0315: Notes on Valuation

  การที่คุณมีเกณฑ์ในการคัดหุ้นเหมือนอย่างเช่นในบทความที่แล้ว จะทำให้คุณมีรายชื่อหุ้นจำนวหนึ่งที่เหมาะแก่การลงทุนในระยะยาว งานต่อไปของนักลงทุนระยะยาวก็คือ แล้วเราควรจะซื้อหุ้นเหล่านั้นเมื่อไร?

บางคนบอกว่า สำหรับการลงทุนระยะยาวแล้ว จะซื้อเมื่อไรเลยก็ได้ แต่ในความคิดส่วนตัวของผม ผมยังมองว่าการซื้อหุ้นตูมเดียวด้วยเงินออมส่วนใหญ่ของเรา โดยไม่ต้องสนใจว่าราคาหุ้นในเวลาที่ซื้อนั้น เหมาะสมหรือไม่ ไม่ใช่แนวคิดที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับตลาดหุ้นสมัยนี้ที่นโยบายการเงินของธนาคารกลางเป็นแบบผ่อนคลายแทบตลอดเวลา ถ้าคุณบังเอิญเข้าซื้อหุ้นไทยตอน 1700+ จุด แล้วสามารถถือยาวมาได้ถึงเดียวนี้ สิบกว่าปี คุณก็ยังขาดทุนอยู่ดี ยังไงๆ ผมก็คิดว่า ราคาที่เข้าซื้อ ยังคงเป็นสิ่งสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นหุ้นดีแค่ไหน หรือถือยาวขนาดไหนก็ตาม 

แต่หากคุณขี้เกียจรอซื้อที่ราคาเหมาะสมจริงๆ หรือคิดว่าการหาราคาที่เหมาะสมเป็นเรื่องที่ยุ่งยากเกินไป ผมแนะนำให้คุณใช้วิธีทยอยซื้อทีละนิดไปเรื่อยๆ เป็นช่วงระยะเวลายาวๆ จะดีกว่าการเข้าซื้อทีเดียวด้วยเงินก้อนใหญ่ๆ เพราะการแบ่งช่วงเวลาที่ซื้อออกไปนานๆ จะช่วยให้คุณได้ต้นทุนเฉลี่ยที่ไม่แพงเกินไปโดยอัตโนมัติ น่าจะเป็นกลยุทธ์ที่ปลอดภัยกว่า (ถ้าสนใจวิธีนี้จริงๆ ลองดูตัวอย่างหนึ่งใน https://dekisugi.net/7thltg ก็ได้ครับ)

แต่ถ้าคุณสามารถลงทุนโดยมีการประเมินราคาที่เหมาะสมก่อนเข้าซื้อร่วมด้วยจะทำให้คุณมีโอกาสได้ผลตอบแทนที่สูงขึ้น การซื้อเฉลี่ยนั้นแม้จะปลอดภัยก็จริงแต่ต้นทุนเฉลี่ยที่ได้ก็มักจะไม่ถูกไม่แพง แต่เป็นกลางๆ ทำให้ผลตอบแทนอยู่ในระดับกลางๆ ไปด้วย ไม่ถึงขั้นดีมาก ต่างกับคนที่มีการระมัดระวังเรื่องต้นทุนที่เข้าซื้อลงทุนร่วมด้วย ถ้าเขาสามารถทำได้ดี จะช่วยเพิ่มผลตอบแทนได้อีกมาก

วิธีประเมินมูลค่าหุ้น ที่ง่ายที่สุดน่าจะเป็น P/E ซึ่งใช้ได้ดีเป็นพิเศษกับกิจการที่มีกำไรที่ค่อนข้างสม่ำเสมอ (easy to predict) ทุกปี อย่างไรก็ตาม ควรตรวจสอบด้วยว่า บริษัทมีกำไรพิเศษในปีนั้นทำให้ P/E ดูต่ำผิดปกติหรือไม่ เช่น มีการขายสินทรัพย์ครั้งใหญ่ในปีนั้นทำให้เกิดกำไรพิเศษ และการขายสินทรัพย์นั้น ไม่ได้เกิดขึ้นทุกปี อย่างนี้เราต้องตัดกำไรพิเศษเหล่านั้นออกไปก่อน เพื่อมิให้เกิดภาพที่บิดเบือนได้ เป็นต้น

หากเป็นหุ้นที่อยู่ในโผของเราอยู่แล้ว (พื้นฐานดีเหมาะกับการลงทุนระยะยาว) พีอีที่เหมาะสมจะขึ้นอยู่กับ อัตราการเติบโตในอนาคตที่เราเชื่อว่าเป็นไปได้เป็นสำคัญ เช่น ถ้าเราคิดว่า บริษัทนั้นน่าจะโตได้อย่างน้อยปีละเท่าๆ กับเงินเฟ้อ พีอีที่เหมาะสมก็น่าจะอยู่ที่ 10 เท่า (อันนี้เป็นมาตรฐานของผมเอง) แต่ถ้าบริษัทน่าจะเติบโตได้เกิน 10-15% ต่อปีอาจให้พีอีเหมาะสมมากขึ้น เช่น 12 เท่า ถ้าโตได้ถึง 20% ต่อปี ก็อาจให้พีอี 15-18 เท่าก็ได้ แต่ที่สำคัญ การเติบโตที่ว่านั้นต้องเป็นอัตราการเติบโตที่บริษัทน่าจะทำได้ต่อเนื่องกันหลายปี เช่น 3-5 ปีข้างหน้า ไม่ใช่เห็นว่าปีหน้าบริษัทมีโครงการใหญ่ทำให้กำไรก้าวกระโดด 50% ในปีเดียว ก็จะคิดว่าบริษัทนั้นโตได้ 50% ต่อเนื่องทุกปี ปกติแล้วการเติบโตในระดับ 10-20% ต่อปีนั้นอาจทำให้ต่อเนื่องในระยะยาวได้ไม่ยากนัก แต่ถ้า 50% ต่อปีนั้นมักเป็นไปได้ยากมากๆ ในกรณีเช่นนี้ เราต้องปรับความคาดหวังลงมาสักหน่อย เช่น อาจจะลดลงมาเหลือ 20% จะปลอดภัยกว่า (คิดว่าปีหน้า 50% หลังจากนั้น 10% ทำให้เฉลี่ยๆ แล้วเหลือ 20% ต่อปีในช่วง 3-5 ปีข้างหน้า) ส่วนถ้าเป็นหุ้นนอกโผ ผมคงไม่ลงทุนระยะยาวอยู่แล้ว แต่ถ้าจะให้พีอีที่เหมาะสม ผมก็คงให้แค่ 7 เท่าเสมอ ไม่ว่าจะโตได้มากแค่ไหน เพราะถือว่าพื้นฐานสอบไม่ผ่านที่จะลงทุนระยะยาวได้ ส่วนการให้พีอีหุ้นตัวทุกในโผเท่ากันหมดโดยไม่คำนึงถึง Growth Potential ที่แตกต่างกันเลยนั้น เป็นวิธีการที่ผมไม่ชอบ เพราะผมมองว่าเป็นการไม่ยุติธรรมกับธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตสูงกว่า

