0349: Guru Watchdog (Result)

สืบเนื่องจาก 0252: Guru Watchdog

Jim Rogers (Source 1 2 3 )

– ช่วงนี้ผมสะสมดอลลาร์เพิ่มขึ้น เพราะเห็นว่าทุกคนมองดอลลาร์ร้ายกันหมด แต่ก็ยังเป็นจำนวนที่น้อยกว่าเงินสกุลอื่นๆ ที่ผมถืออยู่ เพราะยังไงๆ ดอลลาร์ก็จะแย่ลงเรื่อยๆ ในระยะยาว ผมแค่อยากจะลองทำกำไรระยะสั้นเท่านั้น แต่ผมไม่ใช่คนเล่นสั้นที่เก่งเลย

[อันนี้ถือว่าถูก เพราะ USD Index ต้นปี 78 ขึ้นไปสูงสุด 88 ตอนนี้ 80ได้กำไรน้อยมาก แต่ก็ยังถือว่าไม่ทำให้ขาดทุน]

– ตอนนี้ ผมยังไม่ซื้อทองคำเพิ่ม เพราะผมถือทองคำอยู่แล้ว แต่จะไม่ขายมันด้วย ถ้าหากทองคำลงไปแตะต่ำกว่าพันเหรียญ ผมก็จะซื้อเพิ่มอีก เพราะภายในปี 2019 ทองคำจะต้องยืนเหนือระดับ $2, 000 ได้อย่างแน่นอน และนั่นไม่ใช่สมมติฐานที่มากเกินไปเลย

[อันนี้ไม่รู้เพราะผ่านไปแค่ปีเดียว]

– ปีหน้าเราอาจจะเห็นรัฐบาลของบางประเทศประสบปัญหาทางการเงินเพิ่มอีก อาจจะเป็น อาร์เจนติน่า ยูเครน หรือแม้แต่ UK ก็เป็นไปได้ ในช่วงสองสามปีนี้จะต้องมีวิกฤตการเงินอีกอย่างแน่นอน นอกเหนือจากทองคำแล้ว silver และเงินสกุลเอเชียบางประเทศก็น่าสนใจด้วย

[เรื่องรัฐบาลมีปัญหาถือว่าถูก แต่ผิดประเทศ เชียร์ silver และเงินเอเชีย ถูกต้อง อันนี้ยอดเยี่ยม]

– สินค้าเกษตรน่าสนใจมาก เพราะว่าราคาของมันตกต่ำมาเป็นทศวรรษแล้ว ผมว่ามันเป็นสินทรัพย์ที่ราคาถูกที่สุดในตอนนี้ เรากำลังจะมีวิกฤตอาหาร ตอนนี้ข้าวสร้าง all time high ได้แล้ว แต่น้ำตาลยังห่าง all time high อยู่มาก

[อันนี้ไม่รู้ว่าจะถือว่าถูกหรือผิดดี เพราะน้ำตาลระหว่างวิ่งร่วงลงแบบดิ่งนรก แต่ปลายปีกลับขึ้นมาสูงกว่าต้นปีแต่น้อยมาก]

– ช่วงนี้เป็นช่วงที่แปลกมาก เพราะผมไม่ได้ short อะไรเลย ผมหาไม่เจอว่ามีอะไรที่ราคาแพงมากๆ แต่ถ้าจะให้ short ผมคงเลือก US Government Bond

[อันนี้ก็ไม่รู้ว่าจะถือว่าถูกหรือผิดดี เพราะระหว่างปีตลาดบอนด์วิ่งแรง แต่ปลายปีกลับมาอยู่เกือบเท่ากับตอนต้นปีดีขึ้นน้อยมาก น่าจะถือว่าผิดนะ]

Marc Faber (Source)

Overall, 2010 will not be one for the record books, as 2009 was. He’s looking at a more normal 5%-10% rate of return for global investors. [ถือว่าเกือบถูก MSCI World Index +3.6% ปีนี้้]

Here are Faber’s views on other markets and asset classes:

Asia: “Longer term we’ll have still favorable growth, ” he says. He thinks India and Japan both offer opportunities. In his eyes, this view gained even more credibility after they were not mentioned once during the Barron’s round-table discussion.

[อันนี้ยังตอบไม่ได้ เพราะระยะยาว]

Bonds: The bull market in Treasuries that lasted from 1980-2008 is a thing of the past. Near term: after a dismal 2009 the bond market could be in for a rebound. Longer term: look for exit opportunities in Treasuries.

[ไม่รู้ เพราะระยะยาว]

Gold: Still a long-term buy.

[คำแนะนำที่ดี]

Oil: Prices in the $80s make sense since the marginal cost to find a barrel is about $70. Longer term he expects prices to continue rising as demand increases from the developing world.

[คำแนะนำที่ดี]

Agricultural commodities: In the short term, Faber’s favorite commodity is wheat. He advises against buying the wheat ETFs because they’re relatively expensive. Instead, play it through farm land or potash companies, he says. [คำแนะนำนี้ไม่มีประโยชน์อะไร WEAT แทบไม่เปลี่ยนแปลงตลอดปี]

โทมัส ตัน (ที่มา)

1. ทองคำ จะแตะระดับ 1500 เหรียญต่อออนซ์ในปี 2010 [ผิด] หรือหมายถึงขึ้นไปอีก 50% จากระดับปัจจุบัน ส่วนโลหะเงินก็จะตามกันไป แตะระดับ 25 เหรียญต่อออนซ์ [ถูก ตอนนี้ 29 อันนี้เยี่ยม] ส่วนดัชนีหุ้นเหมืองทองคำ HUI จะขึ้นผ่าน 600 เหรียญ [ผิด ตอนนี้ 559] ด้วย

2. ดัชนี USD index จะเหลือ 60 จุด [ผิด ตอนนี้ 80 ไม่เคยลงไปถึง 60 เลยด้วย]

3. ตลาดหมีใน S&P ที่รีบาวน์อยู่ในตอนนี้ จะขึ้นต่อได้อีกราว 7 เดือน จากเดือนมกราคมถึงกรกฎาคม [ผิด 7 เดือนแรกลงมากกว่า] แล้วหลังจากนั้น ตลาดจะต้องเผชิญกับหน้าผาสูงชันที่จะมาเขย่าขวัญอีกเป็นครั้งที่ 2 ซึ่งจะเกิดขึ้นตั้งแต่เดือนสิงหาคมไปจนถึงสิ้นปี [ผิด ปลายปีเป็นขาขึ้นชัดเจน]

4. หุ้น Citigroup จะลดลงเหลือต่ำกว่า 2 เหรียญอีกครั้ง [ผิด ตอนนี้ 4.6] (ปัจจุบัน 3.30 อดีตก่อนเกิดวิกฤติอยู่ที่เกิน 50)

5. ผลตอบแทนพันธบัตร 10 ปีของสหรัฐ จะเพิ่มขึ้น 2 เท่าจาก 1.5% ในปัจจุบันเป็น 3% ซึ่งนี่จะเป็นสิ่งที่สร้างความประหลาดใจครั้งใหญ่ [ถูก ตอนนี้ 3 กว่า]

6. การรีบาวน์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันของดัชนี S&P/Case-Schiller จะเกิดแค่ช่วงสั้นๆ ดัชนี Schiller จะร่วงลงมากกว่า 15% ในปี 2010 ต่ำกว่า 120 [ผิด ตลอดปีไม่มีแตะ 120 เลย ห่างไกลมาก]

7. หลังจากซื้อเวลาได้อีกครึ่งปี หุ้นอุตสาหกรรมส่วนบุคคล (PE) จะเผชิญแรงกดดันในปี 2010 โดยเฉพาะในครึ่งปีหลัง

8. จีนจะยังคงอัตราการเติบโตราว 9% ในปี 2010 [ถือว่าถูก]

9. เงินเฟ้อจะแตะระดับ 10% วัดจากฐาน CPI [ผิด]

10. น้ำมันจะแตะระดับ 3 หลัก (100 เหรียญ) อีกครั้งในปี 2010 [ผิด] ราคาปัจจุบันราว 70 เหรียญ

หมอไพศาล

สำหรับภาวะเศรษฐกิจ การเมือง และตลาดหุ้นในปี 2553 หมอไพศาล พยากรณ์ให้ฟังว่า ในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2553 “ตลาดหุ้นจะไม่ดีอย่างแรง” โอกาสปรับตัวลงมาอยู่ระดับ 400 จุดอาจมีให้เห็นได้ [ผิด] ช่วงนี้เหมาะสมมากที่นักลงทุนจะหาจังหวะช้อนหุ้นที่ชื่นชอบเก็บเอาไว้โดย เฉพาะกลุ่มพลังงาน ถ่านหิน และวัสดุก่อสร้าง เป็นต้น เนื่องจากพระราหูย้ายเข้ามาอยู่ในราศีธนู ซึ่งบ่งบอกว่าธุรกิจประเภทดังกล่าวจะรุ่งเรืองมาก

หลังจากนั้นตั้งแต่ในเดือนมีนาคม-มิถุนายน 2553 ตลาดหุ้นจะมีอาการ “ทรงตัว” [ผิด เจอวิกฤตช่วงเมษา] ก่อนจะทะยานขึ้นไปสู่ “จุดสูงสุด” ในระหว่างเดือนกันยายน – ธันวาคม 2553 [ถูก] ซึ่งมีโอกาสจะทะลุ 700 จุดหรือ 800 จุดได้ ในแง่ของเศรษฐกิจในปี 2553 ก็จะดีขึ้นเรื่อยๆ ส่วนราคาทองคำมีโอกาสทะลุ 20, 000 บาท ใครมีเงินซื้อทองคำ (แท่ง) เก็บเอาไว้ได้กำไรแน่นอน [ถือว่าถูก]


0352: ลงทุนในตลาดฟองสบู่

เวลานี้ได้ยินคำถามบ่อยว่า ตลาดหุ้นฟองสบู่หรือยัง ควรขายทิ้งหรือไม่

เรื่องนี้ก็แล้วใครจะมอง แต่โดยส่วนตัว ผมมองว่าตลาดหุ้นตอนนี้มีโอกาสที่จะเป็นฟองสบู่แล้วสูงมาก

เพราะอัตราดอกเบี้ยถูกเซ็ตให้ต่ำผิดปกติมาเป็นเวลานานพอสมควรแล้ว ต่อให้เวลานี้ยังไม่ใช่ฟองสบู่ แต่ถ้าดอกเบี้ยยังเป็นแบบนี้ต่อไป ตลาดหุ้นก็จะเข้าสู่ภาวะฟองสบู่ในที่สุด เพราะต้นทุนของเงินถูกบิดเบือนให้ต่ำกว่าความเป็นจริงไปมาก

