron’s round-table discussion.

[อันนี้ยังตอบไม่ได้ เพราะระยะยาว]

Bonds: The bull market in Treasuries that lasted from 1980-2008 is a thing of the past. Near term: after a dismal 2009 the bond market could be in for a rebound. Longer term: look for exit opportunities in Treasuries.

[ไม่รู้ เพราะระยะยาว]

Gold: Still a long-term buy.

[คำแนะนำที่ดี]

Oil: Prices in the $80s make sense since the marginal cost to find a barrel is about $70. Longer term he expects prices to continue rising as demand increases from the developing world.

[คำแนะนำที่ดี]

Agricultural commodities: In the short term, Faber’s favorite commodity is wheat. He advises against buying the wheat ETFs because they’re relatively expensive. Instead, play it through farm land or potash companies, he says. [คำแนะนำนี้ไม่มีประโยชน์อะไร WEAT แทบไม่เปลี่ยนแปลงตลอดปี]

โทมัส ตัน (ที่มา)

1. ทองคำ จะแตะระดับ 1500 เหรียญต่อออนซ์ในปี 2010 [ผิด] หรือหมายถึงขึ้นไปอีก 50% จากระดับปัจจุบัน ส่วนโลหะเงินก็จะตามกันไป แตะระดับ 25 เหรียญต่อออนซ์ [ถูก ตอนนี้ 29 อันนี้เยี่ยม] ส่วนดัชนีหุ้นเหมืองทองคำ HUI จะขึ้นผ่าน 600 เหรียญ [ผิด ตอนนี้ 559] ด้วย

2. ดัชนี USD index จะเหลือ 60 จุด [ผิด ตอนนี้ 80 ไม่เคยลงไปถึง 60 เลยด้วย]

3. ตลาดหมีใน S&P ที่รีบาวน์อยู่ในตอนนี้ จะขึ้นต่อได้อีกราว 7 เดือน จากเดือนมกราคมถึงกรกฎาคม [ผิด 7 เดือนแรกลงมากกว่า] แล้วหลังจากนั้น ตลาดจะต้องเผชิญกับหน้าผาสูงชันที่จะมาเขย่าขวัญอีกเป็นครั้งที่ 2 ซึ่งจะเกิดขึ้นตั้งแต่เดือนสิงหาคมไปจนถึงสิ้นปี [ผิด ปลายปีเป็นขาขึ้นชัดเจน]

4. หุ้น Citigroup จะลดลงเหลือต่ำกว่า 2 เหรียญอีกครั้ง [ผิด ตอนนี้ 4.6] (ปัจจุบัน 3.30 อดีตก่อนเกิดวิกฤติอยู่ที่เกิน 50)

5. ผลตอบแทนพันธบัตร 10 ปีของสหรัฐ จะเพิ่มขึ้น 2 เท่าจาก 1.5% ในปัจจุบันเป็น 3% ซึ่งนี่จะเป็นสิ่งที่สร้างความประหลาดใจครั้งใหญ่ [ถูก ตอนนี้ 3 กว่า]

6. การรีบาวน์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันของดัชนี S&P/Case-Schiller จะเกิดแค่ช่วงสั้นๆ ดัชนี Schiller จะร่วงลงมากกว่า 15% ในปี 2010 ต่ำกว่า 120 [ผิด ตลอดปีไม่มีแตะ 120 เลย ห่างไกลมาก]

7. หลังจากซื้อเวลาได้อีกครึ่งปี หุ้นอุตสาหกรรมส่วนบุคคล (PE) จะเผชิญแรงกดดันในปี 2010 โดยเฉพาะในครึ่งปีหลัง

8. จีนจะยังคงอัตราการเติบโตราว 9% ในปี 2010 [ถือว่าถูก]

9. เงินเฟ้อจะแตะระดับ 10% วัดจากฐาน CPI [ผิด]

10. น้ำมันจะแตะระดับ 3 หลัก (100 เหรียญ) อีกครั้งในปี 2010 [ผิด] ราคาปัจจุบันราว 70 เหรียญ

หมอไพศาล

สำหรับภาวะเศรษฐกิจ การเมือง และตลาดหุ้นในปี 2553 หมอไพศาล พยากรณ์ให้ฟังว่า ในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2553 “ตลาดหุ้นจะไม่ดีอย่างแรง” โอกาสปรับตัวลงมาอยู่ระดับ 400 จุดอาจมีให้เห็นได้ [ผิด] ช่วงนี้เหมาะสมมากที่นักลงทุนจะหาจังหวะช้อนหุ้นที่ชื่นชอบเก็บเอาไว้โดย เฉพาะกลุ่มพลังงาน ถ่านหิน และวัสดุก่อสร้าง เป็นต้น เนื่องจากพระราหูย้ายเข้ามาอยู่ในราศีธนู ซึ่งบ่งบอกว่าธุรกิจประเภทดังกล่าวจะรุ่งเรืองมาก

หลังจากนั้นตั้งแต่ในเดือนมีนาคม-มิถุนายน 2553 ตลาดหุ้นจะมีอาการ “ทรงตัว” [ผิด เจอวิกฤตช่วงเมษา] ก่อนจะทะยานขึ้นไปสู่ “จุดสูงสุด” ในระหว่างเดือนกันยายน – ธันวาคม 2553 [ถูก] ซึ่งมีโอกาสจะทะลุ 700 จุดหรือ 800 จุดได้ ในแง่ของเศรษฐกิจในปี 2553 ก็จะดีขึ้นเรื่อยๆ ส่วนราคาทองคำมีโอกาสทะลุ 20, 000 บาท ใครมีเงินซื้อทองคำ (แท่ง) เก็บเอาไว้ได้กำไรแน่นอน [ถือว่าถูก]


0352: ลงทุนในตลาดฟองสบู่

เวลานี้ได้ยินคำถามบ่อยว่า ตลาดหุ้นฟองสบู่หรือยัง ควรขายทิ้งหรือไม่

เรื่องนี้ก็แล้วใครจะมอง แต่โดยส่วนตัว ผมมองว่าตลาดหุ้นตอนนี้มีโอกาสที่จะเป็นฟองสบู่แล้วสูงมาก

เพราะอัตราดอกเบี้ยถูกเซ็ตให้ต่ำผิดปกติมาเป็นเวลานานพอสมควรแล้ว ต่อให้เวลานี้ยังไม่ใช่ฟองสบู่ แต่ถ้าดอกเบี้ยยังเป็นแบบนี้ต่อไป ตลาดหุ้นก็จะเข้าสู่ภาวะฟองสบู่ในที่สุด เพราะต้นทุนของเงินถูกบิดเบือนให้ต่ำกว่าความเป็นจริงไปมาก

หุ้นสองตัวที่มีกระแสเงินสดที่คาดการณ์ในอนาคตเหมือนกันทุกประการ ถ้าดอกเบี้ยในตลาดต่ำกว่าครึ่งหนึ่ง มูลค่าที่เหมาะสมของมันจะเพิ่มขึ้นได้มากกว่าเท่าตัว ทั้งที่ตัวธุรกิจเหมือนเดิมทุกอย่าง พรีเมี่ยมที่เกิดขึ้นนี้มาจากการที่ต้นทุนเงินในตลาดต่ำลงอย่างเดียว ไม่เกีี่ยวอะไรกับบริษัทเลย

บอกคนบอกว่าถ้าตลาดหุ้นเป็นฟองสบู่แล้วก็ควรล้างพอร์ตทิ้งเลย แ ต่การที่ตลาดเป็นฟองสบู่นั้นก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะต้องแตกเสมอไป มันอาจแตกวันพรุ่งนี้เลย หรือมันอาจขึ้นไปอีกสามเท่าตัวแล้วค่อยแตกในอีกแปดปีต่อมาก็เป็นไปได้ ฟองสบู่ปี 40 หรือฟองสบู่แนสเด็กนั้นกว่าจะแตกก็ต้องใช้เวลา 6-7 ปี  นั่นคือความยากของการทำนายว่าเมื่อไรฟองสบู่จะแตก หรือใครจะรู้ว่าอัตราดอกเบี้ยที่เราว่าต่ำเกินไปนั้น อาจกำลังกลายมาเป็นระดับที่ปกติของโลกในยุคต่อไปก็ได้ ถ้าคิดว่าหุ้นแพงเมื่อไรก็ขายหุ้น แล้วหุ้นมันดันไม่ถูกลงอีกเลยนานนับสิบปี ทำให้เราเสียเวลาในการลงทุนไปเป็นสิบปี ก็ถือว่าเป็นความสูญเสียอีกรูปแบบหนึ่งเหมือนกัน

ในเมื่อเราไม่ได้เก่งขนาดที่จะทายได้ว่าฟองสบู่จะแตกเมื่อไร (ผมว่าเป็นเรื่องที่ทายได้ยากมาก) หรือรู้ล่วงหน้าว่าแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยในช่วงสิบปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ผมจึงไม่เห็นด้วยที่จะล้างพอร์ตในเวลานี้ต่อให้คิดว่าตลาดหุ้นเป็นฟองสบู่แล้วก็ตามครับ

มีคนอีกด้านหนึ่งเหมือนกันที่คิดไปถึงขนาดที่ว่าดอลล่าร์จะล่มสลาย แล้วทองคำ น้ำมัน รวมทั้งเงินเอเชียจะพุ่งทะยานยิ่งกว่านี้อีก และเอเชียจะก้าวขึ้นมายิ่งใหญ่ เพราะฉะนั้นต้องลงทุนให้เต็มอัตราศึก แต่ผมก็ไม่ได้มั่นใจถึงขนาดนั้นด้วยเช่นกัน ผมว่าปรากฏการณ์ความไม่สมดุลของโลกในเวลานี้เป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ตัวแปรที่เกี่ยวข้องก็เยอะมาก ไม่มีใครที่รู้จริงขนาดที่จะฟันธงได้ว่าจะต้องเกิดอย่างนั้นอย่างนี้ในที่สุด

ในภาวะแบบนี้ผมเลือกที่จะยังอยู่ในตลาดหุ้นต่อไป เพราะไม่อยากเสียโอกาสในการลงทุน แต่ในเวลาเดียวกันก็ตระหนักว่าหุ้นก็ไม่ได้ถูกแล้วและโอกาสที่ฟองสบู่จะแตกก็มีได้ด้วย จึงจำเป็นต้องมีวิธีคิดบางอย่างที่ช่วยป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายที่รุนแรงได้ด้วย

อย่างแรกก็คือ ผมมองว่าเงินของเราที่อยู่ในตลาดหุ้นอยู่แล้วเวลานี้ เรากำไรมาแล้วพอสมควร ตลาดหุ้นในช่วงสองปีที่ผ่านมาขึ้นมาไม่ใช่น่้อยๆ ดังนั้น ถ้าหากเงินจำนวนนี้จะอยู่ในตลาดต่อไป ไม่ว่าจะเป็นการถือตัวเดิม หรือเปลี่ยนตัวก็ตาม แล้วฟองสบู่แตกจริงๆ เราก็ไม่ได้เสียหายมากนัก เพราะเงินจำนวนนี้เป็นส่วนของกำไรอยู่ไม่ใช่น้อย แต่ถ้าหากเราขายหุ้นส่วนนี้ออกมาถือเป็นเงินสดแทน แล้วตลาดหุ้นเกิดทะยานต่ออย่างมากมายแบบที่มีบางคนเขาทายไว้อย่างนั้นได้จริง เราก็จะพลาดกำไรไปไม่น้อยเลย ฉะนั้นเงินส่วนนี้จึงมี upside สูง แต่ downside ต่ำ ถือเป็นโอกาสของเราที่จะ bet ต่อ จะถือตัวเดิมต่อ หรือมองหาตัวใหม่ก็ได้ไม่ต่างกัน หมุนไปหมุนมาอยู่ในหุ้นเหมือนเดิม

