ในตลาดหุ้นนั้นมีความเชื่ออยู่มากมาย ไม่ต่างจากอินเดียในสมัยพุทธกาลที่เต็มไปด้วยลัทธิต่างๆ ที่พยายามอธิบายธรรมชาติในแบบของตัวเอง
น่าแปลกที่หลายๆ ความเชื่อนั่นอธิบายขัดแย้งกัน แต่ต่างฝ่ายก็ต่างมีสาวกติดตามเป็นจำนวนมาก และสาวกของแต่ละลัทธิก็ดูเหมือนจะมั่นคงในลัทธิของตัวเองอย่างยิ่งยวดด้วย
ความเชื่อหรือหลักการที่ถูกต้องเสมอไม่หวั่นไหวต่อกาลเวลามักจะเป็นความเชื่อที่เราบังเอิญยึดถืออยู่ หรือก็คือศาสนาของเราเอง ทุกคนในสังคมก็มักรู้สึกแบบเดียวกัน แต่ว่าในความเป็นจริง มันจะเป็นเช่นนั้นได้อย่างไร ในเมื่อบ่อยครั้งหลักการของแต่ละความเชื่อนั่นข้ดแย้งหรือตรงกันข้ามกันเลยก็มี
นั่นก็เป็นเพราะ ไม่ว่าจะมีเหตุการณ์หรือข่าวอะไรเกิดขึ้น คนเรามักเลือกคำอธิบายที่สอดคล้องกับความเชื่อเดิมของตัวเองมาอธิบายเหตุการณ์นั่นเสมอ สมองของเราเลือกที่จะมองไม่เห็นคำอธิบายอื่นๆ ที่ไม่สอดคล้อง เมื่อเป็นเช่นนี้ เหตุการณ์เดียวกัน คนในแต่ละลัทธิก็จะอธิบายไม่เหมือนกัน ต่างฝ่ายก็ต่างเลือกอธิบายในแบบที่สอดคล้องกับความเชื่อหลักของลัทธิที่ตัวเองสังกัดอยู่ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเองโดยประสาทอัติโนมัติ โดยไม่รู้ตัว เราจึงมักรู้สึกว่าหลักการของลัทธิของเราจึงมักเป็นหลักการที่ถูกต้องอยู่เสมอ
ในตลาดหุ้นก็เป็นแบบนั้น หุ้นตัวหนึ่งมีพีอีที่สูงลิ่ว ถ้าวันดีคืนดี ราคาของมันร่วงลงมาอย่างรุนแรง คนที่อยู่ในลัทธิเชื่อในหุ้นพีอีต่ำก็จะอธิบายว่า เกิดภาวะฟองสบู่แตกเพราะพีอีที่สูงเกินไป แต่ถ้าหุ้นอีกตัวหนึ่งมีพีอีต่ำมาก แต่ราคาก็ยังร่วงลงต่อไปอีกอย่างรุนแรง พวกเขาก็จะอธิบายว่า เป็นเพราะอารมณ์ตลาด Mr.Market นั่นไร้เหตุผล ที่จริงแล้วหุ้นตัวนั้นราคาถูกมาก แต่ตลาดกำลังไม่มีเหตุผลอยู่ ยิ่งตกก็ยิ่งควรเก็บ เป็นต้น ดังน้้นไม่ว่าหุ้นตัวไหนจะมีราคาร่วงลง ลัทธิหุ้นพีอีต่ำก็ดูเหมือนจะถูกต้องทั้งหมด เพราะสามารถอธิบายได้หมดทุกกรณี
หรือถ้าหุ้นตัวหนึ่งที่กราฟบ่งบอกว่าราคากำลังจะวิ่งขึ้นไปอีก 1 เท่าตัวเป็นอย่างน้อย ถ้าหลังจากนั้นราคาหุ้นวิ่งขึ้นจริงๆ คนที่เชื่อในเรื่องกราฟก็จะบอกว่า เห็นมั้ยว่าทุกอย่างอยู่ในราคา (กราฟหุ้น) แต่ถ้าหุ้นตัวหนึ่งกลับปรับตัวลงอย่างแรง เขาก็จะบอกว่า ครั้งนี้เป็น false signal ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดได้บ่อยๆ ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เราต่างหากที่ต้องมีวินัยทำตามกฎไปเรื่อยๆ สุดท้ายแล้วเราจะได้เอง สรุปแล้ว กราฟในตลาดหุ้นเป็นเรื่องจริง ใช้อธิบายทุกอย่างได้หมด เช่นกัน
มนุษย์มักคิดว่าตัวเองมีเหตุผล ในความเป็นจริงกลไกในสมองของเราเริ่มต้นจากความชอบไม่ชอบก่อน ซึ่งในที่นี้ก็คือความเชื่อไม่เชื่อ หรือลัทธิที่เราสังกัดอยู่ จากนั้นจึงค่อยมองหาเหตุผลหรือคำอธิบายที่สอดคล้องกับความเชื่อนั่น และหลับตามองข้ามคำอธิบายอื่นที่ไม่สอดคล้อง เราไม่ได้ต้องการแสวงหาความจริง เราแค่ต้องการปกป้องความเชื่อของเรา เราทำแบบนี้โดยที่เราไม่รู้ตัว มันคือกลไกปกติของสมอง
#มนุษย์นี้หนอ ใช้ความเชื่อ ปกป้องอัตตาของตัวเอง