หุ้นสองตัวที่มีกระแสเงินสดที่คาดการณ์ในอนาคตเหมือนกันทุกประการ ถ้าดอกเบี้ยในตลาดต่ำกว่าครึ่งหนึ่ง มูลค่าที่เหมาะสมของมันจะเพิ่มขึ้นได้มากกว่าเท่าตัว ทั้งที่ตัวธุรกิจเหมือนเดิมทุกอย่าง พรีเมี่ยมที่เกิดขึ้นนี้มาจากการที่ต้นทุนเงินในตลาดต่ำลงอย่างเดียว ไม่เกีี่ยวอะไรกับบริษัทเลย

บอกคนบอกว่าถ้าตลาดหุ้นเป็นฟองสบู่แล้วก็ควรล้างพอร์ตทิ้งเลย แ ต่การที่ตลาดเป็นฟองสบู่นั้นก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะต้องแตกเสมอไป มันอาจแตกวันพรุ่งนี้เลย หรือมันอาจขึ้นไปอีกสามเท่าตัวแล้วค่อยแตกในอีกแปดปีต่อมาก็เป็นไปได้ ฟองสบู่ปี 40 หรือฟองสบู่แนสเด็กนั้นกว่าจะแตกก็ต้องใช้เวลา 6-7 ปี  นั่นคือความยากของการทำนายว่าเมื่อไรฟองสบู่จะแตก หรือใครจะรู้ว่าอัตราดอกเบี้ยที่เราว่าต่ำเกินไปนั้น อาจกำลังกลายมาเป็นระดับที่ปกติของโลกในยุคต่อไปก็ได้ ถ้าคิดว่าหุ้นแพงเมื่อไรก็ขายหุ้น แล้วหุ้นมันดันไม่ถูกลงอีกเลยนานนับสิบปี ทำให้เราเสียเวลาในการลงทุนไปเป็นสิบปี ก็ถือว่าเป็นความสูญเสียอีกรูปแบบหนึ่งเหมือนกัน

ในเมื่อเราไม่ได้เก่งขนาดที่จะทายได้ว่าฟองสบู่จะแตกเมื่อไร (ผมว่าเป็นเรื่องที่ทายได้ยากมาก) หรือรู้ล่วงหน้าว่าแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยในช่วงสิบปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ผมจึงไม่เห็นด้วยที่จะล้างพอร์ตในเวลานี้ต่อให้คิดว่าตลาดหุ้นเป็นฟองสบู่แล้วก็ตามครับ

มีคนอีกด้านหนึ่งเหมือนกันที่คิดไปถึงขนาดที่ว่าดอลล่าร์จะล่มสลาย แล้วทองคำ น้ำมัน รวมทั้งเงินเอเชียจะพุ่งทะยานยิ่งกว่านี้อีก และเอเชียจะก้าวขึ้นมายิ่งใหญ่ เพราะฉะนั้นต้องลงทุนให้เต็มอัตราศึก แต่ผมก็ไม่ได้มั่นใจถึงขนาดนั้นด้วยเช่นกัน ผมว่าปรากฏการณ์ความไม่สมดุลของโลกในเวลานี้เป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ตัวแปรที่เกี่ยวข้องก็เยอะมาก ไม่มีใครที่รู้จริงขนาดที่จะฟันธงได้ว่าจะต้องเกิดอย่างนั้นอย่างนี้ในที่สุด

ในภาวะแบบนี้ผมเลือกที่จะยังอยู่ในตลาดหุ้นต่อไป เพราะไม่อยากเสียโอกาสในการลงทุน แต่ในเวลาเดียวกันก็ตระหนักว่าหุ้นก็ไม่ได้ถูกแล้วและโอกาสที่ฟองสบู่จะแตกก็มีได้ด้วย จึงจำเป็นต้องมีวิธีคิดบางอย่างที่ช่วยป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายที่รุนแรงได้ด้วย

อย่างแรกก็คือ ผมมองว่าเงินของเราที่อยู่ในตลาดหุ้นอยู่แล้วเวลานี้ เรากำไรมาแล้วพอสมควร ตลาดหุ้นในช่วงสองปีที่ผ่านมาขึ้นมาไม่ใช่น่้อยๆ ดังนั้น ถ้าหากเงินจำนวนนี้จะอยู่ในตลาดต่อไป ไม่ว่าจะเป็นการถือตัวเดิม หรือเปลี่ยนตัวก็ตาม แล้วฟองสบู่แตกจริงๆ เราก็ไม่ได้เสียหายมากนัก เพราะเงินจำนวนนี้เป็นส่วนของกำไรอยู่ไม่ใช่น้อย แต่ถ้าหากเราขายหุ้นส่วนนี้ออกมาถือเป็นเงินสดแทน แล้วตลาดหุ้นเกิดทะยานต่ออย่างมากมายแบบที่มีบางคนเขาทายไว้อย่างนั้นได้จริง เราก็จะพลาดกำไรไปไม่น้อยเลย ฉะนั้นเงินส่วนนี้จึงมี upside สูง แต่ downside ต่ำ ถือเป็นโอกาสของเราที่จะ bet ต่อ จะถือตัวเดิมต่อ หรือมองหาตัวใหม่ก็ได้ไม่ต่างกัน หมุนไปหมุนมาอยู่ในหุ้นเหมือนเดิม

แต่ถ้าหากเป็นเงินก้อนใหม่ที่จะใส่เพิ่มเข้าไปอีกเพื่อเพิ่ม exposure ของเราในตลาดหุ้น อันนี้ผมจะคิดหนักหน่อย ถ้าไม่แน่ใจจริงๆ ว่าราคาที่เข้าซื้อไม่แพง ก็ถือว่าเสี่ยง คนที่เจ๊งในตลาดฟองสบู่ส่วนมากจะเจ๊งกันก็เพราะแบบนี้ เช่น ตอนแรกลงทุนไปแสนบาท ตลาดหุ้นพุ่งขึ้นไปเท่าตัวกลายเป็นสองแสนบาทดีใจใหญ่ คิดว่าตลาดหุ้นให้ผลตอบแทนที่ดีเหลือเกิน ก็เลยเอาเงินใส่เข้าไปเพิ่มอีก ห้าแสน กลายเป็นต้นทุนสี่แสน พอตลาดขึ้นต่ออีก 50% ดีใจใหญ่เลยหาเงินใหม่มาใส่เพิ่มอีกหนึ่งล้าน กลายเป็นว่ายิ่งต้นทุนสูงเรายิ่งมีน้ำหนักหุ้นมาก ซึ่งที่ถูกต้องควรจะเป็นตรงกันข้าม แบบนี้พอฟองสบู่แตกจะเสียหายหนักมาก แบบที่ร้ายที่สุดคือ ตอนฟองสบู่แตกแล้วคิดว่าหุ้นถูกลง (แต่ลืมไปว่าราคาเดิมคือราคาที่แพงมาก) ก็เลยทุ่มเงินใหม่ใส่เข้าไปอีกหลายเท่าตัว แทนที่จะเสียหายแค่นิดเดียวเลยกลายเป็นแทบหมดตัว เรื่องการคิดถึงน้ำหนักของแต่ละต้นทุนที่มีอยู่นี้เป็นสิ่งที่นักลงทุนหลายคนไม่เคยมองในมุมนี้มาก่อนเลย ทำให้พลาดเอาง่ายๆ ได้

อย่างไรก็ตาม บางคนอาจโชคไม่ดีตรงที่ตอนที่หุ้นถูกๆ ไม่ได้ถือหุ้นไว้มาก แบบนี้ก็อดใจได้ยากเหมือนกัน ที่จะไม่เพิ่มน้ำหนักหุ้นเข้าไปอีก ถ้าใครอยากเติมเงินเข้าไปในตลาดหุ้นอีก จริงๆ ก็ทำได้ครับ (ถ้าเป็นนักลงทุนที่เคร่งครัดจริงๆ คงไม่ทำเด็ดขาดถ้าเห็นว่าหุ้นแพงแล้ว แต่ผมว่า การอนุรักษ์นิยมมากเกินไปบางทีก็เป็นความเสี่ยงอย่างหนึ่งเหมือนกัน คือเราก็อาจเสียโอกาสที่จะให้เงินทำงานด้วย เอาเป็นว่า คำแนะนำของผมเป็นแบบที่อยู่ตรงกลางๆ ไม่ใช่นักลงทุนแบบเคร่งครัดสุดโต่งนะครับ) แต่จะต้องเอาเทคนิคในการลดความเสี่ยงของพวกเทรดเดอร์มาใช้ นั่นคือ เราอาจตั้งกฏเอาไว้ว่า เงินก้อนนี้หาลงไปแล้ว ตลาดหุ้น crash เราจะยอมขาดทุนแค่ไม่เกิน x% เกินเมื่อไรเราจะยอมขายขาดทุนเสมอ เพื่อลดความเสี่ยงที่จะขาดทุนมากๆ แบบนี้ถ้าตลาดหุ้นไปต่อเราก็ไม่เสียโอกาส แต่ถ้าฟองสบู่แตกเราก็ขาดทุนแค่ระดับหนึ่งเท่านั้น อย่างไรก็ตาม วิธีนี้ต้องอาศัยวินัยการลงทุนที่เคร่งครัดด้วยนะครับ เพราะถ้าถึงเวลาจริงๆ กลับไม่กล้าขายขาดทุนออกมาตามที่ได้ตั้งใจเอาไว้ เพราะทำใจไม่ได้ ก็ไม่มีประโยชน์ ลดความเสี่ยงไม่ได้เลย

เอาเป็นว่าทั้งหมดนี้เป็นเทคนิคเล็กๆ น้อยๆ ที่จะนำไปประยุกต์ใช้กันได้กับการลงทุนในตลาดหุ้นที่ช่วงเวลาที่เราคิดว่ามันอาจเป็นฟองสบู่

มีนักลงทุนบางท่านอยากให้ผมสรุปให้ฟังว่าเราจะสังเกตวิกฤตได้อย่างไรบ้าง จะได้คาดการณ์วิกฤตล่วงหน้าได้ทัน แต่ผมอยากบอกว่านั่นไม่ใช่วิธีลงทุนที่ดีนัก เพราะการทายว่าจะมีวิกฤตไม่ใช่เรื่องกล้วยๆ วิธีการที่น่าจะดีกว่าสำหรับนักลงทุนส่วนใหญ่คือการคิดว่า ถ้าออกหัวควรจะทำอย่างไร ถ้าออกกล้วยควรจะทำอย่างไร เรามีแผนการรับมือทุกสถานการณ์ไว้แล้วย่อมทำให้ตัวเองหลีกพ้นจากหายนะได้ ดีกว่าพยายามทายให้ได้ว่าจะอนาคตจะเป็นไง แล้วพอมันไม่ได้เป็นแบบนั้นปุ๊บก็ไปไม่ถูกเลย