แต่ถ้าหากเป็นเงินก้อนใหม่ที่จะใส่เพิ่มเข้าไปอีกเพื่อเพิ่ม exposure ของเราในตลาดหุ้น อันนี้ผมจะคิดหนักหน่อย ถ้าไม่แน่ใจจริงๆ ว่าราคาที่เข้าซื้อไม่แพง ก็ถือว่าเสี่ยง คนที่เจ๊งในตลาดฟองสบู่ส่วนมากจะเจ๊งกันก็เพราะแบบนี้ เช่น ตอนแรกลงทุนไปแสนบาท ตลาดหุ้นพุ่งขึ้นไปเท่าตัวกลายเป็นสองแสนบาทดีใจใหญ่ คิดว่าตลาดหุ้นให้ผลตอบแทนที่ดีเหลือเกิน ก็เลยเอาเงินใส่เข้าไปเพิ่มอีก ห้าแสน กลายเป็นต้นทุนสี่แสน พอตลาดขึ้นต่ออีก 50% ดีใจใหญ่เลยหาเงินใหม่มาใส่เพิ่มอีกหนึ่งล้าน กลายเป็นว่ายิ่งต้นทุนสูงเรายิ่งมีน้ำหนักหุ้นมาก ซึ่งที่ถูกต้องควรจะเป็นตรงกันข้าม แบบนี้พอฟองสบู่แตกจะเสียหายหนักมาก แบบที่ร้ายที่สุดคือ ตอนฟองสบู่แตกแล้วคิดว่าหุ้นถูกลง (แต่ลืมไปว่าราคาเดิมคือราคาที่แพงมาก) ก็เลยทุ่มเงินใหม่ใส่เข้าไปอีกหลายเท่าตัว แทนที่จะเสียหายแค่นิดเดียวเลยกลายเป็นแทบหมดตัว เรื่องการคิดถึงน้ำหนักของแต่ละต้นทุนที่มีอยู่นี้เป็นสิ่งที่นักลงทุนหลายคนไม่เคยมองในมุมนี้มาก่อนเลย ทำให้พลาดเอาง่ายๆ ได้

อย่างไรก็ตาม บางคนอาจโชคไม่ดีตรงที่ตอนที่หุ้นถูกๆ ไม่ได้ถือหุ้นไว้มาก แบบนี้ก็อดใจได้ยากเหมือนกัน ที่จะไม่เพิ่มน้ำหนักหุ้นเข้าไปอีก ถ้าใครอยากเติมเงินเข้าไปในตลาดหุ้นอีก จริงๆ ก็ทำได้ครับ (ถ้าเป็นนักลงทุนที่เคร่งครัดจริงๆ คงไม่ทำเด็ดขาดถ้าเห็นว่าหุ้นแพงแล้ว แต่ผมว่า การอนุรักษ์นิยมมากเกินไปบางทีก็เป็นความเสี่ยงอย่างหนึ่งเหมือนกัน คือเราก็อาจเสียโอกาสที่จะให้เงินทำงานด้วย เอาเป็นว่า คำแนะนำของผมเป็นแบบที่อยู่ตรงกลางๆ ไม่ใช่นักลงทุนแบบเคร่งครัดสุดโต่งนะครับ) แต่จะต้องเอาเทคนิคในการลดความเสี่ยงของพวกเทรดเดอร์มาใช้ นั่นคือ เราอาจตั้งกฏเอาไว้ว่า เงินก้อนนี้หาลงไปแล้ว ตลาดหุ้น crash เราจะยอมขาดทุนแค่ไม่เกิน x% เกินเมื่อไรเราจะยอมขายขาดทุนเสมอ เพื่อลดความเสี่ยงที่จะขาดทุนมากๆ แบบนี้ถ้าตลาดหุ้นไปต่อเราก็ไม่เสียโอกาส แต่ถ้าฟองสบู่แตกเราก็ขาดทุนแค่ระดับหนึ่งเท่านั้น อย่างไรก็ตาม วิธีนี้ต้องอาศัยวินัยการลงทุนที่เคร่งครัดด้วยนะครับ เพราะถ้าถึงเวลาจริงๆ กลับไม่กล้าขายขาดทุนออกมาตามที่ได้ตั้งใจเอาไว้ เพราะทำใจไม่ได้ ก็ไม่มีประโยชน์ ลดความเสี่ยงไม่ได้เลย

เอาเป็นว่าทั้งหมดนี้เป็นเทคนิคเล็กๆ น้อยๆ ที่จะนำไปประยุกต์ใช้กันได้กับการลงทุนในตลาดหุ้นที่ช่วงเวลาที่เราคิดว่ามันอาจเป็นฟองสบู่

มีนักลงทุนบางท่านอยากให้ผมสรุปให้ฟังว่าเราจะสังเกตวิกฤตได้อย่างไรบ้าง จะได้คาดการณ์วิกฤตล่วงหน้าได้ทัน แต่ผมอยากบอกว่านั่นไม่ใช่วิธีลงทุนที่ดีนัก เพราะการทายว่าจะมีวิกฤตไม่ใช่เรื่องกล้วยๆ วิธีการที่น่าจะดีกว่าสำหรับนักลงทุนส่วนใหญ่คือการคิดว่า ถ้าออกหัวควรจะทำอย่างไร ถ้าออกกล้วยควรจะทำอย่างไร เรามีแผนการรับมือทุกสถานการณ์ไว้แล้วย่อมทำให้ตัวเองหลีกพ้นจากหายนะได้ ดีกว่าพยายามทายให้ได้ว่าจะอนาคตจะเป็นไง แล้วพอมันไม่ได้เป็นแบบนั้นปุ๊บก็ไปไม่ถูกเลย

0315: Notes on Valuation

  การที่คุณมีเกณฑ์ในการคัดหุ้นเหมือนอย่างเช่นในบทความที่แล้ว จะทำให้คุณมีรายชื่อหุ้นจำนวหนึ่งที่เหมาะแก่การลงทุนในระยะยาว งานต่อไปของนักลงทุนระยะยาวก็คือ แล้วเราควรจะซื้อหุ้นเหล่านั้นเมื่อไร?

บางคนบอกว่า สำหรับการลงทุนระยะยาวแล้ว จะซื้อเมื่อไรเลยก็ได้ แต่ในความคิดส่วนตัวของผม ผมยังมองว่าการซื้อหุ้นตูมเดียวด้วยเงินออมส่วนใหญ่ของเรา โดยไม่ต้องสนใจว่าราคาหุ้นในเวลาที่ซื้อนั้น เหมาะสมหรือไม่ ไม่ใช่แนวคิดที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับตลาดหุ้นสมัยนี้ที่นโยบายการเงินของธนาคารกลางเป็นแบบผ่อนคลายแทบตลอดเวลา ถ้าคุณบังเอิญเข้าซื้อหุ้นไทยตอน 1700+ จุด แล้วสามารถถือยาวมาได้ถึงเดียวนี้ สิบกว่าปี คุณก็ยังขาดทุนอยู่ดี ยังไงๆ ผมก็คิดว่า ราคาที่เข้าซื้อ ยังคงเป็นสิ่งสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นหุ้นดีแค่ไหน หรือถือยาวขนาดไหนก็ตาม 

แต่หากคุณขี้เกียจรอซื้อที่ราคาเหมาะสมจริงๆ หรือคิดว่าการหาราคาที่เหมาะสมเป็นเรื่องที่ยุ่งยากเกินไป ผมแนะนำให้คุณใช้วิธีทยอยซื้อทีละนิดไปเรื่อยๆ เป็นช่วงระยะเวลายาวๆ จะดีกว่าการเข้าซื้อทีเดียวด้วยเงินก้อนใหญ่ๆ เพราะการแบ่งช่วงเวลาที่ซื้อออกไปนานๆ จะช่วยให้คุณได้ต้นทุนเฉลี่ยที่ไม่แพงเกินไปโดยอัตโนมัติ น่าจะเป็นกลยุทธ์ที่ปลอดภัยกว่า (ถ้าสนใจวิธีนี้จริงๆ ลองดูตัวอย่างหนึ่งใน https://dekisugi.net/7thltg ก็ได้ครับ)

แต่ถ้าคุณสามารถลงทุนโดยมีการประเมินราคาที่เหมาะสมก่อนเข้าซื้อร่วมด้วยจะทำให้คุณมีโอกาสได้ผลตอบแทนที่สูงขึ้น การซื้อเฉลี่ยนั้นแม้จะปลอดภัยก็จริงแต่ต้นทุนเฉลี่ยที่ได้ก็มักจะไม่ถูกไม่แพง แต่เป็นกลางๆ ทำให้ผลตอบแทนอยู่ในระดับกลางๆ ไปด้วย ไม่ถึงขั้นดีมาก ต่างกับคนที่มีการระมัดระวังเรื่องต้นทุนที่เข้าซื้อลงทุนร่วมด้วย ถ้าเขาสามารถทำได้ดี จะช่วยเพิ่มผลตอบแทนได้อีกมาก

วิธีประเมินมูลค่าหุ้น ที่ง่ายที่สุดน่าจะเป็น P/E ซึ่งใช้ได้ดีเป็นพิเศษกับกิจการที่มีกำไรที่ค่อนข้างสม่ำเสมอ (easy to predict) ทุกปี อย่างไรก็ตาม ควรตรวจสอบด้วยว่า บริษัทมีกำไรพิเศษในปีนั้นทำให้ P/E ดูต่ำผิดปกติหรือไม่ เช่น มีการขายสินทรัพย์ครั้งใหญ่ในปีนั้นทำให้เกิดกำไรพิเศษ และการขายสินทรัพย์นั้น ไม่ได้เกิดขึ้นทุกปี อย่างนี้เราต้องตัดกำไรพิเศษเหล่านั้นออกไปก่อน เพื่อมิให้เกิดภาพที่บิดเบือนได้ เป็นต้น

หากเป็นหุ้นที่อยู่ในโผของเราอยู่แล้ว (พื้นฐานดีเหมาะกับการลงทุนระยะยาว) พีอีที่เหมาะสมจะขึ้นอยู่กับ อัตราการเติบโตในอนาคตที่เราเชื่อว่าเป็นไปได้เป็นสำคัญ เช่น ถ้าเราคิดว่า บริษัทนั้นน่าจะโตได้อย่างน้อยปีละเท่าๆ กับเงินเฟ้อ พีอีที่เหมาะสมก็น่าจะอยู่ที่ 10 เท่า (อันนี้เป็นมาตรฐานของผมเอง) แต่ถ้าบริษัทน่าจะเติบโตได้เกิน 10-15% ต่อปีอาจให้พีอีเหมาะสมมากขึ้น เช่น 12 เท่า ถ้าโตได้ถึง 20% ต่อปี ก็อาจให้พีอี 15-18 เท่าก็ได้ แต่ที่สำคัญ การเติบโตที่ว่านั้นต้องเป็นอัตราการเติบโตที่บริษัทน่าจะทำได้ต่อเนื่องกันหลายปี เช่น 3-5 ปีข้างหน้า ไม่ใช่เห็นว่าปีหน้าบริษัทมีโครงการใหญ่ทำให้กำไรก้าวกระโดด 50% ในปีเดียว ก็จะคิดว่าบริษัทนั้นโตได้ 50% ต่อเนื่องทุกปี ปกติแล้วการเติบโตในระดับ 10-20% ต่อปีนั้นอาจทำให้ต่อเนื่องในระยะยาวได้ไม่ยากนัก แต่ถ้า 50% ต่อปีนั้นมักเป็นไปได้ยากมากๆ ในกรณีเช่นนี้ เราต้องปรับความคาดหวังลงมาสักหน่อย เช่น อาจจะลดลงมาเหลือ 20% จะปลอดภัยกว่า (คิดว่าปีหน้า 50% หลังจากนั้น 10% ทำให้เฉลี่ยๆ แล้วเหลือ 20% ต่อปีในช่วง 3-5 ปีข้างหน้า) ส่วนถ้าเป็นหุ้นนอกโผ ผมคงไม่ลงทุนระยะยาวอยู่แล้ว แต่ถ้าจะให้พีอีที่เหมาะสม ผมก็คงให้แค่ 7 เท่าเสมอ ไม่ว่าจะโตได้มากแค่ไหน เพราะถือว่าพื้นฐานสอบไม่ผ่านที่จะลงทุนระยะยาวได้ ส่วนการให้พีอีหุ้นตัวทุกในโผเท่ากันหมดโดยไม่คำนึงถึง Growth Potential ที่แตกต่างกันเลยนั้น เป็นวิธีการที่ผมไม่ชอบ เพราะผมมองว่าเป็นการไม่ยุติธรรมกับธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตสูงกว่า

