สยามเวลเนสกรุ๊ป (SPA)

สยามเวลเนสกรุ๊ป (SPA) ให้บริการสปาและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง โดยเน้นกลุ่มลูกค้าที่เป็นนักท่องเที่ยวเป็นสำคัญ มีสาขากระจายอยู่ตามทำเลนักท่องเที่ยว หรือย่านใจกลางเมืองกทม. ภายใต้แบรนด์ Let’s Relax และ Rarinjinda

บริษัทมุ่งทำตลาดลูกค้าในกลุ่ม B+ จนถึง A+ เท่านั้น ซึ่งต้องชนกับสปาที่อยู่ตามโรงแรมห้าดาว เช่น เครือ Six Senses หรือไม่ก็เป็นสปาที่มีชื่อเสียงระดับโลก เช่น ชีวาศรม เป็นต้น ฉะนั้น ทำเลจึงเป็นจุดขายสำคัญของบริษัท หาไม่แล้วบริษัทก็จะคงขาดจุดเด่นเมื่อเทียบกับคู่แข่ง ดังนั้นผมมองว่าแม้ว่าจะต้องเสียค่าเช่าสูงในทำเลเกรดพรีเมี่ยม ก็เป็นเรื่องจำเป็น เช่น Terminal 21, Siam Square One เป็นต้น ส่วนใหญ่แล้วบริษัทจะทำสัญญาเช่าระยะสามปี บวก Option ในการต่อสัญญาได้

จากการลองไปสำรวจสาขาของบริษัทมา พบว่า ลูกค้าน่าจะเป็นนักท่องเที่ยวล้วนๆ หรือมิฉะนั้นก็ต้องเป็นลูกค้าไทยระดับเกรด A+ เพราะราคาค่าใช้บริการจะสูงกว่าที่อื่น ลูกค้าไทยทั่วๆ ไปไม่นามองเห็นเหตุผลที่จะต้องมาใช้บริการที่นี่ แต่ก็ดูเหมือนว่าบริษัทน่าจะมีช่องทางการตลาดเฉพาะเจาะจงบางอย่างที่สามารถชักจูงนักท่องเที่ยวให้เจาะจงมาใช้บริการได้ เห็นจากลูกค้าต่างชาติที่ค่อนข้างหนาตาอยู่เหมือนกัน  การขยายธุรกิจลงมาที่ระดับต่ำกว่า B+ จึงไม่น่าจะทำได้ และไม่ควรทำด้วย เพราะจะทำให้เสียแบรนด์ที่พยายามสร้างมา ดังนั้นโอกาสในการขยายตัวน่าจะเป็นการเติบโตไปตามอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยของเป็นสำคัญ

โดยส่วนตัว ผมมองว่าธุรกิจสปาเป็นธุรกิจที่น่าสนใจ เพราะสามารถเติบโตไปเรื่อยๆ ตามเทรนด์สุขภาพได้ และไม่เชื่อว่าจะเป็นแค่ Fad แต่น่าจะอยู่คู่กับคนสมัยใหม่ไปอีกนานเลย ยิ่งถ้าเจาะลูกค้านักท่องเที่ยวด้วยยิ่งน่าสนใจ เพราะประเทศไทยในช่วงต่อไป การท่องเที่ยวน่าจะยังดูดีที่สุดเมื่อเทียบกับภาคส่วนอื่นๆ  (หุ้นท่องเที่ยวไม่น่าจำกัดอยู่แค่ โรงแรม หรือว่าสนามบินเท่านั้น)​ ธุรกิจนี้ยังเป็นธุรกิจที่ labor-intensive และเป็น service sector ทำให้แม้ว่าจะมีการแข่งขันสูง แต่ก็จะไม่รุนแรงมาก เพราะการขยายธุรกิจอย่างรวดเร็วทำไม่ได้ ซึ่งน่าจะเป็นสิ่งที่เราชอบ