0345: ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล

จุดอ่อนอย่างหนึ่งของตลาดหุ้นบ้านเราคือ บ้านเราไม่ใช่สังคมแบบทุนนิยม บริษัทจำนวนมากจึงไม่อยู่ในโหมดของการแสวงหาการเติบโตแบบต่อเนื่อง ทำให้หาหุ้นเติบโตที่จะลงทุนในระยะยาวได้ยาก พวกที่บอกว่าจะโตเยอะๆ ก็มักเป็นพวกหน้าใหม่ ต้นทุนทางสังคมต่ำ ลงทุนระยะยาวแล้วเสียวมาก เพราะที่ปรากฏว่าโตได้ปีเดียวแล้ว แต่หลังจากนั้นก็ขาดทุนหนักมีเยอะ พวกที่มีฐานธุรกิจที่มั่นคงแล้วก็มักไม่อยู่ในโหมดของการเติบโตแล้ว จะหาแบบที่พื้นฐานดีๆ และในเวลาเดียวกันก็โตไปเรื่อยๆ ด้วย (best of both worlds) ยาก ต้องเฟ้นกันหนัก

ผมว่านี่คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผมเริ่มสนใจบริษัทนี้ เพราะไมเนอร์เป็นหนึ่งในบริษัทที่มีฐานธุรกิจที่ค่อนข้างมั่นคงแล้ว แต่ก็ยังมี “สัญญาใจ” กับผู้ถือหุ้นที่จะเติบโตต่อไปเรื่อยๆ ให้ได้ปีละ 20% โดยไม่มีวันหยุด (ระบุไว้ในวิสัยทัศน์ของบริษัทด้วย) มันจึงเป็น candidate ของ 7LTG ที่น่าสนใจมาก การลงทุนในบริษัทที่ยังต้องพึ่งพาตลาดทุนในการขยายธุรกิจอยู่เสมอ ยังมีข้อดีอีกตรงที่บริษัทยังต้องแคร์ความรู้สึกของผู้ถือหุ้นอยู่ ถามอะไรก็รีบตอบ ตีหัวเข้าบ้านยังไม่ได้ ต่างกับบริษัทที่ธุรกิจอิ่มตัวแล้ว พึ่งตัวเองในเรื่องเงินทุนได้ อาจมองผู้ถือหุ้นเป็นแค่ยุงรำคาญที่รอแต่จะเอาเงินปันผลจากบริษัท

แต่ก็ไม่ได้แปลว่าแค่มีสัญญาใจว่าจะโตไปเรื่อยๆ แล้วจะทำให้ผมตัดสินใจลงทุนได้ บริษัทต้องมี Growth Strategy ที่มีความเป็นไปได้ด้วย นอกเหนือจากประวัติศาสตร์อันยาวนานของบริษัท

รายได้กว่าครึ่งของไมเนอร์นั้นมาจากการทำธุรกิจเชนร้านอาหารตามห้างฯ ตัวอย่างเช่น Burger King, DQ, Swensens, Sizzler, The Pizza Company เป็นต้น ธุรกิจแบบนี้โตไปเรื่อยๆ ได้ไม่ยาก เพราะมีการขยายสาขาเพิ่มขึ้นทุกปี ตามการขยายตัวของห้างฯ แรกๆ ก็ต้องลงทุนขยายสาขาเองก่อนซึ่งจะใช้เงินทุนมากหน่อย เมื่อแ่บรนด์ไหนติดตลาดแล้วก็จึงสามารถขาย Franchise เพื่อให้การขยายสาขาไม่ต้องใช้เงินลงทุนเยอะมากได้ นับเป็นการเอา intellectual property ที่สร้างมาในช่วงแรกมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในภายหลัง ทำเช่นนี้ไปเรื่อยๆ นอกจากนี้บริษัทยังมีการขยายสาขาไปต่างประเทศ โดยวิธีเข้าไปถือหุ้นแบรนด์ที่เห็นว่ามีศักยภาพ เช่น the Coffee Club (Australia), Thai Express (Singapore) แล้วเติบโตไปกับเขา เป็นต้น เหตุที่การขยายธุรกิจไปต่างประเทศควรใช้วิธีนี้เพราะในต่างประเทศแบรนด์สากลก็มักจะมีคนอื่นถือสิทธิ์อยู่แล้ว เลยต้องโตไปกับ local brand ของประเทศนั้นๆ ที่เห็นว่ามีศักยภาพแทน

ปัจจุบันบริษัทมีแล้ว 1133 ร้านสาขา (เป็น Franchise 39%) เทียบกับเมื่อ 8 ปีที่แล้วที่มีแค่ 354 สาขาและเป็นร้านของตัวเองเกือบทั้งหมด การที่สาขาเป็นแบบ Franchise มากขึ้นย่อมแสดงถึง intellectual property ที่เพิ่มขึ้นของบริษัท ภายในปี 2015 บริษัทจะมีให้ได้ 2174 สาขา และเป็น Franchise ให้ถึง 64% ให้ได้ ธุรกิจอาหารเป็นส่วนที่ผมชอบที่สุดของไมเนอร์ เพราะที่ผ่านมาสามารถสร้างการเติบโตได้อย่างสม่ำเสมอ และเราเห็นได้ชัดเจนว่าเขาทำตลาดได้เก่งกว่าคู่แข่งของเขาเป็นส่วนใหญ่ (Pizza Hut, Baskin Robbins, etc.) จะแย่หน่อยตรงที่ต่างประเทศเวลานี้ยังแย่อยู่ เช่น The Pizza Company ที่จีน ทุกวันนี้ยังขาดทุนอยู่, Thai Express ยังหดตัว เป็นต้น แต่ผมก็มองว่า ถ้าให้เวลาบริษัทแก้ปัญหาสักพักต้องดีขึ้น เหมือนอย่างสมัยก่อนตอนที่เขาเริ่มทำตลาด Pizza Hut ใหม่ๆ เขาต้องใช้เวลาอยู่นานหลายปีกว่าจะประสบความสำเร็จเหมือนอย่างเช่นทุกวันนี้ ส่วนการซื้อแบรนด์ต่างประเทศที่ผ่านมาแม้จะดูเหมือนเป็นแบรนด์ที่ยังไม่ค่อยเวิร์คเท่าไร แต่ผมก็มองว่านั่นคือกลยุทธ์ที่ถูกต้อง เพราะคุณควรซื้อแบรนด์ที่ยัง mismanaged อยู่แล้วเอา know-how ของคุณเข้าไปปรับปรุงเพื่อ unlock value ออกมา มากกว่าที่จะซื้อแบรนด์ที่สมบูรณ์แบบอยู่แล้วตั้งแต่แรกด้วยราคาแพงๆ

ธุรกิจอีกส่วนของไมเนอร์คือ ธุรกิจโรงแรม ซึ่งมีอยู่หลายแบรนด์เช่นกัน เช่น Anantara, Four Seasons, JW Marriott เป็นต้น โมเดลเติบโตก็เป็นแบบเดียวกันเปี๊ยบคือขยายสาขาไปเรื่อยๆ แต่ต่างกันตรงที่ ธุรกิจโรงแรมนั้นลงทุนเริ่มต้นสูงกว่ามาก แต่กลับคืนทุนได้ช้ากว่า สรุปก็คือ ห่วยกว่าธุรกิจอาหารนั่นเอง เพราะโรงแรมเป็นธุรกิจที่เข้ามาได้ง่ายมาก ลองนึกดูสิว่าแต่ละปีมีโรงแรมใหม่ๆ เกิดขึ้นมากขนาดไหน ฉะนั้นต่อให้เป็นโรงแรมหรูๆ ก็ยังคาดหวัง IRR ไ้ด้แค่ระดับสิบกว่าเปอร์เซนต์เท่านั้น อีกทั้งโรงแรมยังเป็นธุรกิจที่อ่อนไหวต่อ consumer sentiment อย่างมากอีกต่างหาก ช่วงสองปีที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากปัญหาการเมืองอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตามบริษัทก็พยายามใช้โมเดลรับจ้างบริหารแทนการลงทุนสร้างโรงแรมเอง เพื่อช่วยลดเงินลงทุน (asset-light strategy) และเพิ่ม ROI แต่วิธีนี้ก็มีจุดอ่อนตรงที่ตัวเลขรายได้ที่เข้ามาจะค่อนข้างเล็ก ทำให้สร้างการเติบโตแบบเป็นกอบเป็นกำตามเป้าไม่ได้ บริษัทจึงยังต้องเน้นการสร้างโรงแรมเองควบคู่ไปกับการรับจ้างบริหารต่อไป ธุรกิจโรงแรมของบริษัทเป็นส่วนที่ผมไม่ค่อยชอบเอาเสียเลย แม้ว่า EBITDA จะดูสูงกว่าอาหาร แต่ที่จริงแล้วก็เป็นเรื่องหลอกตา เพราะว่า CAPEX ของมันสูงมาก ผมว่าที่บริษัททำธุรกิจนี้ส่วนหนึ่งมาจาก passion ส่วนตัวของเจ้าของเองด้วยจึงเป็นเรื่องที่มีอารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้องมากกว่าแค่เหตุผลทางธุรกิจ

ช่วงหลังบริษัทพบว่าการทำ Residence แบบขายขาด จะให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าการทำเป็นโรงแรม (แม้ว่าจะเป็นรายได้ที่ขึ้นๆ ลงๆ) บริษัทจึงหันมาทำ Property เสริมด้วยอีกส่วนหนึ่งในนาม St.Regis ขายขาดยูนิตละ 70-200 ล้านบาท ก็เลยเพิ่มมาอีกสายธุรกิจหนึ่ง ในอนาคตบริษัทก็ยังคิดทำ Timeshare เพื่อช่วยดึง Occupancy Rate ให้ stable ขึ้น (at the expense of room rate) เรื่องการเติบโตด้วย room rate นั้นในกรุงเทพตอนนี้หวังยากเพราะ oversupply การแข่งขันรุนแรงราคามาก ที่หวังขึ้นได้บ้างก็คงเป็นส่วนของต่างจังหวัดและต่างประเทศมากกว่า เวลานี้บริษัทเริ่มมองลูกค้าจีน อินเดีย ตะวันออกกลาง ที่มีกำลังสูง เพื่อมาทดแทนลูกค้ายุโรปที่กำลังซื้อตกลงไปจากวิกฤต ในอนาคตบริษัทกำลังพิจารณาขายโรงแรมในพอร์ตบางส่วนที่เห็นว่ามี market value สูงกว่า book value มากๆ เพื่อเป็นการ unlock value ในส่วนที่ตลาดหุ้นไม่ได้ให้พรีเมี่ยมด้วย

จะเห็นว่าแม้ธุรกิจโรงแรมจะมีปัญหาต่อเนื่องแต่ บริษัทก็พยายามหาทางแก้ไขตลอด และ occupancy rate ของบริษัทนั้นสูงกว่าระดับเฉลี่ยของอุตสาหกรรมตลอด แสดงว่าพอร์ตของบริษัทค่อนข้างดีกว่าคู่แข่ง ทำให้บริษัทก็ยังคงมีกำไรได้แม้ในช่วงที่ยากลำบากที่สุด ซึ่งคู่แข่งล้วนติดตัวแดงกันไปหมดแล้ว เลยพอจะให้อภัยในส่วนนี้ได้