การใช้ P/E ในภาวะผิดปกติต้องระวัง เช่น ในช่วงเศรษฐกิจซบเซา หรือบริษัทกำลังเผชิญปัญหาใหญ่ เพราะพีอีมักให้ภาพที่บิดเบือน ตัวอย่างเช่น บริษัท ABC ในยามปกติมี Net Margin 3% พีอี 10 เท่า แต่เมื่อเกิดเศรษฐกิจซบเซาทำให้ Net Margin ลดลงชั่วคราวเหลือ 1% (แต่รายได้คงที่) สมมติว่าตลาดกดราคาหุ้นลง 30% พีอีใหม่จะกลายเป็น 21 เท่า ซึ่งทำให้เรารู้สึกว่าแพงอย่างมาก แต่ที่จริงแล้ว ส่วนลด 30% เป็นโอกาสทองของนักลงทุนระยะยาวที่จะซื้อ เพราะยอมทนรอหน่อย เมื่อทุกอย่างกลับมา มาร์จิ้นกลับมาที่ 3% ก็เท่ากับเราซื้อได้ที่พีอีแค่ 7 เท่าเท่านั้น ยิ่งถ้ารายได้กลับมาสูงกว่าเดิมด้วย (ซึ่งมักจะเป็นเช่นนั้น) ต้นทุนเราอาจเท่ากับพีอีแค่ 5-6 เท่าเท่านั้น แต่ถ้าเราคิดง่ายๆ แค่พีอี 21 เท่าแปลว่าแพงเสมอ ไม่รู้จักการพลิกแพลง เราก็พลาดโอกาสได้

P/E ไม่ใช่ตัวชี้วัดมูลค่าที่ดีสำหรับธุรกิจที่มีกำไรไม่แน่นอน เพราะถ้าปีนี้ P/E ต่ำ ไม่ได้แปลว่า ปีหน้า P/E จะต่ำ เพราะปีหน้ากำไรอาจร่วงลงอย่างแรงทำให้ P/E สูงขึ้นอย่างผิดหูผิดตาก็ได้ ถ้าผมจะตีมูลค่าหุ้นพวกนี้ ผมมักหาวิธีการอย่างอื่นแทน ตัวอย่างเช่น หุ้นโรงกลั่นในภาวะที่ค่าการกลั่นตกต่ำ บริษัทอาจขาดทุนทำให้พีอีติดลบ ผมจะหันไปใช้วิธีหาตัวเลขว่า ทุกวันนี้โรงกลั่นน้ำมันสร้างใหม่ต้องใช้เงินลงทุนเท่าไรต่อกำลังการผลิต 1 ล้านบาร์เรล แล้วตีราคาบริษัทตามกำลังการผลิต (Replacement Cost Method) แทน (อย่าลืมดูด้วยว่าโรงกลั่นของบริษัทมีสัดส่วน output ชนิดต่างๆ ใกล้เคียงกับ benchmark มากแค่ไหน) เช่นนี้เป็นต้น จะเห็นได้ว่า ที่จริงแล้ว การตีราคาหุ้นนั้นไม่มีสูตรสำเร็จ แต่ต้องเลือกเครื่องมือให้ได้เหมาะสมกับสถานการณ์มากกว่า เราต้องการอะไรสักอย่างที่ทำให้เรามั่นใจว่า ราคาเท่าไรถึงจะไม่แพง ถ้าเป็นธุรกิจที่มีความแน่นอนต่ำมาก หาวิธีที่ทำให้เรามั่นใจมูลค่าไม่ได้ อย่าลงทุนระยะยาวดีที่สุด ถ้าจะซื้อก็เล่นสั้น ๆก็พอ

สำหรับ P/B นั้น โดยส่วนตัว ผมแทบไม่ได้ใช้เลย ผมมองว่ามูลค่าทางบัญชีของสินทรัพย์ทุกวันนี้ สะท้อนมูลค่าของธุรกิจได้น้อยมากๆ

ส่วน P/S นั้น ใช้ประโยชน์ได้เหมือนกัน เพราะใช้แทน พีอี ในช่วงที่บริษัทขาดทุนได้ ผมมักจะดูว่า P/S ของบริษัทสูงหรือต่ำเมื่อเทียบกับ P/S ในอดีต ประกอบการตัดสินใจด้วย เป็นต้น

ส่วนการศึกษา DCF นั้นช่วยทำให้เราเข้าใจได้ลึกขึ้นว่า มูลค่าของธุรกิจขึ้นอยู่กับอะไรบ้าง (เช่น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับกำไรปีนี้หรือปีหน้าปีเดียว แต่ปีต่อๆ ไปอีก อีกทั้งยังขึ้นอยู่กับอัตราดอกเบี้ย อัตราการเติบโต และ investment ratio ของธุรกิจนั้นๆ อีกด้วย เป็นต้น) แต่ในสถานการณ์จริง โอกาสที่จะได้ใช้ DCF จะมีไม่มากนัก เพราะคุณต้องมีข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทนั้นๆ แบบค่อนข้างละเอียดและครบถ้วนมากทีเดียวจึงจะทำ DCF ได้ แต่ส่วนใหญ่แล้วเรามักไม่สามารถหาข้อมูลได้ครบถ้วนถึงขนาดนั้น

ธุรกิจกับความไม่แน่นอนเป็นของคู่กัน ดังนั้นหุ้นจึงเป็นหลักทรัพย์ที่หามูลค่าที่แน่นอนไม่ได้อยู่แล้วโดยธรรมชาติ มีแค่ “ช่วง” ที่เป็นไปได้หรือเหมาะสมเท่านั้น ฉะนั้น การวัดมูลค่าหุ้นจึงเป็นศิลปะมากกว่าวิทยาศาสตร์ ผมใช้หลักถ้าไม่แน่ใจก็ไม่เอาไว้ก่อน เช่น หุ้นตัวหนึ่งดีมาก เราเชื่อว่าโตได้ 50% ต่อปี แต่ถ้าราคาหุ้นแพงมากๆ แบบนี้เราก็อาจจะไม่เอาไว้ก่อน เพราะต้องเสี่ยงซื้อของแพง สู้เอาเงินไปซื้อหุ้นที่โตได้แค่ 10% ต่อปี แต่ราคาหุ้นต่ำมากจนดูเป็นการลงทุนที่ปลอดภัยน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า แบบนี้เป็นต้น ใช้การวัดมูลค่าเป็นสิ่งที่ช่วยเพิ่มความปลอดภัยในกับการลงทุนของเราก็พอ ไม่ใช่กฏเหล็กตายตัว (เพราะเราไม่ได้ซื้อหุ้นตัวเดียวด้วยเงินทั้งหมดอยู่แล้ว เรามีการกระจายความเสี่ยงช่วยด้วย)

สำหรับพอร์ตลงทุนระยะยาว ผมไม่คิดว่าจะต้องซื้อหุ้นให้ได้ถูกมากๆ เพราะเน้นหุ้นดีอยู่แล้ว ต่อราคามากๆ อาจไม่มีวันได้ซื้อ แต่ผมจะหลีกเลี่ยงการซื้อแพงๆ ถ้าหุ้นดีมากๆ แต่ต้องซื้อในราคาที่ไม่แน่ใจว่าแพงไปหรือไม่ ผมมักจะขอเลือกหุ้นที่ดีน้อยลงมาสักหน่อย แต่ซื้อได้ในราคาที่ทำให้เกิดความสบายใจได้เป็นหลักครับ

0308: Dickson G.Watts

ผมได้อ่านหนังสือโบราณเล่มหนึ่ง ซึ่งเขียนโดย Dickson G.Watts นักเก็งกำไรในตลาด New York Cotton Exchange เมื่อ 85 ปีที่แล้ว ท่านผู้นี้ร่ำรวยขึ้นมาจากมือเปล่าด้วยการเป็นนักเก็งกำไรราคาฝ้าย และในวัยสูงอายุได้ดำรงตำแหน่งเป็นประธานของ NYCE ในระหว่างปี 1878 – 1880 อีกด้วย

หนังสือเล่มนี้หายสาบสูญไปนาน แต่มันกลับมาได้รับความสนใจอีกครั้งเมื่อ Edwin Lefevre ผู้เขียนหนังสือชื่อ Reminiscences of a Stock Operator ซึ่งเป็นชีวประวัติของ Jesse Livermore นักเก็งกำไรผู้โด่งดังในช่วงปี 1900-1930 กล่าวถึงกฏของ Watts ไว้ในหนังสือ

หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่มีขนาดเล็กมาก มันมีกฏทองของการเก็งกำไรเพียงไม่กี่ข้อ ซึ่งเป็นการสรุปจากประสบการณ์การเก็งกำไรทั้งชีวิตของผู้เขียน ผมเห็นว่ามันมีประสบการณ์ที่ทรงคุณค่า ซึ่งจะช่วยให้ประหยัดเวลาในการเรียนรู้เกี่ยวกับตลาดหุ้นของเราได้ โดยที่ไม่ต้องจ่ายค่าเทอมเองด้วย อย่างไรก็ตาม มันเป็นหลักสำหรับการเก็งกำไรเป็นหลัก ต้องระวังเวลานำไปใช้กับการลงทุน เพราะแม้ว่าจะใช้ได้บ้างในบางส่วน แต่ไม่ว่าทั้งหมด

กฏของ Watts มีทั้งหมด 10 ข้อ 4 ข้อแรก เป็นกฏที่เป็นจริงเสมอ (Laws Absolute)
อีก 6 ข้อหลังเป็นกฏที่โดยปกติให้ยึดถือเอาไว้ แต่ในบางสถานการณ์ก็สามารถยืดหยุ่นได้ (Rules Conditional) ผมขออนุญาตเริ่มจาก Rule Conditional ทั้ง 6 ข้อก่อน

Rule Conditional #1 : การซื้อเฉลี่ย “ขาขึ้น” ดีกว่าการซื้อเฉลี่ย “ขาลง”

ธรรมเนียมทั่วไปนิยมเชื่อว่าการเฉลี่ยขาลงดีกว่าเพราะทำให้ต้นทุนเฉลี่ยลดลงเรื่อยๆ แม้ว่าสี่ในห้าครั้งที่เฉลี่ยขาลง ราคาหุ้นจะพลิกกลับขึ้นมา ทำให้มีกำไรได้ แต่จะมีอีกหนึ่งในห้าครั้งที่ ราคาหุ้นลงแบบถาวรไม่กลับขึ้นมาอีกเลยตลอดไป ซึ่งจะนำไปสู่การขาดทุนมหาศาลได้

