รีวิวหนังสือ the Future of Almost Everything – Patrick Dixon

https://youtu.be/0_wzp5QiNho

หนังสือที่พูดถึงทุกเรื่องเกี่ยวกับอนาคต ทั้งระดับโลก ประเทศ อุตสาหกรรม และชีวิตประจำวัน หนังสือเต็มไปด้วยรายละเอียดและข้อมูลต่างๆ ที่ผมคิดว่าน่าจะมีประโยชน์สำหรับนักลงทุนในการวิเคราะห์อุตสาหกรรม

NIM และ NPL

ธุรกิจธนาคารมีรายได้หลักสองทาง ทางแรกคือการปล่อยสินเชื่อ อีกทางคือการเก็บค่าธรรมเนียมบริการต่างๆ

รายได้จากการปล่อยสินเชื่อเกิดจากส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยรับที่ได้จากการปล่อยกู้ กับดอกเบี้ยจ่ายที่ต้องจ่ายตอบแทนผู้ฝากเงิน บางทีเราเรียกส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยสองตัวนี้ว่า NIM เช่น ระดมเงินฝากมาให้ดอกเบี้ย 2% แล้วเอามาปล่อยกู้คิดดอกเบี้ย 6% ส่วนต่าง 4% ก็คือ รายได้ของธนาคาร ซึ่งต้องนำมาหักค่าโสหุ้ยในการดำเนินงานอีกที เหลือเป็นกำไร

ในความเป็นจริง NIM มีความซับซ้อนกว่านั้นมาก เพราะธนาคารมีเงินฝากหลายรูปแบบ อัตราดอกเบี้ยของแต่ละแบบไม่เท่ากัน เงินฝากบัญชีกระแสรายวันแทบไม่มีต้นทุนทางการเงินของธนาคารเลย ในขณะที่ เงินฝากบัญชีฝากประจำมีต้นทุนการเงินสูงสำหรับธนาคาร ธนาคารขนาดใหญ่จึงมักมีข้อได้เปรียบเรื่องต้นทุนแหล่งเงิน เพราะคนนิยมเบิกบัญชีกระแสรายวันและออมทรัพย์กับธนาคารใหญ่มากกว่า เพราะมีคนใช้เยอะ สาขาก็ทั่วถึงฝากถอนง่าย และมีบริการที่ครบมากกว่า แต่บัญชีสองประเภทนี้มีเงินเข้าออกทุกวัน ไม่นิ่ง ทำให้ธนาคารจำเป็นต้องสำรองเงินสดไว้ให้บริการลูกค้ากลุ่มนี้เยอะกว่า กลายเป็นต้นทุนอีกแบบหนึ่ง แต่ยังไงๆ ก็ต้องมีเงินจำนวนหนึ่งที่ไม่เคลื่อนไหว ทำให้ธนาคารสามารถเอาเงินจำนวนนี้ไปปล่อยกู้ยาวๆ กินดอกเบี้ยสูงได้ ได้กำไรส่วนต่างมหาศาลได้เลย ดังนั้นธนาคารที่มีบัญชีกระแสรายวันและออมทรัพย์เยอะๆ ยังไงก็ได้เปรียบธนาคารอื่น

บริการสินเชื่อของธนาคารก็มีหลายแบบอีกเช่นกัน ลูกค้าของธนาคารแต่ละรายมีเครดิตไม่เท่ากัน ทำให้อัตราดอกเบี้ยต้องไม่เท่ากัน (MLR+ X) ลูกค้ารายใหญ่ต้องเอาใจกันหน่อย คิดดอกแพงกว่าคู่แข่งไม่ได้ เป็นต้น หลักทรัพย์ที่ใช้ค้ำประกันแต่ละรายก็มีความมั่นคงไม่เท่ากัน หรือแม้แต่ลูกค้าคนเดียวกัน กู้ระยะยาว กู้โปรเจ็คไฟแนนซ์ หรือกู้ O/D ก็มีระยะเวลาเรียกคืนหนี้ไม่เท่ากัน อัตราดอกเบี้ยก็ไม่ควรจะเท่ากัน เพราะต้องสะท้อนความเสี่ยงที่ไม่เท่ากัน สุดท้ายแล้ว ค่า NIM จึงเกิดจากการเอาเงินฝากและเงินกู้ทุกประเภทมาหาค่าเฉลี่ยของอัตราดอกเบี้ยที่คิดแบบเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักแล้วหาผลต่างออกมา