ปัจจุบันบริษัทมีห้องพักรวม 3655 ห้อง เป็นรับจ้างบริหาร 18% เทียบกับแปดปีก่อนที่ี 2055 ห้องลงทุนเองหมด ภายในปี 2015 บริษัทจะมีให้ได้ 5791 ห้อง และเป็นรับจ้างบริหารให้ได้ถึง 40% (ผมว่า aggressive ไปนิด)

ธุรกิจส่วนสุดท้ายคือร้านเสื้อผ้าแบรนด์เนม เช่น GAP, Esprit, Bossini เป็นต้น ธุรกิจส่วนนี้ยังขาดทุนอยู่ แต่เป็นสัดส่วนที่เล็กจึงไม่น่ากลัวเท่าไร และผมก็มองว่า ในอนาคตน่าจะดีขึ้น เพราะคนไทยน่าจะมีความเป็นอยู่สูงขึ้น ค่าเงินบาทก็แข็ง ธุรกิจแบบนี้จึงน่าจะได้ประโยชน์ในอนาคตอันใกล้นี้นะครับ

ช่วงสองปีที่ผ่านมา บริษัทโดนมรสุมอย่างหนักทั้งวิกฤตการเมืองและเศรษฐกิจ ซึ่งกระทบธุรกิจของบริษัทโดยตรงแทบทุกสายธุรกิจ จึงไม่สามารถเติบโต 20% ได้ตามสัญญา ต่างกับแต่ก่อนนี้ที่บริษัทเติบโตได้ 20% ทุกปี ติดต่อกัน 6-7 ปีเลยทีเดียว (ไม่รู้ทำไม พอเราเริ่มสนใจทีไร มันต้องเริ่มไ่ม่ดีพอดีทุกที) เท่าที่ทราบมา ไตรมาส 4/53 ที่จะถึงนี้ ก็จะยังไม่ดีขึ้น เพราะถ้าคำนวณจากยอดจองห้องพักที่เข้ามาตอนนี้แล้วเทียบกับปีก่อน บริษัทคาดว่า occupancy rate ปลายปีน่าจะแค่เท่าๆ กับปีที่แล้วเท่านั้น ถัดจากนี้ไป ผมก็ยังไม่คิดว่าปัญหาการเมืองบ้านเราจะจบ มันแค่หยุดไปพักหนึ่งเท่านั้น ดังนั้นการจะหวังว่าบริษัทจะดีขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้คงจะยังหวังมากไม่ได้ อีกสักพักก็คงกลับมาใหม่

แต่ผมยังไงผมก็ยังเชื่อว่า ที่สุดแล้ว บริษัทนี้จะสามารถบรรลุเป้าหมายในระยะยาวได้ (แต่คงเป็นแบบ bumpy ไปตลอดทาง) บริษัทตั้งเป้าจะมีรายได้จากต่างประเทศเพิ่มขึ้นให้ได้อย่างน้อยเป็น 40% ภายในปี 2015 นั่นจะช่วยให้ผลประกอบการของบริษัทไม่ต้องผูกอยู่กับประเทศไทยประเทศเดียวเหมือนอย่างเดิม ในระยะยาวกำไรน่าจะเสถียรขึ้นได้ และผมก็มองว่า ในอนาคต บริษัทไทยที่จะยิ่งใหญ่ต่อไปได้ จะต้องก้าวขึ้นมาเป็นผู้เล่นระดับภูมิภาคให้ได้ การที่บริษัทเริ่มไปต่างประเทศตั้งแต่วันนี้ น่าจะช่วยให้บริษัทเป็นหนึ่งในผู้ยิ่งใหญ่ในอนาคตต่อไปได้ด้วยครับ และการที่บริษัทยังคงมีการลงทุนอย่างต่อเนื่องยังทำให้เมื่อไรก็ตามที่การเมืองนิ่งๆ ได้สักพักใหญ่ๆ สิ่งที่บริษัทได้สร้างเอาไว้ตลอดสองปีก็จะมีโอกาสได้ฉายประกายออกมาด้วยครับ ที่จริงแล้วบริษัทเคยเจอมรสุมที่หนักกว่าสองปีนี้มากตอนที่ไม่ได้ต่อสัญญา Pizza Hut กับทาง Yum ตอนนั้นใครๆ ก็คิดว่าบริษัทนี้คงหมดทุกอย่างแล้ว แต่ปรากฏว่ากลับการเป็นแรงผลักดันให้บริษัทฮึดกลับขึ้นมาใหม่จนยิ่งใหญ่กว่าเดิมมาก สองปีนี้จึงถือว่าเด็กๆ ครับ บริษัทที่มีทัศนคติที่ดียังไงก็ต้องกลับมาดีได้ครับ

สรุปแล้ว แม้ว่าดูเหมือนจะยังไม่มีอะไรดีขึ้นเลยเร็วๆ นี้ แต่ยังมองว่าในระยะยาวบริษัทนี้ต้องยิ่งใหญ่กว่าในปัจจุบันอย่างมากแน่นอน เหมือนกับที่ทุกวันนี้บริษัทยิ่งใหญ่กว่าเมื่อแปดปีก่อนมาก เพราะเป็นบริษัทที่มีการแก้ปัญหาอยู่ตลอดเวลา ผมจึงยังมีความมั่นใจในอนาคตระยะยาวของบริษัทนี้อยู่ เลยตัดสินใจให้บริษัทนี้ยังได้ไปต่อใน 7LTG นะครับ แต่ถ้าจะให้เกรดคงให้แค่ B+

คำเตือน : บทวิจารณ์นี้เป็นแค่การมองภาพใหญ่ของบริษัทในระยะยาวเท่านั้น ไม่เกี่ยวข้องกับทิศทางของผลประกอบการระยะสั้นของบริษัทเลยแม้แต่น้อย ผู้อ่านจึงไม่อาจนำมาใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุนในระยะสั้นได้เลย (7LTG สนใจแต่ภาพใหญ่ในระยะยาวของบริษัทที่จะลงทุนเท่านั้น) อีกทั้งข้อมูลที่ใช้วิเคราะห์เป็นข้อมูลที่หาได้ในช่วงที่เขียนบทวิจารณ์เท่านั้น ในอนาคตปัจจัยต่างๆ อาจเปลี่ยนแปลงไปได้อีก จึงไม่อาตยึดถือได้ตลอดไป

0295: พันธบัตรสหรัฐฯ

วิกฤตซับไพร์มครั้งนี้ได้ทำให้ปี 2009 รัฐบาลสหรัฐฯ น่าจะขาดดุลงบประมาณสูงที่สุดตั้งแต่ก่อตั้งประเทศมา คือ มากถึง 13% ของจีดีพี ส่วนหนึ่งเกิดจากเศรษฐกิจที่ถดถอย และการขาดดุลที่เกิดขึ้นเป็นปกติอยู่แล้ว ประมาณ 3% ของจีดีพี บวกกับแพจเกจช่วยเหลือสถาบันการเงินด้วยการปล่อยกู้และเพิ่มทุนเจ็ดแสนล้านดอลล่าร์ และแพจเกจกระตุ้นเศรษฐกิจอีกเกือบแปดแสนล้านดอลล่าร์

หลายปีที่ผ่านมา ตลาดเคยวิตกกังวลเกี่ยวกับการขาดดุลการค้าแบบเรื้อรังของสหรัฐฯ ซึ่งทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนสูงถึง 7-8% ของจีดีพี อันเป็นระดับที่เชื่อกันว่าไม่สามารถดำรงอยู่ได้นาน ทำให้เกิดวิกฤตความเชื่อมั่นในค่าเงินดอลล่าร์ ต่อมาวิกฤตซับไพรม์ที่เกิดขึ้นได้ช่วยทำให้การขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ ลดลงไปเองเหลือเพียงแค่ 3% ของจีดีพีเท่านั้น เพราะกำลังซื้อของคนอเมริกันที่หายไปมาก อย่างไรก็ตาม แทนที่ความกังวลเกี่ยวกับเงินดอลล่าร์จะหายไป วิกฤตซับไพรม์เองกลับทำให้ สหรัฐฯ หันมาขาดดุลงบประมาณอย่างหนักแทนการขาดดุลการค้า ตลาดจึงยังต้องวิตกกังวลเกี่ยวกับค่าเงินดอลล่าร์ต่อไป เพราะเป็นห่วงความสามารถในการชำระหนี้ของพญานกอินทรี ดังจะเห็นได้จากการที่ช่วงนี้ตลาดหันมาจ้องมอง treasury bond yield แทนที่จะสนใจพวก spread หรือ ราคา CDS ของพวกเอกชนยักษ์ใหญ่ต่างๆ เหมือนเมื่อปีที่แล้ว ความน่ากลัวถูกย้ายจากฝั่งเอกชนไปที่รัฐบาลแทน

ถ้าหากพญาอินทรีคิดจะหักหลังเจ้าหนี้จริงๆ นั้นก็มีหนทางทำได้อยู่หลายทาง ทางแรกคือ การชักดาบโดยตรง (default) วิธีนี้เป็นที่เชื่อกันว่า จะไม่ได้เห็นอย่างแน่นอน ตลอดร้อยกว่าปีที่ผ่านมา พันธบัตรที่ออกโดยรัฐบาลกลางของสหรัฐฯ ยังไม่เคย default เลยแม้แต่งวดเดียว ทางที่สองซึ่งเป็นไปได้มากกว่าคือ รัฐบาลสหรัฐฯ จะยังคงชำระหนี้เต็มจำนวนต่อไปตามปกติ แต่จะ “ประดิษฐ์” ภาวะเงินเฟ้อขึ้นมา ภาวะเงินเฟ้อช่วยทำให้ purchasing power ของหนี้ค่อยๆ เสื่อมลงถอยไปเองในระยะยาว โดยที่ยอดหนี้ไม่ได้เปลี่ยนไป วิธีนี้ช่วยลดภาระของลูกหนี้ได้ทางอ้อม ว่ากันว่าในทางเทคนิค ขณะนี้ สหรัฐฯ ก็กำลังทำวิธีอยู่แล้ว เพราะการทำ Quantitative Easing ของเฟดเมื่อเร็วๆ นี้ก็มีค่าเท่ากับการพิมพ์แบงก์ขึ้นมาเฉยๆ ซึ่งเท่ากับเป็นการสร้างเงินเฟ้อขึ้นมานั่นเอง อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเวลานี้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังไม่ฟื้น ทำให้สหรัฐฯ ยังคงอยู่ในภาวะเงินฝืด เงินที่สร้างขึ้นมาจึงยังไม่มีผลอะไร งานนี้ก็ต้องวัดใจกันว่า ถ้าหากช่วงต่อจากนี้ไปเงินเฟ้อเกิดขยับขึ้นโดยที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังไม่ฟื้นตัว สหรัฐฯ จะเลือกทำอย่างไรระหว่างการขึ้นดอกเบี้ยเพื่อต้านเงินเฟ้อ หรือ ทิ้งเป้าหมายเรื่องการควบคุมเงินเฟ้อไปเลยโดยการไม่ขึ้นดอกเบี้ยเพื่อช่วยเหลือเศรษฐกิจก่อน ถ้าสหรัฐฯ เลือกอย่างหลัง เราอาจได้เห็นปรากฏการณ์ที่น่าตื่นตาตื่นใจเกิดขึ้นกับตลาดการเงินของโลกทีเดียว    