Rule Conditional #2 ตลาดโวลุ่มหาย แนวต้านไม่แข็งแรง คือตลาดที่ควรจะขาย
เพราะตลาดเช่นนี้มักจะพัฒนาไปสู่ตลาดขาลง แต่เมื่อไรก็ตามที่ตลาดเช่นนี้ได้ผ่านไปสู่ภาวะที่มีโวลุ่มหนาแน่นและเป็นขาลงแล้วต่อด้วยแรงขายแบบตื่นตระหนกเรียบร้อยแล้วก็ถึงเวลาที่ควรจะซื้อมากๆ

ในทางตรงกันข้ามตลาดที่โวลุ่มหายแต่แนวต้านมั่นคงมักจะพัฒนาไปสู่ตลาดที่มีโวลุ่มหนาแน่นและมีฐานที่แข็งแรง หลังจากนั้นถ้าตลาดกลายเป็นตลาดที่เต็มไปด้วยอารมณ์ตื่นเต้น ก็ควรจะขายออกมาอย่างมั่นใจ

 
Rule Conditional #3
ในการสร้างมุมมองเกี่ยวกับตลาด ปัจจัยด้านความน่าจะเป็นจะละเลยไม่ได้ จงคิดถึงความน่าจะเป็นเสมอ นโปเลียนวางแผนการรบจะเผื่อกรณีสุดวิสัยเอาไว้เสมอ อุบัติเหตุอาจเกิดขึ้นมาทำลายหรือหักล้างการคิดคำนวณที่ดีที่สุดได้ การคิดคำนวณจึงต้องรวมสิ่งที่คาดไม่ได้เอาไว้เสมอ คนที่คิดคำนวณความน่าจะเป็นไว้ด้วยคือยอดคน

จงสร้างมุมมองจากข้อมูลต่างๆ เช่น สภาวะของประเทศ ผลผลิตทางการเกษตร ตัวเลขการผลิต ฯลฯ สถิติเก่าๆ นั้นเป็นสิ่งที่มีค่า แต่จะต้องไม่มีอิทธิพลเหนือข้อมูลในการสร้างมุมมองเกี่ยวกับสถานการณ์ข้างหน้า คนที่ยึดติดกับสถิติเก่าๆ มากเกินไปจะหลงทาง เคนนิ่งกล่าวว่า “there is nothing so fallacious as facts, except figures.”

ดังนั้น จึงควรเริ่มซื้อแต่น้อย เมื่อราคาหุ้นไต่ระดับขึ้นก็ค่อยๆ ซื้อเพิ่มอย่างเฝ้าระวัง เมื่อไรที่ราคาหุ้นปรับฐานลงจนชนต้นทุนเฉลี่ยเมื่อไรก็ควรขายหนีทันที เพื่อหลีกเลี่ยงการขาดทุน ถ้าทำเช่นนี้ตลอด จะมีบางครั้งที่ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นไปอย่างมากทำให้ได้กำไรมหาศาลในครั้งนั้น กลยุทธ์นี้มีความเสี่ยงต่ำ และเมื่อใดก็ตามที่สำเร็จจะได้กำไรสูง ควรใช้กลยุทธ์ซื้อเฉลี่ยขาขึ้นเมื่อคาดว่าตลาดกำลังมีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญและในจังหวะที่คุณมีเงินทุนพอเพียงที่จะทำเช่นนั้น

Rule Conditional #4
ในสถานการณ์ทั่วไป คำแนะนำของเราคือการซื้อในครั้งเดียวให้ได้จำนวนที่เหมาะสมกับทุนที่มีอยู่ไปเลย การ Cut loss หรือการ Take Profit ก็ให้ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณ หลักก็คือ Stop lossess and let profits run. ถ้าหากกำไรขนาดเล็กเรา Take ได้ ขาดทุนขนาดเล็ก เราก็ต้องกล้า Take ด้วย การขาดความกล้าที่จะขาดทุนขนาดเล็กและการรีบร้อนเกินไปที่จะ Take Profit คือหายนะ มันทำให้เสียงานมามากแล้ว
Rule Conditional #5
การซื้อขาลงต้องอาศัยกระเป๋าเงินที่ลึกและจิตใจที่มั่นคง บ่อยครั้งที่ความหายนะมาเยือนผู้ที่มีทั้งสองสิ่ง ยิ่งจิตใจมั่นคง โอกาสที่จะถือหุ้นไว้นานเกินไปยิ่งมาก อย่างไรก็ดี มีคนจำพวกหนึ่ง ที่ประสบความสำเร็จในการซื้อขาลงแล้วถือไว้เฉยๆ พวกนี้ซื้อทีละน้อย เข้าอย่างรอบคอบ และถือเอาไว้นานๆ พวกเขาเป็นคนที่ไม่รู้สึกถูกรบกวนใจเพราะความผันผวนของราคา พวกเขาเป็นนักตัดสินใจซึ่งซื้อในยามที่ตลาดแย่มากๆ แล้วถือไว้จนธุรกิจพลิกฟื้นตัวได้ แบบนี้เป็นการลงทุนไม่ใช่การเก็งกำไร

Rule Conditional #6
ความเห็นของตลาดนั้นจะละเลยไปเลยไม่ได้ เมื่อเกิดกระแสการเก็งกำไร เราควรเฝ้าดูอย่างใกล้ชิด หลักก็คือ ตัดสินใจอย่างรอบคอบตลาดกระแสตลาด ถ้าจะสวนตลาดก็ให้ทำอย่างกล้าหาญ การแห่ตามตลาดแม้ว่าทุกอย่างจะดูดีนั้นเป็นเรื่องที่อันตราย เมื่อทิศทางพลิกกลับเราจะลำบาก นักเก็งกำไรตระหนักดีถึงอันตรายของ “การมีเพื่อนมากเกินไป” ในขณะเดียวกันก็ต้องรอบคอบอย่างยิ่งในการสวนตลาด ตลาดมีชีพจรที่นักเก็งกำไรควรวางมือของตนไว้บนข้อมือของตลาดแบบเดียวกับแพทย์ ชีพจรนี้คือสิ่งที่จะบ่งบอกเราว่าควรทำเช่นไรและเมื่อใด

คราวนี้ ขอกล่าวถึง Law Absolute ที่เหลืออีก 4 ข้อ ของ Dicksons G.Watts บ้าง

Law Absolute 1: Never Overtrade
การเปิดสถานะโดยมิประเมินทุนที่มีอยู่นำมาซึ่งหายนะ ความผันผวนที่รุนแรงจะปั่นหัวของนักลงทุนทำให้การตัดสินใจผิดพลาดไปหมด

 
Law Absolute #2 : Never “Double Up”
ห้ามกลับสถานะทีเดียวทั้งหมดในทันที ตัวอย่างเช่น กำลัง long อยู่ ห้ามขายทิ้งหมดแล้วเปลี่ยนมา short ทันทีในปริมาณที่เท่ากัน ในบางครั้งการทำเช่นนี้อาจประสบความสำเร็จแต่นับว่าอันตราย หากตลาดพลิกกลับมาขึ้นต่อ ใจกลับไปเก็งทิศทางเดิม นักเก็งกำไรจะทิ้ง short แล้วหันมา long ใหม่อีกครั้ง ถ้าหากว่าหนนี้ผิดพลาด ความปั่นป่วนในใจจะเกิดขึ้น

ดังนั้นเมื่อต้องการกลับทิศทางควรทำทีละน้อยอย่างระมัดระวัง ทั้งหมดก็เพื่อรักษาความสามารถในการตัดสินใจของเราให้ปลอดโปร่งอยู่เสมอ สร้างสมดุลของจิตใจ

Law Absolute #3 : Run Quickly or Not at All
ลงมือจัดการทันทีที่เห็นอันตรายเริ่มเคลือบคลานเข้ามาเป็นครั้งแรก แต่หากพลาดที่จะลงมือแต่เนิ่นๆ จนกระทั้งคนอื่นในตลาดเห็นอันตรายนั้นกันหมดแล้วก็จงอยู่เฉยๆ เหมือนเดิม หรือมิฉะนั้นก็ปิดสถานะเพียงแค่บางส่วน

Law Absolute #4: เมื่อลังเล ลดสถานะ
หากรู้สึกใจคอไม่ดีกับสถานะที่เปิดอยู่ หรือสถานะใหญ่เกินกว่าที่จะรู้สึกปลอดภัย ชายคนหนึ่งบอกชายอีกคนหนึ่งว่าเขานอนไม่หลับเลยเพราะสถานะของเขา ชายอีกคนตอบง่ายๆ ว่า “Sell down to a sleeping point.”
ผมเห็นว่า กฏของ Watts นั้นมีอะไรที่ลึกซึ้งซ่อนอยู่ระหว่างบรรทัดเยอะ หลายอย่างเกิดจากประสบการณ์ที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมามาก ทำให้มือใหม่อาจยังเข้าใจไม่ได้ในทันที ลองค่อยๆ อ่านทำความเข้าใจไปเรื่อยๆ จะได้หลักการอะไรดีๆ หลายอย่างมาปรับใช้ให้เราอยู่ในตลาดได้อย่างคนฉลาดมากขึ้นครับ

 

0307: เบน แกรม เปลี่ยนแนว

เบนจามิน แกรม เป็นผู้บุกเบิกแนวการลงทุนโดยอาศัยการวิเคราะห์อัตราส่วนทางการเงิน แนวทางหนึ่งที่เบนแนะนำคือให้นักลงทุนเลือกซื้อหุ้นที่มีราคาต่ำกว่า net current asset ของมันมากๆ แล้วถือไว้จนกว่าราคาหุ้นจะขึ้นมาเท่ากับค่าดังกล่าว เป็นต้น คำสอนต่างๆ ของเบนถือว่าเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วในหมู่นักลงทุนแนว Value Investing

อย่างไรก็ตาม เรื่องหนึ่งที่นักลงทุนอาจไม่เคยทราบคือ ในช่วงบั้นปลายชีวิต เบนจามิน แกรม ได้ละทิ้งวิธีการลงทุนเหล่านั้นไปโดยสิ้นเชิง ข้อความต่อไปนี้แปลมาจากบทสัมภาษณ์ของเบนจามิน แกรม ใน Financial Analyst Journal เมื่อหลายปีที่แล้ว 

“I am no longer an advocate of elaborate techniques of security analysis in order to find superior value opportunities. This was a rewarding activity, say, 40 years ago, when our textbook “Graham and Dodd” was first published; but the situation has changed a great deal since then. In the old days any well-trained security analyst could do a good professional job of selecting undervalued issues through detailed studies; but in the light of the enormous amount of research now being carried on, I doubt whether in most cases such extensive efforts will generate sufficiently superior selections to justify their cost. To that very limited extent I’m on the side of the “efficient market” school of thought now generally accepted by the professors.”

