คนเล่นเทนนิสเก่งจำนวนไม่น้อยที่เป็นคนที่มีลูกเสิร์ฟที่รุนแรง
ถ้าคุณเสิร์ฟได้แรง ก็เหมือนมีชัยไปกว่าครึ่ง โดยเฉพาะในเกมเสิร์ฟของคุณ ลูกเสิร์ฟที่แรงเป็นอะไรที่รับมือได้ยากมาก บ่อยครั้งฝ่ายตรงข้ามเสียแต้มโดยที่ทำอะไรไม่ได้เลยแม้แต่จะทำให้แร็กเก็ตสัมผัสลูก (ลูกเสิร์ฟ Ace) ดังนั้นต่อให้คุณเป็นคนที่มีจุดอ่อนมากมาย ทั้งโฟล์แฮนด์ แบกแฮนด์ แต่ถ้าคุณเสิร์ฟเก่ง คุณก็มีโอกาสชนะในเกมสูง
แต่ก็ใช่ว่า การมีลูกเสิร์ฟที่รุนแรงจะเป็นหนทางเดียวที่ทำให้เป็นผู้ชนะ นักเทนนิสที่เสิร์ฟได้แรงบางคนเสียแต้มเองบ่อยมาก หรือที่เรียกว่า unforced errors โดยที่ฝ่ายตรงข้ามยังไม่ทันได้ทำอะไรเลย ตัวอย่างเช่น ตีออกเอง หรือ เสิร์ฟเสีย (double foul) ดังนั้น ถึงแม้ว่าจะเสิร์ฟ Ace ได้เยอะ แต่ unforced errors ก็เยอะมากจนกลายเป็นฝ่ายแพ้ไปได้เหมือนกัน
บางที unforced errors ก็เกี่ยวข้องกับความเสี่ยงด้วย อย่างเช่น ปกติเวลาที่เสิร์ฟครั้งแรกแล้วเสีย นักเทนนิสคนนั้นมักจะเสิร์ฟเบาลงในครั้งที่สอง เพราะไม่อยาก double foul แต่นักเทนนิสบางคนก็ชอบเสี่ยง ยังคงเสิร์ฟแรงอยู่แม้ว่าจะเป็นครั้งที่สอง และก็นำไปสู่การเสียแต้มได้ง่ายๆ เพราะเสี่ยงมากเกินไป
ผมชอบดูสถิติที่ขึ้นอยู่บนหน้าจอเวลาถ่ายทอดสดการแข่งขันเทนนิส บางทีแค่ดูสถิติเราก็จะรู้สไตล์การเล่นของนักเทนนิสคนนั้นเลย เพราะบางคนจะชนะเพราะเสิร์ฟ ace ได้มากๆ เสมอ บางคนแพ้เพราะ unforced errors เยอะเป็นประจำ เป็นต้น
กีฬาเทนนิสก็ทำให้คิดถึงการลงทุนในตลาดหุ้นเหมือนกัน เวลาที่เราคิดถึงคนที่ทำผลตอบแทนได้สูงๆ เช่น 50% ต่อปี เรามักคิดถึงการที่เขาสามารถเลือกหุ้นถูกตัวได้เยอะๆ เข้าตัวไหน ตัวนั้นวิ่ง ทำให้มีกำไรหลายๆ รอบ เปรียบเหมือนคนที่เสิร์ฟดุดัน เป็นแนวรุก
แต่จริงๆ คนที่ได้ผลตอบแทนสูงๆ อาจไม่จำเป็นต้องเป็นคนที่เลือกหุ้นถูกตัวได้หลายๆ ตัวในหนึ่งปีเสมอไป ผลตอบแทนที่ดีส่วนหนึ่งมาจากการเลือกที่จะอยู่นิ่งๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อหุ้นบางตัวในพอร์ตกำลังวิ่ง เพราะว่าเลือกที่จะไม่ขายออกมาเร็ว ทำให้ได้ผลตอบแทนที่เป็นกอบเป็นกำจากหุ้นในพอร์ตเพียงแค่ไม่กี่ตัวที่วิ่งในปีนั้น เขาก็อาจได้ผลตอบแทนรวมของพอร์ตที่ดีได้ โดยที่ไม่จำเป็นต้องเข้าๆ ออกๆ บ่อยๆ เพื่อทำรอบให้ได้หลายๆ รอบ เพราะจริงๆ แล้ว การที่เราจะเลือกหุ้นเข้าและออกได้อย่างแม่นยำอยู่เสมอๆ นั้น มักไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่คิดก็ได้ เปรียบเสมือนนักเทนนิสที่ชนะด้วยการทำ unforced errors น้อยๆ ขายหมูน้อย ผลตอบแทนรวมของพอร์ตก็ดีขึ้นได้เหมือนกัน
เวลาเอ่ยถึงผลตอบแทนรวมของพอร์ต เรามักคิดถึงหุ้นที่เราขายทำกำไรได้ในปีนั้น และไม่ได้คิดถึงหุ้นที่เราทำกำไรไม่ได้ ทั้งที่ควรจะทำได้ เนื่องจากเราดันขายหมูออกไปก่อน เรามักไม่คิดว่าหุ้นที่เราขายหมูออกไปมีผลอะไรกับผลงานโดยรวมของเราตอนสิ้นปี เพราะเป็นหุ้นที่ออกจากพอร์ตเราไปแล้ว แต่ที่จริงแล้ว ผลตอบแทนรวมของพอร์ตเราอาจจะสูงกว่านี้ถ้าหากหุ้นที่ขายหมูไปเหล่านั้นยังคงอยู่ในพอร์ตของเราตอนปลายปี มันจึงมีส่วนในผลตอบแทนของพอร์ตด้วยเช่นเดียวกัน
เพราะสุดท้ายแล้ว ผลงานต้องวัดจากผลตอบแทนรวมของหุ้นทั้งพอร์ตที่ทำได้ (และรวมเงินสดที่ขายออกมาพักไว้ด้วย) ไม่ใช่คิดถึงแค่หุ้นบางตัวในพอร์ตที่เราได้กำไรเท่านั้น
ชอบมากครับ ขอบคุณครับพี่