ธนาคารที่มี NIM สูงกว่าไม่ได้แปลว่าเก่งกว่าเสมอไป เพราะ NIM อาจจะสูงเพราะธนาคารนั้นเน้นปล่อยสินเชื่อความเสี่ยงสูง เช่น สินเชื่อบุคคล สินเชื่อบัตรเครดิต ซึ่งเป็นสินเชื่อที่ได้ดอกเบี้ยสูงกว่า แต่ว่าความเสี่ยงก็สูงกว่าด้วย ดังนั้น ในการเปรียบเทียบ NIM จะต้องดู NPL ควบคู่ไปด้วย ถ้าธนาคารไหนมี NIM สูง แต่ว่า NPL ก็สูง ก็ไม่ได้แปลว่าดีกว่าธนาคารที่ NIM ต่ำกว่า แต่ NPL ต่ำกว่ามาก

NPL เป็นตัวเลขที่สำคัญมากของธุรกิจธนาคาร เพราะธนาคารปล่อยสินเชื่อแบบ Fractional หมายความว่า ตัวธนาคารเองอาจจะมีทุนแค่ 1 ส่วน แต่ไปกู้คนฝากเงินมา 9 ส่วน เพื่อมาปล่อยสินเชื่อ 10 ส่วน สมมติว่า สินเชื่อของธนาคารเน่าไป 5% ก็เท่ากับว่า ทุนของธนาคารเองหายไปแล้ว 50% เพราะธนาคารต้องชดใช้ส่วนที่เสียหายนี้ด้วยทุนของตัวเอง เนื่องจากธนาคารมีหน้าที่ต้องคืนเงินผู้ฝากเงินเต็มจำนวนเสมอไม่ว่าจะปล่อยกู้แล้วกำไรหรือว่าขาดทุนก็ตาม ซึ่งธนาคารมักจะแก้ปัญหา NPL ด้วยการชะลอการปล่อยกู้เพิ่มชั่วคราว รอให้กำไรสะสมเพิ่มขึ้น จนส่วนทุนกลับมาเท่าเดิมหรือครอบคลุม NPL หรือที่เรียกว่า การกันสำรองหนี้เสียนั่นเอง

แต่ NPL บางทีก็เชื่อถือยาก ธนาคารอาจบอกว่าตัวเองใช้เกณฑ์จัดชั้น NPL ที่เข้มงวดมาก แต่บางทีธนาคารเห็นลูกค้าสินเชื่อรายหนึ่งอาการร่อแร่ แต่ไม่อยากจัดชั้นเป็น NPL เพราะไม่อยากให้ NPL ของตัวเองเพิ่มขึ้น ก็อาจจะหลับหูหลับตา Roll-over หนี้ก้อนเดิมให้ลูกค้ารายนั้น เพื่อมิให้มีการผิดนัดชำระหนี้เกิดขึ้น ทั้งที่ในความเป็นจริงไม่ควรจะปล่อยแล้ว ตรงนี้การจัดชั้น NPL อย่างเข้มงวดจะไม่ช่วยอะไรเลย เป็นต้น การจัดชั้น NPL จึงเป็นเรื่องที่มี conflict of interest อยู่ เป็นมุมมืดของการลงทุนในธุรกิจนี้