“ผมไม่แนะนำให้ใช้เทคนิควิเคราะห์หลักทรัพย์ต่างๆ ที่ผมได้อธิบายไว้ในการเสาะหาคุณค่าในตลาดอีกต่อไปแล้ว นั่นเป็นวิธีการที่ได้ผลดีเยี่ยมเมื่อสี่สิบปีที่แล้ว เมื่อตำราของเราถูกตีพิมพ์เป็นครั้งแรก แต่สถานการณ์ในปัจจุบันเปลี่ยนไปมากแล้ว สมัยก่อนนักวิเคราะห์ที่มีความรู้คนไหนๆ ก็สามารถประกอบอาชีพค้นหาหุ้นด้วยการทำงานหนัก แต่ด้วยปริมาณบทวิจัยที่ออกมาอย่างมากมายในปัจจุบัน ผมสงสัยว่าการทำงานหนักเหล่านั้นจะสร้างผลตอบแทนที่คุ้มค่ากับต้นทุนของมันได้หรือไม่ ในแง่นี้ ผมอยู่ข้างเดียวกันกับแนวคิดเรื่อง ตลาดมีประสิทธิภาพ ซึ่งปัจจุบันได้รับการยอมรับโดยบรรดานักวิชาการ”

(อ่านเวอร์ชั่นเต็มได้ที่ http://www.bylo.org/bgraham76.html )

ใครที่อ่านบทสัมภาษณ์อาจมองว่าเบนเป็นคนโลเล แต่ผมกลับไม่ได้คิดอย่างนั้น บทความนี้กลับทำให้ผมได้เห็นว่า เบนเป็นคนที่มุ่งมั่นที่จะแสวงหาความรู้อย่างแท้จริง เพราะโดยปกติแล้ว คนเราถ้าคิดหลักการอะไรขึ้นมาจนมีชื่อเสียง มีลูกศิษย์ลูกหามากมาย แล้ววันหนึ่ง เกิดได้รับข้อมูลใหม่ว่า หลักการเดิมของตนใช้ไม่ได้ผลแล้ว ก็มักหรี่ตาเสียข้างหนึ่ง แล้วยืนกระต่ายขาเดียวต่อไปว่าหลักการเดิมของตนยังใช้ได้อยู่ หาไม่แล้วจะถูกลูกศิษย์ลูกหามองว่าเป็นอาจารย์ที่ล้มเหลว แต่เบนไม่ได้เป็นคนเช่นนั้นเลยแม้แต่น้อย แม้เบนจะแก่มากแล้ว และอยู่ในตลาดมามากกว่าหกสิบปี แต่เบนก็ยังคงเป็นคนที่เรียนรู้ความคิดใหม่ๆ อยู่เสมอ แม้แต่ความคิดเรื่องตลาดประสิทธิภาพ ซึ่งขัดแย้งกับแนวคิดของเขาอย่างสิ้นเชิง เบนก็ยังสามารถเปิดใจรับฟังได้ นับว่าเป็นบุคคลที่หาได้ยากยิ่ง เป็นทองแท้ครับ

เรื่องที่วิธีการของเบนใช้ไม่ได้แล้ว ผมมองว่า ไม่ใช่เรื่องแปลกเลยไม่แต่น้อย เพราะในสมัยที่เบนเริ่มลงทุนนั้น นักลงทุนส่วนใหญ่ในตลาดยังไม่รู้จักอาศัยข้อมูลงบการเงินในการตัดสินใจเลือกหุ้น ช่องว่างในการทำกำไรด้วยวิธีแบบใหม่นี้จึงยังมีอยู่มาก ต่อมาแนวทางของเบนมีชื่อเสียง มีผู้ลอกเลียนแบบวิธีการของเบนในการหากำไรในตลาดหุ้นเป็นจำนวนมาก ประกอบกับตลาดหุ้นพัฒนาขึ้น ข้อมูลเหล่านี้จึงแพร่หลายทั่วไป อีกทั้งยังมีการนำคอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยค้นหาหุ้นกันอย่างแพร่หลาย ช่องว่างที่เคยมีอยู่อย่างมากมายจึงหายไปหมด ในตลาดหุ้น วิธีการใดๆ ก็ตามที่มีผู้นำไปใช้มากเกินไปจะใช้ไม่ได้ในที่สุด 

แม้ว่าวิธีการของเบนจะไม่เหมาะกับตลาดทุนยุคใหม่แล้ว แต่บุคลิกของเบนที่เป็นคนพร้อมรับความรู้ใหม่ได้อยู่ตลอดเวลาทั้งที่เป็นนักลงทุนระดับตำนานแล้ว ไม่ว่าความรู้ใหม่นั้นจะขัดแย้งกับความเชื่อเดิมหรือไม่ก็ตาม ถือเป็นคุณลักษณะที่นักลงทุนน่าจะนำไปเป็นแบบอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักลงทุนที่ลงทุนในแนวเน้นคุณค่า ซึ่งถือเป็นลูกศิษย์สายตรงของเบน แกรม ประสบการณ์ในตลาดทุนต้องใช้เวลาสะสมตลอดชีวิต นักลงทุนจึงต้องหาทางพัฒนาฝีมือของตัวเองอยู่ตลอดเวลา ไม่ควรหยุดอยู่กับที่ครับ

0304: Sir John Templeton

Sir John Templeton เป็นนักลงทุนระดับตำนานที่ก่อตั้งกองทุน Templeton ซึ่งมี มาร์ค โมเบียส เป็นหนึ่งในผู้จัดการกองทุน

JT เกิดในครอบครัวเกษตรกรที่ยากจน ในวัยเด็กเขาได้เห็นปู่ของเขาซึ่งชอบการเก็งกำไรตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแบบแมงเม่า และหมดตัว ทำให้เขามีทัศนคติว่า อนุพันธ์คือสิ่งที่ทำให้คุณเป็นเศรษฐีได้ในไม่เวลาไม่กี่วัน และวันต่อมาคุณก็หมดตัว เขาสนใจการลงทุนในหุ้นสามัญมากกว่า

JT เริ่มต้นตำนานการลงทุนของเขาในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งในเวลานั้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ อยู่ในภาวะที่ซบเซาอย่างเรื้อรัง อันเป็นผลพวงที่ต่อเนื่องมาจากวิกฤตเศรษฐกิจปี 1929 เมื่อสหรัฐฯ ตัดสินใจเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่สอง นักลงทุนพากันทิ้งหุ้นเพื่อหนีภาวะสงคราม แต่ JT กลับมองว่า การเข้าร่วมสงครามของสหรัฐฯ จะทำให้กำลังการผลิตส่วนเกินในระบบเศรษฐกิจถูกนำออกมาใช้ และจะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ หลุดออกจากภาวะซบเซาได้ เมื่อคิดได้ดังนั้น แต่ตัวเองไม่มีเงินเลย เขาจึงขอยืมเงินจากเจ้านายของเขา มาจำนวนหนึ่ง แล้วนำเงินนั้นทั้งหมดมาซื้อหุ้นของบริษัทที่อยู่ในภาวะย่ำแย่กว่า 100 บริษัทสวนทางกับคนอื่นในตลาดในราคาที่ถูกแสนถูก

หลังจากนั้นปรากฏว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ ก็ฟื้นตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่งจริงๆ อย่างที่ JT คิดไว้ เขาถือหุ้นเหล่านั้นไว้อีก 4 ปีก่อนที่จะขายพวกมันออกมาทั้งหมด ซึ่งทำให้เขาได้กำไรอย่างมากมายมหาศาล เขาคืนเงินต้นให้กับเจ้านาย แล้วเก็บกำไรทั้งหมดเอาไว้กับตัวเอง และเขาก็เปลี่ยนเป็นบุคคลที่ร่ำรวยนับแต่นั้นมา

JT เป็นนักลงทุนสไตล์คอนทราเรียนตัวยง เขาบอกว่า เวลาที่การมองโลกในแง่ร้ายของผู้คนถึงขีดสุด คือเวลาที่ควรเข้าซื้อหุ้นให้เต็มที่

JTเป็นเจ้าของวลีดังที่ว่า “ตลาดกระทิงเกิดขึ้นท่ามกลางการมองโลกในแง่ร้าย เติบโตภายใต้ความระแวงสงสัย บรรลุวุฒิภาวะด้วยการมองโลกในแง่ดี และล่มสลายด้วยความมั่นใจที่สุดขีด”

JT ยังเป็นเจ้าของอีกวลีหนึ่งที่ว่า “บางครั้งราคาหุ้นเพิ่มขึ้น เพียงเพราะราคาเพิ่มขึ้น” หมายความว่า หุ้นที่ราคาขึ้นจะทำให้คนรู้สึกอยากซื้อ ราคาหุ้นจึงขึ้นไปอีก ทั้งที่ไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับตัวกิจการทั้งสิ้น   

JT มีความชำนาญในการมองภาวะตลาดหุ้นโดยรวม เขาไม่ซื้อหุ้นบ่อยนัก แต่เมื่อถึงเวลาซื้อ จะซื้อครั้งละมากๆ แล้วขายทั้งหมดออกไปในอีกสามถึงสี่ปีต่อมา เพราะเขามองว่า แนวโน้มมหภาคมักจะกินเวลานานเป็นสิบปี แต่เมื่อถึงเวลากลับตัว จะรวดเร็วและเหนือความคาดหวังของนักลงทุนในตลาดเสมอ

กองทุนของเขามีความชำนาญในการลงทุนในต่างประเทศเป็นอย่างมาก เขาได้กำไรครั้งใหญ่หลายครั้งจากการมองออกว่า ประเทศใดกำลังจะเข้าสู่ยุคทองแล้วเข้าไปลงทุนก่อนคนอื่น ในการเลือกประเทศที่จะลงทุน เขาชอบประเทศที่เริ่มเข้าสู่ช่วงที่มีนโยบายเป็นเสรีมากขึ้นเรื่อยๆ มากที่สุด  

0298: the never-ending era of asset bubbles

  หลังจากความปั่นป่วนของภาคการเงินโลกสงบลงไปเมื่อต้นปี เวลานี้ก็ดูเหมือนว่าเศรษฐกิจโลกจะทรงตัวได้แล้วด้วย มิหน่ำซ้ำยังมีลุ้นที่มันอาจจะฟื้นตัวได้ในไม่ช้าอีก ต้องถือว่า การทุ่มสุดตัวครั้งนี้ของธนาคารกลางเพื่อหยุดวิกฤตการณ์ได้ผลลัพธ์ที่ดีทีเดียว

ถ้าหากเศรษฐกิจฟื้นตัวได้เร็วๆ นี้จริงๆ เราจะกล่าวได้หรือไม่ว่า เมฆฝนทั้งหลายได้ผ่านพ้นไปแล้ว? ก็คงต้องขอตอบว่า “ไม่” เพราะจริงๆ แล้วต้นตอของปัญหาทั้งหมดยังอยู่ …

ต้นตอของปัญหาที่แท้จริงคือระบบการเงินของโลกที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้มีข้อบกพร่อง…

ข้อบกพร่องที่ว่านี้ก็คือ เงินดอลล่าร์ถูกใช้เป็นตัวกลางในการติดต่อค้าขายทั่วโลกรวมทั้งใช้เป็นทุนสำรองของประเทศต่างๆ แต่เงินดอลล่าร์เป็นแค่เงินกระดาษ สหรัฐฯ จึงสามารถพิมพ์เงินกระดาษออกมาใช้หนี้ได้โดยไม่จำกัด ทำให้เป็นประเทศเดียวที่ไม่ต้องมีวินัยทางการเงินก็ได้

กรีนสแปนชอบใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเกินไปนิดๆ เพื่อให้เศรษฐกิจดีอยู่ตลอดเวลา เขาเคยถึงกับพูดว่า ต้นทุนของเศรษฐกิจซบเซานั้นมีมากกว่าความเสี่ยงที่จะเกิดเงินเฟ้อมาก การปล่อยให้อัตราดอกเบี้ยต่ำเกินกว่าที่ควรจะเป็น คือการไม่รักษา Value ของเงินเพื่อแลกกับเศรษฐกิจที่ดีอยู่ตลอดเวลา