การใช้ P/E ในภาวะผิดปกติต้องระวัง เช่น ในช่วงเศรษฐกิจซบเซา หรือบริษัทกำลังเผชิญปัญหาใหญ่ เพราะพีอีมักให้ภาพที่บิดเบือน ตัวอย่างเช่น บริษัท ABC ในยามปกติมี Net Margin 3% พีอี 10 เท่า แต่เมื่อเกิดเศรษฐกิจซบเซาทำให้ Net Margin ลดลงชั่วคราวเหลือ 1% (แต่รายได้คงที่) สมมติว่าตลาดกดราคาหุ้นลง 30% พีอีใหม่จะกลายเป็น 21 เท่า ซึ่งทำให้เรารู้สึกว่าแพงอย่างมาก แต่ที่จริงแล้ว ส่วนลด 30% เป็นโอกาสทองของนักลงทุนระยะยาวที่จะซื้อ เพราะยอมทนรอหน่อย เมื่อทุกอย่างกลับมา มาร์จิ้นกลับมาที่ 3% ก็เท่ากับเราซื้อได้ที่พีอีแค่ 7 เท่าเท่านั้น ยิ่งถ้ารายได้กลับมาสูงกว่าเดิมด้วย (ซึ่งมักจะเป็นเช่นนั้น) ต้นทุนเราอาจเท่ากับพีอีแค่ 5-6 เท่าเท่านั้น แต่ถ้าเราคิดง่ายๆ แค่พีอี 21 เท่าแปลว่าแพงเสมอ ไม่รู้จักการพลิกแพลง เราก็พลาดโอกาสได้

P/E ไม่ใช่ตัวชี้วัดมูลค่าที่ดีสำหรับธุรกิจที่มีกำไรไม่แน่นอน เพราะถ้าปีนี้ P/E ต่ำ ไม่ได้แปลว่า ปีหน้า P/E จะต่ำ เพราะปีหน้ากำไรอาจร่วงลงอย่างแรงทำให้ P/E สูงขึ้นอย่างผิดหูผิดตาก็ได้ ถ้าผมจะตีมูลค่าหุ้นพวกนี้ ผมมักหาวิธีการอย่างอื่นแทน ตัวอย่างเช่น หุ้นโรงกลั่นในภาวะที่ค่าการกลั่นตกต่ำ บริษัทอาจขาดทุนทำให้พีอีติดลบ ผมจะหันไปใช้วิธีหาตัวเลขว่า ทุกวันนี้โรงกลั่นน้ำมันสร้างใหม่ต้องใช้เงินลงทุนเท่าไรต่อกำลังการผลิต 1 ล้านบาร์เรล แล้วตีราคาบริษัทตามกำลังการผลิต (Replacement Cost Method) แทน (อย่าลืมดูด้วยว่าโรงกลั่นของบริษัทมีสัดส่วน output ชนิดต่างๆ ใกล้เคียงกับ benchmark มากแค่ไหน) เช่นนี้เป็นต้น จะเห็นได้ว่า ที่จริงแล้ว การตีราคาหุ้นนั้นไม่มีสูตรสำเร็จ แต่ต้องเลือกเครื่องมือให้ได้เหมาะสมกับสถานการณ์มากกว่า เราต้องการอะไรสักอย่างที่ทำให้เรามั่นใจว่า ราคาเท่าไรถึงจะไม่แพง ถ้าเป็นธุรกิจที่มีความแน่นอนต่ำมาก หาวิธีที่ทำให้เรามั่นใจมูลค่าไม่ได้ อย่าลงทุนระยะยาวดีที่สุด ถ้าจะซื้อก็เล่นสั้น ๆก็พอ

สำหรับ P/B นั้น โดยส่วนตัว ผมแทบไม่ได้ใช้เลย ผมมองว่ามูลค่าทางบัญชีของสินทรัพย์ทุกวันนี้ สะท้อนมูลค่าของธุรกิจได้น้อยมากๆ

ส่วน P/S นั้น ใช้ประโยชน์ได้เหมือนกัน เพราะใช้แทน พีอี ในช่วงที่บริษัทขาดทุนได้ ผมมักจะดูว่า P/S ของบริษัทสูงหรือต่ำเมื่อเทียบกับ P/S ในอดีต ประกอบการตัดสินใจด้วย เป็นต้น

ส่วนการศึกษา DCF นั้นช่วยทำให้เราเข้าใจได้ลึกขึ้นว่า มูลค่าของธุรกิจขึ้นอยู่กับอะไรบ้าง (เช่น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับกำไรปีนี้หรือปีหน้าปีเดียว แต่ปีต่อๆ ไปอีก อีกทั้งยังขึ้นอยู่กับอัตราดอกเบี้ย อัตราการเติบโต และ investment ratio ของธุรกิจนั้นๆ อีกด้วย เป็นต้น) แต่ในสถานการณ์จริง โอกาสที่จะได้ใช้ DCF จะมีไม่มากนัก เพราะคุณต้องมีข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทนั้นๆ แบบค่อนข้างละเอียดและครบถ้วนมากทีเดียวจึงจะทำ DCF ได้ แต่ส่วนใหญ่แล้วเรามักไม่สามารถหาข้อมูลได้ครบถ้วนถึงขนาดนั้น

ธุรกิจกับความไม่แน่นอนเป็นของคู่กัน ดังนั้นหุ้นจึงเป็นหลักทรัพย์ที่หามูลค่าที่แน่นอนไม่ได้อยู่แล้วโดยธรรมชาติ มีแค่ “ช่วง” ที่เป็นไปได้หรือเหมาะสมเท่านั้น ฉะนั้น การวัดมูลค่าหุ้นจึงเป็นศิลปะมากกว่าวิทยาศาสตร์ ผมใช้หลักถ้าไม่แน่ใจก็ไม่เอาไว้ก่อน เช่น หุ้นตัวหนึ่งดีมาก เราเชื่อว่าโตได้ 50% ต่อปี แต่ถ้าราคาหุ้นแพงมากๆ แบบนี้เราก็อาจจะไม่เอาไว้ก่อน เพราะต้องเสี่ยงซื้อของแพง สู้เอาเงินไปซื้อหุ้นที่โตได้แค่ 10% ต่อปี แต่ราคาหุ้นต่ำมากจนดูเป็นการลงทุนที่ปลอดภัยน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า แบบนี้เป็นต้น ใช้การวัดมูลค่าเป็นสิ่งที่ช่วยเพิ่มความปลอดภัยในกับการลงทุนของเราก็พอ ไม่ใช่กฏเหล็กตายตัว (เพราะเราไม่ได้ซื้อหุ้นตัวเดียวด้วยเงินทั้งหมดอยู่แล้ว เรามีการกระจายความเสี่ยงช่วยด้วย)

สำหรับพอร์ตลงทุนระยะยาว ผมไม่คิดว่าจะต้องซื้อหุ้นให้ได้ถูกมากๆ เพราะเน้นหุ้นดีอยู่แล้ว ต่อราคามากๆ อาจไม่มีวันได้ซื้อ แต่ผมจะหลีกเลี่ยงการซื้อแพงๆ ถ้าหุ้นดีมากๆ แต่ต้องซื้อในราคาที่ไม่แน่ใจว่าแพงไปหรือไม่ ผมมักจะขอเลือกหุ้นที่ดีน้อยลงมาสักหน่อย แต่ซื้อได้ในราคาที่ทำให้เกิดความสบายใจได้เป็นหลักครับ

0309: เรื่องของเดือนวาด

เมื่อสี่ปีที่แล้ว เดือนวาดได้รับมรดกก้อนหนึ่งจากบิดา มันอาจไม่ใช่เงินจำนวนมากนักสำหรับใครหลายๆ คน แต่สำหรับข้าราชการชั้นผู้น้อยอย่างเธอแล้ว ถือว่ามากโขทีเดียว เธอหวังจะใช้มันเพิ่มความมั่นคงทางการเงินให้กับเธอ

ดอกเบี้ยเงินฝากในเวลานั้นต่ำมาก เธอจึงยังไม่สามารถอยู่เฉยๆ ได้ด้วยดอกเบี้ยจากเงินก้อนนี้ล้วนๆ เธอจึงมองหาวิธีอื่นที่จะทำให้เงินก้อนนี้ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า เธอได้ยินมาว่า ตลาดหุ้นให้เงินปันผลสูงกว่าดอกเบี้ยธนาคารมาก

