Stock Commentary : SPCG

solarFarmSPCG คือ ผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงและลม รายใหญ่ที่สุดของประเทศ

จุดเริ่มต้นของบริษัทนี้มาจากการได้สัญญารับซื้อไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์รอบแรกจากการไฟฟ้าไปมากที่สุด ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบที่สำคัญด้วย เพราะรอบแรกมีค่า Adder สูงที่สุด ที่ 8 บาท (รอบต่อมาเหลือ 6.5 บาท) เพราะคำนวณจากต้นทุนตามเทคโนโลยีสมัยนั้น โดยได้รับไปถึง 36 โครงการ (260MW) กลายเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าแสงอาทิตย์รายใหญ่ที่สุดในประเทศ โดยสามารถขายไฟฟ้าให้การไฟฟ้าได้ที่ราคาค่าไฟฐานบวกค่า FT และบวก Adder อีก 8 บาท โดยค่าไฟฐานและ FT สามารถปรับขึ้นได้ในอนาคตตามการปรับค่าไฟฟ้าของการไฟฟ้าเอง ส่วนค่า Adder จะได้รับในช่วง 10 ปีแรกเท่านั้น

ผู้ก่อตั้งบริษัทคือ วันดี กุญชรยาคง ซึ่งเคยเป็นผู้บริหารของ โซลาร์ตรอน มาก่อน แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะธุรกิจผลิตแผงโซล่าร์ในประเทศไทยไม่ใช่ธุรกิจที่ดีนัก เธอหายจากวงการไปพักใหญ่แล้วกลับมาโดยเข้าสู่ธุรกิจผู้ผลิตไฟฟ้าแทน โดยใช้แผงวงจรของ Kyocera แทน ทำให้ไม่ต้องวิ่งตามเทคโนโลยีเอง

จุดที่ทำให้ธุรกิจนี้เกิดน่าจะมาจากการที่ผู้ก่อตั้งมี connection ในวงการค่อนข้างดี เพราะอยู่ในแวดวงนี้มานานมาก เมื่อได้สัญญารับซื้อไฟฟ้าแล้ว การกู้เงินแบงก์มาลงทุนก็ไม่ใช่เรื่องยากแล้ว เพราะสัญญาจากการไฟฟ้าย่อมมีความน่าเชื่อถือสูง ธุรกิจนี้เป็นธุรกิจที่ใช้ CAPEX เริ่มต้นสูงมาก จากนั้นจึงรอเก็บเกี่ยวผลประโยชน์กลับคืนในระยะยาว ทำให้เหมาะที่จะกู้เงินมาลงทุนมากๆ แทนที่จะใช้เงินตัวเองทั้งหมด เนื่องจากมีสินทรัพย์ถาวรเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันได้มาก และใช้หนี้เป็นตัวทวีคูณผลตอบแทนของทุนได้ (เพิ่ม ROE)

อย่างไรก็ตาม บริษัทมาถึงจุดที่ทุกอย่างค่อนข้างจะชัดเจนหมดแล้ว เพราะโรงไฟฟ้าส่วนใหญ่สามารถส่งไฟฟ้าให้การไฟฟ้าได้เกือบทั้งหมดแล้ว ราคาหุ้นในปัจจุบันจึงน่าจะสะท้อน Cash Flow ในอนาคตไปเกือบหมดแล้ว ทำให้หุ้นตัวนี้มีราคาพุ่งขึ้นจาก IPO 2.90 บาท มาไกลหลายเท่าตัวแล้ว แต่ก็ถือว่าที่ผ่านมาบริษัทได้พิสูจน์ตัวเองให้นักลงทุนว่าสามารถทำทุกอย่างได้ใกล้เคียงกับที่พูดไว้

ถ้าใครจะมาลงทุนเอาตอนนี้ ก็คงทำใจได้ว่า Upside คงเหลือไม่เยอะเหมือนแต่ก่อนแล้ว เพราะทุกอย่างมีความชัดเจนเกือบแล้ว ถ้าหากจะมองหาสิ่งที่จะเป็น upside ใหม่ๆ ให้กับหุ้นได้ก็น่าจะเป็น การปรับขึ้นค่าไฟฟ้าของการไฟฟ้าในอนาคต (นิดๆ หน่อยๆ และนานๆ ที), การขยายกำลังการผลิตของแต่ละโรง (แต่ทำได้ไม่เยอะ), การเข้าสู่ธุรกิจพลังงานลมเพิ่มเติม (ค่า Adder 3.5 บาท) , การขยายธุรกิจไปต่างประเทศ (อันนี้อาจทำได้เยอะ แต่ยังมีความไม่แน่นอนสูงมากอยู่) รวมทั้ง โครงการ Solar Roof ซึ่งวางแผนไว้ราว 11MW ต่อปี แต่ก็ยังไม่ง่ายนัก เพราะจะทำ Solar Roof ให้ได้เป็นกอบเป็นกำต้องร่วมมือกับโรงงานอุตสาหกรรมที่มีหลังคาเยอะๆ ก่อนหน้าที่เคยจับมือกับ WHA แต่คุยกันไม่ลงตัวเลยล้มเลิกแผนไปก่อน กำลังพยายามหาพาร์เนอร์รายอื่นต่อไป