ทุกวันนี้ต้นทุนของการกดดอกเบี้ยให้ต่ำตลอดเวลาอาจไม่ใช่ภาวะเงินเฟ้อเหมือนอย่างในอดีตเพราะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในยุคใหม่ไม่ได้พึ่งพาน้ำมันมากนัก แต่ต้นทุนอย่างใหม่ของการกดดอกเบี้ยให้ต่ำไว้ตลอดเวลาคือ ความเสี่ยงที่จะเกิดฟองสบู่ขึ้นในตลาดสินทรัพย์ (Asset Bubbles) ต่างๆ เนื่องจากการด้อยค่าของเงิน ทำให้นักลงทุนต้องเข้าไปซื้อสินทรัพย์ต่างๆ เพื่อเป็นการรักษาความมั่งคั่งของตนเองเอาไว้ ในยุคของกรีนสแปนเต็มไปด้วยจุดเริ่มต้นของ Asset Bubbles ตั้งแต่ Tech Stock Bubble, Real Estate Bubble ไปจนถึง Oil Bubble

วิกฤตการเงินที่เกิดขึ้นเป็นแค่สิ่งที่เกิดตามมา เมื่อมี Real Estate Bubble แต่เมื่อวิกฤตเกิดขึ้นแล้ว แทนที่จะทำให้สหรัฐฯ หันกลับมารักษาวินัยทางการเงิน สหรัฐฯ อยู่ในฐานะที่มีทางเลือกมากกว่าประเทศทั่วไปเพราะเงินดอลล่าร์เป็นเสมือนเงินของโลก สหรัฐฯ จึงสามารถแก้ปัญหาหนี้ได้ด้วยการสร้างหนี้ใหม่ขึ้นมาอีกเพื่ออุดหนี้เก่าด้วยการพิมพ์เงินออกมา นอกจากนี้สหรัฐฯ ยังไม่ต้องขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินไหลอออกเหมือนอย่างประเทศอื่นๆ ที่เคยเกิดวิกฤต สหรัฐฯ สามารถกดดอกเบี้ยให้ต่ำลงไปอีก เพื่อประคองเศรษฐกิจเอาไว้ ถึงแม้วิธีการเหล่านี้จะช่วยให้สามารถหยุดวิกฤตการเงิน และหลีกเลี่ยงภาวะเศรษฐกิจถดถอยรุนแรงได้สำเร็จ แต่วิธีการเช่นนี้ก็ยิ่งทำให้วินัยทางการเงินของสหรัฐฯ แย่ลงไปอีก ณ เวลานี้แล้ว สหรัฐฯ ก็ยังปราศจากแรงจูงใจทางการเมืองใดๆ ที่จะหันมารักษาวินัยทางการเงิน  แน่นอนความเสี่ยงที่โลกจะเผชิญ Asset Bubbles ใหม่ๆ จึงยังจะต้องมีอีก ตลาดหุ้น คอมโมดิตี้ อนุพันธ์ อสังหาฯ ทองคำ สินเชื่อ ฯลฯ จะยังคงเต็มไปด้วยความเสี่ยงที่จะเกิด Boom and Burst ได้มากเหมือนเช่นเดิม ในช่วงเวลาต่อจากนี้ไป ถ้าจะมีฟองสบู่เกิดขึ้นใหม่ในตลาดสินทรัพย์ใดตลาดหนึ่งอีก แล้วฟองสบู่แตกอีก ก็ไมใช่เรื่องที่น่าประหลาดใจเลย เพราะในเมื่อเหตุปัจจัยของสรรพสิ่งใดๆ ยังคงอยู่ สรรพสิ่งจะดับไปได้อย่างไร 

จนกว่าโลกของเราจะมีระบบการเงินใหม่ที่บังคับให้สหรัฐฯ ต้องรักษาวินัยทางการเงินเหมือนกับนานาประเทศ

0296: เงินล้นโลก

เมื่อคืนนี้ ลุงเบนบอกว่า ดูท่าทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะยังต้องการเวลาอีกนานกว่าจะฟื้นตัวได้ เพราะฉะนั้นเฟดจะขอใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายอย่างนี้ต่อไปอีกสักพักใหญ่

คำพูดของลุงเบนที่ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังไม่ฟื้นนี้ไม่ได้ทำให้นักลงทุนกังวลแต่อย่างใด ตรงกันข้าม กลับ ทำให้นักลงทุนโล่งใจกันมากกว่า เพราะที่ผ่านมาเฟดได้ใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายอย่างมากเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ตลาดมองเกมออกว่า ถ้าหากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นได้เมื่อไร เฟดจะต้องรีบขึ้นดอกเบี้ยทันที เพื่อสกัดภาวะเงินเฟ้อที่อาจเกิดจากนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากเกินไป การขึ้นดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วของเฟดจะทำให้สภาพคล่องที่เอ่อล้นอยู่ในเวลานี้ จะเกิดการตึงตัวขึ้น และจะทำให้ตลาดสินทรัพย์ทั่วโลกร่วงแรงได้ แต่พอลุงเบนออกมาส่งสัญญาณว่า จะยังไม่ขึ้นดอกเบี้ยอีกสักพักใหญ่ ตลาดก็โล่งใจ เพราะเจ้ามือเลื่อนเวลาเก็บโต๊ะออกไปอีก

หลังจากตลาดการเงินของสหรัฐฯ ที่ปั่นป่วนเมื่อปีที่แล้วได้กลับเข้าสู่ภาวะปกติเมื่อต้นปี สภาพคล่องที่เอ่อล้นอันเนื่องมาจากนโยบายของเฟดได้ถูกนักลงทุนนำมาลงทุนในตลาดสินทรัพย์ต่างๆ ทั่วโลกที่ไม่ใช่สกุลดอลล่าร์เพื่อเฮดจ์เงินเฟ้อที่อาจจะเกิดขึ้นได้อนาคต ด้วยเหตุนี้ ทั้งทองคำ น้ำมัน สินค้าโภคภัณฑ์ และตลาดหุ้นเกิดใหม่ทั่วโลก ในเวลานี้ ต่างมีราคาปรับตัวพุ่งขึ้นแรงโดยทั่วหน้า ทั้งๆ ที่เศรษฐกิจโลกยังไม่มีสัญญาณฟื้นตัวที่ชัดเจนแต่อย่างใด ราคาที่เพิ่มขึ้นนี้เป็นผลมาจาก “ภาวะเงินล้นโลก” มากกว่าที่จะเป็นเรื่องของภาวะเศรษฐกิจ

สภาวะที่มีเงินอยู่ในระบบมากเกินไป ตลาดหุ้นมักจะมีความผันผวนมากกว่าธรรมดา เพราะนักลงทุนจะพร้อมใจกันถือหุ้นเอาไว้ทั้งๆ ที่รู้อยู่แก่ใจว่าหุ้นแพง เนื่องจากไม่รู้ว่าจะเอาเงินไปไว้ที่ไหนดี ดังนั้นเมื่อใดที่มีข่าวร้ายเข้ามากระทบตลาด นักลงทุนก็จะรีบแข่งกันเทขายหุ้นออกมา แล้วรีบกลับมาถือเงินสดก่อนคนอื่น เพราะกลัวความสูง ตลาดหุ้นจึงมีความผันผวนสูงเพราะอ่อนไหวกับข่าวมากเป็นพิเศษ อย่างไรก็ตาม ตราบใดที่ผู้คุมนโยบายการเงินโลก (คือ เฟด) ยังคงยินดีที่จะใช้นโยบายแบบผ่อนคลายต่อไป ไม่ช้าไม่นานหุ้นที่ร่วงลงอย่างรุนแรงเพราะข่าวร้ายก็จะกลับมาใหม่ได้อีก เพราะยังไงเสียเงินก็ยังล้นโลกอยู่เหมือนเดิม ขายออกมาแล้วจะเอาเงินไปไว้ที่ไหน  ในทางตรงกันข้าม ถ้าหากวันใดเฟดมีการกลับนโยบายการเงิน ย่อมมีผลกระทบกับตลาดหุ้นในลักษณะที่เป็นการถาวรได้ 

เช่นนี้แล้ว การลงทุนในเวลานี้ต้องคอยจับตาท่าทีของลุงเบนเอาไว้ทุกฝีก้าวเชียวครับ ลุงเบนแค่กระเอมนิดเดียว จิ๊กโก๋สะดุ้งกันทั้งซอย สิ่งนั้นมาจากทางไหน สักวันหนึ่งมันก็ต้องกลับไปทางนั้นครับ

0273: Cornering the Market

วันที่ 13 มิถุนายน 1996 ธนาคารซูมิโตโมได้ประกาศว่า บริษัทขาดทุนจากการเทรดทองแดงเป็นเงินถึง $1.8 billions นับเป็นการ trading loss ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสี่ในประวัติศาสตร์โลก (ใหญ่กว่ากรณีของธนาคารแบริ่ง)

ในตอนแรก ธนาคารอ้างว่า เทรดเดอร์ของธนาคารคนหนึ่งชื่อ Hamanaka ได้ลักลอบทำธุรกรรมนี้ โดยทำมาแล้วกว่าสิบปี แต่ต่อมาพบว่า แท้จริงแล้ว  Hamanaka ได้ทำธุรกรรมภายใต้การรับรู้ของธนาคาร (aka Rogue Trading) วิธีการของ Hamanaka คือพยายามสร้างความขาดแคลนให้เกิดขึ้นในตลาดทองแดง  เพื่อทำกำไรจากราคาที่ปรับตัวสูงขึ้น หรือที่เรียกว่า Cornering the market

ปกติแล้วราคาสินค้าโภคภัณฑ์ทุกชนิดจะอ่อนไหวต่อสมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทานในช่วงเวลาหนึ่งๆ เป็นอย่างมาก เมื่อใดที่อุปทานตึงตัวแม้เพียงเล็กน้อย ราคาสินค้าโภคภัณฑ์จะปรับตัวสูงขึ้นได้มากอย่างไม่น่าเชื่อ ยิ่งเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ชนิดที่สามารถกักตุนไว้ได้นานๆ อย่างพวกโลหะต่างๆ ด้วยแล้ว การเก็งกำไรด้วยการกักตุนยิ่งช่วยทำให้ราคาผันผวนได้มากขึ้นอีก Cornering เป็นการพยายามดึง supply ส่วนหนึ่งออกไปจากตลาดในปริมาณที่มากพอ เช่น ซื้อเอาไปเก็บไว้ เพื่อทำให้ราคาตลาดปรับตัวสูงขึ้นไปหลายๆ เท่า จากนั้นก็ค่อยๆ ขายทำกำไรออกมา แม้ว่าสุดท้ายแล้วจะต้องมีสต๊อกส่วนหนึ่ง ที่จะขายออกได้ไม่ทัน ทำให้ขาดทุนอยู่ด้วยก็ตาม แต่เนื่องจากกำไรที่ขายได้ในช่วงแรกๆ สูงมาก เมื่อหักกลบกันแล้ว Cornering จึงทำกำไรสุทธิได้มหาศาล