เธอไม่ใช่คนที่ชอบความเสี่ยง เธอเคยได้ยินคนเจ๊งหุ้นมาเยอะมาก เธอจึงตัดสินใจว่า การซื้อหุ้นครั้งนี้ของเธอ จะต้องอนุรักษ์นิยมให้มากที่สุด เธอหาหนังสือเรื่องการลงทุนในตลาดหุ้นมาอ่าน 3-4 เล่ม และยังเข้าร่วมฟังสัมมนาหุ้นอีกหลายครั้ง ในที่สุด เธอก็ได้พบเคล็ดลับมาว่า หุ้นที่ปันผลสูงๆ และมีพีอีและพีบีต่ำมากๆ เป็นหุ้นราคาถูก เธอจึงคัดเลือกหุ้นที่มีลักษณะดังกล่าว 10 ตัว แล้วใช้เงินมรดกทั้งหมดที่ได้มาซื้อหุ้นเหล่านั้น 

อัตราเงินปันผลเฉลี่ยของตลาดหุ้นในเวลานั้น สูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากค่อนข้างมาก ด้วยเหตุนี้ ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา เธอจึงได้รับเงินปันผลในระดับที่สูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากอย่างมีนัยสำคัญ เงินปันผลจำนวนนี้ช่วยค่าใช้จ่ายประจำวันของเธอได้มาก แต่ก็ไม่ถึงกับทำให้สามารถลาออกจากราชการไปอยู่บ้านเฉยๆ ได้ แต่อย่างน้อยมันก็สร้างความอุ่นใจให้กับเธอได้มาก เธอถึงกับกล่าวกับตัวเองว่า “เรามาถูกทางแล้ว”

แต่เรื่องที่ดูจะแย่หน่อยก็คือว่า หลายปีที่ผ่านไป หุ้นที่เธอซื้อไว้หลายตัว กลับมีราคาในกระดานที่ลดลงเรื่อยๆ จนทำให้พอร์ตของเธอติดตัวแดง เธอแปลกใจมากที่ทำไมซื้อหุ้นที่พีอีต่ำมากขนาดนั้นแล้ว ราคาหุ้นก็ยังตกต่อไปได้อีก นี่คงจะเป็นเพราะว่า ตลาดไม่มีเหตุผลอย่างที่ตำราว่าไว้  เรื่องนี้ทำให้เธอรู้สึกสะเทือนใจไม่น้อย เพราะตลอดชีวิตเธอยังไม่เคยเห็นเงินก้อนใหญ่ต้องขาดทุนเป็นสีแดงขนาดนี้มาก่อน แต่เธอก็พยายามบอกตัวเองว่า ไม่เป็นไร เพราะเราซื้อหุ้นเพื่อกินเงินปันผลเป็นหลัก เราควรมองระยะยาว ตราบใดที่ยังไม่ได้ขายออกมา ยังถือว่า ไม่ขาดทุน เธอไม่แน่ใจว่าคิดอย่างนี้ได้หรือเปล่า แต่ที่แน่ๆ วิธีคิดแบบนี้ ช่วยทำให้เธอสบายใจได้มาก 

เมื่อเร็วๆ นี้ เพื่อนสนิทคนหนึ่งของเธอได้ชักชวนให้เธอไปเซ้งทำเลเปิดร้านขายของกระจุ๊กกระจิกซึ่งเป็นสิ่งที่เธอรัก เดี๋ยวนี้เธอมีความกล้ามากกว่าเมื่อสี่ปีที่แล้วมาก เธอจึงตัดสินใจที่จะลองทำการค้าดูสักตั้ง ครั้งหนึ่งเธอเคยอ่านเจอในหนังสือการลงทุนว่า เวลาซื้อหุ้นให้คิดเหมือนกับเวลาลงทุนทำกิจการ เธอคิดต่อไปว่า ถ้าอย่างนั้นเวลาจะลงทุนทำกิจการก็ควรคิดให้เหมือนกับเวลาซื้อหุ้นด้วย เธอหวังว่าความรู้เรื่องการลงทุนในหุ้นที่เธอมีจะช่วยเธอในการลงทุนทำกิจการครั้งนี้ได้ด้วย

คิดได้ดังนั้น เธอจึงรีบไปติดต่อศูนย์การค้าแห่งหนึ่งเพื่อขอเลือกเซ้งพื้นที่ทำร้าน เจ้าหน้าที่ฝ่ายขายพาเธอไปยังโซนร้านขายของกระจุ๊กกระจิกของทางห้างฯ ซึ่งมีบูทขนาดเล็กให้ผู้เช่ารายย่อยเช่าขายของอยู่เป็นจำนวนมาก

เมื่อไปถึง เจ้าหน้าที่ก็ชี้ให้เธอดูบูทที่กำลังว่างอยู่บูทหนึ่ง ซึ่งตั้งอยู่ในมุมที่ค่อนข้างจะดีมาก เพราะอยู่ใกล้กับบันไดเลื่อนทำให้มี Traffic ผ่านตลอด แต่ยังไม่ทันที่เจ้าหน้าที่จะหยิบเอกสารที่แสดงสถิติของจำนวนลูกค้าที่เดินผ่านบูทนี้ในแต่ละวันออกมาอธิบาย เดือนวาดก็ถามตัดบทขึ้นว่า  “เจ้าของบูทคนเดิม ปีที่แล้ว บริษัทเขาปันผลเท่าไร?” 

เจ้าหน้าที่ฟังแล้วก็รู้สึกงงๆ กับคำถาม “ผมไม่ทราบเหมือนกันครับ เพราะเป็นเรื่องภายในของลูกค้าเอง แต่ถ้าให้ผมคิดเอาเอง ผมว่าเขาคงแทบจะไม่ได้ปันกำไรออกมาใช้เลย เมื่อปีที่แล้ว เพราะเขาพึ่งจะย้ายไปอยู่อีกมุมหนึ่ง ที่ค่าเช่าแพงกว่านี้มาก แล้วขยายร้านให้ใหญ่ ขึ้นเป็นสองเท่า เขาคงต้องใช้เงินลงทุนเพิ่มเยอะมากทีเดียว ผมเลยเดาว่า เมื่อปีที่แล้วสงสัยบริษัทของเขาคงจะไม่ได้ปันผลเลยสักบาท และน่าจะต้องเอาเงินใหม่ใส่ลงไปอีกด้วยซ้ำ” เดือนวาดพังแล้วก็ส่ายหัวทันที

เจ้าหน้าที่พูดกับเดือนวาดต่อไปว่า เขามีข้อมูลที่แจกแจงกลุ่มลูกค้าที่เดินผ่านบูทนี้โดยแยกตามเวลา วันของสัปดาห์ เพศ อายุ และยอดใช้จ่าย ซึ่งเขาสามารถอธิบายรายละเอียดของข้อมูลให้เดือนวาดฟังได้ แต่พอเจ้าหน้าที่จะเริ่มอธิบาย เดือนวาดก็ตัดบทอีกว่า เรื่องพวกนั้นไม่จำเป็น  

เธอสอบถามเจ้าหน้าที่เรื่องค่าเช่าต่อตรม. เธอพบว่า บูทนี้ค่อนข้างจะแพงมากทีเดียว เจ้าหน้าที่อธิบายว่าเป็นเพราะทางห้างจะคิดค่าเช่าไปตามจำนวน Traffic ที่ผ่านหน้าบูทในแต่ละวันเป็นหลัก บูทนี้ Traffic ค่อนข้างมาก ค่าเช่าก็เลยสูง เธอส่ายหัวอีกครั้ง แล้วขอให้เจ้าหน้าที่เอาค่าเช่าต่อตรม.ของทุกบูทที่ยังว่างอยู่ออกมาดูให้หมดทุกบูท