ในภาวะเศรษฐกิจปกติ เรานิยมดูว่าธนาคารมีการปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้นหรือไม่ yoy ยิ่งสินเชื่อขยายตัวก็ยิ่งดี เพราะโอกาสทำกำไรย่อมมีเยอะขึ้น กำไรในอนาคตจะสูงขึ้น แต่เมื่อไรก็ตามที่เศรษฐกิจเริ่มแย่ลง สิ่งที่นักลงทุนจะหันมาสนใจมากกว่าคือ NPL เพราะเศรษฐกิจไม่ดี ย่ิงปล่อยสินเชื่อเพิ่ม ยิ่งน่ากลัว ขอดูดีกว่ากว่า NPL จะปูดขึ้นมาหรือไม่ เพราะในภาวะเศรษฐกิจไม่ดี ลูกค้าที่เคยเป็นลูกค้าชั้นดีส่วนใหญ่จะเริ่มกลายเป็นลูกค้าชั้นแย่ ต้องดูว่าธนาคารจะบริหารจัดการลูกค้าที่ประสบภัยได้มากแค่ไหน ก่อนที่ธนาคารจะกลายเป็นผู้ประสบภัยเอง          

ลองคาดการณ์การเพิ่มทุนของ BJC

หลังจากเฮเรื่องซื้อบิ๊กซีกันไปแล้ว ก็ได้เวลาผู้ถือหุ้นของ BJC มานั่งวิตกว่า “แล้วจะต้องเพิ่มทุนเท่าไรหว่า” การซื้อกิจการที่ใหญ่กว่าตัวเองมากๆ ใช่ว่าจะดีเสมอไป ถ้าหากทำให้ฐานะการเงินอ่อนแอลงมากๆ ก็อาจส่งผลลบแทนที่จะเป็นบวกได้

เรารู้ว่าบิ๊กซีจะต้องมาอยู่ใต้ร่มของ BJC เพราะ BJC เป็นเรือธงด้านอุปโภคบริโภคของธุรกิจในเครือเสี่ยเจริญ ซึ่งเสี่ยเจริญได้ใช้เงินซื้อหุ้นของผู้ถือหุ้นหลักของบิ๊กซีมาแล้ว 1.2 แสนล้านบาท และเตรียมเงินไว้สำหรับตั้งโต๊ะซื้อหุ้นคืนจากผู้ถือหุ้นรายย่อยอีก (ในรูปของวงเงินสินเชื่อธนาคาร) ซื้อเงินจำนวนนี้เรายังไม่รู้ว่าจะมีมูลค่าเท่าไร เพราะไม่รู้ว่าผู้ถือหุ้นรายย่อยจะเอามาขายมากน้อยแค่ไหน แค่รู้แน่ๆ ว่า กลุ่มเซ็นทรัลจะไม่ขาย ตรงนี้จึงเป็นตัวแปรที่ยังไม่นิ่ง แต่เพื่อให้เราสามารถคิดต่อไปได้ สมมติว่า ไม่มีใครมาขายเลยก่อนก็แล้วกัน ก็เท่ากับว่า BJC ต้องมีหนี้เพิ่มขึ้น 1.2 แสนล้านบาท (แต่ถ้าเป็นกรณีเยอะสุด ทุกคนมาขายหมด ต้องมีหนี้เพิ่ม 2 แสนล้านบาท) Continue reading “ลองคาดการณ์การเพิ่มทุนของ BJC”

วันทูวัน คอนแทคส์ (OTO)

ลักษณะธุรกิจของ OTO ดูน่าสนใจ เพราะทุกวันนี้บริการหลังการขายเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของการทำธุรกิจ และการ outsource คอลเซ็นเตอร์ ก็ช่วยประหยัดต้นทุน ตลอดจนทำให้ธุรกิจขนาดเล็กสามารถมี Call Center ให้ลูกค้าได้ โดยไม่ต้องลงทุนสูงนัก

ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมนี้มีการเติบโตที่ดีต่อเนื่อง แม้เศรษฐกิจโดยรวมไม่ดี แสดงให้เห็นถึงการที่ตลาดยังอยู่ใน growth phase และก็น่าจะยัง เป็นเช่นนี้ต่อไปอีก ในอนาคตด้วย และปัจจุบัน OTO ก็สร้าง Top-line growth ได้สูงกว่าอุตสาหกรรม ซี่งเป็นสัญญาญที่ดีในแง่ของส่วนแบ่งตลาดที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะสร้างการประหยัดต่อขนาดและข้อได้เปรียบคู่แข่งขัน Continue reading “วันทูวัน คอนแทคส์ (OTO)”