บางคนอาจสงสัยว่า ทองแดงเป็นสินค้าระดับโลก แล้วธนาคารซูมิโตโมสามารถควบคุม supply ของทั้งโลกได้อย่างไร ที่จริงแล้ว ธนาคารซูมิโตโมเพียงแค่รวมหัวกับเอเย่นต์ทองแดงส่วนหนึ่งในตลาดลอนดอน และบรรดาบริษัททองแดงในจีนอีกจำนวนหนึ่ง เพื่อซื้อทองแดงออกไปแค่เท่ากับ 5% ของทั้งตลาดเท่านั้น ก็สามารถปั่นราคาทองแดงให้ทยานขึ้นได้แล้ว เคล็ดลับของวิธีนี้ก็คือว่าจะต้องกักตุนให้เสร็จโดยไม่ให้คนอื่นรู้ก่อน เพราะถ้ามีคนรู้ก่อน คนที่รู้จะไม่ยอมขายให้ในราคาถูกๆ แต่จะกักตุนตามบ้าง ทำให้ต้องเก็บในราคาที่แพงเกินไปจนไม่สามารถทำกำไรได้ การเก็บของได้ครบตั้งแต่ข่าวยังไม่รั่วจะทำให้ได้ต้นทุนเฉลี่ยใกล้เคียงกับราคาพื้นฐานที่แท้จริงของทองแดง ดังนั้นแม้ราคาจะร่วงลงมามากในภายหลังก็ไม่น่ากลัวเลย

ต่อเมื่อเก็บได้มากพอแล้ว จึงค่อยอยากให้มีคนรู้มากๆ ยิ่งมากยิ่งดี เพื่อให้คนอื่นกักตุนตาม การเก็งกำไรตามของคนอื่นจะช่วยให้ราคาทะยานขึ้นได้อีก ในช่วงที่ราคาทองแดงทยานขึ้นมาแล้วเป็นเท่าตัว เริ่มมีข่าวลือในวงการว่า นาย Hamanaka กำลังเข้าเก็บทองแดง ช่วงนั้นเขามีฉายาที่รู้กันทั่วไปในตลาดว่า “Mr. Five Percent”

การที่ Hamanaka สามารถควบคุมราคาตลาดได้ ทำให้เขาทำกำไรได้อย่างต่อเนื่องเป็นเวลาเกือบสิบปี แต่ราคาทองแดงที่ยืนอยู่ในระดับสูงติดต่อกันนานหลายปีก็ได้ดึงดูดให้เหมืองทองแดงขยายกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่องเช่นกัน ในที่สุดข่าว เกี่ยวกับ supply ใหม่ๆ ที่กำลังจะทะลักออกมาจากเหมืองใหม่ก็ได้ทำให้ราคาทองแดงร่วงลงอย่างหนักในที่สุด ในช่วงเวลานั้น Hamanaka ควรระบาย position ออกไปให้เร็วที่สุด (แม้ว่าจะทำให้ต้องขาดทุนไปบ้างก็ตาม) แต่ด้วยความลำพองที่เคยได้กำไรอย่างเดียวติดต่อกันมาเป็นเวลานานมาก ทำให้เขาทำใจไม่ได้ แทนที่เขาระบายของออกทันที เขากับซื้อเพิ่มอีก เพื่อพยายามลด suppply อีกครั้ง แต่ก็ไม่อาจต้าน supply ใหม่ได้ สุดท้ายแล้ว แทนที่เขาจะขาดทุนแค่เพียงเล็กน้อย กลับกลายเป็นการขาดทุนอย่างมหาศาล Hamanaka ถูกตัดสินจำคุก 8 ปี

เรื่องนี้ชี้ให้เห็นถึงกลไกการสร้างราคาในตลาดว่าทำได้อย่างไร มันทำได้แม้แต่ในตลาดที่มีขนาดใหญ่มากๆ เช่น ทองแดง หากเป็นหุ้นตัวเล็กๆ สภาพคล่องต่ำๆ  ฟรีโฟลตน้อยๆ การเข้าเก็บหุ้นส่วนใหญ่ไว้ในมือโดยคนกลุ่มเดียวเพื่อควบคุมราคาให้เป็นไปตามใจนั้นยิ่งทำได้ง่ายเอามากๆ  สิ่งที่ได้รู้อีกอย่างหนึ่งก็คือทุกวันนี้คนสร้างราคาไม่ใช่อาเสี่ย แต่กลายเป็นนักลงทุนสถาบัน นักลงทุนไม่ควรหลงระเริงกับราคาที่ทะยานขึ้นอย่างมากมาย เพราะพื้นฐานที่แท้จริงของธุรกิจโดยมากมักไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว เหตุผลอาจมีอยู่เพียงนิดเดียว แต่การเกิดขึ้นของภาวะขาดแคลนชั่วคราวในตลาดสามารถทำให้ราคาปรับตัวรุนแรงมากได้ แต่เมื่อถึงวันหนึ่งที่ความเป็นจริงปรากฏออกมาและภาวะเช่นนั้นหายไป ทุกอย่างก็สามารถเปลี่ยนแปลงกลายเป็นหนังคนละม้วนได้ในเวลาแค่ชั่วพริบตาเดียว

0252: Guru Watchdog

Jim Rogers (Source 1 2 3 )

– ช่วงนี้ผมสะสมดอลลาร์เพิ่มขึ้น เพราะเห็นว่าทุกคนมองดอลลาร์ร้ายกันหมด แต่ก็ยังเป็นจำนวนที่น้อยกว่าเงินสกุลอื่นๆ ที่ผมถืออยู่ เพราะยังไงๆ ดอลลาร์ก็จะแย่ลงเรื่อยๆ ในระยะยาว ผมแค่อยากจะลองทำกำไรระยะสั้นเท่านั้น แต่ผมไม่ใช่คนเล่นสั้นที่เก่งเลย

– ตอนนี้ ผมยังไม่ซื้อทองคำเพิ่ม เพราะผมถือทองคำอยู่แล้ว แต่จะไม่ขายมันด้วย ถ้าหากทองคำลงไปแตะต่ำกว่าพันเหรียญ ผมก็จะซื้อเพิ่มอีก เพราะภายในปี 2019 ทองคำจะต้องยืนเหนือระดับ $2, 000 ได้อย่างแน่นอน และนั่นไม่ใช่สมมติฐานที่มากเกินไปเลย

– ปีหน้าเราอาจจะเห็นรัฐบาลของบางประเทศประสบปัญหาทางการเงินเพิ่มอีก อาจจะเป็น อาร์เจนติน่า ยูเครน หรือแม้แต่ UK ก็เป็นไปได้ ในช่วงสองสามปีนี้จะต้องมีวิกฤตการเงินอีกอย่างแน่นอน นอกเหนือจากทองคำแล้ว silver และเงินสกุลเอเชียบางประเทศก็น่าสนใจด้วย

– สินค้าเกษตรน่าสนใจมาก เพราะว่าราคาของมันตกต่ำมาเป็นทศวรรษแล้ว ผมว่ามันเป็นสินทรัพย์ที่ราคาถูกที่สุดในตอนนี้ เรากำลังจะมีวิกฤตอาหาร ตอนนี้ข้าวสร้าง all time high ได้แล้ว แต่น้ำตาลยังห่าง all time high อยู่มาก

– ช่วงนี้เป็นช่วงที่แปลกมาก เพราะผมไม่ได้ short อะไรเลย ผมหาไม่เจอว่ามีอะไรที่ราคาแพงมากๆ แต่ถ้าจะให้ short ผมคงเลือก US Government Bond

Marc Faber (Source)

-A stronger dollar will be positive for equities based on historical market data.
-The U.S. market will outperform emerging markets for the first half of 2010.
-Stocks and associated indices may have 10-20% correction, followed by another rally.
-The worst thing you can do for a long-term buy is purchase Treasuries.
-The private sector is de-leveraging while the government levers up. This process is expected to continue

Overall, 2010 will not be one for the record books, as 2009 was. He’s looking at a more normal 5%-10% rate of return for global investors.

Here are Faber’s views on other markets and asset classes:

Asia: “Longer term we’ll have still favorable growth, ” he says. He thinks India and Japan both offer opportunities. In his eyes, this view gained even more credibility after they were not mentioned once during the Barron’s round-table discussion.

Bonds: The bull market in Treasuries that lasted from 1980-2008 is a thing of the past. Near term: after a dismal 2009 the bond market could be in for a rebound. Longer term: look for exit opportunities in Treasuries.

Gold: Still a long-term buy.

Oil: Prices in the $80s make sense since the marginal cost to find a barrel is about $70. Longer term he expects prices to continue rising as demand increases from the developing world.

Agricultural commodities: In the short term, Faber’s favorite commodity is wheat. He advises against buying the wheat ETFs because they’re relatively expensive. Instead, play it through farm land or potash companies, he says.

โทมัส ตัน (ที่มา)

ผู้มีประสบการณ์ในตลาดโภคภัณฑ์ ด้วยเทคนิคและปัจจัยพื้นฐานมากว่า 15 ปี ได้เขียนคำทำนายเศรษฐกิจทุกปี ตั้งแต่ปี 2008 ซึ่งคราวนั้นทำนายว่า ทองคำจะแตะระดับ 1000 เหรียญได้เป็นครั้งแรก ปีนี้มีคำทำนาย น่าสนใจอีกจนอดไม่ได้ที่จะแปลมาให้อ่านกัน

ผมได้เขียน 10 คำทำนายมา 2 ปีติดต่อกันแล้ว นับตั้งแต่ปี 2008 เดิมทีได้ไอเดียจากคุณ Byron Wien ซึ่งได้เผยแพร่คำทำนายออกมาทุกปีนับตั้งแต่ปี 1980 ขณะที่เขาอยู่ที่ Morgan Stanley แล้วก็ไปอยู่กับ Pequot Capital ตามด้วยปัจจุบัน อยู่ที่ Blackstone.

คำทำนายในปี 2008 ของผมค่อนข้างตรงและได้ทำนายทิศทางหลักๆเกือบทั้งหมด เนื้อหาดีกว่าของคุณ Byron บางอย่าง ผมเรียกว่า เป็นความโชคดีของมือใหม่อย่างผม แต่ในปี 2009 Byron ก็สามารถเอาคืนได้ ด้วยคำทำนายที่ถูกต้องมากกว่า การอ่านลูกแก้วแบบนี้ ไม่มีใครชนะได้ตลอด แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ผมว่ามันเป็นเรื่องน่าสนุกที่จะทำ โดยเฉพาะเมื่อมันถูกต้องขึ้นมา ผมตั้งใจจะทำมันทุกๆปี ไม่ว่าปีก่อนผลจะผิดหรือถูกมากกว่า และโดยไม่รอช้า คำ 10 ทำนายของผม มีดังนี้

1. ทองคำ จะแตะระดับ 1500 เหรียญต่อออนซ์ในปี 2010 หรือหมายถึงขึ้นไปอีก 50% จากระดับปัจจุบัน ส่วนโลหะเงินก็จะตามกันไป แตะระดับ 25 เหรียญต่อออนซ์ ส่วนดัชนีหุ้นเหมืองทองคำ HUI จะขึ้นผ่าน 600 เหรียญด้วยเหมืองทองคำ/เงิน ขนาดเล็กๆหลายแห่ง จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้น 2 – 3 เท่า ทองคำจะถูกจัดเป็นสินทรัพย์เพียงอย่างเดียวที่วางใจได้ ทั้งจากประชาชนทั่วไปและจากธนาคารกลางต่างๆ จากการเสื่อมค่าลงของเงินกระดาษ (fiat money)

2. ดัชนี USD index จะเหลือ 60 จุด การรีบาวน์ของ US ดอลล่าร์ขณะนี้จะอยู่ได้เพียงแค่ช่วงสั้นๆ หลังจากแตะระดับ 80 จุดได้ไม่นาน เพื่อจะบีบและเขย่าขวัญขา Short US ดอลล่าร์จะกลับสู่ trend ขาลงซึ่งจะเป็น trend หลักที่จะเกิดขึ้นในปี 2010 จนกว่าจะถึงระดับ 60 จุด ธนาคารกลางส่วนใหญ่ จะไม่ต้องการถือ US ดอลล่าร์อีกต่อไป แต่พวกเขาก็จะประสบกับความยากลำบากในการที่จะออกจากสถานการณ์เช่นนี้โดยที่ตัวเองจะไม่ได้รับกระทบ หนทางที่ดีที่สุดสำหรับทั้งสองฝ่าย (ธนาคารกลางอื่น กับ เฟด) คือการที่จะต้องประคองให้มีการลดค่าลงอย่างค่อยเป็นค่อยไปราว 20% ต่อปี