เมื่อเธอดูเสร็จ เธอก็ตัดสินใจเลือกเซ้งบูทที่มีค่าเช่าต่อตรม.ต่ำที่สุด บูทนี้ตั้งอยู่ในช่องสุดท้ายของแถวสุดท้ายซึ่งเป็นแถวที่เป็นทางตันไม่มีทางทะลุออกไปยังอีกด้านอื่นของชั้น เจ้าหน้าที่ได้แต่งง ที่เธอรีบตัดสินใจอย่างนั้น เขารู้สึกอยากจะแย้งเธอ เพราะประสบการณ์ของเขาบอกว่า วิธีเลือกบูทของเธอนั้นไม่เวิร์ค แต่เขาเห็นเธอยืนกรานอย่างแข็งขันมาก ก็เลยคิดว่า อย่าขัดใจลูกค้า จะดีกว่า เราเป็นแค่เจ้าหน้าที่ มีหน้าที่ทำให้ลูกค้าพอใจ 

เดือนวาดตัดสินใจขายหุ้นทั้งพอร์ตออกมาทั้งที่ยังแดงอยู่ แล้วนำเงินทั้งหมดที่ได้ไปเซ้งบูทที่เธอเลือกด้วยตนเอง เธอมั่นใจและตั้งคาดหวังกับการลงทุนครั้งนี้ของเธออย่างมาก เพราะบูทที่เธอค้นพบเป็นบูทที่มีค่าเช่าต่อตรม.ที่ต่ำที่สุดในห้างฯ เท่าที่เธอ เคยได้ยินมา เธอดีใจมากที่ได้เจอเข้ากับของถูกสุดๆ เข้าแล้ว เธอคิดว่าไม่เสียแรงที่เธอศึกษาหาความรู้เรื่องการลงทุนในตลาดหุ้น เงินส่วนที่ขายหุ้นขาดทุนไปถือว่าเป็นค่าครู 

ดึกแล้ว แต่เดือนวาดยังนอนไม่หลับ เธอรอไม่ไหวแล้วที่พรุ่งนี้ เธอจะได้ไปขายของที่เธอรักที่ห้างฯ แห่งนั้นเป็นวันแรก เธอคิดว่างานนี้มีแต่ได้กับได้…  

     

0306: บิล มิลเลอร์

บิล มิลเลอร์ ผู้จัดการกองทุน Value Trust แห่ง Legg Mason Capital Management ถือเป็นผู้จัดการกองทุนคนเดียวที่สามารถเอาชนะดัชนี S&P500 ได้ติดต่อกันยาวนานที่สุดคือ 15 ปี (เขาเพิ่งจะเสียสถิติไปเมื่อปี 2006) แม้ว่าเขาจะได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนน้อยลงมากหลังจากที่เขาเสียสถิติไปแล้วและผลงานของเขาหลังจากนั้นก็ยังคงดูไม่ค่อยดีนัก แต่วิธีคิดของผู้จัดการกองทุนคนเดียวที่เคยชนะตลาดติดต่อกัน 15 ปีได้ นับว่าเป็นเรื่องที่น่าศึกษาเป็นอย่างยิ่ง (เนื้อหาต่อจากนี้ไปมีบางส่วนเป็นความเห็นต่าง ซึ่งอาจก่อให้เกิดความขัดแย้งกับความเชื่อที่มีอยู่เดิมของผู้อ่านได้ หากไม่ต้องการอ่านต่อ กรุณาคลิก ที่นี่ )  

บิล มีประวัติที่แปลกกว่าผู้จัดการกองทุนทั่วไป เขาไม่ได้เรียนมาทางการเงินเลย แต่เขาจบปริญญาเอกทางด้านปรัชญา ซึ่งเขาบอกว่า วิธีคิดแบบปรัชญามีอิทธิพลต่อวิธีการมองตลาดทุนของเขาอย่างมาก

เดิมที บิลไม่ได้ทำงานด้านการเงิน แต่เขาต้องไปรับส่งภรรยาของเขา ซึ่งทำงานอยู่ที่ Legg Mason ทุกวัน เขาจึงชอบไปนั่งอ่านหนังสือในห้องสมุดของบริษัท เมื่อประธานบริษัทเห็นเขาเป็นประจำก็เกิดความสนใจว่าทำไมคนนี้จึงชอบใช้ห้องสมุดทางการเงินที่เขาอุตส่าห์สร้างขึ้นมาเพื่อหวังให้พนักงานบริษัทอ่านหนังสือมากๆ เพื่อเพิ่มพูนความรู้ แต่กลับไม่ค่อยมีพนักงานของบริษัทมานั่งอ่าน เมื่อได้คุยกัน ก็ถูกใจในความคิดความอ่านจึงได้ชวนบิลมาทำงาน แล้วชีวิตของบิลก็เดินเข้าสู่วงการการเงินนับแต่นั้น จนกลายมาเป็นผู้จัดการกองทุน ที่มีชือเสียงระดับตำนานในเวลาต่อมา

บิล บริหารกองทุน Value Trust ซึ่งเขาบอกว่าเป็นกองทุนที่ยึดหลัก Value Investment แต่เขามักถูกวิพากษ์วิจารณ์อยู่เสมอว่าไม่ได้ใช้หลักการดังกล่าวจริงๆ เนื่องจากหุ้นส่วนใหญ่ในพอร์ตเป็นหุ้นที่ตลาดมองว่าเป็น Growth Stocks เป็นส่วนใหญ่ (Amazon, Google, EBay, etc) 

บิลแย้งว่า สำหรับเขา Value Investment คือการซื้อหุ้นที่เทรดต่ำกว่าคุณค่าของมันมากๆ ไม่ว่าหุ้นเหล่านั้นจะเป็นหุ้นอะไร ที่พอร์ตของเราถือหุ้นเทคโนโลยีไว้มาก เป็นเพราะเรามองว่า หุ้นเทคโนโลยีในปัจจุบันจำนวนมากเป็นหุ้นที่ยังเทรดต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริงของมันมาก พีอีไม่ใช่สิ่งที่เขาใช้มองหาคุณค่า เขามองว่าพีอีใช้บอกคุณค่าได้แค่เพียงบางด้านเท่านั้น เมื่อตอนที่เขาลงทุนใน Dell เทรดที่พีอี 35 เท่า ในขณะที่ Gateway เทรดที่ 12 เท่า แต่บิลเลือก Dell เพราะในเวลานั้นธุรกิจของ Dell สร้างผลตอบแทนได้ 200% ของเงินลงทุนทุกปี (Return on investment) ในขณะที่ Gateway ทำได้แค่ 40% การที่ Dell เทรดสูงกว่า Gateway แค่ 3 เท่าทั้งที่สามารถสร้างผลตอบแทนของเงินลงทุนได้สูงกว่าถึง 5 เท่า จึงแสดงว่า Dell เป็นหุ้นที่ undervalued มากกว่าเมื่อเทียบกับ Gateway

ในการหา intrinsic value บิลจะใช้หลายโมเดลเสมอเพื่อพิจารณาประกอบกันเสมอ แทนที่จะใช้ตัวชี้วัดตัวใดตัวหนึ่งเพียงแค่ตัวเดียว 