ถ้าหากสหรัฐฯ อยากให้ตลาดกลับมาเชื่อถือเงินดอลล่าร์อีกครั้ง รัฐบาลสหรัฐฯ จะต้องหาลดการขาดดุลงบประมาณลงให้ได้ ซึ่งก็มีหลายวิธี หนึ่งคือ การขึ้นอัตราภาษี แต่วิธีนี้คงทำได้ยากในทางการเมือง สองคือ รัฐฯ ต้องหันมาควบคุมการใช้จ่าย วิธีนี้ก็ทำได้จำกัดอีกเช่นกัน รัฐบาลโอบามาเพิ่งจะออกมาสัญญากับตลาดว่าจะพยายามลดการขาดดุลงบประมาณลงจนเหลือราว 3% ของจีดีพีภายในปี 2012 แต่ตลาดก็ยังงงๆ อยู่ว่าจะเป็นไปได้อย่างไร อย่าลืมว่า โอบามามีสัญญาประชาคมหลายอย่างที่ยังต้องทำให้เห็นอะไรเป็นรูปธรรมภายในสามสี่ปีนี้ ที่สำคัญที่สุดคือ นโยบายสุขภาพ ซึ่งโอบามามีนโยบายสร้างระบบใหม่ที่ครอบคลุมประชาชนทุกคน ซึ่งต้องใช้เงินของรัฐฯ อีกไม่น้อย เป็นต้น

ในความเป็นจริง ส่วนมากแล้วปัญหาการขาดดุลงบประมาณไม่ว่าประเทศไหนในอดีตมักไม่ได้หมดไปด้วยสองวิธีที่กล่าวมาข้างต้น แต่หมดไปได้ถ้าเศรษฐกิจดี เพราะเมื่อเศรษฐกิจดี คนมีรายได้มากขึ้น รัฐฯ ก็จะเก็บภาษีได้มากขึ้นโดยอัตโนมัติทั้งที่ยังเก็บที่อัตราเดิมอยู่ ดังนั้น ความสามารถในการแก้ไขปัญหาการขาดดุลงบประมาณของสหรัฐฯ ในช่วงสี่ปีข้างหน้าจะขึ้นอยู่กับว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ เป็นอย่างมากว่าจะฟื้นเร็วหรือช้า 

อันว่าที่จริงแล้ว หนี้สะสมของรัฐบาลสหรัฐฯ ณ เวลานี้ไม่ได้ถือว่าสูงมาก เพราะคิดเป็นเพียง % ของจีดีพีเท่านั้น (รัฐบาลญี่ปุ่นและอิตาลีมีหนี้เกิน 100% ของจีดีพีมานานแล้ว ก็ยังไม่เห็นว่าจะเจ๊ง) ดังนั้น ตลาดอาจกำลังวิตกกังวลมากเกินไปก็ได้ รัฐบาลสหรัฐฯ จึงยังสามารถก่อหนี้เพิ่มได้อีกมาก อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้ พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ต้องอาศัยนักลงทุนต่างประเทศเป็นผู้ซื้อถึง 1 ใน 3 ของทั้งหมด ซึ่งผู้ซื้อรายใหญ่คือ จีน ดังนั้น ท่าทีของจีนที่มีต่อวินัยทางการคลังของสหรัฐฯ จึงเป็นประเด็นสำคัญด้วย ถ้าอยู่ดีๆ จีนหยุดซื้อพันธบัตรของสหรัฐฯ ดอกเบี้ยระยะยาวสกุลดอลล่าร์จะพุ่งสูงขึ้นอย่างมากเพื่อสกัดเงินไหลออกจากสหรัฐฯ สภาพคล่องของโลกจะตึงตัวอีกครั้ง และย่อมส่งผลรุนแรงต่อตลาดสินทรัพย์ทุกชนิดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้ ทั้งจีนและสหรัฐฯ ต่างได้ประโยชน์จากการที่จีนช่วยซื้อพันธบัตรสหรัฐฯ เหตุการณ์นี้จึงไม่ใช่ว่าจะเกิดขึ้นได้ง่ายๆ ด้วยเหมือนกัน ก็ต้องหวังว่าจะไม่มีเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นก่อนที่รัฐบาลสหรัฐฯ จะลดการขาดดุลงบประมาณลงได้จนเป็นผลสำเร็จ

0289: เจ็ดแนวโน้มใหญ่ในปัจจุบัน

การมอง Demand Trends ถือเป็นวิธีหนึ่งที่สำคัญในการพิจารณาเลือกลงทุน วิธีมอง Demand Trends ที่ดีอย่างหนึ่งก็คือ การมองแนวโน้มใหญ่ (MegaTrend) 

แนวโน้มใหญ่คือ ความเปลี่ยนแปลงสำคัญที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมซึ่งส่งผลต่อความต้องการสินค้าและบริการในภาคธุรกิจ แนวโน้มใหญ่มักเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นติดต่อกันนานหลายปี ไม่ใช่แค่ชั่วคราวแล้วหายไป (อย่างนั้นจะเรียกว่าเป็น Fads หรือ Fashions) ดังนั้นการวิเคราะห์แนวโน้มใหญ่เป็นวิธีที่เหมาะกับการลงทุนระยะยาว แนวโน้มใหญ่ที่ผมพอจะมองเห็นในปัจจุบันมีดังนี้ (หลายอย่างเกิดขึ้นมาตั้งนานมากแล้ว แต่ทุกวันนี้ก็ยังดำเนินอยู่)  

1. Aging Society ปรากฏการณ์ที่คนแก่กำลังมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเมื่อคิดเป็นร้อยละของประชากรทั่วโลก ทำให้สินค้าที่เน้นขายคนแก่ย่อมมี Demand ที่เติบโตได้ดีอย่างต่อเนื่องในอนาคต อาทิเช่น ธุรกิจโรงพยาบาล เป็นต้น  

2. Free Trade ข้อตกลงเขตการค้าเสรีที่กำลังมีผลบังคับใช้มากขึ้นเรื่อยๆ จะช่วยทำให้การค้าการลงทุนข้ามชาติมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเพราะต้นทุนที่ต่ำลง ส่งผลดีต่อ ธุรกิจนำเข้า ส่งออก รวมทั้งธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งทั้งหลาย  

3. CyberWorld ผู้คนใช้เวลากับอินเตอร์เน็ตและมือถือแต่ละสัปดาห์มากขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลดีต่อธุรกิจให้บริการเน็ต เครือข่ายมือถือ ผู้นำเข้าอุปกรณ์มือถือ สินค้าไอที ธุรกิจเกมออนไลน์ ฯลฯ ในขณะที่ ธุรกิจเพลง โทรทัศน์ และธุรกิจหนังสือพิมพ์ ล้วนได้รับผลกระทบจากแนวโน้มอันนี้

4. Global Warming ภาวะโลกร้อนได้กระตุ้นให้เกิดการตื่นตัวเรื่องสิ่งแวดล้อมไปทั่วโลก ส่งผลดีต่อธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับพลังงานทางเลือก การกำจัดขยะ และการจัดการสิ่งแวดล้อม 

5. Energy Constraints การที่คนยากจนในจีนและอินเดียหลายร้อยล้านคนกำลังมีฐานะที่ดีขึ้นอย่างรวดเร็วได้ทำให้โลกมีการใช้ทรัพยากรเพิ่มขึ้นอย่างมาก ส่งผลดีต่อธุรกิจที่เกี่ยวกับทรัพยากรทั้งหลาย เช่น สำรวจน้ำมัน เหมืองแร่ ฯลฯ

6. Food Constraints ภาวะอากาศแปรปรวน ผู้คนมีฐานะดีขึ้น พื้นที่การเกษตรที่จำกัด และการเอาพืชไปใช้เป็นพลังงานทางเลือก ได้ทำให้เกิดภาวะอาหารขาดแคลน ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเกษตรพลอยได้รับประโยชน์จากแนวโน้มนี้

7. Modern Trade แนวโน้มที่ผู้คนนิยมซื้อสินค้าในห้างมากขึ้นเรื่อยๆ ซื้อของในตลาดสดน้อยลง เพราะชีวิตที่เร่งรีบ ต้องการความสะอาด เสพติดโปรโมชั่น ช่วยทำให้ธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่และห้างสรรพสินค้ามีการเติบโตได้ต่อเนื่อง

ข้อดีของการลงทุนตามแนวโน้มใหญ่คือเมื่อเศรษฐกิจโดยรวมมีปัญหาสินค้าเหล่านี้อาจได้รับผลกระทบไม่ต่างกับธุรกิจอย่างอื่น แต่เวลาทุกอย่างกลับมา พวกมันมีโอกาสมากกว่าอย่างอื่นที่จะกลับมาได้ เพราะมันมีแนวโน้มเป็นพื้นฐานที่คอยรองรับอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม การเลือกลงทุนจะดู Demand Trends อย่างเดียวไม่ได้ ต้องดู Competitive Advantage ด้วย อย่างเช่น ในกรณีของโรงงานผลิตแก๊สโซฮอล แม้พลังงานทางเลือกจะเป็นแนวโน้มใหญ่ แต่เนื่องจากนโยบายของรัฐที่ขาดความชัดเจน และ Barrier to Entry ที่ต่ำ กลับทำให้ธุรกิจนี้ไม่ได้ดีอย่างที่คิดครับ เลือกหุ้นต้องพิจารณาทั้ง DT และ CA จะขาดอย่างใดอย่างหนึ่งเสียไม่ได้  

0273: Cornering the Market

วันที่ 13 มิถุนายน 1996 ธนาคารซูมิโตโมได้ประกาศว่า บริษัทขาดทุนจากการเทรดทองแดงเป็นเงินถึง $1.8 billions นับเป็นการ trading loss ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสี่ในประวัติศาสตร์โลก (ใหญ่กว่ากรณีของธนาคารแบริ่ง)

ในตอนแรก ธนาคารอ้างว่า เทรดเดอร์ของธนาคารคนหนึ่งชื่อ Hamanaka ได้ลักลอบทำธุรกรรมนี้ โดยทำมาแล้วกว่าสิบปี แต่ต่อมาพบว่า แท้จริงแล้ว  Hamanaka ได้ทำธุรกรรมภายใต้การรับรู้ของธนาคาร (aka Rogue Trading) วิธีการของ Hamanaka คือพยายามสร้างความขาดแคลนให้เกิดขึ้นในตลาดทองแดง  เพื่อทำกำไรจากราคาที่ปรับตัวสูงขึ้น หรือที่เรียกว่า Cornering the market