โรงพยาบาลจุฬารัตน์ (CHG)

โรงพยาบาลจุฬารัตน์ (CHG) เป็นเครือข่ายสถานพยาบาล 13 แห่ง เน้นเติบโตตามการขยายตัวของพื้นที่อุตสาหกรรมฝั่งตะวันออก ตั้งแต่สมุทรปราการไปจนจรดปราจีนบุรี มีโรงพยาบาลขนาดใหญ่ 3 แห่ง คือ จุฬารัตน์ 3, 9, 11

จุดเด่นของหุ้นตัวนี้น่าจะเป็น แผนการเติบโตที่ต่อเนื่อง ทั้งแผนขยายรพ.เดิม และเพิ่มสาขาใหม่ จนถึงต้นปี 2017 เป็นอย่างน้อย ซึ่งปัจจุบันแม้ลูกค้าจะเติบโตต่อเนื่อง แต่มีข้อจำกัดในการขยายตึก ทำให้ต้องปิดส่วนให้บริการไปบางส่วน เพื่อก่อสร้างส่วนขยาย การให้บริการในปัจจุบันจึงไม่เต็มที่ แต่เมื่อส่วนขยายทั้งหมดแล้วเสร็จ บริษัทก็จะมีศักยภาพในการให้บริการเพิ่มขึ้นได้ไม่น้อยกว่า 40% จากปัจจุบัน

ปัจจุบันอัตราการใช้บริการรวม (ทุกสาขา) ยังไม่เต็ม คืออยู่ที่ 70% ขึ้นไป แต่จำนวนคนไข้เพิ่มขึ้นทุกปีอย่างน้อย 17% ตามเทรนด์สังคมสูงอายุ โดย CHG มีลูกค้าประกันสังคมราว 40% ของั้งหมด และรพ.ขนาดใหญ่สามแห่ง จัดว่าเป็นรพ.ระดับทุติยภูมิ ที่ให้บริการให้ค่อนข้างครบครัน

บริษัทมีฐานะการเงินที่ค่อนข้างแข็งแรง มีหนี้ต่ำมาก รายได้เติบโตไม่ต่ำกว่าปีละ 15% อัตราทำกำไรอยู่ในระดับสูงถึง 19% ( ณ ไตรมาสล่าสุด)​ กระแสเงินสดเป็นไปในทางเดียวกันกับกำไร  นับได้ว่าเป็นบริษัทที่มีพื้นฐานอยู่ในเกณฑ์ดีมาก

อย่างไรก็ตาม โดยส่วนตัวมองว่า ไม่ควรให้มูลค่าธุรกิจกับ CHG ในระดับเดียวกับเครือรพ.ใหญ่ๆ ในตลาดหุ้น เพราะฐานลูกค้ามีกำลังซื้อต่างกัน และศักยภาพของบริษัทในการก้าวสู่ระดับสากลนั้นไม่เท่ากัน บริษัทสร้างเครือข่ายด้วยตนเองจากการขยายสาขาเพิ่ม เพื่อสร้างอำนาจต่อรองและการประหยัดต่อขนาด ซึ่งทำได้ช้าและจำกัดกว่าวิธีซื้อกิจการ ตลอดจนการเปิดรพ.ใหม่ เงินจะจมนานกว่า เพราะต้องใช้เวลาในการสร้างชื่อเสียงนาน และเสี่ยงมากกว่าด้วย เว้นเสียแต่นักลงทุนจะมองบริษัทว่าเป็นเป้าหมายของการถูกควบรวมในอนาคต (ซึ่งนั้นเป็นเรื่องของการ Speculative ล้วนๆ หากไม่เกิดขึ้นก็เป็นความเสี่ยง)     

สยามเวลเนสกรุ๊ป (SPA)