SPCG จะต้องหาโปรเจ็คใหม่ๆ เพิ่มเติม เพื่อให้เกิด Upside ใหม่ๆ มิฉะนั้นจะกลายเป็นแค่หุ้นโรงไฟฟ้า ที่กินปันผลไปเรื่อยๆ ซึ่งแม้ว่าจะได้ผลตอบแทนดี แต่ราคาหุ้นในปัจจุบันก็สะท้อนไว้แล้ว นอกจากนี้เมื่อผ่านสิบปีไป บริษัทจะไม่ได้ค่า Adder จากโรงไฟฟ้าชุดแรกแล้ว ทำให้รายได้ตกลง บริษัทจึงต้องหาโครงการใหม่ๆ มาเพิ่มเติมอยู่เสมอ การขยายตัวด้วยการเปิดโรงไฟฟ้าพลังแสงใหม่ๆ ซึ่งดูเป็นโครงการที่ชัวร์ที่สุดนั้น ต้องขึ้นอยู่กับนโยบายการไฟฟ้าว่าจะเปิดประมูลเพิ่มเมื่อไร ซึ่งเป็นปัจจัยที่คาดการณ์ล่วงหน้าได้ยาก แต่เร็วๆ นี้คงมีไม่มากนัก

ในแง่ของ D/E ratio ซึ่งค่อนข้างสูงในปัจจุบันคือกว่า 7 เท่า ถือว่าพอรับได้เนื่องจากธุรกิจมีสินทรัพย์ถาวรมากและมีสัญญารับซื้อไฟฟ้ารองรับอยู่ และบริษัทอยู่ในช่วงที่โรงไฟฟ้าทั้งหมดเพิ่งแล้วเสร็จพอดี จึงเชื่อว่า D/E ไม่น่าจะสูงไปกว่านี้แล้ว และจะค่อยๆ ลดลงในอนาคต เมื่อได้รับเงินค่าไฟกลับเข้ามามากขึ้นเรื่อยๆ อย่างไรก็ตาม ช่วงนี้บริษัทคงลงทุนอะไรใหม่ๆ ที่มีนัยสำคัญได้ยาก เพราะติดที่ D/E ratio จึงน่าจะยังนิ่งอยู่สักพัก (เพราะถ้าเจอโครงการใหม่แล้วขยายต่อเลย กลับจะดูน่ากลัวมากกว่าเรื่องหนี้สิน)

8 Replies to “Stock Commentary : SPCG”

  1. กว่าแบงค์จะยอมให้กู้โครงการแรก บริษัทต้องหาพาร์ตเนอร์ที่น่าเชื่อถือจากต่างประเทศและในประเทศ แถมยังต้องจ้างบริษัทเมืองนอกทำ feasibility study ของโครงการด้วย สังเกตุได้จากโครงการแรกๆ บริษัทถือหุ้นในโครงการเพียง 50-60%เท่านั้นเอง
    Driver อีกหนึ่งตัวคือการออก IF ช่วงหลังเห็นเงียบไปไม่รู้ว่าติดอะไร (น่าจะสภาพตลาดไม่ดีมั้ง)
    ในกลุ่มนี้ EA น่าจะดูมี potentialที่สุด เพราะยังเหลืออีก 2 โรงที่จะสร้าง แต่ละโรงขนาด 90 MW ถึงแม้จะได้ adder น้อยกว่า แต่ต้นทุนแผงมีโอกาสลดลงตามเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้น เมื่อสร้างเสร็จสิ้นปีหน้า solar capacity สูงถึง 278 MW นอกจากนี้บริษัทยังมี wind farm license อยู่เยอะพอควร

  2. ผมรู้สึกว่า บ.เหล่านี้ เหมือนขาย connection ซะมากกว่า

    ถ้าเป็นของต่างประเทศ หลายบ.จะมี innovation เพิ่มเติมเข้ามา เพื่อเพิ่ม value ให้บ. (แม้ว่าจะมีไม่กี่บ.เก่งจริง)

  3. เข้าใจว่าถ้านับที่ spcg ถือหุ้น จำนวน mw รวมน่าจะไม่ถึง 260 mw ป่าวคับ ส่วนตัวมองการบริหารด้านการเงินทำได้แย่ มีการเร่งรัดทำโครงการต่างๆ โดยไม่พิจารณาถึงสภาพคล่องอย่างเหมาะสม ในขณะที่ ea มีการวางแผนล่วงหน้ามาอย่างรอบคอบ ดูน่าไว้ใจมากกว่า ไม่ต้องถูกเพิ่มทุนหลายๆ รอบ