ปกติแล้วราคาสินค้าโภคภัณฑ์ทุกชนิดจะอ่อนไหวต่อสมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทานในช่วงเวลาหนึ่งๆ เป็นอย่างมาก เมื่อใดที่อุปทานตึงตัวแม้เพียงเล็กน้อย ราคาสินค้าโภคภัณฑ์จะปรับตัวสูงขึ้นได้มากอย่างไม่น่าเชื่อ ยิ่งเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ชนิดที่สามารถกักตุนไว้ได้นานๆ อย่างพวกโลหะต่างๆ ด้วยแล้ว การเก็งกำไรด้วยการกักตุนยิ่งช่วยทำให้ราคาผันผวนได้มากขึ้นอีก Cornering เป็นการพยายามดึง supply ส่วนหนึ่งออกไปจากตลาดในปริมาณที่มากพอ เช่น ซื้อเอาไปเก็บไว้ เพื่อทำให้ราคาตลาดปรับตัวสูงขึ้นไปหลายๆ เท่า จากนั้นก็ค่อยๆ ขายทำกำไรออกมา แม้ว่าสุดท้ายแล้วจะต้องมีสต๊อกส่วนหนึ่ง ที่จะขายออกได้ไม่ทัน ทำให้ขาดทุนอยู่ด้วยก็ตาม แต่เนื่องจากกำไรที่ขายได้ในช่วงแรกๆ สูงมาก เมื่อหักกลบกันแล้ว Cornering จึงทำกำไรสุทธิได้มหาศาล

บางคนอาจสงสัยว่า ทองแดงเป็นสินค้าระดับโลก แล้วธนาคารซูมิโตโมสามารถควบคุม supply ของทั้งโลกได้อย่างไร ที่จริงแล้ว ธนาคารซูมิโตโมเพียงแค่รวมหัวกับเอเย่นต์ทองแดงส่วนหนึ่งในตลาดลอนดอน และบรรดาบริษัททองแดงในจีนอีกจำนวนหนึ่ง เพื่อซื้อทองแดงออกไปแค่เท่ากับ 5% ของทั้งตลาดเท่านั้น ก็สามารถปั่นราคาทองแดงให้ทยานขึ้นได้แล้ว เคล็ดลับของวิธีนี้ก็คือว่าจะต้องกักตุนให้เสร็จโดยไม่ให้คนอื่นรู้ก่อน เพราะถ้ามีคนรู้ก่อน คนที่รู้จะไม่ยอมขายให้ในราคาถูกๆ แต่จะกักตุนตามบ้าง ทำให้ต้องเก็บในราคาที่แพงเกินไปจนไม่สามารถทำกำไรได้ การเก็บของได้ครบตั้งแต่ข่าวยังไม่รั่วจะทำให้ได้ต้นทุนเฉลี่ยใกล้เคียงกับราคาพื้นฐานที่แท้จริงของทองแดง ดังนั้นแม้ราคาจะร่วงลงมามากในภายหลังก็ไม่น่ากลัวเลย

ต่อเมื่อเก็บได้มากพอแล้ว จึงค่อยอยากให้มีคนรู้มากๆ ยิ่งมากยิ่งดี เพื่อให้คนอื่นกักตุนตาม การเก็งกำไรตามของคนอื่นจะช่วยให้ราคาทะยานขึ้นได้อีก ในช่วงที่ราคาทองแดงทยานขึ้นมาแล้วเป็นเท่าตัว เริ่มมีข่าวลือในวงการว่า นาย Hamanaka กำลังเข้าเก็บทองแดง ช่วงนั้นเขามีฉายาที่รู้กันทั่วไปในตลาดว่า “Mr. Five Percent”

การที่ Hamanaka สามารถควบคุมราคาตลาดได้ ทำให้เขาทำกำไรได้อย่างต่อเนื่องเป็นเวลาเกือบสิบปี แต่ราคาทองแดงที่ยืนอยู่ในระดับสูงติดต่อกันนานหลายปีก็ได้ดึงดูดให้เหมืองทองแดงขยายกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่องเช่นกัน ในที่สุดข่าว เกี่ยวกับ supply ใหม่ๆ ที่กำลังจะทะลักออกมาจากเหมืองใหม่ก็ได้ทำให้ราคาทองแดงร่วงลงอย่างหนักในที่สุด ในช่วงเวลานั้น Hamanaka ควรระบาย position ออกไปให้เร็วที่สุด (แม้ว่าจะทำให้ต้องขาดทุนไปบ้างก็ตาม) แต่ด้วยความลำพองที่เคยได้กำไรอย่างเดียวติดต่อกันมาเป็นเวลานานมาก ทำให้เขาทำใจไม่ได้ แทนที่เขาระบายของออกทันที เขากับซื้อเพิ่มอีก เพื่อพยายามลด suppply อีกครั้ง แต่ก็ไม่อาจต้าน supply ใหม่ได้ สุดท้ายแล้ว แทนที่เขาจะขาดทุนแค่เพียงเล็กน้อย กลับกลายเป็นการขาดทุนอย่างมหาศาล Hamanaka ถูกตัดสินจำคุก 8 ปี

เรื่องนี้ชี้ให้เห็นถึงกลไกการสร้างราคาในตลาดว่าทำได้อย่างไร มันทำได้แม้แต่ในตลาดที่มีขนาดใหญ่มากๆ เช่น ทองแดง หากเป็นหุ้นตัวเล็กๆ สภาพคล่องต่ำๆ  ฟรีโฟลตน้อยๆ การเข้าเก็บหุ้นส่วนใหญ่ไว้ในมือโดยคนกลุ่มเดียวเพื่อควบคุมราคาให้เป็นไปตามใจนั้นยิ่งทำได้ง่ายเอามากๆ  สิ่งที่ได้รู้อีกอย่างหนึ่งก็คือทุกวันนี้คนสร้างราคาไม่ใช่อาเสี่ย แต่กลายเป็นนักลงทุนสถาบัน นักลงทุนไม่ควรหลงระเริงกับราคาที่ทะยานขึ้นอย่างมากมาย เพราะพื้นฐานที่แท้จริงของธุรกิจโดยมากมักไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว เหตุผลอาจมีอยู่เพียงนิดเดียว แต่การเกิดขึ้นของภาวะขาดแคลนชั่วคราวในตลาดสามารถทำให้ราคาปรับตัวรุนแรงมากได้ แต่เมื่อถึงวันหนึ่งที่ความเป็นจริงปรากฏออกมาและภาวะเช่นนั้นหายไป ทุกอย่างก็สามารถเปลี่ยนแปลงกลายเป็นหนังคนละม้วนได้ในเวลาแค่ชั่วพริบตาเดียว

0252: Guru Watchdog

Jim Rogers (Source 1 2 3 )

– ช่วงนี้ผมสะสมดอลลาร์เพิ่มขึ้น เพราะเห็นว่าทุกคนมองดอลลาร์ร้ายกันหมด แต่ก็ยังเป็นจำนวนที่น้อยกว่าเงินสกุลอื่นๆ ที่ผมถืออยู่ เพราะยังไงๆ ดอลลาร์ก็จะแย่ลงเรื่อยๆ ในระยะยาว ผมแค่อยากจะลองทำกำไรระยะสั้นเท่านั้น แต่ผมไม่ใช่คนเล่นสั้นที่เก่งเลย

– ตอนนี้ ผมยังไม่ซื้อทองคำเพิ่ม เพราะผมถือทองคำอยู่แล้ว แต่จะไม่ขายมันด้วย ถ้าหากทองคำลงไปแตะต่ำกว่าพันเหรียญ ผมก็จะซื้อเพิ่มอีก เพราะภายในปี 2019 ทองคำจะต้องยืนเหนือระดับ $2, 000 ได้อย่างแน่นอน และนั่นไม่ใช่สมมติฐานที่มากเกินไปเลย

– ปีหน้าเราอาจจะเห็นรัฐบาลของบางประเทศประสบปัญหาทางการเงินเพิ่มอีก อาจจะเป็น อาร์เจนติน่า ยูเครน หรือแม้แต่ UK ก็เป็นไปได้ ในช่วงสองสามปีนี้จะต้องมีวิกฤตการเงินอีกอย่างแน่นอน นอกเหนือจากทองคำแล้ว silver และเงินสกุลเอเชียบางประเทศก็น่าสนใจด้วย

– สินค้าเกษตรน่าสนใจมาก เพราะว่าราคาของมันตกต่ำมาเป็นทศวรรษแล้ว ผมว่ามันเป็นสินทรัพย์ที่ราคาถูกที่สุดในตอนนี้ เรากำลังจะมีวิกฤตอาหาร ตอนนี้ข้าวสร้าง all time high ได้แล้ว แต่น้ำตาลยังห่าง all time high อยู่มาก

– ช่วงนี้เป็นช่วงที่แปลกมาก เพราะผมไม่ได้ short อะไรเลย ผมหาไม่เจอว่ามีอะไรที่ราคาแพงมากๆ แต่ถ้าจะให้ short ผมคงเลือก US Government Bond

Marc Faber (Source)

-A stronger dollar will be positive for equities based on historical market data.
-The U.S. market will outperform emerging markets for the first half of 2010.
-Stocks and associated indices may have 10-20% correction, followed by another rally.
-The worst thing you can do for a long-term buy is purchase Treasuries.
-The private sector is de-leveraging while the government levers up. This process is expected to continue

Overall, 2010 will not be one for the record books, as 2009 was. He’s looking at a more normal 5%-10% rate of return for global investors.

Here are Faber’s views on other markets and asset classes:

Asia: “Longer term we’ll have still favorable growth, ” he says. He thinks India and Japan both offer opportunities. In his eyes, this view gained even more credibility after they were not mentioned once during the Barron’s round-table discussion.

Bonds: The bull market in Treasuries that lasted from 1980-2008 is a thing of the past. Near term: after a dismal 2009 the bond market could be in for a rebound. Longer term: look for exit opportunities in Treasuries.

Gold: Still a long-term buy.

Oil: Prices in the $80s make sense since the marginal cost to find a barrel is about $70. Longer term he expects prices to continue rising as demand increases from the developing world.

Agricultural commodities: In the short term, Faber’s favorite commodity is wheat. He advises against buying the wheat ETFs because they’re relatively expensive. Instead, play it through farm land or potash companies, he says.

โทมัส ตัน (ที่มา)

ผู้มีประสบการณ์ในตลาดโภคภัณฑ์ ด้วยเทคนิคและปัจจัยพื้นฐานมากว่า 15 ปี ได้เขียนคำทำนายเศรษฐกิจทุกปี ตั้งแต่ปี 2008 ซึ่งคราวนั้นทำนายว่า ทองคำจะแตะระดับ 1000 เหรียญได้เป็นครั้งแรก ปีนี้มีคำทำนาย น่าสนใจอีกจนอดไม่ได้ที่จะแปลมาให้อ่านกัน

ผมได้เขียน 10 คำทำนายมา 2 ปีติดต่อกันแล้ว นับตั้งแต่ปี 2008 เดิมทีได้ไอเดียจากคุณ Byron Wien ซึ่งได้เผยแพร่คำทำนายออกมาทุกปีนับตั้งแต่ปี 1980 ขณะที่เขาอยู่ที่ Morgan Stanley แล้วก็ไปอยู่กับ Pequot Capital ตามด้วยปัจจุบัน อยู่ที่ Blackstone.