สยามเวลเนสกรุ๊ป (SPA) ให้บริการสปาและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง โดยเน้นกลุ่มลูกค้าที่เป็นนักท่องเที่ยวเป็นสำคัญ มีสาขากระจายอยู่ตามทำเลนักท่องเที่ยว หรือย่านใจกลางเมืองกทม. ภายใต้แบรนด์ Let’s Relax และ Rarinjinda Continue reading “สยามเวลเนสกรุ๊ป (SPA)”

บมจ. เอ็กโซติค ฟู้ด (XO)

XO ส่งออกน้ำจิ้มและเครื่องแกงสำเร็จรูปเป็นหลัก ตลาดหลักคือตลาดยุโรป (70%)

หลายปีที่ผ่านมา ตลาดส่งออกน้ำจิ้มและเครื่องแกงสำเร็จรูป มีการเติบโตที่สูง และยังสูงอยู่แม้ว่าส่งออกไทยจะตกลง หรือเงินยูโรจะอ่อน ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ตลาดนี้มีโมเมนตัมที่ค่อนข้างดีทีเดียว Continue reading “บมจ. เอ็กโซติค ฟู้ด (XO)”

SUPER fully diluted valuation

#เขียนถึงเฉยๆไม่ได้ชอบครับ

หุ้นไฟฟ้าทางเลือกยุคนี้ก้าวไปอีกขั้น แทนที่จะ operate เองให้ยุ่งยาก ทำตัวเป็น Financial Company อย่างเดียว ใช้ความเป็นบริษัทจดทะเบียนให้เป็นประโยชน์ ขายหุ้นเพิ่มทุน และกู้เงิน แล้วนำมาซื้อหุ้นของบริษัทที่ได้สัญญารับซื้อไฟฟ้าแล้ว โตเร็วกว่า สบายกว่า Continue reading “SUPER fully diluted valuation”

หุ้นสื่อสาร

หุ้นสื่อสาร น่าจะถือว่าเป็นกลุ่มที่ไม่ดีไม่ชั่วจนเกินไป ไปได้เรื่อยๆ ข้อดีคือมีความต้องการ (ดีมานด์) เพิ่มขึ้นในอนาคตอย่างแน่นอน โลกของเราจะเป็นดิจิตอลมากขึ้นเรื่อยๆ แถมการวิจัยยังพบว่า คนไทยชอบใช้โซเซียลเน็ตเวิร์กมากกว่าคนชาติอื่นๆ อีกต่างหาก Continue reading “หุ้นสื่อสาร”

รีวิวพอร์ต 7LTG ประจำปี

BDMS 

ตัวนี้เป็นดาวค้างฟ้าไปแล้ว เมืองไทยเหมาะจะเป็น Medical Hub จริงๆ และหุ้นตัวนี้ก็เป็นผู้นำของอุตสาหกรรมนี้เสียด้วย

การเติบโตที่ผ่านมาใช้วิธี M&A ซึ่งเป็นวิธีที่ได้ผล เพราะบริษัทออกหุ้นกู้ดอกเบี้ยไม่สูง แต่เอามาซื้อธุรกิจนี้มีผลตอบแทนสูงกว่าเช่นโรงพยาบาลเอกชน แถมเอาโนฮาวที่มีอยู่แล้วมาช่วยปรับปรุงโรงพยาบาลที่ซื้อมาให้ดีขึ้นไปอีก เพื่อเพิ่มมูลค่า

แม้ว่าตอนนี้ M&A จะสร้างการเติบโตได้น้อยลง เพราะโรงพยาบาลขนาดใหญ่ๆ แทบไม่เหลือให้ควบรวมแล้ว แต่ผมก็ยังเชื่อว่าบริษัทนี้ยังโตได้ระยะยาว เพราะคนแก่ที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จะกลายมาเป็น organic growth ให้กับโรงพยาบาลที่ซื้อมาแล้ว จึงน่าจะยังลงทุนต่อไปได้ แม้ว่าราคาหุ้นจะแพง แต่ต้นทุนของพอร์ตนี้ไม่ได้สูง