3. ตลาดหมีใน S&P ที่รีบาวน์อยู่ในตอนนี้ จะขึ้นต่อได้อีกราว 7 เดือน จากเดือนมกราคมถึงกรกฎาคม แล้วหลังจากนั้น ตลาดจะต้องเผชิญกับหน้าผาสูงชันที่จะมาเขย่าขวัญอีกเป็นครั้งที่ 2 ซึ่งจะเกิดขึ้นตั้งแต่เดือนสิงหาคมไปจนถึงสิ้นปี ซึ่งจะไม่เหมือนกับรูปแบบปกติที่เกิดขึ้นในปีที่มีการเลือกตั้งกลางเทอม ที่ปกติ จะแย่ในช่วงครึ่งแรกของปี และดีขึ้นในช่วงครึ่งหลัง แต่จะกลับไปสอดคล้องกับความคิดและพฤติกรรมที่เกิดขึ้นในวอลล์สตรีท ที่จะสูบ รีดเอาน้ำผลไม้ และโบนัสสำหรับตนเองให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ก่อนที่ภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจระลอก 2 จะเกิดขึ้น

4. หุ้น Citigroup จะลดลงเหลือต่ำกว่า 2 เหรียญอีกครั้ง (ปัจจุบัน 3.30 อดีตก่อนเกิดวิกฤติอยู่ที่เกิน 50) ความยากลำบากในการหาทุนเพิ่มที่เห็นกันอยู่ในตอนนี้ บอกเรามากเกินพอสำหรับสถานการณ์ภัยพิบัติของสถาบันแห่งนี้ นี่เป็นหายนะที่น่าสยดสยองสำหรับ Citi และการตัดสินใจที่แย่ๆ ที่ทำโดยคณะผู้บริหาร จนเดี๋ยวนี้ ใครๆในโลกก็รู้ว่า จุดประสงค์เดียวที่จ่ายเงินคืนแก่ TARP เพราะต้องการจ่ายโบนัสก้อนโตให้แก่แมวอ้วนคณะผู้บริหาร Citi พอร์ทของ Citi ในจำนวนหลายล้านๆ ยังคงเสื่อมค่าลงทั้งส่วนของที่อยู่อาศัยและตลาดอสังหาฯเชิงพาณิชย์ แค่ความเป็นไปได้ที่จะเกิดการล่มสลายในหนี้จำนองและอนุพันธ์ในพอร์ทของมัน ก็สามารถกวาดล้างผู้ถือหุ้นรายย่อยออกไปได้อย่างเร็ว และเมื่อถึงเวลานั้น พวกเขาอาจจะขอความช่วยเหลือจาก TARP อีกครั้ง (TARP เป็นหน่วยงานของสหรัฐ ที่เข้าอุ้มสถาบันการเงินสหรัฐจำนวนมากอยู่เวลานี้)

5. ผลตอบแทนพันธบัตร 10 ปีของสหรัฐ จะเพิ่มขึ้น 2 เท่าจาก 1.5% ในปัจจุบันเป็น 3% ซึ่งนี่จะเป็นสิ่งที่สร้างความประหลาดใจครั้งใหญ่ ของทั้งเฟดและนักลงทุน เฟดทำได้แค่ควบคุมอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น ตลาดหนี้เริ่มได้กลิ่นและเริ่มรู้สึกว่าอะไรบางอย่างกำลังเกิดขึ้นอย่างผิดปกติมากๆในค่าเงิน และหนี้ของสหรัฐ – กระบวนการเทของจะเกิดขึ้นอย่างเร็ว ความกังวลเรื่องเงินฝืดจะกลับกลายเป็นความกังวลเงินเฟ้อแทน และไม่ใช่เงินเฟ้อธรรมดา แต่เป็นภาวะเงินเฟ้ออย่างมาก ( hyperinflation ) ได้เกิดขึ้นแล้ว การร่วงลงอย่างต่อเนื่องของค่าเงิน US ดอลล่าร์, ซัพพลายเงินที่คุมไม่อยู่ และการขาดสภาพคล่องของรัฐบาลที่ไร้ขอบเขต จะทำให้นักลงทุน ไม่สามารถมองเห็นแสงที่ปลายอุโมงค์ได้ (มองไม่เห็นทางออก) ซึ่งจะแย่กว่าสมัยทศวรรษก่อนของญี่ปุ่น นับจากที่ความยุติธรรมของระบบของเราถูกตั้งข้อสงสัยโดยการออมเพียงน้อยนิดแต่รายจ่ายมหาศาล

6. การรีบาวน์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันของดัชนี S&P/Case-Schiller จะเกิดแค่ช่วงสั้นๆ ดัชนี Schiller จะร่วงลงมากกว่า 15% ในปี 2010 ต่ำกว่า 120 ตลาดอสังหาฯส่วนที่อยู่อาศัยจะเผชิญกับแรงกดดันที่น่ากลัวเพราะการเพิ่มขึ้นของดอกเบี้ยที่ลูกหนี้ต้องจ่ายเพราะถึงกำหนดการปรับดอกเบี้ยที่ต้องลอยตัวแล้ว โดยหนี้ที่ต้องมีการปรับอัตราดอกเบี้ย (ARM reset)จะทะยอยปรับในช่วงปี 2010-2012 ความล้มเหลวที่เกิดขึ้นจะลามไปตลาดอสังหาฯเชิงพาณิชย์ โครงการขนาดใหญ่ๆจะล้มเหลวในปีต่อไป เหมือนพลุบนท้องฟ้า ข่าวร้ายที่เกิดขึ้นใน 2 ตลาดนี้ อาจต้องใช้เวลาน้อยๆก็ 1 – 2 ทศวรรษในการฟื้นฟู ต้องขอบคุณวิศวกรรมการเงินของวอลล์สตรีท

7. หลังจากซื้อเวลาได้อีกครึ่งปี หุ้นอุตสาหกรรมส่วนบุคคล (PE) จะเผชิญแรงกดดันในปี 2010 โดยเฉพาะในครึ่งปีหลัง นักลงทุนส่วนบุคคลจะเรียกร้องความโปร่งใสในการแสดงมูลค่าที่แท้จริงของสิ่งที่พวกเขาลงทุนไป แล้วพวกเขาจะเริ่มค้นพบว่า ระบบ leverage หรือการลงทุนที่ใช้อัตราทดมันไม่ work เฮดฟันด์จะทะยอยปิดตัวเพิ่มขึ้นในปี 2010 หลังเศรษฐกิจฟุบรอบ 2

8. จีนจะยังคงอัตราการเติบโตราว 9% ในปี 2010 หลังจากทำได้ 9% ในปี2009 ความพยายามของจีนในการที่จะชวนให้ผู้บริโภคใช้จ่ายมากขึ้น ออมน้อยลง จะยังคงดำเนินต่อไป รัฐบาลกลางจะเริ่มโปรแกรมความปลอดภัยทางสังคม ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมอย่าง Health care ซึ่งจะตามมาหลังการเติบโตต่อเนื่องของเศรษฐกิจ ปัญหาปวดหัวของจีน คงจะเป็นการหาทางรับมือกับทุนสำรอง 80% ที่มีมูลค่าในเทอมดอลล่าร์และกำลังเผชิญกับการเสื่อมค่าลงทุกวัน

9. เงินเฟ้อจะแตะระดับ 10% วัดจากฐาน CPI ก่อนยุคคลินตัน ใช้เกณฑ์จาก www.shadowstats.com ในการเปรียบเทียบแอปเปิ้ลกับแอปเปิ้ลในปี 1970 มันเป็นการควร ที่น่าจะใช้สูตรคำนวณ CPI เดียวกันคือยุคก่อนสมัยคลินตัน เมื่อเงินเฟ้อหลุดออกจากกรง (การควบคุม) แล้ว อย่างที่ผมเชื่อว่ามันจะเกิดในปี 2010 มันเป็นไปไม่ได้ที่จะไปควบคุมมัน โดยไม่ทำอย่าง Paul Volcker อดีตประธานเฟด (ที่ขึ้นดอกเบี้ยอย่างแรง )ในปี 1980

10. น้ำมันจะแตะระดับ 3 หลัก (100 เหรียญ) อีกครั้งในปี 2010 ราคาปัจจุบันราว 70 เหรียญ กับซัพพลายที่จำกัด ผู้ผลิตน้ำมันจาก ทราย tar ยังไม่คุ้มที่จะผลิต พลังงานนิวเคลียร์จะได้รับความสนใจ เมื่อซัพพลายยูเรเนียมจากอดีตสหภาพโซเวียตใกล้หมด เทคโนโลยีสีเขียวจะมีการโอ้อวดเกินจริงและมีแผนการณ์อื่นมากกว่าจะเป็นเรื่องจริง ภัยคุกคามจากโลกร้อนจะถูกขยายจนเกินจริงจากนักการเมืองและสื่อ ประชาชนยังคงจำได้ว่าในปี 1970 ทุกคนได้รับฟังจากนักการเมืองและสื่อว่า อุณหภูมิของโลกกำลังลดลงและเราจะกลับสู่ยุคน้ำแข็ง เพียงแค่ 3 ทศวรรษต่อมา เราถูกบอกในทางตรงกันข้าม เรื่องจริงคือมนุษย์ไม่สามารถควบคุมอะไรเกี่ยวกับอุณหภูมิโลกได้ ไม่ว่าจะร้อนหรือเย็น มันแค่ตัวอย่างที่นักการเมืองตบตา และทำให้เสียงบประมาณมหาศาลไปตลอดทาง

หมอไพศาล

สำหรับภาวะเศรษฐกิจ การเมือง และตลาดหุ้นในปี 2553 หมอไพศาล พยากรณ์ให้ฟังว่า ในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2553 “ตลาดหุ้นจะไม่ดีอย่างแรง” โอกาสปรับตัวลงมาอยู่ระดับ 400 จุดอาจมีให้เห็นได้ ช่วงนี้เหมาะสมมากที่นักลงทุนจะหาจังหวะช้อนหุ้นที่ชื่นชอบเก็บเอาไว้โดยเฉพาะกลุ่มพลังงาน ถ่านหิน และวัสดุก่อสร้าง เป็นต้น เนื่องจากพระราหูย้ายเข้ามาอยู่ในราศีธนู ซึ่งบ่งบอกว่าธุรกิจประเภทดังกล่าวจะรุ่งเรืองมาก

หลังจากนั้นตั้งแต่ในเดือนมีนาคม-มิถุนายน 2553 ตลาดหุ้นจะมีอาการ “ทรงตัว” ก่อนจะทะยานขึ้นไปสู่ “จุดสูงสุด” ในระหว่างเดือนกันยายน – ธันวาคม 2553 ซึ่งมีโอกาสจะทะลุ 700 จุดหรือ 800 จุดได้ ในแง่ของเศรษฐกิจในปี 2553 ก็จะดีขึ้นเรื่อยๆ ส่วนราคาทองคำมีโอกาสทะลุ 20, 000 บาท ใครมีเงินซื้อทองคำ (แท่ง) เก็บเอาไว้ได้กำไรแน่นอน

=========================================

ไว้จบปี 2010 เรามาดูกันนะครับ

ผลลัพธ์