คำทำนายในปี 2008 ของผมค่อนข้างตรงและได้ทำนายทิศทางหลักๆเกือบทั้งหมด เนื้อหาดีกว่าของคุณ Byron บางอย่าง ผมเรียกว่า เป็นความโชคดีของมือใหม่อย่างผม แต่ในปี 2009 Byron ก็สามารถเอาคืนได้ ด้วยคำทำนายที่ถูกต้องมากกว่า การอ่านลูกแก้วแบบนี้ ไม่มีใครชนะได้ตลอด แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ผมว่ามันเป็นเรื่องน่าสนุกที่จะทำ โดยเฉพาะเมื่อมันถูกต้องขึ้นมา ผมตั้งใจจะทำมันทุกๆปี ไม่ว่าปีก่อนผลจะผิดหรือถูกมากกว่า และโดยไม่รอช้า คำ 10 ทำนายของผม มีดังนี้

1. ทองคำ จะแตะระดับ 1500 เหรียญต่อออนซ์ในปี 2010 หรือหมายถึงขึ้นไปอีก 50% จากระดับปัจจุบัน ส่วนโลหะเงินก็จะตามกันไป แตะระดับ 25 เหรียญต่อออนซ์ ส่วนดัชนีหุ้นเหมืองทองคำ HUI จะขึ้นผ่าน 600 เหรียญด้วยเหมืองทองคำ/เงิน ขนาดเล็กๆหลายแห่ง จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้น 2 – 3 เท่า ทองคำจะถูกจัดเป็นสินทรัพย์เพียงอย่างเดียวที่วางใจได้ ทั้งจากประชาชนทั่วไปและจากธนาคารกลางต่างๆ จากการเสื่อมค่าลงของเงินกระดาษ (fiat money)

2. ดัชนี USD index จะเหลือ 60 จุด การรีบาวน์ของ US ดอลล่าร์ขณะนี้จะอยู่ได้เพียงแค่ช่วงสั้นๆ หลังจากแตะระดับ 80 จุดได้ไม่นาน เพื่อจะบีบและเขย่าขวัญขา Short US ดอลล่าร์จะกลับสู่ trend ขาลงซึ่งจะเป็น trend หลักที่จะเกิดขึ้นในปี 2010 จนกว่าจะถึงระดับ 60 จุด ธนาคารกลางส่วนใหญ่ จะไม่ต้องการถือ US ดอลล่าร์อีกต่อไป แต่พวกเขาก็จะประสบกับความยากลำบากในการที่จะออกจากสถานการณ์เช่นนี้โดยที่ตัวเองจะไม่ได้รับกระทบ หนทางที่ดีที่สุดสำหรับทั้งสองฝ่าย (ธนาคารกลางอื่น กับ เฟด) คือการที่จะต้องประคองให้มีการลดค่าลงอย่างค่อยเป็นค่อยไปราว 20% ต่อปี

3. ตลาดหมีใน S&P ที่รีบาวน์อยู่ในตอนนี้ จะขึ้นต่อได้อีกราว 7 เดือน จากเดือนมกราคมถึงกรกฎาคม แล้วหลังจากนั้น ตลาดจะต้องเผชิญกับหน้าผาสูงชันที่จะมาเขย่าขวัญอีกเป็นครั้งที่ 2 ซึ่งจะเกิดขึ้นตั้งแต่เดือนสิงหาคมไปจนถึงสิ้นปี ซึ่งจะไม่เหมือนกับรูปแบบปกติที่เกิดขึ้นในปีที่มีการเลือกตั้งกลางเทอม ที่ปกติ จะแย่ในช่วงครึ่งแรกของปี และดีขึ้นในช่วงครึ่งหลัง แต่จะกลับไปสอดคล้องกับความคิดและพฤติกรรมที่เกิดขึ้นในวอลล์สตรีท ที่จะสูบ รีดเอาน้ำผลไม้ และโบนัสสำหรับตนเองให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ก่อนที่ภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจระลอก 2 จะเกิดขึ้น

4. หุ้น Citigroup จะลดลงเหลือต่ำกว่า 2 เหรียญอีกครั้ง (ปัจจุบัน 3.30 อดีตก่อนเกิดวิกฤติอยู่ที่เกิน 50) ความยากลำบากในการหาทุนเพิ่มที่เห็นกันอยู่ในตอนนี้ บอกเรามากเกินพอสำหรับสถานการณ์ภัยพิบัติของสถาบันแห่งนี้ นี่เป็นหายนะที่น่าสยดสยองสำหรับ Citi และการตัดสินใจที่แย่ๆ ที่ทำโดยคณะผู้บริหาร จนเดี๋ยวนี้ ใครๆในโลกก็รู้ว่า จุดประสงค์เดียวที่จ่ายเงินคืนแก่ TARP เพราะต้องการจ่ายโบนัสก้อนโตให้แก่แมวอ้วนคณะผู้บริหาร Citi พอร์ทของ Citi ในจำนวนหลายล้านๆ ยังคงเสื่อมค่าลงทั้งส่วนของที่อยู่อาศัยและตลาดอสังหาฯเชิงพาณิชย์ แค่ความเป็นไปได้ที่จะเกิดการล่มสลายในหนี้จำนองและอนุพันธ์ในพอร์ทของมัน ก็สามารถกวาดล้างผู้ถือหุ้นรายย่อยออกไปได้อย่างเร็ว และเมื่อถึงเวลานั้น พวกเขาอาจจะขอความช่วยเหลือจาก TARP อีกครั้ง (TARP เป็นหน่วยงานของสหรัฐ ที่เข้าอุ้มสถาบันการเงินสหรัฐจำนวนมากอยู่เวลานี้)

5. ผลตอบแทนพันธบัตร 10 ปีของสหรัฐ จะเพิ่มขึ้น 2 เท่าจาก 1.5% ในปัจจุบันเป็น 3% ซึ่งนี่จะเป็นสิ่งที่สร้างความประหลาดใจครั้งใหญ่ ของทั้งเฟดและนักลงทุน เฟดทำได้แค่ควบคุมอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น ตลาดหนี้เริ่มได้กลิ่นและเริ่มรู้สึกว่าอะไรบางอย่างกำลังเกิดขึ้นอย่างผิดปกติมากๆในค่าเงิน และหนี้ของสหรัฐ – กระบวนการเทของจะเกิดขึ้นอย่างเร็ว ความกังวลเรื่องเงินฝืดจะกลับกลายเป็นความกังวลเงินเฟ้อแทน และไม่ใช่เงินเฟ้อธรรมดา แต่เป็นภาวะเงินเฟ้ออย่างมาก ( hyperinflation ) ได้เกิดขึ้นแล้ว การร่วงลงอย่างต่อเนื่องของค่าเงิน US ดอลล่าร์, ซัพพลายเงินที่คุมไม่อยู่ และการขาดสภาพคล่องของรัฐบาลที่ไร้ขอบเขต จะทำให้นักลงทุน ไม่สามารถมองเห็นแสงที่ปลายอุโมงค์ได้ (มองไม่เห็นทางออก) ซึ่งจะแย่กว่าสมัยทศวรรษก่อนของญี่ปุ่น นับจากที่ความยุติธรรมของระบบของเราถูกตั้งข้อสงสัยโดยการออมเพียงน้อยนิดแต่รายจ่ายมหาศาล

6. การรีบาวน์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันของดัชนี S&P/Case-Schiller จะเกิดแค่ช่วงสั้นๆ ดัชนี Schiller จะร่วงลงมากกว่า 15% ในปี 2010 ต่ำกว่า 120 ตลาดอสังหาฯส่วนที่อยู่อาศัยจะเผชิญกับแรงกดดันที่น่ากลัวเพราะการเพิ่มขึ้นของดอกเบี้ยที่ลูกหนี้ต้องจ่ายเพราะถึงกำหนดการปรับดอกเบี้ยที่ต้องลอยตัวแล้ว โดยหนี้ที่ต้องมีการปรับอัตราดอกเบี้ย (ARM reset)จะทะยอยปรับในช่วงปี 2010-2012 ความล้มเหลวที่เกิดขึ้นจะลามไปตลาดอสังหาฯเชิงพาณิชย์ โครงการขนาดใหญ่ๆจะล้มเหลวในปีต่อไป เหมือนพลุบนท้องฟ้า ข่าวร้ายที่เกิดขึ้นใน 2 ตลาดนี้ อาจต้องใช้เวลาน้อยๆก็ 1 – 2 ทศวรรษในการฟื้นฟู ต้องขอบคุณวิศวกรรมการเงินของวอลล์สตรีท

7. หลังจากซื้อเวลาได้อีกครึ่งปี หุ้นอุตสาหกรรมส่วนบุคคล (PE) จะเผชิญแรงกดดันในปี 2010 โดยเฉพาะในครึ่งปีหลัง นักลงทุนส่วนบุคคลจะเรียกร้องความโปร่งใสในการแสดงมูลค่าที่แท้จริงของสิ่งที่พวกเขาลงทุนไป แล้วพวกเขาจะเริ่มค้นพบว่า ระบบ leverage หรือการลงทุนที่ใช้อัตราทดมันไม่ work เฮดฟันด์จะทะยอยปิดตัวเพิ่มขึ้นในปี 2010 หลังเศรษฐกิจฟุบรอบ 2

8. จีนจะยังคงอัตราการเติบโตราว 9% ในปี 2010 หลังจากทำได้ 9% ในปี2009 ความพยายามของจีนในการที่จะชวนให้ผู้บริโภคใช้จ่ายมากขึ้น ออมน้อยลง จะยังคงดำเนินต่อไป รัฐบาลกลางจะเริ่มโปรแกรมความปลอดภัยทางสังคม ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมอย่าง Health care ซึ่งจะตามมาหลังการเติบโตต่อเนื่องของเศรษฐกิจ ปัญหาปวดหัวของจีน คงจะเป็นการหาทางรับมือกับทุนสำรอง 80% ที่มีมูลค่าในเทอมดอลล่าร์และกำลังเผชิญกับการเสื่อมค่าลงทุกวัน

9. เงินเฟ้อจะแตะระดับ 10% วัดจากฐาน CPI ก่อนยุคคลินตัน ใช้เกณฑ์จาก www.shadowstats.com ในการเปรียบเทียบแอปเปิ้ลกับแอปเปิ้ลในปี 1970 มันเป็นการควร ที่น่าจะใช้สูตรคำนวณ CPI เดียวกันคือยุคก่อนสมัยคลินตัน เมื่อเงินเฟ้อหลุดออกจากกรง (การควบคุม) แล้ว อย่างที่ผมเชื่อว่ามันจะเกิดในปี 2010 มันเป็นไปไม่ได้ที่จะไปควบคุมมัน โดยไม่ทำอย่าง Paul Volcker อดีตประธานเฟด (ที่ขึ้นดอกเบี้ยอย่างแรง )ในปี 1980