ประเด็นเรื่องราคาแพง เอาเข้าจริงๆ แล้ว ยังไม่น่ากลัวเท่าไร บ้านเราดูจะมีนโยบายเอื้อภาคธุรกิจ ดูอย่างไฮเปอร์มาร์เก็ตก็เห็นเปิดเต็มเมืองไปหมด มีคนโวยวายทีไร สักพักก็จะเงียบหายไปทุกที 

MINT 

ทุกวันนี้ MINT แข็งแรงยิ่งกว่าเดิมเสียอีก เพราะนโยบายเพิ่มรายได้นอกประเทศเมื่อห้าปีที่แล้วเริ่มส่งผล ทำให้ปัจจุบันมีรายได้นอกไทยแล้ว 40% เวลาท่องเที่ยวไทยมีปัญหา จึงไม่กระทบมากเท่าสมัยก่อน บริษัทยังพยายามสร้างแบรนด์ของตัวเอง ทำให้ไม่ต้องเสียค่ารอยัลตี้ให้คนอื่นอีกด้วย จนล่าสุดก็คืน Four Seasons ที่ราชดำริไปแล้วหันมาใช้ชื่อ Anantara แทน แม้ว่ารายได้จากการรับบริหารโรงแรมจะยังไม่เยอะเท่าที่วางแผนไว้ (กลยุทธ์ Asset Light) แต่ก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ส่วนนี้ยังต้องอาศัยเวลา

ชอบบริษัทนี้มากที่มีการวางแผนระยะยาวเพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้ธุรกิจอยู่เสมอ ไม่ใช่แค่ขยายไปเรื่อยๆ และที่ผ่านมาสิ่งที่พยายามทำ ก็ส่งผลได้จริง

บริษัทเติบโตด้วย M&A เช่นกัน และน่าจะยังโตด้วยวิธีนี้ต่อไปได้อีก บริษัทไม่ได้ซื้อกิจการสุ่มสี่สุ่มห้า เพราะไม่งั้นป่านนี้บริษัทคงจะแย่ไปนานแล้ว นับเป็นอีกบริษัทไทยที่จะก้าวไปสู่ความเป็น ระดับโลกได้อย่างสมบูรณ์แบบในอนาคตด้วย ดูแล้วน่าจะลงทุนต่อไปได้

ส่วนที่อาจเป็นห่วงอยู่บ้างคือธุรกิจอาหาร เพราะ Fast Food ไม่ใช่เทรนด์สมัยใหม่ ผู้บริโภคเริ่มชอบอาหารเอเชีย หรือร้านอาหารที่มีเอกลักษณ์มากกว่าอาหารเชน แต่ประเด็นนี้ก็ยังไม่ได้ถือว่าน่าเป็นห่วงเท่าไร ต้องจับตาดูต่อไปเรื่อยๆ

CPN

ไม่ต้องสงสัยว่าพื้นฐานแข็งแกร่งแน่นอน ทุกวันนี้ห้างเซ็นทรัลแทบจะเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทยแทนวัดไปแล้ว การเป็นผู้ให้เช่าพื้นที่ยังทำให้ได้รับผลกระทบจากปัจจัยระยะสั้นไม่มากนักอีกด้วย

แต่สิ่งที่ห่วงคือการเติบโต เพราะพื้นที่ผืนใหญ่ๆ ใจกลางกรุงเทพเริ่มหายากแล้ว ในขณะที่การเปิดสาขาต่างจังหวัดก็ไม่ใหญ่พอที่จะสร้างการเติบโตแบบมีนัยสำคัญได้ โอกาสน่าจะเหลืออยู่บริเวณรอบๆ เมืองกรุงเทพ ซึ่งเมืองขยายออกไป และหาที่ดินผืนใหญ่ได้ง่ายกว่า ส่วนการไปเปิดในต่างประเทศนั้น ที่ผ่านมาก็พิสูจน์แล้วว่าไม่ง่าย รายได้ของบริษัทในอนาคตจึงอาจจะเติบโตได้เพียงแค่หลักเดียวเท่านั้น ต้องอาศัยการขายห้างเข้ากองอสังหามาช่วยถึงจะเพิ่มรายได้ให้เยอะๆ ได้ โดยรวมถือว่าน่าจะยังพอลงทุนต่อไปได้