นอกจาก การเลือกลงทุนแต่หุ้นที่ประเมินว่ายังเทรดต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริงมากๆ แล้วเท่านั้น บิลยังอาศัยการมองธุรกิจโดยเน้นที่ภาพระยะยาวมากเป็นหลัก บิลอธิบายว่า หุ้นที่มีรายได้เติบโตสูงในระยะยาว ราคาหุ้นมักผันผวนมากในระยะสั้น เพราะคุณค่าของมันขึ้นอยู่กับการเติบโตในอนาคต ราคาจึงอ่อนไหวกับความคาดหวังของตลาดมาก นักลงทุนจึงมักรู้สึกว่าเป็นหุ้นที่เสี่ยง แต่ที่จริงแล้ว หุ้นที่สามารถสร้างรายได้ให้เติบโตสูงในระยะยาวได้เท่านั้นที่จะทำให้ราคาหุ้นวิ่งไปได้ไกลที่สุดในระยะยาว มันจึงเป็นหุ้นที่น่าถือไว้ในระยะยาวมากที่สุด การลงทุนที่มองภาพในระยะยาวมากเป็นหลักทำให้ Va lue Trust เป็นกองทุนที่มีอัตราการเทรดที่ต่ำมาก คือประมาณ 20% ของทั้งพอร์ตต่อปีเท่านั้น (เทียบกับค่าเฉลี่ยของทั้งอุตสาหกรรมกองทุนรวมในสหรัฐฯ ซึ่งเกิน 100% ต่อปี) บิลต้องการให้พอร์ตโตไปด้วยกันกับกิจการที่เขาลงทุน

ในการลงทุน บิลไม่ให้ความสำคัญกับข้อมูล forecast เพราะ บิลเชื่อว่า forecast ที่อยู่ในหนังสือพิมพ์ทั้งหมด ถูก discount ไปในราคาหุ้นหมดแล้ว (if it’s in the newspaper, it’s in the price) ข้อมูลเกี่ยวกับ forecast จึงเป็นข้อมูลที่ไม่สามารถช่วยให้ชนะตลาดได้ บิลมองว่ากำไรในอีก 12 เดือนข้างหน้ามักไม่ค่อยมีผลต่อราคาหุ้นในวันนี้ เพราะตลาดมัก forecast ไปล่วงหน้า 12 เดือน กำไรในช่วง 12 เดือนข้างหน้าจะมีผลต่อราคาหุ้นก็ต่อเมื่อกำไรที่ออกมาผิดจาก forecast ไปมากๆ เท่านั้น เขายกตัวอย่างว่า สมมติว่า IBM ถูกคาดหมายว่าจะกำไร $5 ในอนาคตอันใกล้ แต่พอถึงเวลานั้นจริงๆ หาก IBM กลับทำกำไรได้แค่ $3 บางคนอาจคิดว่าราคาหุ้น IBM คงจะลง แต่ปรากฏว่าราคาหุ้น IBM อาจปรับเพิ่มขึ้นถึง 50% เลยก็ได้ถ้าหากตลาดคิดต่อไปแล้วว่าในช่วงเวลาถัดจากอีก 12 เดือนออกไป IBM จะกลับมามีกำไร $7 ปรากฏการณ์ในลักษณะเช่นนี้มีให้เห็นได้บ่อยๆ ในตลาดหุ้น

บิลเชื่อว่า ตลาดหุ้นไม่ได้มีประสิทธิภาพในแง่ที่ว่าราคาหุ้นสะท้อนมูลค่าที่แท้จริงของกิจการตลอดเวลา แต่ตลาดหุ้นก็มีประสิทธิภาพสูงมากในแง่ของการซึมซับข่าวอย่างรวดเร็ว (informationally efficient) หมายความว่า คุณไม่มีทางเอาชนะตลาดได้โดยการรู้ข่าวก่อนคนอื่น ผลกำไรส่วนเกินในตลาดหุ้นต้องมาจากการ exploit ความลำเอียงของตลาดซึ่งเป็นผลมาจาก Psychological Bias อันเป็นข้อบกพร่องของมนุษย์ ซึ่งกลไกตลาดไม่สามารถขจัดออกไปได้ (เพราะตลาดประกอบด้วยมนุษย์) เขาจึงให้ความสำคัญกับการศึกษาเรื่อง Bias ของมนุษย์มาก เพราะมองว่าคือหนทางสำคัญที่จะทำให้ชนะตลาดได้ เขายังเป็นประธาน SantaFe Institute ซึ่งวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้อีกด้วย 

บิลกล่าวว่า วิธีเอาชนะตลาดนั้นมีอยู่หลายวิธี แต่วิธีที่ไม่ใช่แน่นอนคือวิธีการลงทุนที่เหมือนกับคนส่วนใหญ่ในตลาด     

0305: วอเรน บัฟเฟต

วอเรน บัฟเฟต จัดว่าเป็นนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในโลก 

วอเรน ซื้อหุ้นครั้งแรกเมื่ออายุได้เก้าขวบ ราคาหุ้นที่ร่วงลง ทำให้เขาวิตกกังวลมาก เมื่อราคาหุ้นเด้งกลับมาจนมีกำไร เขาก็ขายหุ้นนั้นด้วยความโล่งอก แต่หลังจากนั้น หุ้นดังกล่าวก็ทะยานขึ้นอย่างมากมาย ประสบการณ์ครั้งนั้นทำให้วอเรนเห็นข้อเสียของการขายหุ้น

ในวัยหนุ่ม วอเรน เริ่มมีแนวการลงทุนที่ชัดเจนเป็นครั้งแรก เมื่อได้ศึกษาแนวทางของ เบนจามิน แกรม ที่เรียกว่า Value Investment ซึ่งสอนให้มองการซื้อหุ้นให้เหมือนการซื้อธุรกิจจริงๆ มากกว่าการซื้อเศษกระดาษ วอเรนกล่าวว่า แนวคิดนี้ช่วยทำให้เขาตาสว่าง

ในช่วงแรก วอเรนยึดมั่นในวิธีของเบน แกรมอย่างเหนียวแน่น เขาเลือกลงทุนในหุ้นก้นบุหรี่ ซึ่งหมายถึง หุ้นที่มีราคาต่ำกว่าสินทรัพย์ของบริษัทอย่างมากเสียจน ซื้อแล้วแทบไม่มีอะไรจะเสียได้อีกแล้ว

แต่ต่อมา เขาก็ค้นพบว่า ที่จริงแล้ว ธุรกิจจะมีบางสิ่งที่จับต้องไม่ได้ แต่มีค่ามากมายกว่าสินทรัพย์ในงบดุล เป็นอย่างมาก เขาเรียกมันว่า Franchise Value หลังจากนั้น วอเรน ก็เริ่มลงทุนด้วยการค้นหาบริษัทที่มี Franchise Value เป็นหลัก นี่เองที่เป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ผลตอบแทนของวอเรนในช่วงหลัง แซงหน้าเบนจามิน แกรม อย่างมีนัยสำคัญ

ในช่วงนี้ เขายังได้ศึกษาแนวการลงทุนของ Philip Fisher อีกด้วย ซึ่งเน้นให้ลงทุนในธุรกิจที่มีอนาคตที่ยาวไกล และให้ความสำคัญกับการประเมินคุณภาพของผู้บริหารเป็นอย่างยิ่ง ทำให้วอเรน เริ่มมีแนวการลงทุนเป็นของตนเอง ซึ่งเขาบอกว่า เป็นการผสมแนวของแกรมและฟิชเชอร์ในสัดส่วน 70:30

การลงทุนครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดของเขาคือการใช้เงินจำนวนมากเข้าซื้อหุ้นโคล่าโคล่า ซึ่งวอเรนมองว่าเป็นกิจการที่มี Franchise Value คือ ตราสินค้าที่ไม่มีใครเทียบเคียงได้ เขาซื้อมันที่พีอีเรโชประมาณ 16 เท่า ซึ่งสูงกว่าพีอีตลาดในขณะนั้นถึงเกือบสองเท่าตัว แต่หลังจากนั้น บริษัทโคล่าโคล่าก็มีอัตราการเติบโตของกำไรที่อย่างต่อเนื่องยาวนานหลายปี ขยายกิจการไปทั่วโลก ทำให้มันมีมูลค่าเพิ่มขึ้นอย่างมากมาย