10. น้ำมันจะแตะระดับ 3 หลัก (100 เหรียญ) อีกครั้งในปี 2010 ราคาปัจจุบันราว 70 เหรียญ กับซัพพลายที่จำกัด ผู้ผลิตน้ำมันจาก ทราย tar ยังไม่คุ้มที่จะผลิต พลังงานนิวเคลียร์จะได้รับความสนใจ เมื่อซัพพลายยูเรเนียมจากอดีตสหภาพโซเวียตใกล้หมด เทคโนโลยีสีเขียวจะมีการโอ้อวดเกินจริงและมีแผนการณ์อื่นมากกว่าจะเป็นเรื่องจริง ภัยคุกคามจากโลกร้อนจะถูกขยายจนเกินจริงจากนักการเมืองและสื่อ ประชาชนยังคงจำได้ว่าในปี 1970 ทุกคนได้รับฟังจากนักการเมืองและสื่อว่า อุณหภูมิของโลกกำลังลดลงและเราจะกลับสู่ยุคน้ำแข็ง เพียงแค่ 3 ทศวรรษต่อมา เราถูกบอกในทางตรงกันข้าม เรื่องจริงคือมนุษย์ไม่สามารถควบคุมอะไรเกี่ยวกับอุณหภูมิโลกได้ ไม่ว่าจะร้อนหรือเย็น มันแค่ตัวอย่างที่นักการเมืองตบตา และทำให้เสียงบประมาณมหาศาลไปตลอดทาง

หมอไพศาล

สำหรับภาวะเศรษฐกิจ การเมือง และตลาดหุ้นในปี 2553 หมอไพศาล พยากรณ์ให้ฟังว่า ในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2553 “ตลาดหุ้นจะไม่ดีอย่างแรง” โอกาสปรับตัวลงมาอยู่ระดับ 400 จุดอาจมีให้เห็นได้ ช่วงนี้เหมาะสมมากที่นักลงทุนจะหาจังหวะช้อนหุ้นที่ชื่นชอบเก็บเอาไว้โดยเฉพาะกลุ่มพลังงาน ถ่านหิน และวัสดุก่อสร้าง เป็นต้น เนื่องจากพระราหูย้ายเข้ามาอยู่ในราศีธนู ซึ่งบ่งบอกว่าธุรกิจประเภทดังกล่าวจะรุ่งเรืองมาก

หลังจากนั้นตั้งแต่ในเดือนมีนาคม-มิถุนายน 2553 ตลาดหุ้นจะมีอาการ “ทรงตัว” ก่อนจะทะยานขึ้นไปสู่ “จุดสูงสุด” ในระหว่างเดือนกันยายน – ธันวาคม 2553 ซึ่งมีโอกาสจะทะลุ 700 จุดหรือ 800 จุดได้ ในแง่ของเศรษฐกิจในปี 2553 ก็จะดีขึ้นเรื่อยๆ ส่วนราคาทองคำมีโอกาสทะลุ 20, 000 บาท ใครมีเงินซื้อทองคำ (แท่ง) เก็บเอาไว้ได้กำไรแน่นอน

=========================================

ไว้จบปี 2010 เรามาดูกันนะครับ

ผลลัพธ์

0063: กฎทองของ Tao Zhu Gong

ขออนุญาตเอาข้อความที่ผมเคยโพสต์ไว้ในเวบ TVI เรื่องกฎทองของ Tao Zhu Gong มา archive ไว้ในนี้นะครับ
==========================================

พอดีเพิ่งได้อ่านหนังสือการ์ตูนจีนเรื่อง กฏทองของ Tao Zhugong คิดว่าน่าจะเอามาใช้กับหุ้นได้เลยเอามาฝาก

Tao Zhugong นี่เป็นข้าราชการของแคว้น Yue ซึ่งเป็นเมืองขึ้นของแคว้น Wu สมัยยุคก่อนจิ๋นซี Tao Zhu gong ช่วยเจ้าแคว้น Yue วางแผนจนได้เอกราชคืนจาก Wu แถมยังไปตี Wu จนได้ชัยชนะอีกด้วย

แต่พอ Yue เป็นเอกราชแล้ว TaoZhugong ก็รีบหนีออกจากราชสำนัก เพราะรู้ตัวว่าหมดประโยชน์แล้ว “เสร็จนา ฆ่าโคทึก” บรรดาเพื่อนข้าราชการของ TaoZhugong ที่ยังอยู่ต่อเพราะหวังจะได้บูนบำเน็ญ ก็ถูกเจ้าแคว้น Yue ผู้มีใจคับแคบประหารในเวลาต่อมา

TaoZhugong หนีไปอยู่แคว้น Qi เปลี่ยนชื่อแซ่เสียใหม่แล้วเริ่มยึดอาชีพเป็นพ่อค้า ความที่เป็นคนมีปัญญาทำให้ร่ำรวยอย่างรวดเร็ว เจ้าแคว้น Qi ได้ยินเกียรติศัพท์ เลยมาเชิญไปเป็นกุนซือ TaoZhugong ก็เลยหนีไปอยู่เมือง Dingtao เริ่มต้นชีวิตใหม่ ภายในเวลาไม่นาน TaoZhugong ก็กลายเป็นเศรษฐี (อีกแล้ว)

กฏข้อนึ่งบอกว่า don’t work against business cycle เวลาสินค้าตัวไหนถึงจุดสูงสุดของวัฏจักรแล้วกำลังจะเริ่มลง เขาบอกว่าให้รีบขายทิ้งออกไปให้เร็วที่สุดโดยไม่ต้องสนใจว่ากำไรหรือขาดทุนเท่าไร อย่าเสียดาย ผมว่าเป็นข้อดีที่เอามาใช้กับการเล่นหุ้นวัฏจักรได้

กฏอีกข้อนึ่งบอกว่า don’t give in to herd instinct คือให้ห้ามใจตัวเองไม่ให้กระโดดเข้าไปในธุรกิจที่ทุกคนกำลังแห่กันเข้าไปทำ (กฏข้อนี้ไม่ได้แย้งกับข้อข้างบนนะ ข้อข้างบนบอกว่าอย่าฝืน consumer demand แต่ข้อนี้บอกว่า อย่าแห่ตาม supply)

กฏอีกข้อบอกว่า don’t overbuy on credit เพราะฐานะการเงินที่ไม่แข็งแกร่งเป็นความเสี่ยงอย่างหนึ่งที่เรามองไม่เห็น

อีกข้อบอกว่า don’t under save อีกนี้บอกว่าควรมีเงินสดส่วนหนึ่งไว้เสมอ เพราะเมื่อใดที่โอกาสมาถึง เราจะได้สามารถคว้าโอกาสนั้นได้

ไม่เลวครับ

0021: โอกาสทางธุรกิจที่ดีเป็นอย่างไร?

Tao Zhugong เป็นกุนซือในยุคราชวงศ์โจวตะวันออกที่ผันตัวเองมาเป็นพ่อค้า เขาได้นำประสบการณ์ในการวางแผนเชิงกลยุทธ์มาใช้ในธุรกิจของเขาจนประสบความสำเร็จและได้กลายเป็นแบบอย่างของหลักการทำธุรกิจของชาวจีน

ครั้งหนึ่งได้เกิดกบฎน้อยใหญ่ทางตอนเหนือของแคว้นลู เจ้าแคว้นลูจึงได้ออกคำสั่งให้พวกเจ้าศักดินาทั้งหลายออกปราบกบฏ เจ้าศักดินาเหล่านั้นจึงต้องการเงินจำนวนมากเพื่อเตรียมทรัพยากรสำหรับออกรบ พวกเขาจึงเอ่ยปากขอยืมเงินจากบรรดาพ่อค้าคหบดีทั้งหลายรวมทั้ง Tao Zhugong ด้วย

พ่อค้าทั้งหลายรู้สึกวิตกกังวลมากเพราะเกรงว่าหากให้ยืมเงินแล้วเจ้าศักดินาเหล่านั้นแพ้สงครามหนี้ก็จะสูญ พ่อค้าเหล่านั้นถาม Tao Zhugong ว่าคิดเห็นอย่างไร Tao Zhugong บอกว่าถึงแม้การให้ยืมเงินลักษณะนี้จะมีความเสี่ยงสูงมาก แต่ธุรกิจทุกอย่างก็ต้องมีความเสี่ยง เขายินดีให้เจ้าศักดินาเหล่านั้นยืมเงิน แต่ต้องใช้คืนด้วยเงิน 10 เท่า เขาบอกว่า โอกาสชนะหรือแพ้สงครามเท่ากับ 50:50 แต่ถ้าเขาให้เจ้าศักดินายืมเงินสัก 10 ราย ด้วยผลตอบแทนที่สูงถึง 10 เท่า ขอเพียงแค่มีหนึ่งคนเท่านั้นที่ชนะสงคราม เงินต้นของเขาก็จะไม่สูญ เจ้าศักดินาเหล่านี้มีความสามารถในการใช้คืนหนี้สูงเพราะถ้าชนะสงครามพวกเขาจะได้ครอบครองที่ดินจำนวนมากซึ่งสามารถเก็บค่าเช่านำเงินมาชำระหนี้ได้ เขามองว่านี่เป็นโอกาส

พ่อค้าเหล่านั้นเห็นว่า Tao Zhugong จะคิดดอกเบี้ย 10 เท่า จึงเดาว่า Tao Zhugong คงรู้สึกไม่มั่นใจว่าจะได้เงินคืนถึงได้คิดดอกเบี้ยสูงขนาดนั้น พ่อค้าเหล่านั้นจึงปฏิเสธเจ้าศักดินาที่เดินทางมาขอยืมเงินและบอกให้ไปหา Tao Zhugong ทำให้เจ้าศักดินาทุกคนเดินทางมาขอยืมเงินกับ Tao Zhugong แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยจะสูงมากแต่เจ้าศักดินาเหล่านั้นก็ยินดียืมทุกคนเพราะพวกเขากำลังต้องการเงินอย่างมากและไม่มีพ่อค้าคนใดกล้าให้พวกเขายืม

เมื่อสงครามสงบมีเจ้าศักดินาชนะสงครามจำนวนมากกว่าที่ Tao Zhugong ประเมินไว้มาก Tao Zhugong จึงได้รับผลตอบแทนมหาศาลจากการให้ยืมเงินในครั้งนั้น

เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า โอกาสทางธุรกิจทุกชนิดมีความเสี่ยงทั้งนั้นไม่มากก็น้อย โอกาสทางธุรกิจที่ดีไม่ใช่โอกาสที่มีความเสี่ยงน้อยแต่เป็นโอกาสที่มีผลตอบแทนคาดหวังที่คุ้มค่าเกินความเสี่ยงที่ได้ประเมินไว้อย่างดีแล้ว…