BANPU

ตัวนี้แย่ที่สุดในพอร์ต แม้ว่าความเสี่ยงเรื่องคดีความจะลดลงไปแล้ว และบ้านปูก็มีรายได้จากโรงไฟฟ้าในสัดส่วนที่มากขึ้นจากโครงการหงสา ช่วยให้ลดความเสี่ยงจากถ่านหินไปได้ แต่อนาคตของรายได้หลักคือถ่านหินเอง ก็ยังคงน่าเป็นห่วงอยู่เช่นเดิม ดีมานด์ของถ่านหินโลกมีแนวโน้มยังไม่ดีขึ้น โรงไฟฟ้าถ่านหินทั่วโลกทยอยปิดตัวลงไปเยอะ ในขณะที่อุปทานก็ยังคงล้นตลาดอยู่ โดยเฉพาะอุปทานจากออสเตรเลีย บริษัทคงทำได้แค่ค่อยๆ เพิ่ม output ขึ้นปีละนิด และลดต้นทุนการผลิต เพื่อทำให้กำไรสูงขึ้น แต่จะหวังให้กำไรเพิ่มจากราคาถ่านหินที่ฟื้นกลับไปดีเหมือนเดิมนั้น คงหวังได้ยาก การหาธุรกิจใหม่ๆ มาชดเชยก็ทำได้ยากเช่นกัน เพราะธุรกิจพลังงานทางเลือกอาจมีขนาดที่เล็กเกินไป มาช่วยเพิ่มรายได้รวมได้ไม่มากเท่าไร ดูแล้วหุ้นตัวนี้คงยังต้องซึม ไปอีกนาน

PS

ผมเชื่อว่าอสังหาเป็นอีกอุตสาหกรรมหนึ่งของไทยที่น่าจะไปต่อได้ เพราะการสร้างรถไฟฟ้ายังมีอยู่ต่อเนื่อง และอสังหาก็เป็นทางเลือกหนึ่งของการลงทุนในยุคดอกเบี้ยต่ำ แม้ว่าช่วงนี้ตลาดคอนโดจะล้นอยู่ แต่ไม่คิดว่าจะเป็นปัญหาถาวร สักพักน่าจะต้องกลับมาใหม่ได้ เพราะพื้นฐานยังมีอยู่

PS เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจสำหรับคนที่มองอุตสาหกรรมนี้ในแง่ดี เพราะว่ามีข้อได้เปรียบเรื่องต้นทุนที่ชัดเจน และการที่มีทั้งแนวราบและแนวตั้ง ทำให้มีความเสี่ยงน้อยกว่าผู้นำคอนโดอย่าง LPN เวลาที่ตลาดคอนโดไม่ดี ส่วน LH นั้นพื้นฐานดีแต่ว่าไม่โต ส่วน SIRI นั้น อย่าให้พูดเลยดีกว่า รวมๆ แล้ว PS จึงเป็นตัวเลือกที่ใช้ได้   

การเติบโตน่าจะยังพอมีอยู่ แม้จะไม่เยอะเท่าเดิม โอกาสหลักๆ ก็ยังคงเป็นตลาดในกทม.เช่นเดิม ไม่ใช่ต่างจังหวัดหรือต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาทำให้เห็นว่า หุ้นอสังหาต่อให้บริษัทแข็งแกร่งแค่ไหน เวลาวัฏจักรเป็นขาลง ราคาหุ้นก็ต้องลงแรง ทำให้เป็นหุ้นที่ค่อนข้างเหวี่ยงแรง ไม่เหมาะกับการลงทุนแบบ DCA เท่าไร ดังนั้นหากขาขึ้นรอบหน้ามาถึงอีกครั้ง ก็อาจพิจารณาขายตัวนี้ออกไปก็ได้ แต่ในช่วงนี้ขอเลือกที่จะถือต่อไปก่อน