หุ้นโคล่าเคยมีราคาสูงสุดในช่วงปี 2000 ที่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ บูมสุดขีด ซึ่งทำให้หุ้นของวอเรนมีมูลค่าตลาดสูงกว่าต้นทุนที่ซื้อมามากถึง 16 เท่าตัว ก่อนที่จะถอยกลับลงมาเหลือประมาณ 9 เท่าตัวในปัจจุบัน แม้จะตกลงมามาก แต่เพราะกำไรที่เพิ่มขึ้นได้อย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลาติดต่อกันที่ยาวนานมากในช่วงระยะเวลาหนึ่งหลังจากบัฟเฟตเข้าลงทุน ทุกวันนี้แม้ว่าโค้กจะไม่เติบโตมากเท่ากับสมัยก่อน แต่หุ้นโค้กก็ยังให้เงินปันผลแก่เขา ปีละประมาณถึง 1/3 ของต้นทุนที่เขาได้ลงทุนไปทุกๆ ปี

0290: Making sense of an IPO (1)

บริษัทมหาชนจำกัด (บมจ.) แตกต่างจากบริษัทจำกัด (บจก.) ทั่วไปตรงที่สามารถระดมทุนจากสาธารณชนได้ กฎหมายระบุไว้มิให้บริษัทจำกัดทั่วไปเชิญชวนให้ชาวบ้านเอาเงินมาลงทุนเป็นการสาธารณะ เพราะสุ่มเสี่ยงต่อการหลอกลวงเป็นอย่างมากแบบเดียวกับแชร์ลูกโซ่ทั้งหลายที่เป็นข่าวอยู่บ่อยๆ  

บมจ.ต้องอยู่ภายใต้ พรบ.มหาชน ซึ่งมีกติกาในการประกอบกิจการที่ยุ่งยากกว่าบริษัทจำกัด กติกาเหล่านี้ออกแบบมาเพื่อเพิ่มความยากลำบากให้กับผู้ถือหุ้นใหญ่ที่มีเจตนาจะเอารัดเอาเปรียบผู้ถือหุ้นรายย่อย การระดมทุนต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรกของบมจ. จะเรียกว่า Initial Public Offering หรือ IPO และหุ้นที่นำมาขายก็จะเรียกว่า หุ้น IPO หรือว่า หุ้นจอง ที่เราคุ้นเคยกันนั่นเอง

อันที่จริง เมื่อบมจ.ขายหุ้นจองได้แล้ว บมจ.ไม่จำเป็นต้องนำหุ้นเข้าไปจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ก็ได้ กฎหมายไม่ได้บังคับไว้ ดังนั้นการเสนอขายหุ้นจองกับการนำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดฯ จึงเป็นคนละเรื่องกัน  แต่ในทางปฏิบัติ ถ้าหาก บมจ.ไม่นำหุ้นเข้าไปจดทะเบียนในตลาดฯ ด้วย นักลงทุนส่วนใหญ่จะไม่จองซื้อหุ้นของบริษัท เพราะซื้อแล้วขายต่อเพื่อทำกำไรได้ยาก เพราะไม่ได้มีตลาดรองรับ ทำให้ไม่น่าซื้อ ฉะนั้น ส่วนใหญ่แล้ว บมจ. ที่ขายหุ้นจองจึงมักต้องนำหุ้นเข้าไปจดทะเบียนในตลาดฯ ด้วยเสมอ เพื่อช่วยให้หุ้นจองขายออก การเสนอขายหุ้นจองจึงมักตามมาด้วยการนำหุ้นเข้าไปจดทะเบียนในตลาดฯ เสมอจนคนทั่วไปนึกว่า เป็นเรื่องเดียวกันไปเสียแล้ว

นักลงทุนที่กล้าซื้อหุ้นจองตั้งแต่ก่อนที่บริษัทจะได้รับอนุญาตจาก กลต.ให้เข้าจดทะเบียนในตลาดฯ ได้หรือที่เรียกว่าผ่านไฟลิ่ง ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นพวกนักลงทุนสถาบัน หรือพวก private equity ซึ่งมีศักยภาพมากพอที่จะเข้าไปตรวจสอบบริษัทเองได้เท่านั้น นักลงทุนเหล่านี้จะมักได้ซื้อหุ้นของบริษัทในราคาที่ต่ำกว่าที่คาดว่าจะเป็นราคาจองมาก ทำให้มีโอกาสได้กำไรสูงเมื่อหุ้นเข้าตลาดฯ ได้สำเร็จ แต่นักลงทุนเหล่านี้ก็ต้องเสี่ยงกับการที่บริษัทอาจเข้าตลาดได้ช้ากว่ากำหนด หรือถ้าแย่กว่าอาจเข้าตลาดไม่สำเร็จในที่สุด ซึ่งเป็นเรื่องที่เสี่ยงมากสำหรับนักลงทุนที่ไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบบริษัทได้ด้วยตนเอง

ปกติแล้วการจะผ่านไฟล์ลิ่งของกลต.ได้นั้น มีขั้นตอนที่ยุ่งยากมากพอสมควร ข้อกำหนดที่เข้มงวดเหล่านี้ช่วยทำให้เกิดความเชื่อมั่นมากขึ้นในระดับหนึ่งว่า กิจการของบริษัทมีความน่าเชื่อถือมากพอ (ไม่ใช่บริษัทไก่กา) ที่จะปล่อยให้นักลงทุนรายย่อย ซึ่งโดยพฤติกรรมแล้ว มีการศึกษาก่อนที่จะลงทุนน้อยมาก ซื้อหุ้นเหล่านั้นในตลาดฯ ได้ โดยมากแล้ว บมจ.ทุกแห่งจำเป็นต้องจ้างที่ปรึกษาทางการเงินที่เป็นบริษัทมืออาชีพทางด้านนี้โดยเฉพาะมาช่วยเตรียมตัว (แต่งตัว) เพื่อขอไฟล์ลิ่ง ซึ่งใช้เวลาเป็นปีและมีค่าใช้จ่ายที่สูงมากด้วย ส่วนใหญ่แล้ว ภาระของที่ปรึกษาทางการเงินมักไม่แตกต่างกันมากนักไม่ว่าบริษัทจะมีขนาดเล็กหรือใหญ่ ดังนั้น บริษัทขนาดเล็กที่คิดจะเข้าตลาดฯ จะเสียค่าใช้จ่ายในการเข้าตลาดฯ ในสัดส่วนที่สูงกว่ามากเมื่อเทียบกับขนาดของธุรกิจ ยังไม่นับเรื่องการที่ต้องเปลี่ยนผู้สอบบัญชีใหม่ให้เป็นผู้สอบบัญชีที่รับอนุญาต ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงเช่นกัน แถมยังต่อเนื่องอีกต่างหาก อย่างไรก็ตาม บริษัทก็เอาเงินชาวบ้านที่จะได้จากการขายหุ้นจองนั้นแหละมาหักเป็นค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ ดังนั้นในแง่กลยุทธ์ เอาเข้าจริงๆ การกำหนดให้การเข้าตลาดต้องมีค่าใช้จ่ายสูงไม่ได้ช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้กับหุ้นได้มากขึ้นเท่าไรนัก เพราะเจ้าของเดิมไม่ได้มีต้นทุนอะไร