ส่วนที่จะดูอ่อนสำหรับบริษัทก็คือ ความสามารถในการแข่งขันเมื่อเทียบกับคู่แข่งยังดูไม่เด่นชัดนัก ดังนั้น บริษัทน่าจะเติบโตไปตามการเติบโตของตลาดเป็นหลัก ถ้าหากยังสามารถรักษาส่วนแบ่งตลาดเอาไว้ได้ ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร ทำเลและการประชาสัมพันธ์เพื่อเข้าถึงกลุ่มนักท่องเที่ยวคือหัวใจสำคัญของการแข่งขันของบริษัท บริษัทลงทุนในธุรกิจอื่นๆ ที่ล้วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจหลัก ซึ่งมีส่วนช่วยส่งเสริมธุรกิจหลักด้วย เช่น โรงเรียนสอนนวด ขายเครื่องใช้สำหรับสปา รวมทั้งมีธุรกิจโรงแรมที่มีสปา ด้วย แต่รายได้เหล่านี้ถือว่ายังไม่มีนัยสำคัญต่อรายได้รวมของบริษัท

Screen Shot 2558-10-07 at 7.47.15 PM

อย่างไรก็แล้วแต่เมื่อลองมาดูงบการเงินก็ค่อนข้างประหลาดใจ เพราะงบการเงินค่อนข้างดีมาก ธุรกิจมีทั้งมาร์จิ้นและ ROE ในระดับสูง (20%) และเมื่อพิจารณาจาก Cash Flow ก็สอดคล้องกับกำไรด้วย บริษัทใช้สินทรัพย์ไม่สูงมากนัก เพราะเช่าทำเลเอา จึงมีเฉพาะการตกแต่งร้านเท่านั้นที่เป็นสินทรัพย์ กอปรกับเป็นธุรกิจเงินสดด้วย สถานะเงินสดก็แข็งแรง คำอธิบายอย่างหนึ่งอาจเป็นเพราะปี 2558 เป็นปีที่การท่องเที่ยวบูมมาก ภาพที่เห็นจึงอาจเป็น top form ของบริษัท ถ้าหากปีต่อๆ ไป การท่องเที่ยวไม่ได้บูมมากเท่ากับปี 2558 ก็อาจส่งผลกระทบต่อผลประกอบการได้มาก จึงเป็นจุดเสี่ยงจุดหนึ่ง

กลยุทธ์การเติบโตน่าจะเป็นการเปิดสาขาเพิ่มไปเรื่อยๆ ได้ ซึ่งธุรกิจก็มีกระแสเงินสดที่ค่อนข้างดี ทำให้ความเสี่ยงเพิ่มทุนมีน้อย ถ้าหากการท่องเที่ยวของไทยดีขึ้นต่อเนื่องทุกปีในอีกสามปีข้างหน้า ผลประกอบการของบริษัทก็น่าจะโตตามไปได้โดยไม่ยาก  

 

6 Replies to “สยามเวลเนสกรุ๊ป (SPA)”

  1. ตอนนี้ทาง SPA มีการขยายลงไปในกลุ่ม สปาสามดาว โดยไปซื้อ แบรนด์บ้านสวนมาสสาจมา คุณสุมาอี้ คิดว่ายังไงครับ

    1. ก็เป็นไอเดียที่ดีที่ใช้วิธีซื้อแบรนด์อีกแบรนด์ ตลาดล่างน่าจะใหญ่ด้วย

  2. ข้อเสียสำคัญผมว่าเป็นเรื่องราคาหุ้นที่แพงมากๆ แล้วอีกอย่างคือตอนช่วงกีฬาสี กำไรก็ร่วงลงมากเช่นกันครับ ผมว่าอนาคตดูดีแต่ความเสี่ยงก็สูงทีเดียวครับ

    1. ดีจัง ขอบคุณมาก ที่เขียนแนะนำให้อ่าน อายุมากแล้วใช้ com ไม่ค่อยคล่อง แต่จะฝึกทุกวันละค่ะ จะติดตามหุ้นตัวนี้ค่ะ เพราะใกล้ตัวดี เคยไปทดลองใช้บริการละ 1 ครั้ง ซื้อพวกน้ำมันหอมระเหย ธูปเทียนมาลองใช้ด้วยค่ะ (คิดว่าแพงไปนิด) บริการของพนักงานยังไม่เนี้ยบเท่าไร แค่สถานที่ดีมาก ราคานวดคนไทยคงไม่นิยม (คงได้นักท่องเทียวต่างชาติจริง)

  3. ช่วยแนะนำวิธี “ประเมินมุลค่าหุ้น” แบบง่าย ๆ คิดเร็ว ๆ ให้หน่อยได้ไหมค่ะ

Comments are closed.