CPALL

ผมว่าช่วงนี้ CPALL อยู่ในโหมดตุนกำไรสะสม เพื่อลด D/E ให้ต่ำลง หลังจากกู้เงินเยอะมาซื้อแมคโคร ทำให้หุ้นตัวนี้ดูไม่ sexy เหมือนเดิม เพราะทำให้ถูกมองว่า การลงทุนใหม่ๆ ที่มีนัยสำคัญคงยังทำไม่ได้ ซึ่งกว่าจะลดหนี้ได้ตามแผนก็น่าจะยังใช้เวลาอีกหลายปีอยู่เหมือนกัน ทำให้มีแววว่าหุ้นตัวนี้จะอืดไปอีกสักพักใหญ่ๆ เว้นแต่จะออกกองทุนมาลดหนี้แทน เพราะจะปลดภาระหนี้ได้เร็ว  แต่ดูแล้วก็อาจจะยังออกกองทุนไม่ได้ง่ายๆ นักในเวลานี้

ถ้าลดหนี้ได้ ทำให้ดอกเบี้ยจ่ายลดลง กำไรสุทธิเพิ่มขึ้น อาจจะราวๆ 30-40% พี/อีใหม่ ก็อาจลดเหลือ 25-30 เท่า ซึ่งก็เป็นระดับที่ถือว่า fair เท่านั้น หุ้นตัวนี้จึงไม่ได้มีราคาถูก 

HMPRO

ในแง่ความแข็งแรงไม่น่าห่วง โฮมโปรมีสาขามากพอที่จะทำให้ไม่มีใครมาท้าทายได้แล้ว วัฏจักรเศรษฐกิจเป็นแค่ปัญหาระยะสั้น ค้าปลีกชนิดนี้มาร์จิ้นค่อนข้างดี และเป็นของที่ e-commerce มาทดแทนได้น้อย จึงน่าจะยั่งยืน

แต่ส่วนที่น่าเป็นห่วงคือการเติบโต จังหวัดรองๆ คงสร้างการเติบโตได้ช้า บริษัทจึงหันมาเติบโตด้วยเมกาโฮมมากกว่า แต่ก็ทำให้มาร์จิ้นลดลง เพราะสินค้าวัสดุก่อสร้างกำไรน้อยกว่าสินค้า Home Improvement การไปต่างประเทศผมไม่อยากหวังมาก เพราะคิดว่าจริงๆ แล้วมันไม่ได้ง่าย  แต่ถ้ามองในแง่ราคาหุ้น ถือว่าลงมาเยอะมาก ราคาหุ้นจึงไม่ถึงกับแพงเท่าไร

สรุป

ดูแล้ว สมาชิกปัจจุบันในพอร์ต ยังไม่ดีมากพอ เรื่องปัจจัยพื้นฐานนั้นไม่ได้น่าห่วงเลย แต่ส่วนที่น่าปรับปรุงคือ โอกาสในการเติบโต หลายตัวมีแนวโน้มการเติบโตที่ไม่น่าสนใจมากพอเมื่อพิจารณาในอีก 3-5 ปีข้างหน้า ดังนั้นถ้าหาตัวใหม่ๆ ที่มีโอกาสเติบโตที่น่าสนใจมากกว่า มาแทนตัวที่มีปัญหานี้ ก็น่าจะเป็นพอร์ตที่ดีกว่า

ตอนนี้ยังคิดไม่ออกว่าจะเป็นตัวไหน หุ้นสื่อสาร หรือหุ้นการเงิน ดูมีอนาคตที่น่าสนใจ และยังช่วยกระจายความเสี่ยงให้พอร์ตให้มากขึ้นได้ด้วย รวมทั้งการพิจารณาหุ้นขนาดกลางและเล็กดูบ้าง ก็น่าจะช่วยให้พอร์ตเติบโตได้ดีกว่า หากตัดสินใจได้เมื่อไรก็คงมีการปรับพอร์ตเกิดขึ้นในปีที่จะถึงนี้ครับ