ปกติแล้ว เวลาบริษัทเสนอขายหุ้นจอง หุ้นจองนั้นอาจเป็นหุ้นใหม่ (หุ้นเพิ่มทุน) ทั้งหมด หรืออาจเป็นหุ้นเพิ่มทุนส่วนหนึ่งบวกกับหุ้นเก่าของผู้ถือหุ้นเดิมส่วนหนึ่งก็ได้ เท่าที่ยังอยู่ในสัดส่วนที่ข้อบังคับของ ตลท.อนุญาต ในกรณีที่ บริษัทเอาหุ้นเก่าของผู้ถือหุ้นเดิมมาให้จองมากๆ นักลงทุนควรตั้งคำถามให้มากๆ ก่อนที่จะตัดสินใจจอง เงินที่ได้จากการขายหุ้นเก่าจะไม่เข้าบริษัท แต่จะเข้ากระเป๋าผู้ถือหุ้นเดิมแทน ถ้าหากบริษัทยังมีอนาคตที่ดีอยู่ แล้วเจ้าของเดิมเอาหุ้นของตัวเองจำนวนมากออกมา cash out ทำไม? ส่วนใหญ่แล้ว เจ้าของเดิมชอบอ้างว่า บริษัทมีฐานะการเงินที่ดีอยู่แล้ว ไม่ได้ต้องการเงินสดมาก แต่เข้าตลาดเพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์เท่านั้น แต่นักลงทุนก็ควรคิดเอาเองว่าควรจะเชื่อคำพูดของเจ้าของเดิมหรือไม่

นอกจากนี้ นักลงทุนทุกรายที่จองหุ้นควรได้ซื้อหุ้นจองในราคาเดียวกันทั้งหมด แต่ในบางกรณี บริษัทอาจให้สิทธิพนักงานและ “ผู้มีอุปการะคุณ” จองหุ้นในราคาที่ต่ำกว่านักลงทุนทั่วไปได้ ในกรณีของพนักงานบริษัทนั้นอาจพอเข้าใจได้ว่าเป็นเรื่องของขวัญกำลังใจและสวัสดิการพนักงาน แต่ในกรณีของ “ผู้มีอุปการะคุณ” นั้น ถ้าหากได้รับการจัดสรรหุ้นไม่เยอะมากก็ยังพอเข้าใจได้ เพราะกว่าบริษัทจะโตมาถึงขนาดที่เข้าตลาดได้ คงต้องพึ่งพาใครต่อใครมากมาย เมื่อบริษัทยังเล็กอยู่ ทุนไม่หนา การตอบแทนผู้มีอุปการคุณเป็นเงินโดยตรงอาจทำได้ไม่เต็มที่ ทำให้ต้องใช้โอกาสนี้ในการตอบแทนผู้มีอุปการคุณในรูปแบบของสิทธิ์ในการจองหุ้นในราคาต่ำแทน แต่ถ้าผู้มีอุปการคุณได้รับจัดสรรหุ้นเป็นจำนวนมาก ก็สมควรต้องตั้งคำถามอย่างแรงถึงความโปร่งใสเหมือนกัน เพราะเท่ากับเป็นการอาศัยกำลังทรัพย์ของผู้ถือหุ้นรายย่อยให้ช่วยตอบแทนผู้มีอุปการคุณให้ทางอ้อมอย่างหนึ่ง ถือเป็นการเอาเปรียบผู้ถือหุ้นรายย่อย เพราะผู้ถือหุ้นใหญ่ไม่ต้องมีส่วนในการตอบแทนด้วย

ที่สำคัญ เวลาจะจองหุ้น อย่ามัวแต่ดูราคาว่าถูกหรือไม่เมื่อเทียบกับพีอีปัจจุบัน สิ่งที่สำคัญกว่าคือ บริษัทจะเอาเงินเพิ่มทุนที่ได้ไปทำอะไร เพราะจะส่งผลอย่างยิ่งต่อกำไรในอนาคตของบริษัทหลังจากที่ได้จองซื้อหุ้นไปแล้วครับ  

ในเชิงกลยุทธ์แล้ว หุ้นจองเป็นหุ้นที่ไม่น่าจองเสมอ เพราะถ้าราคาจองเป็นราคาที่ถูกเกินจริงจะไม่เหลือตกมาถึงเรา ดังนั้นถ้าจองแล้วเหลือมาถึงเราได้ แสดงว่า ขายไม่ค่อยออก วันเข้าตลาดจึงมีโอกาสสูงที่จะต่ำจอง สรุปแล้ว มีแต่ทางขาดทุนมากกว่าทางได้ ถ้าหากสนใจหุ้นตัวนั้นจริงๆ เพราะชอบกิจการ การไปรอวัดดวงซื้อเอาในวันที่เข้าตลาดแล้วจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า หุ้นที่เทรดในตลาดแล้ว ราคาที่เห็นเป็นราคาที่ยืนได้ด้วยแรงซื้อแรงขายที่เป็นของจริง ไม่เหมือนกับราคาจองที่เป็นราคาที่ตั้งขึ้นมาลอยๆ ไม่รู้จะยืนได้หรือเปล่า อย่างไรก็ตาม ถ้าหากเป็นหุ้นจองรัฐวิสาหกิจที่กระจายหุ้นด้วยวิธีจับสลาก อันนี้ค่อยน่าซื้อตอนจองหน่อย เพราะถ้าหากเราได้รับการจัดสรร ไม่ใช่เป็นเพราะ หุ้นขายไม่ออก แต่เป็นเพราะเราบังเอิญโชคดี แบบนี้โอกาสได้กำไรในวันเปิดเทรดมีสูงครับ

0223: the first five years

2860127362_5d83182fce

ถึงตอนนี้ผมก็ลงทุนในตลาดหุ้นไทยมาได้เกินห้าปีแล้วครับ…

ข่วงที่ผมเริ่มลงทุน ผมกำหนดเป้าหมายว่า ในห้าปีแรก เป้าหมายของผมยังไม่ใช่ Wealth แต่คือการสะสมประสบการณ์และความรู้ ผมเพียงแต่สัญญากับตัวเองว่า ถ้าหากมีวิกฤตในห้าปีนี้ ผมจะต้องเป็นคนหนึ่งที่รอด

ผมมองว่า ตลาดหุ้นนั้นคล้ายภูเขาน้ำแข็ง ที่มีคนจำนวนน้อยมากๆ ที่เข้ามาในตลาดหุ้นแล้วสามารถอยู่ได้ถึงปีที่ 5 คนส่วนใหญ่หายไประหว่างทาง เพราะเจ๊ง เนื่องจากบังคับตัวเองไม่ให้ take excessive risk ไม่ได้ ดังนั้น คนที่อยู่ในตลาดได้ถึง 5 ปี ต่อให้เท่าทุน ก็ถือได้ว่า เป็นคนอันดับต้นๆ แล้วล่ะครับ

ผมเคยไปฟังอบรมเทคนิคอยู่ครั้งหนึ่ง วิทยากรบอกว่า ห้าปึแรกในตลาดหุ้น ทุกคนจะต้อง “จ่ายค่าเทอม”ก่อน เมื่อผ่านห้าปีแรกไปได้แล้ว ถึงจะเริ่มคาดหวังผลตอบแทนได้ (แต่ถ้าจะให้ดีต้องสิบปี) เพราะคนที่เคยเห็น “รอบใหญ่” ของตลาดหุ้นทั้งรอบแล้วเท่านั้น ที่จะรู้จักตลาดหุ้นอย่างแท้จริง ผมว่านี่เป็นวรรคทองเลยทีเดียว (แต่วรรคนี้ก็ทำเอานักเรียนในห้องหลายคนหน้าบูดไปเลย “อะไร จ่ายค่าทงค่าเทอมอะไรกัน พูดจาอัปมงคล”)

ในช่วงห้าปีนี้ ผมได้เรียนรู้อะไรหลายอย่างมากเกี่ยวกับตลาดหุ้น ได้ศึกษาหาความรู้มากมาย ได้รู้จักบริษัทในตลาดมากขึ้น ได้เห็นเล่ห์เหลี่ยมหลายครั้งในตลาดหุ้น ได้รู้จักนิสัยของคน ได้รู้ว่าสังคมคนเล่นหุ้นมีด้านมืดซ่อนอยู่เยอะมาก ได้เห็นความอนิจจัง และที่สำคัญได้รู้จักตัวเอง คือได้รู้ว่า ผมมีจุดอ่อนตรงไหนบ้าง มันเป็นประสบการณ์ที่คุ้มค่าครับ