    1. ถ้านับตรงส่วน equityของบ. ย่อย
      คุ้นๆว่า มี partnetถือหุ้นน้อยมากนิคับ
      mw รวม คงไม่ห่าง 260 แบบ มีนัยยะ

      ส่วน มองว่า บริหาร การเงินไม่ดีนี่
      อยากให้ไปตาม ตั้งแต่ยังไม่มีคนสนใจ
      จะเห็นว่ามันดูยาก แค่ไหน ที่จะทำ solar farm สักโรง
      ขนาดมี โคราช 1 เป็น protype
      ยังแทบจะไม่มีใครจะยอมให้กู้
      ไม่นับเรื่อง ต้นทุนแผง ที่สูงมาก
      ในสมัยก่อน ยังเอา silicon มา recycle ไม่ได้
      วัตถุดิบต้องแย่งกับ อุตสาหกรรมอิเลค
      ไม่เหมือนทุกวันนี้ ที่แผงถูกลง
      ตัวเลขต่างๆ prove แล้วว่าทำได้ ทำแล้วคุ้ม

      ใครที่อยู่ในยุคแรกๆ ถือว่า big bet พอควร
      ทั้ง spcg คุณ วันดี แบงค์ ผถห
      (โดย เฉพาะ ผถห ก็แทบไม่อยากเชื่อว่า สร้างได้)
      จริงๆ อยากให้ credit spcg ที่เป็น ต้นแบบ
      ให้แห่กันมาทำ มากกว่า อะคับ

  4. ขอเน้นย้ำอีกครั้งนะครับว่า หุ้นทุกตัวที่ผมเลือกมาเขียนถึงนั้น ไม่ได้หมายความว่า ผมสนใจลงทุนในหุ้นตัวนั้นเลยนะครับ ผมแค่เลือกหุ้นที่มีเรื่องราวให้เล่าได้เยอะๆ เพื่อเขียนถึงทั้งข้อดีและข้อเสียของหุ้นตัวนั้นเท่านั้น

    หรืออาจบอกได้เลยว่า หุ้นที่เขียนถึงส่วนใหญ่เป็นหุ้นที่ผมไม่สนใจลงทุนทั้งสิ้น หุ้นบางตัวอาจจะเหมาะกับแนวการลงทุนบางแนวแต่ไม่ได้เหมาะกับแนวที่ผมใช้ หุ้นที่ผมสนใจลงทุนในตลาดนั้นมันมีอยู่น้อยมาก (เป็นพวก focused investor) ถ้าหากเขียนได้แต่หุ้นที่สนใจลงทุนเท่านั้น ผมคงวนๆ อยู่แค่ไม่กี่หุ้น แทบไม่มีหุ้นอื่นให้เขียนถึงได้เลย

  5. ผมมีข้อมูลในธุรกิจนี้น้อยมาก ดังนั้นแต่ละท่านได้แชร์ข้อมูลของหุ้นที่คุณโจ๊กเขียน เทียบกับหุ้นในธุรกิจเดียวกัน ทำให้ได้มุมมองประสบการณ์ที่หลากหลาย ต้องขอบคุณมากครับ

  6. SPCG ในมุมมองคุณนรินทร์ ก็คือหุ้นที่ไม่เติบโต หรืออีกนัยหนึ่ง จะเติบโตได้ก็ด้วยการขยายจำนวนของ Project ที่มีอยู่เท่านั้นสินะครับ

    ตรงนี้จึงเกิดความไม่แน่นอนว่าจะสามารถเติบโตได้ต่อเนื่องใน 15 ปี
    ข้างหน้าได้หรือไม่ เพราะจะเติบโตได้หรือไม่ต้องขึ้นอยู่กับนโยบาย
    รัฐด้านพลังงานทดแทนด้วย ว่ารัฐจะให้โควต้า MW ออกมาเพิ่มหรือไม่

    ซึ่งอย่างน้อย SPCG ถือว่าได้เปรียบระดับนึง เพราะมีสายสัมพันธ์ (เส้นสาย) พอตัว กล่าวคือถ้ามีโควต้าออกมา SPCG ก็เป็นบริษัทหนึ่งที่มีความเป็นไปได้ที่จะได้ร่วมแบ่งเค้กด้วย

    แต่ถ้าจะให้ความเติบโตของบริษัทแขวนอยู่บนนโยบายของรัฐอย่างเดียว ก็คงไม่ไหว ถ้า SPCG ต้องการเติบโตแบบต่อเนื่อง ก็น่าจะมองหาตลาดในต่างประเทศไว้ด้วย

  7. So, the concept of organic search results being
    free is clearly an old one. When seeking SEO services UK, UK businesses should
    make sure their prospective agencies know this link building
    aspect in depth. The effect could be as simple as a customer buying from a competitor or it could be something as
    serious as potential customers boycotting you completely.

    Here is my webpage … seo is australia a country and a continent

Comments are closed.