ตลอดห้าปีที่ผ่านมา ผมพยายามเปิดใจกว้างเพื่อรับแนวคิดที่แตกต่าง จึงไม่พยายามเรียกตัวเองว่าเป็นนักลงทุนแนวอะไรทั้งสิ้น เพราะผมไม่เชื่อว่า เราจะโชคดีมากถึงขนาดเจอหลักการลงทุนที่ดีจริงได้ตั้งแต่ห้าปีแรกที่เริ่มต้นลงทุน ดังนั้นเราจึงควรเปิดใจไว้ก่อน รอให้ประสบการณ์ที่ค่อยๆ มีเพิ่มขึ้นของเราช่วยแยกแยะผิดถูกในปีหลังๆ จะเลือกแนวทางได้ดีกว่า ถ้าเราเป็นคนไม่ยืดหยุ่นตั้งแต่ต้น แล้วซวยดันไปเชื่อในแนวที่ผิด เส้นทางการลงทุนตลอดชีวิตของเราจะไม่ต่างจากการเดินทางไกลเพื่อไปสู่ปากเหว

เมื่อปีที่แล้วผมได้ล้างพอร์ตไป ดังนั้นในปีนี้จึงเป็นปีเริ่มต้นของเส้นทางการลงทุนในเฟสที่ 2 ของผม ผมจึงรู้สึกเหมือนว่า ผมกำลังเริ่มต้นใหม่ทั้งหมด แต่หนนี้ ผมมีทุนตั้งต้นมากกว่าครั้งก่อน และแนวการลงทุนของผมจะมี scope ที่ชัดเจนมากขึ้น โดยอาศัยสิ่งที่ผมได้จากเฟสแรกเป็นวัดถุดิบในการกำหนดสไตล์การลงทุนที่เหมาะกับตัวผมเองให้มากที่สุดครับ

until the next five years.

0033 : ความเสี่ยงของหุ้นแบบต่างๆ

หุ้นแต่ละตัวในตลาดหุ้นนั้นล้วนมี story ที่แตกต่างกันไป การประเมินความน่าสนใจลงทุนจาก story ของหุ้นแต่ละตัวนั้นเป็นเรื่องเชิงคุณภาพล้วนๆ อย่างไรก็ตาม ผมมีเทคนิคอย่างหนึ่งที่ช่วยทำให้การมองโอกาสและความเสี่ยงของหุ้นจาก story ของคุณนั้นมีประสิทธิภาพมากขึ้น

หลังจากที่เราได้ศึกษา story ของหุ้นนั้นอย่างละเอียดแล้ว เราควรถามตัวเองว่า story นั้นมีทั้ง “ขนาด” และ “ความน่าจะเป็น” ที่ story นั้นจะเกิดขึ้น “ใหญ่” หรือ “น้อย” ? ตัวอย่างเช่น บริษัทรับเหมาขนาดเล็กที่กำลังรอผลการประมูลโครงการขนาดใหญ่จากทางการน่าจะเป็น โอกาสที่มีขนาด “ใหญ่” แต่มีความน่าจะเป็น “น้อย” เป็นต้น

หุ้นชนิดหนึ่งที่ผมอยากแนะนำให้ท่านนักลงทุนหลีกเลี่ยง คือ หุ้นที่มี low probability of big loss เช่น หุ้นที่กำลังอยู่ในระหว่างการถูกฟ้องร้องดำเนินคดีมีโทษถึงขั้นล้มละลาย หุ้นพวกนี้มักล่อตาล่อใจแมงเม่าเป็นอย่างยิ่งเพราะราคาหุ้นจะดูต่ำถ้าเทียบกับหุ้นต้วอื่นในตลาด แต่ที่จริงแล้ว ราคาที่ดูต่ำนั้นจะต่ำจริงๆ ก็ต่อเมื่อ สุดท้ายแล้ว เหตุการณ์ที่เลวร้ายที่สุดนั้นไม่เกิดขึ้น แต่ถ้าหากมันเกิดขึ้น ก็ยังนับว่าราคาหุ้นนั้นแพงอยู่มาก ขนาดของความสูญเสียที่รุนแรงมากนี้ถ่วงให้กำไรคาดหวังของการซื้อหุ้นชนิดนี้มีค่าติดลบแม้ว่าความน่าจะเป็นที่จะเกิดความสูญเสียรุนแรงนั้นจะไม่ได้สูงก็ตาม หุ้นพวกนี้เป็นหุ้นที่เล่นแล้ว “ได้ไม่คุ้มเสีย” ครับ ท่านนักลงทุนคงได้เห็นตัวอย่างของหุ้นแบบนี้แล้วจากกรณีของหุ้นสื่อตัวหนึ่งในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมา

มีหุ้นอีกประเภทหนึ่งที่ดูไม่น่าสนใจแต่ที่จริงแล้วเป็นหุ้นที่น่าสนใจก็คือหุ้นที่มี low probability of high gain เช่น พวกบริษัทวิจัยยา (biotech firms) บริษัทพวกนี้ถ้าสามารถเข็นยาตัวสำคัญให้ผ่านการรับรองได้ก็จะมีกำไรเพิ่มขึ้นอย่างมากมายมหาศาล แต่โดยปกติแล้ว โอกาสที่ยาตัวหนึ่งจะสามารถผ่านด่านอรหันต์ของ FDA ได้นั้นมีน้อยมาก หุ้นพวกนี้บ่อยครั้งเป็นหุ้นที่มีกำไรคาดหวังเป็นบวกเพราะนักลงทุนในตลาดไม่สนใจเพราะรู้สึกว่าเสี่ยง ที่จริงแล้วเราสามารถลงทุนในหุ้นแบบนี้ได้เพียงแต่ต้องใช้วิธีซื้อไว้หลายๆ ตัวและซื้อตัวละไม่มากเมื่อเทียบกับขนาดของพอร์ตโดยรวม การทำเช่นนี้ช่วยทำให้ผลตอบแทนโดยรวมลู่เข้าหากำไรคาดหวังได้ หุ้นพวกนี้ถ้าซื้อตัวเดียวจะมีโอกาสขาดทุนสูงมาก แต่พอร์ตที่เต็มไปด้วยหุ้นเหล่านี้กลับให้ผลตอบแทนที่ดีทีเดียว

หุ้นประเภทสุดท้ายที่อยากกล่าวถึงก็คือหุ้นที่มี high probability of small loss and low probability of big gain แต่มีกำไรคาดหวังของหุ้นนั้นเป็นบวก นักจิตวิทยาการลงทุนบอกว่าหุ้นลักษณะนี้มักจะ undervalued อยู่เสมอ เพราะธรรมชาติของนักลงทุนมักเกลียดการขาดทุน โอกาสที่จะขาดทุนน้อยๆ แต่เกือบจะแน่นอนเป็นเรื่องที่ไม่น่าดึงดูด นักลงทุนในตลาดส่วนใหญ่จึงมองข้ามหุ้นลักษณะนี้ไป ตัวอย่างของหุ้นแบบนี้ก็เช่น หุ้นที่กำไรกำลังลดลงเพราะมีปัจจัยมหภาคระยะสั้นบางอย่างเข้ามากระทบทำให้ตลาดเททิ้งหุ้นเหล่านี้ไปก่อนทั้งที่ภาพการเติบโตของกำไรในระยะยาวยังเหมือนเดิม ที่จริงแล้วหุ้นพวกนี้เป็นหุ้นที่น่าลงทุนครับ